เห็นอนัตตา เห็นอย่างไร หน้า ๒ (ต่อจากหน้า ๑)
โดย พ่อท่านสมณะโพธิรักษ์
ทำวัตรเช้า วันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๓๖ ณ พุทธสถานปฐมอโศก


เพราะฉะนั้นทุกข์มันก็เบา ทุกข์ที่ทนได้ไง เป็นทุกข์ที่ทนได้ พระอรหันต์นี่ทนทุกข์ที่เป็นทุกข์สภาวะเป็นทุกข์ นิพัทธทุกข์ เป็นอาหารปริเยฏฐิทุกข์ หรือแม้แต่วิปากทุกข์ ทุกข์ที่เกิดจากวิบาก พระอรหันต์ที่วิบาก ยังมีมากๆ นี่เยอะเหมือนกัน วิบากเก่า จนกว่าจะพยายามลดวิบากลงไป จนกระทั่งเป็นพระพุทธเจ้า ยังมีวิบากตาม ก็คิดเอา ก็แล้วกัน กว่าจะวิบากมันจะเบาบางลงนะ จนอะไรนี่ มันก็อีกนาน แต่ก็ทุกข์ แต่ก็สู้ เพราะฉะนั้น พระอรหันต์ ที่บำเพ็ญโพธิสัตว์ไป กว่าจะไปถึงพระพุทธเจ้านี่ ไปไม่เท่าไหร่หรอก ไปไม่ตลอดหรอก มันสุดทน ก็เลิกรา retire ไม่ต่อ แต่ก็ส่วนมากพระอรหันต์จะต่อภูมิทั้งนั้นแหละ พระอรหันต์พอได้อรหันต์จริง ได้อรหันต์ อย่างชัดเจน ได้อย่างครบสมบูรณ์ เรียนถูกสัมมาทิฐิดี พอจบพระอรหันต์แล้ว ก็จะต่อภูมิ แทบทั้งนั้นเลย แต่เสร็จแล้ว ก็ไปมันทุกข์ ยิ่งคนไหนไปก่อวิบาก ตั้งแต่เป็นอดีตวิบากไว้มากๆ นะ สู้วิบากไม่ไหว มันหนัก วิบากตามมาเล่นงาน โอ้โห ลำบากลำบน ยาก ทุกข์เจียนตาย ทุกข์ทรมานมาก พระโพธิสัตว์ที่วิบากเก่าๆ เพราะฉะนั้น เราอย่าไปประมาทในวิบากต่างๆ สร้างกุศลวิบาก แม้โลกีย์วิบาก ก็ต้องสร้างไว้ ที่ตามนั่น โลกีย์วิบากนะ พระพุทธเจ้าถูกหินทับพระบาท นั่นก็โลกียวิบาก ไม่ใช่วิบากโลกุตระ วิบากโลกุตระก็เติม กิเลส ตัวเองหนาขึ้นๆ นั่นวิบากโลกุตระ แต่วิบากโลกียะนี่ก็คือ วิบากไปทำบาป ทำเวรทำกรรม ทำบาป ทำบุญอะไรนี่ ประมาทบาปบุญไม่ได้ ประมาทไม่ได้ มันมีจริงของมัน มันเป็นสัจจะ เป็นสัจจะ

เพราะฉะนั้น ถ้าเผื่อว่าประมาทมันก็ตาย เพราะฉะนั้นเราก็สั่งสมไปเถอะ สร้างสรร เสียสละ ไปเป็น โลกียวิบาก มันก็ต้องอาศัย โลกุตระวิบากก็ต้องอาศัย อาศัยทั้งนั้นแหละ เพราะฉะนั้น พระอรหันต์ บางรูป บางองค์นี่ วิบากหนัก ตายยังตายทุเรศทุรังการเลย บางที เพราะว่ามีโลกียวิบาก เป็นพระอรหันต์นี่ บางที ก็เป็นพระอรหันต์แล้ว ยังตายทุเรศทุรังการ ประเภท ถูกวัวชนตายนี่ ก็พวกทุเรศทั้งนั้นแหละ ถูกวัวขวิดตาย พวกตายโหง ไม่ได้ตายสงบ ตายดีอะไรเท่าไหร่ ก็ไปมีอกุศลวิบาก ทั้งนั้นแหละ แล้วก็ไม่ได้ทำอะไร นักหนา อยากจะต่อภพต่อภูมิ ก็ต่อไม่ได้ง่ายๆ แต่ก็แล้วแต่ อยู่ที่จิตตัวสุดท้าย ที่จะดับตั้งหรือเปล่า แม้จะถูกวัว ขวิดตาย ถ้าท่านตั้งจิตโพธิสัตว์ ถ้าท่านตั้งจิตต่อภพ ท่านก็ต่อได้ ถ้าท่านไม่ตั้งจิตต่อภพ ก็เรื่องของท่าน เรื่องนี้นี่มัน อหเมตัง น ชานามิ อหเมตัง น ปัสสามีติ ไม่มีใครมารู้ได้ด้วยเรา ของเรารู้ของเราเอง อหะ อหัง นี่เป็นตัวเราเอง เมตัง น ชานา ก็คือรู้ น ชานามิ ก็คือเราจะต้องไม่มี ไม่มีใครรู้กับเรา เรารู้ของเรา น ปัสสามีติ ไม่มีใครเห็น เราเห็นของเรา เราจะรู้จะเห็นของเราเองทั้งนั้น ของใครก็ของมัน

เพราะฉะนั้น เรื่องของการสร้างศรัทธาก็ดี หรือจะเกิดปัญญาที่สมบูรณ์แบบก็ดี จะต้องเข้าใจให้ได้ว่า ปัญญา ไม่ใช่ตรรก คนหลงตรรกเป็นปัญญานี่เยอะ หลงเฉกะ หลงความฉลาดทางเฉกะเป็นปัญญา เพราะว่า มันเคยตัว คนเรานี่พัฒนาชีวิตด้วยเฉกะ ด้วยความเฉลียวฉลาดทางโลกียะ เฉลียวฉลาด ทางเล่ห์เหลี่ยม เฉลียวฉลาดทางบำเรออัตตา บำเรอตัวตนมา มีมาก่อนเก่า มีมาชำนาญมาก่อนที่จะมา มีปัญญา ต้องชำนาญเฉพาะก่อน ชำนาญความฉลาดแห่งตัวกูของกู มาก่อนทั้งนั้น

เพราะฉะนั้น มันจึงยาก จึงยากที่จะทะลุทะลวง แล้วก็หลงใหลได้ง่าย หลงใหลเฉกะ หลงใหลตัวฉลาด ที่มันฉลาดเฉลียว เพื่อตัวเอง ตัวนี้สำคัญ พระพุทธเจ้าถึงบอกว่ามันช้า อะไรที่เป็นไปเพื่อความเนิ่นช้า ก็มัวแต่ผลัด แต่ผ่อนไป แค่นี้เราก็พอแล้ว เราเดินไปช้าๆ ก็ได้ มันจะสำออยอย่างนี้นะ มันจะออเซาะ กระซิบ อย่างนี้นะ ไม่เป็นไรหรอก เราก็ไป เดินไปช้าๆก็ได้ อยู่หลายๆชาติก็ไม่เป็นไร เราอย่าไป มันไม่แข็งแรง มันจะอ่อนแอ มันไม่ใช่นักสู้ มันจะอย่างนั้น เหยาะๆ แหยะๆ ผลัดไป อย่างนี้เหนื่อยนะ มันยาก ลำบากนะ เถอะน่ะ แค่นี้ก็พอแล้ว เป็นยังไง แทงใจดำผัวะๆ เลยหรือ จริงๆ หนักไม่เอาจริงๆ

พระพุทธเจ้าถึงบอกว่า ตั้งตนอยู่บนความลำบาก อย่าไป ยถา สุขัง อย่าไปปล่อยตามยถา สุขัง มันจริงๆ นะ มันเป็นตัวสำคัญจริงๆ ตัวนี้ มันเหยาะๆ แหยะๆ เพราะฉะนั้น ในนัยที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสซ้อนไว้อีกว่า ธรรมใดวินัยใด เป็นไปเพื่อความเนิ่นช้า ธรรมนั้นวินัยนั้น ไม่ใช่ของเราตถาคต ตรงนี้ซ้อนลงไปอีกนี่ตัวนี้ แหม มันเฆี่ยนตี อีกทีหนึ่ง ถ้าใครฉลาดพอ ถ้าใครไม่ฉลาดพอ เอ๊ะ ไม่ช้า เรานี่ก็ไวแล้วนะ ๘๐ แสนอสงไขกัป เท่านั้นนะ มันก็ไวแล้วนะอย่างนี้ เอาอย่างนี้ดีกว่าน่ะเรา มันจะกระซิบ ออเซาะอยู่ตรงนี้ เสร็จแล้ว คุณก็เอาซิ ก็ตามแต่ละนะ ตัวใครตัวมัน แล้วเราช้านี่มันอะไร เป็นอกุศลวิบาก อกุศลวิบากโลกีย์ ก็ตามเล่นงาน อกุศลวิบาก ทางโลกุตระ ต่องแต่งอยู่อย่างนั้น หนืดๆ ไป เดี๋ยวก็ทุกข์ เดี๋ยวก็บอกจิตตก เดี๋ยวก็ซมซาน เดี๋ยวก็ เหมือนผีเข้าบ้าๆ บอๆ คือมันไม่แข็งแรงสักที ดูแล้วก็ เอ๊อ มันเมื่อย มันก็อย่างนั้นแหละ

ถ้ามีผู้ที่ให้เลือก เราก็ต้องเลือกผู้ที่มันน่าเลือก ผู้ที่ไม่น่าเลือก เราก็ต้องตัดก่อนละเป็นธรรมดา คนเรามันก็ มีเมื่อย เหมือนกันนะ พูดอย่างนี้คงเข้าใจนะ สูตรนี้ก็เราฟังธรรม ถ้าคนไม่รู้จักธรรมะลึกซึ้ง อ่านสูตรนี้แล้ว ก็เข้าใจธรรมดา นั่นแหละ อ๋อ คนมีศรัทธา คนไม่ค่อยป่วยค่อยเจ็บนะ คนก็ไม่มี ไม่โอ้อวด ไม่มีมารยา แต่ไม่รู้ว่า ตัวเองมีมารยาหรือไม่มี ไม่รู้ละนะ ปรารภความเพียร เราก็เพียรนี่ เราก็ขยันอยู่แล้วละ แล้วไปเป็น ผู้มีปัญญา ยิ่งปัญญานี่ ยิ่งเข้าใจไม่ค่อยได้ง่ายๆ หลงปัญญาหรือหลงความเฉลียวฉลาด แล้วยิ่งความเกิด ความดับ อะไรต่ออะไร ก็ไม่แทงทะลุ ยิ่งเสนาสนสูตร ก็เป็นอย่างนี้

เพราะฉะนั้น กล่าวถึงเสนาสนะที่แท้แล้วนี่ ที่อาตมาเอามาย้ำให้ฟังนี่ ที่จัดเสนาสนะอยู่นี่ อาตมาก็พยายาม ที่จะให้ เสนาสนะนี้สมบูรณ์ ครบพร้อม มีมิตรดี สหายดี สังคมสิ่งแวดล้อมดี พรั่งพร้อม ไม่ใช่ป่าช้า ป่าชัฏ หรือไม่ใช่ที่ ที่มันไกลเสียจน โอ้โห จะไปทีนี่ลำบากลำบน เพื่อนฝูงจะไปพบทีหนึ่งก็แหม บางที ๕ ปี ไม่กล้า ไปพบเลย เสร็จแล้ว ก็อวดดีเสียด้วยนะ ครูอาจารย์ดีๆ อยู่ที่ไหนไม่ค่อยมี ไม่มีครูบาอาจารย์ อวดเก่งเสียด้วย ไปคนเดียว ตายไปเยอะแล้ว พวกนี้ตายไปเยอะแล้ว ครูบาอาจารย์นี่สำคัญ ครูบาอาจารย์ผู้ที่จะปลดปลงได้ แล้วก็จะต้อง พยายามเป็นผู้เปิดเผย ข้อที่ยังไม่ได้เปิดเผย ย่อมทำให้ง่าย ซึ่งข้อที่ไม่ได้ทำให้ง่าย ย่อมบรรเทา ความสงสัย ในธรรมะที่เป็นที่ตั้งแห่งความสงสัยแก่ภิกษุนั้น ซึ่งอาตมาก็ว่า อาตมาพากเพียร ทำอย่างนี้อยู่ ซึ่งจะไปอธิบาย แต่ละบุคคลไล่ๆ ตัวคนนั้นคนนี้ มันไม่ไหวหรอก มากอย่างนี้แล้วไม่ไหว แม้กระนั้นก็ตาม นานๆ ที พวกเราก็ยังเกรงใจเลย ก็เห็นอยู่ รู้อยู่ว่า เออ เราอยากจะซัก จะถามปัญหาข้องใจของเรา ยังเกรงใจ แต่ก็เข้ามาเถอะ ถ้ามันสมควรแล้ว อาตมาก็เปิดทางอยู่ ซึ่งก็ไม่ได้ยากเย็นอะไร ถ้าเผื่อว่าเราก็ได้ฟัง ก็พอได้อธิบาย สู่ฟังเสมอๆ บรรยายอะไรอยู่อย่างนี้ ทำความกระจ่าง ในเรื่องลึกซึ้งนี้ แม้แต่ครั้งคราว อยู่กับหมู่ ก็เปิดโอกาส ให้ซัก ให้ถาม ช่วงนั้นช่วงนี้ เปิดโอกาสให้ มีอะไรที่ข้องใจส่วนตัว ในครั้งในคราว ในกาละ เราก็หาโอกาสนั้นเอง ไม่พยายามที่จะแทรกของตัวเอง แต่ก็อยู่ในกาละที่เป็นไปอย่างครั้งคราว อย่างโน้น อย่างนี้ก็มีอยู่ อย่างนี้เป็นต้น แม้แต่เทศน์ตรงนี้ก็ดี เดือนหนึ่ง กินข้าวหาดที ก็เปิดโอกาส อะไรอย่างนี้ แต่ก็ไม่ค่อยใช้เวลา มันไม่ใช่อะไรหรอก มันมีอัตตามานะ มันโอ่อวดอยู่ในตัว มันมีมารยา อยู่ในตัว ตัวมารยานี่แหละ ตัว สโถ มายาวี นี่แหละ มันเขื่องอยู่ในตัว มันหยิ่งผยอง มันมีมานะ อติมานะ อยู่ในตัว แล้วมันก็ไม่ต้องถามหรอก กูก็รู้วะ ไม่ต้องถามก็พอเพียง รู้มากแล้ว ไม่ต้องถาม ก็ทำไม่หมดอยู่แล้ว ไม่ใช่ทำไม่หมดนะ ได้รู้ละเอียดลึกซึ้งเข้าไปอีกนี่ เราได้ทำได้ดีขึ้น รู้หมดแล้วหรือ ที่จริง ยังรู้ไม่หมดหรอก ที่บอกไปนี่ อุเทศต่างๆ ขยายความ นิเทศต่างๆ ที่บรรยาย สาธยายอะไรนี่ ก็ไขความที่ลึกให้ตื้น สิ่งที่ยัง ไม่เปิดเผย เปิดเผยอยู่ ก็บอกอยู่แล้วว่า อาตมาเปิดเผยสิ่งที่ยังจะต้องเปิดเผยไปอีกเยอะ ก็พยายามอยู่ ตลอดไป

เอ้าต่อมา ทีนี้ขยายความอีกนิดหนึ่ง นันทิขยสูตร ว่าด้วยการสิ้นความยินดี เป็นเหตุหลุดพ้นจากทุกข์ มีสูตร๑, สูตร๒, สูตร๑ ก็ว่าไปสั้นๆ (เล่ม ๑๗ ข้อ ๑๐๓)

...ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเห็นรูปอันไม่เที่ยงนั่นแหละว่าไม่เที่ยง ความเห็นของเธอนั้นเป็นสัมมาทิฐิ เมื่อเธอเห็นโดยชอบ คำว่าเห็นโดยชอบนี่ มันมีความลึกซึ้งซ้อนอยู่นะ เห็นโดยชอบ เห็นโดยตรรก นั่นก็เห็น โดยทิฐิ แต่ทิฐิบอกแล้วว่า ทิฐิมันจะลึกไปอีก จนกระทั่งถึงทิฐิเป็นปัญญา ปัญญินทรีย์ ปัญญาพละ ก็เพราะ ได้มีตัว มัคคังคะ มีตัวธัมมวิจัย มีตัวเห็นความจริงตามความเป็นจริงไปเรื่อยๆ จึงจะเรียกว่า เห็นโดยชอบ โดยควร โดยสัมมา มันก็คือสัมมาทิฐิ สัมมาทิฐิขึ้นเต็ม ก็เป็นปัญญาที่แท้ เป็นตัวเห็นความจริงตามความ เป็นจริง ที่แท้ ครบรอบ เมื่อเธอเห็นโดยชอบย่อมเบื่อหน่าย เพราะสิ้นความยินดี จึงสิ้นความกำหนัด

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเห็นรูปอันไม่เที่ยงนั่นแหละว่าไม่เที่ยง เพราะฉะนั้นเห็นรูปอันไม่เที่ยง ว่าไม่เที่ยงนี่ รูปนี่ เราจะต้องรู้นะว่ารูปอะไร แค่ไหน ... .ก็ยังมีรูปที่เป็นตัณหา อุปาทาน รูปที่เป็นกิเลส รูปเป็นสิ่งที่ถูกรู้ รูปเป็นสิ่งที่วิเคราะห์วิจัยออกมาได้แล้ว ว่าเราจะเอาเวทนาในเวทนา

เพราะฉะนั้น รูปที่เป็นรูปจิต เป็นรูปเวทนา เป็นรูปของสิ่งที่ถูกรู้ เห็นว่ามันไม่เที่ยง นี่เห็นไหมมันลึกซึ้ง มันไม่เที่ยง เพราะเราทำด้วยสามารถ ไม่ใช่มันไม่เที่ยงเพราะมันหนาขึ้นๆ โดยเราอวิชชา เพราะฉะนั้น ถ้าเราได้ศึกษา อย่างที่อาตมาอธิบายแล้วนะ รับรองว่า แม้แต่คุณจะเห็นรูปมันไม่เที่ยง เพราะกิเลส มันหนาขึ้น อย่างนี้ก็ถือว่า เป็นผู้ที่มีมรรคแล้ว เป็นผู้ที่มีปัญญาญาณ เข้าใจได้แล้วว่า นี่คือกิเลส นี่คือ ความหนาขึ้น คุณจะเห็นกิเลสคุณหนาขึ้นๆ นะ หนาขึ้น คุณรู้แล้วว่า กิเลสมันคืออะไร กิเลสมันทำทุกข์ คุณก็จะรู้ว่า กิเลสมันหนาขึ้น ทุกข์มันก็จะจริง ยิ่งกิเลสหนาขึ้นเท่าไหร่ ทุกข์มันก็จะมากขึ้น วิบากก็จะ มากขึ้น ผลของมันก็จะมากขึ้น คุณจะเห็น คุณจะปล่อยให้กิเลสหนา หรือคุณจะเติมกิเลสหนา ไปอีก เท่าไหร่ๆ สักวันหนึ่ง คุณก็ต้องเข็ด สักวันหนึ่งคุณก็จะต้องรู้ความจริง คุณจะต้องลด ทีนี้เมื่อคุณเชื่อแล้ว คุณก็มาปฏิบัติ พากเพียรเพื่อลด ลดจนกระทั่ง คุณทำให้กิเลสนั้นลด อนิจจัง ตอนนี้อนิจจัง มีทิศทางแล้ว ถ้าทิศทางมันหนาขึ้น มันก็ไปสู่ปุถุชน ถ้าทิศทางลดลง วิราคะให้มันลดลงได้ด้วยสามารถ ไม่ทำด้วยสามารถ ไม่มีทางหรอก หรือใครไม่เชื่อ สอบตก ตอบ มีแต่สอบตก ปล่อยให้กิเลส มันหนาขึ้น กับพยายามทำกิเลส มันลดลง อะไรมันจะยากจะง่ายกว่ากัน ไม่ต้องตอบ เอาไปตอบกับเด็ก ป.๓ ป.๒ ป.๑ เพราะอย่างน้อย บางที เพราะเด็กไม่รู้ ผิด จะได้ไม่อายหน้า เอาไปตอบกับเด็ก ป.๖ ป.๑ ใครมันจะตอบไม่ได้ ปล่อยกิเลส ให้มันหนาขึ้น กับทำกิเลสให้มันลดลง อะไรมันจะง่าย จะยากกว่ากัน เพราะฉะนั้น ทำได้ด้วยยาก เราก็ต้อง ทำด้วยสามารถ

เพราะฉะนั้น เมื่อเห็นอนิจจังในการไม่เที่ยงแล้วด้วยสามารถ วิราคะลดลง จางคลายลง จางคลายลง ด้วยสามารถเรื่อยๆ นั่นแหละ เราจึงเป็นผู้ที่เห็นความไม่เที่ยง อย่างเป็นโลกุตระ เห็นความไม่เที่ยง ด้วยทิศทาง ที่แน่นอน ถ้าคุณทำไปได้เรื่อยๆ จริงๆ ด้วยสามารถ เชื่อไหมละว่าเป็นพระอรหันต์ ถ้าทำอย่างนี้ ได้จริง มีผลอย่างนี้จริงๆ ให้เห็นของจริงตามความเป็นจริงนี้เถอะ เห็นความเห็นของเธอนั้นเป็น สัมมาทิฐิ เห็นเป็นสัมมาทิฐิ หมายความว่า ความเห็นของเรานี่ เสริมทิฐิที่เป็นสัมมาเรื่อยๆ คุณสั่งสมได้มากเท่าไหร่ ละ วิราคะได้มากเท่าไหร่ คุณก็สั่งสมเรื่อยๆ มันก็เป็นสัมมาทิฐิเรื่อยๆ สัมมาทิฐิเรื่อยๆ ลดสักกายะเรื่อยๆ สักวันหนึ่ง ก็หมดอัตตานุทิฐิ ทิฐินั้นก็สมบูรณ์นะ ทิฐินั้นก็หมดอัตตา ตามเห็นทิฐิ ทิฐิคือตัวเห็น ตามเห็น เห็นอะไร เห็นอัตตา เห็นอนัตตา อัตตานุทิฐิเป็นอนัตตา ในอัตตานุทิฐิสูตร เห็นผัสสะเป็นปัจจัย แล้วก็เห็น เป็นอนัตตา เห็นเป็นไม่มีตัวตน เมื่อเห็นไม่มีตัวตน หมดอัตตานั่นเอง ที่นี้อนัตตา เห็นอนัตตานั้น ส่วนทิฐินั้น เห็นอัตตานั้นหมด ด้วยอนัตตา สูตรนั้นสั้นนะ ไม่ใช่ว่าอธิบายอ่านออกได้ง่ายๆ นะ

เพราะฉะนั้น เมื่อเธอเห็นโดยชอบ ย่อมเบื่อหน่าย เพราะสิ้นความยินดีจึงสิ้นความกำหนัด เพราะสิ้น ความกำหนัด จึงสิ้นความยินดี เพราะสิ้นความยินดี และความกำหนัด จิตหลุดพ้นแล้ว เรียกว่า หลุดพ้นดีแล้ว

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเห็นเวทนาอันไม่เที่ยงนั่นแหละว่าไม่เที่ยง ไล่ไปอีก ฯลฯ ไล่ไปหมดแหละ เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ไปหมด ขันธ์ ๕ เห็นวิญญาณอันไม่เที่ยงนั่นแหละว่าไม่เที่ยง ความเห็นของเธอ นั้นเป็นสัมมาทิฐิ เมื่อเธอเห็นโดยชอบย่อมเบื่อหน่าย เพราะสิ้นความยินดี จึงสิ้นความกำหนัด เพราะสิ้น ความกำหนัด จึงสิ้นความยินดี เพราะสิ้นความยินดีและความกำหนัด จิตหลุดพ้นแล้ว เรียกว่า หลุดพ้นดีแล้ว จบ นันทิขยสูตร ถ้าคุณไปอ่านเอง คุณก็อ่านได้เท่านี้ ใช่ไหม แล้วคุณจะไปไขอะไรออก อธิบาย แล้วบอกว่า เห็นเวทนาไม่เที่ยงเป็นยังไง เห็นสัญญาไม่เที่ยงเป็นยังไง เห็นสังขารไม่เที่ยงเป็นยังไง เห็นวิญญาณไม่เที่ยงเป็นยังไง อาตมาถึงเห็นใจคนนะ ท่านบอกว่าไม่เที่ยงแล้วก็บรรลุ แล้วมันไม่เที่ยง มันไม่เที่ยงเป็นยังไง เวทนาในเวทนารู้หรือเปล่า นี่ท่านเจาะเวทนาไปจนถึง ๑๐๘ รู้หรือเปล่า ก็ไม่เข้าใจ สังขารมีมากมาย อะไรสังขารบ้างละ ปุญญาภิสังขาร อปุญญาภิสังขารอย่างไร สังขารต่างๆ นานา มันก็สังขารทั้งนั้น มันก็ปรุงทั้งนั้น

สุดท้ายมีสังขารได้หรือไม่ สังขารอะไรที่ดับสนิท อปุญญาภิสังขารดับสนิท ปุญญาภิสังขารไม่ดับหรอก อาศัย ปุญญาภิสังขารนั่นอาศัย แล้วก็สังขารปรุงไปเถอะ ปุญญาภิสังขาร สังขารเพื่อชำระ ปุญญะ แปลว่า เครื่องชำระ สังขารเพื่อชำระกิเลส ไม่มีหยุดหรอก แม้เราชำระกิเลสเราหมดแล้ว เราก็ยังปุญญาภิสังขาร อยู่นั่นแหละ ปรุงเพื่อที่จะให้ชำระคนอื่น ขัดเกลาคนอื่น เป็นสัลเลขธรรม ช่วยขัดเกลาคนอื่น ปรุงเพื่อที่จะไป ขัดเกลาให้คนอื่น พระพุทธเจ้าท่านไม่เรียก ปุญญาภิสังขาร ท่านเรียก อิทธาภิสังขาร ท่านปรุงอย่างมีฤทธิ์ ปรุงอย่างอิทธาภิ อิทธิ + อภิ อภิก็แปลอย่างยิ่ง มีฤทธิ์อย่างยิ่ง อิทธาภิสังขาร ส่วนของเราก็ หรือว่าของ พระอรหันต์เจ้า ของพระอริยะชั้นโพธิสัตว์อะไรก็ใช้แค่ ปุญญาภิสังขาร (ส่วนอปุญญานั้นไม่เอา ไม่ปรุง) เพราะฉะนั้น สังขารก็ยังต้องปรุงอาศัย เราต้องรู้ วิเคราะห์ออก รู้ออกว่าสังขารอย่างนี้ เป็นสังขารที่มันทำให้ กิเลสเขรอะนะ ไม่ใช่สังขารที่ปรุงมาแล้ว ล้างกิเลสได้ ขัดเกลากิเลสได้ ไม่ใช่ เราก็ไม่เอาสัญญาอย่างไรละ

แม้ที่สุด เนวสัญญานาสัญญายตนสัญญา สุดท้าย สัญญาเวทยิตนิโรธ เราก็ต้องรู้จักสัญญานั้น อย่างสมบูรณ์หมด เราต้องมีสัญญา ไม่ใช่อสัญญา ไม่ใช่อสัญญี ไม่ใช่คนอสัญญี สัญญายิ่งดีใหญ่เลย สัญญาเวทยิตตะ นี่เป็นสัญญาที่ดีใหญ่ สัญญาที่เคล้าเคลียอารมณ์ สัญญาที่รู้อะไรไปหมดเลย แล้วก็รู้จักนิโรธ เห็นนิโรธ เห็นความเที่ยง เห็นความอะไร สัญญาย นิจจานิ สัญญาใช้สัญญา อย่างเป็นประโยชน์ที่สุด

กำหนดรู้ ถ้ากำหนดรู้ไม่ได้ก็ไม่ได้ เวลาจะปฏิบัติให้เกิดสัจญาณ กิจญาณ กตญาณ ต้องใช้สัญญาทั้งหมด เราได้กำหนดรู้แล้วว่า นี่คือสัจจะ เราได้กำหนดรู้แล้วว่า นี่เราได้ทำกิจ กำหนดรู้ว่าเราได้ทำกิจหรือไม่ ตอนนี้มี สติสัมปชัญญะไหม มีสติปัฏฐานหรือเปล่า มีสัมมัปปธาน ๔ หรือเปล่า เราต้องกำหนดรู้ว่า เราเองเรามี ตอนนี้เรามี สติปัฏฐาน ๔ ตอนนี้ เรามีสัมมัปปธาน ๔ ไหม ตอนนี้เรามีอิทธิบาท ๔ ไหม กำหนดรู้ว่า อิทธิบาทคืออะไร อิทธิบาทคือ มีฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา แม้จิตตอนนี้ เราไม่ยินดีเลย ไม่ยินดีก็ต้องฝืน ไม่ยินดีก็ต้องวิริยะ ไปทิศทางที่มันถูกต้อง แล้วเราได้สังวรไหม เราได้สังหารไหม เราไปปหานไหม เราได้ผล ของการปฏิบัติไหม มีภาวนาปธานไหม ได้อนุรักขนาปธานไหม เรามีสติปัฏฐาน ๔ไหม อยู่ในขณะ ทุกขณะ ต้องกำหนด

เพราะฉะนั้น กำหนดกิจญาณ ก็ต้องกำหนดว่า เราตอนนี้มีกิจญาณอยู่นะ สัจญาณคืออะไร รู้ของตัวเอง สัจญาณ คือต้องรู้ตัวเหตุปัจจัย รู้เเหตุปัจจัยทั้งหมด เออ นี้แหละทุกข์ อันนี้เหตุแห่งทุกข์ กำหนดรู้ทุกข์ กำหนดรู้ เหตุแห่งทุกข์ กำหนดรู้เลยว่า เราได้กำลังปฏิบัติเพื่อละเหตุแห่งทุกข์ กตญาณ กำหนดรู้ว่า เราทำกิจนี้เสร็จแล้ว จบแล้ว มีสภาวะรองรับแล้ว ตัวสัญญานี่เป็นตัวใช้ตลอดเวลา กำหนดรู้ความจริง ทั้งหมด สัญญาเป็นตัวกลาง สัญญาเป็นตัวกลางที่กำหนดรู้ กำหนดรู้แม้แต่สังขาร ก็ต้องสัญญากำหนด สัญญานี่ ตัวสำคัญมาก

กำหนดรู้เวทนาคืออย่างไร สังขารคืออย่างไร ตัวสัญญาเป็นตัวกำหนดรู้ทั้งนั้น แล้วจำ กำหนดรู้แล้วจำได้ ถ้าเผื่อว่า มันเป็นความจำที่สะอาดขึ้นมาเรื่อยๆ มันก็จะสะอาด แต่มันก็ใช้งาน มันจะมาก มันก็จะสับสน หน่อยบ้าง จนมันสะอาดมาก มันก็จะเรียบเรียง ขนาดสัญญานี่มีมากแล้วนะ สะอาดหมดแล้ว ยังเรียบเรียง ยากเลย

เพราะฉะนั้น พระอรหันต์จึงมีความจำไม่เท่าเทียมกัน คนช่างจำได้ดีกว่า คนจำได้มากน้อยกว่า ก็คือ สัญญาของตัวเอง มันยังไม่เข้าร่องเข้ารอย ยังสับสน ปล่อยให้มันสับสน มันก็ยังไม่ดี ไม่เต็ม


นันทิขยสูตร ๒ ว่าด้วยการสิ้นความยินดี เป็นเหตุหลุดพ้นจากทุกข์ ความยินดีก็คือ ความยังสบายใจ นั่นแหละ พอใจ ยินดี พอใจนั่นแหละ ทีนี้ยินดี พอใจขนาดไหน เอ้า ต่อมาสูตรที่ ๒ นี่ข้อ ๑๐๔ เล่ม ๑๗

...ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงทำไว้ในใจซึ่งรูปโดยอุบายอันแยบคาย และ จงทำไว้ในใจ ซึ่งรูป โดยอุบายอันแยบคาย และจงพิจารณาเห็นความไม่เที่ยงแห่งรูป ตามความเป็นจริง ไม่ใช่ตรรกนะ เพราะฉะนั้น รูปนั้นจะต้องเห็นตามความเป็นจริงเลย มีรูปอะไร รูปในระดับหยาบ รูปตั้งแต่ข้างนอก สี รูปตัวตน จนกระทั่งรูปในภายใน จนกระทั่งวิเคราะห์ลงไปในรูปของเวทนาในเวทนา ในรูปของสมุทัย ฟังให้ดีนะ ซ้อนลึกนะ อธิบายรูปในสมุทัยลงไปแล้วนี่ ไม่ใช่จะได้ฟังง่ายๆ นะ มันเจาะถึงอริยสัจ ๔ แล้ว รูปในสมุทัย ก็คือพวกตัณหา อุปาทานต่างๆ โดยกิเลสลักษณะโลภะ โทสะ โมหะ อย่างหยาบ กลาง ละเอียด ของใครมีจริง ตามความเป็นจริง ขนาดไหนก็แล้วแต่ เกิดจากเหตุที่เป็นรูป มาจากข้างนอก ตา หู จมูก ลิ้น กาย หรือธรรมารมณ์ รูปข้างใน ทุกทวารก็ครบ คุณยิ่งศึกษา ครบทุกทวารเท่าไหร่ คุณก็ยิ่งจะไปหา รูป ไปหาเวทนา ไปหากิเลสในเวทนา

เมื่อภิกษุทำไว้ในใจซึ่งรูปโดยอุบายอันแยบคาย อุปายะนี่ก็คือ ความที่ได้เข้าไปรู้นั่นแหละ ไม่ใช่อะไรหรอก เข้าไปรู้โดยแยบคาย อุปายะก็คือ วิธีการอันแยบคาย เข้าไปรู้โดยวิธีการ เข้าไปรู้ด้วยอุบายอันแยบคาย และพิจารณาเห็นความไม่เที่ยงแห่งรูป ตามความเป็นจริง ย่อมเบื่อหน่ายในรูป แม้ที่สุดอัสสาทะ นี่รสอร่อย คุณก็จะเห็นว่า รสอร่อยนี่ มันก็ไม่จริงนะ มันก็ไม่เที่ยงหรอก มันไม่เที่ยง มันไม่จริง จริงๆ เสร็จแล้ว ท้าทาย ให้คุณลด รสอร่อยนั้นด้วย ลดลงบ้างซิ มันอร่อยทางลิ้น ทางตา หางหู ทางจมูก ทางกาย อะไรก็แล้วแต่ ลดรสอร่อยนั้นจริงๆ ลดด้วยความสามารถเลยนะ บอกว่าไม่เอา เราไม่เชื่อว่า มันเป็นของจริง เราลดลงไปซิ มันจางคลายลงไป แล้วก็พยายาม ไม่ต้องไปเอาอันนั้นอาศัยใจ ไม่ต้องมีรสอร่อยนี่อาศัยในใจ จืดลงก็ได้ ไม่สมใจ อย่างนี้ๆ ตามที่เราเคยไปติด ไปยึด จนกระทั่งไม่มีรสอร่อย จนกระทั่งที่เคยได้ตามสมมติ ได้ยังไงมาก็ได้ ยังไงมาก็ได้ สีจะสีแดง สีเขียว สีเหลืองอะไรก็ได้ เสียงจะเป็นเสียงไพเราะ ไม่ไพเราะอะไรก็ได้ ขอให้เป็นเนื้อหา มาก็แล้วกัน รสจะเป็นรสอะไรก็ได้ ขอให้มันได้ธาตุที่ต้องการมาก็แล้วกัน สัมผัสเย็นร้อน อ่อนแข็ง อะไรก็ได้ ขอให้ได้สาระที่เราต้องการก็แล้วกัน เมื่อคุณชัดเจนในสาระ คุณไม่ได้ไปวุ่นวาย ไม่ได้ไป ลำบากลำบน ในเรื่องของพยัญชนะ อนุพยัญชนะ รู้เนื้อแท้ ไอ้เปลือกผิวที่หุ้มพอก ละออก ปอกให้เกลี้ยงๆ เอาแก่นสาร ไม่ติดในอัสสาทะทั้งหมดได้ ไม่แล้วรสอย่างนี้

อาหารนี่ดี คุณจะอ่านได้ดี แล้วก็ต้องกินทุกวัน แล้วต้องพิจารณาทุกวัน พิจารณาอาหารนี่ดี เออ รสอย่างนี้ มันก็ไม่แล้ว สุดท้ายมันก็ต้องไม่มีรส มันก็ลดของมันเอง อย่างนี้เราก็ไม่ได้ติดใจ เฉยๆ เราจะกินมะละกอ เอาธาตุมะละกอ วันนี้เออ มะละกอนี่หวานหน่อย วันนี้มะละกอค่อนข้างจะเปรี้ยวๆ นิดๆ นะ ก็ช่างมัน มะละกอวันนี้จืดๆ ก็ช่างมัน เราก็กินเอาธาตุมัน ในเนื้อมัน มันมีธาตุของมัน รสมันอาจจะเปลี่ยนไป มากบ้าง มันเรื่องของรส เรื่องของกลิ่น กลิ่นก็ไม่แปลกเปลี่ยนเท่าไหร่หรอกมะละกอ กล้วยก็เหมือนกัน บางวันนี่ เออ บางวันก็หวาน บางวันก็มีเปรี้ยวๆ นิดๆ บางวันก็อย่างนั้นๆ อะไรอย่างนี้เป็นต้น หรือรสอะไรก็แล้วแต่ อาหารอย่างนั้น อาหารอย่างนี้ เราเอาธาตุ เราเอาสาระที่แท้ พิจารณาจริงๆ แล้วก็เราก็วางใจ วางใจ จึงจะเห็น ความจริงว่า โอ๊ เรานี่ไปหลงยึดอยู่ตั้งเป็นนาน แต่ก่อนนี้ ถ้าไม่ได้อย่างนี้แล้ว เขวี้ยงจานเชียวนะ ไม่ได้รสนี้แล้ว กินไม่ลง มันไม่ลงจริงๆ แล้วกินไม่ลงเลยนะ พาลจะตายเอา กินไม่ลง อาหารปรุงมา แทบเป็น แทบตาย กินไม่ลง โอ๋ย เลี้ยงยาก พอเดี๋ยวนี้แล้วเลี้ยงง่าย กินลงง่าย โอ้ อันนี้ก็กินได้ ได้ธาตุที่ต้องการ สบาย ขมหน่อย เผ็ดไปหน่อย เค็มไปหน่อย หวานไปหน่อย ก็ไม่เป็นไร ทนได้โดยไม่ยาก โดยไม่ลำบาก ได้ธาตุ ที่ต้องการแล้ว เสื้อผ้าหน้าแพร สีมันจะหม่นจะหมองยังไงก็ไม่เป็นไร ขอให้มันสะอาด ไม่ต้องมีเชื้อโรค กันร้อน กันหนาว กันแมลงสัตว์กัดต่อย ก็ไม่เห็นเป็นไร

เพราะฉะนั้น ถ้าเผื่อว่า เรียนรู้อย่างชัดแท้อย่างนี้แล้ว เราก็เป็นคนง่าย เป็นคนเลี้ยงง่าย เป็นคนสบาย เป็นคนเจริญง่าย เป็นคนปลดปลงจริงๆ เลยนะ เพราะฉะนั้น ในความยินดีอย่างที่ว่านั่นก็คือ รสพวกนี้แหละ

เมื่อภิกษุทำไว้ในใจซึ่งรูปโดยอุบายอันแยบคาย และ พิจารณาเห็นความไม่เที่ยงแห่งรูป ตามความเป็นจริง ย่อมเบื่อหน่ายในรูป เพราะสิ้นความยินดี จึงสิ้นความกำหนัด เพราะสิ้นความกำหนัดจึงสิ้นความยินดี เพราะสิ้นความยินดีและความกำหนัด จิตหลุดพ้นแล้ว สำนวนก็อยู่ตรงนี้ วนอยู่ในกะลานี้ แค่นิดเดียว แล้วมัน ก็ต้องจริงนะ ว่าความยินดีที่อาตมาขยายความเมื่อกี้นี้ มันจะยินดี มันจะรู้สึกชุ่มชื่น รู้สึกชอบๆ รู้สึกมีอะไร อ่านอาการอัสสาทะเหล่านั้น มันยังชื่นๆ นิดๆ อะไร วางให้มันสนิท วางให้มันละเอียด ละเอียดเลยนะ จนกระทั่ง มันก็อุเบกขา อทุกขมสุข ไม่มีนันทิ ไม่มีความยินดี ไม่มีความเอร็ดอร่อย คือ ใจมันจะบอก กิเลสมันจะบอก ต้องอ่านละเอียดลออ คือมันเฉย วาง สบายแล้ว มันไม่ผลักไส ไม่ดูดเลย

ก็กิเลสของเราก้อนเท่านี้ แล้วเราก็ทำให้มันลดลง มันก็ไม่เที่ยงนะซิกิเลส สมมุติว่า ๑๐๐ หน่วย ตามภาษา สมัยใหม่ แล้วมันลดลงเหลือ ๙๐ ลดลงเหลือ ๘๐ คุณรู้จัก ลิงคะ ความต่างของความจัดของกิเลส เป็นความจัดจ้าน ของกิเลส กับความที่ลดหย่อนลงไปนี่ไหม ถ้าคุณอ่านออกจริงเลยว่า กิเลสคุณลดจริง คุณจะเห็น ความไม่เที่ยง ที่มันจางคลาย เออ เห็นความจริงเลยว่า มันไม่เที่ยง เพราะมันจางคลาย แล้วก็ไปสู่นิโรธ เบาบางลงไปเรื่อย ตั้งแต่หยาบ กิเลสตั้งแต่หยาบ จนกิเลสกลาง กิเลสละเอียด จนกระทั่ง เบาบาง ทั้งหมดไง โดยชอบ ก็ปฏิบัติอย่างนี้ละ มีมรรคองค์ ๘ แล้วก็ปฏิบัติสัมผัสเป็นปัจจัย แล้วก็เห็นกิเลส อ่านกิเลสออก มีมรรค มุทุภูเตธาตุ แววไว เห็นแล้วก็ทำกิเลสลดได้ ลดได้ ลดได้ ทุกทีๆๆ ทุกที เห็นลด จนกระทั่ง จางคลาย จนกระทั่งดับ จนกระทั่งอยู่เหนือมันแล้ว ปฏินิสัคคะมา เอ็งมาเลยตอนนี้ เราจะสลัดคืน ก็ได้แล้ว อยู่กับมันได้แล้ว โดยที่เรียกว่า จะยังไงก็ได้แล้ว แม้แต่เป็นนามธรรม ละเอียด ขนาดไหน ก็รู้

ต้องทำจริงแล้วจะเห็นผลมันจริงสิ เห็นผลมันจริงนั่นแหละคือ เห็นความไม่เที่ยงที่แท้จริง เห็นความไม่เที่ยง เป็นสภาวะด้วย ไม่ใช่เห็นความไม่เที่ยงอยู่แค่ตรรกด้วย

วนใช่ไหม มันวนอย่างนี้ พวกตรรกนี่ จะเห็นว่า วนอย่างนี้ เห็นไหม นี่แสดงว่า ไม่เห็นจริงๆ ถ้าถามโดยที่ว่า ไม่ใช่ถามแทนคนอื่นนะ ถ้าไม่ใช่ถาม แทนคนอื่น ตัวเองรู้แล้ว แต่จะถามแทนคนอื่น แต่จริงๆแล้ว ไม่ใช่ถาม แทนคนอื่นหรอกนี่ เพราะคนอื่นรู้แล้ว ตอนนี้ท่านยังไม่รู้ ก็มันเห็นในตัว ทำไม่เหมือนกันได้ยังไง มันก็เห็นในตัวที่ได้ปฏิบัติจริง มีสภาวะรองรับจริง ญาณเราก็ต้องเกิดจริง เห็นจริงเลย ว่าโอ๊ อ่านอาการกิเลส อาการ ลิงคะ นิมิต อ่านอาการมันออกนี่ เป็นเครื่องหมายให้รู้แล้วนี่ ไอ้นี่ละ ไอ้นี่สายโลภะนี่แหละ ตระกูลราคะนี่แหละ ตระกูลโทสะเห็นมันชัดๆ เลย หยาบก็รู้ว่า โอ้โห มันเห็นง่าย เห็นตัวแรงๆ จัดจ้าน ไอ้นี่มันชักอ่อนแล้ว ชักบางแล้ว ชักกลางๆ หรือ ได้ขนาดไหน มันก็ต้องเห็นความจริง ตามความเป็นจริง นั้นนั่นละ มันไม่เที่ยง เพราะว่าเราทำลดได้ มันก็ไม่เที่ยง ไม่ใช่ว่ามันไม่เที่ยงเพราะมันมากขึ้น เพิ่มขึ้น มันไม่เที่ยงเพราะมันมากขึ้น เราก็รู้แล้วว่า แหมตอนนี้ เราชักว่าลดได้หน่อย เอ๊ะ ทำไมมันเพิ่มขึ้น ไอ้เพิ่มขึ้น เราก็รู้ตัวจริงแล้วว่า นี่มันไม่เที่ยงนะ แต่มันก็เพิ่มขึ้น คือมันไม่เที่ยงหรอก มันก็จะมากขึ้น ลดลง มากขึ้น ลดลง อยู่ตรงนั้นละ มันไม่ทรง สภาพเดิมหรอก ก็ได้ ในขณะเราปฏิบัติเป็นอัตโนมัติ ทำไปๆ ทำไป มีอัตโนมัติ เราก็ทำไป บางทีเราก็ มันมีความเคยชิน ถ้าปฏิบัติแข็งแรงแล้ว เหมือนกับกลไก ที่มันจะทำโดย อัตโนมัติแล้วนี่ มันจะยิ่งทำให้ เราทำได้มากขึ้นๆ โดยอัตโนมัติ เราก็พิจารณาจริงๆ บางคนนี่ พิจารณาไม่เป็น แต่ปฏิบัติเป็น พอปฏิบัติลดไป ลดไป ลดไป นานๆมา ค่อยมีเวลามาเตวิชโช มาพิจารณา ทบทวน โอโห เราลดไปตั้งเยอะ จึงจะรู้ตัวว่า ลดไปตั้งเยอะนะ

ทีนี้คำถามของท่านปัญญานี่ ถาม อาตมาก็ไม่แน่ใจว่า ถามเผื่อคนอื่น แล้วตัวเองก็ว่าตัวเองรู้ แต่พร้อมกัน ซ้อนๆ นั้นก็รู้ว่า รู้ก็ยังไม่รู้ คือถ้ารู้ ที่รู้แล้วนะ นี่ส่วนใหญ่นี่เข้าใจว่ารู้ เข้าใจแล้ว

เพราะฉะนั้น เมื่อเข้าใจแล้ว ตัวเองก็เข้าใจแล้วนี่นะ มันก็จะรู้ว่า เออ อันนี้นี่มัน มันต้องตรงกัน มันต้องรู้แล้วนะ เพราะฉะนั้น พูดๆกันไปนี่โดยภาษา สื่อสภาวะขนาดนั้นขนาดนี้ ที่มีรายละเอียด ที่เราบอกกันไป มันก็จะกำหนดสภาพนั้น แม้มันจะเหลื่อมกันบ้าง มันก็จะใกล้กัน ถ้าเผื่อเราสื่อภาษา ที่มีสภาวะ ใกล้เคียงกันนะ มันก็จะใกล้กัน แต่ถ้าสื่อภาวะ คนละเรื่องกันเลยนะ คนละกำหนด แน่นอน พูดเมื่อไหร่ ก็วนกันอยู่ตรงนั้นละ มันก็ต้องจบ สุดท้ายพระพุทธเจ้านี่ จะพูดกับผู้ที่พูดกันไม่รู้เรื่องนี่ว่า ความเห็นของเธอ ก็เป็นอย่างหนึ่ง ความเห็นของเราก็เป็นอีกอย่างหนึ่ง เพราะฉะนั้น หยุดกันเถอะ พูดกันไปต่อ ไม่ได้แล้ว ความเห็นมัน มันเห็นอย่างนั้น แค่นั้นจริงๆ เลย บังคับมันไม่ได้ บังคับความเห็นนี่ บังคับไม่ได้หรอก เราบังคับความเห็น ความเข้าใจ หรือความรู้นี่ มันบังคับไม่ได้ มันเห็นอย่างนั้น มันก็เป็น อย่างนั้น แล้วมันก็ข้องใจนะ มันเอ๊ มันก็ไม่เข้าใจนี่ แล้วยิ่งสื่อไม่ตรงกัน มันก็ยิ่ง เห็นด้วยความเป็นสาระ ก็คือ

๑. สาระที่เราลดกิเลส ลดตัวสภาวะ เราอัสสาทะรสอร่อย หรือว่าเราไปยินดี ไปชื่นชอบ ไปมีรสแบบโลกีย์ ที่เราเคยเป็น เมื่อสัมผัสแล้ว มันเห็นอย่างนั้นแล้ว เราก็ลดมัน จนกระทั่งมันจาง มันอทุกขมสุข มันไม่มี อัสสาทะ มันไม่มีรสอร่อย มันวางๆ ธรรมดาๆ มันปกติเลย เหมือนกับเราไม่ได้ติดยึดอะไรหรอก มันจะเป็น อย่างนี้ ก็คือเป็นอย่างนี้ มันจะหวานก็หวาน มันจะขมก็ขม มันจะเปรี้ยวก็เปรี้ยว มันก็เป็นของมัน เราก็รู้ว่า มันทนได้ มันทนไม่ได้ เผ็ดมาก มันก็อาจจะทนมากหน่อย ขมมากก็อาจจะฝืดมากหน่อย อะไรแค่นั้น แต่เราก็ ไม่ได้ติดใจอะไร ไม่มีความชัง ความผลัก ความอะไร รู้ว่าสาระก็คือ เอาธาตุอันนี้มาเลี้ยงร่างกาย ธาตุนี้ ได้แล้วนะ เราต้องการธาตุนี้ แล้วเราก็รับมัน สาระ ก็คือเราต้องการธาตุ สาระของปรมัตถ์ก็คือ เราลด กิเลสได้ สาระของธาตุแท้ก็คือ ธาตุแท้ที่เราอาศัย นี่คือสาระ ก็เห็นทั้งสาระของปรมัตถ์ สาระที่เราลด กิเลสได้ด้วย เป็นสาระของปรมัตถ์เลยนะ ลดกิเลสได้ด้วย แล้วสาระของแค่ร่างกาย สมมุติสังขาร สมมุติสัจจะ เราก็ให้มันเลี้ยงร่างกาย เราได้สาระของมันได้ธาตุนั้น เออ เราเอาธาตุนั้นมาเลี้ยงร่างกาย ก็ได้แล้ว สาระทางสมมุติสัจจะ สาระทางปรมัตถ์ เราก็ได้ลดกิเลสจริงๆ เลย เราก็วางได้แล้ว ก็รู้สาระด้วย ก็เห็นสาระ ลดยังไม่ได้ ก็ลดมันให้ได้ นั่นก็รู้สาระ เรายังไปติดกิเลสอยู่ ก็รู้ว่าเรามีกิเลสอยู่ เออ นี่เรายังมี ความโหยหา อาวรณ์ ยังมียังชื่นๆ ยังนันทิยะ ยังยินดีละนะ เมื่อไม่ยินดี ก็หมดความกำหนัด เมื่อหมดความกำหนัด ก็หมดความยินดี

ท่านก็พูดชนๆ กันอยู่อย่างนี้ เออ เอาละ นั่นนะ นักคิดมากๆ มันจะวนอย่างนี้ละ มันถึงช้า มันถึงช้า ก็ท่านก็เชื่อของท่าน ที่จริงนะ ผมช่วยท่านอยู่มากนะ พยายามที่จะช่วยท่านนี่ คลายในความติดยึด ของคนนี่ มันอัตตา หรือว่ามันโตขนาดนี้ จะว่าเข้าใจ ตัวก็ไม่เข้าใจละนะ แต่ตัวเองก็ว่า ตัวเองเข้าใจละนะ แต่ตัวเองก็ยึด ในทิศทางของตัวเอง แทนที่จะเชื่อ บอกพากเพียรหน่อยเถอะ ก็เอาเท่าเก่า ก็เราชอบอย่างนี้ นี่นะ มันจะติดนี่ เห็นไหม ความชอบอย่างหนึ่งนี่ เป็นนันทิยะอย่างหนึ่งของคุณ คุณก็นันทิยะของคุณ ผมพูดเมื่อไหร่ คุณก็ยังอยู่อย่างเดิม ผมไม่เห็นคุณคลายเท่าไหร่เลย ปกติวันหนึ่ง วันๆ คืนๆ ผมก็เห็นแต่คุณ หมกอยู่กับหนังสือ อ่าน ใครมาก็พูด เอาแต่วาจา เอาแต่การพูดบรรยาย เป็นคุ้ง เป็นแคว กับใครต่อใคร คุณก็ชอบของคุณ อยู่อย่างนี้ คุณก็ไปเรื่อยๆ คุณก็จะวนอยู่อย่างนี้ หนัก ลองดูสิ กายกรรม วจีกรรม อาชีวะนี่ เขามีอีกตั้ง สังกัปปะ วาจาของคุณอยู่ ๒ อัน กัมมันตะกับอาชีวะนี่ คุณน้อย คุณลอง กัมมันตะกับอาชีวะ มากขึ้นหน่อยซิ อาจจะล้มป่วยลงก็ได้นะ เพราะว่ามันไม่แข็งแรงนะ มันสู้ไม่ไหว แต่จะมีผัสสะที่ดี จะมีอะไร สมบูรณ์แบบ เรื่องสังกัปปะ กับวาจานี่ ผมเชื่อคุณเลยว่า มากพอ ล้นเกินแล้วด้วย แต่กัมมันตะกับอาชีวะนี่ คุณยังพร่องอยู่เยอะ นี่ก็บอกให้คุณโดยตรงนะ คิดดูน่ะ ให้มันสมบูรณ์แบบ กับมรรคองค์ ๘ มัคคังคะ ครบองค์มรรค แล้วมันดีน่ะ

เอ้าอีกนิดหน่อย มันเลยเวลาไปแล้ว อยากจะให้จบสูตรนี้ มีรายละเอียดแต่ที่จริง มันต้องอธิบายเหมือนกัน มันมีจุดสำคัญ อยู่ตอนหลัง พอบอกว่า จิตหลุดพ้นแล้ว เรียกว่าจิตหลุดพ้นดีแล้ว

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงทำไว้ในใจซึ่งเวทนา สุดท้ายท่านก็มาเจาะลงที่เวทนา โดยอุบาย อันแยบคาย ฯลฯ ซึ่งสัญญาโดยอุบายอันแยบคาย ฯลฯ ซึ่งสังขารโดยอุบายอันแยบคาย ฯลฯ ซึ่งวิญญาณ โดยอุบายอันแยบคาย และจงพิจารณาเห็นความไม่เที่ยงแห่งวิญญาณตามความเป็นจริง เมื่อภิกษุ ทำไว้ในใจ ซึ่งวิญญาณ โดยอุบายอันแยบคาย และพิจารณาเห็นความไม่เที่ยงแห่งวิญญาณ ตามความ เป็นจริง ย่อมเบื่อหน่ายในวิญญาณ เพราะสิ้นความยินดี จึงสิ้นความกำหนัด เพราะสิ้นความกำหนัด จึงสิ้นความยินดี เพราะสิ้นความยินดี และความกำหนัด จิตหลุดพ้นแล้ว เรียกว่า หลุดพ้นดีแล้ว

สุดท้าย ท่านมาจบอยู่ที่ว่า เมื่อภิกษุทำไว้ในใจซึ่งวิญญาณโดยอุบายอันแยบคาย และพิจารณาเห็นความไม่เที่ยงแห่งวิญญาณตามความเป็นจริง ย่อมเบื่อหน่ายในวิญญาณ เพราะฉะนั้น วิญญาณจะสุดยอด ก็ตรงที่เราพิจารณาเวทนา สัญญา สังขาร ซึ่งเราจะต้องรู้ เวทนาในเวทนา สัญญาในสัญญา สังขารในสังขาร ซ้อนตามที่อาตมาเคยได้อธิบาย เพราะเจตสิก ๓ นี้ เป็นตัวบทบาท ทำให้เกิดวิญญาณ ต้องไปอ่าน คนคืออะไร เวทนา สัญญา สังขาร เจตสิก ๓ นี่แหละ เป็นตัวบทบาท ทั้งหมดเลย เป็นสมังคี แล้วก่อให้เกิดวิญญาณ

เพราะฉะนั้น เมื่อเราพิจารณาเวทนา แล้วก็ทำเวทนาให้สะอาดได้ สัญญา พิจารณา แล้วก็ปฏิบัติให้สัญญา สะอาดได้ สังขารพิจารณาแล้วก็ให้แยบคายทุกอย่าง โดยอุบายเครื่องออก ให้ออกจนได้ จนสะอาดหมด เวทนา สัญญา สังขารสะอาด วิญญาณก็สะอาด แม้วิญญาณสะอาดนี่ วิญญาณนี่เกิดองค์ประกอบ จากเวทนา สัญญา สังขารนั่นเอง จะสะอาดอย่างใดมันก็... เมื่อเห็นที่สุดแห่งวิญญาณ มันก็เป็นวิญญาณ ที่สมบูรณ์แบบเลยว่า แม้ที่สุดถึงวิญญาณสะอาดขนาดนี้แล้ว มันก็ยังไม่ใช่ตัวตนของเราของเขาอะไร มันเกิดจาก เหตุปัจจัยไม่เที่ยงคงทนอะไร เพราะฉะนั้น ถ้าเราไม่เกาะไม่ยึด ไม่ติดวิญญาณ ไม่กำหนด ลงไปแล้วว่า จะมีภพหรือไม่มีภพ วิญญาณนี้ก็ไม่มีตัวตน ถ้าเผื่อมีภพ มันก็มีเกิดจากเหตุปัจจัยที่เรากำหนด แต่วิญญาณไม่สะอาด จะกำหนดว่าให้มันว่าง มันไม่มีว่าง เราอยากจะวาง เราอยากจะว่าง เราเข้าใจ โดยตรรก มันไม่ใช่ตัวตนหรอก วิญญาณมันก็ไม่ใช่ของเราหรอก แต่กิเลสมันยังเป็นอยู่ มันยังติดอยู่ มันยังเป็นเรา เป็นของเราอยู่ กิเลสมันเป็นจริงอยู่ คุณอยากจะสูญ อยากจะเป็นพระอรหันต์ มันถึงเป็นไปได้ เพราะคุณไม่ได้ล้างกิเลสออก เป็นวิญญาณสะอาดจริงๆ เพราะฉะนั้น คุณล้างเวทนา สัญญา สังขาร ไม่สะอาด วิญญาณไม่สะอาด เมื่อวิญญาณไม่สะอาด คุณอยากจะว่าง อยากจะสูญ อยากจะไม่เป็นตัวตน มันก็เป็นตัวตน

เพราะฉะนั้น คนที่อยากจะปรินิพพาน แต่ตัวเองไม่ได้ปฏิบัติถึงที่สุดอย่างแท้จริง ไม่ได้ปฏิบัติ อย่างสะอาด บริสุทธิ์ ได้อย่างแท้จริง แล้วมันจะไปปรินิพพานได้ยังไง ก็อยากจะปรินิพพานกันทั้งนั้นแหละ เมื่อรู้สึกว่า มันทุกข์ ก็อยากจะปรินิพพาน แต่ไม่ได้ปรินิพพาน แม้แต่คนหลงนึกว่าเราเอง วิญญาณสะอาดแล้ว ทำไปแล้ว มันก็ยังเหลือเศษ เหลืออะไร มันก็ยังเหลืออยู่ตามความเป็นจริง นึกว่าสะอาด เพราะฉะนั้น จึงไม่ประมาณแล้ว ถ้าไม่แน่ใจว่า เอ๊ เราเป็นอรหันต์จริงหรือเปล่า เกิดมาอีก มาดูมันอีก ล้างมันอีก ให้มันแน่ใจ จนกระทั่งว่า โอ้โฮจริงๆ แล้ว เราเป็นอรหันต์ จริงๆ แล้ว ทั้งๆ ที่เราเป็นอรหันต์มาแล้ว ตั้ง ๓ ชาติ เกิดมาอีก ๕ ชาติ ลองดูซิ มันจึงจะแน่ จะได้ไม่เป็นความหลง เพราะอันนี้ มันไม่มีใครบอกใครนะ ไม่มีใครบอกใคร ยิ่งหลงก็ยิ่งเนิ่นช้า เพราะฉะนั้น พระอรหันต์จริงๆ แล้วนี่นะ ท่านไม่ต้องไปติดยึด ไปหลงใหล อะไรจริงๆ แล้วท่านไม่ปรินิพพานง่ายๆหรอก พระอรหันต์จริงๆ แต่มันก็ยากด้วยวิบากของ อกุศลวิบาก ที่ตัวเองสั่งสม

เพราะฉะนั้น พระอรหันต์ที่จะไปเป็นพระพุทธเจ้านี่ ส่วนมากสู้ไม่ได้ ทนไม่ได้ด้วยอกุศลวิบากนี่แหละ มันทำให้ โอ้โอ้โฮ ก็มันทุกข์จริงละนะ แล้วสู้กับมันยาก มันทุกข์ ทุกข์ด้วยอกุศลวิบากนี่แหละ มันทุกข์ หนักหนา ทุกข์ละกิเลส มันก็ขนาดหนึ่งละนะ แต่มันจะไม่เหมือนกันกับทุกข์ด้วยอกุศลวิบาก อกุศลวิบาก นั่นมันหยาบ โลกีย์น่ะมันตามล้างตามผลาญกัน มันเจ็บมันปวดกันเป็นเนื้อเป็นหนัง เป็นอะไร ต่ออะไร โอ๊ย มันทรมาน ทรกรรมมาก เพราะฉะนั้น ก็พยายามสั่งสมกุศลวิบากด้วย มันจะได้ปฏิบัติก็สบาย กุศลวิบาก ก็ให้เราอาศัย ปฏิบัติธรรมะก็ยิ่งอะไรก็พรั่งพร้อม อะไรก็พรั่งพร้อม

อาตมาถึงเห็นว่า โอ๊ เรานี่สะสมกุศลวิบากมาน้อย ถึงมา โอ้โห อะไรก็หืดแทบขึ้นคอ แต่มันก็ยังพอไปนะ ไม่ใช่ว่า อาตมาจะทุลักทุเลเกินไป ก็ยังพอไป ดูๆ ก็ยังพอไปได้ มันก็พอสมควร ก็สั่งสมไปอีกแหละ ไม่มีปัญหา อะไรหรอก เหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้ายังไง ก็ทำกันไป

เอ้า เอาละวันนี้ พอสมควรแก่เวลา

สาธุ


ถอดโดย ประสิทธิ์ ฝ่ายทอง
ตรวจทาน ๑ โดย สม.ปราณี ๑๕ มิ.ย. ๒๕๓๗
พิมพ์โดย ทองแก้ว ทองแก้ว ๓๐ มิ.ย. ๒๕๓๗
ตรวจทาน ๒ โดย โครงงานถอดเท็ปฯ ๑๕ ก.ค. ๒๕๓๗
พิมพ์เล่ม โดย ปญ.ใจขวัญ เบญจโศภิษฐ์
เข้าปก โดย สมณะพรหมจริโย
เขียนปก โดย พุทธศิลป์

# ADD66BB.TAP เห็นอนัตตา เห็นอย่างไร หน้า ๒