045 ธรรมปัจเวกขณ์
วันที่ -- สิงหาคม ๒๕๒๖

เราได้พยายามปฏิบัติธรรม ให้เข้าแนวหรือเข้าทาง ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าท่านได้ยืนยันว่า มีทางนี้ทางเดียวเท่านั้น ไม่มีทางอื่น ซึ่งสรุปย่อๆลง ก็เรียกว่ามรรค อันมีองค์ ๘ มรรคแปลว่าทาง ทางปฏิบัติ อันมีองค์ ๘ เท่านี้ เป็นทางเดียว ทางเอก

ทีนี้ในส่วนประกอบที่จะปฏิบัติมรรคองค์ ๘ นั้น ก็ขยายความไปได้ เราก็ได้พยายามขยายความกันหลายนัย ในหลักวิชาก็ขยายไป จนกระทั่งถึงสติปัฏฐาน ซึ่งก็มีหลักย่ออยู่ที่ สัมโพชฌงค์ ๗ ซึ่งก็เคยขยายให้ฟังแล้ว และก็ได้เคยขยายเป็นภาษา เคียงไปอีกให้ฟังว่า เราจะปฏิบัติอย่างไร

เราก็ปฏิบัติ มีสตินั่นแหละ รู้ตัวทั่วพร้อมนั่นแหละ ปฏิบัติให้รู้กายกรรม วจีกรรม มโนกรรม นั่นเป็นหลัก ๓ ทาง ๓ กรรม เพราะงั้น กิริยาที่จะแสดงออก ต้องควบคุม

เคยเขียนไว้ ตั้งแต่ในหนังสือ "คนคืออะไร" ว่าทาง ๓ ทางนี้ เราระวังจะออก เพราะฉะนั้น กายกรรมจะแสดงออก ให้ระมัดระวัง วจีกรรมจะแสดงออก ให้ระมัดระวัง มโนกรรมจะแสดงออก ให้ระมัดระวัง ควบคุม มีสติสัมปชัญญะ รู้ตัว กาย วจี มโน ให้พรั่งพร้อม จริงๆ แล้วก็วิเคราะห์วิจัย เป็นธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ให้จริงๆ อย่าให้มันเป็นทุจริตอันเกินฐานเรา อย่าให้มันมิจฉาอันเกินฐานะของเรา เรากำหนดตัวเราเองว่า เราจะมีกาย วจี มโน ให้ดีอย่างนี้อยู่ในแวดวง โดยเฉพาะหลักซ้อนลงไปว่า เป็นหลักของศีลก็ดี หลักกรรมฐานก็ตาม หลักตบะก็ตาม อย่าให้มันละเมิดออกไปเป็นทุจริต ในแง่เชิงที่เราได้ตั้งให้แก่ตน ให้สำคัญ

การปฏิบัติธรรม ศีลหรือหลักกรรมฐาน ก็ประกอบอยู่ในนี้ ควบคุมกาย วจี มโนจริงๆ ส่วนที่จะรับเข้านั้นก็คือ ทวารทั้ง ๖ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ สัมผัส แล้วเราจะรับเข้ามาปรุงร่วมกับจิต กับกาย กับวจีกรรมของเรานี่ เราจะต้องพยายามวิเคราะห์แล้ววิจัยอีก อย่าให้มันมาร่วม มันมาเป็นเหตุปัจจัย ทำให้เราอะไรตอบออกไป หรือว่ารับเข้าไว้ จนกลายเป็นสั่งสมกิเลส หรือสั่งสมไม่พอ แสดงออก ตอบโต้ เป็นกิเลสย้อนออกไปอีก

ก็จะต้องตรวจตาม พยายามพิจารณา รู้เห็นจริงว่า เรารับสัมผัสกระทบด้วยทวารทั้ง ๖ นี่แหละ ไม่มีอื่น แล้วเราก็เอามาร่วมปรุง ร่วมรู้ ร่วมกระทำบทกิริยา ออกทางกายทางวจีทางมโน ก็สัมพันธ์กัน ระหว่างทวารทั้ง ๖ นี้ เพราะทวารรับ คือ ๖ ทวาร ทวารจ่ายออก คือ ๓ ทวาร เป็น ๙ ทวาร ทั้งหมดนี่ เคยสรุป เคยเขียนไว้ใน "คนคืออะไร"

เมื่อเราได้ควบคุม ทวารออก ๓ ทวาร ทวารเข้าอีก ๖ ทวารนี้ อย่างดี มีปัญญารู้แจ้ง รู้วิเคราะห์วิจัย กันอย่างจริงจังเลย อย่าให้เป็นอกุศล อย่าให้เป็นทุจริต อย่าให้เป็นชั่วบาป อย่าให้เป็นความผิด อันสมเหมาะกับฐานะของเรา เราจะมีกรรมฐาน เราจะมีศีล เราจะมีตบะ เราจะมีหลักประพฤติ อันที่เราได้กำหนด สมาทาน

สมาทาน หมายความว่า เราฉวยเอาไว้ ประพฤติให้มีเสมอๆ ถ้าบอกว่าอย่าทำอย่างนี้ เราก็อย่าให้ได้เรื่อยๆ อย่าไปกระทำ อย่าให้มันเกิดอาการบทบาท ถ้าเราบอก เราจะทำอย่างนี้ ก็จงทำอย่างนั้นให้ได้ เป็นอภิสมาจาร ให้ดีขึ้น ดีขึ้น ลักษณะบอกว่า เป็นบาปสมาจาร คือเราจะต้องละเว้น เลิกหลุด วางปล่อย ก็อย่าให้ได้ อย่าทำ ให้ได้จริงๆ อย่าให้มันเป็น จริงๆ

หลักการกว้างๆใหญ่ๆ ก็เป็นดังนี้ สัมพันธ์กับตัวชีวิต ไม่ว่าทวารออก ทวารเข้า หรือจะอธิบาย โพธิปักขิยธรรม ๓๗ ในนัยซ้อนลงไปอีก มันก็อยู่ในหลักการ อันนี้ทั้งสิ้น

นี่เป็นมรรคองค์ ๘ ปฏิบัติแล้ว จะสั่งสมเป็นสมาธิ ดังที่ได้ยืนยันแล้วยืนยันอีก ในมหาจัตตารีสกสูตร และในสมาธินั้น ก็จะพยายามผลิตผล ออกเป็นญาณ สัมมาญาณะ และสัมมาวิมุติ เป็นที่สุด อย่างแท้จริง ญาณและวิมุติไม่ได้เกิดเอง ก็เกิดมาจากสมาธิ ที่มันได้สั่งสมด้วยองค์ ๗,

องค์ ๗ นี้ เมื่อปฏิบัติถูก ปฏิบัติตรง ไตร่ตรองจริง แล้วก็เกิดสภาวะที่ ละก็ดี ที่ทำให้ยิ่งก็ดี อันใดทำให้ยิ่งก็ทำให้ยิ่ง อันใดควรละ ละให้จริงแล้วกัน และก็ทำให้ยิ่งกัน สนับสนุน สอดคล้องกันอยู่อย่างนี้ เราจะเกิดอธิจิต

จิตของเราจะกล้าแข็ง มีอำนาจทางจิต สามารถปล่อยปละ ละวาง ปัญญาก็จะละเอียดลออ รู้ลึก รู้ซึ้ง รู้ความจริงที่แม่นชัดแม่นตรง เห็นรู้ แล้วทำได้เสมอๆๆ สลับซับซ้อน เป็นสภาพหมุนรอบเชิงซ้อน อันลึกซึ้ง ลึกซึ้งขึ้นเสมอๆ

นี่เป็นเรื่องที่กำชับกำชากันอีก อธิบายกันอีก เป็นบทอธิบายที่ใช้หัวข้อ ใช้หลักธรรมมาขยายความ ให้พวกเราได้ยืนยันยืนหยัดว่า เราได้ปฏิบัติอย่างนี้ถูกทาง ถูกมรรคองค์ ๘ ของพระพุทธเจ้า ดีอยู่หรือ?

ขั้นตอนฐานะ ก็บอกซอยไว้แล้ว ว่าขั้นตอนของเราเอง มีตบะ หรือว่า มีสมาทาน บทสมาทาน หรือว่ามีกรรมฐานอะไร ก็เรียกมีศีล ก็เรียกมีวินัย ก็เรียกมีพรต พรตก็คือหลักปฏิบัติ ที่จริงพรต เป็นตัวประพฤติ ก็เรียก เรามีอย่างนั้นจริงหรือเปล่า แล้วเราก็ประพฤติ ให้ซ้ำซาก ให้เกิดผลจริง ให้เป็นไปได้จริง เป็นพหุลีกตา คือมากหลาย ซ้ำซากอยู่นั่นแหละ จนเกิดปรากฏ แล้วไอ้สิ่งที่มันหลุด ก็ปรากฏออก หรือไอ้สิ่งที่สามารถลด จางคลาย ก็ปรากฏได้ ไอ้สิ่งที่อยู่เหนือก็ปรากฏจริง ให้เกิดผลเป็นวิมุติ วิมุติหลุดพ้น จางคลายออกจากอกุศลชั่วบาปทั้งปวง ทุจริตทั้งปวงได้จริงๆ เราก็ต้องประพฤติ ปฏิบัติพิสูจน์ และก็ทำจริงๆนะ นี่เป็นเรื่องที่เล่าให้ฟัง ซ้ำให้ฟัง ย้ำให้ฟัง

เราจะดูถูกกายกรรม ดูถูกวจีกรรม โดยเราไม่สำรวมสังวร ไม่อ่าน ไม่รู้ เข้าไปอีกไม่ได้ เราต้องอ่านรู้ เรานึกว่าเราพูดดีแล้ว แต่ในพูดนั่นแหละยังไม่ดี เรานึกว่าเราทำกิริยาดีแล้ว กายกรรมดีแล้ว ในกรรมกิริยานั้นแหละยังไม่มีดี หรือยังมีดีกว่านั้น จริงๆ เรายังมีข้อบกพร่อง ในสิ่งเหล่านี้อีกมาก หลายชั้นหลายเชิง หลายระดับเหลือเกิน แต่เราก็ประมาทว่า เราทำดีแล้วทุกอัน

ในขณะที่เราทำดีแล้ว ถ้าเรามีปัญญา รู้ว่าดีกว่านี้ยังมีอีก เราก็จะรู้ว่า เออ! ในองค์ประกอบอย่างนี้ ถ้าเราทำดีอย่างนี้ จนเขาก็สามารถเป็นคุณเป็นค่า เป็นประโยชน์ เราก็สามารถทำได้แนบเนียน สุภาพ เรียบร้อย ดีงาม สละสลวยกว่านี้ นั่นคือ ความเจริญอยู่ทุกเมื่อๆ ไม่ว่าจะเป็นกายกรรม วจีกรรม มโนกรรม แล้วเราก็จะกระทบ รับสัมผัสทางทวารทั้ง ๖ จะรู้เท่าทัน จะนิ่งแน่ มีสติสัมปชัญญะ ความแข็งแรงมั่นคง สุภาพเรียบร้อย สุขุมประณีต สละสลวย งดงาม ไม่หวือหวาฟู่ฟ่า หลบนั่นเลี่ยงนี่ หรือว่าบกพร่องนั่นบกพร่องนี่เลย เป็นอันขาด นะ

คิดว่าได้อธิบายแค่นี้ นักปฏิบัติพวกเรา ก็คงจะได้สังวรสำรวม เป็นสังวรปธาน ปหานปธาน และก็ภาวนาปธาน เกิดมรรคเกิดผล เกิดสิ่งที่เป็นไปได้ สุดท้ายก็ถึง อนุรักขณาปธาน คือจะต้องติดตาม รักษา สิ่งที่ได้ที่ดีนี้ไว้ ไปตลอดเสมอๆ แล้วก็พัฒนาสิ่งดีเกิดขึ้น ตราบที่เรายังมีรูปนาม ขันธ์ ๕ เราต้องมีอากัปกิริยา มีอิริยาบถ มีการกระทำการงาน อยู่ตลอดไป เพราะฉะนั้น จึงจำเป็นที่จะต้องเรียนรู้ให้ชัดแจ้ง ไม่เช่นนั้น เราทำสิ่งที่สัมพันธ์กับโลก สัมพันธ์กับผู้อื่น สัมพันธ์กับความกว้างขวางอะไรไปอีก ไม่ได้

เราจะต้องสัมพันธ์ให้ได้ เป็นประโยชน์ท่านให้จริง ประโยชน์ตนก็เรียนรู้ รู้ที่จบ รู้ที่ตัด รู้ที่ต่อ รู้ความสงบ ความสูงสุดที่ดีที่สุดแห่งจิตแล้ว และเราก็สามารถรังสรรค์ สร้างสรรไปได้ ไม่ขัดแย้ง ไม่ค้านกัน ทุกคนเห็นร่วม ทุกคนเห็นดี หรือมากคนเห็นร่วม มากคนเห็นดีนะ สามารถทำได้ปานฉะนี้ นั่นคือผลสำเร็จ

ขอให้ทุกคนฟัง ไตร่ตรอง และก็เอารายละเอียดเหล่านี้ มากำกับตน ประพฤติตนให้ได้ สมแก่ฐานานุฐานะ เป็นสามีจิปฏิปันโน คือ ผู้ประพฤติธรรมนั้น ได้ธรรมะสมควรแก่ธรรม ตามฐานานุฐานะ ของแต่ละบุคคล เถิดเทอญ

สาธุ.

*****