มาฆบูชามหาฤกษ์
พ่อท่าน สมณะโพธิรักษ์ ณ สนามหญ้า วิทยาลัยครูนครปฐม เมื่อเที่ยงคืนวันที่ ๑๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๑๘
วันนี้ เป็นวันมาฆปุณณมี
เวียนบรรจบครบรอบ มาเป็นรอบที่ ๓ ของการได้พบกัน ระหว่างชาวเราชาวอโศก การพบกันครั้งนี้
ก็เป็นไปโดยธรรม เป็นไปโดยที่ไม่ได้มีเจตนาอะไร ที่จะให้เป็นการพบกัน จนมากมายถึงอย่างนี้
ก็คิดแต่ว่าจะทำงาน ทำงานให้เป็นไป แล้วก็ให้มันดำเนินไป ประโยชน์อะไรที่จะพึงได้
ผมก็พยายามที่จะกระทำ ตามประโยชน์ที่มันเป็นไปนั้น เช่น ก็พยายามดู พยายามสังเกต
พยายามไม่ไปเที่ยวจัดอะไร ให้มันเป็นไปโดยบังคับ หรือว่าโดยพยายามเจตนา ในการที่จะกระทำให้มันเกิดการชุมนุมกันขึ้น โดยทำความลำบากยากเย็น
ให้เกิดขึ้นแก่ผู้หนึ่งผู้ใด ให้มากมายเกินควร ผมก็ได้พยายามที่สุด ที่จะไม่ให้เกิดสิ่งเหล่านั้น
และก็จะพยายามเหมือนกันว่า จะดูซิว่า ทุกอย่างมันจะเป็นไปโดยธรรมนั้นอย่างไร ทุกๆเช้า ถ้าใครสังเกต
ผมไม่ได้คิดเอาแน่นอนอะไร แล้วก็ไม่ได้ตกปากตกคำ เป็นการกำหนด หรือเป็นการสั่ง
หรือเป็นการจะให้เกิดว่า เราจะต้องมีมาฆบูชา ชุมนุมกันในวันนี้ ณ ที่ตรงไหนแน่นอน ก็พยายามอยู่เสมอ ที่จะดูซิว่ามันจะตกอย่างไร มันจะเป็นไปโดยธรรมนั้นอย่างไร
เป็นได้ถึงขนาดไหน จนกระทั่งพอมาถึงเมื่อวานนี้ ผมก็เห็นเหมาะว่า ยังไงๆเสีย
เราก็จะมีมาฆปุณณมีที่นี่แหละ ที่วิทยาลัยครูนครปฐมแห่งนี้ ในวันนี้ ก็จึงได้บอกทั่วๆไป
สำหรับญาติโยม หรือสำหรับใครก็ตาม ที่ใคร่จะได้ติดตามมาฟังธรรมในวันนี้
และเมื่อได้พูดขึ้น ได้บอกขึ้นแล้วเสร็จ จนกระทั่งถึงวันนี้เช้า จึงได้รู้ว่าทางวิทยาลัย หรือว่าทางเจ้าหน้าที่ทางวิทยาลัย ได้มีจิตใจนึกคิดขึ้นมา
ว่าจะไปรับเอาพระ หรือว่าเอาชาวเราที่ในแดนอโศกออกมา โดยจะเอารถเข้าไปรับ
กระผมก็พยายามที่จะสืบถามว่า พวกเราคนใด ไปกวนเขาหรือได้รบเร้าเขา หรือว่าไปบอกเขาหรือ? ก็ไม่มีใครจะไปรบกวนเขา หรือจะไปบอกไปรบเร้าผู้ที่จะเอารถ ไปรับพวกเราออกมาจากในแดน เมื่อไม่มีใคร เมื่อเป็นไปอย่างนั้น ก็เป็นเจตนาเป็นศรัทธา เป็นความเห็นของผู้ที่จะย่อมเห็น เป็นความ ...ตั้งใจดี ของผู้ที่จะตั้งใจดี
ก็เป็นไปโดยธรรมออกอย่างนั้น ผมก็จึงได้เขียนจดหมาย หรือเขียนหนังสือบอกไปในแดนฯ(อโศก) บอกไปกะทางรถที่จะเข้าไปรับกันออกมา ไปบอก เขียนหนังสือ ตามที่มันเป็นไปนั้น
ก็เจตนาอยู่ ไม่ได้แกล้งพูด ไม่ได้แกล้งเขียน ก็ถ้าเผื่อผู้ใดจะมีธุระอันใด
ถ้าพึงเห็นเป็นสำคัญอยู่ ซึ่งมันก็เป็นไปได้ สำหรับผู้ที่มีความสำคัญนั้นๆ
ก็ไม่ได้รบเร้าอะไรจนเกินควร จะออกมาก็ได้ ไม่ออกมาก็ได้ แต่ก็ได้ออกมากัน
มาพบกัน แล้วก็มาฟังธรรมกันในวันนี้ ก็เป็นไปโดยธรรม วันนี้เป็นวันสำคัญ ที่เราได้รู้กันมาแล้วทุกคน
สำหรับพวกเรา ว่าเป็นวันที่มีความสำคัญมากอย่างไร มีความหมายลึกซึ้งอย่างไร
อันเกี่ยวกับคำว่ามาฆะ ทั้งทางด้านรูปธรรม และ มาฆะทั้งรูปธรรม ในสมัยพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ยังทรงพระชนม์อยู่ ซึ่งมีเหตุการณ์เกิดในยุคของพระองค์ ซึ่งเป็นความสำคัญของมาฆะฤกษ์
เกิดเป็นมาฆบูชาขึ้นนั้น ผมก็ได้เคยอธิบายสู่กันฟังมาแล้ว แม้ที่สุด
มีความสำคัญเกี่ยวไปถึงนามธรรม เกี่ยวกับพุทธะโดยตรง เป็นความเต็มความพร้อม
ความแสดงบทแห่งพุทธะ อันเป็นความหมายเครื่องหมาย อันเป็นเครื่องแสดงถึง
ความเต็มของพุทธะแต่ละองค์ ซึ่งผมก็ได้อธิบาย ได้เล่าสู่ฟังให้เข้าใจมาแล้ว
สำหรับวันสำคัญออกปานนี้
มาฆะรำลึก พระคุณอันนี้ เป็นพระคุณที่ผมจะไม่มีทางทอดถอน
จะไม่มีทางถอดเว้น จะไม่มีทางพรากจาก มนุษย์สุดยอดมนุษย์ ผมไม่เห็นทางใด
ผมไม่เห็นคุณค่าใด ที่จะประเสริฐสูงสุด เท่าที่คุณของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้ทรงค้นพบ
แล้วท่านได้โปรดท่านได้สอน ท่านได้กระจายธรรมะนี้ออกมา จนกระทั่ง สองพันห้าร้อยกว่าปี
ผมเกิดมาปางนี้ ปานนี้ ผมก็ยังได้เห็นธรรมนั้นอยู่ ได้รับค่าได้รับประโยชน์จากคำสอนนั้น
บุญคุณอันผมจะรำลึกถึงพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น ไม่ใช่บุญคุณที่เป็นเพียงเนื้อหนังมังสา
ไม่ใช่ได้รำลึกถึงพระพุทธเจ้า ที่เป็นเจ้าชายสิทธัตถะ แต่เพียงเนื้อหนังมังสาร่างกายเท่านั้น
ผมรำลึกถึงท่าน ถึงพระคุณ ถึงความสามารถ ถึงคุณธรรม ถึงประโยชน์อันสูงสุด
ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าท่านได้บรรลุ แล้วท่านได้สอนผู้อื่นให้บรรลุตาม ท่านได้กระทำให้ผู้อื่นได้เข้าใจแจ้ง แล้วให้ประพฤติตาม ได้เกิดคุณอันยิ่งใหญ่ของมนุษย์
ที่มนุษย์ควรได้ควรเป็นควรมีนั้น สุดยอดแห่งพระคุณนั้น ไม่มีอะไรจะเปรียบปานอีกแล้ว
ค่าของพุทธ ถ้าจะให้สูงยิ่งไปกว่านี้อีก
ในทิศทางที่เป็นไป ดังที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า จะพึงเพียรพึงได้เป็นไป ผมก็เห็นว่า
สิ่งนั้นสูงยิ่งขึ้นไปกว่า เลิศประเสริฐยิ่งกว่า เข้าไปทางทิศทางนั้น คนและมนุษย์จะพึงแสวงหาโลกียสุข หรือความสุดยอดของความเป็นมนุษย์ ผมก็ได้แสวงหาโลกียสุข
หาความสุขสุดยอดของความเป็นมนุษย์ เท่าที่ได้เป็นมา แม้ไม่ใช่ชาตินี้ แม้จะเป็นชาติอื่นใด
ผมก็รำลึกได้อยู่ มีอยู่ รู้อยู่ เท่าที่ผมสามารถจะพึงระลึกได้ รำลึกได้
มันก็ไม่เห็นคุณค่าใดจะประเสริฐเลิศเท่า การที่เป็นมนุษย์แล้ว ได้มาช่วยมนุษย์
ช่วยให้มนุษย์ ได้รู้จักความเป็นจริงว่า มันถูกหลอกมา มาหลงในลาภยศสรรเสริญโลกียสุข แล้วก็พึงเป็นสุขเป็นทุกข์ วนแล้วเวียนเล่าอยู่นี่แหละ ตลอดตราบไม่รู้กี่กัปกี่กัลป์
มันก็มีอยู่แต่เพียงเท่านั้น เขาหลงติดบ่วงนี้ แล้วก็หลอกกัน สร้างค่าวนเวียน
ผู้ขึ้นสูงแล้ว ก็ไปเสวยความสูงนั้น แล้วก็วนเวียนมาหาต่ำทดแทน เพราะไปเสพหนี้
เพราะไปสร้างหนี้ไว้ แล้วก็วนแล้ววนเล่าลงมา หมุนเวียนกันอยู่ ตลบแล้วตลบเล่าอย่างนั้น
สืบทอดคุณธรรม
เปิดใจพิสูจน์
บนทางพรหมจรรย์
ช่วยตน-ช่วยท่าน การทำงานช่วยผู้อื่นก็ต้องเมื่อย
เมื่อยเราก็รู้ว่าเมื่อย เราทำงาน เราก็รู้ว่ามันไม่ใช่สุขอย่างสงบ สุขอย่างสงบนั้นก็คือพักคือหยุด สุขอยู่สงบหมด ไม่มีกายกรรมไม่มีวจีกรรม ก็อยู่สบาย แต่ตราบใดยังมีกายกรรม
มีวจีกรรม มันก็เมื่อย มีมโนกรรมมันก็เมื่อย แต่เราก็รู้ว่ามันเป็นค่า มันเป็นสิ่งสุดท้าย
สำหรับพระอรหันต์ทุกองค์ ที่รู้แจ้งเห็นจริง ที่เข้าใจแล้วว่า เราจะทำงาน
ตราบขันธ์เรานี้แตกสลาย มันก็หมดเรา มันก็หมดเรื่อง เพราะฉะนั้น ก็ไม่ช้า
ไม่ดูดาย พอใจที่จะทำงานนั้น เพราะว่างานนี้เป็นค่า ถ้าพระอรหันต์ไม่ทำ ก็ไม่มีใครทำ
พระโสดาบันก็ยังติดอยู่บ้าง ในความสุขความสงบ พระสกิทาก็เหมือนกัน หรือแม้พระอนาคามี ก็ยังติดความสงบอยู่บ้าง เป็นขั้นตอน จนกว่าจะบริสุทธิ์ผุดผ่องขึ้นมา
รู้ความจริงอันชัดแจ้งแล้ว ว่าตัวเราไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่ของเขา ไม่ใช่ของใคร
มันเป็นแต่เพียงสมบัติโลก มันเป็นแต่เพียงการปรุงกันขึ้นมา ด้วยอำนาจการเกาะกุมด้วยธาตุ ดินน้ำไฟลม มีอากาศช่องว่าง แล้วก็มีวิญญาณธาตุเดิมอยู่ อยู่ในนั้น มันมีเท่านั้น
มันไม่ใช่ของเราของเขา มันเป็นแต่ตัวการงาน เพราะฉะนั้น พระอรหันต์จะไม่สงสัยเลย
ในการที่จะทำงาน ที่จะทำประโยชน์ให้แก่ผู้อื่น
จุดตัด - แตก พุทธ กับเดียรถีย์
ศาสนาเดียรถีย์ ที่ค้นพบจุดสงบสุข มีอยู่แล้ว
เค้าก็ติดความสงบสุขนั้น ไปจนตราบตายก็มีอยู่ โดยเขาล้างอนุสัยไม่สะอาดร่อน
ไม่เสร็จสิ้นหมด เพราะเหตุว่า เค้าไม่ได้หมุนเวียนกลับมาทดสอบกับโลกด้วย
เขาหลงว่า ความสงบความพักนั้น เป็นยอดสุข แล้วเขาก็หลบเลี่ยงผู้คน หลบเลี่ยงเจ้ากิเลส หลบเลี่ยงสิ่งที่มันได้หลอกคนเหล่านั้น ไปชั่วครั้งชั่วคราว โดยเขาเอาการติดความสงบนั้น เป็นเครื่องจูงนำ แล้วเขาก็อยู่กับความสุขนั้น จนกระทั่ง ตราบรูปนามแตกดับ
ซึ่งอนุสัยของเขาที่มีอยู่เท่าใดๆ เขาไม่ได้พิสูจน์ เขาไม่ได้มากระทบสัมผัส
กับแม้แต่โลกอบายมุข ไม่ได้มากระทบสัมผัสกับโลกกามคุณ ไม่ได้มากระทบสัมผัสกับโลกธรรม
๘ ไม่ได้มาทดสอบในเรื่องของโลกอัตตา โลกปรมาตมัน ที่เต็มไปด้วยมานะอันเย่อหยิ่ง
เต็มไปด้วยความถือตัว เต็มไปด้วยความหลงตน เขาไม่ได้มาพิสูจน์ เขาไม่ได้มากระทำการทดสอบ เพื่อที่จะได้รู้จริงว่า เราหมดร่อน จนกระทั่ง เรากระทบสัมผัสต่อใคร ที่เค้าจะมาลบหลู่ดูถูก เขาก็ไม่ได้มาพิสูจน์ เขาจะมาพิสูจน์ว่า เมื่อเราอยู่กลางโลกธรรม
๘ นั้น เราจะมีผลกระเทือนอย่างไร ยังมีเชื้ออนุสัยที่ยังจะขึ้นมา ยังจะมีเชื้ออนุสัยที่จะทำให้คนนั้นน่ะ
ยังรู้เห็นได้ เขาก็ไม่ได้มาพิสูจน์ แม้แต่มาอยู่กลางกองโลกกามคุณ ๕ เขาก็ไม่ได้มาพิสูจน์
เพราะฉะนั้น เขาจะไม่รู้ละเอียด เขาจะไม่บริสุทธิ์ล่วงส่วนได้เป็นอันมาก
ศาสนาที่หลงความสงบสุขอย่างนี้ ที่เราเรียกว่าเดียรถีย์ ก็มีอยู่ ส่วนศาสนาพุทธนั้น รู้จุดจริงว่า
สุขสงบนั้นก็คือ พักสุขที่สูงสุด ก็คือสงบพักหรือหยุดสนิท เบา ว่าง ง่าย
พ้นภาระ เบาสบายจริงๆ หมดแม้กระทั่งกายิกทุกข์ ไม่มีแม้กระทั่งทุกข์อยู่ ทั้งด้านกายกรรมวจีกรรม หรือทุกข์ ที่จะกระทบสัมผัสอยู่ข้างนอกๆ ทั้งหมด ไม่มี และรู้จนกระทั่ง
หมดเจตสิกทุกข์ ที่เป็นทุกข์ในจิต เป็นทุกข์แห่งความยึดถือ เป็นทุกข์แห่งการที่ติดยึด
แม้กระทั่งยึดความสงบ มันจะปรุงขึ้นมาอีก ยึดถือเกินไป ก็รู้ และเราก็ไม่ยึดถือเกินไป
โดยมีอนุโลม มีสัจจานุโลมญาณอันเพียงพอ ที่จะปรุงเป็นปุญญาภิสังขาร ก็ย่อมได้
ปรุงให้เก่งเท่าใดๆ ก็เป็นอิทธาภิสังขารเท่านั้นๆ สามารถปรุง สามารถทำงานได้
ปรุงอยู่ก็รู้อยู่ว่าปรุง ไม่ได้หลงกับสังขารนั้น มีวิชชาคุมอยู่ จึงรู้ในสังขารนั้น
เป็นปัญญาอันยอด เรียกว่า อธิปัญญาหรือญาณ เรียกว่า ญาณทัศนะวิเสโส หรือ
เรียกว่า อลมริยญาณทัศนะวิเสโส รู้อยู่ เห็นอยู่ อย่างแท้จริง
เห็นอริยสัจ
กรรมของพระอรหันต์ พระอริยะชั้นพระอรหันต์
ก็จะไม่หยุดยั้ง จะพยายามกระทำเพิ่มภูมิ จะเรียกว่าโพธิสัตว์ต่อก็ได้ แล้วก็จะเป็นจริงอย่างนั้น
เพราะท่านรู้ความประเสริฐ ที่ควรเพิ่มความประเสริฐ ท่านรู้จักอนันตัง ท่านรู้ความต่อของจุดต่อ
ท่านรู้ความจบ และท่านจะทำจุดต่อในความจบนั้น ที่รู้ความเป็นจริงว่าควรต่ออย่างไร
ท่านรู้ความจบในความต่อนั้นอีก คือ แม้ท่านจะกระทำนั้น ท่านจะพยายามพากเพียรเรียนรู้อีก โดยการทำงานไปพลาง เรียนรู้ไปพลาง ท่านก็ไม่ได้เดือดร้อนอะไร
ได้เท่าที่ควรเป็นควรมี เท่าที่ท่านสามารถ ท่านจะไม่อิดหนาระอาใจ จะไม่ท้อแท้
จะไม่ริษยาจริงๆเอานะ แต่อิสสาสังโยชน์ ไม่มีแม้แต่มัจฉริยสังโยชน์จริงๆ
พระอรหันต์ย่อมเป็นดังนี้ ย่อมเป็นอย่างนี้ กระทำได้อย่างนี้เป็นที่สุด
อรหัตผลตามภูมิ
ประโยชน์ตน-ท่าน พระอรหันต์ไม่กลัวตาย
พอจบงานก็หมดเมื่อย เมื่อมันยังไม่ตายเน่า มันก็มีงานที่เป็นการเพียร เป็นการกระทำ เป็นอายูหะ
และก็มีการพักที่เป็นสันติฎฐะ ย่อมมีการพัก การเพียร
หรือมีอนายูหะ ที่เรียกว่าไม่เพียร หรือมีอสันติฏฐะ เรียกว่าไม่พักก็ได้
ไม่ต้องสับสน ทำความเข้าใจให้รอบถ้วนให้ได้ เป็นผู้กระทำตนอยู่ออกปานนี้
จึงขอเตือน ในวันมาฆปูรณมีนี้ กับทุกๆคน ขอให้สอบทานตัวเอง อย่าสงสัย อันใดตัดสินแล้ว
อันใดตกลงแล้ว อันใดได้ลงตัวแล้วโดยจริง ที่ในจิตของเราได้ทดสอบ ได้กระทบสัมผัสแล้ว
โดยอบายมุข อย่างนั้นๆ เขาเป็นเขามี เรารู้เราเห็นอยู่แล้ว แล้วเราก็ไม่ได้เดือดร้อนเลย
ในอบายมุขเหล่านั้น และก็ไม่จำเป็นนักที่จะไปทดสอบ ในอบายมุขบางอย่าง ที่เราไม่ได้ใกล้ได้ชิดเลย
ก็ไม่จำเป็นเลย เพราะมันเป็นความเลว ที่จะหมดสภาวะแล้ว มันต่ำจริง เรารู้อยู่
ผู้มีจิตสูงขึ้นมาจริงแล้ว ไอ้สิ่งต่ำ ไม่ควรจะสงสัยมาก
กามคุณ ๕ กับการคลุกคลี โลกธรรม ๘
ฐานหยุด-ทำ-นิพพาน
วิญญาณ ต้องรู้เท่าทันอารมณ์
แม้ที่เป็นสิ่งที่เป็นยอดความรู้ออกปานนี้ ที่เป็นวิญญาณัญจา และเป็นประโยชน์
เป็นอายะ แม้มันจะนิดน้อย ก็ต้องรู้ให้ดีว่า อย่าไปหลงติดมัน ถ้าเป็นประโยชน์ใหญ่
จะทำให้หลงติดแยะนะ ไม่ใช่อายตนะ แต่เป็นมหัปผลา เป็นสิ่งที่เป็นผลสูง เมื่อเป็นผลสูงแล้ว
คุณจะติดมันนั้นน่ะ ง่ายเหลือเกิน อย่าหลงมัน เพราะฉะนั้น พระพุทธเจ้าท่านสอนไว้ เป็นทางสุด
แม้จะมีประโยชน์น้อยนิด ก็อย่าไปหลงติดมัน จึงเรียกว่า อย่าหลงในอายตนะ
แม้จะเป็นทางด้านความรู้ หรือจะเป็นทางด้านของความว่าง เรียกว่า อากาสานัญจา
ก็อย่าไปหลงในอายตนะอย่างนี้ พยายามเข้าใจอายตนะอย่างนี้ให้ชัด คุณจะหลับตา
หรือคุณจะลืมตา ก็ต้องเข้าใจสภาพธรรมะนี้ให้ได้ แล้วก็อย่าไปหลงมัน หรือแม้ที่สุด
อากิญจัญญา คือ เป็นสภาพดับสุด จิตดับไปเลยก็ตาม หรือว่ากิเลสดับสุด หมดแล้วหนอจากใจเรา
ไม่มี เป็นความไม่มี นิดน้อยหนึ่งก็ไม่มีในกิเลส เป็นสภาพที่รู้ความจริง ตามความเป็นจริง
เป็นอสังขตธรรม เป็นธรรมที่มันเป็นตัวของมันเอง อสังขตธรรม หมายความว่า
มันปรุงของมันเอง มันไม่มีอะไรอื่นผสมอีก อสังขตธรรม จิตรู้ มันก็เป็นจิตรู้ของมันอยู่อย่างนั้น
สภาพกายกรรม ก็เป็นกายกรรมของมันอยู่อย่างนั้น สภาพวจีกรรม ก็เป็นวจีกรรมของมันอยู่อย่างนั้น
มันเป็นหนึ่ง เป็นอสังขตธรรม สภาพที่มีความเป็นจริง ตามความแท้จริงของแต่ละสภาพ อย่างนี้
เรารู้เราเห็น เราเข้าใจมันอยู่ เป็นยถาภูตญาณ เป็นความจริงตามความเป็นจริง อย่างนี้ๆ อย่างนี้ๆ เราเรียกว่า อสังขตธรรม เป็นสภาพนิพพานชัดๆ ของผู้ตื่น
เป็นนิพพานของพุทธศาสนา เป็นนิพพานของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นผู้สร้าง
เป็นผู้ค้นพบ เป็นนิพพานของคนตื่น เป็นนิพพานของคนรู้ เป็นนิพพานของคนที่มีจิตใจเบิกบาน
แจ่มใสอยู่ ไม่มัวหมอง ไม่อับเฉา ไม่ท้อแแท้ ไม่ระโหยระหาอะไรเลย สภาพนิพพานนี้
พยายามกำหนดรู้ให้ได้ จับให้ถูก ให้มันเป็นอยู่ ให้มันมีอยู่ในเราจริงๆ
เสมอๆ เป็นสภาพที่ควรอยู่ควรเป็น เป็นสันตวิหาร เป็นสันตวิหารสูงสุด แม้ที่สุด อันใดที่เรากำหนดไม่ชัด เป็นเนวสัญญานาสัญญา
ต้องกำหนดให้ชัดให้เจนที่สุด นิดน้อยหนึ่งเท่าใด ก็ให้รู้เป็นสัญญาเวทยิทตะให้ได้
อย่าหลง อย่าหลงทีเดียว จิตของเรา อะไรๆไม่มี แม้ที่สุด จิตไม่มีก็รู้ว่า มันจิตไม่มี
ถ้าสภาพใดต้องการพักสูงสุด ก็ตัดให้หมด นิดน้อยหนึ่งก็ไม่มีแม้แต่จิต แต่ในสภาพนิพพาน
ไม่ใช่อันนั้น อันนั้นเป็นสมถะ เป็นเจโตสมถะ คือ ดับจิตให้หมด เป็นการพัก
ก็ให้รู้ว่าเป็นการพัก เป็นส่วนหนึ่งในชีวิตของเรา จะเป็นได้มีได้ ก็เอา ในสิ่งที่ควรเป็นควรมี
ในกาละที่ควรเป็นควรมี ส่วนที่เพียรอยู่ก็รู้ว่าเพียร ในขณะเป็นผู้ตื่น
ก็ตื่นอยู่ด้วยการงานที่ดี มีกัมโยนิ มีกัมพันธุ มีกัมปฏิสรโณ มีการงานที่ทำ
เราทำเกิดเอง เราปรุงขึ้นมาเป็นวิสังขารเอง เป็นปุญญาภิสังขาร ตามที่เราสามารถ
จนเป็นอิทธาภิสังขาร สูงขนาดใด เรามีอิทธิขนาดใด เราก็ทำอิทธิขนาดนั้น คือความเก่งนั้นเอง
อิทธิ เก่งในการปรุง เพื่อประโยชน์ผู้อื่น เราก็กระทำตามนั้นเท่านั้น ทำอยู่
แล้วเราก็เบิกบานแจ่มใสอยู่ รู้ในสภาพที่เป็นอากาสานัญจายตนะ รู้ในสภาพที่เป็นวิญญาณัญจายตนะ
และรู้ในกิเลสที่ไม่มีอยู่เลย เป็นอากิญจัญญายตนะ ไม่มีกิเลส ไม่มีโลภะ
ไม่มีโทสะจริงๆ ไม่มีโมหะด้วย รู้อย่างวิชชาเต็ม อย่างนี้เป็นผู้รู้แจ้ง
กำหนดสัญญาอันใดก็ไม่มี ที่จะเป็นเนวสัญญานาสัญญา ที่กำหนดลงไป ไม่แม่น ไม่มั่น
อันใดเป็นอย่างใด กำหนดรู้อยู่ ไม่หลงเลอะในสัญญาทุกสัญญา สัญญานั้นสัญญานี้
กำหนดสัญญาเก่าสัญญาใหม่ รู้หมด แจ้งในสัญญาทุกสัญญา เป็นสัญญาเวทยิตตนิโรธ
จริงๆ จึงอยู่เหนือ เนวสัญญานาสัญญาด้วย สิ่งเหล่านี้ต้องพยายามรู้ให้จริง
รู้ให้หมด นิพพานของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ยอกย้อน มีเชิงซ้อนมากมาย การอธิบายธรรมวันนี้
ได้อธิบายธรรม ถึงสภาพนิพพานที่ขั้นสันตวิหาร เป็นสภาพสูงสุด เราครบในมาฆฤกษ์ปุณณมี เป็นคำรบที่ ๓ สิ่งที่อยากจะฝากเตือนไว้กับพวกเรามาก ก็คือ
อยู่ร่วมกัน เพราะฉะนั้น อุทธัจจะตัวที่เราไปรู้ดี
แล้วเราไปยึดดีพวกนี้ เราต้องพยายามมีสัจจานุโลมญาณ มีการอนุโลม มีการที่จะมีปุคคลปโรปรัญญุตา
หรือ มีปริสัญญุตา หมู่กลุ่ม เมื่อเวลาไปเป็นหมู่ เราก็รู้ ย่อมมีอะไรหลายจริต
ย่อมมีความนึกคิด ความยึด หรือความถนัดไปคนละหลายอย่าง เราเองอาจจะรู้ อาจจะไม่รู้อยู่ในนั้นด้วย
เพราะฉะนั้น เราต้องพยายามพิจารณาหมู่ให้มาก หรือพิจารณาบุคคลให้มาก เราจึงจะเป็นสัตบุรุษที่สูงขึ้น
และต้องมีสัจจานุโลมให้ดี เราต้องมีความรู้ในสัจจานุโลมชัดๆ ถึงจะเรียกว่า
สัจจานุโลมญาณ เราจะต้องทำให้เกิด เราจะไม่อึดอัดขัดเคือง ในประการทั้งปวง
แม้สิ่งนี้ เราจะรู้อยู่ว่าไม่ดี เราก็ไม่อึดอัดขัดเคือง เราจะมีจิตรู้ว่า
อันนี้ช่วยได้หรือไม่ได้ ถ้าช่วยได้จงทำ อย่าดูดายนัก ถ้าช่วยไม่ได้ ต้องรู้ความจริงว่า
ตอนนี้ไม่ควรช่วยหรอก ช่วยไม่ได้ ช่วยแล้วเกิดการแตกแยก เกิดการบาดหมาง เกิดการเศร้าหมองกันเกินควร
เพราะฉะนั้น เราจะขัดเกลา เราจะต้องรู้ว่า เราจะขัดเกลาเขานั้น แม้ที่เป็นเพื่อนกันก็ตาม
จะทำได้ขนาดใด ถ้าทำไม่ได้ ก็หยุด ถ้าทำได้ขนาดนี้ ลองดูแล้ว ได้ขนาดนี้ แล้วก็เกิดการไม่ค่อยดีงามนัก
ก็หยุดเสีย พักเสีย อย่าดันทุรัง อย่างนี้เป็นการช่วยกัน ช่วยให้มันสงบเกิดขึ้นในหมู่ด้วย
ได้ช่วยกันขัดเกลา ตามมีตามได้ด้วย บางครั้งบางที บางสิ่งบางอย่าง เราก็อย่าไปมีอภิชัปปา อย่าไปมีตัณหาล้ำหน้า อยากให้มันได้ดังใจ อย่างนี้มากเกินไปนัก
เราช่วยกัน เกื้อกูลกันเท่าที่ควร ผมเอง ผมย่อมรู้อยู่ในบุคคลที่ควรช่วย
ถ้าผมเองมีอภิชัปปามาก ผมตายนานแล้ว ผมตายนานแล้ว ผมอยู่ไม่ได้หรอก ผมอยากให้คุณดี
และผมเห็นข้อบกพร่อง อยู่ในตัวบุคคลของพวกคุณเนี่ย ผมเห็นอยู่ เห็นความบกพร่องอยู่
เพราะถ้าผมจะไปยึดถือว่า ทำไมอโศกไม่ทำให้ดี มีความเร่งร้อนมาก
ผมจะตายไปตั้งนานแล้ว ผมทนไม่ได้หรอก แต่ที่ผมทนได้ เพราะผมรู้จักวาง ผมไม่เร่งเกินไป
ไม่เอาเป็นเอาตายเกินไป มันย่อมเป็นไป ด้วยการเกื้อกูลอยู่ ตามฐานะ เวลา เพราะฉะนั้น
พวกคุณ เมื่อมีปัญญา ย่อมรู้ความดี ย่อมรู้จุดดี รู้ความถูกต้อง แม้ในหมู่เพื่อนสหธรรมมิกทุกคน ก็อย่าไปมีจิตมุ่งแรง เกินขนาดเกินไป ถ้ามุ่งแรงเกินขนาดเกินไปแล้ว
มันจะอึดอัด มันจะหนัก มันจะไม่ยอม และมันจะทุกข์ทับถมตน ความทุกข์นั้นเป็นของคุณ
คุณย่อมมาเรียนรู้การตัดทุกข์ จะไปทำทุกข์ ให้แก่เราทำไม
เราช่วยได้ก็ช่วยซิ ช่วยไม่ได้ ก็ย่อมรู้อยู่ แม้เป็นอโศกด้วยกัน มันจะบกพร่องบ้าง
มันก็ย่อมเป็นอย่างนั้นแหละ ถ้ามันอดทนไม่ได้ มาบอกผม เป็นที่สุด แล้วก็ให้วาง
ผมจะช่วยได้หรือไม่ได้ ก็อยู่ในฐานะอย่างนั้นแหละ บางทีผมก็ช่วยไม่ได้ ผมก็ยอมให้มันเป็นอย่างนั้นอยู่ จะบกพร่อง ก็ทำไงได้ เพราะมันต้องเป็นอย่างนั้น เพราะฉะนั้น
เราก็พยายามช่วยเหลือเกื้อกูลอยู่ โดยเจตนาอันดีอย่างนี้ แล้วก็อย่าให้ตนเองเป็นทุกข์
แม้แต่ว่า รู้ดีแล้ว ก็พยายามปรารถนาดี แล้วก็รู้จักหยุุด จะปล่อยวาง ออกปานนี้
ผู้นั้นก็เป็นผู้ฉลาดสูงสุด เป็นผู้ที่กระทำได้มุมที่ละเอียดสูงสุดได้จริง
จึงรู้ในอุทธัจจะนั้น
รับติติงยิ่งใหญ่ เมื่อใครคนที่โง่ที่สุด
สอนเราได้แล้ว ก็พวกเรานี่ ไม่ใช่คนโง่ที่สุด เป็นชั้นนี้ เป็นนักบวชออกปานนี้แล้ว
คุณก็ย่อมยอมรับทุกคนว่า พวกเราไม่ใช่คนโง่ที่สุด ก็ทำไมพวกเราจะสอนกันไม่ได้
ทำไมกิเลสตัวถือตัวนั้น ทำไมมันถึง ชั้นไม่ให้คนอื่นมาสอนเราได้ มันเป็นยังไง
ใครจะมาแสดงความคิดความเห็น เหนือเราบ้างก็ไม่ยอม ทำไมกิเลสนะ ถึงมีฤทธิ์มากนะ
เพราะฉะนั้น ใครจะสอนก็สอนเถิด ก็ฟังด้วยดี ถ้ามันถูกก็รับเอา ถ้ามันยังไม่ถูก
เราพิจารณาตาม ไม่พยายามมีอคติ เห็นแก่ตนเอง ด้วยประการทั้งปวง สูงสุด เท่าที่เราจะไม่มีอคติได้
พิจารณาด้วยความเป็นกลางจริงๆ เมื่อเราถูกอยู่ เขาว่าเราผิดนี่ เออ ก็แล้วไป
อันนี้เป็นเครื่องวัด ถ้าเราถูกผู้อื่นมากล่าวโทษเรา เราก็จะได้รู้ว่า คนนั้นมีภูมิปัญญาเท่านั้น เพราะฉะนั้น มันไม่เป็นการเสียหายอะไรเลย มันเป็นเจโตปริยญาณ อย่างหนึ่งด้วยซ้ำไป เป็นโสตทิพย์อย่างหนึ่งด้วยซ้ำไป คือเป็นเครื่องวัด วัดเราจะรู้ได้ว่า อ๋อ คนนี้มีภูมิปัญญาอย่างนี้ เขามาแสดงออกเอง เขาประกาศตนเอง มาแสดงภูมิของตนออกมาให้เรารู้เอง เท่านั้นด้วย มันเป็นกำไรต่างหาก มันไม่ใช่สิ่งที่เราจะถือตัวถือตน ให้เขาสอนไม่ได้ ไม่ใช่ เพราะฉะนั้น ต้องพยายามรู้ให้ได้ในจุดนี้ การถือตัวถือตนในพวกเรา ยังมีมุมเหลี่ยมอื่นๆ อีกเยอะๆ เยอะหลายอย่าง มันมีละเอียดลออ ซึ่งเคยอธิบายเรื่องมานะสังโยชน์ นี้มามากต่อมาก แม้แต่อุปกิเลสต่างๆ ก็พยายามเรียนรู้อุปกิเลส ๑๐ ตั้งแต่ อมนสิการ จนกระทั่งมาถึงถีนมิทธะ ฉัมภิตัตตะ หรือแม้แต่อุพพิละ เป็นทุฏฐุลละทั้งหมด ให้รู้ขั้นตอน ๕ อย่างนี้ ก็ให้รู้ให้ชัด ๕ อย่างหลัง แม้แต่อัจจารัทธวิริยะ การขยันเกินไป เราขยันอยู่ แล้วเราก็ไปเพ่งโทษผู้อื่น ก็ไม่เอา ขยันได้ขยันไป ขยันที่มีประโยชน์ ขยันอยู่ ไม่อึดอัดขัดเคือง อะไรขยัน ขยันไป อันที่เกิดประโยชน์อยู่ ขยัน ขยันแล้วท้อแท้ ขยันแล้วทุกข์ ขยันแล้วไม่เกิดผลดีในทางธรรม ในทางประโยชน์อื่น ขยันมากไป จนกระทั่งเกินขอบเขต เป็นได้เหมือนกันนะ พิจารณาให้เห็น ไม่เอา หรือแม้แต่ขี้เกียจ หรือขยันน้อยไป
เรียกว่าอติลีนวิริยะก็ให้รู้ ให้รู้ให้ชัด
ในตนนี่แท้ๆจริงๆ อภิชัปปาก็ให้รู้ กำหนดทุกสิ่งทุกอย่างให้ตรง
เป็นนานัตตสัญญา อันใดเป็นอันใด กำหนดให้ถูก
อย่าเลอะเทอะ ในการกำหนดนั้นๆ แล้วก็ไปหลง ในการกำหนดเป็น อตินิชฌายิตัตตะ หลงในสิ่งที่เราไปยึดไปเกาะ ในรูปนั้นเรื่องนี้อยู่ต่างๆนานา
รู้ให้หมด กำหนดอันใดรู้แล้ว ก็อย่าไปยึดในสัญญานั้นๆ ติดในสัญญา หยุดในการกำหนด
ติดในความหมาย ติดในความดี ติดในความรู้ ติดในสิ่งใดๆก็ไม่ได้ หลงให้มันเป็นเจ้าเป็นนายเหนือเราไม่ได้ เรารู้แม้มันดี ก็ให้รู้ดีนั้น ถ้าดีนั้นให้บุคคลใดได้ ก็ให้ไป
เขาไม่เอาก็เฉย ไม่ต้องไปหลงดี เราทำดีแล้วเขาไม่ว่าดี ก็ช่างเขา ไม่ต้องไปหลงในดีนั้น
หลงดีเราก็ทำดี แล้วยกดีของเราไปข่มคนอื่นมากมายก็ไม่เอา อย่าไปหลงรูปใดๆทั้งหมด
อย่าไปยึดหนัก ยึดใหญ่ยึดโต ยึดอโศกกว้างใหญ่เกินไป ก็ไม่ได้ ยึดอโศกเล็ก
จนกระทั่ง ในตัวเราเองก็ถือตัวถือตน ว่าเป็นอโศกนักเกินไป ก็ไม่ได้ ต้องพยายามรู้ให้จริง
รู้ให้เกลี้ยง แม้อุปกิเลส ๑๐ ดังกล่าวทั้งหมด แบ่งออกเป็นหมวดๆ ๕ อย่างต้น ๕ อย่างปลาย
ตั้งแต่อมนสิการ มาจนกระทั่งถึงทุฏฐุลละ ตั้งแต่อัจจารัทธวิริยะ มาจนกระทั่งถึง อตินิชฌายิตัตตะ รู้ให้จริง อย่ารู้แต่บัญญัติ รู้สภาพจิตเป็นอย่างนั้นๆ
แล้วถอดถอนๆ ปล่อยวางๆ เราจะพ้นทุกข์ด้วยการปล่อยวาง การไม่ยึดถือเอาเป็นเอาตาย
จนจัดจ้านเกินไปเท่านั้น การที่จะกระทำอะไรตามเขา การที่พยายามจะยึดอะไรขึ้นมา
ให้เขากระทำเป็นขั้นตอน เราก็เป็นแต่ยกสมมตินั้นขึ้นมาเท่านั้น เมื่อทำแล้วก็ปล่อยวางลงไป
เขาจะรับหรือไม่รับ ก็เป็นเรื่องของเขา เราเสนอ เราหาทางที่จะให้เขาเข้าใจ
ให้เขาศรัทธาเลื่อมใส ให้เขาเอาให้ได้ ให้เขายกขึ้นไปให้ได้ แล้วเราก็พอ ก็จบ
อย่าไปยึดมั่นถือมั่นจนเกินขอบเขต มันทุกข์ จงหาจุดจบอันนี้ให้ได้ แล้วตัดสินลงตัว
ผู้ใดรู้ความลงตัวอันนี้แล้ว ตัดสินได้แล้ว แม้ตรวจตน ไม่มีเศษเหลือของ อบายมุข ไม่มีเศษเหลือของกามคุณ ๕ ไม่มีเศษเหลือของโลกธรรม ๘ ไม่มีเศษเหลือของอัตตา โดยเฉพาะไม่มีทั้งมานะ
ไม่มีทั้งอุทธัจจะ แม้กระทั่งเป็นวิชชา รู้อยู่เห็นอยู่ ก็ไม่หลงในวิชชานั้น
ย่อมรู้ในวิชชานั้น เป็นของจริง เป็นของประเสริฐ แต่เราก็ไม่ถือตัวถือตน ว่าเป็นผู้ที่มีวิชชานั้น
จนเอาไปข่มคนอื่น ย่อมเป็นผู้รู้แจ้ง ผู้เห็นจริงอยู่อย่างนั้น ผู้นั้นหมดมานะจริงๆ
หมดอุทธัจจะจริงๆ เป็นผู้มีวิชชาพร้อมหมดอวิชชาที่แท้จริง รู้ในส่วนเหลือ เศษเล็กเศษน้อยของตน
หมดอโสกะ หมดวิรัชชะ เข้าใจอย่างแจ่มแจ้ง เป็นเขมะ ผู้นั้นต้องรู้จิตที่เป็นเขมะจิตตัง
ของตนให้ได้ รู้ว่าจิตนี้เกษมอยู่ สบายอยู่ แม้ทำงานหนักอยู่ ก็รู้ว่ากายกรรมหนัก
วจีกำลังพูดอยู่ ก็รู้ว่าวจีหนัก ใช้พลังงานปรุงอยู่ในจิต ก็รู้อยู่ว่า ใช้พลังงานปรุงอยู่ในจิต
ว่ามันก็หนักเหมือนกัน มันก็เมื่อย หนักตัวนี้ไม่ใช่หนักถ่วง ไม่ใช่หนักอย่างอับเฉา
แต่ก็เบิกบานแจ่มใสอยู่ ไม่ได้หม่นหมอง ไม่ได้อับเฉาใดเลย รู้ว่าการหนักเพราะการงาน
รู้ว่าเป็นกัมมโยนิ เป็นสิ่งที่เราทำให้เกิด เพราะทำแล้วมันจะเป็น กัมมพันธุ
เป็นสิ่งที่จะเป็นเผ่าพันธุ์ของ อริยสาวกของธรรมะ ที่เรียกว่า ธรรมะของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
หรือเรียกว่าพุทธธรรม เราสร้างพุทธธรรมนี้ เป็นเผ่าพันธุ์ เป็นพุทธพงษ์
เป็นพุทธพันธุ์ เป็นการกระทำ เรียกว่า กัมมพันธุ ให้เป็นที่พึ่งของโลก เป็นโลกนาถ
เราทำนะไม่ใช่คนอื่นทำ เมื่อสาวกของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ทำ ใครจะทำ เมื่อสิ่งใดที่เรารู้ดี
สิ่งใดที่ประเสริฐ เราได้แล้ว เรามีอยู่ แล้วเราไม่กระทำออก ไม่สลัดคืนให้แก่คนในโลกอีก
ใครจะกระทำ ไม่มีแล้ว โลกจะห้าม โลกจะด้วน ศาสนาจะกุด ศาสนาพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
นั้นสืบต่อ มีกัมมพันธุ มีกัมมปฏิสรโณ เป็นการงานที่จะสืบเผ่าสืบพันธุ์
เป็นพุทธเผ่าพุทธพันธุ์ อย่างนี้ ตามแรงของเรา มีได้เท่าไร เราก็ทำสุดที่
ส่วนมันจะไปได้อีกเท่าไรๆ ไม่ต้องไปห่วงมัน เราทำสุดที่ สุดกำลังของเราที่ทำ
พุทธบุตร ในสมัยพระพุทธเจ้า
เมื่อสุสิมะได้ถามพระอรหันต์เจ้าว่า ท่านอวดอรหัตผลว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์จบแล้ว
ภาระกิจสิ้นอยู่ นั้นจริงหรือ สุสิมะไปถามพระอรหันต์เจ้า ในสำนักพระพุทธเจ้า
อรหันต์เหล่านั้น ก็ยืนยันว่า เป็นเช่นนั้นสุสิมะ คือท่านอวดนั่นเอง ท่านบอกนั่นเอง
เพราะฉะนั้น เมื่อถึงคราวที่จะพูดตรงๆ อย่างนี้ บอกว่าเราเป็นอรหันต์นะ ภาษาตรงๆ
ก็คืออย่างนั้นแหละ มาถามว่า พรหมจรรย์จบอยู่ ใช่ไหม ก็ใช่ เป็นอรหันต์อยู่ใช่ไหม
ก็ใช่ ถึงเวลานั้นผู้นั้นจะบอก ผู้นั้นควรจะบอกก็จะบอกจริงๆ กาละนั้นจะมี
และพวกเรานี่ อย่าเพิ่งไปอวดอะไร ตอนนี้ ยังไม่ถึงวาระที่จะควรอวดอย่างนี้
แม้ผู้ใดจะมี ผู้นั้นจะรู้ อรหันต์จะรู้จริงๆ และถึงวาระนั้น จะอวดจึงอวด
แต่ในขณะนี้ แม้แต่โสดาบัน ผู้ควรอวด เมื่อถึงกาละควรอวด ก็ควรอวด ยังไม่ถึงกาละ
ก็ยังไม่ต้องอวด แต่แสดงธรรม แสดงมรรค ที่เป็นทางแห่งการจะไปสู่โสดาบัน ทางจะไปสู่อนาคา
ถ้าเรามีภูมินั้น จงแสดงอยู่ อันใดที่ปัญญาเรายังไม่ถึง รู้เป็นมรรควิธี
แต่ผลยังไม่มี เราก็บอกไปเป็นเชิงว่า อันนี้ก็เป็นทาง เรายังไม่มี ก็อย่าไปอวด ให้เขาเข้าใจว่าเรามี ให้เขาหลงผิด เจตนาแต่บอกไว้เป็นทาง ถ้าแม้ว่าเขาจะซักถาม ว่านี่ท่านได้แล้วหรือ
เรายังไม่ได้ แต่เรารู้มาเป็นปริยัติ เราก็บอกไปโดยตรง ไม่เสื่อมเสียอะไร
ไม่ประหลาดอะไร ถ้าเราเอง แสดงธรรมด้วยขั้นต้น
ขั้นกลาง บั้นปลาย ถูกอยู่อย่างนี้ ศาสนาไม่เสื่อม ศาสนาจะไปรอด ศาสนาจะไปไกล
ก็พยายามกระทำเอาจริงๆ ก็ขอสรุปจบ ในการแสดงธรรม
ในวันมาฆปุณณมีในวันนี้ ขอให้พวกเราระลึกให้มากที่สุด ถึงผลที่เราได้ สิ่งที่เรามี
มีจริงอยู่หรือ ถ้ามันไม่มี ก็มาซักซ้อมกันใหม่ มาถาม มาทวนกันดูว่า เราไม่มี
ผู้ที่จะเข้ามาใหม่ ก็ขอให้แน่ใจ ขอให้ปฏิบัติจนรู้ความจริงว่า เป็นขั้นตอนที่เราควรได้ควรมี และแน่ใจว่า เราจะมาสู่ทางนี้ ที่เป็นทางอันประเสริฐ แสนประเสริฐสุดนี้
เอาให้จริง อย่าหลงใหลหลงเลอะ ถ้ามันดีแล้ว ก็จงมาเถิด ไม่มีทางใดสูงกว่านี้อีก
จริงแล้ว ก็จงทำเถิด ให้แน่ใจให้จริง อย่าหลงอย่าพร่า พยายาม สุดประเสริฐของมนุษย์ มีเท่านี้ ก็ขอจบเท่านี้.
มาฆบูชามหาฤกษ์
๑๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๑๘ |