อนุปุพพิกถา ๕

โดย พ่อท่านสมณะโพธิรักษ์
วันที่ ๙ สิงหาคม ๒๕๓๖ ณ พุทธสถานสันติอโศก


นี่ก็เข้าพรรษาแล้วนะ คราวนี้ เราเข้าพรรษา ก็ควรจะต้องถือยัญพิธี หรือพิธีการ หรือในกาละ เรียกว่า เป็นฤกษ์ก็ได้ เป็นฤกษ์ ฤกษ์ดี เข้าพรรษานี่ถือเป็นฤกษ์ เป็นการกำหนดหมาย เป็นการประชุม ฤกษ์นี่เป็นการประชุมนะ เป็นการรวม รวมเอาพลังเลยทั้งนั้นแหละ พลังทางคน พลังทางวัตถุ พลังทางจิตวิญญาณ โดยเฉพาะ พลังทางจิตวิญญาณ พลังงาน มีพลังงานทางจิตวิญญาณมารวมเข้า มาทำอะไรให้มันเป็นน้ำหนัก เป็นคุณค่า ให้เกิดประโยชน์มากๆ

เข้าพรรษาก็เป็นวิธีการของคน พระพุทธเจ้าท่านพยายามกระทำขึ้นไว้ให้ แค่คนมารวมกัน แล้วให้อยู่กับที่ ไม่ต้องเร่ร่อนไปไหน เพราะเวลาปักหลักอยู่นี่ เราทำอะไรเป็นชิ้นเป็นอันดี ถ้าทำแล้วก็ตะรอนๆ เดี๋ยวก็ไปโน่น เดี๋ยวก็มานี่ จับๆจดๆ ร่อนๆเร่ๆ ไม่ได้เรื่องอะไร ไม่เป็นชิ้นเป็นอัน มันต้องทำย้ำๆ ซ้ำๆ ซากๆ อยู่กันอย่างนั้นละ มุ่นอยู่อย่างนั้นละ มันจะเป็นชิ้นเป็นอัน อันนี้ก็เป็นพิธีการ ย้ายไปก็เป็นพิธีการเหมือนกัน แต่เราต้องรู้ว่า เมื่อใดควรเคลื่อนย้าย ควรเปลี่ยนแปลงบ้าง เมื่อใดควรจะอยู่กับที่นั่นแหละ ปักหลักอยู่นั่นแหละ ทำให้แน่นหนามั่นคง ทำจนกระทั่งถึงตายก็ได้ บางอย่างบางอัน ต้องใช้เวลาชั่วชีวิต ต้องซ้ำซาก เช่นการปฏิบัติธรรมนี่ เราซ้ำซากปฏิบัติ ก็คือให้มันอยู่ในหลักของโพธิปักขิยธรรม ซ้ำซากไปจนตายนั่นแหละ ถ้ายังไม่บรรลุถึงจุดสำเร็จสูงสุด เป็นพระอรหันต์ ยังไม่เสร็จกิจ คุณก็ต้องทำให้เสร็จ นั่นแหละนะ

ตอนนี้เราเข้าพรรษา เราก็จะเน้นอะไรต่ออะไร ให้พวกเราได้สังวรระวัง ให้เอาจริงเอาจัง เพิ่มขึ้นนะ เราลองมาฟังดู อาตมาจะอธิบายอนุปุพพิกถาให้ฟัง ไม่ขยายความละเอียดลออนักหรอก แต่ว่าก็จะเริ่มต้น อนุปุพพิกถา ๕ เป็นหัวข้อธรรมะที่ท่านสอน ตอนแรกก็สอนกับพระยสะ สอนยสมานพ ตอนนั้น ยังไม่ได้เป็นพระ สอนยสมานพ อนุปุพพิกถา ๕ นี่มี
๑. ทานกถา
๒. สีลกถา
๓. สัคคกถา
๔. กามาทีนวกถา
๕. เนกขัมมานิสังกถา

ทานกถา ก็พูดกัน พรรณนากันถึงเรื่องทาน
สีลกถา ก็พรรณากันถึงเรื่องศีล
สัคคะ แปลว่าสวรรค์ ก็พรรณนากันถึงเรื่องสวรรค์
กามาทีนวะ ก็พรรณนาถึงโทษ โทษของความอยากความใคร่นี่ เรียกว่ากาม โทษของความอยากความใคร่

นกขัมมานิสัง ก็หมายความว่า อานิสงส์ อานิสงส์ของการออกจากกาม เนกขัมมะ + อานิสงส์ เนกขัมมานิสังกถา การพรรณนาถึงอานิสงส์ของ การออกจากกาม ออกจากความใคร่ ความอยาก นอกจากกามแล้ว ก็ต้องออกจากภพ ทั้งรูปและอรูป อีกด้วย

ทานกถา
เรื่องทาน เราก็พูดกัน อธิบายกันมามาก พรรณนาถึงความหมายของทาน การทาน จนกระทั่ง ให้ฝึกหัดอบรม ทานตั้งแต่วัตถุ ไปจนกระทั่งถึงทานกิเลส ทานความโลภ ความโกรธ ความหลง ออกจากตัวเราเอง จนได้ เสร็จแล้วเราก็เอามาทานคนอื่นต่อ ก็คือจะเรียกว่าเป็นธรรมะ เป็นคำสอนก็ได้ ทาน ทานธรรมะ ทำทานธรรมะ ก็คือคำสอน หรือนำพากัน ผู้ใดนำพา ผู้ใดช่วยเหลือเฟือฟาย ก็ได้การเสียสละ ช่วยเหลือ เฟือฟาย ให้ผู้อื่นได้พัฒนาตนเอง ได้ลดละกิเลสด้วย การช่วยเหลือนั่นแหละ เป็นการเสียสละ เป็นการทำทานอันยิ่งใหญ่ ทานอะไรก็ไม่ยิ่งใหญ่เท่า ธรรมทาน ทานธรรมะนี่ เพราะฉะนั้น ทานธรรมะ ตั้งแต่แรกเริ่ม อธิบายบอกกล่าวถึง ความถูกต้อง ความดีงาม หรือทางปรมัตถ์ ก็การละกิเลส ให้รู้ถึงการละกิเลสได้นี่ วิเศษสุด และนำพากันช่วยเหลือเอาใจใส่ เคี่ยวเข็ญกันด้วย จะเคี่ยวเข็ญ จะนำพากันอย่างไรก็แล้วแต่ อย่างที่เราทำๆกันนี่ ช่วยเหลือเกื้อกูลกันอยู่นี่ เป็นการเสียสละ เป็นการทำทานที่ยิ่งใหญ่นะ กิจการของเรา กิจการของชาวอโศกนี่ หลักการใหญ่เลย เรานำพาจะให้มาละกิเลส การละกิเลสได้จริง เป็นโลกุตรธรรม

การทำให้ลดละกิเลสได้ จึงมีวิธีการ มีการนำพากัน หาวิธีการนานาสารพัด ที่จะมาช่วย จัดแจงต่อเนื่อง นำพากันไปให้จนกระทั่ง ละลดกิเลสให้ได้จริงๆ ให้ได้จนหมดนั่นแหละ เป็นการทำทานที่วิเศษ อาตมาทำงานนี้ไม่ทำงานอื่นหรอก ในการที่จะลดละกิเลสได้ ก็ไม่ได้หมายความว่า เราไม่มีงานอื่น ในงานลดละกิเลสนั้น เราจะลดกิเลสไปพร้อมกันกับ มีทั้งงานทางสังกัปปะ วาจา กัมมันตะ อาชีวะ ทำงานนี่แหละ ปฏิบัติลดกิเลสจริง

ทฤษฎีของพระพุทธเจ้านี่ มรรคองค์ ๘ จึงสมบูรณ์บแบที่สุด เพราะงานละลดกิเลสนี่ มีอยู่ทุกอิริยาบถของบุคคล มีพร้อมสรรพไปด้วยกระทำการงาน จริงๆ และคำว่าอาชีพนี่แหละ คือการงานต่างหาก ส่วนสังกัปปะ วาจา กัมมันตะ นั้นคือการกระทำ งานทางกาย ทางวาจา ทางใจของคน อิริยาบถของคน กาย วาจา ใจ เรียกว่า กัมมันตะ ส่วนอาชีวะนั้นก็คือ การงานที่ประกอบกับบทบาท การงาน ที่เกี่ยวข้องกับการกระทำงานต่างๆ มันรวมไว้หมด กิเลสจะเกิดให้เราละได้ทุกกรรมกิริยา

การปฏิบัติธรรมของพระพุทธเจ้า จึงรวมไว้หมด ทุกกรรมกิริยา ทุกงาน งานทางกาย งานทางวาจา งานทางใจ แล้วก็งานที่ประกอบกับวัตถุสมบัติ ข้าวของทุกอย่าง อิริยาบถต่างๆ ที่ทำเป็นกิจการต่างๆทุกอย่าง ซึ่งเรียกว่าสัมมาอาชีพ แล้วอาตมาก็แปลให้ฟังแล้วว่า อาชีพไม่ได้แปลว่างานที่ได้เงิน กลับตาลปัตร เสียด้วยซ้ำ ถ้าเผื่อว่าทำงานแล้ว ไม่เอาเงินนั่นแหละยิ่งได้ทาน ยิ่งได้เสียสละ ยิ่งได้ละความเห็นแก่ตัว ละความโลภจริงๆ ยิ่งเป็นบุญเป็นคุณค่า เป็นประโยชน์ ประโยชน์หลัดๆ ทันตาเห็นเลย เราทำแล้ว เราไม่เอาค่าแรง เราทำหรือเราให้ของคน เราไม่เอาค่าแลกเปลี่ยนกลับคืนมา มันก็เป็นประโยชน์ให้แก่เขา เขาก็ได้คุณค่า ได้ประโยชน์ ไม่ต้องแลกเปลี่ยนกลับคืนมา คุณค่ามันก็ไม่ลด ถ้าแลกเปลี่ยนกลับให้เขาไปแล้ว เราก็เอาเงินตอบแทนคืนมา ค่ามันก็หมด ดีไม่ดีอย่าว่าแต่หมดค่าเลย เรียกว่า กำไรทางโลก ขายของไป กำไรว่าอย่างนั้นนะ หมดค่า แล้วไปขูดรีดเขามาต่ออีก นี่ทฤษฎีกำไรขาดทุนอารยชน อาตมา ก็อธิบาย พยายามอธิบาย แม้แต่เด็กๆ ก็อธิบายให้ฟัง เด็กๆเขาก็เข้าใจได้

อาตมาบอกแล้วว่า คนเราเกิดมา เพื่อทำทานเท่านั้นเอง เกิดมาเพื่อมีชีวิตพลังงานต่างๆนานา เมื่อมาทำงานทำการ ออกกำลังกาย วาจา ใจ อะไรออกไป เป็นกิจการงานอะไรอีกด้วยซ้ำ สร้างสรรอะไรก็แล้วแต่ เพื่อมาทำทานเท่านั้นแหละ เพื่อมาให้ผู้อื่น สุดยอดไม่มีอื่นหรอก เพราะฉะนั้น ใครทำให้ตรงสัจจะที่ว่านี้ได้มากเท่าไหร่ ก็เป็นคนมีคุณค่า ประเสริฐสุดยอด มากเท่านั้นๆ แล้วงานที่สุดยอด งานที่มีค่าอะไรมากๆ ก็มีค่าซ้อนๆขึ้นไปเหมือนกัน มันเป็นงาน ทำทาน ที่เป็นงานทาน เรื่องของศาสนา เรื่องของธรรมะสูงๆ ละเอียดลออดีๆ ก็ยิ่งค่าแพง เป็นคนมีประโยชน์สูง อย่างเป็นสัจธรรม

ศีลกถา
เรื่องของศีล ก็เป็นหลักการ มีหลักการทั้งนั้นแหละ ในอะไรก็มีหลักการ มีกฎ มีหลัก มีระเบียบ มีวินัย พวกเราก็มาอยู่ในกฎ ในระเบียบในวินัยกัน

อย่างเด็กๆ ที่มาเรียนอยู่ที่นี่ มีกฎ มีระเบียบเยอะกว่าเด็กๆ ที่อยู่ข้างนอก เด็กพวกนี้ก็มามีศีล อย่าว่าแต่ศีล ที่ตั้งว่า ปาณาติปาตา ศีล ๕ เท่านั้นเลย เด็กมาอยู่ในกรอบ ในระเบียบ ในกฎนี้ พวกนี้ศีล หรือว่าเราทำงาน อยู่ในกลุ่มไหนก็แล้วแต่ เราก็มีหลักเกณฑ์ของเรา มีระเบียบวินัยของเรา ตกลงกันนะ เป็นที่รู้กันนะ แม้แต่เรา กำหนดหลักเกณฑ์ให้แก่ตัวเอง ก็เป็นศีลของตัวเอง ถ้าหลักเกณฑ์นั้น เรากำหนดกับหมู่กลุ่มอย่างนี้นะ เราตกลงจะเอาอย่างนี้นะ แล้วเราก็ทำให้มันเหมือนกัน เรียกว่าสอดคล้องกัน ตามที่เราตกลงกัน มีมติ เป็นศีล

คนที่มีมติ ประชุมกันแล้วมีมติตกลงกันแล้วทุกทีไป แล้วไม่ทำตามมติ คนนั้นคือคนไร้ศีล เป็นคนที่ ไม่อยู่ในกฎ อยู่ในระเบียบ อยู่ในหลักการที่ตกลงกัน หรือเราว่าจะต้องกระทำตามเหตุผลนี้ ความเป็น อย่างนี้ เป็นคนไร้ศีล พูดกันไปแล้ว ก็ออกไปตามเรื่องตามราวตามกิเลส ตามอำนาจ อำเภอใจ อย่างนั้น เป็นคนไม่มีหลักเกณฑ์ ไม่มีกฎ ไม่มีระเบียบ ไม่มีวินัย ไม่มีศีลนั่นเอง เข้าใจศีลให้ดีนะๆ

เพราะฉะนั้น ใครตกลง มีมติตกลงกับหมู่ หรือตกลงใจตนเอง ก็บอกแล้วว่า ก็เป็นกฎ เป็นหลัก เป็นศีลของตัวเอง ถ้าตกลงกับหมู่แล้ว ก็ต้องทำให้ตรงกัน หมู่เล็กก็ตาม หมู่ใหญ่ก็ตาม เราก็ทำให้มันตรงกัน ตามที่เราตกลงว่า นี่เป็นกฎ เป็นหลัก เป็นมติ ในสิ่งที่ได้สัญญากันลงไปอย่างนี้ สัญญาก็คือการกำหนด กำหนดกันไปอย่างนี้ ก็ตองให้เป็นอย่างนั้น เรียกว่าเป็นศีล นี่ก็อธิบายขยายความ เรื่องศีลให้ฟังอีกนิดหน่อย

สัคคกถา
สัคคะ สวรรค์ สัคคกถา กถาก็แปลว่า การพรรณนาหรือการพูด คำพูด สัคคะนี่แปลว่าสวรรค์ เจ้าตัวสวรรค์นี่แหละ เป็นตัวร้ายกาจมากในโลกียะ เพราะคนมันไม่รู้จักสวรรค์ แล้วหลงสวรรค์ คนที่หลงสวรรค์ สวรรค์มันก็คือ สิ่งที่เสพสมสุขสม แล้วเราก็ยินดีปรีดา ได้เพลิดเพลิน เอร็ดอร่อย สนุกสนาน พวกคุณรู้กัน ทุกคนแหละ มันรสอร่อยนะ รสเพลิดเพลิน รสสนุกสนาน รสที่ยินดี ปรีดาอะไร ก็ได้ทั้งนั้นแหละ มันเป็นอารมณ์ชื่นใจ อารมณ์พอใจ อารมณ์ยินดี จนกระทั่ง มันจัดจ้านไป ขนาดไหนก็ตาม ยินดีพอใจเอร็ดอร่อย ถึงขนาดเต้นแร้งเต้นกา ดีดเต้น ชื่นใจ ประทับใจ อะไรขนาดไหนก็ตามเถอะ มันก็คือสวรรค์ มันเป็นรสทางจิต สวรรค์มันไม่มีอยู่ที่อื่นหรอก มีอยู่ที่จิตเท่านั้นแหละ มันเป็นรสทางจิต แล้วสวรรค์ ที่เสพสมใจอย่างนั้นนะ เป็นสวรรค์ที่คนทุกคนรู้ทั่วหมด ไม่ว่าใคร เคยมาทุกคน แม้แต่สัตว์เดรัจฉานก็ยังเคย สัตว์เดรัจฉาน ก็เริ่มสะสมอารมณ์เสพสมอย่างนี้มาแล้ว มาเป็นคน ก็ติดกันเข้าไปใหญ่ นึกว่าไอ้นี่ เป็นจริง เป็นจัง ว่าจะต้องได้ ต้องมี ถ้าไม่ได้ไม่มีแล้ว ชีวิตมันไม่สดชื่น ชีวิตมันจืดชืด อะไรก็แล้วแต่ หลงมานาน

สัคคะ สวรรค์นี้ที่กำลังกล่าวถึงนี้ เป็นสวรรค์โลกียะ สวรรค์เสพสมสุขสม ได้สุดยอดแห่งความพอใจ ชื่นใจ เอร็ดอร่อย เขาก็เรียกว่า เป็นความสำเร็จ แห่งความใคร่ เราใคร่อะไร หรืออยากได้อะไร พออยากได้ แล้วก็เสพสมใจ ดังที่กำหนด มันก็เป็นรสชาติทางใจ ปรุงแต่งปั๊บเข้าไปเลย เร็วนะ การปรุงแต่งนี่เร็ว สังขารนี่เร็ว ปรุงแต่งเป็นรสชาติอร่อยสมใจปั๊บ อาการที่มันเป็นสุขเวทนา พึบขึ้นมา ที่ไปเสพสมใจนั่นแหละ เรียกว่าสวรรค์ รู้จักสวรรค์ให้ชัดๆ ใจของใคร ของมัน สวรรค์ของใครของมัน

สวรรค์ไม่ได้อยู่บนฟ้า ไม่ได้อยู่ที่ไหนๆ ไม่ได้มีสถานที่ ไม่ได้มีอะไร สวรรค์ไม่มีตัวตน ไม่มีอะไรๆ อยู่นอกจิตวิญญาณ ไม่มี ! สวรรค์เป็นอารมณ์เสพของจิตเท่านั้น ที่เกี่ยวข้องกับรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส เกี่ยวข้องกับความกำหนด เรียกว่า กามตัณหา-ภวตัณหา เสพสมตามตัณหา ก็เป็นกำหนดขึ้นมา หรือแม้แต่ จะเป็นตัณหา ในวิภวตัณหา ตัณหาในเสพสม ในคุณค่าอะไรสูงๆ ขึ้นมา ทำดีได้สมใจ ก็เป็นสวรรค์บ้าง แต่สวรรค์ทำดีได้สมใจ จะเป็นอุดมการณ์ เป็นวิภวตัณหา ดีที่ว่านี่ ต้องเป็นดียิ่งดี ในระดับโลกุตระ ดีในระดับปรมัตถสัจจะ ก็เป็นวิภวตัณหา เป็นความอยากใคร่ ในสิ่งที่เป็นโลกอีกโลกหนึ่ง โลกเจริญขึ้นนะ เป็นโลก ถ้าตัดกรอบของโลกียะ กับโลกุตระ ก็คือได้สมใจ ในความบรรลุสู่ภูมิโลกุตรภูมิ หรือ โลกุตรธรรม อยู่ในโลกใหม่ เป็นโลกของโลกุตรธรรม นั่นเรียกว่า วิภวตัณหา ซึ่งเป็นตัณหาที่ละโลกนี้ คือไม่อยากได้ ไม่อยากได้อะไร ไม่อยากได้โลกเก่า แล้วเอาปรโลก คือโลกใหม่ โลกที่พระพุทธเจ้าท่านค้นพบ เรียกว่า โลกุตรภพ หรือ โลกุตรภูมิ เป็นโลกชนิดใหม่จริงๆ นะ คนจะรู้เลยว่า มันรสชาติก็ไม่เหมือนกัน ก็คือล้างรสโลกีย์ สวรรค์ลวง สวรรค์โลกีย์ที่ได้เสพสมนี่ นี่แหละเป็นตัวร้ายของโลกียะ

เมื่อเราเข้าใจรสของโลกีย์อย่างนั้นแล้ว เราก็ไม่ต้องไปยินดียินร้ายมัน ลองหัดเลิกรสโลกีย์แบบนั้นดูซิ นั่นละ จิตจะสงบลง แล้วก็จะเหตุแห่งทุกข์ ก็ต้องดับ ดับเหตุแห่งความอยากด้วยนะ เหตุแห่งความอยาก มาเสพสมด้วย ดับเหตุแห่งความอยาก ดับเหตุคือตัวความอยากนั่นนะ ดับหรือว่าไม่ต้องไปอยากอย่างนั้น อยากมาเสพสมทำไม สุดท้าย เราไม่ต้องเสพสม แล้วไม่ต้องมีรสสังขาร ด้วยการปรุงแต่งเสพสม

เช่น แต่ก่อน เราเคยติดรูปอย่างนี้ รสอย่างนี้ กลิ่นอย่างนี้ เสียงอย่างนี้ ถ้าเราได้แตะแล้ว โอ๊ รสอร่อย เราพยายามฝึกหัด จนกระทั่งไม่ได้ยินดียินร้ายกับรสอร่อยนั้นแล้ว อาการอร่อยชื่น ชื่นใจอย่างนั้นนะ หายไป ก็ธรรมดา สามัญก็รสธรรมดา ใครจะปรุงมาอย่างไร ใครจะปรุงสี ปรุงรส ปรุงกลิ่น ปรุงสัมผัส แตะต้องมายังไง มันก็อย่างนั้นแหละ ก็อย่างความจริง ตามความเป็นจริงของมัน แต่เราไม่มีการเกิดรส เป็นอัสสาทะ รสอร่อย รสที่มันซ้อนเชิงขึ้นมาอีกอันหนึ่งนี่ อันนั้นตัวนั้นแหละไม่มี มันลึกซึ้งหน่อยนะ คุณจะต้องอ่าน คุณจะต้องเรียน มันไม่มี มันก็ปกติง่ายๆ เช่น เอาลิปสติกมาทาให้เด็กผู้ชายนี่ คงไม่ใช่เกย์นะ เอามาทา เด็ก แกก็ไม่เกิดรสอร่อย หรืออะไรหรอก ไม่เกิดสุข ไม่เกิดสวย งาม โอ๊ย มันวิเศษอะไร เด็กผู้ชายคนนี้ เขาจะไม่รู้สึก นั่นแหละ ความเฉยๆ ดีไม่ดี มันจะผลักเอาด้วยซ้ำไปว่า ว้าเหนียวเหนอะ หรือว่าอะไรด้วยซ้ำไป ไอ้อย่างนั้น ยังไม่เป็นรสกลางๆ ไม่มีรสอร่อย ไม่มีรสชังด้วย ยังไม่มีรสผลักด้วย ถึงจะเรียกว่า รสกลางๆ เรียกว่ารสว่าง ก็ทำ ก็ทำได้ ถ้าเผื่อว่าวางใจได้นะ ไม่ผลัก ไม่ดูด เอาลิปสติกทาปาก มันก็ทาปาก ก็เหมือนกับเรากินอาหาร ที่คนอื่นเขาอร่อย เราก็กินอย่างนั้นแหละ ก็กินรสอย่างคนอื่น เขาก็ได้ แต่เขามีตัวอร่อย เราไม่ต้องมีอร่อยนั้น แต่เราก็ได้กินรสเดียวกัน ถ้าของอย่างเดียวกัน คนอื่นกิน เขาก็ได้รส อย่างนั้น มันหวานก็หวาน มันเค็มก็เค็ม มันขมก็ขม มันเปรี้ยวก็เปรี้ยว เหมือนกัน รสนั้น มันไม่ประหลาดอะไร มันเป็นรสของจริง ตามความเป็นจริง

แต่อัสสาทะ รสอร่อยที่มันเป็นอุปาทาน มันเป็นรสโลกีย์ ที่คุณไปปรุงไปแต่งมานั่นนะ มันไม่มีจริงๆ เคยมีก็หายไป แต่เราก็รู้ เราไม่ผลักด้วย ควรกินก็กิน ควรรับก็รับ ควรมีก็มี ควรใส่ก็ใส่ ควรดูก็ดู ควรได้ยินก็ได้ยินดี ควรเกี่ยวข้องก็ เกี่ยวข้อง นี่คือสวรรค์ และมันเป็นสวรรค์อย่างโลกียะ ที่จะต้องได้รับรสอร่อย แล้วก็ได้เกิดรสอร่อย นั่นคือสวรรค์ รสอร่อยโลกียะ พอเราลดรสโลกียะ รสอร่อยโลกียะนี่ ลงไปได้ ลดไปจริงๆ จนกระทั่ง มันไม่มี มันก็ไปเป็นคนอีกชนิดใหม่ เป็นคนอีกโลกหนึ่ง เป็นสวรรค์ใหม่ สร้างสวรรค์ใหม่ การมีของโลกียะ ของโลกๆ เรียกว่าโลกียรส อันนั้นเป็นสวรรค์ของโลกียะ ธรรมดาสามัญ มีทุกคน เคยมาทุกคน คนมาลดรสโลกียะได้ ลดโลกียรสได้ ก็เป็นคนชนิดใหม่ เกิด เกิด ถ้าลดได้เรื่อยๆ ก็เป็นอุบัติเทพ ถ้าได้เสพรส สมใจอย่างโลกๆ อย่างโลกียะ เขาเรียกว่า สมมติเทพ เป็นเทวดาสมมติ ซึ่งเป็นทุกคน สมมตินี่แปลว่า รู้กันทั่ว รู้ด้วยกันทั่ว ทุกคนรู้กันหมด แต่ว่าจะมีญาณปัญญารู้หรือไม่ ไม่รู้นะ แต่ว่าคุณรู้รสอร่อย คุณเสพรสอร่อยอยู่ ที่เสพมันอย่างไม่รู้ ก็คืองมงายเลย ถ้ารู้ตัวแล้วก็อ่านออก แล้วก็ลดมัน ลดรสกิเลสนั้นได้จริง ลดรสอร่อยนั้นได้จริง คุณก็เกิดใหม่เป็นอุบัติ อุบัติแปลว่าเกิด เป็นเทวดา ที่เกิดขึ้นไป เกิดขึ้นไป จนคุณหมด รสอร่อยนั้น เรียกว่า วิสุทธิเทพ เป็นเทพบริสุทธิ์แล้ว เป็นเทพที่ไม่มีรสอร่อย ของโลกียะแล้ว เป็นเทวดาสมบูรณ์ เป็นพระอริยเจ้า อรหัตผลเลยแหละ คุณจะไม่อร่อยในรส ของอะไรเป็นเหตุ รสอร่อยในอาหาร รสอร่อยในของเสพติด รสอร่อยในเครื่องแต่งตัว รสอร่อยในลาภ ในยศ รสอร่อยในสรรเสริญ รสอร่อย ในอะไรก็แล้วแต่ ที่เป็นโลกียะที่ได้สมใจ แม้มันได้ แต่มันได้สมใจเหมือนกันนะ แต่ไม่เกิดรส อาการที่ว่านี้ คุณอยากจะทำดี นี่เป็นวิภวภพด้วย คุณสร้างอันนี้ เพื่อเสียสละให้คนอื่น คุณทำให้เต็มที่เลย แล้วคุณก็ไม่เกิดฟูใจอะไรเลย ไม่เกิดอาการฟู ที่เป็นรสอร่อยใส่ใจเลย ไม่เกิดในใจ ไม่เกิดตัวนั้น นั่นคืออรหัตผล จิตวิมุติ จิตหลุดพ้น เป็นวิสุทธิเทพ เทวดาบริสุทธิ์ เป็นสวรรค์ ที่ยิ่งใหญ่ ต่างจากสวรรค์โลกๆ

เราจะต้องเรียนรู้ ออกจากสวรรค์ลวง รสของสวรรค์แบบนี้ ต้องรู้ตัว การออกจากสวรรค์ลวง ข้อ ๔ ท่านเรียกว่า กามาทีนวะ ต้องเห็นโทษของสวรรค์ลวง โทษที่เสพกาม เสพความใคร่ ความอยากได้สมใจ แล้วก็มีรสของกาม เรียกว่า กามาทีนวะ เห็นโทษ การเห็นโทษนี่ จะต้องเห็นด้วยญาณปัญญา ต้องพิจารณา ต้องไตร่ตรอง ต้องตรวจสอบ เพราะมันนานมาเหลือเกิน อะไรสมใจสังขารปุ๊ป รสอร่อยเกิด สมใจ แหม มันชื่นใจ มีชีวิตชีวาอยู่ตลอดเวลา เพราะมันเป็นอย่างนั้นมาแต่ไหนๆ เป็นมาตั้งแต่เดรัจฉาน บอกแล้ว แม้คนมาเป็นมนุษย์ คนมาเป็น มาเป็นคนแล้ว คนก็ยังเสพรสอร่อยของกามนี่ มาอยู่ตลอด ทีนี้เรามาเรียนรู้ เพื่อที่จะได้พิจารณาออก แล้วก็จะต้องเห็นโทษมันนี่ โอ้โฮ กินเมื่อไหร่ก็อร่อยเมื่อนั้น ได้สมใจ ในเรื่องทางตา ทางหู เมื่อไหร่มันก็ยังเป็นความสุขอยู่เมื่อนั้น มันยังอร่อยอยู่เมื่อนั้นแหละ นี่มันยาก มันลวง อยู่ตรงนี้

จะต้องเห็นโทษของมัน พิจารณาสิ ถ้าเราจะต้องไปติด ไอ้สิ่งที่โลกเขาก็ว่า มันไม่ดีใช่ไหม อบายมุข แล้วเราก็ไปรสอร่อยมันอยู่อย่างนั้น ก็พยายามดูซิ อบายมุขนี่ บางทีเขาก็มีกฎหมายห้าม ด้วยซ้ำไปนะ สูบฝิ่นเป็นต้น สูบเฮโรอีน เป็นต้น ถึงแม้เขาไม่ห้ามดื่มเหล้า สูบบุหรี่ อะไรอย่างนี้ เป็นต้น มันก็ยังไม่ใช่ของดิบของดีอะไร เป็นรสอร่อยอยู่อย่างนั้นทำไม เห็นโทษมันให้ได้ เป็นภัย เป็นโทษ เจ็บๆ ป่วยๆ เสียเงินเสียทอง ต้องเสียเวล่ำเวลา เสียโน่นเสียนี่ เห็นโทษของมันให้ได้ว่า ถ้าเราไปเสพไปติดอยู่ โทษมันมีมากเท่าไหร่ คุณค่ามันมีเท่าไหร่ ถ้าคุณค่า ก็รับแต่เพียงคุณค่าจริงๆ มันไม่ต้องเสพต้องติด บางอย่าง ไม่มีคุณค่าด้วยซ้ำ เพราะว่าเราเสพมากเกินไป เห็นโทษมันจริงๆ พิจารณาโทษมันทุกอย่าง แม้แต่เรา จะต้องไปเหน็ดเหนื่อยเสียแรงงาน เสียเวลา เสียทุนรอน เสียอะไร ก็เป็นโทษเป็นภัย ทั้งนั้นแหละ

ในอบายมุขนี่ มันเห็นได้ง่ายกว่าสิ่งที่ต่ำ สังคมเขาไม่ยอมรับ หรือสังคมเขาก็รู้กันทั่วว่า อันนี้มันเลิกได้ดี ใครไม่ไปเสพไปติดอย่างนี้ดี จนเราทำให้ไม่เสพไม่ติด เพราะเรารู้จักว่ารสอร่อย หรือ รสเราไปติดไปยึดนี่ มันก็คือกิเลส ล้างกิเลสนั้นออก จนไม่มีรสอร่อยนั้น ไม่ต้องไปติดไปยึดนั้นได้จริงๆ เลย ให้ได้ ก็เป็นการออก นอกจากเห็นโทษแล้ว คุณจะต้องออกจาก เรียกว่า เนกขัมมานิสังสะ เนกขัมมานิสัง เห็นประโยชน์ ในการออกมาจากกาม ออกมาจากรสอร่อย ออกมาจาก การไปเสพสุข อย่างนั้น เรียกว่า เนกขัมมะ เห็นประโยชน์ในการออกมา เห็นโทษในการที่ไปติดไปยึด ไปเสียเวลา บำเรอตนอยู่ แต่เห็น ประโยชน์ ในการออกมาจาก รสกามเหล่านั้น

ทีนี้เรื่องซ้อนอีกเรื่องหนึ่ง ก็คือเรื่องโทสะ กาม พยาบาทนี่เป็นคู่หนึ่ง พยาบาท โทสะ กามเป็นความใคร่ อยากได้สมใจตน กามนี่เป็นอาการที่สังขาร ที่จริงกามก็คือการสังขารจากอัตตากับกาม อัตตากับกาม ผสมพันธุ์กัน แล้วก็เกิดมาเป็นโทสะ การใคร่อยากคือกาม อยากได้มาสมใจให้ตัวกู พอกูไม่ได้สมใจกู เท่ากับ ลองทำสิ สมการนี้ การใคร่อยากมาให้ได้ตามใจที่กูกำหนดอุปาทานยึดติด แล้วยังไม่ได้ สมอยากของกู บวกกับอัตตา คือตัวกูของกูนี่มันไม่ได้ ยังไม่ได้ พอมันอยาก มีอาการอยากแล้ว มันไม่ได้มาตามใจกู ยิ่งมีคนมาขัดขวาง ต้าน กั้น จะเกิดอะไรขึ้น เกิดอะไรขึ้น เกิดไม่ชอบใจ จนกระทั่งถึงโทสะ เกิดโทสะ เพราะฉะนั้น โทสะนี้เกิดได้ก็เพราะกาม แล้วมันก็ลวงคน ไม่ใช่ลวงหรอก มันเห็นชัดอยู่แล้ว เพราะปรุงเร็วเหลือเกิน มันเป็นการโกรธ การไม่ชอบใจ ก็ปรี๊ดขึ้นมาเลย มีโทษไหม โทสะมีโทษไหม มีโทษไหม ท่านอธิบาย ในนี้ อธิบายในพยาปาทาทีนวะ โทษของพยาบาท อาทีนวะ นี่แปลว่าโทษ พยาบาทมีโทษไหม มีโทษ ไม่มีคุณเลย ซึ่งอาตมาเคยบอกว่า แม้แต่ความไม่ชอบใจ แม้นิดหนึ่ง ไม่ต้องเอาไว้ในใจ เอาออกให้หมด

เราจะต้องมาออกจากโทษ หรือออกจากพยาบาท ออกจากโทสะด้วย หรือไม่ออก หรือจะเอาไว้ ก่อนด้วยซ้ำไป ก่อนกามาทีนวะ เพราะว่าการใคร่อยาก ในการที่อยากจะสร้างสรร อยากจะเสียสละ อยากจะทำดี มันยังมีคุณค่า แต่อยาก อยากจะโกรธ อยากจะไม่ชอบใจ อยากจะชัง อยากจะพยาบาท อยากจะอาฆาต อยากจะแก้แค้น อยากจะรำคาญพวกนี้ เป็นลูกเต้าเหล่าหลาน ของโทสมูลทั้งนั้น อาการพวกนี้ มากกว่านี้ อาตมาเคยอธิบาย แม้แต่ริษยา แม้แต่มักขะ ปลาสะ อาชีพ ตระหนี่ถี่เหนียว อะไรพวกนี้ ลูกของโทสะทั้งนั้นเลย โทสมูล สายโทสมูลทั้งนั้นเลย สรุปแล้ว ก็ตัวโทสะนี่ ต้องออกก่อนกามด้วยซ้ำ ต้องละออกก่อนกาม แต่พวกเรามีโทสะ อยู่ในใจกันบ้างหรือเปล่า ใครหมดแล้ว ยกมือขึ้น เกลี้ยงแล้ว ไม่มีโทสะแล้วตอนนี้ ถอนอาสวะสิ้นแล้ว มีไหม ยังมีอยู่ทุกคน เพราะฉะนั้น เรามาเอาก่อนอื่น กันเถอะ

วันนี้มีกระดาษ เทศกาลเข้าพรรษา สัปดาห์แห่งการพิจารณาโทษของโทสะ ใน ๗ วันต่อไปนี้ มาเอาไป แล้วทำแบบฝึกหัดดู ใน ๗ วันต่อไปนี้ ตลอดเวลาที่ท่านตื่นอยู่ ไอ้ตอนนอนหลับ มันคงไม่รู้ละนะ มันโกรธเมื่อไหร่ ไม่รู้ละนะ มันไปโกรธในฝันคงยาก เอามันตอนตื่นนี่ละนะ ตลอดเวลาที่ท่านตื่นอยู่ ขอให้ท่านพิจารณา คิดนึกให้มาก ถึงโทษของโทสะ จะเรียกว่า โทสาทีนวะก็ได้ ไม่ใช่กามาทีนวะ โทสาทีนวะ คิด นึกคิดให้มากถึงโทษของโทสะ ว่ามีอะไรบ้าง พอมันโกรธ หรือมันโทสะขึ้นมา มันพยาบาท มันจะคิดได้ ถึงขั้นลูกของโทสะมูลก็ได้นะ แล้วมันมีผลไม่ดีอะไรบ้าง มันมีอะไรบ้างโทษของมัน โทษความไม่ดี ไม่งามของมัน และอานิสงส์ ทีนี้อานิสงส์ ก็แปลว่า ประโยชน์ อานิสงส์ของการออกจาก เนกขัมมานี่ ออกจากโทษ ออกจากโกรธ ทั้งนั้นแหละ ออกจากทั้งโทสะและโลภะ ไม่ใช่ออกจากแต่กาม อย่างเดียว บอกแล้วว่า โทษนั่นมันเกิดจากกาม เพราะฉะนั้น กามที่ลึกที่สุดก็คือ ตัวที่ยังต้องการมา อยู่ตลอดเวลา

แม้แค่ต้องการ จะให้ต้องการมาบำเรอตนจริงๆ ก็คือกามโดยตรง ต้องการแล้วไม่ได้สมใจ จึงเกิดโทสะ อย่างที่บอกแล้ว มันก็เกิดไปจากตัวกาม เพราะฉะนั้น อธิบายตัวกามาทีนวะตัวเดียว ขยายออกเป็นโทสะ อย่างที่อาตมากำลังขยายให้ฟังนี้นะ เพราะฉะนั้น อานิสงส์ของการออกจากโทสะ ที่ท่านเคย ได้รับ เราก็พิจารณาของจริงของเราเลย หรือคิดว่าจะได้รับ อันนี้เรียกว่า ยังไม่ได้รับ อนาคต หรือคิดว่าจะได้รับ

เพราะฉะนั้น ใครจะออกยังไง ก็เอาไปลองดู อ่านดู มันก็เหมือนกัน กระดาษนี้ อาตมากำลังอ่านนี้อันเดียวกัน แผ่นเดียวกัน แล้วก็มีช่องให้คุณกรอก เอาไปทำแบบฝึกหัดดู ทำการบ้านดู ตั้งใจศึกษา ศึกษาเรามีอุปกรณ์ เรามีวิธีการอะไร เพื่อที่จะให้พวกเราได้เรียนรู้ เรียนรู้สัจธรรม เรียนรู้ความจริง เด็กๆเข้าใจไหมนี่ ฟังดูๆ เข้าใจไหม นักเรียนเข้าใจไหม รู้เรื่องไหม พอรู้ เอาไปทำดูบ้าง

นี่เป็นการทำแบบฝึกหัดที่จริง คิดให้ถึงโทษของมันนะ โทษของโทสะนี่กำลังทำแบบฝึกหัดของโทสาทีนวะ กำลังทำแบบฝึกหัดของโทสาทีนวะ บอกแล้วว่า โทสาทีนวะ นี่เป็นลูกของกาม ผสมพันธุ์กับอัตตา มันถึงออกมาเป็นโทส เป็นโทสะ

เราทำตัวลูกนี่ก่อน ค่อยไปถอนรากถอนโคนแม่ แม่นั่นมันยังอาศัยอยู่บ้าง เพราะที่จริงแล้ว โลกนี้เราก็ต้องมีเครื่องอาศัย เพราะฉะนั้น จะอาศัยที่สุดก็คือ จิตวิญญาณที่เป็นความปรารถนา หรือความใคร่อยากที่ดี เป็นวิภวตัณหา เป็นความใคร่อยากสร้างสรรอยู่ ถ้าเรายังมีชีวิต เรายังมีรูปนาม ขันธ์ ๕ เรายังไม่ปรินิพพาน เราจะต้องมีความปรารถนานี้อยู่ตลอด เป็นอากังขาวจร หรือเป็นอะไรละ อิจฉาวจร ยังจะต้องดำเนินไป อวจรก็หมายความว่า มันยังเดินไปอยู่ มันยังมีวงที่เป็นไปอยู่ อวจรมันจะต้องมี อากังขาวจร หรือ อิจฉาวจรนี้อยู่ เป็นความปรารถนา เป็นความต้องการ จะเรียกอิจฉา จะเรียกฉันทะ จะเรียกอะไร มันมีเยอะ คำว่าปรารถนานี่ มันมีความหมาย ถ้าเราเข้าใจเนื้อหามันแล้ว ก็ไม่ยากอะไร ลองไปทำดูนะ นี่เป็นสิ่งที่เราพยายามนะ พยายามที่จะช่วยกัน ช่วยกันให้เกิดคุณค่า ให้เกิดประโยชน์ ให้เกิดการดำเนิน เจริญขึ้นในตัวคน ในตัวบุคคล พยายามกระทำกัน ใครไม่เข้าใจ ถามไถ่กัน ถ้าใครเข้าใจดีแล้ว ก็ทำเลย เข้าใจยังไม่ดีอะไร ก็ประชุมกัน เหมือนอย่างที่เราทำหนังสืออริยสัจ ๔ มา มันไม่เข้าใจดี ก็มาประชุมกัน วิจัย วิเคราะห์กันไปเรื่อยๆ จนกระทั่ง มาถึงมืออาตมา อีกทีหนึ่ง ถ้ามันไปไม่รอด ก็มาถึงมืออาตมา อาตมาก็ช่วยเสริมเติมให้อีก แต่ถ้าไปรอด ทำได้ดี ก็เอาเลย ได้คุณค่า ได้ประโยชน์ทันที ไม่มีปัญหาอะไร แล้วเราก็ทำ พหุลีกัมมัง มันจะเกิดจากการทำให้มาก ในการฝึกฝนตนเอง มีความเพียร

ไหนๆ เราก็เป็นนักเรียน มหาวิทยาลัยแห่งชีวิต ที่จะต้องเดินทางไปสู่ปริญญา ปริญญาอะไรรู้หรือเปล่า จบปี ๔ พระอรหันต์ จบปี ๑ นี่ได้แค่โสดานะ จบปี ๒ สกิทา จบปี ๓ อนาคา จบปี ๔ อรหันต์ ปริญญาของ มหาวิทยาลัยชีวิตนี่ มันยิ่งยอดอย่างนี้ มันยิ่งใหญ่ ส่วนใครจะไปเรียนปริญญาโท ไปเรียนดอกเตอร์ เป็น พระโพธิสัตว์ เรียนปริญญาโท ก็หมายความว่า ไปเป็นพระโพธิสัตว์ จบดอกเตอร์ ก็หมายความว่า เป็นพระพุทธเจ้า ใครจะไปจบดอกเตอร์ ไปเรียนดอกเตอร์ ก็ค่อยว่ากันอีกทีหลัง ตอนนี้เอาปริญญาตรีก่อน ปริญญาตรีนี่ เรียน ๔ ปีนะ โสดา สกิทา อนาคา จบอรหันต์ถึงจะจบปี ๔ เป็นปริญญาตรี มันต้องทำจริงๆ ในชีวิตพวกเรา เข้าใจมาถึงขั้นนี้แล้ว ทำได้ทุกคน เด็กๆ ก็ทำได้ ผู้ใหญ่ก็ทำได้ทุกคนแหละ ทำ

ถ้าเราสังวรของเราจริง เราอบรมตนเราจริง ใครละจะได้ อบรมตนเรา เราก็อบรมของเรา เราจะไตร่ตรอง พิจารณา ศึกษา แล้วก็พยายามอ่าน ยิ่งมีอุปกรณ์วิธีการเขียนนี่ อาตมาว่า มันยิ่งกว่าสมัยพระพุทธเจ้า สมัยพระพุทธเจ้า ไม่มีการเขียนการบันทึก เวลาเรามาเขียนมาบันทึกนี่นะ ภาษาบัญญัติ กำหนด ความหมายพวกนี้ มันให้ความเข้มข้น มันให้ความกระชับ มันให้ความกระจ่าง ในตัวของมัน เพิ่มเติมขึ้นอีกนะ เวลาคุณนึกแล้วก็มาเขียน มาเรียบเรียงเป็นสำนวนโวหารภาษา เพื่อที่จะบรรยายสภาวะนี่ คุณจะได้นึกคิด เติมซ้อนๆ ลงไปอีกนะ คุณคิดดีๆ ที่อาตมาอธิบายให้ฟังนี่ คุณได้แต่คิดนึก มันก็แค่คิดนึก คุณไปลงบันทึก ลงไปอีก พยายามที่จะใช้คำความ บัญญัติภาษา เพื่อให้มันไปถูกต้อง ตามสภาวะที่จริงนี่ คุณได้กลั่นกรอง ได้พิจารณา ได้รอบรัด ทำอะไรมันลงไปอีกได้ตั้งเยอะตั้งแยะ มันทำให้ลึกซ้อนๆ เป็นการ ความจริง เป็นพฤติกรรมจริงของมนุษย์

ใครที่เที่ยวได้มักง่าย เป็นคนช่างดูถูกดูแคลนอะไรเล็กๆ น้อยๆ พวกนี้ละนะ มีอัตตามานะใหญ่ ถือดี เฮ้ย แค่นี้ฉันก็รู้แล้ว ฉันเก่งแล้ว ฉันวิเศษแล้ว คนที่มีความรู้สึกอย่างนั้น เป็นคนที่ประมาท ความประมาทนี่ เป็นยอดแห่งธรรมะที่เลวที่สุด ที่พระพุทธเจ้าท่านรวมเอาไว้ เพราะทุกอย่าง อะไรๆก็จะเลวร้ายลงได้ หรือว่าเสียหาย และเป็นทุกข์ได้ เพราะประมาทตัวเดียว

ธรรมะอันที่ยิ่งยอดที่สุด ท่านจึงบอกคือตัวอัปปมาโท ความไม่ประมาท เป็นตัวยอดแห่งการศึกษาเลย ตัวไม่ประมาท เพราะฉะนั้น อย่าไปประมาท แม้โทษภัยอันมีประมาณน้อย ไอ้เรื่องเล็กเรื่องน้อย อย่าไปประมาท ยิ่งมีผู้รู้ท่านแนะนำ ให้ทำจุดนั้นจุดนี้ อาตมาว่ามันไม่ได้เลวหรอก มีแต่มันจะได้ดี ใช่ไหม ถ้าเราตั้งอกตั้งใจ พยายามจริงๆ มันจะมีแต่ประโยชน์

ลองอ่านดู สูตรที่ท่านขยายความของ อนุปุพวิหารสมาบัติ พระพุทธเจ้าท่านตรัสของท่านนะ แต่ของเราก็เอามาอธิบาย ขยายความของเราได้ ท่านตรัสว่าอย่างนี้
อานนท์ ครั้งก่อนแต่กาลตรัสรู้ เมื่อเรายังไม่ได้ตรัสรู้ ยังเป็นโพธิสัตว์อยู่ อย่าลืมว่าโพธิสัตว์นี่ จะตรัสรู้อะไร จะตรัสรู้อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้านะ ไม่ใช่มาตรัสรู้แค่อรหันต์ธรรมดาของคุณนะ เป็นโพธิสัตว์นี่ ยังไม่ได้ตรัสรู้สุดยอด เป็นอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้านี้ ในครั้งนั้น ความรู้ได้เกิดขึ้นแก่เราว่า เนกขัมมะนี่ เป็นคำกลางๆนะ ความหลีกออกจากกาม การหลีกออกจากกาม เป็นของพระพุทธเจ้า ท่านกล่าวกลางๆ เดี๋ยวอาตมาจะขยายให้ฟังว่า กลางของคุณเท่าไหร่ กลางของพระพุทธเจ้าเท่าไหร่ ก็ค่อยว่ากัน มันเป็นธรรมกาโม หรือ เป็นธรรมกาม

ธรรมะในระดับคุณ กับธรรมะในระดับพระพุทธเจ้า มันก็คนละกาม ถ้าเข้าใจธรรมกาโม หรือ ธรรมกามนะ เนกขัมมะ เป็นทางแห่งความสำเร็จ ปวิเวก เป็นทางแห่งความสำเร็จ ๒ ตัว ๒ ตัวเท่านั้นแหละ มีเนกขัมมะ กับ ปวิเวกะ ดังนี้ แต่แม้กระนั้น จิตของเราก็ยังไม่แล่นไป ไม่เลื่อมใส ไม่ตั้งอยู่ได้ ไม่หลุดออกไป ในเนกขัมมะ ทั้งที่เราเห็นอยู่ว่านั่นสงบ คำว่านั่นสงบ คำว่าสงบนี่ ก็คือความหมายของวิเวกด้วย ความหมายของวิเวก แปลว่าสงบ ทั้งๆ ที่รู้อยู่ว่านั่นสงบ

อานนท์ ความคิดได้เกิดขึ้นแก่เราสืบไปว่า อะไรหนอเป็นเหตุเป็นปัจจัย ที่ทำให้จิตของเราเป็นเช่นนั้น

อานนท์ ความรู้สึกได้เกิดขึ้นแก่เราว่า เพราะว่าโทษในกามทั้งหลาย เป็นสิ่งที่เรายังมองไม่เห็น ฟังดีๆ นะ ความนี้จะรู้ ตอนนี้เรากำลังเอาคำว่าโทษ คำว่าโทสะมาใส่แทนคำว่ากามเสียนะ ถ้าจะบอกให้พวกคุณฟังตอนนี้ ก็น่าจะบอกว่า เพราะว่าโทษในโทสะทั้งหลาย เป็นสิ่งที่เรายังมองไม่เห็น ยังไม่ได้นำมา ทำการคิดนึกให้มาก และทั้งอานิสงส์แห่งการออกจากโทสะ ในนี้ของท่านว่ากามนะ อาตมาเอาแทนซะ และอานิสงส์ แห่งการออกจากโทสะ เราก็ยังไม่เคยได้รับเลย ยังไม่เคยรู้รส รสออกจากโทสะ มันเป็นยังไง ยังไม่เคยรู้รสเลย จิตของเรา จึงเป็นเช่นนั้น ก็คือจิตที่ยังไม่แล่นไป ไม่เลื่อมใส ไม่ตั้งอยู่ ไม่หลุดพ้นไป ออกจากโทสะ นั่นแหละ

อานนท์ ความคิดได้เกิดขึ้นแก่เราสืบไปว่า ถ้ากระไรเราได้เห็นโทษในกาม อาตมาเอาโทสะใส่แทนนะ ถ้าเราได้เห็นโทษในโทสะทั้งหลาย แล้วนำมาทำการคิดนึกในข้อนั้นให้มาก ได้รับอานิสงส์ ในการหลีกออกจากโทสะแล้ว พึงเสพในอานิสงส์นั้นอย่างทั่วถึงไซร้ ข้อนั้นแหละ จะเป็นฐานะที่จะทำให้จิตของเรา พึงแล่นไป พึงเลื่อมใส พึงตั้งอยู่ได้ หลุดออกไปในโทสะ โดยที่เห็นอยู่ว่านั่นสงบ จบเลย นั่นสงบแล้วหนอ ก็มันไม่มีโทสะ มันก็สงบ

อานนท์ โดยกาละต่อมา เราได้ทำเช่นนั้นแล้ว อย่างทั่วถึง จิตของเราจึงแล่นไป จึงเลื่อมใส ตั้งอยู่ได้ หลุดออกไปในโทสะ ในนี้ท่านใช้คำว่าเนกขัมมะ หรือในกาม โดยที่เห็นอยู่ ท่านใช้คำว่าเนกขัมมะเลย บอกไว้แล้ว อาตมาอธิบายเนกขัมมะ ว่าต้องออกจากทั้งกามและโทสะ โดยที่เห็นอยู่ว่า นั่นสงบ อานนท์

ฟังดูคำสั้นๆ แต่ละเอียดลออลึกซึ้ง กินความหมด ที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสนี่ พวกเราคงจะติดอยู่ที่ตรงนี้ เหมือนกันว่า เอ๊ ทำไมเราทำออกไม่ได้นะ ทำไมเราออกจากกามไม่ได้ ทำไมเราออกจากโทสะนี้ไม่ได้ เพราะเราไม่ได้ตรึกตรอง ไม่ได้มีสติสัมปชัญญะ ไม่ได้พิจารณา ไม่มีสติปัฏฐาน ในการที่จะอ่านอารมณ์ มีมุทุภูตธาตุ มีมุทุภูเต ให้จิตแววไว ให้รับรู้ตัวเอง มันเกิดโทสะเมื่อไหร่ ก็รู้อารมณ์นั้น อ่านมัน พยายามเห็นโทษของมัน พยายามพิจารณา เห็นโทษเห็นภัยของมันจริงๆ เลย แล้วก็พยายามละหน่ายคลาย ให้มันจริงๆเลย บอกว่า เอ๊ะ มันมีอยู่นี่ มันเป็นโทษเป็นภัย มันเป็นความตกต่ำ มันไม่ใช่ความเจริญ

ใจเราให้หลุดออกมา ให้แล่นไปจากทิศทาง ที่ควรจะแล่นออก อย่าไปจมอยู่กับอย่างนั้น ให้ออกมาจากกาม ให้ออกมาจากโทสะ ให้ออกมาจากกามวิตก ให้ออกมาจากพยาบาทวิตก วิตกแปลว่าตรึก เพราะฉะนั้น การตรึกนี่ก็คือ การที่กำลังมีอาการ มีอารมณ์อย่างนั้น ตรึกในกาม ก็หมายความว่า กำลังมีความอยากใคร่ ตรึกในพยาบาทก็หมายความว่า กำลังมีความโกรธ กำลังมีความไม่ชอบใจ นี่อาตมาอธิบายพยาบาท ตั้งแต่ตัวสายแรงสุด เรียกว่า โกรธ หรือโทสะแรง จนกระทั่งถึงไม่ชอบใจ มีอาการนิดๆในใจ มันไม่สบายใจ ไม่ชอบใจ มันอยากผลัก บอกแล้วผลัก คือสายไม่ต้องการ สายผลัก สายโทสะ สายดูดคือสายกาม เราอ่านอาการเหล่านั้นมันให้ออกจริงๆ แล้วก็เห็นโทษเห็นภัยจริงๆ แล้วก็ดูอานิสงส์แห่งการออกจาก เมื่อเราไม่มีอาการโทษ อาการโทสะ อาการกามในใจของเราแล้ว เห็นอานิสงส์ว่า นั่นสงบๆ นั่นสงบ อ๋อ มันไม่มีอาการนี้ มันสงบอย่างนี้ สงบไม่ได้แปลว่านิ่ง มีบรรยากาศ นิ่งๆ เงียบๆ ไม่มีเสียง ไม่มีกลิ่น ไม่มีรส หรือนั่งนิ่งๆ เฉยๆ ไม่ใช่! กิเลสมันนิ่ง โทสะมันนิ่ง โทสะมันตาย โทสะมันไม่กระดิกกระดุกแล้ว โทสะมันไม่มีบทบาทอาการแล้ว หรือโกรธ หรือตัวไม่ชอบใจ ก็แล้วแต่ ที่มันมีอาการหยาบ กลาง ละเอียด ขนาดไหนก็แล้วแต่ คุณอ่านอาการของมันให้ออก ว่านี่มันอยู่ในสายโทสมูล

ถ้าอยู่ในกาม ก็ไปอ่านอาการให้ออก ว่าอยู่ในสายกาม ในสายราคมูล หรือโลภมูล อ่านจริงๆ อ่านอาการให้ได้ออก เราจะเกิดญาณรู้รูปนาม หรือรู้อาการลิงคะ นิมิต อุเทศ อุเทศก็คือหัวข้อนี่แหละ หยิบข้อของพระพุทธเจ้า มาอธิบายสู่คุณฟัง นี่อุเทศ มานิเทศให้คุณฟัง อุเทศนี้มานิเทศให้คุณฟังนี่ไง กำลังสาธยาย ขยายความอยู่นี่แหละ เมื่อคุณฟังแล้ว คุณก็ไปอ่านอาการ ลิงคะ นิมิต ของคุณเอง แล้วคุณจะมีอุเทศของคุณเอง คุณก็จะได้รู้จักหัวข้อนั้น ยกขึ้นมาแสดงต่อไปอีกเลย เป็นพระธรรมกถึก ต่อไป เมื่อคุณรู้สภาวะดีแล้ว รู้อะไรจริงแล้ว มั่นใจแล้ว คุณพูดได้ พูดภาษา ไม่เป็นภาษาธรรมะ แบบที่อยู่ๆ ในภาษาวิชาการนี่เลย คุณพูดภาษาของตัวเองเลย เหมือนลูกทุ่งเลย ยังได้เลย แต่คุณจะพูดถูก เพราะคุณมี สภาวะ เหมือนอย่างอาตมานี่ลูกทุ่ง บางทีไปเอาภาษาธรรมะ ของเขามาพูด ยังผิดๆถูกๆเลย เขายังหาว่าอาตมาอธิบายภาษา ที่เขากำหนดเป้าหมายของเขาอย่างนั้น แล้วเราเอามาอธิบาย ถ้าเผื่อไม่เหมือนเขา เขาก็ว่าเอา

แต่อาตมาขอยืนยันว่า อาตมาไม่ผิดพลาดในเรื่องสภาวะ ภาษาอาจจะสับสนบ้าง อาจจะไม่ถูกตรงกับ ที่เขากำหนดยึดได้บ้าง แต่ขอยืนยันว่าโดยสัจจะสาระ โดยเนื้อหาสภาวะแล้ว อาตมาไม่ผิดหรอก เพราะอาตมาอธิบาย มีญาณในสภาวะ อาตมาอธิบายบาลีด้วยญาณ เขาเลยเข้าใจว่า อาตมามีญาณ รู้จักบาลี ในประเภทที่เรียกว่า ก็คงไปรู้จักภาษาบาลี ก ข ค ง เหมือนอย่างที่เขาเรียนพยัญชนะ ไวยากรณ์ อะไรนั้นนะ ซึ่งอาตมาไม่ได้หมายถึงอย่างนั้นเลย พออาตมาว่า อาตมารู้บาลีด้วยญาณ เขาก็หาว่า อาตมาก็คงจะรู้ภาษา อย่างที่เขาเรียนนั่นแหละ พยัญชนะ ไวยากรณ์อะไรพวกอย่างโน้นนะ ซึ่งไม่ใช่ อาตมารู้สภาวะมัน รู้บาลี แม้ภาษาบาลี ที่บอกสภาวะ อาตมาก็รู้สภาวะมันในบาลี รู้บาลีเป็นสภาวะ ไม่ใช่รู้บาลีเป็นภาษา อาตมาไม่ได้รู้บาลีเป็นภาษา เหมือนอย่างที่เขาหมาย นี่มันก็เข้าใจกันไม่ได้ เขาก็ไม่เข้าใจ เขาก็มองไปอีกอย่างหนึ่ง อาตมาก็ไม่รู้จะไปเถียงเขาทำไม อาตมาก็ไม่ไปเถียงเขาหรอก เขาว่าก็ว่าไป อาตมาก็รู้ว่าหมายไม่ถูก เขาเข้าใจอาตมาไม่ถูกก็แล้วไป ก็เท่านั้นเอง

ในความหมายที่ พระพุทธเจ้าท่านตรัสไว้นะ เนกขัมมะคือ การหลีกออกจากกาม หลีกออกจากโทสะ ที่อาตมาบอกแล้วว่า เนกขัมมะแปลว่า การหลีกออก การหลุดพ้นออกไปให้ได้ หลุดพ้นจากอะไร ก็อันนั้นแหละ จนสงบ ปวิเวกะ จนสงบ สงบก็คือออกไปได้อย่างสนิทเลย หรือในจิตวิญญาณเรา ในจิตวิญญาณเราสงบแล้ว ไม่มีกิเลส ไม่มีตัวกาม ตัวโทสะ หยาบไม่มี กลางไม่มี ละเอียดยิบไม่มี ไม่มีธุลีละอองของกิเลสพวกนี้ ถอนอาสวะ ถอนอนุสัยกิเลสสิ้น ถอนอาสวะสิ้น โน่นแหละ สงบสนิท แต่มันสงบลงไปบ้าง สงบลงไปกลางๆ สงบลงไปได้ แต่ก่อนมันจัดจ้าน เดี๋ยวนี้มันสงบลงบ้าง ก็รู้ความจริงให้ได้ ไล่เรียงมันให้ได้จริงๆ

เราลองทำดูนะ ทำแบบฝึกหัดที่ว่าดู พระพุทธเจ้าท่านตรัสนี้เข้าใจใช่ไหม เพราะว่าโทษในกามทั้งหลาย เป็นสิ่งที่เรายังมองไม่เห็น ยังไม่ได้นำมานึกคิดให้มาก และทั้งอานิสงส์แห่งการออกจากโทสะ หรือออกจากกามนี่ เราก็ยังไม่เคยได้รับเลย เราจะยังไม่เคยได้รับล้วยังไม่เคยรู้รส มันออกจากมาแล้ว รสมันเป็นยังไง เป็นวิมุตติรส แต่ก่อนมันเป็นแต่โลกียรส ก็ยังไม่รู้อีก

ต้องทำจนกระทั่ง เข้าใจด้วยญาณของตัวเอง สัมผัสเอง รู้รสเองเลย เหมือนช้อนอยู่ในชามแกงเองเลย ไม่ใช่ว่าคนอื่นชิมแกง แล้วบอกว่าอร่อยไหม เออ อร่อยตาม ที่จริงนะ เราต้องชิมแกงเอง เราต้องรับรส ที่มันพ้นแล้ว ไม่มีโทสะแล้ว มันเป็นความสงบแล้ว มันออกจากโทสะ มันออกจากกามอย่างนี้ มันเป็นรสยังไง วิมุตติรสนี้ วิมุตติรสก็คือ รสที่หลุดพ้นจากที่เราจะละออกมา ให้ได้แล้ว มันจะต้องเห็นจริง มันถึงจะมีจิตแล่นไปได้ดี จิตหลุดออกไปได้สนิท

เราต้องมาพยายามทำดู แบบฝึกหัดพวกนี้ มันจะทำให้เราได้นึกได้คิด ได้ซักซ้อม ได้อ่าน แม้จะมีอุปกรณ์พวกนี้ เป็นการทำให้เคี่ยวข้นขึ้น อย่างที่อาตมาบอกแล้ว มันจะได้ทำละเอียดลออ เคี่ยวข้นขึ้น


จัดทำโดย โครงงานถอดเท็ปฯ
ถอดโดย ประสิทธิ์ ฝ่ายทอง
ตรวจทาน ๑ โดย สิกขมาตปราณี ปึงเจริญ ๘ ก.ค. ๓๗
พิมพ์โดย ทองแก้ว ทองแก้ว ๑๖ ก.ค. ๓๗
ตรวจทาน ๒ โดย โครงงานถอดเท็ปฯ ๒๕ ก.ค. ๓๗
เข้าปกโดย สมณะพรหมจริโย
เขียนปกโดย พุทธศิลป์