ที่นี่...ตอบทุกปัญหา ๖
ตอบ:
เรื่องของประชาธิปไตย ก็ควรจะมีความขัดแย้งอันพอเหมาะ "แตกต่าง" อย่าด่วน สรุปว่า "แตกแยก" ความสามัคคี คือสภาพของสังคมที่มีความขัดแย้งอันพอเหมาะ นี่คือ ความสามัคคีตามสัจธรรม ที่เป็นจริง ไม่มีหรอกในโลก ที่ความสามัคคีของคน จะไม่มีความขัดแย้งเลย ไม่มีในโลก ไม่มี! อย่าไปหวัง จากที่ไหน ไม่มีในโลก

ประชาธิปไตยนี่เป็นระบบของความสามัคคีชนิดหนึ่ง ที่อิสระเสรี มีความแตกต่างหลากหลาย จึงมีฝ่ายค้าน มีฝ่ายเสนอ ชีวะต้องมีพัฒนาการแน่นอน ต้องมีแปลก มีใหม่ มีเก่า มีต่างกันแน่นอนที่สุด จึงจะเจริญ งอกงาม ผู้มีปัญญาดี ต้องเข้าใจความจริงประเด็นนี้ แล้วก็ต้องประนีประนอมกันไป ถ้าเผื่อว่า เขามีคุณธรรม เขาก็ไม่เอา ชนะคะคาน แบบโง่ๆ จะประมาณให้ถูกเลยว่า เออ-อันนี้มันไม่ได้หรอก ถ้าหักด้ามพร้า ด้วยเข่าแล้วตอนนี้ ทั้งเจ็บตัว ทั้งของพัง ไม่ดี อนุโลมกันก่อน ยืดหยุ่นกันบ้าง หรือถ้า ยืดหยุ่นจะเสียหาย ก็ยืนหยัดเสียบ้าง แต่เราก็พยายาม ต้องมีความฉลาด ที่จะจัดการตามหลัก ตามเกณฑ์ ตามระเบียบวินัย ทำความเข้าใจกัน ตกลงกัน ด้วยแบบ ด้วยวิธีอย่างปัญญาชน ถ้อยทีถ้อยเห็นใจกัน

สุดท้าย "ต่าง" ก็ให้รู้ว่าต่าง แค่ไม่เหมือนกัน (นานา) แต่ก็ยังอยู่ร่วมกัน (สังวาส) หรือแม้จะมีลักษณะ ต่างกัน มากไป ถึงขั้น "แตกแยก" แบ่งพรรค (เภท) ก็ไม่จำเป็นต้องเป็นข้าศึก (อริ) เป็นศัตรู ที่มุ่งร้าย รุนแรงกันก็ได้นี่ ธรรมชาติของความถูก -ความผิด มันจะเป็นไปตามบทขัดเกลา (สัลเลข) กันเอง ขอเพียง ต่างคน ต่างตั้งใจ เพียรพยายาม ลดละโลภ-โกรธ-หลง ของตนๆกันจริงๆ เป็นกิจปฏิบัติในสังคมนั้นๆ อยู่จริง เท่านั้นแหละ ผู้เป็นปราชญ์ จะเห็นจริงและเห็นใจ "ความต่าง" แม้กระทั่ง "ความแตก" และ มั่นใจ ในความถูกต้อง หรือ ความจริงว่า จะเป็นตัวชนะ หรือยั่งยืนอยู่ได้อย่างแข็งแรง สภาพมั่นคง โดยไม่ใช่ว่า จะไปทำอะไร ก็เอาแต่อำนาจ อำเภอใจตน ทุกประตู ทุกประการ ไม่ได้หรอก แม้เราจะแน่ใจว่า เราถูกต้อง ก็ต้อง ให้เกียรติ ความเชื่อมั่น ของคนอื่น เขาบ้าง ต้องเผื่อว่า เราก็อาจจะผิดก็ได้ มิใช่จะแข็งขืนดื้อ เอาแต่ อัตตามานะ เป็นอารมณ์ ก็ต้องให้โอกาสกันพิสูจน์

การต้องอยู่เป็นสังคมเดียวกัน ประเทศเดียวกัน ต้องรู้จักยืดหยุ่น ต้องรู้จักผ่อนสั้นผ่อนยาว หรือแม้แต่ จะยืนหยัด ก็ไม่ใช่เราเท่านั้น ที่มีสิทธิ์คนเดียว ต้องรู้จักอนุโลมปฏิโลม ตามกาละ ตามเหตุปัจจัย ที่พอเหมาะ พอดี เขาบ้าง เราบ้าง ให้พอเป็นไป เราจะรีบรัด เราจะรีบเร่งอะไรทันที เอาพรวดๆๆ ทำอะไร โดยไม่มีกาละ โดยไม่มีการประเมิน ประมาณสัดส่วน ของเหตุปัจจัย ไม่ได้

สมมุติว่า อันนี้คือสิ่งที่ดี แต่คนในพื้นนี้ส่วนมากทำสิ่งที่ดีนี่ ยังไม่ได้น่ะ มีคนร้อยคน แต่มีสมรรถภาพพอ จะทำสิ่งที่ดีนี้ได้นั้น มีเพียง ๕ เพียง ๑๐ คน เป็นคะแนนเสียงส่วนน้อย แล้วคนทำสิ่งที่ดี จะต้องลด ตัวความดี ของตน ลงมา เช่นนั้นหรือ? ก็ไม่ถูก! คนที่ทำสิ่งที่ดีนั้นได้แล้ว ก็ต้องคงความดีที่สุด ที่ตนทำได้ แล้วนั้น อยู่อย่างนั้นแหละ จะไปลดหย่อนตนเอง ลงมาทำไม? หรือให้คนที่ทำดี ได้เต็มคุณภาพนั้น ลดคุณภาพ ความดี ของตนลงมาทำไม? ผู้ที่ยังทำความดีให้ถึงขั้นนี้ ยังไม่ได้ นั่นต่างหาก ค่อยทำดี ตามขั้น ที่มันย่อมต่ำกว่าขั้นสูง ที่ตนทำไม่ได้ ค่อยๆไต่ขึ้นไปเรื่อยๆ และยอมรับว่า ตัวเองยังต่ำ แล้ว อนุโมทนาสาธุ ชื่นชม ยกย่องผู้ที่ทำดีขั้นสูง ได้แล้ว เรายังต่ำ ก็พากเพียรอบรมฝึกฝน ให้ได้ดี ไต่สูงขึ้นไปๆ สิ ไม่ใช่กลับไปตีคนดีว่า "ผิด" แล้วก็สับปลับ หาว่า "เลว" ว่า "ร้าย" โดยไปจับผิดเล็กๆ น้อยๆ มาเป็นข้ออ้าง ประกอบ แล้วกระหน่ำหนัก ตีกลบ ตีทิ้งไปเลยว่า "เลวแสนร้าย" ต้องรีบปราบ รีบทำลาย ให้สิ้นซาก

แต่คนที่ทำดีถึงขั้น ยังไม่ได้นั้น กลับเรียกร้อง อยากให้คนทำดีได้เข้มๆสูงๆนั้น ลดตัวลงมา ทำเท่าขนาด ที่ตนทำได้ โดยอ้างเหตุผลว่า จะได้ไม่ "แตกต่าง" จะได้ไม่เกิด "ความแตกแยก" จะได้เหมือนๆกัน เป็นอันหนึ่ง อันเดียวกัน จึงจะเรียกว่า สามัคคี ไม่แตกแยก อ้างไปโน่น หรือไม่ก็อ้างว่า เราไม่ยืดหยุ่น ไม่อนุโลม ลงไปทำตามผู้อื่นบ้าง เกินไปบ้าง สุดโต่งบ้าง ยึดมั่น ดื้อรั้น สารพัด อะไรต่างๆ ซึ่งเราก็รู้อยู่ แต่ผู้ต้องการ หาเหตุไปอ้าง เพื่อโจมตี พวกชาวอโศก ก็จะหาแง่เหตุผลอย่างนี้แหละ เป็นต้น มาโจมตี ประกอบ ก็หาเรื่องได้มากมาย คล้ายๆอย่างนี้ ทั้งนั้น เราก็ไม่ไหวเหมือนกัน ที่จะแก้ข้อกล่าวหา เพราะเขา ก็ฉลาดมาก ที่ช่างจับเชิงมาอ้าง เพื่อโจมตี และมีพวกมากด้วย เราก็ชี้แจงได้เท่าที่มีโอกาส ทำไป เท่าที่ทำไปได้ หรือเท่าที่มันจะเป็นไปได้

นี่เป็นเรื่องที่จะต้องเข้าใจอย่างดี อย่างถูกต้อง จริงๆนะ ไม่อย่างนั้น มันไม่ได้ มันไม่เจริญ มันแก้ปัญหา พวกมาก ลากไปไม่ได้ มันพัฒนาสังคม ที่ล้มเหลวแล้วไม่ได้

เพราะฉะนั้น ในหลายๆอย่างนี่ เรารู้อย่างนี้เข้าใจอยู่อย่างนี้ คนของพวกเราชาวอโศกนี่ มีไม่มากหรอก ทำงานอยู่ .....เราก็ยอมยืดหยุ่นเขาอยู่ตลอดเวลา แต่จะให้เราลดดี หย่อนยานลงไปหาไม่ดี -ไม่มีศีล เราก็ไม่ทำ ดังที่กล่าวมาแล้ว ไม่ต้องเอาอะไรมากหรอก แค่เรากินน้อยมื้อ ก็จะให้เราทำตัวมากิน เหมือน ธรรมดาทั่วไป ที่เขากิน เหมือนส่วนใหญ่... ว่างั้น เราไม่แต่งสวย แต่งรูปอย่างที่เขาขวนขวายกัน ก็จะให้เรา ขวนขวาย อย่างเขา เราก็อนุโลมบ้าง ไม่อนุโลมบ้าง เท่าที่พอทำได้ ก็ไม่ค่อยพอใจ ยิ่งเรื่องลึกๆ ไปถึงขั้น ความโลภ ผลประโยชน์ ที่เราเห็นอย่างหนึ่ง เขาก็เห็นไปอีกอย่างหนึ่ง เขาจะเอาอย่างที่เขาเห็น มันก็เลย ต้องขัด ต้องแย้งกันบ้าง อยู่อย่างนั้น ที่จริงมันก็ไม่มีปัญหาอะไร มันก็เป็นสัจธรรม มันก็ต้องดึงกันไป ดึงกันมา อยู่อย่างนี้ ตลอดเวลา มันก็เป็นธรรมชาติของการเจริญหรือเสื่อม ซึ่งกำลังพิสูจน์ ความไม่เที่ยง ที่เป็นอยู่ ปัจจุบัน ก็คือ มันได้แค่นั้น

ถ้าเรื่องคุณธรรม เรื่องศีลธรรมไม่มีถ่วงมีดุลไว้เลย ไม่ว่าพรรคไหนๆ มีแต่หรูหรา ฟู่ฟ่า ฟุ้งเฟ้อ ไม่มักน้อย ไม่สันโดษ ต่างก็มีแต่ จะพัฒนาการล่า การโลภ ไม่เรียนรู้และฝึกฝนอบรมตน ให้เป็นผู้ได้ลด โลภน้อยลง - โกรธน้อยลง - หลงผิด น้อยลงๆกันจริงๆจังๆ มันจะเป็นผู้เสียสละกันจริงๆ ยิ่งๆขึ้น กันได้ง่ายๆ นักหรือ? มันก็ได้แต่เจริญโลภ - เจริญโกรธ -เจริญหลงในโลกธรรม มีแนวโน้มที่จะไปล่าลาภ ล่ายศ ล่าสรรเสริญ ล่าโลกียสุข เพิ่มขึ้นๆ หนาขึ้น ตามความเป็น "ปุถุชน" ซึ่งถ้าไม่ปฏิบัติเพื่อลดละกิเลสกันจริง จะไม่มีทางลด มีแต่จะ "หนา" เพิ่มขึ้นๆ จริงๆ ตามสัจธรรม แห่งความเป็น "ปุถุ" คือต้องหนาเพิ่มขึ้นๆ จะไม่ใช่บางลงๆ แม้จะตั้งใจ ปฏิบัติจริงแท้ๆ แต่เรียนรู้ ไม่เป็นสัมมาทิฏฐิจริงแล้ว จะหมดกิเลสจริงเกลี้ยง ถึงขั้นถอน อนุสัยอาสวะ ก็อย่าหวังเลย

เอาแต่พูดนี่ ใครๆก็มีสามัญสำนึกที่จะพูดโก้ๆได้...มาเสียสละ...มาทำเพื่อผู้อื่น...มารับใช้ประชาชน ... และ ก็เชื่อมั่นว่า ตนเองดี ตนโลภน้อยแล้ว ไม่มาเอาเปรียบ ไม่มากอบโกยอะไรหรอก ความขาดทุน - ความกำไร แบบโลกุตระแบบ อริยบุคคลจริงๆนั้น เข้าใจได้ เชื่อตามได้จริงหนะหรือ? ความโลภ -โกรธ -หลง มันลดละ กันง่ายๆ หนะหรือ?

ธรรมดาน้ำแม้จะอยู่ที่สูง ถ้ายังไม่มีช่องมีร่อง มันก็จะยังไม่วิ่งลงที่ต่ำ แต่เมื่อมีช่องเมื่อไหร่ มีเหรอ น้ำมันจะอยู่นิ่ง นี่ก็ลาภ นี่ก็ยศ นี่ก็อำนาจ นี่ก็สิ่งจะต้องบำเรอใจ บำเรอความสุขทั้งนั้นเลย เมื่อไม่เรียนจริง เขาจะไม่รู้จริงๆว่า ไปโลภเอามานั่น เขาเสีย เขาไปได้เปรียบมานั่น เขาบาป! เขาไม่เคยรู้ หรือแม้รู้ ก็ใช่ว่า จะเชื่อลึก เชื่อมั่นอย่างนี้กัน ได้ง่ายๆ เขานึกว่านี่ เป็นตามน้ำ นี่เป็นสิ่งแลกเปลี่ยน ก็ต้องเอา เป็นเรื่องปกติ จริงๆนะ ใช่ไหม?

เพราะฉะนั้น มันจะไปเหลืออะไรล่ะ เขายังไม่มีช่อง เขายังไม่มีโอกาส เขาก็พูดสวย แต่พอมีโอกาสเถอะ เขาอด ไม่ได้หรอก เพราะเขาไม่ได้มาปฏิบัติธรรม เขาไม่ได้ลดละ แล้วเขาไม่ได้มี ความจริงที่ใจว่า เป็นใจของ โลกุตรบุคคล หรืออริยบุคคลแท้ เขายังมีความเห็นเป็นโลกียะอยู่ จิตยังไม่ได้ลดละกิเลสจริง ยังซื่อสัตย์ไม่แท้ ไม่แข็งแรงพอ อำนาจลาภ-ยศ-สรรเสริญ-โลกียสุข ถ้ามันมากขึ้นๆ ถึงขีดแล้ว ทำนบของจิต ที่เป็นโลกียะ จะพังจนได้ เพราะฉะนั้น ไว้ใจคนโลกียะได้ ยากกว่าคนโลกุตระ

เราจะเห็นว่า นักอุดมการณ์ก็ดี เป็นนักศึกษาก็ดี อะไรก็ดี ในระยะแรกๆ ที่ยังไม่มีช่อง ยังไม่ได้บัลลังก์ ก็ดูพูด ดังทำดีกัน ทั้งนั้น แต่พอเข้าไปได้ช่อง ได้บัลลังก์ก็เงียบ... เงียบ พอพ้นคราบนักศึกษา ไปมีภาระ ครอบครัว พอไปทำงานทำการ พอได้ช่องได้ทางก็เงียบ อีตอนเป็นนักศึกษา มันยังไม่มีช่องหรอก มันยัง ไม่มีบัลลังก์ ลาภ-ยศอะไร มันยังไม่มี แต่เดี๋ยวนี้ก็ชักจะมีๆขึ้นแล้วนะ ก็เพียงเป็นหัวหน้ากลุ่ม เดี๋ยวนี้น่ะ มีพรรค มีอะไร อยู่ในมหาวิทยาลัย อะไรเดี๋ยวนี้ ยังมีเลย ยังมีส่วนได้ส่วนอะไร นี่ยังโดนซื้อ โดนอะไรกันเลย จะเอาอะไรกันมาก ยังไม่ต้องไปถึงขนาด ขั้นสูงขั้นใหญ่โน้นหรอก แล้วพวกรุ่นระดับการเมือง พวกนี้รู้ ทั้งนั้นแหละ รู้ทางหมดแหละ ซื้อ แม้นักศึกษา นักอะไรต่ออะไร พวกนี้ก็ซื้อแล้ว มีซื้อเสียง ซื้อตัวกัน จ่ายผลประโยชน์กัน หัดตั้งแต่ตอนนี้แล้ว หัดตั้งแต่ ตอนเป็นนักศึกษานี่แล้ว บางคนในยุคนี้ สมัยนี้ แต่นักศึกษา ที่บริสุทธิ์ ซื่อสัตย์อยู่ ก็ดูจะมีมากกว่า อยู่หรอกนะ ที่ขบถ หรือชักไม่บริสุทธิ์นั้น ก็ระดับ มีอำนาจ มีอะไรขึ้นมา จนคนซื้อเขาคุ้ม ในการลงทุนเท่านั้นแหละ

ถาม: ลูกหลานมันก็มี
ตอบ: มี...มันเป็นเรื่องจริงอยู่ทั้งนั้น เพราะฉะนั้น หลักประกันจริง ก็คือ สัจธรรมที่ผู้นั้นมาเห็น ความจริงเลย ในความจริงนั้น ก็คือ ผู้นั้นเกิด "สัมมาทิฏฐิ" แล้วก็ฝึกปฏิบัติตนลดละกิเลส จนเกิด "ญาณ" รู้แจ้ง เห็นความจริงว่า ไปเอามา ให้แก่ตัวมากๆ หรือไปเอาเปรียบ เอารัดเขามาได้นั้น มันไม่ใช่ "กำไร" แต่ตาม สัจธรรม มันคือขาดทุน ที่แท้จริง ในคุณค่าของชีวิตคนผู้นั้นๆ ผู้นั้นจะเห็นเป็นความสำคัญ เชื่อมั่น ในกรรม ในการกระทำของคน จริงๆว่า นั่นคือ สัจจะ ใครทำอย่างไร ก็ต้องได้อย่างนั้น มีอย่างนั้น เป็นทรัพย์ เป็นสมบัติ เป็นวิบากติดตัวติดตนไป แน่ๆ แท้ๆ จริงๆ ออกผลเป็นทุกข์เป็นสุข เป็นเจริญ เป็นตกต่ำ ตามความชั่วหรือบาป - ความดีหรือบุญ กันจริงๆ นี่เป็น "ทรัพย์" หรือเป็น "สมบัติ" ติดตัวตน ที่แท้ ตลอดกัป ตลอดกาล ตราบที่ผู้นั้นยังไม่ "ปรินิพพาน"

เช่น ได้เปรียบมานี่ เป็นความขาดทุน "ญาณ" ของผู้นั้นจะเห็นจริงเชื่อจริง เป็น "ความรู้ที่มีหลักฐาน ของความเป็น ความมีของจริง ในตนเอง" และใน "ความเชื่อ" ก็มีน้ำมีเนื้อ เกินความเชื่อแค่คำว่า "ศรัทธา" ธรรมดาๆ คือ แค่ "เชื่อถือ" มาเป็นขั้น "ศรัทธินทรีย์" คือ "เชื่อฟัง" สูงขึ้นๆ คือได้ปฏิบัติตามจนได้ จนมี จนเป็น ขึ้นมาให้ตัวเรา ได้สัมผัสผลจริงนั้นๆ เป็นหลักฐาน

เป็นต้นว่า ในจิตใจมีกิเลสโลภนั้นๆ ก็จับสภาพนั้นๆของตนได้ เมื่อปฏิบัติไป ก็เห็นความจริง ที่ได้ปฏิบัติ เห็นสภาวะ ของกิเลสโลภนั้นๆ ลดลงจริงๆ และรู้รสของอารมณ์ที่กิเลสโลภลด เห็นจริงว่า ไม่อยาก ได้เปรียบนั้น เป็นสุข ไม่เอาเปรียบเขาจริงๆนั้นสบายเบา และมีคุณค่าจริงๆอย่างไร เห็นคุณค่าของตนเอง ที่ได้กระทำ ยิ่งได้เสียสละ จริงๆ ยิ่งเห็นคุณค่ายิ่งขึ้น หรือ เห็นกิริยาของจิต ที่เป็นกิเลสโลภนั้น มันร้อน ร้อนจริงๆ! รับรสร้อน นั้นจริงๆ ร้อนกว่าจิตที่ไม่โลภ มาเพื่อตนจริงๆ ดังนี้เป็นต้น

ก็เป็นสภาพของความเป็นได้ เป็นจริง เป็นการพัฒนาทางจิต เป็นการเกิดจริงทางจิต ของเราเอง เมื่อมีน้ำ มีเนื้อ มากขึ้นๆ และมีจนสะอาดจริงในบางเรื่องที่เราทำได้ จนความเชื่อก็เป็น "ศรัทธาพล" มีผลสมบูรณ์ มีปัญญาขั้น "ปัญญาพล" หรือขั้น อภิญญา ขั้น ญาณทัสสนะ กันจริงๆ ความเป็นโลกุตรจิต - เป็นโลกุตรบุคคล นี้มันเป็นไปได้ เราก็จะรู้แจ้งขึ้นๆ เห็นจริงขึ้นๆ และคนที่จะมาถึงความจริง ในระดับนี้ มันไม่ใช่ เรื่องง่ายๆ แต่เราก็ต้องการ คนอย่างนี้ ที่จะกอบกู้สังคมขึ้นมา ให้สุขเย็น (วูปสมสุข) จึงจะกอบกู้ หรือ เป็นไปได้ "จริง" ไม่เป็นได้แค่ "ลวงๆ" หรือ ไม่เป็นได้แค่สุขร้อน (สุขัลลิกะ)

ทุกวันนี้เขาแก้ปัญหากันโดยทั่วไป ส่วนใหญ่ไม่ได้แก้ปัญหาด้วยศาสนา หรือด้วยคุณธรรมจริงๆ จังๆ เลย จะเป็น ญี่ปุ่นก็ตาม จะเป็นอเมริกาก็ตาม หรือ สวีเดน จีนแดง รัสเซียก็ตาม ที่เห็นว่า ทุกวันนี้ อุดมสมบูรณ์ ด้วยวัตถุ อุปโภค บริโภคเจริญกันต่างๆ ยิ่งไม่ต้องไปพูดเลย ถึงแม้บางประเทศจะเชื่อกันว่า เคร่งศาสนา แต่ก็เป็นได้แค่ โลกียธรรม ไม่หลุดพ้นอย่างอิสระเสรีแท้แบบโลกุตระ อย่างเก่งก็แค่กดข่ม หรือแค่บังคับ กันไว้ให้ได้ เท่านั้นเอง ตะวันออกกลาง มีทรัพยากรในแผ่นดินที่โลกต้องใช้มาก ก็เลยร่ำรวย ก็ยิ่งบำเรอตน ยิ่งเสพติด สุขัลลิกะ และ ยิ่งฟูอัตตามานะ ยิ่งเห็นแก่ตัว เอาแต่ใจตัว แล้วกระด้าง เกะกะหนักขึ้นๆ เท่าไหร่ๆ ยิ่ง "เอาเปรียบ" มาก ขึ้นๆ เท่าไหร่ๆ แต่แล้วเขาก็ยังไม่เข้าใจว่า "ยิ่งได้เปรียบ ยิ่งขาดทุน" ซึ่งต่างกับ ชาวภูฐาน ที่เขาสันโดษ มักน้อย กันคนละรูปเลย เอาละมุมเหลี่ยมนี้ ก็ขอผ่านไปก่อน

มาดูอย่างญี่ปุ่นกับอเมริกา ที่กำลังโด่งอยู่ขณะนี้ซิ เดี๋ยวนี้เขาก็ยังไม่รู้ตัวว่า เขาเดือดร้อนมากที่สุดเลย เพราะว่า ไอ้การฉ้อฉล ขับเคี่ยวกัน ยิ่งฉลาดที่จะเอาเปรียบเอารัดพวกนี้ จึงทำให้ต้องแข่งขันๆๆๆ ต้องเอา ชนะคะคาน หยุดไม่ได้ พักไม่ลง มีแต่อัตราการก้าวหน้าของการแข่งขัน ที่ไม่รู้ขอบเขต ไม่มีจุดพอ ไม่คำนึง ถึงผลเสียของ "ความมากไป" โดยเฉพาะ ความมากไปของวัตถุ กับแรงงานที่เกิน ที่ยิ่งไม่สมดุล กับอารมณ์ ทางจิตวิญญาณ เพราะอำนาจของกิเลส และอวิชชาที่ยิ่งซับซ้อนทับทวี มันก็เลยยิ่งทรมาน มากขึ้นนะ ยิ่งไม่มี สุขเย็นได้เลย

ทุกวันนี้ญี่ปุ่นกำลังรณรงค์เพื่อที่จะให้ลดการทำงาน เพราะว่ามันจะเป็นโรคประสาท แล้วสุขภาพชีวิต มันแย่หมด เฉลี่ยแล้ว คนญี่ปุ่นทำงานวันหนึ่ง ๑๐ ชั่วโมง หรือวันหนึ่งไม่ต่ำกว่า ๘ ชั่วโมง แล้วเครียดมาก (ที่จริง คนที่กิเลส น้อยแล้วจริง จะทำงานได้มาก เกินวันละ ๑๐ ช.ม. ไม่เครียด) เมื่อทำมาก สร้างมาก รวย! จริง! เพราะว่าเขา ทำงานกัน คนเราเมื่อทำงานมากๆ มันก็มีผลผลิตมากๆ มันก็ต้องมีส่วนได้มาก แล้วก็มีวิธี การโฆษณาขายมาก ออกต่างประเทศ มีคนซื้อ มีลูกค้ามาก มันก็ต้องได้ ไม่มีปัญหาอะไรหรอก มันก็ร่ำรวย แต่ร่ำรวยแล้ว ชีวิตเป็น อย่างไรล่ะ ทุกคนอยู่ในหัวนี่... มีแต่จะได้เปรียบ ได้เปรียบๆๆๆๆๆๆ ได้มาก ๆๆๆๆ ได้ครองอำนาจ ได้ครอง ความเป็นผู้ชนะ ผู้เป็นที่หนึ่ง ผู้เหนือที่หนึ่ง ผู้เหนือกว่าใครๆ เครียด!

คนที่ดีใจเพราะตน "ได้เปรียบ" นี่นะ ลึกๆของสำนึกในจิตมนุษย์นี่ มันรู้นะ ว่ามันไม่ดี มันรู้ ลึกๆมันรู้ หรือคนที่ "มีของตนมากๆ" เหนือกว่าคนอื่น แล้วก็เห็นคนที่ขาดแคลนอยู่ เมื่อตนเห็นเขาทุกข์ แต่ตน ก็ไม่ได้แบ่ง ความเกื้อกูล ออกไปให้ ตนยังเอาแต่ได้เปรียบอยู่ ผู้มีสำนึก หรือผู้ไม่อำมหิต ไม่มืดบอด จนเกินไปนั้น ลึกๆ ของคนผู้นั้น คนที่เป็น มนุษย์นะ ไม่ใช่ "อมนุษย์" คือ หมายถึง "มนุษย์ หรือ มนุสโส" ซึ่งต้องเป็น ผู้มีจิตสูงนะ! ผู้ที่มีสำนึก หรือภูมิธรรม อยู่ในระดับที่ นับว่ามนุษย์ได้นั้น จะรู้ค่าของความดี - ความชั่ว ความเป็นกุศล หรือยังไม่เป็นกุศล แม้ตน จะขี้เหนียว ลึกๆมันก็รู้ มันรู้! ดังนั้น มันจึงเป็นทุกข์ กันอยู่ แม้ตัวเอง มันก็ทุกข์ลึกๆ

เพราะฉะนั้น คนที่ได้สำนึก และเป็นคนมีความตั้งใจใฝ่เจริญ ก็จะ "ยังกุศลให้ถึงพร้อม" เขาก็ทำบุญ เขาก็ ทำทานอยู่ บริจาค และในเรื่องทำทาน หรือบริจาคนี่แหละ มันก็ซับซ้อน มีบริสุทธิ์ หรือไม่บริสุทธิ์ อีกมากขั้น มากอย่าง บ้างก็ทำทานอย่างเป็นเล่ห์กล เพื่อจะได้กลับคืนมา ในชาตินี้แหละ มากกว่า ที่ได้ทำทาน ได้บริจาคไป บ้างก็หวัง จะได้กลับคืน ตอบแทนในชาติหน้า บ้างก็ทำ เพื่อเป็นการโฆษณา ให้แก่ตนเอง ในแง่นั้นเชิงนี้ ยังมีอีกเยอะแยะ อีกซับซ้อน ไอ้นั่นมันธรรมดามากอยู่แล้ว

แต่คนที่ไม่มีจิตอย่างนี้ ไม่คิดอย่างนี้เขาก็นึกว่าเขาทำทานบริสุทธิ์ ได้เสียสละสมบูรณ์ ถึงอย่างนั้น มันก็ยังมี รายละเอียดอีก มิใช่จะสมบูรณ์กันง่ายๆ คนที่ให้ทานหรือผู้บริจาค ก็มิใช่หมายความว่า คนผู้นั้น จะชื่อว่า ผู้เสียสละ สมบูรณ์ทันที "ผู้บริจาค" อาจจะยังไม่เข้าขั้น "ผู้เสียสละ" อย่าเข้าใจตีขลุม เอาแค่เผินๆ ต้องศึกษา ถึงเนื้อหา ของมันดีๆ ทั้งทางด้านจิตและทางด้านวัตถุ

เช่น ประเด็นแรก ถ้าผู้บริจาคนั้นไปเอาเปรียบผู้อื่นมาก่อนแล้ว แล้วเขาจึงมาบริจาค อย่างน้อย มันก็เสียท่า ตรงที่เขาไป "ก่อกรรม" เอาเปรียบอันเป็นอกุศลกรรมแก่ตนมาแล้ว ก็เป็น "กรรมที่เป็นบาปของเขา" แล้ว แถมส่วน ที่เขาบริจาคนั้น ก็ไม่เชื่อว่า เป็นของเขาโดยแท้ แต่ก็ดีแล้วที่บริจาค เพราะถ้ายิ่งไม่บริจาค ก็ยิ่ง เป็นหนี้ ยิ่งเป็นบาป อยู่อย่างนั้น ไม่มีบุญใดขึ้นมา หักค่ากันบ้างเลย ประเด็นหนึ่งนี้ จึงเห็นได้ว่า เขาไม่ได้ เสียสละ ส่วนของเขา อะไรเลย

ประเด็นที่สอง ในการบริจาคของคนส่วนมาก ที่จิตยังไม่ถึงขั้นกล้าเสียสละ ก็จะบริจาค อย่างไม่เป็น การเสียสละ อยู่อีกนั่นเอง มันยังไม่เป็นการเสียสละที่สมบูรณ์โดยชอบ ซึ่งไม่บริสุทธิ์ทางจิต อาตมา ก็ได้กล่าวผ่านมาแล้ว ก็ตามนั้น ทีนี้ แม้ทางวัตถุก็ไม่สมบูรณ์โดยชอบ ตรงที่ว่า มันยังไม่หมด "ส่วนที่ได้เปรียบ" ส่วนที่ได้เปรียบ คือ ค่าชนิดหนึ่ง คือ ของจำนวนหนึ่ง ซึ่งไม่ใช่ "เท่าทุน" และไม่ใช่ "ส่วนที่ เสียสละ" เมื่อคุณหรือใครก็ตาม ทำกรรม "เอาเปรียบ" มันก็เกิดความจริง มีค่าของ "กรรม" ตามจริงนั้นๆ นั่นหนึ่ง กรรมเอาเปรียบเกิดก่อน แล้วไปบริจาค และที่บริจาค คุณบริจาคเท่ากับที่ได้เปรียบมา หรือ ทานออกไป มากกว่าที่ได้เปรียบมาไหม? สมมุติว่า คุณได้เปรียบ มา ๑๐ คุณจะบริจาค ๑๐ ไหม หรือ จะบริจาคมากกว่า ๑๐ ไหม? ไม่หรอก! อย่างเก่ง... คุณก็บริจาค ๙ หรือไม่เก่งก็บริจาค ๕ หรือบริจาค ๒ บริจาค ๑ กันไปยังงั้น นั่นแหละ ไม่บริจาคมาก เท่าที่ได้เปรียบ มาทั้งหมดกันง่ายๆหรอก เมื่อยังไม่ได้ บริจาคจนเกิน "ส่วนที่ได้เปรียบ" มา แล้วจะนับว่า เป็นการเสียสละแท้ๆ ได้ล่ะหรือ?

ประเด็นที่สาม ความละเอียดลออซึ่งต้องตรงกับความลึกซึ้งของ "ค่าที่ได้เปรียบ" จะต้องสุจริต ยุติธรรม เพราะปุถุชน คนที่ยังไม่ได้ลดกิเลสจริงนั้น จะตีราคาค่าตัวสูงไว้ก่อนเสมอ จึงไม่ค่อยรู้ตัว หรือไม่ค่อย รู้ค่า ที่จริงว่า ตัวเอง เอาเปรียบมาจริงๆ เท่าไหร่ ส่วนมากจะไม่ยุติธรรม มักจะตีราคาเข้าข้างตัวเอง

ถึงกระนั้นก็ตาม ค่าที่คุณเอาเปรียบมา ๑๐ แล้วบริจาค ๙ มันก็ยังได้เปรียบอยู่อีก ๑ มันยังไม่ได้เสียสละนี่ ถ้ายิ่งเอาเปรียบมา ๑๐ แล้วบริจาค ๑ บริจาค ๒ อยู่แค่นั้น เมื่อไหร่มันจะคุ้มกันเสียที มันไม่คุ้มหรอก มันยัง เป็นหนี้ อยู่ต่างหาก มันนับว่าเสียสละได้ที่ไหน มันก็ยังติดหนี้เขาอยู่เรื่อยไปนั่นแหละ เมื่อเป็นยังงี้ ก็ไม่ชื่อว่า เสียสละสมบูรณ์ เห็นไหม? มันก็ไม่บริสุทธิ์ แม้แค่ทางวัตถุ ถ้ายิ่งใคร ไม่บริสุทธิ์ทางจิต แถมรวม เข้าอีกด้วย ก็ยิ่งเป็นการบริจาค ฉ้อฉลซับซ้อน ที่ไม่มีบุญเลย นอกจาก หนี้กับบาปอกุศล

เรามาเสียสละ เราไม่ต้องได้เปรียบ ไม่ต้องเอาเปรียบให้จริง ให้สุจริตยุติธรรม และเสียสละให้ได้ จะเสียสละได้ ก็ต้องเรียนรู้ การติดการเสพย์ ต้องมาหัดลดละ ต้องมากินน้อยใช้น้อย หรือว่าเรารู้ว่า โลกียสุข มันมีอะไร มาหลอกเรา ไปหลงติด หลงเสพอยู่ มีอะไรจะระเริง มันจะเป็นสุขอะไร ปรุงแต่ง อะไรขึ้นมา เต็มไปหมด ต้องซื้อหาแพงบ้าง ถูกบ้าง "ความติดความเสพ" นี่แหละคือ สภาวะยังยึดมั่น ถือมั่น ที่จะต้องมาละ มาวาง มาจาง มาคลาย พวกเราส่วนมากในชาวอโศกนี่ ก็ไม่ไปหลงใหลอะไรต่างๆ แบบโน้น กันได้มากแล้ว เราก็ไม่ต้องใช้ ต้องจ่าย ไม่ต้องโลภเงินทองมาไว้ซื้อเสพ วันหนึ่งมี ๒๔ ชั่วโมง เท่ากัน เราพากันสร้างสรร เราก็ให้เขา ไปมากๆ เราก็ไม่ได้ "เอามามากอะไร" มีแต่ให้ ค่าของความได้ เสียสละ นี่มันมากกว่า ค่าของ ความเอาเปรียบเยอะเลย นี่แหละ เรามีค่า เรามีกำไร เรามีชีวิตดำเนิน ไปดี (สุคติ) เรามีบุญ ชีวิตเรามีส่วนได้ อย่างนี้จริงๆ คือ ได้เสีย (สละ) ออกไป

ถ้าคุณเชื่อนะ ถ้าเป็นศาสนาพุทธ ถ้าเป็นพุทธจริงๆนะ เชื่อกรรม เชื่อวิบาก คุณก็จะเต็มใจทำ "เอาเปรียบ" จริงก็เป็นกรรมจริง เป็นวิบากจริง "เสียสละ" จริงมันก็เป็นกรรมจริง เป็นวิบากจริง มักมาก มักน้อยจริง มันก็เป็นกรรม เป็นวิบากจริง หรือคุณทำเป็นมักน้อย แล้วจิตของคุณ "สันโดษ" (ใจพอ) ในความมีน้อย มักน้อยนั้นๆ จริงไหมล่ะ ถ้าจริง มันก็จริงก็บริสุทธิ์ ถ้าไม่จริง มันก็หลอก หรือไม่หลอกหรอก เพียงยังมีกิเลส ส่วนเหลือ ยังไม่บริสุทธิ์ สมบูรณ์เต็ม ก็พยายามทำให้สมบูรณ์ พยายามล้างลดละ คุณก็มีบุญมีดีแท้ ตามที่ทำได้นั้นๆจริง ค่าของกรรม ไม่มีใครจะไปโกง ไปฉ้อฉลใดๆได้ รูปนอกทำเป็นมักน้อย มีน้อย แต่ในจิต ไม่ปฏิบัติ ล้างลดละ ให้ใจพอ ใจวาง ใจว่าง ตามที่มีน้อย มักน้อยนั้น ปล่อยให้จิตยังอยากมี มากกว่านั้น ซ้ำมิหนำ ฉลาดซ้อนเชิง หาวิธีทำเป็นเล่ห์ ให้ได้ย้อนกลับมา มากกว่านั้น เสียอีก ก็เป็นทุจริตกรรมจริง ตามนั้น

บ้านหลังแค่นี้ (ชี้ไปที่กุฏิสมณะชาวอโศก) เราก็สบายแล้ว ไม่ต้องไปแข่งกับเขาให้มันใหญ่มันโตกว่า เด่นกว่า โก้กว่าอะไร ในโลกเขาสร้างค่านิยมยั่วยุกันเป็นบ้าเป็นหลัง ต้องสร้างใหญ่ๆสวยๆ มีเครื่องบำเรอ ความสะดวก มากๆ ต้องมีเฟอร์นิเจอร์หรูๆหราๆ ต้องมีไอ้โน่นไอ้นี่ แล้วอยู่กันอย่างลำบากนะ ต้องเป็น ภาระสารพัด ต้องคอย ระวังไอ้โจร ไอ้อะไรต่ออะไร มาแบ่งมาแย่ง ค่าใช้จ่าย ก็ต้องเยอะ เป็นเงาตามตัว แม้แค่ จะปัดกวาดรักษา ก็ต้องออกแรง เหน็ดเหนื่อยมากขึ้นกว่า แต่อย่างกุฏิ สมณะชาวอโศกนี่ ดูสิ อากาศร้อน ก็เปิดโล่งเลย นอนสบาย ไม่มีใคร มาปล้นมาจี้ แล้วคิดซิว่า ใครเป็นสุขกว่ากันล่ะ ใครเบาภาระ กว่ากันน่ะ ใครจะนอนสะดุ้ง นอนลำบากใจ กว่ากัน? ผู้ไม่วุ่นวาย ไม่ต้องหวง ไม่ต้องห่วง ไม่มีเสพ ไม่มีติดนี่... สบาย ว่างสบาย ไม่มีอะไรติดในจิต หลับสบาย นอนดินก็สบาย นอนกระดานนี่ ก็สบาย

พระพุทธเจ้าจึงได้ตอบคำถามคน เมื่อท่านนอนดิน นอนโคนไม้ มีคนมาถามพระพุทธเจ้าว่า...โอ-ทำไม ท่านโง่นัก มานอนดิน มานอนทรายทำไม ทำไมไม่ไปนอนบรรจถรณ์ อย่างพระเจ้าพิมพิสาร พระพุทธเจ้า บอกว่า เรานอน อย่างนี้แหละ เราสุขโดยส่วนเดียว คนที่ไม่ได้ศึกษาธรรมะ อาจจะฟังคำว่า "สุขโดยส่วนเดียว" แปลกหู และเข้าใจ ได้ไม่ชัด "สุขโดยส่วนเดียว"หมายความว่า จะนอนดินก็เป็นสุข จะนอนบรรจถรณ์ก็เป็นสุข จะนอนที่ไหน ก็ไม่มีทุกข์บ้าง สุขบ้าง มันมีแต่สุขโดยส่วนเดียว พระพุทธเจ้า ทรงเลือกเอานอนดิน เราจะนอนอย่างนี้ ให้พระพุทธเจ้า ไปนอนบรรจถรณ์ ท่านก็สุข บรรจถรณ์ ก็ไม่ใช่ของท่าน จะให้ท่านนอน ท่านก็นอนได้ ท่านไม่ได้ติด ท่านไม่ได้ยึด อะไรแล้ว ให้นอนบรรจถรณ์ก็สุข นอนดินนี่ ท่านก็สุข

ถ้าให้พระเจ้าพิมพิสารมานอนดินดูซิ สุขไหมล่ะ? จะนอนไม่หลับเอาน่ะ นี่พระพุทธเจ้านอนสุข โดยส่วนเดียว นอนดินนี่ก็สุข ไปนอนบรรจถรณ์ท่านก็สุข แต่พระเจ้าพิมพิสาร นอนไม่สุขส่วนเดียว ท่านนอน บนบรรจถรณ์ ท่านอาจสุข มานอนดินท่านไม่สุขแล้ว ทุกข์แล้ว ไม่ใช่ส่วนเดียวแล้ว นี่ -มันเป็น อย่างนี้

ดังนั้น พระพุทธเจ้าจึงไม่เอาชีวิตที่จะต้องเป็นพระเจ้าแผ่นดิน เป็นผู้ร่ำรวย หรูหราอย่างโลกๆ อย่างโลกีย์ ไม่เอาแล้ว ท่านทรงค้นพบโลกุตระ ชีวิตมักน้อย มีน้อย ไม่สะสม แต่ขยัน สร้างสรร เสียสละ ได้ให้แก่ผู้อื่น ได้เป็นประโยชน์ แก่ผู้อื่น เรายิ่งฝึกฝน ยิ่งขยัน ยิ่งฉลาด เรายิ่งเก่ง เรายิ่งสามารถมาก เราก็ยิ่งได้ช่วย ได้ให้ ได้เสียไป ได้สละไปมากๆ อย่างนี้แหละโลกุตระ อย่างนี้แหละสบายสัปปายะ และที่ทำตนเป็นคนมีน้อยนี่ ก็ไม่ใช่ เป็นเล่ห์โฆษณาตนเอง แหม.. ทำเป็นมีกุฏิน้อยๆ ไว้อวดอ้างเอาไว้โชว์ แล้วก็ซุกซ่อน สะสมเป็นเล่ห์ กอบโกย ซับซ้อน ไม่! ไม่หรอก เราเรื่องจริง เราสบายๆจริงๆ เราเห็นคุณค่าของคน อยู่ที่ได้เสียสละจริงๆ เราจึงเต็มใจ เสียสละ แม้ใจบางคน จะยังมีกิเลส ก็ฝึกฝน ลดละกันจริงๆ เรามาอบรมตนฝึกฝน เป็นคนจนลงไป กันจริงๆ ขี้เกียจแล้วจนนั้น เป็นง่าย แต่ขยันอุตสาหะสร้างสรร จะรวยก็รวยได้ ทว่า เสียสละ กระทั่ง จนอย่างสบาย นี่เป็นกันยาก เราเข้าใจด้วยเหตุผลทุกอย่าง ไม่ใช่งมงาย ที่สำคัญคือ "ทำให้ได้ทำให้จริง" แล้วจะเป็นจริง เห็นของจริง รู้ของจริง เราสบาย เราก็ทำให้มันสบายอย่างที่กล่าวนี้ ให้ได้จริงๆ เราต้องรู้องค์ประกอบ ของ ความสันโดษ มักน้อย แล้วไม่ต้องไปเปลือง ไปผลาญด้วย ต้องไปเที่ยวแหม...บ้านหลังหนึ่ง ก็สร้างซะ ในที่ตั้ง ๒ ไร่ ๓ ไร่ แต่พวกเรานี่ ที่ยังไม่ถึงไร่ ก็สร้างบ้านซะ หลายหลัง แต่ที่จริงที่ที่เราใช้กันนี่ ก็หลายไร่เหมือนกันนะ แล้วบ้านกี่หลังล่ะ คิดดูซิ อยู่กันเป็นร้อยๆ สบาย...

นี่เหมือนกัน ทุกวันนี้นี่ อย่างบ้านคุณจำลองก็หลังน้อยๆ เท่านี้น่ะ อยู่ที่นครปฐม อยู่ในชุมชนปฐมอโศก คนเขา ก็หาว่า อวดอ้าง ไปทำเป็นอวดโชว์บ้านข้าหลวง หลังน้อย คุณจำลองก็เข้าใจ อย่างที่อาตมา เข้าใจนี่แหละ เคยมีบ้าน หลังใหญ่ ก็ลดละเลิกมาจนกระทั่งเหลือบ้านหลังน้อย แล้วหาว่าคุณจำลอง ทำโก้ ทำเอาเสียง หาเสียง ก็เป็นความเข้าใจของผู้อื่น ส่วนความจริงของเราเป็นอย่างไร เราเข้าใจให้ดี แล้วทำให้จริง ให้ตรง เราเอง เราพอใจ เราเห็นอย่างนี้แล้ว เราก็ว่าดี จะว่าเราอยากโชว์ เราก็อยาก จะโชว์อย่างนี้ดี ให้เราอวดหน่อยซี ทีบ้านเปลืองๆ ผลาญๆ คุณยังอวด ยังโชว์กันได้ ทำไมเราอวดบ้าน ที่ไม่เปลือง ไม่ผลาญบ้าง เราถึงอวดไม่ได้เล่า ทำไมล่ะ ขออวดบ้างซี บ้านไม่เปลือง ไม่ผลาญนี่ มันเบา ง่ายกว่านะ มันไม่ผลาญเศรษฐกิจโลกด้วย ทำไม คุณเปลืองๆ ผลาญๆ คุณยังอวดล่ะ ดูเถอะ สงวนสิทธิ์ ด้วยแน่ะ ถ้าเป็นเราอวดไม่ได้ แต่เป็นเขาอวดได้ เออสนุกไหมล่ะ ไปถ่ายรูปกันมาลงหนังสือ หนังสือโน่นนี่ หาวิธีอย่างนั้นอย่างนี้ โฆษณาอวดกัน ถ่ายออกโทรทัศน์ โชว์กัน แต่ที่ไม่หรูไม่หราอย่างเราๆนี่ ก็ไม่นิยม จะมาถ่าย ไปโชว์กันหรอก แล้วใครมันอวดกว่าใครกันแน่? ลำเอียงจัง ว่าได้ว่าเอา

เห็นไหม มันกลับกันอยู่อย่างนี้ โลกกระแสหลักนั้น อวดกันเยอะยิ่งกว่าเราออกนักหนา ก็ว่าการอวดอ้าง เป็นความไม่ดี ใครล่ะที่ไม่ดีมากกว่ากัน ที่สำคัญ ถ้าอวดแล้ว มันแก้ปัญหาเศรษฐกิจกันแท้ หรือ ยิ่งแก้ไม่ตก? ทุกคน ก็จะแย่งๆๆๆ ตลาดก็ไม่พอให้แย่ง เพราะพยายามทำปริมาณให้เหลือน้อยไว้เสมอ ขนาดสินค้ามีมาก ก็นำไปทิ้งทะเล หรือเผาทิ้ง ก็ยังทำกันได้ ขายก็จะขายกันแพงขึ้นๆ เพียงขายได้เงินมาก ก็หลงง่ายๆ แล้วว่า เศรษฐกิจดี หลงผิวเผินกัน แม้กระทั่งว่า เศรษฐกิจจะดีหรือไม่ดีนั้น ให้ดูที่ราคาหุ้น ในตลาดหุ้น เป็นเครื่องวัด โถ! มันยิ่งเลอะเทอะ ตื้นเขิน กลับตาลปัตรกันไปใหญ่ แต่ถ้าทุกคนไม่ต้องแย่ง มีแต่พยายามจะขาย ให้ถูกลงๆ หรือ แจกได้แจก บริจาคได้ก็บริจาค ด้วยจิตใจเสียสละ รู้บุญ รู้คุณค่า กันจริงๆ มีแต่ต้องช่วยกันสร้าง เห็นใจผู้ผลิต ผู้สร้าง ช่วยกันส่งเสริมกรรมกร อุดหนุนเกื้อกูลผู้ผลิตแท้ๆ ให้อุดมสุข อุดมทุน อุดมกำลังใจ กำลังกาย ขยันสร้าง ขยันผลิต ตลาดก็สมบูรณ์จริง มีทั่วถึงเพียงพอ ข้อสำคัญ พ่อค้าต้องไม่เอาเปรียบ ผู้ลงทุน ลงแรงสร้าง พ่อค้าต้อง ไม่ฉ้อฉล และควรจะเป็นคนจน กว่านักผลิต หรือ นักผลิตเอง ก็ไม่ควรฉ้อฉล เอาเปรียบพ่อค้า กดขี่พ่อค้า

ตามหลักของพวกอาตมาที่เห็นตามคำสอนของพระพุทธเจ้านั้น ต้องมีระบบระบอบ เช่นนักบวช วรรณะที่ ๑ เป็นคนจนที่สุด นักบริหาร หรือนักการเมือง วรรณะที่ ๒ จนรองลงมา นักบริการ หรือพ่อค้า ผู้จำแนก แจกจ่าย วรรณะที่ ๓ รวยกว่านักบริหาร นักการเมือง ส่วนนักผลิต หรือ กรรมกร วรรณะที่ ๔ ต้องรวย กว่าเพื่อน จะได้มีทุนผลิต ได้มากๆ เสียสละได้มากๆ เศรษฐศาสตร์แบบนี้ คือเศรษฐศาสตร์ของคน มีศาสนา โดยเฉพาะ ศาสนาพุทธ เรียกว่า เศรษฐศาสตร์เชิงพุทธ หรือเศรษฐศาสตร์ของคนมีธรรม ขั้นโลกุตระ ซึ่งเป็นกันได้ยาก แต่แก้ปัญหาสังคม ได้แน่ๆ ยิ่งเป็นนักการเมือง ถ้ามีความรู้ และมีความเป็น นักเศรษฐกิจเชิงพุทธนี้ ได้จริงแท้ จะแก้ปัญหาการเมือง แก้ปัญหาบ้านเมืองได้แน่ หากมีทีมนักการเมือง ที่มีคุณธรรม เป็นนักเศรษฐกิจเชิงพุทธ พอเพียง ในการทำงาน เพราะตลาดที่เอาแต่แย่งๆๆๆๆ ต้องการ มาให้แต่แก่ตน ต้องหรูหรา ฟู่ฟ่า แย่งๆ แข่งกันมาก แข่งกันข่ม แข่งกันได้เปรียบ สร้างมาเท่าไหร่ก็ไม่พอ เพราะทุกคนเอาแต่โลภ มาให้ตน เอาแต่กอบโกย มาให้ตน แต่ถ้าเป็นตลาด ที่ทุกคนสร้างๆๆๆๆๆ แล้วก็นำมา แจกกันออกไปๆๆๆให้ได้ถ้วนทั่ว หรือขายได้ถูก เท่าไหร่ ยิ่งเห็นคุณค่า ของตนมาก เท่านั้น เห็นความเป็นอยู่สุข ของสังคมยิ่งเท่านั้นๆ มีหมุนเวียน อุดมสมบูรณ์ ถูกอุปสงค์ - อุปทาน แล้วคุณ จะต้องการ เป็นตลาดแบบไหนล่ะ เป็นตลาดที่ขาดแคลน แย่งชิง ไม่มีเสียสละ เห็นแต่แก่ได้ เห็นแต่แก่ตัว ไม่เป็นตลาดที่มีเศรษฐกิจเชิงพุทธ ชนิดโลกุตระ กันจริงๆ ไม่สร้างตลาด ที่อุดมสมบูรณ์ อย่างเป็นจริง เป็นจัง มันก็เป็นเศรษฐศาสตร์ลวงๆ เศรษฐศาสตร์ขบถ เห็นไหมว่า เขาเดิน เศรษฐศาสตร์ ผิดกันอย่างไร เดินสาย เศรษฐกิจผิดสัจจะ ที่จะอุดมสมบูรณ์ ที่จะราบรื่น สันติภาพ ไปแบบ ตรงกันข้ามแค่ไหน นี่... มันเรื่อง เป็นไปไม่ได้เห็นไหม? ปัญหาแค่นี้ ไม่ใช่ว่าลึกซึ้งอะไร นักหนาหรอก เศรษฐศาสตร์ พื้นฐานง่ายๆ อาตมา ก็เรียนเศรษฐศาสตร์ แต่ไม่เคยไปสอบ ไม่เคยไปเรียนเลย มีแต่ลงทะเบียนเสียเงิน ให้มหาวิทยาลัย เท่านั้นเอง

เอ้า..ประเด็นไหนอีกเล่า ถามมา นั่งนึกดู เอาประเด็นไหนอีก ...พวกอาตมานี่ คนจะรู้ได้ดีนี่ ก็คงจะ ๑๐-๒๐ ปี ข้างหน้า


ถาม: แต่ตอนนี้เยอะมั้ยคะ ๗๓ จังหวัดนี่ รู้หมดไหมคะ?
ตอบ : ๗๓ จังหวัด ก็มีทุกจังหวัดนั่นแหละ แต่รู้ก็รู้แบบพวกไม่มีบทบาท ไม่กล้าแม้แต่แสดงตัว ก็มีมาก ผู้เห็นด้วย ที่ไม่กล้าแสดงตัว มีอยู่ทั่วไป ก็นับวันมากขึ้นๆ แต่พวกไม่เห็นด้วยแล้วแสดงตัวต่อต้าน นี่สิ เห็นได้ เห็นชัด ซึ่งก็ไม่มากเท่ากับพวกเงียบๆหรอก แต่มันก็เป็นตัวบทบาท และเห็นเด่น มันจึงเหมือน มีมากกว่า เขาต้านจริงๆ นะ ลงทุนลงแรงกันทีเดียว

ถาม: ถึงวันนี้ พวกต้านอ่อนแรงลงหรือเปล่าคะ?
ตอบ: อ่อน..อ่อนลง นี่ก็เป็นเพราะว่า สัจธรรมมันจริงแล้วมันยืนยงได้ ถ้าสัจธรรมนั้นเป็นสัจธรรมแท้ มันจะทนทาน ต่อการพิสูจน์ อาตมาเต็มใจจะพิสูจน์ ขอแต่ว่า อย่าล้มล้างกันด้วยอำนาจทุจริต อยุติธรรม เท่านั้นแหละ ถ้าเล่นกันแบบนั้น ต่อให้เป็นความถูกต้อง เป็นสัจธรรมยังไงๆ มันก็ไปไม่รอด แต่ถ้ามัน จริงแล้ว ไม่ต้องกลัวหรอก ผู้ดีทำดี ผู้ชั่วทำชั่วได้ มันก็เป็นธรรมดา ถูกตามธรรมดาแล้ว

ถาม: เห็นรูปหนังสือพิมพ์ เวลาดูภาพ ตอนที่พ่อท่านมีเรื่อง คือใบหน้ามันไม่ได้แสดงบอกว่า วิตก กังวลเลย
ตอบ: ก็อาตมาไม่ได้กังวลอะไร อาตมาไม่เคยวิตกสักที

[ยังมีต่อ]

ที่นี่...ตอบทุกปัญหา File:1910.ss #