กว่าจะสัมมาทิฏฐิ ตอน ๓ หน้า ๒ ต่อจากหน้า ๑
โดย พ่อท่าน สมณะโพธิรักษ์
ณ พุทธสถาน ศีรษะอโศก จ.ศรีสะเกษ
เมื่อวันที่ ๑๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๕ งานปลุกเสกสมณะแท้ๆของพุทธ


พระพุทธเจ้าท่านก็บอกแล้ว เป็นกัมมทายาโท เป็นทายาทของกรรมของเรา ถ้ากรรมให้ กรรมกิริยา ที่เราให้ๆเขาไป เราก็มีส่วนบุญอันนั้นของเรา เราก็เป็นทายาทรับมรดกของเรา และ ก็ไม่ต้องไปนั่งนึกนั่งคิด ไม่ต้องไปเสียเวลา ไม่ต้องไปอยากได้ ไม่ต้องไปปักมั่น ไม่ต้องไปปักดิ่ง ว่าจะเป็นของเรา หรือไม่เป็นเรา ให้ไปแล้วมันก็จะต้องเป็นมรดกของเรา เราก็เลยมานั่งจดเลข นี่ๆ ให้ไป ๒ บาทแล้ว นี่ให้ไปอีก ๑๐ แล้ว ๑๒ แล้วนะ นี่ให้ไป ๕๐๐ แล้วนี่ ๕๑๒ แล้ว นะ บอกไว้เรื่อยเลย นั่นแหละยิ่งไม่ได้ใหญ่เลย ของกูอยู่เต็มเปาเลย ให้ไปแล้วก็ให้ซิ จะเป็นของกู กันไปทำไม มันซ้อนลึกจริงๆ นะ ยิ่งไม่รู้สึกว่าเป็นของเราเท่าไหร่ ยิ่งเป็นของเราเท่านั้น ยิ่งไปรู้สึกว่า เป็นของเราอยู่เท่าใด ยิ่งไม่เป็นของเราเท่านั้น

แหม มันพูดเหมือนตอแหล พูดเหมือน มันโกหก พูดเหมือนมันเล่นลิ้น เหมือนมันย้อนแย้ง เล่นคารม น่าหมั่นไส้ แหม มันน่ายอดกวนเลย นะ ภาษาฟังก๊วนกวน ภาษายวนๆ ยิ่งไม่ยึด เป็นของตัวของตน ต้องทำใจ ในใจอย่างนั้น มนสิการอย่างนั้น ทำใจในใจอย่างนั้นจริงๆเลย ซื่อสัตย์ให้บริสุทธิ์ ไม่ต้องไปหวัง มันจะมีหรือไม่มี มันจะมาหรือไม่มา เป็นเราหรือไม่เป็นเรา หรือไม่ คุณรู้วิบากกรรมของคุณเลย วิบากกรรมของคุณ คุณไปเอาของเขามาเท่าไหร่ มันก็ไม่เป็นของคุณ ขณะนี้ ยังใช้หนี้ไม่พอเลย และ อย่ามาถือว่าเป็นของเรา มันจะไปได้ยังไง เพราะฉะนั้น คุณทำไปเถอะ ใช้หนี้ครบหรือ ไม่ครบ ก็ไม่รู้เลย ให้ไปแล้ว ไม่ต้องหลงยึดว่า เป็นของเรา มันเหลือเป็นเรา มันจะเป็นมรดก ของเราเองแหละ ถ้ามันไม่เหลือเป็นของเรา มันก็ไม่เป็น มันอยู่ที่สัจจะความจริงของคุณ สุกตทุกกฏานัง ผลัง วิปาโก ผลวิบากของคุณ มีจริงหรือไม่มีจริง มันของจริง เราไม่ต้องคิด

ถ้าคุณเชื่อว่า กรรมคือกรรม คุณกระทำจริงไหมล่ะ สละจริงไหมละ ให้จริง จบ ให้แล้วก็จบ ส่วนมันจะไปบวก ลบคูณหาร ใช้หนี้ไม่ใช้หนี้กันไป พนักงานๆวิบากกรรมนั่นน่ะ นายสุวรรณ สุวานอะไร ก็แล้วแต่ สมมุติกัน ไปทำเองไม่เกี่ยวกับเรา เราอย่าไปยุ่ง พวกนั้นซื่อสัตย์สุจริตๆ ตามกรรม พวกที่บวก ลบ คูณ หารของกรรมนี่ สุจริตหมด ไม่มีการเบี้ยว ไม่มีการโกงหรอก สัจจะจะไปโกงอะไร คุณทำสุจริตใจของคุณให้สนิท ให้สะอาด ให้บริสุทธิ์ที่สุดให้ได้เถอะ ค่ามันสูงเท่านั้น และมันจริงเท่านั้น ทำก็แล้วกัน ให้เป็นให้

ทานที่ให้เพื่ออยากได้หน้า อยากใหญ่ และให้เพื่อหวังผลตอบแทน อยากให้พ่อท่านแจกแจงว่า ทานชนิดนี้ เป็นมิจฉาทิฏฐิระดับไหน โอ้โฮ เล่นหมดทุกอย่างเลย หน้าก็อยากได้ ใหญ่ก็อยากได้ และหวังผลตอบแทนด้วย ก็เป็นมิจฉาระดับนรกอเวจี ไม่ได้คุ้มทุนเลย แล้วมันเกิดที่กรรมที่จิต ทำไมอาตมาว่าบาป จิตเป็นกรรม กิริยาของจิตเป็นกรรม ใช่ไหม สมมุติคุณให้ทานแสนหนึ่ง คุณก็อยากได้หน้าเท่าแสน อย่างน้อย น่ะนะ คุณก็ไม่อยากได้หน้าน้อยกว่าแสนใช่ไหม ถ้าอยากได้ ใช่ไหม อยากได้หน้ากว่าแสน ถ้าเท่าแสนก็หมดแล้ว

ทีนี้ อยากได้หน้าใหญ่กว่าแสน ขาดทุนแล้ว แล้วอยากได้นั้น กรรมกิริยาของคุณเกิดจริงไหม เป็นจริงไหม มันก็ลบศูนย์ไปแล้วๆ ขาดทุนแล้วเป็นหนี้แล้ว อยากได้หน้าไม่พอ อยากได้ ใหญ่ด้วย ทานแสนหนึ่ง อยากได้หน้าห้าล้าน โอ้โฮ นรกไปเท่าไหร่แล้วนี่ ขาดทุนเท่าไหร่ แล้วเคยคิดกันยังงี้บ้างไหม ถ้าไม่ได้ยิน ได้ฟังสัจจะ คุณก็ไม่คิดอย่างนี้ ไปคิดอย่างที่อาจารย์ สอนมาก่อน ใช่ไหม อธิษฐานเอาอยากได้อะไรก็อธิษฐานเอา ใช่ไหม เสร็จแล้ว อาจารย์เหล่านั้น พาคุณลงนรก ท่านก็ซื่อนะ ท่านก็เข้าใจว่าถูกนะ ไปด้วยกันเลย ล่องค่องๆเลย ลงนรกด้วยกัน ภาษาอีสานล่องค่องๆ หมายความว่า ไปด้วยกันนัวเนียเลย กอดคอกันลงไปเลย ล่องค่องๆ อ้องล้องๆนั่นมันไปไกลแล้ว นี่ไม่เก่งภาษาอีสานนี่ ล่องค่องนี่มันนัวเนีย เกาะกันอยู่เลย อ้องล้องนั่นมันไปไกลแล้ว นี่ไปสหวีวี่วี แล้ว อ้องล่องๆ ต้องสอนภาษาไทย ภาษาอีสานนี่

ทีนี้ยังหวังผลตอบแทนอีก อยากได้หน้ายังไม่พอ อยากใหญ่ยังไม่พอ ยังอยากได้ผลตอบแทนอีก เอาละ ทีนี้ หน้าราคาห้าล้านยังไม่พอ ขอคืนอีกนะขอคืน และคงไม่ขอคืนแสนด้วยใช่ไหม นั่น บวกเข้าไปอีกซิ นรกอีกกี่ชั้น อย่างนี้เคยคิดอย่างนี้กันมาทั้งนั้น มันโง่ยังงี้กันมาทั้งนั้น คิดซะใหม่ เปลี่ยนทิฏฐิใหม่ๆ คิดเสียให้ถูกทาง ทางสวรรค์เป็นยังไงกันแท้ แต่ก่อนนี้สวรรค์ลวง พอได้คิด อย่างนี้แล้วก็ชื่นใจ โอย ฉันได้หน้าทำเก๊กด้วย ทำกายกรรมด้วยนะ ฉันทำแสนหนึ่ง เก๊กทาง หน้าตา ฉันทำบุญล้านหนึ่ง โอ้โฮ ทั้งเบ่งทั้งใหญ่ ทั้งหน้าบาน ทั้งใจลึกๆ ก็ต้องการคืน อีกด้วย มากกว่าล้าน มากกว่าแสน ที่ตัวเองทำลงไปด้วย โอ้โฮ อภิมหานรกเลย เป็นมิจฉาทิฏฐิ ระดับไหน ตีราคาเอาเอง ใส่เครื่องหมายเอาเองว่าระดับไหน ลงนรกระดับไหน

นี่คือ มิจฉาทิฏฐิ น่ากลัว และคนไม่เชื่ออย่างนี้ คนเชื่ออย่างโน้น เขาถึงทำอย่างโน้น สังคมถึง เบียดเบียน สังคมถึงไม่ได้สัจจะ สังคมถึงไม่เสียสละบริสุทธิ์ สังคมถึงมีแต่เบ่งข่ม หน้าใหญ่ ใจโต และก็ทำอะไรรีดนาทาเร้น เพื่อจะมาเอาหน้า เอาตาเอาใหญ่ แล้วก็คิดว่าหวังได้คืน มันได้คืนจริงไหม ทำทานเป็นสิบ ทำทานเป็นแสน ทำทานเป็นล้าน และอยากได้คืน แล้วจะได้คืนไหม คุณมาอยากให้ตายก็ไม่ได้คืน ยิ่งคุณมีกรรมกิริยาที่มันเป็นนรกอย่างนี้ มีกิเลสความโลภจัด

เอาละ อธิบายซ้อนปรมัตถ์ คุณทำทานไปแสนหนึ่ง สมมุตินะ อย่างตลกเลยนะ เป็นตลก ที่จริงด้วย เหมือนการ์ตูนที่เขียนนั่นน่ะ ยังเขียนตลก จริงได้ใช่ไหม ตลกบ้าๆ บอๆ อะไรก็ได้ การ์ตูนนั่นน่ะ แต่นั่นมันตลก และดูว่าเหมือนจริงในการ์ตูน ดูให้เป็นจริงเลยก็ได้ คุณทำทาน แสนหนึ่ง คุณก็อยากได้คืนมาห้าล้าน ว่ายังงั้นนะ เสร็จแล้ว สมมุติให้คุณได้คืนมาห้าล้านด้วย คุณพอใจไหมๆ พอใจ แต่ใจไม่พอใช่ไหม ย่ามใจไหม นี้ซิ เออ ทำแสนหนึ่งได้ห้าล้านโว้ย ถ้างั้นทำอีกห้าล้าน มันจะได้ทีนี้ห้าหมื่นล้านละ แล้วเป็นยังไง นรกลึกอีกไหม ความโลภลึก ลงไปไหม ความโลภที่ลึกลงไปอย่างนั้น เขาเรียกว่าอะไร อภิมหานรกอเวจี และเป็นเรื่องจริง ของอารมณ์ หรืออาการของกิเลสอย่างนั้นจริงๆ ในจิตของคุณ จริงไหม

นี่แหละคือ สัจจะความจริง แล้วมันดีเหรอ หาไม่ดี เปลี่ยนทิฏฐิใหม่ ตั้งใจใหม่ คนใหม่ๆมา ฟังให้ดี คนเก่าๆ เขาอาจจะไม่ตื่นเต้น แต่คนใหม่ๆ มาฟังที่อาตมาพูดวันนี้ วิเคราะห์เจาะลึก ขนาดนี้ โอ้โฮ ขออภัยเถอะ ฉิบหายแล้วกู (คนฟังหัวเราะ) กูคิดมายิ่งกว่านี้อีก แล้วมันไม่บรม มหาเดอะเกรตนรกเหรอ อภิบรมหาแล้ว แถม เดอะเกรตนรกอีก เดอะเกรตภาษาฝรั่ง โอ้โฮ เรียกว่า อื้อฮือ มันนรกขนาดไหนนะ

ฟังให้ดี มันไม่มีอะไรดีหรอก แย่งชิงทรัพย์ศฤงคารสมบัติกัน โดยโง่ๆ โดยอวิชชา โดยไม่เข้าใจ และ มันไม่มีดิบดีอะไร ตัวเองก็ไม่ได้ ไม่ได้ๆ ฟังรู้เรื่องหรือยัง ไม่ได้ อย่างที่อาตมายกตัวอย่าง ตื้นๆ ง่ายๆ คุณฟังได้ทุกทีนี่ คุณไปปล้นเขาสำเร็จด้วยวิชาความสามารถ ปล้นสำเร็จ ได้เงิน ใช่ไหม คุณได้จริงเหรอ อะไรจริงกว่ากัน ขณะที่คุณไปปล้นนั่นน่ะ สำเร็จ ได้เงินมา ด้วยวิทยายุทธ เก่งๆ ด้วย คุณได้เงิน แล้วคุณได้กรรมด้วยไหม กรรมกิริยาปล้นนึกว่าบุญนะ กรรมกิริยาปล้นนึกว่าบุญ บาป คุณได้กรรมกิริยาบาปนั่นมา จะอำมหิตวรยุทธขนาดไหน ก็เท่านั้นแหละ ขนาดไหนก็ขนาดนั้นมา สำเร็จ ด้วยได้เงิน แต่พร้อมกันนั้น คุณได้บาป เป็นกรรมกิริยาที่แท้ด้วย

คุณได้เงินมาจริงกว่า หรือ ได้กรรมกิริยานั้นจริงกว่า มันอยู่กับคุณ มันไปกับคุณ อันไหน มันไปมาก อันไหนมันอยู่กับคุณมากกว่ากัน กรรมกิริยามันไปกับคุณ มันอยู่กับคุณ ตายไป มันก็ไปกับคุณ เป็นมรดก เป็นกรรมทายาท คุณจะเอาไป ปล้นนี่ฉันทำมาสองที คุณเอาไป ฉันทำมาห้าที คุณเอาไปฉันไม่เอา มันได้เหรอ หือ มันแบ่งบาป แบ่งบุญกันได้หรือ แบ่งไม่ได้ คุณทำก็ของคุณ นั่นแหละมันของคุณมา ไปจริงก็ของคุณไป ไอ้เงินนั่น คุณปล้นได้เท่าไหร่ ดีไม่ดี คุณตายไปมันก็อยู่ตรงนี้อยู่กับโลกนี้ มันไปกับคุณเมื่อไหร่ พิสูจน์กันให้ชัดๆ มันไปเมื่อไหร่ นัยเดียวกัน กรรมอยากได้หรือกรรมที่มันไม่อยาก แม้แต่ปล้นก็ตาม เป็นกรรมกิริยา เดียวกัน มันจริงเหมือนกัน มันเป็นนรก มันเป็นสวรรค์ เหมือนกัน นั่นแหละ

ถ้าเราเป็นคนรู้ว่ากรรมมีผล กรรมบาปก็มีผลบาป กรรมบุญก็คือผลบุญ เชื่อกรรมอย่างนี้นะ ใครมันจะไปอยากทำกรรมบาป กิเลสสิทีนี้ มันอยากอยู่ ฟังเข้าใจแล้ว ทิฏฐิเห็นแล้ว รู้แล้ว แต่อำนาจอินทรีย์พละ ศรัทธาต่างๆนานา มันไม่ทำให้เราล้างกิเลส ศรัทธาและปัญญา มันจะช่วยล้าง กิเลสได้มาก เพราะฉะนั้น ศรัทธามันอยู่ดีๆ มันจะสูงขึ้นเองไม่ได้ มันต้องปฏิบัติ ประพฤติ เป็นภาวนามัย เมื่อปฏิบัติประพฤติขึ้นจริงๆ อย่างที่อาตมาอธิบายไปแล้ว เมื่อกี้นี้ โดยมรรคองค์ ๘ เข้าไปจริงๆ มันถึงจะเกิดอินทรีย์พละ เกิดสัทธินทรีย์ วิริยินทรีย์ สตินทรีย์ สมาธินทรีย์ ปัญญินทรีย์ คือ เกิดพละ ศรัทธาพละ วิริยะพละ สติพละ สมาธิพละ ปัญญาพละ มากขึ้นๆ เป็นอินทรีย์ ๕ พละ ๕ ตามหลักโพธิปักขิยธรรม ๓๗ เกิดจริงเป็นจริงขึ้นมาได้ ถ้าไม่เช่นนั้น ไม่มีของจริง หรอกนะ

เหตุอะไร จึงทำให้คนมี หรือเป็นมิจฉาทิฏฐิ

เอ๊า ถามดี เหตุโง่ เหตุอวิชชา เหตุไม่ได้พบพระอริยะ จึงไม่ได้สดับสัทธรรม อันนี้พระพุทธเจ้า ท่านตรัสเลย ในอวิชชาสูตร บอกแล้วอวิชชาเป็นเหตุ ในอวิชชาสูตร ท่านตรัส และในอวิชชา ท่านก็ไล่ไปอีกว่า ไม่ได้พบสัตบุรุษ ไม่ได้ฟังสัทธรรม จึงไม่เกิดศรัทธาเป็นเหตุ เพราะฉะนั้น ต้องพบสัตบุรุษ หรือพบพระอริยะให้ได้ และฟังสัทธรรม เมื่อได้ฟังสัทธรรม เกิดศรัทธา ยังไม่เป็น สัทธินทรีย์ก็ตาม ทีนี้มาแหละทีนี้ พยายามปฏิบัติให้มันเกิดสัทธินทรีย์ ให้ได้ เพราะเหตุอย่างนั้น มันถึงเกิดขึ้นมาอีก

เพราะมีโยนิโสมนสิการ จึงเป็นอาหารของสติสัมปชัญญะ มีสติสัมปชัญญะ จึงเป็นอาหารของ สำรวมอินทรีย์ ระวังสังกัปปะ วาจา กัมมันตะ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ปฏิบัติสำรวมอินทรีย์ จึงเป็นอาหารของกรรม ๓ สุจริต กรรม ๓ ใช่ไหม สุจริต กาย สุจริตวาจา สุจริตมโน นี่ก็เข้าหลัก มรรคองค์ ๘ หมด สุจริต ๓ จึงเป็นอาหารของไม่มีนิวรณ์ นิวรณ์ ๕ กิเลสหลักเลย ไม่มีนิวรณ์ ๕ จึงละนิวรณ์ได้ ก็บอกแล้ว อวิชชาเป็นเหตุ

ทำไมถึงมีมิจฉาทิฏฐิ มีอวิชชา มันโง่น่ะซี และมันก็ไม่พบพระอริยะ และมันก็ ไม่ได้ฟังธรรมนั่นซี ไม่ได้สัทธรรมตั้งแต่แรกเริ่ม เพราะฉะนั้น ภาคปฏิบัติเหล่านี้ ละล้างมาพวกนี้ ถ้าผู้ใดพบ พระอริยะ ได้ฟังสัทธรรม เกิดศรัทธาแล้ว ไปโยนิโสมนสิการ ก็จะเกิดสติสัมปชัญญะ มีสติสัมปชัญญะ ก็จะมีสำรวมอินทรีย์ มีสำรวมอินทรีย์แล้วก็จะเกิดกรรม ๓ สุจริต ๓ กรรม ๓ ก็จะเคี่ยว ให้เราล้างนิวรณ์ไปเรื่อยๆ

นิวรณ์เป็นอาหารของอวิชชา เพราะฉะนั้น ความไม่มีนิวรณ์ ลดนิวรณ์ได้ ลดอวิชชาได้ ลดกาม ลดพยาบาท ลดถีนมิทธะ ลดอุทธัจจกุกกุจจะ ลดวิจิกิจฉา และนิวรณ์ ๕ ต้องรู้นิวรณ์ ๕ คืออะไร กามคืออะไร พยาบาทคืออะไร ต้องรู้เลย ตอนนี้ กามวิตกแล้วนะ ในสังกัปปะ นี่พยาบาทวิตกแล้วนะ หรือ เบียดเบียนตนแล้วนะ หรือเบียดเบียนท่าน ถีนมิทธะ ก็ตาม อุทธัจจกุกกุจจะ เบียดเบียน วิจิกิจฉา ก็เบียดเบียน เบียดเบียนตนด้วย ก็เบียดเบียนผู้อื่นด้วย คุณนั่งง่วงที่นี่ คุณว่าคุณเบียดเบียนตนเอง ไม่ใช่หรอก มันกวนหูกวนตาผู้อื่น เขาเหมือนกัน อย่างนี้เป็นต้น นั่งง่วงตรงนี้ นึกว่าเบียดเบียนตนเองคนเดียวเหรอ ดีไม่ดี ง่วงมากๆ เข้า เล่นไปทุบ คนอื่นเขาอีก แน่ะ อย่างนี้ ก็ยังได้เลยใช่ไหม เอ้าอธิบาย ย่อยๆให้ฟังเล็กน้อย ความจริง มันก็มีทั้งย่อย มีทั้งหยาบแหละนะ เอาแค่นี้ก็พอ

ความเป็นมิจฉาทิฏฐิ เป็นสิ่งที่มีติดตัวมาแต่เกิด หรือได้รับการสั่งสอนที่ผิด (จากอาจารย์ที่ มิจฉาทิฏฐิ ลูกศิษย์ก็เป็นมิจฉาทิฏฐิตามไปด้วย)

ความเป็นมิจฉาทิฏฐินั้น มีมาตั้งแต่เกิดด้วย และมาได้รับฟังจากอาจารย์ที่มิจฉาทิฏฐิ ก็ไปด้วยกัน ที่นี่แหละ อ่องล้องๆ ด้วย ไปด้วยกัน อ่องล่องๆ ด้วย เหมือนหูกับขี้ทูด ชอบกันนัก หูกับขี้ทูด ไปด้วยกันเลย อันนี้พูดนิดหนึ่ง มีบางอาจารย์ บางท่าน และเป็นลัทธิด้วย ถือว่าเด็ก เกิดใหม่มา ไม่มีกิเลส กราบนะ พระอรหันต์

คุณเชื่อไหม เด็กเกิดใหม่ เป็นพระอรหันต์ เชื่อไหม ไม่เชื่อเหรอ เอ้า แล้วกัน ก็เขาว่าไม่มีกิเลส เขาบอกว่า จิตผ่องใสนะ จิตปภัสสร นะ เด็กๆ ไม่มีกิเลสหรอก มันยังไม่ได้รับ ว่าอย่างนั้นนะ มันยังไม่ขึ้น มันยังไม่ได้รับเหตุปัจจัย เชื้อมันมี คนที่ยังไม่เป็นพระอรหันต์ สัตวโลกเกิดมา ด้วยอวิชชาทั้งสิ้น จะเป็นสัตวโลกในระดับไหน จนกระทั่ง มันโตมาเป็นคน มันก็ยังเป็น อเวไนยสัตว์อยู่ ที่ยังไม่ได้พบพระพุทธเจ้า ยังไม่ได้พบสัทธรรม ยังไม่ศึกษาเพื่อละล้าง ยังอวิชชา อยู่ทั้งนั้นแหละ ขนาดมาเป็นคนแล้ว ยังต้องใฝ่หาความเจริญ ต้องศึกษากว่าจะมาเป็น เวไนยสัตว์ กว่าจะสอนกันรู้เรื่อง กว่าจะสอนได้ โอ้โฮ ขนาดบางคนไปเรียนเปรียญมา เปรียญ ๙ มา ไม่รู้กี่ชาติ อุตส่าห์สอนกัน ยังไม่ได้เลย ยังเป็นปทปรมะเลย บางคนจบเปรียญ ๙ มา แล้วยังสอนไม่ได้ ยังเป็นปทปรมะอยู่ รู้พุทธพจน์ก็มาก ทรงจำพุทธพจน์ได้ก็มาก สั่งสอนเขา อยู่ก็มาก แต่ไม่บรรลุธรรมกับเขาหรอก เพราะว่า มันยังปทปรมะ ยังมิจฉาทิฐิ ยังไม่มีสัจจะ ที่เป็นสัมมาทิฏฐิ ยังไม่เข้า พูดอาจจะถูก ซ้ำคนนั้นนะ พูดสัมมาทิฏฐิ ก็ถูกแจ้วๆๆๆ เลยนะ แต่มัน ไม่เข้าไปในจิตใจ ไม่ได้เกิดปัญญา ปัญญินทรีย์อะไรเลย มันเป็นแต่เพียงรู้ๆ เปลือกๆ ผิวๆ แล้วก็ไปหลงในรู้ แล้วเอารู้นี่ไปสร้างอัตตามานะ ไปสร้างเงินเป็นภพ เป็นกามภพ เป็นบริโภคนิยม หลงละเมออยู่กับโลกียะอย่างนั้น โลกียะมันจัดจ้าน เมามายอยู่อย่างนั้นแหละ หวือหวาอยู่อย่างนั้น ฟังธรรมพวกนี้ไม่เข้าหรอก มันทวนกระแสนะ

เด็กเกิดใหม่ มีกิเลสมาพร้อมตัว แม้แต่พระโพธิสัตว์ จะบอกให้ แม้แต่พระโพธิสัตว์ เกิดมา ก็มีกิเลสมาพร้อมตัว เพราะเกิดมาพร้อมกับตัณหา วิภวตัณหา อย่างน้อยก็วิภวตัณหา เกิดมาแล้ว ก็ยังงุมงำๆ เสร็จแล้ว ก็มาถูกโลก เขามอมเมาหลอกล่อ กิเลสก็เลยได้รับเหตุปัจจัย ตัณหาที่บริสุทธิ์ก็ตาม ถูกอาบพอก ก็เปื้อนได้ซิ ต่อให้สะอาดมาขนาดไหน แหม ผ้าขาวจั้วะ บางที อาจจจะไม่จั๋ว ถูกอะไรเข้า มันก็เลอะอันนั้น แต่ถ้าอันนี้มันมีฤทธิ์ของมันเอง ก็สลัดง่าย ล้างง่าย ถ้ามันบริสุทธิ์เดิม มันเป็นสภาพปริสุทธา ปริโยทาตา มุทุ กัมมันยา ปภัสสรา เป็น ตัวอุเบกขาธาตุ เป็นธาตุเสขของจิตวิญญาณ แหละนะ จิตวิญญาณนี่เป็นตัวอุเบกขา เจตสิก เป็นจิตวิญญาณ ที่มันเป็นอุเบกขาธาตุ เป็นธาตุที่มีองค์ ๕ บริสุทธิ์ ปริโยทาตา แม้อะไรจะอาบ จะพอกยังไง เหมือนน้ำกับใบบอน ไม่ดูด ไม่ซึม ไม่ซับ ไม่เปื้อน ไม่ดูด ไม่เก็บไว้ จะอยู่ด้วยกัน บ้าง ก็ยังได้ ปริโยทาตา นี่เหนือ คำบริสุทธิ์ ก็คือลักษณะของมัน ปริโยทาตา มันมีบทบาท สูงกว่านั้นอีก มันจะผุดผ่อง หรือผ่องแผ้วอยู่ตลอดกาลนาน มีอะไรไปอาบ ไปพอกยังไง มันจะผ่องแผ้ว ได้เอง กัมมัญญา เหมาะกับการงาน ทำการงานอะไรก็ได้ดี สละสลวย มีผลสูงทั้งนั้น กัมมัญญา ปภัสสรา

มุทุ อ่อน เรียกว่าแววไว ปรับตัวได้เก่ง ยอดเยี่ยม มุทุ มุทุธาตุ อ่อน เขาแปลศัพท์ง่ายๆ ศัพท์ของ ภาษาบาลี มุทุ แปลว่า อ่อนเท่านั้น ถ้าอ่อนแอมันก็ไม่ได้เรื่อง ไม่อ่อนแอ มันแข็งแรงนะ เพราะฉะนั้น ใช้ศัพท์ว่า อ่อน เฉยๆ ไม่พอ อาตมาก็พยายามแปล ความหมายของคำว่า มุทุตัวนี้ โดยสภาวะ ที่เยี่ยมของมัน ซึ่งก็ยาก พวกคุณฟังก็เข้าใจมากขึ้นแล้วละ แต่ข้างนอกเขา จิตอ่อน ควรแก่การงาน อาตมาว่า จิตอ่อนแล้วเลิกเลย จิตอ่อนมันจะไปทำอะไรได้ ฟังแล้วป้อแป้ก่อน ที่จะไปทำ การงานเลยนะ ก็เข้าใจนะว่า ไม่รู้จะยังไงก็เอา ก็ว่าไปก่อน

สรุปก็คือ เด็กนี่ไม่ใช่จิตปราศจากกิเลส จิตมีกิเลสมาแต่เดิมๆ เสร็จแล้วเราก็มาเรียนรู้ เพื่อล้าง กิเลสให้ออก เพราะฉะนั้น เด็กๆนี่ บางทีก็ยาก โตขึ้นมา เราก็ค่อยๆ สอนๆ สอนเสร็จแล้ว เราก็ไปสู่ความสะอาด จิตสะอาด ในภายหลัง ทีนี้ ถ้ายิ่งมาสอนผิด เช่น มาเจออาจารย์ที่ สั่งสอนผิด อย่างที่ยกตัวอย่างมา ก็ไปกันใหญ่ ก็เป็นมิจฉาทิฏฐิเพิ่มมากขึ้น

ข้อ ๓ ถามว่า วิธีทำให้หมดมิจฉาทิฏฐิ โดยเฉพาะ คนที่ยึดมิจฉาทิฏฐิจัด เช่น พระภิกษุ ที่อุดม ด้วยลาภ ยศ ทำได้หรือไม่ หรือต้องปล่อยให้ตายไปเอง

คุณสมมุติมานี่ ต้องเอาตามที่คุณกำหนด คุณกำหนดว่ามิจฉาทิฏฐิจัด ยกใครไม่ยก เช่น พระภิกษุเสียด้วย เช่น พระภิกษุที่อุดมด้วยลาภ ยศ ทำได้หรือไม่ ก็สมมุติมาจัดเสียนี่ มิจฉาทิฏฐิจัด ถ้ามิจฉาทิฏฐิจัด มันก็แก้ยากนั่นแหละ ก็มิจฉาทิฏฐิมันเป็นตัวต้นทาง ก็บอกแล้ว ถ้าไม่สัมมาทิฏฐิ ก็ยิ่งมิจฉาจัดด้วย จะไปแก้ได้ยังไง สมมุติมายังงั้น

เอาละ อาตมาก็ได้ตอบข้อพวกนั้นไปพลางๆ ได้พอสมควรแล้วนะ ทีนี้ต่อไปอีก วันนี้จะได้อีก สัก ๒ ข้อ ๓ อีกจะได้ไหม อันไหนสำคัญที่จะเจาะย้อน เจาะลึกไปหน่อย อันไหนไม่สำคัญ อันช่วงไหน พอจะผ่านๆไป จะผ่านไปก่อน

๒.ภาคยัญพิธี ยิฏฐะ หรือยิฏฐัง นี่นะ คือยัญพิธีที่บูชาแล้ว ถ้าเผื่อว่า ผู้ใดเห็นว่า นัตถิ ยิฏฐัง เห็นว่ายัญพิธีที่บูชาแล้ว ไม่มีผล ที่คนนั่นเห็นว่า ยัญพิธีทำไปก็ไม่มีอะไรหรอก ไม่มีดีไม่มีชั่ว ไม่มีผิด ไม่มีถูกอะไรหรอก ยังงั้นน่ะ มิจฉาทิฏฐิ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ ถ้าคนที่ไปเห็นว่า ยัญพิธี เขาบูชาแล้ว แล้วมีผล แต่ว่า ไม่รู้เรื่องว่า ยัญพิธีที่บูชาแล้ว เป็นกรรมกิริยา เป็นยัญพิธีที่ส่งเสริม ให้เจริญ หรือส่งเสริมให้ตกต่ำงมงาย ก็ไม่รู้ มันก็มีผลทำให้เสื่อมเหมือนกัน ถ้าชัดเจนว่า ยัญพิธี นั้น บูชาแล้วมีผลถูกต้อง มีผลเป็นสัมมา มีผลเป็นกุศล มีผลดี ดีอย่างหยาบๆ อย่างกลาง อย่างละเอียด อย่างไรก็แล้วแต่ เราก็ชัดเจน ชัดเจนเท่าไหร่ เป็นสัมมาทิฏฐิมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งพา เราเจริญมากเท่านั้น

ยัญพิธีทิ้งไม่ได้หรอก มีในโลก ต้องมียัญพิธี เพราะฉะนั้น ยัญพิธีที่เหลวไหล ต้องเลิกไปเลย บูชาแล้ว เป็นผลเสีย เป็นผลเสื่อม เป็นผลร้าย เราก็เลิก ยัญพิธีใดบูชาแล้ว ทำอย่างไร ทั้งกาย วาจา ใจ จะให้ทำใจทำกาย ทำอย่างไร จึงจะมีผลเจริญ ก็บอกกันแนะกัน เพราะฉะนั้น ยัญพิธี ก็มีประโยชน์ ยัญพิธีบูชา ภาษาบาลีเรียกว่ายิฏฐัง เป็นตัวกรรมกิริยาของยัญพิธี เป็นกิริยา ของมนุษย์ ที่ก่อขึ้นมาเป็นกิจ เป็นรูปแบบ เป็นพิธีการ หรือจารีตประเพณี อย่างใด อย่างหนึ่ง รวมถึง วัฒนธรรมของแต่ละหมู่กลุ่มด้วย ยัญพิธีเป็นรูปแบบ วิธีที่ผู้รู้สร้างขึ้น เป็นองค์ประกอบ กิจกรรมที่จะช่วยให้มีผลมีประโยชน์ ในโลก มีสิ่งเหล่านี้อยู่ มีเรื่องของยัญพิธี มาตั้งแต่สมัยเป็น คนป่า แต่ต่อมาคนเราเข้าใจถึงสาระมากขึ้น การติดยึดน้อยลง ยัญพิธีที่งมงาย ไร้ประโยชน์ หรือ ประโยชน์น้อย จึงมีแนวโน้มที่จะต้องลดลง ตามความเข้าใจของคน ที่มุ่งประโยชน์ แก่นสาร มากกว่าเปลือก ส่วนยัญพิธีที่มีประโยชน์ มีคุณค่า ก็จะมีมากขึ้น เพิ่มขึ้น เป็นแก่นสารมากขึ้น

สมัยพุทธกาล เมื่อพระพุทธองค์สร้างศาสนาใหม่ๆ ได้ใช้จุลศีล มัชฌิมศีล มหาศีล เป็นพระธรรมนูญ ของพระพุทธศาสนา พระพุทธองค์กำหนดศีลให้พุทธบริษัทละเว้น เว้นออก เว้นขาด แม้แต่ในเรื่องของพิธีบูชาต่างๆ เช่น น้ำมนต์ เวียนเทียน จุดไฟ จุดควัน เจิม ลงเลขยันต์ คุ้มกันบ้านเรือน เป็นต้น ผู้ปฏิบัติได้ ตามคำสอนพระพุทธองค์ อย่างบริสุทธิ์บริบูรณ์ ตัดขาด ไม่ติดยึด เว้นขาดได้ แม้แต่ใจก็ไม่อาลัยอาวรณ์ และองอาจแกล้วกล้าบริสุทธิ์ ทั้งภายนอก ภายใน ก็มีอยู่ เป็นอนาสวะ ผู้นั้นก็ย่อมจะไม่ทำพิธีบูชา หรือยัญพิธีตามรูปแบบ ที่ตนพ้นมาแล้ว ผู้ที่ยัง ทิ้งไม่ได้ ยังไม่พ้น พระพุทธองค์ก็ต้องทรงยอมอนุโลมให้บ้าง เช่น ฆราวาสบางคน เช่น พระเจ้าปฏิเสนทิโกศล หรือพระเจ้าพิมพิสาร เป็นต้น ถึงกระนั้น ก็ต้องนับว่า ในสมัยพุทธกาล ศาสนาของ พระสมณโคดม มีรูปแบบของพุทธประเพณี ซึ่งแตกต่างจากพิธีบูชา ที่ลัทธิอื่น กำหนดเป็นพิธีศาสนา ยัญพิธีที่ทรงอนุโลมนั้น เป็นเรื่องน้อยครั้ง เป็นเรื่องจำใจ จำเป็นต้อง ปล่อยให้ทำไปก่อน เพราะขัดไม่ได้จริงๆ จึงต้องยอมให้ ยกให้เป็นราชพลีบ้าง เป็นเปรตพลีบ้าง ฯลฯ เพราะเกินกว่าจะทัดทานได้แล้ว แต่มิใช่เป็นสิ่งที่พระพุทธองค์ ทรงทำประจำ จนเป็นกิจวัตร ขนาดเรียกได้ว่า เป็นพุทธประเพณี หรือพุทธจริยา หรือเป็นสิ่งที่จะเอามาเป็น แบบอย่าง เอามาทรงไว้ ในพระพุทธศาสนา หาได้ไม่

เอ้า ทวน อธิบายย้อนนิดหนึ่ง ยัญพิธีเช่นว่า รดน้ำมนต์ เป็นยัญพิธีแน่ ในจุลศีล มัชฌิมศีล มหาศีล โดยเฉพาะในมหาศีล ในมัชฌิมศีล ก็ดูเหมือนจะมีสิ่งเหล่านี้ มีของศาสนาใดๆ เขาทำกัน เยอะแยะ เรียกว่าสิญจนยัญ รดน้ำมนต์ ใช้น้ำเป็นสื่อ เขาทำกันเยอะแยะ อัคคียัญ ใช้ไฟเป็นสื่อ พระพุทธเจ้าห้าม ดูเหมือนในมัชฌิมศีลก็มีนะ แต่ในมหาศีล มีแน่ๆ ท่านตรัสไว้ เป็นธรรมนูญของ ศาสนาพุทธเลย เพราะฉะนั้น ผู้ที่เป็นภิกษุ นี่เป็นศีลของเธอประการหนึ่ง เมื่อเป็นศีลของภิกษุประการหนึ่ง ก็ต้อง ละเว้น ต้องเว้นขาดพวกนี้ ไม่ใช่ให้มี

ในสมัยพระพุทธองค์ ไม่มีหรอก ไม่ทำ รดน้ำมนต์ เสร็จแล้วก็มีครั้งคราวอย่างที่ว่านี่ มีเหตุการณ์ ในพระไตรปิฎก มันจะมีเรื่องราวที่ท่านอนุโลม ยอมๆ ยอมพระเจ้าพิมพิสาร ยอมพระเจ้า ปเสนทิโกศล หรือยอมเศรษฐีใหญ่ๆ ยอมผู้มีฤทธิ์ มีเดชทางโลก ก็ต้องยอมเขาบ้าง อนุโลม เขาบ้าง หรือผู้ที่ติดยึดมากๆ แม้แต่ไม่ยิ่งใหญ่ เป็นฆราวาสบางคนที่เขาติดยึด ก็เอา ก็ยอมเขาบ้าง ไปหักโค่นเกินการก็ไม่ดี เพราะภูมิของเขายังไม่ถึง ก็ยอมปล่อยให้เขาบ้าง

และคนที่มายุคนี้ ไปเอาตัวอย่างที่พระพุทธเจ้าท่านจำยอมจำใจให้เขาทำ ซึ่งนานๆครั้ง ในพระไตรปิฎก บางทีมีครั้งเดียว อย่างพระเจ้าพิมพิสาร ไล่เปรตอะไรนี่ ครั้งเดียว เอามาเป็น เรื่องใหญ่ ที่จะมายกอ้างว่า ต้องอุทิศส่วนกุศลไปให้เปรตตลอดกาล เมื่อไหร่ก็ ยถา วาริวหา ปูรา ปริปูเรนติ เอากันอยู่ตลอดกาลนาน เห็นไหมว่า มันหลอก ไปเอาตัวอนุโลมมาเป็นตัวหลัก ไม่เอาตัวหลัก เป็นตัวหลัก มันก็เลยเละน่ะซิ นี่เพี้ยนกันอย่างนี้ เพราะฉะนั้น จะรดน้ำมนต์ ก็ดี จะทำพิธี เวียนเทียนก็ดี บูชาไฟ จุดธูป จุดเทียน ไม่มี

ขอยืนยันว่าในสมัยพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าไม่เคยพาจุดธูปจุดเทียน ท่านใช้ในมหาศีล นั่นว่า ใช้น้ำมันเปรียง บูชาไฟ ใช้กำยานบูชาไฟ กำยาน นี่ใช้ควัน ใช้ขี้เลื่อย ก็เหมือนทำธูปเดี๋ยวนี้ เอามาปั้น แต่ก่อน เขาใช้ขี้เลื่อย เป็นควัน บูชาควัน บูชาเปลว ไฟเปลว น้ำมันเปรียง ใช้น้ำมันเนย มีเป็นคำๆ แปลได้โดยตรงเลยนะ ในมหาศีล ท่านบอกให้ละเว้น สมัยนี้ แม้ไม่เป็น น้ำมันเปรียง น้ำมันเนย ก็เอาเทียนไข ไปเอาเทียนขี้ผึ้งมาทำเป็นแท่ง จุดไฟ อย่างนี้ก็ตาม มันก็ไม่ให้ทำอยู่นั่นแหละ ก็อันเดียวกันนั่นแหละ ที่ท่านให้ละเว้น ให้เว้นขาด มีใครทราบไหม แล้วเอามาทำหมด นี่เป็นสิ่งที่ผิดยัญพิธี พิธีที่ประกอบด้วยสิ่งเหล่านี้ จะจุดไฟ จะจุดควันอะไร จะเจิมนี่ เจิมใหญ่เลย อาตมาไม่ได้ว่าใครนะ อาตมาว่าคนเจิม เจิมอยู่นั่นแหละ ซึ่งนอกรีต นี่ยัญพิธี มันพางมงาย พระพุทธเจ้าท่านพาหยุดมาแล้ว เขามีมาเก่า คนอื่นเขาทำมา ศาสนาลัทธิใดๆ เขาทำมา และท่านก็พาหยุดมาแล้ว เสร็จแล้ว มาทำใหม่เสียนี่ เดี๋ยวนี้ มาทำใหม่หมดนะ

ได้ผลประโยชน์ อาตมาไม่ได้ว่านะ คุณว่าเอง แค่นั้นก็พอแล้ว ไม่ต้องไปถล่มกันมากกว่านั้น หรอก มันผิด มันเพี้ยนหลายๆอย่าง นี่ยกตัวอย่างเท่านั้น เป็นต้นนะ

นี่สมัยพุทธกาลท่านก็สอนอย่างนี้มา เดี๋ยวนี้ มันก็เพี้ยน มันก็เลยเลอะเทอะ ยัญพิธีเป็นอย่างนั้น มีอื่นๆ อาตมายังไม่ขยายต่อ

ยัญพิธีที่มีผลมาก ตอนนี้อ่านอันนี้ เอามาจากพระไตรปิฎก เมื่อกี้นี้อธิบายบรรยายเอาไว้ ในหนังสือ สมาธิพุทธ อันนี้ตัดมาเล็กๆ น้อยๆ เอาเฉพาะที่ ใช้งานเท่านี้แหละ

มหายัญที่มีการตระเตรียมมาก มีการฆ่าแพะ แกะ โค และสัตว์ชนิดต่างๆ คือ อัศวเมธ คือ ฆ่าม้าบูชายัญ ปุริสเมธ ฆ่าคนบูชายัญ สัมมาปาสะ ผูกสัตว์บูชายัญ วาชเปยยะ ผูกปศุสัตว์ ๑๗ ชนิดบูชายัญ นิรักขระ ยัญที่ไม่ต้องมีหลักสำหรับบูชา มหายัญเหล่านี้ เป็นยัญไม่มีผลมาก (เพราะพระพุทธเจ้า) เป็นต้น ผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ ผู้ดำเนินปฏิปทาอันชอบ ย่อมไม่เข้า ไปใกล้ยัญนั้น สำนวนว่า ไม่เข้าไปใกล้นี่ ไม่ใช่ว่าพระพุทธเจ้าเข้าไปใกล้ไม่ได้ เข้าไปใกล้ได้ แต่สำนวนนี้ หมายความว่า จะเอามาเกี่ยวข้อง พระพุทธเจ้าไม่เอามาเกี่ยวข้อง ยัญส่วนใด มีการตระเตรียมน้อย ไม่มีการฆ่าแพะ แกะ โค และสัตว์ชนิดต่างๆ ซึ่งบุคคลบูชา สืบตระกูล ทุกเมื่อ พระพุทธเจ้าเป็นต้น ผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ ผู้ดำเนินปฏิปทาอันชอบ ย่อมเข้าไป ใกล้ยัญนั้น เพราะฉะนั้น ยัญพิธีใด ที่มีคุณค่า มีประโยชน์ พระพุทธเจ้าก็พาให้เกี่ยวข้อง พาให้ทำอยู่ ผู้มีปัญญา ควรบูชายัญนั้น ยัญนั้นเป็นยัญที่มีผลมาก เมื่อบุคคลบูชายัญนั้น นั่นแหละ ย่อมมีแต่ความดี ไม่มีความชั่วช้าเลวทราม ยัญก็เป็นยัญอยู่อย่างไพบูลย์ และเทวดา ย่อมเลื่อมใส

อย่างพวกเรากำลังมาบูชายัญกัน ยัญแปลว่า พิธีการ นี่เรากำลังมาทำพิธีการปลุกเสก นี่มีคน จะมาเมื่อวานก่อน หรือมาเมื่อวานนี้ มาเล่าให้ฟัง มาจากต่างจังหวัด จำไม่แม่นแล้ว เอ๊ ใครเล่าให้ฟังว่า จะมาปลุกเสกว่างั้น แหม เขาฝากพระใหญ่เลยพระเครื่อง บอกช่วยไปเอาเข้า พิธีด้วยซิ บางคนก็ฝากสตางค์ ช่วยซื้อมาให้ด้วย เช่ามาให้ด้วยนะ จะมางานปลุกเสก บอกเพื่อนๆ เพื่อนฝากพระมาให้เข้าพิธี และก็ฝากเงินจะให้มาซื้อมาเช่า บอกเปล่าๆ ไม่ได้ มาปลุกเสกแบบนั้น จะมางานปลุกเสก นี่เรางานปลุกเสก แต่ปลุกเสกอย่างเรา จะไม่เหมือนกัน

นี่แหละ ยัญพิธีที่มีคุณอันใหญ่ มีผลอันมาก ใครไม่เชื่อก็อย่ามา ยัญพิธีนี้ ไม่เชื่อก็อย่ามา ใครเชื่อก็มา ก็แล้วกันนะ มีผล ยัญพิธีอันนี้ ย่อมมีผลใหญ่ มีผลมาก เป็นยัญที่มีผลมาก เมื่อบูชายัญนั้น มีแต่ความดี ไม่มีความชั่วช้าเลวทราม ยัญก็เป็นยัญอย่างไพบูลย์ และเทวดา ย่อมเลื่อมใส ไม่เชื่อถามเทวดาดูซิ คุณพบเทวดาไหม นั่งอยู่ข้างๆ นี่ รู้ไหม ใครเป็นเทวดา ใครเป็นยักษ์ ผู้ที่มีญาณปัญญาแท้นั่นน่ะ เป็นสัมมาทิฏฐิ นั่นคือเทวดาแล้ว ยิ่งลงมือปฏิบัติ ละลด กิเลสให้ตัวเอง เกิดใหม่เป็นอุบัติเทพ เป็นเทวดาที่เกิดจริง เกิดจากการตายๆ กิเลสตาย เกิดจากโลกสังสารวัฏ ที่เป็นสังสารวัฏโลกียะ เกิดจริงๆ เกิดใหม่ จิตวิญญาณ เกิดจริงๆ นั่นแหละ เทวดา คุณมีจิตวิญญาณไหมเล่า คุณทำจิตวิญญาณของคุณให้เป็นอย่างนี้ เป็นโลกใหม่ โลกปรโลก โลกยังงี้พระพุทธเจ้าท่านพาเป็น แล้ว เทวดานี่แท้ ไม่ใช่เทวดาเลว เทวดาร้าย เทวดาต่ำ ไม่ใช่เทวดาหลงๆ เป็นสมมุติเทพ เป็นอุบัติเทพ คุณทำสะอาดขึ้นมา เป็นวิสุทธิเทพเลย นี่เทวดา ถามเทวดานั่งอยู่ข้างๆนี่ คุณเชื่อว่าคนไหนเป็นเทวดาล่ะ เทวดาย่อมเลื่อมใส นี่เราจะรู้เทวดา เราจะมีตาทิพย์ รู้เทวดาที่แท้ อย่างน้อย รู้เทวดาในตัวเรา เราก็เป็นผู้ ตาทิพย์แท้ ยิ่งเห็นคนอื่น เข้าใจเลย อยู่ร่วมกันแล้ว เราก็เข้าใจ คนนี้ๆ มีจิตเป็น เทวดา มีจิตเป็นผีนรกอะไร เราก็มีตาทิพย์คบกันคบคุ้นกันด้วยศีล ด้วยการอยู่ร่วมกัน ด้วยการ เข้าใจกรรมกิริยา ด้วยการรู้จักบาป รู้จักบุญ ผู้ใดที่ทำบุญบริสุทธิ์ ไม่ใช่ทำบาปบริสุทธิ์นะ ทำบุญบริสุทธิ์ จริงๆ วันๆ คืนๆ เขาตั้งใจไม่ตั้งใจ ก็เป็นบุญของเขา ก็เป็นตถตา เขาเป็นอย่างนี้ เองแหละ เขาเป็นเช่นนี้ๆแหละ ก็กรรมกิริยา เป็นยิ่งกว่าสันดาน เป็นบารมีของเขา เขาก็เป็น อย่างนี้แหละ เป็นคนสะอาดบริสุทธิ์ เป็นคนที่มีกุศลยังงี้

เราก็จะรู้ด้วยการคบคุ้น ด้วยการโอภาปราศรัย ด้วยการรู้หลักวิชา รู้ทั้งปริยัติ รู้ทั้งหลักเกณฑ์ และ ก็ทั้งได้เทียบได้วัด ตัวเพื่อนฝูงที่อยู่ด้วยกัน เออ คนนี้เป็นเทวดาแท้ๆนะ เราก็จะรู้เทวดา เป็นอย่างไร เราเป็นเรารู้เรามี และแม้เราไม่เป็น ยังไม่ได้ แต่เพื่อนได้ เรามีหลักวิชา ก็สามารถวัด พอได้ เป็นเครื่องวัด มีหลักวิชา มีหลักการของพระพุทธเจ้าสอนไว้ เอาทฤษฏีเอาหลักการ ของ พระพุทธเจ้าไปวัดบ้าง อยู่ด้วยกัน เออ ไอ้คนนี้เข้าหลักการ เข้าช่อง เหมือนกับ คุณรู้ว่าอาตมาดี เหมือนคุณรู้นี่แหละ อ้าวยกตัวอย่างง่ายๆนะ ก็คุณยังไม่เก่งกว่าอาตมา ยังไม่ได้ดีเท่าอาตมา แต่เออ เห็นว่า ยังงี้เข้าหลักแฮะ ฟังพระไตรปิฎก ฟังหลักของพระพุทธเจ้าเข้าหลักการ มากกว่าเรา เออ ท่านทำได้ วันนี้ก็ใช่ วันนั้นก็ใช่ เออ ท่านเป็น จนกระทั่งเป็นตัว โดยอัตโนมัติ เลย นะ เป็นเอง เป็นสยังอภิญญา เป็นอภิญญา ของตนเอง เป็นความเก่งของตนเอง เป็นความได้ดี ของตนเอง เป็นตถตา ท่านก็เป็นอยู่อย่างนี้ เป็นเช่นนี้เอง เป็นเองของท่าน ไม่มี ใครบังคับ และเป็นอยู่อย่างนั้นเองนะ มันก็เป็นเช่นนั้นแหละ เป็นอยู่อย่างนั้นแหละ เป็นตถตา เป็นสัจจะ

ตถะแปลว่าแท้ แปลว่าจริง ท่านเป็นจริงๆ ท่านไม่ได้เสแสร้ง ตถตานี่ไม่ได้เสแสร้ง ตถะแปลว่า จริง แปลว่าแท้ ท่านเป็นแท้ๆ ท่านเป็นจริงๆ ไม่ได้แกล้ง ไม่ได้เสแสร้ง เป็นอยู่อย่างนั้นแหละ เป็นดี เป็นบริสุทธิ์ เป็นสะอาด เป็นคนไม่มีความโลภ เป็นอยู่อย่างนั้นแหละ เราก็จะรู้ จริงๆ ยืนยันกันได้ ยิ่งนานวันนานปี นานเดือนมา ก็จะยิ่งชัดเจนนะ

เอ้า ทีนี้ การบูชา มีการบูชาด้วยอามิส ก็คงไม่ยากนัก เพราะเราฟังอามิสทานมาแล้ว การบูชา ด้วยธรรมะ ก็คงใจไม่ยาก บูชาด้วยความรู้ บูชาด้วยความถูกต้อง บูชาด้วยจิตบริสุทธิ์ขึ้น บรรดา การบูชาสองอย่างนี้ การบูชาด้วยธรรมะเป็นเลิศ ยิฏฐัง แปลว่าการเซ่นสรวงแล้ว การบูชาแล้ว หรือ ได้บูชา (มาจากยชะติ แปลว่า บวงสรวง หรือบูชายัญนี่แหละ หรือให้ทาน หรือ ให้รางวัล ยิฏฐังนี่) ถ้าบูชาแบบยัญ ก็หมายถึง ๑.การบูชา หรือสังเวย พวกพราหมณ์ ๒.ถ้าการถวายทาน การทำกุศลทาน ที่ถวายแก่พระสงฆ์หรือภิกษุ นี่ ถวายทาน ก็คือการบูชาเหมือนกัน

พิธีทางพราหมณ์ ในยุคพระเวท ได้มีความหมายที่เปลี่ยนแปลงไป และ ลึกซึ้งยิ่งขึ้น ทางพุทธ ได้สลัดรูปภายนอก ซึ่งทารุณออกเสีย และขยายขอบเขตให้กว้างขวางออกไป โดยเปลี่ยน ผู้เข้าร่วมพิธี วัตถุประสงค์ ตลอดจนถึงแนวทาง และวิธีการของการบูชา ดังนั้น ยัญในพิธี ประกอบด้วย การให้อันเหมาะสม และแก่ผู้ขอรับที่เหมาะสม กระทั่งถึงการถวายทาน แก่ภิกษุ การบริจาค ปัจจัยที่จำเป็น ของภิกษุ

อันนี้ เป็นคำขยายความที่อาตมาคัดมาจากพจนานุกรมบาลีไทย อังกฤษ ฉบับภูมิพโลภิกขุ ก็มีการอธิบาย ประกอบบ้าง อาตมาก็เห็นว่า ก็ดีเหมือนกัน ไปตรวจสอบตรวจทานอะไรมา ก็มาเรียบเรียง ทำความขยายบรรยายเอาไว้บ้าง เอามาประกอบพิธี ยิฏฐัง แปลว่าอะไร ต่ออะไรนี่ และการบูชานี่ ๑.การบูชา ๒.การถวายทาน เขาอธิบายความว่า ยัญญะ แล้วเขาก็ขยายความ อย่างนี้ อาตมาก็ลอกมา อย่างนี้ก็เข้าใจบ้างเหมือนกันว่า พิธีทางพราหมณ์นี่ ยัญพิธีทาง พรหมณ์ ในยุคพระเวท ได้มีความหมายที่เปลี่ยนแปลงไป มันเพี้ยนไปอย่างที่อาตมาว่า สมัยโบราณ มีพิธีที่ดี เป็นยัญพิธี สมัยโบราณ เขาก็คิดดี ผู้รู้เป็นผู้สร้างขึ้น เสร็จแล้ว มันฟั่นเฟือ มันสับสน มันปลอมปน มันก็เอาอะไรยัดเข้าไปๆ เปลี่ยนแปลงเข้าไป

ยกตัวอย่าง กฐิน อย่างนี้เป็นต้น พิธีทอดกฐิน นี้ โอ โบราณท่านสร้างไว้ ดูซิ เป็นยัญพิธีที่ดีนะ เดี๋ยวนี้ เป็นยัญพิธีที่เลว ทอดกฐิน พูดยังงี้ จับเข้าคุกอีกกะทงหนึ่งก็เอา ทอดกฐินทุกวันนี้ เป็นการ ทอดกฐินกระทะทองแดง เป็นบาป เพราะว่าล่าเงินล่าทอง เบียดเบียนน้ำใจคน มากมายเลย ทำลายศาสนา ทอดกฐินทุกวันนี้ ทำลายศาสนา แม้ว่าจะเกิดการศรัทธาเลื่อมใส ก็เกิดศรัทธา เลื่อมใสงมงาย อย่างงมงาย ทอดกฐินมื้อนี้ โอ้โฮ ชื่นใจจังเลย ได้เงิน ๑๐ ล้าน

กฐินแปลว่าสะดึง ที่สำหรับเย็บผ้า พระพุทธเจ้าอนุโลมให้เอาถวายกฐิน เพราะว่าพระขาด ผ้านุ่งห่ม สมัยโบราณกิจการทอผ้ายังไม่เจริญ ผ้าก็หายาก ขาดแคลน ทีนี้ผ้าจะใช้ พระภิกษุ ต่างๆ ท่านไม่ต้องไปเก็บเศษผ้าตกหล่นที่ไหนมา ผ้าจะได้ ผืนใหญ่หน่อย ก็ผ้าเขาห่อศพมาทิ้ง ก็ไปเอาผ้าห่อศพมาส่วนใหญ่ ถึงผ้าจะคลุกขี้ฝุ่น ขี้ฝอย ผ้าเขาทิ้งที่ไหน ก็แล้วแต่ ผ้าป่าคือ ผ้าห่อศพเป็นหลัก ผ้าเขาทิ้งเขาขว้าง ก็เก็บมา ชิ้นเล็ก ชิ้นน้อย ชิ้นใหญ่อะไร ก็เอามาเย็บต่อๆกัน เอามาก็เอามาเย็บให้มันได้ชิ้น ได้ส่วน ได้สัดหน่อย ไม่ใช่ โค้งๆ เว้าๆ เอามาต่อทั้งหมด เวลาจะเอาอันอื่นมาต่อมันจะเว้าๆ ยังงี้ได้ยังไง ก็ต้องตัด ให้มันเป็นชิ้นๆ เป็นเหลี่ยม เป็นชิ้น พอที่จะเย็บจะต่อกันได้ เศษๆก็ตัดทิ้งไป อาจจะเป็นรูป คางหมูมั่ง อาจจะเป็นรูป สี่เหลี่ยมบ้าง สี่เหลี่ยมจตุรัส สี่เหลี่ยมผืนผ้าอะไรก็มีบ้าง เย็บๆ ต่อๆ เป็นชิ้นๆ กว่าจะครบ ผืนใหญ่ ที่จะพอห่ม พอคลุม เป็นจีวร หรือเป็นสังฆาฏิ มันก็ต้องอาศัย สะดึง นี่แหละ ขึงไว้ เรียกว่า สะดึงกฐินนัง พระก็ทำอย่างนั้น

ทีนี้พอจะมาทอดผ้า คหบดี เออ เอาละ แทนกฐิน แทนผ้าที่จะมาขึง คอยเก็บเย็บ กว่าจะได้ผืน ในกฐิน สะดึง นี่ก็เอาผ้า คหบดีมาถวายก็เอา ตกลงทอดกฐินนี่แหละ ทอดกฐิน เหมือนพวกคุณ เรียกเสื้อกันหนาวนี่แหละ มันก็สั้นๆเข้า ใส่เสื้อหนาวก็ยิ่งหนาวใหญ่ซิ ที่จริงไม่ใช่ เสื้อกันหนาว แต่มาเรียกกัน เสื้อหนาว อย่าลืมนะเอาเสื้อหนาวไปหน่อยนะ แล้วกัน ยิ่งหนาวเอาเสื้อหนาว ไปใส่ ก็ยิ่งหนาวใหญ่

ทอดกฐิน ก็เหมือนกัน สิ่งทอดแทนกฐิน ทอดแทนสะดึง เอาผ้าคหบดีมาทอด เอาผ้าที่ซื้อมา หรูๆ หราๆ เอามาใหม่เอี่ยมเลย เอามาทอดถวายให้พระ มีเงินมากก็ถวายจีวรหลายๆชุด เสร็จแล้ว พระก็มีพระเยอะ นี่ขาดแคลนเยอะ ก็ต้องเอามากรานกฐิน ก็เอามาถามไถ่กัน มีประธาน เอ้า สงฆ์ท่านผู้ใด เหมาะจะได้อันนี้ เดี๋ยวนี้เจ้าอาวาสรับองค์เดียว

สมัยโบราณ กรานกฐิน นี่ต้องมาถามกัน องค์ไหน ท่านเห็นสมควร องค์ไหนควรจะได้ เหมาะสม ที่จะได้ มันมีไม่พอกันก็แบ่งกัน องค์ไหนควรได้ก่อน ก็ว่ากันไป แจกกันไป ถ้ามีได้ครบ ก็แจกกันครบ คนไหนสมควรก็คนนั้น นี่ เรียกว่า กรานกฐิน

สมัยนี้ละ เจ้าประคุณเอ๋ย ได้เท่าไหร่ ปีนี้ได้มากเท่าไหร่ ก็ยินดีเท่านั้น มันเป็นการไปล่าเงิน เป็นวิธีหาเงิน และก็พูดอานิสงส์สูงยังโน้นยังงี้ อะไรไปเพื่อให้เขาเอามาทำทาน เงินมากอบ มากองให้มากๆ เป็นวิธีหาเงิน ทำให้เดือดร้อนมากมายเลย พระก็ยิ่งหลงไปกับเงินกับทอง ฯลฯ.. นี่ยัญพิธี อย่างนี้ ยกตัวอย่าง กฐินอย่างนี้ เป็นต้น

อาตมาเลิก ใหม่ๆอาตมาลองดู ทอดกฐิน เอาให้ดีนะ ให้มันถูกต้องนะว่ายังงั้น โอ้โฮ หนักเข้า ไม่รู้ว่าอาตมาทอดครั้งที่ ๓ นี่นะ ที่แดนอโศก ก็ปิดเลย ก็ใส่กระบุง ใส่ตะกร้า เอาเข่งใส่ปิดมา มาถึงปั๊บ ยกต้นเงินต้นทอง ต้นธนบัตรนะ ก็ตั้งปุ๊ปกลางศาลาเลย อ้าว ก็ไหนพยายามจะ ทอดกฐิน จริงๆ ไปเอาเงินเขามาอีกแล้ว อาตมาไม่พูดเลย เลิก อาตมาทอดอยู่ ๓ ครั้ง บอกพยายาม ทอดให้มันดี ทอดอย่าให้มันเบี้ยว อย่าให้มัน...ขนาดพวกเรา พูดกันรู้เรื่องนะ ยังอดไม่ได้ ทนไม่ได้เลย อาตมาเลยบอกว่า ถ้ายังงี้ละก็ เลิกเลยทอดกฐิน เพราะอาตมา ไม่ได้ขาดแคลนผ้าอะไร มีผ้านุ่งผ้าครอง ผ้าใช้สมบูรณ์ ไม่ขาดแคลนหรอก ไม่เดือดร้อน

เพราะฉะนั้น เรื่องกฐิน นี่เป็นเรื่องอนุโลมเท่านั้น พระพุทธเจ้ายอมให้ทอดเดือนเดียว เอ้าอนุโลม เธอภายใน ๑ เดือน จัดการทอดๆ ไป เกินกว่านั่น ทอดกฐินไม่ได้ ทอดได้เดือนเดียว ท่านไม่ตั้งใจ ที่จะให้มาใช้กันยืดยาว ยืดเยื้ออะไร นี่เป็นเจตนารมณ์ของพระพุทธเจ้า เพราะฉะนั้น ในเดือนนั้น ทอดได้ก็ได้ ทอดไม่ได้ก็เลิก เดี๋ยวนี้ไม่ได้ โอ วัดนี้ตกกฐิน ต้อง แหม อย่างโน้น อย่างนี้ ทำเป็นว่า ที่แท้ตกก็ช่างมันปะไร ไม่ได้เดือดร้อนอะไร แต่เดือดร้อนไม่ได้เงินนั่นซิ นี่ๆ มันยุ่งตรงนี้ เอ้า ว่าไปก็ยาวความไป ยังงี้เขาจะเอาตายนี่ อาตมาพูดความจริงกันอย่างนี้ เขาถึงจะเอา อาตมาตาย

มันเป็นเรื่องเหลวไหล มันเป็นเรื่องผิด มันเป็นยัญพิธีที่ไม่ดี เราก็เลิก พระพุทธเจ้าไม่เคยสั่งว่า อย่าเลิกนะ ยัญพิธีหรือการทอดกฐินนี่ เป็นจารีตประเพณีทีดีอย่าเลิกนะ ท่านไม่เคยห้าม และ อาตมาดู พุทธประสงค์ ดูพระเจตนาของพระพุทธเจ้าแล้วด้วยว่า ไม่ได้เจตนาที่จะให้ทำ ถาวรอะไร ให้ทำกันแค่เดือนเดียว และทำแล้วก็แล้วไป ไม่ได้ทำก็ไม่เป็นไร อนุโลมให้แก่ผู้ที่ เขาจะทำเท่านั้น และเดี๋ยวนี้ มันบานเบิกบานปลาย กลายเป็นเรื่องวุ่นวาย โอ้โฮ พอหน้ากฐินที ก็แจกซองกัน หลบซองกัน ถึงเขียนการ์ตูน โอ้โฮ หลบใต้โต๊ะเลย กระสุนซองกฐิน มากัน มันเอือมระอาเต็มที มันไม่ไหว เพราะฉะนั้น หยุดทอดกฐิน พวกคุณไม่ต้องมาทอดกฐิน สบายใจ กันไปตั้งเยอะตั้งแยะ ใช่ไหม ทางโน้นเขาทอดกฐิน คุณก็บอกปัดได้เลย ไปคนละเรื่องไปเถอะ เราไม่เอาด้วย มายังงี้ พวกอาตมาขาดแคลนผ้านุ่งผ้าห่มนักเหรอ ไม่ต้องทอดกฐินน่ะ

ทอดผ้าป่าก็ไปหาเงินอีกเหมือนกัน ทั้งๆที่ผิดเพี้ยนหมดเลย ไม่ต้องพูดต่อแล้ว หมดเวลาแล้ว นี่ยกตัวอย่าง ให้ฟังนะว่า การบูชาที่มันผิดเพี้ยน ในสมัยพราหมณ์ น่ะทำดี แต่เสร็จแล้ว มันเพี้ยนไป มันเปลี่ยนแปลงไป ก็เลยต้องมาสลัด มาเลิกสิ่งที่ทารุณ สิ่งที่ไม่เข้าท่า สิ่งที่มัน ขยายขอบเขต ให้กว้างออกไป จนกระทั่งไม่เข้าท่า เราก็เปลี่ยนหมดนะ เปลี่ยนทั้งพิธี เปลี่ยนทั้ง แนวทาง ที่มันไม่เข้าเรื่อง อันใดตัดได้ก็ตัดเลย

เพราะฉะนั้น ถ้าจะถวายทาน จะเป็นทานผ้า เอาผ้ามา มาทาน มาถวายพระ มันก็เป็นยัญพิธีได้ และก็อะไรหลายๆอย่าง มันก็ทำได้นะ ที่มันยังเป็นยัญพิธีที่ดี หรือว่าเป็นยัญพิธีอะไรอื่นๆ ที่เราทำอยู่ ตักบาตรเทโว เราก็ทำกันอยู่ นะ อะไร ยัญพิธีอะไรบ้างล่ะของศาสนา พระพุทธเจ้า ที่มีกันมา ทำวัตรสวดมนต์ ทำอะไรพวกนี้เราก็มี ที่มันเป็นยัญพิธีที่พาให้เจริญ พาให้ดี เราก็รักษา และมันให้เข้าหาแก่น งานวันวิสาขบูชา หรืองานวันมาฆบูชา อะไรต่างๆ นานา พวกนี้

สมัยพระพุทธเจ้า ก็มีแต่เทศน์ ขนาดพระอรหันต์มาพบพระพุทธเจ้า วันมาฆบูชา ทำอะไร เทศน์ ท่านก็เทศน์ ที่สำคัญ ให้ดีๆให้เหมาะสม วันสำคัญ ก็เท่านั้นเอง ฯลฯ.. เพราะฉะนั้น การบูชา หรือว่ายัญพิธีมีผล ผลเสียหรือผลดี ถ้าผลดี เราก็ทำไว้ยังไว้ มันขาดไม่ได้ ยัญพิธีมีผล ยิ่งปฏิเสธ พวกที่เป็นอุจเฉทเสียส่วนใหญ่ นี่ พิธีไม่มีผลหรอก พวกอกรรมกิริยา หรือ พวกนัตถิก กิริยา ทำไม่เป็นอันทำหรอก มาทำอันนี้ก็ยังงั้นแหละ ทุกสิ่งทุกอย่างมันว่าง ทุกอย่าง ไม่มีตัว ไม่มีตน ทุกอย่างไม่มีของเราของเขา ดีชั่ว สมมุติทั้งนั้น พวกนี้พวกไม่มีบุญ ตั้งแต่ ต้นทาง มีบาปเป็นกองแต่ต้นทาง พวกนี้ไม่รู้บาปไม่รู้บุญ แล้วก็จะเอาแต่ใจตัวเอง ชอบอะไรก็ทำ มีสามัญสำนึก ที่จะละจะลดบ้าง ก็ไปตามสามัญ ไม่เรียนรู้กิเลส ไม่รู้เรื่อง พวกนี้หนักไปทาง อุจเฉททิฏฐิ มีความเห็นขาดสูญ ไม่มีเกิด ไม่มีตายอะไรหรอก มันเรื่องธาตุ หมุนเวียนไปมา ไปอยู่กับไอน์สไตน์ ซะก็ดีนะ อยู่กับไอน์สไตน์ มีสสารกับพลังงาน ไม่มีชีวะ ไม่มีบุญ ไม่มีบาป ไม่มีกรรม ไม่มีอะไร เอาแต่ธาตุ วัตถุ พวกวัตถุนิยม เพราะฉะนั้น จะอยู่กับกรรมกิริยาของตัวเอง สนองอารมณ์เท่านั้นเอง ตายแล้ว ก็ไม่มีบาป บุญก็ไม่มี กรรมไม่เป็นอันทำ ไม่ต้องมีทาน ไม่ต้อง บุญอะไรหรอก พวกนี้ไม่ไหวเลย มีแต่บาปเป็นที่ตั้ง ไปไม่รอด เพราะฉะนั้น ก็เราก็ค่อยมาศึกษา ค่อยๆ กระทำ ค่อยๆเรียนไป

วันนี้ ได้ข้อเดียว ว่าจะเอาอีกข้อหนึ่ง บวงสรวง หมดเวลา เรานี่มีมากเหลือเกิน อาตมาถึงได้ บอกว่า อาตมาอายุร้อยปี นี่ไม่รู้จะพูดหมดหรือเปล่า อะไรนะ น้อยอะไรเล่า วันหนึ่ง ๒๔ ชั่วโมง เท่าเก่าละ วันเวลาก็ ๒๔ ชั่วโมง เท่าเก่า น้อยที่ไหน แต่อาตมามันมีเรื่องมากเองแหละเนาะ มันมีเรื่องเยอะที่จะพูด คงพูดจะหมดหรือไม่หมดก็แล้วแต่เถอะ แล้วก็ว่ากันไป เอาละ วันนี้ ก็ได้แค่นี้ก่อน

อาตมาตั้งใจจะอธิบายให้น้อยกว่านี้ที่จริง และมันตั้งใจแล้ว แต่มันไม่สำเร็จตามตั้งใจสักที ก็ขออภัย อย่ารังเกียจเลยนะ อย่าโกรธเลย ได้แค่นี้ เก่งแค่นี้ พอกันที

สาธุ


ถอด โดย ยงยุทธ ใจคุณ ๓๐ มี.ค. ๓๕
ตรวจทาน ๑ โดย เพียงวัน มั่นรักวงศ์ ๒๑ เม.ย.๓๕
พิมพ์ โดย สม.มาบรรจบ ๒๕ เม.ย.๓๕
ตรวจทาน ๒ โดย สม.ปราณี ๒๗ เม.ย.๓๕
จัดทำโดย โครงงานถอดเท็ป
:2312E.TAP