ตัณหาฆ่าตัณหา (ตอน ๑)
โดย พ่อท่าน สมณะโพธิรักษ์
เมื่อวันที่ ๑๖ มี.ค. ๓๓ ณ พุทธสถานสันติอโศก


ขุ่นมาจากไหน ตื่นแต่เช้ามา มันค้างมาตั้งแต่เมื่อไหร่ พยายามระลึก ระลึกถึงสติ ให้มีสติรู้ตัว แล้วก็รู้ อย่างน้อยที่สุดฝึกหัดโพชฌงค์ ๗ ด้วยการทำ สุขาปฏิปทา ขิปปาภิญญา คือเราปฏิบัติธรรม ให้เป็นสุข คือเราไม่เอาล่ะ ความทุกข์ ความหม่นหมอง ความไม่สบายใจ ความไม่ชอบใจ ความไม่ผ่องใส ไม่ปลอดโปร่งนี่ เราพยายามก่อนเพื่อนเลย พยายามขจัดออกก่อนเพื่อนเลย อารมณ์อย่างนี้ เรียนรู้ปรมัตถธรรมโดยวิธีนี้ รู้ตัวให้ได้ เรียนปรมัตถธรรมด้วยวิธีรู้ตัวให้ได้เสมอ ตลอดเวลา ทำใจให้ปลอดโปร่ง สบาย เป็นสุขาปฏิปทา เป็นการปฏิบัติที่เป็นสุข ไม่ลำบากใจ คือไม่ใช่ไม่ลำบากใจ มันก็ลำบาก ในการต่อสู้กับกิเลส แต่ว่าเราไม่ทำทุกข์ที่มีในตน หรือว่าเราไม่ทำทุกข์ที่ทับถมตนที่มีทุกข์อยู่แล้ว เพราะธรรมดา เรามีทุกข์อยู่ เพราะกิเลสเรา ยังไม่หมด เหตุปัจจัยของกิเลสยังไม่หมด มันย่อมเป็นทุกข์อยู่แล้ว ตราบใด เรายังไม่ล้าง อนุสัยอาสวะ ที่เป็นตัวเหตุแห่งทุกข์ เป็นสมุทัย เป็นทุกข์สมุทัยนี่ เรายังล้างไม่หมดนี่ มันก็แน่นอน มันยังไม่หมดทุกข์หรอก

เพราะฉะนั้นทุกข์ที่มันมีอยู่แล้ว แล้วเราก็ยังมาทำทุกข์ให้ทับถมตน ด้วยความไม่รู้จักวิธี นี่เป็นวิธี ที่เราได้กำไรก่อนอื่นเลย เป็นสุขาปฏิปทา เราอย่าไปเที่ยวได้ทำให้อะไรต่ออะไร มันหนักเพิ่มเติม ขึ้นไปอีก ในขณะที่เรามีศีล มีตบะ หรือมีความตั้งใจ ที่จะหาอะไร ที่จะเป็นองค์ประกอบ ในการที่จะได้ทำ ได้ทำการพากเพียร เพิ่มขึ้นแก่ตัวตนเอง ซึ่งเป็นลักษณะของทุกขาปฏิปทา อย่างหนึ่งเหมือนกัน คือตั้งตนอยู่ในความลำบาก โดยมีศีล มีวินัย มีหลักเกณฑ์ มีตบะ มีอะไรนี่ ที่เราพยายามกระทำเพิ่มให้แก่เรา ในการที่จะละลดหน่าย คลาย จะเป็นการสังวรระวัง ในเรื่องอะไร ก็แล้วแต่ เราย่อมตั้งขึ้นกำหนดขึ้นเป็นอธิศีล อะไรให้แก่ตนเอง ย่อมได้ มันก็เป็นความลำบาก โดยธรรมชาติ โดยสิ่งที่เราได้เจตนา เราพยายาม แล้วเราก็ได้ขัดเกลาตัวเราเอง อย่างนั้น เสริมซ้อนได้ ด้วยการรู้ว่า อันแรกเลย ที่เราจะทำให้ตนเองเป็นสุขาปฏิปทา ก็ด้วยการทำใจในใจ ด้วยการทำอย่างนี้ อย่าไปทำใจอย่างอื่น ทำใจอย่างนี้ มันซ้อนกันได้นะ ทั้งสุขาปฏิปทา ทั้งทุกขาปฏิปทา ถ้าเราเข้าใจภาคปฏิบัติดีๆแล้ว ปฏิปทาทั้ง ๒ ส่วน จะเร็วหรือช้า ก็อยู่ที่ความเพียร ก็อยู่ที่บารมีของเรา มันเร็วหรือมันช้าได้ มันจะขิปปาภิญญา หรือมันจะทันธาภิญญา ก็เรื่องของเรา

เพราะฉะนั้น เราก็จะต้องฉลาดพอ ที่จะต้องใช้ให้มันเป็น ในการทุกขาปฏิปทา ก็ไม่ได้หมายความว่า เราเองเราทำนอกทาง เราก็ทำอย่างพระพุทธเจ้าท่านสอน ว่าเราต้องตั้งตน อยู่บนความลำบาก ตามประมาณที่เราจะต้องมีความพากเพียร มีอธิศีลจริงๆ ก็คืออธิศีลนั่นแหละ ถ้าจะเรียก ตั้งตบะ ตั้งธุดงค์ ตั้งอะไรต่ออะไรก็ตามใจเถอะ มันก็คือ อธิศีล ที่เราตั้งให้แก่ตนเอง พอสมควร ให้มันอยู่ในสภาพที่เรียกว่า เราจะต้องได้เคร่งครัด ได้อุตสาหะวิริยะ

การฝึกตนเป็นผู้ที่อุตสาหะวิริยะนั้น ก็เป็นการฝึกตน เป็นการอบรมตน ใครปล่อยตัวตามสบาย เกินไป บำเรอเกินไป มันก็เป็นการฝึกตนอย่างบำเรอ เพราะฉะนั้น คนที่มีอุตสาหะวิริยะ มีความพากเพียร กับคนปล่อยตัวตามสบาย เปรียบเทียบดู ๒ อย่างนี้สิ ลักษณะปล่อยตัวไปเรื่อยๆ เรื่อยเจื้อยไปอย่างนั้นน่ะ อ่อนๆ จืดๆ จางๆ กับเป็นคนที่มี ลักษณะอุตสาหะวิริยะ ขวนขวาย อันไหนมันดีกว่ากันล่ะ ปล่อยตัวลอยๆล่องๆไป จืดๆจางๆ ยังงั้นแหละ โดยไม่มีหลักไม่มีเกณฑ์อะไร กับชีวิตนัก ไม่เอาใจใส่ หรือว่าไม่ขมีขมันอะไรกับชีวิต ที่จะสร้างสรรทั้งให้ตนเองนี่เจริญที่แท้จริง เป็นผู้เจริญทางอริยะ ประเสริฐขึ้น เจริญขึ้น โดยความเป็นจริง ซึ่งมันเป็นได้ทั้ง ๒ สภาพพร้อมๆกัน คือทั้งสภาพของพฤติกรรม ความสามารถ ความรู้แบบโลกียะนี่ เป็นความรู้ในการสร้างสรร ในการกอบก่อ ในการทำการทำงานอะไรก็แล้วแต่ มันก็เจริญด้วย เพราะว่าทฤษฎีหลักของเรา มรรคองค์ ๘ มีการคิด การพูด การงาน การกระทำประจำชีวิตอยู่พร้อมกัน แล้วพร้อมกันนั้น เราก็มี โพธิปักขิยธรรม มีโพชฌงค์สวมซ้อนอยู่ เราก็ได้ปฏิบัติธรรมอยู่ในนั้นเสร็จ ได้ระลึกรู้ต่อสัมผัส ต่ออะไร ต่ออะไรที่เราเอง เราได้พยายาม ได้ฝึกฝน ได้เรียนมามากแล้วไปในตัว มันเจริญอยู่ พร้อมกันทั้ง ๒ อย่าง ไม่ได้มีตกต่ำสักอันเลย เป็นแต่เพียงว่า เราจะเข้าใจ แล้วเราก็จะทำได้ช่ำชอง ชำนาญ คล่องแคล่ว ทำได้ไม่ตกไม่หล่นได้อย่างไร แค่ไหน ก็อยู่ที่แต่ละคน จะฝึกหัดเอา ถ้าไม่ฝึกหัด มันก็ไม่ได้

เพราะฉะนั้น ตื่นเช้ามาเราก็เบิกบาน เมื่อไหร่เรารู้สึกตัว เราก็เบิกบาน แม้แต่จะนอนหลับ นอนหลับ เราก็พยายามระลึกรู้ รู้ตัว มันรู้สึกตัวตื่นขึ้นมาเมื่อไหร่ ตั้งใจได้ ตั้ง เบิกบาน นอนไปด้วย ความเบิกบาน มันมีเรื่องอะไรที่อยู่ในภพอยู่ในจิต ที่มันเป็นฝัน เป็นเรื่องราวอะไร ที่มันยังฟุ้งซ่าน ยังเกิดอะไรต่ออะไรอยู่ในจิตใจ แล้วมันก็เป็นเรื่องที่ ไม่น่ารื่นรมย์อะไร เราก็ปล่อยทิ้ง ไม่ต้องไป วุ่นวายอะไรมัน เพราะว่ามันย่อมเป็นธรรมดา ธรรมชาติของจิต ที่มันยังมีความขุ่นมัว ยังมีความผูกพัน ยังมีความกังวล ยังมีอะไรต่ออะไรอยู่ ต่างๆนานาอยู่ในจิต มันก็ทำงานของมัน มันก็สังขารกันไป อะไรต่ออะไรกันไป เราก็ขจัดมันทิ้ง มันจะมาเล่นบทบาทอะไรอยู่ ก็เป็นธรรมชาติ ของสิ่งที่เรายังไม่หมด ยังล้างไม่ได้ มันจะมาทำงานอะไรๆ ไปตามเรื่องตามราวของมัน มันก็เป็น อำนาจ เป็นฤทธิ์ของตัวกิเลสที่เป็นตัวเจ้าเรือน มันก็ละเลงของมันไปตามเรื่องตามราว ไปเอาแน่ เอาเที่ยง เอาอะไรไม่ได้หรอก มันเป็นความเพ้อพก ความฝัน ความเพ้อพก มันเป็นยังโง้นยังงี้ ยังงี้ยังโง้น มีความอยากของเราบ้าง มีความกังวลของเรา มีความห่วงใยของเราบ้าง มีความกลัว กลัวบ้าง มันก็เลยรบกันเอง รบกันเองแล้วก็แก้ตัวให้แก่ตนเอง เอ้อ! เป็นอย่างนี้ก็ดีนะ หรือไม่เป็น อย่างนี้ก็ดีนะ อะไรต่ออะไรต่างๆ มันก็เลยเอามาเป็นเรื่องราว ของความฝัน ฝันไปเลอะๆ เทอะๆ เราไม่ต้องไปเอาใจใส่หรอก มันเป็นยังไง ก็วางทิ้งไป แล้วก็ทำให้แจ่มใสทุกเวลา ฝึกหัดเข้า จะชำนาญ ชำนาญ มีแต่สภาพที่ปลอดโปร่ง เบิกบาน เราปลอดโปร่งเบิกบาน เราก็ทำอะไรต่ออะไร ได้ดี อย่างน้อยที่สุด เราก็ได้รับอารมณ์แล้ว เป็นอารมณ์ที่ได้อาศัย เป็นวิหารธรรม เป็นอารมณ์ที่ ปลอดโปร่ง เป็นกำไร นั่นเป็นการฝึกหัด สติปัฏฐานด้วย รู้ตัวน่ะ จำไว้ รู้ตัวทั่วพร้อม มีสติสัมโพชฌงค์ เราก็รู้ว่า เอ๊อ! เราขณะนี้ อารมณ์เรามีอะไรข้องใจ ขุ่นใจ มันมีเรื่องไม่เป็นไร มันธรรมดา มันมีเรื่องที่เราให้ทำ ให้ทำงาน ให้ต่อสู้ เป็นเรื่องเป็นราว เป็นอุปสรรค เป็นสิ่งที่เรา จะต้องขวนขวาย สร้างสรร ทำอะไรก็แล้วแต่ แม้แต่ตัดกิเลสอยู่ ก็เป็นเรื่องให้เราทำ แต่ทำใจในใจ อย่างไร ที่มันจะเบิกบานร่าเริง ปลอดโปร่ง เบิกบาน ร่าเริงปลอดโปร่งอยู่ แม้ขณะนี้ กำลังเจอกับ อุปสรรค โอ๊! นี่คนกำลังด่าเรา นี่เขากำลังจะจัดการกับเรา กำลังจะมา โค่นฆ่าอะไรเรา เราก็เบิกบาน ปลอดโปร่งได้ ฟังเขาอย่างสบาย สบายใจ ฟังเขาอย่าง วางๆ อย่างโปร่ง ธรรมดา ไม่ต้องมาข้อง มีอะไรต้องให้มันมัวซัว อาตมาก็ไม่รู้จะอธิบาย ในภาษาสื่อให้คุณรู้ถึงอารมณ์ สภาพพวกนี้ ได้มากกว่านี้ยังไง ก็พยายามนะ พยายามอธิบาย แล้วอย่าให้มันขุ่นมัว อย่าให้มันทึบ อย่าให้มันตื้อ ให้มันโปร่ง อย่าให้มันถีนมิทธะ แล้วก็อย่าให้มัน อุทธัจจกุกกุจจะ ให้มันเต็มร้อย สตินี่เต็มร้อย โปร่ง รับ มีเอกัคคตารมณ์ มีความเป็นหนึ่ง สนใจอะไรก็รู้อันนั้นอยู่อย่างดี ไม่วอกแวก ไม่วุ่นวาย ไม่สับสน มีกำลังของความรับรู้ มีกำลังของสติเป็นร้อย สติแปลว่าร้อย สติ สตะนี่ มาจากรากศัพท์ที่แปลว่า ร้อย มีสติเต็มร้อย มีความระลึกรู้สึกนี่เต็มร้อย ให้มีความรู้สึก อย่างนี้เต็มร้อยอยู่ เต็มร้อยเป็นยังไง คุณก็พยายามตรวจตัวเองสิ สติเต็มร้อยเป็นอย่างไร แล้วนอกจากคำว่า สติเต็มร้อยแล้ว มันเป็น สติสัมโพชฌงค์หรือไม่ รู้ตัวทั่วพร้อมแล้วเราก็รู้เท่าทัน ต่อทวารทั้ง ๖ ได้ดูแลกายกรรม วจีกรรม มโนกรรม ก็มีอยู่เท่านี้ มึ ๙ ทวาร ทวารกาย วาจา ใจ กับ ทวารตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ มันก็มีเท่านี้ ที่ได้ดูแลควบคุม มี ๙ ทวารนี่ อย่าไปปิดทวาร ทั้ง ๙ นะ เปิดทวารทั้ง ๙ นี่อยู่ แล้วก็สัมผัสอะไร ต่ออะไรอยู่ ให้มันรู้ มันเข้าใจ แล้วก็ปรับปรุงไปเรื่อยๆๆๆ มันก็เข้าหลัก เข้าเกณฑ์เข้าเป้านะ

มาฟังธรรม ธรรมะที่มีความทะยานอยากเป็นมูล ๙ อย่าง ในข้อนั้น ธรรมะที่มีความทะยานอยาก เป็นมูล ๙ อย่าง เป็นไฉน
๑.เพราะอาศัยความทะยานอยาก จึงมีการแสวงหา
๒.เพราะอาศัยการแสวงหา จึงมีลาภ
๓.เพราะอาศัยลาภ จึงมีการวินิจฉัย
๔.เพราะอาศัยการวินิจฉัย จึงมีความกำหนัดด้วยอำนาจแห่งความพอใจ
๕.เพราะอาศัยความกำหนัดด้วยอำนาจแห่งความพอใจ จึงมีการฝังใจ
๖.เพราะอาศัยการฝังใจ จึงมีการหวงแหน นี่ตัวนี้น่ะร้าย กิเลสมันฝังใจ ไอ้ตัวกิเลสนี่ฝังใจ ถึงหวงแหนกิเลสนัก นี่ตัวนี้ๆ
๗.เพราะอาศัยการหวงแหน จึงมีความตระหนี่
ละเอียดนะ ฟังดีๆจะเห็นได้ พวกกิเลส อุปกิเลสที่มันมี อิทัปปัจจยตากัน มีเหตุมีปัจจัยกัน อย่างนี้ๆๆๆ อย่างนี้นี่ เพราะอาศัยการหวงแหนจึงเกิด จึงมีความตระหนี่
๘.เพราะอาศัยความตระหนี่ จึงมีการอารักขา
๙.เพราะมีการอารักขาเป็นเหตุ จึงมีการจับท่อนไม้ การจับศาสตรา การทะเลาะ การแตกแยก การกล่าวขัดแย้งกัน การชี้หน้ากัน การพูดส่อเสียด การพูดปด และธรรมะที่เป็นบาปอกุศล อีกเป็นเอนก นี้คือธรรมะที่มีความทะยานอยากเป็นมูล ๙ อย่าง

เรามาฟังๆดูว่า มันมีเหตุเป็นอิทัปปัจจยตากันยังไง มันถึงได้สาวโยงจากเบื้องต้น ความทะยานอยาก ซึ่งเป็นเหตุร้ายตัวเดียว ทะยานอยาก แล้วเราก็ต้องรู้ด้วยนะ ว่าความทะยานอยากนี้ มาบำเรอตน เอาตรงนี้ก่อน ความทะยานอยากมาเป็นตัวกูของกู

อาตมาจะพูดในฐานมานะก่อน ในฐานที่จะว่าปลายก็ปลาย ทะยานอยากแบบกาม มันเป็นฐานต้นน่ะ ฐานทะยานอยากแบบกาม มันเป็นฐานต้น ทะยานอยากอย่างมานะนี่ เป็นฐานปลาย เราทะยานอยาก อยากจะช่วยเหลือผู้อื่น เอาสูงๆไปเลย อยากจะช่วยเหลือผู้อื่น เป็นความทะยานอยากเหมือนกัน แต่ว่าความทะยานอยาก อยากจะช่วยผู้อื่นโดยที่เราเอง เราไม่หมดตัวตนนี่นะ มันเป็นมานะกิเลส เป็นความคิดที่ดีเหมือนกัน แต่เสร็จแล้ว เราไม่เข้าใจ ลึกซึ้ง เราก็อยากจะช่วยผู้อื่น เพราะเขามีการแสวงหางานที่จะช่วยผู้อื่น ทิศทางที่จะช่วยผู้อื่น นี่เพราะความทะยานอยาก จึงเกิดการแสวงหา

ทีนี้เพราะอาศัยการแสวงหาจึงมีลาภ พอได้ช่วยผู้อื่นแล้ว เราทำ พยายามที่จะทำอะไรช่วยผู้อื่น แน่นอน มันจะมีผลตอบแทน อย่างน้อยที่สุด ผู้ที่เราช่วยเหลือนั่นแหละ เขาจะมีจิตรับรู้ อย่างน้อย เขาก็ให้การขอบคุณ ส่วนว่าเราไปช่วยเขาแล้ว เขาไม่รู้สึกขอบคุณ เขาไม่รู้สึกว่าเป็นบุญคุณ ตอนนี้ตัดเลย ถ้าเป็นอย่างนั้นนะ ถ้าเผื่อว่าเรามีกิเลส มานะ ถือดีเลยนะ โดยที่เรียกว่าเป็น กิเลสมานะ ถือดี ก็เราทำดีนี่ มันก็ต้องมีลาภตอบแทน มีผล เราถือดี แล้วเราก็ยังไม่ฉลาดเลย เราต้องการความตอบแทนอยู่ แน่นอน เรายังไม่ฉลาด เรายังไม่ได้ปฏิบัติธรรมเป็นขั้นเป็นตอน อะไรไป ทำแล้วมันจะต้องหวังผล คือเกิดลาภ อย่างน้อยที่สุด บอกแล้วว่าเกิด ความขอบคุณ เขารู้สึกว่าเป็นบุญเป็นคุณ เป็นผลผลิต หรือเป็นงานของเราที่ทำให้แก่เขา เราช่วยเขา อะไรก็ตามแต่ เราจะช่วยด้วยวิธีไหน จะช่วยทำงานสร้างสรรจริงๆเลย ไปรับใช้กอบก่อ ขุดดิน ฟันหญ้าอะไร ก็ตามใจเถอะ หรือแม้จะช่วยในความรู้ ช่วยในอะไรก็ตามใจ ได้ช่วยเหลือขึ้นมา จะช่วยคน ว่ายังงั้นเถอะ เขาต้องขอบคุณบ้างล่ะ ถ้าเขาไม่ขอบคุณ ทีนี้ถ้าเผื่อว่า คุณยิ่งไม่สูงในธรรมเลย ไม่มีภูมิธรรมเลย คุณก็จะโกรธเลย พรวดไปถึงข้อ ๙ เลย จับท่อนไม้ ศาสตรา มาทะเลาะเบาะแว้ง ขี้หน้าขัดแย้งอะไรไปเลย มาข้อ ๙ พรวดเลย ทันทีเลยนะ ก็เกิด ธรรมะที่เป็นบาปอกุศลมากมาย ทันที เพราะเราเอง เรายึดอามิส ยึดสิ่งตอบแทน แล้วเราก็ถือดี เราทำดีจริงๆด้วยนะ ช่วยเขาจริงๆ สร้างสรร ช่วยเขาทำดีจริงๆ

ทีนี้ถ้าเผื่อว่าความทะยานอยาก ในการที่จะช่วยเหลือผู้อื่น หรือสร้างสรรเพื่อมนุษยชาติ เป็นโลกานุกัมปายะ อนุเคราะห์โลก เป็นประโยชน์ต่อพหุชนคนทั้งหลายมากมาย ได้เท่าไหร่ก็ยิ่งดี แล้วเราก็ประสงค์ที่จะทำ อย่างทุกวันนี้ เราฝึกฝนอยู่นี่ แล้วเราก็พยายามสร้างสรร เพื่อแจกจ่าย เจือจาน เราก็กินน้อยใช้น้อย ละกิเลสที่เห็นแก่ตัว แม้แต่เสพติด ทางกาม ทางรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัสอะไรก็แล้วแต่ หรือว่าลาภ ยศ สรรเสริญ อะไร เราก็พยายามรู้เท่าทัน แล้วก็ไม่เห็นว่า มันเป็น สิ่งที่ควรจะได้ตอบแทน แม้ที่สุด สรรเสริญ หรือการขอบคุณ การระลึกรู้บุญคุณ เราก็ไม่พยายาม ที่จะให้มันเป็นอะไร ที่ก่อเกิดในจิตใจเรา ที่ไปอยากได้สิ่งอย่างนี้ มาตอบแทน เราก็ฝึกฝนอยู่ เรียนรู้อยู่

เพราะฉะนั้น ถ้าเผื่อว่าเราเอง เราทะยานอยาก นี่จะพยายามอธิบายคำว่า ทะยานอยากนี้ ให้เห็น ๒ นัย ที่ชัดเจนเสียก่อน เราจะทะยานอยาก เป็นความปรารถนาดี หรืออยากก็ได้ อยากดี อยากจะสร้าง ความดี อยากจะทำความดี อยากจะทำประโยชน์ เป็นเลือดโพธิสัตว์น่ะ มันเป็นเลือดโพธิสัตว์ แล้วเราก็เรียนรู้อย่างที่กล่าวแล้วเมื่อกี้นี้ ว่า เราไม่ได้ทำเพื่อต้องการที่จะได้อะไร ตอบแทนหรอก วางใจ หัดทำ อย่าว่าแต่ไม่ตอบแทนเลย ทำไปแล้วได้รับคำตำหนิ ไม่ได้รับคำสรรเสริญ ไม่ได้รับ คำขอบคุณ ได้รับคำตำหนิ เสียด้วยซ้ำ ไม่เห็นบุญเห็นคุณด้วยซ้ำ นอกจากไม่เห็นบุญ ไม่เห็นคุณแล้ว หาว่าเราทำลายเสียอีกแน่ะ อย่างที่เรากำลังเจออยู่เดี๋ยวนี้ หาว่าเราจะมาทำลายศาสนา จะมาทำความไม่มั่นคงให้แก่ประเทศชาติ จะมาทำความเสื่อมเสีย ซึ่งเขาก็พูดของเขาเองแหละนะ ทั้งๆที่เขาว่าเราทำดี มันค้านแย้งกันอยู่ในตัว ว่าเราทำดี เป็นประโยชน์ต่อสังคม อะไรต่ออะไรต่างๆนานา มาเสียสละสร้างสรรอะไร แต่ทำผิดกฎ ทำผิดหลัก เอ๊! มันควรจะแก้ที่ เราทำดี หรือควรจะแก้ที่กฎกันแน่ ถ้าเผื่อว่ามันทำดี เขาก็ยอมรับผลว่ามันดีแล้ว มันไม่น่า จะเป็นความผิด มันน่าจะผิดที่กฎ ไม่ให้คนทำดีต่างหากเล่า กฎนี้มันค้านแย้งกับ คนไปทำดีได้ยังไง มันต้องไปแก้ที่กฎ ไม่ใช่มาแก้ที่เรา มันแก้ผิดที่ แล้วเขาก็ไม่ระลึกรู้เลย ให้มาแก้ที่ เรา ..ฯลฯ..

แม้แต่เขาจะว่าเราด้วยซ้ำไป อย่าว่าแต่เราทำดี ทำจะช่วยเฟือฟาย จะสร้างสรรอะไรต่ออะไรให้แล้ว เขาก็ยังจะเล่นงานเราเสียอีก อย่าว่าแต่ได้รับคำขอบคุณเลย ตำหนิติเตียนก็ไม่ใช่ จะเอาตายด้วย จะห้ามกั้นไม่ให้เราทำ ทั้งๆที่ว่าเราทำดี แล้วก็ห้ามกั้นไม่ให้เราทำดี แล้วจะให้ใครทำดี ตัวเองก็ไม่ได้ทำดีเท่าเรา แล้วจะเอาใคร มาทำดีในสังคม แล้วสังคมมันจะเป็นยังไง คนทำดี ไม่ให้ทำดี แล้วตัวก็ไม่ทำดี แล้วเป็นยังไง สังคม มันน่าฉงนนะ ว่าคนเรานี้ฉลาดหรือโง่กันแน่ ก็ไม่รู้ เป็นขนาดระดับนักคิด นักวิชาการ นักรู้ เป็นปราชญ์ด้วยนะ รับเป็นปราชญ์กัน ฯลฯ

นี่ก็พูดสู่ฟัง พูดอย่างนี้แล้วก็เข้าใจดี วิเคราะห์วิจัย อะไรต่ออะไรด้วย มันก็รู้สึกว่า เออ! พวกเรา ก็ยังมีสภาพที่อารมณ์ หรือว่า ความต้องการอะไร ที่ว่าจะฟัง ๒ ส่วน ๒ ด้านอยู่ นิสัยมันชอบ ความทะเลาะกัน มันมันในหัวใจ ชอบบู๊ในหัวใจบ้าง ก็ฟังยังงี้บ้าง ก็พอฟังได้น่ะ

เอาละสรุปแล้ว แม้จะไม่ได้อะไรตอบแทน จะได้สิ่งที่กลับไม่น่าชื่นใจย้อนมา เสียด้วยซ้ำก็ตาม เราก็จะศึกษาความจริงว่า กรรมที่เราทำ กาย วาจา ใจที่เราได้ทำลงไปนั้น มันดีจริงหรือไม่ดีจริง ตามที่เขาเอง เขามีเหตุผล มีโน่นมีนี่ค้านแย้ง โต้ต้านอะไรมา ก็แล้วแต่ ถ้าโต้ต้านมีเหตุมีผล มีนัย มีเงื่อนไข อะไรต่ออะไร มีข้อวิจัยวิจารณ์ยังไงมา เอามาให้เรารู้อีก เราก็เอามาพิจารณา ตรวจสอบ ให้ดีๆจริงๆ เมื่อตรวจสอบแล้ว เอ๊ะ! มันก็ไม่ใช่ข้อผิด ไม่ใช่ความผิด ไม่ใช่สิ่งเสียหาย ที่จริงมันดี แต่เขาเข้าใจผิดเอง เมื่อเราตรวจสอบดีแล้วก็วางใจอีกอย่างเก่า เราไม่ควรจะไปทำใจหม่นหมอง ไม่ควรจะไปทำใจอะไรต่ออะไรทั้งนั้น อย่างที่พูดแต่ต้น ที่อธิบายมาก่อนที่จะเข้าสู่สูตรนี้ เสร็จแล้ว เราก็ทำต่อไป เท่าที่เราจะประมาณ บางทีถ้าทำไปอีก มันจะทำให้มันจัดจ้านเท่าเก่าไม่ได้ ต้องรู้จัก กาลเทศะ รู้จักจังหวะยืดหยุ่น จะไปทำอะไรประเภทที่เรียกว่า ดิ่งๆๆๆไป ไม่รู้จักการปรับแปรปรับปรุง ไม่มียุทธวิธี ไม่ได้หรอก พังไปหมด สังคมนี้ พาซื่อ เถรตรงอะไร จนเกินการ ไม่มีไหวพริบ ไม่ได้น่ะ

เราจะทะยานอยากอย่างนี้ เพื่อสร้างสรร เพื่อผู้อื่น ไม่ใช่เพื่อตัวกูของกู เป็นความปรารถนาดี ที่จะทำดีนั้น แล้วก็มีการพิจารณา แม้ไม่ได้รับอะไรตอบแทนดังกล่าวแล้วก็ตาม คนอย่างนี้อยู่ในโลก ไม่ได้เป็นการขาดทุนอะไรเลยของโลก เป็นการได้กำไรของโลก แล้วผู้ที่กระทำอย่างนี้จริง ก็เป็นตัวอย่าง อันดีงามของโลก หาได้ยาก ผู้ที่จะทนทาน ขวนขวาย ทนทาน หรืออดทน ที่จะสร้างสรร มีความอุตสาหะ ไม่ท้อแท้ง่าย มีความพากเพียร รู้จักความจริงตามความเป็นจริง แล้วก็กอบกู้ เพื่อสร้างสรรแก่หมู่ชน การได้ทำอย่างนั้น เป็นการละอัตตา เป็นการละอัตภาพ เป็นการละอัตตา ว่าเป็นผู้ที่ไม่เหลือตัวตน เป็นผู้ที่เสียสละ เป็นผู้ที่อนุเคราะห์โลก มีคุณค่าแก่โลก อย่างแท้จริง เกิดเป็นคนมีกรรมกิริยา มีความรู้ความสามารถ เหนือกว่าสัตว์ทั้งหลายในโลก ก็ควรจะมีประโยชน์ คุณค่าลงไปให้แก่โลกมากที่สุด ดินก็ควรได้รับประโยชน์จากเรา น้ำก็ควรได้รับ ประโยชน์จากเรา ลมก็ควรจะได้รับประโยชน์จากเรา อากาศธาตุก็ควรได้รับประโยชน์ จากเรา พืชพันธุ์ธัญญาหาร แม้แต่สัตว์ใดๆ โดยเฉพาะมนุษย์ด้วยกัน ควรจะได้รับประโยชน์จากเรา เราเป็นตัวประโยชน์คุณค่า เกิดมาเป็นตัวคุณค่าประโยชน์ในโลก ตายเมื่อใด ก็ควรเกิดมาอีก มาเป็นประโยชน์คุณค่า อยู่ตลอดกาลนาน นอกจากว่า คุณเองคุณจะพอแล้ว ปรินิพพาน แล้วก็มีสิทธิ์ ก็ปรินิพพานไป ได้สร้างสรร ได้ทำคุณค่า ได้หลงมาเกิด ต้องใช้คำว่าหลง เพราะว่า คนเราไม่รู้ว่าเกิดมานี่ มันเกิดมาตั้งแต่เมื่อไหร่ มันมีอวิชชาพาเกิดมา จนเราได้พัฒนาอวิชชา เป็นวิชชา จะรู้ว่า อ๋อ! เกิดมาเป็นชีวิตถึงขั้นได้เป็นมนุษย์นี่ มันมีคุณค่าอยู่ตรงนี้เท่านั้นเอง มีประโยชน์อยู่ตรงที่ได้ช่วยเหลือผู้อื่น ได้สร้างสรรอะไรให้แก่โลก โลกนี้ได้รับประโยชน์จากเรา บอกแล้ว ตั้งแต่ดิน น้ำ ไฟ ลม ไปจนกระทั่งสารพัดล่ะ อะไรก็แล้วแต่ ได้ช่วยเหลือเกื้อกูล ดินไม่งาม ก็ช่วยเหลือให้งาม น้ำไม่ใส ทำให้ใส ไม้ไม่ร่ม ทำให้ร่ม ลมไม่พลิ้ว ทำให้พลิ้ว วิวไม่สวย ทำให้สวย คนไม่มีน้ำใจ ทำให้มีน้ำใจ ใครไม่มีไฟทำงาน ช่วยกันให้มีไฟทำงาน ใครไม่เบิกบาน มาช่วยกัน ให้เป็นผู้ที่เบิกบานในใจกันให้ทั้งนั้น เบิกบานในธรรม เบิกบานในใจ ไม่ต้องมาก่อกรรมก่อเวร สิ้นกรรมสิ้นเวร หมดกรรมหมดเวรกันให้ได้

ถ้าเราเองเป็นคนอย่างนี้ ถ้าเรียกมันว่าเป็นความทะยานอยาก นี่เป็นความ ทะยานอยากของ พระโพธิสัตว์ เป็นความปรารถนาดีของพระโพธิสัตว์ เป็นอิจฉาวจร หรือ อากังขาวจร ที่เป็นคุณค่า เถรวาทไม่สอน ถือว่าความทะยานอยากอะไรนี่ ตีขลุมว่าเป็น ความเสียหายหมด มีแต่ประโยชน์ตน ประเภทสั้นๆ ประโยชน์ตนที่ไม่รอบด้วย มันสุดโต่งไป มันก็เลยยิ่งกลายเป็นภพลึก เป็นภพลึกที่ ไม่มีญาณปัญญาจะรู้ แล้วไม่มีอะไรกระแทกกระทุ้ง อะไรออกมาหรอก กลายเป็นสุดโต่ง เถรวาท จึงกลายเป็นสภาพนี้

เหตุที่เถรวาทกลายเป็นสภาพนี้ ก็เพราะว่า พระไตรปิฎกของเถรวาทนี่ พระกัสสปะเป็นผู้ที่ เป็นประธาน ในการสังคายนา หรือ รวบรวมพระไตรปิฎกคำสอน ของพระพุทธเจ้านั่นเอง รวบรวม คำสอนของพระพุทธเจ้ามาไว้เป็น ๓ ตะกร้า ไตรปิฎก แปลว่า ๓ ตะกร้า รวบรวมเอาไว้ เมื่อรวบรวมไว้ แน่นอน ผู้เป็นประธาน ผู้ที่เป็นลูกศิษย์ลูกหา ผู้ที่จะเป็นสังฆสภา ก็ยังเป็นคนชนิด สายพระมหากัสสปะ พระมหากัสสปะนี้ เป็นสุดยอดของฤาษีที่ยังนับว่าพุทธ ฟังดีๆนะ คุณจะรู้เหตุเลยว่า ทำไมพระไตรปิฎก ของเถรวาท จึงมาเป็นอย่างนี้ แล้วทำไมถึงได้เอียงเทไป สุดโต่งไป ในทางเป็นฤาษี ก็เป็นฤาษี พระกัสสปะสิ้นไปนานแล้ว ตั้ง ๒ พันกว่าปี ใครจะมาควบคุม ความเป็นมัชฌิมา ก็มันอยู่เขต ชายแดน ป่า ก็พระกัสสปะนี่อยู่ เลาะป่าอยู่ตลอดกาลนาน ไม่เข้ามง เข้าเมืองล่ะ พระกัสสปะ ฟังดีๆนะ คุณจะเข้าใจ จะเข้าใจเลย เลาะอยู่แต่ข้างป่านั่นล่ะ แพลบเดียว มันก็ออกนอกเขตไปแล้ว มันก็ไถลโต่งออกไปจากความเป็นพุทธแล้ว ออกไปเป็นฤาษีทันที

Š เพราะฉะนั้น แนวโน้มสำนวนโวหาร คำอะไรต่ออะไร ต่างๆนานา มันค่อน ข้างเอียงมาทางด้าน จริตของตน จริตในข้างที่ว่า มันชอบป่า มันเป็นพระป่า เพราะฉะนั้น สำนวนที่บอกอยู่ป่า อยู่เขา อยู่ถ้ำ อยู่คนเดียว อะไรต่ออะไรต่างๆนานาพวกนี้นะ โอ๊! เยอะ ถึงอย่างนั้นก็ตาม พระกัสสปะ ก็ไม่ได้อยู่คนเดียว อยู่กับบริวารเป็นร้อยๆ ฯลฯ...

เอ้า! ทีนี้เข้าเรื่องว่าทะยานอยาก เมื่อกี้นี้พยายามที่จะแบ่งเป็น ๒ อย่าง ให้เห็นชัดเจนว่า ถ้าทะยานอยากมาบำเรอตน เป็นการบำเรอตัวกูของกู ไม่ว่าจะอย่าง หยาบ กลาง ละเอียด อย่างไรก็แล้วแต่ นี่พยายามที่จะต้องพิจารณาวินิจฉัยให้ดีๆนะ ตัด curve ให้ออก ถ้าตัดไม่ออกแล้ว คุณก็ไม่รู้ว่า ทะยานอยากนี้ อย่างใดเป็นทะยานอยากอย่างอุดมการณ์ หรือทะยานอยาก อย่างไม่เป็นกิเลส ที่จริงมันเป็นเหมือนกัน มันเป็นตัณหา เป็นวิภวตัณหา เป็นกิเลสเป็นตัณหา เหมือนกัน เป็นความอยาก ตัณหา เป็นความอยากชนิดที่เรียกว่า ยังเป็นคุณแก่โลก เป็นคุณแก่โลก แล้วก็เป็นการล้างอัตตาด้วย ที่เป็นตัณหาล้างตัณหา นี่คือตัณหาล้างตัณหาเป็นความทะยานอยาก หรือ เป็นตัณหาล้างตัณหา เป็นวิภวตัณหา ไม่ใช่เพื่อตัวกูของกู เพื่อผู้อื่น เพื่อความเจริญของตน เพื่อความประเสริฐของตน เพื่อความเจริญของตัวกูของกู เป็นความประเสริฐ ของตัวกูของกู แล้วก็เป็นคุณแก่โลกด้วย เป็นคุณแก่สังคมมนุษยชาติ เป็นคุณแก่โลกทั้งโลก อย่างที่พูดไปแล้ว แม้แต่ดิน น้ำ ไฟ ลม อะไรก็แล้วแต่ ถ้าเราเป็นคนขวนขวาย แล้วมีปัญญาช่วยเหลือทั้งนั้น มันก็จริง ทั้งนั้น

เพราะฉะนั้น เมื่อเกิดมาเป็นมนุษย์ ไม่ได้สูญเปล่าเลย เป็นมนุษย์ที่มีคุณค่ายิ่ง เรียนดีๆ ศึกษาดีๆ แล้วจะรู้ว่า เราเกิดมาไม่เสียชาติเกิด เกิดมาแล้วก็ได้ศึกษา มีนิพพานเป็นที่หมายด้วย เป็นปรินิพพานอย่างจริงจังด้วย สูงสุดยอด ไม่เสียค่า เราจะหมดอัตตา จริงๆ เพราะเรายิ่ง จะเสียสละ เรายิ่งจะขวนขวาย เรายิ่งจะให้ตัวเราเองเป็นตัวที่ คุณค่าประโยชน์ ไม่เห็นแก่ตัวจริงๆ ไม่เห็นแก่เหน็ดแก่เหนื่อยอะไรละ มันเหนื่อยก็รู้เหนื่อย เหนื่อยพอสมควรจะหยุด ค่อยหยุด ถ้าเหนื่อย ไม่สมควรจะหยุด เราก็จะไปหยุดทำไม เราก็ทำ มันยิ่งแข็งแรง เหนื่อยขนาดหนึ่ง มันยิ่งพาให้เราแข็งแรง ยิ่งทำก็ยิ่งชำนาญ ยิ่งทำก็ยิ่งแคล่วคล่อง ยิ่งเก่ง ยิ่งมีความรู้ จะเสียอะไร ใช่ไหม

เพราะฉะนั้น เราแบ่งให้ชัดก่อน นี่เป็นประเด็นแรกน่ะ ทะยานอยากอย่างที่ เป็นผลในการล้างกิเลส ตัณหาของเราด้วย ตัณหาล้างตัณหาด้วย มันเป็นวิภวตัณหา เมื่อถึงตอนสูงที่สุดแล้ว คุณจะตัด วิภวตัณหา ซึ่งเราก็เรียนรู้อุปกิเลสอีกด้วย เป็นมานะสังโยชน์ หรือเป็นอุทธัจจสังโยชน์ สูงขึ้นไปนี่ เราก็เรียนรู้ด้วยวิชชาด้วย อาตมาเคยใช้คำพูดว่า เราทำงาน พระอรหันต์เจ้า ทำงานด้วยอุทธัจจะ ทำงานด้วยอุทธัจจจิต ที่จริงน่ะ มันไม่ใช่ภาษาที่น่าฟังหรอก ถ้าอุทธัจจะหมายความว่า เราไม่รู้ มันฟุ้งซ่านโดยไม่รู้ แต่ถ้ารู้ก็คือ เราใช้จิตของเรานี่ขึ้นมาทำงาน ลอยเหนือขึ้นมา อุทธัจจะนี่ ลอยเหนือขึ้นมา แล้วก็มาสร้างสรร ทำงานอยู่ในการควบคุมของเรา จะสังขารเป็นปุญญาภิสังขาร เป็นอิทธาภิสังขาร ได้ อย่างพระพุทธเจ้าก็ใช้เป็นอิทธาภิสังขารเลย ปรุงสร้างเพื่อคนอื่น ไม่ใช่เพื่อตัวเรา แล้วเราก็รู้ว่า เรายังมีขันธ์ ๕ เรายังมีเวลา เรายังมีกาละ เรายังมีโอกาส เราก็ทำไป สร้างสรรไป มีอิทธิบาท อิทธิบาทนี่ มันสามารถทำให้อายุยืนยาวได้อีกด้วย อิทธิบาทนี่ ที่ว่า อายุยืนยาว

ถ้าคุณเข้าใจสูงสุดเลยว่า พระพุทธเจ้าว่า ถ้าท่านมีอิทธิบาท ท่านจะมีอายุ เกินที่ท่านจะปรินิพพาน นั่นน่ะ ซึ่งพระอานนท์ได้ต่อว่า พระพุทธเจ้าก็ตอบว่า อ๋อ! เราเอง เรา อานนท์ ถ้าเราจะมีอิทธิบาท จะยังชีพต่อไปอีกให้ถึงกัป หรือเกินกว่ากัป ก็ย่อมได้ แต่ท่านก็ปลงอายุเสียแล้ว ท่านจะตายตอนนี้ ท่านจะตายแค่อายุ ๘๐ นี่ ท่านก็ปลงอายุของท่านเอง แต่ถ้ามีอิทธิบาทแล้ว ท่านจะทำได้นี่ ถ้าคุณฟังอันนี้ออกแล้ว คุณจะเห็นได้เลยว่า ตายแล้วเกิดได้ ท่านดวงจะต้องตาย ๘๐ จะเกิน ๘๐ ไปไม่ได้ ยมบาลไม่ยอม ใช่ไหม แต่พระพุทธเจ้าท่านบอกว่า ก็มันอยู่ที่เรา อานนท์เอ๋ย ถ้าเราจะใช้ อิทธิบาทหน่อย เราจะอยู่ร้อย จะอยู่เป็นกัป ที่จริงกัปของท่านไม่ได้ตายแค่ ๘๐ กัปนั่น หมายความว่า รอบของท่าน ท่านควรตาย ไม่ใช่รอบตอนนั้นกัป เป็นรอบของสังคม เป็นรอบของ ความเหมาะควร มันประมาณร้อย เป็นกัปประมาณร้อยปี เป็นกัป แต่ท่านตายก่อน ก่อนกัป หรือเกินกัป หรือจะเกินกว่าร้อยก็ได้ อายุคนในราวนั้น เฉลี่ยแล้วประมาณ กัปของอายุของกัป ของคนที่หมายก็ได้ นั่นแสดงว่า จะอยู่เกินดวง จะอยู่เกินความเหมาะควร คือร้อย ก็ยังได้ นี่ไม่เหมาะ ควรด้วย ๘๐ จะเกินกว่าร้อยก็ได้ด้วยอิทธิบาท ได้ด้วยความเป็นตัวเอง ตัวเองนี่แหละ จะอยู่หรือจะตาย ถ้าเข้าใจอันนี้ด้วยเลยนะ จะรู้ว่า โอ๊! ตายแล้วเกิดได้ หรือว่า ไม่เกิดล่ะ จะตายเลย จะสูญเลยได้ ปรินิพพานนี่ สูญ จะสูญเลยก็ได้ ไม่เกิดอีกแล้ว นี่เรามี ฤทธิ์ถึงขนาดนี้ ซึ่งอาตมาเอง อาตมาก็เอามาเปิดเผย เอามาอะไร เพราะว่าอาตมาไม่ใช่ สายพระกัสสปะ อาตมาสายสารีบุตร สายสารีบุตร อาตมาไม่ใช่สายกัสสปะ อาตมาก็รู้อย่างนี้ แต่อาตมาก็รู้ ถึงแม้ว่าอาตมาไม่ใช่สาย พระกัสสปะ อาตมาก็รู้ในสายของเจโต ไม่ใช่ไม่รู้ เราก็เข้าใจ เรื่องของสายเจโต มันจะมีอะไร ต่ออะไรแค่ไหนน่ะ

เมื่อเราเข้าใจในสภาพของคุณค่าของชีวิต จะมีชีวิตอยู่โดยไม่ทุกข์ หรือ ทุกข์ก็ทุกข์สิ่งที่เลี่ยงไม่ได้ เป็นสภาวทุกข์ เป็นทุกขขันธ์ หรือเป็นนิพัทธทุกข์ เป็น อาหารปริเยฏฐิทุกข์ วิปากทุกข์อะไร ที่มันจะต้อง ยังตามมาอยู่ เพราะเรายังไม่หมดขันธ์ วิปากทุกข์ เป็นอกุศลที่เราเคยสร้าง มาแต่ปางบรรพ์ ขนาดตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้ว มันก็ยังไม่ยอม มันก็ยังตามมา จนได้นั่นแหละ เท่าที่บารมีจะมี มีบารมีมากก็ไปได้ เรียกว่าหมาไล่เนื้อ มันวิ่งไล่ไม่ทัน มีบารมีมาก ก็คือ สร้างกุศล มีฤทธิ์แรงนำได้มาก อกุศลก็วิ่งตามไม่ทันได้มาก ถ้าเผื่อว่าบารมีไม่มาก อกุศล ก็วิ่งตามได้ทันมาก ก็มีอุปสรรค วิบาก หรือว่าทุกข์ ทุกข์โดยสภาพมากหน่อย พระพุทธเจ้า ก็ทุกข์ ขนาดพระพุทธเจ้า ที่ต้องโดนวิปากทุกข์มันเล่นงานเอาบ้าง เราก็รู้ว่า สิ่งที่มันเลี่ยงไม่ได้ มันยังมีขันธ์ ๕ นี่ มันยังเลี่ยงไม่ได้ ในสภาพพวกนี้ ต้องแก่ ต้องเจ็บ ต้องป่วย เป็นพยาธิทุกข์บ้าง เป็นวิปากทุกข์บ้าง ส่วนทุกข์อื่นๆ จะเป็นปกิณกะทุกข์ เป็นสันตาปทุกข์ เป็นอะไรอีกบ้าง สหคตทุกข์ มี ๔ วิวาทมูลกทุกข์ พวกนี้ ทุกข์พวกนี้มันสิ้นไปแล้ว โดยเฉพาะ ปกิณกะทุกข์ ทุกข์ที่เรารู้ต่อ สิ่งที่เป็นอริยสัจ ๔ ปกิณกะทุกข์นี่ อริยสัจ ๔ โดยตรง สันตาปทุกข์ ก็พวกราคะ โทสะ โมหะ เป็นกิเลสแท้ๆ ทุกข์เพราะกิเลสแท้ๆ พวกนี้ไม่มีแล้ว สันตาปทุกข์ไม่มี สหคตทุกข์ หรือว่า วิวาทมูลกทุกข์ไม่มี เพราะเราไม่ไปก่อวิวาทมาเป็นมูลให้ทุกข์แก่เราเอง เราไม่ไปก่อ เราทำ อย่างอาตมานี่ ไม่ได้ไปวิวาทกับเขานะ อาตมามีอุปสรรคขนาดนี้นี่ อาตมาไม่ได้ ไปวิวาทกับเขา ประมาณแล้ว อาตมาก็บอกว่าอาตมาทำพอดี อาตมาไม่ได้ไปก่อเกินอะไร อาตมาทนได้ ไม่ได้ทุกข์ อะไรขนาดนี้ ไม่ได้ทุกข์ เห็นว่าต้องทำขนาดนี้แหละ มันจึงจะมีผล ที่จะทำให้เกิด การเปลี่ยนแปลง ให้เกิดการพัฒนา เกิดการสังเคราะห์ขึ้นมา ถ้าไม่เกิด การสังเคราะห์ ไม่เปลี่ยนแปลง มันก็สูญเปล่า เท่าที่เขาทำกัน อาตมาไม่เห็นมันเกิดการสังเคราะห์ ตรงไหน มันไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงตรงไหน ไม่เกิดการพัฒนาอะไร มีแต่ เสื่อมกับเสื่อม อยู่อย่างนั้นแหละ ถ้าเผื่อว่า เราไม่เข้าข้าง หรือ ไม่ลำเอียงเกินไป จะเห็นได้ว่า อโศกเรานี่ ทำให้ศาสนา กระเตื้องขึ้นเท่าไหร่ ให้เกิดการตื่นตัว ให้เกิดการพัฒนา ขึ้นมาตั้งเท่าไหร่ นี่ก็ผลจาก การประมาณ เกิดจากการกระทำ แล้วเขาก็หาว่าแรง ใช่ เขาทำแรงอย่างนี้ไม่ได้หรอก คนที่ไม่มีภูมิฐาน คนที่ไม่มียุทธวิธี ไม่มียุทธการ พูดกันง่ายๆก็คือ ไม่มีบารมี ว่ากันจริง ทำไม่ได้ ทำไม่รอดหรอก ไปไม่รอด มันได้เท่าที่คนทำได้ เท่าที่ขนาดหนึ่งของคน ไม่ใช่ว่ามันไปทำเหมือนกัน ได้หมดเสียเมื่อไหร่ พวกคุณมาทำเหมือนผมไม่ได้ ท่านทั้งหลายนี่ ท่านทำไม่ได้ บารมีไม่ถึง ทำไปก็ ไปเห็นช้างขี้ ขี้ตามช้าง ก็ตายเปล่าๆ ไปไม่รอด นี่ก็อธิบายประกอบ ให้เห็น ชี้ให้เห็นว่า สภาพต่างๆ นานานี่ มันจะเป็นประโยชน์ยิ่งใหญ่ในชีวิตที่เกิดมา ทุกข์ที่มัน เลี่ยงไม่ได้ เราก็เรียนกันมาพอสมควร ทุกข์ที่มันเลี่ยงได้ เป็นเป้าหมายของอริยสัจ เป้าหมายหลักๆ เราก็รู้แล้ว เราก็พยายามทำให้มัน ถูกเป้า ถ้าไม่เช่นนั้นแล้ว เบลอๆ

ทุกวันนี้อะไรก็ทุกข์ อะไรก็ทุกข์ สุดโต่งไปจนกระทั่ง.. เพราะปัญญาที่ละเอียดลออ ของการรวบรวม พระไตรปิฎกนี่ มันไม่พอ ของมหายานเขารวบรวมไว้เยอะคำสอน ไอ้ทางนี้ก็สรุปตามประสาของคน ที่พวกสายเจโต คำบรรยายมันจะไม่ค่อยละเอียดหรอก คำบรรยายมันจะไม่ค่อยละเอียด มันก็จะสั้นๆ สั้นๆ อย่างนี้แหละ นอกจากสั้นๆแล้ว ซ้ำซากเยอะด้วย สายของเจโตนี่ จะเป็นอย่างนี้ เพราะฉะนั้น ของพระกัสสปะรวบรวมมาไว้ มันจึงเป็นลักษณะสุดเขตของฤาษี แต่ว่าแม่นนะ แม่น เจโตนี่จำแม่น ไม่ค่อยผิด พระอานนท์ ก็เล่นสายเจโตของที่อยู่ในเขตของที่พระกัสสปะรับมา พระอานนท์นี่สายอย่างนี้ มันเป็นแกนของมัน มันจะเกิดอันนี้ มันต้องเป็นอย่างนี้แหละนะ พระกัจจายนะ ก็เป็นผู้ที่คล้ายๆกับ พระสารีบุตรนะ แต่ก็มีส่วนที่เอียงมากับเจโตไม่ใช่น้อย พระกัจจายนะนี่ ก็เป็นผู้ร่วมผู้ช่วย รังสรรค์ อะไรต่ออะไร ผู้ช่วยนี่ ทางด้านปัญญาก็ได้ขนาดนั้น พระมหากัจจายนะ อย่างนี้ เป็นต้น

สรุปง่ายๆว่า พระไตรปิฎกที่เรียบเรียงนี่ ก็จะมีจริตอย่างนี้ จะมีสภาพอย่างนี้ โดยเฉพาะวินัยนี่แม่น แม่นทีเดียวนะ ของสายเจโตนี่วินัยแม่น รักษาไว้ได้ เป็นการรักษาไว้ดี ส่วนในการพิสดารด้วย ความพิสดารในความหมาย อะไรต่างๆนี่น้อยหน่อย มันจึงตื้อๆ แล้วมันก็จึงเอียงไปข้างความหยุด มาก ฤาษีมาก เพราะฉะนั้น การสร้างสรร ค่อนข้างไม่มาก ค่อนข้างน้อย เพราะฉะนั้น เรื่องราว จะเห็นได้ว่า เรื่องราวที่จะไปทำประโยชน์กับผู้อื่น ไปรังสรรค์ ไปต่อสู้ ไปอะไรต่ออะไร ต่างกันกับ พระไตรปิฎกมหายาน มหายานนี่ต่อสู้ มีการวิเคราะห์วิจัยเหตุผล มีการถกเถียง โต้เถียง โวหาร ไอ้โน่น โอ๊ย! มาสร้างหนังได้เยอะกว่าของเถรวาทแยะ

เพราะฉะนั้น ถ้าเผื่อเป็นนักเขียนนิยายล่ะนะ โอ! อ่านพระไตรปิฎกของมหายานแล้ว มีนิยาย มหาสนุกเยอะแยะเลย มีนิยายมากกว่ากันมาก เพราะเรื่องราวมันเยอะ มันพิสดาร มันมากมายน่ะ ทางสายเจโต มันไม่ค่อยเอาถ่านหรอก มันมะลื่อตื้อ ไม่ค่อยรู้โลกเขาเท่าไหร่ ไม่ค่อยมีน้ำพริก ไม่ค่อยมีมะนาว ไม่ค่อยมีน้ำตาล ไม่ค่อยมีผงชูรสอะไรหรอก อย่างนี้น่ะ มันคนละด้าน คนละอัน คนละอย่าง คนละต่างกัน

เพราะฉะนั้น นี่อาตมาวิเคราะห์ให้ฟัง เจาะนัยลึกๆให้ฟัง ว่ามันเป็นอย่างนี้ เราก็เข้าใจซะ แต่ไม่ใช่ว่าดูถูกนะ ไม่ใช่ไปดูถูกพระไตรปิฎกอันนี้ มหายานน่ะ มันแย่ตรงที่ว่า รับหมด อาจาริยวาท อาจารย์ไหน สอนเขียนออกมา รับว่าเป็นคำสอนปนเปกันไปหมดเลย เชื่อถือกันตามๆกัน ไม่พยายาม ที่จะเอาหลัก ที่จริงของเถรวาทนี่ก็รับ ทุกวันนี้นี่ก็ไม่ได้เรียนถึงหลักเดิมๆ เพราะว่ามันตื้อ อย่างที่ว่า พระไตรปิฎกนี่อ่านไม่ค่อยออก จึงอาศัย อรรถกถาจารย์ อรรถกถาจารย์ก็คือ อาจาริยะ ก็คืออาจารย์ ในรุ่น ๑ ก็เป็นอาจารย์รุ่น ต้นหน่อย ในรุ่นต่อมา อรรถกถาจารย์ อนุฎีกาจารย์ อธิบายซ้อน ๒ ชั้น ๓ ชั้น ออกมา ก็คือ อาจาริยวาทนั่นแหละ แล้วทุกวันนี้ อาจารย์ที่บรรยายอยู่ ทุกวันนี้ ก็คืออาจาริยวาทนั่นเอง เหมือนกันน่ะ ไม่ใช่เถรวาทหรอก ไม่ใช่เถระเป็นผู้มาอธิบายหรอก เถระจริงๆ ต้องเป็นผู้ที่เป็นอริยะ พระเถระจริงๆ เป็นผู้รู้มาก ไม่ใช่รู้มากเอาเปรียบคนทั้งหลาย ไม่ใช่ รู้แต่เฉพาะบัญญัติ เป็นผู้รู้จริงๆ เป็นพระอริยะเถระ แต่ทุกวันนี้นี่ เถระเอาอายุพรรษาเท่านั้น เถระเอาผู้บวชนานเท่านั้นเอง เพราะฉะนั้น เถระทุกวันนี้ บรรยายก็เอาผู้บวชนานบรรยายขยายความ ก็คืออาจารย์นั่นเอง คำสอนอาจารย์ แล้วก็มายึดถือคำสอน อาจารย์กันต่อๆทอดมา มันก็คือ อันเดียวกันกับ มหายานนั่นแหละ อาจาริยวาทน่ะ เสร็จแล้วก็มาเชื่อคำสอนอาจารย์รุ่นหลังกัน ใช้คำสอนของอาจารย์รุ่นหลัง ที่พูดภาษาร่วมสมัย เป็นภาษาที่อาจเข้าใจกันได้ พอทวนเข้าไปหา ภาษารากเค้า ภาษาต้นตอ ก็ไม่ค่อยรู้เรื่อง เพราะฉะนั้น ก็เอาอันนี้มาขยายความ ก็เอาตามภาษา อาจารย์ จึงติดพยัญชนะ หรือติดภาษาของอาจารย์กันส่วนมาก แล้วภาษาของอาจารย์ส่วนมาก ก็ไม่ใช่พระอริยะ แล้วจะเพี้ยนก็ต้องเพี้ยนด้วยความเห็น ของพระอาจารย์ เมื่อเพี้ยนมาแล้ว มันก็เลื่อนมากลายเป็น กลองอานกะ กลายเป็นคำสอนที่มันเพี้ยนบาลี เป็นปฏิรูป เป็นคำสอน ปฏิรูปเรื่อยๆๆมา ไม่ใช่เพิ่งจะเป็น เป็นร้อยปี มันตั้งหลายร้อยปีแล้ว

เพราะฉะนั้น คำสอนจึงเพี้ยนมาได้มากมาย มันจะเพี้ยนหรือไม่เพี้ยน เราก็พยายามดูที่ต้นตำรับ จากพระไตรปิฎกนี่แหละ เป็นทิศชั้น ๑ แล้วเราก็พยายามที่จะทำความเข้าใจ เท่าที่เราจะเข้าใจได้ แม้ว่าจะเอาคำสอน จากอรรถกถาจารย์ อนุฎีกาจารย์ อาจารย์รุ่นหลังๆ มาพยายามศึกษาประกอบ ก็ตาม เสร็จแล้วเราก็มาวินิจฉัยเอา แล้วก็เอาไปปฏิบัติพิสูจน์ เมื่อปฏิบัติพิสูจน์แล้ว เราถึงจะเกิด ญาณ เกิดความรู้ ว่าอะไรถูก อะไรผิด อย่างที่พระพุทธเจ้าท่านสอนไว้ใน กาลามสูตร นั่นแหละ แม้จะเป็นตำรา เราก็ไม่ได้เชื่อตำรา ที่แม้จะเป็นพระไตรปิฎก เราก็ไม่ใช่ว่าตำราอย่างเดียว พระไตรปิฎกอย่างเดียว ก็หาไม่ อรรถกถาจารย์ขยายความอย่างโน้นอย่างนี้นี่แหละ ก็ขยายความ จากพระไตรปิฎก เหมือนกัน ผู้ใดจะขยายไปในแง่ใดอันใดล่ะ ก็หมายความว่า พระไตรปิฎก ขยายได้หลายแง่ ตีความได้หลายแง่ แง่ไหนจะดี แง่ไหนจะถูก ก็ต้องพิสูจน์กัน เมื่อผู้ได้พิสูจน์ เสร็จแล้ว ถูกต้องลงตัวกันกับคำสอนของพระพุทธเจ้า ว่าเป็นไปเพื่อความละ หน่าย คลาย เป็นไป เพื่อที่จะสังเคราะห์เข้ากับอริยสัจ สังเคราะห์เข้าหาความทุกข์ เหตุแห่งทุกข์ คือกิเลส ตัณหา ที่แท้จริง ถ้าเราพยายามปฏิบัติแล้ว เรียนรู้ปรมัตถ์ รู้จิต เจตสิก รูป นิพพาน รู้ อาการของจิต อาการของกิเลส รู้สภาพของอาการของกิเลสหยาบ กิเลสกลาง กิเลสละเอียดได้จริงๆ โดยสภาวะ ไม่ใช่โดยภาษาเท่านั้นจริงๆนะ แล้วก็มีวิธีลดละได้จริงๆ แล้วนะ อุ่นใจได้แล้วว่า เราปฏิบัติถูก อุ่นใจได้แล้ว

เพราะฉะนั้น เหตุปัจจัยอื่นๆ มันก็เข้ามาทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจทั้งนั้น มันไม่ได้เข้ามา ทางอื่นหรอก มันเข้ามาทางอื่นไม่ได้ มี ๖ ทวารเท่านั้นที่มันเข้า เพราะฉะนั้น มันจะมาเกิดอารมณ์ เกิดเวทนา หรือเกิดอะไรในจิต เราก็พิจารณาในเวทนา พิจารณาในจิตอยู่แล้ว พิจารณากาย เวทนา จิต ธรรม อยู่แล้ว

เพราะฉะนั้น สภาวะพวกนี้เป็นของจริง ถ้าเผื่อเรารู้แน่ รู้ชัดด้วยญาณที่ชัดเจนแล้ว เราจะมั่นใจ คุณมั่นใจไหมล่ะว่า คุณจับอาการ ลิงคะ นิมิตของกิเลส นี่เป็นโลภนะ นี่เป็นโลภะ อันนี้เกิดแล้ว ของเรา เป็นนามธรรม เรารู้แล้วนี่ อาการลีลาของมัน มีนิมิตให้เราจับได้ มีเครื่องหมาย ลักษณะ เครื่องหมายให้เราจับได้อ่านออกว่า นี่เป็นลักษณะโลภะ นี่เป็นลักษณะราคะ นี่เป็นลักษณะโทสะ นี่เป็นอย่างหยาบ นี่เป็นอย่างกลาง เป็นอย่างละเอียด เท่าที่เราจะรู้ว่าละเอียดๆ ละเอียดแค่ไหน ที่เราจะสามารถมีญาณหยั่ง รู้ของจริงตามความเป็นจริงของเราเอง นี่มัน โอ้โห! นี่เรานึกว่ามันหมด มันมีละเอียด เหลืออีกน้อยๆ นี่ใช่แล้ว นี่มันยังมีเหลือ นอนเนื่อง อนุสัย นี่ยังเหลือเศษส่วน เป็นตัวกู ของกูนะ เป็นอาสวะ อาสวะนี่คือตัวตน ตัวกูของกูนั่นเอง โอ! ยังมีตัวกูอยู่นี่ ลึกลับ ยังลึกลับนะ ยังเล่นเล่ห์ เล่นเลศอะไรกับเรานะนี่ แหม! มันลวงเรานะนี่ มันเล่นเล่ห์ เล่นเลศ เรากว่าจะจับตัว มันได้ ไอ๊ย่า! เราเผลอไผลไปกับมัน อ่านอยู่ในตัว ในที่ลับ ที่แจ้ง มันอยู่กับเราทั้งนั้น มันอยู่กับเรา ทุกขณะ เราได้ปฏิบัติทุกขณะเลย ได้ทำงาน ได้ปฏิบัติตน ได้ปฏิบัติธรรมทุกที่ทุกแห่ง ตัวเราอยู่ที่ไหน เราก็จะต้องได้ปฏิบัติทั้งนั้น ยิ่งเรียน ยิ่งศึกษา ยิ่งปฏิบัติอธิศีล อธิจิต อธิปัญญา มีญาณ มีวิมุติ อย่างที่แท้จริงแล้ว คุณจะมาอ่าน คุณจะมาศึกษา โดยพยัญชนะอะไรต่ออะไรพวกนี้ มันก็ยิ่งจะสนับสนุนกัน ส่งเสริมกัน เกิดญาณ เกิดปัญญา กำลังแห่งปัญญาก็สูงขึ้น นับวันเราก็ ฟังพูด ฟังบรรยาย มันก็น่าแปลกเหมือนกันนะ พวกคุณน่ะ ฟังอยู่ได้ฟังอยู่ดี

เมื่อวานนี้ อาตมาแปลกใจนะ หนุ่มๆสาวๆก็ยังอุตส่าห์มาฟังธรรมได้ หนุ่มๆสาวๆนี่ เขาเรียกว่า กำลังเนื้อหนุ่มเนื้อสาว กำลังแตกดังเปรี๊ยะๆๆล่ะนะ ยังอุตส่าห์มาฟังธรรมที่มันขัดเกลากิเลสได้ มันน่าอัศจรรย์ มีคนเขียนกระดาษอะไรมาหา อาตมาบอกว่า ไม่น่าอัศจรรย์หรอก คนหนุ่มคนสาว มาฟังธรรมกับพ่อท่าน ว่ายังงั้น มันน่าอัศจรรย์ที่พ่อท่านไปหาอะไรมาเทศน์ได้ทุกวัน เอาธรรมะ ที่ไหนมาเทศน์ได้ทุกวัน มันน่าอัศจรรย์กว่า หนุ่มสาวมาฟังไม่น่าอัศจรรย์เท่าไหร่ ว่ายังงั้น น่าอัศจรรย์ เอาอะไรมาเทศน์ได้ทุกวันๆ เทศน์วันหนึ่งก็หลายเที่ยว บางทีก็เทศน์อยู่นั่น ไม่รู้จักหมด เอาที่ไหนมาเทศน์ ว่าอย่างนั้น ใครเขียนมา อ๋อ! ทิฏฐุชุกัมโมหรือเขียนขึ้นมา อ้อ! ท่านบอกว่า หนุ่มสาวมันทุกข์เยอะ มันก็น่า มันมาฟัง มันไม่แปลกเท่าไหร่ แปลกที่ว่า อาตมาเอาอะไร มาเทศน์ อยู่ได้ทุกวัน มีธรรมะอะไรมาสอนทุกวัน มีเรื่องนั่นมาพูด มีนั่นมาวิเคราะห์ มาวิจัย มาด่า เอาอะไร มาด่าได้ทุกวัน ด่าที่จะต้องสนใจรับฟังเสียด้วยนะ จะได้ไม่เบื่อ คนฟังเบื่อก่อน แล้วทำไมเทศน์ได้ ไม่เบื่อเนาะ เออ! จริงด้วย ทำไมเทศน์อยู่ได้ ไม่เบื่อ ไม่เบื่อ ตัวเอง ไม่รำคาญตัวเองหรือยังไง เทศน์อยู่ได้ เกินเวลาทุกที เอ๊! เป็นยังไง รายได้ก็ไม่ได้ให้นะ ขนาดเป็นครูนี่ ให้รายได้ เขายังสอน อู้เลยนะ ไม่เต็มชั่วโมง ก็หาเรื่องออกก่อนเลย ออกก่อนชั่วโมงแล้ว นี่สอนเกินชั่วโมง อยู่เรื่อยเลย จนกระทั่ง โดนแช่งสั้นแช่งยาวบ้างในใจ อะไรอย่างนี้ มันเป็นยังไง ไม่เบื่อสอน ไม่เบื่ออธิบาย ไม่เบื่อแนะนำ ไม่เบื่อกำราบ ไม่เบื่อ เอ๊! เอาอะไรมาพูด เอาอะไรมาสอนอยู่ได้ มันน่าอัศจรรย์ยิ่งกว่า ว่ายังงั้น เอ้า! ก็จริง ก็อาตมาฝึก โพธิสัตว์มานี่น่ะ เชื่อไหมล่ะ ยินดีในการที่จะต้องแนะนำ สั่งสอน นำพา พาทำกัน อย่างนี้ อาตมาจริงๆ อาตมาไม่เห็นอะไรจะเป็นประโยชน์กว่านี้นะ พากันออก จากทุกข์ พากันเป็นประโยชน์ คุณค่าในโลกอย่างนี้ อย่างน้อยที่สุด คุณคิดง่ายๆซิว่า พาคุณมา ทำงานให้แก่โลกเขา เอาฟรีๆ ทำงานให้ฟรีๆนี่ มันเป็นเรื่องที่ดีไหม มันเป็นเรื่องที่ดีนะ ลองนึกดีๆ เถอะ มันเรื่องดีจริงๆเลยนะ มันเป็นไปได้ยากจริงๆเลยนะ โลกทุกวันนี้ มันจะเอาแต่เปรียบกัน มีแต่จะมาทำอะไรนิดอะไรหน่อย แต่จะเอามาก หาเหลี่ยมหาเล่ห์ ที่จะเอาเปรียบเอารัด แล้วอยู่ ไม่ได้ด้วยนะ ขนาดเอาเปรียบเอารัด ยังอยู่ไม่ได้ ไอ้นี่มาให้เสียสละ เสียสละๆ ไม่เอาๆๆ อยู่ได้แฮะ เอ๊อ! ไม่เป็นตางึด ก็จะไปเป็นตางึด ตรงไหน มันไม่น่าอัศจรรย์ขนาดนี้ แล้วจะไปอัศจรรย์ เรื่องอะไรเสียอีก เรื่องอย่างนี้มันน่าอัศจรรย์ จริงๆนะ ไม่ให้มาเอาเปรียบเอารัดเขา ให้เสียสละ ให้ให้กับเขาเถอะ ไม่ต้องกอบ ต้องโกย ไม่ต้องกัก ไม่ต้องตุน ไม่ต้องสะสมด้วย กล้าๆ ไม่ต้องสะสมด้วย ขนาดเขาสะสม อย่างกับอะไรดี โอย! ทั้งโกง ทั้งสะสม ทั้งอะไรต่ออะไร ต่างๆนานา ยังไม่ค่อยจะอยู่กันได้ ไอ้นี่ไม่สะสม พยายามที่จะสละออก คุณออกไม่ค่อยได้เองล่ะ คุณยังออกไม่ได้ เดี๋ยวมันไม่มีใช้ เดี๋ยวมันนั่นอยู่ เดี๋ยวมันนี่อยู่ ไม่ล่ะ ก็คุณยังไม่กล้า ก็ไม่ได้ว่าอะไร อาตมาก็ไม่ได้มาบีบมาคั้นอะไร เพราะว่าก็ต้องตามภูมิ ตามอินทรีย์พละ เพราะไม่เช่นนั้น มันเกินการ ทำเป็นอยาก แหม! อวดใหญ่อวดโตกันเกินไป เทกะบะหมดเลย มันก็ไปไม่รอดน่ะ อย่างนี้ เรายังอยู่ได้ ท่ามกลางเศรษฐกิจเดียวกัน ออกไปตลาด ซื้อของราคาเดียวกัน แต่แปลกนะ ชาวอโศกทุกวันนี้นี่ ไปซื้อของนี่ เดี๋ยวนี้นี่ เขาก็เห็นเป็นชาวอโศกนะ จักรพันธ์ไปซื้ออะไร ไม่รู้วันวาน วันก่อนนี้ ไปซื้อ ต่อแล้วต่ออีก ๖๐ ต่อก็ไม่ได้ ๖๐ ไม่ได้ เสร็จแล้วก็เดินไป จะไปคิดทำเขียนบิล ชาวอโศกเหรอ บอก ใช่ ทำไมดูออกล่ะ สงสัยชาวอโศก ลดให้ ๑๕ แล้วกัน พอบอกชาวอโศกลดให้ ๔๕ พอเขียนบิล ๔๐ ตลก พอเขียนบิล เอาคิด ๔๐ ต่อแทบตายนะ ไม่ให้ ๖๐ พอเดิน พอมา พอนี่เห็น ก็ไม่ใส่รองเท้า มันรู้ง่าย ตอนแรกคงไม่สังเกต พอเดินมา เห็น ชาวอโศกเหรอ บอกใช่ ก็เราก็รับล่ะนะ เอ้า! อย่างนั้น ๔๕ แล้วกัน ลดให้เลย เสร็จแล้วพอเขียนบิล เขียน ๔๐ ด้วย เอาไปเถอะ ไปร้านซื้อท่อ ซื้อน็อต ซื้อเหล็ก เอ้า! จัดการเอาเอง จะเอาอะไรก็เลือกเอา ต๊าปกลง ต๊าปเกลียว ต๊าปเอาเอง เสร็จแล้ว พวกคนงานบอก ทำไมปล่อยเขาทำล่ะ เอ็งไปดูแลของเอ็ง พวกนั้นปล่อยเขา พวกชาวอโศก อย่ายุ่งกับเขา เขาทำ เขาไม่มีโกง ไม่มีลักขโมยของคุณ ของแกหรอก แกไปทำอย่างอื่น ตลกนะ เขาไว้ใจอย่างนี้ เยอะอยู่เหมือนกัน ตอนนี้น่ะ

เพราะฉะนั้น อย่าไปเสียเครดิตนะ ใครไปทำให้เสียเครดิต ไปทุจริต ไปอะไรนี่ แหม! ... ทำมาได้ด้วยยาก ทำมาหาได้ด้วยเย็นนะ ทำมาได้ด้วยความลำบากเหลือเกิน ที่จะสร้างผู้คน ให้มีความจริงใจ ให้รักสุจริต ให้รักน้ำใจอย่างนี้ รักคุณธรรม อย่างนี้ โลกมันไม่มีที่ไหน ขอให้มีที่เรา ให้มีที่เรา ได้คนหนึ่งก็ยังดีในโลก ... ความดีงามในโลก มีที่เรา ๑ คน ก็ให้มันมีที่เรา ๑ คน ถ้ามันมีได้หลายคน พวกเราทำได้ดี ทำเถอะ ทุกวันนี้มันไม่ตายนะ เรามักน้อยสันโดษ เราสุจริต อย่างนี้ มันตายหรือ ทุกวันนี้ หือ! อยู่กันอย่างลำบากหรือ อาตมาว่ามันจะเฟ้อเอาด้วยล่ะนะ ใช่ไหม ไม่ลำบากนะ เราพิสูจน์มาแล้วนี่ ๑๐ กว่าปีแล้ว ไม่ได้ลำบากเลย สังคมประเทศชาติทุกวันนี้นี่ ไม่ใช่แต่เฉพาะประเทศไทย ทั่วโลก มันกำลังเดือดร้อนกันไปหมด เพราะมันเป็นหลักที่ไม่ใช่หลักละ มาเอาที่คน มาทำที่คน มาแก้ปัญหา ที่กิเลสของคน เขาไม่เอาศาสนา แล้วศาสนาก็ไม่มี ประสิทธิภาพ มันก็เลยแก้คนไม่ได้ คนก็เลยกลายเป็นฉลาดเฉโก ฉลาดซ้อนแฝง เฉกตา หรือเฉโก ความฉลาดของคนทุกวันนี้มาก ฉลาดเฉโกนะ ไม่ใช่ ฉลาดปัญญา

ทุกวันนี้นี่ที่เรียกกันปัญญาน่ะมันโก้ เอาภาษาว่าปัญญาไปเรียก ความฉลาดอย่าง ปัญญา คือเป็น ความฉลาดที่ไม่เห็นแก่ตัว หมดกิเลส เป็นความฉลาดที่รังสรรค์ เป็นความฉลาด ที่เกิดสันติสุข แต่ความฉลาดเฉกตานี่ มันไม่เกิดสันติสุข มันเกิดความเดือดร้อน จนกระทั่ง กลายเป็นระบบ ปกครองประเทศไป นี่ทั่วโลกมันเดือดร้อนกันไปหมด มันหาระบบไม่เจอ ไม่มีระบบอะไรที่จะแก้ได้ ประชาธิปไตยก็ประชาธิปไตยโกง ประชาธิปไตยกิน ประชาธิปไตยเฉโก อย่างที่เป็นอยู่นี่แหละ ทุกวันนี้ ยิ่งเผด็จการหรือว่ายิ่งคอมมิวนิสต์แล้ว ยิ่งไปกันใหญ่ ตอนนี้กำลังพัง เป็นระนาวไปแล้ว คอมมิวนิสต์ พัง กำลังพัง สังคมนิยมอะไร กำลังพังกันเป็นระนาว กำลังเปลี่ยน ท่าทีหมดแล้ว รัสเซียตัวเอ้นี่ก็กำลังแล้ว จะมีระบบ ประชาธิปไตยกลายๆ มีประธานาธิบดีนี่ กอร์บาชอฟ จะเป็นประธานาธิบดีคนแรกของรัสเซีย กำลังแล้วนี่ กำลังตกลงกันแล้ว เขารีบเปลี่ยนท่าที เพราะว่ารัฐหลายๆรัฐ เขาเรียกอะไร รัฐของรัสเซียนี่ ไม่เรียกสาธารณรัฐ เหมือนกับสหรัฐอเมริกา เขาเรียกรัฐอะไร สหภาพ นั่นแหละ รัฐลิธัวเนีย ลัทเวีย รัฐแอสโตเนีย ลิธัวเนีย เป็นตัวแรกเลย ขอแยกจากรัสเซียเป็นเอกราชส่วนตัว เขาไม่เอาแล้ว ระบบคอมมิวนิสต์ ขอแยกก่อนเพื่อนน่ะ ลัทเวียได้ท่าเห็นท่าก็จะเอาตาม แอสโทเนียได้ท่าก็จะเอาตาม จะแยกเป็นรัฐอิสระขึ้นมาแล้ว ไม่ขึ้นกับระบบคอมมิวนิสต์แล้ว เป็นอย่างนั้นแล้วตอนนี้

โปแลนด็ก็ปรับปรุงแล้ว ไม่เป็นคอมมิวนิสต์แล้ว มาเป็นประชาธิปไตยกลายๆ แล้ว ให้ประชาชน มีสิทธิในที่ดินแล้ว แบ่งแจกที่ดินให้แก่ประชาชนได้แล้ว ครอบครองที่ดินได้แล้ว อย่างนี้เป็นต้น

เยอรมันตะวันตกตะวันออกรวม พังกำแพงไปแล้ว กำแพงเบอร์ลินพังไปแล้ว อย่างนี้เป็นต้น กำลังเปลี่ยนแปรท่าทีหมดแล้ว ฯลฯ

แต่ก่อนนี้ ของรัสเซีย กฎหมายพรรคเขามีพรรคเดียว ใครมีพรรคอื่นขึ้นไม่ได้ ตอนนี้ก็แก้กฎหมาย มีพรรคอื่นขึ้นได้ แล้วคิดดูซิ มันจะไม่มีความนิยมพรรคใหม่หรือ พรรคคอมมิวนิสต์ ต้องโดนต่อสู้ กันน่าดูแล้ว ตอนนี้มีพรรคอื่นได้เข้าเทียบเคียงเข้าให้ประชาชนเลือกแล้ว นี่เป็นสิทธิ์ อย่างนี้เป็นต้น ใช่ไหม มันไปไม่รอดหรอก ๗๐ ปีนะ รัสเซียนี่ ๗๐ ปีน่ะ

เพราะฉะนั้น เรารีบพยายามทำระบบไว้ให้เขา มันต้องมาแก้ที่คน ต้องเอาศาสนานำการเมือง เอาการเมืองนำศาสนา มันก็การเมืองโกง ยิ่งคนไปทำงานการเมือง ไม่มีคุณธรรม ไม่มีศาสนา ในหัวใจ ไม่มีธรรมะในหัวใจที่แท้ บรรลัยหมดแหละ จะเป็นลัทธิไหนก็ตามแต่ การเมืองลัทธิ คอมมิวนิสต์ การเมืองลัทธิเผด็จการ การเมืองลัทธิประชาธิปไตย อะไรก็ตามใจเถอะ แม้จะเป็น ประชาธิปไตย ที่เป็นตัวอย่างอยู่ในอังกฤษ ที่เป็นเจ้าของประชาธิปไตยแต่เดิม หรือแม้ อเมริกาก็ตาม ญี่ปุ่นก็ตาม ประชาธิปไตยทุกวันนี้ มันก็เป็นประชาธิปไตยเล่นกล นายกรัฐมนตรี ญี่ปุ่น เขายังโดน จับเข้าคุก ประชาธิปไตยน่ะ จับเข้าคุกไม่ใช่การเมืองนะ โกงจริงๆด้วย กินน่ะ คอร์รัปชั่นน่ะ ประชาธิปไตยพรรค์ อย่างนี้ไปไหวหรือ กิน.. คนโตกินคำโตด้วยนะ ไปกินคำเล็กๆ จะไปเหมาะสม กับเขาหรือ เขากินคำโตด้วย ไอ้อย่างนี้ก็บรรลัยน่ะซิ มันไม่จริงใจ ไม่จริงจัง รับใช้ประชาชน ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต มักน้อย สันโดษ ให้มันมีหลักประกันอันนี้ที่แท้จริง สัจจะอันนี้ มันทำได้ ฝึกได้ มนุษย์ทำได้ เพราะฉะนั้น เราก็ทำของเรา ไปตามรูปตามเรื่องของเรานี่ ค่อยๆเป็นไปนี่นะ อาตมาพูดนี่ อาตมาบอกพวกคุณเลยนะ อาตมาไม่ไปเล่นหรอก การเมือง แต่อาตมารู้การเมือง แล้วอาตมาจะเป็นผู้แนะนำได้ แล้วจะหาว่าอาตมาไปเล่นการเมืองอีก เป็นกุนซือการเมืองอีก ก็มันสังคมน่ะ ก็มันประเทศชาติ มนุษยชาติ อะไรที่มันจะเป็นไป เพื่อความเป็นสุข ของประเทศชาติ จะเรียกมันว่าการเมือง หรือการศาสนาก็ตามใจเถอะ มันเป็นความสุข สงบสุขของมนุษยชาติ ในประเทศ จะเรียกอะไรก็เรียกไปซี แปลกอะไร ภาษาเรียก ใช่ไหม

เพราะฉะนั้น เรื่องใหญ่หลักใหญ่ที่จิตวิญญาณเป็นประธานสิ่งทั้งปวง ถ้าจิตวิญญาณมันไม่จริง มันไม่จริงใจ จิตวิญญาณมันไม่มีความเห็นแก่ตัว ลดน้อยลงได้จริง มันก็ไปทำงานตามจริง ทำงานตามวิธี มันยิ่งฉลาด มันยิ่งเฉกตาอย่างที่ว่า มันยิ่งหาเหลี่ยมหาช่อง หามุมต่างๆนานา สารพัด เพราะความขี้โลภมันเอาอยู่ ก็คิดแต่ถึงพวกเราซี ขนาดพวกเรา มาปฏิบัติธรรมอย่างนี้ มันยังเจอช่อง บางทีมันอดไม่ได้ ช่องนี้เราไม่ได้ไปโกงเขานี่หว่า มันได้นี่หว่า มันได้เปรียบนี่ ได้เปรียบ เฮย! ก็เขา สังคมเขาเอากว่านี้ นี่เราไม่ได้เอาเท่าเขาหรอก แน่ะ ไปโน่นเลย ใช่ไหม เพราะฉะนั้น เราต้องจริงใจ พยายามลดให้มันได้ แม้แต่ร้านค้านี่ อาตมาก็ประชุมอยู่ ประชุมแล้วประชุมอีก ก็ยังลดกันยาก บริษัทร้านค้าที่เราพยายามกระทำ ที่จะไปเป็นอะไรกับเขา ประชุม ชมร. ไปไม่กี่วันนี่ ก็จะขึ้นราคาจาก ๕ ดีไหม อาตมาจะพาลดให้มันได้จาก ๕ เขาบอก ก็ของมันขึ้น นั่นแหละ ของมันขึ้น ราคามันขึ้นนั่นแหละ แต่เราตรึงราคาไว้นี่ เท่ากับเราลดได้ ให้มันลด แล้วมันเป็นยังไงล่ะ ทุกวันนี้ ขายขนาดนี้ มันไปไม่รอดหรือยังไง ก็ไปรอด ยังมีค่าแรงค่าอะไรมา เดือนๆก็ได้หลายตังค์อยู่ มาใช้มาสอยอะไรอยู่ ก็เรายังไม่ได้ล่มจมอะไรนี่ เราตรึงราคาได้อย่างนี้ ก็เท่ากับ เราช่วยสังคม อยู่แล้ว ก็เท่ากับเราไม่ขึ้นราคาอยู่แล้ว จะไปขึ้นมันทำไม ต้องอ่านใจตัวเรา เองให้ชัดเลยนะ เราเป็น นักปฏิบัติธรรมนี่ เราค้าเราขายนี่ ใจมันยังขี้โลภ มันอยากจะบวก มันอยากจะบวก เราไม่ได้ไป เอาเปรียบเขานี่ ราคาเศรษฐกิจมันขึ้น เราก็ขึ้นสิ ขึ้นทำไมละ เราอยู่ได้ไหม ถ้าอยู่ได้ไม่ต้องขึ้น แสดงว่าเราเอง เราเก่งแล้ว เรากำลังเจริญขึ้นเรื่อยๆ พัฒนาขึ้นไปกับสังคม แล้วก็ได้ช่วยเศรษฐกิจ ที่แท้จริงด้วย เราจะช่วยเศรษฐกิจประเทศชาติ หรือว่า เราพยายามที่จะ.. ก็เศรษฐกิจมันพัง ก็พังไปกับ ประเทศชาติก็แล้วกัน สังคมมันพาเป็นอย่างนี้ ก็เป็นไปกับมันก็แล้วกัน นั่นแหละ มันถึงได้แก้ปัญหาไม่ตกอยู่ทุกที

แม้แต่ปัญหาธนาคาร ปัญหาการเงิน ปัญหาดอกเบี้ย ขณะนี้นี่ โอ๊ย! อาตมาฟังแล้ว มันไม่เข้าท่าเลย เสร็จแล้วมันก็มีผลกระทบ นั่นน่ะ ต้องไปอ่านเศรษฐศาสตร์ที่ อาตมาวิเคราะห์ ออกมา แค่คิดเล่นๆนะ ไม่ได้คิดจริงคิดจังอะไรเท่าไหร่หรอก ถ้าคิดจริงคิดจังแล้ว เจ็บกว่านั้นอีก เจ็บกว่านั้นน่ะ จะขึ้นราคาขึ้นมา ขึ้นดอกเบี้ยขึ้นมา ขึ้นนั่นขึ้นนี่ ขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหาเงินเฟ้อ ขี้หมาแน่ะ เงินเฟ้อ มันเฟ้อก็เพราะ พวกคุณหอบไปไว้มากๆ เสร็จแล้วเมื่อหอบไปไว้มากๆ เงินคุณก็ สะพัดออกมามาก โดยที่คุณใช้อย่างเบี้ย เพราะคุณมีมาก แต่คนจนมันไม่มีใช้หรอกคุณ มันไม่มีเฟ้อหรอก มันจะซื้ออะไร มันก็คิดแล้วคิดอีก คนจนน่ะ มันจะไปเฟ้อได้ยังไง มันเฟ้อก็เพราะ พวกคุณน่ะ นั่นหว่านซื้อโน่นซื้อนี่ เพราะมันมีเยอะ แล้วคุณก็บอกว่า เงินค่ามันตก ก็คุณไม่หวงแหน คุณเอง คุณมีมาก คุณไม่เสียดาย คุณได้มันมาโดยง่าย คุณก็เลย ไม่เสียดายน่ะ เลยทำให้ราคา ของเขาขึ้น อะไรๆก็ขึ้น ก็คุณนั่นแหละเป็นคนทำ ไอ้คนจนมันต่อแล้วต่ออีกนะ มันไม่เหมือน คุณหรอก ราคามันขายได้ จากคนที่มีเงินต่างหาก มันไม่ได้ขายได้จากคนจน กินข้าวมื้อละ แสนแล้ว ทุกวันนี้ เห็นไหม โต๊ะละแสน ข่าวน่ะ แล้วบอกว่าเงินเฟ้อ ใครล่ะมันทำให้เฟ้อ นี่ไปโทษคนอื่น ตลอดกาลนานเลย แล้วจะแก้ปัญหาเงินเฟ้อ โดยขึ้นดอกเบี้ย แหม! ขี้หมานี่ มันหยาบน้อยไปมั้ง ขี้หมา แน่ะครับ นี่มันหยาบน้อยไปมั้ง ขี้ควายแน่ะครับ ก้อนโตหน่อย มีประโยชน์ด้วยอีกเหรอ ว้า! ไม่เข้าท่าอีกเนาะ ขี้ควายไม่เหม็นเท่าขี้หมาอีก สู้ขี้หมาไม่ได้อีกอย่างเก่า แหม! จริงๆนะ นี่เขาคิด ไม่ถึง ไม่ใช่ไม่คิดไม่ถึงน่ะ มันคิดถึง มันฉลาด มันรู้นะ แต่มันแกมโกง เข้าใจไหม มันก็หาประโยชน์ เข้าตัวทุกทีไป นี่ยังงี้น่ะ (ผู้ฟังพูด....) ใช่ ขึ้นดอกเบี้ยยังไง มันก็ต้องยืม แล้วก็เข้า กระเป๋าเขา นั่นแหละ มันก็ได้เข้ากระเป๋าเขานั่นแหละ พูดกันไปพูดกันมาก็หา ประโยชน์เข้าตัว อ้างเหตุโน่น เอาหลักวิชา หลักวิชาขี้หมาอะไร รู้เท่าทัน หลักวิชาอย่าง นี้น่ะผิด ที่จริงน่ะ มันแก้ปัญหาไม่ตกหรอก อาตมาไม่ต้องเรียนเศรษฐศาสตร์หรอก อย่างที่ว่านี่ จริงๆ อาตมาจะพยายามแก้ปัญหาเศรษฐกิจ พวกเรา พิสูจน์ที่พวกเรา อาตมาไม่ไปพิสูจน์ ด้วยหรอก ทางโน้น เขาเอาหลักมาวัดอาตมา อาตมาเถียงเขาไม่ทัน เพราะอาตมาไม่มีภาษาวิชาการกับเขา เถียงเขาไม่ทันหรอก มาพิสูจน์กันซิ มาพิสูจน์โดยภาคปฏิบัติเลย โดยมนุษย์นี่อยู่อย่างนี้ มีรายได้เท่านี้ พวกเรามีรายได้เท่านี้นี่ เป็นไง ครอบครัวเศรษฐกิจ เป็นยังไง กินอยู่หลับนอนเป็นยังไง ไม่เดือดร้อน เพราะมันไม่ต้องไปกระด๊อก กระแด๊ก ไม่ต้องไปเที่ยวได้ไปช็อปปิ๊ง ไม่ต้องไปช็อปปิ๊ง ไม่ต้องไป แหม! ไปชอบปิ๊งน่ะ ช็อปปิ้งนี่ก็ สะแลงไปเป็นชอปปิ๊งซะ ชอบปิ๊งมั่ง ไปไอ้โน่น เขาก็โฆษณา ไอ้นี่ก็ไปเปลือง ไปเสียเงิน เสียทอง ไปกระดุ๊กกระดิ๊ก กระด๊อกกระแด๊กอะไร ไปสัมผัส มาทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เพื่อที่จะบำเรอตน เท่านั้นเอง เราตัด เราเป็นผู้ที่อิสรเสรีภาพแล้ว ไม่ต้องมีใครมาหลอกล่อ ไม่ต้องมีใครมาเป็นนาย ไม่ต้องมีใครมาจูงจมูก เราก็หยุดของเราได้ ไม่ต้อง ไป.. แค่นี้ก็สุขแล้ว ไม่ต้องมีอะไรมาบำเรอ มากกว่านี้ เราก็สันโดษ เราก็พอ สุข เบิกบาน วันๆคืนๆ เห็นหน้าพวกเรากัน เอ๊อ! ขยันหมั่นเพียร มีอะไรไม่ขยัน หมั่นเพียร เราก็ติก็เตียนกัน เท่านี้แหละ ดูแลกันไป สร้างสรรไป เท่านี้ก็สุขแสนสุข วันๆคืนๆผ่านไปไว ไวๆ สร้างสรร ทำอะไร ต่ออะไรอยู่ แค่นี้ก็เหลือจะเบิกบานร่าเริง สุขสำราญ ดอกไม้บาน ดอกไม้บานทุกยาม ไม่ใช่ยามเช้า อย่างเดียว ดอกไม้บานทุกยาม แค่นี้มันก็สุข เพราะเราพอ เพราะเราสันโดษ เพราะเราหยุดเป็น เพราะเราอิสรเสรี เพราะเราไม่ได้ต้องไป ได้เที่ยวได้ต้อง แหม! มันไม่ได้สัมผัสทางตา หู จมูก ลิ้น กาย มันไม่ได้ไปดิ้นกระด๊อก กระแด๊ก มันไม่ได้ไปอวดตัวอวดตน อย่างงั้นอย่างงี้ แล้วมันจะไม่เป็นสุข ไม่แล้ว เราได้แล้ว เราสุขแล้ว สบายแล้ว แค่นี้พอ แค่นี้ก็เหลือแรงแล้ว วันๆหนึ่ง ก็เมื่อยแล้ว เย็นก็หลับนอน ตื่นเช้าขึ้นมาก็ บางทียังขอต่อนิดหน่อยน่ะ ขอต่อหน่อย อะไรด้วยซ้ำไป ต้องมาแก้กิเลสติดหลับติดนอนอีกด้วยซ้ำ แล้วเราก็สร้างสรรกัน มีงานมีการให้ทำ เบิกบาน ร่าเริง ไม่ต้องไปร่าซ่าอะไรมากมาย แค่นี้ก็เหลือ เริงรมย์ เหลือเบิกบาน อะไรอย่างนี้เป็นต้น พวกเราเป็นอยู่สุข จะกินจะอยู่ก็พอ กินมื้อเดียวนี่ ก็เหลือแหล่ สุขภาพร่างกายน่ะ เผลอ ไม่ได้ ขืนเผลอๆๆๆ เดี๋ยวก็บวมขึ้นแล้ว เอ๊อ! มันเป็นไปได้ แล้วมันจะมีระบบของเรา ที่อย่างที่เป็นระบบ อะไรต่ออะไร ที่เรากำลังสร้างอยู่นี่แหละ อาตมาถึงมั่นใจ

เมื่อวานนี้ กลุ่มหมู่พวกเราที่ไปทำงานข้างนอก ก็มาคุยกัน มาอะไรต่ออะไรกัน ก็พยายามบอก ไอ้นั่นไอ้นี่ อะไรบ้างพอสมควร แล้วก็พยายามปรับปรุงพัฒนาขึ้นไป กัดฟันดู อาตมาจะพยายาม จริงๆ พระพุทธเจ้าท่านไม่ใช้อิทธิบาท ท่านตายก่อนกัป อาตมาจะใช้ อิทธิบาท จะไม่ตายก่อนกัป จะพยายามที่จะอยู่เกินกัป ไม่รู้มันจะเกินได้เท่าไหร่ มันก็อิทธิบาทของอาตมา จะพยายามที่จะอยู่ เกินกัปให้ได้ เพื่อที่จะรังสรรค์ไป

พระโพธิสัตว์นี่ต้องอุตสาหะวิริยะอย่างนี้ ส่วนพระพุทธเจ้าท่านพอ ท่านสมบูรณ์แล้ว ท่านจะเลิก จะตัด ท่านจะอะไรก็ของท่าน ท่านของท่าน เป็นที่สุดแห่งที่สุดของท่านแล้ว โพธิสัตว์นี่ ต้องพากเพียร ต้องพยายาม อุตสาหะ อย่างนี้แหละ ต้องตู๊ไปเรื่อยๆ ต้องทู้ที้ๆ พากเพียรมากมาย เพื่อที่จะสร้างสรร แล้วมันยุคกาลนี้ มันจำเป็นแล้ว ช่วยกันน่ะ มันเป็นประโยชน์ตนประโยชน์ท่าน ไปในตัวเสร็จสรรพ ไม่มีอื่น

เอ้า! พอวันนี้

..สาธุ


ถอดโดย นายประสิทธิ์ ฝ่ายทอง ๙ เม.ย. ๓๓
ตรวจทาน ๑ โดย สิกขมาต ปราณี ๑๔ เม.ย. ๓๓
พิมพ์และตรวจทาน ๒ โดย นางวนิดา วงศ์พิวัฒน์ ๒ พ.ค. ๓๓
(File 0617A.TAP ตัณหาฆ่าตัณหา ตอน ๑)