กว่าจะสัมมาทิฏฐิ ๑๐ ตอน ๕ หน้า ๒ ต่อจากหน้า ๑
โดย พ่อท่านสมณะโพธิรักษ์
เมื่อวันที่ ๒๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๕
เนื่องในงานปลุกเสกฯครั้งที่ ๑๖ ณ พุทธสถาน ศีรษะอโศก


ถึงขั้นนี้ จึงสรุปได้ว่า สังสาระคือสิ่งที่เราเรียกกว้างๆว่าโลกของเรา เมื่อใจเป็นตัวที่มีสังสาระ มันสังขาร มันปรุงแต่ง มันมีอะไรอยู่เป็นเนื้อหา ถ้าเนื้อหาบาป มันก็เป็นเนื้อหาบาป ถ้ามันแรง ออกมา จนกระทั่งถึงกายเรา มันก็ทำบาปออกมาถึงกาย ถ้ามันแรงออกมาถึงวาจา มันก็ออกมา ทำบาปทั้งทางวาจา อย่างนี้แหละเรียกว่าโลกของเรา ที่เราจะต้องดูแล ดูแลจนกระทั่งออกมา ทางกายกรรมแล้วนะ ทางวาจากรรมแล้วนะ ต้องดูแล ดูแลโลกของเรา อย่าให้โลกของเรา มันไปเที่ยวได้ไประเกะระกะ ทำบาป ทำกรรม สั่งสมทำสิ่งไม่ดี ไปดูดเอาแต่สิ่งไม่ดี หรือไม่ก็ ไปทำ สิ่งไม่ดีเป็นกรรม ไปทำให้อันอื่นๆ เขาระเนระนาด เสื่อมเสียอะไรนี่ ต้องตรวจตราดูแล โลกของเรา โลกของตัวเราแต่ละคน จะมีเนื้อหาสาระ หรือแก่นสารมากน้อยเพียงใด ขึ้นอยู่กับ ความคิดที่เป็นแก่นสาร การพูดที่เป็นแก่นสาร และการกระทำที่เป็นแก่นสารของคนผู้นั้นเอง ผู้ที่รู้สาระแล้ว ก็ทรงสาระนั้นๆไว้ ด้วยการพูด และการกระทำด้วยพฤติกรรมของตน ด้วยกิจกรรม ทุกชนิด ทุกบทบาท สาระก็ย่อมก่อตัวเกิดขึ้นมาได้ แต่ละคนจึงเป็นผู้สร้างสาระไว้ ให้แก่โลก ทำได้เพียงใด สละได้เพียงใด ทานได้เพียงใด พลีได้เพียงใด ก็เท่ากับเป็นผู้อุดหนุน ค้ำจุนโลก ไว้เพียงนั้น คนเกิดมาก็ต้องสร้างสาระอยู่ตลอดเวลา ทุกอิริยาบถ คนเราจึงได้ชื่อว่า มีสังสาระ ที่จริง สัง แปลว่า ประกอบ สังแปลว่าประกอบ

เพราะฉะนั้น ผู้ใดประกอบสาระ นี่เขากำลังขยายเนื้อความสาระ สาระแท้ๆ คือกรรมกิริยา หรือความดำเนินไปอยู่ ดำเนินไป ที่ทำวนๆนี่ก็คือ มันยังเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป เพราะฉะนั้น สังสาระ ถ้าเรารู้เนื้อหาความหมายเขาว่า เราจะประกอบเนื้อหาอะไร เนื้อหากุศล อะไรคือกุศลทางกาย กุศลทางวาจา กุศลทางใจ ใจรู้ก่อน ใจสั่ง ใจ มโนปุพพังคมา ธัมมา ใจเป็นประธาน

ถ้าเรายิ่งหยั่งรู้ใจเอง ควบคุมใจเองได้ลึก ได้แข็งแรงมากเท่าไหร่ ได้ด้วยปัญญาอันยิ่งเท่าไหร่ เราก็สามารถ สร้างสาระ หรือประกอบสาระออกมาเป็นบุญเป็นคุณ เป็นประโยชน์ได้มาก เท่านั้น ๆๆๆ เท่านั้น ใครเถียง มีไหม เถียงไม่ได้ ปรโลกก็อยู่ในนี้ ไม่ต้องถึงขั้นตายไป แล้วก็ไปหรอก ไอ้ตายไป มันก็ไอ้นั่นแหละไป ไอ้วิบากนี่แหละไป มันก็ไปแน่ๆ เพราะฉะนั้น ถ้าเข้าใจอยู่ตั้งแต่ เดี๋ยวนี้ได้แล้ว ไอ้หน้าที่ว่าตายแล้วค่อยไป ไม่ต้องเป็นห่วงหรอก ไอ้อย่างนั้น แต่มันมีแน่ มันมีแน่ อย่าไปตัดทิ้ง อย่าไปคิดว่าข้างหน้าจะไม่มี เพราะฉะนั้น ต้องระวังไปอีกนาน นานัปเลย

ถ้าเผื่อว่ายังไม่จบไม่สิ้น ยังไม่ปรินิพพาน โลกหน้าก็อยู่นี่แหละ อ่านหน้ามันให้ออก มันอาจจะอยู่ ตรงนี้ก็ได้ ก็อยู่ในกายยาววา หนาคืบ กว้างศอก พร้อมสัญญาและใจนี่แหละ เอ๊ ชักจะเห็นโลก ขึ้นมากันแล้วนะนี่ เห็นโลกขึ้นมานี่ เขาบอกว่า นกไม่เห็นฟ้า ปลาไม่เห็นน้ำ มนุษย์ไม่รู้ตัวเอง ไม่เห็นตนเอง ไส้เดือนไม่เห็นดิน เมื่อกี้ท่านองค์นี้ต่อ ไส้เดือนอีก ถ้าจะว่าไปเยอะไป หนอนไม่เห็นขี้ มนุษย์ไม่เห็นตนเอง นี่ มันเป็นอย่างนี้

แม้โลกก็อยู่ที่นี่ มันเห็นตนเอง เห็นโลกของตนเอง ว่าโลกของเรา เป็นโลกเบี้ยวหรือโลกดี เป็นโลกร้าย โลกนี่แหละมันเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป สังสาระดีหรือไม่ดี ทำสังสาระ ทำโลกเราให้ดี ทำให้เป็นโลกโลกุตระ เราเป็นคนของโลกโลกุตระ โลกที่เราสร้าง โลกที่เราทำ เรามีอำนาจ มีปัญญารู้โลกุตระ เราทำโลกุตระให้เกิด เราเป็นคนโลกุตระ เราสร้างโลก หรือ สังสาระที่วน ที่เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ที่เป็นโลกุตระ ที่เป็นคุณ ที่เป็นกุศล ที่เป็นสิ่งดี สิ่งประเสริฐ

ผู้ที่รู้สาระที่ดีแท้ สร้างสาระในโลก (สงสาร) คำว่าสงสารมาจากภาษาบาลี ผู้ที่รู้สงสาร จะเกิดอาการ มีแต่จะเห็นใจคนอื่น เพราะคนอื่นยิ่งมีสังสาระที่ร้าย ที่เลว ที่น่าช่วย เพราะฉะนั้น ผู้ที่สงสาร คือผู้ที่เห็นคนนี่น่าช่วยทั้งนั้น จึงเรียกว่าสงสาร คำว่าสงสาร แปลว่าอยากช่วยเหลือ ใช่ไหม สงสารในความหมายภาษาไทย ถ้าเจาะลึกลงไปถึงเนื้อพยัญชนะ สังสาระ ก็อธิบาย ไปแล้ว สังสาระคือสงสาร เกิด เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป แต่ทีนี้ คนทั้งหลายทั้งแหล่ ผู้รู้ ผู้เข้าใจ ผู้มีเมตตา ผู้ที่ไม่มีความชิงชังแล้วเห็นศัตรูก็สงสาร เพราะเห็นสังสาระของเขา มันยิ่ง น่าช่วยเลย เพราะเขาเจาะนรกให้ตัวเองนะ โอ้โห ท่านเจ้าคุณหนอเจ้าคุณ อย่างนี้เป็นต้น เจาะนรกให้ตัวเอง มันน่าสงสารจริงๆ ไม่ใช่พูดเล่น ไม่ใช่ใช้คารมนะ เห็นจริงๆ แล้วความรู้สึก นั้น เกิดจริงๆ ว่าน่าสงสาร มันน่าเพราะเขามีสังสาระที่เลวร้าย เขามีสิ่งที่เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ตั้งแต่จิต มันก็หานรก กรรมนี่ กายกรรมก็ทำสิ่งที่เป็นนรกเป็นอกุศล วจีกรรมก็พูดเมื่อไหร่ แหม ผีเจาะปากพูดทุกที ละลาบละล้วง พูดข่ม พูดดูถูกพระอริยะ เป็นต้น แล้วมันไม่นรกยังไง

พระพุทธเจ้าตรัสว่า ผู้ใดพูดดูถูก พูดว่า พูดด่าพระอริยะ ย่อมได้นรก ทุคติ วินิบาต พระพุทธเจ้า ก็ตรัสไว้ แล้วไม่ใช่เราเชื่อตามพระพุทธเจ้าด้วยเท่านั้น เรามีเหตุผล เรามีความเข้าใจว่า มันจริง นี่ อาตมาอธิบายถึงกันให้หมด ไม่ใช่ไปแกล้งตู่นะ แล้วเราก็เห็น อาตมารู้อย่างนี้ เข้าใจอยู่ อย่างนี้ แล้วก็เห็นอยู่อย่างนี้จึงสงสาร สงสารพูดภาษาไทย สงสารความหมายภาษาไทย น่าเมตตา น่าจะช่วยเหลือ แต่ช่วยไม่ได้ เจ้าประคุณเอ๋ย สุดทางจริงๆ จนด้วยเกล้า ช่วยไม่ได้ ไม่รู้จะช่วยยังไง พยายามหาวิธีช่วยก็เมื่อย เพราะฉะนั้น ช่วยคนที่จะช่วยได้มากกว่าก่อน เพราะคนนี้ ช่วยได้ยาก เสียเวลามาก ไม่คุ้ม ตกลงคนที่ควรจะมีโอกาส ได้โอกาส เลยเสียโอกาสเปล่า เพราะฉะนั้น คนนี้ปล่อยให้ผีกัดผีแทะไปก่อน ไม่ใช่โหดร้ายนะ

นี่ สงสาร ฟังดีๆนะ คุณจะเข้าใจความหมายมันลึกซึ้งขึ้นไปว่า มันมายังไง ไปยังไง จึงมาเรียกว่า สงสาร สังสารนี่ตัวเดียวกันเลย ไปถามเปรียญ ๙ เปรียญ ๑๘ ที่ไหนก็ได้ สังสาระกับสงสาร นี่ตัวเดียวกัน พยัญชนะเดียวกัน ความหมายเดียวกันหมด แล้วอาตมาแยกมาอธิบายให้ฟังแล้ว ว่ามันเป็นอย่างนี้ แล้วความรู้สึกของคนที่รู้สงสาร แล้วก็มีสงสาร เพราะฉะนั้น จะเกิดอาการ สงสาร ยิ่งเห็นคนที่ควรจะต้องช่วย นั่นแหละคือสงสาร เข้าใจนะ

ผู้ที่รู้สาระที่ดีที่แท้ สร้างสาระในโลก (สงสาร) ของตนเองได้แล้ว ผู้ที่ทำสาระของตนเองได้แล้ว สร้างโลก หรือสร้างสาระ ก็ย่อมมีเมตตา เห็นคนอื่นก็ปรารถนาดีที่จะให้คนอื่นมีสงสาร หรือ มีจิต ที่จะช่วยสร้างสาระให้แก่โลกรอบตัวด้วย ให้เขามีสงสาร ให้เขาสร้างสาระ ประกอบสาระ ที่ดีในโลกขึ้นมา ก็อยากจะให้เขาเป็น นั่นเรียกว่าอาการของจิต มันอยากจะให้เขาเป็น ปรารถนาดีกับเขา นั่นเรียกว่าสงสาร เพราะผู้มีสาระในตนแล้ว จะมีวิจารณญาณแยกแยะ และ พิจารณา สาระแก่นสารในโลกได้ คือรู้ความมีความเป็นสาระ และรู้ความไร้สาระ โดยไม่หลง วนเวียน ปรวนแปร ปั่นป่วน ความไร้สาระในโลกนี้คือ การใช้แรงงาน พลังงาน สร้างสิ่งที่ไม่เป็น สารประโยชน์ สร้างสิ่งที่ไร้คุณไร้ค่า หลอกลวง มอมเมา เร่งเร้าให้ตนเอง หรือผู้อื่นเกิดความโลภ ความโกรธ ความใคร่ ราคะ ได้ถึงขั้น หยาบๆ ต่ำๆ

ฟังให้ดีนะ นี่ มันขยายความ ประเดี๋ยวจะขยายผิดพลาด ผู้รู้น่ะ ความไร้สาระในโลกนี้คือ การใช้แรงงาน พลังงานสร้างสิ่งไม่เป็นสารประโยชน์ สร้างสิ่งไร้คุณค่า นั่นคือความไร้สาระ ในโลกนี้ ก็คือ การใช้แรงงาน ใช้พลังงาน สร้างสิ่งที่ไม่เป็นสาระประโยชน์ สร้างสิ่งที่ไร้คุณค่า หลอกลวง มอมเมา เร่งเร้าให้ตนเอง หรือผู้อื่นเกิดความโลภ ความโกรธ ความใคร่ ราคะ ได้ถึงขั้น หยาบๆ ต่ำๆ นั่นคือ ความไร้สาระในโลกนี้

ผู้รู้สาระแก่นแท้ ย่อมละความไร้สาระ และปรับปรุงชีวิตของตนสู่ สาระแก่นแท้มากขึ้นเรื่อยๆ ผู้สร้างสาระแก่นแท้ ถูกแล้ว ได้แล้วย่อมสอนผู้อื่นให้ละ ความไร้สาระ และสอนผู้อื่นให้ปรับปรุง ชีวิตของตนสู่สาระมากขึ้นเรื่อยๆ ที่ใช้คำนี้อยู่เรื่อยๆ ก็เพื่อที่จะให้มันเน้นเข้าไปหาคำว่า สังสาระ หรือ สงสาร สังสาระ ผู้ไม่รู้สาระแก่นแท้ พึงเรียนจากผู้ที่สามารถสร้างสาระแก่นแท้ ในตนเอง ได้สำเร็จแล้ว ผู้ที่ยังไม่ได้สร้างสาระแก่นแท้ในชีวิตของตน พึงทำตามแบบอย่างผู้ที่ปรับปรุง การดำเนินชีวิตของท่านสำเร็จเรียบร้อยแล้ว อันนี้ตัดมาจากสมาธิพุทธ

อาตมาอธิบายแทรกมาพอสมควรแล้วนะ ก่อนจะอ่านโลกหน้า กว่าจะถึงโลกหน้า มันยังมีอะไร อีกหลายอัน

เอ้า เอาให้หมด โลกนี้ ปโลกสูตร ไม่ใช่ ร ไม่มีร เรือนะ ไม่ใช่ว่า ตก ร เรือนะ ป ตัวเดียว ป ตัวเดียว ป ปะตัวนี้ แปลว่าทั่ว ปะตัวนี้ ป ปลาตัวนี้ แต่ทางบาลีเขาไม่เรียก ป ปลา เขาก็เรียกปะ ป ปะน่ะเขาไม่เรียก เขาเรียกปะ ปะตัวนี้ แปลว่า อย่างไปประกอบกับคำว่า กตะ (กะตะ) กตะ แปลว่าแล้ว ทำแล้ว ปกต (ปะกะตะ) ก็แปลว่า ทำทั่วแล้ว ปกต ปกติ ปกติก็หมายความว่า ทำทั่วแล้ว อย่างเป็นธรรมดา ทำทั่วแล้วอย่างสมบูรณ์ เพราะฉะนั้น คนที่มีปกติ ก็คือคนที่ ทำแล้ว อย่างเป็นอัตโนมัติ ทำแล้วอย่างไม่ต้องทำอีก มันก็เป็นอยู่อย่างนั้น ไม่ต้องทำอีก มันก็เป็นอยู่อย่างนั้น ทำแล้วจนทั่ว ปกติน่ะ ปกะ ป นี่ (ปะ) แปลว่า ทั่ว ปกตะ แปลว่าดี เรียบร้อย ปกัตตะ ป ก ไก่ ต เต่า ๒ ตัว ต. เต่าตัวหนึ่งสะกด ปกัตตะ อย่างนี้เป็นต้น ก็แปลว่า ดีหรือเรียบร้อย เพราะฉะนั้น ปโลก ก็แปลว่า โลกทั่วไป หรือว่าโดยโลกให้ครบให้ทั่ว ปโลกสูตร แปลว่า สูตรที่ว่าด้วยโลกให้หมดให้ทั่ว ว่าด้วยสิ่งที่เรียกว่าโลก

เล่ม ๑๘ ข้อ ๑๐๑ ครั้งนั้นแล ท่านพระอานนท์เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ครั้นแล้ว ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ที่เรียกกันว่าโลกๆ ดังนี้ ด้วยเหตุเพียง เท่าไรหนอ จึงเรียกกันว่าโลก พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรอานนท์ สิ่งใดมีความแตกสลาย เป็นธรรมดา นี้เรียกว่าโลกในอริยวินัย ก็อะไรเล่า มีความแตกสลายเป็นธรรมดา อาตมาว่า พระพุทธเจ้า ท่านตรัสนี่ โอ้ ถ้าไม่มีพื้นฐาน มาฟังแล้ว อ่านแล้วก็โยนทิ้ง คือไม่รู้เรื่องหรอก ไม่ใช่ดูถูกเขานะ ท่านพูดท่านตรัสไว้นี่มันสูง มันหมายถึง สิ่งที่เป็นเนื้อหาดีจริงๆ

ทีนี้ ผู้ที่เข้าใจ มีปัญญาอ่านเนื้อหานี่ อื้อหือ พระพุทธเจ้าท่านตรัส มันยอดแห่งการที่จะเป็น พระอริยะ จะเป็นบรรพบุรุษ เป็นคนโลกุตระจริงๆ เลยนะ เพราะมันเข้าสาระ เข้าแก่น เข้าเนื้อ เข้าตัวที่สำคัญ เพราะท่านตรัสที่สำคัญ คนที่ไม่มีความสำคัญ ไม่รู้ความสำคัญ ฟังแล้วก็ไม่รู้ พูดอะไร ไม่เห็นมีเงินมีทอง ไม่เห็นมีของอร่อยเลย

นี้เรียกว่าโลกในอริยวินัย ก็อะไรเล่า มีความแตกสลายเป็นธรรมดา จักษุแลมีความแตกสลาย เป็นธรรมดา เอ้าก็ใช่สิ ก้อนกลมๆ เอาออกมาทุบก็แตกแหงเลย ถ้าคน พาซื่อคนหยาบ ก็จะคิด อย่างนั้น จักษุแล มีความแตกสลายเป็นธรรมดา ใช่ แหม ยิ่งเอามาเข้าเครื่องบดเป็นผงนี่ แหลกเลยแหละ ลูกกะตานี่นะ จักษุนี่นะ

รูปมีความแตกสลายเป็นธรรมดา โอ นอกจากจักษุ ท่านก็หมายถึงรูป ต่อมาอีก ต่อเนื่องมา จากตา รูปย่อมแตกสลายเป็นธรรมดา ใช่ นี่รูปนี้ เรามาทุบแตกแหงเลย เอามาฉีกขาด ทำให้สลาย เป็นผงไปเลยก็ได้ แตกแน่ ก็ ถูก หยาบ หยาบๆ แต่ทีนี้ เราเข้าใจเป็นภาษาธรรมะ ลึกขึ้นไปแล้ว ลองฟังดูซิ

เพราะฉะนั้น อย่าไปคิดว่าตานี่เที่ยง จะต้องเห็น จะต้องดู บางทีตามันจะบอด มันก็บอด มันไม่บอด มันก็ เอ้า อย่าไปเศร้าใจ ตาจะบอด มันไม่เที่ยง มันแตกสลายได้เป็นธรรมดา รูปเป็นสิ่งที่เห็นได้ด้วยตาก็ตาม หรือแม้แต่สิ่งที่ถูกรู้ได้ด้วยจิต จิตอ่าน มีจักษุ เป็นจักษุวิญญาณ ต่อไป จักษุวิญญาณมีความแตกสลายเป็นธรรมดา จักษุวิญญาณ เพราะฉะนั้น ตัววิญญาณ ที่มันเป็นวิญญาณเห็น ที่เราใช้ว่าญาณ นี่ มันเห็นอย่างยิ่ง มันรู้อย่างยิ่ง มันไม่ต้องไปใช้ หน่วยตาเห็น มันใช้ญาณ นั่นน่ะเห็น เห็นกิเลสโลภ เห็นกิเลสโกรธ มาใช้หน่วยตานี่เห็น เห็นไม่ค่อยได้หรอก มันเห็นยาก ถ้าเห็นพฤติกรรมของคนทำชั่ว ก็อ่านไปถึงข้างในก็ได้ แต่ต้อง มีญาณนั้นเป็นตัวกรอง เป็นตัวพิจารณา เรียกว่า อย่างนี้กรรมกิริยาของกิเลส กรรมกิริยาของผี แล้วเรา ก็ต่อไปเรื่อยๆนะ จักษุวิญญาณมีความแตกสลายเป็นธรรมดา จักษุสัมผัส มีความแตกสลายเป็นธรรมดา สุขเวทนา ทุกขเวทนา หรืออทุกขมสุขเวทนาที่เกิดขึ้น เพราะจักษุสัมผัสเป็นปัจจัย ตัวนี้แหละ เป็นตัวเป้าหมายสำคัญ ที่สุดที่จะฐานปฏิบัติ เพราะ จักษุสัมผัสเป็นปัจจัย นี่เป็นปัจจุบันธรรม

เพราะฉะนั้น ผู้ใดมีปัจจุบันธรรม แล้วปฏิบัติกับปัจจุบันธรรมได้ ผู้นั้นกำลังปฏิบัติวิปัสสนา ภาวนา กำลังลืมตา เห็น สัมผัสอยู่เป็นปัจจุบันสัมผัสอยู่ นี่ตากำลังสัมผัสอยู่ เห็น มีสัมผัสเป็น ปัจจัย เป็นเหตุปัจจัยอยู่ขณะนี้ ก็มีความแตกสลายเป็นธรรมดา ฯลฯ เพราะฉะนั้น แม้ในปัจจุบันนี้ ก็อย่าไปยึดมั่นถือมั่นว่า นี่มันเป็นของที่ถาวรเที่ยงแท้ แค่นี้มันก็แตกสลายได้ มันก็เปลี่ยนแปลงได้ แปรปรวนได้ มันไม่เที่ยง เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาทั้งนั้น ก็มีความแตกสลายเป็นธรรมดา ไปยาลใหญ่ นี่หมายความว่า ท่านอธิบายจักษุ ต่อมาท่านก็ อธิบายโสต มีความแตกสลายเป็นธรรมดา เสียง โสตนี่ จะมีคู่ของมันคือเสียงต่อไป จักษุนี่มีรูป ถ้าฆานจมูก ก็จะมีกลิ่น ต่อไปแล้วก็มีชิวหาก็เหมือนกัน ลิ้นก็เหมือนกัน สัมผัส โผฏฐัพพะ กาย โผฏฐัพพะ เหมือนกัน กายก็เกิดโผฏฐัพพะ ใจก็เกิดธรรมารมณ์ ท่านอธิบาย ท่านตัดละไว้ ในฐานที่เข้าใจ ไปยาลใหญ่ นี่คือไม่อธิบายหู ตา จมูก ลิ้น กาย แต่มาอธิบายต่อว่า ใจมีความแตกสลายเป็นธรรมดา ธรรมารมณ์มีความแตกสลายเป็นธรรมดา มโนวิญญาณ มีความแตกสลายเป็นธรรมดา มโนสัมผัสมีความแตกสลายเป็นธรรมดา สุขเวทนา ทุกขเวทนา หรือ อทุกขมสุขเวทนาที่เกิดขึ้น เพราะมโนสัมผัสเป็นปัจจัย ตัวนี้อาตมาในข้ออาตมานี่ อาตมาขีดเส้นใต้สีแดงไว้ เพราะจักษุสัมผัสเป็นปัจจัย เพราะมโนสัมผัสเป็นปัจจัย เพราะมันมี สัมผัสอยู่เป็นปัจจุบันนั้น สิ่งที่เป็นปัจจัยในการสัมผัสนั้น ขณะนั้น มัน ก็มีความแตกสลาย เป็นธรรมดา ดูกรอานนท์ สิ่งใดมีความแตกสลายเป็นธรรมดา นี้เรียกว่า โลกในอริยวินัย ฯ

ในคำว่าในอริยวินัยคำนี้ วินัยคำนี้ไม่ได้แปลว่า ๒๒๗ ที่พระถือวินัย คำนี้ไม่ได้แปลว่า อะไรๆ ที่เขาไป เอาไปตั้งเป็นข้อห้าม ฟังดีๆ ในอริยวินัย ในอริยะก็คืออริยะ วินัยนี่อาตมาแปลให้ฟัง แล้ว แม้แต่ในมงคลสูตร ๓๘ อาตมาก็แปลอะไรวินัย วินโย จ สุสิกขิโต อาตมาก็แปลว่า นัยอันลึกซึ้ง ไม่ได้แปลว่าวินัย อย่างที่เป็นข้อห้าม อย่างที่พระมีวินัย ๒๒๗ เท่านั้น อันนั้นก็ถูก แต่คำว่าวินัยคำนี้ ในของพระพุทธเจ้า ไม่ได้หมายแค่นั้น เพราะฉะนั้น แม้แต่ในมงคลสูตร ย่อมไม่ได้ หมายถึงวินัยนั้นแค่นั้น หมายถึงลักษณะที่ลึกซึ้ง ละเอียด นัยอันลึกซึ้ง จะพาสู่ การศึกษาที่สูง สุสิกขิโต จะพาสู่การศึกษาที่ยิ่งสูง ยิ่งลึก ยิ่งดี สุ ยิ่งเจริญงอกงาม เพราะฉะนั้น เรียนรู้นัยที่ลึกซึ้ง นัยที่ยิ่ง วินัย นัยที่ยิ่ง ได้เท่าไหร่ นั่นแหละจะพาสู่การศึกษาที่สูง ที่ยิ่ง เพราะฉะนั้น หันมาดูอันนี้

ที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า นี้เรียกว่าโลกในอริยวินัย พระพุทธเจ้าไม่เคยตรัสเลยว่า นี่วินัยนะ ภิกษุต้องถือวินัยข้อนี้เอาเป็นข้อห้าม ห้ามที่ไหน ศึกษาให้ยิ่งๆขึ้นเลย ให้รู้จักโลก ให้รู้จัก รายละเอียดเหล่านี้ เพราะฉะนั้น อริยวินัย คือข้อที่นัยที่ลึกซึ้ง ขึ้นเรื่อยๆ ผู้เป็นอริยะ จะรู้จักวินัย จะรู้จักนัยที่ลึกซึ้งขึ้นอย่างนี้ๆๆอย่างนี้ แม้แต่ โลก ในความหมายที่ลึกซึ้งอย่างนี้ นี่แหละโลก ในอริยวินัย โลกในอริยวินัย ฟังให้ดี เพราะฉะนั้น

ถ้าใครไปกำหนดคำว่าวินัย แปลแต่คำว่าข้อห้าม ไม่ให้ไปละเมิด ไม่ปฏิบัติ จะต้องละเว้น อยู่เท่านั้น พวกนี้ก็มะลื่อทื่อ อยู่อย่างนั้นล่ะ อาตมาอธิบายลึกซึ้งละเอียดไปถึงไหนๆๆๆๆ แล้ว พูดเอาเอง แปลเอาเอง ทำให้ธรรมวินัยของพระพุทธเจ้าวิปริต ถ้าใครไปยึดติดอยู่อย่างนั้นแหละ ทำให้วินัยของพระพุทธเจ้า วิปริต และไม่ลึกซึ้งสูงขึ้นไป เจริญขึ้นได้ เพราะฉะนั้น ผู้นั้นจึงไม่ จริงๆ เพราะคำสอนของเขาต้านเอาไว้ กั้นเอาไว้ มีเท่านี้ เขาไม่เรียนตรงนี้ต่อ เพราะเขาว่า อันนี้ มันไม่มี ผิดด้วย เขาว่าผิดด้วย เขาก็ไม่ได้เรียนต่อตามที่อาตมาพาเรียนสูง ต่อไป

อาตมาไม่ได้ปฏิเสธของเขานะ อธิบายอุปสัมปัน อนุปสัมปัน อุปสัมปันคือ พระที่บวชด้วย อาตมาเข้าใจด้วย เอาด้วย แต่อุปสัมปันลึกซึ้งกว่านั้น ผิด ไม่เอาๆ ตกลงคุณไม่เอา คุณก็ไม่มี ทางต่อ แล้วจะเจริญได้ยังไง สุสิกขิโตได้ยังไง การศึกษาจะสูงขึ้นได้ยังไง ในเมื่อวินัยของคุณ จู๋อยู่แค่นั้นเอง วินัยคุณสั้นอยู่แค่นั้นเอง คุณไม่ได้ศึกษาต่อเข้าไปหาปรมัตถ์ เข้าไปหาจิต อาตมา อธิบายอุปสัมปันในระดับวิญญาณ ในระดับนามธรรม ในระดับธรรมาธิษฐานแล้วนะ ไม่ใช่เอาแค่ บุคลาธิษฐาน ไม่ได้ ผิด คุณก็อยู่ประตูนอกสิ ประตูในอาตมาเลื่อนเข้าไปแล้ว คุณไม่เลื่อนเข้าด้วย แล้ว คุณจะไม่เห็นอะไรที่ลึกซึ้งกว่านั้นอีก สุสิกขิตโตได้ยังไง ศึกษาได้ลึกซึ้ง ขึ้นได้ยังไง เห็นไหม

อันนี้ยืนยันได้ชัดว่า โลกในอริยวินัย คำว่าวินัยคำนี้จึงไม่ได้หมายความถึงข้อห้าม คำนี้เห็นไหม ชัดไหม นี่เป็นคำตรัสของพระพุทธเจ้า อาตมาไม่ได้พูดเอาเองนะ ในอริยวินัยนี่ อาตมาไม่ได้ พูดเอง นี่เขาแปลมาจากพระบาลีนะ อริยวินัย เขาไม่ได้เปลี่ยนแปลงคำ เขาตัดทิ้งไม่ได้หรอก เขาก็ต้องเอามาผูก เอาไว้ด้วยน่ะ โลกในอริยวินัย แม้อย่างนี้ก็ยึดเอาไม่ได้ ไม่เที่ยง ทุกขัง อนัตตา ไม่ใช่ตัว ไม่ใช่ตน เอาละ คำนี้ได้ยินมาแล้ว แฉะหูมาแล้ว ไม่เที่ยง ทุกข์ ไม่เป็นตัว เป็นตนนี่ ไม่ต้องพูดต่อก่อน ค่อยอธิบายไปเรื่อยๆ จะลึกซึ้งไปเรื่อยๆ

เอ้า ทีนี้ว่าด้วยธรรมะปฏิบัติเกี่ยวกับโลกๆ พระไตรปิฎกเล่ม ๒๕ ข้อ ๒๓ บุคคลไม่พึงเสพธรรมอันเลว ไม่พึงอยู่ร่วมกับความประมาท ไม่พึงเสพมิจฉาทิฐิ ไม่พึงเป็นคนรก โลก ภิกษุไม่พึงประมาทในบิณฑะ บิณฑะแปลว่าก้อนข้าว บิณฑะ บิณฑบาต บาต หรือบาตัง ปาตังนี่ แปลว่าที่รองรับสิ่งที่ตกล่วง ปาตะ แปลว่าตกล่วง ที่รองรับสิ่งที่ตกล่วง เพราะฉะนั้น บิณฑปาตัง ก็คือสิ่งที่รองรับก้อนข้าว เรียกว่าบาต

ภิกษุไม่พึงประมาทในบิณฑะ ที่พึงลุกขึ้นยืนรับ พึงประพฤติธรรมให้สุจริต ผู้ประพฤติธรรม ย่อมอยู่เป็นสุข ทั้งในโลกนี้และในโลกหน้า พึงประพฤติธรรมให้สุจริต ไม่พึงประพฤติธรรม ให้ทุจริต ผู้ประพฤติธรรมย่อมอยู่เป็นสุขทั้งในโลกนี้และในโลกหน้า มัจจุราชย่อมไม่เห็นบุคคล ผู้พิจารณาเห็นโลก ดุจบุคคลเห็นฟองน้ำ เห็นพยับแดด ฉะนั้น

แหม พวกนี้ ถ้าอธิบายก็เป็นวันๆได้ ถ้าอาตมาจะต้องอธิบายนะ อธิบายให้พวกคุณ ขยายความ ยกตัวอย่างให้บ้าง หยาบ แล้วก็เข้าไปหาลึกประกอบ จนจะต้องเข้าใจละเอียดน่ะ อธิบายเป็นวันๆ ก็ได้

ฉะนั้น ท่านทั้งหลาย จงมาดูโลกนี้ อันวิจิตร เปรียบด้วยราชรถ ที่พวกคนเขลาหมกอยู่ (แต่) พวกผู้รู้หาข้องอยู่ไม่ ก็ผู้ใดประมาทแล้วในกาลก่อน ในภายหลังผู้นั้นย่อมไม่ประมาท เขาย่อมยังโลกนี้ให้สว่างไสว เหมือนพระจันทร์พ้นแล้วจากเมฆ ฉะนั้น

ผู้ใดทำกรรมอันลามก ผู้นั้นย่อมปิด (ละ) เสียได้ด้วยกุศล บุคคลนั้นย่อมยังโลกนี้ให้สว่างไสว เหมือนพระจันทร์พ้นแล้วจากเมฆ ฉะนั้น

โลกนี้มืดมน ในโลกนี้น้อยคนที่จะเห็นแจ้ง สัตว์ไปสวรรค์ได้น้อย ดุจนกพ้นจากข่าย ฝูงหงส์ย่อมไปในทางพระอาทิตย์ ท่านผู้เจริญอิทธิบาทดีแล้ว ย่อมไปในอากาศด้วยฤทธิ์ นักปราชญ์ทั้งหลาย ชนะมาร พร้อมทั้งพาหนะได้แล้ว ย่อมออก ไปจากโลก คนล่วงธรรม อย่างเอกเสียแล้ว เป็นคนมักพูดเท็จ ข้ามโลกหน้าเสียแล้ว ไม่พึงทำบาป ย่อมไม่มี คนตระหนี่ ย่อมไปสู่เทวโลกไม่ได้เลย คนพาลย่อมไม่สรรเสริญทานโดยแท้ ส่วนนักปราชญ์อนุโมทนาทาน เพราะการอนุโมทนาทานนั้นนั่นเอง ท่านย่อมเป็นผู้มีความสุขในโลกหน้า โสดาปัตติผล ประเสริฐกว่าความเป็น พระราชาเอกในแผ่นดิน กว่าความไปสู่สวรรค์ และกว่าความเป็นอธิบดี ในโลกทั้งปวง ฯ

เอ้า ต้องสรุปก่อน สูตรนี้ อธิบายกัน อย่าว่าแต่วันเดียวเลย ซับซ้อนลึกซึ้ง แล้วก็ แหม อ่านแล้ว เพราะประทับใจ แล้วมี เนื้อแน่นๆ เนื้อซ้อนๆ เนื้อยิบเลย อาตมาอ่านแล้ว โอ้โห ต้องตั้งใจขยาย ไม่อย่างนั้น พวกคุณเมาแน่ๆ หลายคนอาจจะไม่เมาหรอก ไม่รู้เรื่อง อย่าว่าแต่เมาเลย ไม่รู้เรื่อง เลย เสพไม่ติด เสพไม่ติดเลย นี่จะเขาให้เสพติดก่อน แล้วก็ไปวางที่เสพที่ติด อีกทีหลัง จะต้อง เสพอันนี้ ให้เป็นรสเสียก่อน อันหลังนี่บอกโสดาปัตติผลประเสริฐกว่า ความเป็นพระราชาเอก สำนวนอื่น เป็นยังไง มีอีกสำนวนนะ เออ โสดาปัตติผล ประเสริฐกว่า หรือยิ่งกว่าความเป็น เอกราชในแผ่นดิน นี่บอกว่า บอกความเป็นพระราชาเอกในแผ่นดิน ยิ่งกว่าเอกราชในแผ่นดิน โดยเอกราชา เขาแปลทับว่า เอก ราช แต่ไอ้นี่ไปเอา พระราชาเอก มันคนละตัวแล้วนะ แปลว่า เป็น พระราชาเอก

หมายถึงเจาะจงบุคคล ยิ่งกว่าพระราชาเอก ในแผ่นดิน หมายความว่า พระราชาองค์นี้ เป็นเอก เยี่ยมยอดในแผ่นดิน เพราะฉะนั้น ผู้ใดที่เป็นโสดาบัน ประเสริฐกว่า ความได้เป็นพระราชา ที่ยิ่งใหญ่ พระราชา เอกในแผ่นดิน ถ้าแปลว่า อะไรนะเมื่อกี้นี้ว่า ยิ่งกว่า เอกราชในแผ่นดิน เอกราชหมายถึงเอาแผ่นดิน หมายเอาถึงภูมิ หมายเอาถึงประเทศชาติ ยิ่งกว่าได้ โสดาปัตติผล ยิ่งกว่าได้อาณาจักร ยิ่งกว่าได้ประเทศ ยิ่งกว่าได้รัฐ ยิ่งกว่าที่ได้ เอกราช เป็นไทแก่ตัวออกมา ได้ยิ่งกว่าได้เอกราชในแผ่นดิน ยิ่งเป็นไทแก่ตัว ออกมา ถ้าจะให้ซ้อน เอกราช นี่เหมือนตัวเรา อยู่ในโลกนี้ ในโลกปุถุชน ในโลกโลกียะ ลาภ ยศ สรรเสริญ โลกียสุข ได้โสดาปัตติผล นั้นคือ อริยคุณพื้นฐาน อริยคุณของโลกุตระอันแรก เมื่อคุณได้ คุณมีอิสระ ลอยตัว เป็นเอกราช ออกมาจากโลกียะนั้นออกมา อย่างที่หมายเมื่อกี้นี้ว่า ยิ่งกว่าเอกราชในแผ่นดิน เพราะฉะนั้น ในแผ่นดิน ก็คือในโลกนี้ ในโลกนี้ โลกๆนี้ ว่าด้วยโลกๆนี่ โลกนี้ อยัง โลโก คนอยู่ อย่างนั้น ถูกผูกถูกมัด ดิ้นออกมาหลุด หาทำจรวดออกนอกโลกนี้ไม่ได้ พวกนี้อยู่ในโลกนี้ละ ออกนอกโลกไม่ได้ ไม่มีจรวดพาออกนอกโลก อาตมากำลังพาพวกเรามาสร้างจรวด แล้วก็ขับ จรวดออกนอกโลก ออกนอก อยัง โลโก ออกนอกโลกนี้ พอได้จรวดลูกแรก จรวดลูกแรก พาได้ โสดาปัตติผล ปรึ๊ดออกมาจากนอกโลกนี้ได้

นี่คือเอกราชในแผ่นดิน เอกราชจากโลกนี้ เอกราช จากโลกโลกียะ ความหมายที่บอกว่า พระราชาเอกในโลก กับเอกราชในแผ่นดิน มีความหมาย ต่างกัน เอาละ ขยายความได้ทั้ง ๒ นัย ดีทั้ง ๒ นัย ดีทั้ง ๒ แบบ ใช่ไหม ผู้ใดได้โสดาปัตติผล ประเสริฐกว่า ความเป็นพระราชาเอก ในแผ่นดิน หรือจะบอกว่าประเสริฐกว่าเอกราชในแผ่นดิน ก็ได้ กว่าความไปสู่สวรรค์ เห็นไหม ออกนอกโลกนี้ได้นี่ กว่าความไปสู่สวรรค์ สวรรค์หอฮ้อ ในโลกนี้ โฮ๊ย ขี้ประติ๋ว ขี้ประติ๋ว อย่าไป เอร็ดอร่อยกับมันอยู่เลย เบื่อเสียที ไม่รู้จักเบื่อ หรือยังไง กินมากี่ชาติแล้ว ลิ้มมากี่ชาติแล้ว เบื่อๆ อยากๆ อยู่อย่างนั้นล่ะเหรอ เบี่ยให้ชัดๆ นิพพิทา พอเสียทีซิ รู้จักอิ่ม รู้จักพอเสียที ไอ้รสโลกียะ อย่างนั้น อร่อยไม่รู้แล้วอยู่นั่นแหละ จบเสียที เลิกเสียที ทำให้ใจจางคลาย ไม่เกิดรส ไม่เกิด อร่อย ไม่เกิดผูกพัน ไม่เกิดประทับใจ ไม่เกิดพอใจ ไม่เกิดยินดีได้ ให้มันได้ ทำให้มันได้จริงๆ นะ

ถ้าเราเลิกรสของโลกียะอย่างนี้ออกมาได้จริงๆนี่แหละ มีจรวดออกมานอกโลกนี้ได้ หลุดออกมา มาได้สวรรค์ใหม่ ไอ้สวรรค์หอฮ้อ อย่างนั้น ถ้าคุณยังหลงอยู่ คุณก็หลงไปเถอะ เหมือนหนอน กินขี้ ใช่ไหมเล่า หนอนกินขี้กับเทวดา นี่เทวดาแท้นะ ที่พูดกับหนอนกินขี้ บอกหนอนเอย หยุดกิน เถอะขี้นั่นน่ะ มันของเหม็น หนอนก็มองเทวดา ไอ้เทวดาหน้าโง่ ของอร่อยๆ อยู่ตรงนี้ ไม่ต้อง ไปไกลที่ไหนหรอก กินอยู่ตรงนี้ นั่งกิน นอนกินอยู่ตรงนี้ ประเดี๋ยวก็เบะมาให้กิน เบะมาให้กิน อยู่นี่ โอยของไม่ต้องไปเที่ยวหาอะไรยากที่ไหน หายากนะ กว่าคุณจะได้เสพโลกียะนี่ หายาก ยิ่งกว่าหนอนน่ะ นั่นแหละ ติดงมงาย หมกมุ่นอยู่ตรงนั้นแหละ นั่นคนโลกโลกียะ ลาภ ยศ สรรเสริญ โลกียสุขอยู่อย่างนั้นน่ะ

เพราะฉะนั้น โลกสวรรค์อย่างนั้นน่ะ ถ้าได้เป็นโสดาปัตติผล ก็ได้หลุดออกมา อย่างน้อยก็ อบายมุข แต่ก่อนอร่อยเหลือเกิน ได้ซื้อหวยแทงหวยมันจัง ได้ดูดยามันจัง ได้ป้ายสิปสติก มันจัง นั่งอยู่หน้าโต๊ะเครื่องแป้ง แหม ตั้งชั่วโมงก็ยังไม่ออกมาเลย ไม่ต้องทำมาหากินกันพอดี ก็เคย กันมาแล้ว ไอ้แต้มลูกกะตาเขียนนี่ โอ๊ย มันยากนะ กว่าจะเขียนได้ ประเดี๋ยว เอ้า ทิ่มลูกกะตาแล้ว ประเดี๋ยวก็ต้องเขียนใหม่ ยิ่งเขียนไม่ค่อยเก่งใหม่ๆนี่ เอ้อ อาตมาไม่เคยเขียน หรอก แต่เดาเอา เดาเอาน่ะ เป็นไหม ๆ พวกเขียนๆ นี่เคยเขียนเป็นไหม แหม พลาดเอาแล้ว ถูกลูกกะตาแล้ว แหม เขียนขอบตา ทาตรงนั้น ทาตรงนี้ ยังกับถูกอัดมาม่วงๆ เขาหลอกให้ทา สีม่วงๆ เหมือนกับถูกอัดมา แล้วมันก็ ช้ำล่ะนะ ไปไหนๆ ก็บอก อ้อ ถูกผัวอัดแหงเลยคนนี้ ไม่รู้เรื่องล่ะทา เขาจะพาทาดำ ทาเขียว ทาแดงอะไร เอากับเขาหมด มันโง่อะไรปานฉะนั้น นะคน น่ะ ให้ตรงกับสีเสื้อ นั่นแหละ เขาก็กำหนดเอาไปให้ตรงกับสีรองเท้า ทาสี ทาให้เหมือน กับสีรองเท้า ตาเราจะได้เหมือนเท้า คือมันโง่ เขากำหนดอะไรก็ฟังตามเขา หลอกยังไง ก็เอาตามเขา ถ้าอย่างนี้แล้วมันสวย ถ้าอย่างนี้แล้วมันไม่สวย บางที ก็ต่างกันว่าสวย บางทีก็ให้เหมือนกันว่าสวย หลอกยังไงเอาอย่างนั้นน่ะ แล้วมัน อะไรจริงล่ะ ไม่รู้เขาหลอกมา เอามันหมด นี้เรียกว่างมงาย วุ่นวาย กว่าความสุขอย่างที่ไปหลงงมงาย อย่างที่เรียกสวรรค์ ของโลก

และกว่าความเป็นอธิบดีในโลกทั้งปวง อธิบดีคือผู้ยิ่งใหญ่ อธิบดี แปลว่าผู้ยิ่งใหญ่ กว่าผู้ยิ่งใหญ่ ทั้งปวงในโลก ไอ้โลกนี่แหละ ไอ้โลกอย่างนี้ ไอ้โลกโลกีย์ อยัง โลโก อันใดที่ โสดาปัตติผล ที่เราหมายถึงมีขอบเขต อาตมาอธิบาย เราตัดโลกธรรม แค่อบายมุขก่อน ของหยาบ ความโกรธหยาบๆ ความโลภหยาบๆ ราคะหยาบๆ ในระดับหนึ่ง ถ้าคุณเอง คุณมือ หนักไปหน่อย โสดาปัตติผล เราตัดเกรด ขนาดว่าตัดขีดว่า หมายถึงว่า ความโลภขนาดนี้ หรือ ราคะแรงขนาดนี้ จะต้องพ้นให้ได้ ถ้าพ้นได้แล้ว เราถือว่าโสดาบัน แม้มันจะเลยเขตมาก ไปหน่อย มันก็ไม่เสียอะไรนี่ แต่ถ้าบอกว่าเรามีความโลภเท่านี้จิ๊ดหนึ่ง แล้วก็มีราคะ เราตัดเอาไว้ ถ้าเราละราคะจิ๊ดหนึ่งนี่ได้ เราถือว่าโสดาบัน คุณก็เป็นโสดาบันชั้นต่ำหน่อย แต่ถ้าบอกว่า เราตั้งเขตว่า ถ้าเราละราคะได้มากขึ้นขนาดนี้ เราถึงจะเรียกว่า เราเป็นโสดาบัน แล้วเราก็ทำได้ คุณก็เป็น โสดาบันที่เกรดสูงขึ้นหน่อย

ถ้าคุณบอกว่า เอ๊ ราคะมันขนาดนี้ ยังไม่ถือว่าโสดาบัน ต้องละราคะ ให้ได้มากกว่านี้ เราถึง จะเป็นโสดาบัน คุณตั้งเกรดไว้สูงหน่อย คุณก็เป็นโสดาบัน สูงหน่อย ไม่เห็นจะเสียหายตรงไหน นามนั้นสำคัญไฉน แต่สาระสัจจะจริงๆ สาระที่สังสาระนี่ คุณทำ เนื้อหาได้ดีจริงๆ สูงขึ้นไป จริงๆ แม้ภาษาจะเรียก แท้จริงเราก็เกือบหมดแล้ว ราคะนั่นน่ะ มันเข้าเขต ของพระอนาคามี หรือเข้าเขตสกิทาคามี จะเป็น พระอนาคามีแล้วนะ กามราคะนี่ แต่เราก็ยัง หลงตั้งบัญญัติว่า เราแค่โสดา ไม่แปลกหรอก จะหลงบัญญัติไม่แปลก แต่เนื้อหาสิ เนื้อหามัน แหม นี่จะหมด แล้วนะ กามราคะสังโยชน์ สกิทาคามีระดับสูงจนจะปีนเข้าไปหา อนาคามีแล้ว แต่เรายังหลงว่า เราถ้าได้อันนี้เราจะเป็นโสดาบัน แต่แท้จริง เราจะเป็นอนาคา เชียวนะ ภูมิของกามราคะอันนี้ เราละเว้นเลิกละได้ขนาดหนึ่ง แม้คุณจะเข้าใจผิดบัญญัติ อย่างนี้นะ ภาษาบัญญัติ แต่เนื้อแท้ สาระเนื้อแท้ของคุณได้ถึงขนาดนี้ คุณจะเสียใจไปทำไม ไม่ต้องเสียใจ

เหมือนอย่างอาตมานี่ บัญญัติเขาหาว่าอาตมาผิด แต่สภาวะอาตมาไม่ผิด อาตมาเฉย เหมือน ม้าตดธรรมดา ไม่เดือดร้อนอะไร เอาละ นี่อาตมาอธิบายหลัง ให้ฟังย้อนขึ้นไปหน้า

บุคคลไม่พึงเสพธรรมอันเลว อันนี้เหมือนภาษาพูดง่ายๆ เหมือนบอก คนซื่อบื้อ ไม่พึงอยู่ร่วมกับ ความประมาท ไม่พึงเสพมิจฉาทิฏฐิ มันภาษาง่ายๆ ฟังแล้วก็เข้าใจ แต่ถ้าหยั่งไม่ถึงเนื้อหา เราก็ไม่รู้ ว่า เราเสพหรือเปล่า แล้วเราก็ แม้แต่มิจฉาทิฏฐิ เราเสพอยู่หรือเปล่า แท้ๆมัน เป็นตัวเรา ทั้งแท่งเลยไม่รู้ตัว ระวัง ไม่พึงเสพมิจฉาทิฏฐิ ไม่พึงเป็นคนรกโลก ภิกษุไม่พึงประมาท ในบิณฑะ ที่พึงลุกขึ้นยืนรับ ก็หมายความว่า อันนี้เอาบัญญัติ ภาษาธรรมดาก็ได้ว่า ภิกษุไม่พึง ประมาท ไม่พึงหมิ่นแหม่ ไม่พึงดูถูกในเรื่องก้อนข้าวที่เขาให้ บิณฑะนี่ก้อนข้าวที่เขาให้ ภิกษุเป็นผู้รับ ก้อนข้าวไม่มีเอง ก้อนข้าวนี่ รับมาจากทายกทั้งนั้น เพราะฉะนั้น เราเป็นปฏิคาหก เราพึงรับก้อนข้าว ก็พึงลุกขึ้นยืนรับ หรือรับอย่างมีสัมมาคารวะรับ รับอย่างนอบน้อม รับอย่าง ไม่หยิ่งผยอง พึงประพฤติธรรมให้สุจริต ผู้ประพฤติธรรมย่อมอยู่เป็นสุข อันนี้เป็นคำบอกแล้วว่า เป็นภาษาง่ายๆ ทั้งในโลกนี้ และในโลกหน้า ย่อมอยู่เป็นสุขในโลกนี้ และโลกหน้า

คนที่บรรลุแล้ว อันนี้หมายความว่า คนที่บรรลุแล้วนี่ พ้นทุกข์หรือว่า บรรลุธรรม อยู่โลกนี้ อยัง โลโก กับเขานี่ ก็เป็นสุข ไปอยู่โลกหน้า จะเอาแต่แค่ตาย แล้วก็ปรโลกแบบนั้น ที่ว่านี่ไป ก็เป็นสุข อยู่ในนี้ๆในนี้ บอกแล้วว่าตรงนี้ก็ได้ ตรงนี้ก็ได้ ตรงนี้ก็ไม่รู้ล่ะนะ ในตัวเรา กายยาววา หนาคืบ กว้างศอก แล้วก็มีโลก ปรโลกอยู่ข้างใน แล้วเราก็ได้อาศัยปรโลกอันนี้ของเรา อยู่ในนี้ เป็นโลกใหม่ เป็นปรโลกคือโลกใหม่ เราทำได้แล้ว เราเป็นโลกุตรบุคคล เป็นคนโลกใหม่ แม้แค่โสดาบันก็ตาม โสดาบันบุคคลจริง จะอยู่ในโลกอันนี้ แล้วอันนี้ก็อยู่ในร่างนี้ ร่างนี้ก็ซ้อน อยู่ใน อยัง โลโก โลกที่ปัจจุบันนี้ ยังมีแต่ปุถุชนเต็มเลย มีกิเลสอยู่ อะไรอยู่นี่ ก็เป็นสุขทั้งสิ้น ทั้งโลกนี้ โลกหน้า ฟังโลกหน้าไปกี่โลกแล้วมีปัจจุบันเดี๋ยวนี้ โลกหน้าตัวนี้ โลกหน้าตัวอธิบายนี่ อาตมา อธิบายโลกหน้าไปประกอบกับโลกนี้อยู่ตลอดเวลานะ ฟังดีๆนะ พอไปถึงโลกหน้า แล้วจะได้อธิบายอีก จะได้ไม่สับสน

พึงประพฤติธรรมให้สุจริต ไม่พึงประพฤติให้ทุจริต ผู้ประพฤติธรรมย่อมอยู่เป็นสุข ทั้งในโลกนี้ และ ในโลกหน้า มัจจุราชย่อมไม่เห็นบุคคลผู้พิจารณาเห็นโลก มัจจุราชหมายความว่า เจ้าแห่งความตาย เจ้าแห่งความตายย่อมไม่เห็นบุคคล ผู้พิจารณาเห็นโลก เพราะฉะนั้น ผู้รู้จักโลก นี่แหละ รู้จักสังสารวัฏ รู้จักความวน รู้จักความเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป นี่แหละ ผู้ใดที่รู้แจ้ง ทะลุจริงๆเลย รู้แล้วก็เป็นผู้ที่ไม่ให้เกิดโลก ไม่ให้เกิดสังสารวัฏ หลุดพ้นจาก สังสารวัฏ

เช่น ประเดี๋ยวเราก็อยากบุหรี่ ก็งัดบุหรี่มาสูบ ไอ้ที่อยากนั่น เริ่มต้นทุกข์แล้ว ถ้าไม่ได้บำบัดบำเรอ ก็จะทุกข์ อยู่นั่นแหละ อย่ากระนั้นเลย เรามีบุหรี่ ก็งัดบุหรี่ออกมา ก็เกิดแล้วนี่ เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ขึ้นมาแล้ว เกิดกิเลส ตั้งอยู่ก็เอามาสูบ นี่ก็คือ บทบาทของโลกเกิดขึ้นมาเรื่อยๆ วนสูบ อารมณ์ที่ เวลาสูบก็ขึ้นสวรรค์หอฮ้อ สูบบุหรี่หอฮ้อ ขึ้นสวรรค์ พอขึ้นสวรรค์ไปสักเดี๋ยวก็พอ อิ่ม พอ เบื่อ แล้วก็หยุด เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ก็พอ หยุด ดับ ไม่เอา หยุดสูบบุหรี่ ดับ ตายชั่วคราว วนแล้ว นี่โลกหนึ่ง เรามีจรวด ออกจากโลกนี้ ไม่สูบ ไม่อร่อย ไม่ตาย ไม่มีเกิด แก่ เจ็บ ตาย ในอาการที่จะต้อง อยากเป็นทุกข์ บำบัดเป็นสุข แล้วก็อยู่เฉยๆ เสร็จแล้วอยากใหม่ ทุกข์ บำบัด ขึ้นสวรรค์ อยู่เฉยๆ วาง ปล่อย เสร็จแล้วก็บำบัด ทุกข์ใหม่ อยากใหม่ ขึ้นสวรรค์ แล้วก็อยู่เฉยๆ โธ่ ไม่รู้กี่ร้อยโธ่ อยู่อย่างนี้

ถ้าเราเลิกอันนี้ได้ เราออกนอกโลกนี้ได้ เมื่อออกนอกโลกนี้ได้ เห็นโลกนี้ชัดเจน นี่แหละโลก เห็นโลกนี้ชัดเจน บุคคลผู้พิจารณาเห็นโลก มัจจุราชย่อมไม่เห็น มัจจุราชไม่เห็นคนผู้นี้ คนผู้เห็นโลกนี้ มัจจุราชก็คือ ความเกิด ความตาย เจ้าแห่งความตาย ผู้นี้ออกจากโลกนี้ได้แล้ว เห็นโลกนี้ แล้วก็ออกนอกโลกนี้ให้ได้ อย่างเห็นแจ้งเลยว่า เราเป็นผู้รู้โลก อยู่เหนือโลก เป็นโลกใหม่ ออกนอกโลก ก็มาเป็นผู้มีโลกใหม่ด้วยอย่างเด็ดขาด ผู้นี้จะไม่เกิด ไม่ตาย ในโลกนี้อีก ไอ้โลกนี้ อยากแล้วก็ทุกข์ ลงนรก เอ้า ไม่มี บำบัด ขึ้นสวรรค์ ขึ้นสวรรค์เสร็จพอ อยู่เฉยๆ ไม่มีนรก ไม่มีสวรรค์ตอนนี้ เดี๋ยวนรกมาอีกแล้ว อยาก อยากต้องบำบัด ถ้าไม่ได้บำบัด นรกก็อยู่อย่างนั้นล่ะ ดิ้นรน ถ้าไม่ได้เสพ ฝัง ฝังใจ สั่งสมน่ะ ยังไม่ลืมตาหรอก ยังไม่ทิ้งง่ายๆ หรอก เพราะมันยังติด ยังไม่ล้าง เพราะถ้าล้าง มันก็จะถึงหลุดออก วางออก เลิกออกมาได้จริงๆ รู้ ด้วยปัญญาว่า ต้องล้าง ต้องเลิก ไม่เอาไม่ดี เหตุผลชัด

ถ้าปัญญาไม่ล้าง ไม่มีความ หมดอาสวะ แม้จะกดจะข่มยังไง มันก็ยังอยู่ ดีไม่ดี มันอาจจะโต ตัวโตกว่าเก่าด้วย เป็นฟักตัว แตกตัว เหมือนอย่างกับพวกยีสต์ แหม แตกตัวใหญ่เลย ฟักอยู่ในนั้น มันแตกตัวโดยตัวเองไม่รู้ ก็ได้ มันสั่งสม แต่มันอยู่ในก้นบึ้งของจิต เรียกว่า subconcious เรียกว่า จิตใต้สำนึก มันแตกตัว อยู่ในจิตใต้สำนึกก็ได้ มันขึ้นถึงขีด บางทีไม่รู้ตัว ระเบิด อื้อฮือ เคยเจอระเบิดแบบนี้ไหม นึกว่า เราลืมไปแล้ว นึกว่าเราไม่มีแล้ว ที่ไหนได้ มันเป็นผีออกมา ระเบิดตูม ตาย ทำไมมันทำ ขายหน้า ขนาดนี้ เรื่องราวมันมี ตัวอย่างมี ระวังคุณจะเป็นตัวอย่างตัวนั้นล่ะ น่าอายนะ

สรุปแล้วก็คือ มัจจุราชย่อมไม่เห็นบุคคลผู้พิจารณาเห็นโลกนี้ ก็หมายความว่า การตายจะไม่เกิด กับผู้นี้อีก เพราะมันไม่เกิดขึ้น มันไม่ตั้งอยู่ มันไม่ดับไป มันไม่มีโลกนี้ อย่างนี้แล้ว มัจจุราช ไม่มีในผู้นี้ ไม่เห็นผู้นี้ ไม่มาเกี่ยวข้องกับผู้นี้ ความตายไม่มีอีกนั่นเอง ผู้ที่เป็นเจ้าแห่งความตาย จะมาทวง เอาความตายจากผู้นี้ไม่มี เพราะตายสนิทแล้ว ตายจากโลกอย่างนั้นแล้ว สังสารวัฏ อย่างนั้น หมดแล้วกับผู้นี้แล้ว โลกของผู้นั้น โลกอันนี้อย่างนี้นี่ โลกที่วนเวียน อยากแล้วก็ดูด แล้วก็เลิก อยากอะไรก็แล้วแต่เถอะ อยากจะมีอร่อย อะไรอันไหน ก็แล้วแต่ มันเลิกแล้ว หมดโลกนี้แล้ว ดับโลกนี้แล้ว สู่โลกใหม่แล้ว มัจจุราชไอ้โลกอย่างนี่ นะ ทำอะไรผู้นี้ไม่ได้ มัจจุราช จะเล่นงานกับคนผู้ที่ยังติดอยู่ในโลกนี้เท่านั้นเอง

ดุจบุคคลเห็นฟองน้ำ เห็นพยับแดด มันเหมือนฟองน้ำ มันเหมือนพยับแดด ไอ้รสอร่อยพวกนี้ ไอ้หลงอร่อยอยู่ในโลกียะ สังสารวัฏนี้ มันเหมือนพยับแดด มันเหมือนฟองน้ำ ประเดี๋ยวมันก็ ขึ้นมา มันก็แตกสลาย มันไม่นานเลย ก็คุณอยากอยู่ทุกวันนี้ ประเดี๋ยวเดียวก็อยาก ประเดี๋ยวเดียว ก็บำเรอ ประเดี๋ยวก็หยุดนิ่ง ประเดี๋ยวก็อยากใหม่ มันจะช้าอะไร มันไว มันไม่ช้า ไม่นานหรอก ไว เหมือนพยับแดด ย่นย่ออาการมา ให้สั้นๆ ให้เห็นเหมือนพยับแดด เหมือนฟองคลื่น ประเดี๋ยวเดียวก็ แตกสลาย เนื้อแก่นไม่มี คว้าเอาอะไร ไม่ได้หรอก ไหน ลองหยิบ ความสุขมาให้ดูสักกระป๋อง เคยเสพสุขมาเยอะแล้วนี่ สุขเพราะอะไร ก็แล้วแต่ ไหนเอามาสักกระป๋องซิ อยู่ไหนล่ะ ไม่มี เหมือนฟองคลื่น เหมือนพยับแดด ประเดี๋ยวมันก็หายไป จะไปหลงใหลได้ปลื้มว่า มันเป็นของแท้ เป็นของถาวร อยากได้ คว้าเงา คว้าลม คว้าพยับแดด คว้าฟองคลื่น คว้าอยู่อย่างนั้นแหละ กี่ชาติมาแล้วล่ะ ไม่เบื่อสักที ไม่เมื่อยหรือไง ถ้าจะเมื่อย มาเมื่อยเป็นคุณค่า สร้างสรร ช่วยเหลือเฟือฟาย

อาตมาเป็นโพธิสัตว์นี่นะ รู้ดีๆว่าเกิดมาเมื่อย เมื่อยเพราะอะไร เมื่อยทำไม เมื่อยเพราะว่าช่วยคน นี่แหละ จะดูซิว่า ช่วยคนแล้วนี่ มาพิสูจน์ว่า เมื่อไหร่คนจะเลิกด่า โธ่ ชาตินี้ก็ว่าทำดีไม่น้อย แล้วนะ เขาก็ยังด่า ขนาดตรัสรู้ เป็นพระพุทธเจ้าแล้ว ยังโดนด่าอยู่เลย เอ้า จะดูซิ มันจะด่า แล้วใคร จะเห็นจริง เห็นความดีที่จริงนี่มากเท่าไหร่ มันก็มีภูมิธรรมคนจะเห็นจริงมากขึ้น ขนาดนี้ อาตมาเป็นโพธิสัตว์ขนาดนี้ ก็ยังมีคนเห็นจริงไม่น้อย ยิ่งมีบารมี มีความจริงมากขึ้น กว่านี้ คนจะเห็นจริงมากขึ้นๆ อย่างพระพุทธเจ้าก็มีคนเห็นจริงมากขึ้นกว่าอาตมา มากมาย ยอมรับ

ส่วนพวกตาบอด ก็ยังมีอยู่นั่นแหละ มาว่าพระพุทธเจ้า มาด่าพระพุทธเจ้า ก็มีอยู่นั่นแหละ เราจะพิสูจน์กันดูซิว่า สัจจะพระพุทธเจ้า สัจจะทางนี้นี่ ถ้าจะเกิดเป็นคน เกิดอย่างนี้ จะพิสูจน์ การเกิดอย่างนี้ เพื่อที่จะประทับใจ จะซ้ำซับให้รู้ว่าเกิดมาเป็นคน มีวิญญาณ มีธาตุรู้ กว่าจะปรินิพพาน อาตมาจะขอรู้ ให้มับซับซาบ ซับซึ้ง ซับซ้อน ให้มันเห็นจริงเห็นจังซิว่า ไอ้สิ่งที่เป็นกุศล สิ่งที่เป็นคุณค่าของมนุษย์แท้ๆนี่ มันยังงี้ล่ะ ควรได้ ควรเป็น ควรมีจริงๆ ถ้าจะเกิด ถ้าจะเป็นมนุษย์อีกต่อไป อีกนานับชาติเท่าไหร่ๆ ก็ตาม ต้องเป็นมนุษย์อย่างนี้ ไอ้เป็นมนุษย์อย่างโน้นน่ะ วนเวียน เดี๋ยวก็เสพ เดี๋ยวก็ติด เดี๋ยวก็ไม่ได้มีคุณค่า ประโยชน์กับผู้อื่น มีแต่มาบำเรอตัว บำเรอตัวกู บำเรอของกูอยู่อย่างนี้ๆ มันก็ทุกข์ มันก็สุข มันก็ทุกข์ มันก็สุข มันก็ทุกข์ มันก็สุข อยู่อย่างนั้นแหละ ถ้าอย่างนี้ทุกข์น้อยลง ทุกข์น้อยลง ทุกข์น้อยลง ทุกข์น้อยลง

ถึงแม้จะเหน็ดเหนื่อยโดยสภาวะ เราก็เข้าใจ เราก็ไม่ได้ไปเป็นหนี้ เป็นสินใคร เราทำได้ เราเอาแต่น้อย ชีวิตนี้นี่น้อยนิด เลี้ยงมันเอาไว้นี่ง้ายง่าย กินข้าวแค่นั้นน่ะ เสื้อผ้า หน้าแพร ก็แค่นี้ ที่หลับที่นอน ก็แค่นั้น ยารักษาโรค ถ้าเผื่อว่าเราเป็นคนรู้จักสมดุลดีๆ โรคก็น้อย วิบากน้อย โรคน้อย วิบากมาก โรคมาก อาตมานี่มีวิบาก ใช้วิบากอยู่หลาย อย่างนะ มันก็เป็นโรค ด้วยวิบากก็มี เป็นโรคด้วยยังไม่เก่ง อิทธิบาทยังไม่พอ เหมาะก็มี จะพิสูจน์ฝึกฝนให้เกิด ความชำนาญ ให้เกิดความช่ำชอง เราจะต้องขยายเนื้อหาอันนี้อีก เพราะว่าเวลาก็จะหมด ลงแล้ว เพราะฉะนั้น บอกแล้วว่า สูตรนี้ โอ้โห จะขยายความมากกว่านี้ก็ได้

ยกตัวอย่างหยาบ กว่านี้ ให้คุณเห็นชัดขึ้นกว่านี้ก็ได้ นี่ก็ยกตัวอย่างหยาบบ้าง ละเอียดบ้าง สลับกันไป เอ้า ฟังดีๆ เถอะ เพราะฉะนั้น ท่านทั้งหลายนี่ จะมาดูโลกนี้ จงมาดูโลกนี้ อันวิจิตร เปรียบด้วยราชรถ ที่พวกคนเขลาหมกอยู่ อู๊ย จริ๊งจริงๆๆๆๆ แหม มันจริงๆๆ นะ จริงๆๆๆนะ หา มันจริงๆๆๆๆๆๆน่ะ ไม่รู้จะว่ายังไง มันเห็นนี่ โอ้โห มาดูสิ โลกนี้ อยัง โลโก มันวิจิตรนะ ราชรถ เปรียบเหมือนราชรถ ขออภัย โลกนี้จงมาดูโลกนี้ เป็นโลกที่พระพุทธเจ้าท่านพูดแล้วว่า ไอ้โลกนี้ ท่านแบ่งโลกไหน เป็นโลกไหน ต้องเข้าใจแล้วว่า ผู้ใดมีเป็นผู้ที่มัจจุราช ย่อมไม่เห็น เป็นผู้พิจารณา เห็นโลกแล้ว ก็จะไปอยู่อีกโลกหนึ่ง ก็จะเห็นโลก

โลกที่เป็นเปรียบด้วยราชรถที่พวกคนเขลาหมกอยู่ มันเป็นราชรถที่คนเขลาหมกอยู่จริงๆ แล้วเขา ก็หลงราชรถนั้น ราชะ แปลว่า ความอร่อย ราชะ แปลว่าความยินดี ราชะ หรือ รชะ แปลว่า ความยินดี จิตกำหนัด นั่นละเขาอยู่ในรถนั้นอยู่ แหม เป็นตระการตาเหลือเกิน แต่ผู้รู้เท่าทันแล้ว ไม่หลงราชรถนี่ ดูเถอะ จงมาดูโลกนี้ อันวิจิตรเปรียบราชรถ มันวิจิตรเหลือเกิน มันซับซ้อน หลากหลายมากมายเหลือเกิน ที่พวกคนเขลาหมกอยู่ พวกผู้รู้หาข้องอยู่ไม่ อย่าว่าต้อง เหน็ดเหนื่อย แล้วค่อยได้ราชรถ ค่อยได้วิจิตร ค่อยได้สิ่งนั้นไปอาศัยเหน็ดเหนื่อยเลย ต่อให้ ราชรถนั้นมาเกย ก็ไม่ยินดี ไม่ข้องอยู่ ผู้รู้หาข้องอยู่ไม่ แต่ผู้ไม่รู้ ย่อมหลงในความวิจิตรนั้น ย่อมติด ในราชรถนั้น ย่อมติดในความวิจิตร จริงๆน่ะ พวกคนเขลาจึงหมกอยู่ ติดอยู่ จมอยู่

เอาละ อาตมาว่าอธิบาย ยังจะอธิบายขยายความตรงนี้ออกไปอีก วันนี้ ไปอีกไม่ได้แล้ว เลยไป ๕ นาทีแล้ว แหม มันก็มีกะใจกะจิตอยากจะอธิบายอยู่ นั่นแหละ โพธิสัตว์เลือดมันยังไม่จางเลย มันข้นอยู่ เพราะฉะนั้น ก็ยังตามเวลาก่อน มันมีกิจอื่น ตอนนี้พักยกไว้ พรุ่งนี้อีกวัน แหม ไปไม่ถึงไหนเลย ว่าจะให้หมด ไม่หมด พรุ่งนี้ แน่นอน อีกครั้งเดียว ไม่หมดปิดแน่ๆ โปรดติดตาม ตอนต่อไป พุทธาภิเษกฯ แน่นอน ว่าจะหมด ไม่หมดจนได้นะ


ถอด โดย ประสิทธิ์ ฝ่ายทอง
ตรวจทาน ๑ โดย เพียงวัน ๒ พ.ค.๓๕
พิมพ์ โดย สม.มาบรรจบ
ตรวจทาน ๒ โดย สม.ปราณี ๒๒ พ.ค.๓๕
:2312I.TAP