ที่พึ่งอันวิเศษของมนุษย์ ตอน ๑ หน้า ๒
เมื่อวันที่ ๓ พฤษภาคม ๒๕๓๕
โดย พ่อท่าน สมณะโพธิรักษ์
ณ พุทธสถาน ปฐมอโศก

หน้า ๒ ต่อจากหน้า ๑


คุณจะทบทวนมันมามีปฏินิสสัคคะ ให้เกิดเวทนา ให้เกิดเอาสัญญา มากำหนดสัญญา มามีสังขาร ปรุงเข้าไปตามเป็นเจตสิก ที่มันจะดำเนินเวทนา สัญญา สังขารอีกทีหนึ่ง วิญญาณ สะอาดบริสุทธิ์ นี้ก็สามารถที่จะให้มีสิ่งเหล่านั้นได้ เป็นปฏินิสสัคคะ คือกลับปฏินิสสัคคะ นี่คือ ย้อนกลับไปปรุงไปสร้างให้เหมือนอย่างโลกเขาอีก ดูซิ เมื่อจิตที่เกิดญาณปัญญาอันสูงยอด แล้วจริง โธ่ มันอย่างนี้ก็คือฐานะของโลกียะ อย่างนี้แหละ แต่ก่อน เราหลง แต่ก่อนเราติด แต่ก่อนเรานี่วนเวียน เป็นสังสารวัฏ ว่าเดี๋ยวก็สุข เดี๋ยวก็ทุกข์ เกิดดับอย่างนี้ จิตวิญญาณหลง อย่างนี้ มันไร้สาระ มันไม่น่าไปติดไปยึดไปหลงอยู่เลย มันก็จะยิ่งใหญ่ จิตวิญญาณที่เหนือ สิ่งเหล่านี้ ก็จะอยู่เหนือจริงๆ เห็นยังไง มันก็ไม่ไปติดไปยึด ปรุงกับเขา รู้กับเขา เป็นกับเขา สมมุติกับเขา เป็นสมมุติสัจจะ

สมมุติว่ามันสนุก สมมุติว่ามันเพลิดเพลิน สมมุติมันว่าอร่อย ตามสมมุติของเขา สมมุติได้ บางอย่าง เขาสมมุติ จนแรงๆ จัดๆ จ้านๆ เราไม่ไหวหรอก จะปรุงให้มันเอร็ดอร่อย ให้มันจี๋จ๋า แรงๆ เหมือนอย่างที่แต่ก่อนเราเคยติดหรือว่า คนเขาปรุงเลยหน้าเราไปอีก แหม รุนแรง เป็นรส เป็นชาติ เป็นโลกียะจัดจ้าน เขามันเหลือเกิน อร่อยเหลือเกิน วิเศษเหลือเกิน จัดจ้าน เราปรุง ยังไง ก็ไม่ขึ้นตามเขาหรอก ไม่ไหวหรอกเหนื่อย คุณลองดูก็ได้ อันไหนที่เรา แน่ใจว่าเราเอง เราเหนือแล้ว ลองปรุงดู สัมผัสแตะต้อง เห็นทางตา ได้กลิ่นทางจมูก อะไรทางนี้ ลองดูก็ได้ ไม่ต้องเอาอะไรมากหรอก เอาสิ่งที่เราจะต้องสัมผัสอยู่นี่ อาหาร เพราะฉะนั้น อาหาร เป็นหนึ่งในโลกด้วย อาหารนี่แหละเป็นเครื่องพิสูจน์ที่ดีมาก เพราะอาหารเราต้องกิน

แม้เป็นพระอรหันต์ แม้เป็นพระพุทธเจ้าแล้ว ก็ยังต้องกินอาหาร เพราะฉะนั้น คุณจะสัมผัส รสชาติ รูป รส กลิ่น ไม่มีเสียงก็ตาม สัมผัส คุณสัมผัสดูเถอะ ถ้าจิตของคุณสะอาดบริสุทธิ์จริงๆ แล้วนะ สัมผัสแล้ว แต่ก่อนเราจำได้นี่ สัญญาจำได้ ลองปรุงไปซิ ไอ้นี่ เคยอร่อย แหม่ ยังงี้ มันอร่อยนะ แกงเขียวหวาน อย่างนี้อร่อย แม้จะแกงเขียวหวานเจก็เถอะ คนปรุงอร่อยจริงๆ นะ เราก็ลอง แต่ก่อนนี้ เราเคยติดอย่างนี้ พอเดี๋ยวนี้ เราไม่ติดแล้ว เรามาเลิกได้แล้ว เราก็รู้ตามเขา นั่นแหละ

เขาสมมุติอย่างนี้ รสอย่างนี้อร่อย เขาบอกว่าอร่อย ออ เราก็ฟังอร่อย อ๋อ อร่อย เราก็ต้อง ตรวจเราเอง แต่ก่อนนี้ เรารู้สึกกะเขาได้อย่างนั้นจริงๆ เดี๋ยวนี้ เราปรุงพยายามโน้มไป อร่อย กะเขายังงั้นแหละ แหม มันไม่ง่ายเลย ก็รู้ว่ามันก็อย่างนั้นแหละอร่อยยังไง ก็คือรสชาติ ก็อันนั้น คนที่เขาอร่อย ยังอร่อยอยู่จริงๆนะ แต่เราไม่อร่อยแล้ว เราจะรู้ว่ามันไม่อร่อย เราจะพยายามปรุง ให้อร่อยไปตามเขาปรุงได้ แต่มันไม่ดูด ไม่ดึง มันไม่ติด มันไม่โหยหา อาวรณ์ อาลัยอะไรหรอก ลองดูได้นี่ ปฏินิสสัคคะนะ บางอย่างก็ไม่ต้องลองหรอก มันอยากน่า อย่างอาหารนี่ เราได้ลองแน่ ไม่ต้องห่วง อาหารกินได้น่า ทุเรียนเขาว่าอร่อย ลองถองเข้าไปเถอะ ทุเรียนนะ มันก็อย่างนั้นๆ นั้นนะ หนักเข้าก็รู้ ทุเรียน ก็ทุเรียนมันก็ยังงั้นนะ แต่เราก็พยายามพิจารณา ให้ลึกซึ้ง อย่าประมาท มันเหลือเศษอ่านจิต

ถ้าผู้ใดใช้สิ่งเหล่านี้ เป็นเครื่องปฏิบัติ มีสัมผัสเป็นปัจจัย และลดล้าง เพราะฉะนั้น อาหารนี่ เป็นสิ่งปฏิบัติจิตให้รู้กิเลสละเอียดลออไปจนกระทั่งสูญสิ้นได้อย่างดีมาก เพราะอาหารคนเรา ต้องกิน เป็นพระอริยเจ้าชั้นสูงขนาดไหน ก็จะต้องกิน เพราะฉะนั้น รูป รส กลิ่น สัมผัสอะไร ของมันๆ ยังมีอยู่ในอาหาร แม้มันไม่มีแค่เสียง อาตมาว่า อาหารไม่มีเสียง มันมีรูป รส กลิ่น มีสัมผัส สัมผัสกาย สัมผัสใจ มันมีจริงๆ เพราะฉะนั้น อย่าไปประมาท ทนทำแหยาะๆแหยะๆ ปฏิบัติอาหารนี่ เป็นการปฏิบัติผิดนะ ผู้ใดยังปฏิบัติในเรื่องอาหาร ผู้นั้นปฏิบัติถูก พิจารณา ตลอดเวลากินอาหาร พยายามละล้างกิเลสพวกนี้ออกให้ได้นะ จากศีล นี่แหละเป็นหลัก แล้วเราก็จะมีหลักอื่น ขยายความอะไรต่อมิอะไร ช่วยเหลือเกื้อกูลไป

ข้อสอง เป็นพหูสูต ทรงสุตะ ทรงสั่งสมสุตะ เหมือนอย่างพวกเรานี่ ฟังจะมีพหูสูต จะมีความรู้ มากขึ้นๆ จากปริยัติบ้าง จากฟัง และก็เอาไปปฏิบัติ ประพฤติพิสูจน์ มีอาจาระ มีโคจร ให้ดำเนินไป ไปสำรวมสังวร มีปกติเห็นภัยมีโทษอันประมาณน้อย มีปกติก็หมายความว่า จนคุณปกติ เห็นโทษภัยอะไร คุณก็ไม่ประมาท โอ๊ย อย่างนี้มันเป็นกิเลสแล้วนะ อย่างนี้ เราจะอนุโลมมัน จะเหยาะแหยะมันแล้วนะ ถ้าคุณเป็นผู้ที่เห็นโทษภัยอันมีประมาณน้อย และ คุณเป็นคนไม่ประมาท หวังกุศลธรรมได้ แต่ถ้าประมาทแล้ว หวังอกุศลธรรมได้แน่นอน คำสอน เล็กๆ คำสอนละเอียดแค่นี้ๆแหละ ถ้าใครปฏิบัติจริงได้จริงๆ ใครไม่ปฏิบัติ แหลาะแหละ จริง ก็เหลาะแหละจริง ใครที่ได้ชะลอประมาทมันอยู่เท่าไหร่มันก็เป็นความประมาท เสื่อมอย่างเดียว

ถ้าไม่ประมาทแล้ว ก็เจริญอย่างเดียว คือพระพุทธเจ้าท่านตรัส และเราก็ผ่านมา สูตรพวกนี้ ก็ผ่านมาแล้ว ไม่นานนี้เอง เพราะฉะนั้น เรามาศึกษาพหูสูตเพิ่มขึ้น นี่ก็เท่ากับได้ยินได้ฟัง อาตมาสอนได้ แนะนำได้ หลักฐานมี ก็เอามายืนยันด้วย ไม่ใช่เอาแต่คำพูดอาตมาอย่างเดียว คำสอนของพระพุทธเจ้าด้วย มาทรงสุตะ มาฟังมาสะสม สั่งสมสดับมาก ทรงจำไว้มาก ทรงจำด้วยนะ มันจะมีเหตุปัจจัยทรงจำได้ มีเหตุมีผล มีฤทธิ์มีแรง และจำพหูสูต จำคำสอน จำปริยัติ จำบัญญัติอะไรได้ด้วย ไม่ใช่ฟังแล้วก็ไม่จำ เป็นคนที่ขี้หลงขี้ลืม เป็นคนจำอะไร ไม่ค่อยได้ เดี๋ยวจะมีอยู่อันหนึ่ง อาตมาผ่านอยู่ ดูเหมือนจะมีอยู่อันหนึ่ง แต่ถ้าเผื่อว่า เป็นผู้ ไม่ค่อยจำนี่ มันไม่ค่อยดีนะ ทรงจำคล่องปากขึ้นใจ แทงตลอดด้วยดี ด้วยทิฐิ

นอกจากจะจำได้แล้ว ต้องเรียนรู้ แทงตลอดด้วยดี ด้วยความรู้ ความเข้าใจ ความเห็นด้วยทิฐิ ซึ่งธรรมอันงามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด แทงทะลุก็ต้องพยายามที่จะเข้าให้ถึง แทงทะลุนี่ ไม่ได้หมายความว่า แค่ทำความหมาย แค่ทำความเข้าใจไปเท่านั้น ทำความหมาย ทำความเข้าใจ ด้วยปฏิบัติประพฤติให้มันรู้จริง แจ้งเป็นปฏิเวธธรรม แทงทะลุ ปฏิเวธนี่แทงทะลุ เวธะ นี่แทง ปฏิเวธธรรมให้แทงตลอด ให้แทงทะลุให้ครบ ให้สมบูรณ์ เบื้องต้น ท่ามกลาง บั้นปลาย ไม่ได้หมายความตื้นๆ แต่ระนาบเดียว เบื้องต้น ท่ามกลาง บั้นปลาย ขั้นๆหยาบๆ เบื้องต้น ท่ามกลาง บั้นปลายที่มีหมุนรอบเชิงซ้อน ซับซ้อน ตั้งมากตั้งมาย

ที่อาตมาพยายาม อธิบายให้ฟังอยู่ ประกาศเสร็จแล้ว ประกาศบอกผู้อื่นได้ ประกาศพรหมจรรย์ ประกาศความบริสุทธิ์ พรหมจรรย์นี่ บางทีเราเรียนถึงความบริสุทธิ์ บางทีก็หมายถึงธรรมวินัย พรหมจรรย์ทั้งหมด ทั้งธรรม ทั้งวินัย หมายถึงศาสนาทั้งศาสนาเลย พรหมจรรย์ หรือเราแปล ง่ายๆ ว่าความบริสุทธิ์ พรหมจรรย์ ประกาศความบริสุทธิ์ ประกาศความเป็นศาสนา ประกาศธรรมวินัย ประกาศสิ่งที่วิเศษสมบูรณ์ พรหมจรรย์ เพราะฉะนั้น ผู้ใดจะประกาศ ผู้นั้น ก็ควรจะมีของตน

ผู้จะประกาศให้ผู้อื่นรู้ตามได้ ก็ต้องเป็นผู้รู้ได้ด้วยตน เป็นของตน เป็นสยังอภิญญา อภิญญา ก็คือรู้ยิ่ง ไม่ใช่ความรู้เฉยๆนะ อภิญญาเป็นญาณทัสสนะวิเศษๆ หรือ ปัญญาระดับอภิญญานี่ คือสิ่งที่เราเห็นของจริง ตามความเป็นจริงของเราเองได้ ประกาศพร้อมทั้งอรรถะ พร้อมทั้ง พยัญชนะ ทั้งเนื้อหาทั้งภาษา ให้มันชัดเจนชัดแจ้งนะ บริสุทธิ์บริบูรณ์สิ้นเชิง ให้ครบครัน ให้บริบูรณ์ เพราะฉะนั้น ในความหมายของพหูสูต หมายความว่า เมื่อเราศึกษาแล้ว ก็ปฏิบัติเพิ่ม ยิ่งปฏิบัติเพิ่ม ยิ่งปฏิบัติเพิ่ม ยิ่งศึกษาเพิ่ม แล้วเราก็ทั้งฟัง แล้วเราก็ทั้งเป็นผู้แสดง เป็นผู้ที่มีธรรมเทศนามัย แล้วก็มีธัมมัสสวนมัย เป็นผู้ฟังธรรม แล้วก็เป็นผู้แสดงธรรมได้ แสดงธรรม มันแสดงถึงความมั่นใจ คนที่ไม่มั่นใจ ไม่มีความเชื่อมั่น ไม่มีศรัทธาพละ ไม่เป็น พระธรรมกถึก ไม่เป็นผู้พร้อมไปด้วยศีล ด้วยพหูสูต ไม่พร้อมเป็นผู้ที่แสดงธรรม เป็นพระธรรม กถึก ไม่กล้าเข้าสู่บริษัท ไม่เข้าสู่บริษัท ไม่แกล้วกล้าอาจหาญแสดงธรรมในบริษัท ไม่ทรงนัยยะ อันลึก ทรงวินัย จิตไม่ได้สงบ จิตไม่ได้ยินดีในการสงบระงับอะไรขึ้นไป กระทั่งสูงส่งถึงในระดับ มีฌาน มีวิมุตติกัน ผู้นั้นศรัทธาก็ไม่มีกำลัง ความเชื่อมั่นตัวเองไม่มี เพราะฉะนั้น คนที่จะมี ความเชื่อมั่นตัวเอง มีของจริง อย่างสนิทใจแล้วนะ ผู้นั้นไม่กลัวหรอก

ซึ่งอาตมาเคยยกตัวอย่างว่า เรามีเพชรอยู่ในกระเป๋าแล้วเอามือล้วงกระเป๋าคลำกำเพชร อยู่ในมือ แท้ๆนะ เพชรกำอยู่ในมือชัดๆเลย สัมผัสแตะต้องเห็นคลำมือต้องมีตาด้วย มือมีตา เห็นด้วยว่าเพชรแท้ๆ ไม่ใช่ว่ากำเพชรปลอม ไปกำเอาขี้หมามาอม เหมือนยังกะนิทาน ที่บอกว่า ไปกำเอาขี้หมา กำเอาก้อนกรวดอะไรมาอม ก็นึกว่าของขลัง ของเครื่องลางของขลัง ที่มันหลุด ออกจากปาก ต่อสู้กับเพื่อนอยู่ เครื่องลางของขลังหลุดออกจากปาก คว้ามั้บ ก็ไม่มีเวลาสังเกต ไปหยิบอะไรก็ไม่รู้มาอมแทน ไม่ใช่ไอ้ที่อันนั้นด้วย สู้กับเพื่อนยังเหนียว แหมยังเหนียว ยังเก่งกาจ อยู่อย่างเดิมเลยนะ จนชนะ ต่อสู้กับคู่ต่อสู้จนชนะ ยังเหนียวยังแน่นอยู่เลย เครื่องรางยังทำ ฤทธิ์เดชอย่างเก่ง อยู่อย่างเดิม จนเสร็จแล้วถึงคายออกมาดู เอ้า ไม่ใช่ แต่เหนียว นี่ก็เป็น เหตุการณ์ หรือนิยายเรื่องราว ที่ยืนยันพิสูจน์ให้เห็นว่า มันไม่ได้เป็นเพราะไอ้สิ่งนั้นหรอก เป็นไป เพราะจิตของตนเองนะ อันนี้อธิบายแซมประกอบ

นี่เรามีเพชรของเราแท้ๆ เลย มีตาเห็นด้วย กำอยู่ก็มีตาเห็นอยู่ เพชรอยู่แท้ๆ ไม่ใช่ของปลอม ใครมาบอกว่าเราไม่มีเพชร ใครมาดูถูกดูแคลน ประหลาดอะไร ก็เรามีของจริง มันเชื่อมั่นจริงๆ นะ มันของจริง มันเชื่อมั่น ใครว่าเราไม่ถูกต้อง ใครว่าเรามาทำลายศาสนา อย่างอาตมานี่ มาทำลายศาสนา โถ คนว่าอาตมาทำลายศาสนา มีศาสนาเท่าไหร่ มีพรหมจรรย์เท่าไร มีธรรมวินัยเท่าไร มีลึกซึ้งเท่าไร มีถึงของแท้ขนาดไหน เรามีของเราอยู่นี่ โอ๋ เขาจะมาว่าเรา อย่างไรๆ อาตมาว่า ถ้ามันมีอย่างที่ว่านี่หน่อย อาตมาว่า อาตมามีอย่างนี้นะ อาตมามีธรรมวินัย อาตมามีพรหมจรรย์ อาตมามีศาสนา อาตมามีสิ่งที่พระพุทธเจ้าท่านให้เราเรียนรู้ แล้วก็ ประพฤติ เอาให้ได้ อาตมาว่า อาตมามีสิ่งที่ได้นั่น มีสมบัติๆอันนั้น สมบัติที่พระพุทธเจ้า ท่านพา ให้เราค้นให้พบ สั่งสมเอามาให้ได้ อาตมาว่า อาตมาได้อริยสมบตินั้นอยู่ เขาว่าอาตมา มาทำลายศาสนา

พูดไปแล้วเหมือนไปดูถูกหมิ่นหยามเขา มันเหมือนไปข่มเขา คุณฟังๆภาษาที่อาตมาขยายความ ให้ฟังดูดีๆแล้ว มีปฏิภาณลึกๆ ระลึกตามดูซิ สิ่งที่เรามีจริงเป็นจริง เป็นสมบัติอยู่แท้ๆ หลัดๆ เรายังอยู่กะเราชัดๆเจนๆ มันอยู่เป็นเนื้อเป็นตัวเราอยู่อย่างนี้ จะเป็นอริยทรัพย์ เป็นสมบัติ อันวิเศษ เป็นทรัพย์อันวิเศษอยู่กะเรา และเขาก็ว่าเรามาทำลายสิ่งนี้ เรื่องอะไรเราจะมาทำลาย สิ่งนี้ เขาว่าเราไม่จริง ใครจริงกว่ากัน โอ๊ย มันเชื่อมั่นต่างกันแยะเลย คุณลองฟังดูเถอะ ถ้าคน เรามีสิ่งนั้นอย่างนั้นจริงแล้ว คนนั้นจะเป็นอย่างไร มันไม่ได้หวั่นไหว มันไม่ได้กลัวเกรง มันไม่ได้ นึกยั่นนึกท้อ อะไรเลยนะ เพราะฉะนั้น มาเถอะมาสั่งสม มันก็จะเกิดสั่งสมถูกต้อง สั่งสม พหูสูต สุตะ สดับให้มาก ประพฤติให้มาก แทงตลอดให้ได้ เสร็จแล้ว เราจะแสดงธรรม เราก็จะมี ความมั่นใจ ต้องฝึกด้วยนะ มันช่วยฝึกเป็นผู้แสดงธรรม

แต่ระวัง อย่าพอแสดงธรรมเก่งๆ มันเขี้ยวเลย เก่งแต่เป็นนักแสดง หนักเข้าเป็นนักแสดง เป็นนักอวด เป็นนักสาธยาย อย่างที่เราเรียนผ่านมาแล้ว ไม่ได้ชื่อว่าเป็นผู้มีจริง เป็นแต่เพียง นักอวด นักแสดง นักสาธยาย แต่เสร็จแล้ว ไม่ได้มีอะไร มีแต่ภาษา ก็ระวังบ้างเหมือนกัน แต่ไม่ต้องไปกลัวมากหรอก แสดงมีของจริงเท่าไหร่ เราก็ฝึกหัดไป ให้มันได้สัดได้ส่วน เรามีสภาวะ มีทรัพย์เท่านี้ เราก็แสดงเท่านี้ และก็พยายามแสดง อย่าให้มี จิตสาเถยยะ อย่าให้มีจิตลามก อย่าให้มีมายา อสโฐ โหติ อมายาวี อย่าให้เป็นจิตที่มัน แม้แต่ สรรเสริญ อยากได้ดัง อยากได้แลกเปลี่ยน อย่างโน้นอย่างนี้ เป็นอามิสให้มันจิตสะอาด แสดงบริสุทธิ์ จะอวดจะแสดงอะไรก็บริสุทธิ์ ไม่ได้อวด ไม่ได้แสดง เพื่อจะมีสิ่งแลกเปลี่ยน หรือว่า อวดแสดง หรือว่าอยากใหญ่อยากโต อยากอย่างโน้นอย่างนี้ หรือว่าไปแลกลาภ แลกยศอะไรเลย ไม่ละ แสดงอย่างมีปัญญารู้ว่า แสดงให้เขาปรารถนาดี ให้เขาได้รับรู้ ได้รับความจริง ให้ของจริง ให้ความจริง แก่เขาไปบริสุทธิ อย่างเดียว มันก็ไม่เป็นมายา

ถ้ามันบริสุทธิ์อย่างนั้น มายามันก็ไม่เป็น เพราะฉะนั้น มันจะอสโฐ อมายาวี ก็เพราะว่า เราเรียนรู้ ยังไงมันเป็นมายา ยังไงมันไม่บริสุทธิ์ก็ทำใจ จะแสดงธรรม ถึงครั้งถึงคราว ที่สมควรจะทำ ก็ประมาณ อย่ามาอยากอวดใหญ่ อวดโต ทุกกาละทุกเวลามันก็ไม่เข้าท่า ต้องประมาณ มีสัปปุริสธรรม ๗ ประการ ประมาณบริษัท ประมาณบุคคล ประมาณกาละ ประมาณสิ่งที่ จะแสดง ว่าเอาละเอาแสดงแค่นี้ อวดแค่ที่โชว์กว่านี้ เปิดเผยแค่นี้ก็พอเหมาะ พอสมดีแล้ว สำหรับบุคคลนี้ สำหรับกาละนี้ สำหรับหมู่กลุ่มนี้ มีสัปปุริสธรรม อย่างนั้นจริงๆ เพราะฉะนั้น พยายามเพิ่มพหูสูต นี่แหละ จะเพิ่มความเจริญขึ้นไป เสริมจากศีลแล้วก็เรียนให้ลึกซึ้ง เรียนให้ มากขึ้น ทั้งท่อง ทั้งจำ ทั้งปฏิบัติให้มันแทงตลอด ให้งามในเบื้องต้น ท่ามกลาง บั้นปลาย แล้วก็ประกาศต่อ

อันที่ ๓ เป็นผู้มีมิตรดี สหายดี สังคมสิ่งแวดล้อมดี รวมอันเดียว อันนี้ไม่ได้ขยายความอะไรเลย ในคำตรัสของพระพุทธเจ้า ก็บอกได้แค่มีมิตรดี สหายดี สังคมสิ่งแวดล้อมดี ไม่ได้ขยาย อะไรมากมายกว่านี้ ซึ่งเราก็ขยายมามากนะ อาตมาพาขยายความมิตรดี สหายดี จากคำว่ามิตร หมายถึง จิตวิญญาณ สหายสิ่งที่เป็นของร่วม เป็นประโยชน์ร่วม หมายถึงบุคคล หมายถึงวัตถุ หมายถึงอะไรด้วย เพิ่มขึ้นมา เป็นผู้ร่วมประโยชน์สหาโย กัลยาณสัมปวังโก มีองค์ประกอบ พร้อมเลย มีอะไรๆ พรักพร้อม ขยายอะไรของเรา ขยายอยู่ เดี๋ยวนี้ ก็เป็นวง สัมปวังโก ประกอบ ขึ้นเรื่อยๆเลย มีกิจกรรมมีกิจการ มีอาชีพ มีการงาน มีวัตถุ มีเสนาสนะสถานที่ มีเครื่องใช้ เครื่องประกอบ มีผู้คน มีอาหาร มีเครื่องอาศัยเจริญขึ้นเรื่อยๆ เราสังเกตซิว่า เสนาสนะของเรา มันเจริญขึ้นไหม มีบุคคลเป็นแรงงาน เป็นมวลสำคัญ บุคคลนี่เป็นมวลสำคัญ เป็นคนดี เป็นคนที่ร่วมประโยชน์ เป็นคนที่ร่วมน้ำใจ กัลยาณมิตโต มีน้ำใจที่ดี เป็นมิตร เป็นสหาย เป็นญาติธรรม เป็นผู้ที่อยู่กันอย่างอบอุ่นสัมพันธ์ สมานอัตตา สมานัตตตากันจริงๆ เป็นกัลยาณมิตโตจริงๆ เป็นสมานัตตตา เป็นผู้ที่อยู่รวมกัน สมัครสมาน เกื้อกูล สร้างสรรอยู่ จริงๆเลย และก็ก่อประโยชน์คุณค่า สหาโย ร่วมประโยชน์กันอยู่ รวมๆกัน ไม่เป็นของเรา ไม่เป็นของใครของมัน ก็เกื้อกูลกัน เฉลี่ยกัน แจกจ่ายเจือจานกัน อาศัยบ้าง เผื่อแผ่บ้าง เป็นบุญเป็นกุศล เป็นคุณค่าอยู่ตลอดเวลา

นี่เป็นกัลยาณสัมปวังโก ก็คือสร้างเสนาสนะ ๔ มีสถานที่มีบุคคล มีอาหาร เป็นที่อาศัย อุปโภค บริโภค มีเครื่องไม้เครื่องมือ มีเครื่องประกอบ มีอะไรต่างๆนานา เพื่อจะเป็นคุณค่าประโยชน์ มีธรรมสปายะด้วย ทรงไว้ซึ่งธรรมะลึกซึ้ง ถึงระดับไหนๆ สร้างกันอยู่มีพร้อม นี่เป็นมิตรดี สหายดี สังคมสิ่งแวดล้อมดี ก่อเกิดอยู่ตลอดเวลา นี่เป็นที่พึ่งอันเกษม เป็นที่พึ่งอันวิเศษ เป็นที่พึ่ง อันดีขึ้นมาเรื่อยๆ คนที่มีญาณปัญญาก็รู้ แล้วก็สมัครใจจะเอาก็สมัครใจ มีศีล มีพหูสูต มีมิตรดี สหายดี เป็นผู้ว่าง่าย ขยายความขึ้นไปอีกเรื่อยๆ

ข้อ ๔ ว่าง่าย คือ ประกอบด้วยธรรมะ เครื่องกระทำความเป็นผู้ว่าง่าย เป็นผู้อดทนรับอนุสาสนี โดยเคารพ เป็นผู้ที่ว่าง่าย อดทนในคำสอน อดทนในคำกล่าว ใครจะว่าจะกล่าว อย่างโน้น อย่างนี้อะไร ก็เป็นผู้อดทน ไม่ใช่อดทนอย่างหน้าด้าน เป็นผู้อดทน และก็มีปัญญาญาณ อะไรที่เขาว่า เราก็เกิดหิริ เกิดโอตตัปปะ เกิดละอายต่อคำติเตียน ต่อสิ่งที่ว่า จริงไม่จริง ก็พิจารณา ถ้าจริงน่าละอาย ก็ละอาย ที่จริงเขาเตือน เขาติงให้ยิ่งดี โอ๊ อันนี้น่าละอาย น่ากลัว เราไม่รู้ ไหวพริบของเราไม่พอ มีผู้มาเตือนให้ มาติงให้ ว่าให้ ชี้ขุมทรัพย์ให้ โอ๋ย ขอบคุณ ไม่เป็น คนดื้อด้าน เป็นคนว่าง่าย เป็นคนที่ใช้ความพยายาม อย่างใช้ปัญญา สุจริต อย่างซื่อสัตย์ ยุติธรรม ไม่ลำเอียงเข้าข้างตัว ไม่เห็นแก่ตัว ไม่ดูถูกคนอื่น เป็นคนอดทนอย่างนั้น อดทน ใครจะว่าจะกล่าว จะติจะเตียนก็รับฟังได้ เสร็จแล้วก็รับฟังโดยเคารพด้วย รับอนุสาสนี โดยเคารพ รับฟังคำสอน คำติคำเตียน อันนั้นอันนี้โดยความไม่ใช่หยิ่งผยอง ไม่ใช่ดูถูกดูแคลน รับด้วยนะ เสร็จแล้ว เราก็เอามาใช้ประโยชน์ ในการได้รับคำสอน ได้รับคำติเตียน ได้รับคำว่ากล่าว เป็นผู้ว่าง่าย

ที่ว่านี่ ไม่ใช่ว่าง่ายประเภทไม่มีปัญญา ไม่มีการเจริญ ไม่ใช่ เจริญ ว่าง่าย ทำตาม แล้วก็พยายาม จะให้เกิดปัญญาญาณละเอียดลออรู้ เราว่าง่าย สอนง่าย เราประพฤติตาม อย่างนี้เกิดผลอะไร หรือว่า ว่าง่าย หรือฟังเขาชี้เขาติเขาเตียน หรือแม้แต่เขาด่า ก็ฟังมา วิเคราะห์วิจัย เออ จริง อย่างเขาว่านะ ไม่ได้ถือสา เขาจะเอาความโกรธมาว่า มาด่า มาดูอะไร ก็เขามีความโกรธก็เป็น ตัวเขา แต่เรื่องที่เขาด่าเขาดุ เขาด่าว่ามานั่นน่า ในคำโกรธ พร้อมกับความโกรธมา เขาด่าเขาว่า ถูกไหม เขาด่าเขาว่ามีเหตุมีผลที่ดีไหม มีสัจจะความจริงไหม เรารับเอาเนื้อหาพวกนั้น ไม่ต้อง ไปเพ่งโทษเขา ว่าเขาโกรธเราหรอก เหมือนอย่างพ่อแม่ ดุด่าว่าเรา ด้วยความโกรธ ก็มีเหตุผล มีความหมาย บางทีมีด่ายาวเป็นชุดเลย ขยายความเสร็จเลย พ่อแม่ ในความโกรธนี่นะ แม่ไม่ได้ ปฏิบัติธรรม บางที ก็ด่าด้วยโกรธด้วย แต่ก็มีความมุ่งหมายนะ อธิบายสอนในคำด่านั่นแหละ อย่างนี้ เรารับด้วยความเคารพ ว่าง่าย ฟังเนื้อหา พ่อแม่เรามีความโกรธ เพราะไม่ได้ปฏิบัติธรรม จะสอนเราทั้งที ก็สอนด้วยความโกรธ ก็เอาเถอะ เราก็ยกไว้โกรธ ท่านไม่ได้เลิกหัดโกรธนี่ ด่าด้วยความโกรธก็ช่าง แต่ด่าได้ดีนะ ด่ามีเหตุมีผล ด่าด้วยรายละเอียด ด่าด้วยความถูกต้อง อะไรอย่างนี้ เป็นต้น ยกตัวอย่างให้ฟัง

ถึงแม้ไม่ใช่พ่อแม่ก็ตาม ใครเขามาด่ามาว่าเรา ด่ามามีเหตุมีผล ด่ามามีหลักมีฐาน มีคุณค่า อะไร ในคำด่านั้นไหม หรือเอาความโกรธ ด่ามาสาดเสียเทเสีย ไม่เป็นโล้เป็นพายเลย ภาษาที่ด่า ไม่เห็นเข้าเรื่องเลย ไม่เห็นมีเหตุมีผลอะไร ไม่มีความรู้อะไรเลย เขาก็ด่าเรียกว่า ด่าอย่างสาดเสีย เทเสีย ถ้าเขาด่าอย่างสาดเสียเทเสียมาอย่างนั้น เราฟังแล้ว พิจารณาดีคำด่าๆ มีหลักฐาน ด่ามีเหตุผล ด่ามีเรื่องจริง ดีๆนะ เราฟังรู้นี่นะ ถ้าเขาด่าไม่มีเหตุ ไม่มีผล ด่าสาดเสีย เทเสีย เราก็สาดต่อต่อเท่านั้นเอง ไม่ต้องทำอะไร ไม่ต้องหยิบมาทำไม เรารู้ว่า คนนี่ด่าไม่ได้เรื่อง ด่าไม่มีความรู้ ด่าไม่มีหลักฐาน ด่าไม่มีปัญญา ด่าไม่มีความจริง ไม่มีสัจจะ เราก็ไม่รับ เขาสาดมา เราก็สาดต่อเท่านั้นเอง สาดเสียเทเสีย เพราะฉะนั้น ผู้ใดฟังคำ เป็นคนอดทน เป็นคนว่าง่าย เป็นคนรับคำติคำเตียน รับคำสอน โดยเคารพ โดยดีพวกนี้ เจริญต่อนะ

ข้อที่ ๕ เป็นผู้ขยัน อันนี้ขยันมีรายละเอียดที่จะอธิบายกันนะ ไม่เกียจคร้าน ในกิจที่ควรทำ อย่างไร อันนี้ก็มีความหมายแล้ว เรารู้ว่ากิจนี้เป็นกิจ ถ้าเป็นคนมีปัญญา เป็นคนทำเป็นก็รู้แล้วว่า กิจนี้ เป็นกิจอย่างนี้ และจะทำอย่างไร รู้แล้วว่าจะทำอย่างไร ถ้าไม่รู้ก็ควรจะเรียน เอ๊ กิจนี้ ทำอย่างไร ก็ควรจะเรียน เป็นผู้ขยัน ไม่เกียจคร้านในกิจที่ควรทำอย่างไร ทั้งสูงทั้งต่ำหมด เพราะฉะนั้น อยู่รวมกันนี่ ควรจะเป็นคนรู้ ควรจะเป็นคนทำเป็น ยิ่งอยู่ในบริษัทเดียวกัน มีงานการ โอ๊ นี่งานของบริษัทเรานะ งานของกงสีเรา งานของบ้านเราเอง งานของพวกเรา บริษัทเรา เพราะควรจะรู้กิจสูง กิจต่ำ งานนั้นงานนี้ แล้วทำอย่างไร เห็นไหมว่า ความสั้นๆ แต่กินความหมด ไม่เกียจคร้าน ในกิจที่ควรทำอย่างไร มันจะรู้เลยว่าอันนี้ควรทำอย่างไร ก็รีบ ช่วยกัน คนละไม้คนละมือ ความเจริญไม่มีไม่ได้เป็นอันขาด มันต้องเจริญแน่ๆ เลย รู้แต่ละคน นี่ยิ่งๆหลายคนขนาดนี้ โอ๊ เป็นคนขมีขมันขวนขวาย ไม่ดูดาย รู้จักกิจนั้น รู้จักกิจนี้ กิจไหนควรทำ อย่างไร รู้กันรอบ เข้าใจรอบ ไม่ว่ากิจสูง ไม่ว่ากิจต่ำของเพื่อนพรหมจรรย์ทั้งหลาย ของผู้ที่อยู่ ด้วยกัน รวมกันนี่แหละ

แต่กระนั้นก็ตามเถอะ มันจะไปเอาคงจะไม่ได้ คนหนึ่งๆ จะไปเที่ยวรู้หมด ชำนาญหมด ทำอะไร ได้หมด ทุกอื่น ก็คงไม่ไหวหรอก แต่ทดแทนกันได้ รู้มีความเข้าใจในกิจในการ ว่าควรทำอย่างไร ในงานนั้นงานนี้ อันนั้นขาดคนนั้นขาด คนนี้ต้องการแรงงานเพิ่ม เมื่อไหร่ ขานเรียกปุ๊บปั๊บๆ งานนั้นทันทีเสร็จ อะไรด่วน เสร็จทันที งานอะไรไม่ด่วน ก็ค่อยเป็นค่อยไปก็ได้ อย่าหัดเป็นคน ที่รังเกียจงานนั้น รังเกียจงานนี้ เราไม่ชอบ เราก็ไม่เอา มันยิ่งแคบ แต่ถ้าเผื่อว่าเป็นคนไม่แคบนะ ต้องงานโน้นงานนี้ ก็ฝึกปรือดูบ้าง

จริง คนเราจะไปอะไรไปเสียทั้งหมด หรือมากๆอย่าง มันไม่ได้ทีเดียวหรอก แต่ก็ฝึกปรือไปเถิด มันก็จะได้บ้าง อันไหนที่เราถนัด อันไหนเราชำนาญ อันไหนเราจะทำได้ดี ทำได้เก่ง มันก็จะมี เป็นคนๆ อันไหนได้ดีมาก อันไหนได้ดีรอง ก็ทำไปซินะ มีความหมายขยัน ไม่มีความหมาย เละเลย อันไหนก็สอดเขาเรื่อย อันไหนก็แส่เข้าเรื่อยๆ เลอะ แล้วก็ไม่รู้ก็ว่าถูกหรือไม่ถูก ทำอย่างไร ก็ไม่รู้ทำอย่างไร เข้าไปที่ไหน ขยันเหมือนกันนะ ขยันแต่โง่ เขาว่า ผู้ขยันแต่โง่ ไปไหน ทำให้ของเขาพังหมด ไอ้แบบนี้ ไปอยู่เฉยๆ หรือว่าทำอะไรได้ดี ก็ไปทำอันนั้น ดีกว่าไปเที่ยว ได้ทำอะไรของเขาพังไปหมด เข้าที่ไหน ก็ไม่รู้เรื่อง อย่างนี้ก็ไม่เข้าท่า เพราะยังงั้น ก็ต้องฝึกตน ให้คนที่ฉลาดเฉลียวดูว่า อะไรพอจะฝึกปรือไปได้

ถ้าเป็นอย่างนี้ จริงๆนะ หรือว่าหมู่กลุ่มไหน บริษัทไหน คนไม่มาก ก็ยังเจริญเลย นี่คนมากๆ อย่างนี้ ไม่เจริญก็ให้รู้กันไป ข้อสำคัญ ล้างความขี้เกียจ ที่เป็นตัวตรงกันข้ามกับขยันนี่ให้ได้ ความขี้เกียจ บอกแล้วว่า โอ้โฮ มันยอดแทรกตัวอยู่ในตัวคนนี่ มันมากจริงๆ ใครซึ้งในตัวขี้เกียจ บ้างไหม อาตมาล่ะซึ้งกับมันจริงๆเลย ตัวขี้เกียจนี่ ปฏิบัติธรรมศึกษามานี่ โอ้โฮ รู้ทั้งรู้ดี มันยัง ขี้เกียจเลย ซึ้งมันจริงๆเลย เพราะฉะนั้น ไว้หน้ามันไม่ได้ ถ้าคุณไม่ปฏิบัติ เพื่อที่จะฝืน เพื่อที่จะ แก้กลับ ปล่อยให้มันกินเนื้อกินตัวไป มันก็ขึ้นขน มันก็หางยาว ตัวขี้เกียจนี่ อาตมาว่า มันขึ้นขน จะลุกทีหนึ่งขนล่วงกราวเลยนะ มันขึ้นขน จะไปที่ไหนก็ลาก แหม แกร็กๆๆๆ หางมันยาว ตัวขี้เกียจ พูดภาษาให้ฟัง มันโอ้โฮ มันไม่เจริญจริงๆ

คนเราถึงบอกว่า ศาสนาพุทธ มันไม่สอนหรอกฤาษีนี่ ไปนั่งหลับหูหลับตา ก็ติดแหงกเข้าไป เป็นวิภวตัณหา จมอยู่นั่นแหละ ยิ่งจะเห็นชัดเจนเลยว่า มันไม่มีเจริญหรอกไอ้คนพวกนี้ เพราะฉะนั้น สายนั่งหลับตา สายเจโตสายอะไรนี่ดึงออกยาก ดึงออกมาให้ใส่ใจ มีกลศึกษา พยายามที่จะเป็นพหูสูต พยายามที่จะสั่งสมสุตะ สั่งสมที่จะเรียนรู้ ที่เข้าใจอะไรต่ออะไร แวดวงอะไรพวกนี้ ให้เป็นมิตรดี สหายดี สัมปวังโก สิ่งแวดล้อมที่ดี ให้รู้แล้ว เข้าใจในกิจการ ของใคร จะทำอย่างไร ทั้งสูงทั้งต่ำ อะไรในเพื่อนพรหมจรรย์ ทั้งหลายแหล่ ให้ขยันประกอบ นี่บอกว่า ไม่เกียจคร้าน ในกิจที่ควรทำอย่างไร ทั้งสูงทั้งต่ำ ของเพื่อนพรหมจรรย์ทั้งหลาย ประกอบด้วยปัญญา เป็นเครื่องพิจารณาอันเป็นอุบายในกิจนั้น หมายความว่า ต้องฉลาด เฉลียว ในกิจนั้นด้วย ประกอบไปด้วยปัญญา เป็นเครื่องพิจารณาอันเป็นอุบายในกิจนั้น อุบาย ก็คือความเฉลียวฉลาด ทำให้เจริญนี่ อุบาย ก็คือ ทำให้เจริญ อุปายะเป็นสิ่งที่ทำให้เจริญ ขึ้นไปนี่แหละ ในกิจนั้นๆๆ หรือในงานนั้นๆ เรื่องอะไรก็แล้วแต่ อาจทำอาจจัดได้ มีคำขยาย เข้าไปเลยว่า จนกระทั่ง เราสามารถ หรืออาจสามารถทำ สามารถจัดได้ สามารถทำอันนั้นๆได้ เห็นไหมว่า มันละเอียดไปหมดเลย

ภิกษุเป็นผู้ขยัน ไม่เกียจคร้านในกิจที่ควรทำอย่างไร ทั้งสูงทั้งต่ำของเพื่อนพรหมจรรย์ทั้งหลาย ของใครๆ ทั้งหมดนั่นแหละ ทั้งหลาย ประกอบด้วยปัญญาเป็นเครื่องพิจารณา อันเป็นอุบาย ในกิจนั้น อาจทำหรือสามารถทำอันเดียวกันได้ หรือสามารถจัดได้ หรือทำได้ จัดการได้ ลงมือทำ อันนั้นๆได้ กิจอะไรก็แล้วแต่ ถึงอย่างนี้ นี้ละเอียดลออ เพราะฉะนั้น จะเป็นคนเจริญแน่นอน อยู่ในหมู่ ในกลุ่ม ในฝูง งานการที่จะเราจะลึกซึ้ง เราจะละเอียด เราจะทำได้แต่ละคนๆ ชำนาญโน่นนี่ ยิ่งงานใดไม่ค่อยมีคนเอาใจใส่ ไม่ค่อยมีคนทำ ยิ่งน่าจะใส่ใจเข้าไปนะ ฝึกๆ เพียรๆ ลงมือลงไม้หัดๆ ฝึกๆ บ้างนะ ชาวลูกทุ่งนี่เป็นชาวแข็งแรง ทำงานนี่นะ ไม่ว่าผู้ชาย หรือผู้หญิงๆ เขาก็จะทำงานแข็งแรง ชาวลูกทุ่งทำได้ทดแทนกันได้ ผู้ชายทำอะไรได้ ผู้หญิงทำ อะไรได้ ไม่ใช่ว่าเหมือนคนกรุงๆ เดี๋ยวนี้ แอ๊คนะ ผู้หญิง ผู้ชายเขาทำอะไรได้ ฉันก็ทำได้ แต่งานเบานะ เดี๋ยวนี้ อยากใหญ่ อยากโต ผู้หญิงนะ มันต่างกัน คุณลองนึกๆ ตั้งหลักดีๆ ชาวลูกทุ่ง ชาวบ้านนอกนี่นะ ผู้หญิงนี่ทำงานแทนผู้ชาย ทำไร่ไถนา ทำโน่นทำนี่ ได้เห็นไหม ทำงานหนักๆ ไอ้โน่นไอ้นี่ ได้มากมาย แต่หลายอย่าง ที่ผู้หญิงทางบ้านนอก นี่ ไม่ไปแย่งงาน ผู้ชาย เขารู้งานผู้ชาย แต่ว่างานหนักงานโน่นงานนี่ งานจะทดแทนได้ทำนะ ผู้หญิงทำ นี่ชาวบ้านนอก ชาวลูกทุ่ง

ในกรุงหนักเข้า พอมาเป็นคนในกรุง ไม่ค่อยทำอะไรหรอก แม่บ้านก็อยู่แต่บ้าน กรีดกราย เดี๋ยวนี้ จะเอาเหมือนอย่างลูกทุ่ง แล้วจะไปทำงานแทนผู้ชายบ้างแล้ว เลยจะทำงาน แล้วก็ฉวยเอางาน ที่เป็นยศ เป็นตำแหน่งฐานะอะไร แล้วไปแอ๊คแข่งบ้างเดี๋ยวนี้ คล้ายพวกลูกทุ่งเหมือนกัน แต่งานที่ว่า มันซ้อนเชิง อย่างงานในเมืองนี่ หนีงานหนักสมัครงานสบาย ฉลาดโกง ฉลาดเลี่ยง ฉลาดตีกิน ผู้ชายก็ตามผู้หญิงก็ตาม อีกเหมือนกัน เอาศักดิ์เอาศรี จะต้องเท่าเทียมกัน แล้วก็ แย่งงานผู้ชาย ยิ่งกว่าคนลูกทุ่ง ยิ่งกว่าชาวลูกทุ่ง ชาวลูกทุ่งไม่แย่งงานผู้ชายมากมายนักหรอก ผู้หญิงชาวลูกทุ่ง ผู้หญิงชาวเมืองนี่ โอ๋ เดี๋ยวนี้อยากใหญ่ แย่งงานผู้ชาย เอาตำแหน่ง เอายศ เอาศักดิ์ เอาไอ้โน่นไอ้นี่เต็มที่ จะมีสิทธิทุกอย่างนะ

อาตมาเคยแย้งผู้หญิงในเมืองนี่ อะไรๆก็เท่าเทียมกัน ตกลง ถ้างั้นก็ต้องมีการคัดเลือกทหาร ผู้หญิง เหมือนกัน เอาไหมล่ะ ผู้หญิงก็ถึงเวลา ถึงได้อายุก็ต้องไปคัดเลือก ต้องไปเป็นทหาร เหมือนกันกับผู้ชาย ไม่เอาแฮะ ไม่เอา กลัวเหมือนกันไม่เอา บอกแค่นี้คุณยังไม่ยอมเลย แล้วอยากได้อะไรก็เสมอกัน ก็เสมอ ต้องเสมอให้หมดทุกอย่างซิ ฯลฯ...

อาตมาว่า แม้แต่ไม่เท่านี้นะ ในธรรมชาติของผู้หญิงนี่นะ อาตมาเรียนกายวิภาค เรียนสรีระ เรียน Anatomy มา กระดูกของผู้หญิงก็ดี อวัยวะของผู้หญิงก็ดี อะไรสัดส่วนของผู้หญิงก็ดี มันไม่เท่าผู้ชาย สัตว์ตัวผู้ กับสัตว์ตัวเมีย ต่างกันโดยธรรมชาติ มาแต่ไหนๆ มันไม่เท่ากันมาเลย ยิ่งไปในศาสนาคริสต์ เขาบอกว่าผู้หญิงนี้ ไปเอากระดูกซี่โครงของผู้ชาย เอากระดูกซี่โครง ของอดัม มาสร้างเป็นอีฟ มาสร้างอีวา เพราะฉะนั้น พวกฝรั่ง พวกนับถือศาสนาคริสต์ มาถึง อาตมาเอาอันนี้แหละ ยันเอาอย่างพวกศาสนานี่นะ พวกซีสเตอร์ (Sister) บราเดอร์ (Brother) อะไรนี่ มาถึงสิทธิผู้หญิงต้องเท่าเทียมผู้ชาย บอกว่าไม่เป็นไรหรอก จะให้เท่าผู้ชาย คุณเอง คุณก็เป็นอดัมให้มันได้ก็แล้วกัน ถ้าเผื่อว่าคุณแค่กระดูกซี่โครงของอดัมมาเกิด มันจะเท่า ผู้ชายไม่ได้ มันจะไปเท่าผู้ชายได้ยังไง อาตมาไม่ว่ายังงั้น เขาถามว่าสิทธิผู้หญิง กับสิทธิผู้ชาย เราคิดยังไง

อาตมาก็ว่า อาตมาก็คิดเห็นเหมือนอย่างพระเจ้านั่นแหละ ผู้หญิงก็คือกระดูกซี่โครงอดัม เท่านั้นแหละ ปฏิภาณของคนก็เข้าใจ เขาก็จนแต้ม เพราะเขาต้องเชื่อ คำสอนของพระเยซู ของตำนานของเขาใช่ไหม ก็ในเมื่อคุณรู้ฐานะ ผู้หญิงก็แค่กระดูกซี่โครงของอดัม มันจะไปใหญ่ เท่ากันได้ยังไง มันรองทุกอย่าง นะ เขาก็ไม่กล้าพูดสิทธิสตรีที่จะเท่าเทียมผู้ชายต่อ ฯลฯ.. สำหรับ ผู้ที่ศรัทธาศาสนานะ แต่ถ้าผู้ไม่ศรัทธาศาสนา ก็ต้องว่ากันไปในเรื่องอื่น เหตุผลอื่นนะ

มีข้ออื่นๆ อีกทีว่ากันถึง ๑-๒-๓-๔-๕ ข้อแล้ว ข้ออื่นๆ ที่เราจะต้องพูดกันไป อธิบายกันไป จะเห็น ในรายละเอียดพวกนี้ แล้วมาสรุปบทต่างๆว่า ๑๐ ข้อ ของนาถะสิ่งที่เป็นที่พึ่ง เพราะฉะนั้น คนเรา ถ้าไม่มีศีลเป็นที่พึ่งแต่ต้นแล้วนี่ คนที่ไม่มีทิศทาง ไม่มีทิศทางของชีวิตหรอก เชื่อไป ไม่มีศีลเป็นหลัก อะไรควรเลิก อะไรควรละ ไม่รู้จักอะไรจะเลิก ไม่รู้จักอะไรจะสร้างให้ยิ่ง อะไรควรจะทำ ให้สมบูรณ์ ให้เจริญ ไม่เข้าใจไม่มีหลัก ศีลจึงเป็นหลักของศาสนา เป็นหลักของ มนุษย์ และยิ่งปฏิบัติได้แล้ว คุณจะรู้เลยว่า โอ้ ศีลนี่เป็น จนกระทั่ง เราปฏิบัติได้เป็นปกติ ธรรมดา เป็นของที่เป็นตน มีศีลเป็นอัตโนมัติแล้ว

คุณยิ่งจะเห็นจริงเห็นจัง ปฏิบัติศีล จนเป็นอเสขะ สมบูรณ์เป็นพระอริยะ จนเป็นพระอรหันต์ คุณยิ่งจะมีปัญญา มีญาณเห็นจริงเข้าใจความจริงมากมายเลย ไม่ใช่ว่าพูดโดยเอาแต่ภาษา เอาแต่อะไรมาพูดๆ พูดด้วยความรู้สึก พูดด้วยความเข้าใจ พูดด้วยความเห็นจริงๆเลย เอาความจริงๆนี้มาสาธยายออก มาเป็นภาษาสู่กันฟังได้ ขอให้มี เกิดศีล เกิดพหูสูต เกิดสภาพ สิ่งแวดล้อมดี เกิดสภาพมิตรดี สหายดี เกิดเป็นไปตามลำดับ นี่แหละเป็นผู้ว่าง่าย เป็นผู้ขยัน เข้าไปเรื่อยๆ จนกระทั่ง ต่อไปอีกๆ ๕ ก็ค่อยเอาไว้ขยาย ในตอนต่อไป ตอนนี้มันเลยเวลา ไปหน่อยแล้ว ก็เอา

เอาละ สำหรับวันนี้


จัดทำโดย โครงงานถอดเท็ปฯ
ถอด โดย ยงยุทธ ใจคุณ ๑๖ มิ.ย.๒๕๓๕
ตรวจทาน ๑ โดย สม.ปราณี ๑๖ มิ.ย.๒๕๓๕
พิมพ์ โดย สม.นัยนา
ตรวจทาน ๒ โดย สม.จินดา ๒๖ มิ.ย.๒๕๓๕
:๒๔๖๒B.TAP