กว่าจะสัมมาทิฏฐิ ๑๐ ตอน ๒ หน้า ๒ ต่อจากหน้า ๑

โดย พ่อท่าน สมณะโพธิรักษ์
เมื่อวันที่ ๑๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๕ เนื่องในงานปลุกเสกสมณะฯ ครั้งที่ ๑๖
ณ พุทธสถานศีรษะอโศก อ.กันทรลักษ์ จ.ศรีสะเกษ


มันปรุงอย่างไร เราวิจัยออก เราอ่านออกเลย แยกมันออกว่า ไอ้นี่ตัวดี ไอ้นี่มันปรุง มาแล้ว มันจะไปสังขารแล้ว มันยังไม่ออกมาเท่านั้นเอง ใครไว คนนั้นก็นี่ ถ้าออกมาก็เป็นมิจฉา นี่ดัก อย่าให้มันออกมา อย่าให้มันเกิดทางวาจา อย่าให้เกิดทางกรรม ทางกาย อย่าให้เกิดมา ประกอบกับ การงานข้างนอก อย่าให้มาเกิดเกี่ยวกับสัมมาอาชีพใดๆ อย่าให้อาชีพนี้ เป็นมิจฉา ไปเป็นอันขาด มัน กุหนา ลปนา เนมิตตกตา อย่างไร อย่าให้มันออกมา มันดำริแล้วนะ มันคิดจะเอาอย่างนี้นะ เอาซะหน่อย มาที่นี่ปฏิบัติธรรม ตอนนี้เราปฏิบัติธรรม เป็นอาชีพ มาปลุกเสกฯ ทำงานประกอบด้วยก็ตาม เรามาช่วยเขา ขยันซิ พากเพียร ช่วยเหลือเฟือฟาย อย่ามาทำเป็นบาป มาทำเป็นบุญให้ดี ดีไม่ดี บางคนมาในนี้แล้ว มาเที่ยวได้เบียดเบียนผู้นั้น เบียดเบียนผู้นี้ ระวัง อย่ามาทำทุจริต อย่ามาทำบาปอะไร นี่เราก็ต้องสังวรหมด ไม่ใช่แต่เวลา มาปลุกเสกฯ เวลาอื่นๆ ถ้าเผื่อว่าเราสังวร ระวังอย่างนี้ เราก็ได้ ปฏิบัติธรรม ไปตลอดเวลา

ทีนี้อาตมาจะอ่านๆไปให้มากหน่อย แล้วก็จะเริ่มต้นขยายย้อนมา จะขยายแทรกแต่น้อยๆก่อน ตอนนี้ เป็นหลักต้นๆ ทีนี้จะเข้าสู่หมวด แต่ละหมวดๆ ก็ขอสรุปหมวดให้ฟังก่อนว่า ทินนัง ยิฏฐัง หุตัง ข้อ ๑-๒-๓ หนึ่ง สอง สาม นี่ ก็เปิดย้อนไปก็ได้
ทินนัง ก็คือทานที่ให้แล้ว ทานที่ให้แล้ว
ยิฏฐัง ก็คือ ยัญพิธีที่ทำแล้ว ที่บูชาขึ้นแล้ว ที่ทำพิธีการขึ้นแล้ว
หุตัง ก็คือ ตัวสังเวย สังเวยที่บวงสรวงแล้ว

ใช้ภาษาไทย มันก็ซ้ำๆ ซ้อนๆ อยู่อย่างนั้น ประเดี๋ยวค่อยอธิบายความหมายกันไป ๓ ตัวนี้ อาตมา จัดเข้าอยู่ในหมวดพิธีการ หรือพิธีกรรม ทินนัง ยิฏฐัง หุตัง ทานที่ให้แล้ว ยัญบูชา ที่บูชาแล้ว สังเวยที่บวงสรวงแล้ว จัดอยู่ในหมวดเรียกว่า หมวดพิธีการ หรือพิธีกรรม

กัมมานัง โลกนี้ โลกหน้าอีก ๓ กัมมานัง โลกนี้ โลกหน้า อีก ๓ ก็ ๔-๕-๖ ผลวิบากกรรม ที่ทำดี ทำชั่วแล้ว โลกนี้ โลกหน้า นี่อีก ๓ อาตมาเรียกว่า พวกกิจการ หรือกิจกรรม พวกนี้กิจการ กิจกรรม

อีก ๓ ข้อต่อไปคือ มารดา บิดา แล้วก็สัตว์โอปปาติกะ สัตว์ที่เป็น โอปปาติกะ อีก ๓ ข้อนั้น อาตมาจัดเข้า เป็นหมวดหล่อหลอม ก่อเกิดพฤติกรรม หรือพฤติการณ์ ๓ ตัวนี้แหละ หล่อหลอม ให้เกิด พฤติกรรม เกิดกิจกรรม

อาตมาได้พยายามอธิบายให้พวกเรามา ว่ากรรมทั้งหลายแหล่นี่ สรุปรวมแล้วย่นย่อลงไป ๓ กรรม ก็คือพิธีกรรม กิจกรรม พฤติกรรม หรือบางทีอาตมามักจะเรียกพฤติกรรม ขึ้นก่อนเพื่อน พฤติกรรม กิจกรรม พิธีกรรม มักจะเรียกพฤติกรรม

ขึ้นก่อนเพื่อน พฤติกรรมเกิดมาจากแม่พ่อ แล้วก็โอปปาติกกะ หรือจิตวิญญาณนั่นแหละ มันก่อให้เกิดพฤติกรรม เสร็จแล้วเราก็จะเกิดกิจกรรม เกิดกัมมานัง เกิดโลกนี้ โลกหน้า เดี๋ยวจะได้ขยายความ จะได้เข้าใจโลกนี้ชัดๆ โลกหน้าชัดๆนะ เสร็จแล้วก็เกิดพิธีกรรม เกิดทินนัง เกิดยิฏฐัง เกิดหุตัง เกิดการทาน เกิดการมียัญพิธี มีการบวงสรวง มีอะไรต่ออะไร ขึ้นมา

เอ้า ลองอ่านพวกนี้ไปดูทีนี้ ๑ ภาคทาน คือทินนัง ทินนัง เท่ากับทานที่ให้แล้ว แปลเป็น ภาษาไทย ว่าอย่างนั้น การทาน คือกรรมกิริยาการให้ ผู้มีสัมมาทิฏฐิที่แท้ จะรู้ว่าแม้กรรมกิริยา ที่แท้จริง ของการทาน การให้ก็เป็นบุญ เป็นความดีแล้ว เป็นกุศลอย่างยิ่งแล้ว ยิ่งใจสะอาด ด้วยการสละ ให้อย่างจริงใจ จริงจังด้วยแล้ว จะพรั่งพร้อมกาย วาจา ใจ เป็นเอก เป็นเอโก ธัมโม เป็นเอกภาพ โดยไม่มีซ้อนแฝง ไม่มีแปดเปื้อน เป็นตัวจริง ตัวตรง ลงตัวพรั่งพร้อม การกระทำ เช่นนี้เป็นบุญ ของโลก เป็นกุศล เป็นสิ่งที่จะต้องมีอยู่ในโลก ทานเป็นคุณ ทานเป็นประโยชน์ ในอนุเฉทนี้ พารากราฟนี้ หมายความว่า ผู้มีสัมมาทิฏฐิที่รู้ว่า

แม้แต่ทางกาย เราให้ทาน กายกรรมนี่ให้ทาน มันก็เป็นบุญ เป็นความดีแล้ว เป็นกุศลแล้ว ทีนี้ ยิ่งจริงเข้าไปถึงใจ ยิ่งใจสะอาด ด้วยการสละ การให้นี่ ใจยิ่งให้ อย่างจริงใจ อย่างจริงจัง อย่างสะอาด พรั่งพร้อมครบ กาย วาจา ใจ เป็นหนึ่งเดียว เป็นเอโก ธัมโม หรือเป็นเอกภาพ ไม่ขัด ไม่แย้งกัน กายให้ วาจากล่าวให้ ใจก็ให้อย่างสะอาด ใจก็ไม่ต้องการอะไรตอบแทน ย้อนทวนขึ้นมาเลย ยิ่งตรงอย่างนั้น ไม่มีอะไรซ่อนแฝง ไม่มีอะไรแปดเปื้อน เป็นตัวจริง เป็นตัวตรง ลงตัวพรั่งพร้อม ก็ยิ่งเป็นการกระทำเป็นบุญของโลก เป็นกุศลที่สุด สรุปง่ายๆ ก็ทาน แม้แต่แค่รูปธรรม ทางกายก็เป็นบุญ แม้จะเป็นการทานที่หวังของแลกเปลี่ยน ตอบแทน ขอคืน มากกว่าที่ให้ โดยจะรู้ตัวหรือไม่รู้ตัวก็ตาม ซึ่งเท่ากับว่า มีความขี้โลภแฝงอยู่ ก็ยังนับเป็น กรรมกิริยาที่เป็นบุญ เป็นกุศล เป็นที่อนุโมทนาอยู่แล้ว เพราะกรรมดีส่วนหนึ่ง ได้เกิดแล้วจริง

ฟังดีๆ อาตมาพูดนี่ ยังไม่ได้สรุปผลนะ เป็นแต่เพียงบอกว่าแบ่งมาเท่านั้น แบ่งเอาแต่ กรรม กิริยากาย ที่ทำการทานด้วยกาย แต่ใจอาจขี้โลภ บางทีทานข้าวทัพพีเดียว โถ สลึงหนึ่งไม่ถึง แต่ใจต้องการถูกรางวัลที่ ๑ โอ้โฮ จะเอาล้านนะๆ

คิดดูซิว่า ใจขี้โลภขนาดไหน ปัดโถ! ทานด้วยวัตถุด้วยกรรมกิริยากายนี่ ใส่ข้าวทัพพีเดียว ใส่บาตร ว่าอย่างนั้นเถอะ แล้วใจขี้โลภตั้งใจขอถูกรางวัลที่ ๑ ขอทำกิจการนี้เถอะนะ ขอให้สำเร็จ ตอนนี้กำลังติดต่องานนี้ ขอให้สำเร็จโครงการพันล้าน ขอให้สำเร็จพันล้านโน่น ใส่ข้าวทัพพีเดียว มันคุ้มกันไหม เอาละ อันนั้น เรายังไม่พูด เรายังไม่พูดเรื่องจิต เราพูดแต่กาย เท่านั้น เราพูดแต่แค่ว่า นี่เขาให้ รูปกายให้ แต่ใจเราหยั่งไม่ถึง แม้แค่นี้ก็เป็นบุญกิริยา แค่นี้ก็เป็น อาการของกิริยา เอามาแค่นี้ก็เป็นบาปกิริยา เอาไปให้ไป ก็เป็นบุญกิริยาแล้วนะ หมายความว่า อย่างนี้ เป็นที่อนุโมทนาอยู่แล้ว เพราะกรรมดีส่วนหนึ่งได้เกิดแล้วจริง กิริยาดีได้เกิดขึ้นแล้ว ส่วนหนึ่ง จึงควรให้กรรมกิริยานี้เกิดอยู่ในโลก การทานที่มีบุญสูงมาก ถูกธรรมะก็คือ ทานโดย ไม่อธิษฐาน เอาอะไรตอบแทน ให้โดยไม่มีจิตโลภอยากได้อะไร ให้คือให้

ถ้าอธิษฐานก็คือ ตั้งจิต ให้ว่างจากกิเลส โดยเฉพาะ กิเลสโลภ โดยเฉพาะกิเลสที่จะต้องการ คืนมาให้แก่ตนเอง ก็ให้แล้วยังจะเอา นี่มันแหม ไม่รู้แล้วเลย ซ้อนอยู่นั่นแหละ ให้ เอา เอ๊! มันอะไรกันแน่ ให้ก็ให้ไปซิ ให้มันตรงๆ เลิกๆไปจบๆ ให้ก็...แหม ให้ไปแรงๆ เอาน้อยๆอยู่อย่างนี้ มันก็ยังย้อนอยู่ นั่นแหละ เพราะฉะนั้น ทำเป็นรูปร่างให้ดูนะ คือมันตลกนะ ให้แต่ เอา มันก็ย้อนทวนกันอยู่ อย่างนั้นน่ะ มันไม่รู้จักจบ

ผู้ที่มีมิจฉาทิฏฐิ ไม่เชื่อว่า ทานมีผล จึงไม่ทำทาน และเป็นเหตุให้เกิดผลจริง คือทำให้โลก ขาดความเอื้อเฟื้อ เผื่อแผ่ ถ้าคนทำทาน ก็จะเกิดผลทันทีเช่นกัน คือ มีการให้ มีการเกื้อกูล มีเมตตา ต่อกัน ความเบียดเบียนลดลง นี่คือ ผลของทานจริงๆ เห็นได้ชัดๆ ได้ทันที เป็นเรื่อง ตามพิสูจน์ได้ พูดถึงได้ เพราะฉะนั้น ในโลกนี้เขาก็เข้าใจ โลกนี้น่ะ เขาจะมีการทาน การให้ กันอยู่ การบริจาคกันอยู่ ไม่ว่าศาสนาไหน ศาสนาไหน เขาก็มีการให้ แต่ลึกซึ้งถึงปรมัตถ์นี่ ไม่ใช่ง่าย

แม้แต่ในพุทธเอง ก็ยังบอก เอ้า ทำทาน เสร็จแล้ว ตั้งจิตอธิษฐาน อธิษฐานไม่ได้ตั้งจิตหรอก หลงจิต ไม่ได้ตั้งนะ ตั้งไม่เป็น ไม่ถูกทิศถูกทางหรอก อธิษฐาน สอนกันทุกวันนี้ ใช่ไหมโยมนึ้ง อธิษฐาน เอ้า ทำบุญ เสร็จแล้วอธิษฐาน สาธุ ขอให้ร่ำ ขอให้รวย ขอให้ได้ยศ ขอให้ได้ศักดิ์ ขอให้ได้โน่น ขอให้ได้นี่ นั่นหรือทาน

โยมนึ้ง ตอบ ตั้งจิตอธิษฐาน

อย่างนั้นดี อธิษฐานขอให้ได้ไปนิพพาน อธิษฐานขอให้ล้างกิเลส อธิษฐาน เราก็ต้องเข้าใจ ความหมายว่า จะไปนิพพานคืออะไร ก็คือตั้งใจ ให้รู้ว่าเราจะไม่โลภ ไม่โกรธ ไม่หลง ไม่ให้มี กิเลสในใจ แล้วก็ทำให้ตรง เออ อย่างนั้นน่ะ อธิษฐานถูกทาง แต่อธิษฐานแล้วก็เป๋ๆไป ย้อนทวน อย่างนั้นไม่รู้แล้ว เล่นลิเกละครไม่รู้จบ นี่สอนกันอยู่อย่างนี้ มันเป็นมิจฉาทิฏฐิ สอนกันอย่าง ไม่เห็นแท้ ไม่เห็นจริง นี่เรียกว่า สอนอย่างมิจฉาทิฏฐิ ก็ไม่เข้าท่าอยู่นั่นเอง

เอ้า ทีนี้ อานิสงส์แห่งการให้ทาน เดี๋ยวค่อยขยายความ อาตมาจะไปเรื่อยๆก่อน

๑.ผู้ให้ทาน ย่อมเป็นที่รัก ที่ชอบใจของชนหมู่มาก
๒.สัตบุรุษ ผู้สงบ ย่อมคบหาผู้ให้ทาน
๓.กิตติศัพท์อันงามของผู้ให้ทาน ย่อมขจรทั่วไป
๔.ผู้ให้ทาน ย่อมไม่ห่างเหินจากธรรมะของคฤหัสถ์

ฟังแล้ว มันรู้สึกว่า บางทีมัน เอ๊ ทำไม ผู้ให้ทานย่อมไม่ห่างเหินจาก ธรรมะคฤหัสถ์ ฟังดู มันน่าจะไม่ห่างเหินจากธรรมของสมณะ แต่ที่ไหนได้ เป็นไม่ห่างเหินจากธรรมะของคฤหัสถ์

๕.ผู้ให้ทาน เมื่อตายไปแล้ว ย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ นั่นแน่นอน ถ้าผู้ใดทานจริง ทานถูกต้อง ทานลงตัว ก็ตายแล้ว จะเป็นตายด้วยร่างกายรูปขันธ์ หรือตาย ผ่านเหตุการณ์นั้นไป อย่างที่ อาตมาอธิบายมาแล้ว ก็จัก รู้จักสุคติทันที

ผู้ให้ทาน ย่อมเป็นที่รักของชนเป็นอันมาก ชื่อว่าดำเนินตามธรรมะของสัตบุรุษ สัตบุรุษผู้สงบ สำรวมอินทรีย์ ประกอบพรหมจรรย์ ย่อมคบหาผู้ให้ทานทุกเมื่อ เมื่อสัตบุรุษเหล่านั้น ย่อมแสดงธรรมะ เป็นที่บรรเทาทุกข์ทั้งปวงแก่เขา เขาได้ทราบชัดแล้ว ย่อมเป็นผู้หาอาสวะมิได้ ปรินิพพานในโลกนี้

คำตรัสของพระพุทธเจ้า ก็อย่างนี้แหละ สั้นๆๆๆ แต่ว่าขยายความออกมาแล้ว เป็นวันๆ ถ้ามานั่งขยายความแล้ว เป็นวันๆ ขยายกันได้เป็นวันๆ เอ้า ก็ผ่านไปก่อน

ทีนี้ ในนี้ขยายความมาว่า จะมีสัตบุรุษ สัตบุรุษก็มีความรู้ที่ลึกซึ้ง ความรู้ลึกซึ้งนั้น ก็จะมี สัปปุริสทาน ๘ ต่อลงมา เพราะฉะนั้น ผู้ที่เป็นสัตบุรุษ แล้วก็เป็นผู้สงบ สงบไม่ได้หมายความว่า นั่งอยู่นิ่งๆ อินทรีย์สำรวม ก็ไม่ได้หมายความว่า นั่งอยู่นิ่งๆ มือก็จะต้องจับอยู่เฉยๆ กระดุก กระดิก อะไรไม่ได้ อินทรีย์สำรวมก็ไม่ใช่อย่างนั้น ความหมายของสงบ ก็หมายความว่า กิเลสหยุด กิเลสตาย แต่มีความคล่องแคล่ว มีพลังงาน มีพลัง เพราะยิ่งเป็นวิมุติ ยิ่งสงบ ระดับวิมุติเลย ยิ่งมีพลัง มีการงาน การงานควบคุมกาย วาจา ใจได้ดี รู้จักสัมมา สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาสังกัปปะ สัมมาอาชีวะ ควบคุมเรียกว่าสำรวม ควบคุมได้ดี กระทำอะไร เป็นสัมมา ไปหมด กระทำอะไรประกอบไปด้วยพรหมจรรย์ ที่จะเป็นผู้ให้ สร้างสรรให้ ก่อเกิด คุณค่ามากมาย

นี่คือสัตบุรุษผู้สงบ ไม่ใช่สัตบุรุษผู้สงก รู้จักสงกไหมล่ะ สัตบุรุษผู้สงบ หรือสัตบุรุษผู้สงัด สงัดนี่ อาตมาว่า ผู้สงัดกับสงบ สงัดนี่ชอบอยู่เงียบๆ สงัดนี่ชอบอยู่เฉยๆ ชอบอยู่นิ่งๆ สำรวมอินทรีย์ ก็คือมัดมือ มัดเท้า หยุด หุบปาก สำรวมอินทรีย์ ของเขา ไม่กระดุกกระดิก นั่นแหละเป็นการสงบ หยุด หรือสำรวมอินทรีย์ของเขา พวกนี้ให้เดินตรงนี่ เดินชนนี่ชนเปรี้ยงเลย เขาเรียก พวกเถรตรง เห็นต้นไม้ละ เดินชนเลยพวกนี้ บอก เอ้า เดินตรงไป เดินตรงเลย หลับตาชน หัวร้างข้างแตก กันตรงนั้นน่ะ คือพวกพาซื่อ พวกพาซื่อ ซื่อจริงๆ ซื่อจนเซอะ มันก็มีส่วนถูกนิดหนึ่ง แต่มันไม่ได้ ลึกซึ้งอะไรเลย นี่ก็ขยายความสู่กันฟัง แล้วก็ให้พวกเราฟังไปบ่อยๆ แล้วจะเข้าใจ จะเข้าใจดี ก็ต่อเมื่อเรานี่แหละ ไปพิสูจน์ความจริงอันนี้เอง ให้ได้ว่าสงบ เพราะจิตเราไม่มีกิเลสแล้วนี่ มันไม่ใช่ อย่างนั้นเลย มันไม่ใช่มานั่งอย่างฤาษี สงบ มันสงบ มันยิ่งเบาว่าง ง่าย แล้วมันก็ยิ่ง มีการทาน มีการให้สูงสุด

แล้วขอสรุปตรงนี้ก่อนอื่นเลยว่า ผู้ยิ่งสงบที่สุด คือผู้นั้นเป็นผู้ย่อมมีทาน ยิ่งมีประโยชน์เกื้อกูล ยิ่งเป็นผู้ได้ให้ผู้อื่น ให้ด้วยความบริสุทธิ์สะอาดด้วยใจ ไม่ต้องการอะไรตอบแทนคืนเลย ไม่ต้องการ แม้แต่สรรเสริญเยินยอ ยกย่อง ไม่ต้องการแม้ว่านี่เป็นสุข ให้ทาน ได้ให้ทานแล้ว ก็เป็นสุข มันก็คือ ให้นั่นแหละ ก็รู้ว่ามันดี จะบอกว่าสุขก็มีความเข้าใจ แต่ว่าไม่ได้ฟูใจ ไม่ได้ว่า โอ้ ฉันได้ให้สุขจริงๆ มีความฟูใจ มีความบันเทิงเริงรมย์ ไม่บันเทิงเริงรมย์ละ มันก็สบายๆ ก็ได้ให้เป็นกรรมกิริยานี้ ตามบุญกิริยา รู้ว่าเป็นกิริยาแห่งการงาน บุญกิริยาแห่งการเจริญ กิริยาของคนเจริญ เราก็ทำกิริยาของคนเจริญให้อย่างบริสุทธิ์ใจ อย่างสบายใจ สบายคำนี้ สัปปายะ คือเจริญ คือประโยชน์ ไม่ใช่สบายคืออร่อย ไม่ใช่อร่อยอะไร นี่เรียกว่า ผู้สงบ เรียกว่าสัตบุรุษ

ทีนี้ สัปปุริสทาน ๘
๑.ให้ของสะอาด
๒.ให้ของประณีต
๓.ให้ตามกาล ตามเวลา ตามกาละ
๔.ให้ของสมควร
๕.เลือกให้
๖.ให้เนืองนิจ
๗.เมื่อให้ในขณะที่ให้ จิตก็ผ่องใจ
๘.ให้แล้วดีใจ เบิกบานใจ

ข้อ ๘ เมื่อกี้พูดไปหยกๆ ให้แล้วก็ไม่ใช่ฟูใจ ให้แล้วไม่ต้องฟูใจ ใจพอง ใจอร่อยอะไร ไม่ใช่ ใจเบิกบาน ร่าเริง นี่แปลเป็นไทยเหมือนว่าดีใจ เต้นใหญ่เลย แหม ปรบไม้ ปรบมือ ไม่ใช่ ไม่ใช่ดีใจอย่างนั้น คือใจนี้รู้ว่าดี ใจก็รู้ ว่าเข้าใจด้วยปัญญาญาณ รู้ว่ากรรมกิริยา บุญกิริยา ในการได้ให้อยู่นี่ มันดีแล้วละ ใจเรามีตัวรู้ เป็นปัญญาญาณรู้ว่าดี ได้ให้นี่ดีแล้ว แล้วก็ไม่ต้อง มีอาการอร่อย ไม่มีอาการฟูใจอะไรเลย นี่เรียกว่าดีใจที่สูงสุด เบิกบานใจ ร่าเริงใจ เบิกบาน ใจ หรือดีใจ

สัตบุรุษ ย่อมให้ทาน คือ ข้าว และน้ำ ที่สะอาดประณีต ตามกาละ สมควร เนืองนิจ ในผู้ประพฤติ พรหมจรรย์ ผู้เป็นเขตดี บริจาคของมาก แล้วก็ไม่รู้สึกเสียดาย ท่านผู้มีปัญญา เห็นแจ้ง ย่อมสรรเสริญทานที่สัตบุรุษให้แล้วอย่างนี้

เมธาวี บัณฑิตผู้มีศรัทธา มีใจอันสละแล้ว บริจาคทานอย่างนี้แล้ว ย่อมเข้าถึงโลก อันไม่มี ความเบียดเบียน เป็นสุข คำตรัสเหล่านี้ เป็นคำตรัสสั้นๆ สั้นแต่เข้มข้น สัตบุรุษย่อมให้ทาน อันนี้ ยกตัวอย่างแค่ให้ข้าว หรือให้น้ำที่สะอาด นี่ก็เข้าข้อ ๑ ประณีต ก็เข้าข้อ ๒ ตามกาละ อันสมควร ก็เข้าข้อ ๓ เนืองนิจ ก็เป็นข้อ ๖ ข้อเลือกให้ ในนี้ก็รู้อยู่แล้วว่า ข้าว น้ำที่สะอาด ประณีต พวกนี้ก็ต้องเรียกว่าเลือกทั้งนั้นแหละ ต้องเลือก ต้องเฟ้น ไม่ใช่ว่าจับอะไรได้ ก็ให้เลอะ ไปเลย ก็ต้องพยายามดูสิ่งที่ควรจะให้นั้น จะต้องเป็นของที่ดีแหละ เลือกให้ ให้ในผู้ประพฤติ พรหมจรรย์ เพราะฉะนั้น ในผู้ประพฤติพรหมจรรย์ ก็คือผู้ที่มีสัมมาทิฏฐิ แล้วก็มาลงมือปฏิบัติ

ผู้ปฏิบัติ ไม่มีสัมมาทิฏฐิ ก็พยายามจะประพฤติพรหมจรรย์เหมือนกัน แต่เขาก็จะไปเป็น พระพรหม พระพรหมแบบศาสนาอื่นนะ ไม่ใช่เป็นพระพรหมแบบพุทธหรอก พรหมแบบพุทธนี่ ในทางเอก อาตมาก็เขียนเอาไว้เยอะนะ ว่ามันอันเดียวกัน พรหมแบบพุทธนี่ พรหมหรือพุทธ อันเดียวกัน พรหมหรือพราหมณ์ ศาสนาพระพุทธเจ้า สมัยของพระพุทธเจ้า ก็เรียกว่าพุทธ สมัยก่อนๆ โน้น มันเคยมีสัจจะที่ดี นานมาแล้ว ไม่รู้กี่พัน กี่หมื่น กี่แสนปี เรียกกันติดปาก ว่าพรหม หรือพราหมณ์ พราหมณ์ก็คือพระอรหันต์ ในพระไตรปิฎกมีเยอะ พราหมณ์นี่ก็ชื่อว่า พระอรหันต์ พรหมก็ชื่อว่า จิตสะอาด จิตบริสุทธิ์ จิตสูงสุด ยอดแห่งพรหม สุดยอด แต่เสร็จแล้ว มันก็เพี้ยนๆมา

แต่ก่อนพราหมณ์ก็นุ่งห่มขาวนะ จนกระทั่ง เลอะ ปฏิบัติผิด ปฏิบัติเพี้ยน เสียหายมาจนกระทั่ง เป็นพราหมณ์มหาศาล เคยได้ยินพราหมณ์มหาสาโลไหม พราหมณ์มหาศาล เป็นพราหมณ์ ผู้ร่ำรวย ก็เป็นผู้ปฏิบัติ พรหมจรรย์นั่นแหละ ร่ำรวยมหาศาล โอ้โฮ มีอำนาจทางทรัพย์ศฤงคาร อำนาจ ทางสั่งการอะไรต่ออะไรคนได้นะ พราหมณ์มหาศาล เลอะ ถือว่าศาสนาที่เคยดี บอกแล้วว่า พระพุทธเจ้าเคยตรัสไว้ ว่าพราหมณ์ก็คือเป็นพระอรหันต์นั่นแหละ แต่ต่อมา มันไม่ได้เป็น อรหันต์แล้ว เป็นพราหมณ์มหาศาล ฟังแล้ว มันเป็นอย่างนั้นจริงๆ เป็นพระ มหาสาโล ไปแล้วเดี๋ยวนี้น่ะ เป็นผู้มักมาก เป็นผู้ที่ โอ้โฮ ร่ำรวย ด้วยทรัพย์ศฤงคาร ร่ำรวยด้วย อำนาจ ยศศักดิ์ เป็นโลกโลกีย์ พรั่งพร้อมไปด้วย ลาภ ยศ สรรเสริญ โลกียสุข มันไม่มีทิฏฐิ ที่เป็นสัมมา ไม่รู้ทางออก ไม่รู้ทางบุญที่แท้ กลายเป็นผู้ที่ได้หลอกกินคนอื่นเขา หลอกใช้ หลอกหอบหวงหาม สร้างหนี้ใส่ตนเอง เป็นบาป ไม่รู้บาป

อาตมาพูดอย่างนี้ ไม่ได้โกรธเคืองใครนะ สงสารท่านทั้งหลายเหล่านั้น จริงๆด้วย แล้วท่านก็ไม่รู้ ไม่รู้ แล้วจะมาเอาอาตมาตายด้วย จะมาจัดการกับอาตมาด้วย ไม่รู้บาปจริงๆเลยนะ นี่เป็นพวก ที่ไม่เข้าใจ ในเรื่องของทาน ในเรื่องของความถูกต้อง เพราะฉะนั้น พวกนี้ ไม่มีทางที่จะเป็นผู้ให้ มีแต่จะเป็น ผู้ที่จะคอยมาเที่ยวได้เบียดเบียน

ผู้ที่เป็นเมธาวี ผู้ที่เป็นบัณฑิต มีศรัทธา ผู้เป็นเขตดี หมายความว่า เป็นผู้ที่อยู่ ในเขตบุญ สุเขตัง ผู้แปลทับศัพท์มา สุเขตัง เขต ผู้อยู่ในเขตบุญ เขต ขอบเขตแห่งพุทธ ผู้ไม่แสวงบุญ นอกขอบเขตพุทธ ผู้นั้นอยู่ในเขตดี ยิ่งอยู่ในเขตที่เข้มข้น อยู่ในเขตที่ชัดเจน มีปัญญาญาณ มีกำลัง อินทรีย์พละแก่กล้า ก็อยู่ในเขตที่สะอาด บริสุทธิ์มากเท่านั้นๆ เรียกว่า ผู้อยู่ในเขตดี ผู้เป็นเขตดี เพราะฉะนั้น ผู้ใดที่เข้าใจอย่างนี้ เห็นอย่างนี้ เป็นผู้สละ ไม่เบียดเบียน เป็นสุข สุดยอด บอกแล้วว่า จริงๆแล้ว ไม่มีอะไรหรอก มาเป็นผู้ให้

เอ้า ทีนี้ ก็ทาน มี ๒ อย่าง มีอามิสทาน อามิสแปลว่า หลอกล่อ แล้วก็มีธรรมทาน บรรดาทาน ๒ อย่างนี้ ธรรมทานเป็นเลิศ เอ้า อาตมาขอผ่านอันนี้ไปก่อน เพราะว่าพวกเราก็ได้ยิน มามากแล้ว อามิสทาน ก็คือทานที่มีเครื่องล่อ เครื่องล่อใจ จะทานด้วยสิ่งของ หรือทานด้วยการให้สิ่งของ อะไรก็ตามแต่ การให้สิ่งเหล่านั้นไม่บริสุทธิ์ใจ การให้เป็นการล่อ หรือเป็นสินบน การให้เป็นสิ่ง ที่จะแลกเปลี่ยน สิ่งเหล่านั้นไม่บริสุทธิ์อยู่ทั้งนั้นๆ เรียกว่า อามิสทาน เพราะฉะนั้น ทาน การให้สิ่งของ ก็ไม่เป็นเครื่องล่อ ไม่เป็นสินบน ไม่เป็นสิ่งที่ให้แล้วต้องการอะไร ตอบแทนคืนมา ใจจะต้อง สะอาดบริสุทธิ์อย่างนั้น จึงจะเป็นการให้ที่พ้นอามิส

ธรรมทาน คือทานที่มีธรรมะ หรือทานด้วยธรรม หรือการให้ธรรม เพราะฉะนั้น ทานที่มีธรรมะ ก็คือ ทานที่มีปัญญา ทานที่มีความรู้ ว่า เราทานนี่ เราจะต้องพยายามให้บริสุทธิ์ อย่างที่กล่าวแล้ว จะต้องไม่ต้องการอะไรตอบแทน คือ ไม่ต้องแลกเปลี่ยน ไม่ต้องมีสินบน ไม่ต้องเอาอะไร ให้ก็คือให้ ทานก็คือทาน เพราะฉะนั้น ผู้ใดทานโดยมีความรู้ แล้วก็ทาน ด้วยการปฏิบัติ ทานด้วยธรรม ทานด้วยการประพฤติ ด้วยการสังวรของเรา ตั้งใจ ตั้งจิตให้ดีว่า จะให้วัตถุก็ตาม ก็ไม่เป็นเครื่อล่อ ให้วัตถุไม่เป็นอามิส ให้วัตถุที่สะอาดบริสุทธิ์ถึงใจ เป็นการให้ ธรรมะ ให้อย่างบริสุทธิ์สะอาด เป็นธรรมะให้หมด นั่นเรียกว่า ธรรมทาน เพราะฉะนั้น ประพฤติ ปฏิบัติอยู่ ก็พยายามปฏิบัติให้เป็นธรรมทาน อย่าให้เป็นอามิสทาน

ทานอีกหมวดหนึ่ง ๒ ข้อ ก็คือ สังฆทาน กับ ปาติกปุคลิกทาน สังฆทาน คือ ให้แก่สงฆ์ หรือ ให้เพื่อส่วนรวม ปาติกปุคลิกทาน คือให้เจาะจงผู้ใดผู้หนึ่งโดยเฉพาะ ทาน ๒ ทานนี้ สังฆทาน มีอานิสงส์ใหญ่ ปาติกปุคลิกทาน นั้น มีอานิสงส์น้อย ให้ระบุจำเพาะบุคคล เพราะฉะนั้น ถ้าจะให้ เราให้เพื่อเป็นสังฆทาน ไม่จำเพาะบุคคล ยกตัวอย่างง่ายๆ อย่างคนบอกว่า ทำทาน เอามาให้อาตมาซิ จะได้บุญมาก มาถึงก็บอกว่า มาให้อาตมา ทีนี้ ปาติกปุคลิกทาน คืออะไร ให้เสร็จแล้ว จะต้องให้อาตมากิน ให้เสร็จแล้ว จะต้องให้อาตมาใช้ ให้เสร็จแล้วนี่ จะต้องให้ อาตมาคนเดียว อย่าเอาไปให้คนอื่นนะ นี่อานิสงส์น้อย แต่ถ้าให้อาตมาแล้ว ก็แล้วแต่ท่านจะกิน หรือท่านจะเอาไปให้คนอื่นกินต่อ ก็แล้วแต่ท่าน อย่างนี้เป็นสังฆทาน ให้แล้ว ให้อาตมาใช้ หรือ อาตมาจะไม่ใช้ อาตมาจะเอาไปให้ใครๆๆๆๆๆๆ มันเรื่องของอาตมา แล้วเราจิตใจก็ไม่ต้อง ไปตั้งใจว่า ท่านจะต้องใช้ ท่านต้องกิน ท่านไม่ใช้ เสียใจ ยิ่งเสียใจยิ่งซวยใหญ่เลย เพราะว่า เป็นทานอันแคบ เป็นปาติกปุคลิกทาน ฟังดีๆ นี่คือทานที่เฉพาะบุคคล เป็นทานที่อานิสงส์น้อย แม้จะทานกับอาตมาก็ตาม

ทีนี้สังฆทาน ไม่จำเพาะบุคคล ใครขาดแคลน ไปซิ สมณะเล็กเณรน้อยอะไร ก็แล้วแต่ ขาดแคลน เอ้า ให้ อย่าว่าแต่สมณะเล็กเณรน้อยเลย แม้แต่พวกเรา ผู้ประพฤติพรหมจรรย์ เป็นฆราวาสก็ตาม ขาดแคลน เกื้อกูลกัน โดยที่ไม่ได้จำเพาะบุคคล เห็นความจำเป็น เห็นความขาดแคลน เอ้า ต่อไปเลย

หลักการให้ทาน ต่ออันนี้แล้ว จะเข้าใจชัดขึ้น
๑. ให้แก่ผู้ที่ยากจน หรือมีน้อยกว่าเรา
๒. ให้แก่ผู้ที่มีความจำเป็น
๓. ให้แก่ผู้ที่จะนำไปทำให้เกิดประโยชน์มากกว่า
๔. ให้แก่ผู้ที่มีความโลภน้อย ที่สามารถสร้างสรรเสียสละให้ส่วนรวม ได้มากๆ
๕. ให้แก่ผู้ที่เป็นพระอริยะอย่างสูงยิ่งๆขึ้นไป

นี่เป็นการสรุปความ ส่วนที่ ๕ นี้ เป็นการสรุปความ พระอริยะก็จะต้องเป็นผู้ที่มีปัญญารู้ แล้วพระอริยะ จะต้องเป็นผู้ที่ยากจน ยิ่งพระอริยะสูงเท่าไหร่ ยิ่งยากจนเท่านั้น ยิ่งไม่มี ไม่สะสม เป็นของตัว ของตนจริงๆ ถ้าเป็นพระอริยะ ที่เป็นผู้ขยัน หมั่นเพียร จำเป็นอะไรๆมาก็แปรสภาพ เอาไปสร้างสรร เอาไปเป็นองค์ประกอบได้ และ พระอริยะ ก็จะเป็นผู้ที่เอาไปทำให้เกิดประโยชน์ จะนำไปทำ ให้เกิดประโยชน์ได้มากกว่าคน เพราะจะมีความสามารถด้วย จะรู้ว่าควรจะเอา ไปใช้อะไรๆ ต่างๆนานา ให้ข้าวมาก็ดี รู้ว่าจะเอาข้าวไปหุงกิน ไม่ใช่เอาข้าวไปทำเหล้า

พระอริยะไม่เอาข้าวไปทำเหล้าหรอก อย่างนี้เป็นต้น เอ้า เป็น พระอริยะจะต้องรู้อย่างนั้น ได้เสื้อมาก็ดี เสื้อ คนควรจะเอาไปใช้ไปสอยอย่างไร เอาไปให้ใครใช้ หรือว่าตัวเอง ควรจะใช้ อยู่บ้างก็ใช้ ถ้าไม่ควรใช้แล้ว ตัวพอแล้ว ก็เอาไปแจกคนอื่น ทำอะไร ไม่ใช่เอาเสื้อมา เออ ให้มาดี เอาไปขายต่อ ไม่ใช่ หรือเอาไปจำนำ ไม่ใช่ พระอริยะจะไม่ทำ นี่เป็นผู้ที่มีปัญญา เป็นผู้ที่รู้อะไร ต่างๆนานา และจะเป็นผู้ที่มีความโลภน้อย หรือยิ่งเป็นพระอริยะ เป็นพระอรหันต์ ก็ไม่มี ความโลภเลย สามารถสร้างสรร เอามาก็เอามาสร้างสรร เสียสละ จะเอามาสร้าง เอามากอบก่อ จะเอามาทำอะไร เพื่อเสียสละให้ส่วนรวมให้มากๆ

ยิ่งเป็นพระอริยะ ยิ่งจะมีปัญญาญาณ มีความสามารถมากขึ้นอย่างนั้น ความโลภก็ยิ่งน้อยลง หรือ ไม่มีความโลภ ยิ่งอริยะชั้นสูง ก็ไม่มีอย่างเก่าแล้ว นี่ก็เป็นนัยของพระอริยะ หนึ่งในข้อ ๕

สรุปแล้ว ในลักษณะ ๔ ข้อนั่นแหละ คือพระอริยะที่จะเป็น แม้ว่าจะไม่เป็นพระอริยะ เราก็จะรู้ ซ้อนลงไปอีกว่า เออ คนนี้จนจริงๆ น้อยกว่าเราจริงๆ แล้วเป็นคนที่มีความจำเป็น อย่างน้อย เขาก็จะต้องใช้ สำหรับเขานั่นแหละ เอ้า ข้าวไม่มีกิน ก็เขานั่นแหละกิน ไม่ใช่ว่า เอาข้าวไปทำ ประโยชน์ต่ออะไรอื่นอีกหรอก จะไม่มีความสามารถก็ตาม จะเอาไปสร้างประโยชน์อื่นอะไรได้ ก็ตาม อย่างนี้เป็นต้น ก็จะเป็นผู้ที่ควรจะรู้ รู้ว่าจะให้อย่างไร

เพราะฉะนั้น การกำหนดสังฆทาน หรือทานอย่างสงฆ์ ทานอย่างสมณะ ทานอย่างผู้รู้ ทานในแบบ ของพระพุทธเจ้าแล้ว จะมีปัญญาความรู้ละเอียด ลออลึก เยอะ กว้าง ทานผู้ที่จน จนจริงๆ จนสมควรจน หรือแม้ไม่จน แม้ไม่จน เหมือนอย่างอาตมานี่ เหมือนไม่จนนะ อย่างอาตมานี่ เหมือนไม่จน ดูแล้วเหมือนไม่จน มีกิน มีอยู่ มีใช้ตลอดเวลา ไม่ขาดแคลน

อย่างพระพุทธเจ้านี่นะ อาตมา เกือบพูดตัวเองเสียแล้ว เมื่อกี้นี้ เกือบขี้กลากกินหัว อย่างพระพุทธเจ้านี้ ท่านเกิดมา ภาษาที่ท่านบอกว่า ท่านประสูติมา จะพร้อมไปด้วยขุมทรัพย์ ๔ ทิศ จะมีขุมทรัพย์ ๔ ทิศ ไม่ได้หมายความว่า พระพุทธเจ้าเกิดมา ก็มีลายแทงมาด้วยเลย เสร็จแล้ว จอมยุทธไปหาขุมทรัพย์กัน แย่งขุมทรัพย์กันใหญ่เลย จอมยุทธ แหม กรูเกรียวกัน ใหญ่เลย ต่างคนต่างได้ลายแทงมา ไม่ใช่นะ ขุมทรัพย์ทั้ง ๔ ทิศ ไม่รู้ทิศเหนือ ทิศใต้ อยู่ตรงไหน ต้องไปขุดเอา จะได้เจอทอง จะได้เจอเพชร ขุมทรัพย์ ไม่ใช่อย่างนั้น เป็นนามธรรม เกิดมา พร้อมกับขุมทรัพย์ ๔ ทิศ อย่างพระพุทธเจ้านี่ ต้องมีบารมีขนาดนั้น พรั่งพร้อม มีทรัพย์ศฤงคาร อยู่ในโลกนี่แหละ ประเดี๋ยวก็ไหลมาเอง ของท่าน ๔ ทิศนะของท่าน เหมือนฝังอยู่ในโลกนี้ ๔ ทิศ เลยของท่านน่ะ

ของอาตมาอาจจะมีสัก ๑ ทิศ ไหลมาช้า ไหลมาไม่ค่อยมาก อาตมาอาจจะมี ๔ ทิศเหมือนกัน ไปไหนๆ ก็พอไหลเหมือนกัน แต่ไหลมาน้อยๆหยอดๆ ไม่เหมือนพระพุทธเจ้า นี่ไหลมา กองเยอะจริงๆ บารมีท่าน เพราะฉะนั้น มีนะ อาตมาไม่ใช่ร่ำรวยนะ อาตมาก็รวยขนาดอาตมา ละ มีขุมทรัพย์ ๔ ทิศ ขุมน้อยๆ ก็ไหลทยอยมาบ้าง รวยนะ ไม่ใช่ว่าไม่รวย แต่นั่นแหละ ก็จน แหม พูดเหมือนกับคนสับปลับ พูดเหมือนคนสับปลับ ก็จน จน ควรให้นะ อาตมานี่คนควรให้ เหมือนกันนะ ควรให้ อาตมาเป็นอาหุเนยยบุคคล ปาหุเนยยบุคคล เป็นทักขิเนยยบุคคล ผู้ควรให้ของทาน พอทานให้อาตมามาแล้ว นี่เหมือนคุยตัวนะ ทานมาแล้ว อาตมาก็มา สร้างประโยชน์ คุณค่าให้มาก โดยไม่ใช่เอามาบำเรอตน ไม่ได้เอามาเสพ มีความจำเป็น ไม่จำเป็น อาตมา ของอะไรมาควรรับ รับ ของอะไรไม่ควรรับ ส่งคืนคุณเหมือนกัน ของนี้ ไม่ประณีต ไม่สะอาด ไม่บริสุทธิ์ ไม่เหมาะแก่กาล ไม่สมควร เอาไปคืน ก็ไม่เอาเหมือนกันนะ

เหมือนกับบางคน ชอบจะไปเที่ยวได้... ไอ้บ้านตัวเองพังแล้วนะ ผุรื้อบ้านเสร็จแล้ว เอาไป ถวาย ปัดโถ! วัดไม่ใช่กองขยะเสียหน่อย ก็คุณเอง คุณยังไม่เอาเลย บ้านคุณรื้อ มันผุ มันพัง แล้วคุณ จะเอามาถวายวัด ถวายพระ เอาของดีๆมาถวายหน่อย ได้ไหม วัดไม่ใช่ขยะ อาตมาไม่ใช่ เจ้าหน้าที่กองขยะนี่ อย่างนี้เป็นต้น เอ้า เอาไปถวายวัดเถอะ ของเรารื้อทิ้งแล้ว เราจะสร้างใหม่ หนอย ไม่อายหรือไง นี่ อย่างนี้ชอบคิดเผินๆ ชอบตลก แหม ไม่คิดจะทิ้งขยะ ก็เลยมาทิ้งให้วัด ให้เป็นภาระวัด แทนที่จะได้บุญ อาตมาว่าได้บาปมั้ง เพราะฉะนั้น ของจะให้ก็ควรจะเป็นของดี โดยนัยสามัญ คนก็ควรเข้าใจแล้วว่า ของที่เราจะถวายพระ มันควรจะเป็นของใหม่ๆ ของดีๆ คุณภาพเต็มที่ใช่ไหม นี่จะให้ทั้งที ก็ เอ้า ของที่เรารื้อแล้วเอาไปเถอะ อย่างนี้ก็มีด้วย

อาตมาเคย ไล่ไปหลายเจ้าแล้ว เขารื้อบ้าน รื้อสังกะสี รื้ออะไรทิ้ง แล้วเอามาถวายวัด อาตมาบอก เอาไปคืน ที่นี่ไม่ใช่ที่เก็บขยะ ไม่ใช่ที่เก็บขยะจริงๆนะ ใครเคยเจอบ้างล่ะ เอาเถอะ เอาไปถูกที่ก็ไม่เป็นไร เป็นไม้อย่างนั้น เอาไปที่ปฐมก็รับเหมือนกันเป็นฟืน ที่สันติอโศกไม่ไหว มันไม่มีที่จะเก็บของ ถ้าจะขนๆ ฟืน ไม้ไร่ พวกนี้นะ มันเเป็นขยะอย่างนี้ เอาไปที่ปฐมอโศกได้ ปฐมอโศก นี่เศษไม้ เศษไร่ ก็รับ เพราะว่า เราใช้ฟืนทำงานอยู่หลายๆอย่าง แม้แต่ฟืนเผาศพ เราก็ยังต้องใช้ ตอนนี้ชักร่อยหรอ ลงมากเหมือนกัน ก็ใช้ให้มันถูกที่ ถูกกาละ มันก็ดีนะ นี่ยกตัวอย่างให้ฟัง

เพราะฉะนั้น ในการให้ทานนี่ มีหลักอยู่ ๕ อย่างนี้ เราจะรู้หลักการ จากสังฆทาน หลักสังฆทาน อาตมาขอ ขยายความอีกนิดหนึ่งก็แล้วกันในตอนนี้ว่า สังฆทาน อาตมาเคยอธิบายเป็น สังฆทานใหญ่ สังฆทานเล็ก สังฆทานใหญ่ก็คือการไม่กำหนดคน ไม่เป็นปาติกปุคลิกทานแล้ว ยังไม่กำหนดของด้วย กำหนดของคืออะไร เช่น สังฆทานที่เราทำส่วนใหญ่ทุกวันนี้ เราจะทำ สังฆทาน ทำอาหารใส่ปิ่นโต เรากำหนดของใช่ไหม จะถวายอาหารนี่แหละ ออกไปแล้ว ก็เจอ พระรูปไหน เราไม่กำหนดละ พอเจอพระรูปไหนปั๊บ ถวายเลย ทั้งที่พระรูปนั้น บาตรเต็มแล้ว โอ้โฮ นี่แบกไม่ไหวหรอก นี่ โอ้โฮ ปิ่นโตนี่บางทีเอาไปวางทิ้งทั้งปิ่นโตเอาไว้เลย ไม่ถือกลับ เพราะมันแบกไม่ไหว มันเยอะแล้วน่ะ เอาถวายมาก็ต้องวางทิ้ง ปิ่นโตสังฆทาน ไอ้สังฆทาน เขาให้ทั้งปิ่นโตด้วยนะ สังฆทานนิยมให้ทั้งปิ่นโตด้วย

มีอยู่วัดอะไรไม่รู้ ที่ปฐมอโศกน่ะไปขนเอาปิ่นโตมา โอ้โฮ ระเนระนาดเลย ขนมาตั้งเยอะ เป็นรถเลยนะ ที่ต้องขนมาเพราะอะไร เพราะวัดนั้น จะเอาปิ่นโตไปฝังทิ้ง ฝังทิ้งจริงๆนะ ขุดหลุมแล้วก็เอาปิ่นโตนี้ไปใส่ดิน แล้วก็เอา ดินกลบฝัง ทีนี้คนเขาไปเห็นเข้า ก็บอก โถ ปิ่นโตดีๆ อย่าไปฝังเลย เราก็ขนมาเถอะ ขนมา ยังมีคนว่าเลย ที่ปฐมอโศก ไปขนมาทำไมเยอะแยะ เอ้า บอกขนมาแบ่งกัน นี่ ยังได้ขนมา ศีรษะอโศกเลย เอาไปให้ญาติโยมอะไรกันนี่ ยังได้ขนมาเลย ปิ่นโต เขาจะทิ้ง เยอะจริงๆ ที่นี่ยังเอาไปแจกหมู่บ้านศีรษะอโศกนี่ ไปขนมาจากปฐม ไปขนมา จากวัดแถวนครปฐมนะ โอ้ นี่สังฆทาน เกิดจากสังฆทาน ใส่ปิ่นโตไป เจอพระรูปไหนก็แล้วแต่ เจอเณรรูปไหนก็แล้วแต่ ให้เลย ไม่กำหนดบุคคล ก็ถือว่า สังฆทาน แต่เรากำหนดของ คือ เราจะให้แต่อาหาร จะให้แต่ปิ่นโต จะมีมาก ขนาดไหน คุณรับก็แล้วกัน ท่านรับไปสังฆทาน นี่สังฆทานเล็ก ได้บุญน้อย คือ มันไม่มีปัญญา แล้วก็ไม่รู้ว่าควรจะให้อะไร ตามกาละ หรือว่าเหมาะสม หรือว่าไม่เหมาะสม มันมาก มันเฟ้อ มันล้นแล้ว มันเกิน จนกระทั่งทิ้งขว้าง ก็ยังอุตส่าห์ ยัดเยียดให้ท่านแบก ให้ท่านหามอยู่เท่านั้นเอง หาภาระให้พระมากไป

ถ้าเผื่อว่า เป็นสังฆทานใหญ่ หมายความว่า เราไม่กำหนดของว่าจะให้อะไร ของจะเป็นของใหญ่ ของเล็กอะไรก็แล้วแต่ ถ้าท่านขาดแคลน หรือท่านควรจะได้อะไร สิ่งนั้นจะเป็นประโยชน์ ในตัวท่านเอง หรือ ส่วนรวม ยิ่งเป็นส่วนรวมมากยิ่งดี เอาละ ส่วนตัวก็ได้ เช่นว่า ท่านขาดเข็มไป เราก็สอดส่อง ดูความเป็นอยู่ สารทุกข์สุขดิบ เออ ท่านขาดปัจจัย ๔ ก็ให้ปัจจัย ๔ ท่านมีปัจจัย ๔ สมบูรณ์แล้ว เอ๊ เรื่องนี้ ท่านขาดแคลน ไม่มีใครดูแล ท่านขาดเข็มให้เข็ม เข็มเล่มเดียว มีอานิสงส์ มากกว่าให้บ้านหลังหนึ่งก็ได้ มีอานิสงส์ มีราคา มีบุญมากกว่าให้บ้านหลังหนึ่ง มีบุญมากกว่าให้ทองคำก้อนหนึ่งด้วย เพราะท่านขาดเข็ม เอาทองคำก้อนมาเย็บผ้าได้เหรอ ท่านต้องการเข็ม ผ้าขาดแล้ว ไม่มีเข็มจะเย็บน่ะ เพราะฉะนั้น เราให้ถูกของ ถูกความจำเป็น ถูกความสำคัญ มีอานิสงส์สูง มีบุญสูงมาก เอาละ มันยิ่งให้ของที่ราคาก็แพง ของก็ต้องใหญ่ แล้ว ก็เป็นประโยชน์ ให้ศาลา ให้วิหาร เขาพูดเหมือนกัน เรียกว่า จตุทิสาสังฆิกวิหารทาน เป็นประโยชน์ส่วนรวม ไม่ใช่ประโยชน์ส่วนตัว เข็มนี่ประโยชน์ส่วนตัว

แต่วิหารนี่ ประโยชน์ส่วนรวม ประโยชน์แม้แต่สมณะ แม้แต่ฆราวาส ก็ได้ใช้ วิหารนี้ เป็นการ ประพฤติพรหมจรรย์ เป็นการสร้างสรรศาสนา เพราะฉะนั้น จตุทิสาสังฆิกวิหารทาน วิหารนี่ สมมุติว่า เป็นเครื่องอยู่อาศัย ได้อานิสงส์มากกว่าให้เข็มเล่มหนึ่งก็จริง จำเป็นไหมล่ะ ถ้าไม่จำเป็น จะต้องสร้างวิหาร วิหารเฟ้อแล้ว มากแล้ว เหลือแหล่แล้ว แล้วจะสร้างต่ออีก ก็ไม่ควร อีกเหมือนกัน แต่ถ้าไม่เฟ้อหรอก เอาละ สมเหมาะสมควร ก็ได้บุญเยอะ แล้วก็ต้อง ลงทุนเยอะบ้าง เพราะวิหารมันต้องแพงกว่าเข็มแน่นอน

ทีนี้ วิหารนี่แปลว่าเครื่องอยู่ ไม่ได้แปลว่าที่พักอาศัยเท่านั้น ที่พักอาศัยก็ใช่ด้วย วิหาร แปลว่า โรงเรือน ที่พักอาศัย ก็เรียกว่าวิหาร วิหาระ แปลว่าเครื่องยังอยู่ เครื่องเป็นอยู่ อื่นๆใดๆ ก็ได้ จตุทิสา หมายความว่า ทั้ง ๔ ทิศ จตุทิสาสังฆิกะ คือสงฆ์ของพระพุทธเจ้า จตุทิสาสังฆิกวิหารทาน เพราะฉะนั้น เราทาน หรือเราให้เครื่องยังอยู่แก่ภิกษุสงฆ์ของ พระพุทธเจ้าทั้ง ๔ ทิศ เหนือ ตก ออก ใต้ แล้วก็มีปัญญารู้จักวิหาระ รู้จักเครื่องยังอยู่ ขาดเข็ม เป็นต้น ขาดผ้า ขาดเครื่องใช้ไม้สอย ขาดแว่นตาบางที เครื่องใช้ยังอยู่ ที่ทำงานทำการ ก็ได้ เป็นบริขาร เป็นเครื่องใช้ที่จำเป็น ที่สำคัญ ที่สมควร เราก็ทำทานอันนั้น ไม่กำหนดของ แต่พิจารณา ตามที่ท่านขาดแคลน ท่านจำเป็น ที่สำคัญ ช่วยสอดส่องดูแลอย่างนี้ซิ ยิ่งเป็น สังฆทานใหญ่ ไม่กำหนดทั้งคน ไม่ใช่ว่าจะให้แต่อาตมา องค์นี้ขาดแว่น ก็ต้องให้ท่านบ้าง ท่านจำเป็น จะต้องใส่แว่นแล้ว แต่นี่ท่านคงยังละ ท่านยังไม่เห็นใส่แว่นสักที องค์ไหนขาด เครื่องใช้ที่สำคัญ ที่จำเป็นน่ะนะ สมัยนี้แว่นก็คงพูดได้ สมัยโบราณ สมัยโน้น ยังไม่มีแว่นกัน ก็สมัยนี้ จำเป็นสำคัญบ้าง หรือขาดดินสอ ปากกา ขาดโน่น ขาดนี่ ขาดเครื่องใช้ที่สมควร ที่สำคัญน่ะ ที่เหมาะ ที่สม เราจะได้ใช้ประโยชน์สร้างสรร หรือยังอยู่ ให้เป็นไปด้วยความเจริญ เป็นไปเพื่อความรังสรรค์ อันนี้เป็นสังฆทานใหญ่ ไม่กำหนดของ ไม่กำหนดคน

แต่ต้องเป็นคนของพระพุทธเจ้า ที่ท่านบอกว่า นี่ เป็นคนของเรา คนของเราที่พระพุทธเจ้า ท่านกล่าว ก็คือ ผู้ที่อยู่ในศีล ในธรรม ในวินัย ที่ไม่ปาราชิก และเป็นผู้สังวร ในธรรมวินัย อย่างแท้จริง มีอาบัติก็ต้องออกจากอาบัติ มีการสังวรศึกษา ประพฤติพรหมจรรย์ ตั้งแต่เป็น โคตรภูบุคคลขึ้นไป จนกระทั่งอริยบุคคลอีก ๘ โคตรภูบุคคล โสดาปัตติมรรค โสดาปัตติผล ไปจนถึงอรหัตผล โสดาปัตติมรรค ถึงอรหัตผล ๘ โคตรภูบุคคล อีก ๑ นี้เรียกว่า ของพระพุทธเจ้า ท่านเรียกว่า อาหุเนยยบุคคล บุคคลที่พระพุทธเจ้าท่านนับ ตั้งแต่ โคตรภูบุคคล ขึ้นไป โคตรภูบุคคล ก็คือ ผู้บวชโดยตั้งใจปฏิบัติธรรม แม้มันยากลำบาก น้ำตานองหน้า ก็สู้ทน แต่ตัวเองยังไม่ได้อริยคุณ แม้โสดาปัตติมรรคก็ตาม แต่ใส่ใจศึกษา สังวรในธรรม ในวินัย ไม่ปาราชิก แม้มีอาบัติใด อาบัติหยาบ ก็พยายามออกจากอาบัติ พยายาม ศึกษาเล่าเรียน พากเพียร หนักหนาสากรรจ์อย่างไรก็สู้ทน ตัวเองจะยังไม่บรรลุแม้แต่ โสดาปัตติมรรค ก็ตาม เป็นผู้ที่บวชแล้วจริงๆ ก็คือผู้เอาจริง ไม่สึกง่ายๆ หรือ ไม่สึกเลย โคตรภูบุคคล หมายความว่า ตัดโคตรฆราวาส มาเป็นโคตรของนักบวช นี่พูดแปลเอาความ เอาง่ายๆ โคตรภูบุคคล คือบุคคลที่ตัดโคตรฆราวาส ไม่ไปอีกแล้ว ไม่กลับไปสู่โคตรฆราวาส อีกแล้ว เป็นโคตรนักบวชตลอดกาล จนตาย อะไรอย่างนี้เป็นต้น

จึงเรียกว่าเป็นผู้ที่อยู่ในโคตรของนักบวช นี่เอาความง่ายๆแล้วใส่ใจ ในความหมายลึก ก็ต้อง หมายความ เป็นผู้ใส่ใจในศึกษา ไม่ปาราชิก ปาราชิกนะไม่ใช่คนในโคตรแน่นอน หรือไม่ปาราชิก ก็จะต้องเป็นผู้ใฝ่ใจศึกษา ออกจากอาบัติ ไม่ใช่มีอาบัติหมักหมม อะไรต่ออะไรไปเรื่อยๆ ไม่ได้ คนอย่างนั้น เหม็นเน่า หมักหมม แล้วก็เป็นผู้ที่ไม่ใส่ใจ ในการที่จะออกจากอาบัติ ไม่ได้ นักบวชต้องออกจากอาบัติ เรียนรู้ธรรมวินัยดีๆ ใส่ใจ แม้จะยากเข็ญ ทรมาน ทรกรรม อย่างไร ก็ต้องปฏิบัติธรรม หน้านองน้ำตา ก็จะต้องพยายาม พากเพียร นั่นเรียกว่า เป็นคนของ พระพุทธเจ้า

เอาละ เราได้มาถึงภาค ทาน แล้วอาตมาก็ได้อธิบาย ทาน สังฆทาน อะไรไปบ้าง ซึ่งมันจะย้อน อาตมาอธิบายไปจนถึงข้อ ๑๐ แล้ว จะย้อนทวนกลับมานี่ จะมาสอดแทรกทาน ให้ลึกซึ้งกว่านี่ นี่อธิบายไปเป็น ลำดับๆ นิดหน่อยเสียก่อน ต่อไปก็ค่อยภาคยิฏฐัง หุตังอะไร พรุ่งนี้ต่อไป วันนี้ หมดเวลาลงแล้ว


ถอด โดย นาคดงเย็น จันทร์อินทร์ ๒๐ เม.ย.๓๕
ตรวจทาน ๑ โดย สม.ปราณี ๒๑ เม.ย.๓๕
พิมพ์ โดย สม.นัยนา
ตรวจทาน ๒ โดย เพียงวัน

2312C.TAP