จิตนี้แลฝึกได้ยาก
พระพุทธองค์ตรัสว่า จิตนี้แลฝึกได้ยาก ซึ่งเป็นสัจจะความจริงที่สุด เพราะฉะนั้น ผู้ปฏิบัติธรรม จะต้องรู้ชัดรู้เจนให้ได้ว่า ในการประคองกายกรรม วจีกรรมก็ดี เราก็จะต้องประคองด้วยรู้ มีธัมมวิจัย รู้ดีรู้ชั่วให้ชัด แล้วเราก็ประคองด้วย ความอุตสาหะวิริยะ แข็งแรงอดทน ข่มใจฝืนใจ ทำในทิศทางที่เราวิจัยแล้วว่าดีให้ได้ เราฝืนใจทำส่วนที่ดีให้ได้ มันไม่ตายง่ายนักหรอก แต่ถ้าเราได้ประคอง อุตสาหะ วิริยะ ทั้งกายกรรม ก็ไปสู่สุจริตจริง วจีกรรมก็เช่นเดียวกัน ก็พยายามประคองให้ไปสู่สุจริตจริง นั่นชื่อว่า ได้อบรมจิตด้วย โดยเฉพาะ ผู้ที่สามารถจับอาการของจิตได้ เป็นปรมัตถธรรม รู้จิต เจตสิก รูป คืออาการของจิต รู้ว่ามันแตกต่างกันอย่างไร วิจัยได้ว่าอย่างนี้ดีอย่างนี้ไม่ดี ปรับอย่างจริงจัง ประคอง อุตสาหะวิริยะ ข่มใจอดทนอย่างแท้ๆ พร้อมกันนั้น เราก็จะใช้ปัญญา ในความแววไว ฝึกหัดเสมอ ที่จะหาเหตุผล ซึ่งจะทำให้เรามีกำลัง ทั้งในการประคองกาย ประคองวจีและประคองใจ ไปสู่ทิศทางที่ดี ตามที่เรามีปัญญาสูงสุด ที่เราได้เลือกเฟ้น วิจัยแล้วทั้ง ๒ แรง ทั้งการพยายามปรับปรุง พยายามข่มฝืน พยายามประคองให้มันไปสู่ทิศทางที่ดี ตรงกับทั้งมีเหตุผล เห็นด้วยปัญญา เข้าใจด้วยปัญญา ว่าทิศทางที่ดีเป็นอย่างนี้ ทิศทางที่ไม่ดีเป็นอย่างนั้น สูงขึ้นๆ สอดซ้อน เรียกว่า มีทั้งสมถธุระและวิปัสสนาธุระ ทั้งสองส่วนนี้ ก็กระทำอยู่จริง เราจึงจะเป็นผู้สามารถเอาชนะ หรือว่า เราเป็นผู้ที่ฝึกจิตใจได้
การที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า จิตนี้ฝึกได้ยาก จึงเป็นสิ่งที่เตือนใจเรา ให้อุตสาหะวิริยะพากเพียร อย่างแท้จริง มิฉะนั้น เราก็จะฝึกตน หรือฝึกจิต ฝึกใจของเรา ไม่ได้เลย.
สาธุ
*****
ตรวจทานใหม่ 3/07/2567