สงบฤาษี สงบพุทธ ตอน ๒ โดย พ่อท่าน สมณะโพธิรักษ์ เมื่อวันที่ ๕ พ.ย. ๓๒ ณ พุทธสถานสันติอโศก |
ในเรื่องของการงาน และความสงบนี่ต่อน่ะ เมื่อวานนี้ อาตมาก็เทศน์ เรื่องการงาน และอาตมาก็ได้เทศน์ถึงเรื่องการงานนี่มา โดยเอาพลสูตร พลสูตรคือกำลัง พละนี่คือกำลัง สูตรแห่งกำลังต่างๆ ที่พระพุทธเจ้า ท่านตรัสถึง กำลัง ๔ ประการ ถ้าเราสร้างกำลัง ๔ ประการนี้ ให้เกิดขึ้น แก่มนุษย์ได้แล้ว เราจะหมดภัย ๕ ประการ กำลัง ๔ ประการนั้น ก็ทบทวนนิดหน่อย สำหรับผู้ที่ไม่ได้มาไม่ได้ฟัง ถ้าใครจะฟัง ก็ไปหาเอาน่ะ ไปถามห้องเท็ปก็ได้ มันมีรายละเอียดอะไรเยอะแยะ หลายชุดเท็ป เทศน์มาเยอะแยะแล้ว
กำลังปัญญา ๑ กำลังความเพียร ๑ กำลังการงานอันไม่มีโทษอีก ๑ อันที่ ๔ กำลังการสงเคราะห์ ถ้าเราสร้างกำลัง ๔ ประการนี้ ให้เกิดขึ้นในบุคคล ในสังคมได้ ภัยทั้งหลายแหล่ ที่พระพุทธเจ้าท่านรวมเอาไว้ มีภัย ๕ ด้วยกันนะ มี อาชีวิตภัย อาชีวิต นี่แหละ อาชีวิตภัย ภัยที่มีชีวิตอยู่ แล้วก็เนื่องเกี่ยวกับ ทุกๆสิ่งทุกๆอย่างนี่ในโลก แล้วก็ภัยอันที่ ๒ ภัยแห่ง ภัย อสิโลกภัย คือภัยแห่งการติเตียน คนเรามันมีมานะ มีการถือตัว มันไม่อยากให้ใครติเตียน การติเตียนถือว่าเป็นทุกข์ การติเตียนถือว่า เป็นความเสื่อมเสียอะไรก็แล้วแต่ แล้วมันก็เป็นการกลัว กลัวคนจะติเตียน ที่จริง ติเตียนก็ติเตียนได้ คนที่เก่งกล้าแล้ว ต้องได้รับการติเตียน ได้อย่างเก่งน่ะ
อันที่ ๓ ปริสสารัชภัย คือภัยแห่งการไม่กล้า ความไม่กล้า ความสะทก สะเทิ้นสะท้าน ในเมื่อเข้าบริษัท เข้าไปสู่หมู่กลุ่มสังคม เข้าที่ไหนๆ เข้าสู่สังคม เข้าสู่ในบริษัท เข้าสู่ในสถานที่ หมู่ชนมวลชนอะไรต่างๆนานา มันไม่แกล้วกล้าอาจหาญ มันสะทกสะท้าน นี่เป็นภัยชนิดหนึ่งของมนุษย์ มันเกิดจากความไม่มั่นใจ เกิดจากความไม่ชัดเจนของคนเรา ใครมีความชัดเจน มีความมั่นใจ รู้ว่าเราทำดีแล้ว มันไม่กลัวหรอก มันไม่สะทกสะท้านหรอก เราทำสิ่งที่ดีที่จริงแล้วละก็ เราทำประโยชน์คุณค่าด้วย ไม่จำเป็นจะต้องสะทกสะท้านทำไม
ภัยอันที่ ๔ มรณภัย ภัยแห่งการกลัวตาย อันนี้ก็คงไม่ต้องอธิบายอะไร มากนักหรอก
ภัยอันที่ ๕ ทุคติภัย ภัยแห่งการกลัวตกนรก กลัวดำเนินไปสู่ที่เสื่อมต่ำ กลัวตกต่ำน่ะ ภัยทั้ง ๕ ประการนี้ รวมหมดแล้ว ในโลกนี้ คนเรามีภัย ๕ ประการนี้เท่านั้น ผู้ที่จะพ้นภัย ๕ ประการนี้ได้ ก็เป็นพระอรหันต์ ยังไม่เป็นอรหันต์ ก็ต้องลดภัยเหล่านี้ลงมาให้ได้เรื่อยๆ ให้มันสอดคล้อง ถูกต้องด้วย ทีนี้จะลดภัย ๕ ประการนี้ได้ ก็ต้องสร้างกำลัง ๔ ประการนี้ ขึ้นที่ตัวเอง แล้วก็สร้างให้แก่กันและกันขึ้นมา ให้มีกำลังขึ้นมา จนเป็นมวล เป็นหมู่ มีกำลัง ๔ ประการนี้ มันก็สำเร็จ
ตัวหลักคือปัญญากับความเพียร ตัวบทบาทคือ การงานอันไม่มีโทษ กับการสงเคราะห์ ตัวหลักตัวเรานี่ ตัวหลักที่เรานี่ คือตัวปัญญากับความเพียร ปัญญาจะต้องเข้าใจแจ่มแจ้งรอบถ้วนเลย รู้ดีรู้ชั่ว รู้สิ่งควรไม่ควร ความเพียรจะต้องมีกำลัง ความเพียรนี่ เป็นตัวหลักของชีวิตจริงๆเลยนะ คนเราขี้เกียจขี้คร้าน หลบเลี่ยง อะไรต่างๆนานา เพราะความไม่เห็นจริง เห็นจริงแล้วมันจะมีพลัง มันจะมีกำลังความเพียร สร้างสรรทำ อุตสาหะวิริยะ เหนื่อยก็ยังสู้ เหนื่อยก็ยังทำ มีอุปสรรคยังไงๆก็ทำ ความเพียรนี่ มันเป็นตัวที่มันเกิดจากจิตวิญญาณ เกิดจากปัญญา ที่เข้าใจสัจธรรม เข้าใจคุณค่าของชีวิต เข้าใจคุณค่าของสิ่งที่ควรกระทำ ในโลก สิ่งที่ควรกระทำก็คือ การงาน หรือควรกระทำนั่นเอง อนวัชชะ แปลว่า เป็นการงานอันไม่มีโทษ
เพราะฉะนั้น มีกำลังในการงานอันไม่มีโทษ รวมแล้วก็คือ กำลังแห่งการงาน ส่วนจะมีโทษไม่มีโทษ ก็เกิดจากปัญญา ที่มันมีปัญญาที่แท้ วินิจฉัยได้ เลือกเฟ้นได้ พิจารณาได้ เมื่อได้อย่างจริง แล้วเราก็มีกำลังที่จะทำจริง มีความเพียรที่เพียงพอ ใครจะไปทำการงานอันมีโทษล่ะ มันมีโทษนี่ มันมีซับซ้อนลึกซึ้งนะ มีโทษหลายชั้น เพราะฉะนั้น ใครที่ประเสริฐเลิศลอย มีปัญญา ปัญญาที่ลึกซึ้งแล้ว ก็ย่อมเลือกการงานที่ไม่มีโทษ หรือมีคุณสูงที่สุด มีโทษน้อยที่สุด แต่มีคุณค่าสูงที่สุด ตามลำดับ ใช่ไหม แล้วเราก็ต้องรู้ด้วยว่า แม้จะรู้จักงาน ที่ดีที่สุดสูงสุด ยังมีกาลเวลาเลย บางกาลเวลา เราก็ต้องไปทำการงาน ที่แม้ว่าจะค่าน้อย ค่ารองลงไปบ้าง เราก็ยังต้องใช้เวลาทำ บางทีเป็นความจำเป็น ในชุมชนนั้น ขณะนั้นเวลานั้น เราจะต้องหมุนเวียนไปทำ ไม่ใช่จะมาตั้งหน้าตั้งตา ทำแต่งานเดียว งานนี้เลิศยอด งานนี้วิเศษที่สุด ฉันไม่ทำงานอื่นเลย ไม่ได้เป็นคนยึดมั่นถือมั่น ถึงขนาดนั้น เราจะต้องรู้รายละเอียดของคุณค่า ตามกาลเวลา ตามเหตุปัจจัย ตามองค์ประกอบของมัน เท่าที่เหมาะที่ควร มันมีรายละเอียดอีกเยอะ ทำมาแล้วทำไม มาสงเคราะห์กัน มาให้แก่กันและกัน มาเกื้อกูลแก่กันและกัน มาช่วยเหลือกัน ไม่ใช่ทำมาเพื่อ บำเรอตน มากอบกองให้แก่ตน มาโลภโมโทสันให้แก่ตน ไม่ใช่หรอก มันไม่ใช่คุณค่าของโลกเลย มันต้องสร้างกำลังสงเคราะห์
ทุกวันนี้นี่ เราพยายามพัฒนากัน ให้พวกเราเสียสละ สร้างสรรอะไรนี่ คือ สร้างกำลัง สงเคราะห์นี่ ทั้งนั้นแหละ โดยภาษาของพระพุทธเจ้า ชัดเจน นี่อาตมาขยายความมาแล้ว คุณจะฟังออก แล้วเราจะเป็นไปได้ก็ต่อเมื่อ ใจเราลดความโลภ ความเห็นแก่ตัว ออกไปได้จริงๆ ใช่ไหม มันถึงจะเป็นไปได้ เพราะฉะนั้น การงานต่างๆนานา มันเป็นหลักของชีวิต อาตมาก็เคยแปลว่า ชีวิตคืออะไร ชีวิตคือการกระทำ ชีวิตคือการงาน ๓ ชีวิตคือ กายกรรมวจีกรรมมโนกรรม การงาน ๓ หรือ การกระทำ ๓ นี่แหละ จะต้องเป็นกุศล กายก็ต้องกุศล วจีก็ต้องกุศล มโนก็ต้องกุศล
พระพุทธเจ้า ท่านไม่ได้บอกกุศลอย่างเดียว ท่านบอกว่า จะต้องเมตตากายกรรม เมตตาวจีกรรม เมตตามโนกรรม ซึ่งเป็นสาราณียธรรม ๖ ทำแล้วเป็นยังไง มีเมตตากายกรรม เมตตาวจีกรรม เมตตามโนกรรม แล้วเป็นยังไง ให้เกิดลาภธัมมิกา ลาภธัมมิกาคืออะไร ลาภธัมมิกาก็คือ เฉลี่ยลาภ เราจะขยันด้วยกรรม ๓ นี้แล้ว เราก็แจกจ่าย ก็คือ สอดคล้องกับสงเคราะห์นั่นเอง ให้ทาน เกื้อกูล แจกจ่ายลาภที่ได้ เมื่อสร้างขึ้นมา สิ่งที่เกิดขึ้นนี่ คือเรียกว่าลาภ สิ่งที่เราสร้างเกิดมานี่ เรียกว่าลาภ พระพุทธเจ้าสอนเราว่า เมื่อได้ลาภแล้ว ก็อย่าเอาลาภ ไปแลกลาภอยู่เลย ลาเภ น ลาภัง นิชิคิงสนตา มีลาภ ก็อย่าเที่ยวเอาลาภ ไปแลกคนอื่น แลกเอาอันนั้นตอบแทนคืนมา ดีไม่ดี ไปเที่ยวได้ล่อให้เขา เอาเปรียบเอารัดเขาอีก ให้ลาภตัวเองมี ก็ให้ลาภคนอื่นบ้าง ไม่ใช่ไปหวง เอาแต่ลาภตัวเองไว้ หรือเอาลาภไปแลก เอาลาภมาคืนเสียด้วยซ้ำ มันก็ไม่มีคุณค่าอะไร นี่มันสอดคล้องกับการให้ทั้งนั้น สร้างขึ้นมาเพื่อให้ สรุปง่ายๆ สร้างขึ้นมาเพื่อเกื้อกูลกัน ลาภธัมมิกา เฉลี่ยลาภ แจกจ่าย เจือจานไป นี่สาราณียธรรม ๔ ข้อ ที่จริงมี ๖ ข้อ มีศีลสามัญญตา มีทิฏฐิสามัญญตา อีก ๒ ข้อ ซึ่งเราจะต้องพยายามเรียนรู้ ศีล คือเครื่องวัดมนุษย์ ศีล
เพราะฉะนั้น มนุษย์จะมีวรรณะสูง ก็อยู่ที่ศีล เราวัดได้ มีศีลสูง มีศีลเคร่ง สูงเท่าไร มีศีลมากเท่าไร ผู้นั้นมีวรรณะสูง ไม่ใช่วรรณะคือ คลอดออกมา จากท้องแม่ แล้วก็เป็นวรรณะพราหมณ์ เป็นวรรณะกษัตริย์ เป็นวรรณะแพศย์ วรรณะศูทร ตามพ่อแม่ ไม่ใช่ วรรณะจะสูง วรรณะจะผิวพรรณผุดผ่อง วรรณะจะสูง มีศักดิ์ชั้นสูง ก็ด้วยศีล เป็นเครื่องบอก มีศีลสูงเท่าไหร่ ยิ่งเป็นผู้ที่สูงส่งเท่านั้น อย่างนี้เป็นต้น เราเองเราจะต้องรู้ ศีลสามัญญตา ทิฏฐิสามัญญตา คือความเห็นที่สอดคล้อง ไปในทิศทางเดียวกัน มีความเสมอสมานกัน แต่มันไม่เท่ากันไป ทีเดียวหรอก มันจะมีสูงจริง สำหรับผู้ที่สูงจริง มีศีลสูง หรือมีความเห็นที่สูง ที่แหลมลึก แต่ละบุคคลไม่เท่าเทียมกัน
แม้แต่พระอรหันต์ ยังมีทิฏฐิความเห็น หรือปัญญาญาณไม่เท่ากัน พระอรหันต์ ก็มีความรู้ความเห็น ที่ต่างกันอยู่เหมือนกัน แต่ทิศทางกว้างๆ ใหญ่ๆแล้ว เพื่อละความเห็นแก่ตัว จนท่านละความเห็นแก่ตัว ของท่านเองหมด พระอรหันต์ที่เท่ากันอยู่ที่ ท่านละความเห็นแก่ตัว ของตัวเองหมด แต่ความเฉลียวฉลาด ญาณ ปัญญานั้น ไม่เท่ากัน เพราะฉะนั้น มันก็ไม่เท่ากันอยู่ดี แม้มันจะมีอะไรอันหนึ่ง ที่เท่ากัน คือ ความหมดความเห็นแก่ตัว เท่ากัน ที่เรียกว่า จุดสุดของอรหันต์ เท่ากันได้ อรหันต์ของพระพุทธเจ้า ที่เป็นอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า หรือ อรหันต์ธรรมดา ขี้กะโล้โท้ ก็มีความหมดจบ อันนี้เหมือนกัน
เพราะฉะนั้น ของพระพุทธเจ้านี่ สอนคนให้มีงาน มีคุณค่า แล้วก็หมดภัยได้ การหมดภัย ไม่ว่าจะเป็นภัยของเราเอง หรือภัยของสังคม การหมดภัยแล้ว สังคมหรือตนเอง ก็เรียกว่าผู้สงบ ตัวเราก็สงบ คนจะสงบ ก็คือ คนหมดภัยทุกอย่าง เป็นคนอภัย ไม่มีภัย เพราะไม่มีความโลภโกรธหลง ตัวโลภโกรธหลงเป็นตัวภัย เป็นตัวเชื้อโรคร้าย ที่ทำให้คนเราเกิดภัย ภัยทั้งตน ภัยทั้งผู้อื่น
สังคมที่มีความโลภมากโกรธมากหลงมาก สังคมนั้น ก็เป็นสังคมที่มีภัยมาก เป็นทุกข์ วุ่นวายเดือดร้อน ถ้าสังคมลดความโลภโกรธหลง ลดความเห็นแก่ตัว ลดความรุนแรง ที่มาจากโทสมูลได้ สังคมนั้น ก็สงบสันติ ก็เกิดจากการกระทำ เกิดจากคนนี่แหละ สร้างสรร ทำงานการ หรือกระทำอะไรที่เป็นกุศล กระทำอะไร ที่เป็นทิศทางที่ดี แล้วให้คนเรียนรู้ และให้คนมาเป็น มีทิฏฐิสามัญญตา มีศีลสามัญญตา มีความเจริญงอกงาม ตามทิศทาง ที่อาตมากำลังกล่าวถึงอยู่ จนสรุป เป็นการงานที่ไม่มีโทษ แล้วก็ได้เกื้อกูล สงเคราะห์กันอยู่ ให้ได้จริงๆ ถ้าได้จริงแล้ว จึงจะเกิดความสงบ
สรุปแล้ว ความสงบ เกิดได้เพราะ การงานอันไม่มีโทษ แล้วก็สงเคราะห์กัน จะเกิดการงานอันไม่มีโทษ แล้วสงเคราะห์กันได้ ก็เพราะมีกำลังของปัญญา และกำลังของความเพียร แล้วจะหมดภัย ๕ ประการ หมดภัย ๕ ประการ ก็จะสงบ ตนก็สงบ สังคมก็สงบ
ทีนี้อาตมาอยากจะเจาะลึก ถึงความสงบในโลก ที่มันยังไม่รู้กัน เขารู้กันเผินๆ ความสงบในโลกนี้ อาตมาแบ่งสงบ ออกเป็น ๔ ความสงบ
๑.สงบเงียบ
๒.สงบเสงี่ยม
๓.สงบฤาษี
๔.สงบพุทธ
ความสงบ ๔ อย่างนี้ อาตมาจะวิจัย หรือวิเคราะห์ จะพยายามอธิบาย แจกแจงไปให้ฟัง ความสงบเงียบ เข้าใจไหมว่า เป็นสงบอย่างไร เข้าใจไหม คนมีปัญญา ปฏิภาณพอสมควร ก็พอเข้าใจแล้ว ตั้งหัวข้อขึ้นมาว่า สงบเงียบ ก็คือ ให้มันเงียบลงไป ให้มันจริงๆล่ะนะ เล่นหมากรุกชั้นเดียว ฟังกันให้ดีเถอะ ให้เงียบๆนิ่งๆน่ะ พยายามหายใจ ก็ให้เบาที่สุด นี่แหละสงบ สงบคือหยุด หมากรุกชั้นเดียวเลย นิ่งน่ะ พวก naive ภาษาอังกฤษ เขาเรียกพวก naive คือพวกซื่อบื้อ naive พวก innocent เรียกภาษาฝรั่ง อีกตัวหนึ่งก็ได้ naive innocent นี่พวกซื่อบื้อ พวกไม่เดียงสา พวกพาซื่อเถรตรง สงบ ว่างั้นก็ หายใจก็ไม่ค่อยได้แหละ ต้องไม่หายใจ ตาก็ไม่เห็น เห็นแล้วประเดี๋ยวมันก็จะยุ่ง หูก็ไม่ให้ได้ยิน ปากก็หุบเอาไว้ อย่าพูดนะ จมูกก็ แหม! แทบ... ถ้าเผื่อว่า เอาอะไรอุดจมูกได้ คงอุด เหมือนกันนะ แต่มันจะตายน่ะซินะ เขาก็เลยไม่กล้าอุด บางคน อุดหูนะ นั่งสมาธินี่ เอาอุดหูเลย นอกจากตาหลับแล้ว อุดหูเลย ไม่กล้าอุดจมูก เท่านั้น บอกแล้ว เพราะมันจะตาย ถ้าขืนอุดจมูก ตายแน่ หยุดทุกทวารเลย สัมผัสแตะต้อง ก็ไม่ให้รับรู้สึกน่ะ อะไรอย่างนี้เป็นต้น
สงบแบบนี้นี่ เขาค้นพบมานานแล้ว ฤาษีไหนๆๆๆ เขาก็ค้นพบ เป็นสงบเงียบ สงบฤาษี สงบพาซื่อ สงบเถรตรง ความสงบแบบนี้ เป็นหมากรุกชั้นเดียว เราก็เข้าใจน่ะ ถ้ามันมากเกินไป ความดังมันมากเกินไป คลื่นความดังมันมาก ทุกวันนี้ คลื่นความดัง ความถี่ของเสียง ทุกวันนี้เป็นมลพิษต่อชีวิตร่างกาย เพราะฉะนั้น เซลล์ประสาท ของคนทุกวันนี้ มันถึงแย่ หูหนวกไว ตาทุกวันนี้ก็แย่ มลพิษทางแสง มลพิษทางอะไรต่ออะไร ต่างๆนานา แย่ ตาก็ใส่แว่นกันไว ตาก็บอดกันไว ตาเสียกันไว หมอรวยลูกเดียว หู ตา จมูก คอ อะไรต่างๆนานา จมูกก็เฉโก ต่างๆนานา เพราะไปดมสารพัดดม ยุ่งไปหมด ดมอะไรก็ไม่รู้ หลอกกันให้มาดม นี่น้ำหอม นี่ spray กลิ่นนั้น นี่ไอ้โน่น อันนี้ เป็นธาตุเคมีทั้งนั้น ดมสารพัด ที่มันจะหลอกกัน เอาไอ้โน่นไอ้นี่ มาเปลี่ยนแปลง สี กลิ่น รส อะไรต่างๆนานา แล้วก็ว่ากันไป ดมมีแต่มลพิษ กินก็ทั้งนั้นแหละ เข้าไปในปากในลิ้น มีแต่มลพิษ สัมผัสแตะต้อง อะไรก็ตามแต่ มีแต่มลพิษ มันก็เลยกลายเป็น คนอ่อนแอไปหมด มันก็เลยสงบ ง่าย คือตายง่าย ตายนี่สงบที่สุด มันทำพิษทำภัยใครก็ไม่ได้ แต่เป็นนะ เป็นพิษเป็นภัยเหมือนกัน เพราะมันเน่า มันเหม็น มันก็เกิดเชื้อโรคได้ นี่สงบเงียบ ให้เงียบโดยพาซื่อ สงบเงียบลงไป นิ่งลงไป หยุดลงไปดายๆ มันมีความจำเป็นในสังคมเหมือนกัน มีความจำเป็น มีความดีเหมือนกัน ว่ามันสงบอย่างนี้แล้ว มันเรียบร้อยไหมล่ะ มันไม่เกิดเรื่องราว มันไม่เกิดรุนแรงอะไร จริง พาซื่อได้ มันจริง นั่นก็เป็นความสงบโดยทางรูปธรรม สงบวัตถุ รูปธรรม พาซื่อง่ายๆ ให้มันน้อยลงลูกเดียว ให้มันนิ่งลงลูกเดียว ให้มันหยุดลง ให้มันหมดลงลูกเดียว โดยวัตถุโดยรูปอะไรก็แล้วแต่ ทุกอย่างน่ะ
ทีนี้ต่อมา สงบเสงี่ยม ก็คงพอรู้แล้วว่า เออ! อันนี้ไม่เรียบร้อย ว่าสงบเสงี่ยมนี่ เป็นกิริยามนุษย์แล้ว ไม่ใช่วัตถุรูปอย่างเดียวแล้ว ในมนุษย์นี่ เป็นสงบเสงี่ยมเรียบร้อยของเขา ตามที่ว่านี่แหละ อย่างอาตมานี่ เขาคงไม่เรียก สงบเสงี่ยมหรอกเนาะ เขาไม่เรียกหรอก เขาเรียก พวกสายฟ้าในวาทะ กิริยาก็เหมือนกับ hyde park แล้วแต่ อะไรต่างๆนานา ก็ว่าไป ไม่สงบเสงี่ยม เอาละ เราก็พอเข้าใจนะว่า ไม่สงบเสงี่ยม แล้วจะสงบเสงี่ยมอย่างไรน่ะ ถ้าเผื่อว่ามันมากไป เอนเอียงมากไป ก็กลายเป็นอ้อนแอ้น สงบเสงี่ยมนั่นนะ กลายเป็นอ้อนแอ้น อะไรล่ะ ย้อยย้ายอะไร นั่น สงบเสงี่ยม มันกลายเป็นน้อยไป หรือมันอ่อนไป อ่อนแอ เราก็เข้าใจ ว่าไม่เอาล่ะ ขนาดนั้น เพราะฉะนั้น ในสิ่งที่เรียกว่า เงียบ สงบเงียบ เราก็ต้องการในสังคมบ้าง มันหมายถึงอะไรบ้าง อาตมาไม่มีเวลา ที่จะกระจายความ ไปทั้งหมด สงบเงียบ หมายถึงอะไรบ้าง ควรจะมี และอย่าพาซื่อ อย่าพาซื่อว่า จะต้องเอา สงบเงียบพาซื่อนี่ ไปใช้ในอะไร มากเกินไป ในสิ่งที่ควรจะสงบเงียบ ในกาลเวลา สถานที่ โอกาส อะไรต่างๆนานา พอที่จะให้สงบเงียบ หรือให้นิ่งให้หยุด ให้นิ่งให้หยุด เราก็ต้องใช้ในสังคม ในวัตถุ ในอะไรต่างๆนานา แม้กระทั่งชีวิต บางทีเราก็ต้องเงียบ บางทีเราก็ต้องสงบ แบบสงบเงียบ เหมือนกัน สงบเสงี่ยม เราก็ต้องการน่ะ ก็เป็นการช่วยสังคม ช่วยอะไรต่ออะไร ได้บ้างเหมือนกัน สงบเสงี่ยมดี แต่ก็ต้องเข้าใจให้ลึกซึ้งว่า การสงบเสงี่ยมนั้น มันสุขุม ประณีตในตัว มันอาจจะเร็ว มันอาจจะมีแรง ด้วยซ้ำ แต่ก็สงบเสงี่ยม ก็ต้องเข้าใจให้ลึกซึ้งได้
อาตมาว่าอาตมาเอง สงบเสงี่ยมนะ สงบเสงี่ยมสมควรกับสังคม เพราะสังคมมันรุนแรง อาตมาได้ขนาดนี้ สงบเสงี่ยม คนที่น้อยกว่าอาตมา น่าจะเรียกว่า สุดโต่งไปอีกฝั่งหนึ่งแล้ว มัชฌิมา น่าจะเรียกว่า อาตมาพอดี ไม่มีใครชม ชมตัวเองนะนี่น่ะ สงบเสงี่ยม คือมันได้ค่าของสังคม สังคมมันรุนแรง สังคมมันช้ากว่านี้ไม่ได้ สงบเสงี่ยมนี่ เขาก็จะค่อนๆ ไปในทางช้า ใช่ไหม ช้า สงบเสงี่ยมนี่ช้า เนิบนาบหน่อย ที่จริง มันไม่เนิบนาบหรอก เนิบนาบไม่ได้หรอก ทุกวันนี้ มันเนิบนาบ ไม่ทันกินหรอก มันต้องคล่องแคล่วว่องไว พอสมควร แล้วมันก็จะต้องดัง ก็ต้องดังพอสมควร สงบเสงี่ยมนี่ ทุกวันนี้ ค่าของความดังขนาดไหน จริง สมัยก่อนนี้ ดังขนาดนี้ เรียกว่าไม่สงบเสงี่ยม เร็วขนาดนี้ เรียกว่า ไม่สงบเสงี่ยม แรงขนาดนี้ เรียกว่าไม่สงบเสงี่ยม จริง ค่าของความสงบเสงี่ยม เมื่อ ๕๐ ปีที่แล้ว เมื่อ ๑๐๐ ปีที่แล้ว แน่นอน ค่าไม่เท่านี้ ค่าความพอเหมาะ เรียกว่า มัชฌิมา ปานกลาง ฟังให้ดีนะ อาตมาสอนมัชฌิมานะ ไม่เท่านี้ แต่วันนี้ วินาทีนี้ ค่าแห่งความสงบ สงบเสงี่ยม ที่ได้สัดส่วนกับสังคมที่มันรุนแรง สังคมที่มันดัง ดังจริงๆเลย ไม่รู้เสียงอะไรต่ออะไร ต่างๆนานา แข่งกับเขานะ ไม่แข่งไม่ได้ ถ้าไม่ได้แข่งถึงขนาดนี้ ไม่ได้มีคุณค่าของความดังขนาดนี้ มันหลับ มันไม่ได้ยิน มันไม่กระทุ้งกระเทือนอะไรต่างๆ พวกนี้เป็นต้น
เพราะฉะนั้น สิ่งเหล่านี้ อย่างที่อาตมาพูดภาษาออกมานี่ คุณฟัง อะไรมันหมายถึงอะไรบ้าง ฟังให้ดีก็แล้วกัน อาตมาว่า อาตมาทำงานทุกวันนี้ ได้ผล เพราะอาตมาประมาณสิ่งเหล่านี้ ได้สัดส่วน มีฤทธิ์ มีแรงพอดี คือมัชฌิมานี่เอง มันจึงเกิดคุณค่าพัฒนา เปลี่ยนแปลงชีวิตมนุษย์ เปลี่ยนแปลงสังคมขึ้นมาได้บ้าง สรุปแล้ว ความสงบอย่างเสงี่ยม หรือความสงบเสงี่ยมนั้น ก็มีสาระของมันขนาดหนึ่ง หมายถึงรูปธรรม หมายถึงนามธรรม หมายถึงพฤติกรรม พอสมควร เรื่องสงบเสงี่ยม เราต้องใช้ แต่อย่าพาซื่อให้มันเกินไป ว่าสงบเงี่ยมนั้นน่ะ ค่าของมัน มันสุดโต่งไปทาง ค่าน้อยไปแล้วนะ ก็ยังไม่เข้าใจ ที่อาตมาพูดนี่ ไม่ได้แก้ตัว เป็นการอธิบายลักษณะลึกๆ ของอนิจจัง ของสถานะ สถานภาพของสังคม เขาเรียก status quo สถานภาพปัจจุบัน status quo มันเป็นสถานภาพ ของปัจจุบัน ที่กำลังเป็นอยู่นี่ แล้วมันมีสถานภาพ รวมหลายอย่าง คุณไปศึกษาคำว่าสถานภาพ ก็แล้วกัน ที่มันตั้งอยู่ขณะนี้ มีองค์ประกอบทุกอย่าง ของสังคมของมนุษย์ ของวัตถุสมบัติ ของพฤติกรรม ของแสง สีเสียงอะไร โอ๊! เยอะแยะน่ะ รวมแล้ว มันเป็นอย่างนี้แหละ ทุกวันนี้ อะไรขาดแคลนไป อะไรจำเป็นที่จะต้องใช้ สิ่งนั้นสิ่งนี้ มันก็ต้องรู้ว่า สังคมมันมีสิ่งนั้นสิ่งนี้ อยู่ขณะนี้ เช่น
อาตมาจำนนต่อเสียงเพลง จำนนต่อเพลงว่า มันมีบทบาทต่อสังคม เพราะฉะนั้น เราต้องใช้ เป็นองค์ประกอบหนึ่ง ของงานศิลป์ของเรา ที่จะต้องพัฒนาสังคมมนุษย์ เพราะมันมีอิทธิพลต่อจิตวิญญาณ มีอิทธิพลต่อการศึกษา พอสมควร เราจึงต้องใช้ อย่างนี้เป็นต้น
ซึ่งอาตมาอธิบายให้ฟังขณะนี้ ที่จริงมันมีมากกว่านี้ แต่อธิบายให้ฟังว่า อาตมาทำไมทำอย่างนี้ ทั้งๆที่มันเสี่ยง มันน่าจะถูกติเตียน ใช่ พวกอนุรักษ์นิยม เขาจะติเตียนแน่นอน เพราะเขายึดถือ เขาเข้าใจ อย่างที่เขาเข้าใจ ซึ่งมันยากที่จะอธิบาย อาตมาก็ขอทำไปก่อน แต่ทำไปแล้ว ก็ปรากฏว่า หลายปีมาแล้ว อาตมาทำเพลงออกมา ไม่ได้รับการติเตียน มันก็ไม่มีปัญหาอะไร
ทีนี้สงบฤาษีล่ะ ทีนี้กินลึก เราต้องรู้นามธรรม ต้องรู้จิตวิญญาณ ต้องรู้ค่า ของความจริงมากขึ้น จึงจะรู้ว่า สงบฤาษีนั้น มันก็คือการสงบ แบบสงบเงียบไม่มีลีลา สงบเสงี่ยมมีลีลา มีบทบาท มีพฤติกรรม ส่วนสงบเงียบนั้น มันค่อนจะไปทางวัตถุรูป มันไปในทางที่จะพาซื่อ เถรตรง ปัญญาน้อย เจโตมาก สงบเงียบ สงบฤาษี ก็เช่นเดียวกัน เจโตมาก ปัญญาน้อย พาซื่อ เถรตรง เป็นพวก naive หรือเป็นพวก innocent เป็น พวกซื่อบื้อไปมาก เพราะฉะนั้น สงบฤาษี เราก็เข้าใจ เราก็ต้องการเหมือนกัน ในบางกาละ บางโอกาส บางลักษณะ เราต้องใช้เป็นอุปการะ ในเรื่องของการปฏิบัติธรรม เหมือนกัน คือ สะกดจิต หยุด สงบ หยุดแล้ว ก็ไม่รู้จักสังคม ไม่เอาอะไร ไม่ไปแย่งลาภยศ สรรเสริญ โลกียสุข ก็ถูก พูดถูก แต่มันสงบจริงไหม ลึกซึ้งไปจริงๆน่ะ มันสงบจริงไหม ถอนรากเหง้าของกิเลส ได้จริงไหม กิเลสตัณหาอุปาทาน นั่นแหละ ได้ถอนไหม มีแต่กลบๆ กดดันเอาไว้เท่านั้นเอง กดดันไว้ได้ เป็นชาติๆนะ ไม่ใช่ชาติเดียว การสะกดจิตนี่ ทำกันมานาน สายฤาษีนี่ ทำกันมาก่อนพระพุทธเจ้าอุบัติ สะกดกันเป็นชาติๆ พระพุทธเจ้า มาตรัสรู้แล้ว จึงเห็น อ๋อ! ทฤษฎีนี้ ไม่ใช่ทางอันประเสริฐ ไม่ใช่สัมมาอริยมรรค ไม่ใช่ทฤษฎีเอกของโลก ที่จริงแท้
ถ้าเราจะเชื่อว่า พระพุทธเจ้าเป็นปราชญ์เอก ยิ่งกว่าฤาษี หรือลัทธิฤาษี ที่สะกดจิตแบบนั้น ซึ่งมีมาก่อนใดๆ พระพุทธเจ้าค้นพบทฤษฎี ที่ยิ่งยอดกว่านั้น ท่านก็ไปเรียนกับ อาฬารดาบส อุทกดาบส นั่งสะกดจิต ทำฌานทำเฌิน อาตมาก็เรียน อย่าว่าแต่พระพุทธเจ้าเลย ทำไมพระพุทธเจ้า จะไม่รู้ไม่เรียน เข้าใจทั้งนั้นแหละ อาตมาก็เข้าใจลัทธิฤาษี แบบนั่งสงบ แบบฤาษี สงบอย่างนั้น เป็นไปได้ในชั่วชีวิต เหมือนกัน ชั่วชีวิตหนึ่ง รู้สึกว่า เหมือนกับหมดกิเลสนะนี่ ศรัทธาเลื่อมใสกันอยู่ สายนั่งสะกดจิต หลับตานี่ มีเยอะ พุทธไม่ใช่
สงบอันที่ ๔ คือสงบพุทธ ไม่ใช่ ขอยืนยันว่าไม่ใช่ อย่างสงบฤาษี เข้าใจสงบ เงียบ เข้าใจสงบเสงี่ยม เข้าใจสงบฤาษี และเป็นสงบพุทธ ที่มีงานการ ความสงบของพุทธนั้น ยิ่งสงบเท่าใด ยิ่งคล่องแคล่ว ปราดเปรียว และมีฤทธิ์มีแรงมากเท่านั้น ย้อนแย้งเป็น ภาษา dialectic เป็นภาษาวิภาษ มันเป็นวิภาษวิธีน่ะ เป็นภาษาที่มีการแย้ง วิภาษ แปลว่าแย้ง เป็นลักษณะ ที่มันแย้งในตัว เหมือนในตัว พูดออกมาเป็นภาษา เหมือนมันแย้ง แต่จริงไม่แย้ง มันจะไปได้ เป็นบทบาทที่มีลีลาน่ะ มันนิ่งแต่วิ่ง นิ่งแต่เร็ว เย็นนะ แต่เย็น ที่จริงวิ่งเร็วนี่ ไม่เย็นนะ แต่สงบพุทธนี่เย็น ใจเย็น เกิดสภาพ สังคมก็เย็น สภาพสังคมก็สันติภาพ มีการสร้างสรรมั้ย อู๊ย! สร้าง มีพัฒนาการ มีการกระทำสร้างสรร มี active มีความ active กระปรี้กระเปร่า กระตือรือร้น ไม่ใช่เฉื่อยๆ เนือยๆ ยืดๆ ไม่ ! ทันสมัย เหมาะกับสภาพสังคม แต่ก็ไม่ลุกลี้ลุกลน ไม่เร่งร้อนไม่เร่งรัด ไม่เหมือนชาวญี่ปุ่น ไม่เหมือนชาวอเมริกัน แต่เป็นชาวพุทธ มีความกระตือรือร้น มีความขวนขวาย มีความฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา มี เห็นเลยลักษณะ เอาใจใส่ มีจิตตะ ลักษณะของความเพียร มีลักษณะยินดี เบิกบาน ร่าเริง ไม่ใช่เครียด แหม! ทำ คนนั้นคนนี้มันไม่ทำ ก็ เฮ้ย! ช้าอยู่ทำไม เหมือนกับ ชาวญี่ปุ่นนี่ ดูหน้าคร่ำเครียด เดิน ใครเดินช้าก็ชน ลุย ลุย อะไรอย่างนี้ ไม่! มีมารยาท มีสัมมาคารวะ มีอะไรต่ออะไรดี ครบพร้อม
เพราะฉะนั้น สงบอย่างพุทธ เป็นสงบที่สร้างสรร เป็นสงบที่อุดมสมบูรณ์ สงบที่มีบทบาท สงบที่มีการงานอันไม่มีโทษ อย่างแคล่วคล่อง มีความอุดมสมบูรณ์ มีความมากพอ เป็นเศรษฐกิจที่สมบูรณ์ ไม่ใช่เฟ้อเกินไป ไม่ใช่ไปเที่ยวได้เอารัดเอาเปรียบกัน แจกจ่ายเจือจาน อย่างสงเคราะห์ อย่างเสียสละ ไม่ใช่มานั่งเอาเปรียบเอารัด เพราะฉะนั้น ความสงบอย่างพุทธ เป็นความสงบ ที่ต้องศึกษาอย่างลึกซึ้ง เป็นสันติภาพ ที่จะต้องศึกษา ถ้าจะเรียกสงบว่า สันติภาพ เป็นสันติภาพที่จะต้องศึกษา อาตมาก็ขอเสนอ สันติภาพนี้ สู่สหประชาชาติ สู่ทุกประเทศในโลก ... ขอเสนอ สันติภาพในลักษณะนี้ เรียกว่า สันติภาพอย่างบุญนิยม สันติภาพ อย่างที่จะต้อง มาแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ คือวิญญาณของมนุษย์ มาแก้ปัญหา ด้วยทฤษฎี มรรคองค์ ๘ โพชฌงค์ ๗ มาแก้ปัญหาด้วย โพธิปักขิยธรรม อย่างที่เรากำลังได้ทดสอบกันมาแล้ว ถ้าเราอยากจะให้คนอื่นเขารู้ วิชาการนี้ อยากจะให้คนอื่น เขาได้สิ่งที่ดี สิ่งที่ประเสริฐอย่างนี้ มันก็อยู่ที่ เราจะต้องพิสูจน์ตัวเรา เราจะต้องสร้างต้นแบบ สร้างโมเดล ของสังคมของเรา ต้องสร้าง นี่ต้องสร้างต้นแบบของสังคม ของเรานี่ออกมา ว่าสังคมของเรา เป็นสังคมคนชนิดอย่างนี้ เราจะอยู่อย่างนี้ ผลิตอย่างนี้แหละ นักผลิตของพวกเรา จะต้องเข้าใจว่า นักผลิต ควรจะเป็นเช่นใด นักผลิต ควรจะต้องมีทุนรอนเยอะๆ มีวัตถุดิบ ที่เขาจะลงมือสร้างสรร มีคนงาน อยู่ในมือของเขา สร้างสรรไป เขาก็จะต้องแจกจ่ายเจือจาน อะไรกันบ้าง เป็นผู้ที่รวยที่สุด นักผลิตจะต้อง เป็นผู้ที่รวยที่สุด เป็นตัวกรรมกรเอง รวยที่สุด พวกกรรมกรเอง ต้องเป็นตัวที่รวยที่สุด ส่วนนักบริการนั้นน่ะ เป็นพวกที่ออกแรง ขนย้ายถ่ายเท ช่วยเหลือเฟือฟายบ้าง ก็จะต้องได้ค่าแรง เพราะเขาออกแรง เป็นผู้ที่จะต้องเกื้อกูล ช่วยเหลือพวกนักผลิต อีกทีหนึ่ง นักผลิตจริงๆ คนคนเดียว ผลิตไม่ได้เท่าไหร่หรอก ต้องมีเพื่อน มีคนช่วย เรียกว่ากรรมกร เรียกว่าพวกบริวาร บริวารก็จะต้องเป็นผู้ที่ ช่วยเหลือนักผลิต ก็ได้รับส่วนแบ่งบ้าง มีคุณธรรม ควรจะสูงกว่า นักผลิตทีเดียว มีคุณธรรม ควรจะสูงกว่านักผลิต แพศย์หรือผู้บริการ นักบริการนี่ มีมารยาทดีนะ ออกสู่สังคมมากกว่านักผลิต นักผลิตทำอยู่กับที่ เพราะฉะนั้น ไม่ค่อยรู้โลกเขาเท่าไหร่หรอก มารยาทสังคม ไม่ค่อยจะรู้เขา เท่าไหร่ หอบอยู่อย่างนั้น เยอะน่ะ ผลิต ทำ ไม่ค่อยรู้สังคม มารยาทสังคมน้อย
ส่วนนักบริการ หรือผู้ที่ค้าขาย ผู้ที่เอาไปแจกจ่าย ไปทำประโยชน์ เอาขนของ ของเขาไปแจกจ่าย เรียกว่า นักค้า หรือนักแจกจ่าย จำหน่าย จำหน่ายจ่ายแจก จะต้องเป็นผู้ที่มีคุณธรรม มากกว่านักผลิต คุณธรรมคืออะไร เป็นผู้ที่มีความโลภน้อยลง ความโกรธน้อยลง พูดจาดี สงบเสงี่ยม เป็นคนที่เข้าคนได้ มีมารยาท ชาญฉลาด รู้จักคนมาก รู้จักลีลาของคน รู้จักจิตวิญญาณของคน แล้วก็เป็นผู้ที่ เสียสละมากกว่า เพราะฉะนั้น จะต้องเป็นคนที่ เอาเปรียบน้อยกว่านักผลิต นักผลิต เขาจะเอาเปรียบ ก็เรื่องของเขา เขาเป็นคนลงแรงแท้ๆ เขาเป็นคนสร้าง ออกมาจริงๆ เราอาศัยกิน อาศัยใช้จากเขา ก็ต้องให้เขาได้เปรียบมั่ง ไม่อย่างนั้น เขาก็อยู่ไม่รอด นี้โดยสัจจะ มันจะต้องเป็นอย่างนี้
ส่วนนักบริหารนั้น ยิ่งจะต้องมีคุณธรรมมากกว่านักบริการ มีคุณธรรม มากกว่านักผลิต ต้องมีน้อยกว่านักผลิต นักบริการต้องจนมากกว่าอีก โดยจริง มันต้องเป็นอย่างนั้น ยิ่งนักบวชแล้ว ยิ่งจน กระดูกติดหนังเลย ยิ่งต้องจนมากกว่าอีก นักบวชไม่สะสมให้เห็นเลย ไม่สะสม ไม่กอบโกย ความโลภต้องหมด จนกระทั่ง เป็นพระอรหันต์เจ้า โน่นแหละ นักบวช มีสัจจะความจริง อันนี้ให้ได้
แต่แปลก มันวนกลับ ไม่ใช่วนหรอกน่ะ ไม่ใช่วนหรอก ที่จริง มันสอดคล้อง นักบวชก็ยิ่งจะเป็น ผู้โอบอุ้มเกื้อกูล เป็นผู้โอบอุ้มเกื้อกูล ช่วยผู้อื่นได้มาก เพราะจะมีทาน จะมีการเสียสละ แล้วก็จะต้องรีบหมุน ตามหลักเศรษฐศาสตร์ ไม่ใช่กอบโกยกักตุน จะต้องรีบหมุน สะพัด ส่วนนักผลิต เขาก็ต้องกักตุนบ้าง เพราะว่าเขาจำเป็นจะต้องสร้างสรร เขาจะต้องมีวัตถุดิบ เขาจะต้องมีทุนรอน ส่วนนักบวชนี่ ยิ่งจะทำ เป็นตัวอย่าง การสะพัดเศรษฐศาสตร์ เศรษฐกิจ อย่างเป็นคนมักน้อย สันโดษ เป็นคนกินน้อยใช้น้อย แต่สร้างมากทำงานมาก งานอาจจะไม่เป็น นักแบกหาม เหมือนกับอย่างนักผลิตทีเดียว ก็เถอะ แต่ก็ทำได้ ไม่รังเกียจ ไม่ดูถูกดูแคลนผู้ออกแรง ต้องเข้าใจนะ ผู้ออกแรงงานนี่ โอ! เป็นพวกเหน็ด พวกเหนื่อยนะ แล้วเป็นพวกที่ ทำกับไม้กับมือ สร้างอะไรออกมา ให้เราได้กิน ได้ใช้ได้อาศัย จะต้องรู้คุณ รู้บุญคุณ รู้ความจริงสิ่งเหล่านี้
เพราะฉะนั้น จะให้เกียรติแก่เขา จะช่วยเหลือเกื้อกูลเขา ใครเสียเปรียบ ได้เปรียบอะไร จะพยายามที่จะไม่ให้มี การได้เปรียบเสียเปรียบอะไรกัน จะพยายามแนะนำ บอกกล่าวสั่งสอน ทำให้ถูกสัจธรรม ให้มันสะพัดทั่วกัน ให้ถึงกันและกันได้ เพราะฉะนั้น สงบอย่างพุทธนี่ จะยอม ยอม เขาจะว่ายังไง ก็ยอมได้ แต่ไม่ใช่ยอมอย่างโง่ ยอมอย่างให้เขาทำชั่วเพิ่มขึ้น ที่อาตมาเขาหาว่า ดื้อด้าน ไม่ยอมหลายๆอย่าง เพราะอาตมา ยอมให้อีกไม่ได้ ถ้ายอมอีก เขาตกนรกหนักกว่านี้ ยอมอีก คือยอมให้เขา ชั่วกว่านี้ ยอมให้เขาตกนรกมากกว่านี้ ยอมให้เขาหลงใหล หลงผิด แล้วยังย่ามใจ ที่จะทำชั่วยิ่งกว่านี้ อาตมาก็ยอมไม่ได้ บอกไป ก็บอกอยู่น่ะ บอกอยู่ แล้วทำไม อาตมาไม่ยอมกล่าวสึก อย่างนี้เป็นต้น อาตมาไม่ยอมกล่าวสึก เพราะเขาบาปกว่านี้ เขาละลาบละล้วง เขาได้ใจกว่านี้ แล้วเขาจะทำอะไรรุนแรงยิ่งกว่านี้ เพราะฉะนั้น จุดที่อาตมายืนหยัด ไม่ มากกว่านี้ไม่ได้แล้ว อาตมาก็ต้องยืนหยัด ไม่ให้เสียธรรมยิ่งกว่านี้ ไม่ให้เสียสภาพ ที่ควรจะเสียยิ่งกว่านี้ สภาพนี้ เป็นดีที่สุด อาตมาก็ตามปัญญาของอาตมา อาตมาก็กะ แล้วก็กระทำอย่างนี้ เป็นต้น เราจะยอมเท่าที่ยอมได้ ยอม ให้อาตมานุ่งขาวห่มขาว อาตมา ก็ไม่ว่าอะไร ก็ยอมได้ แต่ก็ต้องต่อรองมาเรื่อยๆ ต้องมีกลวิธี ไม่ใช่จะไปยอม อย่างง่ายดาย ยอมอย่างเขาไม่รู้สึกว่า เขาได้ออกเรี่ยว ออกแรงบ้าง ยอมให้เขา เขาก็ภาคภูมินะ เขาได้ต่อสู้จนยอม เรายอมขนาดนั้น เขาได้ภาคภูมิใจเหมือนกันว่า เขาชนะ เขาชนะๆ เราแพ้ ๆ ไม่เป็นไรหรอก เราแพ้ ที่จริงมันเป็นศิลปะ มันเป็นความเฉลียวฉลาด ที่เราจะต้องรู้ว่า สิ่งอย่างนี้ ทำไมต้องทำอย่างนี้ ต้องทำอย่างนี้เพราะ ให้เกิดคุณค่า ไม่ใช่ทำอย่างนี้ เพื่อให้เสียคุณค่าน่ะ เราไม่ได้เสียนะ เราก็นุ่งห่ม ให้มันถูกต้อง เพราะเขาติดอยู่แค่เสื้อผ้า แค่จีวร หรือแค่ไอ้อะไร ต่ออะไรต่างๆ แค่สี แค่อะไรต่างๆ เราก็เอา เราก็อนุโลมเขาบ้าง เราก็รู้อยู่ จุดไหน สำคัญไม่สำคัญ นี่เขาก็ตั้งใจว่า เขาจะทำจุดสำคัญเหมือนกัน แต่เสร็จแล้ว พิสูจน์ขึ้นไปว่า โอ๊ย! สัจจะมันเหนือชั้นกว่านั้น นี่อย่างนี้เป็นต้น แต่อาตมาก็ยังภูมิใจว่า เราควบคุมความสงบ ของสังคมได้ขนาดนี้ ควบคุมได้ว่า เออ! พวกเราก็แสดงถึงความมีค่า หรือ ความมีประสิทธิภาพ คุณภาพของพวกเรา เหมือนกันนะว่า เออ! พวกเรา มีคุณภาพพอสมควร มีประสิทธิภาพพอสมควร เข้าใจอะไรได้เร็วได้ไว ไม่ละลาบละล้วง หรือไม่ล้นไม่เกิน ไม่ปล่อยไก่ให้หน้าแตก ก็ทำกันมา พอสมควร ขนาดนี้ ก็รู้สึกว่าดี รู้สึกว่าไปรอดน่ะ นี่ละ เรื่องของความสงบ ของพุทธ มันยังมีอีกมากหลาย มันยังมีลึกซึ้งกว่านี้ เพราะฉะนั้น สงบของพุทธ ไม่ใช่สงบพาซื่อ สงบมีงานการ สงบเพราะกิเลส
สรุป ตอนนี้จะจบแล้ว สงบของพุทธ ก็สงบเพราะมันจับเป้า ตัวสำคัญ คือกิเลส ที่มันดิ้นมันแรง มันมีบทบาทในมนุษย์ มากเหลือเกิน จับกิเลสนี่ ลดบทบาทของกิเลส ให้มันฝ่อให้มันน้อยบทบาท ให้มันตายลงไปได้ กิเลสตายเท่านั้น แต่กายกรรม วจีกรรม มโนกรรม ของเราคล่องแคล่ว ว่องไว แหม! มีฤทธิ์มีแรงน่ะ พูดก็เสียงดังฉะฉาน องอาจแกล้วกล้า นี่ถือว่า สงบเสงี่ยมแล้วนะ น่ะพูดอย่างนี้ องอาจแกล้วกล้า มีน้ำหนักน้ำเนื้อ ฟังแล้วถึงใจ ประทับใจดี ชัดเจน ไม่เหยาะๆแหยะๆ ไม่ดูเฉื่อยเนือย ทันสมัย ทันกาล เร็ว แรง ไว แต่สงบ ส่วนความสงบนั้น สงบจริงๆ เพราะจิตไม่เกิดโกรธตอบ จิตไม่เกิดโลภขึ้นมา เรียกว่า สงบนิ่งแน่ สงบไม่เกิดอีก ไม่โผล่ สงบไม่หวั่นไหว ไม่แปรปรวน ไม่เกิดอีก ต้องเข้าใจเป้าของความสงบ ของพุทธให้ชัด เพราะวิเคราะห์ตัวเหตุปัจจัย ที่เป็นสมุทัยอริยสัจได้ และมีวิธีการ ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา มีโพชฌงค์ ๗ มีโพธิปักขิยธรรม อันเป็นทฤษฎีหลัก ทำให้กิเลสนี้ตายได้ มีนิโรธอริยสัจจริง มีนิโรธอริยสัจปรากฏ เรียกว่า สัจฉิกัตวา มีนิโรธอริยสัจ ปรากฏแจ้งชัด เราก็แจ้งชัด ผู้อื่นก็รับได้แจ้งชัด สามารถเปิดเผยสู่กันฟัง แล้วก็เอาไปพิสูจน์ได้ เป็นเอหิปัสสิโก อย่างนี้ เป็นลักษณะของสงบ ของพระพุทธเจ้า
เพราะฉะนั้น เรามีเวลาโอกาสในอนาคตอีก เราจะขยายความอีกว่า สงบ ของพระพุทธเจ้า คือ สงบอย่างนักทำงาน ไม่ใช่สงบอย่าง พวกนั่งหลับตา ไปนั่งนิ่งๆ แต่มันก็ มีการนั่งหลับตาได้ด้วย มีการสงบด้วย แบบสงบเงียบ ก็ได้ด้วย สงบเสงี่ยมก็ได้ด้วย สงบอย่างฤาษีก็ได้ด้วย ไม่ได้หมายความว่า เราทำสิ่งเหล่านั้นไม่ได้ ได้ รู้ และทำได้พอสมควร แต่ตัวที่สำคัญที่สุด คือทำสงบพุทธ ได้อย่างสมบูรณ์ ถูกกาลเทศะ ได้ค่าอันทันสมัย สมพร้อมกับสมัย อย่างดีงาม
เอาล่ะ วันนี้หมดเวลาลงแล้ว ก็จบการเทศนา เพียงเท่านี้ก่อน
****
ถอดโดย นายประสิทธิ์ ฝ่ายทอง ๓๑ ม.ค. ๓๓
ตรวจทาน ๑ โดย สิกขมาตปราณี ๒ ก.พ. ๓๓
พิมพ์และตรวจทาน ๒ โดย นางวนิดา วงศ์พิวัฒน์ ๒๑ ก.พ. ๓๓