"ภิกษุ" ของพุทธ ไม่ใช่ "ผู้ขอ"

"อธิษฐาน" อย่าให้เป็นอธิษฐาน ที่มีกิเลสมีตัณหา
ระวัง "อย่าขอ"
อย่า" อยากได้" มาเป็นส่วนได้ของตน
เราต้องหัด "ให้" โดยไม่มี "แลก" โดยไม่มี "เอามาตอบแทนคืน" เป็นของตน "ทานมัย" ที่เป็นภาวนา จนมีมรรคผล
ให้เป็นให้อย่างสำเร็จ เสร็จสม ถูกต้องสัจธรรมสัมบูรณ์ ได้อยู่เสมอๆ
นี้คือ "วิปัสสนา" แท้ๆ ที่พุทธมามกะ ทุกคนพึงควรทำ
เป็น "ทานมัย"
เป็น "บุญกิริยาวัตถุ" แท้ๆ จริงๆ
อย่าปล่อยปละละเลย เป็นอันขาด มันเป็นการสร้าง "สันติภาพ" และ "ภราดรภาพ" ที่แท้จริงจริงๆ อยู่ในโลก อยู่ในสังคมมวลชน

ถ้าผู้ใด ทำถูกต้อง "ตั้งจิต" (อธิษฐาน) ให้มัน "ว่างจากกิเลสชอบ-ชัง" ได้ ทำการ "ให้" โดยปราศจากโลภะ โทสะ โมหะได้จริงๆ เป็น "สัมมาสังกัปโป" แท้ๆ ทุกวันๆ ทำการ "ให้" โดยไม่มีจิต "ขอ" โดยไม่มีจิต "อยากได้" มาเป็นส่วนได้ของตน ก็นั่นแหละคือ "ภาวนามัย" ของผู้นั้นเอง ร้อยเปอร์เซนต์ เป็น "วิปัสสนากรรมฐาน"

ถ้ามีองค์ ๘ ของ "มรรคอริยสัจ" ได้ครบบริบูรณ์ ก็จะมี "ผล" นิพพาน ในขณะคนปกติ ลืมตาโพลงๆ นี่แหละ โต้งๆ สั่งสม "ผล" เป็นนิพพาน จริงได้ยิ่งกว่า ไปมัวหลงผิดอยู่ว่า "นั่งหลับตา" เท่านั้น เป็นวิปัสสนา กรรมฐาน หรือ "นิพพาน" นั้นจะได้ ก็ต้องจากการ "นั่งหลับตา" เท่านั้น เพราะนั่น มันเป็นความเห็นของพวกฤาษี หรือเดียรถีย์ ที่ยังไม่มีความรู้ใน "พุทธวิชชา" เป็นสัมมาทิฏฐิ

ยังมีความรู้ ความเข้าใจ ไม่เป็นสัมมา ตั้งแต่ "อริยมรรค" ข้อแรก กันทีเดียว ดังนั้น ข้ออื่นในองค์มรรคทั้ง ๘ ก็เป็น "สัมมา" ไม่ได้แน่ เพราะ "สัมมาทิฏฐิ" ย่อมเป็นประธาน ของมรรคองค์อื่นๆ ทั้งปวง

การเข้าใจ ในระบบทฤษฎี "สัมมาอริยมรรคมีองค์ ๘" จึงไม่ใช่เรื่องปกติ พื้นๆสามัญ

เมื่อผู้ใด เข้าใจถูกต้อง ในความลึกซึ้ง ตามทฤษฎียิ่งใหญ่ ของพระบรมศาสดา ดีแล้ว ก็คือเกิด "สัมมาทิฏฐิ" แล้ว ต่อจากนั้น ทุกวันทุกเช้า ก็ตักบาตร - ทำบุญให้มี "สัมมาสังกัปโป" ให้ถูกๆตรงๆ ดังที่ได้อธิบาย มาแล้ว

จะมี "วาจา" ด้วยว่า เรา "ให้" ก็เป็น "สัมมาวาจา" แถมเข้าไปอีก หรือไม่พูด ก็บริบูรณ์ อยู่ในตัวอยู่แล้ว ตั้งแต่กล่าวคำว่า "นิมนต์ค่ะ-นิมนต์ครับ" เชื้อเชิญ มารับบาตร แต่ตอนต้นโน่น ก็พอแล้ว ในการกระทำของเรา ในขณะนี้
มันก็เป็น "ธรรมะ"
เป็น "ผู้ให้" เป็น "ผู้เสียสละ" อยู่ชัดๆ อยู่แล้ว
เป็น "สัมมากัมมันโต" อย่างไม่ผิดไม่เพี้ยนอะไร

เราทำอยู่เป็นประจำ หรือทำอยู่เสมอ ในชีวิตนี้ มันก็ได้ชื่อว่า "สัมมาอาชีโว" ของเราแล้ว ได้พากเพียร พยายามด้วยดี ให้เป็น ให้มาก ให้เกิดอยู่เสมอๆ ให้ดี ให้ถูก ให้ตรง ตามที่รู้ ที่เข้าใจนี้ อยู่เสมอก็เป็น "สัมมาวายาโม"

เราทำด้วยความเต็มของ"สติ"ด้วยความรู้ตัวดีๆ มี"ธัมมวิจัยสัมโพชฌงค์" มีการควบคุมจิต ไม่ให้มีโลภะใด โทสะใด เกิดอยู่ๆ แม้กาย แม้จิต ก็ไม่ให้มีทุจริต หรือไม่ให้มี อกุศลกรรมบถใดๆ

ก็นั่นแหละ "สติปัฏฐาน" อันทรงอยู่พร้อมเป็น "ธรรมฐิติ" เป็นการฝึกจิต ให้มัน "ตั้งอยู่" ในสภาพปราศจาก "อกุศลจิต" อยู่อย่างแท้จริง คือ "สัมมาสติ"

เมื่อเกิดเมื่อมีเมื่อเป็นอยู่ได้เสมอๆจริง ก็เรียกว่า "สมาบัติ" แท้ๆ หรือสั่งสม "สัมมาสมาธิ"

เรารู้จริง เราเห็นจริงอยู่กับจิต กับการกระทำ (กรรม) ของเรา และ ได้ปรับกาย -วาจา -จิต โดยเฉพาะ ได้ลดกิเลส ในจิตอยู่นี่แหละ เป็น "สัมมาสติ" แท้ๆ หรือ "สติสัมโพชฌงค์" ที่ต่างกับการมี "สติ" ของปุถุชน หรือของ กัลยาณชน ธรรมดาๆ

การได้กระทำอะไรต่างๆ ตามสัมมาทิฐิ และมีสังกัปปะ-วาจา-กัมมันตะ-อาชีวะ-วายามะ-สติ ให้เป็น "สัมมา" ครบองค์ประกอบ จนเเป็นมรรคสมังคี พรั่งพร้อมอยู่เช่นนี้ มันก็สั่งสมลงใน "จิต" จริงเป็น "อธิจิต" (สัมมาสมาธิ) แท้ทุกครั้ง ทุกคราว ทุกขณะ ที่มันบริบูรณ์จริง มันก็ครบองค์ ๘ ของ "มรรคอริยสัจ" ดังนี้ ผลที่ได้คือ สัมาญาณ (อธิปัญญา) -สัมมาวิมุติ ก็ตามมา ทุกกรรม ทุกกิริยาของผู้ทำ "ผล" อันสูงสุด คือนิพพาน ก็ย่อมเป็นอันหวังได้

สมาธิของพุทธ ชื่อว่า "สัมมาสมาธิ" เพราะเมื่อเข้าใจ ได้ด้วยปัญญา รู้ได้ด้วยเหตุผลแล้ว เราก็ชื่อว่ามี "สมาธิ กุสโล" รู้ใน "สัมมาสมาธิ" แท้ อันเป็น "สัมมาสมาธิ" ของพระอริยะ

เพราะเป็น "สมาธิ" ที่มีเหตุมีองค์ประกอบ ได้แก่สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ และความที่จิต มีอารมณ์เป็นหนึ่ง ประกอบแล้วด้วยองค์ ๗ เหล่านี้แล เรียกว่า สัมมาสมาธิ ของพระอริยะ อันมีเหตุบ้าง มีองค์ประกอบบ้าง ตามที่พระพุทธองค์ ทรงสอน ย้ำยืนยันถึง "สัมมาสมาธิ ของพระอริยะ" ไว้ใน มหาจัตตารีสกสูตร มัช. อุปริ.(พระไตรปิฎกเล่ม ๑๔)

"สมาธิ" ที่เป็น "สัมมา" แบบพุทธ และเป็นของ "พระอริยะ" แท้ จึงจะไม่ใช่ สมาธิ ที่เกิดตามแบบฉบับ ที่พากันนั่ง "หลับตา" ทำอย่างผู้ที่ ยังมิจฉาทิฏฐิอยู่ หลงเข้าใจเลยจริงๆ แต่เกิดตามแบบฉบับของ "อริยสัจ" ข้อที่ ๔ คือ "สัมมาอริยมรรค มีองค์ ๘" ซึ่งปฏิบัติอย่างมีเหตุ และ มีองค์ประกอบ พร้อมด้วยองค์ ๗ ครบสมบูรณ์ และเมื่อพยายาม ฝึกหัด ทำให้ถูก ให้ตรงเสมอๆ ก็จะเป็น "สมาธิสส สมาบัติ" [การนั่ง "หลับตา" ทำสมาธิ ถ้ามีสัมมาทิฐิ และทำถูกตรง ก็เป็นอุปการะจริง]

เมื่อทำได้ "เสมอๆ" มันหลายเสมอเข้า มันก็เป็น "สมาธิสส ฐีติ" คือแน่นอน มั่นคงขึ้น และแล้ว เราก็รู้เปลี่ยน รู้ปรับ ทำท่าโน้น อย่างนี้ ให้มันมั่นคง ให้มันแน่นอนในอย่างใหม่ ในท่าอื่นอีก ไม่ให้มันติด มันยึด หรือ ไม่ให้มัน "หลง" สิ่งที่ได้ ไม่ให้มันเกาะ ส่วนที่เป็นได้แล้วนั้นๆ ต่อไปอีก เพราะ ไม่เช่นนั้น มันจะยึด จะชื่อว่าเป็น "อัตตา" ซับซ้อนเข้าไปอีก หรือเป็น "อภินิเวส" ดั่งนี้คือ "สมาธิสส วุฎฐาน" ทำปัญญาให้ชัด ในสิ่งนั้น ส่วนนี้ อย่างนั้น อย่างนี้ ท่านั้น ท่านี้ ให้"รู้"เพิ่มขึ้นๆ ทั้งขนาด ทั้งแง่มุม ให้ถูกรูป ถูกนามของจิต จริงจัง แม่นมั่น จนได้ชื่อว่า "สมาธิสส กัลลิต"

และแม้ทุกอย่าง ดำเนินอยู่ในจิต การเป็นไปของจิต มีความเป็นอยู่อย่างไร ก็รู้ก็เห็น ในกรรม ในกิริยาของจิต อยู่จริง จะไม่ให้เป็นก็ได้ จะไม่ให้ไปก็ได้ หรือจะให้เป็นอย่างนั้น ตลอดก็ได้ จะให้ไปอย่างนี้ ตลอดก็ได้ ก็ได้ชื่อว่าเป็น "สมาธิสส โคจร"

สุดท้าย "รู้ก็แน่แท้" และ "ทำก็ได้แน่จริง" ตามที่รู้ จนเก่ง จนเยี่ยมยอด เด็ดขาด เป็นจริง, มีผลจริง, สำเร็จจริงแน่นอน มีผลชงัด ก็เรียกว่า "สมาธิสส อภินิหาร" ดั่งนี้แล คือ "สัมมาสมาธิ" บริบูรณ์ที่มี "อธิจิต ๗" (สมาธิ ๗) พรั่งพร้อมแท้จริง

นี้คือการสร้าง สัมมาสมาธิ หรือสภาพของ "สมาธิ" ที่พุทธศาสนา หมายเอา ต้องให้ถูก ให้ตรง จึงจะเป็น "สัมมา" มิฉะนั้น จะเป็น "มิจฉาสมาธิ" อย่างฤาษี เดียรถีย์ ทั้งหลายกันไปหมด !

"บิณฑบาต" เป็นตัวชี้ตัววัดค่า ของพุทธศาสนา
จะเห็นได้ว่า "บิณฑบาต" นั้นไม่ใช่ ของกล้วยๆหมูๆ และไม่ใช่เรื่องเล็กๆ เล่นๆ หัวๆ หรือตื้นๆเขินๆ โดยเฉพาะ ไม่ใช่ "เครื่องมือหากิน" ของคนที่ไม่ตั้งใจประพฤติ เพื่อลดละกิเลส
ไม่เลย!

ทำให้จริงทำให้ถูก ทำให้ถึงที่สุด นั้นก็คือการปฏิบัติธรรม คือการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน อันจะพาไปสู่ "นิพพาน" โดยแท้โดยจริง และ ทั้งจะได้ชื่อว่า เป็นผู้ได้ยืนยัน กระทำการบำรุงศาสนาไว้ ได้สนับสนุน - นับถือ -เทิดทูน -บูชา พุทธศาสนาไว้แท้ๆ มีที่อ้างมีที่อิง

"พระ" เองก็จะต้อง พากเพียรเรียนรู้ และกระทำให้ถูก ให้ตรง ให้เป็น ประโยชน์ตน ประโยชน์ท่าน อันส่งผล ถึงขั้นจิต ขั้นวิญญาณ เป็นศิลปะอันติมะ ให้ได้จริงๆ มันไม่ใช่ของง่ายเลย ที่จะทำให้ถูก ทำได้ตรง ทำได้จนส่งผล เป็น "ศิลปะขั้นโลกุตตระ" จนเกิดผล แม้แก่ตน แก่มวลชน อย่างเอก อย่างสูงส่ง

พระบรมศาสดา ถึงกับทรงกำชับกำชา กับพระสาวก ทุกองค์ว่า "บรรพชา อาศัยโภชนะ คือคำข้าว อันหาได้ ด้วยกำลังปลีแข้ง (การบิณฑบาต) เธอพึงอุตสาหะ ในสิ่งนั้นตลอดชีวิต" อันนี้เป็นหลักเป็นแกนของ "พระ" ทุกรูป ต้องทำ ต้องอาศัยให้ได้ ตลอดชีวิต ต้องเลี้ยงตนด้วยการบิณฑบาต ซึ่งต้อง "อุตสาหะ" จริงๆ (ไม่งั้น มันจะ"ขี้เกียจ สันหลังยาว" ไม่ทำเอาง่ายๆด้วย)

อาหารที่ได้จากกรรมวิธีอื่นๆ เช่น อาหารถวายสงฆ์ก็ดี อาหารเฉพาะสงฆ์ก็ดี การนิมนต์ฉันก็ดี อาหารถวายตามสลากก็ดี อาหารถวายในปักษ์ก็ดี อาหารถวายในวันอุโบสถก็ดี อาหารถวายในวันปาฏิบทก็ดี นั้นถือเป็นลาภส่วนเกิน ลาภส่วนเหลือ (อติเรก ลาโภ หรือเป็นแค่ HOBBY, EXTRAORDINARY) ไม่ใช่เป็นของหลัก ถือว่าเป็น "ของเฟ้อ" ก็ได้ สำหรับในบางครั้ง บางคราว จะงด จะปฏิเสธ จะไม่รับ ก็ย่อมได้

แต่ "บิณฑบาต" นั้นจะต้องมีเสมอ ต้องอุตสาหะวิริยะ ต้องทำให้เป็น "นิสัย" (HABIT, FOUNDATION) ทำให้เคย จนเป็นปกติ จนไม่เหนื่อยหน่าย ไม่เบื่อระอา เป็นสิ่งที่ทำสบาย และต้องทำประจำชีวิต (สัมมาอาชีวะ)

และสุดท้าย ก็จะรู้แจ้งเห็นจริงว่า "บิณฑบาต" นั้นคือการงาน (กรรม) ที่สำคัญ ประจำชีวิตภิกษุ คือกิริยา ที่มีผลต่อศาสนาสูงส่ง ออกปานใดๆ มันเป็นเครื่องชี้บอก ให้รู้ถึงความเจริญรุ่งเรือง หรือความเสื่อมของ "พุทธศาสนา" ก็ได้ อย่างชัดเจนด้วย สำหรับผู้รู้แจ้งจริงในสัจธรรม

เพราะหาก สังคมสงฆ์ใด ไม่นิยมการบิณฑบาต หรือภิกษุใด ไม่เอาภาระการบิณฑบาต ฉันแต่อาหาร ที่เขานำมาถวาย ที่เป็นชนิดอดิเรกลาภ (EXTRAORDINARY) หรืออาหารจากโรงครัว ที่ทำให้ประจำ หรือ ไม่เช่นนั้น ก็อาการหนัก ถึงขั้นซื้ออาหาร มาฉันตามต้องการ เสมอๆ หรือว่าจ้างให้คนทำมาให้ฉัน หนักที่สุด ก็ทำกินเอง นั่นก็คือ ความเสื่อมของพุทธศาสนา ที่เกิดจากกิเลส หรือความไม่รู้เนื้อแท้ (สาระสัจจะ) ของพุทธศาสนา

"บิณฑบาต" เป็นองคาพยพของพุทธศาสนา
ภิกษุของพุทธศาสนา หรือแม้แค่เป็นสามเณร มีศีล ๑๐ ไม่รับเงินทองแล้ว ไม่สะสม ทรัพย์ศฤงคาร (โภคักขันธา ปหายะ) ย่อมต้องเป็นปฏิคาหก คือผู้รับการเลี้ยงไว้ จากทายก -ทายิกา (ผู้ให้)

และธรรมเนียม หรือหลักเกณฑ์แห่งการเลี้ยงชีพ ที่ให้ทายกทายิกาเลี้ยงไว้ ตามที่พระพุทธเจ้ากำหนด ให้เป็นสำคัญ ก็คือ เดินออก "บิณฑบาต" เลี้ยงชีพ เป็นประจำชีวิตให้ได้ทุกวัน ตามคำสอนของพระบรมศาสดา ที่ว่า "คำข้าว อันหาได้ด้วย กำลังปลีแข้ง" นั่นเอง

การ"บิณฑบาต" จึงเป็นพฤติกรรมสามัญ ที่มีควบคู่ไปกับชีวิต ของความเป็นภิกษุ หรือแม้แต่สามเณร ดังกล่าวแล้ว จะขาดเสียมิได้ ประหนึ่ง เป็นอวัยวะส่วนน้อยหรือใหญ่ ในร่างกายของคน (องคาพยพ) ฉะนั้น

ดังนั้น ถ้าสังคมสงฆ์ใด หรือภิกษุสามเณรรูปไหน ไม่บิณฑบาต หรือไม่ค่อยบิณฑบาต ก็เท่ากับ คนมีอวัยวะพิการ หรือเป็นคนไม่สมบูรณ์

ศาสนาพุทธ จะต้องมี "บิณฑบาต" เป็นส่วนหนึ่งของพุทธศาสนา จึงจะแสดงว่า พุทธศาสนาสมบูรณ์ ไม่พิการ ไม่บกพร่อง ไม่ขาดแหว่ง หรือ ไม่เสื่อมโทรมนั่นเอง และจะสมบูรณ์แท้จริง ยิ่งเท่าใดๆ
ก็ด้วยการ "บิณฑบาต" นั้น มีธรรมสาระ หรือมีสาระสัจจะของ "บิณฑบาต" ครบสาระสัจจะทั้ง ๑๐ ข้อ ตามที่ได้อธิบาย สาธยายมาแล้ว ๙ ข้อ และกำลังจะสาธยาย ถึงข้อที่ ๑๐ นั้น
ได้จริง
ถูกจริง
เป็นจริง
มีแท้ยิ่ง เท่านั้นๆ

"ยาก" จึงมีเก๊ มีปลอม
เมื่อไขความมาถึงขนาดนี้แล้ว ก็จะนึกคิดสอบสวน เทียบเคียงเอากับ สภาพความเป็นจริงได้ว่า "บิณฑบาต" นั้น เป็นของทำได้ยากจริงๆ

ผู้จะทำได้ ทำถูก ทำเป็น ก็ต้องฝึกต้องเพียร แม้เพียงให้เห็น เป็นสมณะสารูป ในการ "บิณฑบาต" ให้เข้ารูปเข้ารอย ก็ยากแล้ว ไหนจะด้าน "นามธรรม" ให้บริสุทธิ์ผุดผ่องอีก และจะทำให้เป็นประโยชน์ตน ประโยชน์ท่าน จนถึงขั้น โลกุตระด้วยนั้น ก็แสนยากยิ่ง

หากไม่พากเพียรอุตสาหะอย่างยิ่งนั้น จะไม่บรรลุเป้าหมายเลย

เพราะมันยาก ดั่งได้ชี้มาให้เห็นกันนี่แหละ เราจึงได้ประสบกับ "บิณฑบาต" เก๊ๆ ปลอมๆ กันเยอะแยะ และ จะได้ประสบ "สมณพราหมณ์ ผู้เจริญ (พระผู้ใหญ่ หรือผู้มีชื่อเสียง) บางจำพวก" ไม่บิณฑบาตกัน ถมเถด้วย

เหตุเพราะมันเป็นไปจริง มีความหมายตรงตามคำตรัส กำชับกำชา ของพระบรมศาสดาว่า มันยาก ! มันยาก ! พระพุทธองค์ จึงต้องใช้คำว่า "อุตสาหะ -วิริยะ ในเรื่องนี้ ตลอดชีวิต" กันอย่างยิ่งจริงๆ ถึงจะบรรลุผลมี "บิณฑบาต" เป็นนิสัยได้ (บิณฑบาต เป็น "นิสัย" หนึ่งใน "นิสัย ๔" ของภิกษุ)

จะเกิด "ญาณ" และเกิด "วิมุติ" จนไม่ทุกข์ไม่สุข กับเรื่อง "บิณฑบาต" ได้นั้น มันเป็นของทำได้ยากจริงๆ แล้ว "พระ" ผู้นั้น จึงจะมี "บิณฑบาต" เป็นสัมมาอาชีวะ จริงๆ

มิใช่เป็นพระที่คอยฉันแต่ "สังฆภัตตะ" (อาหารถวายสงฆ์ อย่างทั่วถึง) หรือ "อุทเทสภัตตะ" (ซึ่งหมายความว่า เป็นอาหาร ที่มีผู้ทำมาถวายสงฆ์ นั่นแหละ แต่ไม่ทั่วถึง) เป็นต้น หรือไม่ก็เป็นพระ ที่คอยฉันแต่อาหาร ที่เป็นลาภพิเศษ (อดิเรกลาภ) ลักษณะนี้ พระพุทธองค์ ให้ถือเป็นครั้งเป็นคราว ถ้าใครรับอาหารอย่างนี้ เป็นการประจำ หรือเป็นไปโดยมากอยู่ ก็ไม่ใช่ "สัมมาอาชีวะ" ผิดความเป็น "สมณะ" แห่งลัทธิพุทธ เป็นเดียรถีย์

หรือแม้แต่วินัย ก็ห้ามไว้ว่า พระที่ไม่เจ็บป่วย จะฉันอาหารจากโรงครัว ในที่พักอาศัย, อาหารในโรงทาน (อาวสถปิณโฑ) โดยไม่ออกบิณฑบาตนั้น ได้เพียงครั้งเดียว ขืนทำกันเป็นกิจวัตร ติดต่อกันอยู่ ก็อาบัติกันอยู่ตลอด ที่เกิน "หนึ่งครั้ง" ติดต่อกัน อยู่นั่นแหละ

เราจะเห็นได้ว่า มันเป็นความละเอียดลึกซึ้งไปทั้ง "พระ" ผู้จะบิณฑบาต ซึ่งจะให้ได้ให้ดี ให้บริสุทธิ์ผุดผ่อง เป็น "บิณฑบาต" บริบูรณ์ ทั้งให้ "ผล" สูงส่ง อยู่ในโลกอยู่ในสังคม และเป็นความละเอียดลึกซึ้ง ไปทั้ง "ญาติโยม" ที่จะเป็นผู้ตักบาตร

แม้แต่แค่ให้เข้าใจว่าเป็น "บุญ" เป็นกุศลแท้ๆจริงๆ มิใช่หลอก มิใช่ล่อเลย แต่มันมีเหตุมีผล รู้และเข้าใจในสัจธรรม จนเกิดศรัทธาแรงพอ กระทั่ง ผู้นั้น ตักบาตรประจำ หรือตักบาตรบ่อยๆ ก็ทั้งยากแล้ว

ยิ่งขั้นต้องทำให้ถูกต้อง ให้เป็นวิปัสสนากรรมฐาน ให้ส่งผลถึงในใจในจิต เป็นพลวปัจจัย สู่นิพพาน อย่างแท้ๆ จริงๆ ก็ยิ่งแสนยากยิ่งอีก

แต่จะไม่ยากเลย สำหรับผู้ปัญญาดี ผู้มีเนื้อหา ที่เป็นศรัทธาเดิมอยู่แล้ว เมื่อมาเข้าใจเรื่อง "บิณฑบาต" ด้วยนัยะต่างๆ ที่ได้สาธกมานี้เข้า

แม้จะไม่เคยได้ใส่บาตร มาก่อนเลย ก็จะเริ่มใส่บาตร เพื่อประโยชน์ตน ประโยชน์ท่าน ขึ้นได้ทันที และ ผู้เป็นพระก็เช่นกัน บางท่าน อาจจะยังไม่เคยได้ยินได้ฟัง ไม่เคยได้รู้ ดั่งที่อธิบายมานี้ พอมารู้ดั่งนี้เข้า ก็จะปรับปรุงตน จะกระทำอย่างถูก อย่างดีได้ทันที เช่นกันด้วย

"บิณฑบาต" เป็นพฤติกรรมที่มีเกียรติ และศักดิ์สิทธิ์
เมื่อผู้ใดรู้แจ้ง เข้าใจแจ่มชัดแล้วว่า
"บิณฑบาต" ไม่ใช่ของเล่น ไม่ใช่เรื่องกล้วยๆ ไม่ใช่พฤติกรรม ของคนไป "ขอ" (ทาน) แต่เป็นพฤติกรรมที่มีเกียรติ และศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งประกอบไปด้วยความรู้ (วิชชา) และการฝึกฝน จนเป็น จนถึง "บุญ" ถึง "คุณค่า" แท้กันจริงๆ เป็นของทำได้ยาก แต่มีผลสูง มีคุณมากล้น ผู้นั้นก็จะพากเพียรอุตสาหะ อย่างยิ่ง

และยิ่งผู้ใดทำได้โดยไม่ยาก ทำได้โดยไม่ลำบาก ผู้นั้นก็จะเต็มใจ และรีบทำทันที ตามกาละ ตามหน้าที่ ถ้าผู้นั้นยืนยัน และมี "ความเป็นจริง" ว่า ตนบูชา -ตนเทิดทูน -ตนนับถือ "ตน" ก็จะต้องเป็นอยู่ โดยมี การกระทำ (กรรม) มีกิริยา (กรรม) เพราะมี "ความจริงใจ" (จิต) ให้ปรากฏออกมา แสดงถึงความสนับสนุนของตน ที่แท้จริงจริงๆ ทีเดียว

เนื่องจาก ผู้นั้นรู้แล้วเป็น "อธิปัญญา" จริงๆ ว่ามันเป็น"คุณ" มันเป็น"ค่า" และมันเป็น"บุญ" โดยสัจธรรม เมื่อผู้ใดได้กระทำ มันก็เป็นทั้ง "บุญ" ทั้ง"คุณ" ทั้ง"ค่า" ทั้ง"แก่ตน" รวมไปทั้งหมด ทั้ง"แก่สังคม"

"ความปรากฏจริง" หรือ "ความเป็นจริง" จึงเกิดได้ มีการยืนยันได้ด้วย ความมี "วิชชา" จริง และการทำได้จริง ของคนจริง! ดังนี้

๑๐. "บิณฑบาต" เป็นประธาน ก่อก็ให้เห็น "การให้-การเสียสละ" เกิดและมีอยู่ในโลก อย่างสำคัญ
เพราะโลก จะขาด "การให้-การเสียสละ" ไม่ได้! โดยเฉพาะ การให้ด้วยศรัทธา ด้วยบูชาเคารพ การให้โดยไม่มีการบังคับ

เป็นความจำเป็นอย่างเหลือเกิน ที่จะต้องย้ำเตือน ให้แก่มวลมนุษย์ ต้องสร้างค่านิยม ในเรื่อง "ให้" เรื่อง "เสียสละ" ที่ไม่ต้องถูกบังคับ ไม่ต้องถูกขอ
"เสียสละ" ด้วยความเห็นดี
"เสียสละ" หรือ "ให้" ด้วยปัญญา บริสุทธิ์เต็มใจ "ให้" ด้วยความเกื้อกูล
"เสียสละ" ด้วยสภาพไม่มีการขอ แม้เพียงในทีของผู้รับ
ต้องให้รูปธรรม -นามธรรม แห่งการเสียสละ -การให้ -การหมุนเวียน เช่นนี้ๆ "เกิดอยู่" ในโลกเสมอๆ เพื่อถ่วงดุล สภาพของการเอา -การหวงแหน การกักตุน ที่มีบทบาท มีพฤติการ ขจรขจายแพร่สะพัดอยู่ ในทุกซอก ทุกอนู แห่งสังคมหมู่ชน มากเหลือเกินในโลก

"นาบุญ" ที่ก่อให้เกิด "การให้-การเสียสละ"
ถ้าพูดกันตามประสาง่ายๆ ตื้นๆ ดั่งได้กล่าวมาแล้วว่า "พระ" ท่านไปบิณฑบาต นั้นคือ ท่านไปเป็น "ผู้รับ" นั่นมันแค่วัตถุธรรมตื้นๆ หยาบๆ
แต่กระนั้นก็ดี มันก็ยังมี"รูปธรรม" แห่งบทบาท "การให้" เกิดขึ้นอยู่
และเป็น "การให้" ที่เกิดเพราะศรัทธาเต็มใจ เพราะบูชาเคารพ
เป็น "การให้" ที่ไม่มีการบังคับ ไม่มีการข่มขู่ ขูดรีด จำใจของใคร
เป็น"การให้" ที่ไม่มีแม้แต่การจำยอม หรือยื้อแย่ง คดโกง ขี้ฉ้อ
ก็ยังนับได้ว่า "พระ" ท่านไปเป็นประธาน หรือ "บิณฑบาต" นั้น เป็นประธาน ก่อให้เห็นบทบาท "การให้-การเสียสละ" (อย่างบูชาเคารพต่อผู้รับ) เกิดมีอยู่ในโลก อย่างดี อย่างงาม

ทีนี้แม้ในเรื่อง"การรับ" ถ้าให้คนขี้โลภ เป็นประธานในการรับ ก็เปรียบดั่ง เทของใส่ "กองไฟ" เทเข้าไปเท่าใด ก็หายสูญ ทำลายสิ้น ต้องให้คนไม่มีความโลภ หรือผู้มีความโลภน้อย นั่นแหละ เป็นประธานในการรับ จึงจะเป็น "นาบุญ" ที่เนื้อดินดี จะงอกจะเงย จะส่งผลที่ดีที่ยิ่งกว่า เกิดขึ้นมา ให้แก่สังคมมนุษย์ อย่างแท้จริง

ดังนั้น เมื่อเราจะมีบทบาท หรือมีพฤติกรรมแห่ง "การให้-การเสียสละ" เกิดหรือมีอยู่ในโลก จึงควรที่สุดแล้ว ถูกที่สุดแล้วที่ "พระ" แท้ๆ จะเป็นประธานใน "การเกิด-การมี" บทบาทนี้ พฤติการนี้

ไม่ว่าใคร จะเห็นได้เข้าใจ "พระ" ท่านได้หรือไม่ว่า ลึกซึ้งอย่างซับซ้อนนั้น ท่านเป็น "ผู้ให้" มิใช่ท่านไปเป็น "ผู้รับ" ก็ตาม "บิณฑบาต" ก็นับได้ว่า เป็นประธาน ก่อให้เห็น "การให้-การเสียสละ" เกิด-มีอยู่ในโลก อย่างดีอย่างงามแล้ว

ยิ่งถ้าใครผู้ใดเข้าใจ ได้ซึ้งได้ประณีต และเห็นจริงลึกเข้าไปได้อีกว่า พระท่าน "บิณฑบาต" นั้นท่านไปเป็น "ผู้ให้" อันมีทั้งรูปธรรม และอรูปธรรม มีลึกซึ้งไปถึง ทั้งนามธรรมจริงๆ "บิณฑบาต" ก็ยิ่งนับได้ว่า เป็นประธาน ก่อให้เห็น "การให้-การเสียสละ" เกิด-มีอยู่ในโลก อย่างดีอย่างงาม ยิ่งขึ้นไปอีก

และ ยิ่งในความเป็นจริงนั้น "พระ" ก็เป็นพระอริยเจ้าแท้ๆ ผู้มีจิตบริสุทธิ์ ปราศจากจิตโลภ-โกรธ - หลงผิด ในการ "บิณฑบาต" จริงๆ ทั้ง "ฆราวาส" ที่ร่วมกิจกรรม ตักบาตรอยู่ด้วย ทั้งหลายนั้นๆ ก็เป็นผู้มี สัมมาทิฏฐิ พึงประพฤติ พึงทำปรากฏการณ์นี้ ให้เกิด-ให้มีอยู่ในสังคมในโลก อย่างเข้าใจใน "ประโยชน์เป้าหมาย ทั้งรูปธรรม -นามธรรม อันสัมบูรณ์ สูงสุด" (เอกคุณ) ว่าประโยชน์ตนก็ได้ ประโยชน์ท่านก็ได้อยู่แท้ โดยเฉพาะ ประโยชน์ท่าน ที่เห็นที่รู้ชัดอยู่โต้งๆ คือรูปธรรม-นามธรรม ของการให้-การเสียสละ ที่ไม่ต้อง ถูกบังคับ ข่มขู่ขูดรีด ไม่ต้อง "ถูกขอ" เป็นการเสียสละ ด้วยความเห็นดี รู้ดีด้วยปัญญา ด้วยศรัทธา อย่างเต็มใจ อย่างรู้ชัดๆ อยู่จริงๆ ว่า

เรา "จ่าย" เรา"ให้"ด้วยความเกื้อกูล เอื้อเฟื้อกันแท้ๆ เป็นการเสียสละ ด้วยสภาพไม่มี "การขอ" แม้เพียง ในทีของผู้รับ อย่างถึงจุดสุดของ "ความแท้จริง"

และที่สำคัญที่สุดก็คือ เป็นความจำเป็นอย่างเหลือเกิน ที่จะต้องย้ำเตือน ให้แก่มวลมนุษย์ ทั้งหลายในโลก ต้องสร้าง ค่านิยมในเรื่อง "ให้" เรื่อง "เสียสละ" ให้เกิด-ให้มีอยู่ในโลก ในสังคมให้ได้ เป็นประธาน ทุกเช้า เป็นการเตือน แต่ต้นเวลาของวัน ทำทุกวัน เป็นการเตือน ให้ย้ำอย่างแม่นมั่น ลงไปในสัมผัสของคน และทุกคน ในทุกครา ที่ได้ร่วมกิจกรรมบิณฑบาต ก็ล้วนเป็นผู้เติม "อำนาจ-ขยายค่า" ให้แก่สันติภาพ - ภราดรภาพ อย่างงดงาม ด้วยศิลปะ ขั้นโลกุตระ

เป็น"การให้" ที่มีโลกุตรธรรม ครบ"รูป-นาม" ผู้รู้แจ้งเข้าใจจริง ดั่งสาธกมานี้ จึงจะไม่สงสัยเลย แม้สักนิดน้อยหนึ่งว่า "บิณฑบาต" เป็นประธาน ก่อให้เห็น "การให้-การเสียสละ" เกิด-มีอยู่ในโลก อย่างสำคัญ เพราะโลก จะขาด "การให้-การเสียสละ" ไม่ได้! โดยเฉพาะการให้ด้วยศรัทธา ด้วยบูชาเคารพ การให้โดย ไม่มีการบังคับ และ "การให้" ที่ไม่หวังอะไรตอบแทน มาให้แก่ตน

เพราะเรื่องทั้งหลายทั้งปวง ชั้นสูงสุดที่สุด มันก็ประกอบไปด้วย "อธิปัญญา" อย่างแท้จริง ที่เข้าใจได้อย่างเป็นที่สุดแล้วว่า

พระทำหน้าที่ "ผู้ให้" ที่เป็นประธาน ได้อย่างเป็นที่สุด แท้จริง ไม่มีอื่น ที่จะเป็นได้กว่านี้อีกแล้วนั้น
ก็คือ พระ "ผู้รับ" ที่ไม่มี "ความอยากได้" เลยอย่างแท้ๆจริงๆ นั่นแหละ (ไม่มีโลภ -ไม่มีโทส -ไม่มีโมห)
มันหมด ที่สุดแล้ว ไม่มีที่สุดเท่านี้อีก

เมื่อท่านเดินออกไปเป็น "ผู้ให้" แม้ท่านจะมีรูปธรรมแห่ง "การรับ" อยู่อย่างไรๆ
"การให้" ของท่าน ก็ยังเป็นประธานอยู่นั่นเอง เพราะ "นามธรรม" ใน "การรับ" ของท่านไม่มี! ["ความอยากได้" ไม่มีในจิตจริงๆนั่นเอง มีแต่"รับมา" ตามสภาพธรรม แห่งความเป็นไปอยู่ ของกิริยาปกติธรรมเท่านั้น]

ว่าแต่ว่า ฆราวาสที่ร่วมกิจกรรมบิณฑบาตนั้นๆ ผู้ใดที่เป็น "ผู้ให้" (ผู้ใส่บาตร) อยู่นั้นหนะ! ได้มี "การรับ" เอารูปธรรม -อรูปธรรม -นามธรรม ที่ดีที่ถูก "คุณ" ที่เป็น "ค่า" นี้ๆ ด้วยวิชชา เข้าไปให้แก่ตน อยู่หรือเปล่า?
ถ้าได้! ก็นับว่าเป็น "ผู้ให้" ที่ไม่ไร้ผล สำหรับผู้ยังไม่บรรลุสูงสุด ถึงขั้น มีปัญญาสุด และทำได้สุด! ก็เป็นส่วนแห่งบุญ ให้ผลแก่ขันธ์ แม้จะเป็น "ผล" ขั้นสาสวะ แค่เพียงเลื่อมใส ศรัทธาเท่านั้น ก็ยังเป็นสัมมาทิฏฐิ

และหรือ ยิ่งผู้ใดที่เป็น "ผู้ให้" อย่างเกิด อธิปัญญายิ่งได้ ว่า...
๙. ตนทำ "การให้" นี้อยู่ด้วยอุดมคติ ที่เป็นเรื่องง่าย ทำได้บ่อยๆ หรือทำได้ทุกวัน โดยไม่ต้องอุตสาหะ ฝืนข่มอะไรเลย มันเป็นนิสัย เป็นอิทธิบาทแล้ว

๘. เป็นการร่วมไม้ร่วมมือ อย่างเต็มใจเข้าใจ ที่จะทำสหกรณ์ ตัวสำคัญ ยิ่งนี้ๆ

๗. ไม่เดือดร้อน ไม่กลัวจน ไม่กลัวพร่อง ไม่กลัวเหนื่อย ไม่กลัวเสียเวลา เพราะรู้ใน "ความดี" เพราะเข้าใจจริงแล้วว่าเป็น "คุณธรรม" เป็นการพิสูจน์สัจธรรมแท้ว่า ตนอยู่ได้ด้วย "คุณธรรมความดี"

๖. เป็นศิลปะที่อันติมะ แท้ๆจริงๆ เข้าใจดี ในความเป็นโลกุตระนั้นๆ เป็นนามธรรมนั้นๆ

๕. เป็นพุทธประเพณี ทุกกัปป์ทุกกัลป์ ของพระพุทธเจ้าทุกพระองค์ ที่เราพุทธศาสนิกชน ก็ต้องทำแน่นอน มากหรือน้อยเท่านั้น ยิ่งมาก ก็ยิ่งเป็นความดีมาก เป็นผลสูงแก่ตน โดยเฉพาะแก่ท่าน แก่สังคม แก่มวลชน นั่นแหละ ตรงที่สุด

๔. เป็นมนุษย์สัมพันธ์อันลึกซึ้งสุดซึ้ง ขั้นสัมพัธภาพ

๓. เป็นสัมมาอาชีโว ของพระโดยตรง อย่าง "เอก" ที่จะต้องมีเรา ผู้เป็นฆราวาส ร่วมอยู่ด้วยอย่าง "โท" ทีเดียว

๒. และมันก็เป็นสัมมากัมมันโต ของผู้มีศีล -สมาธิ -ปัญญาแท้ แม้เรา "ผู้ให้" อยู่ ณ บัดนี้ ก็พึงมีอธิปัญญา แจ้งชัดอยู่ว่า "จิต" ของเรานั้นก็พึง "ให้" ด้วยอธิจิต ที่ว่างจากกิเลส (สัมมาสมาธิ) "ให้" อย่างไม่มี "การรับ" เอาอะไร มาให้แก่ตนดอก! จึงได้ทำ "การให้" นี้เป็นเรื่องง่ายสบาย ทำได้บ่อยๆ ปกติธรรมดาๆ (อธิศีล) เพราะหมดสงสัย (พ้นวิจิกิจฉา) และไร้ปฏิกิริยา ของกิเลส ระดับหนึ่ง แล้วในจิตวิสัย (พ้นสักกายทิฐิ) มีแต่ "กุศลเจตนา" อันผ่องใสบริสุทธิ์ เท่านั้น ที่เป็น "ความเป็น" อยู่ โดยมีกรรมกิริยานั้นๆ อย่างรู้ชัดแจ้ง ในเหตุผล คุณค่าประโยชน์ มิได้หลงผิด ในบุญในกุศล ของจารีต ประเพณีบิณฑบาตนี้ อย่างงมงายแล้ว (พ้นสีลัพพตปรามาส)

๑. ถ้าผู้นั้นเป็นได้ถึงปานนี้แท้ๆ แม้จะอยู่ใน "รูป" ของทายกทายิกา ก็ตาม ก็ย่อมได้ชื่อว่า พรั่งพร้อมด้วยอริยกันตศีล (มี"อธิศีล" ขั้นพระอริยเจ้า พอใจ) พร้อมด้วยสัมมาสมาธิ (มี "อธิจิต" หรือมี "สมาธิแบบพุทธ" ในปัจจัยนี้ ในเรื่องนี้แล้ว) และกิจกรรมที่ผู้นั้น ร่วมทำอยู่นี้ ก็ได้ชื่อว่า เป็นการแสดงธรรม เป็นทานโปรดสัตว์ (คน) ในโลกอยู่แท้ๆ ด้วยการร่วม (กับพระ) แสดง "การให้-การเสียสละ" ให้เกิด-ให้มีอยู่ในโลก อย่างสำคัญ (เป็น "มหากิริยา" โสภณจิต อย่างแท้จริง ของประมัตถ์สัจจะ) เพราะโลก จะขาด "การให้ - การเสียสละ" ไม่ได้! โดยเฉพาะ ให้ด้วยศรัทธา ด้วยบูชาเคารพ การให้โดยไม่มีการบังคับ และเป็นการให้ ที่ไม่ต้องการอะไรมาให้แก่ตน

และ
๑๐. ทายกทายิกาผู้มี "การให้" จนกระทั่งไม่มี "การรับ" เป็นที่หมดสุดนี้ ก็จะต้องชื่อว่า
เป็น "ประธาน" ก่อให้เห็น "การให้-การเสียสละ" เกิด-มีอยู่ในโลก อย่างสำคัญ ด้วยผู้หนึ่งทีเดียว
เป็น "สหกรณ์บิณฑบาต" ตัวสำคัญยิ่งสุดแล้ว บริบูรณ์ เพราะเป็น "สหกรณ์ ขั้นโลกุตระ" คือสักแต่ว่า ร่วมกันทำประโยชน์ ขึ้นในโลก โดยวัตถุประสงค์ เพียงเพื่อให้มี "ความเกิด" ที่เป็นรูป ที่เป็นแบบ เป็นลีลาขั้น "มหากุศล" นี้ขึ้นมาแก่โลก แก่มวลชนจริงๆ ส่วนผู้ทำไม่ต้อง "ได้รับ" อะไรตอบแทนเลย ก็ได้จริงๆ

ก็ฉะนี้แหละ คือความหมดตัวหมดตน มันมี "ความเกิด" ดำเนินเป็นไปอยู่ ในจักรวัฏฏะ เป็นธรรมดา เป็น "มหาวิบาก" ของมหากุศลนี้ๆ เองเท่านั้น เพราะผู้ร่วมทำให้มีให้เป็น ทั้ง "พระ" ทั้ง "ฆราวาส" นั้นต่างก็สักแต่ว่า "ทำ" ("กตัตตากรรม" ที่ประกอบด้วยวิชชา)
โดยปราศจาก การ"ขอ"
ปราศจากการ "อยากได้" อะไรตอบแทน
ว่างจากการยึดเอา ฉวยเอาอะไรมาให้แก่ตนอีก
แม้ถึงขั้นรู้ว่านี้คือ "ความดี" ขั้นสูงขั้นสุด ปานใดๆ ก็ไม่ได้ยึดเอาความดีนี้ มาหลงว่า เป็นส่วนหนึ่งส่วนใดของตัว

จะหลงว่า เป็นสมบัติหนึ่งสมบัติใดของตน จะวิปลาส ว่าเป็นของของเรา กำหนดหวังแค่ว่า เป็นสิ่งที่เราทำเพื่อ "ความสุข" (อารมณ์หรือจิตวิสัย) เพื่อ "สรรเสริญ" (โลกธรรม หรือวัตถุวิสัย) ของตนนั้น ก็ไม่มีเลยจริง ๆ

แม้มันจะไม่มี "ความสุข" จะต้องต่อสู้บ้าง จะต้องพากเพียร อุตสาหะ ก็รู้อยู่ ด้วยอธิปัญญาของตน ไม่สงสัยเลยใน "ความเป็นจริง" นั้นๆ

หรือแม้มันจะมี "ความสุข" ก็เป็นเพียงความง่าย ความสบาย ความวางใจ ด้วยปัญญาที่รู้ดีเป็นที่สุด ของความรู้ ในการกระทำ รู้ในกิริยานั้นๆ อยู่ตามรูป ตามแบบ ตามลีลา หนัก-เบา ของงานแต่ละครั้งแต่ละครา นั้นๆ อยู่เท่านั้น

และแม้มันจะมี "สรรเสริญ" มันก็คือการเกิด"โลก" (ธรรม) เกิด"จักรวัฏฏะ"

เป็นแค่ "แรง" ที่จะแผ่ ที่จะพัดกระพือ ที่จะขยาย "ตัวของความดี" อันนี้ๆเอง นั่นแหละ ให้หมุนเดิน -ปรุง -ปรับ -แปร -แพร่ -เผย -ผัน -พุ่ง-รุ่ง-ลาม-เรือง-โรจน์ ฯลฯ [หรือจะ เบา-เฉื่อย-หมดแรงลง ก็อยู่ที่ "ผู้รู้" ทั้งหลาย ที่ยืนยันว่า สนับสนุน-นับถือ-เทิดทูน-บูชา "ศาสนา" นั้นๆ จะ "กระทำ" การช่วย ความสืบต่อ ส่งต่อ "ตัวของความดี" นี้ๆ ไปอีกหรือไม่ !] ไปสู่ทุกอณู แห่งบรรยากาศแก่คน แก่มวลชน ผู้ควรจะแซ่ซ้อง -ยินดี - เห็นดี - และ ควรรู้จัก "ความดี" หรือ "ความจำเป็น" ที่คนควรได้นี้แท้ๆ ยิ่งกว่า "ตัวของความชั่ว" ให้ประจักษ์ๆ เถิด! เท่านั้น ตัวเราไม่ได้ยินดีหรือฟูใจ ในสรรเสริญ แซ่ซ้องนั้นๆ

"บิณฑบาต" จึงไม่ใช่ "การขอ"
ผู้เข้าใจดีมาถึงที่สุด ณ ขั้นนี้ ก็จะเห็นได้แล้วว่า "คนขี้ขอ" นั้นไม่มีเลย ในการ "บิณฑบาต" เมื่อการบิณฑบาตนั้น ถูกต้อง ดีงามบริบูรณ์ ถึงที่สุดแล้ว ไม่ว่าจะเป็นฆราวาส หรือเป็นพระ มันพ้น สิ้นเกลี้ยง จากคำว่า"ขอ" หมดสนิท! มันมีแต่ "การให้" กับ "การรับ" ของมนุษย์ ผู้สุดแสนรู้ ความเป็นจริง และทำ "ความจริง" นั้นให้ปรากฏอยู่ เท่านั้นจริงๆ ("มหากิริยา" แท้)

มันเป็นสัญญลักษณ์สมบูรณ ์แห่งความเป็น "ภราดรภาพ" เป็น "สันติภาพ" อยู่ชนิดถึงขั้นมี "สักการบูชา" กันชัดๆ เจนๆ ถึงขั้นมี "เทิดทูน" เห็นๆ

โดย "ถือ" กันขึ้นมาด้วยรู้แท้ เข้าใจจริงตรงกัน เพราะเห็นควรเห็นดี เห็นมหากุศล โดย"นับ"เอาได้ เพราะมี เนื้อ มีสาระมี "ค่า" อันประมาณมิได้กันจริงๆ ทั้งรูปธรรม-อรูปธรรม และ นามธรรม แต่ "ดีแน่" หรือรู้ชัดแน่ว่า "ดี" เป็นที่สุดแห่งที่สุด ฉะนี้แล

ดังนั้น ผู้ใดที่ "สนับสนุน" ศาสนาอยู่จริง ก็น่าจะมีความปรากฏจริง หรือความเป็นจริง ยืนยันออกมา จึงจะเห็นได้ รู้ได้ว่า ความมีปัญญาจริง และ มีการทำได้จริง ของคนจริง! นั้นๆ เป็นอยู่แท้ แม้จะทำไม่ได้ถึงขั้นโลกุตระ "ขั้นสูงสุดยอด" จะได้แค่ขั้นใดๆ ก็ขอให้มี "การกระทำ" มี "กิริยา" ออกมาเป็น ปรากฏการณ์กันเถิด...

ผู้เป็น "พระ" จะมีแค่เพียงการบิณฑบาต
หรือผู้เป็น "ฆราวาส" จะมีแค่เพียงการร่วมมือร่วมใจ ตักบาตร
แค่นี้ ก็เป็นที่ยืนยันได้แล้วว่า ผู้นั้นสนับสนุน-นับถือ -เทิดทูน -บูชา ชาติ-ศาสนา -พระมหากษัตริย์ แท้จริง เพราะอย่างน้อยก็มี "การกระทำ" (กรรม) มี "กิริยา" (กรรม) อย่างเห็นได้ รู้ได้ออกชัด
ข้อสำคัญ ขอให้พยายามทำให้ดี ทำให้ถูก ทำให้ตรง "สาระธรรม" แห่งบิณฑบาต นั่นเถิด

"ภิกษุ" จึงไม่ใช่ "ผู้ขอ"

ศิลปะ วัฒนธรรม สหกรณ์ ฯลฯ ซึ่งเป็นพุทธประเพณี มาทุกกัปป์ทุกกัลป์ แห่งพระพุทธเจ้า ทุกพระองค์ จะได้คงทนถาวรบริสุทธิ์ โปรดช่วยกันบูรณะ ปราบปราม ปรับปรุงกัน ให้เข้าสู่สภาพที่มี "ธรรมสาระ" อันบริบูรณ์เทอญ !! มิฉะนั้น "บิณฑบาต" ก็จะกลายเป็นกิจกรรมของ "คนขี้ขอ" ทำลาพุทธศาสนา ไปอย่างไม่มีปัญหา ภายในไม่ช้าไม่นานนี้ แน่เสียยิ่งกว่าแน่ !

หมู่ชนใดหรือประเทศใด ที่มี "บิณฑบาต" อย่างงามแท้ ถูกธรรมจริง เป็นวัฒนธรรม เป็นศิลปะ ที่ทรงอยู่ ประดับอยู่ ในหมู่ชนนั้น ในประเทศนั้น จึงเรียกได้ว่า หมู่ชนนั้น ประเทศนั้น เป็นหมู่ชน หรือเป็นประเทศที่มี "จิต" ประเสริฐ "จิต" สูงจริงๆ เป็นความศิวิไลซ์ยอดยิ่ง ซึ่งจะมีขึ้นยืนยง และ พร้อมทั้ง เข้าใจแจ้งกันว่า เป็น "กิจกรรม" เป็น "พฤติกรรม" ชั้นสูงสุดของมนุษยชาติ ที่จะมีขึ้นอยู่ในสังคมนั้น ประเทศนั้น ได้ยากมาก อย่างจริงยิ่งๆ อีกด้วย

นั่นเกี่ยวกับการถูกตู่ว่าเป็น "คนขี้ขอ" เพราะเหตุแห่ง "บิณฑบาต" จะเป็นได้แค่ใด? จะจริงหรือไม่? ก็ได้สาธยาย มาพอแก่การแล้ว

สาเหตุที่ต้องเขียน
เหตุที่จำเป็นต้องเขียนเรื่อง "ภิกษุ" ของพุทธ" ไม่ใช่ "ผู้ขอ" ขึ้นมานี้ ก็เนื่องจาก...

๑. คนนอกพุทธศาสนา หรือคนที่นับถือพุทธ ตามตระกูลเองก็เถอะ และ ไม่ว่าจะเป็น "หัวใหม่" หรือ "หัวเก่า" บางคน ได้เข้าใจผิด ได้จาบจ้วง กล่าวโทษ "การบิณฑบาต" อย่างสาดเสียเทเสียเหลือกิน เช่น
-หาว่าเป็นการขอทานบ้าง
-เป็นคนขี้ขอตรงๆเลยบ้าง
-เป็นการกระทำของคน ผู้เอาเปรียบบ้าง
-เป็นวิธีกรรมที่ทำให้ คนไม่ทำงานบ้าง
-เป็นการแสดงออก ซึ่งความด้อยพัฒนาบ้าง ฯลฯ
-หรืออะไรอื่นๆอีก มีมานาน มีมามาก แล้วแต่ใครๆ จะได้ยินได้ฟัง คำโจทน์ท้วง ติฉินอื่นๆ ต่างจากนัยะ เพียงที่ยกมากล่าวนี้ก็ยังมี

ซึ่งเป็นการเข้าใจผิดความจริง หรือเข้าใจยังไม่ได้ว่า
* "บิณฑบาต" คืออะไร ?
* ทำไมจึงต้องบิณฑบาต ?
* ทำไมจึงต้องทำอย่างนี้ ?
* และ "อย่างนี้" ที่เห็นอยู่ในปัจจุบันนี้นี่น่ะ เป็น "การบิณฑบาต" ที่ถูกแล้วดีแล้วหรือ ?
* สมควรจะมีอยู่หรือไม่ ในสังคมที่มีเศรษฐกิจ และวัฒนธรรม อย่างนี้ ขนาดเท่านี้ ?
* "บิณฑบาต" ทุกวันนี้ เป็น "ศิลปะ" หรือเป็น "อนาจาร" กันแท้ ?
* "บิณฑบาต" เป็นความโง่ เป็นความตื้นเขินที่น่าดูถูก เหยียดหยาม หรือ เป็นความฉลาด ลึกซึ้งอย่างไร?

๒. "พระ" ผู้มีสัมมาทิฏฐิ และมีปฏิปทาถูกต้อง ตรงตามพุทธธรรม ในพุทธศาสนา แท้ๆจริงๆ ถูกเข้าใจผิด ถูกจาบจ้วง ตีขลุม รวมไปหมดว่า
- เป็น "คนขี้ขอ"
- มีแต่กรรมวิธีขี้ขอ
- มีแต่หาทางเรี่ยไร
- มีแต่อุบาย เลศ เล่ห์ เอาแต่ได้ หาเงิน
- สะสมสมบัติวัตถุ มุ่งมั่นแต่จะสร้างสมบัติพัสถาน ให้ใหญ่ๆให้โตๆ เพราะหลงวัตถุ หรือเพื่อผล แห่ง โลกียสุข -สรรเสริญ -ยศ -ลาภ ไม่แตกต่างกรรม ไม่แตกต่างจิต ที่กำหนดที่หมาย ของคฤหัสถ์ทั้งหลาย เขามุ่ง เขามุ เขาหลงแสวงหากันอยู่นั้นเลย
เล่นเข้าใจใส่ความ กันเลยเถิด ตีถัวเหมาโหลไปหมด ถึงยังงี้เลยแหละ จริงๆ

ซึ่งเป็นความ "เห็นผิด" หรือเป็นความ "เห็นไม่ได้" เป็นการ "ดู(พระ)ไม่ออก" ของคนบางคน จึงไปหลงนับเอาถือเอา เข้าใจเอา"พระ" ที่ไม่ใช่ "ภิกษุในธรรมวินัยนี้" ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า เป็น "พระ" ในพุทธศานา

โดยไปหลงนับเอาถือเอาเข้าใจเอา "สมณพราหมณ์ (พระ) ผู้เจริญ บางจำพวก" ที่เป็น "คนขี้ขอ" อยู่ หรือเป็น ผู้ยังมิจฉาทิฏฐิอยู่นั้น ว่าเป็น "พระ" ในพุทธศาสนา

แท้จริงแล้ว "พระ"แท้ๆ หรือ "ภิกษุในธรรมวินัยนี้" ของพุทธศาสนานั้น ไม่ใช่ "คนขี้ขอ" ตามที่ผู้ซึ่งรู้ยังไม่ได้ - ดูยังไม่ออกบางคน เขาตู่เอานั้นหรอก !