รู้อย่างนี้...ทำตั้งนานแล้ว
โดย พ่อท่านสมณะโพธิรักษ์
ณ พุทธสถานสันติอโศก
เมื่อวันที่ ๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๕

อะไรๆมันก็คุยกันมามากมายแล้ว จริงๆแล้ว ก็ไม่ได้หมายความว่า อาตมาไม่มีอะไรจะคุย ไม่มีอะไรจะพูด หรือไม่มีอะไรจะบอกละนะ ก็มี มีตลอดเวลาแหละ มีอยู่เรื่อยๆ ของเก่า ที่เราได้พูดกันมาซ้ำซาก พูดซ้ำด้วย แล้วก็พยายามหาแง่เชิงต่างๆอีก เอาแง่เชิงต่างๆ เข้ามาพูดอธิบาย ขยายความประกอบกันไปอีก ในสิ่งที่มันลึกซึ้งขึ้น เรียกว่าแง่มุมที่ แม้แต่เรื่องที่ ไม่ลึกซึ้งหรอก ผิวเผินขึ้นก็ตาม แต่เป็นแง่เชิงที่หลากหลาย จะเป็นแนวตื้นก็ตาม แต่หลากหลาย มีเหตุมีปัจจัย ที่จะเกี่ยวจะเนื่อง มันก็ทำให้เราได้รู้ความเกี่ยวพัน ความเกี่ยวข้องของทุกสิ่ง ทุกอย่างในโลกนี้ หรือในโลกมหาจักรวาลนี้ มันเกี่ยวพันจริงๆ มันเกี่ยวพันทั้งจักรวาลนี้ เกี่ยวพันกันไปมากมาย แล้วมันเกี่ยวพันทั้งอดีต ปัจจุบัน อนาคต มันเกี่ยวพันอีกด้วย ความรู้ของคน รู้กันไปมากมาย รู้กันแล้วก็ไม่รู้ว่า เราจะทำอะไรให้ แก่ตัวเองดี ตัวเองหรือตัวคนนี่ จะมีประโยชน์ให้กับสังคมมากมายได้อย่างไรดี พร้อมกันนั้น ตัวเราก็อยู่เย็นเป็นสุข อยู่เป็นสุขจริงๆ

อยู่เย็นสุขเป็นนี่ไม่ได้หมายความว่า อยู่เย็นเป็นสุขแค่แบบโลกๆ ที่เข้าใจ ซึ่งเราได้ศึกษา มาแล้วว่า โลกียสุข หรือ สุขอย่างที่โลกๆ ปุถุชนเข้าใจๆกันน่ะ มันไม่ได้อยู่เย็น มันอยู่ร้อนด้วย เป็นสุขก็เป็นสุขร้อนๆ นี่เรียกว่าสุขัลลิกะ หรือว่าโลกียสุข มันสุขร้อนๆ แต่ทางนี้ สุขเย็นจริงๆ วูปสโมสุข นี่สุขระงับ สุขไม่วู่วาม สุขไม่ต้องการก่อน แล้วก็ค่อยมาบำเรอ ความต้องการ บำบัดความต้องการ แล้วเราจะเรียกว่า สุขไม่ได้สุขอย่างนั้น มันสงบอยู่ มันไม่ต้องการนะ แล้วมันเย็นๆ สบายๆ มันไม่ต้องการมาบำเรอ มันไม่ต้องการมาบำบัด มันว่าง โล่ง โปร่ง เบา ง่าย สะดวก ไม่ต้องมีอะไรมารุกราน หรือไม่ต้องมีอะไรมาคอยยุยั่วเย้า ยั่วยุอะไรได้เลยนะ อยู่กันอย่างปลอด ปลอด อยู่อย่างที่ไม่เกี่ยว ไม่เกาะ ไม่ผลัก ไม่ดูด ลักษณะพวกนี้ นี่อาตมาก็ใช้ภาษาบ้าง พวกคุณฟังภาษาที่มีความหมายของมันแต่ละคำ ฟังไปแล้ว จะเข้าใจเพิ่มขึ้น เติมขึ้นเรื่อยๆว่า มันสุขอย่างไร

และก็ได้พยายามหยิบเอาเหตุปัจจัยที่มันพอจะเอามาพิสูจน์กันได้ ตั้งแต่หยาบๆ ง่ายๆ แล้วเราก็ได้พิสูจน์กันไปเรื่อยๆ พิสูจน์กันไป พิสูจน์กันไป จนกระทั่งได้ผลที่มันเป็นไป อย่างสงบระงับ ที่มันสงบ ที่มันสุข อย่างวูปสโมสุข สุขอย่างเย็น สุขสงบ มันสงบไปนี่ เรียกว่า เอาภาษาโลกมาใช้ เรียกว่ามันสุข ที่จริงแล้ว มันไม่ทั้งสุขและมันไม่ทั้งทุกข์ มันไม่สุข มันไม่ทุกข์ ทั้งสองอย่างแหละ วูปสโมสุข เอาภาษาโลกเขามาใช้เรียกอาศัยเท่านั้นเอง เราก็ได้ตัวอย่าง เราจึงจะรู้รส เป็นรสวิมุติ หรือเป็นรสของความสงบ เป็นรสสุดยอด เป็นรสอันเลิศ ของทางพระพุทธศาสนาเรา ถ้ามีตัวอย่างจริงๆเลยนี่นะ คนนั้นก็จะรู้ได้เอง เป็นปัจจัตตัง เป็นของตนเอง กระทำมากขึ้น เหตุปัจจัยต่างๆที่จะทำอย่างนี้แหละ ลดละกิเลส ลดละความติด ความหลง ที่เราหลงว่าอร่อย หลงว่าเสพเป็นสุขอะไร ลดละวางจางคลาย ไปได้มากๆ ตัว อย่างมากๆ เหตุปัจจัยเราก็จะเข้าใจดีขึ้น จริงจัง ชัดเจน มั่นใจยิ่งขึ้นๆๆๆ แล้ว มันก็จะมีพลัง มีพละ มีพลัง ความเชื่อมั่น มีศรัทธาพละ แล้วเราก็เสริมต่อในเรื่องอื่นใด ที่เรายังละยังลด ยังไม่ได้ ยังเป็นกิเลส เป็นอะไรอยู่อีก ก็จะทำให้เรานี่ พยายามกระทำ เพิ่มเติมขึ้นไปอีก

ถ้าใครได้อาศัยแล้วนะ ได้อาศัยจิตสงบ ได้อาศัยสิ่งที่มันว่างมันเบา มันไม่ได้พาเราทุกข์ เราร้อนมากนัก ยกตัวอย่างง่ายๆ ว่าโลกหยาบๆอย่างโลก อบายมุขเราก็เลิกละมาได้ โลกกามารมณ์หยาบๆ เราก็ละมาได้ โลกแห่งโลกธรรม ไม่ว่าลาภ ยศ สรรเสริญ โลกียสุขหยาบๆ อะไร เราก็เลิกละมาได้ พอสมควรแล้ว เราก็จะรู้ว่า มันเบา มันว่าง มันไม่จัดจ้าน มันไม่ต้องเป็นภาระ มันไม่ต้องเหน็ดเหนื่อย มันไม่ต้องคอยบำเรอตน บำบัด คอยเป็นทาส ของตนเอง ต้องคอยไปหามาให้บำบัดซ่อกๆๆๆๆ อะไรมากมายนัก ของใหม่ที่เขามอมเมากัน อาตมาก็บอก ให้รู้เท่าทัน ไม่ต้องไปปรุงแต่ง ไปเพิ่มเติมหรอก ของเก่าที่เราติดอยู่แล้ว เคยปรุงเคยแต่ง เคยติดเคยหลงอยู่ตั้งเยอะตั้งแยะแล้ว เราก็มาล้างออกไปให้หมดเถอะ ของใหม่นี่ ก็เข้าใจเขาให้รู้โลก เมื่อเราเข้าใจตัวเอย่างแบบธรรมะแล้ว ใหม่นี้ก็จะไม่ติด มันก็น้อยลง ของเก่าก็ลดล้างละออกไปได้ เรื่อยๆๆๆ มันก็มีวันหมด

แต่อย่างนั้นก็ตาม พวกเราก็ประมาท ประมาทว่าเราได้ เบามาแล้ว เราไม่ทุกข์อย่างก่อนๆนี้ เพราะว่าเราได้ละ ได้ลด ลงมาบ้างแล้ว เสร็จแล้วก็ไม่ขมีขมันต่อ ไอ้มันช้า มันก็พาช้าตรงนี้ พาช้าตรงว่า มีที่พัก มีสวน ได้แวะสวนแล้ว ได้ถึงสวนบ้างแล้ว สวนแม้จะไม่ใช่สวนนิพพาน หรือ สวนสวรรค์สูงสุด เป็นสวนนิพพานน้อยๆ สวนสวรรค์ได้พอสมควร เราก็ติดสวนสวรรค์ อยู่แค่นี้ ไม่อุตสาหะ ไม่พากเพียร ไม่พยายามที่จะกระทำอะไรเพิ่มเติมขึ้น ที่ไม่ทำเพราะอะไร เพราะว่าเราเอง เราอยู่ในแวดวงสิ่งแวดล้อม เสนาสนะสัปปายะ ได้อยู่กับที่ควรอยู่ มีหมู่ มีกลุ่ม อะไรต่ออะไร พอสมควร แล้วมันก็เลยเกื้อกูลกัน มีไอ้โน่นไอ้นี่ต่างๆ นานา ช่วยเหลือเฟือฟาย ห้อมล้อมอยู่ ก็เป็นไปได้ อย่างที่เรียกว่า ไม่ทุกข์นัก ไม่เดือดร้อนนัก ไม่ว่าเสนาสนะ หรือเพื่อนฝูง หมู่กลุ่ม บุคคล แม้แต่อาหาร ลดละมาได้ เราก็มีขนาดนั้นขนาดนี้ อาหารจะเป็นตั้งแต่ กวฬิงการาหาร อาหารที่กินเข้าปาก เข้าท้องนั่นแหละ หรือผัสสาหาร ผู้ที่สามารถอยู่กับหมู่ ก็มีผัสสะ แล้วก็พยายาม เข้าใจหมู่ฝูง มีผัสสะก็พอทนได้ ไม่หนักหนาสากรรจ์อะไร ก็พอทนได้ ก็อยู่ไปได้ ส่วนผู้ที่อยู่กับหมู่ไม่ได้ ทนไม่ได้ ก็มีอัตตามานะหน่อย ทนไม่ไหวก็ออกไปบ้าง แต่ถ้าผู้ใดทนได้แล้วนะ มันก็อยู่ได้ อาศัยได้ มีสัปปายะต่างๆ นานา ผู้ที่อยู่ได้อย่างนี้ จะประมาท ทั้งๆที่มีการเสริมสานในเรื่องธรรมะ มีปริยัติธรรม บรรยาย พยายามบอก พยายามแนะ พยายามสอน พยายามปรับ พยายามเร่งเร้า ปลุกเร้าให้เราขมีขมัน อย่างนั้น อย่างนี้อยู่

เมื่อผู้ใดที่ประมาท แล้วไม่ขวนขวาย ไม่อุตสาหะเพิ่ม ก็จะไม่ค่อยฟังธรรม ปริยัติก็ไม่ค่อยจะฟัง ไม่ค่อยจะนั่นนะ หลบๆเลี่ยงๆไป เรารู้ว่า เรารู้แล้วได้แล้ว ไม่พยายามขวนขวาย ที่จะเพิ่มเติมอีก เพราะรู้สึกว่า ตัวเองสบาย ขนาดนี้ก็พอ ได้แฝงอยู่กับหมู่ ได้แฝงอยู่กับที่อาศัยอะไรบ้าง ต่างๆ นานา ที่พอเป็นไป สิ่งเหล่านี้เป็นองค์ประกอบที่ทำให้คนเราประมาท ไม่อุตสาหะวิริยะ ไม่ขวนขวายเพิ่มเติม จุดหนึ่ง เราเอาความฟังที่อาตมาพูดนี่ ลองเอาไปคิดดูให้ดีๆ มันสบายขึ้นจริงๆ มันสบายขึ้นกว่าก่อนนี้ มีเสนาสนะสัปปายะ มีเสนาสบาย มีอาหารสัปปายะ มีอาหารสบาย ตามที่เราเอง เราละเราลดได้มาในฐานะนี้แล้ว แล้วมันก็มีบุคคล เพื่อนฝูงช่วยเหลือ เฟือฟายกัน สร้างสรรทำอะไรกันอยู่ละ มีงานโน่น มีงานนี่ ก็เป็นจักรกล หรือว่าเป็นองค์ประกอบ เป็นพฤติกรรม กิจกรรม พิธีกรรม ที่เรามีอยู่ เราก็พอเป็นไป แล้วก็ทำงานไป วันต่อวันๆ เราทำขนาดนี้ ไม่ต้องขวนขวายอะไรมากนัก มันก็พอเป็นพอไป อยู่กับหมู่กับฝูงไปเรื่อยๆๆ แล้วก็เลยไม่คิดอยากจะขวนขวายเพิ่มเติม ธรรมะก็ไม่ได้เติมอะไร มากมายนัก มันก็จะช้า ดีไม่ดีเป็นตัวประมาทด้วยนะ ประมาทมาก ตรงที่ว่าเราเอง เราเข้าใจ นึกว่าตัวเองบรรลุแล้ว ถึงขอบเขตที่ตั้งมั่นแล้ว ความจริงมันยังไม่ตั้งมั่น ความจริง ยังไม่เข้ารอบแท้ มีบางคนไม่ถึงขั้นถึงรอบแท้ก็ประมาท พอประมาทปั๊บก็หลวมๆ ทำให้ตัวเอง ประมาท ไปละเมิดนั่น ละเมิดนี่เข้าไปเรื่อยๆๆ สักวันหนึ่งหรอก สักวันหนึ่ง ก็จะตกต่ำแน่ๆเลย

จงระลึกเสมอว่า สิ่งใดที่เราเอง ยังไม่ถอนอนุสัยอาสวะ หรือยังไม่เข้ารอบ จริงๆแล้ว อาตมาอยากจะให้คำนึงถึง ขั้นถอนอนุสัยอาสวะโน่นแหละ เป็นที่สุดที่จบด้วยซ้ำไป โน่นแหละสำคัญ ไอ้การประเมินประมาณว่าพวกเรา มีอินทรีย์พละสูงแล้ว ว่านี่เราแน่ใจแล้วว่า เราเข้ารอบที่ไม่ตั้งมั่นแล้ว ไม่เวียนกลับแล้ว ถึงขีดถึงรอบอนาคามีภูมิ อนาคามีภูมิในธรรมะ ไม่ใช่อนาคามีภูมิในความเป็นพระอนาคามี อนาคามีภูมิในธรรมะแต่ละเรื่องๆ ของเรานี่ ไม่ว่าจะเป็น เรื่องอะไรก็แล้วแต่ แยกย่อยไป จนกระทั่ง สูบบุหรี่ กินเหล้า ใช้ลิปสติกทาหน้า ทาตาอะไรก็แลัวแต่ หรือการแต่งตัว รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส อย่างนั้นอย่างนี้ อะไรมันเป็น สิ่งที่เราเลิก เราละมา เป็นเรื่องเกี่ยวกับกาม เกี่ยวกับพยาบาทใดๆ ก็แล้วแต่ มีราคะอย่างนั้น มีเหตุปัจจัยที่เป็นก่อให้เกิดราคะอย่างนั้น อย่างนี้

ถ้าเรายังไม่ถึงขั้นเข้ารอบแล้วนี่ ประมาทไม่ได้เลย แม้ว่ามันจะมีสิ่งแวดล้อม มีเพื่อน มีฝูง มีโน่น มีนี่อะไรอยู่ พาเราไม่ตกต่ำอะไรมากนักก็ตาม เราเองนั่นแหละ ประมาทมากๆเข้า ก็ไปละเมิด ไปเคล้าๆ เคลียๆ ไปทำเล่นทำหัว ทำประมาท ช่างมันเถอะ เล็กๆน้อยๆ เล็กๆน้อย เล็กๆน้อยๆ ช่างมันเถอะ เราละเมิดหน่อย ผิดศีลบ้าง ผิดศีลนิด ผิดศีลหน่อยบ้าง ช่างมันเถอะ อย่างไรก็ หมู่ฝูงอยู่เยอะแล้ว จะเป็นจะตายอย่างไรหมู่ฝูงคงดึง มันไม่ได้ดึงกันได้ง่ายๆนะ ถ้ากิเลส มันดึงเราหนักแล้วละก็ มันอยู่ที่ตัวของเรา มันดึงเราออกไป จากหมู่ด้วยซ้ำ หมู่จะดึงอะไรได้ มันทำให้เราตกร่วงไป ดึงเราออกไปจากหมู่ ด้วยซ้ำ ถ้าไปเที่ยวได้แถมประมาทมาก อย่างที่ อาตมากล่าวนี้ ในหมู่พวกเรานี้มีอยู่ ไม่ขมีขมันหรอก ประมาท ลอยๆ ทำเฉยๆ เฉื่อยๆ หรือว่าไม่เฉย ไม่เฉื่อยหรอก ประมาทอย่างที่ว่า ไปซูเอี๋ยกับกิเลส เที่ยวละเมิดนั่น ละเมิดนี่ ก็เอามันไปบ้างเล็กๆ น้อยๆ ก็ไม่กลัว ไม่มีหิริ ไม่มีโอตตัปปะเพียงพอ ไม่มีความเกรงกลัว ไม่มีความละอายต่อบาป ต่อสิ่งที่มันละเมิดไปนั้นน่ะ

ถ้าเผื่อว่าเราไม่เอาจริงเอาจัง ไม่ตั้งหน้า ตั้งตาตั้งใจศึกษา ทั้งปริยัติเพิ่มเติม แล้วก็พยายาม เคร่งครัดต่อตัวเอง ปฏิบัติแข็งแรงกันจริงๆ ให้มีตัวปฏิบัติ ที่มันได้ละ ได้จาง ได้คลาย ปฏิบัติถูกเรื่องถูกราวจริงๆ จนมันขัดเกลาไป จนมันเข้ารอบ เข้าถึงขีด เข้าถึงเขตที่ตั้งมั่น ไม่เปลี่ยนแปลง เที่ยงแท้ที่จะไหลเวียนไปสู่ นิพพานได้ คือแม้จะไหลเวียน เราก็ไม่ปล่อย ให้มันไหลเองหรอก เราก็พยายามที่จะพัฒนา ขมีขมัน ปฏิบัติประพฤติ เพื่อที่จะล้างละ ไอ้ส่วนที่เหลือนั่นด้วยความเจตนา ด้วยความจงใจ ด้วยความมุ่งหมายให้จริงๆ ให้ดีๆ จะไปรอช้ามันทำไม ความประมาทของเราอย่างนี้นี อาตมาไม่รู้ จะทำอย่างไร ของแต่ละคน แต่ละคน อาตมาก็บอกว่า อาตมาได้ไขความแล้วนะ ให้ฟังว่า สิ่งแวดล้อม มีเสนาสนะ มีบุคคล มีอาหาร มีสิ่งอะไรๆต่ออะไรต่างๆ พวกนี้ มันเป็นสัปปายะ มันช่วยเราอยู่แล้ว แล้วเราประมาท ระวังน่ะ ระวังอย่าประมาท

พระพุทธเจ้าท่านไม่สอนเลย ท่านไม่แนะนำเลย แม้แต่โทษภัยอันมีประมาณน้อย โทษภัย อันมีเล็ก มีน้อย ท่านก็ไม่ให้ประมาท ไม่ให้ไปผลัด ไม่ให้ไปเที่ยวได้ละลาบละล้วงเล่น อะไรต่ออะไร ต่างๆนานา มันควรจะแข็งขัน มันควรจะเคร่งครัด มันควรจะกระทำได้ โดยที่ว่า เราเอง เราก็มีอินทรีย์พละ พอทำได้นะ ก็ต้องทำมันจริงๆ ไม่เช่นนั้นแล้ว ก็ไปเที่ยวได้หาเรื่อง หาราว หาเหตุหาผล โน่นๆ นี่ๆ แวะๆเวียนๆ อ้างเพื่อนอ้างฝูง อ้างเหตุโน้น เหตุนี้ ที่เราจะตกต่ำ จะอ้างเหตุไหนก็ตามแต่ ถ้าเราไปอ้างเหตุโน้นเหตุนี้มาแล้ว ก็มาปุโลปุเลว่า นี่เราต้องตกร่วง หรือว่าต้องตกต่ำ หรือว่าเราต้องไปละเมิด ผิดศีลผิดธรรม อันโน้น อันนี้ไปนี่ เพราะอันนั้น เพราะอันโน้น เพราะอันนี้ เพราะอันนั้นๆ อันไหนกัน ก็แล้วแต่

พระพุทธเจ้าไม่เคย ให้ไปโทษ ใครเลย ต้องโทษตัวเอง โทษตัวเองจริงๆ เรื่องกิเลสนี่ โทษใครไม่ได้ เราจะแข็งแรง ก็ต้องตัวเรา เราจะเหลาะแหละ ก็ต้องตัวเรา เพราะเรา เหลาะแหละเอง แล้วเราไปโทษคนนั้น โทษคนนี้ เพราะเหตุคนนั้นเทียว ฉันถึงเกิดกิเลส เพราะเหตุคนนี้เทียว ฉันถึงเกิดกิเลส เรามันคนขี้โกง อันธพาล ใครจะเลว ใครจะชั่ว ใครเขาจะเป็นอย่างไร ใครจะเป็นเหตุปัจจัย จัดจ้านอย่างไร มันก็เป็นเรื่องของเขา เรามีหน้าที่รับผิดชอบ ดูแลกิเลสของเรา ไม่ใช่ดูแลมัน เพื่อที่จะเลี้ยงกิเลสให้มันโตนะ จัดการกับกิเลสของเราต่างหาก เรามีหน้าที่จัดการกับกิเลสของเรา คนไหนที่โง่ๆ เที่ยวได้โทษอันอื่น โทษคนนั้น โทษคนนี้ โทษอย่างโน้น โทษอย่างนี้นี่นะ คนนั้นโง่ไม่เสร็จหรอก คนนั้นช้านานๆ โง่ไม่เสร็จ จะเนิ่นช้า เพราะว่ามันไปโทษคนอื่นเสียแล้ว มันจะไปมุ่งมั่น มันจะไปวินิจฉัยศึกษา พิจารณาเรียนรู้ ซอกแซกลึกซึ้งขึ้นไปหากิเลส ตัวที่มันเกี่ยวเนื่องกัน

แม้คุณจะมีความเฉลียวฉลาดขนาดไหน มายกอ้างเอาหลักฐานมายืนยันว่า คนข้างนอก สิ่งข้างนอก เป็นเหตุให้เราต้องกระทบ กระเทือน จะอย่างไรก็ตาม จะจริงอย่างไรก็ตาม เราจะไปลงโทษเขาไม่ได้ ในเรื่องของกิเลส ในเรื่องของ การปฏิบัติธรรม ไปลงโทษเขาไม่ได้ เราจะต้อง เฉลียวฉลาด และเราก็จะต้องเรียนรู้ กิเลสของเราเอง นั่นแหละ เป็นเหตุ พระพุทธเจ้า ท่านไม่เคยบอกว่า อริยสัจ ๔ เหตุก็คือข้างนอก ไม่เคย ท่านบอกเหตุก็คือ กิเลสตัณหาของเรา แล้วตามสายของกิเลส ตัณหาให้ได้เลยว่า มันเพราะเหตุอะไร มันมาจากราคะ มันจึงเกิดโทสะ ริษยา เคียดแค้น มันมาจากโทสะ มันจะไปเกิดราคะ หรือไปเกิดโลภะมาก มันจะโยงเหนี่ยว เกี่ยวกันอย่างไร หรือไม่ กับโมหะ นี่ตัวสำคัญ ตัวหลงผิดนี่แหละ ตัวสำคัญ หลงผิดยังจับข้อ จับทางอะไร ที่เข้าหาตัวเอง หากิเลสแท้ ของตัวเองยังไม่ถูกทาง ไม่ถูกแท้ สมุทัย หรือตัวเหตุร้าย เหตุปัจจัยมันคือ กิเลสตัณหา แล้วกิเลสตัณหามันไม่ใช่ของคนอื่นด้วย โดย อริยสัจนี่ กิเลสตัณหามันของเรา ไม่ใช่ของคนอื่น ของคนอื่นเราไปทำให้ของคนอื่นลดไม่ได้ เราต้องทำของเราเอง

เพราะฉะนั้น มันจะเกิดกิเลส ที่จะบานปลายไป อย่างโน้นอย่างนี้ เหลาะแหละ จะล้มเหลว จะต้องพลาด ต้องพลั้ง ต้องบกต้องพร่องอะไร เราไปโทษคนอื่นไม่ได้เลย ต้องโทษตัวเราเอง เราต้องแก้ไขที่ตัวเราเอง เพราะฉะนั้น คนไหนที่ไปทำเกี่ยงงอน ทำไปลงโทษคนนั้นคนนี้ หาว่า เขาเป็นตัวสำคัญ เป็นตัวร้าย เป็นตัวเลว เป็นตัวก่อให้เราเกิดทุกข์ คนนั้นแหละ บอกแล้วว่า โง่ไม่เสร็จ โง่ยกกำลังด้วย นอกจากโง่ไม่เสร็จแล้ว โง่ยกกำลังด้วย ที่ว่าโง่กำลัง เพราะอะไร เพราะเขาฉลาด คนที่ได้ไปหาเหตุหาผลของคนอื่น แล้วก็เอามาอ้าง จนกระทั่งตัวเองนี่รอดได้ คนนั้นฉลาดนะ แล้วความฉลาดนั่นแหละ มันเป็นความฉลาด มันไปยกกำลัง ของความโง่ของเรา ความโง่ของเราก็เลยโง่ยกกำลัง คือความฉลาดนั่นแหละ ฉลาดแก้ตัว เฉกตา ตัวฉลาดแกมโกง หรือฉลาดที่จะหาเรื่องเลวให้แก่ตัวเอง ฉลาดที่จะทำให้ตัวเองตกต่ำ ตัวเองเลวลง ความฉลาดอย่างนี้แหละ มันมีในโลก ไม่ใช่ไม่มี แล้วก็แก้ตัวให้แก่ตัวเอง อย่างนั้น รอดตัวสำหรับคนที่เขาสู้ความเฉลียวฉลาดไม่ได้ รอดตัว แต่ตัวเองรอดตัว ไม่ได้หมายความว่า ตัวเองเจริญขึ้น ตัวเองยิ่งต่ำลง รอดตัวแล้วตัวเองยิ่งต่ำลง แล้วมันดีตรงไหน โมหะอย่างนี้ ความไม่รู้ไม่ชัด ความหลงผิดอย่างนี้ มีอยู่ในคน

เพราะฉะนั้น พวกเราพยายาม พยายามอย่าได้ไปเที่ยวพึงโทษใครมาก ถ้าจะรู้ความจริงว่า เขาผิด ก็เป็นความผิดของเขา ที่เราจะต้องมาวางใจ เรามาแก้กิเลส การโกรธ การแค้น การเคือง การพยาบาท อาฆาต หรือแม้แต่ การที่เราไปรัก ไปหลง ไปราคะ ไปโลภะอะไรอยู่ก็ตาม หันเข้ามาหา กิเลสรากเหง้าอันนี้ของเรา คนอื่นคนใด ที่เขาจะมีเหตุปัจจัยที่มันเกิดตรงกัน เป็นเหตุ เป็นปัจจัยที่เกี่ยวพันกัน อาตมาพูดแต่ต้นแล้วว่า ทุกอย่างมันเกี่ยวพันกันไปหมดแหละ ในมหาจักรวาลนี้ มันสัมพันธ์เกี่ยวเป็นเหตุ เป็นปัจจัยแก่กันและกันหมดทั้งนั้นแหละ มันจะ ตัดขาดจากพวกไหนจริงๆ มันยังไม่ได้หรอก จนกว่าเราจะมีอินทรีย์พละของเราเอง นั่นแหละ เมื่ออินทรีย์พละของเราตัดขาด หรืออยู่เหนือ เรียกว่าหลุดพ้น มันหลุดพ้น มันตัดขาดจริงๆ มันหลุดพ้นออกมาแล้ว มันอยู่เหนือ และมันลอยตัวแล้ว อะไรๆ มาทำอะไรมันไม่ได้ เหตุปัจจัย ที่เคยทำให้มันเกิดกิเลส ให้มันเกิดความทุกข์ ให้มันเกิดความวุ่นวายเดือดร้อน อะไรนี่ สิ่งเหล่านั้น ทำไม่ได้ เพราะว่า มันขาดหลุดแล้ว สิ่งอื่นกระทบไม่ได้ กระเทือนไม่ได้เลย แต่มันมีรู้ รู้เห็นอยู่ ไอ้เหตุปัจจัยที่เคย แต่ก่อนนี้ ถ้ามันมาสัมผัส มันมากระทบ กระแทกกระเทือนเรานี่ มันจะเกิดเลย กิเลสเกิดในตัวเรา แต่เมื่อผู้หลุดพ้นนั้น หลุดพ้นจริงแล้วนี่ เหตุปัจจัยนั้น จะอยู่อย่างนั้นแหละ จะกระทบกระแทก กระทุ้งกระเทือนอยู่อย่างไร ก็ไม่ทำให้ เราเกิดกิเลส กิเลสมันตายจริงๆ แล้วไม่ทุกข์ไม่ร้อนอะไรจริงๆ เราต้องพิสูจน์ พวกนี้ เราต้องทำพวกนี้ ให้มันได้จริงๆ

เพราะฉะนั้น จะไปมัวโทษนั่นโทษนี่โทษโน่นอยู่ อย่าไปโทษเป็นอันขาด พยายามศึกษา ให้ลึกซึ้งจริงๆ เพราะฉะนั้น คนที่มีปัญญาดี จะไม่ไปเพ่งโทษใคร คนที่ยังเพ่งโทษอยู่ คนก็ยังมีสายโทสะ หรือว่าสายพยาบาท แล้วเรามาปฏิบัติธรรมนี่ เราจะเลี้ยงมันไว้ทำไม สายพยาบาท ไม่ให้สายพยาบาทสายเดียว สายราคะเราก็ไม่เลี้ยงไว้

ถ้าเราเองเราลดราคะ ลดโทสะได้จริงๆนี่น่ะ เราไม่ต้องกลัวหรอก ว่าเราจะไม่มีความรัก เราจะไม่มี ความพยาบาท เอาเถอะพยาบาทมันไม่มีแล้ว จะไม่มีพยาบาทนี่ ที่จริงมันเรียก เวรานุเวร เรียกว่าความเกี่ยวพัน พยาบาทนี่ เกี่ยวพัน เกี่ยวพันอยากจะทำสหกัน สายโทสะ นี่มันจะเป็น เวรานุเวร เป็นเวรที่จะต้องต่อเนื่อง เกี่ยวพันไปกันเป็นวิบาก แล้วมันไปทำลายกัน ไม่ต้องกลัวหรอกว่า เราจะไม่เกี่ยวพัน แต่ถ้าเผื่อว่า เราละล้างพยาบาทนี้ได้อย่างดี หมดแล้วนะ มันจะเกี่ยวพัน เป็นสิ่งที่สร้างสรรร่วมกันเสียด้วยซ้ำ แล้วไอ้นี่ไม่ใช่ภาษาพูดแล้ว จะเป็นบุญ ร่วมกันนี่ ไม่ใช่ว่า จะต้องไปรัก ผูกพันอะไรไว้ จึงจะได้ไปต่อเนื่อง ไม่ล่ะ อย่างอาตมานี่นะ อาตมานี่ก็สร้างภูมิที่ให้บริสุทธิ์สะอาดขึ้นไปเรื่อยๆ เสร็จแล้วเราก็ มีแต่จมอยู่ เอาง่ายๆ คุณมา ผูกพันอาตมาอยู่ด้วยราคะ หรือด้วยโลภะ แต่คุณไม่ล้าง ราคะ โลภะ คุณได้แต่ผูกราคะ ผูกโลภะให้มันมาก จะผูกอาตมาเอาไว้นี่นะ อาตมาก็ทำให้สะอาดๆๆ ไปเรื่อยๆ คุณก็หนาขึ้น เรื่อยๆ มันไม่ได้ไปด้วยกันนะ ภาษา มันดูเหมือนว่า เราจะผูก เรามีราคะมากก็คือ เราไปทิศทาง ตรงกันข้าม อาตมาราคะน้อยๆๆๆๆ ไปคนละทางนะ อาตมาก็ไปคนละทาง อาตมาไปในทาง สะอาด อาตมาจะสูงขึ้นไปทางสะอาด เราก็มีเติมราคะ เติมโลภะ เข้ามามากๆ มันก็ไปคนละทาง จ้างให้มันก็ไม่เกิดเจอกัน ฟังออกไหม ถ้าไม่ลดราคะ มันจะไม่ไปทางเดียวกัน

เพราะฉะนั้น เราจะมามีราคะกับใครก็แล้วแต่ เราก็จะไปด้วยกัน ไม่ไปหรอก ไม่ไปหรอก ไม่ไปด้วยกันหรอก ถ้าลงนรกด้วยกันคงจะไป ก็ตัวเอง หาราคะ หากิเลสใส่ตัวมากๆเข้า มันก็หานรกนั่นเอง อีกคนหนึ่ง ก็ไปสวรรค์ ไปนิพพาน ไปทางวิมุติ แล้วมันจะไปทางเดียวกัน ได้อย่างไร มันเดินตรงกันข้ามกันเลย คนละทางเลย มันยิ่งห่างยิ่งไกลกันใหญ่เลย ยิ่งห่าง

พยาบาท โกรธเคืองก็เหมือนกัน เราก็ไม่ยอมลดพยาบาท เราก็ไม่ยอมลดโกรธเคือง ยิ่งพยาบาท มากเข้าๆๆ ราคะก็เพิ่ม พยาบาทก็เพิ่ม เสร็จแล้วเราก็พยายามที่จะไปกับ คนที่ไม่มีราคะ ไม่มีโลภะ มันจะได้ไปที่ไหน มันจะได้พบกันที่ไหน ไม่มีพบ นี่คือความหลง นี่คือโมหะ นี่คือความเข้าใจผิด นี่ ต้องฟังดีๆ สัจธรรมพวกนี้เข้าใจดีๆ เพราะฉะนั้น ทิศทางๆเดียวกันจริงๆ น่ะ มีทางทางเดียว คือทางที่นิพพาน ให้ตรงกัน ลดราคะ ลดโลภะ หรือลดโทสะ โมหะกัน ให้ตรงทิศทางเดียวกัน แล้วจะไปทางเดียวกัน แล้วไปพบกัน แม้ไปลงนรกด้วยกัน หรือว่า ไปในทางโลกๆเดียวกันนี่ มันยังมีมากหลากหลายเหลือเกิน ที่มันไม่ไปด้วยกัน แต่ไปนิพพานนี่ มีทางเดียวเท่านั้น แต่ราคะ โลภะนี่นะ ความโกรธ โกรธไม่รู้กี่แขนง พยาบาท ไม่รู้กี่อย่าง กี่แบบ หยาบ กลาง ละเอียด หลากหลายมาก เพราะฉะนั้น มันจะแยกกัน หรือ มันจะแตกกันออกไป ไม่พบกันยังได้เลย แต่มันต้องมาพบกันตรงที่ว่า มีตัวที่มันไม่ยอมปล่อยกัน ในทางพยาบาท หรือในทางราคะก็ตาม ในทางรักก็ตาม มันก็จะมาพบกันอยู่นั่นแหละบ้าง ในราคะ ในพยาบาท มาพบกันอีก แล้วไปทุกข์ร่วมกันไปอีก

แต่ในทางโลกุตระ ในทางนิพพานแล้ว มันไม่หลากหลาย มันมีทางเดียว ลดโลภะ โทสะ โมหะ ออกไปมากเท่าไหร่ๆ ยิ่งเป็นทางจริงๆ ยิ่งเป็นทางตรง ยิ่งเป็นทางแคบ ยิ่งเป็นนิพพานจริง ยิ่งสะอาด เข้าไปหาทางหนึ่งทางเดียว เป็นนิพพานตรง นิพพานแท้ ยิ่งเป็นหนึ่งเดียว ยิ่งไปด้วยกัน ไปด้วยกันเลย เพราะฉะนั้น เรื่องโพธิสัตว์นี่ จะเจอกันไปจริงๆ เพราะเป็น โพธิสัตว์เหมือนกัน เพราะเป็นผู้ที่ละลด เป็นผู้ที่เดินทางที่ถูกสัมมาทิฏฐิ ก็จะไปทางเดียวกันได้ แต่ถ้าเผื่อว่า ไม่ทำอย่างนี้ มันยิ่งตรงกันข้าม ยิ่งหลงทาง ยิ่งไปกันคนละทิศเลย

สรุปแล้ว ทางหลงนี่มันมีมาก ทางที่จะไปสู่สัมมาทิฏฐิน่ะ ยิ่งมีน้อยลงๆๆๆ ยิ่งสัมมาทิฏฐิ ยิ่งมากเท่าไหร่ ยิ่งมีทางหนึ่งทางเดียว แต่ทางหลงนี่จะ โอ้โฮ ยิ่งกว่าเขาวงกต ยิ่งกว่าอะไร ต่ออะไร ยิ่งจะมากเลย ยิ่งจะเลอะจะเทอะเข้าไปอีกมากมาย เสร็จแล้ว เราก็ทำให้เราหลงทาง เพราะทางหลง มันเยอะ แล้วมันจะทำให้เราหลง ไปนานัปกัปกาล

เพราะฉะนั้น ในธรรมะของพระพุทธเจ้านี่ เป็นธรรมะที่ลึกซึ้ง เป็นธรรมะที่ซับซ้อน เป็นธรรมะที่ ละเอียดลออ แล้วเราจะเข้าใจได้ ฟังปริยัตินี่ แม้แต่อาตมาพูดวันนี้ ขยายความวันนี้ ก็เป็นนัย ที่ลึกซึ้ง นัยที่ละเอียดลออ ที่เราจะต้องฟังดีๆ เข้าใจดีๆ อย่าประมาทๆ อย่าไปทำเป็นเล่น พยายามล้างละ ให้เข้าหาทางหนึ่งทางเดียว เราจริงไหมว่า เราจะไปนิพพาน เราจริงไหมว่า เราจะเอาทางนี้ ขอให้พยายามถามตัวเองให้แน่ๆชัดๆ ถ้าเราจะเอาจริงแล้วละก็ อย่าประมาท อย่าเหลาะแหละ เข้มงวดกวดขันเข้า แล้วเราจะเป็นคนเจริญ ชีวิตเกิดมานี่ จะเป็นคนเจริญ จะเป็นคนที่มีคุณค่า มีประโยชน์ แม้เราละ ล้างกิเลส ราคะ โทสะ โมหะออกไปแล้ว ก็ยังกลัวว่า เราจะไม่มีความสุข

เราจะมีความสุขตรงที่เรามีธาตุรู้นี่แหละ เรารู้ เขาสุข เราก็เข้าใจ ตามสัญญากับเขาได้ เราสุขด้วยสัญญาเท่านั้น แต่ไม่ใช่ว่าเราสุขด้วยการไปอุปาทาน สัญญา ตัวธาตุสัญญาบริสุทธิ์นี่ มันกำหนดรู้ สัญญายะ มันกำหนดรู้ตามเท่านั้นแหละ สุขเราก็สุขกับเขาได้ มันเป็นอนุโมทนาจิต มันเป็นจิตที่เอ้อ ! เขาว่าดี เราก็ดีกับเขาไปตามไปเฉยๆ แต่มันไม่ได้อุปาทาน มันไม่ได้ติดยึด มันไม่ได้ฉวยเอาไว้ มาเป็นเรา มาเป็นของเรา เอามาเสพ อย่างนี้มาเพราะอย่างนี้ เออ! ชื่นชม เอร็ดอร่อย สวยงามอะไร อาตมาก็สมมุติกับเขาได้หมดน่ะ สัญญากับเขาได้ มันหยาบ มันคาย มันจัดจ้าน หลายๆอันนี้ เขาว่าเป็นสุข อาตมาทำกับเขาไม่ถึง สุขกับเขาไม่ไหว มันลวงจัดจ้าน เกินไป เขาหลงว่าสุข เราก็หลงกับเขาไม่ถึง สมมติกับเขาไม่ถึง มีเหมือนกัน มันก็ได้ขนาดหนึ่ง เท่านั้น แต่ถึงขนาดนั้นก็ แหม มันไม่น้อยหรอก มันไม่น้อยหรอก คุณจะบอกว่า โอ๊ย! ไอ้นี่สวยน่ะ เป็นสุข อาตมาก็สุข ก็สวยกับคุณได้ ขนาดไม่น้อย อันนี้เพราะนา เป็นสุข อาตมาก็สุขกับคุณ ได้ไม่น้อย สัญญาสุข สุขอย่างสัญญากับคุณได้ กำหนดก็สุขกับคุณได้ แต่เราไม่ได้ติด ไม่ได้นึก

เพราะฉะนั้น มันจะไม่แห้งแล้ง มันจะไม่เวิ้งว้างอะไร ทำไมไปเวิ้งว้าง ไม่ไปเวิ้งว้างหรอก แต่เราไม่ติด ไม่ติด เราไม่ติดหรอก แต่เรารู้ เป็นไปอย่างนี้ เหมือนกับอย่างนี้ คุณมีสัญญา คุณจำได้ว่า ไอ้นี่อร่อย เขาก็ปรุง ของอร่อยนี่มาให้คุณกิน คุณมีสัญญาอยู่นะ แต่คุณละได้แล้ว ไม่ติดได้แล้ว วางได้แล้ว วิมุติได้แล้ว คุณก็ยังจำได้ว่าอร่อย เขากำหนดอย่างนี้แหละอร่อย นี่มันหวาน มัน มันขนาดนี้อร่อย เขาก็ปรุงขนาดหวาน ขนาดมัน ขนาดนั้นมาให้คุณชิม คุณก็ชิม แล้ว รสที่ว่าอร่อยนี่ คุณก็เข้าใจ คุณก็จำได้ กำหนดก็รู้ ความรู้สึกว่าอร่อยอย่างนี้ คุณก็เข้าใจ อนุโมทนา เอ้อ! ใช่ๆ อร่อย อย่างนี้อร่อย เราก็อร่อยกับเขา เมื่อคุณชิมปุ๊บ คุณก็อร่อยกับเขา เท่านั้นแหละ แต่คุณก็รู้แล้วว่า เอ้อ!มันก็อย่างนี้ ถ้าขืนไปหลงติด มันก็ทุกข์ต่อไป เราก็ต้อง ไปแสวงหาอีก เราไม่ได้ติดแล้ว เราไม่ได้แสวงหาอีกแล้ว เราก็ปล่อย ชิมก็รู้กับเขา เสร็จแล้ว ก็แค่ปัจจุบัน จิตอร่อย แล้วเราก็วาง มันก็เท่านั้นเอง

เรื่องอื่นๆ ใดๆ จะเป็นรสอัสสาทะของโลก ที่เรายังมีความสุขตาม อย่างที่เรารู้กับเขา เราก็ไม่ได้หนีไปไหน เราก็รู้ อะไรที่คิดว่า ถ้าเราจะรับ รับได้ อนุเคราะห์เขาได้ หรือว่าสุดวิสัย เมื่อสุดวิสัย จำเป็นต้องรับ เราก็รับ บางอย่าง มันไม่สุขแล้ว มันทุกข์แล้ว มันลำบากแล้ว อย่างสมมุติว่า ไม่สมมมุติละเรื่องจริง อาตมาทุกวันนี้ กินเผ็ดมากๆนี่ ไม่ไหวแล้ว กินไม่ไหวจริงๆ ถ้าอาตมาขืนกินเข้าไป ก็ โอ้! มันแสบ มันร้อน อาตมาก็ไม่กินน่ะ นอกจากจำเป็นเขามาบังคับ หรือสุดวิสัยต้องกิน เออ! ก็ต้องกินน่ะ เผ็ดมันทุกข์น่ะ ก็ต้องจำทุกข์น่ะ ไม่ได้สุขหรอก นี่มันสุดวิสัยสุขแล้ว แต่ก่อนนี้ มันมีอุปาทาน โอ! ถ้าเผ็ดๆ ยิ่งเผ็ด แหม! รู้สึกว่า เราทั้งเก่ง ทั้งแซ่บ ทั้งมัน โอ๊ย! กินไปก็ ... ไป โอ้! จะตายเลย มันโง่จริงๆ น่ะคนเรา เสร็จแล้วเราก็ว่าเรามัน เราอร่อย แต่ก่อนหลงอย่างนั้นจริงๆ เคยหลงจริงๆ ใครเคยหลงบ้างก็รู้ตัว เป็นอย่างนั้นจริงๆ แต่เดี๋ยวนี้มันไม่ได้บ้าอย่างนั้นแล้ว มันวางแล้วจริงๆ มันเข้าใจ๊ เข้าใจ นี่ ยกตัวอย่างง่ายๆ

เพราะฉะนั้น การที่เราจะอยู่กับโลกเขา เราหลุดพ้นมาแล้ว กลัวว่า เราจะไม่สุขอีก นั้นน่ะ เป็นความกลัว ที่ไม่เข้าเรื่อง เดี๋ยวมันจะหมดรสอร่อย ว้าเหว่ อ้างว้าง เราจะเหี่ยวโหยอะไร มันคงจะอย่างไร อย่าไปเดา เดาว่าการหลุดพ้นแล้วนี่ มันจะกลายเป็นความเหี่ยวแห้ง กลายเป็นความจางๆ จืดๆ โอ้! คงไม่มีชีวิตชีวา คงไม่มีรสชาติ ไม่จริงหรอก ไม่จริงหรอก เราจะ ไปเดาๆ ไม่ได้หรอก วิมุติรสนี่ไปเดาไม่ได้ทีเดียว มันมีองค์ประกอบของสัญญา สังขาร วิญญาณ อยู่ตราบที่เรายังมีชีวิตอยู่ มันไม่ห่อเหี่ยว อ้างว้างอะไร ถึงขนาดนั้นหรอก

นี่อาตมาพยายามอธิบายปรมัตถธรรม ที่แม้แต่เป็นทางรสทางจิตที่ลึกซึ้งให้ฟัง เพราะฉะนั้น ก็ขอย้ำอีกทีว่า อย่าประมาท อย่าไปปล่อยปละละเลย อุตสาหะวิริยะเข้า ให้มันถึงแดน ที่พ้นจริงๆ ให้มันถึงแดนนิพพาน ให้มันถึงที่สุดกันให้ได้มากๆ เถอะ แล้วคุณจะบอกว่า เอ้อ! เราเองนี่ โง่จริงๆนะ มาทำความเนิ่นช้า มาเหลาะๆแหละๆ มาเที่ยวได้ติดสวรรค์ลวงเล็กๆ น้อย ได้สวรรค์ชั้นตื้นๆ ต้นๆ ก็มาหลงระเริงอย่างนี้ เสียเวลาจริงๆ

พระพุทธเจ้าท่านไม่สรรเสริญเลยความเนิ่นช้านี่นะ ท่านไม่นิยมชมชื่นด้วยเลย ความเนิ่นช้า ท่านให้พยายามขมีขมัน เร่งรัด พัฒนาเข้า สมบูรณ์เมื่อไหร่แล้ว คุณจะบอกได้ คุณจะพูดได้ จะจริงๆ จะพูดได้ เหมือนอย่างอาตมาพูดนี่แหละ จะไม่ต้องไปเที่ยวได้นั่งหลงใหล ติดยึด เสียเวล่ำเวลา แล้วจะมีประโยชน์ คุณค่า เราจะเห็นว่า โอ้! น่าเสียดายนะ เราไปหลงเสียเวลา อย่างโน้นอย่างนี้ มันน่าจะเสียดาย แหม รู้อย่างนี้ ทำตั้งนาน แล้วนะ แหม! มาเหลาะแหละ อยู่ทำไม มันจะคิดอย่างนั้นจริงๆเลยนะ ลองคิดดูของตัวเองซี ตัวเองได้สิ่งที่ดีมา ดีๆ มาบ้างแล้ว นี่คุณก็ยังรู้สึกอย่างนี้ได้ แล้วไอ้ที่ดีกว่านี้ มันยิ่งจะรู้สึกกว่านี้อีกน่ะจะบอกให้ คุณลองคิดเทียบเคียงดูดีๆ ก็แล้วกัน อาตมาคิดว่า จับมุมจับประเด็นที่ควรจะได้ ให้แก่พวกเรา ได้รับซับซาบ เป็นจุดที่เราจะเอาไปวินิจฉัย ไปพัฒนาตนเองได้ยิ่งๆขึ้น ในวันนี้ คิดว่า เป็นมุมสำคัญ มุมหนึ่งเหมือนกัน ก็ฟังดีๆ

เอาละ สำหรับวันนี้ พูดไว้แค่นี้ เอาไปทบทวน เอาไปฟังดูดีๆ แล้ว เราจะได้อะไรสำคัญๆ เอาไปใช้อีก ได้พัฒนากัน เจริญยิ่งกว่านี้ เอา พอ


ถอด โดย แก้ว ศิลาโปติ - จอม ศรีสวัสดิ์ ๒๔ มี.ค.๓๕
ตรวจทาน ๑ โดย สม.ปราณี ๒๕ มี.ค. ๓๕
พิมพ์ โดย สม.นัยนา
ตรวจทาน ๒ โดย เพียงวัน ๓ เม.ย.๓๕
FILE:2348.TAP