ฟังธรรมสุดๆ วิมุติได้
โดย พ่อท่านโพธิรักษ์
วันที่ ๓ มีนาคม ๒๕๓๕
ณ พุทธสถานสันติอโศก


ที่จริงอาตมาเอง ก็อาศัยเวลาช่วงตอนก่อนฉันนี่แหละนะ หมู่นี้เป็นหลักในการที่จะได้บรรยาย ได้เทศน์ ได้อะไรสู่พวกเราฟัง แต่อาตมาก็ไม่ทราบเหมือนกันว่า ทำไมพวกเราไม่ค่อยใส่ใจ คือไม่ค่อยจะเห็นว่า เป็นสำคัญที่จะฟังเทศน์ ถ้าเผื่อว่าไม่อยากฟังเทศน์แล้ว อาตมาก็จะได้ไม่ต้องเทศน์ต่อไปก็ได้นะ คือเวลาอาตมามา ก็รู้ว่าอาตมามาก่อนฉันนี่ ก็พูดก็เทศน์นั่นแหละ พูดถึงเรื่องราวอะไรที่เกี่ยวข้องกับพวกเราก็ตาม เป็นเรื่องราวกิจการงานอะไรต่างๆ นานาก็ตาม มันก็มีเนื้อหาสาระของธรรมประกอบกัน เพราะฉะนั้น พวกเราเองก็น่าจะมีปฏิภาณรู้อยู่ เหมือนกันว่า อาตมาเทศน์บรรยาย คิดว่าคงจะไม่ฟังเทศน์อาตมาแล้ว ถึงไม่ลงมาฟัง ไม่ลงมาอะไรกันนะ ก็คิด ถ้าเผื่อว่ามันๆน่าเบื่อ อาตมาก็จะได้พักต่อไปนะ ว่าแม้เทศน์ก่อนฉันก็ไม่ต้องเทศน์ อย่างที่ได้ตกลงกัน ทางหมู่ก็ตกลงกันเหมือนกัน ว่าอย่าเทศน์มากนัก ลดลงไปก็คงจะดีเหมือนกัน น่าจะดีเหมือนกัน จะได้หยุดเทศน์ไปเสียบ้าง ไม่ว่าตอนไหนๆ ก็พักกันเสียบ้าง เพราะผู้อยากฟังก็ไปน้อยๆคน ก็ไม่เป็นไรหรอก ใครจะฟังเทศน์ ใครอยากจะโอภาปราศรัย ไต่ถามก็หาเวลาไปคุยเอาเองก็ได้ เพราะว่าไม่มากคนแล้ว คนจะฟังเทศน์ มันก็น้อยลงไปแล้ว ก็ไม่ต้องเทศน์กันมากก็ได้ คงจะเป็นอย่างนั้นดีกว่านะ

อาตมาก็คิดว่า เทศน์นี่มันสำคัญนะ มีประโยชน์ และก็ได้สร้างสรรกันขึ้นมาด้วยเทศน์ ด้วยการบรรยาย ด้วยการบอกกล่าวชี้แนะกัน แม้ในแนวลึกก็ทำให้เกิดปัญญา ให้เกิดความศรัทธา เชื่อมั่นกันขึ้นได้ เมื่อศรัทธากับปัญญาสองตัวใหญ่นี่แหละ เป็นพลังสำคัญที่สุด เป็นหัวเป็นปลายของอินทรีย์ของพละ มันเกิดความเชื่อมั่น เชื่อถือ เชื่อฟัง ที่อาตมาพยายามอาศัยภาษาไทยมาขยาย พอฟังแล้ว เออ มันน่าเชื่อถือ ด้วยเหตุด้วยผล ด้วยหลักฐาน ด้วยหลักการอะไรต่างๆ ก็แล้วแต่เถอะ ฟังแล้วก็น่าเชื่อถือ


ลักษณะความเชื่อถือ มันก็เป็นความเชื่อชนิดระดับต้น จนกระทั่งมันสูงๆ ขึ้น จนเป็นถึงขั้นเชื่อฟังอะไรอย่างนี้ เป็นเชื่อฟัง แล้วก็ปฏิบัติตาม ซึ่งอาตมาก็ให้ความหมายแล้ว สัทธินทรีย์ มันมีกำลังของความเชื่อจริงๆนะ คนเรานี่ถ้าเชื่อถือมากจนถึงขั้นหนึ่งๆ แล้ว มันก็อยากจะเป็นตามนะ เชื่อว่าอย่างนี้ดี อย่างนี้จะเป็นสุข อย่างนี้จะเจริญ อย่างนี้จะเป็นสุข คนเราก็อยากได้ๆ อยากเป็นนะ เมื่ออยากได้อยากเป็น ก็พยายามๆ ที่จะฝึกเอาตาม เรียนรู้ให้หนักขึ้น ฝึกหัดอบรม ใส่ใจ แม้จะเหน็ดเหนื่อยหนักหนาอะไร ลำบากยากเย็น ถ้าเห็นว่าดี เราก็จะเอา จะพยายามฝึกฝนเอา ลงถึงขั้นปฏิบัติตามนี่ แม้ว่าอยู่ในที่สาธารณะชุมชนที่หมู่เราอยู่ร่วมด้วย เขาจะคัดค้าน เขาจะย้อนแย้งอะไรก็ตาม ถ้าสัทธินทรีย์มันขึ้น จริงๆ มันเกิดขึ้น เชื่อถึงระดับสัทธินทรีย์นี่ ลับหลังเราก็จะแอบปฏิบัติตาม แม้ต่อหน้าจะอายผู้อายคน หรือว่าถูกต้าน หรือว่าถูกแย้งอะไรอยู่ ทำต่อหน้าต่อตาใครไม่ได้ ในที่ๆเราสมควรจะทำๆได้นะ เราจะพยายามฝึกหัดอบรม แม้แต่ลับหลัง ต่อหน้ากับคนอื่นๆ เขาต้านเขาแย้ง เขาท้วงเขาอะไร ทำไม่ได้ถนัด ทำไม่ได้เต็มที่ ก็จะไปทำเองในที่เราควรทำหรือทำได้ ถ้าเชื่อศรัทธินทรีย์ มันถึงขั้นนั้นจริงๆ แล้วมันจะทำตามยังงั้นนะ พอทำตามได้แล้ว มีผลดีอะไรขึ้นไป เห็นชัดแจ้งชัดจริง มีหลักฐานของจริงมีอะไรสมบูรณ์ มันถึงจะเกิดศรัทธาพละ หรือศรัทธาผล เป็นผลของความเชื่อ ที่ยิ่งสมบูรณ์เท่าไหร่ มันก็ยิ่งเป็นผลที่มั่นคงเท่านั้น เป็นความเชื่อมั่นที่มั่นคง ที่ไม่แปรเปลี่ยน ไม่เป็นอื่นอีกเลย มันยิ่งเห็นจริงเห็นจัง ยิ่งเป็นสัจธรรมคือเป็นของจริง และมีญาณปัญญาที่รู้รอบรู้ชัด สมบูรณ์เต็ม เป็นได้แล้ว แล้วก็ปัญญาญาณ เห็นแจ้งแทงรู้รอบทะลุ มันก็จะไม่มีการเปลี่ยนแปลง ในความเชื่อมั่น เป็นความเชื่อที่เชื่อมั่น เชื่อสมบูรณ์ เชื่อครบเต็ม มันจะไม่เปลี่ยนแปลงอะไรเลยนะ

เพราะฉะนั้น คนเราจะปฏิบัติธรรมนี่ หลักอินทรีย์ ๕ พละ ๕ ในโพธิปักขิยธรรมนี่ จะมีความเป็นไปอย่างที่กล่าวนี่จริง แม้ตัวศรัทธา ปัญญาก็มีกำลังเหมือนกัน เราเริ่มรู้ เราเริ่มเห็น เราเริ่มเข้าใจนี่ มันแค่ทิฏฐิ แค่ความเห็น ความรับรู้ ก็รู้ไปลึกๆ ขึ้นไปเรื่อยๆ ความเห็นนั้นก็สั่งสม อย่างที่พระพุทธเจ้าท่านได้อธิบายองค์ธรรมของสัมมาทิฏฐิแล้ว มันจะเกิดปัญญา ทิฏฐิก็จะสูงขึ้น เป็นความเห็นความเข้าใจ ความรู้ที่สูงขึ้นๆๆไปเรื่อยๆ จะเป็นฟัง หรือว่าไปคิดตาม จะพินิจพิเคราะห์ หาหลักฐานมาประกอบอะไรก็ตามใจ มันจะเกิดความรู้ เป็นปัญญาขึ้นไปเรื่อยๆ จนกระทั่งปฏิบัติตามถึงขั้นเชื่อฟัง และ เราก็ปฏิบัติตาม ผลเกิดมีอะไรดีเกิดขึ้นมาๆ ความรอบรู้ที่ปัญญา มันก็จะเป็นปัญญินทรีย์ ขึ้นมาตาม มีกำลังของความรู้ ที่รู้ยิ่งรู้จริง รู้ของจริง รู้ลึก รู้ทั้งรูปธรรม นามธรรมซ้อนเชิงเข้าไป โดยเฉพาะของพระพุทธเจ้า นี่จะต้องมีนามธรรมประกอบถึงจิตวิญญาณ ถึงอารมณ์ ถึงลักษณะที่ลดที่ละ ที่จางที่คลาย รู้โทษรู้ภัย รู้คุณค่า ความเป็นประโยชน์ ความดีงาม ความประเสริฐอะไร เสริมเติมขึ้นมาจากสภาวะต่างๆที่มันเกิดจริง แล้วมีจริงเป็นจริง แล้วมันก็หยั่งรู้หยั่งเห็นจริงๆด้วย ปัญญินทรีย์ก็จะสูงขึ้น ก็จะเสริมเติมขึ้นไปเรื่อยๆ อย่างที่ได้อธิบายสู่ฟัง มาหลายครั้งหลายคราว แล้วก็จะต้องอธิบายไปอีก มาเป็นปัญญา ปัญญินทรีย์ ปัญญาพละ ปัญญาผลขึ้นไปตามลำดับ โดยมีตัวที่จะช่วยพัฒนา คือธัมมวิจัยสัมโพชฌงค์ สัมมาทิฏฐิ มัคคังคะ คือองค์ของมรรคทั้งหมด ที่เราปฏิบัติไปตามนั้นแหละ มันก็จะเกิดวิจัยที่ลึกซึ้ง เกิดสัมมาทิฏฐิแก่กล้าขึ้น แล้วก็ไปเสริมเติมให้เป็นปัญญา ปัญญินทรีย์ ปัญญาพละ สอดซ้อน หมุนรอบเชิงซ้อน แล้วๆเล่าๆ ขึ้นไปอีกจริงๆ

เพราะฉะนั้น ปัญญา ปัญญินทรีย์ ปัญญาพละ ปัญญาผล มันก็จะมีอำนาจของความรู้นั่นแหละ ประกอบกับศรัทธา ไม่ใช่ศรัทธางมงาย ไม่ใช่ศรัทธาไม่มีของจริง ไม่ใช่ศรัทธา ไม่มีเหตุผล ไม่มีปรัชญาประกอบ มันจะมีปรัชญา แล้วมันก็จะมีตัวจริงเข้ามายืนยัน เป็นของจริง จริงๆเลย โดยที่ไม่ใช่คะเนคำนวณเดาๆด้นๆ หรือสักแต่ว่ารู้ตามที่เขาพูด เขาอธิบาย ได้ยินมา ที่เขาได้ฟังมา หรือฟังๆตามๆเขามา ได้เชื่อๆตามๆเขามา ไม่ใช่เลย มันจะเป็นของจริงอย่างนั้น

เพราะฉะนั้น ผลของการฟัง ก็ไม่ได้หมายความว่า การฟังนี้จะไร้ผล การฟังที่อาตมาว่า อาตมาพยายามนะ การบรรยายนี่ พยายามจะอธิบายอย่างไร ถึงเราจะมีความสามารถ ที่จะอธิบายให้เซาะลึก แทงลึก หรือว่ามีความละเอียด มีความสัมพันธ์อันต่อเนื่อง อันไม่ขาดไม่วิ่น มีความสมบูรณ์ครบครันเข้าไปจริงๆ มันจะเป็นนามธรรมอย่างไร ก็พยายามที่จะใช้ภาษาเพื่อจะสื่อ แม้เราจะยังไม่มีสภาวะนัก ก็ให้เข้าใจได้ลึกด้วยเหตุผล ด้วยภาษามาก่อน แล้วคุณถึงค่อยไปหยั่งตาม ด้วยความพินิจพิเคราะห์พิจารณา หรือวินิจฉัยอะไรก็ตามเถอะ และยิ่งคุณไปปฏิบัติตาม หรือคุณมีสภาวะแล้ว มีสภาวะของตนเองก่อน และอาตมาพูดบรรยายออกมานี่ มันยิ่งไปตรงกับสภาวะที่พวกคุณมีแล้วนะ ซึ่งสภาวะมันไม่ใช่ชื่อ สภาวะมันเป็นของจริงๆ มันไม่ใช่ชื่อ มันไม่ใช่ภาษา อาตมาอธิบายภาษาเรียกชื่อขานอะไรบ้าง เพื่อเอาไปประกอบเข้า มันก็จะะเห็นจริงเห็นจังขึ้นมาเลย อธิบายความหมาย อธิบายโน่นๆ นี่ๆอะไร มันมาประกอบเข้า มันก็ชัดเจน มันก็จะดียิ่งขึ้นมา

เพราะฉะนั้น ผู้ที่ฟังธรรมบรรลุธรรมได้นี่มีอยู่ ๒ นัย นัยหนึ่งก็คือ ผู้ที่มีสภาวะรองรับแล้ว แต่เราไม่รู้จักความหมาย ไม่รู้จักภาษาบัญญัติ แต่เรามีแล้ว มีธรรมฐิติญาณแล้ว มันเป็นของที่เกิดแล้ว รู้ๆ แต่ว่ารู้ไม่รู้ภาษา รู้ไม่รู้ตัวเหตุผล ตัวคำบรรยายบัญญัติโลก ไม่รู้ แต่มันมีแล้วนะ มันมีสภาวะแล้วเป็นนามธรรม ยิ่งเป็นนามธรรมแล้วยิ่งมันมีแล้วละ จะเรียกว่าอะไรเราไม่เข้าใจ เป็นเหตุเป็นผลยังไงๆ มีคุณค่ายังไง อธิบายความหมายว่าเป็นกุศล อกุศล เราก็ไม่ค่อยเข้าใจดีนัก แต่พอได้มาฟังภาษา มาฟังบัญญัติ มาฟังคำอธิบายที่เกี่ยวเนื่องต่อเนื่อง ขยายความโน่นนี่อะไร ประกอบกันเข้าแล้ว อ๋อ อันนี้แหละเหรอ อย่างนี้แหละเหรอ โอ้ เรามีแล้วได้แล้ว นี่เราได้แล้วนี่ ถ้าความบรรลุคือสภาพนี่ ถ้าบรรยายสภาพนี่ คือสภาพนี่เป็นนิพพาน เป็นสภาพวิมุติ สภาพธรรมรส เป็นวิมุติรส หรือเป็นอะไรที่มันเยี่ยมๆ ยอดๆ ที่ถึงขั้นบรรลุธรรมถึงขั้นสูงสุด หรือขั้นไม่สูงสุดก็ตาม ไปบรรลุไปเป็นขั้นๆ ไปขั้นนั้นนี้สูงขึ้น คุณก็จะรู้ตัวเองว่า อ๋อ ยังงี้ละเหรอ เราได้แล้วนี่

นั่นน่ะ ผู้ที่มีสภาวะแล้ว ก็จะได้เข้าใจ แล้วก็จะได้เกิดบรรลุ เพราะรู้ว่า เกิดมีสภาวะเป็นเจโต แล้วเราพอได้รับฟัง ก็เป็นปัญญาเข้ามาเสริม เป็นปัญญาวิมุติเข้ามาเสริมเจโตวิมุติ มันก็จะบรรลุ ๒ เป็นอุภโตภาควิมุติไปเลย หรือไม่ เราเอง เราไม่บรรลุทีเดียวหรอก แต่ฟังธรรมแล้ว ได้เกิดญาณปัญญาเข้าไปเป็นพลัง เป็นอินทรีย์เป็นพละนี่ ฟังความหมาย ฟังบัญญัติ ฟังภาษา ฟังองค์ประกอบอะไรต่างๆนานาแล้ว โอ๋ มันมีพลังที่ทำให้เราปฏิบัติ หรือ แม้แต่ไม่วาง ไม่จางไม่คลาย กิเลสมันยังเกาะยังติด กิเลสมันร่วงไปเลย เพราะอำนาจรู้นั้น เรียกว่าวิปัสสนาญาณ อำนาจของวิปัสสนา อำนาจของความเห็นแจ้ง อำนาจของความรอบรู้ ตัวรู้นี่แหละ มันไปขจัด ไอ้ตัวกิเลสนี่แหละเป็นตัวไขสูงสุด เป็นตัวสำคัญของศาสนาของพระพุทธเจ้า ถอนอาสวะอนุสัยด้วยปัญญา หรือด้วยวิปัสสนา มันถอนเลยนะ มันถอนอนุสัยอาสวะ ด้วยการรู้รอบ รู้แจ้ง แทงทะลุสมบูรณ์เลย แม้มันจะเหลืออยู่ มันจะยังมีกิเลส เจโตยังไม่วิมุติรอบก็ตาม ตัวนี้จะเข้าไปทำลายตัวสุดท้ายเลย มันเป็นตัวที่จะไขสมบูรณ์ ก็บรรลุได้อยู่ในที่นั่งที่ฟังธรรมนี่แหละ อย่างที่เราเคยได้ฟังมา เคยได้ยินมาแล้ว พระพุทธเจ้าท่านยืนยันว่า การบรรลุธรรมนี่ บรรลุธรรมได้ ทั้งที่ฟังธรรมก็บรรลุธรรม แสดงธรรมก็บรรลุธรรม แสดงธรรมนี่ก็คือบรรยาย

สาธยายกับแสดงนี่ อาตมาเคยค้นภาษาบาลีสองตัวนี้นะ สาธยายธรรม กับ บรรยายธรรม มันต่างกันยังไง สาธยายกับบรรยายนี่นะ มีบาลีสองตัวนี่ อาตมาจำไม่แม่นแล้ว ว่ามันบาลี สองตัวนี่มันมีอะไร มันมี ๒ ข้อ แล้วท่านมาแปลเป็นไทยว่า อันหนึ่งว่า มาบรรยายธรรมะก็บรรลุธรรมได้ สาธยาย คำว่าเทศนาบรรยายธรรมะ สาธยายธรรมนี่ ดูเหมือนจะสวดท่อง สาธยายมนต์ ท่องทบทวนสวดท่อง

บรรยายธรรมนั่นเป็นธรรมเทศนาบรรยาย เพราะฉะนั้น ผู้บรรยายเองนี่แหละ บรรลุเองได้เหมือนกัน ตัวเองยังไม่ได้บรรลุหรอกนะ แต่พอบรรยายธรรมไป มันก็แทงลึกไปสู่สภาวะ เพราะตัวเอง ก็นัยที่อธิบายไปแล้วเมื่อกี้ว่า แม้ฟังธรรมก็บรรลุได้ ในการแสดงธรรมก็บรรลุได้ ทั้งสองนัยเหมือนกัน ตัวเองมีเจโตแล้ว พอเรียบเรียงภาษา ภาษามันก็ไปสมบูรณ์ เป็นปัญญา หรือยังไม่บรรลุ หรือยังเหลืออยู่ก็ตาม ตัวภาษาหรือตัวบัญญัติที่เรียบเรียงมา มันก็เกิดปัญญา หรือ เกิดความละเอียดลออขึ้นมาอีก มีพลังเป็นปัญญินทรีย์ ปัญญาพละขึ้นมาให้ หรือเป็นความเฉลียวฉลาด เป็นทิฏฐิที่สูงน่ะ มันก็มีพลัง มีอินทรีย์ มีพละ เป็นอินทรีย์ เป็นพละ มาทำลายกิเลสนั้นได้ ได้ส่วนสัดที่มันจะทำลายกันได้นะ มันได้จริงๆ เกิดการบรรลุธรรม ได้อย่างนั้นด้วยนะ

ส่วนการท่องทวน สาธยายธรรม เป็นการท่องทวน ท่องจำ หรือ ทบทวนอะไรต่ออะไรนี่ แน่นอนแหละ มันก็ทำให้เราเกิดปัญญา และมันเกิดบรรลุธรรมได้ด้วยเตวิชโช อย่างนี้เป็นต้น ด้วยการระลึกย้อน ด้วยการบุพเพนิวาสานุสติ และก็เกิดญาณเกิดปัญญา เกิดความรู้จบ เกิดรู้ความเกิดความดับ เกิดรู้กิเลส เกิดรู้จนกระทั่งทำให้อนุสัยอาสวะสิ้นได้เหมือนกัน อันนี้แน่ๆเลย ทบทวนนี่เป็นเตวิชโช เป็นการท่องทวนในหลักการหลักเกณฑ์อะไรก็ตาม

เพราะฉะนั้น ผู้ใดที่มีธรรมะ แล้วก็รู้สึกตัว เราเองเราฟังธรรมบันเทิงเบิกบานร่าเริงนี่นะ จะฟังเท็ปธรรมะ ก็เบิกบานร่าเริง จะอ่านหนังสือธรรมะ ก็เบิกบานร่าเริง อย่าว่าแต่ฟังเท็ปเลย ยิ่งฟังสด ก็ยิ่งเบิกบานร่าเริง ฟังแล้วก็รู้สึกว่ามันได้ซ้ำๆย้ำๆ ก็ยังอุตส่าห์ฟังเบิกบานร่าเริง รู้สึกว่ามันมั่นใจ มันประเทือง มันมีอะไรทำให้เราเกิดเจริญได้นะ ลึกซึ้งขึ้น เขยิบขยับอะไรๆขึ้นไปอีกขึ้น มันประทับใจ เหมือนกับเรา แต่เดิม แต่โลกๆ นี่ เราฟังอันนี้เราชอบ เรากินอันนี้เราอร่อยเราชอบ เราไปชม อันนี้เราอร่อย เราชอบ เราเพลิดเพลิน เราก็ฟังซ้ำซาก เราก็ดูซ้ำซาก เราก็กินซ้ำซากได้ มันเป็นรสประทับใจได้เหมือนกัน และในความประทับใจเหล่านั้น มันก็ทำให้เราสบายใจ และบางทีก็ไม่มีอะไรเจริญนัก ก็มีความสบายใจ มันก็ดีเหมือนกัน ทำให้เราเกิดความมั่นคง มันสบายใจ มันก็เกิดความซับซ้ำลงไป มันก็มั่นคง มันก็ย้ำลงไปให้แก่เราได้ส่วนที่ดีส่วนหนึ่ง ถ้ายิ่งมีนัยละเอียด อาตมาพยายามอยู่ทุกที ที่จะให้มีความละเอียดลออ ให้มีความลึกซึ้งเข้าไปทุกครั้ง จะด้วยโอกาส หรือความสามารถ ด้วยความรู้ของอาตมาที่จะสามารถ ทำให้ลึกลงไปได้ในครั้งในคราว ที่ควรจะลึกลงไปอย่างนั้นๆ ขนาดนั้นๆ ก็พยายามทำอยู่เสมอ

อาตมาเชื่อว่าพวกเราได้นะ เชื่อว่าพวกเราได้ประโยชน์ ได้จากที่อาตมาพยายาม ที่กล่าวไปแล้วนั่นแหละ ได้ฟังธรรมเมื่อไหร่ก็ได้ ได้ก็ได้ เพราะฉะนั้น คนใดที่เบิกบานร่าเริง ฟังธรรมดี เอาใจใส่อยู่ตลอดเวลา คนนั้นได้เติม ได้แถมเสมอแหละ ได้เพิ่มได้เติมได้แถม ได้ไป อย่างน้อยก็ได้รู้ปริยัติเพิ่มเติมขึ้น ถ้ายิ่งได้เอาไปปฏิบัติ เอาไปประพฤติปฏิบัติ ก็ยิ่งจะดี ถ้าเรายิ่งฟังด้วยดี แล้วเกิดการบรรลุเพิ่มเติม ดังที่กล่าวไปแล้ว มันก็เป็นสิ่งที่ดีวิเศษแล้วนะ

เพราะฉะนั้น ในการบรรลุธรรม ฟังธรรมบรรลุธรรม แม้แต่สาธยาย แม้แต่อะไร มัน ๕ ข้อ ตรึกตรอง ใคร่ครวญ มันลึกซึ้งไปจากสาธยายอีกหน่อย สาธยายทบทวน ทีนี้นอกจากสาธยาย ทบทวนแล้ว วินิจฉัย ไตร่ตรอง ใคร่ครวญลึกซึ้งขึ้นไปอีก ก็แน่นอนละ ฟังเหตุผลแค่นั้น มันก็พอแล้วว่า มันจะทำให้เกิดการบรรลุได้ ก็เพราะมันมีความลึกซึ้งขึ้นไปอีก ก็ต้องได้แน่นอน อันสุดท้าย อะไรล่ะ สมาธิ สรุปเลย

สมาธิ จะเป็นสมาธิแบบพุทธ หรือสมาธิแบบปฏิบัติสัมมาสมาธิ หรือจะเป็นสมาธิแบบ นั่งหลับตา แล้วก็ไปไตร่ตรองทบทวน เป็นองค์ประกอบในวิธีการ อันเกิดจากสมาธิ สมาธิเรานั่ง นิ่งสงบ ไม่ให้มีนิวรณ์ แล้วเราก็ใช้เตวิชโช มันก็เกิดการบรรลุธรรมซ้อนได้ หรือสมาธิของสัมมาสมาธิ ก็แน่นอนเลยแหละ คุณปฏิบัติไปจริงๆ สังกัปปะ วาจา กัมมันตะ อาชีวะ ความพากเพียรอยู่อย่างนี้ และก็เป็นบทบาทธรรมดาๆๆสามัญ เหมือนอย่างพระอริยเจ้าทั้งหลายแหล่ ที่ท่านปฏิบัติ แล้วท่านบรรลุน่ะ ไม่ว่าจะขั้นไหนแหละ พระอานนท์ก็ปฏิบัติอันโน้นอันนี้ ตามอิริยาบถต่างๆ พระสารีบุตรก็บรรลุในตอนที่มีอิริยาบถต่างๆ ผัสสะนี่แหละ ธรรมดา หรือใครต่อใครอีกหลายผู้หลายองค์ ท่านก็ได้จากปฏิบัติธรรมดานี่แหละ เกิดจากการงาน เกิดจากการกระทำ หรือเกิดจากคำพูด เกิดจากอะไรพวกนี้เป็นปกติ ซึ่งเกิดสมาธิ เป็นสัมมาสมาธิ สั่งสมลงเป็นสภาพที่มีพลัง มีอำนาจ มีเนื้อหาสาระของมัน แล้วมันก็รวมลงไป มันก็ทำให้บรรลุได้

นัยพวกนี้นี่ มันเป็นเรื่องลึกซึ้งๆ เพราะฉะนั้น แม้แต่สรุป หรือว่าเอามาทบทวน ด้วยหลักการของพระพุทธเจ้าที่ว่า ผู้บรรลุธรรม บรรลุได้แม้แต่ฟังธรรมก็บรรลุได้ มันก็ไม่ใช่เรื่องน่าประมาท ไม่ใช่เรื่องที่น่าจะดูดาย มีโอกาส อาตมาก็ว่าเป็นโอกาสที่ดีนะ เป็นโอกาสที่ดี ได้ฟังได้รับฟรีๆ ถึงครั้งถึงเวลาก็น่าจะรีบขวนขวาย หาเวลามาฟังมารับ เออ มันกลับไม่เป็นอย่างนั้นๆ เหมือนกับที่พระพุทธเจ้าท่านเคยตรัส เหมือนกับพ้อเหมือนกัน อาตมาพูดจริง อาตมาไม่ได้น้อยใจหรอกนะ พ้อเหมือนกันนะ อย่าเสียใจ พระพุทธเจ้าท่านเคยตรัสนะ อย่าเสียใจนะว่า ตถาคตได้ตายไปแล้ว ได้ผ่านไปแล้ว ไม่เหลือแล้ว อย่ามานั่งร่ำร้องอะไรต่ออะไร เหมือนที่พระพุทธเจ้าท่านเคยตรัส ไอ้ตอนที่อยู่ แล้วก็ทำเป็นไม่รู้ ทำเป็นไม่เอาถ่าน ไม่เอาภาระอะไร ขนาดพระพุทธเจ้า ก็ยังต้องพูดต้องตรัสอย่างนี้เลย อาตมาเองก็พูดไปบ้าง พูดไปแล้ว ก็ไม่อยากพูดมากอะไรหรอกยังงั้น พูดไปก็เหมือนคนน้อยใจ เหมือนกับคนมาพ้อ มาง้อมางอนอะไรนี่ อาตมาก็ ที่จริงไม่อยากจะพูดเท่าไหร่ แต่ว่านานๆก็พูดกันบ้าง โดยโวหารโดยภาษา โดยอะไรพวกนี้ มันก็เป็นองค์ประกอบ ทำให้พวกเราเกิดสำนึกได้เหมือนกัน เกิดเตือนใจเตือนจิตพวกเรา ให้ระลึกให้สำนึกว่า เออ เราเป็นอย่างไรนะ มันอะไรๆ ก็ปล่อยปละละเลย ไปบำเรอตน ต้องการจะทำตามใจตน ทั้งๆที่โอกาส มันก็ควรจะใช้โอกาสพวกนี้ ควรจะรับโอกาสพวกนี้ ไม่น่าจะปล่อยปละละเลยอะไรนัก ก็ไม่ถึงขนาดหนักหนาสากรรจ์อะไร ถ้าเป็นโอกาส ที่ไม่มี หรือว่าเราติดขัดโน่นๆนี่ๆ อะไรจริงๆจังๆ จนปลีกตัวมาไม่ได้ มันเป็นความจำเป็น ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง นี่ก็ไม่ได้จำเป็นอะไรนักหนา ไม่ติดไม่ขัดอะไรด้วย จะแบ่งเวลามาได้ด้วยซ้ำ แต่เราก็บำเรอตนน่ะ เราอยากทำยังงี้นี่หว่า เราไม่อยากมาก็จะทำไม อะไรต่างๆนานาพวกนี้ หาเรื่องเสียบ้าง อ้างอิงเพื่อที่จะได้ไม่น่าเกลียด แต่ไปทำสิ่งที่ตัวเองชอบยิ่งกว่า มากกว่า อะไรอย่างนี้เป็นต้น ก็ทำไปตามประสาความจริงของกิเลสของคนแหละนะ คนมีกิเลส ระดับไหน เขาก็ทำของเขาอะไรไป

ถึงอย่างไรก็ตาม อาตมาก็คงจะต้องทำอยู่นั่นแหละ จะทำมากทำน้อย จะมีโอกาสอย่างนั้นอย่างนี้ ก็ต้องทำไป เพราะว่ามันเป็นหน้าที่ มันเป็นเรื่องดี เรื่องบรรยายเรื่องบอกเรื่องชี้ หรือ เรื่องเทศนานี่ มันเป็นเรื่องสำคัญเอก ตั้งแต่ปางพระพุทธเจ้า หรือก่อนพระพุทธเจ้าอุบัติมา จนกระทั่งเดี๋ยวนี้ มันก็จะต้องใช้สิ่งเหล่านี้ แม้มันจะมีสื่อสารอย่างอื่นที่วิเศษ จะเก่งกาจอย่างไหนก็ตาม การพูดการบรรยาย มันก็ต้องอาศัยอยู่ไปอีกตลอดนานเท่านาน มันทิ้งไม่ได้หรอก การบรรยาย การพูด การโอภาปราศรัยนี่ มันก็ต้องเทศน์ ก็พูดอยู่นั่นแหละ จะมากหรือน้อย อะไรก็แล้วแต่นะ

พวกเราได้พยายามกันเหมือนกัน สำหรับผู้ที่ได้เอาใจใส่ พยายาม ผู้ที่ปล่อยปละละเลย ก็เป็นเรื่องของเขา ของใครก็แล้วแต่ เมื่อเราปล่อยปละละเลย มันก็เนิ่นช้า มันก็เสียเวลาไปบ้าง ยิ่งไปเผลอๆไผลๆ ปล่อยตัวสติตก ปล่อยไปตามอำเภอใจของกิเลส อำเภอใจของใจบริสุทธิ์นะ ใจของเรามีกิเลสครอบงำ แล้วมันก็ถึงไปตามที่เราจะชอบ ตามที่กิเลสมันชอบนั่นแหละ มันก็ไป มันก็ถูก ถึงไป มันก็เป็นไป ผู้ใดมีอินทรีย์พละ มีกำลังกล้าที่จะมีสติแรงที่จะต้าน กิเลสมันจะบำเรออัตตา บำเรอตัวเราเอง เราจะอยากเป็นอย่างนี้ อยากได้อย่างนี้ อยากอยู่อย่างนี้ อยากจะเสพอันนี้ จะเสพภพ เสพกาม อะไรก็ตามเถอะ มันก็เป็นเสพตัวตนยังงี้ๆ ทั้งๆที่โอกาสดีๆ มีกิจ มีวิธีการ มีกิจการ มีโน่นมีนี่ อะไรที่ดีๆกว่า ก็ไม่ค่อยอยากจะทำหรอก อยากจะทำตามอำเภอใจของตัวเอง ทั้งๆที่วินิจฉัยจังๆ จริงๆแล้ว สิ่งที่ตัวกำลังจะทำอยู่นั่น มันไม่ได้สำคัญไปกว่า มาฟังเทศน์อะไรไปนักหนาหรอก ฟังเทศน์มันสำคัญกว่าจริงๆ มันจะได้อะไรดีๆ อันนั้นมันพอผัดได้ มันพอที่จะวางมือวางไม้อะไร ชั่วครั้งชั่วคราวได้ โดยจริงๆแล้ว วินิจฉัยจริงๆแล้ว มันไม่สำคัญเกินกว่านั้น แต่เราก็ไปยกให้มันสำคัญ ไปเอามาเป็นข้ออ้าง ไปยอมแพ้มัน เพราะมันแพ้กิเลสนั่นเอง เพราะมันแพ้อัตตาตัวเองนั่นเอง มันอยากจะทำให้สมใจ มันอยากจะบำเรอตนเองมากกว่า เพราะมันชอบ มันเห็นว่ายังงี้มันก็จะเอา อะไรยังงี้เป็นต้น อาตมาต้องพูด ต้องพยายามที่จะชี้ความไม่ดีไม่งาม ในลักษณะต่างๆ ของพวกกิเลส อัตตามานะพวกนี้ ไม่ใช่ว่ามันรู้กันได้ง่ายๆ แม้รู้แล้ว มันยังมีฤทธิ์เลย มีฤทธิ์มีอำนาจใหญ่ แข็งแรง เอาชนะคะคาน จนกระทั่งเราจะต้องตามใจมันนั่นแหละ ตามใจกิเลสนั่นแหละ เป็นทาสกิเลสนั่นแหละ ให้กิเลสมันเป็นเจ้าเรือน เป็นอำนาจใหญ่ต้องตามที่มันแนะ มันจะเอา เอาตามมัน จะขัดมันก็ไม่ได้ แย้งมันก็ไม่ไหว อะไรยังงี้เป็นต้น มันเก่งนะ ไม่ใช่มันไม่เก่ง ถ้ามันไม่เก่งนะ โอ๊ย ป่านนี้ อาตมาได้พระอรหันต์มาเยอะแล้ว ถ้ากิเลสมันไม่เก่ง แต่ถึงมันจะเก่งอย่างไร เราก็จะต้องปราบมัน จัดการกับมัน ไม่ใช่ไปเที่ยวอ่อนข้อให้มันอยู่เรื่อย แล้วก็มานั่งโอดครวญว่า มันทำไม่ไหวๆ จะทำไหวหรือไม่ไหวก็เรานั่นแหละ คนอื่นเขาจะไปสู้กับกิเลสตัวเราเองหรือ คนอื่นจะมาสู้แทน สู้ได้ยังไง และบังคับมันก็ไม่จริงด้วย บังคับมันก็ทำไปตาม อำนาจคนอื่นบังคับ เท่านั้นเอง

เพราะฉะนั้น เราจะต้องบังคับตัวเรานี่แหละ อินทรีย์พละ มันถึงจะเกิดจริง แก่กล้าขึ้นได้ เพราะเราบังคับตัวเอง เพราะเราสู้ด้วยพลังของตัวเองจริงๆ มันถึงจะเรียกว่าอำนาจในตัว เป็นความเป็นใหญ่ในตัว เป็นอำนาจในตัว จึงเรียกว่าอินทรีย์ เรียกว่ากำลังแท้ เรียกว่าพละ คนอื่นไม่ใช่ คนอื่นก็คนอื่น เขาจะมาปลุกเร้า มาให้กำลังใจ เสริมเติมให้อย่างไรๆ เราก็ต้องไปทำจริงของเรา ให้มันได้มาก เป็นขณะที่มาก ทำลายอย่าให้มันมาแข็งแรง อย่าให้มันมาชนะคะคานเราได้ เราต้องทำของเราจริงๆ ไม่มีใครมาช่วยเราได้

อาตมาว่า พวกเราได้เรียนรู้เรื่องอัตตามานะนี่ เพิ่มเติมขึ้นเรื่อยๆ และ มันจะเจริญ มันจะสมบูรณ์แบบจริงๆ เรื่องมานะสังโยชน์นี่ หรือเรื่องอัตตาสุดท้าย แม้ที่สุด ที่มีอัตตาที่ดี เราก็จะต้องเรียนรู้ของเรา และเราก็จะขึ้นไปถึงการปล่อยวางอัตตาสุดท้าย อย่าว่าแต่มานะสังโยชน์เลย มานะสังโยชน์นี่ ตัวที่มันหยิ่งผยอง มันถือดี มันก็ใหญ่แหละ มันก็ใหญ่ในตัวมันเอง คนอื่นจะมาใหญ่กว่าไม่ได้หรอก และมันก็จะให้ตัวใหญ่ของตัวเองนี่ ชนะอะไรไปหมด คนอื่นจะเคารพบูชานับถือ พูดว่ายังไง มันก็จะไม่เกรงใจกว่าที่จะเกรงใจกิเลส เกรงใจมานะมากกว่า มันเป็นอย่างนั้นจริงๆ เพราะฉะนั้น ถ้าเราเอาชนะมานะนั้นบ่อยๆๆๆๆๆ เราก็อยู่เหนือขึ้นไปเรื่อยๆ มานะสังโยชน์ก็ลดลงจริงๆ

แม้เราชนะมันหมดแล้ว เป็นอัตตาที่เราอาศัย เรายังต้องมาเรียนรู้ซ้อนลงไปอีกเลย อัตตาที่เราอาศัย สภาพทั้งหมดนี่ จะเป็นรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณอย่างไรในตัวเรา เรายังต้องมาพยายาม อย่าให้มันเป็นตัวติดตัวยึด ตัวระเริง ฟูใจ จนกลายเป็นอุปกิเลสอะไร ต่อไปอีก แต่เราก็ต้องใช้มัน ใช้ๆ จิตวิญญาณนี่แหละเป็นตัวหลัก มันอยู่ในเราๆ ใช้มัน ใช้ เพื่อจะให้เกิดการเสียสละคุณค่าอะไรต่างๆนานา หรือว่าสร้างสรรสังคม สร้างสรรเพื่อให้ผู้อื่นได้รับประโยชน์ ให้ผู้อื่นเจริญไปตาม มันก็อาศัยจริงๆ แล้วมันก็ทำ ทำ จริงๆ มันก็ได้ดีจริงๆ เรื่อยไปนะ คนเราถ้าเผื่อว่าเรียนรู้ ถ้าไม่ไปถึงขีดขั้นของ อัตตามานะพวกนี้นะ บอกได้เลยว่า จะไม่มีทางที่จะบรรลุเป็นอรหันต์ขึ้นไป สู่สังโยชน์เบื้องสูงยังงี้ ไม่มีทางหรอก

ศาสนาของพระพุทธเจ้านี่ลึกซึ้ง ละเอียดลออมากมาย ศาสนาพระเจ้า อะไรหลายๆอย่าง เขารู้เหมือนกันว่า อวดอ้างหลงระเริงยินดีในความดีของตนๆ มันไม่ใคร่ดีนัก เขาก็รู้เหมือนกัน แต่มันไม่ละเอียดลออถึงจิต เจตสิก รู้อาการ ลิงค นิมิตของมัน จนกระทั่งหมดตัวหมดตน เกิดจิตๆ จริงๆเลยนะ เกิดจิตที่มันหมดตัวหมดตน ไม่ยินดียินร้าย มีแต่ธาตุรู้ที่เป็นยอดญาณยอดปัญญาๆ ที่มันรู้ชัดรู้แจ้งจริงๆเลยนะ และมันก็ไม่เป็นอัตตา ไม่เป็นอัตนียา ไม่ไปยึดว่าเป็นของเรา ไม่ไปหลงติดหลงยึดเป็นของเรา เป็นตัวตนเป็นเรา จนเกิดเรานี่ทุกข์ ใครมาแตะมาต้องก็ไม่ได้ ใครมาว่าก็ไม่ได้ ใครมาลบหลู่ก็ไม่ได้ อ่อนน้อมถ่อมตนอะไรก็ไม่ลง มันจะถือหยิ่งถือใหญ่ ถือดี เป็นตัวเป็นตน เป็นมานะ ซ้อนขึ้นไปอีกอยู่ อย่างนั้นแหละ หรือแม้ไม่ซ้อน จะเป็นอัตตาตัวกู ก็จะตามใจกู บำเรอของกูน่ะ ไม่ไปริษยาใคร ไม่แข่งดีกะใคร แต่ก็ตัวกูของกูนี่แหละ เอ็งจะทำไม ข้าจะเป็นอย่างนี้ ข้าจะเอาอย่างนี้ ข้าจะทำยังงี้ จะทำไม ข้าจะบำเรอให้ของข้ายังงี้ เอ็งไม่เกี่ยว มันตัดคนอื่นไปหมดเลยนะ มันมีแต่ตัวกูนี่แหละ มันจะมีแต่ตัวกู มันตัดจริงๆ มันตัดคนอื่น ถ้าเราไม่รู้เท่าทันมัน อย่างที่กล่าวนี่นะ เราวางมันไม่ออกนะ มันก็จะเป็นตัวกู

เพราะฉะนั้น สุดๆๆจริงๆแล้วนี่นะ คนเราหมดอัตตาแล้วนี่ คิดถึงผู้อื่นไปหมด แต่มันก็ไม่โง่เง่า จนไม่รู้จักตัวเอง ไม่มีอัตตัญญุตา ไม่รู้ประมาณตนว่า ตนเองนี่อยู่ในขนาดไหน จะทำได้เกินไป น้อยไป มากไปยังไง จะไม่รู้ตัวเองเสียเลย ตัวเองสูง ตัวเองต่ำ ตัวเองดีไม่ดี ในฐานะอย่างนี้ เราจะมีฐานะอย่างไร จะเหมาะสมกับลักษณะองค์ประกอบของสภาพที่มันควรจะเป็น มันดูน่าเกลียดน่าชังเกินไป ก็ไม่ถูกไม่ควร มันหยิ่งมันผยอง มันสูงมันโด่ มันเด่เกินไป ก็ไม่ควรอะไร เราก็ต้องรู้สมมุติต่างๆ ว่าเราจะวางรูปสมมุติอย่างไร ลีลาการเป็นอยู่เป็นไปยังไง เข้าใจโลก เข้าใจสังคม พอเหมาะมัชฌิมา พอดีๆ พอเหมาะพอสม จะโน้นเน้นไป ด้านไหนเหนือด้านไหนใต้ หรือด้านไหนสูงด้านไหนต่ำ ด้านไหนมากด้านไหนน้อย ประมาณได้อย่างดี อย่างพอเหมาะ มันก็จะเกิดคุณค่าได้อย่างมาก

นี่ เรื่องพวกนี้ละเอียดลออเพิ่มเติมขึ้นไปจริงๆ เพิ่มเติมในความแยบคาย ในความถ่องแท้ ในความสูงส่ง เจริญๆขึ้นๆ เพราะฉะนั้น เราเอง เรารู้อะไรแต่เพียงหยาบๆ ไอ้ส่วนลึกๆซึ้งๆ อะไรต่างๆนานา ที่ได้กล่าวประกอบไป ขยายความไปให้ฟังวันนี้น่ะ ไม่ใช่เรื่องเล็กๆ และไม่ใช่เรื่องที่จะไปดูถูกดูแคลนว่า มันง่ายๆ ไม่ง่ายนะ ยากนะ ยาก มันดูเหมือนจุกๆจิกๆ เล็กๆน้อยๆ มันเป็นเรื่องละเอียดลออประณีต จริงๆ เพราะฉะนั้น เราจะต้องศึกษากันจริงๆ มันถึงจะรู้ซึ้ง ละเอียดถึงสภาวะที่ซับซ้อน ที่มันดูรู้สภาพก็ยาก และจะยิ่งเข้าใจถึงความสูง ความประเสริฐ ความที่มีท่า ที่พอเหมาะพอดีอะไรก็ยิ่ง ไม่ใช่ง่ายๆนะ เพราะงั้น แค่ฟังมันก็ยังยากแล้ว รีบไปทำ ไปปฏิบัติ ไปประพฤติ เพื่อให้มันลงตัว เพื่อให้มันตรงกับสภาวะ เพื่อให้มันเป็นจริงเป็นจัง มันก็ยิ่งยากขึ้นไปอีก แต่ก็ต้องทำ ไม่มีทางเลือก ถ้าเราจะไปนิพพาน ถ้าเราจะไปสู่ความ เป็นอรหันต์ ไปสู่ในทิศทางที่ดีที่สุด สูงที่สุด มันก็ต้องทำ ต้องฟังให้รู้ละเอียดลออ และก็ต้องทำให้ได้ ให้ถึงที่สุดให้ได้นะ

คนที่เจริญๆสูงๆ นี่ อย่างที่พวกเรากำลังเป็นอยู่นี่ มันซ้อน มันค้านแย้งกับคนโลกๆเขานะ มันค้านแย้ง ถ้าผู้มีอำนาจนี่ จะปฏิบัติตนอย่างเรียกว่า ฝืนกระแสโลก หรือมันค้านแย้ง มันไม่ต้องไปตามโลกเขาหรอก โลกเขาว่าแต่งตัวอย่างนี้ไม่สุภาพ มันน่าเกลียด มันเหมือนบ้านนอก มันเหมือนคนยากคนจน มันเหมือนอะไร นี่นะ ถ้าเราแน่จริงแล้วนี่นะ จะแต่งอย่างที่เขาว่าไม่สุภาพนี่ เขาก็ต้องยอม อาตมาเคยยกตัวอย่าง อย่างคานธี ยังงี้นี่ แกนุ่งผ้าเตี่ยวผืนเดียว มีผ้าสไบผืนหนึ่ง พาดเสื้อผ้าอะไรก็ไม่นุ่งไม่ห่ม จะไปไหนมาไหน บางทีไปที่สถานที่เขาต้องแต่งสูท กันอย่างโก้อย่างหรู แกก็ไปของแกชุดอย่างนั้น แกใหญ่จริงๆ ใครห้ามแกว่าไม่สุภาพ ห้ามไม่ได้ สุดท้ายแล้วห้ามไม่ได้

นี่คือความเต็ม นี่คือความสมบูรณ์ มันห้ามไม่ได้ มันทวนกระแสนะ กระแสกับสังคมเขา เขาแต่งสูท แหม เสื้อคอตั้ง มีไอ้โน่นไอ้นี่อย่างดีเลย มีคานธีคนเดียวนุ่งเตี่ยวผืนหนึ่ง เข้าไปเดินกับเขาอยู่ได้ ทั้งๆที่เมืองอินเดียนี่ แสนจะถือศักดินากันจะตายไป ถือมากนะศักดินา เขาวรรณะของเขานี่ สูงถือกันจังเลยนะ อินเดียนี่

อาตมายกตัวอย่างมาให้ฟัง เพื่อที่จะให้เห็นว่าเป็นไปได้ แม้มันจะย้อนแย้ง และทวนกระแส ก็เป็นไปได้ แล้วเขาก็ยอมด้วย เพราะฉะนั้น ถ้ายังไม่ถึงจริง อาจจะยังไม่ได้ ถ้าเรายิ่งไปยอมโลกเขามากๆนะ เขาก็ชนะ เราก็ต้องตามเขา ทุกวันนี้นี่ เราพยายามกระทำอย่างของเรา ยืนยันยืนหยัด อย่างของเรานี่นะได้ดีขึ้น ทุกวันนี้ เขายอมเรามากขึ้น แต่ถ้าเราไม่ยอมนะ เขาก็ต้องยอมเรา ถ้าเผื่อว่าเราแน่ๆว่าดีจริง เขาก็ต้องยอม นอกจากว่าเราไม่ดีจริง เขาก็ตัดขาดเราเลย เขาไม่คบหาเลย แต่เราดีจริงนี่แหละ แต่เราไปยอมเขานะ เราก็ต้องยอมเขาต่อไป ยอมเขาเรื่อยไป กลายไปเป็นอย่างเขาๆ แล้วจะดึงกลับมาหาสภาพที่เราต้องการ จะเห็นว่า เราควรจะเป็นได้ที่ไหนกัน พวกนี้เป็นคุณลักษณะ ต่างๆเป็นองค์ประกอบที่เราใช้นำพา สร้างสังคมอยู่

แม้เราจะแต่งตัวมอซอ ในงานหลายๆงาน เราพยายามไปให้ได้ อย่างมอซอนี่แหละ เอามอซอนี่ไปข่ม ไปเบ่งบ้างเหมือนกัน เหมือนกะคนยากคนจนนี่นะ รองเท้าก็ไม่ใส่ เสื้อผ้าก็มอซอยังงี้ สุดท้ายก็ต้องยอม ทุกวันนี้ ไปไหนๆ บางทีเขาก็ต้องยอมแล้ว แต่มีหลายแห่ง ที่เขายึดติดยึดมาก เขาไม่ยอมจริงๆ เขาไม่ยอมก็ไม่เป็นไร เพราะเราไปในถิ่นที่อย่างนั้นๆ เราก็ไม่จำเป็นอะไรมาก เพราะเราไม่ได้ไปเอาอะไรเขานะ จริงๆ เราไปไหน เราคิดว่าเราไปให้มากกว่านะ เราก็ต้องรู้จริงๆนะ ว่าเราไปให้มากกว่า เมื่อเราไปให้ เขาก็ไม่ให้เราไปให้ ไม่เห็นจะประหลาดอะไร ก็เขาไม่อยากเอานะ เขาไม่อยากได้อย่างนี้ อะไรก็แล้วแต่ ที่เราจะไปมีให้เขา เมื่อเขาไม่เอา ก็ไม่เป็นไร เพราะฉะนั้น คนที่เขาเห็นคุณค่า เราจะไปให้ เขาก็จะต้องเอา เขาไม่เกี่ยงหรอก เราจะมอซอ เราจะโน่นจะนี่ ยิ่งเขามีปัญญาญาณ ยิ่งอย่างนี้แหละ ลักษณะที่มันสอดคล้อง กันนี่ มันถูกแล้ว

โลกทุกวันนี้ มันฟุ้งเฟ้อฟุ่มเฟือย มันมักมากมักใหญ่ มันหรูหรา ฟู่ฟ่า เราก็เอามอซอนี่ไปถ่วงดุล ถ่วงยังไม่พอด้วยซ้ำ ถ่วงดุลความหรูหราฟู่ฟ่า เขาพอที่ไหน ทุกวันนี้นี่ มันนำหน้าเข้าไปเท่าไหร่ๆแล้ว ฟุ้งเฟ้อหรูหราฟู่ฟ่ามันไปถึงไหนแล้ว เราควรจะนุ่งผ้าขาด ผ้าปะกันให้หมดเลย ที่จริงนะ จริงๆ นอกจากจะเก่าๆ นอกจากจะสีเสอ ไม่สดใสสดสวยแล้ว ก็ยังดูมะล่อกมะแล่ก ไม่รู้จักรีดไม่รู้จักเริด ผ้าผ่อนก็เนื้อผ้า เนื้ออะไรไม่ได้ประดับประดาอะไร ไปแต่งอะไร แฟชั่นราคาค่างวดอะไร ก็ไม่สูงส่งอะไรแล้วนี่ มันน่าจะได้เสื้อเก่าๆ เก่ากว่านี้ ขาดปะๆกว่านี้ อย่าให้มันโป๊ก็แล้วกัน มันขาดมันก็ไม่เป็นไรหรอก ยิ่งปะมีศิลปะยิ่งดีใหญ่ ปะมันชุนมันอะไรไป ให้ดูมัธยัสถ์ ให้ดูว่าประหยัด มันให้มันดูว่าถ่วงความฟุ้งเฟ้อหรูหราพวกนี้ มันก็มีน้ำหนักในตัวของมันเอง ด้วย ถ้ามีปริมาณที่มากคน พอถ่วงดุลได้เลย

ทุกวันนี้ยังไม่ค่อยพอ เอาไปเอามา พวกเราก็ชักติดๆยึดๆบ้าง แหม อุตส่าห์มาอดมาทน มากแล้ว ขอคลี่คลายหน่อยเถอะ แต่งสวยขึ้นบ้าง แต่งหรูๆหราๆขึ้นบ้าง แหม เราทำมาแล้วนี่ อย่างนั้นฉันก็ทำได้ เคยแต่งมาแล้วล่ะ ปะๆปุๆ อะไรๆ มอซออะไร โทรมอะไรก็เคยแต่งมาแล้ว ตอนนี้ก็พอ ขอแต่งอย่างดีขึ้นหน่อยเถอะ มันบำเรอใจตัวเองหรือเปล่า ไอ้ที่ไปทนแต่ง มันฝืนหรือเปล่า ใจจริงเรานี่ ถ้าเผื่อว่ามันยิ่งปุยิ่งปะ มันยังพอใจ เผื่อว่ามันดีอยู่นะ ก็แต่งไปเถอะ อาตมาไม่ได้ห้ามเลย ใครที่แต่งปุๆปะๆ นะ ประหยัดเข้าไป ให้มันยิ่งดูเหมือนกับคนกระจอก ยากๆจนๆไปอีก มันเป็นไปตามจริงละนะ ไม่ได้แกล้งเกลิ้งอะไรหรอก อยู่ดีๆ ก็เอาเสื้อดีๆมาฉีก มาทำให้มันดูเสื้อปะเสื้อขาด ก็ไม่ได้เป็นอย่างนั้น ก็ใช้ไปมันก็เก่ามันก็ขาด ก็ปุก็ปะไป มันพอใช้ได้ ก็ใช้ไปอยู่ ระวัง อย่าให้มันไปนั่งแคว่ก ลุกแคว่ก ให้มันโป๊ก็แล้วกัน มันเปื่อยแล้ว พอทิ้งก็ทิ้ง พอทิ้งพอจะเลิกไม่ใส่ เออ ก็ทิ้งไป

อะไรมันยังพอใส่ได้ มันยังพอปุพอปะก็ได้ ก็ปะก็ใช้ไป มีเวลาปะ มีเวลาชุน อะไรก็ทำไปใช้ไป ไม่เห็นเสียหายอะไร ซักสะอาดสะอ้านดีๆ เรียบร้อยดีด้วย อย่าให้มันเหม็นล่ะ ทั้งปะทั้งเหม็น มันก็แล้วกันเท่านั้นเอง ต้องไปนั่งไปนอนใต้สะพาน ไปนอนคลุกกับหมาขี้เรื้อน ก็มันทั้งปะทั้งเหม็นน่ะ พวกเดียวกันกับทางโน้นซิ แต่พวกเราไม่ใช่พวกหมาขี้เรื้อน อย่างนั้น มันรู้ขนาด รู้สิ่งที่เหมาะที่ควร สิ่งเหล่านี้จริงๆแล้ว อาตมารู้อยู่ในใจ เยอะแยะนะ และก็พยายามให้พวกเรามาทำ พวกเราเข้าใจก็มาทำ บางคนก็ฝืน ตัวเองทำตามบ้าง บางคนก็ เออ เกิดจิตใจจริงๆนะ ว่ามันยินดี ทำอย่างนี้ เรารู้สึกเราดีนะ สบายใจ ภาคภูมิด้วย บางทีเป็นมานะด้วยซ้ำไป นี่ข้าทำยังงี้ เพื่อที่จะเย้ยหยัน เพื่อจะเบ่งๆ ข่มๆ เอาความด้อย ความเด่นของเขาด้วยนะ เอาความจนมาข่มความรวย เอาความมอซอมาข่ม ความหรูหรา มันมีใจๆอย่างนั้นบ้างด้วยซ้ำไป บางทีนี่เราก็หัดวางๆ ใจเสียบ้าง อย่า แหม่ ไปข่มไปเขิ่ม เขาทำอย่างนี้เพื่อถ่วงดุล ซึ่งเราก็ไม่ทำอวดอ้างอะไรหรอก ทำจริงๆ

ทำกันจริงๆ มันมีผลกระทบต่อสังคมจริงๆ ถึงแม้ว่าเราเองจะเป็นคนดูเหมือนกระจอก ยากๆจนๆ ไม่ร่ำไม่รวย ดูเหมือนไม่มั่งไม่มีอะไรนี่ก็ตามทีนะ ก็ไม่ได้หมายความว่า เราสิ้นไร้ไม้ตอก เป็นคนโง่ๆเง่าๆ งมงาย เป็นคนที่ไม่มีสมรรถภาพ ไม่มีคุณค่า ไม่มีประโยชน์ ก็ไม่ใช่ เราก็มี มีคุณค่า มีประโยชน์ ไม่ได้งมงายอะไร ขยันหมั่นเพียรสร้างสรร มีสมรรถภาพพอได้ เราก็ทำ อย่างเหมือนกรรมกร เราก็ทำ แม้เราจะดูเหมือนเขาข่มเรา รู้ว่าเขาข่ม เราก็ไม่ต้องไปถือเนื้อถือตัวอะไรมากมายนัก แต่มีท่าทีลีลาเล็กๆน้อยๆ พอที่จะให้เขาเห็นว่า ถึงแม้จะข่ม เรายอม แต่ไม่ได้หมายความว่า เราเป็นทาส เราแพ้ เราได้ทำเพราะจำนนคุณนะ ก็ไม่ใช่ เราทำเพราะ เรามีกะจิตกะใจจะรับใช้ จะช่วยเหลือเฟือฟาย จะเกื้อกูล รู้ว่าควรเราก็ทำ สิ่งนี้เป็นสิ่งสมเหมาะ สมควรเราทำ ไม่ได้อยู่ในลักษณะที่โลกเขามองไปในแง่ร้ายแง่เลวอะไร เราก็ไม่ได้มองไป ในทางนั้นทีเดียว แต่เราก็มีความเข้าใจของเรา ถึงเขาจะเข้าใจเราไม่ได้เป็นบางครั้ง บางคราว เหมือนกับเราไม่ได้เป็นทาสรับใช้อะไรๆพวกนี้ซ้อนๆอยู่ เรายังแก้ไขไม่ได้ หรือว่าอธิบายไม่ได้ ทำให้มันเกิดความชัดเจน ให้คนเขาเข้าใจดีกว่านี้ยังไม่ได้ ก็จำนนไป เป็นบางครั้งบางคราว จำเป็นบ้าง แต่ถ้าทำได้ เราก็ให้เขาเข้าใจ เขารู้ว่าเราก็ไม่ใช่คนสิ้นไร้ไม้ตอก มันมีทีท่าหรือลีลาอะไร ที่ละเอียดลอออยู่ในนี้ ซ้อนๆ อยู่ เหมือนคนมีปัญญา ก็จะทำได้ถูกสัดส่วน แม้ท่าที นัจคีตะ วาทิตะ อะไรพวกนี้ มันจะประกอบได้สัดได้ส่วนของมัน มีท่าทีลีลาได้ ดูไม่น้อยไป ดูไม่มากไป ดูไม่ข่มไม่เบ่ง แต่ก็ดูมีท่าทีมีศักดิ์มีศรีอยู่ในตัว มีการอ่อนน้อมถ่อมตน อยู่ในทีอะไร
Š อาตมาก็ไม่รู้จะพูดตายตัวยังไง คุณฟังไปๆ ก็แล้วกันใช่ไหม มันก็ดูเหมาะสม ดูกลมกลืน ดูได้สภาพสัดส่วนที่งาม ไม่ดูด้อย และไม่ดูเบ่งๆข่มๆ ไม่ดูน่าเกลียดน่าหมั่นไส้อะไรต่างๆ พวกนี้ พวกนี้ต้องฝึกหัด ต้องมีญาณปัญญาที่จะรู้การประกอบกิริยา กาย วาจา ใจ ของเรานี่ ประกอบนะ ไม่ใช่ไม่ประกอบ ในกาลอย่างนี้ ในองค์ประชุมอย่างนี้ ในสถานที่อย่างนี้ ในอะไรอย่างนี้ อย่างนี้อย่างไหนน่ะ

นี่เป็นคุณลักษณะของสัปปุริสธรรม ๗ ประการทั้งนั้น ทุกคนต้องฝึก ทุกคนต้องใช้ ให้เป็นสัปปุริสธรรม ๗ ประการทั้งนั้น ซึ่งมันไม่ตายตัวเลย มันมีละเอียดลออมากมายเหลือเกิน และต้องทำ ทำแล้วก็จะเกิดคุณค่าประโยชน์ ทั้งประโยชน์ตน ประโยชน์ท่าน พอเหมาะพอดี ได้เท่าใดๆ ก็เป็นคุณค่าดีเท่านั้นๆ

การปฏิบัติธรรม จึงไม่ได้หมายความว่า ไม่รู้อิโหน่อิเหน่อะไร ฉันอยู่ของฉัน อยู่ในกุฏิ อยู่ในห้อง อยู่ในรู งุดๆอยู่ไม่รู้ ใครจะเป็นยังไง จะประกอบกายกรรม วจีกรรม มโนกรรมอย่างไร ฉันก็ไม่ฝึกไม่ปรือทั้งนั้น ฉันจะเอาของฉันสงบ แบบสงก แบบสงัด อย่างที่ว่า ประเภทอิโหน่อิเหน่อะไรกับเขาเลย ไม่มีโลกวิทู ไม่มีพหูสูต ไม่มีการรู้รอบ ไม่มีกายกรรม วจีกรรม มโนกรรม อันเป็นกุศล อันเป็นท่าทีที่ได้สัดได้ส่วน เป็นมัชฌิมา เป็นสัมมาอันพอเหมาะพอดี อะไร ไม่ได้รู้เรื่องเลย ไม่ได้ฝึกอบรมเลย มันจะไปพาอะไร เจริญได้มากได้มายอะไร แต่ถ้าเผื่อว่า ได้ศึกษาฝึกฝน อย่างที่อาตมากล่าวนี่นะ และก็ได้อบรมค่อยๆบำเพ็ญไป มันไม่ง่ายนะ จะปรับกิริยากายวาจา แม้ใจเรารู้แล้วนะ ปัญญาเรารู้แล้ว แต่ก็ยังปรับกาย วาจาที่ให้มันพอเหมาะ พอดีไม่ได้ง่าย แต่บางทีบางครั้งรู้ๆนะ แต่ทำไม่ลงทำไม่ได้นะ ควรจะอ่อนกว่านี้ มันจะลง ไม่ลง อยู่นั่นแหละ มานะ ที่ขืนๆอยู่นั่นแหละนะ หรือบางที มันน่าจะ เออ ให้แข็งแรงกว่านี้หน่อย ดูท่าทีองอาจกว่านี้หน่อย มันก็ทำไม่สมสัดสมส่วน ขึ้นไป มันดูไม่องอาจ มันดูไม่แข็งแรง ไม่พอเลย มันก็จริง มันทำไม่ได้ ถ้ายังไม่ฝึกฝน ถ้ายังไม่พยายาม สั่งสมอบรมตนเข้าไปๆ มันก็ไม่ได้

เพราะฉะนั้น อะไรที่มันจะได้คุณค่าสมบูรณ์สุด มันก็ประกอบไปด้วยกายวาจาใจ นี่แหละ กายวาจาใจ ที่เป็นองค์ประกอบที่ได้สัดส่วน เป็นสุจริต เรามาดัดจริต จริตกาย จริตวาจา จริตใจ ดัดจริตให้มันสุ อย่าให้มันทุจริต อย่าให้จริตมันไปสู่ที่ไม่ดี หรือได้ผลไม่ดี ต้องพยายามดัด ให้จริตนี่ เป็นสุจริต ให้สุจริตนี่ ให้มันได้ผลดี เป็นไปด้วยดี ทั้งตนและท่านเจริญไป ซึ่งลึกซึ้งมาก ละเอียดลออ จะต้องมีสัปปุริสธรรม ๗ ประการ เป็นสัตบุรุษยิ่งๆขึ้นจริงๆ เข้าใจทั้งเหตุทั้งผล เป็นธัมมัญญุตา เข้าใจทั้งเนื้อหาแก่นแท้ของมัน เรียกว่าอัตถัญญุตา เข้าใจทั้งตัวเรา ตัวเราเองนี่ ได้ยอมรับนับถือเท่าไหร่ และถ้าเราจะอย่างนี้มากไปไหม น้อยไปไหม เราทำได้แค่ไหน มันต้องประเมินประมาณทั้งนั้น ต้องมีมัตตัญญุตา ต้องคำนวณทุกอย่างเลย ซึ่งมันละเอียดลออเหลือเกิน มีมากมายเหลือเกิน องค์ประกอบของมัน มันไม่ง่ายดายดังคิดเลยนะ และไม่ค่อยตายตัวดัวย โอกาสอย่างนี้ เวลาเดียวกันนี้ ใกล้ๆกันนี่ จะต้องเปลี่ยนไป ลีลาเปลี่ยนเล็กๆ น้อยๆ มีผู้มีคนที่ต่างๆกัน คนอยู่ในสถานที่เดียวกัน งานเดียวกัน ยังต้องแอ๊คท่าหลายท่าเลย บางขณะ บางโอกาส ใช่ไหม เพราะฉะนั้น ในกาละอย่างนี้ ในหมู่ชน ปริสัญญุตาอย่างนี้ ในบุคคล ส่วนบุคคลอะไร เราต้องเข้าใจเขาไปหมด และทำอะไรไป มันถึงจะได้สัดส่วนที่ดีที่สุด

อาตมาพูดนี่ ไม่ได้หมายความว่า อาตมาดีหมด อาตมาก็ยังฝึกอยู่ด้วย หลายอย่างก็ยังบกพร่อง หลายอย่างยังไม่ได้ดีนะ ต้องฝึกฝนเหมือนกัน ยังไม่ได้สมบูรณ์ยอดอะไรหรอก อาตมาก็ไม่สมบูรณ์ยอด แต่อาตมารู้หลักมันแล้ว เอามาบอกพวกคุณ เอามาอธิบาย เอามากล่าวให้ฟังนี่ เพื่อพวกคุณจะได้รับไปพิจารณา และรับไปฝึกฝนอบรมไปเรื่อยๆนะ และเราก็จะได้เจริญงอกงามขึ้นไป มันก็จะเป็นคุณค่า เป็นประโยชน์ต่อตนๆ ก็เจริญขึ้นไปเรื่อยๆ สังคมหมู่ฝูง ใครต่อใครก็จะเจริญไปตามนี้ ซึ่งมันเป็นเรื่องธรรมะ เป็นองค์ธรรมของพระพุทธเจ้าสอนไว้ ทั้งนั้นแหละ เพราะฉะนั้น ฟังไปแล้ว จะเห็นว่ามันไม่ใช่เรื่องง่าย ไม่ใช่เรื่องธรรมดาหรอก มันเรื่องวิเศษ เป็นเรื่องวิเศษ เป็นเรื่องยอดเยี่ยมนะ

อย่าว่าแต่กิริยากายวาจาใจของคนเลย องค์ประกอบต่างๆ สิ่งแวดล้อมต่างๆ เราก็ต้องเข้าใจ สมมุติสัจจะต่างๆนานาด้วยว่า ถึงกาละหรือยัง ที่เราจะทำได้แค่นั้น มันควรจะมีได้อย่างนี้หรือยัง ถ้ายังไม่ควร เราก็มีไม่ได้ โอกาสมันยังไม่ควร มันจะดูน่าเกลียดน่าชัง ยังไม่เหมาะสม คนถือสาบ้าง หรือแม้แต่พวกเราเองก็ตาม มันต้องอาศัยสิ่งเหล่านี้ประกอบ ซึ่งจะต้องอาศัยความรู้ ที่รู้รอบจริงๆ และเราถึงจะทำได้พอเหมาะพอดี ทำได้เป็นคุณค่า เป็นประโยชน์อะไรๆ มันอยู่กับจิตวิญญาณมนุษย์ทั้งนั้น ที่มันถือสา หรือไม่ถือสา หรือเข้าใจเลย ด้วยปัญญาญาณดีๆ เพราะฉะนั้น ถ้าเราจะทำอะไรได้ โดยเราก็เข้าใจ เราทำลงไป ประกอบกรรมกิริยาลงไป คนที่อยู่แวดล้อมเรา นี่ก็เข้าใจดีหมดเลยนะ ไม่ถือสา เข้าใจดีหมดเลย นอกจากไม่ถือสา เข้าใจดี สนับสนุน ส่งเสริม พรักพร้อม มันก็เกิดการเจริญไว มีกำลัง มีประสิทธิภาพสูง แต่แค่เราทำอะไรลงไป ในหมู่กลุ่มนี้นะ ผู้แวดล้อมไม่เข้าใจดี แต่เขาก็ไม่ถือสา มันก็ไม่เจริญเท่าหรอก ไม่เจริญ เท่าที่ว่า เออ คนในหมู่กลุ่มนี้เข้าใจดีเลย มีพลังที่จะสนับสนุนส่งเสริมช่วยเหลือเลย คนมี คนละนิดคนละหน่อยๆ เขาก็ร่วมสร้างเลย

แต่บางสภาพ อย่างที่ว่าแล้ว เมื่อกี้แล้วว่า เขาไม่มีปัญญารู้ถึงขนาดนั้น แต่เขาก็ไม่ถือสา เอาช่างเถอะ ไม่ถือสา แต่ไม่มีความรอบรู้ ไม่มีพลัง การจะส่งเสริม การเข้าใจอะไรได้ดี มันไม่พอ มันไม่มี มันก็ได้ แค่ไม่ถือสา มันก็ไม่เกิด การทะเลาะวิวาท ก็ไม่เกิดการแตกร้าวเท่านั้นเอง แต่ตัวรังสรร ตัวการสร้างการก่อ การมีพลัง ที่จะเกิดความเจริญนั้น น้อยลงไปแล้ว ยิ่งกว่านั้นแล้ว ถือสาด้วย แล้วเราไม่รู้ว่าเขาถือสา เขาไม่ยินดีด้วยเลย แล้วเขาจะค้าน จะแย้งด้วย ยิ่งไม่เข้าใจด้วยยิ่งเละ มันจะไปทำอะไรให้เจริญ

นี่แบ่งพูดให้ฟังแค่สองสามขยักๆ สองสามขั้น สองสามขยักนะ ก็พอเข้าใจแล้วว่า มันต้องใจ ในองค์ประกอบสัตบุรุษที่เป็นอย่างนี้ สัปปุริสธรรมนี่สำคัญ เพราะในการสร้างสรร ในการอะไรต่างๆ นานา ยิ่งเรามีความรอบรู้ในธัมมัญญุตา อัตถัญญุตา อัตตัญญุตา และก็รู้ทั้ง กาลัญญุตา แล้วเราจะประมาณประเมิน เป็นมัตตัญญุตา อันพอเหมาะพอดีกับหมู่ชน รู้สังคม รู้หมู่กลุ่ม รู้บุคคลอะไรเข้าไปเรียบร้อยเท่าไหร่ ยิ่งประมาณได้จริง ประมาณได้ดี ได้คุณภาพ ที่เป็นประโยชน์คุณค่า สร้างสรรให้ดี อาตมาเห็นความสำคัญของพวกนี้มาก และอาตมาคิดว่า อาตมาได้ใช้นะ ได้ใช้สัปปุริสธรรม ได้ใช้องค์ประกอบพวกนี้มา ซึ่งก็ยังไม่เก่งมากมายเลย ยังรู้สึกตัวเองว่า อื้อฮือ มันยังไม่ได้ดีกว่านี้เลยนะ มันยาก มันวิเศษนะ เห็นว่ามันวิเศษ และมันก็ยาก แต่มันก็ต้องเรียนรู้ เพราะมันไม่มีทางเลือก มันเป็นของดีที่สุด ที่เราจะต้องพยายาม ศึกษาเล่าเรียนในชีวิต ของใครก็ตามแต่เถอะ คุณในฐานะไหน คุณก็ต้องเรียนรู้ของคุณ ทั้งนั้นแหละ เพราะคุณจะไปพรากจาก จะไปแบบฤาษีก็ไม่ใช่แล้วนี่ จะมาเอาพุทธแล้วนี่

เมื่อมีพุทธก็จะต้องมีสังคม มีกลุ่มหมู่ มีมนุษยชาตินี่แหละ ต้องทำกับมนุษยชาตินี่แหละ ซึ่งคุณต้องเรียนรู้ เมื่อเรียนรู้ คุณก็จะเกิดความรู้เอง เกิดความชำนาญในการอบรมฝึกฝน ซักซ้อมไป มันต้องได้เพราะว่าเราเอง เราศึกษาจริง ถ้าเราไม่รู้อิโหน่อิเหน่อะไรเลยช้า ที่อาตมา พูดไปนี่ ใครเข้าใจดีๆ แล้ว ลองไปไตร่ตรองดู แล้วพยายามทำอย่างที่อาตมาว่านี่ จะพาเจริญ เป็นการสั่งสมความเป็นสัตบุรุษ และเป็นการพัฒนาตน พัฒนาสังคมด้วยนะ ถ้าเรามีแต่อัตตามานะ ใครจะเป็นยังไง ไม่ยังไง ไม่รู้หมู่รู้กลุ่ม ไม่มีสัตบุรุษ ไม่มีสัปปุริสธรรมอะไร ไม่เป็นสัตบุรุษ เป็นพวกดันทุรังดื้อด้านดื้อดึงอยู่อย่างนี้ กูก็จะเอาของกูอยู่อย่างนี้ คนนี้เข้ากับหมู่เขาก็ไม่ได้ ความเจริญก็ไม่มี เจริญเท่าที่ตัวเองเจริญนั่นแหละ เจริญเท่าตัวเองเจริญ ก็ดันไปอยู่อย่างนั้นแหละ ไม่ได้ประมาณมาเพื่อที่จะเห็นแก่อกแก่ใจคนอื่นเลย มีแต่เห็นแต่ใจตัวเอง เอาแต่ใจตัวกู เอาอย่างของกูนั่นแหละ คนอื่นช่างหัวมันเป็นไร พวกนี้ไม่เจริญ ในตัวเอง ก็ไม่เจริญ อยู่กับหมู่กลุ่มก็ไม่เป็นสุข พาหมู่กลุ่มเจริญไปไม่ได้เลย คุณธรรมแค่สัตบุรุษ แค่สัปปุริสธรรม ๗ ประการของสัตบุรุษนี่ยิ่งใหญ่ ไม่ใช่เล็ก ไม่ใช่น้อยนะ

พวกเราที่เราทำนี่ อาตมาคิดว่า พวกเราได้สิ่งเหล่านี้มาด้วย ไม่ได้หมายความว่า เราปฏิบัติธรรม แล้วเราก็อยู่ของตัวเอง มองแต่ใจตัวเอง อ่านตัวเองแบบสมาธิฤาษี อย่าให้ใจมันออกมานอกตัว อยู่แต่ในภพยังงั้น แล้วก็ติดภพ ภวตัณหาอยู่กับฌาน แบบฌาณฤาษี อยู่นั่นแหละ มันจะไปไหนได้ เจริญไม่ได้หรอก ขนาดอาตมาพูดอย่างนี้ บางคนยังติดยึดความเป็น ที่ตัวเองเป็นนะ มันเป็นกิเลสภวตัณหาแบบนั้นน่ะ เออ ฟังพูดก็เข้าใจ แต่เราไม่แก้ไข ไม่พยายามหรอก มันยาก อยู่อย่างนี้มันสบายกว่า มีอะไรเราก็ทำของเรางุบงิบอยู่ของเรา นี่แหละ ก็ดีแล้วนี่ เราก็ช่วยแล้วนี่ จะไปขวนขวายอะไรมากมายนัก มันช้า ที่อาตมาเน้นให้ขวนขวาย นี่มันช้า ถ้าเผื่อว่า ไม่มาพยายาม ที่จะมีปรโตโฆสะ มีโยนิโสมนสิการเพิ่มเติมขึ้นนี่ สัมมาทิฏฐิ มันก็ไม่เจริญอีก เมื่อสัมมาทิฏฐิ ตัวประธานไม่เจริญขึ้น มรรคองค์ ๘ ทั้งแปด ที่มีตัว สัมมาทิฏฐิเป็นตัวประธาน มันจะเจริญได้ยังไง มันก็เท่าเดิม ปรโตโฆสะ ต้องรับรู้สิ่งอื่น ผู้อื่น รับฟังโน่นนี่ วินิจฉัยอะไรต่ออะไรไปอีก อ่านแต่หนังสือ มันก็ได้รับแต่ความรู้ใหม่ รู้อื่นบ้างเหมือนกัน แต่ถ้าได้สัมผัสแตะต้อง เกี่ยวข้อง สังสรรค์จริงๆเลยนะ มันก็ยิ่งได้ ยิ่งกว่าใช่ไหม มันเป็นสภาวะจริงที่ซับซ้อน ลึกซึ้ง ที่สัญชาตญาณมนุษย์รับนี่ จากอ่าน จากคิด จากนึก จากฟัง มันก็เท่านั้นแหละ แต่ถ้าได้สัมผัสแตะต้อง คลุกคลีเกี่ยวข้องกัน เราไม่ได้ไปคลุกคลีเกี่ยวข้อง กับพวกพาลชน

เมื่อไหร่เราคลุกคลีเกี่ยวข้องกับบัณฑิต กับนักปฏิบัติธรรมนี่ กับมิตรดี สหายดี สังคม สิ่งแวดล้อมดีนี่นะ จริง อาจจะมีคนที่บกพร่องกว่าเราบ้าง ก็ไม่ได้ต่ำกว่ามาตรฐานอะไร เกินไปนัก หรือมีก็ไม่มากไม่มายกี่คน ก็ไม่ได้เป็นน้ำหนักน้ำเนื้ออะไร ส่วนใหญ่ที่เป็นเนื้อ น้ำหนักน้ำเนื้อของกลุ่ม ก็เป็นผู้ที่อยู่ในเกณฑ์ที่เราได้คัดเลือกอยู่ในสัดส่วนที่น่าจะยินดี ปรีดากันอยู่แล้ว แล้วมันจะไปตกต่ำที่ไหน เราไม่ได้ไปคบคนพาล เราอยู่ในหมู่ที่เป็นมิตร สหายที่ดี สังคมสิ่งแวดล้อมดี มีบัณฑิตเสียส่วนใหญ่เสียด้วยซ้ำ แล้วมันจะพาตกต่ำ ตรงไหน เพราะฉะนั้น การที่เอาแต่ใจตน มีอัตตา มีมานะ และเอาแต่ความเห็นของตน เอาแต่สิ่งที่ตนเองชอบอยู่อย่างเดียว จึงไม่พอๆ ต้องคิดต้องพิจารณาให้ดี ที่อาตมาพูดนี่ ก็ไม่ได้บังคับนะ ไม่ได้บังคับ แต่บอกสอน แล้วคุณก็ไปวินิจฉัย ไปพยายามที่จะสำนึกเอง แก้ไขปรับปรุงเอาเอง และเราควจะทำอย่างไร แค่ไหน จะออกมาสัมผัสสัมพันธ์หมู่กลุ่มคนนั้นคนนี้ อันโน้นอันนี้อะไร เราก็พยายามทำกันไปนะ ลองฝึกดู

อาตมาท้าทายให้พิสูจน์ ว่ามันพาให้เจริญทั้งหมู่กลุ่มของตัวเอง อย่างแท้จริงนะ เป็นสภาพที่เราก็ดำเนินขึ้นมาได้ เจริญขึ้นมาได้ ด้วยการเรียนรู้ ศึกษา ฝึกฝนอบรมอย่างนี้แหละ เอาละ อาตมาได้สาธยายอะไร คิดว่าได้ซอยลึกละเอียดขึ้นไปไม่ใช่น้อย เพราะฉะนั้น ที่ได้พูดนัยลึกๆพวกนี้ ก็เท็ปพวกนี้ ก็ฟังกันซ้ำสองครั้ง สามครั้งก็ได้ เท็ปส่วนมาก เราฟังเปิดฟังกันไม่ค่อยกี่ทีหรอก พอมาฟังซ้ำอีกที เดี๋ยวก็ปิดไปแล้ว พวกเราอยู่ข้างในนี่ ไม่ได้ไปซื้อไปฟังเอง ก็ไม่ต้องฟังกัน เพราะพวกเราส่วนมาก ก็ไม่มีเท็ปส่วนตัว ก็ได้ฟังอาศัยฟังที่เปิดนี้ เพราะฉะนั้น อันไหน เราจะฟังซ้อนสองครั้ง สามครั้งก็ได้ ฟังสามสี่ครั้งก็ยังได้

อันไหนที่มันคิดว่า มัน เออ ลักษณะนี้นะ ไปขอร้องก็ได้ อยากฟังม้วนไหน ก็ไปแจ้งทางด้าน ฝ่ายเสียง ห้องเสียงโน่น เรื่องนี้ๆ อันนี้ๆ เท็ปเรื่องนี้ ก็เพราะเราก็ประกาศเหมือนกัน หัวชื่อว่า เรื่องนี้เรื่องอะไร เมื่อไร อะไร เอาเปิดฟังกันอีกหน่อยก็ดีนะ ยิ่งมีหลายชื่อหลายคน ไปแสดงอยากจะฟังเรื่องนี้ๆ ซ้ำอีก อะไรอย่างนี้ ก็ยิ่งดีใหญ่ เราก็จะได้ฟัง เราก็จะเจริญด้วยปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ อย่างนี้ อย่างแท้จริง ไม่ใช่ว่าเรามีแต่ปฏิบัติ ไม่มีปริยัติ ไม่ได้เรื่องหรอก มันจะต้องมีปริยัติ ปฏิบัติๆ มันจะก่อปฏิเวธ ที่เจริญได้อย่างดีแท้ๆ

เอาละ สำหรับวันนี้ พอแค่นี้

สาธุ


ถอดโดย ยงยุทธ ใจคุณ ๓ เม.ย.๓๕
ตรวจทาน ๑ โดย เพียงวัน ๖ เม.ย.๓๕
พิมพ์ โดย สม.มาบรรจบ ๒๐ พ.ค.๓๕
ตรวจทาน ๒ โดย สม.จินดา ๒๗ พ.ค.๓๕
ตรวจทานใหม่ ๙ มิย.๒๕๖๗