การฟังธรรม เป็นการย้ำทวน
เมื่อวันที่ ๒๗ มีนาคม ๒๕๓๕
โดย พ่อท่าน สมณะโพธิรักษ์ หน้า ๒ ต่อจากหน้า ๑


จนกระทั่ง มีรู้ซ้อนอีกว่า เราเป็น รู้แล้ว เป็นก็รู้ว่าเราเป็น ถ้ารู้ให้จริง ก็คือรู้ว่าเราเป็นสมบูรณ์ แล้วหรือยัง และ มีอะไรที่จะดีกว่านี้อีก ที่จะเจริญกว่านี้อีก หรือดีที่สุดแล้ว อย่าดีเกินหรือดีแตก ให้มันรู้จัก ขีดเขตของมันอย่างสมบูรณ์ ซึ่งจนกว่าจะดีที่สุดนี่ ไม่ใช่ตื้นเขิน ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ จะดีที่สุด สมบูรณ์ที่สุด จบสูงสุดของพระพุทธเจ้านี่ จะจบสูงสุด ไม่ใช่เรื่องตื้นเขิน ซับซ้อน ลึกซึ้งมากนะ อาตมาจะต้องขยายความดู ศรัทธาที่ว่า มัน มั่น คือความเชื่อมั่น คือความเชื่อมั่น มันจะมั่น จะคง เป็นอัปปนา พยัปปนา สูงขึ้นเรื่อยๆ บทบาทที่พระพุทธเจ้า ท่านสอนเอาไว้ว่า จะต้องมีศีล และต้องมีพหูสูต มีศีล ก็บริบูรณ์ด้วยระดับหนึ่ง เพราะฉะนั้น คนที่ศรัทธา ไม่มีศีลกำกับนี่นะ ศรัทธาอะไรก็ได้ เขาบอกว่ากินเหล้าดี เชื่อว่ามีผิดศีล เชื่อว่า มีผัวมีเมีย มากๆดี ทั่วโลกเขาว่า ยังงั้นแหละนะ ถือว่าเป็นกำไรวิเศษ เก่ง มีเมียได้หลายคน มีสามีได้ หลายคน อะไรก็แล้วแต่

เดี๋ยวนี้ วัฒนธรรมแปรเปลี่ยน เลอะๆเทอะๆ อย่างนี้ เป็นต้น ยกตัวอย่างง่ายๆนะ หรือเหมือน เจ้าพ่อนี่ โอ้โฮ สั่งฆ่าคนโดยไม่ผิดกฎหมายนี่เยี่ยมนะ ฝีมือ มีอำนาจ ยิ่งเย้ยหยันกฎหมาย กฎหมายใครมาว่ายังไง ตำรวจก็อยู่ใต้อาณัติแน่ ถ้าคนมีมิจฉาทิฐิอย่างนี้ แกก็ทำเลอะเทอะ มันเชื่อมั่นนะ มันทำได้จัด ทำได้แรงด้วยนะ ศรัทธา มันเชื่อมั่นได้สูง มันเชื่อมั่นได้แรง พวกนี้มัน หยาบแรง แต่เราต้องมีศีลกำกับ ไปทำอย่างนั้นทำไม ไปฆ่าคน ไปเที่ยวผิดศีลข้อ ๓ กินเหล้า กินยา มันผิดศีล ต้องมีศีลกำกับ เมื่อมีศีลกำกับ แล้วเห็นผลดี ว่า อ๋อ ศรัทธา สัทธินทรีย์ ศรัทธาผลเกิด จนกระทั่งผล ถึงปัญญาผล เราหยุดเราระงับ ไม่ให้มีกิเลสอันนี้เลยได้นี่ มันวิเศษกว่า ไม่ มันจะดีกว่า มันจะมั่น ไม่เปลี่ยนแปลงเลย ถ้ามันสูงสุดแล้ว มันจะไม่เปลี่ยนแปลงเลย ไม่กินอีกแล้วเหล้า ไม่เอาแล้วราคะ ที่เป็นต้นเหตุ ที่จะต้องไปมี ผู้หญิงผู้ชาย มีผัวมีเมียมาก ไปฆ่าผู้ ไปฆ่าคน ไปฆ่าสัตว์ ตัดชีวิต ไปทำโน่น ไปทำนี่ อะไรที่มันเลอะเทอะ ไม่แล้ว แม้แต่ไปโลภโมโทสัน มาไปโลภมาทำไม มาให้ตัวเอง ขยันหมั่นเพียร สร้างสรรขึ้นเถอะ ได้มาก็แจกจ่าย เจือจาน ยิ่งจะมีมหาศาลเลย ที่จะเป็นทรัพย์ เป็นอริยทรัพย์ เป็นทรัพย์ของตน เป็นมรดกของตน ยิ่งให้ยิ่งเป็นมรดก ยิ่งเอามายิ่งมีหนี้ ยิ่งหนี้ทับถม ยิ่งหนี้มากขึ้น ยิ่งไปเอามาให้แก่ตน ยิ่งหอบสะสมบำเรอตนยิ่งเป็นหนี้ เสร็จแล้ว เราก็เอาบำเรอตนเมื่อไหร่ เป็นหนี้เมื่อนั้น แม้แต่บำเรอตนชนิดที่นั่งอยู่เฉยๆ ถ้ามันไม่ควรพัก มันก็ต้องเพี่ยร นั่งอยู่เฉยๆนี่ พัก มันดี ทั้งๆที่ไม่ป่วย และก็ไม่เมื่อย ไม่ควรอยู่เฉยๆด้วย มันก็ต้องเพียร บอกแล้วว่า เจโตสมถะนี่ คุณจะนั่งไม่เมื่อยหรอก ไม่ป่วยหรอก แต่คุณจะศึกษา คุณก็นั่งเจโตสมถะ เมื่อนั่งยังไม่เป็นก็หัดก็ฝึก นั่งเป็นแล้ว คนที่เจโตสมถะแล้ว ไปใช้ได้ เมื่อเวลาที่เราเอง เราต้องการพัก เจโตสมถะนี่ หนึ่ง เพื่อการศึกษา สองเพื่อการพักผ่อน สามเพื่อตรวจทานเตวิชโช เพื่อตรวจทาน เพื่อที่จะให้ซักซ้อม เพื่อตรวจจิต ตรวจอะไรไป ก็ทำไปให้อย่างมีความหมาย ถ้าไม่เช่นนั้นแล้ว เราต้องไม่อยู่เฉยๆ ต้องเพียร ต้องหาทางเพียร ปฏิบัติ หรือทำงานสร้างสรร ทำโน่นทำนี่

เพราะฉะนั้น ศีลต่างๆ เมื่อเวลามีศีล เราก็รู้หลักการต่างๆ และ ปฏิบัติ มีศีลประกอบไป อันใดเป็น อภิสมาจารให้ยิ่งขึ้น ก็ทำให้ยิ่งขึ้น อันใดที่ควรเลิก ควรละ ควรเลิกได้ เสร็จแล้ว เราจะรู้รอบเพิ่มเติมขึ้น ต้องศึกษาๆ เสมอๆ การศึกษาด้วยตำรา ด้วยสื่อสาร ด้วยความรู้ แต่สมัยโบราณ ไม่มีตัวหนังสือ ก็ต้องไปฟังธรรม ต้องขยันฟังธรรม เดี๋ยวนี้ก็ยังฟัง ถึงแม้จะมี หนังสือ ก็ฟังธรรม หลายคนบางคน ก็ไม่ชอบอ่านหนังสือ ชอบฟังพูดมากกว่า ชอบฟังธรรม มากกว่า ชอบฟังเท็ป บางคนก็ชอบฟังเท็ป บางคนไม่ชอบอ่าน ก็ดี ได้รู้ทางตา และทางหู มีตัวหนังสือ แล้วอ่านหนังสือก็ได้ และมันก็ได้ทั้งสองด้าน ถ้าใครขยันทั้งสองด้าน ศึกษาๆ ได้มีพหูสูตทางปริยัติ เมื่อได้ปริยัติซับซ้อนลึกซึ้ง ทวนไปทวนมา พินิจ พิจารณาแล้ว เราก็ไปปฏิบัติ ปริยัติที่ไม่มีปฏิบัติ ก็ได้แนวระนาบแนวเดียวอีกแหละ ทีนี้ปฏิบัติได้ มีปฏิเวธธรรม สูงขึ้นๆๆ ก็เป็นพหูสูต หรือเป็นพหุสัจจะลึกซึ้งขึ้น จนกระทั่งเรามีเนื้อจริง มีสารัตถะ มีสาระสัจจะ บรรลุธรรม มีเนื้อธรรมที่แท้ๆ ต้องเป็นครู ศรัทธา ๑ ศรัทธา ๒ ศีล ๓ ท่องให้ได้ดีๆ อันนี้จะรู้หลัก เราเองจะสมบูรณ์ด้วยศรัทธาๆ ไม่ใช่ตัวภาษาหนังสือเท่านั้น ศรัทธามันต้องเกิด ที่จิตจริงๆ เลย เป็นเนื้อหาของศรัทธาธาตุ ศรัทธาเจตสิก ศรัทธาธาตุ มันจะเป็นเนื้อหา ที่ลึกซึ้งขึ้นไป สูงขึ้นไป เป็นสัทธินทรีย์ เป็นสัทธาพละ เป็นธาตุจิต ธาตุเจตสิก ธาตุที่อยู่ใน เนื้อหาของวิญญาณ นี่มนุษย์ต้องสร้างให้วิญญาณให้เกิดอย่างนี้ เกิดเป็นธาตุที่บริสุทธิ สะอาด วิเศษ มันวิเศษขึ้นนะ มันเป็นธาตุศรัทธาที่วิเศษขึ้น เพราะฉะนั้น ศรัทธาที่มีศีลประกอบสมบูรณ์ มันก็จะลึกซึ้งขึ้น พหูสูตรอบรู้ขึ้น รอบรู้ จนกระทั่งมีสภาวะปฏิบัติ เป็นการไม่ใช่รู้แต่ปริยัติ มีปฏิบัติ มีปฏิเวธ มันก็เห็นมันก็รู้ รู้ลึกซึ้งขึ้นไปมากเท่าใด เราก็เป็นครูได้ เป็นธรรมกถึก เป็นครูได้คล่องแคล่ว แม้แต่ปริยัติ มันยังเป็นครูได้เลย รู้ถูกให้ถูก อย่าให้เพี้ยนก็แล้วกัน โดยภาษา พหูสูตแบบภาษา ก็เอาภาษานี่แหละ นักธรรมสมัยนี้ ก็เก่งด้วยภาษานี่ มาเป็นครู ด้วยภาษา เนื้อหาสภาวะท่านไม่ค่อยเก่งหรอก เป็นครูทางอะไรต่ออะไร เป็นครูทางเกษตร เป็นดอกเตอร์ ทำนาไม่เป็นหรอก แต่เป็นครูทางเกษตร เป็นครูทางวิศว โอ๊ย เก่ง ตำราซับซ้อน ถูกด้วยนะ สอนให้คนไปทำได้นะ แต่ตัวเอง ทำไม่เป็นเยอะ ราคาแพงด้วยครูพวกนี้นี่ เป็นครู ได้ปริยัติก็เป็นครูได้ แต่ที่จริง ต้องครูธรรมกถึก มีสภาวะ สอนได้ รู้ได้ รู้และทำได้ และไปสอน เป็นธรรมกถึกแท้ แค่ไปสอนรู้ก็เป็นธรรมกถึกครึ่งหนึ่ง คนที่ทำเป็นแล้วไปสอนนี่ เขาต้องมีรู้ จะไม่รู้ก็ตรง ภาษาเรียกชื่อมันเท่านั้นเอง ที่เรียกไม่ค่อยเก่ง บอกไม่ค่อยเป็น ไม่ค่อยคล่อง

พระพุทธเจ้าถึงจะต้องเทศน์ ต้องแสดงธรรม เป็นพระธรรมกถึก เอาละ ประเภทแต่ภาษา ไม่ต้องก็พูดมาก ท่องแต่ภาษา ได้แต่ภาษา เทศน์เป็นเก่งเป็นง่าย เป็นไว ต้องเป็นธรรมกถึกที่ อย่าเอาแต่เทศน์ อย่าเอาแต่พูด ต้องเป็นด้วย เมื่อเป็นด้วยนี่นะ จะต้องมาฝึกพูด นอกจาก ธรรมกถึกแล้ว จะต้องเข้าหาบริษัท ศรัทธา ศีล พหูสูต ธรรมกถึก เข้าสู่บริษัท หมายความว่า จะต้องออกมาผัสสะ อย่างน้อยก็มาผัสสะกับบริษัทของเรา คลุกคลีกับของพวกหมู่เรา ใครเป็นยังไง ก็ต้องสู้กับพวกเรานี่แหละ เสือ สิงห์ กระทิง แรด พวกเรานี่ ไม่เหมือนเสือ สิงห์ กระทิง แรดของโลก ของโลกมันหยาบคาย มันต่ำช้า ของเรานี่มันเสือ สิงห์ กระทิง แรดของเรา เรายังถือกันเลย ถือสาอะไรกัน ต้องฝึกให้แข็งแรง ไม่ถือสาของเราได้ ข้างนอก มันกลับกันไหม ข้างนอกไม่ถือสา แต่ข้างในของเราถือสา เอ๊ คนดีกว่ากันแท้ๆ ของพวกเรานี่ คนดีกว่า แต่มาทำไม สัมผัสแตะต้องเรา สมมุติว่า ด่าด้วยคำเดียวกัน พวกเราด่าด้วยคำเดียวกัน ถือ ข้างนอกเขาด่าคำเดียวกัน ไม่ถือ หรือ ด่าหยาบกว่า ยังไม่ถือเลย แต่เราถือ อย่างนี้เป็นต้น เห็นไหม มันชักจะเป๋แล้ว มันชักจะลำเอียงแล้ว เอ๊ คนดีกว่าจะด่าเหมือนกัน ให้ด่าหยาบ เท่ากันนี่นะ เหมือนกับ สาดน้ำร้อน ใส่พวกเรากันเอง สาดน้ำร้อนเท่านี้ คนข้างนอก สาดเท่านี้ไม่ถือ คนพวกเรา สาดน้ำร้อนเท่านี้ ถือแล้ว อะไรยังงี้เป็นต้น นี่มันเป็นการลำเอียง ซึ่งมันถือสาต่างกัน จริง มันมีภาวะซับซ้อนอยู่เหมือนกันว่า ภาวะซับซ้อนตรงที่ว่า พวกเราเอง ทำไมจะต้องไปทำหยาบ อย่างเขาทำหยาบ ถ้าเราสาดน้ำร้อน เท่านี้ เราทำหยาบเท่านี้ คนข้างนอก เขาทำหยาบเท่านั้น เข้าใจแล้ว เรายอมให้เขาได้ เพราะว่าเขาเอง เขาเหมือนเด็ก เหมือนคนชั่ว มันก็ทำชั่วอย่างนั้น เราอภัย แต่พวกเราไม่อภัยกันนี่ มันตัวถือสา สัจจะของตัว นี่เหมือนกัน มันรู้ให้ชัดว่า เอาเถอะ จะถือยังไง ก็วางให้เป็น ถ้าวางเป็นแล้วนะ แม้แต่พวกเรา ก็รู้ว่าถือ คุณก็จะต้องแข็งแรงตั้งมั่น เออ คนนี่ก็หยาบเท่ากับคนข้างนอกนะ สาดน้ำร้อน ที่ร้อนเท่ากันนี่ หยาบเท่ากับคนข้างนอก จะแก้ไขช่วยยังไง ไม่ใช่ว่าถือสา แล้วก็ซัดไปเลย ด้วยอารมณ์เลย ถือสาต้องโกรธขึ้นเลยๆ ขึ้นเลย มันสอนเขาไม่ได้ เพราะฉะนั้น จะต้องมา ผัสสะ กับหมู่พวกเรานี่ก่อนบริษัทกับหมู่เรานี่ ไม่ถือสาแข็งแรง ฝึกซ้อมวรยุทธนี่ ให้แข็งแรงอีก เราก็จะออกไปกว้างๆ ได้มากขึ้น มีความรู้รอบรู้ เป็นพหูสูตซ้อน เข้าสู่บริษัท เรามีพหูสูตซ้อน ขยับต่อไปข้างนอก ได้มีพหูสูตเพิ่มขึ้นอีก นอกจากเป็นพหูสูตแล้วต้องแกล้วกล้า แสดงธรรม ในบริษัท ต้องสอนเขาได้ต้องรู้บัญญัติ ต้องรู้ภาษา ตอนแรกอยู่ข้างในหมู่เรา ต้องรู้ภาษาหมู่เรา

อย่างมนฑิรามานี่ มาที่นี่รู้ภาษาที่นี่มากกว่าพวกเรา เพราะว่าไม่ค่อยรู้ภาษาข้างนอก เลยรู้ ภาษาพวกเรา มากกว่าข้างนอก ไม่ได้ไปคลุกคลีเกี่ยวข้องกับภาษาข้างนอกเท่าไหร่ ฟังภาษา ธรรมะกับพวกเรา โดยเฉพาะฟังภาษาของอาตมาเก่งนะ มณฑิรานี่ มาฟังธรรมะของอาตมา กี่ปีแล้ว ๑๐ ปีแล้ว ฟังเก่ง คือไม่ค่อยรู้ภาษาไทย มารู้ภาษาไทยที่อาตมาเป็นคนสื่อ เพราะฉะนั้น สำนวนภาษา อะไรต่ออะไรนี่นะ มณฑิรา นี่ฟังอาตมาเก่ง รับรองไปฟังธรรมะ อาจารย์อื่น ไม่รู้เรื่องหรอก มณฑิรา เพราะว่ามันเป็นคนละภาษา คนละสำนวน คนละแบบ ฟังไม่ค่อย รู้เรื่องหรอก เอ๊า จริงๆนะ เชื่อเลยนะ ไปฟังธรรมะคนอื่น ไม่ค่อยรู้หรอก ฟังธรรมะของ อาตมาได้ เพราะอยู่ในบริษัทนี้เท่านั้น ไม่ได้คลุกคลีบริษัทโน้น เพราะเราจะต้องรู้โลก โลกวิทู เราต้องรู้ ภาษาเขาด้วย ต้องฟังภาษาคนอื่นเขาด้วย ไม่งั้นฟังแต่ภาษาเรา รู้แต่ภาษาเราเท่านี้ อย่างเก่า มันก็ไม่กว้างออกไปอีก

เราจะรู้ปริยัติ รู้ภาษาคนอื่น นอกจากรู้ปริยัติแล้ว เขาสื่ออะไร เป็นนามธรรมด้วย เป็นเนื้อหาแบบ นามธรรมด้วย จะเป็นโลกของกิเลส จะเป็นโลกของไอ้ความซับซ้อน ของนามธรรมชั้นไหนๆ มันจะต้องโลกวิทู จะต้องพหูสูต ซ้อนลึกเข้าไปอีก เพราะฉะนั้น เราจะต้องพูดกับเขา ต้องไปคุย กับเขา แสดงธรรมกับเขา สื่อกับเขา จะมีผลกระทบ เราแสดงธรรม จะมีผลกระทบ เขารู้เรื่อง หรือไม่รู้เรื่อง มันจะมีผลกระทบ แล้วเราก็จะมีญาณ จะรับซับซาบ มีผลกระทบมา มันจะมี ญาณ ลึกๆ รับรู้เองนะ อ้อ อันนี้ใช้ได้ อันนี้ใช้ไม่ได้ อันนี้ใช้ได้ อันนี้ใช้ไม่ได้ มันจะปรับปรุง เข้าไปๆๆทั้งปริยัติ เป็นการปฏิบัติตัวเอง ที่จะเป็นผู้เจริญ เป็นผู้มีประโยชน์ เป็นผู้มีความชำนาญ ถ้าเป็นพระธรรมกถึก ก็จะต้องเข้าสู่บริษัท และเป็นพระธรรมกถึกที่แกล้วกล้าในการแสดงธรรม ในบริษัท สูงขึ้นไปเรื่อยๆ และ ยิ่งออกไปสู่บริษัท และยิ่งกว้างขึ้นต้องทรงวินัย ทรงวินัยก็คือ ต้องแข็งแรง ในวินัยของตนเองด้วย แข็งแรงในวินัยที่มีความผิด ที่มีอาบัติอะไรพวกนี้ เพราะฉะนั้น เราจะต้องรู้อาบัติหยาบ อาบัติกลาง อาบัติอะไรที่จะอนุโลมได้ ที่พระพุทธเจ้า ท่านตรัสเอาไว้ว่า ข้อไหนที่มันไม่สำคัญ ท่านว่าอะไร ไม่ใช่ไม่สำคัญ ท่านว่าอะไร ก็ถอนเสียได้ นะ อาบัติเล็กน้อย ก็ถอนเสียได้ จะเข้าใจเลย อันนี้อนุโลม ข้อปลีกย่อย ที่มันเป็นอาบัติเล็กน้อย เป็นวินัยเล็กน้อย เรียกว่า จะอนุโลม ละเมิด หรือถอนวินัยเล็กน้อยนี่ เพื่อสิ่งที่ยิ่งขึ้นได้นี่ จะมีญาณปัญญารู้เลย ว่ามันมีผลสูงๆกว่ากัน มันมีประโยชน์กว่ากัน จะประมาณได้ถูก เพราะฉะนั้น อาบัติเล็กน้อย ผู้ที่มีปัญญาญาณ จึงใช้อาบัติเล็กน้อยนี่ เพื่อคุณค่าที่ซับซ้อน

พระอรหันต์เจ้า ท่านถึงถอนอาบัติเลยว่า มีสติวินัย วินยะแปลว่า นัยอันลึกซึ้ง นัยอันยิ่ง เพราะฉะนั้น ทรงวินัย ก็จะรู้ทั้งวินัยที่เป็นหลัก ข้อที่กำหนด รู้ทั้งนัยของสารัตถะที่ลึกซึ้ง ทรงวินัย เพราะฉะนั้น รู้จักทั้งกฎ ทั้งหลักเกณฑ์ ที่เรียกว่าวินัย รู้ทั้งนัยของสารพัดรู้ รู้โลกวิทู รู้โลก อันยิ่งใหญ่นี้ ลึกซึ้งขึ้นๆ แสดงว่าเป็นผู้ที่อยู่เหนือโลกที่กว้างที่ใหญ่ ที่ซับซ้อนลึกซึ้งขึ้นเรื่อยๆ เรียกว่า ทรงวินัยขึ้นเรื่อยๆ เสร็จแล้ว จิตยิ่งจะต้องสงบ เรียกว่า ผู้ที่อยู่ป่าเป็นวัตร อยู่ในเสนาสนะ อันสงัด นี่เป็นคุณธรรมที่จะต้องแนบติด ทวนกันไปเรื่อยๆ ยืนยันกันไปเรื่อยๆ ยิ่งทรงวินัย ยิ่งออกนอกโลกได้กว้าง ยิ่งเป็นผู้ที่เย็น จิตสงัด จิตสงบ ยิ่งมีอัปปนา พยัปปนา เจตโส อภินิโรปนา จิตที่เป็นสมาธิ ยิ่งสงบ ยิ่งสงัด ยิ่งแข็งแรง ยิ่งจะ ผุฏฐัสสะ โลกะธัมเมหิ จิตตัง ยัสสะ นะ กัมปติ ยิ่งสัมผัสโลกธรรมเท่าไหร่ ก็ยิ่งไม่มีหวั่น ไม่มีไหว แม้แต่ธุลีละออง อโสกะ วิระชะ ธุลีหมอง ธุลีเริงอะไรก็ตรวจตราตัวเอง ของจริงเลยว่า กระทบโลกขนาดนี้เรา จริงนะ คนข้างนอกไม่เห็น ว่าเรามีอะไร แต่ธุลี วิระชะของเรามี ธุลีอโสกะของเรามีนะ มีเศษของ ความหมอง เศษของความไม่ชอบ มีเศษของความชั่ว มีธุลีของความชอบ มีธุลีของ ความรัก มีธุลีของความยินดี ธุลีของวิระชะ มีทั้งธุลีของความชอบ ความชัง ละเอียดลออ เท่าไหร่ ธุลีละอองเท่าไหร่ ได้ตรวจของตัวเอง ได้แก้ไข ได้ปรับปรุง ญาณเรายิ่งแหลม ยิ่งลึก ไม่เช่นนั้น ไม่มีการกระทุ้งกระเทือนออก ไม่ได้ผัสสะโลก ไม่ได้เข้าสู่บริษัท ไม่มีโจทย์ที่แท้จริง ไปแสดงธรรม ก็จะต้องแสดงออกถึงความแกล้วกล้า จะเป็นผู้แสดง เพราะเป็นครู พระธรรมกถึก ก็ผู้เขาสู่บริษัท พระธรรมกถึก ก็คือผู้ที่ไม่ใช่ผู้ที่อยู่ในกุฏิ ไม่รู้จักออกจากกุฏิ หรืออยู่ในรู ไม่รู้จักออกจากรู เสร็จแล้ว ยังไม่ออกจากแล้ว ยังออกมาก็เทศน์ไม่เป็น ไม่ใช่ ออกจากรู ไปไหนๆ ได้เลย เข้าสู่บริษัท อย่าว่าแต่บริษัทของเรา บริษัทข้างนอกด้วย จะไกลกว้างเท่าไหร่ เป็นผู้ไปได้ทั่วสารทิศ เป็นจอมยุทธ มีวรยุทธสำคัญ ไปได้ทั่วทิศ เป็นพระธรรมกถึกที่แท้

ต้องยืนยันถึงศรัทธา ศรัทธาจะบริบูรณ์ ความเชื่อมั่นจะบริบูรณ์ได้ ก็เพราะว่ามีคุณค่า มีคุณธรรม พวกนี้จริงๆเลย ยืนหยัด ยืนยันๆ เพราะฉะนั้น ของพระพุทธเจ้านี่ ผู้มีศรัทธาสูง สายเจโต หรือสายศรัทธาอย่างฤาษีนี่ ยิ่งไม่เป็น ธรรมกถึกนี่ ทวนกระแสแล้ว ทวนกระแส มันเป็นพุทธ มันยิ่งชัดเจน มันยิ่งไม่เทศน์ ยิ่งไม่เอา สู่บริษัทไม่ได้ พวกนั่งหลับหูหลับตา ออกมาในเมืองนี่ อ้วกแตกกลับไปหมดเลย เวียนหัว ทนไม่ได้หรอก อยู่ไม่ได้ พวกฤาษีนี่ จะทนต่อผัสสะ จะทนต่อสภาพอะไรพวกนี้ ที่มันเป็นโลกๆ นี่ไม่ได้หรอก เวียนหู เวียนหัว ทนไม่ไหว แค่รูปธรรมนะ ถ้ายิ่งเจอนามธรรมของโลกเข้าอีก เลิกเลย พวกนี้วิ่งจู๊ดเข้าป่า ไม่ทนๆ ไม่มีภาวะคุ้มกัน ไม่มีภูมิคุ้มกันที่แข็งแรงหรอก อ่อนแอ ไม่มีประโยชน์ต่อโลก ช่วยโลกไม่ได้ เป็นพระมาลัย ที่จะไปโปรด โลกไม่ได้ ไม่เป็นครู ไม่เป็นพระธรรมกถึก เพราะฉะนั้น ยิ่งจะสูง ยิ่งจะมีวินัย อันสูงส่ง ก็ยิ่งจะมีจิตยิ่งจะสงัด จิตยิ่งสงบ จิตยิ่งอัปปนา พยัปปนา เจตโส อภินิโรปนา จิตยิ่งสงบ สงัด จึงยิ่งเป็นฌาน ยิ่งเป็นวิมุติ

นอกจากจิตสงบ สงัดแล้ว จะต้องเป็น ผู้ได้โดยไม่ยาก ไม่ลำบากในฌาน และก็เป็น ผู้ที่มี อุภโตภาควิมุติ จิตยิ่งจะเป็นผู้บรรลุสมบูรณ์ เจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ อันสมบูรณ์ ศรัทธา ที่มีสภาพ ตรวจสอบได้เลย เพราะฉะนั้น ถ้าเผื่อว่า ไม่ปฏิบัติตามทางของ พระพุทธเจ้าแล้ว จะไม่คล่อง และจะไม่เกิดครูที่จริง เมื่อไม่เกิดครูที่จริง ศาสนาก็ด้วน ศาสนาก็ ได้แนวระนาบ ตื้นๆ เพราะศาสนาฤาษี จะมีครูฤาษี และก็จะอยู่ ในวงแคบอย่างนั้นแหละ ไม่กว้างหรอก ครูฤาษีอยู่ในวงแคบ ไม่กว้าง ช่วยโลกไม่ได้ ช่วยพัฒนาโลกไม่ได้ ยิ่งโลกที่มันยิ่งเสื่อม ยิ่งเสีย สังคมเหลวแหลก ช่วยสังคมก็ไม่ได้ แต่เอาตัวรอดได้เท่านั้นเอง เมื่อไรๆ ก็เอาตัวรอดได้ เท่านั้นเอง และ เป็นแนวระนาบ

อย่างพวกตะวันตก พวกฝรั่งนี่นะ เขาชอบ ชอบการนั่งสงบ เพราะอะไร เพราะมันปรุง มันสังขาร มันร้อน พอมันได้มานั่งสงบ โอย เย็น ชอบ นี่เป็นแนวระนาบ ปล่อยเขา เพราะฉะนั้น ฝรั่งนี่นะ จะมาในฐานฤาษีก่อน ไม่ต้องไปแย่งฝรั่งมา อย่าไปแย่งฝรั่งมา ปล่อยเขามา เขายังลำบาก เขายังไม่ได้ เขายังไม่รู้เรื่องอะไรเท่าไหร่หรอก ฐานนั้นให้เขาได้เสพ ฐานนั้นก่อน ไม่มีปัญหาหรอก ฐานฝรั่งก็จะได้สงบพวกนี้นะ

ในแนวลึก ในแนวซึ้งนี่ ต้องเป็น ธรรมโลกุตระ ที่ลึกซึ้งจริงๆ มันพูดตลบตะแลง พูดกลับกลอก มันตอแหล มันย้อนแย้ง อยู่ตลอดเวลา ปฏินิสสัคคะ กลับไปกลับมาๆ จะเป็นอย่างนั้น เพราะฉะนั้น ในตัวศรัทธาที่อาตมายกขึ้นมาอธิบาย จะบริบูรณ์ด้วยองค์นั้น ก็ต้องบริบูรณ์ จริงๆ ต้องมีเป็นลำดับเลยนะ เป็นพหูสูต และพหูสูตจะต้องลึกซึ้งขึ้น ก็ต้องเป็นครู จะต้องเป็นครูที่ ออกสู่สังคม สู่สัมผัสต่อบริษัท ไม่กล้าที่จะออกไปสู่บริษัทนอก ก็ต้องเข้าสู่บริษัทเราเสียก่อน สอนพวกเราได้แคล่วคล่อง เป็นครูของเรา ข้างในของเรานี่แหละเก่ง และก็จะได้รับโลกวิทู เพิ่มเติมขึ้น จะมีพหูสูต เพิ่มขึ้น จะดูข่าวดูคราว จะดูโทรทัศน์เก่งขึ้น ไม่ออกไป

ทำไม่ค่อยไหว เพราะมันไม่พอกับงานนะ ถ้าครบสมบูรณ์แล้ว ออกไปข้างนอก แล้วจะมีบทบาท ที่เป็นจริง เป็นจังออกไปเยอะ ทุกวันนี้ เรายังทำไม่ได้ แม้แต่อาตมาก็ยังทำไม่ได้ รับงานข้างนอก ไม่ได้ รับนิมนต์ข้างนอกไม่ได้ ไม่ใช่ว่า อาตมาไม่มีใครนิมนต์นะ ถ้าขืนรับนิมนต์ นั่นซิ จะรับไม่ไหว มันไม่ใช่ว่าไม่มีใครนิมนต์นะ เราก็ไปแสดงธรรม อาตมาก็ไปแสดงธรรมกับ ข้างนอกได้ แต่อาตมาเอง อาตมาต้องการเคี่ยวในให้ถึงแก่นก่อน ถ้าข้างในไม่ถึงแก่น แค่บริษัท แค่ในแวดวงของพวกเรานี่ พวกที่วิ่งเข้ามาเป็นบริษัท วิ่งเข้ามา พวกญาติธรรมวิ่งเข้ามา ผู้ที่เขาไม่เข้ามา ตัดเอาไว้ก่อนเลยพวกนี้เป็นเครื่องคัดเลือกเอาไว้ก่อนเลย เราทำแค่นี้ก็เหลือแหล่ ถ้าพวกเราแข็งแรงเข้ามา พวกคุณก็รับได้หมดทุกหน้า ช่วยเหลือได้หมดเลย ก็ไม่ต้องอาตมาแล้ว ทีนี้ อาตมาก็ว่าง อาตมาก็ฟรีแล้ว อาตมาก็วิ่งข้างนอกได้สบายเลย แต่ในชาตินี้ จะได้วิ่ง อย่างนั้นหรือเปล่ายังไม่รู้ ก็พวกเราก็ยังงี้ๆ เข็นกันอยู่ยังงี้ ก็ยังจะไม่เป็นไปรอดเท่าไหร่ เราจะต้องเป็น พระธรรมกถึก ถึงจะมีแนวซ้อน เกิดสัจจะ เกิดศีลที่เป็นอธิศีลซ้อนออกมา เข้าสู่บริษัท หมู่เราก็เก่ง จนกระทั่งกล้าแสดงธรรมกับบริษัท มันกล้านะ ถ้าอันใดที่มันมั่นใจแล้ว มันจะกล้า กล้าพูด กล้ายืนยัน

แต่ว่าศรัทธาหลงก็มีเหมือนกันนะ ศรัทธาหลง ก็กล้ายืนยัน เหมือนกัน อยากจะพูดๆ อยากจะยืนหยัดยืนยัน แต่แท้จริงไม่จริงหรอก มันก็เป็นได้เหมือนกัน ที่จริงมันซับซ้อน มันเป็นตัวจริงที่ถูกต้องนะ กล้าแสดงธรรมกับบริษัท แล้วก็ทรงวินัย มีนัยที่ลึกซึ้งที่แท้ เป็นแก่น เป็นแกนที่แท้ ไม่ใช่จะมีวินัย เฉพาะหลักเกณฑ์เท่านั้น วินัยที่ลึกซึ้ง บางทีแม้แต่วินัย ท่านก็ละเมิด อย่างพระอรหันต์ ที่ยกไว้นี่ ท่านมีสติวินัย มีสติ มีสัมปชัญญะ ปัญญาไตร่ตรอง นัยอันลึกซึ้งนี้แล้ว ทำอันนี้ จริง คนจะดูเหมือนจะละเมิดวินัย หลักเกณฑ์ แต่ในนัยที่ลึกซึ้งนั้น ท่านไม่ได้ผิดหรอก จิตที่แท้ของท่าน ไม่ใช่จิตลามก ไม่ได้เป็นจิตลามก เป็นจิตที่ชัดเจน จริงใจ มีสัจจะ ไม่ได้มีลามกอะไรในจิตใจจริงๆ อันนี้มันอยู่ที่บาปแท้ บุญแท้นะ สุทธิ อสุทธิ ปัจจัตตัง มันอยู่ที่ความบริสุทธิ์ ไม่บริสุทธิ์อยู่ที่ตัวผู้นั้นเอง ถ้าหลงก็แล้วไป ถ้าหลงตัวเอง ท่านก็ไม่ถือ

แต่ไม่หลง รู้ทั้งรู้อยู่ว่า ตัวเองทุจริตไม่บริสุทธิ์นี่ และตัวเองก็ทำบาป ตัวเองก็เที่ยวได้โกหก ตัวเองก็ได้แต่หลอกลวงคนอื่น นั่นมันสุทธิ อสุทธิ ปัจจัตตัง มันบาป มันบุญ อันเป็นสัจจะ ของใครของมัน ถ้ายังละเมิดบาป กล้าทำบาป ด้วยการโกหกอยู่ ก็เรื่องของเขา พระพุทธเจ้า ถึงบอกว่า คนโกหกทั้งๆที่รู้นี่ จะทำชั่วอะไรอื่นไม่ได้ไม่มี คนที่โกหกทั้งๆที่รู้ตัวนี่ มันทำชั่ว ได้ทุกอย่าง คนที่โกหกที่รู้ตัวอยู่แล้วว่า ตัวเองโกหก เขาทำชั่วอะไรได้ ตะพืดแหละ เพราะฉะนั้น คนที่ซื่อสัตย์สุจริตจริงแล้ว ก็เรื่องอะไรจะทำ ในเมื่อไม่ทำแล้ว มันก็ยิ่งสูง ถ้าคุณยังทำอยู่ คุณก็ยิ่งต่ำ แล้วต่ำยกกำลังด้วยนะ เพราะฉะนั้น เราต้องซื่อสัตย์ จริงๆ แล้วทำเข้าไปๆ มันถึงจะสอดซ้อนมีวินัย ทรงวินยะๆลึกซึ้งขึ้นไปเรื่อยๆ เมื่อนัยที่ลึกซึ้งได้ จิตก็ยิ่งแข็งแรง มันจะต้องมีองค์ประกอบข้างนอก นี่ช่วยที่จะเกิดปัตติทานมัย ปัตตานุโมทนามัย ถ้าจะเอาบุญกิริยาวัตถุก็เหมือนกัน

ผู้ที่จะแสดงธรรมจริงๆดีๆ นี่จะต้องเป็นผู้ที่มีปัตติทานมัย มีปัตตานุโมทนามัย ผู้มีบุญ จะต้องเข้าถึง การสละออกได้ลึกขึ้นไป แล้วจะต้องมีจิตยินดี มีจิตอนุโมทนา เห็นแจ้ง มีญาณนะ ปัตตานุโมทนามัย หมายความว่าเข้าถึง การยินดีในสิ่งที่ดี ในสิ่งที่ประเสริฐ ในสิ่งที่เกิดจริง เป็นจริง ยินดีในสิ่งที่เป็นทาน ที่เข้าถึงลึกไปอีกชั้นหนึ่ง ปัตติทานมัย เข้าถึง เข้าไปลึกเข้าไปเรื่อยๆๆ จะเรียกว่าเข้าฌาน หรือเข้าวิมุติ เข้านิโรธ เข้าอะไรก็ตามใจเถอะ เขาไปอย่างนั้นจริงๆ มันลึกเข้าไป เข้าถึงเข้าไปเรื่อยๆๆ เข้าถึงหรือเข้าไปนะ ปัตติ หรือปัตตะ เข้าไปถึง เข้าไปเกิดสภาพเข้าไปเรื่อยๆ

เพราะฉะนั้น ธัมมเทสนามัยนี่จึงเป็นธรรมกถึกที่เทศน์ เทศนาสัจจะ สาระ ไม่ใช่เทศนาแต่ปริยัติ เพราะฉะนั้น คนที่เทศน์อันนี้ เป็นบุญผู้ที่มีเทสนามัย เป็นผู้ที่จะเทศน์ในบุญกิริยาวัตถุ จะเป็นบุญจริงๆ ก็คือผู้ที่มีสภาวะปฏิเวธธรรม มีเนื้อแท้ และมันจะไม่รังเกียจในการแสดงธรรม มันจะมีจิตที่เมตตา มันจะมีจิตที่ประสงค์จะแสดงธรรม ทีนี้ผู้ฟังธรรม และก็ผู้เทศนา ธัมมัสสวนมัย เป็นข้อ ๘ ฟังธรรม ธัมมเทสนามัย เป็นข้อที่ ๙ แหละนะ ธัมมเทสนามัย พูดผิดไปด้วยซ้ำไป ไปเทศน์เข้าข้อ ๙ โน่นแน่ะ ข้อจะจบโน่นแน่ บุญกิริยาวัตถุ แต่ว่าในศรัทธา ข้อ ๔ เท่านั้น มีพหูสูต มีปริยัติ จะแสดงธรรม จะแสดงธรรมได้ดี พระธรรมกถึก คือครู หรือผู้สอน จะสอนได้จะแสดงธรรมได้ดี ก็จะต้อง ยิ่งขึ้นๆๆ ก็จะต้องเข้าสู่บริษัท ถ้าไม่เข้าสู่ บริษัท เป็นครูก็ครูอยู่แค่นั้นแหละ ครูพูดไม่ค่อยเก่ง ครูไม่มีโลกวิทู ครูไม่มีพหูสูต ที่ลึกขึ้นอีก พหูสูตจะลึกขึ้นอีก ก็เพราะเหตุเข้าสู่บริษัท ลึกซึ้งเอาไปอีก ก็เพราะแกล้วกล้า การแสดง เข้าสู่บริษัท ลึกขึ้นอีกก็เพราะว่าทรงวินัย มีนัยอันสูงลึกซึ้ง จะลึกซึ้งขึ้นไปอีก ก็เพราะว่า จิตสงบ เป็นพระธรรมกถึก ที่ แสดงธรรมได้ เป็นไฟเลย เพราะจิตสงบมาก เชื่อไม่เชื่อๆ ถ้าแสดงธรรม เป็นไฟเลย จิตไม่สงบนะ เป๋ แกนแกว่ง สภาวะไม่แม่น ก็เพี้ยนไปเรื่อย ยิ่งแสดงธรรม ก็ยิ่ง แหม หลงตัวยิ่งฝอยใหญ่ ยิ่งปรุงแต่งใหญ่ ยิ่งปลอม ยิ่งสังขารปลอม ยิ่งคนเขาซักเข้า จะเสียหน้า ยิ่ง เอ ชักจะไม่ค่อยเข้าท่าแล้ว เรา เก่งฉะฉาน ปราดเปรียว เสร็จแล้วเขาซักเข้าอะไรเข้า ทนไม่ได้ แพ้ขายหน้า หน้าจะแตก ปรุงเลอะ เข้าไปใหญ่เลย เสียหมด อย่าดันทุรังอย่างนั้นเป็นอันขาด อันไหนไม่รู้ต้องไม่รู้

พระสารีบุตรไปเจอ อเจลกะ ถามเอา จนแต้ม ตอบไม่ ได้ เป็นพระอัครสาวกเบื้องขวาเชียวนะ พระสารีบุตร เจ้าปัญญาด้วยนะ ตอบไม่ได้อะไรเรื่องอะไร พระสารีบุตร เสร็จแล้วก็เลยบอกว่า เรื่องนี้เรายัง ตอบไม่ได้ ขอให้เราพบกับพระผู้มีพระภาคเสียก่อน ต้องมาทูลถาม พระผู้มี พระภาคเจ้า พระสารีบุตรมาทูลถามพระพุทธเจ้าได้แล้ว เข้าใจดีแล้ว แจ้งชัดในสภาวะแล้ว จึงไปตอบเขา อย่าอวดเก่งนะ คุณฉลาดเท่าพระสารีบุตรแล้วหรือ ใครฉลาดเท่า พระสารีบุตรแล้ว ยกมือขึ้นซิ อย่าอวดเก่ง เมื่อเราไม่ชัด ไม่จริง ไม่แน่ใจแล้ว อย่าไปตอบดีกว่า หน้าแตกก็ไม่เห็นเป็นไร หน้าแตกดีกว่าทำบาป ใช่ไหม หน้าแตกก็แค่นี้ มันได้ลด มานะ อัตตาด้วย หน้าแตก แต่ระวัง แตกมากๆ ด้านนะ หน้าแตกมากๆ เลยกลายเป็นหน้าด้าน นะ อ้าว นี่จริงนะ เข้าใจใช่ไหม หน้าแตกมากๆ กลายเป็นหน้าด้านไป ทำหน้าแตกมากๆ ช่างมันเถอะๆ หน้าด้าน ไม่ไหว อย่าให้มันแตกก็ไม่ดี ก็หน้าแตกไม่ดี แต่หน้าแตก ก็หัดวาง ให้ดีๆ แต่อย่าให้มันแตก บ่อยซิ อย่าให้มันผิด

หน้าแตกหมายความว่า มันผิดพลาด หรือว่ามันโง่ มันไม่รู้ มันก็หน้าแตกได้ มันต้อง ขวนขวายศึกษาๆ ไม่ใช่หน้าแตกแล้ววาง ช่างมันเถอะ ฉันก็ไม่ศึกษาต่อ ผู้ไม่รู้อะไร จะต้อง พยายามรู้สิ่งนั้น ผู้ยังบกพร่องอะไร ก็ต้องพยายาม ที่จะเจริญสิ่งนั้น ไม่ใช่ปล่อยมัน ทิ้งหมด ช่างมันเถอะๆ ปล่อยหมด โง่อยู่อย่างเก่า ไม่มีการเจริญ เพราะฉะนั้น ผู้ที่ขวนขวาย ผู้ที่เจริญ จะต้องซักซ้อม ต้องซ้ำ ต้องทวน ต้องย้ำ แม้งานการ แม้พฤติกรรม การเจริญ ไม่มีที่สิ้นสุด

พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ท่านตรัสรู้แล้วท่านก็ยังไม่สันโดษในกุศล ท่านยังเจริญอยู่ตลอดเวลา ทำงาน ทำการอะไรยิ่งเจริญอยู่ นอนก็สอนเทวดา นั่นคือ ความเจริญของพระพุทธเจ้า สอนเทวดานี่ คิดดูซิ ขยันสอนขนาดไหนนะ นอนหลับ ยังสอนเลย ยังทำงานเลย ตื่นขึ้นหรือ จะไม่ทำงานอะไร พอตื่นขึ้น ก็บอกแล้ว เคยเรียนประวัติพระพุทธเจ้า เริ่มต้นตื่นขึ้นมา ตรวจโลก แล้วก็จะไปโปรดผู้ใดดี ใช่ไหม ตรวจจิตวิญญาณไหน ผู้ใดที่ควรจะไปโปรด ควรจะไปสอน หางานให้ตัวเอง ตั้งแต่ตื่นนอนแล้ว นอนก็สอนเทวดา พอตื่นนอน ก็มาสอนคน มนุษยชาติ จะไปโปรดผู้ใดดี จะไปสอนผู้ใดดี หางานให้ตัวเองหมดแล้ว คิดดูซิ ขนาดพระพุทธเจ้า ซึ่งท่านเข้าใจดี ว่าสารัตถะของมนุษย์ก็คือการงาน เพราะฉะนั้น การงานอะไร ที่เป็นหน้าที่ งานอะไรที่สมควรสมเหมาะ เราก็ทำ อย่างพวกเรานี่ ต้องทำหน้าที่การงานเยอะ สมณะ ก็ต้องทำ หลายอย่าง ไม่ใช่สอนอย่างเดียว ต้องนำพา การนำพาทำก็คือการสอนชนิดหนึ่ง นำพากระทำการงานที่มันเป็นไป โดยไม่ผิดวินัยอะไร พาทำโน่นทำนี่ มันก็เกิดความชำนาญ เกิดความไม่บกพร่อง เพราะฉะนั้น สมณะของพระพุทธเจ้านี่ ชำนาญ มีความสามารถ ทำงานมีสัมมาอาชีพ งานอย่างโลกๆ ที่ไม่ผิดธรรมผิดวินัย ที่พระพุทธเจ้าท่านตราพระธรรมวินัย ตราวินัยที่ห้าม ที่กั้นเอาไว้อย่างสมบูรณ์พอแล้วไม่ต้องไปคิด ถ้าพระพุทธเจ้ายังอยู่ โอย ปานนี้ วินัยคงมากไป ห้าร้อยข้อ พันข้อละมั้ง อย่าไปพูดเลย หลักเกณฑ์ หรือ แกนแก่นนั้น ท่านทำเอาไว้ สมบูรณ์แล้ว วินัยที่ทำนี่ก็สมบูรณ์แล้ว อย่าไปนั่งคิดเตลิด เลยเถิดไปว่า ถ้าท่านอยู่ คงตั้งข้อระเบียบวินัยเอาไว้มากกว่านี้ ไม่ต้องไปพูดหรอก เท่านี้ก็ทำให้มันสมบูรณ์ ก็แล้วกันน่า

ท่านตรัสเอาไว้นี่ ก็ครบสมบูรณ์แล้ว ถ้วนรอบแล้ว ท่านถึงยอมตาย พระพุทธเจ้าท่านยัง ไม่ยอมตาย ในเมื่ออะไรยังไม่สมบูรณ์ อะไรก็สมบูรณ์แล้ว วางหลักฐาน วางรากฐาน วางวินัย วางอะไร เอาไว้สมบูรณ์แล้ว ท่านถึงตาย ท่านถึงปรินิพพาน ไม่เช่นนั้น ท่านจะไปตายยังไง อันนี้เราต้องเชื่อว่า ท่านต้องทำสมบูรณ์ ท่านถึงปลงอายุสังขาร

ที่อาตมาได้อธิบายอะไรขึ้นมาให้ฟังนี่ เราจะต้องอย่าหยุด โดยที่กลายเป็นคนสันโดษ ที่ไม่น่าสันโดษ พอแล้ว ไม่เอาแล้วต่อ และมันมักง่ายอย่างนี้ มันจะเอียงเข้าไป ข้างฤาษีง่ายๆ ซึ่งไม่ใช่ของยากเลย ในเรื่องที่บอกว่า ถ้าอยู่เฉยๆ แล้วว่างไหม ให้อาตมาอยู่เฉยๆ อาตมาก็สบายซิ สบายแบบที่ไม่เจริญ คือมันง่าย ได้แต่นั่งๆ กินๆ นอนๆ ไม่มีแขก ไม่เหลือ อะไรเลย โอ๋ย เบา อาตมาจะนั่งอยู่นี่ ๒๔ ชม. ไม่ต้องลุกไปไหน ก็ได้เชื่อไหม อาตมา ก็นั่ง หลับหู หลับตา ไปวันๆหนึ่ง นั่งเข้าฌานเข้าภพไป สังขารของอาตมา ยังนั่งได้ สังขารให้นั่งอยู่นี่ ๒๔ ชม. นั่งไปได้ ไม่ต้องลุกไปไหน อาตมาแน่ใจเลยว่า นั่งได้ แล้วก็สบาย สบายตามภาษาโลกๆ นะ แต่มันไม่เจริญ ที่จริงสัปปายะนี่นะ ความเจริญ แปลว่า ประโยชน์ แต่มันไร้ประโยชน์ มันอบาย ที่จริงๆ นั่งอยู่นี่ เห็นไหม มันไม่มีภาษาแล้ว ภาษาย้อนทวนอีกแล้ว มันอะไรแน่ สบาย หรือ อบายกันแน่ อบายมันไม่มีประโยชน์ ไม่มีคุณค่าเลย มันต่ำ มันไม่สูงส่ง สบายนี่แปลว่าสูง สปายะ สัปปายะนี่ ภาษาไทยสบายๆ สัปปายะมันแปลว่า ประกอบ ไปด้วยความเจริญ มันประกอบไปด้วยคุณค่า ประกอบไปด้วยความสูง ประกอบไป ด้วยประโยชน์ สัปปายะ แต่มันมีประโยชน์ มันเสพชนิดหนึ่ง มันก็ให้แก่ตัวเอง

ถ้าอาตมาต้องพักผ่อน ก็พักผ่อน จะหยุดนิ่งเฉยๆ พักผ่อน ก็บอกแล้ว ว่าการนั่งเฉยๆ การนั่ง เจโตสมถะ นี่คือการศึกษา ถ้าคุณยังไม่เป็น คุณก็ต้องนั่งละ เพื่อศึกษา ๒. เพื่อพักผ่อน ๓. เพื่อทำให้ยิ่งๆ ที่สำคัญก็คือ ทำเตวิชโช เมื่อเรานั่ง นั่งแล้วก็พิจารณาทบทวน เตวิชโช การทบทวน นี่ต้องทบทวนจริงๆ นั่งใหัมันเป็นภวังค์ นั่งให้มัน เอ๋ เอ๋ เมื่อวานนี้ ที่ผ่านมาแล้ว มีบุพเพนิวาสานุสติ ระลึกย้อนตรวจตรา เออ อันนี้ต้องแก้ไข อันนี้ดีไม่ดี มันจะลึกซึ้ง ซับซ้อน มันต้องย้ำ มันต้องทบทวน ตรวจตรา ซ้ำทบทวนไปเรื่อยๆ เมื่อใครทำถูกตามที่อาตมากล่าวแล้ว อรหันต์ก็มีหวังได้ ถึงนิพพาน ถึงสูงสุด บรรลุสุดยอด ก็มีหวังได้

เอาละ อาตมาได้พยายามอธิบายเพิ่มเติม ให้พวกเราได้เข้าใจว่า เราเองจะมีสัมมาทิฐิ จะเข้าใจ สภาวะของชีวิต จะทำอย่างไรที่เราจะพากเพียร เป็นโยคาวจร เป็นนักปฏิบัติที่เข้าร่องเข้ารอย ไม่ใช่ว่าเราไปติดอยู่ที่ตรงไหน ตรงหนึ่ง เป็นเทวดาองค์ใดองค์หนึ่ง ไม่สูงไปกว่านั้นอีกแล้ว ติดแป้นแล้ว เป็นฤาษีง่ายๆ ได้บอกนัยทั้งสองด้านแล้วว่า นัยของเจโต และปัญญา ของนัยของ ความสอง ที่จะรวมลงเป็นหนึ่งได้นั้นนะ มันไม่มีภาษาพูด ความเป็นสองที่รวมลงเป็นหนึ่ง เราเอง เรามีสมมุติ เรามีปรมัตถ์ มันสอง เพราะฉะนั้น สัจจะที่เป็นหนึ่งนี่นะ มันจะต้องเก่งรอบ ทั้งสมมุติ รอบทั้งปรมัตถ์ รู้รอบทั้งสมมุติ รู้รอบทั้งปรมัตถ์ โลกุตระคือเหนือสมมุติ และรู้แจ้ง ในสมมุติ และเป็นประโยชน์ต่อสมมุติ ส่วนจิตใจเรามีฐานอาศัยในใจของเรา เป็นตัวพัก เป็นตัวอาศัย ก็มีอยู่ใน ขณะเดียวกัน เราเป็นประโยชน์คนอื่นอยู่ เราก็ได้อาศัยจิตที่เราสงบอยู่นะ สบาย อยู่ ไม่เดือดร้อน ใจสบาย ยกตัวอย่างก่อนจะจบ ง่ายๆ อาตมาเทศน์ บรรยายอะไร บางทีนะ จนปฏิกิริยาข้างนอก ร้อนแรง แต่อาตมาก็ยังเย็นอยู่ ข้างนอกนี่ บางคนนี่ร้อนจี๋เลย เกิดบทบาทเรื่องราวนะ จุดไฟแล้วนี่ แต่ในใจเราเย็นเป็นน้ำแข็ง ไม่รู้จะใช้ภาษาอะไร ไม่รู้จะใช้ สมมุติอะไรให้คุณ เดี๋ยวจะยกตัวอย่างให้ฟัง เป็นจริงๆ ไม่มีปัญหาหรอก เราก็มีสุญญตวิหาร เราก็มีเมตตาวิหาร แต่ข้างนอก นี่ ก็เหมือนร้อนแล้ว เหมือนโกรธ เหมือนดุ เหมือนเรื่องราว กำลังโฉ่งฉ่างๆ พยายามดับไฟข้างนอก แต่ข้างในเราก็เย็น จริงๆ

เป็นสภาพสองที่เป็นหนึ่งๆ เหมือนร้อนแต่เย็นอยู่ และมันก็จะคานกันอยู่อย่างสมบูรณ์เป็นหนึ่ง เป็นสัจจะที่สมบูรณ์ เพราะฉะนั้น วิมุติ ก็คือสงบ มันก็สงบจิต มันก็สงบอยู่ แต่เรารู้ว่า เราปรุง ด้วยเจตนา มโนสัญเจตนา เจตนาปรุง เจตนาให้เป็นยังงี้ เสร็จแล้ว เมื่อหยุดทำยังงี้ ก็หยุดทำ ไปหมดเลย ซ้อนเป็นหนึ่งเดียว วางก็วาง ไม่ได้มีปัญหาอะไร

ผู้ที่จะจุดไฟได้ ก็จะต้องดับไฟได้ จะจุดไฟแรงเท่าไหร่ ผู้นั้นรู้ตัวเองว่าสามารถ จะดับไฟแรง อย่างนั้นได้ไหม ถ้าจะจุดไฟแรงแล้ว ไม่สามารถดับไฟแรงนั้นได้ อย่าริอ่าน เผาทั้งตัวเอง ไม่ใช่แต่เผาแต่คนอื่น เผาทั้งตัวเอง บรรลัย ผู้จะจุดไฟได้แรง ผู้นั้นจะต้องดับไฟ นั้นได้ ต้องมั่นใจ ว่าดับไฟนั้นได้ จึงจะสามารถจุดไฟแรงนั้นได้

เอาละ สำหรับวันนี้ พอสมควร

สาธุ


ถอด โดย ยงยุทธ ใจคุณ ๒๓ เม.ย.๓๕
ตรวจทาน ๑ โดย สม.ปราณี ๒๖ เม.ย.๓๕
พิมพ์ โดย สม.นัยนา
ตรวจทาน ๒ โดย เพียงวัน ๒๒ พ.ค.๓๕
FILE:2358B.TAP