ตัณหาฆ่าตัณหา (ตอน ๒)
โดย พ่อท่าน สมณะโพธิรักษ์
เมื่อวันที่ ๑๗ มี.ค. ๓๓ ณ พุทธสถานสันติอโศก


เราคอยสังเกตตัวเองดูนะ ถ้าเราเองนี่ไม่มีทุกข์ เบิกบาน แจ่มใส ปลอดโปร่ง แล้วมันก็รู้สึกว่า มันมีชีวิตชีวา ดีอะไรนี่ เราจะไม่ขี้เกียจ เราจะรู้สึกว่า มันกระปรี้กระเปร่า มันจิตใจมันขวนขวาย มันเห็นอะไรก็รู้สึก ว่ามันเป็นสิ่งที่น่าเจริญหู เจริญตา อันนั้นก็น่าสร้างสรร อันนี้ก็น่าทำ มีหมู่ มีกลุ่ม มีผู้ มีคน ก็รู้สึกว่า เออ! มันน่าบันเทิงเริงรมย์ น่าอบอุ่น เข้าร่วม มีอะไรก็สังสรรค์กัน มีอะไรก็เข้ามา ประสาน รื่นเริง บันเทิง นี่เป็นคุณลักษณะที่แท้จริงของผู้ที่พ้นทุกข์ ของผู้ที่มีกิเลสน้อย หรือ ไม่มีกิเลส มันจะเป็นอย่างนั้นน่ะ เพราะฉะนั้น ถ้าเผื่อว่าเราเอง เราเป็นคนที่ มันมีอะไร ที่ถ้าเผื่อว่า ตรงกันข้ามกัน อย่างชัดๆ มันมีกิเลสขุ่นมัว ขัดข้อง มีทุกข์ อึดอัด มันอยากจะอยู่คนเดียว มันไม่อยากจะทำอะไร ถ้ามันจะทำอะไร มันก็ทำแรงๆร้ายๆ อะไรไปเลย ทำอะไรให้มันพิลึกพิลือไป อะไรอย่างนั้นน่ะ มันจะไม่เป็นเรื่องเป็นราว มันจะไม่มีปัญญา ไม่ปลอดโปร่ง ไม่สุข ไม่อะไร ได้ดิบได้ดีอะไรเลย

ลักษณะ ๒ ด้านที่ชัดๆอย่างนี้ สังเกตตัวเอง เหลือด้านใดก็แล้วแต่ ถ้าเรามีอะไร จะด้านใด เป็นต้นว่า มันไม่อยากเข้าหมู่ เขาทำอันโน้นอันนี้ เราก็ไม่ขวนขวาย ไม่มีจิตใจเห็นดี เห็นชอบอะไร ฟุ้งซ่านไปกับ เรื่องที่เราติด เราข้องอยู่ กรุ่นอยู่กับภพ กรุ่นอยู่กับเรื่องที่เราเองเราเป็น เรายังรู้สึกว่า จิตมันจะเป็น อย่างนั้นน่ะ จิตมันจะไปวุ่นวายอยู่กับ ไอ้เรื่องที่เรา มุ่นอยู่กับเรื่องที่เรา มันเป็นทุกข์ หรือมันเป็นกังวล มันเป็นอะไรก็แล้วแต่ เพราะฉะนั้น ถ้าจิตผู้ใดว่างแล้วนี่ มันก็จะไป แต่ข้างนอก ไม่ใช่ไปข้างนอกเพราะฟุ้งซ่าน มันจะไปกับสิ่งที่เราอยู่ด้วย สัมพันธ์ด้วย เออ! ทำอันโน้น อันนี้นะ ก็ดี ก็อะไรต่ออะไร ก็ประสาน ช่วยเหลือ เฟือฟาย ขวนขวาย หรือไม่ก็จะมีใจที่ก้าวหน้า เจริญ อย่างที่ว่านี่ เออ! หาอะไรทำนะ หาอะไรที่จะสร้างสรร อะไรต่ออะไรขึ้นมา เป็นคุณลักษณะ ที่แท้จริงของอริยะ ของผู้ประเสริฐ

เพราะฉะนั้น ถ้าเผื่อว่าเราเอง เราพยายามมีสติสัมโพชฌงค์ ตรวจตราตัวเอง รู้สึกตัวทั่วพร้อมว่า ขณะนี้นี่ เราเป็นยังไง มันเอนเอียงไปข้างไหน ถ้าเป็นข้าง ที่จิตว่าง จิตปลอดโปร่ง ที่มีความรู้สึก อย่างที่ว่านี่ ขยันหมั่นเพียร กระปรี้กระเปร่า ขวนขวาย มีกิจมีการ มีโน่นมีนี่ ขณะนี้เวลานี้ ควรจะมีอะไร เป็นอะไร มันจะนึกไปได้ มันจะเห็น ตรวจตราดี แล้วมันก็จะมาร่วมสังสรรค์ ร่วมสร้าง ร่วมทำ ร่วมอะไรต่ออะไร อย่างนั้นน่ะ มันจะเป็นคุณค่า แบบนั้นน่ะ เราตรวจตราเราได้ เราตรวจตรา ตัวเราเองได้ ตรวจดู อะไรดูไป นี่เป็นนัย ฟังดีๆนะ อันที่พูดนี่ มันละเอียดน่ะ

เราไปสังเกตเถอะ ถ้าเราเจริญ เจริญหลายเวลา วันๆ แต่ละวันๆ เรามีลักษณะอะไรมาก ถ้ามีลักษณะ ดังที่กล่าวนี่ มันจะเป็นลักษณะที่เจริญ เราเคยได้ยินมาว่า ผู้ที่หลุดพ้น จิตว่างแล้ว จะอยู่แต่ผู้เดียว นั่นเป็นความเห็นที่ผิด เป็นมิจฉาทิฐิ ผู้หลุดพ้นแล้ว ผู้จิตว่างแล้ว พระอริยเจ้า ผู้ที่หลุดพ้นแล้ว โดยเฉพาะ ยิ่งไปเรียกว่า พระอรหันต์ มีจิต วิมุติแล้ว ก็เลยได้แต่มุดๆๆๆๆ น่ะผิด มันไม่ใช่หรอก ไม่ใช่ ฟังให้ดีนะ อันนี้แก้สภาพที่มันเพี้ยนมาแต่ไหนๆ จิตเป็นเอก ไม่ใช่จิต อยู่แต่ผู้เดียว จิตเป็นเลิศ ไม่ใช่จิตอยู่แต่ผู้เดียว จิตที่ว่าง จิตที่วิมุติแล้ว หลุดพ้นแล้ว มันจะเป็นไป เพื่อผู้อื่น มันไม่ใช่อยู่แต่ผู้เดียว ผู้เดียวมันเป็นภพ ถ้าอยู่ผู้เดียวแล้วเป็นภพ จะอยู่กับจิต ที่ว่างๆ เฉยๆก็ตาม นั่นก็เป็นภพ จะอยู่กับความนิ่งๆสงบๆ อสัญญีเลยก็ตาม นั่นก็เป็นภพ จิตคือธาตุเกิด ไม่ใช่ธาตุดับ จิตคือธาตุรู้ ไม่ใช่ธาตุอยู่เฉยๆ จิตนี่เป็นธาตุรู้ ไม่ใช่ธาตุอยู่เฉยๆ

เพราะฉะนั้น จิตมันจะมีลักษณะรู้ และลักษณะที่จะรังสรรค์ สร้างสรร เป็นลักษณะเกิด จิตเป็นลักษณะเกิด จิตนี่มันยังมีชีวิต ไม่ใช่จิตที่มันไม่มีอะไรแล้ว ไม่มีเหตุปัจจัยแล้ว ไม่ใช่ จิตมีลักษณะมีความรู้สึก มีเวทนา มีสัญญา มีความจำได้ มีความกำหนด เพราะฉะนั้น มันจะกำหนดรู้ สัญญาก็จะทำงาน เวทนาทำงาน สัญญาทำงาน เมื่อเรายังมีขันธ์ ๕ ก็คือมีขันธ์ ๕ เมื่อเรามีขันธ์ ๕ ก็คือมีความรู้สึก มีการกำหนดรู้ มีความจำ มีการสังขาร มีการปรุง แล้วก็เป็น วิญญาณ เพราะฉะนั้น คำว่าสังขาร การปรุงนี่ มันปรุงอย่างไรล่ะ ถ้ามันปรุงโดยเอากิเลสมาร่วมปรุง เอาอกุศล เอาทุจริตมาร่วมปรุง หรือ แม้แต่สิ่งที่เกิดจากสมุทัย เหตุที่เราเอง เราอยากจะเสพสม เพื่อตัวกูของกู แล้วเราก็เอากิเลสอันนั้นแหละ มาปรุง มาทำบทบาท หรือพฤติกรรม ตามที่มัน ควรจะเป็น ตามที่มันเป็นน่ะ มันลักษณะมันเป็น ไม่ใช่ควรหรอก ที่จริงมันไม่ควรด้วยซ้ำ มาเรียนรู้ดีๆแล้ว มันไม่ควร แต่เราก็ไม่รู้ หรือรู้ เราห้ามมันไม่ได้ มันก็มาปรุง ปรุงเป็นการเสพบำเรอ ถ้าอย่างนั้น สังขารที่เราจะต้องรู้ว่า นั่นล่ะ สังขารอันนั้นล่ะควรดับ ควรทำให้มันไม่เกิด แต่ถ้าเราจะสังขารเพื่อผู้อื่น จะปรุง จะคิด จะนึก จะผกผันอะไร หรือว่าจะใช้ความคิด ปรุง สร้าง เพื่อเกิด ประโยชน์ คุณค่าแก่ผู้อื่น ไม่ได้บำเรอแก่ตน เหน็ดเหนื่อยด้วยบางที พยายาม ต้องพยายามคิดด้วย อย่างนี้ไม่ได้หมายความว่า เป็นกิเลสของตนน่ะ อย่างนี้หมดตัวกูของกู ไม่ใช่เพื่อกู ไม่ใช่ตัวกู ไม่ใช่ของกู แต่เพื่อผู้อื่น เป็นคุณค่า เป็นประโยชน์แท้ๆ

เพราะฉะนั้น เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ธาตุจิต หรือธาตุวิญญาณนี่ มันเป็นตัวบทบาท เป็นตัวการงาน แล้วเป็นตัวที่เบิกบานร่าเริง เป็นตัวรู้ เป็นตัวตื่น พุทธะนี่เป็นจิตที่ตัวรู้ ตัวตื่นอยู่ ไม่ใช่ตัวซมเซา ไม่ใช่ตัวที่อับเฉา ไม่ใช่ตัวที่จะอยู่ในที่มืด เป็นที่สว่าง เป็นที่แจ้ง เป็นที่โล่ง เป็นที่เปิดเผย จิตที่สมบูรณ์แล้ว จะเป็นอย่างนั้น ลองฟังเหตุผล ฟังความหมาย แล้วฟังรายละเอียด ที่ได้สาธยายนี้ดูดีๆ แล้วคุณก็ลอง เปรียบเทียบ นึกดูซิ โดยที่เราเคยเข้าใจมาแต่เก่าแต่ก่อน ได้เคย ได้ยิน ได้ฟังมาว่า จิตของผู้ที่บรรลุแล้ว นี่ ท่านไม่เต้นไม่ดีดอะไรหรอก จิตสงบ จิตสงบก็อยู่เฉยๆ หลบๆ หรี่ๆอยู่ ไม่มีความรื่นเริง เบิกบานอะไร มันดูนิ่งๆ เฉื่อยๆ เฉยๆ อยู่ในภพอย่างที่กล่าว อันนั้นล่ะ มันผิดลักษณะแล้ว ลองใช้ปฏิภาณฟังดูนะ ลองใช้ปฏิภาณ เปรียบ หรือเทียบ หรืออะไร ต่ออะไรดูดีๆน่ะ สังเกตดู ลองๆนึกทบทวนกับสภาพที่เคยเข้าใจมา โดยความหมาย โดยความรู้ แต่เดิมๆ ลองทบทวนดู เปรียบเทียบดู เราจะเห็นได้ว่า ความเข้าใจผิด ของผู้ที่ปฏิบัติผิดๆ มานี่ มามากน่ะ

เพราะฉะนั้น มันจึงไม่รังสรรค์อะไรต่ออะไรนัก ประเทศชาติ สังคม มนุษยชาติ เมื่อความคิดเห็น ของผู้ที่คิดว่าเลิศว่ายอด ว่าอริยะ ว่าเป็นผู้ประเสริฐ ผู้พ้นทุกข์ อะไรก็แล้วแต่ มีความเห็น มีความคิด ที่มันผิดพลาดอย่างนี้ มันจึงเป็นแนวโน้มที่เสียหาย พอมาทางด้านโลกียะ มาเฟื่องฟูกับ โลกียะ มันก็กลับกลายเป็นสภาพที่ทำลาย หรือผลาญ อีกชนิดหนึ่ง พอบอกว่าโลกุตระ ก็ไม่สร้างอะไร ไม่สรรอะไร ไม่ทำอะไร ไม่เป็นอะไร โต่งไปอีกสิ่งหนึ่ง ๒ ด้านด้วยกัน ผลาญทั้ง ๒ ด้าน เสีย ไม่ใช้คำว่าผลาญ หรือไม่ผลาญหรอก อันหนึ่ง ไม่เกิดอะไรเลย อีกอันหนึ่งก็เกิดมาก จนผลาญ ๒ ด้าน ช่วยกันทำลาย มันก็ตกต่ำ มันก็เสื่อมไป สังคมได้เสื่อมไปมากน่ะ สังคมได้ทำให้ คนเราเกิดความเข้าใจผิด แล้วก็เคยตัว เป็นมานาน นานตั้งแต่ศาสนาพุทธเรา ที่มันเพี้ยนๆๆๆ เพี้ยนมากี่ปีกันมาแล้ว เราไม่รู้ มันเริ่มต้นตั้งแต่เมื่อไหร่ ศาสนาพุทธในเมืองไทย ตั้ง ๒ พันกว่าปี มาแล้ว มันเสียหายอย่างนี้นะ

เพราะฉะนั้น มาเริ่มต้นเข้าใจให้ดีๆ เราจะต้องรู้ว่า จิตที่ปรารถนา หรือใคร่อยาก ธัมมกาโม หรือว่าจิต ที่มันทำงาน ต้องเข้าใจให้ดี ที่อธิบายนี่ อธิบายเสริมเมื่อวานนี้ ความทะยานอยากนี่ ลักษณะ ๒ อย่าง ทะยานอยากมาบำเรอตัวกูของกู กับทะยานอยากไม่ได้บำเรอตัวกูของกู เป็นไปเพื่อสร้างสรร เป็นไปเพื่อ พหุชนหิตายะ พหุชนสุขายะ โลกานุกัมปายะ มันเป็นอย่างไรน่ะ เพราะฉะนั้น เรามาดูซิว่า เพราะอาศัย ความทะยานอยาก จึงมีการแสวงหา การแสวงหาก็ไม่ใช่ว่า เราจะเห็นว่า เป็นการแสวงหาคำนั้น แล้วก็เป็นคนที่เหมือนกับมีกิเลสอยู่อย่างเดียว ไม่ใช่ เคยอธิบายแล้ว แสวงหานี่ อาหารปริเยฏฐิ ปริเยฏฐินี่ แปลว่า แสวงหาด้วย

เพราะฉะนั้น การแสวงหาอาหาร อาหารปริเยฏฐิ เป็นทุกข์ชนิดหนึ่ง แม้พระอรหันต์ก็ยังมีทุกข์ ชนิดนี้ ก็เคยอธิบายให้ฟังแล้ว เป็นทุกข์ที่เลี่ยงไม่ได้ เราจะต้องแสวงหาอาหารมาให้ตนเอง เป็นต้น พระอรหันต์เจ้า ก็ต้องออกบิณฑบาต แสวงหาอาหารมาเลี้ยงขันธ์ แม้เป็นพระอรหันต์แล้วก็ตาม แสวงหาอาหาร แสวงหาอะไรก็แล้วแต่ ที่เมื่อมันเกิดความควรน่ะ ควรใคร่ ควรอยาก หรือว่า ควรต้องการ ควรปรารถนา ปรารถนาดีน่ะ ควรจะต้องเป็น เราต้องการจะทำ เห็นความสกปรก เราก็เกิดความอยากจะทำความสกปรก ให้หายไป เราเห็นแล้วอันนี้ควร เห็นความสกปรก อยากจะทำความสกปรกให้หายไป เราก็แสวงหา หาอุปกรณ์ หาเครื่องมือ หาอะไรก็แล้วแต่มาทำ มาจัดการความสกปรกนั้นให้หายไปเสีย อย่างนี้ มันไม่ใช่กิเลส มันเป็นความรังสรรค์ มันเป็นความควร เป็นคนประเสริฐ เป็นจิตใจประเสริฐ ไม่ใช่ว่าพาซื่อ จิตมีความแสวงหา จิตมีความอยาก จิตมีความปรารถนาอะไรขึ้นมา จะยังกุศลให้ถึงพร้อม ก็ไม่รู้ ถ้ามันมีจิตที่อยาก แล้วต้องแสวงหา แล้วก็เห็นว่าเป็นความดิ้นรน ถ้าแสวงหาแล้วก็ดิ้นรน เป็นความไม่หยุดแล้ว ยังเป็นความต้องการ เป็นความอยากอยู่นั่นแหละ ลักษณะนี้มีอยู่มากทั่วไป ในความเข้าใจผิด ของสังคมพุทธ คนพุทธของเราในทุกวันนี้ โดยเฉพาะในเมืองไทยนี่มีมาก

เพราะฉะนั้น มันถึงเฉื่อย มันถึงไม่กระตือรือร้น มันถึงเข็นไม่ขึ้น รังสรรค์ไม่ขึ้น แล้วยิ่งไปเข้าใจผิด ในเรื่องของสังคม ค่านิยมของสังคมที่ว่า คนที่เจริญแล้ว หรือ ว่าคนสูง เป็นคนมีบุญแล้ว ก็ยิ่งไม่ต้องทำอะไร มีแต่ชี้ใช้ แต่ว่าก็เสพนะ หาอะไรมาบำเรอความสุข อะไรที่ชอบใจก็ไปทำ จะดิ้นจะเต้น ไอ้โน่นไอ้นี่อะไร ที่จะบำเรอตน เพื่อที่ตัวเอง จะรู้สึกว่ามันอร่อย มันมีชีวิตชีวาอะไร ก็ไปหาทางทำ แต่จะสร้างสรรทำงานอะไร ไม่ทำ ลักษณะความขี้เกียจอันนี้ล่ะมาก ในคนไทย ขอยืนยัน

คนไทยนี่ไม่เจริญเพราะขี้เกียจ ขอยืนยันเลย ใครจะว่าเราลบหลู่ดูถูกคนไทย ก็ขอรับว่าไม่ใช่ลบหลู่ ดูถูกหรอก บอกความจริงให้ฟัง ให้เห็นจุดบอด ให้เห็นจุดที่เสียหาย ของคนไทย คนไทยมีทรัพยากร ประเทศชาติมีวัตถุดิบ มีอะไรต่ออะไรดี เป็นเมืองที่ยังอุดมสมบูรณ์ แม้ความสามารถคนไทย ก็ไม่ใช่ย่อยๆ แต่ไม่ขยัน ไม่กระตือรือร้น เพราะค่านิยมของสังคม อย่างที่ว่านี่แหละ มองไปในทาง ด้านศาสนา ทางด้านจิตวิญญาณ ทางด้านจริยธรรม ถ้าบอกว่าจิตวิญญาณ จริยธรรมที่สูง ก็มองไปในแง่โลกุตระ ที่เข้าใจผิด จะสงบ จะหยุด ไม่ต้องคิดต้องนึก ไม่ต้องไปวุ่นวาย ตัด ลด ละ เลิก อย่าไปยุ่งไปเกี่ยวกับโลกเขา โต่งไปโน่น ถ้าจะไปมองในด้านคนที่เจริญ คนที่อยู่สูง ก็คือ คนไม่ทำอะไร ได้แต่ชี้นิ้ว ได้แต่ใช้คนอื่นเขา เป็นค่านิยมอีกลักษณะหนึ่ง ศักดินา ทุนนิยม ไปอย่างนั้น ก็เลยกลายเป็น คนไม่ทำอะไรทั้ง ๒ ด้าน ถ้าเจริญแล้วก็ไม่ทำอะไรทั้ง ๒ ด้าน เจริญทางด้านโลก ก็กลายเป็นผู้ยิ่งใหญ่ ที่ไม่ต้องทำอะไร ใช้เขาทั้งนั้น ไปด้านธรรม ก็กลายเป็น คนหยุดไปเลย ไม่ต้องไปคิดไปนึก ไม่ต้องไปรู้เรื่องอะไร ไม่ทำอะไร เห็นไหมว่า ลักษณะ ๒ อย่างนี้ เป็นค่านิยมที่ครอบงำทางจิตวิญญาณของคนไทยอย่างไร แล้วทำให้คนไทยเป็นยังไง พัง

งั้นพวกเราชาวอโศกนี่ เรามาเข้าใจให้ถูกเป็นสัมมาทิฐิเสีย ถ้าเราไม่สร้าง ไม่สรร กรรมของเราผิด เราก็จะเป็นวิบาก เป็นหนี้ มิจฉาทิฐิในเรื่อง สุกฏทุกฺกฏานํ กมฺมานํ ผลํ วิปาโก ผลวิบากไม่มี มีเหมือนกัน มีผลวิบากที่เป็นอกุศลวิบากน่ะ เป็นหนี้ เป็นภัย เป็นโทษ ขี้เกียจ ขี้เกียจก็เป็น อกุศลวิบากอันหนึ่ง สั่งสมนะคนเรา มันไม่ใช่สั่งสมกันน้อยๆนะ มันสั่งสมกันไปทุกวินาที ทุกนาที ทุกชั่วโมง ทุกชาติ แล้วมันก็สั่งสมกันไปเรื่อยๆ เรื่อยๆๆ แล้วเกิดกันคนละกี่ชาติแล้วก็ไม่รู้ เมืองไทยนี่ คุณวนเวียนเกิดมา เป็นคนไทย กี่ชาติแล้วก็ยังไม่รู้ ทำวิบากอยู่ในชาติ ในความเป็นคนไทยนี่ กี่ชาติแล้ว ก็ยังไม่รู้ แล้วก็มาสั่งสม ลักษณะอย่างนี้ มันก็เป็นไทยๆๆๆ แล้วก็มีลักษณะที่ขี้เกียจ ลักษณะที่มันไม่อยากจะทำอะไร โดยทฤษฎี หลักๆของโลก โดยค่านิยมของโลก มันเป็นอย่างนี้ แล้วคิดดูซิว่า เกิดมาเรามารับอะไร แล้วเราก็มาฝึกฝน อบรมอะไรใส่ตนไป กี่ชาติมาแล้ว

เพราะฉะนั้น ตื่นซะ เลิกไอ้อย่างที่มันผิดพลาดมาแล้ว เข้าใจผิดเข้าใจเพี้ยนมาตั้งนานแล้ว นั่นน่ะ เลิกเสีย หยุดเสีย แล้วรังสรรค์ขึ้นมา พยายามสร้างกุศล สร้างบุญ สร้างความดี ถ้าไม่เช่นนั้น เราเห็นผิด เป็นมิจฉาทิฐิ ถ้าเราไม่มีการสร้างสรร เราจะเอาอะไรไปทาน ถ้าเราไม่มีสมบัติของเรา เราก็ต้องเอาสมบัติเก่า หรือยืมเขามา เอาไปทาน เอาไปให้ แม้แต่จะกิน จะใช้ จะประคองตน จะอาศัย ตนจะใช้อาศัยเป็นอาหารน่ะ อาหารทางกาย ทางนอก ทางใน อะไรก็แล้วแต่เถอะ ที่จะอาศัย ชีวิตจะอาศัยอยู่ ถ้าเราไม่มีแรงงาน ไม่มีผลผลิต ไม่สร้างสรร เราก็กินบุญเก่า ถ้าไม่มีบุญเก่า ก็ยืมเขา เป็นหนี้เขา นี่คือ สัจธรรม ฟังดีๆ

เพราะฉะนั้น คนเราเกิดมานี่ สร้างสรรให้มันคุ้มตัว อัตตา หิ อัตตโน นาโถ แล้วให้มันเหลือ ให้มันเป็นบุญ เพราะว่าเราเองไม่รู้ว่าไปเคยเข้าใจผิด เคยไปติดหนี้ ไปเป็นบาปเป็นภัยอะไรไว้แค่ไหน ตั้งแต่เมื่อไหร่ก็ไม่รู้ ถึงแม้รู้ เราก็ไม่น่าจะไปเป็นหนี้ใคร เราไม่น่าจะต้องไปเอาเปรียบเอารัดใคร ยิ่งเกิดปัญญา ยิ่งเกิดความเห็นแจ้ง ที่ทะลุทะลวงแล้ว เราน่าจะเป็นคนที่มีคุณค่า เป็นคนประเสริฐ เป็นคนมีความสามารถ เป็นคนได้เป็นผู้สร้าง เป็นพระผู้สร้าง แล้วจะเป็นพระผู้ประทาน เป็นทินนัง เพราะฉะนั้น จะมียิฏฐัง มีหุตังอะไร ก็สอดคล้องกับทินนัง เป็นผู้ให้ในโลก เป็นผู้สร้างเองเลย เป็นผู้ที่มีฤทธิ์มาก มีความสามารถมาก มีสมรรถนะสูง มีความเก่ง ความสามารถ ความรู้ เป็นผู้กระทำ จะกระทำทางกาย วาจา ใจอย่างไร ที่เราได้กระทำ ได้สร้างสรรอย่างไร เราก็ทำ เราก็ต้องรู้ว่า เราควรจะปรารถนาดีอะไร ปรารถนาดี ในการสร้างสรร แล้วก็การให้นี่ ลองพยายาม นึกถึงทิฐิ ๑๐ น่ะ มิจฉาทิฐิ ๑๐ หรือจะเป็นสัมมา ตั้งแต่ทินนัง ยิฏฐัง หุตัง กัมมานัง แล้วก็โลกนี้ โลกหน้า อยัง โลโก ปโร โลโก มาตา ปิตา แม่ พ่อ สัตตา โอปปาติกา สัตว์โอปปาติกะ คือจิตวิญญาณนั่นเอง ในระดับถึงแม่ถึงพ่อนี่ ก็เป็นระดับที่เราพูดแล้วว่า ไม่ใช่พ่อแม่ ที่ประเภท คลอดออกมาทางสายเลือด อย่างนั้นน่ะ ใครก็รู้อยู่แล้ว เข้าใจได้แล้วว่ามี ไอ้ที่ว่ามีนี่ ก็ต้องรู้ว่า แม่พ่อทางจิตวิญญาณ ซึ่งบอกแล้วว่า เยอะแยะ มากมาย ที่เป็นองค์ประกอบ เป็นองคาพยพ ของความเป็นแม่ องคาพยพของความเป็นพ่อ มีคุณลักษณะอย่างนั้นอย่างนี้ เพื่อที่จะทำการ ก่อเกิด หรือหลอมเหลาจิตวิญญาณ เราสร้างจิตวิญญาณเรานั่นเอง สร้างจิตวิญญาณของเรา ให้เป็นจิตวิญญาณ ที่เป็นอริยะ เป็นจิตวิญญาณที่ปราศจากกิเลส เป็นสูงสุดโน่นแหละ เราก็จะเห็นได้ว่า อ๋อ! อย่างนี้ ลักษณะแม่ ลักษณะพ่อ แม่เป็นลักษณะลีลายังไง ต่างอย่างไร ก็ได้ขยายความให้ฟังแล้ว

ที่เรามานั่งฟังเทศน์ฟังธรรมนี่ ก็เป็นอุปกรณ์ เป็นองค์ประกอบ เป็นแบบ เป็นพิมพ์ เหมือนแม่ เหมือนพ่อ เหมือนกันน่ะ เป็นแบบ เป็นพิมพ์ เรามีศีล ศีลก็เป็นแบบเป็นพิมพ์ ศีลก็เป็นแม่เป็นพ่อ เป็นองค์ประกอบ เป็นองคาพยพของความหลอมเหลา หรือก่อเกิดให้วิญญาณนี่เกิด ให้วิญญาณนี่ ได้พัฒนาตัว หรือว่าเปลี่ยนแปลงตัว ให้เป็นวิญญาณบริสุทธิ์ ให้เกิดเป็นวิญญาณบริสุทธิ์แท้ ทุกวันนี้วิญญาณที่เกิด มันไม่ใช่วิญญาณธรรมดา วิญญาณผี วิญญาณมาร วิญญาณซาตาน วิญญาณที่ถูกหลอก ถูกอะไรเข้ามาสิง เข้ามาเลอะมาเทอะ เข้ามาปนมาเปื้อน เข้ามามีฤทธิ์เดช เป็นเจ้าเรือน เป็นอำนาจ อยู่ในจิตวิญญาณ แล้วมันก็ไม่บริสุทธิ์ผุดผ่อง มันไม่ประเสริฐ มันไม่เป็นสุข แล้วมันไม่เป็นคุณค่าน่ะ

เพราะฉะนั้น เรามาเรียนรู้ทิฐิทั้ง ๑๐ นี่ให้ดีๆเถอะ อันที่ ๑๐ ยกเอาไว้ว่ามีพระ มีสมณพราหมณ์ มีผู้รู้ เราก็พยายามหาผู้รู้ที่จะมาสอน มาแนะนำ ที่ท่านพอมีภูมิรู้ ก็ยกไว้ในข้อที่ ๑๐ นอกนั้น เรามาตรวจตรา ของเรา ถ้าแน่ใจว่ามีสมณพราหมณ์ มีอะไรต่ออะไรแล้วล่ะ ก็ดูไป รังสรรค์ไป ผู้ใดเป็นสมณพราหมณ์ ก็ตรวจตราไปเรื่อยๆ ถ้ามีแล้วก็เอากับผู้นั้นแหละ ในฐานะเราสาวกภูมิ อีก ๙ ข้อนี่ ของเราทั้งนั้น ที่เราจะต้อง เจือจานรู้ แล้วก็สร้างสรรให้มันเป็น สุดท้ายรวมแล้ว สรุปลงก็ที่ เป็นผู้ให้ เกิดมาเป็นทินนัง เป็นทาน เป็นผู้ให้ เป็นผู้สร้างสรร ถ้าเราไม่สร้างสรร เราจะเอาอะไรไปให้ อย่างที่ว่านี่ เพราะฉะนั้น แม้แต่ในปัจจุบันนี้ มีเวลาวินาที ชั่วโมง เราก็สร้างสรรเรื่อย ทำงานทำการ สร้างสรรไปเรื่อยๆ อะไรที่มีคุณค่า อะไรจำเป็น อะไรที่เห็นสำคัญ อะไรที่สนับสนุน สอดคล้องกันอยู่ เรามาทำการงาน ที่ไม่มีโทษไม่มีภัย มีแต่บุญ มีแต่คุณ เป็นนักเศรษฐศาสตร์ชั้นหนึ่งนะ ขณะนี้ สังคมต้องการอะไร แม้แต่การเก็บขยะ ก็เป็นงานที่มีค่าสูงสุดได้ ถ้าประเทศชาติมันรก หรือ บ้านมันรก

ในปัจจุบันนี้ ขณะนี้ บ้านรกเลยนะนี่ จะเกิดเชื้อโรคกันแล้วนี่ จะเกิดโรคห่าแล้ว น้ำก็เน่า ดินก็เน่า โรคห่าจะลงแล้ว ความสำคัญของงานก็คือ การทำความสะอาด หรือจัดการความสกปรกเลอะเทอะ ที่มีโรคมีภัยมีพิษอันนั้นให้ออกไป ณ บัดนั้น ต่อให้คุณมีความรู้ มีการงานดีๆ มีการงานวิเศษๆ คิดอะไรได้ วิเศษในโลก ในเวลานั้น ขณะนั้น การงานอันนั้นก็ไม่มีค่าเท่ากับ จะต้องมานั่งเช็ดขยะ เก็บขยะ เก็บความสกปรกนี่ งานเก็บความสกปรกนั่นแหละ มีราคาสูง ในขณะที่ห่ามันจะลงนั่น นี่ยกตัวอย่าง ให้เห็นชัดๆ เพราะฉะนั้น ในบ้านในเรือนขณะนี้ ขณะนั้น มันรก มันไม่สะอาดสะอ้าน ควรช่วยกันทำ ช่วยกันจัดเก็บ ปัดกวาดซะ อันนี้เป็นขณะนี้ควรจะทำอันนี้ให้ดี ให้เรียบร้อยไป นี่เป็นขณะ ขณะนี้เรามียิฏฐัง มีพิธี หรือว่ามีระบบกิจวัตร ทำอันนี้ตอนนี้สอดคล้อง ทำกันให้เป็นปึก เป็นแผ่น เป็นพลัง กาละต่อไป เราค่อยทำอันโน้นอันนี้ มันมีกาละ มีช่วงเวลา มีโน่นมีนี่ ทำถูกระบบ ทำถูกขณะ เหมือนเครื่องกล สักเครื่องหนึ่ง เครื่องยนต์สักเครื่องหนึ่ง เอ้า! เวลานี้ หน้าที่ของสต๊าร์ท ต้องให้มันสต๊าร์ท เวลานี้หน้าที่ ที่จะต้องเหยียบคันเร่ง ต้องเหยียบคันเร่ง หน้าที่ขณะนี้ จะต้องเหยียบเบรก ต้องเบรก หน้าที่นี้จะต้องจูนอันนั้น จูนอันนี้ ต้องทำอย่างนั้น หน้านี้จะต้องช่วย กำลังอันนั้น กำลังอันนี้ มันเป็นขณะแต่ละขณะ แต่ละขณะ ถ้าเรารู้จังหวะ เราก็ช่วยกันอย่าง พรั่งพร้อม มันมีพลังมา พลังตอนนี้มีมา มันมีตั้งเยอะ ตั้งแยะ แต่กระจายไป ไม่มาทำหน้าที่ ในขณะที่ควรจะกระทำ มันก็เสื่อม มันก็ไร้ประโยชน์ หรือว่าไร้สมรรถภาพ ประโยชน์นั้น ก็เสื่อมไป ทรุดไป เสียไป ขณะนั้นต้องนะ ต้องทำอย่างนั้น ต้องมีอันนั้น แต่ไม่ทำ ไม่สอดประสาน ไม่เป็นพลังรวม ไม่รู้จังหวะจะโคน สิ่งเหล่านี้ ขาดประโยชน์ไปทุกที นี่ลักษณะของเศรษฐศาสตร์นะ ลักษณะของเศรษฐศาสตร์ที่ รู้จังหวะ รู้กาลเวลา รู้องค์ประกอบ รู้ความเป็นไป ที่ว่ามันควรจะเป็นอะไร เป็นอะไร

เพราะฉะนั้น เรียนไปดีๆ เราจะรู้จังหวะ เราจะรู้ชีวิต เราจะรู้ว่าอะไรมีค่าที่สุด อะไรควรที่สุด เราจะเข้าใจ แล้วเราจะจัดสรรถูก แล้วมันจะอุดมสมบูรณ์ แล้วมันจะไม่มีขาด ไม่มีพร่อง ไม่มีทุกข์ สร้างมาแล้ว เราก็สร้างมาแจกกัน สร้างมาเกื้อกูลกัน สร้างมาอาศัย ไม่ใช่สร้างมาผลาญ มันมากเกินไป ก็เสียเศรษฐกิจเหมือนกัน หลักเศรษฐศาสตร์ สร้างอะไรมากเกินการ สร้างอะไรที่เฟ้อ ฟุ่มเฟือย สุรุ่ยสุร่าย สูญเสีย เสียแรงงาน เสียข้าวของ เสียเวลา สูญเสียไปเปล่า เฟ้อ ผลาญ อะไรๆ มันก็หมดไปได้ มันก็ไม่ถูกเหมือนกัน เพราะฉะนั้น อะไรที่มันสมควรอยู่ ที่เป็นความเป็นกลาง ความพอเหมาะ ความพอดี พวกนี้เป็นสภาพที่เราจะได้ความรู้เรื่อยไป ลึกซึ้งน่ะ

ความทะยานอยาก ความแสวงหา ท่านไล่มาเรื่อยๆน่ะ แล้วมันก็จะเกิด ทั้งหมดแล้ว มันจะเป็น การสร้าง แล้วมันก็เป็นการสร้างที่มีกิเลส กับไม่มีกิเลสน่ะ ลองฟังดีๆ เพราะอาศัย ความทะยานอยาก จึงมีการแสวงหา เพราะอาศัยการแสวงหา จึงมีลาภ ลาภคือสิ่งที่เกิด อธิบายเป็นคำๆ ให้ลึกซึ้ง คุณอ่านเอง คุณมีปัญญา คุณพอเข้าใจหรอก แต่ที่พยายามอธิบายนี่ เพื่อให้เห็นว่า นัยที่มันจะเป็นสัมมา หรือมิจฉาอย่างไรกันบ้างน่ะ เพราะความแสวงหาจึงมีลาภ ลาภ ก็คือสิ่งที่ได้มา สิ่งที่เกิดขึ้น

เพราะฉะนั้น ถ้าแสวงหา จะไปคว้าเอาแต่ของคนอื่น แสวงหาก็ไปคว้าเอา แต่ของคนอื่น มันก็ไปเอา ของคนอื่นมาน่ะซิ ถ้ายิ่งไปเอาของคนอื่นที่ไม่ใช่ของเรา ก็เป็นขโมย ก็เป็นอทินนาทานไป ยิ่งแย่ใหญ่เลย เพราะฉะนั้น ถ้าจะแสวงหา เออ! เราแสวงหา นี่ หมายความว่า เราต้องการ ขึ้นมาแล้ว ทำยังไง ถ้ามันมีสิ่งที่มันเป็นสิทธิที่เราทำได้ ใช้ได้ คว้าได้ เราก็ทำไป ถ้าแสวงหามันไม่มี มันไม่มี เราก็สร้างมันขึ้น แสวงหา เมื่อไม่มี เราก็สร้าง สร้างขึ้นมา นั่นเป็นลาภของเราแล้ว ที่เกิดสิ่งนั้น ถ้าสร้างมันขึ้น มันก็เกิด มันก็เป็นสิทธิของเรา มีลาภน่ะ สร้างแล้วไม่เป็น สร้างสิ่งนั้น ไม่เป็น เราก็สร้างสิ่งอื่น แล้วเอาสิ่งนั้น ไปแลกเปลี่ยนมา มันก็ไม่เป็นหนี้ เราสร้างสิ่งนั้นไม่เป็น เราแสวงหา หรือ ต้องการ หรือทะยานอยาก อยากได้สิ่งหนึ่ง อย่างที่ยกตัวอย่าง อย่างเมื่อกี้นี้ เราจะทำความสะอาด เราก็ไปหาเครื่องมือ เราสร้างเครื่องมือไม่เป็น เราก็ทำอันอื่น ที่เราทำเป็น แล้วเอาไปแลกเครื่องมือนั้นมา เอามาทำความสะอาด อย่างนี้เป็นต้น มันก็ไม่เป็นหนี้ มันก็คุ้มกันน่ะ

เพราะฉะนั้น เราไม่พยายามที่จะสร้างหนี้ ไม่ไปเอาเปรียบ แล้วก็ไม่ไปเอาเปล่าอะไรใคร ไม่ไปเอาเปรียบ ไม่ไปเอาเปล่าอะไรของใคร เราจะต้องเป็นผู้ที่มีกำไรเสมอ ทางธรรมนะ เป็นผู้ที่ ได้ให้เสมอ เป็นผู้ที่คุ้มตัวเสมอ เพราะฉะนั้น ในตัวเราจึงจะต้องเป็นตัวสมรรถภาพ มีสมรรถภาพ มีสมรรถนะที่สูง จะต้องสร้าง จะสร้างด้วยกาย วาจา ใจ อย่างไร ที่มันเป็นคุณลักษณะ ที่จะต้องสร้าง ก็แล้วแต่ คุณจะต้องสร้าง เมื่อมีการอาศัยการแสวงหา จึงมีลาภ มันเป็นลักษณะ ที่ลึก ที่จิตวิญญาณ เพราะฉะนั้น เมื่อคนเราแสวงหา หรือว่าคิดหาทาง ที่จะสร้างแล้ว หรือคิดหาทางที่จะได้ จะเป็น จะมีอะไรขึ้นมา เราก็จะให้มันได้ มันเป็น มันมี ถ้ามันมีเป็นสิทธิ ของเราดังกล่าวแล้ว เราก็หยิบได้ทันที ถ้ามันไม่มี เราก็สร้างมันขึ้นมาให้ได้ จึงเกิดลาภ

เพราะอาศัยลาภ จึงมีการวินิจฉัย ทีนี้พอมีสิ่งที่เกิดแล้วก็วินิจฉัย วินิจฉัย ก็คือ ตรวจสอบว่า มันเป็นสิ่งควร หรือไม่ควร สร้างมันขึ้นมา ทำมันขึ้นมา มากไปหรือน้อยไป ดีหรือไม่ดี ทำได้ขึ้นมา ดีไหม มีคุณภาพไหม มีปริมาณมากไปหรือน้อยไป มีคุณภาพดี หรือ ไม่ดี ถูกต้องไหม อะไร ก็พิจารณาวินิจฉัย

เพราะอาศัยการวินิจฉัย จึงมีความกำหนัด ด้วยอำนาจแห่งความพอใจ อาศัยการวินิจฉัย การตรวจตรา วินิจฉัย ตรวจสอบด้วยปฏิภาณปัญญา จึงเกิดความกำหนัดด้วย อำนาจแห่ง ความพอใจ

เพราะฉะนั้น สิ่งที่ได้มา สิ่งที่เป็น สิ่งที่อยู่ในมือ ลาภ เป็นสิทธิแล้ว เราก็ผูกพันได้ กำหนัดได้ ด้วยอำนาจ แห่งความพอใจ ถ้าวินิจฉัยบอกว่า โอ๊ย! ดี คุณภาพก็ดี ปริมาณก็มาก ต้องดัง สมดังกับที่เราต้องการ ทีนี้ไอ้คำที่ว่าต้องการนั้นน่ะ ต้องการมาบำเรอ มีภพอยู่ในใจ มีชาติอยู่ในใจ มีอุปาทาน มีสิ่งที่ยึดที่ติดอยู่ในใจ ไม่ได้คลาย ไม่ได้ปล่อย เมื่อได้มาบำเรอตามที่เราต้องการ ตามที่อุปาทานเราติด เราสมมุติเอาไว้ในใจว่า ต้องได้อย่างนี้ ต้องเป็นอย่างนี้ คืออันนี้ล่ะ ได้มาก็พอใจ ก็กำหนัดใคร่ ผูกพัน เป็นของกู เป็นตัวกูของกู ได้สมใจ ก็เกิดการลิงโลด ดีใจ ฟูใจ ชื่นใจ พอใจนั่นเอง มีความกำหนัด ก็ผูกพันด้วยอำนาจแห่งความพอใจ เพราะอาศัยความกำหนัด ด้วยอำนาจแห่งความพอใจ จึงมีการฝังใจ เพราะฉะนั้น มันพอใจ สมใจ ชื่นใจ มันก็ฝังใจ

เพราะอาศัยการฝังใจ จึงมีการหวงแหน เมื่อฝังใจแล้ว ทีนี้ก็หวงแหน ลักษณะมันค่อยๆเป็นนะ ลักษณะมันละเอียดนะ ฟังดีๆมันละเอียดนะ มันพอใจ มันเห็นว่าเออ! ดีนะ เออ! ดี แหม! มันถูกต้องแล้ว วินิจฉัยมาตลอด ใช้การวินิจฉัยมา เออ! ถูกต้อง ดี สมกับที่เราเองอยากได้ อยากเป็น อยากมี เสร็จแล้วเมื่อพอใจ พอใจก็ฝังใจ พอใจก็ฝังไว้เลย พอฝังใจไว้แล้วก็ ทีนี้ใครอย่ามาใกล้นะ หวงแหน อาศัยการหวงแหน จึงมีความตระหนี่ ทีนี้ใครอย่ามาใกล้แล้ว ทีนี้ล่ะก็ ตระหนี่ก็แกะไม่ออกเลยทีนี้ ใครมาใกล้ ทีนี้ นอกจากทะเลาะวิวาทกับเขา แล้วทีนี้แล้วใครอย่ามา แม้แต่จะมามอง มาอะไรไม่ได้ แล้ว ตระหนี่ เมื่ออาศัยความตระหนี่ เพราะอาศัยความตระหนี่ จึงมีการอารักขา ทีนี้ก็ปกป้องดูแล รักษา ไม่ให้เสื่อม ไม่ให้สูญ จะให้มันนิรันดร์ ฟังตรงนี้ชัดๆ ไม่ให้เสื่อม ไม่ให้สูญ จะให้มันนิรันดร์ เพราะเราต้องใจเหลือเกิน พอใจเหลือเกิน มันเป็นสิ่งที่เรา พอใจ คำว่าพอใจนี่ก็ลึกซึ้งนะ ลึกซึ้งมาก ไปติดใจว่า อันนี้ล่ะมันต้องได้ ต้องมี ต้องเป็น แล้วก็ใจเรา ก็ผูกนี่ อย่างที่ว่านี่ เสร็จแล้วก็ฝังใจ ผูกใจ ฝังใจแล้วก็ หวงแหนไว้ ตระหนี่ไว้ กิเลสนี่แหละ หรือ อุปาทาน หรือความไม่รู้ว่า อะไรๆมันก็ไม่มีหรอก อะไรๆมันก็ไม่ได้ เป็นตัวเป็นตนอะไร อะไรๆ มันก็ไม่ได้นิรันดร์ถาวรอะไร อะไรก็ไม่ใช่ของเรา อะไรก็ไม่ต้องมายึดมาฝังว่า เราจะต้องเอาไว้ จะต้องเป็นต้องมี อะไรก็ทั้งนั้นล่ะ มันไม่ใช่ พระพุทธเจ้าถึงได้มาตรัสรู้สิ่งที่สมบูรณ์ที่สุด แต่เราก็บอกว่า เราต้องได้อันนี้ เราต้องมีอันนี้ เราต้องเป็นอันนี้ ยิ่งไปยึดถือสิ่งที่มันนอกตัว เป็นวัตถุแท่งก้อน เป็นสิ่งที่จะแปรเปลี่ยนไป เห็นๆ หลัดๆ เป็นข้าวเป็นของ เป็นอะไรต่ออะไร มันยิ่งไปกันใหญ่ มันยิ่งแปรปรวนง่าย มันยิ่งต้องยากต้องหนัก แม้แต่แค่อารมณ์ แม้แต่แค่ ความรู้สึกของจิต เป็นปรมัตถ์ เราก็ไม่เข้าใจว่า เอ๊! เรานี่ ลักษณะอย่างนี้นี่ เราฝังใจเข้าไปแล้วนะนี่ ลักษณะอย่างนี้นี่หวงแหนแล้ว ลักษณะอย่างนี้น่ะ ตระหนี่แล้ว ลักษณะอย่างนี้นี่ เกิดการอารักขาแล้ว

โอย! เธออย่าเสื่อมสูญเลย เธออย่าเสียหายไป เธออย่าบกพร่องไป จะต้องเป็นอย่างนี้ อยู่อย่างนี้ เที่ยงแท้ คงทนถาวรนิรันดร์ จะต้องเกิดการอารักขา เพราะมีการอารักขาเป็นเหตุ จึงมีการจับท่อนไม้ จับศาสตรา การทะเลาะ การแตกแยก การกล่าวขัดแย้งกัน การชี้หน้ากัน การพูดส่อเสียด การพูดปด ธรรมะที่เป็นบาปอกุศลอีก เป็นเอนก นั่นล่ะ ลงท้ายแล้วก็เพราะถึงขั้นอารักขา อารักขา ขยายความให้ฟังแล้ว เราจะเกิดการรักษาดูแล ทำให้มันอารักขานี่ อาตมาเคยแปล ไปในด้านกุศล ต้องอาศัยนะกุศล ต้องอาศัย รักขณา หรือ รักขะ รักษะ รักษานี่ ได้เคยอธิบาย ในด้านกุศล กุศลคือทำให้มันดี ทำให้มันประเสริฐขึ้น เพราะฉะนั้นการไปหลงผิดว่า ทำให้ประเสริฐ ทำให้ดีแล้ว จะเป็นของกู นั่นผิด ถ้าทำไม่ดี ให้ประเสริฐแล้ว อะไรก็แล้วแต่ ดูแลหรือว่าควรดูแล ให้มันดี มันงามแล้ว แม้มันจะจากไป แม้มันจะต้องเฉลี่ยแจกจ่าย เผื่อแผ่ผู้อื่น ไม่ได้เป็นของเรา ไม่ได้หวงแหนไว้ ไม่ได้ตระหนี่ไว้ ก็เป็นการกระทำ ที่ถูกต้องแล้วว่า เรารักษาไว้เพื่อสร้างสรร ไม่ใช่รักษาไว้ เพื่อเป็นของกู รักษาไว้เพื่อความหวงแหน ตระหนี่ถี่เหนียว จะอยู่กับเราตลอดนิรันดร์ พระพุทธเจ้าท่านสอนว่า ทุกอย่างต้องพรากจากกัน แต่เราก็เป็นตัวกู เป็นของกู ไม่พรากจากกัน ไม่เกื้อกูล ไม่ให้ นั่นผู้นั้นเป็นคนที่ไม่มีสมรรถภาพ ไม่เชื่อว่า เราจะสร้างสิ่งนั้นได้อีก แล้วก็ไม่มีจิตใจ ว่าเราจะต้องสูญ เราจะต้องไม่ติดยึดอะไร เมื่อไม่มีในโลก เราก็ไม่ต้องมีก็ได้ สูญไปเลยก็ได้ แล้วเราก็จะไม่ต้องห่วงอะไร

เพราะฉะนั้น พระอรหันต์เจ้า สิ่งใดจะจำเป็น จะสำคัญขนาดไหน ถ้าแม้ว่า ที่สุดมันไม่มี มันไม่ได้แล้ว ท่านก็สูญ ก็เลิก ก็จาก มันจึงไม่มีอะไรติดยึดอยู่ในโลกเลย ไม่มีอะไรค้างอยู่ในโลก อีกเลย ไม่มีอะไรค้างอยู่ในอัตภาพด้วย หมดก็หมดไปสิ ไม่กลัว เพราะเราก็จะหมดอยู่แล้ว มันจริง เอ้า! ก็เราจะหมดอยู่แล้ว เมื่อมันหมด มันก็หมดเหตุปัจจัย ทุกอย่างก็ต้องไม่มีอะไร แม้มันจะค้างอยู่ มันจะอยู่ สุดท้าย มันก็จะมีอะไรอีกเยอะแยะไป เป็นของเรา ถ้าเราจะเป็นของเราน่ะ มองเผินๆนะ

ยกตัวอย่างง่ายๆ อย่างอาตมาทุกวันนี้นี่ อาตมาเหมือนเจ้าบ้านเจ้าเรือน เหมือนเจ้าสำนัก นี่ตึกราม บ้านช่อง สถานที่ ข้าวของนี่ เหมือนอาตมาเป็นเจ้าของ จริงไหม เหมือนอาตมาเป็นผู้ใหญ่ในที่นี้ เป็นประธาน เอาเราก็มีสิทธิ์ หรือว่าเราเป็นเจ้าข้าวเจ้าของ อะไรต่ออะไรต่างๆนานาพวกนี้ นี่มองชัดๆ มองเผินๆ มองอย่างคนโลกๆ เขามอง ว่าเป็นเจ้าของนี่ มันก็เป็นเจ้าของ ถ้าใจเราผูกพัน เป็นเจ้าของ เราก็ไม่ต้องการ ให้มันสูญสลายไป แล้วเราก็จะต้อง เออ! เป็นปู่โสมเฝ้าทรัพย์นี่ ตายแล้วก็ต้องมาเฝ้า ไอ้นี่อยู่ ไอ้นี่เป็นของกู จิตมันเป็นจริงนะ จิตมันว่านี่เป็นของกู มันก็เป็นของกู มันไม่ต้องไปเอาตัววัตถุหรอก มันเอาตัวอะไรต่ออะไร ไปนึกไปคิด ว่าเป็นของกูอยู่อย่างนั้น มันก็อยู่ อย่างนั้นแหละน่ะ เหมือนกับของของเรานี่มี เรามีเพชรกับ มีพลอย เรามีสมบัติ มีเครื่องใช้ อะไรก็ตามแต่ เราให้เขาไปแล้ว คนอื่นเขาก็เอาไป เขาเอาไปใช้ ไปอยู่ที่เขาแล้ว แต่ใจเราก็ยังเป็น ของกูๆ ของกูอยู่นี่ ของไม่อยู่กับเราแล้ว มันก็ยังเป็นภพเป็นชาติ ยังเป็นสภาพกู ของกู จำได้ไม่เลือน ไม่ลืม ดีไม่ดี ยังมีความหวงแหน ยังมีความจะเอา ว่าเป็นของกูอยู่ ทั้งๆที่มันไม่ได้อยู่กับกูแล้ว มันไปทำประโยชน์ หรือมันจะไปเป็นฤทธิ์แรง อะไรของมัน มันก็ไปออกฤทธิ์ ออกแรงอยู่ที่คนอื่น ไปมีบทบาทอยู่ที่คนอื่น ไม่ได้อยู่ที่เราเลย แต่เราก็ยังของกูๆ ของกูอยู่นั่นแหละ

หนักเข้ามันอยากได้ คืนมาเป็นของกู หนักเข้าก็เอาของกูคืนมา เอาของกูคืนมา มันไม่ได้ก็จะต้อง ดิ้นรน หาสิ่งอย่างนี้ ขึ้นมาเป็นของตนให้ได้ ไม่ชาติใดก็ชาติหนึ่ง ไม่คราใดก็คราหนึ่ง จนได้นั่นแหละ ถ้าได้แล้ว ก็บำเรอ สมใจว่าของกู ก็เป็นสุข ไม่ได้ก็ทุกข์มันตลอดไปอีกนานกี่กัปกี่กัลป์ ก็ทุกข์อยู่อย่างนั้นแหละ ฟังดีๆ แล้วคุณลองนึกดูซิ แต่ถ้าใครไม่เป็นของกูแล้ว เอาไปซี อาตมา จะสร้างปฐมอโศกขึ้นมาให้มันดี แล้วให้เขามาริบ ริบเอาไปเลย แล้วก็ใช้ให้เป็นนะ ใช้ไม่เป็น มันก็สูญเสียแหละ คุณทำให้ดีๆ ให้ใช้ดีๆ แล้วก็ยังไม่รักษา ไม่ดูแล ไม่ทำให้มันดี ไม่ให้เป็นประโยชน์ ก็เท่านั้นเองนะ นี่พูดให้คุณฟัง สร้างให้จริงๆเลย แม้เขาจะมาริบจริงๆ ก็จะได้รู้จริงๆเลย อาตมาว่า ถึงขั้นที่เขาจะต้องมาริบ ก็ดีเหมือนกันล่ะ จะได้ลองใจ พวกเราดูสิว่า ใครจะเป็นอริยะ ขั้นสูงอะไรได้แค่ไหน มันมาเอาไป แค่นิดแค่หน่อย ไม่เท่าไหร่หรอก มันต้องมาริบ ขนาดนั้นน่ะไป ริบสันติอโศก ยึดโรงพิมพ์ เฮ้ย! นี่จะตื่นเต้นแล้ว น้อยไป ริบสันติอโศก เอาไปทั้งสันติอโศกซิ มันจะเป็นยังไง คงดิ้นกันพราดๆๆ กันไปไม่ใช่น้อยนะนี่ ให้มันจริงดูซิ ของของกูอะไรนัก ริบปฐมอโศก ริบสันติอโศก ริบหมดเลย เอ้า! ริบไปเลย มันต้องแน่ จริงๆนะ คุณ พระอริยเจ้าโดยเฉพาะ จะไปเป็นพระอรหันต์นั่น มันไม่แน่ มันไม่ได้นะ อะไรเป็นของคุณ โลกทั้งโลกนี่ เป็นของคุณหรือ ไม่มีอะไร เป็นของคุณหรอก คุณสร้างขึ้นมา เถอะ สร้างขึ้นมา เพื่อให้เขาได้อาศัย อนุเคราะห์ เขาจะเอาไป ก็เอาไปซี เขาจะริบ ก็ริบไป เอาไปทำประโยชน์เลย เอาไปสร้างสรรเลย เอาไปเลย เอาไปสร้างสรร เอาไปทำประโยชน์เลย ถ้าเขาทำไม่เป็น ก็แนะนำ เขาด้วย บอกเขา เออ! อันนั้นทำอย่างนั้น อันนี้ทำอย่างนี้ ได้อาศัย ได้เป็นประโยชน์คุณค่า พิสูจน์ดูซิว่า คนที่มีใจไม่หวงแหน ใจไม่ได้อาฆาตมาดร้าย ใจที่ปรารถนาดี กับคนอย่างนี้ เกื้อกูลกัน ไม่ต้องกลัว สร้างใหม่ ดินยังไม่หมด น้ำยังไม่หมด ลมยังไม่หมด ไฟยังไม่หมดหรอก ในโลก จะมีคนให้เราไปสร้างไหม เราพิสูจน์นะ

คนเรานี่ มันมีปฏิภาณรู้เหมือนกันนะ โอ้โห! คนนี้แน่จริงๆนะ จุ๊ๆๆ มันน่าหวงแหนสิ่งนี้ ไม่หวงเลยแน่ะ เป็นใจเรียกว่าใจเป็นคนสปอร์ต เป็นคนที่ไม่ขี้โลภ ไม่ขี้หวงแหนเลยนะ ให้ได้เลยแน่ะ คนเรานี่ชื่นชมกับคน ที่ใจกว้าง ชื่นชมกับคนที่มีทาน ชื่นชมกับคนที่เสียสละ อย่างนี้นี่นะ ในโลกมันยังมีอยู่อีกทั้งนั้นแหละ เยอะแยะเลย ยิ่งให้ไป ยิ่งได้มา ขณะนี้ คุณจำลอง กำลังพิสูจน์อยู่กับสังคมโลกเขา เราก็ต้องพิสูจน์ เหมือนกัน ยิ่งให้ไป ยิ่งได้มา ยิ่งปรารถนาดี ที่จะให้เขา ให้เขาได้รับคุณค่าประโยชน์มากๆ แม้แต่ ร้านค้าร้านขาย แม้แต่พลังบุญฯ แม้แต่อะไรนี่ ไปตระหนี่ถี่เหนียว ไปหวงแหน ไปเอาเปรียบเอารัด จะต้องได้นิดได้หน่อย เห็นแก่เล็กแก่น้อย อยู่นั่นแหละ แล้วก็ไม่สปอร์ตสักที ไม่กล้าหาญที่จะให้ เสียสละดูซิ แรงงาน ข้าวของนี่ จะเอาแต่ตัวกำรี้กำไร แบบโลกๆ เอาแต่เงินเข้า อะไรยังงี้ มันไม่ได้แสดงน้ำใจ มันวิญญาณนี่ มันลึกซึ้งนะ คนที่เขาสัมผัส วิญญาณให้ได้ว่า เออ! เราให้นะ เขาก็จะรู้สึกว่าเราให้ เราเสียสละนะ เออ! ขายถูก จริงๆนะ เสียสละกันจริงๆนะ ทุกคน ลงทุนลงแรง เอ๊! อย่างนี้จะได้กำไรมายังไง อย่าง ชมร.นี่ คน วิญญาณเขารับได้ จึงได้ยืนนาน จึงได้เจริญงอกงามขึ้นมา และอาตมาก็ อบรมสั่งสอนให้ ให้ได้มากๆ เสียสละซี แล้วให้เขากิน ๕ บาทยังไม่พอ ยังแถมกล้วยอีก กินกล้วยฟรี อะไรอีก ถั่วฟรี ถั่วต้มก็ฟรี น้ำแข็งเปล่าให้แถม อะไรอย่างนี้ คนเขารับได้นะ จิตวิญญาณมนุษย์ มันรู้แสนรู้นะว่าเขาได้ เราให้ หรือเรายังมีเชิงซ้อน นี่เห็นไหมนี่ มันยังเอา ยังเอา อาตมายังเข็น พลังบุญฯ ไม่ค่อยขึ้น ยังมีลักษณะพวกนี้กันอยู่ ไม่รู้จะเป็นใครบ้างล่ะ เป็นคนคิดคนอ่าน คนอะไรต่ออะไรอยู่นี่ มันยังไม่ค่อยให้ ไม่รู้มีพลังบุญฯฟังกันบ้างหรือเปล่าสักคน หลับอุตุกันไปหมด หรือเปล่าก็ไม่รู้ นี่มันไม่ค่อยมีบุญน่ะ ไม่ค่อย มันยังมีเชิงซ้อน คนเรามันรู้เชิงคนอยู่นะ ในโลกมันรู้

เพราะฉะนั้น ถ้าเราได้ให้จริงๆนี่นะ ยิ่งบริสุทธิ์เท่าไหร่ ได้ให้ ให้บริสุทธิ์เท่าไหร่ คนมันเห็นนะ เออ! มันให้ ลองให้มันให้อีกซิ ให้มันอีกซิ มันจะเอาไหม หรือ มันจะให้คนอื่นต่อไหม ให้มันอีกทีซิ มันเป็นการท้าทายพิสูจน์ มันเป็นการลองใจมนุษย์เหมือนกัน เออ! มันให้เว้ย ให้เรามีนี่หว่า เราให้มันอีกทีซิ มันจะให้อีกไหม เราให้มันแล้ว มันจะไปให้ใครอีกไหม หรือมันจะเอาไปงกๆ ไปซุกซ่อน ไปแฝงซ้อน ไปเอามาเป็นของตัวกู ของกูอีกไหม มันซับซ้อนนะ

เพราะฉะนั้น พิสูจน์ซี พิสูจน์ว่าเกิดมาเป็นคนนี่ เพื่อจะให้ ถ้ามันไม่ล้มละลาย หรือว่ามันตั้งอยู่ไม่ได้ นั่นก็เอามันเลย ถ้ามันตั้งอยู่ได้ แม้เราจะกระเบียดกระเสียนบ้าง ให้มันตายลองดูซิ มันไม่ตายง่ายๆ หรอก ยิ่งให้ไป ยิ่งได้มา พิสูจน์ดูซิ เพราะฉะนั้น ถ้าเราเข้าใจถูกนะ จะไปหวงแหน เสร็จแล้ว ก็อารักขา แล้วก็หนักเข้า ก็แย่งชิงกัน เป็นเหตุให้จับท่อนไม้ จับศาสตรา การทะเลาะเบาะแว้ง ขัดแย้งขี้หน้ากัน ส่อเสียด พูดปด มันก็คือหวงแหน เป็นตัวกูของกู จะเอามา จะเอาเปรียบ จะเอารัด เหตุเกิดจากการหวงแหน จึงเกิดการทะเลาะ จึงเกิดการโทสะ เพราะขี้โลภจึงโทสะ เพราะมีราคะ จึงโทสะ จึงแย่งชิงตีกัน ฆ่าแกงกัน นี่ยังเป็นอยู่ทุกวันนี้ โลกก็เห็นชัดๆหยาบๆ นั่นน่ะ ชัดยังกับอะไรดี

Š เพราะฉะนั้น เราจะแสวงหา หรือว่าเราจะทะยานอยาก ก็ต้องให้รู้ว่าแสวงหาได้ ทะยานอยากได้ มีลาภได้ โดยทำสร้างขึ้น มันก็เป็นลาภ อย่าไปคว้าเอาลาภของใครมา อันไม่ใช่ของเรา สร้างขึ้นให้เป็นลาภเกิดจากเรา เราเป็นผู้สร้าง กัมมานัง เป็นผู้ทำ สร้างขึ้นเป็นลาภ เมื่อมีลาภแล้ว ก็วินิจฉัย วินิจฉัยว่า เราควรจะทำอย่างไรน่ะ ดีแล้ว ตรวจสอบวินิจฉัยว่า เออ! ดี น่ายินดี เป็นมุทิตา ยินดีตัวนี้ เป็นมุทิตา หรือเป็น อนุโมทนา ให้มันรู้ว่าดี น่ายินดี แล้วพอใจตัวนี้ ไม่ใช่พอใจอย่างที่ จะเป็นไปทางกิเลส พอใจแล้วก็ฝังใจ ฝังลงไปเลยว่าเป็นของกู เอ็งอย่าพรากจากกูนะ หนักเข้า ก็หวงแหน ตระหนี่ อารักขา นั่นน่ะ เป็นลักษณะ ของกิเลสที่มันค่อยๆโต ฝังใจ หวงแหน ตระหนี่ อารักขา ภาษาไทยแปลได้เท่านั้น ถ้าเป็นบาลี มันยิ่งลึก ขึ้นไปเลยนะ ฝังใจนี่อะไรไม่รู้ แต่ฝังใจ ไม่มีปัญหาอะไร ปักใจ ฝังใจ อัชโฌสานัง การฝังใจ ฝังใจแล้ว ปริคคโห หวงแหน นี่ แล้วก็มัจฉริยะ ตระหนี่ มัจฉริยะ อารักโข อารักขา เข้าไป แล้วเป็นบาปอกุศล ทุกอย่าง อารักโขเป็น ไปปาปกา อกุสลา ธัมมา เป็นเหตุให้เกิดอกุศลทั้งหมด เพราะฉะนั้น ถ้าบอกว่าเราไม่เข้าใจ อารักขา ซึ่งเป็นทิฏฐธรรมิกัตถประโยชน์อันหนึ่ง จนกระทั่งถึงที่สุด ถึงอารักขาแล้ว จึงเป็นเหตุให้เกิด จับศาสตรา การทะเลาะเบาะแว้ง เพราะมีอารักขา มีอารักโขนี่ ถ้าไม่เข้าใจลักษณะพวกนี้เป็น ๒ ด้าน ด้านไหนเป็นคุณ ด้านไหนเป็นโทษ ด้านไหนเป็นกุศล ด้านไหนเป็นอกุศล เข้าใจผิดนะ พังหมด เพราะไปแปลความอารักขาไว้ว่า ต้องหวงแหน สะสม ไปแปลว่า หัวใจเศรษฐีน่ะ ต้องให้หวงแหนสะสม แล้วเขาบอกว่า มีการสะสม มีการอะไรล่ะ อารักขา ทิฏฐธรรมิกัตถประโยชน์ มีขยันหมั่นเพียรสร้างสรร แล้วก็อารักขา เขาก็แปลว่า มีการสะสม นั่นแหละรักษา อาตมาเคย แปลไป เคยอธิบายให้ฟัง ทำให้มันดี รักษาไม่ใช่ว่าจะต้องหวงแหน สะสม ตระหนี่ เป็นของกู ไม่ใช่ รักษา คือทำให้มันดี มันจะแจกจ่ายเจือจานอะไรไป ก็รักษาให้มันเป็นคุณค่า

เพราะฉะนั้น ถ้าเผื่อว่าเราไม่มีตัวเหตุว่า มัจฉริยะ ปริคฺคโห หวงแหน ตระหนี่ ไม่ฝังใจว่าเป็นกู ไม่ผูกมัดเข้าไว้ ฝังใจก็คือเอาไว้ที่อุปาทาน เอาไว้ที่การสัญญาลงไปในใจเลยว่า นี่แหม! อันนี้มันน่าได้ น่ามี น่าเป็น ไม่น่าพรากจากความเป็นของกู ลึกๆมันจะเป็นอย่างนั้น เมื่อเป็นอย่างนั้น มันก็จะเกิดการตระหนี่ หวงแหน ตระหนี่ขึ้นมา ปริคคโห มัจฉริยะ มัจฉริยังขึ้นมาทันที มันจะหวงแหน แล้วมันก็จะตระหนี่ขึ้นมาทันที เมื่อมันหวงแหน ตระหนี่ขึ้นมา มันก็อารักขาแบบ หวงแหน แบบตระหนี่ ถ้าไม่เกิดมีปริคคโห มีมัจฉริยะ ไม่เกิดสิ่งอย่างนี้ ที่เป็นอุปกิเลสพวกนี้ขึ้นมา แม้เราเองยินดี มีอนุโมทนา อันนี้เขา ฉันทราโคความยินดีอันนี้เป็นฉันทราโค

เพราะฉะนั้น ความพอใจยินดีนี้ เราไม่ใช้ฉันทราโค เราจะเป็นความยินดี เป็นอนุโมทนา เป็นปโมทยัง อะไรก็ได้ เป็นความยินดี รู้ว่าดี หรือโดยเฉพาะยิ่งเป็นใจยินดีที่รู้ดี เมื่อสร้างแล้ว กรุณา มุทิตา ลงมือทำ กรุณา ทำแล้ว สร้างแล้ว มุทิตา ดูได้แล้วว่าดี สร้างสรรแล้วว่าดี สิ่งที่ไม่เกิด เกิดแล้วดี คนที่มันทุกข์ ได้พ้นทุกข์ ดี คนที่ไม่ดี ได้เจริญได้ดี ก็ดี ยินดีในสิ่งที่เกิดนั้น จิตยินดี อย่างนี้มันก็จะไม่เกิดการฝังใจเป็นกู ยินดี แล้ว ถ้าเป็นมุทิตาก็อุเบกขา ก็ปล่อยก็วางก็เฉย จบ รู้ดีแล้วก็ไม่ใช่ของตน ไม่ใช่ของตัว ไม่ใช่ว่าเป็นเรา ไม่ใช่เราจะต้องมาหน่วงเหนี่ยว มาหวงแหน มาตระหนี่ มาคว้าเอาไว้เป็นของเรา ไม่ใช่ เมื่อไม่อย่างนี้แล้ว อารักขะ ก็เป็นการส่งเสริมรักษา อย่างที่ให้เกิดประโยชน์ ทิฏฐธรรมิกัตถประโยชน์ ประโยชน์นั้นไม่ใช่ว่า เราเอามาฝังไว้เป็นของตัว ของตน เรารู้จักเศรษฐศาสตร์ เรารู้จักการสะพัด มีการให้การทาน การแจกจ่ายเกื้อกูล ให้มันเกิด มีความรู้ ในด้านเศรษฐศาสตร์สูง ว่า เออ! นี่รีบสะพัด เราเองเราสร้างเป็นนะ ยิ่งสิ่งนี้ เราทำได้เองเป็น เอาไปเลย เดี๋ยวเราทำขึ้นใหม่ ไม่ต้องกลัวว่า เราจะไม่มี ไม่เป็น เดี๋ยวเราก็ ทะยานอยากใหม่ เดี๋ยวเราแสวงหาใหม่ เดี๋ยวเราก็เกิดลาภใหม่ มันไม่กลัวนะ มันไม่กลัวจะหมด เพราะว่าเราเป็น

เพราะฉะนั้น เราอัตตา หิ อัตตโน นาโถ มีความขยันหมั่นเพียร มีความสามารถ เป็นคนที่มี การสร้างสรร อยู่จริงๆ เป็นผู้สร้าง การรักษาก็คือ ให้ได้ เป็นผู้สร้าง เป็นผู้ให้ เป็นตัวเดียวกัน นี่จิตวิญญาณนี่ ลักษณะบอกแล้ว ๓ อย่าง ตรีมูรติ นี่ ผู้สร้าง ผู้ให้ แล้วจิตบริสุทธิ์ สะอาด ไม่เหลืออะไร จิตว่าง สร้างให้ ว่าง สร้างให้ ว่าง จิตสะอาด บริสุทธิ์ ไม่มีตัวกูของกู ไม่มีอะไรฝังว่าเป็นกู แม้เราจะให้ก็ไม่ต้องไปจำว่า เราเองเราได้ให้เขา เป็นบุญเป็นคุณ เห็นไหม มันสูง เพราะฉะนั้น อย่างนี้ไม่มีการทะเลาะ ไม่มีการขัดแย้ง ไม่มีการถืออาวุธศาสตรา ไม่มีการพูดปดส่อเสียด ไม่มีการมาชี้หน้า การชี้หน้ากัน เอาของกูมา เอาของกูมา ไม่มี ไม่มี แม้แต่ความรู้ ข้าถูก เอ็งผิด ความรู้นี่ มันก็เป็นของกลางๆ เรารู้ถูก ก็คือถูก เรารู้ผิดก็คือผิด เพราะฉะนั้น เขาจะมาท้วงให้ เขาจะมาติเตียนให้ ว่ามันผิดนะ เราก็เอามาตรวจตรา วินิจฉัย เมื่อวินิจฉัยแล้ว อย่างที่เรามีปัญญาเท่าไหร่ เราก็มีตัวนั้นล่ะมาทำงาน มันมีปัญญาเท่าไหร่ มันก็วินิจฉัยเท่านั้น วินิจฉัยแล้ว ตัดสิน ตัวเองตัดสิน เออ! เราถูก ก็แล้วไป เราก็วาง เขาจะว่า เราไม่ถูก ก็ไม่มีตัวกูของกู ก็ถูกแล้ว ก็ยินดีแล้ว ก็จบ ถ้าไม่ถูก เออ! ขอบคุณๆ ถ้าเราตรวจ วินิจฉัย ตนเองแล้ว เออ! เขาติเตียน เขาว่ามา ดีนะ เราตรวจแล้วนี่ เราได้รู้ตัว เราไม่รู้ตัว มาตั้งนานแล้ว เขาบอกให้ เอ้า! ดีนะ ก็มาแก้ไขปรับปรุงเราเอง ขอบคุณเขา สร้างสรรขึ้นมาให้มันดี เมื่อดีแล้ว เราก็ทำงานต่อ สร้างสรรต่อ เราจะไปสร้างสิ่งผิดๆ สิ่งไม่ดีๆ ออกไปทำไม สร้างสิ่งถูกๆ สร้างสิ่งที่ดีๆ ออกไปซิ

แม้ความรู้ความสามารถที่อยู่ในตัวเรา เพราะฉะนั้น เราจะสอน เราจะบอกความรู้ เราก็บอก ความรู้ที่ดี เขาติเตียนว่า พูดอย่างนี้ไม่ถูก นี่อย่างเราถูกติเตียนอยู่ ต้องอย่างนี้ สอนอย่างนี้ถึงจะถูก เอ๊ะ! เราบอกว่าเขาสอนอย่างนั้นล่ะผิด นั่นน่ะ ที่เขาสอนนั่นแหละผิด มันถึงได้ตื้อๆ อยู่แค่นั้น เราสอนอย่างนี้ เราถูกได้ผล พหุสุตะ พหุสัจจะ นี่นะ แปลว่ารู้มาก เอาละ รู้มากก็ไม่มีปัญหาอะไร ถ้ารู้มากอย่าง พหุสัจจะนี่นะ น่าจะให้มันมีน้ำหนักว่า มันดีกว่าพหุสุตะ ด้วยซ้ำไปนะ ถ้าจะเอาคำว่า สุตะ เอาคำว่า สัจจะ มาฟัง แยกมาวิเคราะห์มา ไม่ถูกไวยากรณ์ ของคุณก็ตาม คุณจะเรียน ไวยากรณ์มาอย่างไรก็ตาม คุณรู้ไหม คนที่สร้างคำว่า พหุสุตะ กับ พหุสัจจะ ขึ้นมานี่ เขานึกถึง คำอะไรมาสร้าง พยัญชนะ ไอ้ที่มาพูดนี่ เป็นพยัญชนะ ที่มันเกิดจาก ไวยากรณ์ก่อน หรือมันเกิดจาก อารมณ์คนก่อน แล้วเขาจะผสมภาษาขึ้นมานี่ เขาเป็นนักภาษา ด้วยหรือเปล่า

อย่างทุกวันนี้ สหรัฐอเมริกา เอาทั้งภาษาแขก เอาทั้งภาษาฝรั่งอเมริกาเอง มาใส่เลย อเมริกา เป็นภาษาฝรั่ง สหรัฐ เป็นภาษาแขกน่ะ มีบางอันผสมทั้งไทยทั้งแขก ทั้งฝรั่งเลยนะ บางคำน่ะ แล้วมันถูกไหม คนตั้งนั่น ไม่ได้ถูกไวยากรณ์เลย แต่มันก็เกิดได้ แล้วเขาก็เข้าใจได้ เขาจะเอาอย่างนี้ ทีนี้คุณจะไป แหม! พาซื่อใน ไวยากรณ์เท่านั้น พอคำนี้มาตกถึงคุณ คุณก็แปล ตามไวยากรณ์ ใหญ่เลย ทั้งๆที่เขาไม่ได้เป็นคนสร้าง คนตั้งคำนี้ เขาไม่ได้หมายอย่างนั้นเลย ทัศนาจรนี่ เป็นคำหนึ่งที่ผิดน่ะ นักภาษา นักไวยากรณ์ นักบาลีนี่ บอกทัศนาจรนี่ผิด อันนี้ พระองค์วรรณฯ เป็นคนตั้ง หม่อมเจ้า แต่ตอนหลังได้ยกระดับขึ้นเป็นพระองค์เจ้า พระองค์วรรณฯ ตอนแรก ก็เป็นหม่อมเจ้าวรรณไวทยากรณ์ เป็นผู้ตั้ง เป็นราชบัณฑิตองค์หนึ่ง ตั้งคำว่า ทัศนาจร ขึ้นมา นักภาษาศาสตร์บอกว่า ทัศนาจรนี่ผิด ผสมคำอย่างนี้ไปไม่รอดหรอก คือเอาคำว่าจรนี่ แปลว่าไป มาใส่คำว่า ทัศนะนี่ แปลว่า เห็น ท่านก็บอก เออ! ไปซิ ทัศนาจรคือ ไปเที่ยวได้ไปดูอะไร เรื่อยๆๆไป ภาษาซื่อๆนะ ถ้าเราแปลโดยหลักไวยากรณ์แล้วมันแปล มันรับไม่ได้ มันแปล โดยไวยากรณ์ เขาแปลอะไร ไม่รู้ แต่ความง่ายๆ โดยความหมายง่ายๆ เราฟังดูแล้วมันเข้าท่านะ มันเข้าใจ แต่ไม่ นักไวยากรณ์เขาแปล เขาบอกผิดหลักไวยากรณ์ แปลว่า ทัศนาจร ผิดภาษา เอาสิ ไปแปลมา ทัศนาจรเขาแปลผิดภาษา มันก็ไม่ผิด มันก็ผิด แต่มันก็ใช้ไม่ได้ แต่ทุกวันนี้ คนเขาใช้ได้ แล้วเขาก็เข้าใจด้วย ทัศนาจรแปลว่าอะไร ก็เรียกว่า เราไปเที่ยวดู เที่ยวไป แล้วก็ไปดู ไอ้โน่น ไปดูไอ้นี่อะไร ไปเที่ยวดู เที่ยวเห็น ใช่ไหม เขาเข้าใจ ใช้ได้โดยภาษา แต่ผิดไวยากรณ์ ทัศนาจรนี่ ผิดไวยากรณ์ อาตมาจำไม่ได้หรอกว่า มันแปลว่าอะไร เพราะนักภาษาศาสตร์เขา นักไวยากรณ์เขา เขาบอกว่าผิดภาษา โดนท้วงมาแต่ไหนเลย แต่ก่อนนี้ อย่างนี้เป็นต้น เราไม่รู้ว่า คนตั้งนี่ เขาก็เป็น นักภาษานะ เป็นราชบัณฑิตนะ พระองค์วรรณฯนี่ ไม่ใช่ว่าคนไม่ใช่นักภาษา ท่านตั้งขึ้นมาใช้ อย่างนั้น จนกระทั่งเดี๋ยวนี้ เราก็ยังใช้ได้ เสร็จแล้วคุณก็เอาคำนี้ ไปเที่ยวได้แยก วิเคราะห์ตาม ไวยากรณ์ คุณแปลไปซิ ไวยากรณ์มันใช้ไม่ได้แล้ว ทัศนาจร เป็นคำนี้ ไปแยกอย่างหลัก ภาษา ไม่ได้เรื่องแล้ว ไม่ได้ความหมายนี้แล้ว ผิดเลย ยังงี้เป็นต้น เอาเถอะ จะยังไง ก็แล้วแต่ นี่ยกตัวอย่างให้ฟัง

เขาว่าเราอย่างโน้นอย่างนี้อะไร ถ้าเมื่อเราไม่มีตัวตน ไม่ได้ฝังใจ มีตัวกู ของกูอะไรแล้วล่ะนะ มันก็ไม่หวงแหน มันก็ไม่ตระหนี่อะไร มันก็ไม่ทะเลาะเบาะแว้ง แล้วมันก็ไม่ต้องมารักษาตัวกูอีก เขาจะบอกว่าผิด เออ! เอาไปเลย เขาจะบอกว่าถูก เอาไปเลย ผิด เอาละ ก็เราก็ไม่มีปัญหาอะไร ถ้าเราใช้ได้ เราก็ใช้ อาการของจิต มันไม่ได้ติดยึด ว่า เอ๊อ! เขามาดูถูกของกู เขามาลบหลู่ของกู กูใช้ของกูได้นี่นะ จะทำไมเอ็งวะ มันไม่มีอาการจิต ที่มันจะต้องไปประชด กระแทกแดกดันอะไร เราใช้ได้ เราก็ใช้ธรรมดาเฉยๆ เราเห็นว่า เออ! มันก็เป็นประโยชน์คุณค่า ตามที่เราวินิจฉัยแล้ว เรามองเห็นแล้วว่าได้ เราก็ทำจิตใจ มันก็ไม่เกิดขัดแย้ง มันก็ไม่ต้องไปชี้หน้าด่าเขา เอ็งนั่นแหละผิด เอ็งนั่นแหละโง่ ก็ไม่ต้องไปชี้หน้าด่าเขา เขาเข้าใจได้อย่างนี้ เราก็เข้าใจเขา ก็จบ เราจะใช้เราก็ใช้ ถ้าเราจะไม่ใช้ เราก็ไม่ใช้ เราใช้ไปแล้ว เราไปรำคาญหูเขา เราก็ไม่ต้อง ใช้ในหูเขา มาใช้ในหูของ คนที่เขาใช้แล้ว เขาไม่รำคาญ แล้วเขาก็ได้ประโยชน์ด้วย เราก็มาใช้ในที่ๆควรใช้ ถ้าเราเห็นว่า มันถูกต้อง มันดี มันเป็นประโยชน์คุณค่า อย่างนี้เป็นต้น เราก็ไม่ต้อง ไปติดยึด ไปหวงแหน ไปมีศักดิ์มีศรีอะไรจนเกินการ จนกระทั่งเกิดการแย่งชิง เกิดการตระหนี่ถี่เหนียว แตะก็ไม่ได้ ต้องก็ไม่ได้ ว่าก็ไม่ได้ อะไรก็ไม่ได้ มันจะไม่มีความรู้สึกอันนี้

ที่อาตมาหยิบขึ้นมาพูดนี่ เป็นปัจจุบันธรรม เป็นเรื่องกำลังมี กำลังเกิด เอามาอธิบายให้คุณฟัง และอาตมา ก็มีของจริง อยู่ในตัวอาตมาขณะนี้ด้วย อาตมาก็อธิบายสู่ฟัง มันเหมือนอวด อุตริมนุสธรรมอย่างหนึ่ง เหมือนกัน ในขณะนี้ หัวใจอาตมาไม่มีอย่างนั้นนะ เราอารักขาแค่ไหน เรารักษาแค่ไหน เรายังไม่วาง เรายังไม่ปล่อย เรายังไม่ทิ้ง เราก็ใช้มัน ถ้าเราให้คนอื่นไปแล้ว เราก็หมดไป มันก็หมดไป แต่ความรู้นี่ ให้ไม่หมด ความรู้นี่ให้แล้วก็ไม่หมด ยิ่งให้ยิ่งงอก ยิ่งให้ ยิ่งงามด้วย ความรู้นี่ มันดีกว่าเพชรกว่าพลอย ดีกว่าเงินกว่าทองเยอะ มันยิ่งให้ มันก็ยิ่งเจริญนะ ความรู้นี่น่ะ ยิ่งให้ ยิ่งเอามาทำประโยชน์ มันยิ่งชำนาญ ความรู้ ยิ่งเอามาทำประโยชน์ มันยิ่งวิจิตร พิสดารขึ้น มันยิ่งเจริญงอกงามขึ้น ความรู้นี่ ยิ่งเอามาใช้ มันยิ่งงาม โอ้โห! สมบัติอย่างนี้นี่นะ มันเป็นสมบัติที่ควรได้เหลือเกิน ไปหาเงินหาทอง เอาไปใช้ ยิ่งใช้ ยิ่งหมด หาเพชรหาพลอย หาอะไร ก็แล้วแต่ เป็นวัตถุนอกตัวอะไรตรงนี้ ได้มาก็เป็นลาภ แล้วเอาไปใช้ ยิ่งใช้ยิ่งหมด แต่ความรู้นี่ หามาให้มันได้เถอะ ได้ ยิ่งได้ยิ่งใช้ ยิ่งงาม ยิ่งใช้ยิ่งงอก ยิ่งใช้ยิ่งเจริญ ยิ่งงาม ยิ่งไพบูลย์

คุณจะเอา แบบไหน เอาสมบัติแบบไหน เอาทรัพย์แบบไหนล่ะ อยากได้ทรัพย์แบบไหน ทรัพย์แบบ ยิ่งใช้ ยิ่งหมด หรือยิ่งใช้ยิ่งงาม ยิ่งใช้ยิ่งงอก จะเอาทรัพย์แบบไหน เอาอย่างที่หมดซิ จะได้ไปนิพพาน เลี่ยงได้ เห็นไหม เฉโกหน่อย เอาทรัพย์อย่างที่เป็นนิพพาน ยิ่งใช้ยิ่งหมด ดี จะได้ใช้ให้มันหมดๆ จะได้สูญ จะได้เป็นนิพพาน เฉโกได้ เห็นไหมนี่ เลี่ยงได้ โดยภาษาโดยบัญญัติ เลี่ยงได้ ที่จริงไม่ใช่ แม้แต่ความรู้ ก็ไม่ใช่ของเรา ที่จะอยู่นิรันดร์ เราจะวาง เราจะปล่อย เราจะเลิก เราจะไม่ติด ไม่หลงว่า แหม! เสียดายความรู้ พระโพธิสัตว์นี่ จะเสียดายความรู้นะ เสียดายความรู้ แหม! มันเป็นประโยชน์ คุณค่าจริงๆนะ ความรู้นี่ มันไม่ได้เอามาเป็นตน มาเป็นของตนเลย ความรู้นี่ มันมาสร้างเพื่อผู้อื่น แท้ๆ มารับใช้ผู้อื่น แท้ๆเลยนะ เกิดมาเมื่อไหร่ ก็เป็นคุณค่า เกิดอีกเถอะวะ เกิดอีกเถอะวะ เกิดมาสร้างสรร เกิดมาเป็นคุณค่าประโยชน์ เกิดอีกเถอะวะ มันก็เกิดอยู่ต่อไป

เพราะฉะนั้น เราต้องรู้ที่จบเรา ว่าเออ! เราหยุดเกิด ก็หยุดเกิดเถอะ ไปมัวติดใจอยู่แต่ความรู้นี่ เป็นโพธิสัตว์ ที่ติดความรู้ เดี๋ยวก็เป็นพระอวโลกิเตศวร เป็นโพธิสัตว์ที่ไม่ยอมตายง่ายๆ จะต้อง รื้อขนสัตว์ ให้หมดโลก จะเป็นคนสุดท้าย ถึงจะปรินิพพาน เอาเถอะ พระโพธิสัตว์ผู้พี่ เชิญ นิมนต์ ทำเข้าไปเถอะ น้องนี่จะทำ แต่พอควร ถึงเวลาก็จะบ๊ายบายแล้ว ยังไม่ถึงเวลาก็ทำไปพอควร มันมีความนึกคิดอย่างนั้นได้ คนที่คิดอย่างนั้นก็คิดไป ก็ไม่ใช่ความเสียหายอะไรนะ แต่ แหม! ยอดอึดยอดทนเลย เอาซี มันทุกข์ ถึงยังไง เป็นอะไร มันก็ต้องทุกข์ มีขันธ์ ๕ มันก็ต้องทุกข์ บอกแล้ว ทุกข์อย่างละเอียดลออ แต่เราเรียนรู้แล้ว เราจะเห็นว่าทุกข์ อะไรมันก็ทุกข์ มันเกิดอยู่มันก็ทุกข์ ทั้งนั้นแหละ

ชาติปิ ทุกขา การเกิดไม่ว่าใดๆล่ะ ทุกข์ทั้งนั้น อะไรมันเกิดมันก็ทุกข์ หมดกิเลสแล้ว มันมีอะไรเกิดอยู่ มันก็ทุกข์สภาวะ มันยังมีรูปนามขันธ์ ๕ ที่จริงการงานมันก็ทุกข์ ทำการงาน มันก็ทุกข์ มีกรรมอยู่ มันก็ทุกข์ เหมือนอย่างเราที่พูดกัน โอ๊ย! ยังมีกรรมอยู่ ที่จริงมันไม่ใช่ แค่กรรมที่ว่า มันจะเป็นกรรม เป็นเวร เป็นภัยหรอกนะ แค่ทำอะไรนี่แหละ กรรม กรรมก็คือกรรม นี่แหละ การกระทำนี่แหละ งานนี่แหละ มันก็ทุกข์ แต่ ทุกข์ที่เราทนได้ ทุกข์ที่เราเองยินดีพอใจ เป็นคุณค่าประโยชน์ เกิดมาเป็นคน ยังมีรูปนาม ขันธ์ ๕ ก็มีกรรมซิ ไม่ใช่จะไปนั่งหลุบนั่งหลบ อยู่ที่ไหนเฉยๆ ไม่มีกรรมอะไร ไปก่อแต่ความฟุ้งซ่าน ไปก่อแต่ความเสพ การเสพก็เป็นกรรมนะ ว่างดีจริง สงบจริงหนอ อยู่เฉยๆดีจริงหนอ อยู่มันอยู่อย่างนั้นแหละ มันติดใจ เนียนนะ เนียนเป็นภพเป็นชาติ ที่เนียนมากเลย แล้วมันไม่ได้ทิ้งภพทิ้งชาติ มันก็อร่อย แล้วเราก็ไม่รู้อัสสาทะ ได้ง่ายๆ

ถ้ารู้ อัสสาทะ ว่ารสอร่อยแล้ว จะไปนั่งเสพ นั่งลิ้ม นั่งเลียมันอยู่ทำไม ไม่ต้องไปบำเรอ หรอก พอ ไม่ต้องไปอยู่ ในอารมณ์นั้น ไม่ต้องไปอยู่ในภพว่างๆอย่างนั้น มาคิด มาสร้าง สังกัปปะ อันใดที่เป็น สัมมาสังกัปปะ เอาเลย คิดซี สังขาร ทำไปนั่งว่างๆ อร่อยดี โอ๊! ว่างดีหนอ อร่อยดีหนอ โอ! ชีวิตชีวานี้ ทำไมมันเบา ง่าย ว่างดีจริง เรียนรู้เสียซีว่า เออ! ก็แค่นั้นแหละ แค่นั้นแหละ ทำเอาก็ได้ ว่างขนาดไหนก็ทำเอา ไม่ต้องไปติดใจ จนกระทั่ง ตามหาเหมือนอย่างกับนายฝรั่ง ที่เคยมาตามหา มันตามหา อากิญจัญญายตนะ มาตามหา อากาสา ไม่รู้เขาได้อากาสา หรือเขาได้ อากิญจัญญา เขาบอก โอ้โห! มันว่าง ว่าง เออ! อากาสานะ ว่าง สว่าง เหมือนกับแสงสว่าง ไม่มีที่สิ้นสุด เขา โอ! เขาได้อยู่ครั้งหนึ่ง ใครสอนให้เขาได้อีก เขาจะยอมเป็นลูกศิษย์เลย สุดหัว สุดเกล้า โอ๊! ต่างประเทศ ตามมาหาในอินเดียไม่ได้ มาเมืองไทย ปัดโธ่! แล้วก็บอก คุณอยากได้ คุณก็ฝึกเอาเอง ไอ้อย่างนั้นน่ะ มันได้แค่นั้นแหละ

ที่จริงน่ะ คนที่ตามหา หรือคนที่เคยได้หนึ่งครั้ง แล้วไม่ได้อีก สร้างยังไงก็ไม่ได้อีกนี่ เป็นบารมีที่ดี คนที่สร้างนะ อากาสานี่ สภาพฌานอย่างอากาสา นี่ สร้างให้ว่าง พอได้ครั้งหนึ่งแล้ว แหม! ติดใจ พากเพียรอีก แล้วได้โดยง่าย ได้โดยไม่ลำบาก คนนี้มีการได้ฝึกฝน อบรมตนมา ได้โดยง่าย ได้โดยไม่ลำบากนี่ หมายความว่า มันมีบุญ จะเรียกว่า มีบุญก็บุญ จะเรียกว่ามีบาปก็บาป คือมันทำอันนั้นได้ง่าย ก็เลยสร้างเสพต่อไป ก็เลยชำนาญ ก็เลยติดอยู่ตรงนั้น เป็นเวร เวรๆๆเลย แต่เพราะว่าเราได้หนึ่งครั้ง โอ๊! จะสร้างอีก ยากจังเลย สร้างไม่ค่อยได้เลยนะ ยากจังเลย เป็นบุญของเขา ดีแล้ว ไม่ได้ก็เลิกไปเลย จะได้ไม่ต้องสร้าง ก็รู้แล้วนี่นะ อย่างนั้นแหละ มันเป็นภพ ชนิดหนึ่ง แล้วคุณก็ไปติดภพอยู่นั่นล่ะ ถ้าไปได้อีก ก็ชำนาญอีก แล้วก็อยู่ตรงนั้น ทีนี้ก็อยู่ตรงนั้นแหละ จมอยู่ อีกนานับชาติเลย ทำไม่ได้น่ะบุญแล้ว

อย่างสิกขมาตจินดานี่ อาตมาบอกบุญของคุณ คุณไปทำกับเขาไม่ได้สักที ทำไมนะ เขาเพ่งลูกแก้ว แล้วเขา โอ้โห! ได้เลยลูกแก้ว ติดปั๊บไปเลยนี่ นำไปโน่นไปโน่นได้ ดีนะ คุณไม่โง่ตามเขา จูงจมูก ไม่ไป ไม่ติด ถ้าคุณไปติดเข้า ไปได้อย่างเขา คุณก็หลงอย่างเขา เชื่อเขาไปอย่างโน้น คุณไม่ได้มาที่นี่หรอก นี่เป็นบุญของคุณน่ะ ไม่ได้ไปติดภพติดชาติอย่างนั้น ไปติดอยู่อย่างนั้น แล้วก็เลิกเลยนี่ ไปดึงไม่ออกนะ ที่เขาได้นี่ ไปดึงมาเถอะนะ พวกคุณไปนี่ เขาจะดีดคุณออกมา ไอ้พวกนี้มันโง่ ไม่รู้จักอะไร นี่ล่ะของวิเศษ จะไปเมืองนิพพานน่ะ ลูกแก้วของเขานี่ จะพาไปเมืองนิพพานนะ เขาจะพาไปนิพพาน เขาอย่างนั้นจริงๆ

เพราะฉะนั้น จะเรียนรู้ก็เรียนรู้เถอะ ได้ครั้งเดียวแล้วไม่ได้อีก บุญ จะทดสอบ ทดสอบไปเลย ได้ครั้งหนึ่งแล้ว ก็ลองดูอีกซิ ถ้าเราลองอีกทีสองทีสาม ถ้าใจมันจะไปติดอีกล่ะ เลิกเชียวนะ อย่าเชียวนะ อาตมานี่ ไม่ติดใจเท่าไหร่ ทำอากาสา ทำอากิญจัญญาอะไร ทำได้แล้วก็ เออ! ไม่ติดใจ เท่าไหร่ แต่ โอ้โห! มันเป็นสภาพที่รู้จริงๆ รู้ชัด มันแหม ! มันว่าง มันเบา มัน อาการของคนที่ โอ! ไม่อยากจะออกนะ อาตมาได้ อากาสานัญจายตนะ อื้อหือ! ไม่อยากออกจริงๆ แต่มันต้องออก เพราะว่าเราเองเรามี น้ำหนักความทนได้ หรือว่าความจะอยู่ในสภาพนั้น มันอยู่ได้ เท่าตัวเรามี ตัวเรามีคุณภาพเท่านี้ มันจะอยู่ได้เท่านี้ แล้วมันก็ จะต้องวนออก พอออกมาแล้ว อือ! มันน่าจะได้อีก ลองทำอีกก็ยาก อาตมาลองทำอีก ก็ได้บ้าง แต่ว่า มันก็ยาก เสร็จแล้วก็เห็นว่า อ้อ! มันยากอย่างนี้ แล้วมันก็ติดใจอย่างนี้ เข้าใจ ก็เลยไม่ได้ติดใจอะไรอีก รู้แล้วเลิก รู้แล้วก็ เข้าใจน่ะ แล้วก็วาง

เพราะฉะนั้น แม้ว่าคนไม่ได้นะ ภพอะไรก็แล้วแต่ คุณสร้างภพตามเขาไม่ได้ สร้างตามเขาไม่ได้ คุณเข้าใจภพชาติแล้ว ไม่มีปัญหาหรอก ไม่ได้ก็ไม่เป็นไร แต่ถ้าอยากจะได้ ก็ฝึกฝนเอา อยากจะทดสอบดู ก็ฝึกฝนดู เมื่อเราได้เข้าใจตามสัมมาทิฐิแล้ว ไม่มีปัญหาอะไรหรอก ยิ่งภพชาติ อยู่ในภวังคจิต อย่างที่ว่านี่ เป็นสมาธิภวังคจิตแล้ว โอ๊ย! ยิ่งยากใหญ่เลย ติดแล้วติดลึก ติดแล้วก็ติดเป็นประเภท ที่มันไม่มีตัวตนนี่ แล้วมันก็อยู่กับตัวเรา เอาที่ไหนก็ได้ ไปอยู่ที่ไหนก็ได้ ทำที่ไหนก็ได้ เพราะมันอยู่ในภพ อยู่ในภวังค์น่ะ ดีไม่ดี ไปติดเครื่องอยู่ในส้วม ไม่ต้องออกจากส้วม กันพอดี นั่ง โอ้โห! ตอนนี้อากาสาเลยนะ อากิญจัญญาเลย อยู่ในส้วม มืดอยู่ตรงนั้นล่ะ นานเชียว แล้วมันเร็วนะ พวกนี้นี่เร็ว เร็วแล้วมันเร็วนี่ มันนานนะ ตัวเองรู้สึกว่าเร็ว นั่งอยู่ตั้ง ๕ ชั่วโมงแล้ว พอออกมา เหรอ แว้บเดียวน่ะ ดูเหมือนแว้บเดียว เอ๊ะ! ๕ ชั่วโมงเชียวเหรอ วับเดียว มันว่าง มันสบาย มันเป็นสวรรค์หอห้อ โอ๊! มันนาน แต่ที่จริงมันเร็วสำหรับเรารู้สึก แหม! ทำไมหมดแล้ว สวรรค์ ไวจังเลย แต่ที่แท้ ใช้เวลาของโลกเข้าไปตั้งนานแล้ว นี่อธิบายเข้าไปจนลึก ให้ฟังว่า เราไปฝังใจอะไร เราไปติดใจอะไร เราแสวงหาอะไร แล้วเราจะรักษาอย่างไร

เพราะฉะนั้น ถ้าเราแม้แต่อารักขสัมปทา ทิฏฐธรรมิกัตถประโยชน์นี่ ถ้าเข้าใจ ทิฏฐธรรมิกัตถประโยชน์ไม่ได้ ขยัน รักษา นี่ตัวรักษา ตัวเดียวกัน นี่ท่านก็ใช้ตัวเดียวกัน อารักโข อารักขา อารักขสัมปทา เข้าถึงพร้อมด้วยการรักษาตัวนี้ เพราะฉะนั้น ถ้ารักษาไม่เป็น รักษาแบบ หวงแหน แบบตระหนี่ แบบสะสม รักษาแบบตัวกูของกู ติดใจ ฝังใจ ผิดทิศทาง มิจฉาทิฐิแล้ว เพราะฉะนั้น รักษาให้ได้ ไม่ใช่รักษาว่า จะต้องเป็นตัวกู ของกู รักษาคือ ทำให้มันประเสริฐ ทำให้มันดี แล้วก็ให้มันเป็นคุณค่าประโยชน์ ทาน แจกจ่าย บริจาคได้ก็บริจาคได้ เพราะฉะนั้น คุณจะต้องพิสูจน์ว่า ถ้าคุณจะสร้างลาภ คุณก็จะได้ คุณขยัน ทิฏฐธรรมิกัตถประโยชน์นี่ อุฏฐานสัมปทา ถึงพร้อมด้วยความขยันหมั่นเพียร สร้างสรร มีความทะยานอยาก แปลให้มัน หยาบๆเลย มีความปรารถนาใคร่ ต้องการ สร้าง แสวงหา สร้างสรร เกิดลาภ เกิดมาแล้ว เราก็วินิจฉัย เออ! ดีแล้ว วินิจฉัยเสร็จแล้ว เราก็ เออ! ดี วินิจฉัยแล้วบอกดี วินิจฉัยแล้วว่า มันน่ายินดีแล้ว ตัวพอใจ ไม่ต้องเป็น ฉันทราโค ไม่ต้องเป็นฉันทราคะ พอใจก็เป็นตัวมุทิตา เป็นตัวอนุโมทนา เป็นตัวปโมทนา ก็ได้ ก็ยังดีกว่า โมทนา โมทนะ รู้สิ่งนี้ให้ดี ไม่ต้องไปเมา ไม่ต้องไปหลง เสร็จแล้วเรารู้แล้ว ไม่ต้องผูก ไม่ต้องฝังใจ ไม่ต้องผูกใจ ไม่ต้องฝังลงไปในใจ ไม่ต้องมีอุปาทาน ไม่ต้องฉวย ไม่ต้องยึดเอาไว้นั่นเอง ให้รู้ว่าสิ่งนี้เกิด สิ่งนี้เป็น

ถ้าเราไม่ฉวยไม่ยึด ใจไม่ยึด ไม่ฉวยว่า เป็นกูเป็นของกู มันก็รู้ว่าสิ่งนี้เป็น สิ่งนี้มี มันก็เกิด เมื่อเกิดแล้ว เมื่อไม่มีฝังใจ ก็ไม่มีหวงแหน เมื่อไม่มียึดเป็นกูของกู มันก็ไม่มีหวงแหน เมื่อไม่มี หวงแหน ก็ไม่มีตระหนี่ เมื่อไม่มีตระหนี่ รักษา ก็ดูแล keep รักษาดูแล ดูแลแล้ว เราควรจะจับจ่าย เราควรจะแจก เราควรจะทาน ก็แจก ก็ทาน เพราะเราไม่ได้หวงแหน เป็นของของเราแล้ว เราก็แจกง่าย ทานง่าย ไม่ทุกข์ เมื่อแจกไปทานไป สมควรแจกก็แจก สมควรทาน ทาน สมควรที่จะให้ใคร ให้ เมื่อให้แล้วเกิดอะไร เกิดกัลยาณมิตร ทิฏฐธรรมิกัตถประโยชน์นี่ อุฏฐานะ ขยันสร้าง ขยันพากเพียรก็สร้าง สร้างแล้วดูแล ดูแล สร้างแล้วก็ทำให้ดี ให้ประเสริฐอยู่ แล้วก็ให้ ก็แจกก็จ่าย เราจะใช้ก็ใช้ อาศัย เป็นลาภ เราก็อาศัยใช้ อาศัยด้วย อาศัยแล้ว เราจะให้จะแจก จะเผื่อแผ่ก็เผื่อแผ่ ผู้ได้รับไปก็เป็นมิตร เป็นกัลยาณมิตร ลักษณะของกัลยาณมิตรที่เกิด ก็เกิดญาติ เกิดสิ่งแวดล้อม เกิดมิตรสหายที่จะพึ่งพาอาศัยกันได้ เกื้อกูลกันนี่ เกิดสังคมที่ดี

เมื่อทุกคนมีพฤติกรรมอย่างนี้ มีวัฒนธรรมอย่างนี้ ก็เกิดระบบที่ดี วงชีวิตก็เป็นสมชีวิตา เป็นการยังชีพ เป็นการเลี้ยงชีพ การดำเนินชีพชอบ เป็นระบบของคนคนหนึ่ง ระบบของคน ๒ คน ระบบของคน ๑๐๐ คน ระบบของคนพันคน ระบบของสังคม เป็นการเลี้ยงชีพ ยังชีพ ดำเนินชีพ ของแต่ละคน แต่ละคน ถ้ามีเหมือนกัน ก็เป็นระบบที่มีความเป็นอยู่ ดำเนินชอบไป ด้วยกันทั้งหมด เป็นประโยชน์ปัจจุบัน พิสูจน์ได้

ชาวอโศกเรานี้มีสมชีวิตา มีการดำเนินชีพชอบ เลี้ยงชีพชอบ ด้วยการมีกัลยาณมิตร มีญาติธรรม เป็นมิตรดีสหายดี สังคมสิ่งแวดล้อมดี เป็นภราดรภาพ มีจิตใจที่ได้ ศึกษาอบรมฝึกฝน กล่อมเกลา ขยันสร้างสรร แล้วก็รักษาอย่างถูก เมื่อรักษาอย่างถูก ก็ไม่ต้องจับศาสตรา ไม่ทะเลาะ ไม่แตกแยก ไม่กล่าวขัดแย้ง ไม่ชี้หน้า ส่อเสียด ที่จริงเราก็ขัดแย้งกันพอเหมาะ เพื่อขัดเกลา หรือว่าเพื่อที่จะแก้ไข ปรับปรุง ขัดแย้ง มีความเห็นต่างกัน เพื่อที่จะรังสรรค์ เพื่อสร้างสรร เพื่อจะปรับปรุงให้มันดี มันมีความบกพร่อง ผิดพลาด หรือว่ามีความไม่ถูกไม่ต้องอะไร เราไม่ได้แตกแยก แต่มีความแตกต่าง มันย่อมเป็นธรรมดา ธรรมชาติ แตกต่างได้บ้าง แล้วเราก็พยายามให้มันลงรอยกัน ให้มันดีกัน ให้มัน เป็นหนึ่งเดียว ต่างคน ต่างช่วยกันดู ต่างคนต่างช่วยวินิจฉัย ต่างคนต่างช่วยตรวจ ช่วยตรา แล้วช่วยสร้างสรร แก้ไข ปรับปรุง ไม่ถึงขั้นชี้หน้ากัน ส่อเสียดกัน พูดปดกัน ทะเลาะ บาป อกุศล ไม่ใช่ ไม่จับท่อนไม้ ไม่ทะเลาะวิวาท ชาวอโศก เราทำได้อย่างนี้แหละ นี่เป็นสิ่งที่ท้าทายให้พิสูจน์ เพราะเข้าใจธรรมะลึกซึ้ง รักษาเป็น วินิจฉัยเป็น พอใจเป็น พอใจก็ต้องเป็น

เพราะฉะนั้น การจะอยาก จะแสวงหา จะเป็นคนมีลาภ ไม่ได้หลงลาภ เราเป็นผู้ที่สร้างลาภ สร้างสิ่งที่ควรได้ ควรมี ควรเป็นขึ้นในโลก เป็นผู้สร้าง เป็นผู้ให้ เป็นผู้มีใจบริสุทธิ์ นี่ต้องเอายอด มากำกับ อธิบาย แล้วคุณจะเข้าใจเลยว่า มันไม่ใช่เรื่อง ตื้นๆเขินๆ แต่อธิบายอย่างหยาบๆ อธิบายได้ ถ้าอธิบายอย่างหยาบๆ มันจะยากอะไร ใครก็อธิบายได้นี่ ให้คนที่มีปฏิภาณปัญญา ธรรมดาของโลกมาอธิบายก็ได้ ภาษามันบอกอยู่แล้ว ภาษาไทยน่ะ ทะยานอยาก มีการแสวงหา แล้วก็มีลาภ มีลาภแล้วก็มีการวินิจฉัย มีวินิจฉัยแล้วก็มีความกำหนัดพอใจ ด้วยอำนาจ แห่งความพอใจ เมื่ออำนาจแห่งความพอใจ แล้วก็มีการฝังใจ มีการหวงแหน มีการตระหนี่ มีการอารักขา นี่เขาก็ทับศัพท์ เป็นอารักขา จะบอกว่า รักษาก็ไม่บอกนะ มีการอารักขา เพราะมีอารักขาเป็นเหตุ จึงจับท่อนไม้ มีจับศาสตราทะเลาะวิวาท แตกแยก ขัดแย้งอะไรกัน ต่างๆนานา เกิดความไม่เป็นสุขน่ะ

เพราะฉะนั้น เราจะต้องลึกซึ้ง เจาะลงไปว่า เป็นได้ มีได้ไหม ในเมื่อเรามี รูปนามขันธ์ ๕ นี่ เราจะทะยานอยาก ได้ไหม เราจะแสวงหาได้ไหม ในความทะยานอยาก ทะยานอยากอย่างไร เรียกว่ากิเลส เรียกว่าตัณหา เรียกว่าภัย เรียกว่าโทษ แสวงหาอย่างไรเรียกว่าโทษ เรียกว่าภัย มีลาภอย่างไร จะเป็นภัยเป็นโทษ วินิจฉัยให้ดี วินิจฉัยให้ถูกต้อง จะพอใจอย่างไร เรียกว่าพอใจ หรือใจพอ เป็นความพอใจที่แค่นี้แหละ พอใจ รู้ดีแล้ว ยินดีแล้ว พอแล้ว แล้วก็ไม่ต้องฝังลงในใจ ไม่ต้องฝังใจ ไม่ต้องหวงแหน ไม่ต้องตระหนี่ รักษา รักษาอย่างไร เห็นไหม มีนัยที่ลึกซึ้ง ถ้ามันผิดพลาด มันก็จะกลายเป็นเรื่องที่ไม่เป็นสุข อยู่กันอย่างเดือดร้อน อยู่กันอย่างทะเลาะ เบาะแว้ง อยู่กันอย่างมีทุกข์ อธิบายนัยนี้ให้ฟัง คุณก็เข้าใจนัยโลกๆได้สบาย เพราะอย่างนั้นตื้น ใครก็อธิบายได้ อย่างตื้น อย่างที่มันจะเกิดทุกข์เกิดภัย ก็บอกทุกข์บอกภัยให้เห็น นี่บอกไปถึงขั้น ปรมัตถ์ บอกไปถึงขั้นจิตวิญญาณ อาการอารมณ์ของจิต มันจะเป็นอย่างที่กล่าวนี่แหละ

เพราะฉะนั้น เราต้องลึกซึ้ง เรียนรู้ แล้วก็ต้องละเอียดลออเข้าไป แล้วก็แก้ไขปรับปรุง อย่าให้มัน ผิดขั้นผิดแนว แล้วคนเราก็จะได้ไม่เป็นคนที่เสียเปล่า สูญเปล่า เกิดมาแล้วก็บอกว่า จะนิพพาน นั่นคือ ไม่สร้างสรรอะไร อยากอะไรก็ไม่ได้ แสวงหาอะไรก็ไม่ได้ นั่งจุมปุ๊กมันอยู่ตรงนั้นแหละ ลาภอะไรก็ย่อมไม่เกิด มันก็ของแหงแล้ว แบบนั้นน่ะ มันก็ไม่ต้องไปทะเลาะกับใครหรอก แต่มันไร้ค่าแล้ว มันไม่สอดคล้องกับคำสอน ของพระพุทธเจ้า ในหลายๆส่วน มันไม่เป็นคุณค่า มันสูญเปล่า มันโมฆะ มันทิ้งไป แล้วมันก็ไม่บริสุทธิ์จริงด้วย ไม่สูงส่ง จริงด้วย อย่างที่เราได้อธิบาย ชอนไชลึกละเอียด ให้เห็นทุกมุม ทุกเหลี่ยมมาเรื่อยๆอยู่แล้วน่ะ

เพราะฉะนั้น จะทะยานอยาก ทะยานอย่างไร แสวงหา แสวงหาอย่างไร อย่าเป็นคนซื่อบื้อ พาซื่อ เถรตรง มันถึงพัฒนาสังคมไม่ขึ้น มันโต่งไป ๒ ด้านอย่างที่ว่า เพราะฉะนั้น เราไม่โต่งไป ๒ ด้าน กลางๆ แล้วรู้ความหมายอันเด่นชัด เป็นสัมมาทิฐิ สอดคล้องกับทิฐิ ๑๐ อย่างไรมันถึงจะเรียกว่า กรรม กระทำอย่างไรเรียกว่าทะยานอยาก แสวงหาเป็นกรรม เมื่อทะยานอยาก แสวงหาอย่างใด ถูกทาง อย่างใดมันจะสอดคล้องทะยานอยาก แสวงหาแล้ว เป็นลักษณะของโลกุตระ โลกนี้ คือ อยัง โลโก ปโร โลโก อย่างใดมันจะเป็น อยัง โลโก อย่างไรมันเป็น ปโร โลโก คนชาวโลกไหน ทำอย่างไหน ทำแล้วมันจะสอดคล้องเป็นทินนัง เป็นยิฏฐัง เป็นหุตัง อย่างไหน นั่นคือ มันเกิดการ หล่อหลอมโอปปาติกะ หล่อหลอมจิตวิญญาณ

เมื่อเราอบรมจิตวิญญาณเราถูกตัว จิตวิญญาณ ของเราก็ สร้างแม่ สร้างพ่อ สร้างองคาพยพ ของแบบ ของพิมพ์ ของมดลูก ขององค์ประกอบ ที่มันจะหล่อหลอมจิตวิญญาณ หรือโอปปาติกะ ให้เป็นจิต วิญญาณบริสุทธิ์ ให้เป็นจิตวิญญาณ ของผู้สร้าง ผู้ให้ จิตวิญญาณบริสุทธิ์ ซึ่งเป็นองค์ สำคัญของ จิตวิญญาณ ที่เรียกว่า วิญญาณพระเจ้า วิญญาณผู้ยิ่งใหญ่ วิญญาณพระเจ้า คือ วิญญาณ ผู้ยิ่งใหญ่ วิญญาณเรา นี่แหละ ทำให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกับพระเจ้า ทำให้มันยิ่งใหญ่ เป็นวิญญาณที่สร้าง เป็นวิญญาณที่ให้ เป็นวิญญาณสร้าง เป็นวิญญาณประทาน หรือให้ เป็นวิญญาณที่บริสุทธิ์ ไม่มีกิเลสตัวกูของกู เลย ก็สอดคล้องหมด เอ้า! เอวัง


ถอดโดย นายประสิทธิ์ ฝ่ายทอง ๙ เม.ย. ๓๓
ตรวจทาน ๑ โดย สิกขมาต ปราณี ๑๔ เม.ย. ๓๓
พิมพ์และตรวจทาน ๒ โดย นางวนิดา วงศ์พิวัฒน์ ๕ พ.ค. ๓๓
(File 0617B.TAP ตัณหาฆ่าตัณหา ตอน ๒)