ความไม่เที่ยง ที่เที่ยงคืออะไร
โดย พ่อท่านสมณะโพธิรักษ์
เมื่อ ๒๖ ตุลาคม ๒๕๓๖ ณ พุทธสถานปฐมอโศก


อาตมาได้อธิบายถึงเรื่องสัจจะ อยู่ที่สันติอโศก พอดีอาตมาอยากจะรู้เรื่อง ที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสถึง เรื่องของ การกำหนดเที่ยง ที่อาตมาเคยพบ แต่ไม่รู้ว่า มันอยู่ในพระไตรปิฎก เล่มไหน เขาก็เลยไปตรวจสอบ ในพระไตรปิฎก มาให้ดู มีอยู่ที่เดียว ในพระไตรปิฎกทั้งหมด ๔๕ เล่ม กดคอมพิวเตอร์ออกมาดู มีสัญญายะ นิจจานิ นั้นมีอยู่ที่เดียว ครึ่งเดียว สูตรเดียว ที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสประโยคนี้ ทั้งหมดในพระไตรปิฎกทั้ง ๔๕ เล่ม ของเถรวาท คำว่าสัญญายะ นิจจานิ แล้วก็มาดู แล้วก็เป็นเรื่องลึกซึ้งที่สุด เพราะว่าแม้แต่คำตอบ คำถาม พระพุทธเจ้า ตอบพระพุทธนิมิต ก็คือเทวดานั่นเอง ที่พระพุทธเจ้า ท่านสอนเทวดา ก็คือสอนตัวเอง พระพุทธนิมิตเป็นผู้ถาม พระพุทธเจ้าเป็นผู้ตอบ คิดดูก็แล้วกันว่า นั่นเป็นอะไร คือเป็นเรื่องลึกซึ้งที่สุด ถามเรื่องสัจจะ ถามเรื่องความเห็น ความเห็น ที่เลื่อน เลื่อนไปเรื่อย ความเห็นของทุกคน ก็จะยึดความเห็นเป็นอัตตา ยึดความเห็น เป็นตัวอุปาทาน เสร็จแล้วก็อธิบาย พระพุทธเจ้า ท่านอธิบายความเห็นมาก่อน พออธิบายความเห็นมาแล้ว ก็บอกได้ว่า ทำไมความเห็นของเจ้าลัทธิ ซึ่งถือว่า ปราชญ์เหมือนกัน จึงเป็นความเห็นที่ต่างกันได้ ทำไมสัจจะ จึงไม่เป็นสิ่งเดียวกัน ทำไมปราชญ์เหมือนกัน ถึงกำหนดสัจจะคนละอย่าง ทำไมสัจจะ ไม่เป็นอันเดียวกัน ก็เป็นปราชญ์ด้วยกันทั้งนั้น มันก็น่าจะมีสัจจะ อยู่หนึ่งเดียวเท่านั้น ทำไมสัจจะจึงมี ๒ อย่างได้

สุดท้าย พระพุทธเจ้าท่านก็ตรัสตอบว่า สัจจะทั้งหลายแหล่ ต่างๆนานา เว้นสัญญา ที่เห็นว่าเที่ยงเสีย ไม่มีในโลก หมายความว่า สัจจะไม่มีดอกในโลกนี้ มีจริงๆก็คือ สัญญายะ นิจจานิ จะจริงที่สุดก็มีอยู่ที่ตัวนี้ ตัวสัญญายะ นิจจานิ คือตัวการกำหนด รู้ว่าเที่ยง เที่ยงจริงๆ นิจจา นิจจานิ เพราะฉะนั้น ใครกำหนดรู้ว่าเที่ยง ตัวที่เที่ยงนี้ได้ ตัวนั้นแหละคือสัจจะ เพราะฉะนั้น ต่างคนต่างก็ไปกำหนด เที่ยงว่าของตัว เพราะฉะนั้น จะไปเอาสัจจะ ไม่มีในโลก มีการกำหนดเที่ยงเท่านั้น

อาตมาเคยบรรยายมาแล้ว ในเรื่องเที่ยง คือเรื่องของ เป็นสิ่งนั้นสิ่งหนึ่ง แล้วไม่เป็นอื่นอีก มันอันหนึ่งอันเดียว เราจะเห็นจริงเห็นจัง ในตัวเราเลยว่า อันนี้เที่ยง และความเที่ยงคืออะไร ความเที่ยงก็คือ ความแข็งแรง คือ ความตั้งมั่น คือ ความไม่แปรปรวน คือความไม่เป็นอื่น เมื่อไรๆ ก็ไม่เป็นอื่นอีก ทีนี้รูปนี่ก็เป็นอื่นไปได้ เวทนาก็เป็นอื่นไปได้ สัญญาก็เป็นอื่นไปได้ สัญญาก็คือการกำหนดรู้ หรือ ความจำ เอาละถ้าแปลว่า ความจำนี่ เราจำอะไรได้แม่นมั่น จำอะไรได้ก็ถ้าเผื่อว่า เราจะรู้จักนิพพาน เราก็ต้องกำหนดรู้นิพพาน แล้วก็จำนิพพานให้แม่น อาการของนิพพาน เป็นอย่างไร สภาวะของนิพพาน เป็นอย่างไร เรียนให้ดี เรียนให้ถึงจุด ที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า ผู้ที่ปฏิบัติเป็นขีณาสพ หรือเป็นพระอรหันต์แล้วนี่ เป็นผู้ที่จบกิจ เป็นผู้ที่ไม่ต้องศึกษาอีก ไม่ต้องอบรมอีก หมายความว่า ไม่ต้องปฏิบัติอีกแล้ว ปฏิบัติจบแล้ว เสร็จแล้ว จบแล้วจบเลย จบแล้วที่เที่ยงแล้ว หมายความว่า ไม่แปรปรวน ไม่เป็นอื่นอีก ไม่ต้องกลับมาศึกษาใหม่ ไม่ต้องมีความรู้ใหม่อีกแล้ว สำหรับตัวนิพพานนะ แต่สัพพัญญุตานั้น มีเพิ่มได้ มีใหม่เพิ่มไปอีกได้ แม้เป็นพระพุทธเจ้าแล้ว ยังมีความรู้ลึกซึ้งใหม่ขึ้นไปอีก ไม่มีจบดอก ในเรื่องของการรู้ในโลก เพราะว่า โลกที่ตัวเอง ไม่เกี่ยวข้อง มันมีอยู่เยอะ เพราะฉะนั้น รู้ใหม่พวกนี้ได้ แต่รู้จักกิเลสแล้วก็ดับ กิเลสได้สนิทในผู้ใด ในตัวตนของใคร ในอัตภาพ หรืออัตตาของใคร สามารถทำลายอัตตา จบอัตตา ตัวตนของตน ไม่มีตัวตน จบกิจของตัวตน ได้อย่างแน่ชัดแล้ว จบจริงๆ เที่ยงจริงๆ

ไม่ต้องไปศึกษาอีก ไม่ว่าจะอีกชาติใด ปฏิญาณตน หมุนเวียนอยู่ เป็นพระโพธิสัตว์ เกิดอีกกี่ชาติ กี่ชาติๆ ก็ตาม ก็ไม่ต้องไปทำแบบฝึกหัด อันนั้นซ้ำซากอีก ถึงทำก็ทำ มันมีซ้อนอยู่ ที่อาตมาเคยพูดว่า เหมือนลิงลมอมข้าวพอง เป็นแค่เพียงคำสมมติ นิดๆ หน่อยๆ เท่านั้น โดยปรมัตถ์ ไม่ต้องไปทำอีก เพราะปรมัตถ์นั้น พอทำสมมติที่มันถูกหุ้ม ถูกพอก ตามเขาข้างนอก ของคนอื่น เขามาพอกเราหน่อย เราก็ล้างนิดหน่อย แล้ว จุดนั้นจะเป็นจริง โดยไม่ต้องมีใครบอก ไม่ต้องไปเรียน ไม่ต้องไปศึกษา ไม่ต้องมีใครมาบอก มาสอน เป็นปัจเจกของตนเอง แล้วอันนั้นก็ยังคงเป็นของเดิม ไม่เป็นอื่นไปอีก ก็คือ วิมุติหลุดพ้น ดับสนิท มีความเที่ยงแท้ของนิพพาน ของความสูญกิเลส สูญตัวตน มีอันนั้น ไม่เป็นอื่นอีกเลย ไม่แปรปรวนเลย

อาตมาก็ได้ขยายความ เอามิจฉาทิฐิสูตร สักกายทิฐิสูตร อัตตานุทิฐิสูตร มาขยายให้ฟัง ก่อนที่จะเจอ จูฬวิยูหสูตร สูตรว่าด้วย สัจจะ ผู้ยึดมั่นในทิฐิของตน

อาตมาอธิบายมิจฉาทิฐิสูตร สักกายทิฐิสูตร อัตตานุทิฐิสูตร อธิบายมาก่อน เคยเจอสูตรนี้ ก่อนที่จะเขียนทางเอกด้วยซ้ำ แล้วก็เคยบรรจุสามสูตรนี้ ไว้ในทางเอกด้วย แต่อันนี้ไม่เคยเจอดอก อันนี้มาเจอทีหลัง ซึ่งก็สอดคล้องกับ ที่อาตมารู้แล้ว เห็นแล้ว เข้าใจแล้ว เอามาพูดแล้วด้วยตรงกัน นั่นคล้ายๆกับว่า ศาสนาพุทธนี่ สอนความไม่เที่ยง แต่ทำไมต้องเป็นความเที่ยง มันคล้ายๆกับกลับ นี่แหละ คล้ายๆ กับพูดตลบตะแลง พูดไม่อยู่กับร่องกับรอย ความจริงไม่ใช่ พวกเราศึกษาดีๆ แล้วเราจะรู้ว่าไม่ใช่ ความหมายของความจริงแท้ หรือสัจจะนั่นแหละ ความจริงความเที่ยงนั้น เกิดจาก สัญญา และสัญญาที่เที่ยงนั้น คือสัจจะ โดยเฉพาะที่เที่ยงก็คือ อาการที่กิเลสสูญ เที่ยง นอกกว่านั้น ไม่มีอะไรเที่ยง เป็นจิต เป็นเจตสิก เป็นเวทนา สัญญาเอง ที่ท่านกำหนดรู้ เพราะฉะนั้น การกำหนดรู้ ความเสื่อมเป็นที่สุด ความดับเป็นที่สุด ความไม่มี เป็นที่สุดที่สูญ ฉะนั้น ที่สูญอะไรก็ไม่จริง ถ้าเกิดภาวะที่ปฏิเสธ อย่างที่ได้อธิบาย สุดโต่งไปด้านข้างปฏิเสธ ไม่ ไม่ ไม่ แล้วไม่ได้ศึกษารายละเอียด ของอะไร ดับมัน กดมันไว้เฉยๆ แล้วก็ไม่ เหมือนไม่มีเฉยๆ ที่จริงนะกดภพ กดภวตัณหา กดภวภพ กด กดมัน ปิดมัน บังมัน โดยตนเอง ไม่ได้เข้าไปกระทุ้งกระแทก ให้มันออกมา ให้มัน จนกระทั่ง มันเห็นหน้า เห็นตามัน แล้วก็ดับกิเลส ตัณหา อุปาทานนั้นๆ ให้หมดจริงๆ

ไม่รู้รายละเอียด ของคำว่ากิเลส ตัณหา อุปาทาน อาการมันเป็นอย่างไรไม่รู้ เมื่อไม่รู้ มันได้แค่กดๆ มันก็เลยกลายเป็น ภพอีกภพหนึ่ง ซึ่งเป็นภพที่ปฏิเสธได้วิธีหนึ่ง เป็นการปฏิเสธ เพราะฉะนั้น เราจะไม่ปิดจิต แต่เราจะเปิดจิตตลอดเวลา แต่นั่นแหละ คนที่ยังไม่แข็งแรง ก็แบ่งไว้ ปิดไว้ครึ่งหนึ่ง ทำครึ่งหนึ่ง เพราะตัวเราเองเราไม่เก่ง ก็ต้องสร้าง สร้างสัจจะความจริง สร้างบุญบารมี สร้างภูมิ สร้างสภาวะ อินทรีย์พละ ของตนก่อน แบ่งมาทำทีละส่วนๆ บางทีนี่ แบ่งครึ่งหนึ่ง ยังสู้ไม่ได้เลย ต้องแบ่ง เอามาทำสัก ๑๐ % คนอ่อนแอ ทำ ๒๐ % เพิ่มขึ้น ทำ ๓๐ % ไป ไปตามลำดับได้ ก็ต้อง แบ่งทำ แต่ต้องทำอย่างเปิดจิต ไม่ใช่กลบ เสร็จแล้วทำเปิดจิต จะเป็นฐานจริงให้แก่เรา เมื่อทำได้ ทำได้แล้ว มีฐานรอง เป็นสั่งสมวิมุติ สั่งสมวิราคะ สั่งสมวิมุติไปได้จริง เพราะการดับ การละ การทำลาย ของพระพุทธเจ้านั้น เมื่อได้แล้วเป็นทรัพย์ เมื่อได้แล้วเป็นอินทรีย์ เมื่อได้แล้วเป็นพละ เมื่อได้แล้วเป็นทุนที่แท้ อย่างลืมตา อย่างอยู่เหนือโลก อย่างไม่หลบไม่ลี้ไม่หนี ผจญประจัน สัมผัส แต่อันนั้น ไม่มีฤทธิ์เลย ปริสุทธา ปโยทาตา มุทุ กัมมัญญา ปภัสสรา เป็นฐานอาศัยเฉย แต่ไม่ใช่หน้าด้าน

มีปัญญา มีความรู้ แล้วก็ได้รับความรู้ซ้อนเติมขึ้นไป เพิ่มเติมขึ้นไป เสริมเติมขึ้นไป ได้ละเอียดๆ ขึ้น จึงเกิดเป็นดวงตา เกิดเป็นแสงสว่าง เกิดเป็นความรู้ มาเป็นตัวแข็งแรงแทน เพราะฉะนั้น ตัวความรู้ กับตัวแข็งแรงกับตัวเจโต ปัญญาก็เจโต จึงเป็นหนึ่งเดียวกัน เจโตที่วิมุติ ด้วยเหตุปัจจัยใด มันสงบ สนิท แข็งแรงสนิท ตั้งมั่นสนิทแล้ว อาเนญชาได้แล้ว กับปัญญามันอยู่ร่วมกัน อัปปนา พยัปปนา เจตโส อภินิโรปนา เป็นเจตโส อภินิโรปนา นั่นแหละ เป็นจิตที่ตั้งมั่น แข็งแรง เป็นฐาน ไม่หนี ฐานนี้ไม่กลบ เป็นฐานที่ตื้น ฐานที่อยู่ปัจจุบัน ฐานที่ไม่มีอะไรฝัง ไม่มีอะไรหลบ อะไรแฝงเลย เป็นฐานอยู่ในปัจจุบันนี่เทียว ดับสนิทแล้ว เจโตที่ดับสนิทไปแล้ว อกุปปาเจโตวิมุติ ไม่เป็นอื่น วิมุติโดยไม่อกุปปา ไม่กำเริบอีกเลย แล้วปัญญา ก็เป็นตัวปัญญา ที่อยู่ร่วมกับเจโตวิมุติ นี้ด้วยกันชัดๆเลย เพราะฉะนั้น มันจะเป็นอำนาจ แสงสว่าง อำนาจที่แข็งแรงมาก ไม่เหมือนกับเจโตที่กลบ ไม่มีปัญญา เข้ามาเรืองแสงช่วย ปัญญาที่ไม่มีเจโตวิมุติ ปัญญาก็วน ไม่เที่ยง แปรปรวน ไม่ชัดเจน ไม่ยืนหยัด เพราะมันวน มันไม่เที่ยงนั่นแหละ ปัญญามันไม่ใช่ตัวปัญญานี่ มันคิดมาตั้งแต่เหตุ แต่ผลอะไร มันไม่มีตัวเจโตวิมุติที่แท้

อาตมาก็ไม่รู้จะอธิบายอย่างไร มันยากที่จะอธิบาย แต่ว่าฟังดีๆ คุณแม้แต่คิดตาม อาตมาคิดว่า ปฏิภาณของคุณ พอเข้าใจได้ ถ้ายิ่งคุณมีภาวะรองรับแล้ว จะเห็นจริงเลยว่า เจโตวิมุติ กับ ปัญญาวิมุติ มันตัวเดียวกัน อยู่ในปัจจุบันนี้เทียว ไม่หลบ ไม่หลีก ไม่ลี้ แล้วเป็นตัวที่ดึงชัดขึ้นมา ใช้กันหมด ไม่ได้กลบ ได้ฝัง ได้พราง ได้ซ่อนอะไรเลย

คุณคิดให้ดีซิ สภาพอย่างนี้นี่ นี่แหละ จิตที่เป็นอุภโตภาควิมุติ มันวิเศษสุด มันแข็งแรง มันยอดเยี่ยมอย่างนี้ จึงทำงานได้อย่างยิ่ง เป็นฐานได้ไปส่วนหนึ่ง ได้ไปเหตุปัจจัยหนึ่ง หรือ ๕ เหตุปัจจัย ๑๐ เหตุปัจจัย มันก็ยิ่งเป็นอินทรีย์ เป็นพละ เป็นกำลังวิเศษ ทั้งแข็งแรง และรู้จริงรู้แจ้ง รู้แจ้ง รู้จริง สูงส่งขึ้นไปเรื่อยๆ ตามลำดับ เพราะฉะนั้น จิตวิมุติของพระพุทธเจ้านี้ จึงไม่เหมือนฤาษี ไม่ว่าจะเป็นฤาษีป่า หรือฤาษีกรุง ฤาษีเมือง ไม่ว่าจะเป็นฤาษีชนิดไหน ไม่เหมือน มีความเที่ยง ความมั่นคง แน่นอน ชัด ยืนหยัดยืนยัน ไม่ให้ผู้รู้ เจ้าของเจ้าตัวผู้รู้ ได้เห็นของจริงอันนี้

การกำหนดรู้เมื่อใดๆ ก็เห็นจริงเลยว่ากิเลสไม่มี กิเลสไม่มี ไม่เป็นอื่นเลย แข็งแรง และไม่แปรปรวน เพราะฉะนั้น ตรวจสอบจิตเจโตปริยญาณ มันก็จะตรวจไปเรื่อยๆ เลย เห็นจิตว่า โอ๊ วิเศษเยี่ยม นี่เป็น สอุตรจิตอย่างไร อนุตรจิตอย่างไร และอนุตรจิตที่มีสภาพ เป็นประโยชน์คุณค่า ต่อผู้อื่นอยู่จริง เป็นสมาธิแบบ สมาหิตะ แล้วก็ไม่มีอวิมุติจร เจโตปริยญาณ ตัวหลักสุดท้าย ที่อาตมาอธิบายแล้วว่า อนุตรจิต ก็จะประกอบไปด้วย สมาหิตะ ประกอบไปด้วยวิมุติจิต สมาหิตจิต วิมุติจิตอยู่ในเจโตปริยญาณ ๑๖ ด้วย สามตัวสุดท้ายนี่ จะเป็นตัวยืนหยัด ยืนยัน อย่างแท้จริงเลย ลักษณะของ อนุตรจิตนั้น สมาหิตจิต จะเป็นอย่างไร มันเป็นความแข็งแรง ตั้งมั่น ที่อะไรมากระทบสัมผัส อะไร ที่มาโดยเฉพาะ เหตุปัจจัย ที่เราทำได้เป็นลำดับๆ มันมากระทบสัมผัสอย่างไรๆ มันก็แข็งแรงๆ มันเป็นตัวพิสูจน์ ยืนยันอยู่ ไม่หนี นี่แหละ พิสูจน์เมื่อไรก็ประจำ เมื่อไรก็ประสบ เมื่อไรก็กระทบกระแทก สัมผัสอยู่ แรง จัดจ้าน มีเหลี่ยมมีมุม มีเล่ห์มีเลสอะไร มากอีกเท่าใด ๆ มันก็ยิ่งจะพิสูจน์ตัวเราว่า เรารู้ทันไหม รู้เท่าทันโลกียะ อันนี้ไหม เพลี่ยงพล้ำไหม นอกจากรู้ทันแล้ว มันยังแวบวาบ มันยังเปลี่ยนแปลงเป็นอื่น มันยังมีอารมณ์กิเลส จะเป็นอารมณ์กามภพ หรือ ภวภพก็ตาม มีไหม

ผู้ที่ศึกษาจริงๆ ก็ผ่าน ก็จะอ่านของตัวเองอยู่ตลอด ตรวจสอบของตัวเอง ยิ่งสภาวะปัจจุบันเลย กระทบเดี๋ยวนี้ กระแทกเดี๋ยวนี้ จะเกิดหรือไม่ อาการ อารมณ์ อาการลิงคะ นิมิต อ่านออกเดี๋ยวนี้ ไม่มี ไม่มี สัญญากำหนด รู้ว่าไม่มี ไม่เกิด ไม่มี ไม่เกิด ไม่มี ไม่เกิด ไม่มี ไม่เกิด เที่ยง ตรง ไม่แวบไม่วาบ ไม่หวั่นไม่ไหว ๑ ครั้ง ล้านครั้ง แล้วที่มีสภาพจริง กระทบสัมผัสนี่ มันไม่ใช่ว่ากระทบ ๑ ที แล้วก็ผ่านไป ถ้ามันมีอยู่จริงๆ แล้วก็จิต เกิดรับรู้อยู่นี่ มันเกิดดับ เกิดดับ เกิดดับ รับรู้ๆ แล้วก็รับรู้ รับรู้มัน นับครั้งไม่ถ้วนดอก และวาระที่เราจะมีเหตุการณ์ตรงนี้ อีกมากเท่าใด ก็ยิ่งเป็นหลักฐานยืนยันเรา มากครั้ง มากวาระ เท่านั้นๆ ว่า สัญญาย นิจจานิ สัญญาย นิจจานะ สัญญาย นิจจานิ กำหนดรู้ว่า แข็งแรง เที่ยง ตรง ไม่มีเป็นอื่น ชัดๆ ปัญญาก็ยิ่งจะชัด เจโตก็ยิ่งจะบอก โอ๋ย มันเก่ง มันแข็ง เจตโส อภินิโรปนา ปักมั่น แข็ง เที่ยงแท้ ไม่แปรไม่ปรวน ไม่หวั่นไม่ไหว ไม่โอน ไม่เอน ไม่แวบ ไม่วาบ ไม่วูบ ไม่มีธุลีละออง

ญาณ คุณต้องรู้ด้วยตน ชัด ยิ่งชัดจริงของตน ไม่มีใครมารู้ ให้แทนเราได้ ย่อมเกิดญาณตัวนั้นเอง เพราะฉะนั้น อย่าไปหลบเลย ยิ่งหลบก็ยิ่งนาน ยิ่งช้า ยิ่งเนิ่นช้า ยิ่งไม่ประสบผล คุณลักษณะพวกนี้ เป็นคุณลักษณะ ที่อาตมายึดมาอธิบาย สู่พวกคุณฟัง ฟังไว้ดีๆ บันทึกภาษา อาตมาพยายาม ที่จะใช้การบรรยายนี่ โดยตั้งใจที่จะอ่าน สภาวะอันลึกๆ นี่มาเป็นครั้งคราวที่จะบรรยาย บางทีมันพูดแล้ว มันไม่ใช่ง่าย

อาตมาจะอ่านสูตรหลายๆ สูตร ซึ่งเป็นสูตรที่ อาตมาบรรยายมาบ้างแล้ว คล้ายกัน แต่ก็มีนัยต่างกัน แล้วก็ละเอียด บางแง่บางมุม อธิบายถึงความไม่เที่ยง ถึงความกำหนดลงไป แล้วที่สุด ภพก็คือภพ ท่านใช้ภาษาว่า ภวะ เรียกว่าภพ เพราะฉะนั้น จริงๆ แล้วก็เราก็ดับภพ คือดับภวตัณหาเท่านั้น กามตัณหา ก็เป็นภวตัณหา กามตัณหาเป็นภวตัณหาก็คือ มันก็เป็นภพ กามมันก็เป็นภพ วิภวตัณหา ก็เป็นภวตัณหา เพราะวิภวตัณหาก็เป็นภพ เพราะฉะนั้น พระพุทธเจ้า ถึงตรัสตัวกลาง ตรัสจริงๆ ว่าดับสนิทก็คือ เป็นผู้ดับภวตัณหา หรือดับภพ ผู้ดับภพหรือดับภวตัณหาได้สิ้น ผู้นั้นก็สูงสุด ส่วน วิภวตัณหานั้น เป็นสมมติสัจจะได้ เมื่อเป็นพระอรหันต์แล้ว ก็มีวิภวตัณหาเป็นเครื่องใช้สอย เป็นประโยชน์แก่ผู้อื่นไป เท่านั้นเอง สำหรับตนนั้น เมื่อเที่ยงแท้แน่นอนแล้ว หมดภวตัณหาครบแล้ว วิภวตัณหา ท่านก็ปฏินิสสัคคะ แม้แต่ท่านจะอนุโลมกับคนอื่น เหมือนกับท่านไปสัมผัสกาม แล้วก็ แสดงความยินดี เหมือนกับอย่างเล่นกับเด็กๆ เด็กๆที่เขาจะต้องสนุก หรือเขาจะต้องอร่อย เราไปเล่นกับเด็กๆ เราก็แสดงอาการ ให้มันเหมือนเลยนะ เล่นกับเด็กๆ ก็จะต้องสนิทสนมเหมือนกัน เด็กบอก เอ๊ะ สนุกจริง เราก็ เอ้อ สนุก อร่อย เออ อร่อยด้วย แต่ที่จริงก็เป็น สมมติสัจจะเหมือนมีกาม แต่ความจริง ท่านไม่ได้มีดอก ท่านไม่ได้เสพดอก แม้ท่านจะสามารถที่จะปฏินิสสัคคะ สลัดคืน กลับไปปรุงร่วมด้วย รู้ด้วย เหมือนเขารู้

เหมือนอาตมานี่ พยายามอยู่ทุกวันนี้ พยายามที่จะฟัง เพลงสมัยใหม่เขาให้เพราะ ปรุงตามเขา พยายามปรุง เพื่อที่อาตมาจะได้รับรสนี้ แล้วก็จะได้รู้รสนี้ จะได้มาแต่งรสนี้ ตามเขาด้วย เพื่อจะได้แต่ง ทันสมัยเขาบ้าง มันยังไม่ขึ้นเลย แต่ก็ขึ้นมาจิ๊ดหนึ่งแล้ว พยายามฟังเพลงสมัยใหม่ที่มัน แหมเขาร้อง สมัยใหม่ ที่ขายดีๆ ไม่ว่าใครร้องนี่ ชิดจ๊ายแล้ว มันร้องเป็นชิดจ๊ายแล้ว มันไม่จิตใจ มันร้องไม่เป็น จิตใจแล้ว มันร้องชิดซ้ายแล้ว พวกนี้ นักร้องสมัยใหม่มันเพราะ แล้วก็จังหวะลีลาอย่างนั้น พยายามปรุงตาม ทั้งๆที่อาตมานี่ ติดเสียง ติดลีลา ศิลปะเพลง หรือเสียงนี่ นานช้ากว่าเพื่อน ละล้างทีหลังเพื่อน ล้างออก สุดเพื่อนนี่นะ ซึ่งคุณก็คง ก็เคยได้ยินอาตมาบอกแล้ว มันก็ยังไม่มัน แล้วก็ไปเกิดรสชาติจำได้ กับรส ลีลาศิลปะ สมัยเก่าๆ เพลงทำนอง ลีลาแต่งออกมาทีไร มันก็ยังไม่ออก เขาก็ว่ามันเชยอยู่นั่นแหละ ซึ่งอาตมาก็ต้องยอมรับนะว่าจริงด้วย เราก็ยังลีลา ไพเราะแบบเก่าๆอยู่ มันไม่ไพเราะ แบบสมัยใหม่เขาเลย ก็พยายามปรุงตามอยู่นี่ พยายามปฏินิสสัคคะ มันก็ยังไม่ออก ยังไม่ได้ ยังไม่ค่อยเจ๋ง ยังไม่ค่อยเต็มรูปเลย แต่มันก็ได้น่ะ มันก็พอได้ มันจะได้ เหมือนกัน นั่นแหละ คอยๆ ดูก่อน มันจะเมื่อไรจะได้ ยังไม่รู้

แต่แน่นอน อาตมารู้แล้ว แม้ที่สุด อาตมากลับมาฟื้นฟู ปรุงเป็นเพลงเก่าโบราณ หรือว่าเคยไพเราะ อย่างนี้ อาตมาก็ทำมาไพเราะอย่างนี้ ซึ่งผู้ที่รู้ร่วมกัน เขาพอเข้าใจได้ว่า เออ ก็ไพเราะอย่างนี้ได้ แต่อาตมาก็ดูที่ใจ อาตมาติดใจไพเราะ อันนี้หรือเปล่า ยึดติดปัญญาเป็นของเราหรือไม่ เมื่อเราแน่ใจ ว่าเราไม่มี มันก็คือไม่มี ถ้ามีเราก็ต้องรู้ว่ามันมีอยู่ มันเหลือรสเหลือชาติ เหลืออะไรอยู่ เรามีญาณรู้จริง แล้วเราโกหกตัวเอง ตัวเองก็ต้องซวยละ มันก็ยิ่งเท่ากับ ตัวเองหลอกตัวเอง แล้วก็หลอกผู้อื่นต่อ แต่ถ้าเผื่อว่า เรารู้จริงรู้ชัด แล้วไม่ปฏิเสธ เออ อันนี้เรามีจริงๆ แม้นิดแม้น้อยเรามี เราก็ต้องรับรอง ตัวเรา โกหกตัวเราเอง เราก็ซวยไปต่อ เพราะฉะนั้น อย่าไปโกหกตัวเองเลย แล้วอย่าผ่าไปโกหกคนอื่น ต่ออีกละ โกหกตัวเองก็บาปแล้ว ดันผ่าไปโกหกคนอื่นต่อด้วย โดยเฉพาะ อุตริมนุสธรรมพวกนี้นี่ สภาวจิต เจตสิก รูป นิพพาน หรือ กิเลสพวกนี้แล้ว ก็อย่าเทียวนะ พระพุทธเจ้าถึงบอกว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ โกหกอันนี้ อุตริมนุสธรรมพวกนี้นี่ ถ้าเป็นสมณะ ก็ถึงกับตัดขาดจากศาสนา ไปชาติหนึ่งเลย พรหมทัณฑ์อย่างแรง ไม่เอาภาระด้วยเลย ทั้งชาติ ๑ ชาติตัดทิ้งไป หมายความว่า ฆ่าทิ้ง ๑ ชาติ จำคุกตลอดชีวิต หรือฆ่าทิ้งไป ๑ ชาติ เป็นการลงโทษทางธรรมแรงมาก เมื่อได้รับรู้อาการของโทษ อย่าไปทำผิด ในเรื่องอย่างนี้ อย่าไปทำผิด ขั้นประหารชีวิต ถึงแม้ว่าเราเองทำผิด แล้วเราโกหก ก็ไม่ใช่ว่า จะไม่เป็นคุณค่าของสัจจะ เป็นคุณค่าของสัจจะ เป็นบาป ไม่ใช่ค่าของบุญนะ เป็นคุณค่าของบาปที่ว่าร้ายแรง

มีอยู่สูตรหนึ่ง อาตมาไปเจอ พระพุทธเจ้าท่านตรัสไว้ชัด ถึงเรื่องภวตัณหา มีพระบาลี รองรับเลยว่า ชีวิตย่อมไม่ทำให้ผู้ใดเดือดร้อน ผู้นั้นย่อมไม่เศร้าโศก ในที่สุดแห่งมรณะ ถ้าว่าผู้นั้น มีบทอันเห็นแล้วไซร้ มีบทนี่ คือมีตัวที่เป็นพฤติกรรม เป็นพฤติกรรม เป็นบท เป็นปริบท เป็นความประพฤติ หรือ เป็นลีลาอาการ โดยเฉพาะ ลีลาอาการของ ปรมัตถธรรม จิต เจตสิก อาการของอยู่ในจิต ถ้าเผื่อว่า ผู้นั้นมีบทอันเห็น นี่แปลจากบาลี อย่างภาษาตรงตัว ซึ่งมาจากภาษาบาลีว่า ทิฏฺฐปโท ปทะก็บท นั่นแหละ ทิฏฐิ ก็เห็น ปทะ ก็บท ก็แปลทับศัพท์ว่า บทอันเห็น นี่คือเปรียญหรือปราชญ์ ภาษาท่าน แปล ก็ไม่มีภาษาจะแปลแล้ว ท่านก็ทับศัพท์ บทอันเห็น ทิฏฐปโท หรือทิฏฐบท นั่นแหละ ถ้าว่าผู้นั้น มีบทอันเห็นแล้วไซร้ นับเป็นนักปราชญ์ธีโร เป็นนักปราชญ์ ย่อมไม่เศร้าโศก ในท่ามกลางแห่งสัตว์ ผู้มีความโศก สำนวนนี้ ก็คงพอเข้าใจ ผู้ใดถึงที่สุด อย่างนี้แล้ว เป็นนักปราชญ์ ย่อมไม่เศร้าโศก ในท่ามกลางแห่งสัตว์ ผู้มีความโศก ฉะนั้น ผู้ใดยังเศร้า ยังโศกอยู่ ผู้นี้ไม่โศก

ภิกษุผู้มีภวตัณหา อันตัดขาดแล้ว ภวะนะ ไม่ใช่วิภวะ ฟังดีๆ ภิกษุผู้มีภวตัณหา อันตัดขาดแล้ว มีจิตสงบ มีชาติสงสารสิ้นแล้ว นี่หมายถึง คุณลักษณะของ พระอรหันต์ มีจิตสงบ มีชาติสงสาร หมายความว่า มีความเวียนวนสังสาระ ไม่มีการเวียนวนอีกแล้ว ไม่มีการเกิดเวียนวน ชาติสังสาระ มีชาติสงสารสิ้น ก็หมายความว่า ดับของวัฏสงสาร หรือชาติสงสารดับการเกิด เราต้องรู้ว่า อะไรเกิดหรือดับ กิเลสอนุสัยอาสวะดับสนิท ไม่เกิดอีก ธุลีละอองพวกนี้ ไม่เกิดอีก ดับชาติ สิ้นชาติสงสาร หมดแล้ว ย่อมไม่มีภพใหม่ เป็นผู้ไม่มีภพใหม่ แน่นอน เพราะฉะนั้น ผู้นี้ดับภพหมด มีแต่ภพที่อาศัยเท่านั้น เรียกว่า วิภวภพ หรือ วิภวตัณหา ตัณหาอันยิ่ง หรือ วิภวภพอันยิ่ง ภพอันยังไม่หมดรูปนาม ขันธ์ ๕ ภพยังจะศึกษาเพื่อผู้อื่น ไม่ใช่ภพเพื่อตนเอง หมดอัตตาตัวตน หมดตัวตนของคนจริง แม้จะมีอีกต่อไป ก็เป็นแค่เพียงอาศัยเพื่อผู้อื่น จิตสุจริตว่าไม่ได้เสพ ไม่ได้บำเรอ ไม่ได้มาหลงสุขหลงทุกข์ ไม่หลงเอร็ดอร่อย ไม่ได้มีอัสสาทะ ให้แก่ตนอีกต่อ

พระพุทธเจ้าใช้คำจบ ก็ใช้ภวตัณหา ไม่ได้ไปดับวิภวตัณหาเลย พระบาลีบอกว่า ยัง ชีวิตัง น ตปติ มรณันเต น โสจติ ที่บอกว่า ชีวิตย่อมไม่ทำให้ผู้อื่นเดือดร้อน ผู้นั้นย่อมไม่เศร้าโศกในที่สุด ในที่สุดย่อมไม่เศร้าโศก ในที่สุดแห่งมรณะ มรณันเต น โสจติ

ถ้าว่าผู้นั้นมีบทอันเห็นแล้วไซร้ ที่อ่านไปแล้วเมื่อกี้นี้ สเจ ทิฏฐปโท ธีโร เป็นนักปราชญ์ ถ้าผู้นั้นมีบท อันเห็นแล้วไซร้ เป็นนักปราชญ์ ย่อมไม่เศร้าโศก ในท่ามกลางแห่งสัตว์ ผู้มีความเศร้าโศก โสกมัชเฌ ท่ามกลางความโศก เศร้าโศกในท่ามกลางความโศกนี่ น นี่ก็คือไม่ ย่อมไม่เศร้าโศก ในท่ามกลางแห่งสัตว์ ผู้ความโศก โสกมัชเฌ สัตว์ผู้มีความโศก โสกมัชเฌ น โสจติ,

อุจฉินนภวตัณหัสสะ อุจฉินนะ ก็คือ ดับแล้ว สงบ ดับสนิทแล้ว ตัดขาดแล้ว อุจฉินนะ ตัด อุจเฉท แปลว่าขาด แปลว่าไม่มี ตัดขาด อุจฉินนภวตัณหัสสะ ภิกษุผู้มีภวตัณหา อันตัดขาดแล้ว สันตจิตตัสสะ สันตะก็สงบ มีจิตสงบแล้ว ภิกขุโน ภิกษุผู้มีจิตสงบ มีภวตัณหา อันตัดขาดแล้ว วิกขีโน ชาติสังสาโร มีชาติอันสงบสิ้นแล้ว นัตถิ ตัสสะ ปุนัพภโวติ ภโว คือภพ นัตถิ ตัสสะ ปุนัพภโวติ ย่อมไม่มีภพใหม่ (พระไตรปิฎกเล่ม ๒๕ ข้อ ๑๐๘)

อาตมาเอาอันนี้มา เพราะว่า อาตมาเขียนเติมลง ในหนังสือ คนคืออะไรอยู่ แล้วก็ เรากำลังอธิบายให้เห็นว่า จิตตัวอาสวักขยญาณ ตัวจบกิจ ของพระอรหันต์นั้น คือตัวที่ไม่มีอาสวะ ดับอาสวะสิ้น แต่ไม่ได้ดับที่ภวตัณหา แล้วอาตมาก็อธิบาย ที่ได้เคยเอามาอ่านให้ฟังแล้วว่า วิภวตัณหานั้น เป็นเหมือน อากังขาวจร หรือ อิจฉาวจร เป็นอาการของจิต ที่เก่งด้วยเยี่ยมยอด มีความอยากได้ มีความปรารถนา มีความต้องการ มุ่งมาด ที่แข็งแรงด้วย แต่ไม่เพื่อตน ไม่ได้เสพแก่ตน เป็นกำลังอันวิเศษ ของพระอรหันต์ด้วย ที่ใช้ในการสร้าง กอบก่อคุณค่าประโยชน์ ให้แก่มนุษยชาติ เป็นความวิเศษของมนุษย์ เพราะฉะนั้น จึงไม่ได้ดับ วิภวตัณหา หรือ วิภวภพ ดับภพเรียกมันว่าภพ เรียกมันว่า ภวะ อาตมามาเจออันนี้ก็เลย นี่ยังไม่ได้ใส่เข้าไปใน คนคืออะไร เขียนไปแล้วส่งไปแล้ว มาเจออันนี้อีก แหม นี่เอามาอ้างอิงประกอบด้วย ก็จะลึกซึ้ง มีหลักฐานยืนยัน ชัดขึ้นไปอีกว่า พระพุทธเจ้า ท่านไม่ได้กล่าวว่า พระอรหันต์นั้น ดับที่ภวตัณหา แต่ดับอาสวะ ดังกล่าวแน่นอน พระอรหันต์นี่ดับอาสวะ ดังกล่าวแน่นอน แต่ไม่ได้กล่าวว่า ดับที่ภวตัณหา จริง วางวิภวตัณหาได้ ไม่ได้ติดใจ ในวิภวตัณหา ได้จริง แต่บอกแล้วว่า วิภวตัณหามันก็คือ ภวตัณหา นั่นแหละ คือ ตัณหาในภพ เป็นภพอันยิ่ง เป็นภพอันวิเศษ เป็นภพอันที่ท่าน ไม่ติดเป็นตัวตนแล้ว นั่นแหละ

แม้ภพที่ท่าน ไม่ติดเป็นตัวตนแล้ว ท่านก็ไม่ได้หมายว่า จะเอาภพนี้ไปด้วย พระอรหันต์ต้องรู้ว่า เอาภพนี้ ไปด้วยไม่ได้ ถ้าจะดับภพสนิท อย่างปรินิพพาน แต่ถ้าพระอรหันต์ จะไม่ดับภพนี้สนิท จะไม่ปรินิพพาน ก็สัญญาย นิจจานิ กำหนดอันนี้ เที่ยงไว้ก่อน อันนี้ต่อไว้ก่อน อย่าเพิ่งสูญ ก็เป็นเรื่องของท่าน อย่ามายุ่งกับกู เป็นเรื่องของท่าน นี่เป็นภาวะพิเศษ ดีที่สุด หรือสมบูรณ์ที่สุด ก็อยู่ที่จิต ต้องละเอียด อย่าโกหกตัวเอง ตัวนี้แหละสำคัญ

ผู้ใดที่ชัดเจนแล้ว สัญญากำหนดรู้ อย่างชัดหมดทุกอย่างจริงแล้ว เห็นจริงว่าดับสนิท จึงจะปฏิญาณตนว่าดับสนิท ถ้าไม่ดับสนิท อย่าไปปฏิญาณตนพล่อยๆ อวดอุตริมนุสธรรม อันเป็นความชั่วร้ายที่สูงสุด อวดอุตริมนุสธรรม โดยเฉพาะ ไปปฏิญาณตนว่าบรรลุ ปฏิญาณตนว่าดับสนิท ปฏิญาณตนว่า หมดกิเลส ถ้ารู้อยู่จริงๆ จะรู้โดยญาณรอบไหน ที่รู้ตัวเองเล็กน้อยเท่าไหร่ ไม่แน่ใจอย่ากล่าว เว้นแต่เป็นความหลง ที่แท้จริงว่า เรารู้สึกว่า เราดับจริงๆ นะ แล้วเป็นความหลง มันซุกซ่อนได้ นั่นก็แล้วไป พระพุทธเจ้าก็ไม่เอาผิด แม้แต่อาบัติ ท่านก็ไม่เอาผิดดอก ไอ้อย่างนั้นมันหลงจริงๆ น่ะ มันรู้ตัวจริงๆ เลยนะว่า เราดับสนิทจริงๆเลย ไม่ใช่ไม่เคยรู้แว็บๆ วาบๆ เรายังไม่หมดน่ะ ยังมีแวบๆวาบๆ อยู่ อย่าอุตริ ปฏิญาณออกมา ต้องเอาให้มันชัดแน่ เที่ยงแท้ ร้อยครั้ง พันครั้ง โอ้น่ะ ดับแน่แล้ว ไม่เหลือจริงๆ อย่างนี้นี่ หลายทีแล้ว มันไม่เกิด อย่างนี้ไม่เกิด เอาให้จริง หยั่งญาณให้รู้ตนให้จริง

ทีนี้ลองฟังสูตรต่างๆ ที่จะสัมพันธ์กันไป ว่าด้วยทรงแสดงส่วน ๒ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกรภิกษุทั้งหลาย วิญญาณเกิดขึ้น เพราะอาศัยส่วน ๒ วิญญาณเกิดเพราะอาศัยส่วน ๒ เป็นอย่างไร จักษุวิญญาณเกิดขึ้น หมายความว่า วิญญาณทางตา เพราะอาศัย จักษุและรูป นั่นคือส่วน ๒ อาศัยตากับรูป ซึ่งเป็นอายตนะนอก อายตนะใน เราก็เรียนมาแล้วใน ทุกขสูตร อาตมาเอามา อธิบายไปแล้ว เกิดผัสสะก็ต้องมีสภาพ ผัสสะก็ต้องเกิดสาม คือมี อายตนะนอก อายตนะใน กับวิญญาณ ถ้าวิญญาณทางตา ก็เรียกจักษุวิญญาณ วิญญาณทางหู ก็เรียก โสตวิญญาณ อะไรอย่างนี้เป็นต้น สรุปแล้ว เกิดสามก็คือเกิดตา เกิดทวารนอก อายตนะนอก กับอายตนะใน รูปเป็นอายตนะนอก ตาเป็นอายตนะใน เสียงเป็นอายตนะนอก หูเป็นอายตนะใน กลิ่น ก็เหมือนกัน จมูก ลิ้น กาย ใจ อายตนะนอก อายตนะใน แล้วก็เกิดเป็นมามีวิญญาณ วิญญาณจากรูป ก็เรียกวิญญาณตา วิญญาณจากเสียง ก็เป็นวิญญาณหู อะไรอย่างนี้เป็นต้น จนกระทั่ง ครบ ๖ รอบสามนี้ เป็นผัสสะ

ตรงนี้ต้องอธิบาย ซ้อนลงไปอีกว่า แล้ววิญญาณ มันเกิดจากอะไร เกิดจาก ๒ วิญญาณ เกิดขึ้น เพราะอาศัยส่วน ๒ เป็นอย่างไร จักษุวิญญาณเกิดขึ้น เพราะอาศัยจักษุและรูป จักษุไม่เที่ยง มีความแปรปรวน มีความเป็นอย่างอื่น รูปไม่เที่ยง มีความแปรปรวน มีความเป็นอย่างอื่น ส่วน ๒ อย่างนี้ หวั่นไหว และอาพาธ ไม่เที่ยง มีความแปรปรวน มีความเป็นอย่างอื่น เพราะฉะนั้น เอาตา เอารูป เอาอะไรพวกนี้ เป็นที่พัก เป็นที่อาศัยไม่ได้ มันไม่เที่ยงดอก มันทุกข์ จักษุวิญญาณไม่เที่ยง แม้มาเป็นจักษุวิญญาณ อาศัยตา อาศัยรูป แล้วมีจักษุวิญญาณได้ มีความแปรปรวน มีความเป็นอย่างอื่นเหมือนกัน แม้เหตุปัจจัย เพื่อความเกิดขึ้นแห่งจักษุ เหตุปัจจัยเพื่อความเกิดขึ้นแห่งจักษุ วิญญาณก็ไม่เที่ยง เหตุปัจจัยอะไรก็แล้วแต่ รวมแล้ว ก็อธิบายไปหมดแล้ว ที่มันจะก่อให้เกิดรูป ก่อให้เกิดมีอายตนะใน คือตา ทวารอื่นก็ละไว้ ในฐานที่เข้าใจ ก็เหมือนกัน มีความแปรปรวน มีความเป็นอย่างอื่น

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็จักษุวิญญาณ ที่เกิดขึ้นแล้ว เพราะอาศัยปัจจัย อาศัยปัจจัย อย่างนี้เป็นปัจจัย จักษุวิญญาณสัมผัส สัมผัสรูปข้างนอก ก็มาเกิดจากตา มีตาก็มีรูปนอกกับใน เกิดเป็นวิญญาณ จักษุวิญญาณที่เกิดนั้นน่ะ เราเกิดรับรู้สึก แล้วเป็นในอีกทีหนึ่ง เป็นในภายใน เป็นรูปภายในอีกทีหนึ่ง ด้วยสภาวะ นึกออกไหม ไอ้นี่รูปนอก ตัววัตถุนอก ตาเป็นอายตนะใน เข้าไปข้างใน รับภาพนี้แล้ว รับรู้แล้ว เป็นภาพอยู่ข้างใน เป็นรูปข้างในอีกทีหนึ่ง เป็นจักษุวิญญาณ วิญญาณรู้รูป เวทนา สัญญา สังขาร แล้วก็มาเป็นวิญญาณ ถ้ามันไม่ได้เรียนอะไร มันก็เป็นรูป ชอบหรือไม่ชอบ มันก็ไว สังขารปรุงแล้ว เวทนาไปกำหนดอุปาทานเอาไว้ว่า ชอบก็สุข ไม่ชอบก็เคืองนัยตา ที่จริงไม่มีฝุ่นมีอะไร เข้าไปในตาสักหน่อย ไม่ชอบก็ แหม เคืองนัยตา หมั่นไส้ ชัง เกลียด อะไรก็แล้วแต่ มันก็จะเกิดภาวะกิเลสทันที ไวนะ แต่ก่อนนี้ ใช่ไหม เดี๋ยวนี้ก็ยังไวอยู่ แต่ก่อนนี้ไว รู้เลย เดี๋ยวนี้ละ ก็ยังไวอยู่ แต่ถ้าเราได้ฝึก มันจะไม่ไวดอก มันก็จะเข้าใจได้ว่า อ๋อ เรานี้ยังมีเบรก ยังมีแตะ ยังมีห้ามอยู่ ยังมีรู้ทัน มีญาณเข้าไปแทรกตัวรู้ได้ ถ้าได้สังวร ระวัง หัดฝึก ก็ยิ่งจะชัดเจนว่า เรารับทัน เราไม่ไปพรวดปรุง มาเป็นชัง หรือแม้ชังก็ยังไปกำหนดชัง เฮ้ย ชัง อย่าไปทำงานไวนัก กิเลสอย่าไปทำงานเกลียดเร็วนัก ใช่ไหม เราจะมีการชำนาญ หรือว่ามีภาวะ ที่รู้จักห้าม รู้จักหยุด รู้จักอ่านอาการภาวะของกิเลส ของตัวเลว ของตัวไม่ดีอะไรบ้าง

หรือแม้แต่ตัวอร่อย ตัวที่เรานึกว่าเป็นของดี แต่ก่อนนี้หลงมัน อร่อยปั๊บเป็นสุข โอ๊ยดีหมด เอ๊ มันสุขแท้หรือเปล่า มันสุขปรุง หรือว่า มันสุขอย่างไร มันจะรู้ชัดขึ้น ยิ่งเข้าใจเคหสิตะ เนกขัมมสิตะ แล้วยิ่งจะรู้ ไอ้สุขปรุง มันไม่ใช่สุขแท้ดอก สุขอร่อยโลกียะ ถ้ายิ่งคุณกำหนดโลกียสุขได้ชัด เคหสิตโสมนัสได้ชัด โอ มันไม่มีดอก ที่จริงสุขมันไม่มี ให้มันดับสนิท ไอ้ตัวเคหสิตโสมนัส หรือโลกียสุขนี่แหละ เป็นตัวซ้อน ที่ตัวพรางทุกข์ เมื่อรู้อย่างนี้แล้ว ก็มีแต่ทุกข์เท่านั้นแหละ ต้านมันไว้ก่อน แล้วก็หัดลด อย่าไปติดมันนะ เป็นสุข หรือเป็นอะไร คุณก็ทำออกได้ เนกขัมมะได้ คุณก็หัดฝึก ปลดปล่อยได้

จักษุวิญญาณที่เกิดขึ้นแล้ว เพราะอาศัยปัจจัยอันไม่เที่ยง จักษุวิญญาณก็คือ ตัวรูปในเกิดแล้ว เพราะอาศัยปัจจัยอันไม่เที่ยง ไม่ว่าจะปัจจัยตา ปัจจัยรูป ก็บอกแล้ว ล้วนแต่ไม่เที่ยง แปรปรวนทั้งนั้น อาศัยมาก่อเกิด ผสมอยู่ในใจ เป็นจักษุวิญญาณก็ตาม มันก็ไม่เที่ยง ก็อาศัยปัจจัยอันไม่เที่ยง จะเป็นของเที่ยงแต่ไหน แล้วมันจะเอาอะไรมาเที่ยงเล่าพวกนี้ นอกก็ไม่เที่ยง ในก็ไม่เที่ยง มาก่อเกิดเป็นในเข้าไปอีก เป็นจักษุวิญญาณอีก มันก็ไม่เที่ยง อยู่นั่นแหละ รูปนั้นไม่ได้น่ารักน่าใคร่ ไม่ได้น่ายินดี แล้วไม่ต้องไปหลงว่า มันจะปรุงเป็นรส ก็เมื่อคุณไม่ปรุงเสียอย่าง คุณก็รู้ความจริงได้ว่า ขวดรูปอย่างนี้ คนเขาเรียกว่าขวด โอ๊ รูปสวยดี เออ เอ็งสมมติว่าสวย และรสชาติสวย และเราก็จะชื่นอกชื่นใจ ปรุง คุณก็หัดดูอาการของคุณต่อ ถ้ามันปรุง แก้ตรงปรุง แต่เขาบอกว่าสวย ตามสมมติโลก เออ รู้ตามเขา คุณก็กำหนดรู้โลก เข้าใจสมมติสัจจะ แต่ปรมัตถสัจจะ คุณฆ่าให้ถูกนะ ฆ่าให้ตัวที่คุณชื่นชอบ คุณไปเสพรสอัสสาทะนั้น รู้สังขารนั้น อย่าให้มันปรุงเป็นรส ดับรสก็ได้ ดับสังขารของจิต ที่จะไปเป็นรสยิ่งดี ยิ่งถูกตัว ว่าดับสังขารถูกแล้ว เพราะฉะนั้น ก็ดับรสไว้ก่อน ก็หมายความว่า เราค่อยๆ ก้าวเข้าไปแล้วนี่ ใกล้เข้าไปอีกนิด ชิดเข้าไปอีกหน่อย สวรรค์น้อยๆ อยู่ที่วงนิพพาน ไม่ใช่วงฟ้อนรำนะ ใกล้แล้ว ๆ ทีนี้ก็ต้องอ่านชัดลงไป ที่อัสสาทะนี่ ต้องมีสังขารนำหน้า เพราะปรุง จึงเกิดรสอัสสาทะ ตามฆ่าสังขารให้ได้อีกทีหนึ่ง ให้มันทัน เอ๊ อธิบายเป็น slow motion นี่เป็นหนังถ่ายช้า ถ้าอย่างนี้ ยังไม่รู้อยู่ ก็ไม่รู้จะทำอย่างไรแล้ว อาตมาก็ไม่รู้จะอธิบาย อย่างไรแล้ว

เขาถามว่า ถ้าจับสังขารได้นี่ นี่มันฆ่าสังขารอันนี้นะ สังขารกายนี่ จะมาฆ่ามัน อันนี้อาศัย อาศัยไว้ปฏิบัติ เป็น สูรา สติมันโต อิธ พฺรหฺมจริยวาโส เป็นตัวที่จะปฏิบัติพรหมจรรย์ ให้สิ้นได้ อย่าเพิ่งไปฆ่ามัน ไม่ต้องไปทำลายมัน ทำลายสังขารในจิต สังขารจิต กิเลสมันเป็นอย่างไร ตัวกิเลสตัวนี้แหละ เป็นตัวไปสังขาร จับอาการตัวที่ไปหลง เป็นตัณหา เป็นความอยากได้ อยากมี อยากเป็น ฆ่าตัวนี้ได้จริงแล้ว ไม่มีสังขารก็ดี ก็จบ

เพราะอาศัยปัจจัยอันไม่เที่ยง จะเป็นของเที่ยงแต่ไหน

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ความประจวบ ความประชุม ประจวบก็คือประจันแล้ว ชนแล้ว สัมผัสแล้ว ความประจวบ มันมาพร้อมกัน พร้อมพรั่งแล้ว ความประจวบ หรือความประชุม มันมาครบครันแล้ว ความพร้อมกันแห่งธรรมะ ทั้งสามนี้แล เรียกว่า จักษุสัมผัส เพราะฉะนั้น เราเรียกสัมผัส โดยภาษาตื้นๆ เราบอกว่า เราไปกระทบนี่ เรียกว่าสัมผัส แต่นัยที่ละเอียดของอภิธรรมแล้ว สัมผัสหมายความว่า กระแทก เท่านั้นเองแหละ แต่ความจริง ต้องอ่านปรมัตถ์ มีอายตนะนอก อายตนะใน มีจักษุวิญญาณ รวมองค์สามนี้ ปรุงเป็นรูปเรื่องขึ้นมา อย่างนี้จึงเรียกว่า เนื้อหาของสัมผัส เพราะฉะนั้น สัมผัสด้วยภาษาโวหารตื้นๆ หยาบๆ ของประถมหนึ่ง การกระทบกระแทก เรียกว่า สัมผัสใน เนื้อในของรายละเอียด จะเกิด เรียกว่า ทางตาเห็นรูป เรียกว่า จักษุสัมผัสแล้วไซร้ ก็คือมีรูป มีตา มีจักษุวิญญาณ นั่นรวม ๓ นี้ เรียกว่าสัมผัส ถ้าตาก็เรียกว่า จักษุสัมผัส หรือรูปเรียกว่า กายสัมผัส

ทีนี้ในภาษาที่เคยอ่าน เคยผ่านมา ดับผัสสะ ไม่มีสัมผัสก็ดับสนิททุกอย่าง ไอ้นั่นก็เป็นภาษา อธิบายผ่านๆ อธิบายหยาบๆ ถ้าใครพาซื่อแบบนั้นนะ ไปดับผัสสะ ก็คือ ไม่ต้องมีผัสสะ ก็เป็นฤาษีไพร ฝ่ายมุนีไพร เป็นฤาษีป่า หนีผัสสะอย่างพาซื่อ หนีผัสสะอย่างตื้นๆ ประถม ๑ แล้ว ก็ไม่มีทาง ที่จะบรรลุอรหันต์ ของพุทธดอก คนพวกนี้ เพราะยาก อธิบายไปแล้วมันจะวน นี่อธิบาย ที่จริงแล้ว อย่างนี้ ต้องอธิบายต่ออุปสัมบัน จะอธิบายกับอนุปสัมบัน ไม่รู้เรื่องดอก มันลึก แม้แต่พวกเราบางคน ฟังแล้วก็พยายามฟัง เอ้อ ไม่ค่อยจะเข้าใจ มันลึก มันหลุดๆ ร่องๆ มันละเอียดเกินไป แต่ผู้ใดมีญาณ รับได้ทัน ได้ดี เข้าใจความหมาย ที่อาตมาขยายความหมด ผู้นั้นอย่างน้อย ก็มีความฉลาดพอ ที่จะรับรู้ แม้ไม่มีสภาวะจริง

ยิ่งมีสภาวะจริงรองรับแล้ว โอ้โฮ ฟังดี ฟังดีนะ แหม มันชัด มันอร่อย มันรู้เรื่องรู้ราว แล้วเราก็สนใจ ในเรื่องจะไปนิพพานจริงๆ นะ โอ๊ แล้วท่านก็อธิบาย อ่านต่อไป ก็ชิวหาวิญญาณเหมือนกัน แล้วก็ต่อไป ก็วิญญาณอื่นๆ นั่นแหละทั้งหมด อธิบายมาถึงสัมผัส ทุกอย่างก็ไม่เที่ยง ไม่เที่ยง จนกระทั่งถึงมโน มโนสัมผัสก็ไม่เที่ยง มีความแปรปรวน มีความเป็นอย่างอื่น เหตุปัจจัยเพื่อความเกิด แห่งมโนสัมผัส ก็ไม่เที่ยง มีความแปรปรวน มีความเป็นอย่างอื่น

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็มโนสัมผัสที่เกิดขึ้นแล้ว เพราะอาศัยปัจจัยอันไม่เที่ยง จะเป็นของเที่ยงแต่ไหน ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลอันผัสสะกระทบแล้ว ย่อมรู้สึก อันผัสสะกระทบแล้วย่อมคิด อันผัสสะกระทบแล้วย่อมจำ แม้ธรรมเหล่านี้ ก็หวั่นไหว และอาพาธ ไม่เที่ยง มีความแปรปรวน มีความเป็นอย่างอื่น ดูกรภิกษุทั้งหลาย มโนวิญญาณย่อมเกิด เพราะอาศัยส่วน ๒ อย่าง ด้วยประการฉะนี้ เอาละ รู้แล้วว่า มันไม่เที่ยงแล้วนะ

ปัญจวัคคิยสูตร ว่าด้วยลักษณะแห่งอนัตตา ทีนี้เป็นตัวไม่มีตัวตน

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ใกล้พระนครพาราณสี ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาค ตรัสเรียกภิกษุเบญจวัคคีย์ ฯลฯ แล้วตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย รูปมิใช่ตัวตน ก็หากว่ารูปนี้ จักเป็นตัวตนแล้วไซร้ รูปนี้ก็คงไม่เป็นไป เพื่ออาพาธ ทั้งยังจะได้ตามความปรารถนา ในรูปว่า ขอรูปของเรา จงเป็นอย่างนี้เถิด (คือหมายความว่า อย่าเปลี่ยนแปลงเลย อย่าแปรปรวนเลย) อย่าได้เป็นอย่างนั้นเลย (อย่าได้ไปเป็นอื่น กำหนดจะเอาอย่างนี้ ก็ต้องเอาอย่างนี้ รูปนี้จะต้องอย่างนี้ อย่าเสื่อม อย่าเปลี่ยนแปลง อย่าแปรปรวน เที่ยงนะ รูปต้องเที่ยง) ก็เพราะเหตุที่รูปมิใช่ตัวตน ฉะนั้น รูปจึงเป็นไปเพื่ออาพาธ (อาพาธก็คือ มันจะต้องเปลี่ยนแปลง มันจะต้องเจ็บป่วย มันจะต้องทุกข์) และไม่ได้ตามความปรารถนาในรูปว่า ขอรูปของเรา จงเป็นอย่างนี้เถิด อย่าได้เป็นอย่างนั้นเลย (อย่างนั้นก็คือ ต่างจากอย่างนี้ นี้ๆ เที่ยงนะ อย่าเป็น หน่อยก็ไม่ได้ เป็นอย่างโน้นก็ไม่ได้ เป็นอย่างนี้ นอกจากนี้แล้วอย่างนั้น อย่างนั้นแหละ อย่างกำหนดนั่นแหละ อย่าเป็นอื่น จงเป็นอย่างนี้ อย่าได้เป็นอย่างนั้นเลย)

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เวทนามิใช่ตัวตน ก็หากเวทนานี้ จักเป็นตัวตนแล้วไซร้ ก็คงไม่เป็นไปเพื่ออาพาธ ทั้งยังจะได้ตามความปรารถนาว่า ขอเวทนาของเรา จงเป็นอย่างนี้เถิด อย่าได้เป็นอย่างนั้นเลย ก็เพราะเหตุที่เวทนา ไม่ใช่ตัวตน ฉะนั้น เวทนาจึงเป็นไปเพื่ออาพาธ และไม่ได้ตามความปรารถนา ในเวทนาว่า ขอเวทนาของเรา จงเป็นอย่างนี้เถิด อย่าได้เป็นอย่างนั้นเลย

ดูกรภิกษุทั้งหลาย สัญญามิใช่ตัวตน ก็หากสัญญานี้ จักเป็นตัวตนแล้วไซร้ ก็คงไม่เป็นไปเพื่ออาพาธ ทั้งยังจะได้ตามความปรารถนา ในสัญญาว่า ขอสัญญาของเรา จงเป็นอย่างนี้เถิด อย่าได้เป็นอย่างนั้นเลย ก็เพราะเหตุที่สัญญา มิใช่ตัวตน ฉะนั้น สัญญาจึงเป็นไปเพื่ออาพาธ และไม่ได้ตามความปรารถนา ในสัญญาว่า ขอสัญญาของเรา จงเป็นอย่างนั้นเถิด อย่าได้เป็นอย่างนั้นเลย

ดูกรภิกษุทั้งหลาย สังขารมิใช่ตัวตน ก็หากสังขารนี้ จักเป็นตัวตนแล้วไซร้ ก็คงไม่เป็นไปเพื่ออาพาธ ทั้งยังจะได้ตามความปรารถนา ในสังขารว่า ขอสังขารของเรา จงเป็นอย่างนี้เถิด อย่าได้เป็นอย่างนั้นเลย ก็เพราะเหตุที่สังขารมิใช่ตัวตน ฉะนั้น สังขารจึงเป็นไปเพื่ออาพาธ และไม่ได้ตามความปรารถนา ในสังขารว่า ขอสังขารของเรา จงเป็นอย่างนี้เถิด อย่าได้เป็นอย่างนั้นเลย

ดูกรภิกษุทั้งหลาย วิญญาณ.... (ก็เหมือนกันนั่นแหละ วิญญาณก็อ่าน ก็ซ้ำ เป็นแต่เพียงเปลี่ยน รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ.... ก็เหมือนกัน ) ..ขอวิญญาณของเรา จงเป็นอย่างนี้เถิด อย่าได้เป็นอย่างนั้นเลย ก็เพราะเหตที่วิญญาณ มิใช่ตัวตน ฉะนั้น วิญญาณจึงเป็นไปเพื่ออาพาธ และไม่ได้ตาม ความปรารถนาว่า ขอวิญญาณของเรา จงเป็นอย่างนี้เถิด อย่าได้เป็นอย่างนั้นเลย

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลาย จะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน รูปเที่ยงหรือไม่เที่ยง (เที่ยงหรือไม่เที่ยง.. นึกว่าเที่ยง) ก็สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนไป เป็นธรรมดา ควรหรือหนอ ที่จะตามเห็นสิ่งนั้นว่า นั่นของเรา นั่นเป็นเรา นั่นตัวตนของเรา (แน่นอน มันก็ต้อง ไม่ควรเห็นอย่างนั้น พระเจ้าข้า ตอบแทน พวกคุณ)

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลาย จักสำคัญความข้อนี้เป็นไฉน เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ (รวบเลย ตอนนี้ ก็เหมือนกันนั่นแหละ) ไม่เที่ยง เมื่อสิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์ เมื่อไม่เที่ยง เมื่อแปรปรวน สมควรหรือ จะมายึดเป็นเรา เป็นของเรา

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุนั้นแหละ รูปอย่างใดอย่างหนึ่ง ทั้งที่เป็นอดีต อนาคต และปัจจุบัน เป็นภายในหรือภายนอก หยาบหรือละเอียด เลวหรือประณีต ทั้งที่อยู่ในที่ไกลหรือที่ใกล้ รูปทั้งหมดนั้น เธอทั้งหลาย พึงเห็นด้วยปัญญาอันชอบ (ฟังให้ดีนะ เห็นด้วยปัญญาอันชอบ เอาปัญญามาใช้แทนสัญญา นี่แหละ ไปเป็นปัญญา การกำหนดรู้นี่แหละ ไปเป็นปัญญา คุณคงเดาได้ เดาออก ตัวฉลาดจริงๆ ก็คือ การกำหนดรู้ ให้ชัดที่สุด ตามความเป็นจริงที่สุดนี่แหละ มันคือ ปัญญาอันยอด แม้ที่สุด ถึงขั้นปัญญาระดับ อาสวักขยญาณ เป็นญาณสุดยอด เพราะการกำหนดรู้นี่แหละ)

เธอทั้งหลาย พึงเห็นด้วยปัญญาอันชอบ ตามความเป็นจริง อย่างนี้ว่า นั่นไม่ใช่ของเรา นั่นไม่เป็นเรา นั่นไม่ใช่ตัวตนของเรา (แล้วท่านก็ไล่ไป นอกจาก รูปอย่างใดอย่างหนึ่ง แล้วก็เวทนาอย่างใดอย่างหนึ่ง แล้วก็สัญญาอย่างใดอย่างหนึ่ง สังขารอย่างใดอย่างหนึ่ง วิญญาณอย่างใดอย่างหนึ่ง จนเป็นที่สุด โน่นแหละ มันก็ไปยึดถือว่า เป็นเรา เป็นของเราไม่ได้)

ดูกรภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกผู้ได้สดับแล้ว เห็นอย่างนี้ ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในรูป แม้ในเวทนา แม้ในสัญญา แม้ในสังขาร แม้ในวิญญาณ เมื่อเบื่อหน่าย ย่อมคลายกำหนัด เพราะคลายกำหนัด จึงหลุดพ้น เมื่อหลุดพ้นแล้ว ย่อมมีญาณหยั่งรู้ว่า หลุดพ้นแล้ว รู้ชัดว่าชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำ ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้ (เพื่อความเป็นพระอรหันต์ หรือเพื่อ ความนิพพานอย่างนี้ กิจอย่างนี้ ไม่ต้องทำอีกแล้ว) มิได้มี

พระผู้มีพระภาค ได้ตรัส อนัตตลักขณสูตร นี้จบลงแล้ว ภิกษุเบญจวัคคีย์ ต่างมีใจยินดี ชื่นชมพระภาษิต ของพระผู้มีพระภาค ก็แหละเมื่อพระผู้มีพระภาค กำลังตรัส ไวยากรณภาษิตนี้อยู่ ภิกษุเบญจวัคคีย์ ก็มีจิตหลุดพ้นจากอาสวะ เพราะไม่ถือมั่น

เมื่อเราอ่านสูตรนี้แล้วเสร็จ เราก็เข้าใจแล้วว่า สูตรที่บอกว่า แม้ที่สุด ไม่ใช่ตัวตนของเรา ไม่เที่ยง แล้วก็ไม่ใช่ตัวตนของเรา เพราะมันไม่เที่ยง มันก็ต้องเป็นทุกข์ เมื่อเราไปยึดเที่ยง หรือยึดอยู่ก็เป็นทุกข์ เพราะฉะนั้น เราต้องไม่ยึดเป็นตัวตนของเรา เป็นที่สุด

ทีนี้ก็อ่านสูตรอื่นอีก สัญญาสูตร ทีนี้กลับมาที่สัญญา เพราะเรากำลังพูดอยู่ที่ ตรงสูญกับสัญญา หรือว่า ไม่เที่ยง เป็นอนัตตะ ก็เรียกว่าสูญ อนัตตะไม่มีตัวตน ก็คือสูญนั่นแหละ เพราะว่าอาการ สภาวธรรมของอนัตตา อนัตโต ปรโต ตุจฉโต วิถโต สุญโต สัญญาสูตร ว่าด้วยการเจริญ อนิจจสัญญา

ดูกรภิกษุทั้งหลาย อนิจจสัญญา อันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมครอบงำ กามราคะทั้งปวงได้ ย่อมครอบงำ รูปราคะทั้งปวงได้ ย่อมครอบงำ ภวราคะทั้งปวงได้ ย่อมครอบงำ อวิชชาทั้งปวงได้ ย่อมถอนขึ้น ซึ่งอัสสมิมานะทั้งปวงได้ (อัสสมิมานะก็คือ มานะนั่นแหละ อัสสมิมานะ ก็หมายความว่า มานะที่ยึดเป็นตน มานะที่อาตมา เรียกควบด้วย อาตมาไม่ได้เรียก อัสสมิมานะเท่าไร อาตมาเรียกแต่ อัตตามานะ ที่จริง ถ้าจะเรียกให้ถูกตามภาษา ก็จะเรียกเต็มว่า อัสสมิมานะ ถ้ายังมีมานะ แล้วยึดมานะเป็นตน ท่านเรียกว่า อัสสมิมานะ แต่อาตมาก็เรียกเอาคำว่าตน หรือเอาอัตตา มาเรียกเลย อาตมาไม่เรียก อัสสมิมานะ อาตมาเรียก อัตตามานะ ย่อมถอนขึ้น ซึ่งอัสสมิมานะ ทั้งปวงได้)

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในสารทสมัย ชาวนาเมื่อไถนา ด้วยคันไถใหญ่ ย่อมไถ ทำลายความสืบต่อแห่งราก ทุกชนิด แม้ฉันใด อนิจจสัญญา อันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมครอบงำ กามราคะทั้งปวงได้ ย่อมครอบงำ รูปราคะทั้งปวงได้ ย่อมครอบงำกามกับรูป ย่อมครอบงำ ภวราคะทั้งปวงได้ เมื่อกี้อธิบาย ภวราคะ ไปจนกระทั่งถึง วิภวตัณหา บางทีวิภวะ จะเรียกวิภวราคะก็ได้ แต่ที่จริง บอกแล้วว่า วิภวราคะ สุดท้าย พระพุทธเจ้าท่านไม่ตรัส ดับก็ดับภวราคะ หรือ วิภวตัณหาเท่านั้น ย่อมครอบงำ ภวราคะทั้งปวงได้ ย่อมครอบงำ อวิชชาทั้งปวงได้

อาตมามาถึงตรงนี้แล้วไปนึกถึง ภวตัณหาสูตร อวิชชาสูตร แล้วก็ภวตัณหาสูตร ในภวตัณหา ก็เช่นเดียวกัน อวิชชานี่ก่อให้เกิดสุดท้ายสูงสุดก็ ภวตัณหาเท่านั้น เพราะฉะนั้น อวิชชาที่มันหมดโง่ เป็นวิชาสุด บริบูรณ์แล้ว ย่อมดับอวิชชา อวิชชาสวะ พอดับอวิชชาสวะแล้วนี่คือ ดับหมดเลย ภวตัณหา

พระพุทธเจ้าก็ไม่เคยตรัสว่า ดับวิภวตัณหา ไม่เคยตรัส ไม่เคยมี ในพระสูตรก็ไม่เคยเห็น เคยเห็นแต่ว่า เมื่อดับอวิชชาแล้ว ภวตัณหาย่อมดับ ไม่ใช่วิภวตัณหาย่อมดับ อันนี้ ก็เป็นเรื่องที่ละเอียดลึกซึ้ง เหมือน กลับไปกลับมา หรือย้อนไปย้อนมาเยอะ ซึ่งถ้าคุณฟังดีๆ ที่อาตมาอธิบายมานี่ แล้วจะรู้จัดหลัก จุดจบ จุดสำคัญ จุดสุดท้ายได้ดี ย่อมครอบงำ ภวตัณหาทั้งปวงได้ ย่อมครอบงำ อวิชชาทั้งปวงได้ ย่อมถอน ซึ่งอัสสมิมานะ ทั้งปวงได้ ฉันนั้นเหมือนกันแล

นั่นท่านก็ยกตัวอย่างอะไรอื่นๆ คล้ายกัน ดูกรภิกษุทั้งหลาย คนเกี่ยวหญ้ามุงกระต่าย เกี่ยวหญ้ามุงกระต่าย แล้วจับปลายเขย่า ฟาด สลัดออก แม้ฉันใด อนิจจสัญญา อันบุคคลเจริญแล้ว ฯลฯ ฉันนั้น เหมือนกันแล

คือหมายความว่า จะทำอะไร ก็ต้องให้มันสะอาด ให้มันเรียบร้อย ถอนรากถอนโคน ถอน เรียกว่า ทั้งเขย่า ทั้งฟาด ทั้งสลัด ทำอย่างไร ให้มันออกให้เกลี้ยง ไม่ให้เหลือธุลีละออง อันอื่นๆ เหมือนกันแหละ ท่านยกตัวอย่าง

มะม่วงเมื่อขาดจากขั้ว จะเอาหญ้ามุงกระต่าย ถอนออกให้ขึ้นทุกอย่าง ไม่ให้เหลือให้หรอ อะไรก็แล้วแต่

กลอนใดๆ แห่งเรือนยอด กลอนทั้งหมดนั้นไปสู่ยอด น้อมไปที่ยอด ประชุมลงที่ยอด ยอด ชนทั้งหลายกล่าวว่า เลิศกว่ากลอนเหล่านั้น แม้ฉันใด อนิจจสัญญา อันบุคคลเจริญแล้ว ฯลฯ ฉันนั้นเหมือนกันแล ก็ต้องตัดยอดเหมือนกัน

ไม้มีกลิ่นที่รากใดๆ ไม้กะลำพัก ชนทั้งหลายกล่าวว่า เลิศกว่าไม้มีกลิ่นที่รากเหล่านั้น (คือไม้กะลำพัก นี่ มันเป็นกลิ่นอยู่ที่ราก เพราะฉะนั้น ก็ถอนรากของไม้ กะลำพัก นี้ให้เกลี้ยงสิ้น ก็ถอนรากเหมือนกัน)

ไม้มีกลิ่น ที่แก่นใดๆ จันทน์แดง ชนทั้งหลายกล่าวว่า เลิศกว่าไม้ที่มีกลิ่นเหล่านั้น (หมายความว่า ที่แก่น จันทน์แดงนี่ กลิ่นไปอยู่ที่แก่น ส่วนไม้กะลำพัก กลิ่นไปอยู่ที่ราก ก็ถอนราก ถ้ากลิ่นมันไปอยู่ที่แก่นอย่างไร จันทน์แดงก็ต้องทำลายแก่น ถอนแก่น)

ไม้มีกลิ่นที่ดอกใดๆ มะลิ ชนทั้งหลายกล่าวว่า เลิศกว่าไม้มีกลิ่นที่ดอกเหล่านั้น (ก็ทำลายตัวดอก มาสิ)

พระราชาผู้น้อยใดๆ ทั้งหมดนั้น ย่อมเป็นผู้เสด็จไป ตามพระเจ้าจักรพรรดิ พระเจ้าจักรพรรดิ ชนทั้งหลาย ย่อมกล่าวว่า เลิศกว่าพระราชาผู้น้อยเหล่านั้น แม้ฉันใด อนิจจสัญญา อันบุคคลเจริญแล้ว ฯลฯ (ก็ให้ถอนเหมือนกัน ที่จริงก็คือ ให้ฆ่าพระราชา ถ้าฆ่าพระราชาแล้ว พวกชนทั้งหลาย พวกพระราชาน้อยๆ เรียกว่า อนุยน อนุยนนี่คือ พระราชาน้อยๆ ก็ต้องหมดไป ฆ่าหัวพระราชาแล้ว หางพระราชา ก็หายหมด ว่าอย่างนั้นเถิด)

แสงดาวทั้งหลาย ชนิดใดชนิดหนึ่ง แสงดาวทั้งหมดนั้น ไม่ถึงเสี้ยวที่ ๑๖ แห่งแสงพระจันทร์ แสงพระจันทร์ ชนทั้งหลายกล่าวว่า เลิศกว่าแสงดาวเหล่านั้น (ไปดับพระจันทร์เสีย ดาวก็หาย ถือเอาพระจันทร์ ให้แสงแก่ดาวต่อ)

ในสารทสมัยท้องฟ้าบริสุทธิ์ ปราศจากเมฆ พระอาทิตย์ขึ้นไปสู่ท้องฟ้า ย่อมส่องแสง และแผดแสงไพโรจน์ กำจัดความมืด อันอยู่ในอากาศทั่วไป แม้ฉันใด อนิจจสัญญา อันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมครอบงำ กามราคะทั้งปวงได้ ย่อมครอบงำ รูปราคะทั้งปวงได้ ย่อมครอบงำ ภวราคะทั้งปวงได้ ย่อมครอบงำ อวิชชาทั้งปวงได้ ย่อมถอนขึ้น ซึ่งอัสมิมานะได้ทั้งหมด ฉันนั้นเหมือนกันแล

ตรงนี้ข้อที่น่าสังเกตอีกอันหนึ่ง ก็คือว่า ท่านไม่กล่าวถึงอรูปราคะ เพราะอรูปราคะ นั้นก็คือรูปราคะ นั่นแหละ อรูปก็คือ รูปที่ไม่รู้จะเรียกว่าอะไรแล้ว ก็เรียกว่า ไม่ใช่รูป แต่รูปก็คือสิ่งที่ถูกรู้ เพราะฉะนั้น สิ่งที่ถูกรู้ ที่ละเอียดที่สุด นั่นแหละ ถ้าอธิบาย โดยเนื้อหาก็คือ สิ่งที่ละเอียด จนกระทั่ง คนตาไม่ดี ก็ไม่รู้ว่ารูป ไม่เป็นสิ่งที่ถูกรู้ได้ คนโสตไม่ดี ก็ไม่รู้ว่าเสียง ไม่สามารถที่จะรู้ว่า เป็นเสียงที่ถูกรู้ได้ เป็นสิ่งที่ถูกรู้ได้ ฉันใดก็ฉันนั้น ก็คล้ายกันกับที่อาตมาอธิบาย วิภวตัณหา ท่านก็มาสรุปลงที่ รูปราคะ กับ ภวราคะ เหมือนกัน

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็อนิจจสัญญา (สัญญาที่เห็นความไม่เที่ยง) อันบุคคลเจริญแล้วอย่างไร กระทำให้มากแล้วอย่างไร จึงครอบงำ กามราคะทั้งปวง ฯลฯ ถอนขึ้นซึ่ง อัสมิมานะได้หมด อนิจจสัญญา อันบุคคล เจริญแล้วอย่างนี้ กระทำให้มากแล้วอย่างนี้ว่า รูปดังนี้ ความเกิดแห่งรูปดังนี้ ความดับแห่งรูปดังนี้ เวทนาดังนี้ สัญญาดังนี้ สังขารดังนี้ วิญญาณดังนี้ ความเกิดขึ้น แห่งวิญญาณดังนี้ ความดับแห่งวิญญาณดังนี้ ย่อมครอบงำ กามราคะทั้งปวงได้ ฯลฯ ถอนขึ้นซึ่ง อัสมิมานะได้ทั้งหมด

ดูกรภิกษุทั้งหลาย อนิจจสัญญา อันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้วอย่างนี้แล ย่อมครอบงำ กามราคะทั้งปวงได้ ย่อมครอบงำรูปราคะทั้งปวงได้ ย่อมครอบงำ ภวราคะทั้งปวงได้ ย่อมครอบงำ อวิชชาทั้งปวงได้ ย่อมถอนขึ้น ซึ่งอัสมิมานะได้หมด (เอ้า จบสูตรนี้ก่อน)

ทีนี้ก็มาอ่านสูตร ที่สรุปชัดเจน คือ นตุมหากสูตร ว่าด้วยอายตนะภายนอก ๖ ไม่ใช่ของตน

ดูกรภิกษุทั้งหลาย สิ่งใดไม่ใช่ของเธอทั้งหลาย (เมื่อเราเห็นว่าไม่ใช่ของตัวเรา ไม่ใช่ของเราแล้ว) เธอทั้งหลาย จงละสิ่งนั้นเสีย สิ่งนั้นอันเธอทั้งหลายละได้แล้ว จักเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุข

ดูกรภิกษุทั้งหลาย อะไรเล่า ไม่ใช่ของเธอทั้งหลาย รูป ฯลฯ เวทนา ฯลฯ สัญญา ฯลฯ สังขาร ฯลฯ วิญญาณ ไม่ใช่ของเธอทั้งหลาย (นั่นแหละ ที่อ่านมาแล้ว แล้วก็อธิบายไปแล้ว)

รูปไม่ใช่ของเธอทั้งหลาย เธอทั้งหลาย จงละรูปนั้นเสีย รูปนั้นอันเธอทั้งหลายละได้แล้ว จักเป็นไปเพื่อ ประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุข ... เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ (เหมือนกันหมด นัยเดียวกัน) ไม่ใช่ของเธอทั้งหลาย เธอทั้งหลาย จงละธรรมารมณ์นั้นเสีย ธรรมารมณ์นั้น เธอทั้งหลายละได้แล้ว จักเป็นไป เพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุข

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ชนพึงนำหญ้า กิ่งไม้และใบไม้ ที่มีอยู่ในเชตวันนี้ไป หรือพึงเผา หรือ พึงทำตามสมควรแก่เหตุ ก็เธอทั้งหลายพึงคิดอย่างนี้ว่า ชนย่อมนำพวกเราไป หรือเผา หรือทำพวกเรา ตามสมควรแก่เหตุ ดังนี้บ้างหรือหนอ (ผู้ที่บอกว่า กิ่งไม้นี่ เธอทั้งหลายพึงมีความคิดอย่างนี้ คนนำพวกเรา ไปหรือเผา หรือทำตามสมควรแก่เหตุ เราก็รู้สึกว่าคน นี่ เขามานำเอาเราทั้งๆ ที่เขาเอาหญ้า ทั้งๆ ที่เขาเอากิ่งไม้ ทั้งๆ ที่เอาใบไม้ เขาเอาไปจากปฐมอโศก นี่เอาไปแล้ว เราก็เลยมีความรู้สึกว่า เขาเอาเราไป โอ แล้วเขาก็เอาไปเผา หรือเขาเอาไปทำอะไร ก็แล้วแต่เขาเถิดนะ ดังนี้บ้างหรือหนอ)

ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า หาเป็นดังนั้นไม่

ก็เขาเอาเราไปที่ไหน ก็มันไม่ใช่เรา เขาเอากิ่งไม้ไป เขาเอาอะไรไป ฉันเดียวกัน ถ้าเขาเอาเวทนาเราไป เราจะบอกว่า เฮ้ย นั่นเอาความรู้สึกเราไปแล้ว เขาเอาสัญญาเราไปแล้ว เราบอก เฮ้ย เขาเอาความ กำหนดสัญญาเราไปแล้ว เอาความจำเราไปแล้ว นั่นของเรานะ สังขารก็ดี วิญญาณก็ดี เขาเอาไปแล้ว จะไปตู่ว่า นั่นเขาเอาเราไป อย่างนั้นหรือหนอ

พระพุทธเจ้าถามว่า ข้อนั้นเพราะเหตุอะไร ภิกษุก็บอกว่า เพราะเหตุว่า หญ้าเป็นต้นนั้น มิได้เป็นตน หรือเป็นของเนื่องด้วยตน ของข้าพระองค์ทั้งหลายเลย นั่นไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเนื่องจากตัวเราดอก เราตัดแล้ว เราไม่ได้ยึดมั่นถือมั่นว่าเรา เป็นของเราแล้ว พระเจ้าข้า

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ฉันนั้นเหมือนกันแล รูปไม่ใช่ของเธอทั้งหลาย เธอทั้งหลาย จงละรูปนั้นเสีย รูปนั้น อันเธอทั้งหลายละได้แล้ว จักเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุข

เสียงไม่ใช่ของเธอทั้งหลาย..ฯลฯ.
กลิ่นไม่ใช่ของเธอทั้งหลาย...ฯลฯ
รสไม่ใช่ของเธอทั้งหลาย...ฯลฯ
โผฏฐัพพะไม่ใช่ของเธอทั้งหลาย.... ฯลฯ

ธรรมารมณ์ ไม่ใช่ของเธอทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงละธรรมารมณ์นั้นเสีย ธรรมารมณ์นั้น อันเธอทั้งหลายละได้แล้ว จักเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุข

(ผู้ละได้แล้ว เมื่อละได้แล้ว ผู้นั้นจักเป็นไป จักดำเนินไป ถ้ายังไม่ปรินิพพาน ก็จะมีสุคติ หรือมี อากังขาวจร หรือมีอวจรของตัวเรา ยังดำเนินไปต่ออยู่ การดำเนินไปต่อ ของตัวเรา ก็จะเป็นไป เพื่อเกื้อกูล เพื่อความสุข สุขที่ว่านี้รวมทั้งเรา ก็เป็น วูปสโมสุข สุขของคนที่อื่น ที่เราจะอนุโลมให้แก่เขา อย่างอาตมา อนุโลมให้คนไปร้องเพลง เขาสุข ก็สุขไปบ้างเถิด โปรดเปรตนิดหน่อยไป ปล่อยเปรตบ้าง อะไรอย่างนี้เป็นต้น เราเอง เราก็วูปสโมสุข คนอื่นก็เป็นสุข ร่วมกันไปหมด)

ทีนี้กลับมาอธิบายตรงที่ว่า ถ้าเราเข้าใจตรงที่ว่า อันนี้ ไม่ยึดว่าเราเป็นเราได้นี่ มันตรงไหน ตรงที่สัญญา กำหนดรู้ สัญญาตัวนี้แหละ คือตัวไปเป็นปัญญา ไปเป็นญาณ ญาณกำหนดรู้ทั้งหมด และท่านตรัสว่า เที่ยงด้วย เช่นอาตมาเอา จูฬวิยูหสูตร มาอ่านสู่ฟังนี่ ที่ท่านบอกว่า สัจจะมากหลาย ต่างๆกัน เว้นจากสัญญาว่าเที่ยงเสีย ไม่มีในโลกเลย อันตรงนี้แหละ ที่อาตมาขยายความไปแล้ว เนื้อหาพวกนี้ อาตมาไม่อ่านต่อแล้ว ค่อยๆไปศึกษา เพราะฉะนั้น จุดจบจะเรียกว่า สัจจะที่สูงสุด ก็ต้อง ที่สัจจะไม่ต้องติดยึด ในบัญญัติว่าสัจจะแล้ว แต่ก็เป็นสัจจะนะ สัจจะสูงสุด สุดที่ตรงสภาวะ ของการกำหนดรู้ และสัญญานี้ รู้ยิ่งเห็นจริง เป็นญาณ หรือ เป็นปัญญา กำหนดรู้ความเที่ยง ท่านบอกแล้วว่าสัญญาว่าเที่ยง สัญญายะ อาการตามกำหนดเป็นกิริยา กำหนดรู้แล้ว นำการกำหนดรู้ รู้อะไร รู้ความเที่ยง แล้วอะไรล่ะ ที่สุดแห่งที่สุดของศาสนาพุทธเที่ยง อะไรเที่ยง สัญญา ไปเที่ยงอย่างไร วนแล้ว เข้าป่าแล้ว อะไรเที่ยง อุภโตภาควิมุติเที่ยง อาการนั้น ในตนของตนเท่านั้น

ฟังตรงนี้อีก อาการนิพพาน อาการอุภโตภาควิมุติ อาการเจตโส อภินิโรปนา จิต เจโตวิมุติ รู้ว่าจิตของเรา เป็นธาตุรู้ และเป็นธาตุที่ทนได้โดยไม่ทุกข์ ไม่เดือดร้อน ไม่เปลี่ยนเป็นอื่น ไม่ปรุง ไม่กิเลส เข้าไปแทรกได้ ไม่เป็นอื่น ไม่เป็นอะไร เป็นอย่างนั้นๆ ในสำนวนนี้ก็รู้สึกว่า เป็นอย่างนี้ เราก็กำหนด เป็นอย่างนี้ๆ แหละ ไม่เป็นอื่นเลย ไม่เป็นอย่างนั้นๆ อย่างอะไรอีก ก็เป็นอย่างนี้ก็คือ ว่างจากกิเลส โดยรู้จริงจังเลยว่า กิเลสคืออะไร ธุลีละอองของกิเลส อาสวะคืออะไร อนุสัยคืออะไร มันไม่มีตัวตนของตัวนี้แล้ว อนัตตาแล้ว สูญแล้ว ไม่มีตัวจะมาเป็นอะไรอื่นอีกเลย มันไม่เกิดอีก มีแต่สูญอยู่อย่างนี้ รู้แล้วตัวปัญญา หรือสัญญาที่กำหนดรู้นี่ เป็นปัญญาแล้ว เป็นญาณสูงสุดแล้ว เป็นวิมุตติญาณทัสสนะ เป็นญาณทัสนะวิเศษ ที่อ่านรู้วิมุติ วิมุติอันนี้ ไม่เป็นอื่น ไม่ต้องศึกษาอีก ไม่ต้องมาฝึกหัดอีก ไม่ต้องมาทำใหม่ เที่ยงแท้ แน่นอนมั่นคง เงียบเลยนะ นี่คือ สัญญายะ นิจจานิ แล้วธรรมารมณ์ทั้งหลาย ก็ไม่มีแล้ว ไม่มีอารมณ์สุข อารมณ์ทุกข์ อุเบกขา วางเฉย อทุกขมสุข ไม่มีทุกข์และไม่มีสุข

อาการนี้ คุณจะต้องรู้ด้วยตนจริงๆ บอกแล้วว่า แค่เป็นฐานอาศัย เพราะเรายิ่งมีรูป นาม ขันธ์ ๕ เรายังมีรูปจริง เรายังมีเวทนาจริง ตามสมมติสัจจะ ยังไม่สลาย เรายังมีรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ แล้วก็มาทำงานเก่งหมด เวทนากำหนด เวทนารู้ คืออาการมันรู้สึก มันรู้ รู้อะไร คืออะไร รู้นะมันรู้ แล้วตัวสัญญากับเวทนา ที่จะคู่กัน ทำงานปลีกเดี่ยวไม่ค่อยได้ดอก มันจะต้องมีสอง พอเวทนากระทบ เวทนารู้ สัญญาก็กำหนดเปลี่ยน กำหนดเทียบ กำหนดไปหาความจำ เราจำได้ อย่างนี้ เราเรียกว่า ไมโครโฟน กระดาษ เราก็ธรรมดา อ่านตัวหนังสือก็คือตัวหนังสือ บอกเรื่อง ก็รู้เรื่อง จำได้ เรื่องอะไรก็จำได้ แต่มีปรุงรสไหม ไม่มี ธรรมารมณ์ ไม่ได้ไปติด ในอารมณ์ของอะไรๆ ธรรมะคือ ทุกสิ่งทุกอย่างทั้งปวง ไม่ได้ติดในอารมณ์อร่อย อารมณ์โลกียะ อารมณ์อะไร มีแต่อารมณ์นิพพาน คือ อารมณ์ว่าง อารมณ์ไม่มีกิเลส อารมณ์ไม่เป็นอื่นอีกเลย อารมณ์มันเป็นอย่างนี้ อย่างที่มันว่าง มันอุเบกขา มันบริสุทธิ์ มันเฉย มันไม่มีการสังขารร่วมปรุง แถมมัน สัญญากำหนดรู้ แล้วมันปรุงกับเขาอีก ยังได้เลย

ที่อาตมาอธิบาย เป็นปฏินิสสัคคะ สลัดคืน ไปปรุงร่วมกับเด็กๆ ที่ว่า เล่นหม้อข้าวหม้อแกง เหมือนเด็ก อาตมาสนุกกับเขา แล้วเราก็ต้อง อ่านจิตเราด้วยว่า แล้วเราสนุกกับเขานั่นนะ เราแอบเสพหรือเปล่า เรามีอารมณ์ปรุง เรามีสังขารหรือเปล่า ต้องไปอ่าน คนคืออะไร มนุษย์ ๓ ขันธ์ มีรูป เวทนา สัญญา เท่านั้น สังขารไม่มี ตัดสังขาร ไม่มีตัวปรุงให้แก่ตน ถ้าเวทนากับสัญญา จะส่งไปหาวิญญาณ ก็เป็นธาตุรู้ ใช้ภาษาได้ว่า เป็นธาตุรู้ มันก็สักแต่ว่ารู้ โดยไม่มีสังขารแล้ว นี่แหละคือ การดับสังขาร สิ้นในโลก ดับสังขารแล้วจบ

คุณสัญญาย นิจจานิ คุณกำหนดรู้อันนี้ได้ การกำหนดรู้นี้ ชาญฉลาดขึ้นไป จนเป็นญาณปัญญา กำหนดรู้ อย่างชัดตามความเป็นจริง มันเป็นอย่างไร ต้องเห็นความเป็นอันนั้น ให้ตรงที่สุด อย่าเบี้ยว อย่าหลอกตัวเอง คุณมีญาณเกิด ญาณฉลาด ญาณที่รู้แจ้งเห็นจริงของคุณ ก็คือ คุณยังหลงก็คือ คุณหลง คุณจะรู้จริง ก็คือคุณรู้จริง เพราะฉะนั้น คุณเกิดญาณนี้จริงเมื่อใด แล้วมีสภาวะนี้จริงเมื่อใด ถึงที่สุดเมื่อใด เมื่อนั้นเราก็ถึงที่สุด เมื่อนั้น จบอยู่ที่ สัญญาย นิจจานิ แต่ไม่ได้หมายความว่า สัญญานั้นเที่ยงนะ สัญญานั้นเป็นปัญญา เป็นญาณทัสนะ ไปกำหนดรู้ รู้แล้วว่าอันนี้เที่ยง พอรู้แล้ว เราก็ไม่ได้ติดยึด สุดท้าย พระอรหันต์เจ้า จะใช้สัญญานี้ ที่เป็นปัญญายิ่งยอดนี่ ก็ใช้ไป แต่ท่านใช้แล้ว ท่านหลงเผินอีกไหมว่า โอ้ นี่มันน่าได้ น่ามี น่าเป็นอยู่ มันเป็นเรา เป็นของเรา คุณเวียนวนอีกแล้ว วนอีกแล้วว่าเป็นเรา เป็นของเราอีก โดยคุณไม่ต้อง จบตรงที่ ถึงอย่างนั้น ก็อย่าไปยึดมั่น ถือมั่น ว่าเป็นเรา เป็นของเรา แต่มันก็เป็นของเรานั่นแหละ

แต่เมื่อเราวาง อาการไม่ยึดมั่นถือมั่น ว่าเป็นเรา แค่สมาทาน ฉวยไว้ถือไว้อย่างสงบ สมะ นี่แปลว่าสงบ อาทาน นี่แปลว่า ถือไว้ ถ้าอุปาทานแล้ว ฉวยไว้อย่าเกิด มันจะเกิดอะไร ก็ตามแต่ เกิดกิเลส เกิดตัว เกิดตน เกิดอะไรไปอีก ไปกันใหญ่เลย อุปะ + อาทานนี่ อุปาทาน มันจะติดยึด เพราะฉะนั้น เมื่อเราเฉยไว้ อย่างสมาทาน อย่างรู้ อย่างสงบแล้ว อย่างไม่เกิดกิเลสอีกแล้ว ก็ฉวยไว้ อาศัยฉวยไว้ เพื่อเกิดประโยชน์ เพื่อการประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุข พหุชนสุขายะ เพื่อความสุขของชน เป็นอันมาก เราก็ร่วม วูปสโมสุขอยู่ด้วย เราก็สุขอย่างสงบอยู่ด้วย คนอื่นๆ ก็สุขด้วย ตามฐานะที่เรา จะเกื้อกูลเขา แต่ไม่ให้เขาหลงใหลได้ปลื้มนะ ต้องขัดเกลา ต้องช่วยขัดเกลา เพราะฉะนั้น พระอริยเจ้า โดยเฉพาะพระอรหันต์ ก็จะทำงาน เพื่อที่จะช่วยเหลือมนุษย์ เป็นโพธิกิจ รื้อขนสัตว์ ช่วยสัตว์อื่น ให้มาเป็นสุขอย่างเรา ให้มาได้ความประเสริฐอย่างเรา ให้มาได้รับความรู้ อันวิเศษ เยี่ยมยอดนี้ เหมือนเรา ไม่หวงแหน

อาตมาอยากให้ได้พร้อมกันหมดเลย นี่พรึบเลยนี่ ไม่หวงเลย จริงจริ้งนี่ ไม่หวงเลย มีแต่ ทำอย่างไร มันจะได้ จะทำอย่างไรมันจะได้ มันไม่หวงเลย เพราะถ้าได้กันแล้ว มันไม่ต้องมาทะเลาะกัน ไม่ต้องมาริษยากัน ไม่ต้องมาแย่งชิงกัน ไม่ต้องมาอะไร เพราะคุณได้แล้ว คุณมีแต่จะไปเห็นแก่ผู้อื่น คุณมีแต่จะไปเกื้อกูลผู้อื่น คุณยิ่งจะไป ทำให้โลกนี้สงบ ทำให้โลกนี้อุดมสมบูรณ์ ทำให้โลกนี้สว่างไสว ทำให้โลกนี้ อิสรเสรีภาพ ภราดรภาพ สันติภาพ สมรรถภาพ บูรณภาพ ก็เรียนเป็นภาษานั้นนะ ให้มันมีอาการหน่อยเถิด

โดยเฉพาะ อาการภราดรภาพ ของชาวปฐมอโศก หรือชาวอโศกเรานี่ มันยังไม่ค่อยภราดรเลย มันภราดัน ภรา หา อะไร ภราดับ หนีบ้างนะ ดันบ้าง หนีบ้าง มันไม่ภราดร ประสานสมานกัน เป็นพลังปึกแผ่น พลังหนึ่งเดียว พลังที่เบิกบาน รื่นเริง เป็นพี่เป็นน้องอันสนิทจริง มันยังไม่ ก็ขอแถมตัวจบ จุดจบตัวนี้แก่พวกเรา ฝากไว้

ก็คือพวกเราที่ทำงานมากันแล้ว หรือฝึกหัดฝึกฝนกันมาแล้วนี่ จริง มีความเป็นภราดรภาพ เป็นพี่น้องกันพอสมควร แต่จิตใจหรือปัญญาญาณ หรือว่า การล้วงลึกเข้าไปถึงสภาวะ จนเราเป็นได้อย่างดีเยี่ยม มันยังมีการมองเพ่งโทษ เพ่งนั่น เพ่งนี่

ก็พวกเราดีขนาดนี้ ยังไม่ถือว่าเป็นพี่เป็นน้อง เป็นอะไรต่ออะไรกัน ยังถือสา เอาเป็นเอาตายกัน จะทะเลาะ วิวาท สุดท้าย ฆ่าแกงกัน จะไล่จากกัน แยกกัน มันจะบ้ากันนะ พวกเรานี่ เรามีดีกันขนาดนี้แล้ว มีพี่ดี มีน้องดี มีลูกดี มีหลานดี มีป้า มีน้า มีอาดีขนาดนี้นี่ เรารักกันไว้ เราประสานกันไว้เถิด อย่าให้แตกแยกกันไปอีกเลย อาตมาก็พยายามซ้อน พยายามกรอง พยายามเอามาให้ได้ ขนาดนี้แล้ว มาอยู่รวมกันนี้แล้วนี่ จะเป็นไก่ในเข่ง ไก่ในสุ่ม จิกกันไม่รู้จักจบ หัวล้างข้างแตก อยากเอา หลายชาติ อนุโลมปฏิโลมกันบ้าง เข้าใจกันให้ได้บ้าง เออ คนนี้จริตอย่างนี้ คนนี้ก็ฐานอย่างนี้นะ เราจะทำอย่างไร ช่วยเขาได้ ถ้าช่วยไม่ได้ มันจะเกิดทะเลาะเบาะแว้ง ไม่ประสานกัน เราก็เป็นคนยอม เสียก็แล้วกัน ประสานกันดู เรื่องไหนเหนือบ่ากว่าแรง เอาเข้าหมู่ เอาเข้าหมู่สงฆ์ หรือ มาถึงอาตมาเป็นที่สุด เราช่วยไม่ได้แล้วหนอ แต่ปรารถนาจะช่วยเขา เอาเรื่องเอารายละเอียดเหล่านั้น มาบอกข้อมูล

แล้วใจเรา การฟ้องกับการบอกข้อมูล นี่ต่างกัน ก็เคยบอกแล้วว่า การฟ้องนี่ ประกอบไปด้วยอกุศลจิต ถ้าเราเอามาบอกผู้ใหญ่ หรือมารายงานผู้ใหญ่ก็เพื่อเรา แหม ไอ้คนนี้นี่ เราเกลียดจัง หรือว่าเรารักมากเกินไป ก็ไม่ต้องไปรักมากเกินไปละ แต่ปรารถนาดีต่อกัน รักมาก ก็จะเพ็ดทูลแต่เรื่องดี ชังมาก ก็จะเพ็ดทูลแต่เรื่องชั่ว มันจะเอียง เพราะฉะนั้น ก็พยายามวางใจเป็นกลางๆ เอาเรื่องตรงของผู้นี้มา อย่าไปเอามา ด้วยความรักเขามาก ก็เลยมาเพ็ดทูล แต่เรื่องดีมาก เรื่องไม่ดีก็ลืมไป ตาฟาง ไม่เห็นความไม่ดีเขา เอาสิ่งจริง มาทั้งหมด เพราะฉะนั้น การเพ็ดทูล ก็คือ การเอามารายงาน ด้วยจิตที่มีอกุศลจิต อกุศลเจตสิก ที่มีความลำเอียงด้วยรัก หรือด้วยชังมาบอก เราจะพยายามมารายงาน ต้องพยายามเอามารายงาน อย่าให้มีกิเลสเหล่านี้ เข้าไปร่วมปรุง ไปร่วมผสม ไปมีฤทธิ์ด้วย เรียกว่า มาบอกข้อมูล หรือมาบอกข้อมูลได้ดีสุด จบ แล้วก็วางใจ ปล่อยเป็นหน้าที่ของท่านแล้ว เราร่วมช่วย ไม่ได้ ไปช่วยคนโน้นคนนี้ไม่ได้ เป็นลูกก็ตาม ยังช่วยลูกไม่ได้เล้ย เราไม่เก่ง ไอ้ลูกมันเป็นลูกบังเกิดเกล้า หรือน้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง รุ่นสูงกว่าแล้ว จะช่วยผู้อื่นยาก รุ่นพี่ รุ่นพ่อ รุ่นแม่ รุ่นปู่ รุ่นย่า โอ! ยิ่งช่วยยาก เพราะคนเหล่านั้น จะถือตัวว่าเป็นผู้ใหญ่ เป็นผู้สูง ฉะนั้น ผู้ใหญ่ ผู้สูง ก็มีอัสมิมานะได้ นั่นก็ยาก เราก็อยากจะช่วย ปรารถนาจะช่วย ก็มีวิธีการเอาเข้าหมู่ ให้หมู่ช่วย หรือ ผู้ใหญ่ที่เราคิดว่า ท่านจะช่วยได้ พูดอย่างนี้ หางานมาให้แก่ตัวเองเยอะนะนี่ อาตมา

 


จัดทำโดย โครงงานถอดเท็ป

ถอดโดย จอม ศรีสวัสดิ์ ๑๗ มิ.ย. ๓๗
ตรวจทาน ๑ โดย สม.ปราณี ปึงเจริญ ๑๘ มิ.ย. ๓๗
พิมพ์โดย ทองแก้ว ทองแก้ว ๙ ก.ค. ๓๗
ตรวจทาน ๒ โดย ป.ป. ๑๕ ก.ค. ๓๗
เข้าปกโดย สมณะพรหมจริโย
เขียนปกโดย พุทธศิลป์