063 ธรรมปัจเวกขณ์
วันที่ -- พฤศจิกายน ๒๕๒๖

อ่านจิตตน
ผู้มีหลักกิจ หลักประพฤติของตนเอง โดยกำหนดรู้ว่า ตนของตน มีอะไรที่บกพร่อง เราจะต้องมีสติ สังวรตน และปรับปรุงส่วนบกพร่องนั้นๆ ของตนๆ ผู้นั้นชื่อว่ามีศีล แล้วเราก็ต้องพยายามปฏิบัติ ให้กำหนดตาม ระลึกตัวทั่วพร้อม ตามหลักกำหนดนั้นให้จริง ชื่อว่า เราปฏิบัติตรงตามศีล ตรงตัวเอง ที่มีกรรมฐาน มีสักกายะ ไม่เช่นนั้นแล้ว เราก็จะไม่ตรงเป้า ปฏิบัติซัดส่าย โดยที่จะตักน้ำก็ไม่ได้น้ำ เพราะมัวไป วักเลน วักดิน วักหิน วักอะไรต่างๆนานาอยู่ ไม่ได้ตักน้ำตรงน้ำ เพราะฉะนั้น ผู้ที่ไม่รู้ตัวรู้ตน ไม่ได้เข้าใจสักกายะ ไม่มีหลักปฏิบัติตรง หรือมีหลักปฏิบัติแล้ว แต่ไม่สังวรสำรวม ตรงกับสักกายะ หลักปฏิบัติ คือศีล เฉพาะตน ผู้นั้นก็จะไม่ได้ สิ่งที่เราประพฤติ ทำตามคนอื่นไปนั้น ก็มีแต่เพียงตามคนอื่นไป กระจัดกระจาย แต่ตัวว่า เรารู้สักกายะของตน มีหลักศีลแก่ตน แล้วสังวรสำรวม สำคัญในส่วนที่บกพร่องของตน ปรับปรุงของตน โดยตรง เป้าหมายศีลนั้น ก็จะมีประโยชน์ มีคุณต่อตน จะได้ผลมาก

พอสังวรระวังตนให้ดีดังกล่าวนี้แล้ว ก็ไล่เลียงกายกรรม วจีกรรม ซึ่งมันเป็นของหยาบ มันเป็นของที่รู้ได้ก่อน ในอิริยาบถใหญ่ เมื่อมันละเมิดเมื่อใด เราก็สังวร อย่าให้เป็น อย่าให้มี อาการของจิต ก็จะปรากฏดิ้นรน เราก็ควบคุมไปถึงจิต แล้วเราจะได้ตามจิตถูกว่า นั่นคือ อาการของจิต ที่มันอยู่ข้างเคียง จิตแท้จริงๆ กิเลส แล้วเราก็มีวิธี พยายามละล้าง ทั้งด้วย สมถธุระ และวิปัสสนาธุระ ให้เกิดทั้งปัญญารู้ วิธีการทำมันออก แล้วมีทั้งเรี่ยวแรงที่ระงับมันให้ได้ ทำลายมันให้ได้ อย่าให้มันเกิดอาการได้ด้วยจริงๆ ทำเช่นนั้นๆอยู่เสมอๆ ผู้ทำจะเป็นผู้รู้เองว่า เกิดผลหรือไม่เกิดผล แล้วเราก็จะเป็นผู้ที่ปฏิบัติ อย่างเป็นผู้มีปัญญา เป็นผู้รู้ว่า การปฏิบัตินี่ ไม่ใช่ทำโดยไม่เข้าใจ ไม่รู้ไม่เห็น ทำโดยเปล่าดาย ได้ก็ไม่รู้ ไม่ได้ก็ไม่รู้ ทำถูกก็ไม่รู้ ทำไม่ถูกก็ไม่รู้ จะไม่เป็นเช่นนั้นเลย

เพราะฉะนั้น การปฏิบัติศีล สมาธิ ปัญญา ก็จะมีความแม่นยำ มีหลักการที่ถูกต้อง ด้วยประการฉะนี้.

สาธุ

*****