ยิ่งใหญ่ยิ่งเล็ก ยิ่งเล็กยิ่งใหญ่ ตอน ๑

เนื่องในงานมหาปวารณา ปี ๒๕๓๖
โดย พ่อท่านสมณะโพธิรักษ์
วันที่ ๖ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๓๖ ณ พุทธสถานปฐมอโศก


ถึงวันถึงเวลาที่เป็นจารีต เป็นประเพณีของเรา เช่นอย่างตอนนี้ ก็เป็นงานวันมหาปวารณา สมณะของเรา มารวมกันทั้งหมด เพื่อปวารณากัน เพื่อตกลงอะไรต่ออะไร ต่างๆนานา สำหรับแต่ละปีๆ ซึ่งเป็นวันประชุมสำคัญ ชาวอโศกเรา ผู้ที่ระลึกรู้ว่า เป็นวันสำคัญ เป็นวันรวม โดยเฉพาะสมณะ มารวมกันครบพร้อมที่สุด ในวันนี้ ไม่ว่าจะเป็นงานใดๆ ของชาวอโศกทั้งหมด สมณะจะมารวมกัน ไม่มีวันไหน ที่จะมารวมกันครบสมบูรณ์ เท่าวันมหาปวารณา ไม่ว่าจะเป็นงานปลุกเสกฯ งานพุทธาภิเษกฯ งานปีใหม่ งานอโศกรำลึก หรือว่างานอะไรก็แล้วแต่ ที่เป็นของชาวอโศกเรานั้น จงจำไว้ว่า วันที่สมณะ จะมารวมกันมาก ครบพร้อมที่สุดนั้น คือวันมหาปวารณา เท่านั้น ถ้าไม่มีความจำเป็นที่สุด เช่น ป่วยหนักจริงๆ มาร่วมไม่ได้เท่านั้น นอกนั้น งานใดๆ สมณะชาวอโศก จะต้องวางทุกงาน ซึ่งเราก็ยังนึกไม่ออกว่า ต่อไปอนาคต จะมีงานอะไร ที่จำเป็นหรือสำคัญที่สุด ที่วันมหาปวารณา แล้วสมณะชาวอโศก จะมาไม่ได้ เรายังนึกไม่ออกว่างานอะไร นอกจากป่วย จนกระทั่ง มาประชุมไม่ได้จริงๆ สังขารมันไม่ให้ ถ้ามาประเดี๋ยว มันจะตายเอาจริงๆ นะ ป่วย มันมาไม่ได้จริงๆ ขนาดป่วยธรรมดา ป่วยพอมาได้ ยังมากัน ในงานมหาปวารณานี่ สองวัน ที่เราจะประชุมกัน

ความตั้งใจที่จะทำอะไรก็แล้วแต่ ซึ่งเป็นความตั้งใจ โดยความคิดที่ฉลาดของผู้ฉลาด แล้วก็ร่วมกันคิด ด้วยความฉลาด ของหลายๆคนที่ฉลาด รวมความคิดฉลาด ของผู้ฉลาดหลายๆคน ร่วมกันแล้ว ตกลง ตัดสินกันว่า เรากระทำอย่างนี้เถอะ จะเป็นบุญ จะเป็นคุณค่า ประโยชน์ จะเป็นความเจริญ เป็นวิธีการพัฒนาอย่างหนึ่ง เมื่อเราตกลงตัดสินแล้วเราก็เอา เช่น เราจัดการกระทำ มหาปวารณา อย่างที่เราได้กระทำมานี่ ก็เป็นจารีต เป็นประเพณีของเรา ซึ่งก็ไม่เหมือนที่อื่นเขาทำหรอก ในวงการศาสนาพุทธเหมือนกันนี่แหละ งานปวารณา เขาก็ปวารณาเท่านั้น ออกพรรษา ปวารณาเราก็ทำมาแล้ว ตามที่เขาปวารณา อย่างที่เคยทำ เป็นจารีตประเพณีเดิมๆ ซึ่งก็ท่องบ่น กระทำพิธีการ ให้กล่าวเป็นภาษาบาลี ในวันออกพรรษา แล้วก็ปวารณา หรือการกล่าวบาลี คือ ตั้งจิตที่จะบอกกล่าวกันว่า โดยภาษาบาลีนะ แปลความก็บอกว่า เราก็ขอให้ว่ากล่าว บอกกล่าวได้ ไม่ว่าจะมีความผิดพลาดใดๆเกิดขึ้น จะเป็นด้วยกาย วาจา ใจ ด้วยตั้งใจ หรือไม่ตั้งใจก็ตาม รู้หรือไม่รู้ก็ตาม ได้ผิดได้พลาด ได้บกได้พร่องอะไร ก็ขอให้ตักเตือน ขอให้ทักท้วงติเตียนกันได้ ก็ทำกันไปแล้ว ไม่ว่าผู้ใหญ่ต่อผู้น้อย ไม่ว่าผู้น้อยต่อผู้ใหญ่ ก็ได้การกระทำปวารณา ขอปวารณาตัว ให้ช่วยว่ากล่าว ตักเตือนกันได้ ซึ่งการว่ากล่าวตักเตือนกันนั้น หรือการติเตียนกันนั้น ถึงขั้นดุด่า ใช้ภาษาไทยชัดๆ นี่ เป็นการตำหนิความไม่ดี เป็นการบอกแจ้งสิ่งที่ดี ยังไม่ดีขึ้นอีก มันดีแต่ว่า มันมีดีกว่านั้นอีก อย่างนี้เป็นต้น ก็บอกแจ้งกัน ติเตียนกัน เตือนกัน เพื่อให้ทำดี ที่ดีกว่านั้นขึ้นไป หรือสิงที่ ไม่ดีนั่น ให้เลิกทำ ให้ละเว้นสิ่งที่ไม่ดีนั้น ซึ่งเป็นสุดยอดของคำสอน หรือเป็นสุดยอด ของการเกื้อกูลกัน

ในโอวาทปาติโมกข์พระพุทธเจ้านั้น ก็คือพระพุทธเจ้า ท่านตรัสสอนพระอรหันต์ ในวันมาฆบูชา วันที่มาประชุม จาตุรงคสันนิบาต มาประชุมแล้ว ท่านก็บอกหัวใจ เราถือเป็นหัวใจของ ศาสนาอันหนึ่ง หัวใจของศาสนา ก็คือมนุษย์เรานั้นน่ะ ควรจะต้องเลิกสิ่งที่บกพร่อง เลิกสิ่งที่ไม่ดีไม่งาม ความบกพร่อง นั่นน่ะ ไม่มีใครอยากบกพร่อง แต่ก็ต้องพยายามเลิก ความบกพร่อง ซึ่งมันจะต้องมีอยู่ เพราะมนุษย์ จะดีสมบูรณ์ทีเดียว พร้อมกันหมดทุกคนไม่ได้ มีเป็นลำดับ ผู้ที่บกพร่องน้อยที่สุด ไม่บกพร่องเลย ไม่บกพร่อง หรือว่าบกพร่อง น้อยลงมาบ้าง บกพร่องลงมา มากกว่า บกพร่องมากๆ จนกระทั่ง ถึงเสียหาย หรือเลวร้าย มันก็ไล่ลำดับลงไป อย่างนั้นน่ะ มันจะมี แม้แต่กระทั่ง เลวร้ายที่เป็นอยู่ แล้วก็เป็นตัวอย่างอยู่ ในยุคใดสมัยใด มนุษยชาติ ที่มีความเลวร้ายขนาดหนึ่งๆ มันก็จะเป็นยุคๆไป บางยุค ความเลวร้าย มันไม่อะไรหนักหนา ในยุคที่คนดี ถ้ายุคที่มันเสื่อม มันต่ำมากขึ้น เช่น ยุคปัจจุบันนี้ เสื่อมต่ำมาก เลวร้ายมาก เลวร้ายอย่างซับซ้อนด้วย คือเลวร้ายอย่างผู้ร้ายผู้ดี ผู้ร้ายที่เป็นผู้ร้าย ไม่น่ากลัวเท่าไหร่หรอก สมัยนี้ เพราะว่า เรารู้จัก ผู้ร้าย ที่เป็นผู้ร้ายนั่นน่ะ ก็แสดงความร้าย ที่เห็นได้ง่าย หยาบ ต่ำ ไม่ต้องใช้ปัญญา ไม่ต้องใช้ความเฉลียวฉลาดอะไร ก็ดูออก เราก็วิ่งหนีทัน หลบเลี่ยงได้ แต่ผู้ร้ายผู้ดีนี่ เราหลงผิด ผู้ร้าย ที่ร้ายยิ่งกว่า ผู้ร้ายผู้ร้าย คือผู้ร้ายผู้ดีนี่แหละ ร้ายยิ่งกว่าผู้ร้ายผู้ร้าย เพราะเขาพราง พรางไม่ให้รู้ว่าเขาร้าย หลอกลวง มายา ทำกิริยาของผู้ดี ซ่อนกิริยาความร้ายเอาไว้ พยายามศึกษา เรียนรู้ กิริยาผู้ดี แล้วก็ทำกิริยาผู้ดี ที่เป็นกิริยาผู้ดี ที่หลอกที่ลวง ความจริงนั้นร้าย ผู้ใดที่หลอกได้เก่งเท่าใด ก็คือ ผู้มีมารยาทมาก เท่านั้นๆ ในความเป็นมารยา ชนิดนี้นี่แหละ จึงเกิดมารยาทสังคม ผู้เจตนาจะทำคนเองให้ดีด้วย การกระทำกายกรรม วจีกรรม ข้างนอกให้ดี ด้วยความบริสุทธิ์ใจมีอยู่ เรียกว่า มารยาทสังคม ที่บริสุทธิ์ มารยาทสังคม ที่บริสุทธิ์นั้นก็คือ เรารู้ว่า กรรมกิริยาอย่างไร ที่ควรกระทำ แก่กันและกัน

ในศาสนานี่ ลึกซึ้งซับซ้อนมาก ฟังที่อาตมากำลัง จะอธิบายนี้ดูดีๆ พวกเราชาวอโศกเรานี่ อาตมาก็พยายามสอนไป เป็นลำดับขั้น มันซับซอน ซับซ้อนมากทีเดียว ความจริงใจมันจะดูแข็ง มันจะดูกระด้าง ยกตัวอย่าง เช่น เราพูดกันมาแล้วแต่ต้นว่า คนเราจะได้ดี เพราะติเตียน เพราะฉะนั้น ผู้ที่จริงใจจะติเตียน ก็คือกล่าวความไม่ดี ของผู้ที่บกพร่อง เพราะถ้าเรากล่าวคำติเตียน หรือ กล่าวคำพูด ความไม่ดี ของผู้ที่ไม่ดีนั้น ออกมาทันที ยิ่งพูดออกมาหมดเลย เรียกว่าโป๊ พูดออกมาหมดเลย ต่อหน้าธารกำนัล ฟังดีๆนะ ฟังดีๆ อาตมา กำลังจะอธิบาย คำว่ามารยาท หรือมารยานี่ มันต่างกันตรงไหน แล้วทำไม ชาวอโศกเรา จึงมารยาทไม่ดี แต่ชาวอโศกเรา มายาน้อย แต่มารยาทไม่ดี ตอนนี้แหละ อาตมากำลังจะไขความว่า ชาวอโศกบกพร่อง ยังไม่อุตสาหะตรงนี้นะ

เมื่อเราจะติเตียน เราก็กล่าวคำไม่ดี ชาวอโศกนี่เก่ง ติเตียนเก่ง ไวด้วย แล้วก็โป๊ด้วย โป๊คืออะไร กล่าวแล้วเมื่อกี้นี้ บอกออกมาเต็มๆเลย บอกออกมาหมดๆเลย มีเท่าไหร่ เปิดหมด เรียกว่าโป๊ ไม่กระมิดกระเมี้ยน ไม่เขม็ดแขม่ ไม่ขมุบขมิบ ขมุบขมิบก็คือ นิดๆหน่อยๆ ใช่ไหม ปล่อยออกมาหน่อยๆก่อน ค่อยๆติเตียนไป ไม่ละ พอเห็น โอ้โห ไอ้นี่มันเสียหาย ตั้งเท่านี้นะ พัวะออกมาหมดเลย คนรับก็โดนฉีกหน้า ต่อหน้าธารกำนัล อย่างชนิดโป๊ อย่างชนิดหมดเปลือก อย่างชนิดเต็มๆ มันก็อายขายหน้า เพราะคนเรามีอัตตา ถือตัว ผู้ที่ได้รับไม่แข็งแรง มีอัตตามากเหมือนกัน พอได้รับคำติเตียน อัตตามันไม่ยอมทันที แม้จะจริง มันก็ไม่ยอม ๑. จริง ตัวเองรู้ก็ไม่ยอม เพราะอัตตาถือตัว ๒. ส่วนมาก จะไม่รู้ตัว เพราะผู้ที่มีอัตตา แล้วก็ยังไม่ได้ศึกษา ยังไม่ได้เรียนรู้ จะไม่รู้ตัวหรอกว่า ตัวเอง เสียหายขนาดนั้น ผู้ตาดี จะเห็นความไม่ดี ของคนไม่ดี ได้มากกว่า ผู้ตาไม่ดี ใช่ไหม เพราะฉะนั้น ผู้ที่ได้ศึกษาธรรมะ ก็จะมองกรรมกิริยา ความผิด ความไม่ถูกต้องนี่ ได้ชัดกว่ามากกว่า ก็จะชี้ความไม่ดี ของผู้ที่ไม่ดีนี่ ได้ถูกต้องมากกว่า ส่วนผู้ที่ยังไม่ได้ศึกษา ไม่ได้เรียนรู้ พอโผล่เข้ามาที่ในอโศก แม้ตัวเองเสียหาย ก็ไม่ได้เคยมีใครติเตียน ไม่เคยรู้ตัว ไม่ได้เคยศึกษา ก็ไม่รู้ว่า เราเสียหายขนาดนี้ ก็ไม่ยอมรับ ไม่เชื่อ ไม่ใช่ๆ ฉันไม่ได้เสียหายขนาดนี้ การโกรธ การเกลียด การไม่ยอมรับ ก็เกิดขึ้น

สิ่งอย่างนี้ ฝีมือโศกสามารถมาก กระทำมามากแล้ว ได้ต้อนรับ ขับแขกมาได้เยอะแล้ว เพราะฉะนั้น อโศกจึงมีหมู่มวล เท่านี้เอง ก็เพราะฝีมือพวกเรา ได้ช่วยไว้ ให้มีอโศกได้กลุ่มน้อยๆ แค่นี้ โตไม่มากกว่านี้ แต่ดีเหมือนกัน ถ้ามากเกินไป มันก็ไม่ไหว เพราะว่า มากเกินไป โดยฐานของผู้ที่มี อัตตามานะมากๆ นี่ หมู่ที่จะรวมกันได้ดีนี่นะ มีกามมากๆ นี่รวมกันได้มาก แต่ไม่ดี หมู่ที่จะรวมกัน ได้ดีมากๆ คือมีอัตตาน้อยๆ หรือ ไม่มีอัตตาเลย นี่จะรวมกันได้ดี และดีมาก ส่วนผู้ที่มีกามกันมากๆ นี่จะรวมกันได้มาก แต่ไม่ดี มันจะฟอนเฟะ ยิ่งมาก มันยิ่งจะฟอนเฟะ รวมกันได้มาก แต่ไม่ดี ส่วนจะรวมกันได้ดีนั้นคือ มีอัตตาน้อยๆ หรือไม่มีอัตตา แต่จะเป็นได้มากเท่าไหร่ เพราะอัตตามันมาก แต่ถ้าอัตตามันน้อย มันก็จะรวมกันได้มาก ตรงนี้แหละ ตรงนี้แหละยาก หมู่อโศกเรานี้ ได้ลดกามมาก่อน เพราะถ้าขืนปล่อยให้มาก โดยมีกามมากๆ มา ใครจะมีกามมากกามน้อย ไม่รู้ละ อาตมาต้องคัดอัตตาไว้ก่อน เพราะอาตมา ต้องการมวลแน่น ขนาดนั้น พวกเราก็ยังล้างอัตตามานะ กันยากเหลือเกิน

ทุกวันนี้นี่ พวกเรามีความควบแน่น ด้วยคุณภาพดีขึ้น แม้ผู้ที่อยู่กันมานานๆ อัตตามานะยังมีมาก ก็ยังอยู่ไม่รอด เรื่องกามมาก แล้วไม่รอดนั้น ไม่ต้องพูด อันนั้น มันของแหงๆอยู่แล้วนะ เพราะฉะนั้น กามมากก็ไป ส่วนผู้ที่อัตตามาก มานะมาก ก็นานเข้าๆ กามก็ไม่มากหรอก น่าจะอยู่กับหมู่ได้ แต่ก็สุดท้าย ก็อยู่ไม่ได้นะ ก็คัดกันไปเรื่อยๆ เพราะฉะนั้น ผู้ที่อยู่ได้นี่ แม้จะมี อัตตามานะมาก อาจจะมาใหม่ หรืออาจจะกดข่มไว้ได้อยู่ ก็อยู่ไปได้ ส่วนผู้ที่อัตตามานะน้อยแล้ว สามารถอยู่ได้แน่ๆ นั่นก็จะอยู่ไป ผู้ที่ยังมีอัตตามานะ ยังมากอยู่ ยังอยู่ได้นั่นแหละ เป้าตรงนี้แหละ ที่อาตมากำลังพยายามสอน พยายามชี้ พยายามติเตียน ติเตียนเรื่องอัตตามานะ มากขึ้นๆ คนที่มีอัตตามานะ ที่กดข่ม ที่ยังมีมานะ อัตตามานะ ยังสูงอยู่ ก็ย่อมทนไม่ได้ ก็ต้องออกไป เพราะฉะนั้น ผู้ที่ออกไป ที่อยู่นานๆแล้ว อัตตามานะมันถึงขีด ทนไม่ได้แล้ว มันก็ออกไป เพราะอาตมา เร่งเครื่องอัตตามานะอยู่
สรุปแล้ว ก็คือเคี่ยว...
เน้นเนื้อ ให้เหนือกว่ามาก
เน้นลาก แม้ยากกว่าแล่น
เน้นจริง ให้ยิ่งกว่าแค่น
เน้นแก่น ให้แน่นกว่ากว้าง


อันนี้ต้องทำ เมื่อใดๆ ก็ต้องทำ อย่าไปหลงในความมาก ความใหญ่ ความมากความใหญ่ จะทำให้เราตาย แล้วก็ทำให้อะไรๆ นี่เสื่อมโทรม มามากกว่ามากแล้ว ส่วนความเล็กนั้นน่ะ ถ้าเป็นเล็กที่จริง ไม่มีตายหรอก เล็กนี่ ไม่ตายง่าย แต่ใหญ่นี่ตายง่าย เพราะฉะนั้น สิ่งที่เล็ก จะมีอายุยืนนาน คุณลองนึกดูวัตถุก็ได้ สิ่งที่เล็กนี่ จะอยู่ยืนนาน สิ่งที่ใหญ่นี่ จะเคลื่อนที่ก็ได้ไว แต่ถ้าใหญ่กันจริงๆ มันก็เคลื่อนที่ไม่ไหว เหมือนกันนะ แต่ว่าโดยค่าเฉลี่ยแล้ว ไอ้สิ่งที่ใหญ่นี่นะ เคลื่อนที่ได้ไว ที่เล็กนี่ จะเคลื่อนที่ช้าที่สุด เข้าไปเรื่อยๆ แต่นั่นแหละ เล็กที่สุดอีก ก็เร็วอีก ไวอีก มันก็มีภาวะซับซ้อนนะ พูดไปพวกนี้ เป็นอจินไตย เป็นเรื่องที่ย้อนแย้ง เป็นสัจจะย้อนสภาพ ที่จะต้องมีปัญญาอันลึก ที่จะเข้าใจ

หันกลับมาถึง ทำไมชาวอโศก ถึงมีฝีมือติเตียนได้ มีมารยาทไม่งาม ได้กล่าวแต่ต้นแล้วว่า ชาวอโศกเรานี่ เรียนรู้ถึงเรื่อง ติเตียนกันให้ดี ติเตียนกันก่อน เพราะการติเตียนกัน พาให้เจริญ เราก็จะเจริญมา เพราะติเตียนกันมาก แล้วเราก็ทนการติเตียนได้ ผู้ที่ทนการติเตียนได้ มีอยู่สองแบบ ๑. ทนการติเตียนได้ อย่างฤาษี หรืออย่างสมถะ อย่างโง่ อย่างไม่รับ คือเขาติเตียน ติเตียนมาเราก็ เออ ติก็ติ แต่เราก็วางเฉย วางเสียด้วยนะ ฟังดีๆ เก๋นะ เขาติเตียนเรามา เราก็วาง ก็สบาย วางได้ เขาติเตียนเรามา ก็วาง แต่ไม่รับ คือติเตียนมา ก็ติไปติมา เราก็วางก็โยนทิ้ง วางคือโยนทิ้ง ไม่รับรู้ ไม่รับพิจารณา ไม่รับมาแก้ไข ไม่รับมาตรวจสอบ นี่ก็คือฤาษี ต่อให้โง่หรือมีปัญญารู้ ถ้าเอามาพิจารณา รับมาพิจารณา รับมาตรวจสอบนะ จะรู้มีปัญญา แต่ก็โง่ โง่ตรงที่ไม่รับ ไม่เอามาตรวจสอบ ไม่เอามาพิจารณา จึงเรียกว่า ฤาษีทั้งคู่ ต่อให้มีปัญญา นี่แหละ ปัญญาพวกฤาษีกรุง มีปัญญาแบบนี้ ปัญญาโง่ ไม่รู้จะเรียกอะไร โง่ให้ตัวเอง มีปัญญานะ ถ้าจะรับมา ก็มีปฏิภาณ มีธาตุตรวจสอบที่ดีเหมือนกัน แต่มันไม่รับ จะไม่รับ ด้วยการดูถูก หรือว่าเคยตัว เคยตัวคืออะไร เคยตัวคือ ถ้าไม่รับเสียแล้ว วางเสียแล้ว มันสบายนี่ ไม่ต้องรับมา มันสบาย อย่างน้อย ก็ไม่ต้องรู้ว่าตัวเองชั่ว รู้ว่าตัวเองผิด เพราะไม่เอามา ตรวจสอบ ก็ไม่รู้ว่าตัวเองผิด เพราะคำติ ส่วนมาก เป็นความถูกหรือความผิด คำติน่ะส่วนมาก จะเป็นความผิด เป็นความไม่ดี ถ้าจะรับมาพิจารณา เดี๋ยวมันเห็นความไม่ดี เดี๋ยวมันเห็นความผิดของตัว เมื่อไม่เอามาตรวจซะ จะได้ไม่ต้องรู้ว่า ตัวเองชั่ว จะได้หลงว่า ตัวเองดีไปเสมอ นี่คือความโง่ แม้จะมีปัญญา มีความเฉลียวฉลาด มีปฏิภาณอย่างไรก็ตาม แล้วคนเรา ไม่รู้ตัวหรอกนะว่า ทำอย่างนี้ ใครรู้ตัวว่า ได้ทำอย่างที่อาตมา อธิบายไปนี้ สำนึกเสีย แล้วทำตัวใหม่ รับคำติ ไม่ว่าคนตินั้น เขาจะเป็นผู้เล็กผู้น้อย ผู้ด้อย ผู้โง่ เหมือนกับคนโง่ๆ อย่างไรก็ตาม หัด อย่าดูถูกดูแคลน คำติเตียนของใคร รับคำติเตียนนั้นมา

ส่วนผู้ที่รับคำติเตียนแล้ว ก็โง่จริงๆ อย่างฤาษีแท้ ก็คือ เขาติเตียนมาแล้ว เฉย ไม่รู้ ติเตียนมา ก็ไม่รู้ เขาติเตียนมาก็รับ รับเสียด้วยนะ ไม่วางนะ เขาว่าไม่ดีก็ไม่ดี แล้วไม่ดีอะไร ไม่รู้ซิ ไม่ดี แล้วเขาบอกให้แก้ไข ถ้าไม่ดื้อ คนที่โง่อย่างฤาษีป่านี่ เมื่อกี้นี้ ฤาษีกรุง ฤาษีกรุงนี่ช้านาน พวกฉลาดนี่ จะใช้เวลานาน ส่วนผู้ที่โง่ ซื่อ นี่นะ เขาบอกว่าไม่ดีอะไร ไม่รู้ เขาบอกให้แก้ไข ถ้าไม่ดื้อนะ ก็แก้ เอ้า ตาม พวกนี้จะง่ายหน่อย แต่มันก็ไม่รู้ว่า คืออะไร แต่มันได้นะ พวกนี้มีประโยชน์ เพราะฉะนั้น คนที่ฉลาด เขาชอบคนพวกนี้ เป็นแรงงานที่ดี แล้วก็ปกครองง่าย พอบอกอะไรก็ทำ แต่มันก็ไม่ค่อยมีไหวพริบ ทำได้เท่าที่บอก พอหยุดบอกก็ อะไรล่ะ ต่อไป ไม่ค่อยรู้ต่อ ก็สอนใหม่ บอกใหม่ แต่ก็ทำได้ประโยชน์ ได้แรงงาน แต่ได้ ได้มากกว่าผู้ที่ฉลาดทิ้ง ก็ทิ้งไปเลยละ มันได้อะไรล่ะ พวกฉลาดน่ะ ทิ้งไปเลย ไม่ได้อะไร แล้วตัวเองก็ไม่ซ้อมไว้ เพราะฉะนั้น จะเกิดความชำนาญ ทักษะก็ไม่มี จะเกิดความชำนาญ เกิด experience ก็ไม่มี ไม่เกิด แต่เกิดฉลาดเฉลียวนะ เกิดได้ฉลาด แล้วมันก็จะโกง แกมโกงเข้าไปเรื่อยๆ คนฉลาดแบบนี้พัฒนา นึกว่าเป็นการพัฒนา เพราะมันได้เปรียบ แล้วคนฉลาดแบบนี้ ชอบสะสมคนที่โง่ แบบที่อาตมากล่าว เพราะฉะนั้น ฤาษีกรุง จะสะสมฤาษีป่า จะเป็นเช่นนั้น มาแต่ไหนๆ ตลอดกาลนาน แต่คนที่ได้บุญ คือฤาษีป่า คนที่ได้บาปคือ ฤาษีกรุง เพราะฉลาดโกง นั่นก็คือ บาปชนิดหนึ่ง โกง ทุจริต เอาเปรียบเขา แล้วก็ตัวเองโง่ ที่อาตมาอธิบายแล้วว่า โง่คืออะไร ของฤาษีกรุง ก็คือบาป ตัวที่สอง บรรลุช้า คนพวกนี้บรรลุช้า จะได้บุญแท้นี่ยาก

ทีนี้ชาวอโศกเรานี่ มาเรียนรู้สัจจะเข้า ก็รู้ความจริง ก็ยอมรับขึ้นมาเรื่อยๆ ยอมได้รับการติเตียน ลดอัตตามานะ ปฏิบัติธรรม ลดกาม กับลดอัตตามานะ เหมือนกัน เมื่อชี้กามให้แก่ผู้ใด ถ้ามีอัตตามานะซ้อน เราก็ไม่ยอมรับ แต่ถ้าเราลด อัตตามานะของเรา ใครชี้กาม ให้แก่เรา เราก็รับ แล้วเราก็พิจารณา ตรวจสอบ แก้ไขปรับปรุงไปเรื่อยๆ เราก็เจริญ เมื่อลดกาม เราลดอัตตามานะด้วย ลดกามไปได้ ขนาดหนึ่ง เสร็จแล้ว เราก็ไม่ลดอัตตามานะอีก เราก็จะยึดกามนั้นเสพ สมมุติว่า กามหยาบ เราไม่เอาแล้ว ผิดผัวเขาเมียใคร เป็นต้น เราไม่เอาแล้ว มีผัวเดียวเมียเดียว แต่เราไม่ลดการเสพ ผัวเดียว เมียเดียว ไม่เคยเสพรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัสที่เรียกว่า กามคุณ ๕ แต่ลดแค่ว่า เอาละ ผัวสองเมียสองไม่เอา ก็ทำแค่นี้ แต่ภายในใจ ที่ตัวเอง จะระริกระรี้อะไรอยู่นั่นนะ มันจะไม่ลด ถ้าเผื่อว่า ไม่ลดกาม เข้าไปอีก จะลดอัตตามานะ สูงขึ้นอีกกว่านั้น ยาก เรื่องอัตตากับกามนี่ เป็นคู่กัน ที่จะต้องมีภาวะ เกื้อกูลกัน ลดกาม ลดอัตตา อัตตามานะว่า เพราะอัตตามานะเชียว เป็นเหตุ ลดอัตตามานะอีก เราจะเกิดญาณปัญญา รู้กามแล้วลดกามได้อีก พอลดกามไปได้แล้ว เอ๊ อัตตามานะ เราลดไม่ลง เพราะกามเชียว เพราะฉะนั้น กามจากกามหยาบ ตั้งแต่ผู้หญิงผู้ชาย ไม่เป็นคู่ๆ ผัวเดียวเมียเดียว มาจนกระทั่ง มาลดรูป ลดกลิ่น เสียง สัมผัส นี่ลดไปเรื่อยๆ ได้อีก มากกว่ามาก ความสวยทางตา ความไพเราะทางหู ความชอบทางกลิ่น รสทางลิ้น ลิ้นนี่แหละ แม้เราจะเป็นพระอรหันต์แล้ว เราก็ยังไม่ต้องพรากเลย ลิ้นนี่ เพราะต้องกิน กลิ่นก็จะได้ แต่รูปสวยจะลดลงไป เสียงนี่ ไม่ต้องมีเสียงก็ได้ สัมผัสแตะต้อง เย็นร้อนอ่อนแข็งนั่นก็ จะต้องตลอดกาลนาน เหมือนกัน

เพราะฉะนั้น อยู่ที่อาหารที่เรากินนี่น่ะ จะพิจารณารส ลดกามคุณ ๕ จากรสของอาหาร จากกลิ่นของอาหาร จากรูปของอาหาร จากสัมผัส ของอาหาร อาหารนี่ สี่กามนี่ มันจะมีอยู่ตลอดเวลา มันจะมีกลิ่น จะมีรสทางลิ้น มันจะมีรูป แต่รูปก็ไม่เท่าไหร่ พอหนักๆเข้านี่ รูปก็ไม่เท่าไหร่ หนักที่สุดก็คือ รสทางลิ้น อาหารนี่ กลิ่นหนักเข้า ก็ไม่เท่าไหร่ รสทางลิ้น เรียนรู้ให้แยบคาย ลดละให้แยบคาย จนกระทั่ง ใครกินอาหาร อุเบกขา อย่าเรียกว่า ไม่อร่อย ประเดี๋ยวจะกินไม่ลง กินอาหารด้วย รสอุเบกขา อย่าเรียก รสไม่อร่อย ที่จริง มันหมดอัสสาทะ หมดรสอร่อยของโลกียะ แต่มันเป็นรสของ อุเบกขา คือ อทุกขมสุข รสไม่ทุกข์ไม่สุข มันก็มีรสละเอียดนะ มันจะมีแทรกอยู่นิดๆ เอ รสไอ้นี่หวาน ถ้าคนยังเอียงอยู่ข้าง ชอบหวานไม่ชอบหวาน หวานน้อยไปหน่อย แหม ถ้ากว่านี้อีกซักนิดก็ อื้อ จะชื่นมากกว่านี้ อ่านอาการที่ยังโหยหา หรือยังชอบยังชื่น พวกนี้ให้ดี จนกระทั่ง เราบอกไม่เป็นไร หวานแค่นี้ หรือ ไม่หวานเลยนี่ มันเคยหวานอย่างนี้แล้ว มันต้องเคยหวานมา ไม่หวานเลยก็ไม่เป็นไร ก็กินได้ ไม่เปรี้ยวเลย แหม อันนี้ ชนิดนี้ มันต้องเปรี้ยวอย่างนี้ มันเป็นอุปาทานยึด ชนิดนี้ ต้องเปรี้ยวอย่างนี้ มันถึงจะเหมาะกะมัน มันถึงจะได้รสได้ชาติ ชนิดนี้ ต้องเผ็ดอย่างนี้ ชนิดต้องเค็ม อย่างนี้ เค็มขนาดนี้ ถ้าเค็มกว่านี้ มันไม่นัว นัวนี่คือ ได้รสที่ได้กลมกล่อม ได้รสที่อร่อย ที่สุดๆ เรียกว่า รสมันนัว คนปรุงอาหารนี่ แม่ครัวทางอีสานนี่บอก โอ๊ นัว กำลังนัว นัวแท้ๆ กำลังเหมาะ รสที่เหมาะที่สุด นัวนี่ ปรุงด้วยรสเหมาะที่สุด กลมกล่อมที่สุด นัว มันสมมติไว้ มันอุปาทานไว้ มันยึดไว้ เพราะฉะนั้น ถ้าเราทำลาย ความยึดติดอันนี้ อุปาทานอันนี้ได้ มันจะไม่ได้รส ขนาดนี้เท่านี้ ก็ช่างมันเถอะ มันจะมากไป มันจะน้อยไป อะไรก็ได้

ผู้ใดวางได้ดี แล้วก็อ่านอารมณ์แทรกซ้อน อารมณ์ที่ว่า เรายังติดยึด เรายังอยาก แหม มันยังไม่สมใจ นี่แหละคือ ไม่สมไคลแมกซ์ ไม่ได้เสพสม ที่เราต้องการ อุปาทานที่เรายึด จริง ตัณหามันจะดูว่า โหยหา อยาก แหม มันยังไม่ได้ดังใจนี่ มันอยากน้อยลงแล้วก็ตาม แต่อุปาทานนั้น ยังไม่ถึงที่นะ ยังไม่มีไคลแมกซ์ ยังไม่เสพสมที่ใจต้องการ แต่จะให้ไปดิ้นรน โหยหา อยากนี่ ตัณหาอาจจะน้อยแล้ว ความอยาก ที่เรียกว่า ตัณหา อยากได้มาสมใจ อาจจะน้อยแล้ว แต่ไม่สมใจที่สมมติ คือไม่สมใจที่อุปาทาน เพราะอุปาทานนี่ ลึกกว่าตัณหาอีก คือตัวสมมติ ที่ติดยึดเอาไว้ลึกๆ ต้องเค้นออกมาให้ได้ ว่าเรานี่ ยึดอะไรเอาไว้ขนาดไหน ลึกแค่ไหน ค้นออกมาให้ได้ ล้างอุปาทานให้ได้ เพราะล้างตัณหาแล้ว ต้องล้างอุปาทานด้วย เพราะในปฏิจจสมุปบาท มีทั้งตัณหา มีทั้งอุปาทาน ต้องล้างให้หมด ล้างอุปาทานไม่หมด ขันธ์ ๕ ไม่สะอาด เวทนา ก็ไม่สะอาด เพราะฉะนั้น ธรรมในธรรมนั้น เวทนาคือตัวที่จะต้อง เจาะชอนไชลงไป อย่างมาก สัญญาคือ เจตสิกของจิต คือตัวจิต นั่นแหละ มันมีบทบาท เขาสมมติบทบาท หน้าที่การงานของมันว่า คือตัวจำ กับตัวกำหนดรู้ เพราะฉะนั้น ตัวจำ หรือตัวกำหนดรู้ ต้องเป็นบทบาทของตัวงาน งานที่จะไปรู้อะไร ก็ไปรู้จิตตัวเองอีกนั่นแหละ เวทนา ไปรู้จนกระทั่งว่า มันมีสังขาร คือมีตัว ที่เข้าไปปรุงร่วมหรือไม่ ไม่มีตัวปรุงร่วมแล้ว เหลือตัวติดยึดหรือไม่ ไม่มีสังขารแล้ว ทุกข์น้อยแล้วล่ะ แต่ยังเหลืออัตตา คือเวทนาที่เป็นตัวอุปาทาน อันนี้แหละ เป็นอนุสัย เป็นอาสวะ ที่พุทธนี่ เจาะไชลงไปมาก สังขารหรือไม่สังขาร นั้นเรื่องเล็ก เพราะฉะนั้น พระอรหันต์เจ้า จึงสังขารเก่ง พระพุทธเจ้ายิ่ง อิทธาภิสังขาร โน่นแน่ะ เพราะฉะนั้น มีสังขารหรือไม่มีสังขาร นั่นน่ะ ไม่มีสังขารหมดทุกข์ แต่ยังไม่หมดอัตตาได้ หมดทุกข์นะ หมดสังขารหมดทุกข์ แต่ยังไม่หมดอัตตา เพราะฉะนั้น จะปรินิพพานยาก

เอาละ พระอนาคามีนี่นะ ในฐานหนึ่งนี่นะ ในคุณภาพของ จิตวิญญาณพระอนาคามีนี่ ไม่มีสังขาร แต่ยังมีอัตตา ถ้าเป็นพระอนาคามี ประเภท ด้อยปัญญา จะไม่รู้จักอัตตาตัวเอง พระอนาคามี ชนิดนี้แหละ ซวยๆ พระอนาคามีที่ไม่ศึกษา ใช้เชิงปัญญา มีผัสสะเป็นปัจจัยนี่ ไม่เรียนมรรคองค์ ๘ ให้สมบูรณ์ ไม่ถูกเหตุปัจจัย กระแทกกระทุ้งขึ้นมา จากอนุสัยอาสวะขึ้นมารู้ เพราะฉะนั้น ตัวเองก็จะไม่มีปัญญารู้ อนุสัยอาสวะของตัวเอง เมื่อไม่รู้ อนุสัยอาสวะของตัวเอง มันก็เหลือแต่อัตตา เรียนรู้แค่สังขาร เพราะฉะนั้น ตัวที่จะเข้าไป ปรุงสังขารไม่มี แต่ตัวอุปาทาน หรือตัวที่เป็น ตัวอนุสัยอาสวะ มันไม่ล่วงรู้ คุณภาพของความปรุง อ่อนแรงแล้ว หรือสังขารไม่เก่ง สังขารไม่มีแล้ว แต่อัตตาตัวนี้ มันเป็นธาตุยึด ติดอยู่ที่ แค่ธาตุลึกๆ อ่อนๆ มันไม่เป็นโลกเป็นโลกีย์ อะไรมากนักหรอก เสร็จแล้วตาย พระอนาคามีตาย ด้วยธาตุตัวนี้ มันไม่เวียนกลับมาหาโลกีย์อีกหรอก เพราะมันทิ้งสังขาร ของโลกียสังขารแล้ว แต่ธาตุตัวนี้แหละ ไปเป็นอัตตา อยู่ในความเสื่อมไปด้วยกาละ นานอีกล้านๆชาติ กว่าจะสลายอัตภาพนี้ได้ อันนี้ เป็นอจินไตย เล่าให้ฟัง อาตมาถึงเรียกว่า เป็นพระอนาคามี ที่ซวยมากๆ มันไม่ปรินิพพานได้ทั้งหมด แต่มันไม่เวียนมาสู่โลกียะอีก นี่คือ พระอนาคามี ชนิดโง่ และ ปฏิบัติมรรคองค์ ๘ ไม่สมบูรณ์

เพราะฉะนั้น ฤาษีป่าฤาษีอะไรนี่ โอ๊ย มาก แม้ฤาษีกรุงที่มีมารยา และมารยาทมาก ชอบแต่ทิ้งๆ แล้วก็ไม่ศึกษา เพื่อที่จะปฏิบัติ มรรคองค์ ๘ ให้ครบ เพื่อที่จะกระแทกกระทุ้ง กิเลสออกมาให้สมบูรณ์ ผลัดไว้เรื่อยๆ ฤาษีพวกนี้ก็จะชิน หนักเข้า ก็จะไม่รู้รสของวิมุติที่จริงที่แท้ รสวิมุติที่จริงที่แท้ของพระพุทธเจ้า นั้นคือ จิตมันไม่มีรสอะไร แต่ผู้ที่เสพอยู่นี่ จะไม่รู้ตัวว่า ตัวเองเสพ ไม่ว่าจะเสพความหยุดอยู่ นี่เป็นฤาษีแท้ ฤาษีปัญญา ฤาษีกรุงนี่ ก็จะชอบความหยุด หรือชอบความเบา ความไม่ต้องทำ แต่จะเกิดอัตโนมัติ ความคิด สำหรับฤาษีปัญญา ฤาษีกรุง ใช้ความคิดเก่ง เพราะฉะนั้น ใช้ความคิดมันเบา มันง่ายเหมือนกัน เพราะฉะนั้น อะไรก็ใช้แต่ความคิด จนกลายเป็น ตถตา ของความคิด คิดไม่เมื่อย คิดไม่ยาก คิดไม่ลำบาก คิดสะดวก คล่อง ง่าย สบาย

จึงไม่กลัวในเรื่องคิด ก็จะใช้แต่ตัวความคิด นี่แหละ เป็นตัวอาศัย เป็นเครื่องอาศัย แต่ทำลงมือทำ ยิ่งลงมือทำ ยิ่งเป็นงาน เป็นอะไรต่ออะไร ที่ยิ่งจะต้องประกอบกับวัตถุ ประกอบการ กับกรรมกิริยา มันก็ยิ่งหนักยิ่งมาก ฤาษีพวกนี้ ก็ไม่ชอบ ส่วนฤาษีไม่ทำนั้นน่ะ ไม่ทำอะไรเลย แม้แต่คิด แม้แต่ทำ พวกนั้นพวกฤาษีป่า ยิ่งแย่ใหญ่เลยพวกนั้น ดักดาน พวกฤาษีป่า ไม่ทำอะไร ประกอบการอะไร ก็ไม่ทำ คิดยิ่งไม่คิดเลย ฤาษีป่านี่ พระพุทธเจ้าไม่เอาเลย เพราะฉะนั้น อยากที่จะเป็นพระพุทธเจ้านี่ จะเป็นคนกรุง ปัญญานำ โดยเฉพาะพระสมณโคดม ใช้ปัญญานำ ท่านเป็นปัญญาธิกะนำ

พวกเรานี่ มาถึงยุคนี้ เป็นลูกศิษย์พระพุทธเจ้า ปัญญาธิกะ เพราะฉะนั้น คนที่เป็นฤาษีแท้ๆ ที่เป็นฤาษี ด้วยสายเลือด เป็นฤาษีทางเจโต ทางสมถะเข้ายาก เพราะฉะนั้น ผู้ที่จะมาได้นี่ จะมาสายปัญญา มาทางนี้ ถ้าเอาศาสนาพุทธ อย่างที่อาตมากำลังทำนี่ ไปอินเดีย ล้มเหลว ยาก เพราะอินเดียนั้น ฤาษีแท้เยอะ เยอะ ขอยืนยันว่าเยอะ เอาไปหยั่งลงยาก เมืองไทยนี่ ชอบปัญญา หยั่งลงเมืองไทยได้ ยิ่งจะเอาไปจีน ยิ่งจะดี แต่ยังไม่ไปนะ เมืองจีน ขออยู่เมืองไทยก่อน ขอสร้างที่ไทยนี่แหละ แต่ไปจีนก็จะล้มเหลวไว เพราะว่า จีนมันสายปัญญา แล้วเฉโกเก่ง ปัญญามันก็ไปหาเฉโก เจโตมันก็ไปหาป่า ไปหาพวกมืด ปัญญาไปหาเฉโก เจโตไปหาโลกันต์ ดีเหมือนกัน ไปอยู่สุดรู โลกันต์นี่สุดรู นี่อาตมาวิเคราะห์อะไรๆ ให้ฟังนี่ เป็นแนวลึก เป็นแนวกว้าง

ขณะนี้ชาวอโศกเรานี่ กำลังเกิดพุทธ ใครจะเชื่อ ใครจะหมั่นไส้อะไร ก็ตามใจเถอะนะ ใครจะเชื่อ หรือใครจะหมั่นไส้ ก็แล้วแต่ตัวบุคคล อาตมาก็ขอพูดความจริง ยิ่งวันสำคัญๆ อย่างนี้ เป็นวันของเรา มหาปวารณานี่ อาตมาว่าคนนอกอะไร ยิ่งตอนนี้ ทำวัตรเช้า พวกนอกๆ ไม่มีทางจะมา ตีสามตีสี่ ลุกขึ้นมาพูดกัน เฮ้ย เรื่องอะไร ตีสามตีสี่ กำลังมัน กำลังนอนปุ๋ยๆเลย กำลังหลับสบายเลย ตี ๓ ตี ๔ กำลัง หลับสบาย มีพวกเรานี่แหละ ตื่นตี ๓ ตี ๔ นอนก็นอนแต่หัวค่ำ ตื่นตี ๓ ตี ๔ เข้ามาฟังธรรม มาฟังอะไรต่ออะไรกัน คนที่มาก็คนใน เพราะฉะนั้น อาตมานี้ว่า อาตมามั่นใจ ที่จะพูดกับพวกคุณนี่ ก็คือ มันย้ำยืนยัน บอกแล้วว่า ถ้าใครไม่ใช่ศรัทธาที่ตรง ไม่ใช่ความเชื่อมั่น ในอาตมา ก็จะต้องหมั่นไส้

อาตมาทำงานมา ๒๐ ปีกว่าแล้วนี่ แต่หมู่กลุ่มก็ ยี่สิบปีพอดี อาตมาถือว่า ตั้งกลุ่มตั้งแต่ ๒๕๑๖ มาถึงวันนี้ก็ ๒๕๓๖ ยี่สิบปี มาได้ขนาดนี้ ได้คนที่มีมารยาท ขนาดนี้ อาตมาก็ขอให้ความรู้ เพิ่มเติมว่า พวกเราจะต้องศึกษา มารยาทสังคม มากกว่านี้ คือจะต้องเรียนรู้ กายกรรม วจีกรรม ที่ติเตียน ต้องสงวนท่าที อย่าโป๊นัก ตอนนี้ มานุ่งผ้ากันมั่ง แม้จะนุ่ง เหมือนกับผ้าเตี่ยว พวกชาวป่าเขา นั่นนะ ห่อตรงนั้นตรงนี้ ไม่เป็นรูปร่างอะไร สมัยใหม่เขา ก็เริ่มมีมารยาทบ้าง ต้องหัดต้องฝึก และต้องพยายามอีก คือ พยายามอย่าปฏิเสธแขกนัก พวกเรานี่ มันมีอัตตามานะตัวหนึ่ง คือข้าไม่ง้อคนอื่นแล้ว ข้าไม่ง้อคนนอกแล้ว ฟังดีๆนะ ตรงนี้ ลึกๆ อโศกนี่ มันจะมีหยิ่งผยองตัวนี้ พี่น้องข้าก็มีพอ

ข้าวมีกิน
ดินมีเดิน
ตะวันมีส่อง
พี่น้องมีเสร็จ
เห็ดมีเก็บ
ป่วยเจ็บมีคนรักษา
ขี้หมามีคนช่วยกวาด
ผ้าขาดมีคนช่วยชุน

สุดท้าย บุญเป็นของเอ็ง ข้าได้แต่บาป เพราะทำตัวเอง รู้สึกอย่างนี้ รู้สึกว่า ข้าวมีกิน ดินมีเดิน ตะวันมีส่อง พี่น้องมีเสร็จ เลยขี้เกียจ ต้อนรับแขก เอ็งจะมาหรือเอ็งไม่มา ก็ช่างเอ็งปะไร ก็พี่น้องข้า มีพอแล้ว มวลมิตรดี สหายดี สังคมสิ่งแวดล้อมดี โอ๊ พูดขยายไปเยอะ นี่ของกู แค่นี้ของกู มิตรสหายของกูแค่นี้ เอ็งมาใหม่ เบื่อ ขี้เกียจจะพูดกับเอ็ง มันขี้เกียจถึงขนาดนี้ ไม่รับแขก ถึงรับแขก ก็ต้อนรับขับแขก หวดเลย เอ็งมีอะไรล่ะ แหม ไอ้นี่มา ดูซินี่ กามก็พริ้งมาเชียว อัตตาก็เบ้อมาเลย ไม่เอา เพราะฉะนั้น จะต้อนรับ ก็อย่างกระด้าง ไม่เห็นใจคนเลย

อย่าลืมนะว่าญาติเรา ยังถูกเขาหลอกอยู่ข้างนอก ไปแต่งตัวลิเก ยังเยอะอยู่นะ ญาติเราจะมา แต่นี่ก็จริง ที่อยู่ในหมู่มวล นี่ก็ญาติ ได้ญาติแล้วนะ แต่ญาติเรา มีมากกว่านี้นะ ญาติบางคนน่ะ ยังดูไม่ออกหรอกว่า เป็นญาติ เพราะถูกเขาหลอก ไปปลอมตัว เป็นคนนอก เหมือนกับคนละเผ่า พวกนั้นเป็นนิโกร พวกเราเป็น มองโกเลียนนะ ก็ช่างเถอะ ถูกเขาหลอกมาหรอก อาจจะเป็นพวก มองโกเลียน เหมือนกัน แต่ผิวนอก เป็นนิโกร ข้างในน่ะ อาจจะเป็นมองโกเลียน อันนี้เรายังไม่รู้นะ ตอนนี้นี่ เราได้แล้วละ ไอ้ที่มันมา ตามรูปตรง มันไม่มีอะไรแฝง อะไรปนน่ะ มันก็เลยได้ญาติที่แท้ มาแล้ว ทีนี้ญาติที่ยังเหมือน ถูกเขาหลอก แล้วก็ปลอม เหมือนตัวปลอม แต่ที่จริงตัวจริง เนื้อในเป็นตัวจริง ยังเป็นเงาะป่าอยู่ แท้จริงนั่นน่ะ ทองคำ ก็เหมือนพวกเรา พวกเรานี่ แต่ระวัง พูดอย่างนี้ อย่าหลงตัวว่า ตัวเอง เป็นทองคำทั้งหมด ยังเป็นแค่ ทองคลำ (ผู้ฟังหัวเราะ) ยังไม่ใช่ ทองคำแท้นะ ระวัง แค่ทองคลำ

เพราะฉะนั้น ตอนนี้ เราก็ต้องมาฝึกฝน เพิ่มเติมขึ้น อย่าขี้เกียจ อัตตาคือตัวขี้เกียจ ตัวที่ไม่อยากทำ ไม่อยากรับ ไม่อยากต้อนรับ ไม่อยากมีอะไร งานมันก็มากอยู่แล้ว ข้างในน่ะ แล้วก็จริงด้วยนะ ก็ซ้อนด้วย งานในก็มากอยู่แล้ว ไปต้อนรับ ที่จะต้องไปยินดีปรีดา กะคนอื่น ก็ไปยินดีเท่าไร เรามักน้อยแล้ว อยู่กับพี่กับน้อง อยู่กับญาติกับโยม ก็พอแล้ว ขนาดนี้ ยังตีกันไม่เสร็จเลย ยังตีอย่างนี้ ก็เหมือนกับพี่กับน้อง ในบ้านนั่นล่ะ มีตีกันไป ตามธรรมดา พอสมควร ถ้ามันไม่มีความรู้ มันไม่มีความยืนหยัด หรือยึดพอ แรงยึด ที่มีไม่พอ แม้พี่น้องตีกัน ก็แตก บ้านแตกได้ พี่น้องทางสายเลือดนะ ฉันใดก็ฉันนั้น เหมือนกับพวกเรา ก็เหมือนกันน่ะ มันก็ตีกัน แต่ไม่เหมือนกับทางโลกเขา สายเลือด เป็นพี่น้องกัน ก็ทะเลาะ ไม่มีแรงยึดที่เพียงพอ แตกกัน ไม่นับถือกันแล้ว ข้าไม่นับถือเอ็งเป็นพี่ ข้าไม่นับถือเอ็งเป็นน้อง ต่างคนต่างอยู่ ต่างคนต่างทำมาหากิน ไม่เกื้อกูลกัน ไม่ดูดำดูดีกัน ไม่ต้องมาเผาผีกัน นี่หนักที่สุด ไม่ต้องมาเผาผีกัน เอ็งจะตายจะเป็น ช่างหัวเอ็ง มันเป็นได้ ของเราก็เป็นได้เหมือนกัน ฉันใดก็ฉันนั้น เหมือนกัน ถ้าแรงยึดนั้นไม่พอ ความสัมพันธ์นั้น ไม่มีเนื้อสัมพันธ์ ที่สนิทพอ ไม่แน่นพอ ไม่เหนียวพอ เป็นได้เหมือนกัน มันคล้ายกันน่ะ โลกกับธรรมนี่ มันก็คล้ายกัน

เพราะฉะนั้น ตอนนี้เรา ๑. หัดติเตียน ตัวพวกเราเองนี่ ต้องติเตียนกัน หมัดมือ ก็ยังไม่ค่อยจะเก่งเลยนะนี่ ทั้งๆที่หัดติ หัดเตียน กันอยู่ทุกวัน หลายคน ก็ยังติอย่างเดิม ทั้งๆที่เข้ากันไม่ได้แล้ว หัดเปลี่ยนวิธีติ หัดเปลี่ยน เอ๊ะ คนนี้เราติอย่างนี้นี่ ฝีมือเราอย่างนี้ ลีลาเราอย่างนี้ มารยาทเราอย่างนี้ มารยาทพวกเรานี่ เราต้องตรวจแล้ว ไม่ดีแล้ว ฝีมือขนาดนี้ เราประสานกันไม่ได้ สำหรับ คนนี้กับคนนี้ เรากับผู้นี้ เอาใหม่เถอะ ปรับใหม่ นี่ปรับเนื้อใน แม้แต่เนื้อใน เราก็ปรับกันและกัน เอ๊ กับคนนี้นี่เรา เพราะอะไรนะ เพราะเราไปว่าเขา เพราะเราไปทำท่าที กิริยาอย่างนั้นกับเขา ตอนนั้นตอนนี้ กายกรรม วจีกรรมนั่นเอง ปรับ พอปรับอย่างนี้ ก็คือ ปรับใจเรา แล้วก็ประมาณออกมาว่า เราปรับแล้ว จะทำกายกรรมอย่างไร วจีกรรมอย่างไร กับคนนี้ เพราะคนนี้ ยังถือสาขนาดนี้ คนนี้เขาไม่ถือสา เออ คนนี้ อย่างนี้ เขาไม่ถือสาคนนี้ มันจะละเอียดไปเรื่อยๆ แต่ละบุคคลๆ ความละเอียดนั้น ก็จะเกิดโยนิโสมนสิการ แก่ตนๆ นี่คือ การเพิ่มทิฐิ เพราะเรามีธัมมวิจัยสัมโพชฌงค์ ที่อาตม กำลังอธิบายนี่คือ ธัมมวิจัยสัมโพชฌงค์ เป็นองค์แห่งการตรัสรู้ ของเรา ด้วยการสร้างองค์ประกอบ ของหมู่มวลศาสนา หมู่มวลมนุษย์ มนุษย์นี่แหละ เป็นหมู่มวลศาสนา หรือธรรมะ ด้วยในตัว

ตั้งแต่ปีนี้ไปนี่นะ ใครมาฟังธรรมปีนี้นะ เราต้องพยายามที่จะเรียนรู้ตัวเรา แม้กับหมู่มวลใน และแขกข้างนอกมา อุตสาหะขึ้น พยายามขึ้น เรียนรู้ตัวนี้ขึ้น การติเตียนนั้น จะต้องพัฒนา การติเตียนด้วย กายกรรม วจีกรรม เรารู้ว่า ติเตียนได้ดี แต่จะต้องประมาณ มีการยืดหยุ่น มีการลดหย่อน พวกเรานี่ ได้ชื่อว่า เป็นพวกที่ตกภพ เอาแต่ตัวเอง กับฝีมือกิริยา ทางกาย วาจา ที่กระด้าง ตกภพกับกระด้าง ตกภพก็คือ อัตตาตัวเอง แล้วมันก็พอใจ ขนาดนี้ เพราะฉะนั้น แม้แต่ในหมู่พวกเราเอง เราก็ไม่ศึกษากันต่อ ตัดทิ้งไปเลย ตกลงมันก็เลย ไม่ประสานสนิท

นี่แหละคือ หมู่ของอโศก ยังไม่เนียนในตรงนี้ ไม่แก้ไขกันและกัน หรือจริงๆ ก็ไม่แก้ไขตัวเรา ตัวเราไม่พัฒนา บางคน ไม่ออกไป หรอกนะ ข้างนอก ยิ่งกว่านั้น นอกจากข้างนอกไม่ออกแล้ว แขกก็ไม่รับ ฟังความแค่นี้ คนไหนก็แล้วแต่ อโศก ก อโศก ข คนไหนก็แล้วแต่ ๑. ข้างนอกไม่ไป สบายแล้ว อยู่ข้างในนี่ สบายแล้ว อยู่ในพวกอโศกเรานี่ สบายแล้ว ข้างนอกไม่ไป แขกมาก็ไม่รับ แขกอื่นไม่เอา นอกจาก แขกก็ไม่รับแล้ว พวกเรานี่ กันเองนี่นะ หลายคนตัดออก เป็นแขกคนนี้ กูไม่รับ อาตมาอธิบายอย่างนี้ แล้วตอบอาตมาหน่อยซิว่า คนนั้นนี่ อัตตาเล็กหรือโต ถามภาษาภาคกลาง ตอบภาษาอีสาน อัตตาเล็กหรือโต ตอบว่า เต็มโต อัตตามันโต นั่นคือ เอาแต่ภพของตัวเอง ไม่ยุ่งไม่เกี่ยวใคร ผู้นี้แหละ อลังการของฤาษี กำลัง แหม งามๆ ฤาษีกำลังงอกงามไพบูลย์ กำลังสดสวย ความเป็นฤาษีป่าเลยนะ สดสวย งอกงามไพบูลย์ ด้วยความเป็นฤาษีป่า ออกมาจากรู เสียดีๆ ฤาษีป่าฤาษีรู ออกมาดูตะวัน ดูเพื่อนดูฝูง

เพราะฉะนั้น เริ่มต้นแม้แต่พวกเรานี่ จะต้องมาญาติดีกัน เราตัดเขาเป็นแขก ในหมู่เราเองแท้ๆ มันต้องอยู่ด้วยกันอยู่แล้ว แต่คุณ ตัดตัวเองเข้ามา คุณไม่เอา กูไม่เอาแล้วคนนี้ ไม่วุ่นวายแล้ว มันเป็นอย่างนี้จริงๆ น้อยหรือมาก แล้วแต่เถอะ แต่ละคนๆ อาตมา กำลังตีฤาษี ตอนนี้ กำลังตีกระเด็นเลย ฤาษีอยู่ไหนไม่ได้ ควักออกมาเชือดๆ เชือดฤาษี ทั้งฤาษีป่า ฤาษีกรุง เชือดให้หมด เพราะฉะนั้น ในหมู่พวกเรานี่ ก็จะต้องพัฒนาตัวนี้ นั่นคือ ล้างอัตตา สรุปแล้วก็คือ ล้างอัตตามานะ รู้ตัวนะ ที่อาตมาอธิบายวิธีนี้ โดยวิธี อธิบายความ ของอาตมา อธิบายธรรมะนี่ ให้รู้ตัว ออกมา สัมพันธ์สัมผัสกับหมู่เราเอง เอาเถอะ คุณไม่ต้องรับแขกก่อน แต่คุณ อย่าตัดพวกเราเองเป็นแขก จงมาสัมพันธ์ ด้วยการแก้ไขอัตตาตัวเอง ด้วยการปรับ เอ๊ ทำไม เราถึงไม่ชอบคนนี้ เพราะเรา กระทบกระเทือน กันมากไป ถ้าต่างคนต่างรู้ตัว ต่างคนต่างปรับเข้าหากัน ก็ช่วยกันได้ดี ถ้าคนนี้ลด แต่คนนี้ไม่ยอมลด มันก็ช้าหน่อย แต่ต่างคนต่างช่วยลด เข้ามาหากัน มันก็จะประสานกันขึ้นได้ อาตมาพูดไปอย่างนี้ กับพวกเรา อาตมาคิดว่านะ ขอหวังหน่อยเถอะ อย่าให้อกหักเลยนะ หวังว่าจะดีขึ้น

ฤาษีทำวัตร ทำวัตรนี่ พวกชอบพูดชอบฟัง ชอบอ่านชอบเขียน ชอบสอนชอบชี้ ชอบบอก มันเป็นคู่กันนะ บอกจนพวกนั้น หลบเข้ารู พวกนี้อยู่ข้างนอก พวกรูก็ถูกพวกบอกนี่ ชี้เข้ารูหมด พวกรูนี่ ก็ยิ่งหนีพวกนี้ เลยแยกกันอยู่เลยนี่ พวกฤาษีป่า กะฤาษีกรุงนี่นะ ฤาษีอโศก นี่อะนะ ฤาษีทำวัตร กับฤาษีทำงาน ก็เลยกลายเป็นสองพวก ฤาษีทำวัตร ก็ได้แต่สอน ได้แต่ค้นวิชาการ ได้แต่คิด ได้แต่นึก ได้แต่พูด ได้แต่รับแขก นี่ฤาษีทำวัตร นี่รับแขก รับแขกเก่ง ปฏิสันถาร หนักเข้า ก็กามเอาไปกิน พอรับแขกเก่งนี่ กามเอาไปกิน พูดแบบนี้ เดี๋ยวไม่มีคนรับแขกอีก แหม มันรู้มากนี่ ยากนานจริงๆ นะ พูดอะไรก็ผิดหมด หามุมถูกบ้างซิ ไอ้ตัวผิดมันก็มี เราก็ระวังซิ กลัวกามไปกิน ก็ต้องระวังซิ เรารับแขก ฤาษีพวกนี้ อยู่รับแขก ฤาษีทำวัตรนี่ พามาทำวัตร พาชม พารู้ พาเรียน พาโน่นพานี่นะ ใครมา รับแขกเก่ง สอน แล้วจะมีลูกน้อง ฤาษีรับแขกนี่ ลูกน้องเยอะ ฤาษีบ้านนี่ ลูกน้องเยอะ บริวารมาก บริวารพวกเดียวกันนี่ เพราะฉะนั้น ส่วนมากแล้ว พวกฤาษี บริวารหรือพระบ้านนี่นะ จะครอง เหมือนโลกสมัยนี้ พวกใช้หัว พูดเก่ง สอนเก่ง หาบริวารเก่ง แล้วก็จะมี เล่ห์เหลี่ยม ซ้อนๆ ฤาษีพวกนี้ฉลาด ใช้ปัญญา

ฤาษีทำงาน ฤาษีถ้ำ ไม่ค่อยฉลาดหรอก แต่เป็นผู้สร้าง อยู่ได้ เพราะฤาษีถ้ำ เพราะพวกนี้สร้าง พวกนี้เป็นวัวงาน ส่วนฤาษีหาบริวารนี่ ปกครองดูแล ควบคุมบริหาร บริหาร พวกฤาษีพวกนี้ จะอยู่ในเชิงนี้ ลดลง ถ้าไม่เช่นนั้น อัตตามานะ ก็ยังใหญ่อยู่นั้นเอง อัตตาคนละชนิด อัตตาคนละลักษณะ จะใหญ่อยู่นั่นเอง เพราะฉะนั้น อย่าไปดูถูกพวกงาน พวกที่อยู่ในถ้ำอะไร ประสานกันให้ได้ เพราะฉะนั้น พยายามทำตัว เข้าไปหาพวกถ้ำ ลดตัวลดตน อย่าไปข่ม บอกแล้วว่า พวกที่วัวงานนี่ เป็นพวกที่สร้างสรร เป็นพวกทำ เป็นพวกสร้าง เป็นพวกมีอะไรต่ออะไร ขึ้นมาเลี้ยงดู แล้วไอ้จุดช้าก็คือ ความไม่สมดุลของตัวเอง ทั้งฤาษีถ้ำ ฤาษีงาน และฤาษีสอน ฤาษีบ้าน ฤาษีฉลาด มันไม่สมดุล ด้วยกันทั้งคู่ จะสมดุลอย่างไร สมดุลก็คือ เติมส่วนขาดของตัวเอง ถ้าเราเป็นฤาษีกรุง เป็นฤาษีบ้าน เป็นฤาษีสอน เป็นฤาษีเรียน เป็นฤาษีทำวัตร เป็นฤาษีศึกษามาก แต่ไม่ทำงาน หัดไปทำงานบ้าง

ฤาษีทำงาน จนกระทั่งรังเกียจ พวกฤาษีกรุงฤาษีบ้าน มุดอยู่แต่งาน ก็หัดมาศึกษา หัดมาสัมพันธ์ หัดมาพูด หัดมาฟัง หัดมาทำวัตร หัดออกมารับแขกเสียบ้าง ถ้าไม่เช่นนั้นแล้ว ไปไม่รอด เจริญต่อไม่ได้ ทั้งตัวเองและหมู่กลุ่ม และศาสนา เพราะฉะนั้น จะเป็นศาสนาจิ๋วๆ แต่ไม่แจ๋วหรอก จิ๋วแต่ไม่แจ๋ว ก็จิ๋วเล็กๆ ไม่มีรัศมี ไม่มีฤทธิ์ ไม่มีแรง ไม่มีอำนาจ ไม่มีคุณค่า ไม่มีประโยชน์ ที่เพียงพอ ก็ได้แค่นี้ ถ้าแก้ปัญหานี้ไม่ตก อโศกก็ไปได้ไม่เท่าไหร่ จะมีฤทธิ์บ้าง ในฐานะที่พวกเรา ยังมีแรงงาน ยังมีความพากเพียร ที่จะกระทำไป ก็จะช่วยมนุษยชาติได้อีกบ้าง แต่ไปไม่ได้ไกล ไม่ได้นาน ไม่ได้มาก จะมากคุณภาพก็ต้องสมบูรณ์ คุณภาพก็ต้องครบ แต่ละคนๆ ก็จะต้องได้ภูมิที่สูงขึ้น ยิ่งภูมิยิ่งสูงขึ้น ก็ยิ่งประสานกันใหญ่ขึ้น ภูมิแท้ของพุทธนี่ แม้มาอยู่ด้วยกันแล้ว ก็ต้องพัฒนาเพิ่มเติม

มิตรดีสหายดี สังคมสิ่งแวดล้อมดีนี่ ไม่ใช่ว่า เมื่อมาอยู่ด้วยกันแล้วก็ ยิ่งสมาน ยิ่งเป็นหนึ่งเดียว ยิ่งเป็น เอโกธัมโม ยิ่งเป็นศีลสามัญตา ทิฐิสามัญตา ก็คนหนึ่งเข้ารู อีกคนออกมาข้างนอก มันจะไปทิฐิสามัญตาอย่างไร ทิฐิมันแยกกันแล้ว ความเห็นมันแยกกันแล้ว ความยึดติด มันคนละทาง แม้มันจะไม่ดูหยาบ ก็รวมกันได้ อยู่อย่างนี้ แต่รวมกันอยู่อย่างแยกๆ ใช่ไหม เพราะฉะนั้น ก็ควรจะรวมให้จริง ถ้ารวมได้จริง ปรับตัวเข้ามาเรื่อยๆ แล้วไม่ต้องห่วงหรอก คนอื่นๆ ที่จะเข้ามา ก็จะมีนัยนี้ คนใหม่หรือคนอื่น ที่ยังศึกษายังไม่ลึกซึ้ง ก็จะตามมาเรื่อยๆ ก็จะมีลดหลั่นไปเรื่อยๆ ว่า ที่สูงสุดไปเรื่อยๆ สูงไป แน่นเหนียวไป จริงจัง สะอาดบริสุทธิ์ ไปเรื่อยๆ คนอื่นๆ ก็ตามมา ก็จะศึกษา ทั้งกาม และอัตตามานะ ไล่ขึ้นมาเรื่อยๆ อย่างนี้ และแก่นแกน ที่จะเป็นแก่นดีๆ ก็จะต้องรู้ตัว และก็แก้ไขปรับปรุง จนกระทั่ง สมบูรณ์ สุดท้าย เราไม่เป็นฤาษีทั้งป่า ไม่เป็นฤาษีทั้งกรุง ไม่เป็นฤาษีป่า ฤาษีกรุงใดๆ

ฤาษีที่ช้าที่สุด คือฤาษีจัญไร แก้ตัวไปหมด เขาว่าเป็นฤาษีกรุง กูไม่เป็นน่ะ เขาเป็นฤาษีป่า กูก็ไม่ได้เป็น ฤาษีป่า โง่ไปอยู่นั่นแน่ะ ที่จริงฉลาดนะ ฤาษีจัญไรนี่ แก้ตัวนี่ฉลาด ฉลาดแก้ตัว แต่ไม่ฉลาดเข้าหาสัจจะ เพราะฉะนั้น จะต้องเรียนรู้จริงๆ ฉลาดเข้าหาสัจจะ แล้วก็ยอมรับ แล้วก็แก้ไข แก้ไขไม่ใช่แก้ตัว ผู้ใดรู้ความจริงของตนเอง ว่าบกพร่องอะไร แล้วทำคืน แก้กลับได้จริง แก้ไขได้จริง อันนั้นแหละเจริญ เพราะฉะนั้น ฉลาดก็ควรจะใช้ความฉลาด ให้จริง ฉลาดจริง คือรู้ตัวเอง แล้วแก้ไข ๆ ไม่ใช่อะไรนิด อะไรหน่อย ก็แก้ตัวๆ ใครมาก็แก้ตัว ไม่ยอมรับฟัง มันเป็นจริงที่ตัวเองนะ อัตตามานะ มันไม่ยอมรับฟัง หรือ แม้รับฟัง ข้างนอกนะ ทำท่าทีฟัง แต่ข้างในน่ะเถียง ข้างในน่ะ แย้งๆ แย้งได้ แล้วข้าไม่บอกเอ็งหรอก ข้าแย้งเอ็งได้แล้ว คือแก้ตัวสำเร็จแล้วนะ แต่ข้างนอก ดูไม่ได้แก้ตัวนะ อู๋ย สงบเสงี่ยม นี่แหละเรียกว่า มารยา เป็นมารยาท โอ้โห คนนี้มารยาทดีนะ รับฟัง แต่ข้างใน เถียงเป็นไฟ แก้ตัวเสร็จหมดแล้วในตัว ได้ข้อแก้แล้วนะ ฉันชนะๆ หมดเลย อย่างเก่า ตกลงไอ้ที่เขาพูดให้นี่ แก้ตัวเสร็จหมดเลย อยู่ในตัวเสร็จแล้ว แต่ไม่พูดออกมา ไม่แสดงท่า ออกมาเลยว่า เถียงคุณ แย้งคุณ แต่จริงๆ แย้งอยู่ข้างในน่ะ แก้ตัวไว้เสร็จ พอเสร็จหมดแล้ว ขอบคุณมากนะ ไม่ได้แก้อะไรเลย ไม่ได้รับอะไรเขาเลย แก้ตัวเป็นไฟ เสร็จหมดเลย นี่เรียกว่า ฤาษีมหาจัญไร แล้วไม่ไปไหน ไม่พัฒนา คนนี้

เพราะฉะนั้น คนนี้นี่ ถ้าเผื่อว่าแก้ตัว จนกระทั่ง ไม่รู้จุดจริงว่า เอ๊ เราผิดตรงไหนแน่ คนนี้ก็โง่ อยู่อย่างนั้นแหละ แต่ถ้ารับฟัง แล้วก็มา วินิจฉัย มาวิเคราะห์ว่า เอ้อ อันนี้จริง ตรงนี้ๆ เราก็จับจุดได้ คนนี้ก็ฉลาดขึ้น ก็แก้ไขเสียซิ แม้ไม่แสดงออก ก็มารยาทดีแล้ว ไม่แสดงออก แต่รู้ความจริงได้นะ ไม่ใช่ว่า แก้ตัวเป็นไฟ จนกระทั่ง ไม่รู้จักแก้ไข ใครสอนเมื่อไหร่ ก็ฉันยอด ใครสอนเมื่อไหร่ ก็ฉันแก้ตัวได้ทุกตัว ยอด ยอด ไม่ได้แก้ไขอะไรเลย ถ้าคุณไม่เป็นพระพุทธเจ้า คุณก็ต้องเลวอยู่ตรงนี้ คนที่ไม่ต้องแก้ไขก็คือ เรายกให้พระพุทธเจ้า องค์เดียว ใช่ไหม ไม่ต้องแก้ไขแล้ว คุณไม่ใช่พระพุทธเจ้า คุณก็ต้องคือ คุณยอดจัญไร ฟังให้ออก ฟังให้เข้าใจ เพราะฉะนั้น เราต้องสำนึก ซะก่อนว่า เอ๊อ เราน่าจะมีสิ่งผิดอยู่ ก็ตรวจสอบ ด้วยความบริสุทธิ์ใจ ให้ได้มากๆ เมื่อเราตั้งใจที่จะถ่อมตน เรียกว่า ลดอัตตามานะ ที่จะฟังความจริง ที่จะรับความจริง ด้วยความจริงใจ ปัญญามันก็จะเปิด แต่ไอ้ตัวแย้งตัวอัตตามานะ มันจะแย้ง มันจะเถียงน่ะ มันไม่เปิด มาอะไรมับ มันก็พลิก เถียง แย้งๆ หาแง่มุมอะไรมาแย้ง จนตัวเองโง่ แล้วหลงว่าตัวเองฉลาด คือได้แต่แง่แย้ง แย้งอะไรก็แย้งได้ คนเรา

พยายามศึกษาแก้ไข อันนี้ด้วย ถ้าแก้ไขข้อนี้ได้ เราก็จะมีทั้ง มารยาทดี และมารยาก็หาย ก็มีแต่ความจริง มีแต่ความจริง คุณก็เกิด ความเป็นมารดา รู้จักมาร มารดานี่คือ ผู้รู้จักมาร แล้วก็ทำคลอด จิตวิญญาณ ออกมาให้เสร็จ เป็นพระ จะเป็นพระได้ก็คือ ฆ่ามาร ฆ่าผีนั้น ฆ่าให้ได้ ทำให้ได้

ที่จริงอาตมา ระลึกไปถึงพยัญชนะ มาระ มระ ไปโน่นเลยนะนี่ บาลี แบบอาตมานะ ไปโน่นเลย ซึ่งลึก ถ้าให้อาตมาวิเคราะห์แล้ว ถึงกระทั่งลึก ถ้าถึงขั้นมาระ มระ ลึก แต่เอาละ อาตมาไม่พูดหรอก ประเดี๋ยว ก็เถียงกะเปรียญ ๙ เขา แต่พยายามระลึกถึง อาการของจิต และของความสะอาด ไม่สะอาดนี่ ลึกลงไป

มะนี่ก็คือจิต มะนี่ มะมะ มะระ มะมะ มะระ มะตะ มะอะไรพวกนี้ อีกเยอะ ขยายออกมาจากพยัญชนะ จนกระทั่ง ขยายมาเป็น มีอา มีสระอา สระอะ สระอิ สระอี อะไรเข้ามาอีก ซึ่งพูดไปแล้ว ก็บาลีแบบอาตมา มันไม่ไปกับเขา อาตมาพูดแล้ว อาตมาว่า เอามาใช้ กับตัวเอง อาตมารู้เรื่องของตัวเอง แล้วใช้กับเขาไม่ได้ อาตมาก็ไม่ใช้ อาตมาเอามาอธิบาย เป็นภาษาไทย อย่างนี้ดีกว่า ถ้าอาตมาอธิบาย แบบนั้น ไปทะเลาะกันไม่เสร็จนะ มันไม่มีเวลา

นี่อาตมาขยายความ วิเคราะห์วิจัย เรื่องฤาษีกรุง กับฤาษีป่า ของอโศก ให้ฟังเพิ่มเติมขึ้น ใครที่ยังไม่ได้ศึกษา เรื่องฤาษี ที่อาตมา ขยายความ ถึงฤาษีนี่ เป็นถึงหกฤาษีแล้ว ตอนนี้ ก็หาเท็ปไปฟัง สรุปแล้วก็คือ อาตมาตีอัตตามานะ ฉีกหน้าอัตตามานะ ออกมาอีกเยอะ ตอนนี้ ถ้าเราไม่แก้ไขอัตตามานะ ไม่เจริญอีก

ในเรื่องของกาม ในหมู่ของพวก ชาวอโศกเรานี่ ทุกวันนี้ คุณรู้สึกไหมว่า ถ้ากาม ในหมู่อโศกเรานี่ ขนาดนี้นี่นะ มันมีมวลเท่านี้นะ แล้วก็มีกามขนาดนี้นะ ไปรอด อย่าให้มากขึ้นแล้วกัน ไปรอด ถ้าไม่มากขึ้น แล้วแต่ละคน ทำลดลงกว่านี้ เราก็จะเพิ่มมวลมาได้อีก ลดกาม ถ้าแต่ละคน ลดกามของตัวเอง จะเพิ่มมวลมาได้อีก มวลก็จะมาด้วยกาม และอัตตา มาเหมือนกันแหละ มวลก็คือ คนข้างนอกเข้ามาเพิ่ม ก็จะกว้างขึ้น ยิ่งเราลดอัตตามานะลงได้อีก ความประสานที่แน่น จะเกิดพลังสร้างสรร จะมากกว่านี้ คุณฟังความตรงนี้ ออกไหมว่า ลดอัตตามานะ แล้วเกิดพลังสร้างสรรนี่ มันคืออย่างไร เข้าใจไหม โดยความเข้าใจนี่ เข้าใจไหม มันเกิดได้ยังไง อาตมาก็ไม่รู้จะอธิบายได้ยังไง มันยาวนะ ถ้าจะขยายความ มันจะเกิดพลังธรรม พลังสร้างสรร ความเบิกบาน ร่าเริง ความเป็นพี่น้อง เพราะว่า ลดอัตตามานะพวกนี้ คุณฟังดีๆนะ ใครมีปฏิภาณ ฟังดีๆเถอะ จะเห็นว่า อาตมานี่ มันเป็นสาระของธรรมะ ที่เป็นสาระสัจจะ ที่แท้นะ ทุกวันนี้ เราเจริญมาได้ ด้วยอันนี้

สรุปแล้วนี่นะ ยิ่งใหญ่ยิ่งเล็ก ยิ่งเล็กยิ่งใหญ่ ไม่รู้มันแปลว่าอะไร รู้ไหม เข้าใจแต่ยังไม่เข้าถึง เออ ดี ดีกว่าตอบว่า เข้าใจ แต่ยังไม่เข้าใจ นี่แสดงว่า เข้าใจจริงๆ แต่ยังไม่เข้าถึง สภาพนั้นยังไม่เป็น ยิ่งใหญ่ หมายความว่า เรานี่ยิ่งมีภูมิสูง เรายิ่งเป็นผู้ที่สูง ด้วยความเป็นจริง ด้วยคุณธรรม ด้วยความสามารถ ด้วยสมรรถนะ สูงด้วยอิสรเสรีภาพ สูงด้วยภราดรภาพ สูงด้วยสันติภาพ สูงด้วยสมรรถภาพ สูงด้วย บูรณภาพ มีความเต็ม ความสมบูรณ์ของเราเอง มีคุณค่าคุณธรรม อะไรก็แล้วแต่ สูงขึ้นจริง เรียกว่า ยิ่งใหญ่ ตัวเราน่ะยิ่งเล็ก กามก็ยิ่งเล็ก อัตตาก็ยิ่งเล็ก เรายิ่งเล็กนี่แหละ ยิ่งเล็กนี่ ความยิ่งเล็กก็คือ ยิ่งแน่นเข้าๆ ความแน่นเข้านี่ลดมั้ย ความเป็นแก่นแกน แน่นเข้า ยิ่งเป็นแก่นแกน ยิ่งเกื้อได้กว้าง เอื้อได้กว้าง เราก็ยิ่งจะกว้างไปเกื้อ กว้างออกไปเกื้อได้มากขึ้น โดยสัจจะ เพราะฉะนั้น ยิ่งใหญ่ยิ่งเล็ก ยิ่งเล็กยิ่งใหญ่ มีคนถามว่า อีกนานสักเท่าไหร่ จะถึงสภาพดังกล่าวนี้ ก็ติดตาม อย่ากะพริบตาแล้วกัน อีกนานเท่าไหร่ ไม่รู้ อ้า มีคนตอบว่า อีกนานเท่าไหร่ก็จะรอ นานเท่าไหร่ก็จะรอ

โศลกธรรม วันมหาปวารณา ปีนี้ (พ.ศ. ๒๕๓๗) ก็เลยได้ว่า
ยิ่งใหญ่ยิ่งเล็ก
ยิ่งเล็กยิ่งใหญ่

ทีนี้ก็มาพูดถึงเนื้อหา ขณะนี้ อโศกเรานี่ มีมวลใหญ่ เท่าที่เราเล็ก ก็ใหญ่เท่านี้แหละ เท่าที่เราเล็กๆ อยู่นี่แหละ มันยังไม่ใหญ่เท่าไหร่ แต่ก็ใหญ่ในพอสมควร และมีเนื้อหาพอสมควร คือมีความใหญ่ของเนื้อ พอสมควรเท่านี้แหละ เรารวมกันอยู่ แล้วก็มีอะไร เกิดเป็นรูป เป็นร่างขึ้น ตอนนี้ ปฐมอโศก ใครนานๆปีมาที บางคน อาจจะสองปี ยังไม่ได้มา เพิ่งมาปีนี้ ถ้าสองปีไม่ได้มานี่ ต้องกะพริบตาดูแล้ว ปฐมอโศกแน่นะ นี่เข้าไม่ผิดนะ มันมีอะไรเกิดขึ้นมาทั้งรูป สองปีนี่ อาตมาว่า ผิดตามากจริงๆ ยิ่งสองปีขึ้นไป ก็ยิ่งไม่ต้องกล่าวเลย ถ้าใคร ห้าปียังไม่ได้มา ปฐมอโศกนะ รับรอง ใช่รึเปล่านี่ ต้นไม้ก็มากแล้ว อาคารนั่นๆนี่ๆ ก็มีขึ้นมา ช่องนั้น รอยนี้ อะไรต่ออะไร มีขึ้นมา มีโรงงาน อะไรต่ออะไร ต่างๆนานา มาถึงวันนี้ ยังกำลังขึ้นโครงสร้าง ของศาลาช่าง เบ้อเร่อเบ้อร่าเลย ศาลาช่างนี่ เนื้อที่ตั้งไร่หนึ่ง ซึ่งจะเป็นโรงงาน ที่อาตมาคิดว่า จะได้อาศัย เพราะว่า อุตสาหกรรม หรือว่าทางด้านวิศวะ มันเกิดขึ้นมา ต้องอาศัยเหมือนกัน แต่ถึงกระนั้นก็ดี อาตมาก็ขอยืนยันว่า งานหลักที่สุดเรานั้น คือกสิกรรม ชาวอโศกฟังไว้ จะต้องยึดงานหลักนี้ไว้ จะเป็นงานที่มีบุญมากที่สุด ไม่ใช่อาตมาพูดเอง เป็นงานที่มีบุญมากที่สุด ถ้าชาวอโศก จะเป็นชาวพลเมืองโลก ที่เก่งกสิกรรม จงภูมิใจเถิดว่า เราจะมีบุญมากที่สุด คนไม่มีรถขี่ คนไม่มีคอมพิวเตอร์ แต่มีข้าวกิน ก็ไม่มีปัญหา คนไม่มีข้าวกิน มีคอมพิวเตอร์ มีเครื่องบินขี่ มีปัญหาแน่ เพราะฉะนั้น วิศวะ หรือชาวช่างนี่ ต้องรู้ความจริงให้ได้ว่า กสิกรรมนี่ ต้องหนึ่งมาก่อน ต้องให้กสิกรรมนี่ เป็นหนึ่ง และเราก็จะต้องรู้จัก สาระสัจจะ พวกนี้ให้ชัด

อาตมาเคยไปเทศน์ที่ คณะแพทยศาสตร์ เขานิมนต์ไป หลายปีมาแล้ว อาตมาเคยบอกว่า งานทำนานี่ มีค่าสูงส่งกว่างานแพทย์ แหม พวกหมอทั้งหลายแหล่ เขาขึ้น เถียงใหญ่เลย บอกเป็นงานชั้นหนึ่ง เป็นงานที่มีคุณค่า เป็นงานที่จะต้องยกย่องเชิดชู งานทำนา งานกสิกรรม บอกว่าเกษตรนี่ เหนือชั้นกว่าแพทย์ เกษตรเหนือชั้น แต่อาตมา ไม่อยากพูดเกษตรศาสตร์ เพราะเกษตรศาสตร์นี่ มันเกษตรกระดาษ มันเศษกระดาษ เกษตรศาสตร์นี่ คือเรียนไปนั่งโต๊ะ เรียนไป ไม่ได้ทำนาจริงหรอก น้อยคนนัก ที่จบเกษตร แล้วจะไป ทำงาน ลงมือจริง ส่วนมากไปนั่งโต๊ะ เป็นใหญ่เป็นโต ทางบริหาร ไปทางอะไรต่ออะไร ซึ่งมันยิ่งฟ่ามนะ อาตมาบอกว่า เกษตรเหนือชั้นกว่า เขาเถียงใหญ่เลย มีประโยชน์ต่อมนุษยชาติ มากที่สุด

เขาบอกไม่เชื่อ เขาเถียง เขาบอกว่า หมอนี่แหละเงินดี ร่ำรวยดี เอ้า ก็ใช่นะซิ ก็มันไปขูดรีด เอาเงินคนเขาน่ะ อาตมาไม่ได้อธิบาย มากมายเท่าไหร่หรอก อาตมาให้พูดไป เสร็จแล้วอาตมาถามเขา ที่จริงอาตมาไม่มีเวลามาก อย่างพวกเรา ได้ฟังหลายแง่ หลายมุม หลายเชิง เรื่องเกษตร กับเรื่องแพทย์นี่นะ อาตมาตีหัวเข้าบ้านอย่างเดียว เขาพูดอะไรมากแล้ว อาตมาก็ถามเขาว่า ถามจริงๆ คุณมีชีวิตอยู่นี่ คุณจะป่วยทุกวัน หรือคุณจะกินข้าวทุกวัน อาตมาถามตรงนี้ เขาก็ตอบว่า อือ ก็กินข้าวทุกวัน ป่วยไม่ทุกวัน ก็นั่นแหละ อะไรสำคัญกว่ากันล่ะ ถ้าป่วยทุกวัน ก็เอาซิ มันเป็นไปได้ที่ไหน แต่คุณกินข้าวทุกวัน ใช่ไหม ก็จบ อาตมาก็บอกว่า เกษตรนี่เป็นหนึ่ง แล้วมันซับซ้อน อาตมาบอกแล้วว่า ข้าวต้องขายถูก อย่าไปขายแพง เพราะฉะนั้น แต่ละประเทศนี่ ต้องคุมราคาข้าวไว้ แต่ไม่ค่อยคุม ราคาหมอหรอก ก็รวยซิ คนเรามันกลัวตาย มันมีความบีบคั้นตรงนี้อีก แต่บางที แม้หมอคนนี้ ไม่รักษา คนหลายคนรอดนะ แต่ข้าวไม่กินนี่ ยังไง๊ยังไงก็ไม่รอด ไม่กินข้าวนี่ยังไงๆ ก็ไม่รอด ให้เก่งเท่าเก่ง ยังไงก็ไม่รอด แต่หมอบางทีไม่รักษานี่ บางทีคนนั้น เขารอดได้ หรือให้หมออื่น เขารักษาก็ได้ ให้หมอถูกๆ ที่ไหนรักษา บางทีหายด้วย ให้หมอแพงๆ รักษาไม่หายด้วย มีซับซ้อน อีกเยอะแยะนะ

เอาละ อาตมาไม่มีเวลาขยายเรื่องพวกนี้ มาพูดถึงเรื่องของสัจจะ ของพวกเรานี่ ตอนนี้พวกเรา กำลังโตขึ้น อย่าเรียกว่าใหญ่ โตขึ้นพอสมควร มีมวลมีหมู่ มีรูปเรื่อง มีจารีต มีประเพณี มีกิจกรรมกิจการ มีพิธีการ มีพิธีกรรม โดยเฉพาะ มีพฤติกรรม อาตมาเทศน์มาก่อนนะ เรื่องพฤติกรรมนะ หัวต้นที่เทศน์มานั้นน่ะ ให้แก้ไขพฤติกรรมของพวกเรา เมื่อแก้ไขพฤติกรรม ของพวกเราแล้ว กิจกรรมของพวกเรา จะเจริญ

ทุกวันนี้ กิจกรรมของพวกเราเพิ่มขึ้น สัมมาอาชีพ สัมมากัมมันตะ ของพวกเราเพิ่มขึ้น แต่พวกเรา ประสานกันไม่สนิท พลังไม่รวม กิจกรรมของเรา ก็เลยยังไม่เก่ง ยังไม่ดีพอ แรงงานมันแยกกัน ถ้าเผื่อว่า รวมกันเป็นพลังรวม มีการลงแขก มีการร่วมไม้ร่วมมือ มีการไม่ขัดไม่แย้ง มีการประสานกันดี มันจะมีรูปเรื่องรูปร่าง ที่สอดคล้องส่งสนับสนุน สอดรับอะไรต่ออะไรกันดี เหมือนกับเครื่องกล ที่เขาจัดตั้งตรงนั้น กระแสตรงนี้ ให้มาตรงนี้ๆ ทางด้านวิศวะ ทางด้านช่างกล ทางด้านช่างไฟฟ้า ทางด้านช่างเครื่อง อะไรก็แล้วแต่ มันจะมีลักษณะเหมือนกันหมดเลย ในโลกนี้ จัดสัดส่วนนี้ ไอ้ตัวนั้นตัวนี้ ให้ปรับปุ่ม ปรับนั่นปรับนี่ ให้มันไปตรงนั้น ตรงนี้ มี circuit มีวงจร มีไอ้นั่นไอ้นี่ ได้ดีสุด เป็นวงจรที่ได้ดีที่สุด เราจะต้องการอะไรมาก ต้องการแรงเคลื่อน ต้องการกระแส ต้องการพลัง ต้องการวัตต์ ต้องการโอห์ม ต้องการอะไร ก็แล้วแต่ ต้องการแรงงาน ต้องการความเร็ว หรือ ต้องการความดัน อะไรก็แล้วแต่เถอะ มันจะต้องรู้จักทิศ รู้จักทาง รู้จักอะไร เหมือนกันเลย นัย คนก็เหมือนกัน จัดสรร การประสานน่ะ มันจะรู้จักจุด แล้วมันจะรู้จักว่า เออ ตัวนี้แทน ไอ้ตัวนี้ไปตรงนี้ ตัวนี้มาตรงนี้ ตัวนี้ผ่อนไปตัวนี้ ตัวนี้ให้ไปช่วยตรงนี้ๆ แล้วคนไหน ถนัดอันไหน มันจะเข้าร่องเข้ารอยกัน เหมือนกันกะเครื่องกล เหมือนกันน่ะ มันไม่เหมือนกันทีเดียว แต่มันก็เหมือนกัน มีรูปร่องรูปรอย เหมือนกัน ถ้าใครเข้าใจนะ

เพราะฉะนั้น ใครจะศึกษาวิทยาศาสตร์ ศึกษาวิศวกรรมศาสตร์ ก็เข้ามาหาสัจจะของพุทธ ทะลุเหมือนกัน ศึกษาเกษตรศาสตร์ ก็เข้ามาทะลุพุทธ เหมือนกัน ศึกษาอะไรศาสตร์ๆ มา แม้แต่จะสังคมศาสตร์ แพทยศาสตร์ อะไรศาสตร์มา เข้ามาหาเหมือนกัน เพราะฉะนั้น ในพุทธนี่ ออกไปหาทุกศาสตร์ เหมือนกัน ทุกศาสตร์ เข้ามาหาพุทธ พุทธออกไปทุกศาสตร์ เหมือนกัน เพราะมันจะมี โครงสร้างกลางๆ ที่เหมือนกัน โครงสร้างใหญ่ กลางๆ เหมือนกัน อาตมาก็ไม่รู้จะอธิบายอย่างไรนะ ค่อยๆเข้าใจไปนะ ค่อยๆเข้าใจ แล้วจะรู้ แล้วเราจะไปใช้กับ สังคมมนุษยชาติ ได้ทั้งหมด เพราะฉะนั้น ใครจะถนัดแขนงอะไร ก็เอาไปเถอะ แล้วมันจะเป็นธรรมชาติ มันจะมีแรงถนัด แต่ถนัดแล้ว อย่ายึดว่าของตัวเองดี นั่นคือการไม่ยึด อัตตามานะ ตัวเองถนัดอันนี้ เพื่อนเขายกให้เอง คุณทำไปซิ แต่คุณต้องถ่อมตัวว่า ความจริงของคุณใหญ่ เมื่อคุณ ยิ่งทำตัวเล็ก ของคุณ ก็ยิ่งจะใหญ่ แต่ถ้าของตัวเราใหญ่ เราก็กร่างเลย ของกูใหญ่ คุณยิ่งเล็ก คุณยิ่งถูกเขาไม่ชอบใจ คุณยิ่งไม่ได้รับความนับถือ ไม่ได้รับความนับถือนั่นล่ะ คือความเล็กของคุณ ถ้าคุณยิ่งใหญ่ของคุณ ก็ทำของคุณ แล้วก็ไม่ถือดี ไม่ถือตัวของคุณ คนเขาจะนับถือคุณ นั่นคือ คุณลดอัตตายิ่งเล็ก และคุณค่าของคุณ จะยิ่งใหญ่ อาตมาพูดไม่ผิดนะ พยายามเถอะ ลึกซึ้ง ซับซ้อน อย่างนี้ธรรมะ

ตอนนี้หมู่กลุ่มเรา กำลังจะเป็นสหกรณ์ อาตมาก็ขอบอกกล่าวให้ทราบนะ ว่าตอนนี้เรามาได้ ที่ประเทศไทย ก็มีก็คือ ลักษณะ สหกรณ์ นานมาตั้ง ๒๐ ปีน่ะ นี่ขึ้นทศวรรษที่สาม เราจึงมาเจอสหกรณ์ อาตมาเองนี่นะ บอกให้ได้นะว่า อาตมานี่ เป็นนักศึกษาเศรษฐศาสตร์ ปีที่ ๑ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ไปเสียเงินเป็นนักศึกษา อยู่นานปี จำไม่ได้ว่ากี่ปีแน่ ไปเสียเงิน เป็นนักศึกษาธรรมศาสตร์อยู่ แต่ไม่เคย ไปเรียนสักวัน แต่เข้าไปธรรมศาสตร์ เข้าไป แต่ไม่เข้าไปเรียนหรอก เข้าไปอยู่ในมหาวิทยาลัย มันเฉยๆ อย่างนั้นน่ะ ถึงวันงานประเพณี ก็ไปซื้อเสื้อเหลืองมาใส่ ไปเล่นกับเขา ไปอย่างนั้นน่ะ แต่ไม่เคยไปเรียนกับเขา ไม่เคยไปสอบสักวิชา วิชาสหกรณ์นี่ มันอยู่ในคณะเศรษฐศาสตร์ วิชาสหกรณ์ ที่อาตมาพูดถึง ก็เพราะอาตมานี่ เป็นต้นรากสหกรณ์ เหมือนกันนะ แต่ไม่รู้จักสหกรณ์เลย เพราะไม่ได้เรียนเลยนะ มีแต่นามว่า เป็นนักศึกษาเศรษฐศาสตร์ แต่อาตมาว่า อาตมารู้จักเศรษฐศาสตร์ มาถึงวันนี้ มาถึงตอนนี้ ช่วงนี้แล้วนี่ มันขึ้นมาหาสหกรณ์ แล้วพวกเรา จะอยู่ในรูปของสหกรณ์นี้ ได้ดีที่สุด อาตมาว่า อาตมาเข้าใจนะ แล้วมันจะมีนัย ที่อาตมา อาจจะไม่ตรงกับ วิชการเขาอีกบ้าง ในอนาคต คอยดู สหกรณ์ นี่แหละ แล้วเรากำลังขอจดเป็น สหกรณ์บุญนิยม เขามีอยู่ ๖ แผนก ๖ แขนง เท่านั้นน่ะ อาตมาว่า ถ้าในอนาคต มีอีกแขนงหนึ่ง แขนงบุญนิยมน่ะสำเร็จ ซึ่งเขาจะยังไม่ยอมรับหรอก ตอนนี้ แต่เขากำลัง ยอมรับเรา เป็นกิ่งหนึ่งของ บริการชุมชน กิ่งหนึ่ง ไม่เป็นไร เราไม่ต้องไปดิ้น เราไม่ต้องไปอยากได้ พัฒนาตัวความจริงนี้ ขึ้นไปเถอะ เขาจะเห็นว่า อันนี้มันเป็นเอก เป็นหนึ่งสำคัญ ที่จะต้องยกเป็นอีกหนึ่งแผนก อย่างสำคัญได้

ต่อเมื่อเราพิสูจน์ตัวเราเอง ว่าเป็นบุญนิยมอย่างไร แขนงต่างๆ นี่อาตมาว่า เป็นส่วนย่อยของบุญนิยม ในสหกรณ์ทั้ง ๖ นี่ จะเป็นส่วนหนึ่งๆ ของบุญนิยมด้วยซ้ำ เพราะฉะนั้น เราอย่าไปดูถูก สหกรณ์ทั้ง ๖ แขนงเขา ศึกษา แล้วก็เราก็ต้อง เป็นให้ได้ดี ทั้ง ๖ แขนงนั่นแหละ ไม่อยากเป็นแขนง อะไรบ้าง หนึ่งดิน สหกรณ์ก็มีอยู่
๑. สหกรณ์การเกษตร
๒. สหกรณ์ประมง
๓. สหกรณ์นิคม
๔. สหกรณ์ร้านค้า
๕. สหกรณ์บริการ
๖. สหกรณ์ออมทรัพย์

เขามี ๖ สหกรณ์ ทีนี้ของเรา เขาก็พยายามปรับของเราว่า มันจะอยู่ในอันไหนดี ผู้ที่ทำงานทางด้านสหกรณ์ เขาก็ปรับ เอาเข้าไป ในสหกรณ์บริการ อาตมาว่าดี คำนี้กว้าง บริการ เพราะเราจะเป็นผู้รับใช้ เพราะฉะนั้น เราก็จะพยายามพัฒนาขึ้นมา ที่นี้เขาก็พวกนักศึกษา ทางสหกรณ์ เขาก็บอกว่า คุณลักษณะของสหกรณ์ มันจะเป็นยังไงนะ ที่จะเยี่ยมยอด เขาศึกษาแล้ว เขาก็บอกว่า มันมีสหกรณ์ ในยุคพระศรีอาริย์นี่ มันจะมีลักษณะว่า

๑. ต้องสามารถกำหนดพฤติกรรมของคน ให้มีระบบ

อาตมาพยายามอย่างยิ่งเลย ทุกวันนี้ แล้วก็เป็นระบบเดียวกัน คือ ศีลสามัญตา ทิฐิสามัญตา ต้องสามารถ กำหนดพฤติกรรมของคน ให้มีระบบเดียวกัน ให้สำเร็จ ทีนี้เขาก็บอกว่า เบื้องต้นคือ

๑.๑ มีความต้องการเหมือนกัน
พวกคุณมาที่นี่นี่ มีความต้องการเหมือนกันไหม ตอบกว้างๆ ซิ ต้องการอะไร ละกิเลส นั่นก็ได้ ต้องการนิพพาน ต้องการละกิเลส หรือต้องการ ความอิสรภาพไหม อิสรภาพอย่างไร ตามใจกูใช่ไหม เอ้า ลึก อย่างนี้ ใช้ได้ ลึก ภราดรภาพ ต้องการไหม ภราดรภาพ คืออะไร พึ่งเกิด พึ่งแก่ พึ่งเจ็บ พึ่งตาย กันได้ เป็นพี่น้อง ที่ใจจริงเลยว่า เราพึ่งกัน เกื้อกูลกันจริงๆ ต้องการสันติภาพไหม อยู่อย่างสงบ เบิกบาน ร่าเริง เป็นสุข เมืองสวรรค์ สันติภาพ ต้องการสมรรถภาพไหม ระวังฤาษี งานก็ไม่ทำ เอาแต่พูด ทำอะไรก็ไม่เป็น นั่นฤาษีเมือง ส่วนฤาษีทำงาน ก็ไม่รู้เรื่องอะไร พัฒนาสมรรถภาพ ก็ไม่เจริญ สมรรถภาพก็ได้แต่ของเดิม ของตน นั่นแหละ อะไรก้าวหน้าไม่รู้ โลกเขาไปถึงไหน ก็ไม่รู้ โบร่ำโบราณอยู่นั่นแหละ ระวัง ต้องมีสมรรถภาพ ที่ทันสมัย ที่รู้รอบ ที่เข้าใจ มีการพัฒนาประยุกต์ มีสมรรถภาพ มีความสามารถ มีความเก่ง ทำอะไรต่ออะไรเป็น ทำอะไรต่ออะไรรอบรู้ เชี่ยวชาญ เป็นอย่างนั้นจริงๆ นะ เราต้องการเหมือนกัน

๑.๒ มีความจำเป็นเหมือนกัน
คุณจำเป็นต้องมีเพชรไหม หนักเข้าพวกเราไม่จำเป็นต้อง มีลาภแลกลาภ ไม่จำเป็นต้องมียศ ไม่จำเป็นต้องมีสรรเสริญ ไม่จำเป็น ต้องมีสุข ไอ้หยา จริงหรือเปล่า ไม่จำเป็นต้องมีสุข มีพ้นทุกข์ ถึงที่สุดก็พอ พ้นทุกข์ ตามที่พระพุทธเจ้า ท่านสอนเรา ด้วยอริยสัจ ก็พอ จบ อาตมาไม่มีเวลาขยายแล้วนะ ขอตีหัวเข้าบ้าน ตรงนี้ก่อน

๑.๓ มีแรงจูงใจเหมือนกัน
ถ้าอาตมาจะใช้แรงจูงใจนี่ พวกคุณไปดี แต่คนไหน ที่จะไม่เหมือนอาตมาหน่อย ตะแบงๆ จะไม่ดีล่ะ แรงจูงใจ ชักจะไม่ค่อยเข้าท่าแล้ว นานๆเข้า ก็ต้องให้อาตมาไปจูง นี่พูดด้วยรูปธรรม ง่ายๆก่อน แรงจูงใจของเรา ก็คือสัมมาทิฐิ สัมมาทิฐิ จะเกิดอิทธิบาท สัมมาทิฐิที่เกิดผลนะ ไม่ใช่สัมมาทิฐิ อยู่แค่นี้ ไม่มีธัมมวิจัย ไม่มีสัมมาทิฐิ ไม่มีมัคคังคะ สัมมาทิฐิ จะเกิดเจริญขึ้น ก็ต่อเมื่อ บทบาทของ ธัมมวิจัยสัมโพชฌงค์ ก่อให้เกิด สัมมาทิฐิสูงขึ้น เพราะปฏิบัติองค์มรรคครบ องค์มรรคเจริญ สังกัปปะ วาจา กัมมันตะ อาชีวะ สังกัปปะ วาจา กัมมันตะ อาชีวะ เจริญๆ เรื่อยๆ สัมมาทิฐิจะโตขึ้นๆ ธัมมวิจัย ก็ฉลาดเฉลียวขึ้นๆ ก่อเป็นปัญญา ปัญญินทรีย์ ปัญญาผล ปัญญา ปัญญินทรีย์ ปัญญาผล นี่คือองค์ธรรม ของการสร้างสัมมาทิฐิ เพราะฉะนั้น ยิ่งแต่ละคน แต่ละคน มีทิฐิที่ดีอย่างนี้ ขึ้นมาเรื่อยๆ ทิฐิสามัญตา ก็ยิ่งเกิดๆ ศีลหรือหลักการ หรือระบบ หรือกฎระเบียบ ของสังคมกลุ่ม ก็ยิ่งสอดคล้อง สอดคล้องเป็นหนึ่งเดียวขึ้นมา เป็นศีลสามัญตา มีเป้าหมายเดียวกัน ไม่ต้องขยายความ มีทัศนคติ ก็ไม่ต้องขยายความ พูดไปหมดแล้ว ศีลสามัญตา ทิฐิสามัญตา อยู่ในนี้หมด ความหมายข้อนี้หมด ขยายความ ออกมาทั้งหมด ๑.๑, ๑.๒, ๑.๓, ๑.๔, ๑.๕, ๑.๖ มีศรัทธา ความเชื่อมั่นตรงกัน อยู่ในศีลสามัญตา กับ ทิฐิสามัญตา ทั้งสิ้น ใน ๑.๑ ถึง ๑.๖ นี้ นี่คือความร่วมมือ

๒. ลดความหลากหลายในด้านต่างๆ ลงได้
ฟังดีๆ ตรงนี้ ลดความหลากหลาย ด้านต่างๆ ลงได้ จนมีสภาพกลมกลืน สามารถผสมผสาน ระหว่าง บุคคลกับบุคคล กลุ่มกับกลุ่ม เป็นขบวนการเดียวกัน เห็นใจอาตมาไหม ว่าอาตมา กำลังพยายาม ที่ให้พวกคุณนี่ ประสานระหว่าง บุคคลกับบุคคล ดึงออกมาจากรูบ้าง ดึงออกมา จากหอคอยบ้าง ให้มาเป็นกลุ่ม แล้วก็พยายาม ประสานกลุ่มกับกลุ่ม อาตมาพยายามอยู่ ก็เห็นอยู่รู้อยู่ ให้เป็นขบวนการเดียวกัน ที่พูดไปวันนี้นี่ คือตัวนี้ ที่ขยายความมา เทศน์วันนี้ เป็นต้นมา ก็คือให้พยายาม พัฒนา แก้ไขเสีย บุคคลแต่ละบุคคล แก้ไขเสีย กลุ่มแต่ละกลุ่ม

เพราะฉะนั้น กลุ่มทำงาน กลุ่มทำวัตร อะไรก็ต้องพยายามเข้ามา นี่พูด กลุ่มใหญ่ที่สุด แต่ยังมีกลุ่มย่อย ของทำวัตรอีกนะ ยังมีกลุ่มย่อย ของทำงานอีกนะ งานนั่นงานนี่ ยังมีอีกเยอะ แล้วกลุ่มทำวัตร ก็ยังมีอยู่ อีกเยอะ กลุ่มทำวัตร เอาแต่ทำวัตรจริงๆ ก็มี มาแต่ฟังธรรมนี่ กับกลุ่มทำวัตร อ่านแต่พระไตรปิฎกก็มี กลุ่มทำวัตร ที่จะต้องไปเรียนกับ ท่านสรณีโยบ้าง อะไรบ้าง มันหลายกลุ่ม กลุ่มทำวัตร อ่านแต่หนังสือของตัวเองก็มี แล้วก็ฝอยของตัวเอง อยู่นั่นน่ะ ฝึกฝนตัวเองก็มี นั่นนะ พยายามเข้ามา กลุ่มให้มารวมกัน นี่คือ การร่วมแรง

๓. คนมีระดับมาตรฐานเดียวกัน คือ
๓.๑ มีคุณภาพ คุณธรรมเสมอกัน
โสดาเสมอโสดา สกิทาเสมอสกิทา อนาคาเสมออนาคา อรหันต์เสมออรหันต์ ขึ้นไปตามลำดับ มีคุณภาพ คุณธรรม เสมอกัน ที่คำว่า เสมอกันนี่ เพราะตัดอัตตามานะออกได้ เพราะฉะนั้น ถ้าผู้ใดเป็นโสดา ยังมีอัตตามานะ แม้โสดาก็ไม่เสมอโสดา อย่าไปพูดเลย สกิทาก็สู้กูไม่ได้ ยิ่งมีอัตตามานะมาก มันหลงผิดมาก เพราะฉะนั้น โสดาเสมอโสดา คือผู้ละ รู้อัตตามานะ แล้วลดอัตตามานะลงได้ รู้ เสมอกัน อ๋อ เราโสดาเหมือนกัน แล้วรู้สกิทา ท่านสูงกว่าเรา หรือสกิทา ก็รู้นี่ว่าน้อง อนาคาก็รู้นี่ว่าน้อง รู้ว่านี่ว่าพี่ มีคุณภาพ คุณธรรม เสมอกัน

๓.๒ การตัดสินใจ การแก้ปัญหาเป็นแนวเดียวกัน การประชุมจะเร็วขึ้น การตัดสินใจจะลดลง เพราะอัตตามานะลดลง ปัญญาฉลาดจริงขึ้น เพราะฉะนั้น จะไม่สับสน จะไม่ยืดยาด จะไม่กวน จะไม่ฟุ้งซ่าน จะไม่วนเวียนอะไร การตัดสินใจ การแกัปัญหา เป็นแนวเดียวกัน

๓.๓ มีอุดมคติสูงส่ง และระดับจิตเดียวกัน ที่แน่ๆ อโศกเรามีอันนี้ ซึ่งอาตมา บอกกับคุณได้เลยว่า สูงกว่ากลุ่มที่อื่น มันยกตัวยกตนนะ แต่คุณอย่าเอาไปพูดที่อื่นเขา เดี๋ยวเขาจะอ้วก หรือดีไม่ดี เขาจะชกปากเอา นี่บอกแล้ว อย่าหาว่า อาตมาไม่เตือน บอกแล้วว่า ไอ้ตรงนี้ อย่าเอาไปพูดที่อื่น จะมีอุดมคติสูงส่ง ไม่สูงส่ง อย่างไรละ อุดมคติที่อาตมาพูดกับคุณนี่ ให้พวกคุณ มารับใช้สังคมจริงๆ มาเป็นทาส รับใช้มนุษย์ ยิ่งเราเป็นทาส รับใช้มนุษย์ได้ ด้วยความบริสุทธิ์ใจ แต่เป็นทาสที่มีปัญญานะ เป็นทาสที่มีอิสรเสรีภาพ Absolute เป็นทาสที่มีอิสรเสรีภาพ ที่สูงส่งที่สุด ไม่มีใครมาบังคับเราได้หรอก เราเต็มใจที่จะทำจึงทำ แม้เราไม่ทำ เราก็ไม่อดตาย แล้วเราก็ไม่ว้าเหว่ มีหมู่มีมวลนะ เพราะฉะนั้น จะเป็นผู้ที่มีอุดมคติ สูงส่งจริงๆ และระดับจิตก็คือ ที่เราฝึกฝนจริงๆ เป็นระดับจิตสูง อย่างน้อย ก็เป็นอริยะด้วยกัน จะเป็นโสดา สกิทา อนาคา อรหันต์ขึ้นไป เป็นมวลของอาริยชน ไม่ใช่อาริยะ ที่เรียกด้วยปาก ไม่ใช่อารยชน ที่เจริญวัตถุ ไม่ใช่อริยชนที่งมงายทาง จิตวิญญาณ แต่เป็นอาริยชน ที่เจริญทั้งจิตวิญญาณ เจริญทั้งวัตถุ เจริญนะ ไม่ใช่ไม่เจริญ ไม่ใช่ว่า แหม มีแต่จิตวิญญาณ แล้วไม่รู้เรื่องวัตถุเขาเลย ไม่ใช่มีแต่วัตถุ ไม่มีความรู้เท่าทันวิญญาณ ไม่ใช่นะ

๓.๔ มีความรู้และประสบการณ์ใกล้เคียงกัน เพราะฉะนั้น ฤาษีก็ต้องออกมา มีประสบการณ์ ผู้ที่อยู่หอคอยงาช้าง ก็ต้อง ลงไปมีประสบการณ์ กับผู้ทำงาน มีประสบการณ์ใกล้เคียงกัน แล้วจะไม่รังเกียจกัน ผสมผสานกัน รู้จักอะไรต่ออะไรดี แต่มันจะมีค่า ที่ขัดแย้งกัน ตรงกิเลสของแต่ละคน เท่านั้น ซึ่งห้ามไม่ได้ ที่กิเลสของคนมันไม่หมด ห้ามไม่ได้หรอก ใครก็อยากหมดกิเลส แต่มันมีจริง ก็ต้องยอมรับกัน แล้วก็ต้องมีความเฉลียวฉลาด มีศิลปวิทยา ที่จะแก้ไขปรับปรุง กันและกัน เพราะฉะนั้น จะปรารถนาดีต่อกัน อย่างจริงใจ มารยาจะน้อย มารยาทจะงาม และมารยาทที่จะมี มารยาน้อยลงๆ จะเป็นมารยาทสุจริต

นี่มีอันนี้เราเรียกว่า ร่วมใจ คนมีระดับมาตรฐานเดียวกัน นี่คือ มีความร่วมใจ ว่างั้น มี ๓.๑ ถึง ๓.๔ มีความร่วมมือ ร่วมแรง ร่วมใจ ซึ่งเราก็เคยพูดถึง เหล่านี้มาหมด แล้วเราก็กำลังกระทำอยู่ ท่านเหล่านี้ ท่านสมณลักขโณ หรือว่าคุณหนึ่งดิน ก็ไปฟังพวกสหกรณ์ ที่เขาศึกษามา เขาก็ได้ทฤษฎี ได้หลักการพวกนี้มา และก็ฝัน หยิบความฝันนี้มา มาให้เราดู บอก โอ๊ พวกคุณฝัน อันไม่มีจริง มาให้เรา เราก็เลยเอามา เอ๊ ฝันนี้มันมีจริง เหมือนกันนะ แม้จะฝันนี้ยังมีตัวจริง รูปยังไม่งาม ยังเพิ่งคลอด ยังหน้าตา น่าเกลียดน่าชัง เด็กๆ เขาไม่เรียกว่า น่ารักหรอก เด็กมันยัง อู๊ย หน้าตาน่าเกลียดน่าชัง กำลังน่าเกลียดน่าชัง อยู่ก็ตามนะ

สรุปแล้ว ถ้ามีเวลา อาตมาคิดว่า เอามาขยายความ คงจะได้รู้ได้ฟัง อันนี้กันนะ สหกรณ์ที่เรากำลังจะทำนี่ มันเป็นการรวมจริงๆ เกิดตามยุค ตามกาละ อาตมาบอกกล่าวคุณมา ตั้งแต่ต้น จนกระทั่ง วันนี้ ก็ยังขอบอกกล่าวอยู่ว่า อาตมาเป็นคน ไม่มีโครงการ ไม่มีแผนงาน แต่อาตมาอาศัยบุญกุศล บุญกุศลที่ปลอม ก็คือบุญกุศลที่ไม่มีแล้ว เราก็ไปนึกว่าเรามี ส่วนบุญกุศลจริงนั้น คือบุญกุศล ที่ได้สั่งสมมาโดยตน เป็นของของตนจริง อาตมาว่า อาตมาอาศัยบุญกุศลอันนี้ เป็นแรงของพระเจ้า หรือเป็นแรงของพรหมลิขิต เป็นแรง ของดวง คุณเอง คุณยังไม่มีดวง คุณยังไม่มีแรงพระเจ้า ที่คุณสั่งสมไปพอ อย่าไปหวังพึ่ง

เพราะฉะนั้น คนที่ยังไม่มีบุญ อย่าไปหวังพึ่งบุญ ต้องอุตสาหะ สร้างบุญ บุญจึงจะเป็นแรงรวม ที่เป็นพลังของเรา เป็นกรรมทายาท เป็นมรดกของกรรม ที่เราได้สั่งสมเข้าไว้ มีฤทธิ์มีแรงเอง เพราะฉะนั้น คุณจะเอาตัวอย่างอาตมา อาตมาสั่งสมบุญมา บุญนี้อาตมา ไม่ต้องวางแผน เพราะแผนของพรหมลิขิต ของอาตมามีแล้ว มันจะไป มันจะได้ อาตมาพูดนี่ เหมือนท้าทาย อาตมาไม่ต้อง วางแผนวางผัง คุณอย่าแอ๊คนะ คุณอย่าแอ๊คไปคุยว่า ผมทำงาน ไม่ต้องมีแผนหรอก

คุณเคยอ่านปฏิญญา ๑๙ ประการ แห่งการงาน นั่นคุณไปตรวจทานดู ในนั้นมีการวางโครงการด้วยนะ ไม่ใช่ไม่มีนะ อาตมา ไม่ได้เคยลืมนะ ไม่ใช่หมายความว่า เราเป็นเรา แล้วเราก็เลยนึกว่า หลักการใหญ่ๆ นี่มันไม่เหมือน อาตมานี่ มันถือว่า เป็นผู้ที่มีสิ่งที่ยกไว้ หรือสิ่งที่วิเศษแล้ว ได้แล้ว พิเศษแล้ว เป็นเรื่องพิเศษ exception เป็นเรื่องยกไว้แล้ว เป็นเรื่องวิสามัญแล้ว แต่เรื่องสามัญ ต้องมีอันนี้ครบสมบูรณ์ ต้องมีโครงสร้าง ต้องมีแผนการ เพราะฉะนั้น พวกเรานี่ จะกระทำ แหม เก่งเหมือนกับอาตมานะ รับรองเละ ไม่ได้ พวกคุณต้องมีโครงสร้าง ต้องมีแผนงาน ต้องมีแผนการ ที่เราประชุมกัน ที่เรากะเกณฑ์ ทำไอ้โน่นไอ้นี่ อันโน้นจะมีอะไรๆ นั่นแหละ ต้องมีโครงการนั้น อยู่ด้วยนะ

ในขณะนี้นี่ เรามีอะไรต่ออะไร เกิดขึ้นมา ตามจริง มันเป็นการพิสูจน์ ตัวอาตมาเองด้วยว่า อาตมานี่ เป็นโพธิสัตว์ จริงไหม มีขุมทรัพย์ ไม่สร้างแผนนี่แหละ ไม่มีโครงการนี่แหละ เป็นขุมทรัพย์ที่แท้ ที่จะดำเนินมา สอดคล้องและจริง นี่มันเติมมาเอง จะมีไอ้โน่นส่งมา โดยมีอันนี้ส่งมา โดยมีอันนี้เข้ามา อันนี้เข้ามา โดยอาตมา ไม่ต้องไปแสวงหาหรอก มันจะมา ของพระพุทธเจ้าสมบูรณ์กว่านี้ อาตมานี่ ยังไม่ใหญ่ เท่าไหร่นะ ยังไม่สมบูรณ์เท่าไหร่ เราจะดูกะพร่องกะแพร่ง กะโผลกกะเผลก แต่มันก็พอมีรูปรอย

คุณทำไปเถอะ แล้วคุณจะศรัทธาในกรรม คุณจะเชื่อกรรม จะเชื่อวิบาก คุณจะเชื่อว่า เออ อันนี้ต้องสั่งสม ถ้าไม่สั่งสม มันไม่มีนะ เพราะฉะนั้น ทุกวันนี้ คุณมีหน้าที่ ขยันหมั่นเพียร สั่งสมบุญ อะไรเป็นบุญ สั่งสมเข้าไป บาปอย่าทำเสียเลย อย่าทำเสียเลยได้ นั่นจะเป็นสิ่งที่ เป็นบุญบารมีของคุณ จะเป็นทรัพย์

เอาละ อาตมาจะไปขยายความนี้ ประเดี๋ยว ก็จะไปกันใหญ่อีก มันไม่ควรจะต่อแล้ว จะพูดถึงเรื่องที่เรา กำลังเกิดรูปร่างนี่ จะเป็นหมู่คน จะเป็นตัวอย่าง จะมีการงาน ไม่ว่าการงานอะไร ทั้งหลายแหล่ ในโลกนี้นี่

เราจะรู้จักการงานที่เป็นสัมมา
จะรู้จักอาชีพที่เป็นสัมมา
ชาวอโศกจะไม่มีมิจฉาวณิชชา
จะไม่ไปค้าขายอาวุธ
จะไม่ไปค้าขายสัตว์เป็น

ใครยังค้าขายสัตว์เป็นอยู่ จงเลิก ใครค้าขายเนื้อสัตว์อยู่ จงเลิก ใครค้าขายสิ่งที่เป็นพิษ สิ่งที่มอมเมา ซึ่งเรากำลังเรียนกัน แล้วก็จะต้อง ลดลงมา สิ่งที่มอมเมาชัดๆ เราเลิก สิ่งที่เป็นพิษชัดๆ เราเลิก สัมมาอาชีพ จะเกิดขึ้นในชาวอโศก แล้วเราจะมารังสรรค์ สร้างสรร สัมมาอาชีพกัน อย่างให้เป็นปึกแผ่น กำลังเกิด

เพราะฉะนั้น มันจะมีระบบสังคม และเราอยู่กันอย่าง ความเห็นอย่างไร อยู่กันอย่าง มีวัฒนธรรมอย่างไร มันกำลังเกิด เกิดไปเรื่อยๆ อีกสักร้อย สองร้อยปี จะเห็นรูปร่าง ดีขึ้นกว่านี้ พอพูดอย่างนี้ หลายคนก็บอก โธ่ พูดอีกตั้งร้อยปี สองร้อยปี เอาละ มันไม่สองร้อยปี คุณก็ดูพัฒนาการของมัน ที่มันไปเรื่อยๆ แต่ละปี แต่ละปีๆ เอาทศ ทศะ สิบ แต่ละสิบปี แต่ละสิบปี แต่ละสิบปี มันจะมีบทบาท การเกิดกลุ่ม เกิดหมู่ แล้วมันก็จะเจริญ

ขณะนี้เราเหมือนเด็ก จะโต จะมีภาวะเจริญไปเรื่อยๆ จนกว่าจะโตเต็มที่ อาตมาตายไปแล้ว ก็ยังจะโตไปต่อ จะโตได้ก็เพราะ พวกเราสืบทอด มีลูกเต้าเหล่าหลานจริงๆ พวกคุณเป็นลูกจริงๆ นะ ไม่ใช่ลูกแกล้งๆ นะ แค่ลูกสายเลือดน่ะ เล็กไป ลูกทางวิญญาณนี่จริง อาตมานี่ถือว่า อาตมาเป็นลูกพระพุทธเจ้า โดยสายวิญญาณ ที่ยิ่งกว่าทางสายเลือด สายเลือดมันแค่วัตถุรูป สายวิญญาณนี่ มันลึกกว่านั้น เอาสิ่งที่เป็นปัจจุบันนี่ ก็แล้วกันว่า เรามาเกื้อกูบกัน เรามาเสียสละกัน มาเลี้ยงดูกัน มาอบรมฝึกฝน มาช่วยกันนี่ ยิ่งกว่าพ่อกว่าแม่กันนี่ พ่อแม่ทางโลกนี่ ถึงวาระหนึ่ง ก็ทิ้งแล้ว อาตามาไม่ทิ้งหรอก คุณอย่าทิ้งอาตมาแล้วกัน เพราะอาตมามีลูกเยอะ บางทีพวกคุณ ทิ้งอาตมาไป บางคน อาตมายังไม่รู้ว่า ไอ้ลูกคนนี้ มันหายไปไหน ยังไม่รู้เรื่องเลย มันเยอะ

แต่พวกคุณรู้แน่ว่า พวกคุณทิ้งอาตมานี่ พวกคุณรู้แน่ ทิ้งอาตมาไป พวกคุณรู้แน่ ใช่ไหม ระวัง พวกคุณอย่าทิ้งอาตมา ก็แล้วกัน อาตมาไม่รู้ด้วยนะ เพราะมันเยอะ ทิ้งไปบางทีไม่รู้นะ อยู่ที่คุณนะ ถ้าคุณทิ้งอาตมา อาตมาไม่รู้ด้วยนะ แต่อาตมาน่ะรู้แน่ๆ ว่าอาตมา ไม่ทิ้งพวกคุณหรอก ถ้าพวกคุณไม่ทิ้งอาตมา เอ้า จริง มันอยู่ที่คุณน่ะ ถ้าคุณไม่ทิ้งอาตมา อาตมาไม่ทิ้งพวกคุณหรอก อาตมาก็จะต้อง เกื้อกูล จะต้องสอน จะต้องแนะนำ จะต้องบอก คุณใส่ใจไหมละ ใส่ใจคุณก็มา คุณก็พากันไป คุณอย่าเลว ต่ำกว่ามาตรฐาน แล้วกัน ต่ำกว่ามาตรฐาน อาตมาก็ตัดหาง ปล่อยนรกซิ ไม่ใช่ตัดหางปล่อยวัด ตัดหางปล่อยวัด มันก็ไปได้ดี เท่านั้นเองน่ะซิ ก็วัดมันที่ทำให้คนดีน่ะ อาตมาหมดเวลา ที่จะขยายความแล้วนะ

ก็ขอสรุปรวมว่า ตอนนี้ให้คุณสังเกตนะ ให้คุณตรวจตราดูว่า ๒๐ ปีมานี้ อะไรเกิดขึ้นในโลก ในประเทศ ในมนุษยชาติ อะไรเกิดขึ้น
อโศกเกิดขึ้น
บุญนิยมเกิดขึ้น
สหสังคมเสรีบุญนิยมเกิดขึ้น
สหกรณ์กำลังจะเกิดขึ้น

ตอนนี้เรากำลังเดินเรื่อง จดทะเบียนอยู่นะ ก็มีนักวิชาการ ที่ทางสหกรณ์ เขาไปดู สหกรณ์โน่นนี่ เขาก็ไปดูมา แม้กระทั่ง อิสราเอล คิบบุช เขาก็ไปดูมา เขามาเจอศรีสะเกษ เขาก็บอกว่า อื้อหือ นี่เหมือนคิบบุชเลย อาตมาขอยืนยันว่า ไม่เหมือนคิบบุดหรอก มันมีวิญญาณ มากกว่า คิบบุด จริงๆ แต่เหมือนในรูปของวัตถุ มันพอเหมือน แต่ยังสู้เขาไม่ได้หรอก คิบบุดของเขา ใช้วัตถุเยอะ แล้วเขาเป็นตัวเองกัน เยอะกว่าเรา แต่เขาก็รวมกัน โดยกรรมวิธี ซึ่งมันก็ซ้อนเชิง มันคล้ายกันอยู่

เอาละ เราไม่พูดยาว ค่อยๆศึกษากันไป สังคมต้องการอะไร โลก มนุษยชาติของโลก ต้องการอะไร ต้องการสิ่งที่เรากำลัง จะทำลงไป นี่แหละ ต้องการสังคม ที่เรากำลังจะสร้างให้มันเป็น นี่แหละ ไม่ว่าจะเป็นความฝันเฟื่อง ในเรื่องอย่างไหนๆ มาก็ตาม ต่างคนต่างเชื่อว่า ถ้าจะใช้วิธีนี้ มันจะดี ฮิตเล่อร์ก็ตาม มุสโสลินีก็ตาม แม้แต่คาลมาร์กซก็ตาม หรือจะเป็นใคร ก็แล้วแต่ ตั้งแต่ดึกดำบรรพ์ ตั้งแต่โซเครติส ตั้งแต่อะไรต่ออะไร สมัยกรีก สมัยอะไร ก็แล้วแต่ พยายามที่จะเรียนรู้ ตั้งแต่สมัยกรีกโบราณ ประชาธิปไตยนี่ เกิดที่กรีกโบราณก่อน เกิดที่กรีกก่อน มาเรื่อยๆ จุดมุ่งหมาย อาตมาขอยืนยันว่า อิสรเสรีภาพ ภราดรภาพ สันติภาพ สมมรถภาพ บูรณภาพ อันนี้อาตมาว่า ครบที่สุด ห้าภาพนี่ ครบที่สุด ขอให้พัฒนา ให้ได้สัจจะ เนื้อหาของมัน ครบเถอะ เป็นสังคมมนุษยชาติ ที่จะสมบูรณ์ที่สุด มนุษยชาติ ทั้งโลก มาแสวงหาสิ่งนี้ ทั้งนั้น

ทฤษฎีของพระพุทธเจ้า จะยิ่งใหญ่ในอนาคต เพราะเข้าใจวิญญาณ แล้วเอาวิญญาณเป็นหลัก ทฤษฎีหลักของท่าน มรรคองค์แปด นี่แหละ ใหญ่ที่สุด ในมหาจักรวาลนี้ ไม่ใช่ในโลกลูกนี้ โลกลูกไหนก็ตาม พระพุทธเจ้าไปอุบัติอยู่ในนั้น ก็ใช้มรรคองค์แปด ทุกโลก โลกทุกลูกที่มีมนุษย์ เมื่อจะต้องพัฒนา มาสู่จุดสำคัญแล้ว มรรคองค์แปด พระพุทธเจ้าเกิดอีกกี่องค์ๆ ก็ตรัสรู้ มรรคองค์แปด เป็นทฤษฎี ที่ยิ่งใหญ่ที่สุด ยากที่สุด เรารู้มรรคองค์แปด แค่นี้ อย่านึกว่า เรารู้แล้วนะ เราปฏิบัติมรรคองค์แปด ทุกวันนี้ อย่านึกว่า เราทำสมบูรณ์แล้วนะ ยัง ลึกซึ้งที่สุด ยากที่สุด ดีที่สุด แล้วเราจะพิสูจน์กัน

เพราะฉะนั้น งานการหรือว่ากิจกรรม หรือว่าเรื่องพิธีกรรม หรือเรื่องอะไรๆ ของพวกเรานี่ ขอให้สนใจมากขึ้น ในเรื่องของกรรม ทั้งกรรมส่วนตัว ที่เป็นพฤติกรรม และกิจกรรม พิธีกรรม มาคราวนี้คือ งานพิธีกรรม มหาปวารณา วันนี้เป็นวัน ตักบาตรเทโว เดี๋ยวเทวดา จะลงมาจากสวรรค์ มาให้พวกคุณ ทำบุญตักบาตร เทวดาจะลงจากสวรรค์

วันนี้เป็นวันตักบาตรเทโว เราก็จะมีนี่แหละ ฟังธรรมเป็นหลัก ทุกวันนี้ ฟังธรรมเป็นหลักได้ ต่อไป พิธีกรรม จะบานไปอีก จะมีกิจกรรม โน่นๆ นี่ๆ ไปบ้าง เพราะคนจะมาหลายฐาน ทุกวันนี้ ฐานที่มานี่ ก็ยังชัดเจนอยู่ว่า ฟังธรรมนี่แหละ เป็นแก่นแกน เพราะฉะนั้น เมื่อได้มาฟังธรรม ก็ได้รู้สาระสัจจะบันเทิงได้ มีธรรมะ มีธรรมรส ได้เบิกบานในธรรม แค่นี้คุณพอ ต่อไปในอนาคต คนที่จะฐานะต่ำลงมา ก็จะต้องให้ฐานแก่เขา ก็จะมีกิจกรรมนั่นๆนี่ๆ ผสมผสานลงไป ในพิธีกรรม ลงไปในวันงาน เพราะฉะนั้น งานวันมหาปวารณา ก็จะบานปลายไปบ้าง แต่ต้องมี limit ด้วยนะ จะบานปลาย จนกระทั่ง เถิดเทิงกัน อย่างกับวัดวา มีงานอะไร ก็จัดลิเกลูกเดียว งานไหนก็จัดลิเกลูกเดียว อะไร มันจะไปกันใหญ่นะ

เราจะต้องรู้จัก ในการผสมผสาน ในการยืดหยุ่น พอเพียงนะ อันนี้ก็ค่อยๆเป็นไป ตามกาลเทศะ องค์ประกอบ มันจะค่อยๆเป็น ค่อยๆไป แต่ตอนนี้ยังดีอยู่ แต่ต้องรู้จัก ความสำคัญ ในความสำคัญ

ผู้ใดที่มานี่ ก็จะได้ฟัง ในสิ่งที่ได้ฟัง ผู้ใดไม่ได้มา ไม่ได้ฟัง ฟังนี่นะ ถ้าฟังสดๆนี่ มันก็มีอะไรมากกว่า ที่คุณฟัง อย่างประเภท ฟังในเท็ป ก็เท่านี้แหละ มันก็ได้ ไม่ใช่ไม่ได้ แต่ก็น้อยกว่า ใช่ไหม แต่มาสัมผัสสัมพันธ์ ได้มารับรสแท้ ลำดับที่หนึ่ง ไม่ใช่พวก second hand พวกลำดับที่หนึ่ง ชั้นหนึ่ง อะไรก็เล่น first hand อย่าไปเล่น second hand ได้ชั้นหนึ่งๆ อะไรหนึ่งนี่ มันเป็นเรื่องแท้ เรื่องสด เรื่องตรง เรื่องจริง เรื่องเข้าถึง เรื่องสัมผสแตะต้อง ตัวต่อตัวเลย อันนี้มันสดที่สุด

พวกเราผู้ใด เข้าใจความสำคัญนี้ ก็มาอยู่ แม้จะยากลำบากอะไร รู้จักกาลเทศะ รู้จักว่า วันพิธีกรรมของพวกเรา เป็นจารีตประเพณี แล้วก็มาทำกันขึ้นไป มันจะเป็นของสังคม พิธีกรรม ก็สำคัญ กิจกรรมสำคัญ แล้วเราก็มาสั่งสม เรียนรู้ เพื่อปรับพฤติกรรม ของเรานั่นเอง แล้วเราก็จะเจริญงอกงาม กันไปนะ


จัดทำโดย โครงงานถอดเท็ปฯ
ถอดโดย ศิริวัฒนา เสรีรัชต์
ตรวจทาน ๑ โดย เพียงวัน ๑๕ ก.ค. ๓๗
พิมพ์โดย ทองแก้ว ทองแก้ว ๒๑ ก.ค. ๓๗
ตรวจทาน ๒ โดย สิกขมาตปราณี ๒๘ ก.ค. ๓๗
เข้าเล่ม โดย สมณะพรหมจริยโย
เขียนปก โดย พุทธศิลป์