ที่พึ่งอันวิเศษของมนุษย์ ตอน ๓
โดย พ่อท่าน สมณะโพธิรักษ์
เมื่อวันที่ ๑๑ พฤษภาคม ๒๕๓๕
ณ พุทธสถานปฐมอโศก
หน้า ๒ ต่อจากหน้า ๑


ถ้าอาตมาเป็นเถระ ก็มีผู้มัชฌิมะ มีผู้นวกะ แม้แต่ในฆราวาสเองก็ตาม ก็ถือผู้ใดปฏิบัติธรรม มีเนื้อมีหา ไม่ใช่ว่า การแต่งตัว แม้จะอย่างไร แต่ผู้นั้นมีชีวิตอันสงบ ที่พระพุทธเจ้าท่านตรัส เอาไว้อย่างนี้ มีจิตอันสงบ มีจิตอันได้ระงับแล้ว ผู้นั้นก็สมควรเรียกเขาว่าสมณะ เรียกเขาว่า พราหมณ์ เรียกว่าภิกษุก็ได้ นี่เป็นคำตรัสของพระพุทธเจ้า แต่ว่าเราก็ไม่เรียกกันละ เป็นฆราวาส อยู่ เราก็ไม่เรียกภิกษุ ไม่เรียกสมณะ ไม่เรียกพราหมณ์เสียทีเดียวหรอก แต่จะเรียกก็ได้ ถ้าผู้นั้น เข้าถึง เป็นอุปสัมบันจริงๆ เป็นผู้ที่ได้บรรลุมรรค บรรลุผลจริง ถ้าผู้ที่เข้าใจจริงแล้ว จะไม่ติด ไม่ยึด ส่วนผู้ที่จะติดจะยึดอยู่ ไม่เข้าใจ ไม่เห็นร่วมกัน ก็ขัดแย้งกัน แน่นอน นานาสังวาสได้ แต่ถึงอย่างนั้น เราก็รู้จักสมมุติสัจจะ มีฐานะ มีองค์ประกอบ

แม้คุณจะเป็นพระอริยะ เป็นฆราวาสที่เป็นอริยะ ยังไม่ได้ผ่านในรูปแบบ ยังไม่ได้ผ่านในพิธีกรรม ไม่ได้ผ่านในสัญญาที่กำหนดเป็นหลักเป็นเกณฑ์ เป็นวินัย เราก็รู้กันตามสมมุติ ตามที่ได้กำหนด ว่า ขนาดนั้นขนาดนี้ ก็ไม่ได้สงสัยอะไร และเราก็ได้ปฏิบัติไปตามที่เข้าใจกัน สัญญากัน กำหนด กันว่า อย่างนั้นอย่างนี้ ก็เป็นไป แต่สัจจะที่ลึกๆ แล้ว เนื้อหา แม้แต่ฆราวาสบางผู้บางคน มีภูมิธรรม ถึงขั้นอนาคามิคุณ บางทีมีภูมิธรรมเข้าข่ายอรหัตคุณก็ได้ เราก็นับถือกันตามจริง ถ้าผู้นั้นรู้นะ แล้วก็พึ่งอาศัยถ่ายทอดกัน มันก็อยู่นั่นแหละ ฆราวาสก็เป็นมิตรดี สหายดี อยู่ด้วย แม้จะเป็นฆราวาส แต่ก็มีคุณธรรมเป็นอุปสัมบันโดยปรมัตถ์ ไม่ใช่โดยสมมติ ก็เป็นเพียง อนุปสัมบัน คือเป็นฆราวาส แต่แท้จริงแล้วโดยปรมัตถธรรม เป็นอุปสัมบันเชียวนะ ก็เป็นที่พึ่ง กันได้ ถ่ายทอดกันได้ ตามควรตามฐานะที่เป็นไป มันก็ได้อาศัยกันอยู่อย่างนี้แหละ มีมิตรดี สหายดีอย่างนี้

สังคมที่มีความจริง มีความเกิดจริง เป็นจริงอย่างนี้ และก็ดำเนินตามพระพุทธเจ้า ที่ท่านทรง ยืนยัน ทรงอธิบาย ทรงมีอะไรๆ ในคำสอน ที่เราเอามาพิสูจน์ตามที่สอน ซ้อนลึกจะเห็นได้ว่า ซ้อนลึกไปจริงๆ

๓ ข้อแรก นี่ ก็ยืนยันสำคัญ มีศีลเป็นพหูสูต มีมิตรดี สหายดี สังคมสิ่งแวดล้อมดี ซ้อนลงไปอีก ในข้อที่ ๔ ที่ ๕ ที่ ๖-๗-๘-๙-๑๐ เป็นผู้ว่าง่าย เริ่มต้นมาตั้งแต่ต้นแล้วเป็นผู้ว่าง่าย ในความหมาย ลึกซึ้งถึงขั้นว่า เราเคยเรียนมา มาเป็นผู้ที่พ้นสักกายทิฏฐิ กว่าจะได้เป็น พระอริยะโสดา จะต้องพ้นสักกายทิฏฐิ เป็นสังโยชน์ข้อแรก ข้อนี้ มันก็สัมพันธ์กันกับผู้ว่าง่าย ผู้ใดมีอัตตามานะ ดื้อด้าน เป็นผู้ว่ายากสอนยาก เป็นผู้หยิ่งผยอง เป็นผู้มีอติมานะ มานะ อติมานะ เป็น ผู้สโฐ ผู้มีใจลามก ในสายอุปกิเลส ๑๖ เราเคยเอามาอธิบาย เป็นผู้ที่ไม่รับ ไม่เชื่อม ไม่สัมพันธ์ เป็นผู้ที่มี อุปกิเลส ๑๖ มีอภิชฌาวิสมโลภะ พยาบาท โกธะ อุปนาหะ พวกนี้ มีความโกรธ มีความผูกโกรธ แล้วก็มักขะ ปลาสะ อิสสา มัจฉริยะ เป็นผู้มักขะ เป็นผู้ที่ ลบหลู่เหยียดหยามผู้อื่น ลบหลู่ผู้อื่น ปลาสะ เป็นผู้ที่ยกตนเทียบเท่าเสมอไม่เล็กไม่น้อย หยิ่งอยู่อย่างนั้นแหละ ไม่ยอมเล็ก ไม่ยอมน้อยลงได้ นี่แหละ สักกายะตัวนี้แหละ สัมพันธ์กับ ผู้ว่าง่ายมาก สัมพันธ์ไม่ได้เหมือนกัน นะ นี่เป็นอุปกิเลสนะ

เพราะฉะนั้น คนไหนมีอุปกิเลสพวกนี้หนาๆ หนักๆ สักกายะตัวต้นเลย ไม่ยอมรับครูบาอาจารย์ ไม่ยอมรับผู้รู้จริง นึกว่าตัวแน่ๆ อัตตาใหญ่ ยิ่งเป็นผู้ที่ร่ำเรียนมาก ตามที่พระพุทธเจ้าท่านสอน ว่า เป็นปทปรมบุคคล เรียนพระพุทธพจน์มาก็มาก ทรงจำเอาไว้ก็มาก สั่งสอนคนอื่นอยู่ก็มาก แต่ไม่ได้บรรลุธรรมอะไรๆ มีปริยัติมากจริงๆนะ โอยคล่องแคล่ว สาธยาย สวด พึ่งพระธรรม นั่นหากินอยู่ ยังชีวิตอยู่ได้ เสร็จแล้ว เป็นครูบาอาจารย์มากมาย ใหญ่โตก็ได้ แต่ไม่ได้บรรลุจริงๆ แต่เป็นปทปรมะ อย่างนี้ ดื้อด้าน และมันจะไม่ฟัง มักจะไม่ฟังผู้อื่น มักจะมีอัตตามานะใหญ่ นี่เป็นจุดแรกเลย สักกายะตัวที่หมายว่า ยึดติดตัวตน ยึดติดภูมิของตน ตัวตนอันนี้ ยึดติด ภูมิของตน อันนี้มีมากเลย เดี๋ยวนี้ ตลอดอยู่นี่ หาว่าเขาไม่ได้เรียนเท่าเราจริงด้วย

อย่างมายุคนี้ สมัยนี้ อาตมามาเกิด อาตมาไม่ต้องได้ไปเรียน อย่าว่าแต่ไปเรียนธรรมะเลย แม้แต่อลังการทางโลก ได้ไปเรียนวิชาอะไร ศาสตร์อะไรกับเขา มาเป็นปริญญาตรี ปริญญาโท อะไรกับเขา ก็ไม่มีหลักฐานอลังการอะไรพวกนี้เลย ธรรมะไม่ต้องพูดเลย นักธรรมตรี นักธรรมโท นักธรรมเอก อ่านโน่น อ่านนี่ ดีไม่ดีเอามาบรรยาย แปลบาลีผิดหูเขา อีกอะไรต่างๆนานา ดูไป จนกระทั่งน่าหัวเราะ โธ่ อย่างนี้ ผู้คงแก่เรียนในเรื่องของธรรมะหนา เรียนพระบาลี เรียนพระสูตร เรียนพระธรรมมาแล้ว ก็แก่กว่าอาตมา ก็ได้เรียนมามากมาย ได้ยอมรับนับถือ ของประชาชนมากมาย คนที่มีอัตตามานะจริงๆ นี่ลงไม่ได้หรอก ลงไม่ได้ และเป็นอัตตามานะ และ ผู้ฟังเป็นปทปรมบุคคลจริงๆด้วย ต่อให้ไปรู้ผู้เยี่ยมผู้ทรงธรรมพหูสูต ในเรื่องของปริยัติ ในเรื่องของ การเรียนธรรมะมามากมาย ทรงจำไว้มาก ท่องจำไว้มาก สั่งสอนผู้อื่นไว้มาก แต่ไม่ได้ เป็นผู้บรรลุจริงๆ ไม่มีอริยคุณอะไร มีมานะมีอัตตาเยอะ เป็นผู้ว่ายาก สอนยาก ไม่พ้น สักกายทิฏฐิ ข้อที่ ๑ สังโยชน์ข้อที่ ๑ ไม่พ้น นอกจากไม่พ้นแล้ว เพราะอะไร เพราะจิตมันสงสัย จิตมันคลางแคลง วิจิกิจฉา เอ๋ มันจะเป็นพระอริยะจริงๆหรือๆ มันเป็นพระอริยะ เขาว่าผมนะ เขาว่าประชดนะ เป็นศาสดานั่นก็ด้วย ศาสดามหาภัย ก็ความหมายเดียวกัน ทำมาอวดอริยะๆ เตะคนได้บ้าง อริยะยุคจรวดบ้าง อริยะอะไร เขาไม่เชื่อหรอก เขาหมิ่นแหม่

ทีนี้ ในพระสูตรของพระพุทธเจ้าสอนเอาไว้นะ ว่าผู้ใดดูหมิ่นดูถูก จาบจ้วงพระอริยะ โอ๋ นรก ๑๑ ขุมนะ นรก ๑๑ ขุม อาตมาพูดอย่างนี้นี่ ฟังดีๆนะ ไม่ใช่อาตมาป้องกันตัวเอง ยกตัวเอง แล้วก็ไป ลบหลู่ผู้อื่น พูดไปมีแต่ความแค้นเคือง ด้วยความโกรธ ว่าคนอื่นแย่เราดี ไม่ใช่หรอกนะ แต่อาตมาสาธยายธรรม สาธยายสภาวธรรมที่เราเป็น เรามีอยู่เห็นอยู่รู้อยู่ มันก็เป็นอย่างนี้ น่าสงสาร น่าสมเพช อาตมาไม่จริงๆนะ คุณจะเชื่อหรือไม่เชื่อก็ตาม เพราะอาตมาไม่ได้ ไปถือเคือง ผูกโกรธอะไรหรอก ไม่ได้รำคาญใจ ไม่ได้รู้สึกอึดอัด ไม่ได้มีทุกข์เพราะเราไป ถือสา เพราะเราไปผูกพยาบาท ไม่มี อาตมาวาง โปร่ง จะด่าอาตมา จะว่าอาตมาสาดเสียสาดเท จองเวร จองกรรมอาตมาอยู่บ้าง อาตมาว่าอาตมาเข้าใจธรรมะของพระพุทธเจ้า ไม่จองเวร จองกรรมด้วยหรอก อาตมาไม่ถือว่ามาเป็นคู่ต่อสู้ หรือเป็นศัตรู มาเป็นอริอะไร

ท่านก็ทำของท่าน ท่านก็ยึดของท่าน ท่านก็ถือของท่านก็เข้าใจนะ หลายอย่างนี้เห็นอยู่ว่า มันเป็นนรก มันเป็นบาป มันป็นเวร มันเป็นภัย เป็นความผิดพลาด เห็นอยู่จริงๆเลย เข้าใจ เพราะฉะนั้น บางครั้งบางคราว ก็บอกแล้ว ผู้ที่บอกได้จริงๆ ก็บอกเตือนด้วยสัญญาณตรงๆ บ้าง สัญญาณไม่ตรงบ้าง เพราะมันมีมานะนี่ บอกตรงๆ ไม่ได้หรอก ยาก ต้องบอกเอียงๆ อ้อมๆ บอกอะไร ต่อมิอะไรไปบ้างถึงจะพอเป็นพอไป ต้องมีปฏิภาณในการที่จะบอก ถ้าจะบอกนะ ถ้าไม่บอกก็ไม่บอก เพราะว่ามันบอกไปแล้ว ก็เออ มันก็คงไม่เป็นอะไร จะไม่ได้ผลอะไร แต่ก็ไม่ได้ ไปติดใจ จนกระทั่งว่าจะไปบอกใคร แม้ผู้นั้นเป็นอริ เป็นศัตรู เป็นผู้ที่ตั้งหน้าตั้งตาจะทำร้าย ทำลายเรา ด้วยซ้ำ

อาตมาว่า อาตมาไม่โกรธนะ ไม่โกรธ คุณจะเชื่อหรือไม่เชื่อก็แล้วแต่ เพราะอาตมาชัดเจนจริงๆ เลยนะว่า อารมณ์โกรธเป็นอย่างไร หยาบ กลาง ละเอียด และเราไม่โกรธนี่ อาการที่มันไม่โกรธนี่ ได้อาศัยอาการๆที่ไม่โกรธ เราต้องอ่านอาการของจิตวิญญาณของเราให้ออก เราได้อาศัย อาการโกรธ ก็ไม่เกิดอีก ได้อาศัยที่มันไม่เกิดอาการโกรธ เขาจะด่า เขาจะว่า เขาจะย่ำยีดูถูก เราก็ไม่โกรธ อาการเหล่านี้ มันอย่างไร ต้องอ่านให้ชัดตัวเอง และเราได้พึ่งอาการอย่างนี้ ด้วยจิตวิญญาณ ว่ามันเป็นอาการอย่างนี้แหละ มันไม่มีความโกรธเกิดอีกนี่ แหม มันวิเศษจริงๆ นะ ใครเชื่อไหมเอ่ย เชื่อไหม ไม่ต้องโกรธ ไม่ต้องไปพยายาท ไม่ต้องไปเคือง ไม่ต้องไปอึดอัด ไม่ต้องไปไม่ชอบ ต้องไม่ชอบ ต้องชังไม่ต้องชังใครนี่ เอ๊ย มาสบาย จะไปชังเขาอยู่ ไปไม่ชอบ เขาอยู่ มันไม่ดี มันไม่ต้องมีอาการเหล่านั้น อาการไม่ชอบ ก็ไม่มี อาการชังก็ไม่มี แต่บางที นี่ ด้านชอบ หรือว่าด้านรัก หรือว่าด้านยินดีนี่นะ ก็การอธิบายแล้ว มันมีผลเหมือนกัน มันได้อาศัย ให้มันเกิดการพัฒนา ต้องอาศัย

ส่วนสายโทสมูล อาตมาพูดซ้ำ พูดซากบ่อยนะ สายโทสมูล ไม่ต้องอาศัยมันเลย มันไม่ได้ช่วย ให้เราเจริญอะไรหรอก เอามันออก ไม่มีเหตุผลอะไรทั้งสิ้น เคยย้ำมาแต่เท่าไหร่ ล้างไปให้เกลี้ยง ทันที ไปได้เลย แต่ในนัยที่ลึกซึ้งซับซ้อน ในสายยินดี แม้แต่เป็นธัมมะกาโม จะมีใคร่ในธรรมะ หรือจะยินดีในทางกามฉันทะ ใคร่ในยินดีในกามฉันทะ เป็นกามฉันทะ หรือ ธัมมกาโม ธัมมกาม ทรงๆไว้ซึ่งกาม ถ้าไปแปลเป็นภาษา จากภาษาพยัญชนะ ธัมมกาม ก็หมายความว่า เป็นผู้ที่ทรงไว้ซึ่งกาม ธัมมะนี่ทรงไว้ ทรงไว้ในกาม คือมีความใคร่ มีความอยากอยู่ แต่ใคร่อยาก ที่เป็นคุณค่า ประโยชน์ ไม่ได้ใคร่อยากไปบำเรอตน ไม่ได้อยากเอามาเสพสมสุขสมอะไรอีก อยากช่วยเหลือผู้อื่น อยากเผื่อแผ่ผู้อื่น อยากสร้างสรร เป็นจิตของคนธรรมดา ที่มีความมุ่งหมาย ที่มีความปรารถนาดี มีความต้องการที่จะรังสรรค์ที่จะสร้างสรร มีคุณค่า มีประโยชน์ในโลก เป็นความต้องการที่จะให้ตัวเราเป็นคนมีคุณค่า ตัวเราเป็นคนมีผลผลิต ตัวเราเป็นคนมีการงาน ตัวเรามีสิ่งที่รังสรรค์ สิ่งที่สร้างสรร สิ่งที่ดี สิ่งที่งามขึ้นไว้ให้แก่ผู้อื่น ได้อาศัย ได้พึ่งได้เกื้อกูลมัน

มันไม่ใช่ความผิด มันไม่ใช่ความเลว แต่เป็นความประเสริฐด้วยซ้ำ เราไม่ติด ไม่ยึดว่าเป็นเรา ของเรา และสิ่งที่ดีๆด้วย สร้างก็สร้างในสิ่งที่ดีๆด้วย มันเป็นคนประเสริฐจริงๆ เลยนะ อาตมา เห็นความจริงอย่างนั้น เพราะฉะนั้น เราเป็นคนไม่มีโทสะ ลองพิสูจน์ดีซิ ไม่มีความไม่ชอบ ก็ไม่มี ไม่มีใจชังอะไรก็ไม่มีนะ มันวิเศษจริงๆ เป็นที่พึ่งอันเกษมจริงๆ นะ อย่างนี้ เป็นต้นนะ

เราเองเราเป็นคนว่าง่าย เป็นคนไม่มีอัตตามานะตัวที่กล่าวไปแล้วว่ามันสัมพันธ์กันไป จนกระทั่ง ถึงสักกายทิฏฐิ เป็นอัตตามานะ คือ สักกายะไม่ได้เรียกอัตตา ก็คืออันเดียวกัน ก็คือละตัวตน อัตตามานะที่มันใหญ่ สักกายะที่เป็นอัตตา ไม่ใช่แค่อัตตานุทิฏฐิ สักกายทิฏฐิเชียวนะ เพราะเรา เห็นพ้นมิจฉาทิฏฐิ ได้จริงๆว่า โอ้โฮ จิตของเราตัวนี้ ผู้ที่อ่านเจอ ทำไมมันถึงยึดดี ถือดี หลงดี ของตัวของตนมากมาย นึกว่าเราเองนี่ได้เรียนมา โอ้โฮ มีเปรียญ ๙ มีพุทธศาสนบัณฑิต เป็นด็อกเตอร์ เรียนมานานา เรียนมามาก เรียนมายาว เป็นเถระผู้เก่า ผู้ก่อน โอ่ ได้มานาน มามาก อ่านจิตของเรามันยึดไม่ฟังเขา ฟังเขาบ้างซิ เป็นผู้ว่าง่ายซิ ในความหมายของ เป็นผู้ว่าง่าย ของท่านก็ขยายความไว้เหมือนกันแหละนะ ว่าเป็นผู้อดทนรับอนุสาสนีโดยเคารพ นะ ประกอบกับธรรมเป็นเครื่องเป็นผู้ว่าง่ายนะ

เป็นผู้ว่าง่าย คืออย่างไร คือประกอบด้วยธรรมะเป็นเครื่องกระทำ เป็นผู้ว่าง่าย ท่านก็ขยายความ เอาไว้เท่านี้ เป็นผู้อดทน เป็นผู้รับอนุสาสนีโดยความเคารพ เป็นผู้ที่ได้สอน ได้รับคำสอน ได้รับ คำอนุสานีโดยเคารพ ได้รับคำสอนโดยเคารพมา แล้วก็มาปฏิบัติ เป็นผู้ที่พยายามไม่ยึดตน ถือตัวถือตน เป็นผู้อดทน รับคำสอนเขา แล้วก็พยายามให้จิตโน้มน้อม จิตอ่อน จิตรับได้ จิตที่ ลดอัตตาตัวตน ลดความถือดี ถือตน จนกระทั่ง ทนได้ จนกระทั่ง มันไม่ถือดี ไม่ถือตนได้ กระทำตน ให้รับฟังเขารับจริงๆ ด้วยใจที่ยอมรับไม่ใช่รับโดยเล่นๆ ใจจริงเลย เป็นใจจริง ที่ยินดีรับฟัง โดยเคารพจริงๆ โดยพิจารณารับคำสอน รับตัวอย่าง รับอะไรที่จะถ่ายทอดมาให้ เป็นผู้ว่าง่ายอย่างนั้น แล้วก็พิจารณาได้รับความรู้ความเข้าใจ ได้รับทิฏฐิที่ดีขึ้นมาแทนทิฏฐิเก่า แก้มิจฉาทิฏฐิเดิมเรา โอ๋ ได้เห็นอย่างนี้ เหรอ โอ๋ อย่างนี้หรือ เราเรียนมามาก เรายังไม่เข้าใจ อย่างนี้เลย เราเข้าใจก็แค่นั้น อย่างนั้น โอ้ อย่างนี้แหละเหรอ โอ๊ พ้นมิจฉาทิฏฐิเป็นอย่างนี้เหรอ และตรงไหน จุดไหน โอ๋ ยังงี้เหรอ และจะทำให้พ้นสักกายทิฏฐิ

เริ่มต้นเข้าสู่สัมมาอริยมรรค เริ่มต้นเข้าทาง เริ่มต้นเดินทาง เริ่มต้นดำเนินไปใน บางทีเป็น อริยธรรม อริยมรรค อริยะไปสั่งสมผลเข้าไป ยังงี้เหรอ โอ๋ ฟังได้เข้าใจได้ดี เราตรวจตนเอง เราไม่เคยสำนึก เราไม่เคยตรวจสอบตัวเอง เราไม่เคยรู้ตัวเอง เราไม่เคยเข้าใจละเอียดลออ ในสภาวะจริงอย่างนี้ เป็นนามธรรมที่ลึกซึ้งขนาดนี้ ที่เราก็ไม่เคยตรวจสอบ ก็จะได้มาตรวจสอบ ตัวเอง แล้วก็จะได้มาพิสูจน์ความจริงของเรา เราได้สะสมมาหรือว่ามีบารมี หรือว่ามีบุญมาเก่า หรือไม่ ไม่มี แล้วก็รู้ความรู้เดี๋ยวนี้ คำสอนเดี๋ยวนี้ เอาไปปฏิบัติดู

โอ้ ได้รับมรรค ได้รับผลจริง อย่างชัดเจน ไม่สงสัยไม่ลังเลไม่คลางแคลง ปฏิบัติศีล ปฏิบัติพรต ก็ สีลัพพตปรามาส พ้นสังโยชน์ ๓ ไปอีก เจริญงอกงามไปเรื่อยๆ มันก็จะเข้าเป็นผู้ว่าง่ายอย่างนี้

มัจฉริยะไม่มี แล้วก็ไม่มีมายา ไม่มีสาเถยยะ ไม่มีถัมภะ ไม่มีสารัมภะ สาเถยยะหรือสโฐ ไม่มีมายา ไม่มีสาไถยจริงใจ จริงจัง ไม่มีมายา ยอมรับก็รับอย่างจริงใจ ไม่มีอะไรแฝง เป็นพราง เป็นลวง จิตใจที่ไม่ย่อมรับอย่างสมบูรณ์ ก็จะต้องให้มี ไม่ใช่หลอกล่อว่า เราเป็นลูกศิษย์ เรายอม รับฟังอนุสาสนีย์โดยเคารพ ก็เคารพทั้งกายกรรม เคารพแค่ข้างนอก ข้างหน้า ปากว่าเคารพคุณ เคารพท่าน แต่ใจจริงๆมันไม่ได้เคารพ ใจจริงๆมันไม่ได้ยอมรับ ใจจริงๆไม่ได้ยกให้ ใจจริงๆ มันไม่ได้เชื่อถือ แต่ข้างนอกก็ดูทำท่าเชื่อถือน้อมรับ แต่จริงๆข้างใน ไม่ได้น้อมเลย แข็งกระด้าง ไม่เชื่อ ไม่เอา ฟังเล่นๆไปอย่างนั้น ฟังแล้วก็ไม่ซาบไม่ซึ้ง ไม่เข้าใจลึกไม่เห็นแจ้งเห็นจริงอะไร อย่างนี้เป็นต้น มันก็เป็นมายา มันก็เป็นสาเถยยะ มันก็เป็นสโฐ อวดดี จิตลามก ยึดอัตตาตัวตน ยึดมานะของตน ถือดีอยู่อย่างนั้นนะ ถือดีก็ไม่เอาน้อมจิต อย่าให้มันมีมานะ อย่าให้มันมี สาเถยยะ ถัมภะ สารัมภะ ดื้อด้าน ถัมภะ ไม่มีถัมภะ ไม่มีดื้อด้าน ไม่หยิ่ง ไม่ผยองอะไร ให้จิตไม่ มีจิตอาการพวกนี้ อาการหยิ่งเป็นยังไง อาการคือเป็นยังไง ไม่ดื้อเอาเท่าไหร่ อย่างนี้เป็นต้น

จริงๆ ต้องรู้อาการของจิตของเรา ไม่มีสายอุปกิเลสพวกนี้ จริงๆนะ ไม่มีมานะ ไม่มีอติมานะ ไม่มทะ ไม่ประมาทนะ ไม่มีความมานะถือดี อติมานะ ก็ยิ่งเป็นอติมานะ ที่ซ้อนลึกขึ้นไปอีก ไม่มีความเมา ไม่มีมทะ เมาอะไร ตัวตนหรือมันเบลอๆ มันไม่มีสติเต็มมันไม่ชัดแจ้ง เพราะฉะนั้น คนที่ยังไม่สติโปร่ง เป็นสติที่เป็นสตินทรีย์ เป็นสติพละ เป็นสติที่สมบูรณ์ เป็นสติ ที่รู้ระลึกรู้รอบ เป็นสติสัมโพชฌงค์ เป็นสติปัฏฐาน ๔ เป็นสติที่รู้จักกาโย เป็นสติที่รู้เวทนา เป็นสติ ที่รู้เจโต ปริยญาณ เป็นสติที่รู้จิต เป็นสติที่รู้ธรรมในธรรม เป็นสติที่รู้ธรรมะ อันประกอบไปด้วย สิ่งที่เรา ได้ประพฤติปฏิบัติ เป็นธรรมะที่สมบูรณ์ เป็นสติที่มีเจโตปริยญาณสมบูรณ์ เป็นสติที่มีจิต สมบูรณ์ เป็นสติที่มีเวทนา ที่เป็นเวทนาอันยิ่ง เป็นเวทนาอันเป็นอุเบกขาเวทนา ไม่มีสุข ไม่มีทุกข์ โน่นแหละ

เป็นจิตวิเศษ เป็นเวทนาวิเศษ และมีองค์ประกอบ รู้จักองค์ประกอบนอก องค์ประกอบใน มีกาโย ต่างๆนานา องค์ประกอบตั้งแต่รูปขันธ์นามขันธ์ จนกระทั่ง ร่างกายนี้ ออกไปจนข้างนอก ดำเนิน ไปสู่ข้างนอก เป็นกายคตา องค์ประชุมที่กำลังดำเนินไป กายคตา องค์ประชุม ที่มีการดำเนินไป มีสิ่งแวดล้อม ดำเนินไปด้วยกัน ข้างนอกก็มากขึ้น กว้างขึ้น มีความรู้ในกายคตา ที่โตขึ้น ไม่ใช่แต่แค่ในจิตวิญญาณ ไม่ใช่แต่แค่รูปธรรมสังขาร นี่ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง นี่ตับ ไต ไส้ พุง อะไรต่างๆ แค่นั้น ซึ่งเราก็ไม่ได้ยึดเป็นตัวตน แม้แต่ออกไป นอกไกล กว้างขนาดไหน ก็ไม่ได้ติด ไม่ได้ยึด หรือยังติดยังยึดอยู่ก็รู้องค์ประชุมเหล่านี้ เรา ติดตรงไหน ยึดตรงไหน ก็ปล่อยก็วาง รู้จักว่าปล่อยวางยังไง ปล่อยวางได้แค่ ไหน ยิ่งปล่อย ก็ยิ่งดี ยิ่งวางก็ยิ่งดี ก็เข้าใจอย่างนี้ เป็นต้น เป็นผู้ว่าง่าย ไม่มีอุปกิเลส ๑๖ นี่จริงๆ สัมพันธ์กันไปถึงอย่างนั้นนะ

เสร็จแล้ว ก็มีภิกษุอธิบายให้ฟังอย่างอาตมาอธิบายให้ฟังนี่แหละ อนุเคราะห์ให้พวกคุณ คุณจะเชื่อหรือไม่เชื่อก็แล้วแต่ คุณจะว่าง่าย หรือว่ายากอยู่ ก็แล้วแต่คุณ ถ้าเราทำตนของเรา เป็นผู้ว่าง่าย ลองฟังดูดีๆ อันนี้มันน่าจะเชื่อถือนา มันน่าจะฟังได้นา มันน่าจะรับมาพิจารณา รับมาปฏิบัติตาม ก็เอา เห็นว่าควรปฏิบัติ ตามก็เอา ไม่เห็นว่าควรปฏิบัติตาม คุณก็ไม่เอา ทั้งๆ ที่บางที มันยอมรับนะ มันควรปฏิบัติตามนะ แต่ข้ายังไม่ปฏิบัติ มันก็ดื้อได้ ไม่ดื้อเอาเท่าไหร่ อย่างนี้ หลายคนนะในนี้นะ โดนใครบ้างในนี้ อย่างนี้นะเชื่อฟัง แหม เข้าใจดี น่าปฏิบัติตาม จังเลย แต่ไม่ปฏิบัติตาม ยังดื้อ กระบิดกระบวนอย่างนั้นนะใช่ไหมๆๆ รับ คืออาตมาได้พร่ำสอน สาธยาย จนคุณเถียงไม่ได้นะ จำนนไม่วิจิกิจฉาแล้ว ไม่วิจิกิจฉาก็ไปตั้งใจ ถือเป็นศีล สมาทาน เป็นพรต พึงปฏิบัติซิ แล้วปฏิบัติอย่าให้แค่ปรามาส พ้นปรามาสให้ได้

บอกแล้วไม่ใช่เป็นเรื่องแค่ จารีตประเพณี แค่เกี่ยวยึด ถือศีล ยึดถือพรตอย่างคนโง่งมงายที่ไหน ได้รับฟังสาธยายจนเกิด สัมมาทิฏฐิแล้วด้วย สัมมาทิฏฐินั้นแค่ปริยัติ ก็สัมมาทิฏฐิแล้ว ชัดเจน เห็นแจ้ง ถือว่าเข้าใจดี ถูกทางเปี๊ยบ เสร็จแล้ว พอพ้นมิจฉาทิฏฐิ ในระดับมรรคด้วย ดูกิเลสเรา สัมผัสใจเรา อ่อ จริง อย่างที่ท่านว่านี่จริง แต่ก็ยังไม่อนิจจัง ที่ไปในทางอลมริยา ทางเป็นไป เพื่ออริยะ จริงเราเห็นอนิจจัง แต่เราก็ยังก้อนแข็ง กิเลสก็ยังเป็นตัวทรงอยู่ ดีไม่ดีก็ยังหนาๆ ขึ้น ๆๆ มันไม่เท่าเดิมด้วยซ้ำ อนิจจังนั่นน่ะ มันเป็นนอลมริยา มันไม่ใช่ทางเพื่อเป็นไป เพื่อความเป็น อริยะเลย คุณก็รู้แจ้ง เห็นจริงของตัวเองอยู่ มีญาณปัญญา เป็นญาณปัญญา อ่านอาการ ลิงคะ นิมิต อะไรของตัวเองออก อะไรถึงปานนี้อยู่ ยังดื้ออยู่ แหม่ จะดื้อไปอีกนาน เท่าไหร่ๆ นานเท่านาน ใช่ไหม เพราะนานเท่านาน เป็นนะ และเป็นอะไร ยังเป็นปุถุชนอยู่ ยังหนาอยู่ อย่างเดิม นานเท่านาน กระเทือนใจหรือซาบซึ้งบ้างไหม

หรือว่าทั้งชินทั้งชา ชินนี่ แปลว่าชนะ ชาแปลว่ารู้ คุณชนะแล้วจริงหรือยัง เปล่า คุณได้รู้จริง หรือยัง เปล่า และเป็นยังไง ชินชาภาษาไทย มันดื้ออยู่อย่างเก่า มันดื้อไม้ มันด้านไม้ ชินชาอยู่ อย่างเก่า แทนที่จะเป็นชินชา ภาษาบาลี ชินชาที่เป็นความลึกซึ้ง เพราะฉะนั้น ถ้าเราไม่พ้น จะชินชา แบบภาษาบาลี แบบภาษาลึกซึ้ง เราก็ชินชาอยู่แบบไทยๆ เหมือนกับอุตริมนุสธรรม นั่นแหละ ก็อุตริอยู่อย่างภาษาไทย รู้ไหม อุตริอยู่ อย่างภาษาไทย ไอ้มนุษย์อุตริ ทำพิเรนๆ เขาว่าเรานี่ อุตริ และเราก็อวดอุตริของเราด้วย อุตริของเรานี่ อุตริบาลีน่ะ อุตรินี่ เป็นสิ่งที่เหนือ มนุษย์ เราก็อวด เราก็โชว์ เราก็ทำ แต่เขาว่าเรา พวกนี้มันบ้า มันอวดบ้าๆ มันออกนอกรีต มันจะมาทำลายศาสนา มันเอาอุตริมาอวดนี่ มันผิดอะไรอย่างนี้เป็นต้น ก็เข้าใจกันอยู่ อย่างนี้แหละ

ความหมายภาษาไทยก็อยู่อย่างนี้แหละ เขาเข้าใจว่าพวกเรานี่ อวดอุตริมนุสธรรม เป็นพวกอวด อุตริ มันมาจากภาษาบาลี ภาษาธรรมของพระพุทธเจ้านะ เสร็จแล้ว มันไม่ถึง พวกนี้มีมานะ มานะโดยธรรม ของพระพุทธเจ้านั่นมานะดีนะ เป็นผู้ที่ใฝ่ดี เป็นผู้ที่อุตสาหะวิริยะ มานะนี่ พุ่งเพ่ง ที่จะเป็นผู้เจริญนะ มานะ

แต่จริงๆ อุปกิเลสแล้ว เราก็จะต้องรู้ว่า เราจะต้องมีจิตใจ เป็นผู้ใคร่อยากทะเยอทะยาน ในสิ่ง ที่เป็น สิ่งที่ควรทะเยอทะยาน ผู้มีมานะ กับผู้มีความอุตสาหะวิริยะ ทะเยอทะยานมุ่งมาด ปรารถนาดี มีความหมายภาษาไทยๆ และแม้ว่า เราทะเยอทะยานแล้ว มุ่งมาดปรารถนาแล้ว ได้สมแล้ว ได้ดีแล้ว เราก็ต้องรู้ว่าได้ดีแล้ว เราก็ต้องรู้จักพอ แล้วก็จะไม่ติดไม่ยึด ขนาดได้ถึง ขั้นนิพพาน เราเป็นนิพพาน เราก็ไม่สำคัญมั่นหมายในนิพพาน ไม่ยึดนิพพานนั่นเป็นเรา นิพพานนั่น เป็นของเราโน่นแน่ะ แต่ต้องมานะไปสู่นิพพาน จนกระทั่งเป็นมานะ มานะที่จริง แปลว่าจิตใจ มนะ มน มานะ เรื่องของจิตใจ จิตวิญญาณของคุณมีมานะได้สมบูรณ์แล้ว จนกระทั่ง เจริญดี เป็นสูงสุด เป็นนิพพาน เป็นโลกุตรจิตยิ่งใหญ่ เป็นวิมุตติจิต แล้วเราก็ ไม่สำคัญ ว่าเป็นเรา นี่ก็ไม่สำคัญว่านี่เป็นของเรา แต่ก็เป็นเราเป็นของเรา ที่อาศัยนี่แหละ แล้วทำใจในใจของเรา ไม่ติดใจเป็นเรา ไม่ติดใจเป็นของเรา ทำได้อย่างไรคุณทำเอง อาตมาว่า อาตมาอธิบายจนเป็นผู้ที่ ถ้าเป็นนักเปลือยกาย หรือนักโป๊ โชว์เช็ฟนี่ อาตมาโชว์เช็ฟยิ่งกว่า นางงามจักรวาล ไม่นุ่งผ้าสักชิ้น นางจักรวาลยังนุ่งผ้าชิ้นเล็กชิ้นน้อยๆเท่านั้น ถ้าเป็นอาตมา ไม่นุ่งสักชิ้นเลย เป็นนักให้เห็นทุกขุมขนเลย ให้เห็นทุกสัดทุกส่วน อาตมาก็ว่าได้อธิบายลึก อธิบายมาก อธิบายเยอะอย่างนี้อยู่นะ

ข้อที่ ๕ เป็นผู้ขยัน อธิบายต่อไป ถึงข้อที่ ๖ ข้อที่ ๗
ข้อที่ ๖ ใคร่ในธรรม
ข้อที่ ๗ ปรารภความเพียร ปรารภความเพียรกับขยันนี่มันไม่ต่างกันเลยนะ แต่ต่างกันแน่ ท่านแยก ออกเป็น ๒ ข้อ

ขยัน ขยันอย่างไร พระพุทธเจ้าท่านอธิบายความหมาย เป็นผู้ขยัน ในกิจการงาน เป็นผู้ขยัน ไม่เกียจคร้าน ในกิจที่ควรทำอย่างไร ทั้งสูงทั้งต่ำของเพื่อนสพรหมจารีทั้งหลาย บางที ท่านก็ แปลว่า กิจน้อยกิจใหญ่ ก็แปลว่า ทั้งสูงทั้งต่ำ งานกิจ หรืองานน้อยงานใหญ่ งานสูงงานต่ำ ตั้งแต่ล้างส้วม ตั้งแต่อะไรก็ไม่ว่า ถือว่าเป็นงานต่ำอะไร แบกขน เช็ดถู ไปจนกระทั่ง งานสูง ไปจนกระทั่งบนหลังคา หรือว่างานสูบโดยความหมายอย่างไร เป็นผู้ที่สอน เป็นผู้ที่ได้ให้เขา มากราบ มาเคารพ มายกย่องเชิดชู อะไรก็ตามใจเถอะ เป็นงานที่วิเศษ สูงส่งขนาดไหน ขนาดหนักอย่างไร ก็ตามใจ เราก็ช่วยกัน ทั้งกิจน้อยกิจใหญ่

ส่วนที่ข้อที่ ๗ ปรารภความเพียร นั่นหมายถึง เป็นผู้ที่ปรารภความเพียร เพื่อละอกุศลธรรม ทั้งหลาย เพื่อความถึงพร้อมแห่งกุศลธรรมทั้งหลาย เป็นผู้ขัดเกลา เป็นผู้ปฏิบัติตน ปรับปรุงกาย วจี มโน ให้เป็นกุศล ให้เป็นกุศลทั้ง กาย วจี มโน เป็นผู้ประพฤติตน ขยันเพียร ทำให้ตนเอง เจริญทางธรรม กุศลธรรม โดยเฉพาะจิตวิญญาณให้เจริญ ให้จิตวิญญาณพัฒนาขึ้น สู่กุศล สูงสุดๆ ก็คือ เป็นผู้มีอุภโตภาควิมุตินั่นแหละ เป็นผู้มีกำลัง มีความมั่นคง ไม่ทอดธุระในกุศล ธรรม ทั้งหลาย ความขยันเหมือนกัน จะพูดว่าไม่เกียจคร้าน ปรารภความเพียรเหมือนกัน

แต่ปรารภความเพียร หรือขยันในภาษาไทย ในพฤตินัยจริงๆเหมือนๆ กัน แต่นัยต่างกัน ท่านจึงแบ่งเป็น ๒ ข้อ แบ่งเป็นข้อ ๕ กับ ข้อ ๗

เป็นผู้ใคร่ในธรรมๆอย่างไร ทั้ง ๒ ธรรม ใคร่ในธรรมที่เป็นการงานอาชีพ เป็นกิจน้อยกิจใหญ่ ใคร่ในธรรมที่เป็นการขีดเวลาละอกุศล เป็นผู้สร้างกุศลให้ถึงสูงสุด ให้แก่ตนทั้ง ๒ ด้าน เพราะฉะนั้น ต้องเป็นคนขยันทุกอย่าง ไม่ใช่ขยันเป็นผู้ที่แบบฤาษี ขยันอะไร ขยันการงาน ไม่มี การงานอะไร การงานใหญ่น้อยไม่เอาภาระ สพรหมจรรย์ของเขาก็ไม่ได้หมายความว่า สพรหมจรรย์ก็คือ เพื่อนปฏิบัติพรหมจรรย์ ทั้งอุบาสก อุบาสิกา งานของฆราวาสด้วย ก็ไม่ละ เขาแคบ มีแต่ของสพรหมจารี คือหมายเอาแต่ภิกษุ นี่ของเขาแคบเอาแคบก็ได้แคบ เราเอากว้าง ก็ได้กว้าง เราเอาภาระกิจน้อยกิจใหญ่อันใด อันใดไม่ขัดกับธรรมวินัย แม้แต่เป็นภิกษุแล้ว เป็นอุบาสก อุบาสิกา ก็เป็นงานน้อยงานใหญ่ งานสูงงานต่ำ ของสพรหมจารีเหมือนกัน อันใดที่ท่านบอกไว้ว่า ไม่ต้องรับใช้ฆราวาส อย่ารับใช้ฆราวาส ในส่วนนั้นส่วนนี้ เราก็ไม่อย่างไร ไม่รับใช้ละ อย่างไรเกื้อกูลกันพอสมควร แต่ไม่ถึงรับใช้ พระพุทธเจ้าท่านก็สอนไว้ ซับซ้อนลึกซึ้ง ละเอียด ซึ่งเราก็พยายามกระทำ อย่าให้มันไปเปรี้ยงๆตรงๆ แหม ว่าไปละเมิดวินัย ชัดๆ ไม่ต้อง ไปรับใช้คฤหัสถ์ แต่ก็เกื้อกูลได้ อันใดที่ไม่ผิดวินัย ในระดับไหนๆ อย่างนี้เป็นต้น เราจะเป็น ผู้ที่ขยัน ในกิจน้อยกิจใหญ่ หรือในงานสูงงานต่ำ ของเพื่อนสพรหมจารี เกื้อกูล พึ่งพาอาศัยกันได้

อาตมาว่าพวกคุณคงไม่ถึงขนาดว่าไม่เชื่อ ถ้าไปช่วยเหลือเฟือฟายกัน ในการขยันช่วยกัน ในงานน้อย งานใหญ่ จะได้เป็นที่พึ่ง จะพึ่งได้กันได้ดี ไม่เชื่อ อาตมาไม่เชื่อว่า คุณจะโง่เง่า ขนาดนั้น จริงไหม แล้วเราก็พิสูจน์กันได้ ทุกวันนี้เราได้พึ่งพาอาศัยกัน ในงานน้อยงานใหญ่ งานอะไรต่อมิอะไร ยิ่งขนาดนี้ มีงานโอ้โฮ เหนื่อยนะ เห็นไหม เหนื่อยกันบ้างไหมเล่า นี่ไปงาน มานี่ บางคนเพิ่งจากกลับงาน งานน้อยงานใหญ่ งานควรไม่ควร งานระดับนั้นเขาตัดเลย เขาไม่ช่วยหรอกงานนี้ ก็มี อาตมาก็ตัดบ้างเหมือนกัน ถ้าวาระที่ควรตัด ถ้ายัง ไม่วาระที่ควรตัด ก็เอา ช่วยกันไปก่อน อะไรอย่างนี้ ก็ทำกันไปช่วยกันไป เป็นกิจน้อยกิจใหญ่ กิจสูงกิจต่ำ และ จะเป็นที่พึ่งกันไหม

อาตมาว่า ถ้าเผื่อว่าไม่ได้พึ่งกันนี่ ก็คงไม่ค่อยจะเป็นราบรื่นอย่างนี้หรอก มันก็คงไม่ฤทธิ์มีเดช อะไร ปานฉะนี้ อะไรก็แล้วแต่นะ นี่เราพึ่งกันได้ มีอยู่ด้วยกัน มีสพรหมจรรย์ มีสพรหมจารี มีเพื่อนสหธรรมิก มีนักปฏิบัติ มีนักศึกษา มีนักเรียนรู้แล้วก็พยายามที่จะปฏิบัติให้มันสอดคล้อง ตามที่พระพุทธเจ้าท่านว่า และเราก็ใคร่ในธรรม ทั้งธรรมะที่จะพาให้เรามีที่พึ่ง ทั้งเป็นคนขยัน ในการงานนอก ทั้งเป็นคนขยันในการงานใน สรุปง่ายๆ เป็นคนปรารภความเพียร บากบั่นมั่นคง มีอุตสาหะ ไม่เกียจ ไม่คร้านจริงๆ

คนเรามีความเกียจคร้านไม่ได้ พระพุทธเจ้าบอกแล้ว ความเกียจคร้านไม่ใช่ธรรมของ พระพุทธเจ้า ธรรมใดวินัยใด เป็นไปเพื่อความเกียจคร้าน ธรรมนั้นวินัยนั้น ไม่ใช่ของเราตถาคต เพราะฉะนั้น ธรรมใด เป็นไปเพื่อความขยันรู้เลย นี่มีน้ำจิตน้ำใจ มีกะจิตกะใจ มีกิจอะไรของ สพรหมจารี ที่เรานี่เห็นอยู่รู้อยู่ สัมผัสได้ ถึงวาระเวลาที่เราจะได้มาช่วยเหลือ เฟือฟายกัน เราก็มี รายละเอียดพวกนี้อยู่นะ เรียกร้องต้องการแรงงาน ต้องการช่วยอันนี้ สมเหมาะสมควร เราจะไป หรือเปล่า พอเราฟังก็รู้ว่า อย่างนั้น งานอย่างนี้ โอ๊ นี่เราต้องไปรวมพลังกัน นี่จะต้องไปสมทบกัน นี่เขาขอแรงงานมาก เขาคงจะไม่มีนะ ไม่ใช่เอาแต่ว่าต้องขี้เกียจอยู่ ไม่ขี้เกียจ และก็เป็นคน พยายาม จนกระทั่ง มันชิน เป็นคนที่ง่ายต่อความขยัน จะขยัน จะพากเพียร จะเอาการเอางาน เมื่อไหร่ พอนึกปั๊บ ไม่ยากเลย ไม่หนืด ไม่ช้า ไม่ลำบาก เป็นไปตามจิตที่โน้มไป จะไปทำงาน โอ๊ งานนี้ หรือไปเต็มใจ ยินดี ไม่ฝืด ไม่ทุกข์ ไม่ลำบาก คล่อง ง่าย ราบรื่น เบา ว่าง โปร่ง ขยันอย่าง โปร่งๆ ขยันอย่างไม่ติดไม่ยึด ขยันอย่างไม่หนืดไม่เฉื่อย ขยันอย่างคล่อง ขยันอย่างราบ อย่างรื่น ขยันอย่างรื่นๆ เลื่อนไปได้คล่องเลย และมันจะเบาดีไหม

นี่จะขยันทีหนึ่ง ไม่เอาละ จะขยันทีงื้อๆ งื้อๆ มันทุกข์นะ มันอืดดี มันอึดอัด อ่านอาการพวกนี้ ออกบ้างไหม บางทีนี่ เมื่อกี้นี้ฟังเอ มันน่าไปเหมือนกันนะแต่อีกตัวหนึ่ง มันบอกว่า อย่าไปเลย ถ้ามันหนักหนาสากรรจ์ มันไม่อยากไปก็หาเรื่องเลี่ยง อันโน่นดีกว่าน่ะ ไอ้โน่นสำคัญกว่านะ โอ๋ย เรามีงาน เรามีกิจ เรามีธุระ เราติดโน่นติดนี่ หนาวนัก อย่าพึ่งทำเลย เช้านัก อย่าเพิ่งทำเลย อิ่มนัก อย่างเพิ่งทำเลย หิวนัก อย่าเพิ่งทำเลย อะไรละ ความเลว ที่มันไม่ขยัน แต่ก่อนนี้ เคยสอนกันมากมายนะ อะไรพวกนี้ เราก็จะรู้ว่า เราได้พึ่งความขยัน จนทำตนเป็นคนขยัน ขยันทั้งในข้อที่ ๕ ขยันทั้งในข้อที่ ๗ ปรารภความเพียร ยอดขยัน เป็นผู้ใคร่ในธรรม ก็ไม่ต้อง อธิบายกันมากหรอก ใคร่ในธรรม ธัมมกาโม ใคร่ในธรรม จนทรงธรรมจนสูงสุดโน่นแหละ

ตอนนี้ว่ามาถึงแค่นี้ก่อน แล้วค่อยมาอธิบายกันต่ออีก

ใน นาถสูตร นี่ๆ ก็สูตรพระพุทธเจ้าท่านยืนยันว่า นอกจากจะเป็นธรรมที่เป็นที่พึ่งนี้ ถ้าไม่มีตัว ต่อเนื่อง ไม่มีภิกษุผู้เป็นเถระ ผู้เป็นมัชฌิมะ ผู้เป็นนวกะ ที่ว่า โอ้ ท่านเป็นผู้มีศีล มีเป็นพหูสูต มีมิตรดี สหายดี มีเป็นผู้ว่าง่าย เป็นผู้ว่าอะไร เป็นต่อมิอะไรต่ออะไรนี่ จนกระทั่งถึง ๑๐ ข้อนี่ หนอ แล้วเราก็ไปเคารพนับถือท่าน เคารพในอนุสาสนีท่าน ฟังธรรมะของท่าน เป็นผู้ว่าง่าย และท่านก็อนุเคราะห์เรา ถ่ายทอด อาตมาว่าอาตมาได้เป็นภิกษุ หรือ เป็นผู้ที่ได้ปฏิบัติตามที่ พระพุทธเจ้าท่านสอน อาตมาก็ได้สืบทอดเป็นนาถหนึ่ง เป็นที่พึ่งหนึ่ง มีภิกษุที่เป็นที่พึ่ง จะนับ อาตมาเป็นนวกะ หรือนับอาตมาเป็นมัชฌิมะ หรือ จะนับอาตมาเป็นเถระ ก็ไม่ได้ว่ากระไรนะ อาตมาก็ทำหน้าที่ พยายามถ่ายทอดสิ่งอย่างนี้ ยังเป็นที่พึ่งอันดีงามของศาสนา ยังมีได้อยู่ มันก็ต่อเนื่องกันอย่างนี้

ที่ท่านต้องนาถสูตร ๒ ก็เพราะต้องโยงใยมาถึงภิกษุ และความจริงแล้ว มันจะตั้งอยู่กับภิกษุ นี่แหละ จะเสื่อมหรือไม่เสื่อม นาถะ ถึงแยกเป็น ๒ ส่วน ถ้าภิกษุนั้นเสื่อมแล้ว ไม่เป็นพระอริยะ หรือแม้มีศีล ก็ศีลที่มิจฉาทิฏฐิ พหูสูต ก็พหูสูตที่มิจฉาทิฏฐิ มีมิตรก็ไม่ใช่กัลยาณมิตร เป็นมิตร ไม่ดีเป็นพาล เป็นปาปมิตโต ไม่ใช่กัลยาณมิตโต เป็นปาปมิตโต เป็นมิตรบาป ไม่ใช่มิตรดีอะไร อย่างนี้เป็นต้น หรือแม้อีก ทั้ง ๑๐ ข้อนี้ มันไม่ตรง

ขยันก็ขยันเบี่ยงนี้เอาไว้แต่ขยันปฏิบัติธรรมอย่างเดียว ขยันในกิจน้อยกิจใหญ่ เป็นคนขี้เกียจ ขี้คร้าน ไม่ตรงอะไรอย่างนี้ ก็จะไปอย่างนั้น และอาจารย์ที่จะสอนนี่ ต่อไปเป็นภิกษุที่จะ อนุเคราะห์ จะพร่ำสอนนี่ ที่ถูกทางเป็นสัมมาอริยมรรค มีอุเทศ มีการบรรยาย มีการขยายลุ่มลึก แม้แต่หัวข้อ ก็สาธยายได้ ออกมามากมายอะไรก็แล้วแต่ แล้วลึกซึ้งถูกต้องอะไรอย่างนี้ ถ้าไม่มี ก็อั้นตู้ แต่ถ้ามี มันก็เป็นจริง จะมีภิกษุนี่แหละเป็นผู้ถ่ายทอด แล้วถึงจะเกิดนาถกรณธรรม ๑๐ ที่ถูกต้อง ถ้าไม่มีภิกษุพูดจริงอย่างนี้แล้ว นาถกรณธรรม ๑๐ นี้ก็เพี้ยน เหมือนอย่างที่มันเพี้ยน ที่อยู่ไปตอนนี้ ไม่ใช่ไม่อธิบายกันนะ มีในนวโกวาท อธิบายกันไป ตามใจ ที่เขาอธิบายกัน อาตมาก็อธิบายให้คุณฟัง ตามอย่างที่อาตมาแน่ใจว่าเป็นทางถูก เป็นความหมายที่ถูก แล้วก็ พากันพิสูจน์ แล้วก็สืบทอดกันไปนะ

วันนี้ หมดเวลา


จัดทำ โดย โครงงานถอดเท็ปฯ
ถอด โดย ยงยุทธ ใจคุณ ๑๙ ก.ค.๓๕
ตรวจทาน ๑ โดย สม.ปราณี ๔ ส.ค.๓๕
พิมพ์ โดย สม.มาบรรจบ ๕ ส.ค.๓๕
ตรวจทาน ๒ โดย ปาณิยา ๕ ส.ค.๓๕

:2462F.TAP