การฝึกจิต
บรรยายโดย สมณะโพธิรักษ์
วันที่ ๑๒ กันยายน ๒๕๑๔

อุบายวิธีในการฝึกจิต ปฏิบัติตน ให้ใจเราสูงขึ้น พ้นเป็น "อริยะ" และที่สุดเจริญจน "พ้นทุกข์" ได้นั้น ก็มีอุบายวิธี มากมายหลายแบบอย่างอยู่ ทว่าการที่จะปฏิบัติอย่างไรๆ ก็ตาม จะต้องเป็น ด้วยวิธีที่จะปฏิบัติ โดยวิปัสสนาทั้งหมดตลอดเวลา ตามที่พระสารีบุตร ท่านได้กล่าวเอาไว้ว่า จงพยายาม ทำให้แก่ตัวเองทุกเวลา อย่าให้เสียขณะ

คำว่า "อย่าให้เสียขณะ" ของพระสารีบุตร หมายความว่า ทุกลมหายใจเข้าออก หรือยิ่งกว่านั้น เราต้องพยายาม ทำความยิ่งกว่านั้น ในเวลาอันจะนับเป็นวินาที หรือเป็นอะไรก็ตามแต่ สมัยโน้น เรายังไม่มีโมงยาม นาที วินาที อันละเอียดยิบ ดังปัจจุบันนี้ ท่านก็เรียกเอาคำว่า "ขณะ" เพราะฉะนั้น ถ้าเราได้ พึงปฏิบัติ ได้กระทำตนให้มีสติควบคุม และก็ตามรู้ตามเรียน ตามตัดกิเลส ให้ได้ตลอดเวลาด้วย มันก็จะเกิดผลแก่เราเอง โดยนัยเดียวกันที่ พระพุทธองค์ท่านตรัสคำว่า "ขอให้ทุกคน จงอยู่ในความไม่ประมาทเถิด" คำว่า "ไม่ประมาท" อันนั้น คล้ายๆกัน หรือว่านัยเดียวกัน กับที่พระสารีบุตรท่านว่าไว้ว่า "จงพยายามทำขณะทุกขณะ อย่าให้เสีย" อันเดียวกัน เพราะเหตุนั้น ถ้าใครเข้าใจแล้ว จะเข้าใจได้ทีเดียวว่า พระพุทธเจ้า ท่านตรัสแต่ละคำ แต่ละคำนี้ ในสมัยโน้น ของพระพุทธองค์ ที่ตรัสไว้ มันกินความมากมายก่ายกองเสียเหลือเกิน กินความลึกซึ้ง เสียเหลือเกิน เมื่อนำมาพูดมากล่าวกันในสมัยนี้ เพราะเหตุนั้น ถ้าเราเข้าใจไม่ได้ แล้วละก็ เราจะทำให้มันเสีย ทำให้มันเพี้ยน ทำให้มันผิด เราไปตีความเอาแต่แคบๆ แล้วมัน ก็เสียประโยชน์ ถ้าเราพยายามตีความ ให้มันลึกเข้าไปแล้ว เราจะได้ประโยชน์

เช่นเดียวกัน กับที่ท่านตรัสเอาไว้ว่า "ปาณาติปาตา เวระมณีฯ" อย่าฆ่าสัตว์ เดี๋ยวนี้ คนก็พยายาม จะตีความเอาว่า อย่าฆ่าสัตว์เท่านั้น และฆ่าสัตว์ในที่นี้ บางคนหมายเอาถึงขนาด อย่าฆ่าสัตว์ใหญ่ ถ้าฆ่าสัตว์มีโทส มีพิษ หรือสัตว์เล็กไม่เป็นไร แล้วเขาก็ฆ่าสัตว์มีโทส มีพิษ และสัตว์เล็กๆต่างๆ เช่น งูพิษ ยุง มด เป็นต้น

ซึ่งที่จริงแล้ว พระพุทธองค์ไม่ได้หมายความว่า จะให้คนทำผิดที่พระพุทธบัญญัติอยู่แล้วๆ เล่าๆ เท่านั้น แต่พระพุทธบัญญัตินั่นน่ะ ต้องการที่จะให้คนทำให้ยิ่งกว่าที่ตรัสเอาไว้ เสียด้วยซ้ำ โดยนัยที่ว่า อย่าฆ่าสัตว์ แทนที่เราจะไม่ฆ่าสัตว์ทั้งใหญ่ทั้งเล็ก ทั้งทุกสิ่งทุกอย่างในโลก สัตว์เล็ก สัตว์ใหญ่ สัตว์น้อย จนกระทั่งไม่เบียดเบียนอะไรใครเลย กลับไปบอกว่า ท่านไม่ให้ฆ่าสัตว์ใหญ่ และอย่างน้อยที่สุด ใครมาบอกว่า แม้แต่ไม่กินเนื้อสัตว์ เราก็ไม่กิน เพื่อที่เราจะได้เป็น ผู้บริสุทธิ์ มากขึ้น ไม่เป็นเชื้อ หรือไม่เป็นผู้มีกรรมร่วม ในการกระทำการฆ่าสัตว์ นั่นสิ จึงจะถูก จึงจะดียิ่งขึ้น ถ้าแม้ว่าเราไม่กินเนื้อสัตว์แล้วไซร้ แน่นอน เราจะไปมีกรรมร่วมในการฆ่าสัตว์ ได้อย่างไรในโลก โดยเหตุนั้น แทนที่เราเองจะทำให้ถูกยิ่งขึ้น เรายิ่งไปตีความให้สั้นเข้า ให้มันใกล้เข้า ให้มันไม่บริบูรณ์ มันก็ยิ่งเสียใหญ่ เช่น อทินนาทานา เวระมณีฯ พระพุทธเจ้า ท่านตรัสเอาไว้อย่างนี้ ก็ไม่ได้ตีความ หรือ พยายามที่จะทำความเข้าใจในอัตถสาระ เนื้อหาให้ลึกยิ่งขึ้นๆ คำว่า อทินนาทานา เวระมณีฯ ของท่าน หมายความว่า อย่าพยายามไปบังเบียดใครเลย ไม่ว่าในกรณีใดๆ ทินะแปลว่าให้, อทินนะ ว่าสิ่งที่ไม่ให้ ทานะแปลว่าให้, อทินนา คือ คำที่ว่า "ไม่ให้" ทานคือคำที่ว่า "ให้" ให้พิจารณาสิ่งที่ให้ และสิ่งที่ไม่ควรให้ ตามแต่ควร ให้พิจารณาอย่างนั้น และถ้าเรา "ไม่ให้" ก็คือ ลักษณะอาการของ การยังยึด ยังเห็นแก่ตัว ยังเอาไว้ ถ้าการ "ไม่ให้" มีมากเท่าใด มันก็ยังได้ชื่อว่า เป็นข้าศึก เป็นบาป เป็น "เวร" อยู่มากเท่านั้น เวระมณี หมายถึง "เจตนาที่จะไล่บาปไล่เวร" จึงไม่ควร ทำให้เกิดการ "ไม่ให้" ให้ได้ในตนมากที่สุด เท่าที่เราจะทำได้ทุกขณะ

ศีลของท่าน ท่านตรัสเอาไว้อย่างนั้น โดยความแท้จริงแล้ว ไม่ได้กินความแต่ว่าให้ หรือไม่ให้ แต่กินความถึงว่า "ให้" ให้-ให้หมด แต่ที่จะให้หมดได้หรือไม่ได้นั้น อยู่ที่บุคคลต่างหากล่ะ ถ้าใครสามารถให้ได้ ให้หมดได้ ผู้นั้นก็ไล่บาป ไล่เวรไปหมดได้มากเท่านั้น ถ้าให้ยังไม่ได้ ก็ให้ทำไป ตามระดับๆ ด้วยมัชฌิมาปฏิปทา ถ้าใครสามารถให้ได้ บอกว่าฉันมีเงินล้านหนึ่ง เอ้า ! ฉันให้ เอาไปเลยล้านหนึ่ง แล้วเลิกกัน แล้วฉันก็ออกหนีบวช หรือว่าออกไปบำเพ็ญอย่างสูงสุด ตนทำได้อย่างนั้น อย่างพระพุทธเจ้าทำก็ทำซี พระพุทธเจ้าท่านไม่ห้ามเลย แต่ว่า เราทำได้ไหมล่ะ? เป็นมัชฌิมาปฏิปทา คือไม่เดือดร้อน ไม่เจ็บปวด ไม่ทุกข์ทรมานใจเราไหมล่ะ? ถ้ามันไม่ทุกข์ทรมาน ใจเรา มันไม่เจ็บปวด มีทรัพย์สมบัติทั้งหมด แล้วโยนโครมลงไปเลย เหมือนอย่าง พระพุทธเจ้า ท่านทำ เหมือนอย่างพระยสทำ เหมือนอย่างเจ้าชายต่างๆทำ พระภัททิยะ ครองราชย์อยู่ดีๆ ออกมา จากราชสมบัติ แล้วออกมาบวชดื้อๆ ทิ้งราชสมบัติออกมาเสีย ให้คนอื่น ครองราชย์อย่างนี้ เป็นต้น มันก็ได้ไม่เห็นเป็นไร ถ้าเผื่อว่า จะทำและทำได้ด้วย เพราะเหตุนั้นเองแหละ เราจึงจะต้องพยายาม ที่จะเข้าใจให้ได้ อทินนาทาน เดี๋ยวนี้ มาตีความ ให้มันใกล้ขึ้น แต่เพียงอย่าไปหยิบเอาของคนอื่น ที่เขาไม่ให้นะ ใช่ไหม? ถ้าหยิบเอาของคน ที่เขาให้เอาได้ หรือแม้แต่บางที ของนี้ถือวิสาสะเอา ให้หรือไม่ให้ ไม่เข้าใจ ตีขลุมเอาว่าให้ แล้วก็หยิบเอา ไม่ใช่แค่นั้นเลย ความหมายของอทินนาทาน มันหมายไกลยิ่งกว่านั้น มันหมายไปถึงโน่นแน่ะ อทินนาทาน หมายความถึง อย่าไปเอาของเขา ที่เขาไม่ให้ที่เป็นวัตถุ และแม้ที่สุด ถ้าว่าไม่เอาของเขาแล้ว อย่าไปแย่งสิ่งที่เราไม่ควรจะไปแย่ง เป็นต้นว่า จะไปแย่งเอาลาภ ก็อย่าไปแย่งเขา เพราะเขาต้องหวงโดยจิต เขาไม่ให้โดยจิต แต่ปากเขา ไม่พูด แต่เขาก็ไม่อยากให้ลาภใดๆ แก่ใครหรอก ใครอยากได้ล่ะลาภ เช่นว่ามี "ลาภ" ก้อนหนึ่ง คนนี้ก็ควรจะได้ คนโน้นก็ควรจะได้ ใครก็อยากจะเอา เพราะฉะนั้น อย่าไปแย่งเขา ลาภก็อย่าไป แย่งเขา ถ้าจะให้ละเอียดขึ้นไปอีก ยศก็อย่าไปแย่งเขา ไม่ต้องไปแย่ง แม้แต่กระทั่ง ยศชั้น และให้สูง ขึ้นไปอีก แม้แต่สรรเสริญ ความยกย่อง เชิดชู ก็อย่าไปแย่งจากเขา อย่าไปแย่งเอาลาภ อย่าไปแย่ง เอายศ อย่าไปแย่งเอาสรรเสริญ ให้ดียอดดีขึ้นไปอีกสูงสุด อย่าไปแย่งเอา แม้กระทั่งความสุข จากผู้อื่น

คำสอนของพระพุทธเจ้าสูงอย่างนี้ และเป็นจริงดังนี้ด้วย เพราะฉะนั้น จึงอย่าไป พึงแย่งอะไร ใครๆเลยได้เป็นดีสุด ในศีล ในข้อห้ามทั้ง ๕ ของพระพุทธเจ้า ก็ไม่ได้กินความว่าแค่ว่าตื้น ทุกคน ในขณะนั้น ตีความว่าตื้นหมด แม้แต่อาตมาไปบอกว่า อย่ากินเลยเนื้อสัตว์ พระพุทธเจ้า ท่านไม่ฉัน หรอกเนื้อสัตว์ เขาก็บอกว่า เป็นลูกศิษย์เทวฑัตมาสอนทำไม คือลูกศิษย์เทวฑัตน่ะ ไม่ฉันเนื้อสัตว์ พระพุทธเจ้าท่านฉันเนื้อสัตว์ แล้วก็เถียงกันข้างๆคูๆ อาตมาบอกว่า กำลังไปผิดศีล ปาณาติปาตานะ พระพุทธเจ้าท่านตรัสปาณาติปาตาฯ ไม่หมายความว่า ไม่ให้ฆ่าสัตว์เท่านั้น แต่หมายความว่า อย่าเป็นเวร เป็นภัยต่อสัตว์ทั้งปวง คิดให้ดีๆ เขาก็เถียงน่ะ ไม่ทราบว่า เพราะเหตุอะไร แต่อาตมาเคยพูดเสมอว่า อาตมาไม่เถียงด้วย แต่ถ้าเผื่อว่า จะเข้าใจด้วยเหตุผล ก็บรรยายสู่กันฟังได้ แต่ถ้าเข้าใจว่า จะมาเถียง เพื่อเอาเหตุแพ้ เหตุชนะแล้ว อาตมาไม่เถียง อาตมาแพ้ให้ทุกคน อาตมาไม่ยอมชนะกับใครหรอก เพราะฉะนั้น แม้แต่ปาณาติปาตาเวรฯ ที่อาตมา พูดอธิบายอยู่และหมายถึง ก็ไม่ยอมเข้าใจ แทนที่เราจะทำตน น้อมใจ ตีปัญญาของเราให้ เข้าใจให้ได้ว่า มันหมายความไปถึง ขนาดเราไม่กินเนื้อสัตว์ด้วย เราไม่เป็นเชื้อ ไม่เป็นเหตุอันหนึ่ง ที่เขาไม่ฆ่าสัตว์ มาขายให้เราที่ตลาดด้วย ถ้าเราเข้าใจให้ได้อย่างนี้ ก็ไม่มีปัญหาอะไร แต่ถ้าเราจะ "เถียง"เขา เพื่อจะเอาชนะว่า เราอยากจะกินเนื้อสัตว์อยู่ ก็เชิญกินไปซี ไม่เป็นไรนี่ ถ้าเขาจะตีความ ให้มันตื้นขึ้น อย่างนั้นก็เชิญกิน ใครจะ "เถียงเพื่อจะกินเนื้อสัตว์" ก็กินไป อาตมาไม่ว่าอะไรนี่ ก็คนนั้นเขาเถียง เพื่อเขาจะกินเนื้อสัตว์ ก็กินไปเลย ไม่ต้องไปเถียง ให้มันยากเลย ไม่เห็นเป็นไร

แต่ถ้าเราจะ "เอาปัญญา" จะเอาความเข้าใจว่า เราจะไม่ทำบาป เดือดร้อนให้แก่สัตวโลก ไม่เบียดเบียนอะไร ให้แก่สัตวโลก ทุกประตูแล้วละก็ เราก็ควรจะทำปัญญาให้มันเกิด ทำความเข้าใจ ให้มันได้ แต่ถ้าจะมาเถียง เพื่อเอาแพ้ ชนะ โดยเหตุที่ว่า เพื่อเราจะกินเนื้อสัตว์ ไม่เอาล่ะ ฉันจะไม่ตามเธอ เพื่อว่าจะกินเนื้อสัตว์ ก็กินไปซี ไม่ต้องมาเถียงเลย อาตมาก็ถึงบอกว่า พวกนี้แหละ เราต้องทำความเข้าใจ ความแท้จริงอันสูงสุด ที่พระพุทธเจ้า ท่านตรัสสอนเอาไว้ให้ดี และให้สูงขึ้น ด้วยปัญญาวิปัสสนา ถึงได้ยกตัวอย่างให้ฟังนี้ ไม่ใช่หมายความว่า มันเป็นของลึกลับ ซับซ้อนอะไร ด้วยซ้ำไปในบางเรื่อง บางคำสอน

มันลึกลับซับซ้อนยิ่งกว่า ก็เมื่อเข้าปฏิบัติไปถึงจิต แม้กระทั่งเรามา "นั่ง" (ทำสมาธิ) เมื่อมา "นั่ง" แล้วไม่เข้าใจ รายละเอียดของมันได้ถูกต้อง ตรงทางเลยว่า เรามานั่งทำไม เรามานั่ง เพื่อจะเอา สวรรค์ เอาวิมาน จะเอาความเป็นเทวดา เอาความเป็นพรหม หรือเอาความเป็น อสัญญีสัตว์ หรือเปล่า พระพุทธเจ้า ไม่ได้สอนอย่างนั้นมาเลย ไม่ได้พยายามที่จะให้เข้าใจ อย่างนั้นด้วย เรามา "นั่ง" เพื่อที่จะ "เอาปัญญาญาณ" เมื่อเกิดปัญญาแล้ว เอาปัญญามาช่วยให้เราหลุดพ้นได้ เรียกว่า "ปัญญาวิมุติ" เมื่อได้ปัญญาแล้ว เอาปัญญานั้น มาพยายามทำตัวเอง ให้มันเกิดวิมุติในจิต เรียกว่า เจโตวิมุติอีกชั้นหนึ่ง ก็เป็นวิมุติ ๒ ส่วน เราจะเอามาทำอย่างนั้น ต่างหากล่ะ

ถ้าเผื่อว่า เราไม่เข้าใจให้ได้ว่า ปัญญาวิมุติ กับเจโตวิมุติ มันแตกต่างกันอย่างไร เราจะโมเมๆ ว่า เหมือนกันแหละ นิพพานเหมือนนิโรธ หรือนิโรธเหมือนสุญญตา มันก็พอเข้าใจได้ แต่ว่าเข้าใจ ในชั้นสูงขึ้นไปแล้ว ถ้าเราแยกไม่ออก ก็โมเมปนกันไปหมด เพราะที่จริง มันไม่เหมือนกัน ฉะนั้น เมื่อเรา "ดับจิต" หรือเรา "นั่ง" ทำเพื่อดับจิตอย่างนี้ ก็โมเมๆไปเลอะเลย เลอะจริงๆด้วย มันจึงเลอะ กันอยู่ทุกวันนี้ แต่ละแห่ง แต่ละสำนัก ไม่เหมือนกัน สำนักวัดปากน้ำ ก็บอกว่า เป็นทางตรงทางเดียว ยืนยันว่า นี่แหละ ทางตรงที่สุด ต้องอย่างของสำนัก วัดปากน้ำนี่แหละ ต้องมาสร้างดวงแก้ว มาสร้าง รูปนิมิต สร้างจนกระทั่ง จะเห็นกายธรรม เห็นกายของพระอริยะต่างๆ กายพระโสดา กายพระสกิทา เห็นไปจนกระทั่ง กายของพระอรหันต์ กายของพระอรหันต์อย่างหยาบก็มีรูป กายของพระอรหันต์อย่างละเอียดก็มีรูป และพระพุทธเจ้าเขาก็มีรูป ก็นั่นซิ ขนาดพระพุทธเจ้า ท่านศึกษา ไปจนถึงอุทกดาบส สอนไปให้ถึงขั้นอรูปฌาน ขั้นอรูปฌานนั้นไม่มีรูปแล้ว เมื่อสิ่งที่ ไม่มีรูปแล้ว พระพุทธเจ้าท่านยังบอกว่า สิ่งนี้ ยังไม่ได้เรียนรู้ทางที่ถูก หรือได้สิ่งที่สูงอะไรเลย ขั้นมีรูป คือ ถึงขนาดรูปฌาน แต่ถ้าใครยังไปหลงปั้นให้พระพุทธเจ้า หรือพระอรหันต์ ยังมีรูปอยู่อีก มันจะกลับไปหาอะไรอีกล่ะ มันก็วนเวียน มันก็กลับไปหาสิ่งที่เรียกว่า ไปสร้างสมมุติอีกที ซึ่งโดยความจริง พระอรหันต์ หรือพระพุทธเจ้าใดๆนั้น มันยิ่งกว่าไม่มีรูปเสียอีก เพราะทุกองค์ ท่านปรินิพพานไปสิ้นแล้ว หรือแม้จะบอกว่า กายพระอรหันต์ของเราเอง ที่ซ้อนอยู่ในตัวเราเอง กายนั้นก็เป็น "สุญญตาธรรม" จะมีรูปมาแต่ไหน

เมื่อไปยืนยันสร้างสมมุติอยู่ เราก็เอาสมมุตินั้นมายึด และก็เป็นรูปสมมุติเอาจริงๆ ด้วย ที่อุตส่าห์ไป "หลง" เสียเวลาสร้าง จากที่ไม่มีให้ "มี" แล้วก็จะมาทิ้งให้เป็น "นิพพาน" คือไม่มีอีก หนักหนากันแค่ใด ลองคิดดู พระพุทธเจ้าท่านไม่ให้ยึด แม้กระทั่ง นิพพานเป็นที่สุด ไม่ให้ยึดแม้กระทั่งนิโรธ ท่านตรัส กับพระอานนท์ ท่านบอกว่า แม้กระทั่งนิพพาน ก็จงอย่าไปยึด ท่านตรัสเลย มีอยู่สำนวนหนึ่ง อาตมาจำสำนวนไม่ได้ละเอียด ที่พระอานนท์ ท่านถามถึง บอกว่า เมื่อพระอรหันต์ผ่านเข้าไปถึง นิพพานแล้ว อารมณ์นิพพานนั้น เป็นอย่างนั้น อยู่อย่างนั้น แล้วเราพึงควรมีความสุข อยู่กับอารมณ์ นิพพานนั้นหรือ ? พระพุทธเจ้าท่านก็ตรัสตอบกับพระอานนท์ว่า ถ้าเพื่อนๆ ที่เป็นอรหันต์นั้น ได้นิพพานนั้นแล้ว หรือมีนิพพาน เป็นวิหารธรรมนั้นอยู่ พระอรหันต์นั้น ท่านควรจะยึดนิพพานนั้น อยู่หรือไม่ ท่านถามพระอานนท์ พระอานนท์ก็ตอบว่า ก็ไม่ควรจะยึด ดังนั้นแหละพระอานนท์ เพราะฉะนั้น นิพพานนั้นก็ไม่ควรจะยึดถืออยู่ด้วยในที่สุด ท่านก็ตรัสดังนี้ แล้วจะมามัวสร้างนิมิต สร้างของปลอม ให้เนิ่นช้าอยู่ทำไม เอาความว่าง ความสูญ ความไม่มีอะไร หรือความเป็นสุญญตา ความเป็นนิพพานนั่นสิ เป็น "อารมณ์" เป็นสิ่งยึด เพราะฉะนั้น อารมณ์นิพพานเป็นอย่างไร เราเอง บางคนก็อาจจะสัมผัส แต่ว่าไม่รู้ ทุกคนมี แต่ว่า เป็นสัมผัสนิพพานอย่างต่ำ อย่างสูง อย่างละเอียด มันมีจนไม่รู้กี่ชั้น

เมื่อเรารู้อารมณ์ได้ เช่น เมื่อเรารู้อะไรทุกสิ่งทุกอย่าง อันเป็นอารมณ์ธรรมดาๆ ที่ไม่ว่างก็ได้ อารมณ์เหล่านั้น ยังไม่นิยมจะนำมายึดถือ จะต้องปล่อยวาง ให้มันดับ มันว่างลง แล้วอารมณ์ นิพพาน มันละเอียดอ่อน ไม่มีตัว ไม่มีตน ไปยิ่งกว่า เราก็จะไม่ยึดถือ แล้วยังจะมายึดถือรูป พระอรหันต์ รูปพระพุทธเจ้า รูปพระอะไรๆอยู่ เขาก็ยังยืนยันว่า ของเขาเป็นของแท้ของจริง

อาตมาก็ไม่ได้หมายความว่า จะมาปรักปรำว่า ของสำนักวัดปากน้ำ ว่ามันผิดทางไปสู่ความสูง ก็ไม่ใช่หรอกนะ ถูก - ถูก อยู่เหมือนกัน ทางของสำนักวัดปากน้ำก็ถูก แต่ถูกของเขา ไม่ใช่ถูกแนวตรง ของพระพุทธเจ้า เป็นการไปสร้างสมมุติ ถูกเป็นการไปสู่ที่สูงได้เหมือนกัน แต่ช้าๆ อาตมากล้ายืนยัน ได้ว่าช้า เพราะเหตุว่า เมื่อไปหลงสมมุติแล้วจะช้า เพราะจะมีห่วงหลงยึดเกาะ เหมือนกับคนเรา มีเงินอยู่แสนหนึ่ง จะพยายามทำบุญทำทาน ให้มันหมดแสนเสียก่อน แล้วค่อยออกบวช ทำไปทีละร้อย ทีละพัน ทีละหมื่น ทำไปกว่าจะหมดแสนนานทีเดียว

พระพุทธเจ้าท่านบอก อย่าเนิ่นช้า ท่านตรัสกับพระอนุรุทธ อย่าเนิ่นช้า ธรรมะอีกข้อ ๑ ท่านตรัสเลย บอกว่า ธรรมะนี้สิ่งที่สำคัญที่สุด อีกสิ่งหนึ่งก็คือ เราอย่าหัดเป็นคนเนิ่นช้า เพราะฉะนั้น มีแสนหนึ่ง จะให้มันหมดเร็วๆ จะให้มันวาง จะให้มันเลิก เอาไปเลยแสนหนึ่ง โยนโครมไปเลย แล้วมันลัดไหม? แทนที่จะ กะปริดกะปรอย ทีละร้อย ทีละพัน ทีละหมื่นอยู่นั่นเอง ไม่หมดสักที เพราะฉะนั้น บอกว่ามันก็ถูก การทำบุญทีละร้อย ทีละพัน ทีละหมื่น มันก็ถูกเหมือนกัน แต่ว่าเราต้องพิจารณา ให้ดีว่า เราทำไปนี่ ทำเพื่อหวงเอาไว้ หรือทำเพื่อจะให้หมด ถ้าเราทำเพื่อจะให้มันหมด ก็ต้องรีบๆ ละๆๆ รีบๆ วางๆๆ รีบๆ ให้-ให้-ให้ หรือไม่ยึดเอาไว้ ไม่สะสมไว้ ไม่ให้มีอยู่ที่เรา เราจะต้องว่างลง เหลือแต่ความเป็นผู้ ไม่มีอะไรเลยให้ได้ แล้วยังจะไปมัว "สร้าง" ก่ออะไร มาสะสมไว้อีกทำไม?

เราเอง เราก็กระทำเพื่อให้มันหมด แม้แต่ชีวิตของเราเองใช่ไหม? ถ้าชีวิตของเราเอง เราก็ไม่ต้องการ ให้มันอยู่ในโลกนี้ ให้มันเป็นนิพพานสูญสิ้น ดับสูญจนหมดเกลี้ยงจริงๆ แล้วละก็ เป็นสุญญ หมดเลย ว่างเปล่า เราก็จะต้องให้มันหมด ก็เมื่อวัตถุมันยังไม่หมด ตัวมันจะหมดได้อย่างไร? เมื่อวัตถุมันหมดแล้ว ตัวมันถึงจะหมดตาม พระพุทธเจ้า ท่านก็ไม่ได้หมายความว่า ท่านสอนสาวก ของท่านทุกคน ทุกองค์ มีตัวอย่างที่ไหนในประวัติ พระพุทธองค์ว่า สาวกของพระพุทธองค์ ทุกองค์ที่ สู่ที่สูงน่ะ ไม่ละทิ้งสมบัติ แต่ออกมาเป็นอรหันต์มีไหม? ไม่มี ยกเว้นพระราชบิดา ของพระพุทธองค์ พระราชบิดาน่ะป่วยนะ แล้วท่านก็เหมือนกับวาง เมื่ออายุแก่มากแล้ว ท่านไม่ได้ ห่วงแล้ว สมเด็จพระราชบิดาของพระพุทธองค์ ท่านเพียงนอนอยู่ในพระที่ เพราะประชวรหนัก และจิตของท่าน ก็ทิ้งทุกสิ่งทุกอย่างลงได้จริงแล้ว ท่านก็ไม่มีอายุพอ ที่จะอยู่แสดง การทิ้งสมบัติ วัตถุจริงๆ ให้คนเห็นเท่านั้น แท้จริงท่านวางลงได้จริงๆ คนเห็น "จิตที่วาง" เห็น "จิตที่ว่าง" ไม่ยึดถือ จริงๆ ของท่านไม่ได้เท่านั้นเอง เพราะฉะนั้น คนอื่นๆ ก็ละกองสมบัติ มาทั้งนั้นแหละ ละหมด ละกองสมบัติ ละบ้านช่อง เรือนชาน เข้าของทุกอย่าง มาทั้งนั้น เพราะฉะนั้น เราจะยืนยันว่า พระพุทธเจ้า ท่านไม่สอนให้ละ ไม่สอนให้ทิ้งไม่ได้

แม้ใครทิ้งสมบัติได้แล้ว บางคนยังต้องมาปฏิบัติ "ใจ"อีก เพื่อที่จะหมดความยึดถือ อันยังมีการเกาะ การสมมุติ การหลงอยู่ในจิต มันจึงเป็นของยากอยู่ เรายังลูบคลำของอยู่ เราไม่ทิ้งแล้ว เราเอง เราจะบอกว่า เราจะปฏิบัติมันไป ทั้งๆที่ของยังไม่ทิ้งนี่แหละ มันจึงไม่ได้ ถ้าทิ้งแล้ว แล้วมาปฏิบัติ จนกระทั่งใจหยุดแล้ว ทีนี้ กลับไปหาของได้ ตอนนี้แหละ กลับไปหาของได้อีก ของจึงไม่ยึด ไม่ติด เพราะใจเราไม่รับ ใจเราไม่เอา แต่ถ้าเรายังไม่ได้ทิ้งของแล้วมาฝึกใจ ให้มันขาด ในขั้นต้น นี้แล้วละก็ไม่ได้ ปากพูดปาวๆๆไม่ได้หรอก ต้องทิ้งของนั้นก่อน แล้วเราออกมา จนกระทั่ง ของมันหมด เรียบร้อยแล้วจิตสะอาด จึงจะเข้าไปคลุกคลีกับของใหม่ได้ คราวนี้ไม่ติด เพราะฉะนั้น จะต้องทำอย่างนี้ ยิ่งพวกสอนธรรมะบางพวกเล่น "สมมุติความว่าง" ขึ้นมาเลย แล้วตะโกนกันปาวๆ ว่า ไม่ต้องทิ้ง ต้องละอะไร แต่ให้ "เสพอยู่บนความว่าง" ก็ได้ ที่ "เสพ" นั้น มันก็เป็นไปด้วยความยึด ความอยาก ความอร่อย ความเพลิดเพลิน เป็นความหลงอยู่แต่ต้นแล้ว จะเป็น "ความว่าง" ได้กันอย่างไร? มันจึงเป็นเพียงปากพูดโก้ๆ

วันนี้ เรามีเวลาเพียงเท่านี้ เพราะฉะนั้น แม้กระทั่งนั่งก็อย่างเก่า ใครจะนั่งด้วยวิธีไหน ใครจะเอา อารมณ์อะไรมายึด ใครจะเอาอรหัง สัมมาสัมพุทโธ ใครจะเอากสิณ เอาอะไรๆ มาก็เอาเถอะ เป็นแต่เพียงว่า เรามาใช้เป็นบาทฐาน เป็นอุบายให้ตัวเราเอง เข้าสู่สภาวะสงบ ระงับ เข้าสู่ภาวะนิ่ง ดิ่ง จะลืมตา หรือหลับตาก็ได้ ถ้าเราสามารถลืมตาได้ก็ยิ่งเก่ง หลับตาเสียก่อน มันก็ง่ายกว่าลืมตา เมื่อนั่งเข้าไปได้แล้ว ดิ่งเข้าไปได้แล้ว ก็พยายามทำเอกัคคตารมณ์ คือ พยายาม ทำความเป็นหนึ่ง ในจิต ให้จิตมันอยู่ในทวารเดียว จะเปิดทวารกาย หรือเปิดทวารหูก็ตามแต่ ในขณะที่เราตีเสียว่า ทวารปาก ทวารตาของเราหลับลง ทวารปากของเราปิดแล้ว ทวารจมูกของเรา ก็พยายามปิด มันไม่รับกลิ่น เหลือแต่ทวารหูกับทวารกาย เราก็เลือกเอาเสียทวารหนึ่ง อาตมาเห็นว่า ทวารหูนี้แหละ มันรู้สึกว่องไวกว่าทวารกายด้วยซ้ำไป เราทิ้งกายยังดีกว่า หรือ ง่ายกว่าทิ้งหู หูนี่ เรารู้สึกว่า จะรับเสียงได้ไว หรือว่ารับได้เป็นประตูสุดท้าย ช้านานกว่า

ถ้าทำให้มันได้ ให้มันเป็นเอกัคคตารมณ์ หรือเอกัคคตารมณ์เปิดทวารเดียว ถ้าใครสามารถ จะดับทวารหูได้ด้วย หมดทั้ง ๕ ทวาร ในทางกาย เหลือแต่ทวารใจให้ได้เลย ก็ยิ่งดีใหญ่ ถ้าเหลือแต่ ทวารใจแล้ว จะทำอย่างไร?

ในขณะที่นั่งลงไป หลับดิ่งเข้าไป เหลือแต่ทวารใจแล้วไซร้ เราก็พยายามพิจารณา ใจของเราเอง ว่าใจของเราขณะนั้น มันกำลังคิดเรื่องอะไร มันกำลังคิดนอกตัวเรา หรือมันกำลังคิดในตัวเรา ในขณะที่มันกำลังคิดอยู่นอกตัวเรานั้น หมายความว่า จิตของเรา เดินทางไปอยู่ที่ใดที่หนึ่ง ไปอยู่กับใคร คนใดคนหนึ่ง หรือไปอยู่กับสถานที่ใด สถานที่หนึ่ง เมื่อไปอยู่ที่นั้นแล้ว เราก็พิจารณา ดูว่า เรื่องที่เรากำลังคิดถึงนั้น มันจะเป็นคนหรือสถานที่ก็ตาม มันเป็นเรื่องที่ปรุงแต่ง ด้วยกิเลส ตัณหา อันประกอบไปด้วยกามคุณ ๕ หรือเปล่า ถ้ามันไม่ใช่ มันเป็นการพิจารณาธรรม ยังใช้ได้ ให้พยายามพิจารณาธรรมลงไปว่า มันเป็นธรรมเรียกว่า ธรรมวิจยะ พิจารณามันลงไป อันไหนผิด อันไหนถูก พิจารณาธรรม คือพิจารณาข้อผิด ข้อถูก ข้อควร และไม่ควร หรือข้อดี และข้อชั่ว อันไหนชั่วละทิ้ง เหลือไว้แต่ดี และในสิ่งที่ดีนั้น เราก็พิจารณาซ้อนลงไปอีกว่า มันมีชั่วอยู่อีกไหม ในดีนั้นมันก็ยังมีชั่วอีก พิจารณาซ้อนลงไปในดีให้ได้อีกว่า แบ่งออกมาเป็นชั่ว ปนอยู่ในตัวมันได้อีก เอาชั่วทิ้งไปเสีย เหลือแต่ดีส่วนที่ละเอียดเข้าไว้อีก ทำอย่างนี้แหละ คือ อาการของ การปฏิบัติให้ถึง จุดที่เรียกว่า ทำจิตใจให้บริสุทธิ์ นี่แหละคือ โอวาทปาฏิโมกข์ ของพระพุทธเจ้า ให้ทำดังนี้

ลองนั่งดู ลองพยายามซิ ถ้าใครไม่ให้จิตออกไปนอกตัวเลย มันปรุงอยู่แต่ในตัวนี่ คิดถึงเรื่องธรรมะ ยิ่งยกหัวใจธรรมมาปรุง มาวิจัย หรืออ่านจิตของตัวเราเอง ในใจเรานี่ ไม่โลภ ไม่รัก ไม่โกรธ ไม่หลง ไม่เกลียดอะไรอยู่ อ่านให้ได้ชัด มันยิ่งดีใหญ่ แล้วมันจะปรุงเป็นธรรมได้แล้ว อยู่ที่ตัวเราเองได้ ตัวเองเป็นคนรู้ ลองดู

ลองดูซิ จิตเราเป็นอย่างไร มันหลับไปมากกว่าตื่น หรือตื่นมากกว่าหลับ พระพุทธเจ้าท่านให้เป็น คนตื่นอยู่เสมอ ในตลอดเวลา ต้องรักษาจรณะ จรณะตัวนี้ก็หมายความว่า การประพฤติเป็นอยู่ มีการประพฤติ การเป็นอยู่ อย่างตื่นอยู่เสมอ เรียกว่า จรณะ ผู้ที่สำรวมดีแล้ว เรียกว่า จรณะสัมปันโน พระอรหันต์นั้นจะต้องมี จรณะครบ ๑๕ คือ เป็นอยู่อย่างบริบูรณ์ มีตั้งแต่ศีลก็ได้บริสุทธิศีล อินทรีย์ก็บริสุทธิ์ทั้งอินทรีย์ มีการรู้ตัว สำรวม กายทวาร ทั้ง ๕ ใจทวารอีก ๑ สำรวมทั้ง ๕ ทวาร และทวารใจพร้อม และก็มีอย่างอื่นประกอบด้วย เช่นว่า ในการกินอาหารก็รู้จักกิน เพราะเหตุว่า เราจะต้องเป็นผู้ยังกินอาหารอยู่ในตน คนทุกคน ที่ยังไม่ตาย ต้องกินอาหารอยู่ เพราะฉะนั้น กินอาหารจะต้องควบคุม ดูแล ไม่หลงในรส ในชาติ ในทุกสิ่งทุกอย่าง ที่เขาจะบำรุงบำเรอ ที่เขาจะปรนเปรอมาทุกอย่าง ต้องเป็นผู้รู้ ในการกิน อยู่ทุกเวลา จึงเรียกว่า จรณะสัมปันโน

จะต้องเป็นผู้มีชาคริยานุโยคะ จะต้องเป็นผู้ตื่นอยู่เสมอ ชาคริยา เป็นผู้ตื่นอยู่เสมอ จะต้องเป็นผู้มี ศรัทธา ในสิ่งที่เราได้กระทำมาแล้วนี้ ว่าเป็นของดีจริง ของสูง ของควรอบรม ให้มันเป็นอยู่อย่างนี้ เสมอ เป็นผู้มีหิริ ละอายต่อบาปต่างๆ สิ่งที่เลวต่างๆ ที่จะมาชักจูง ให้ตัวเองผิดไปจาก จรณะสัมปันโน นี้คือควรไม่ควร คือ โอตตัปปะ เป็นผู้กลัวต่อสิ่งที่จะทำให้ผิดแปลกออกไป

เป็นผู้มีพาหุสัจจะ พึงเพียรสดับตรับฟัง ค้นคว้า เสาะหาความรู้ ความจริงที่มันจะมีขึ้นมา ตลอดเวลา ให้เพิ่มขึ้น ไม่ใช่หยุดอยู่ที่เก่า ให้มันมีปัญญาเพิ่มขึ้น เข้าใจได้มากขึ้นเรื่อยๆ เรายังไม่ถึง สัมมาสัมพุทโธเมื่อไร ละก็ เราก็พยายามให้มันมีความรู้ ความเพิ่มเติมมากขึ้น เรียกว่า พาหุสัจจะ นอกจาก พาหุสัจจะแล้ว เราก็จะต้องมีวิริยะ ความพากเพียรเป็นอยู่อย่างดี มานะ บากบั่นไปเสมอ แล้วก็จะต้องมีสตินี่แหละ ตัวสำคัญ ควบคุมตัวเอง ไปตลอดเวลา

นอกจากเป็นผู้ตื่นอยู่ รู้ตัวแล้ว ก็จะต้องมีสติ เป็นผู้ระลึก ควบคุมในทุกๆแห่ง ทันในทุกๆ อย่าง เรียกว่า สติ มีปัญญาแล้ว นอกจากจะทันทุกๆอย่างแล้ว ก็ต้องมีปัญญา คือมีความเฉลียวฉลาด เหนือกว่าทุกๆเวลา ทุกๆขณะ ทุกๆอย่าง ที่เราจะต้องตัดสินออกไปด้วย ต้องใช้ปัญญา นอกจาก มีปัญญา ก็จะต้องมีปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน และ จตุตถฌาม มีฌานเป็นขั้นๆ ตามลำดับขั้น ขึ้นเป็นอนุโลมปฏิโลม หมายความว่า พิจารณา และก็ตัดความพิจารณาไป แล้วก็ตัดสินในสิ่งที่ถูก จนกระทั่งถึง จตุตถฌาน ก็เหลือความสบาย ว่างเปล่า อยู่ในความเป็นหนึ่ง เอาฤทธิ์ของจตุตถฌาน คือจิตที่เป็นหนึ่งนั้น มาใช้งานก็ได้ด้วย หรือเราจะอยู่ในสุดท้าย จตุตถฌาน เราจะเหลือแต่ อุเบกขารมณ์ คืออยู่ในความวางเฉย นิ่งเปล่าก็ได้ นั่นเรียกว่า อารมณ์ ของพระอรหันต์ ซึ่งมีจรณะสัมปันโน

จรณะความเป็นอยู่ สัมปันโน หมายความว่า ผู้ปฏิบัติอย่างดีที่สุดแล้ว สุปฏิปันโน ผู้ปฏิบัติ อย่างดีที่สุด สัมปันโน ผู้ปฏิบัติด้วยดี ด้วยชอบ ปฏิบัติด้วยดี ด้วยชอบที่สุดแล้ว เพราะฉะนั้น ผู้ใด ได้จรณะสัมปันโน แล้วก็เป็นผู้อยู่สุข เป็นผู้ที่ไม่เดือดร้อนกาย ไม่เดือดร้อนใจ เดือดร้อน ก็รู้ว่า เดือดร้อน ต่อเมื่อเป็นประโยชน์โลก ถ้าไม่เป็นประโยชน์โลก หรือประโยชน์ธรรม เราก็ไม่ยอม เดือดร้อน เราก็จะเป็นผู้ที่อยู่ในอุเบกขาเท่านั้นเอง วางเฉยอยู่ อุเบกขา ในภาษาธรรมดา ก็เรียกว่า วางเฉยอยู่ ถ้าอุเบกขาโดยที่เรียกว่า เราไม่แตะต้องกับอะไรเลย เราเฉยๆจริงๆ ก็เรียกว่า สุญญตา ก็ตัวเดียวกันแหละ ภาษาจะแบ่งแยก เรียกอะไรก็ได้ ถ้าเราเข้าใจสภาวะเสียแล้ว รู้สภาวะเสียแล้ว เราจะไม่เถียงกับใครเลย ถ้าเรารู้จุดของมัน ถ้าเราไม่รู้จุดก็เถียงกัน อุเบกขา กับสุญญตา บอกว่า มันเป็นอันเดียวกันก็เถียงกัน ไม่ใช่อันเดียวกันก็เถียงกัน เถียงได้ทั้ง ๒ ประตู อุเบกขา กับสุญญตา ให้อาตมาเถียงบอกว่า อันเดียวกันก็ได้ หรือให้อาตมาเถียงว่า อุเบกขา กับสุญญตา มันไม่ใช่ อันเดียวกัน อาตมาเถียงฝ่ายนี้ก็ได้ ไม่เป็นไรหรอก ขอให้เราเข้าใจก็แล้วกัน ถ้าเราเข้าใจแล้ว จะใช้ไปพลิกแพลงทางไหน หรือจะใช้ในวาระอย่างไร เราก็ควรจะรู้

วันนี้ เราก็ทดสอบ หรือว่านิ่งกันแท้จริง เรามาบำเพ็ญธรรม นี่เราก็มาทำใจ แทนที่จะเอาเวลา ไปทำอย่างอื่น อย่างน้อยที่สุด มานิ่งในสถานที่นี้ ยังได้มาอบรม ทำใจ ทำคอให้สบาย ก็เรียกว่า เป็นภาวนาแล้วเหมือนกัน ภาวนาก็คือ อบรม เราไม่ซัดแส่ เราก็ไม่ไปอยู่ในสิ่งแวดล้อม หรือ ไม่ได้เตรียมตัว เตรียมใจอยู่ในสิ่งที่เป็นโลกๆ เรามาอยู่ในแดนของธรรม มันก็ทำให้เราบริสุทธิ์ขึ้น ผุดผ่องขึ้นได้ เช่นเดียวกัน

สำหรับวันนี้ ก็เพียงเท่านี้


๑๒ กันยายน ๒๕๑๔


การฝึกจิต 12 ก.ย.2514 / FILE:1723.TAP