สมาธิ และสัมมาสมาธิ ตอน ๕

โดย พ่อท่าน สมณะโพธิรักษ์
เมื่อ ๖ เมษายน พ.ศ.๒๕๓๓ ณ พุทธสถาน ศาลีอโศก


อาตมาจะขอท้าวความ สูตรเมื่อวานนี้นิดหนึ่ง สมุคคสูตร ไม่ได้บอกเล่มพระไตรปิฎก (เล่ม ๒๐ ข้อ ๕๔๒) แต่ละเล่ม ที่สูตรเหล่านี้มา มาจากอะไรต่ออะไรบ้าง อาตมาไม่ค่อยได้บอก แล้วไว้พรุ่งนี้ค่อยทบทวน ไล่ไปตั้งแต่ต้น ไปเลย มีกี่สูตรกี่สูตรมาจากเล่มไหน ข้อ ไหน สูตรไหน ค่อยๆทบทวนกัน แต่ตอนนี้ เอาสูตร ทบทวนสูตรนี้ ซะก่อน สมุคคสูตร คือ อยากจะทบทวน เพราะว่าจะได้ไม่สับสน แล้วก็จะได้เข้าใจง่ายๆเข้า

คือที่บอกว่า อธิจิตที่กำหนดอย่างถูกต้องตามสภาพก็คือ ถ้าผู้วัดกำหนดตลอดกาล ตามกาล คือทำอยู่เรื่อยๆ แล้วก็ตามวาระ ที่เราควรจะได้ทำ ถ้าเผื่อว่า ทำไปอย่างเดียว เน้นแต่อย่างเดียว มันมีอยู่ ๓ มิมิต สมาธินิมิต ปัคคหนิมิต อุเบกขานิมิต คือจำง่ายๆว่า สมาธินิมิตนั้น หมายถึงว่า การทำสมถะ การอยู่ในภวังค์ ในภพ สมาธินิมิต ถ้าใครทำไปแต่อย่างนั้นอย่างเดียว ท่านเปรียบว่าเหมือนกับ เรา...ช่างทองที่จะหลอมทอง แล้วก็เอาแต่จุดไฟสูบ ถ้าเผื่อว่า เอาแต่สมาธินิมิต เพราะฉะนั้น เมื่อสูบ สูบทองเอาแต่สูบทอง เร่งไฟ ก็แน่นอน ทองมันจะไหม้ ทองจะไหม้ นั่นเป็นสมาธินิมิต จำง่ายๆก็เอาแต่นั่งหลับตา ว่างั้นเถอะ

ส่วนปัคคหนิมิตนั้น เอาแต่คิด มีความบากบั่นพากเพียร ขยัน เอาแต่คิด เอาแต่ฟุ้งซ่าน ก็จะได้แต่ฟุ้งซ่าน ส่วนสมาธินิมิตนั้นก็... จะได้แต่เกียจคร้าน ทองจะไหม้นี่ หมายความว่า จะได้แต่เกียจคร้าน ท่านบอกไว้ชัด จะได้แต่เกียจคร้าน ส่วนจะเอาแต่คิด จะเอาแต่ขยันเรียน พูดถึงแง่ง่ายๆว่าเป็นปัคคหะ ก็เหมือน มหายาน สมาธิก็เหมือนเถรวาท สมาธินิมิตก็เหมือนกับพระป่า ปัคคหะก็เหมือนกับพระบ้าน เอาแต่ตั้งโรงเรียน เอาแต่สอน เอาแต่เรียน เอาแต่คิด เอาแต่ปรุง มันก็จะได้แต่ฟุ้งซ่าน ส่วนอุเบกขา นั้นมาแปลก เอาแต่วาง อุเบกขาเอาแต่วาง อะไรมาก็วางๆๆ พวกนี้ตื้น เอาแต่วางๆๆ นี่ตื้น พวกที่วางๆๆ นี่จะไม่สามารถที่จะบรรลุ สิ้นอาสวะ จิตจะไม่ตั้งมั่น จะไม่เป็นสมาธิด้วยซ้ำ พวกนี้ เอาแต่วางๆๆๆ นี่ เป็นเหตุเครื่องให้จิตไม่ตั้งมั่น เพื่อความสิ้นอาสวะโดยชอบ ก็เอาแต่วาง แต่ไม่มีรายละเอียดรู้ เปรียบเสมือนกับจะหลอมทอง แล้วไม่พินิจ ไม่เพ่งพินิจดู เสมอๆ ไม่ตรวจตราพินิจ ไม่ตรวจตราเสมอๆ ไม่ดูแล้วดูอีก ไม่พยายามที่จะทำความเข้าใจ ในเนื้อหา ในความลึกซึ้ง ในส่วนเหลือส่วนได้ ส่วนอะไรเป็นอะไร จะทำให้เกิดประโยชน์คุณค่าอะไร ถูกต้องหรือไม่ ไม่เพ่ง ไม่พินิจ อะไรต่างๆพวกนี้ ก็เลยไม่มีทาง

อันนี้แหละ ชัดเจนมากเลย ว่าสมาธิใดๆ ก็แล้วแต่ ถ้าไม่พยายามที่จะเรียนรู้ไปจนกระทั่งถึง รูปนามขันธ์ห้า ไม่รู้ว่า เวทนาคืออะไร สัญญาคืออะไร สังขารคืออะไร วิญญาณคืออะไร จนรู้สภาวะจริงๆ ว่างานบทบาทของ ปรมัตถ์ บทบาทของจิต เจตสิก ต่างๆพวกนี้ เป็นยังไง แล้วก็กิเลส มันก็ย่อมเกิดที่จิตเจตสิกนี่แหละ แล้วมันจะเป็นยังไง มันจะเหลือหยาบ กลาง ละเอียดอย่างไร สายไหน ต้องรู้รูป รู้นาม มันอย่างชัดเจน ด้วยอาการ ลิงคะ นิมิต อุเทศ คือคำที่ชี้ข้อกล่าวขึ้นมา อธิบายกันอยู่นี่แหละ อุเทศ ฟังไป แล้วก็เอาไปปฏิบัติ ปฏิบัติจริงๆ ก็ดูอาการ ลิงคะ นิมิต นั่นแหละ มันสอดคล้องกับที่เราเรียนหรือเปล่า

เพราะฉะนั้น ถ้าเผื่อว่า จะเอาแต่เป็นพระบ้าน เอาแต่เรียน เอาแต่คิด เอาแต่ขยันหมั่นเพียร อย่างจะทำงาน ทำงานแบบที่ เขาทำกันละนะ โดยที่ไม่ได้พยายามรู้จิต สมาธินี่ จะรู้ความเป็นอธิ ความเจริญ โดยเฉพาะ ของจิต มันก็จะมีแต่...ทองนี่ ก็จะมีแต่...มันจะเย็น เหมือนกับเอาน้ำพรม ก็ได้แต่เย็นๆ ฟังๆดูแล้ว อย่างที่ ตั้งข้อสังเกต เมื่อวานนี้แล้ว ว่ามันกลับ ที่จริงมันมีแต่ร้อน แต่ว่าทอง นี่ กลับจะเย็น คือ มันไม่เกิดอะไร จะหลอมทองแล้ว ทองมีแต่เย็นๆ เอาแต่น้ำพรม ไฟก็ไม่สูบ แล้วมันจะไปทำ...ละลายทองก็ไม่ออก ทองมันจะเป็นอะไร ก็ไม่เป็นอะไร ไม่เกิดผลอะไร จะเกิดแต่ความฟุ้งซ่านด้วยซ้ำ โดยตรงมันจะเกิด ความฟุ้งซ่าน มีแต่ความวุ่นวาย ความไม่เป็น มีแต่แถมกิเลสน่ะ ว่าจริงๆ ไม่ได้มีการ ลดละกิเลสอะไรได้ อุเบกขานั้นก็ อุเบกขานิมิต ก็มีแต่วางๆๆ แบบเซน อย่างที่ว่านั้น เป็นแบบเซน อะไรก็ไม่ใช่เรา ไม่ใช่เขา วางเฉย ไม่เกี่ยว เอาแต่เฉย ทำจิต แหม ! ว่างๆๆ วาง พวกนี้ไม่เรียนรู้หรอก จิตไม่ตั้งมั่น ไม่มีการเป็นสมาธิ ก็ไม่เป็น แข็งแรงอะไร ตั้งมั่นอะไรได้ ก็ไม่เป็น เพราะฉะนั้น ยิ่งความสิ้นอาสวะ นั้น ก็ไม่ต้องไปพูดถึงเลย ไม่รู้ว่ากิเลสหยาบเป็นอย่างไร กิเลสกลางเป็นอย่างไร กิเลสละเอียด เป็นอนุสัย เป็นอาสวะเป็นอย่างไร ไม่ได้เรียนรู้เลยนะ แต่หลง ว่ามันว่าง หลงว่ามันวาง มันเบา มันง่าย สายนี้ ก็สายตรรกศาสตร์ เขาเรียก ดูเหมือนเขาจะเหมาให้เป็นสายปัญญา ที่พระป่าสายไหนล่ะพระป่า พระบ้านสายไหนล่ะพระบ้าน พระบ้าน สายปัญญา สายไหนล่ะ สายปัญญา นั่นแหละ สายชัดๆอย่างนี้ มีอยู่ทั้งนั้นแหละ ในตัวอย่าง สำนักไหนๆ คณะไหนๆ ขณะนี้ในเมืองไทยก็มี ทั้ง ๓ สาย

เพราะฉะนั้น เราต้องเอาหมดทุกสายน่ะ เขาหาว่าเรานี่สายศีล ว่าเราเป็นสายศีล เอาสายศีล ก็สายศีลนะ เพราะฉะนั้น ก็ต้องให้ชัด เราสายศีล แล้วปฏิบัติให้เป็น สมาธิ หรือเปล่า ปฏิบัติแล้วมีปัคคาหะ มีความพากเพียร บากบั่นหรือเปล่า แล้วก็มีการปล่อย การวางหรือเปล่า รู้จักอุเบกขาจริงๆหรือเปล่า ไม่ใช่เอาแต่แบกขา หรือว่าวางหลวมๆอะไร

ทีนี้ ก็เอาอีกสูตรหนึ่ง สูตรนี้ แยกสมาธิให้ฟังอีก ชัดนะ สังคีติสูตร มาจากพระไตรปิฎก ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค เล่ม ๑๑ เอาตรงข้อ ๒๓๓ สมาธิภาวนา๔ อย่าง ลองฟังดูกันชัดๆ ท่านบอกว่า สมาธิภาวนา มันมีหลายลักษณะ
๑. ดูกร ผู้มีอายุทั้งหลาย สมาธิภาวนาที่ภิกษุอบรมแล้ว ทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อความอยู่เป็นสุข ในทิฏฐธรรมมีอยู่ฯ [หมายความว่า สมาธิภาวนาที่ได้พยายามฝึกฝนอบรม มันจะเกิดผล เพื่อความเป็นอยู่สุข ในปัจจุบัน เพื่อความเป็นสุข ในทิฏฐธรรม อย่างนี้ก็อันหนึ่ง มีอยู่ในการทำสมาธิ เพื่อความเสวยสุข เสวยระงับ เสวยอยู่เฉยๆ อย่างนี้ก็มีอยู่แล้ว ทำไปเยอะแยะไป พวกที่ทำสมาธิ เพื่อความสบาย]

๒. ดูกรผู้มีอายุทั้งหลาย สมาธิภาวนา ที่ภิกษุอบรมแล้ว ทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อความได้เฉพาะ ซึ่งญาณทัสสนะมีอยู่ฯ [สมาธินี่ทำให้เกิดเรืองปัญญา ได้ปัญญามีอยู่]

๓. ดูกร ผู้มีอายุทั้งหลาย สมาธิภาวนา ที่ภิกษุอบรมแล้ว ทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อสติ และสัมปชัญญะ มีอยู่ [อันนี้ให้เกิดสติ ให้เกิดความตื่น]

๔. ดูกร ผู้มีอายุทั้งหลาย สมาธิภาวนา ที่ภิกษุอบรมแล้ว ทำให้มาก แล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อความสิ้นไป แห่งอาสวะ ทั้งหลายมีอยู่ ฯ [อันที่สี่นี่ โลกุตระแท้ๆ ทีนี้ มาฟังคำอธิบายต่อ]
ดูกร ผู้มีอายุทั้งหลาย ก็สมาธิภาวนาอย่างไหนที่ภิกษุอบรมแล้ว ทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไป เพื่อความอยู่เป็นสุขในทิฏฐธรรม [เป็นสุขในทิฏฐธรรม คือทำให้ เกิดฌาน ฌานนี่เป็นสุขของสมณะ ทำอย่างไร แบบไหน ที่ว่า ทำเป็นฌาน เป็นการอาศัยให้เป็นสุขในปัจจุบัน ถ้าทำสมาธิอย่างนี้ มันก็เป็นสุขอยู่ ในขณะ ที่ทำสมาธินั่นแหละ]
ดูกร ผู้มีอายุทั้งหลาย ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ สงัดจากกาม สงัดจาก อกุศลธรรม บรรลุปฐมฌาน มีวิตกมีวิจาร มีปีติ และสุข เกิดแต่วิเวกอยู่
ดูกร ผู้มีอายุทั้งหลาย ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ บรรลุทุติยฌาน มีความผ่องใสแห่งจิตในภายใน เป็นธรรมเอก ผุดขึ้นเพราะวิตกวิจารสงบ ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร มีปีติ และสุข เกิดแต่สมาธิอยู่
ดูกร ผู้มีอายุทั้งหลาย ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้มีอุเบกขา มีสติ มีสัมปชัญญะ เสวยสุขด้วยนามกาย เพราะปีติสิ้นไป บรรลุตติยฌาน ที่พระอริยะสรรเสริญ ว่าเป็นผู้มีอุเบกขา [ในเริ่มต้นพอถึงตติยฌาน ท่านบอกว่า จะเริ่มต้น จะเป็นผู้มีอุเบกขา เข้าไปหาสภาพวางเฉยแล้ว] ที่สติอยู่เป็นสุข ดูกร ผู้มีอายุทั้งหลาย ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ บรรลุจตุตถฌาน ไม่มีทุกข์ ไม่มีสุข เพราะละสุข ละทุกข์ และดับโสมนัสโทมนัส ก่อนๆได้ มีอุเบกขาเป็นเหตุให้สติบริสุทธิ์อยู่ ดูกร ผู้มีอายุทั้งหลาย สมาธิภาวนานี้ อันภิกษุอบรมแล้ว ทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อความเป็นอยู่สุขในทิฏฐธรรม ฯ

[เป็นอยู่สุขในปัจจุบัน อันนี้ที่จริง ก็หมายถึงสภาพสมาธิ ที่เข้าไปอยู่ในภวังค์มากกว่า ถ้าเราเข้าใจเป็นพุทธ ก็ได้ ก็คือ ทำให้สภาพของความวุ่นวาย ความเกี่ยวข้องกับอะไร มันหายไป แบบกสิณ อย่างที่อธิบายนี่ ฌาน ๑ ฌาน ๒ ฌาน ๓ ฌาน ๔ แบบทั่วไปเลย อธิบาย มีวิตกวิจาร แล้วก็มีปีติ มีสุขอะไร อย่างที่เราพูดกัน มีอาการที่จดจ้อง ลมหายใจเข้าออก หรือจะเป็นกสิณเป็นอะไร เพ่งเข้าไปแล้ว ก็สงบระงับๆๆ จนกระทั่ง มีปีติ จนกระทั่ง มันระงับเข้าไปอีก มีแต่สติรู้อยู่ จนกระทั่งเข้าสู่ฌาน ๓ อะไรนี่ก็ สู่อุเบกขา วางเฉยได้ จนสุดท้าย บรรลุ จตุตถฌาน ฌานที่ ๔ ไม่มีสุข ไม่มีทุกข์อะไร พิจารณาให้นิ่งดิ่ง อยู่กับ ความกำหนด ของเรานี่แหละ อย่างนี้ก็เป็นสุข เรียกว่า สุขในทิฏฐธรรมวิหาร สุขด้วยความสงบระงับ เป็นวิเวก เป็นอุเบกขา เป็นวิเวก ความสงัด สงบ นี่สมาธิภาวนา ชนิดที่ ๑]

ชนิดที่ ๒
ดูกร ผู้มีอายุทั้งหลาย สมาธิภาวนาที่ภิกษุอบรมแล้ว ทำให้มาก แล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อ ความได้เฉพาะ ซึ่งฌาณทัสสนะเป็นไฉน ดูกร ผู้มีอายุทั้งหลาย ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ มนสิการอาโลกสัญญา [คือ แสงสว่าง อาโลกสัญญา] ตั้งสัญญาว่า เป็นเวลากลางวันไว้ กลางวันอย่างใด กลางคืนอย่างนั้น กลางคืออย่างใด กลางวันอย่างนั้น มีใจเปิดเผย ไม่มีอะไรหุ้มห่อ อบรมจิตให้มีแสงสว่าง ด้วยประการฉะนี้
ดูกรผู้มีอายุทั้งหลาย สมาธิภาวนานี้ อันภิกษุอบรมแล้ว ทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อความได้ เฉพาะซึ่งญาณทัสสนะ ฯ

เป็นผู้ที่จะพยายามพิจารณา พิจารณาอาโลกสัญญา คือ การกำหนดรู้แจ้ง รู้ไม่แจ้ง อะไรมันไม่ชัด อะไรมันชัด อะไรมันยังมืดมัว จะไปหมายเอากลางคืนกลางวัน เป็นกลางคืนกลางวัน เฉยๆ พาซื่อ เป็นแบบหมากรุกชั้นเดียว เป็นพยัญชนะอยู่ก็ไม่ได้นะ หมายความว่า อะไรมันชัด อะไรมันไม่ชัด อะไรมันจริง อะไรมันไม่จริง มันมีอะไร เท่าที่จะตรวจสอบอยู่ได้ มีการใช้สัญญา การกำหนดหมาย รู้โลก รู้สภาพ ที่เราจะอยู่ในภพ ในภูมินั้นอะไร มันมีอะไรปรากฎ อะไรเกิด มีมนสิการ ก็พยายามอ่านรู้ เรียนรู้ใจ มีการใช้สัญญากำหนด ตรวจสอบ กำหนดรู้ๆๆ นี่เรียกว่า ทำสมาธิ

บางสาย นั่งหลับตานี่แหละ อย่างนี้ นั่งหลับตาเข้าไปในภวังค์ แล้วก็ใช้สัญญากำหนด บางสายถือว่าอย่างนี้ เป็นวิปัสสนา ถ้าอย่างอันแรก ถือว่าเป็นสมถะ เป็นสมถะแล้วก็สงบระงับ ก็เป็นสุข อันที่สอง บางสายที่เขาทำ อย่างนี้ ลักษณะอย่างนี้ เขาว่าอย่างนี้วิปัสสนาก็จริง หมายความว่า มันเห็นมันรู้ มีสัญญากำหนดความจริง ตามความเป็นจริง แต่มันก็อยู่ในภพ มันก็ได้อยู่ในภพ จะเกิดญาณทัสสนะ หรือเกิดปัญญา ความรู้จริง เป็นจริง ที่เกี่ยวข้องอยู่ในภพ อยู่ในจิตเจตสิก ที่มันเกิดเดี๋ยวนั้นๆ ปัญญาเดี๋ยวนั้น เป็นสัญญา แต่ไม่เป็น สังขาร ไม่ได้มีสังขาร ไม่รู้จักสังขาร ไม่ได้ไปปรุงสังขาร ไม่ได้ไปปรุงอะไร เป็นสมาธิแบบที่สอง

ทีนี้ ที่สาม
ดูกร ผู้มีอายุทั้งหลาย ก็สมาธิภาวนาที่ภิกษุอบรมแล้ว ทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อ สติสัมปชัญญะ เป็นไฉน [อันนี้จะเกิดสติสัมปชัญญะ อันที่หนึ่งเกิดสุข อันที่สองเกิดปัญญา อันที่สามเกิดสติ ทำอันนี้สติจะเด่น]
ดูก่อน ผู้มีอายุทั้งหลาย เวทนาทั้งหลาย อันภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ รู้ แจ้งแล้ว[ อันนี้มาเน้นเวทนา อันที่สอง เน้นสัญญา อันที่หนึ่งนั้นอยู่กับความเป็นหนึ่ง วิเวกไป สงบไป ได้สมถะแท้ อันที่สองนั้น มีสภาพกำหนดรู้ มีตัวรู้ ตัวพิจารณารู้ มีกำหนดรู้ มีการเรียนรู้ เพราะฉะนั้น ก็ปรุงความรู้ มีปัญญาที่ตรวจสอบ แต่เป็นความรู้ ที่เขาว่า เป็นสภาพในจิต เป็นการรู้ในจิต จิตเจตสิกอะไรต่างๆ ก็อย่างที่ วิเคราะห์ให้ฟังว่า สายนี้ มันเหมือน กับลักษณะ เราเรียกว่า วิปัสสนา แต่อยู่ในภพ การอยู่ในภวังค์ อันแรกอยู่ในภพเหมือนกัน แต่อันนั้น อยู่ในพวกสมถะ

ทีนี้ อันที่สามนี้ เอาเวทนาเป็นหลัก เวทนาคือความรู้สึก ไม่ใช่ตัวกำหนดรู้นะ ตัวอ่านอารมณ์ เวทนา ตัวอ่านอารมณ์ ส่วนสัญญา ตัวเพ่งอ่าน เพ่งกำหนดรู้ อันที่สอง

อันที่สามนี้อ่านอารมณ์ อ่านอารมณ์รับซับซาบอารมณ์ ของพุทธนี่ รู้หมดทั้งนั้น ของพุทธต้องรู้หมดทั้งนั้น หนึ่งก็ตาม สองก็ตาม สามก็ตาม ต้องรู้ให้ละเอียด แล้วก็ต้องเป็น ถ้าเป็นจะมีความชำนาญ ในแง่เชิงต่างๆ อย่างดี แล้วจะได้ประโยชน์อาศัย ได้ประโยชน์อาศัยแล้วอนุเคราะห์อุปการะ

อันที่สาม] เวทนาทั้งหลาย อันภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ รู้แจ้งแล้ว [คือรู้ อ่านอารมณ์เวทนา ความรู้สึก ให้รู้ ให้ออก ทุกขเวทนา สุขเวทนา อุเบกขาเวทนา หรือ อทุกขมสุขเวทนา อ่านให้ชัด] ย่อมบังเกิดขึ้น[ รู้แจ้งแล้ว] ย่อมตั้งอยู่ [รู้แจ้งแล้ว] ย่อมถึงความดับ [เพราะฉะนั้น เวทนา มันจะเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป อ่านอารมณ์ อ่านความรู้สึกนั้น รู้แจ้งแล้ว ย่อมถึงความดับ] สัญญาทั้งหลาย อันภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ รู้แจ้งแล้ว ย่อมบังเกิดขึ้น ย่อมตั้งอยู่ ย่อมถึงความดับ วิตกทั้งหลาย อันภิกษุในพระธรรมวินัยนี้รู้แจ้งแล้ว ย่อมบังเกิดขึ้น ย่อมตั้งอยู่ ย่อมถึงความดับ ฯ ดูกร ผู้มีอายุทั้งหลาย สมาธิภาวนานี้ อันภิกษุอบรมแล้ว ทำให้มาก แล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อสติสัมปชัญญะ ฯ [ก็รับซับซาบอารมณ์ รู้สึก รับรู้ความจริง สัญญา การกำหนดรู้ การใช้เวทนา การซับซาบอารมณ์นั้น ก็สัญญาซ้อนอยู่ สัญญาซ้อน รู้อารมณ์ รู้ในสภาพนั้น ไม่ได้มีปรุง จะเห็นได้ว่า ในนี้ไม่ได้ใช้สังขารเลย มีแต่ เวทนา สัญญาก็กำหนดรู้ ซ้อนเวทนาทั้งหลาย แล้วก็เห็นความจริง ตามความเป็นจริง ว่ามันเกิดขึ้น แล้วมันก็ตั้งอยู่ แล้วมันก็ดับไป วิตก คือความนึกคิดอีกเหมือนกัน นึกคิดทั้งหลาย ที่มันนึก มันคิดอะไร ในที่สุด ทำอะไรแล้วรู้แจ้ง รู้แจ้ง การรู้แจ้งนั่นน่ะ เกิดขึ้นก็รู้แล้ว ถ้าตั้งอยู่ก็ผ่านไป ทำให้ตื่นอยู่กับเจตสิก ทั้งหลาย จะว่าไปละก็เจตสิก แล้วก็มีการรับรู้ เกี่ยวกับเจตสิก ทั้งหลาย อย่างนี้จะเกิดความตื่นอยู่ หรือ มีสติสัมปัญญะ]

ทีนี้ อันที่สี่
ดูกร ผู้มีอายุทั้งหลาย ก็สมาธิภาวนา ที่ภิกษุอบรมแล้ว ทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อความสิ้นไปแห่งอาสวะ ทั้งหลาย เป็นไฉน ฯ
[อันนี้ เป็นอันที่โลกุตระแท้ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า ทั้งสามอย่างนั้น เราไม่รู้เรื่อง ทั้ง ๓ อย่างนั้น เราก็ฟังใช้ประกอบ ในอันที่ ๔ นี้ ในอันที่ ๒ เกิดญาณทัสสนะ เราก็ต้องใช้ประกอบ ถึงจะเกิดอันที่ ๔ อันที่ ๓ ใช้เวทนา ใช้สัญญา ใช้วิตก เราก็ต้องใช้ ซึ่งจะเกิดอันที่ ๔ อันที่ ๑ นั้น มันเป็นสมถะโดยตรง เป็นสุขวิหารธรรม ซึ่งมันผ่านทุกคนแหละ ถ้าทำฌานเข้าภวังค์ ทำไป มันก็ต้องผ่านทุกคนแหละ มันยังงั้น ถ้าไม่งั้น มันก็เป็นสภาพที่สู่สภาพเป็นสมาธิ หรือ เป็นฌาน ไปสู่สภาพ นั้นก่อน แล้วมันจะมีสภาพ ในระดับ ที่สอง ในระดับที่สาม ที่เกิดญาณทัสสนะ ที่เกิดสติ อันมั่นคงแข็ง แรง สติไม่มั่นคงแข็งแรงไม่ได้ จะทำงาน ถึงขั้นที่จะเกิดญาณทัสสนะ หรือยิ่ง อันสุดท้าย เกิดองค์ประกอบ ที่จะช่วยให้มีสภาพถึงขั้นโลกุตระ ละ อุปาทานไป ด้วย อุปาทานขันธ์ ๕ ถ้าไม่มีสติสัมปชัญญะ อย่างแข็งแรง ตั้งมั่น มันทำอะไรไม่ค่อยได้ผลหรอก]

ดูกร ผู้มีอายุทั้งหลาย ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ มีปรกติพิจารณาเห็นความเกิดขึ้น และความเสื่อมไป ในอุปาทานขันธห้าว่า ดังนี้รูป ดังนี้ความเกิดขึ้นแห่งรูป ดังนี้ความดับแห่งรูป

[อะไรที่เราจะรู้ ถ้ายิ่งจิตเจตสิกแล้ว มันก็จะมีสภาพที่เห็นสภาพ สิ่งที่ถูกรู้เป็นรูป เสร็จแล้ว มันก็เกิดขึ้น แล้วมันก็ตั้งอยู่ แล้วมันก็ดับไป เพราะฉะนั้น เราจะไปพาซื่อว่า รูปก็คือ มหาภูตรูปข้างนอก ดิน น้ำ ไฟ ลม ตอนนี้ ฌาน หรือว่าเข้าสมาธิ หรือว่า ทำสมาธิอย่างนี้แล้ว จะมาไอ้นี่มันจะดับไป มันจะดับยังไง้ มันยังไม่ทันตาย แล้วจะบอกว่า มันเกิดขึ้น เห็นแล้วมันตั้งอยู่ ดับไป มันยังไม่ดับ เพราะฉะนั้น อันนี้ไม่ใช่ เพราะ เราจะต้องรู้ว่า รูป สิ่งที่ถูกรู้ นั่นน่ะ ขั้นนามธรรม ขั้นจิตเจตสิกแล้ว จะเห็นอะไรที่ถูกรู้ มันก็ให้รู้ แล้วมันก็เปลี่ยนแปลงไป ตั้งอยู่ในช่วงระยะหนึ่ง แล้วมันก็เปลี่ยนแปลงไป ดับให้เห็นได้ ส่วนที่เรา ต้องการจะดับ โดยเฉพาะกิเลส เราก็จะเห็นว่ามันดับ แล้วก็ดับสนิท มันไม่มีอีก ส่วนจิต เจตสิก ที่บริสุทธิ์นั้น เมื่อเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ในขณะที่เรามี รูป นามขันธ์ ๕ อยู่ มันก็ยังจะมีอยู่ มันก็จะเกิดขึ้นอยู่ละ เมื่อไหร่ พิจารณา มันก็เกิดขึ้นต่อเนื่อง สันตติต่อเนื่อง มันยังไม่ได้ ดับสูญ เพราะฉะนั้น จะบอกว่า ถึงความดับ ถึงนิรุทธา หรือถึงนิโรธ ดับแล้ว มันยังไม่ดับ ฟังตรงนี้ชัดๆ นะ เพราะฉะนั้น คนยังเป็นๆ อยู่ จะพิจารณา ในภวังค์ จะพิจารณาในการตื่นลืมตา รู้จักสัมผัส อะไรอยู่ก็ตาม เราไม่ได้หมายว่าดับนั้น ไปดับเอารูปนาม ขันธ์ ๕ ไปดับเอาเวทนา ไปดับเอาสัญญา ไปดับเอาความรู้สึก ไปดับเอาความรับรู้อะไร ไม่ใช่ ! ให้มันชัดๆ อย่างนี้ ถ้าไม่อย่างนั้นล่ะก็เพี้ยน เราจะดับสิ่งที่เจตนาจะดับ อุปาทานก็ดี ตัณหาก็ดี กิเลสก็ดี อารมณ์ อาการ สื่งที่เป็นอกุศลอะไร ที่มันไม่ดีทั้งนั้นน่ะ โลภ โกรธ หลง อะไรเกิดขึ้น ในภายในจิต รู้สิ่งที่ถูกรู้ ก็คือรู้อาการนั้น ให้ชัด นิมิตนั้นให้ชัดว่า มันเป็นอย่างไร แล้วก็จะเห็นว่า เกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วก็ดับไป

ทีนี้ จะทำให้มันเกิดได้น้อย ไปเกิดอีก จนกระทั่งมันไม่เกิดเลย มันดับสนิท นิโรธ หรือ นิรุทธา ดับจนไม่เกิด เราก็จะเห็นความดับ เห็นความไม่เกิดอีก อรหัตผลก็อยู่ที่มันไม่เกิด เมื่อมันไม่เกิด มันก็ชัดแล้วก็นี่ นิโรธ เดี๋ยวนั้นแหละ เมื่อใด ก็เมื่อนั้น ทำให้อย่าเที่ยวไปตีขลุมว่า อุปาทานขันธ์ ๕ คือดับขันธ์ ๕ ดับขันธ์ ๕ ก็ตาย ไม่มีรูป ไม่มีเวทนา ไม่มีสัญญา สังขาร วิญญาณ แล้วมันก็ตาย ก็เอาไปเผา ถ้าพาซื่ออย่างนั้นล่ะก็ ไม่รู้เรื่อง เพราะฉะนั้น จะไปดับทั้งเวทนานี่ เรื่องนี้เป็นเรื่องที่สำคัญมากเลย ทุกวันนี้ จะทำสมาธิ ทำฌาน หรือว่า จะทำวิมุติ ทำฌาน ฌานลืมตาหลับตาอะไร ก็ยังพูดไปได้ พอเป็นพอไปนะ แต่พอถึงสัญญา เวทนา ที่เป็นภาษา ที่เอามายืนยันได้เลยนะ ว่าในพระไตรปิฎก จะกล่าวอย่างนี้แหละ สัญญา จ เวทนา จ นิรุทธา โหติ ดับ เขาก็แปลว่าดับ ย่อมเกิดการดับ ดับสัญญา ดับเวทนาเลย มันก็พาซื่อ มลื่อทื่อ ก็เป็นการดับไม่รู้เรื่อง อสัญญี ตอนนี้ก็จะดับ แล้วก็ เราจะรู้ว่า เห็นอะไรดับ รู้อะไรดับ นี่ตั้งแต่เริ่มต้น ตั้งแต่รูป สิ่งที่ถูกรู้นั้น]

ดังนี้ความเกิดขึ้นแห่งรูป ดังนี้ความดับแห่งรูป ดังนี้เวทนา ดังนี้ความเกิดขึ้นแห่งเวทนา ดังนี้ความดับแห่งเวทนา [นี่ ภาษานี่ ก็บอก ก็ดับเวทนาอีกแหละ เดี๋ยวจะมีอีกสูตรหนึ่ง แล้วจะรู้ว่าอะไร] ดังนี้สัญญา ดังนี้ความเกิดขึ้นแห่งสัญญา ดังนี้ความดับแห่งสัญญา [นี่ภาษามันพาซื่อ อย่างนี้ แต่เสร็จแล้ว จริงๆ มันไม่ใช่อย่างนั้น ถ้าอย่างนั้น มันไม่รู้เรื่องอะไร แล้วก็ไม่ได้อะไร ทั้งที่อธิบายให้ฟัง]

ดังนี้สังขาร ดังนี้ความเกิดขึ้นแห่งสังขาร ดังนี้ความดับแห่งสังขาร ดังนี้วิญญาณ ดังนี้ความเกิด ขึ้นแห่งวิญญาณ ดังนี้ความดับแห่งวิญญาณ
[วิญญาณอะไรที่ดับ ดับวิญญาณแล้วในขณะที่ เป็นพระอรหันต์ ยังเป็นๆอยู่นี่ ดับวิญญาณอะไร วิญญาณผี วิญญาณอกุศล วิญญาณกิเลส ซึ่งมันอยู่ด้วยกันน่ะแหละ มันอยู่กับจิต มันเหมือนกับจิต มันเป็นจิต มันเกิดอยู่กับจิต ดับวิญญาณด้วย เพราะฉะนั้น วิญญาณดับ ดังนี้ ]
ดูกรผู้มีอายุทั้งหลาย สมาธิภาวนานี้ อันภิกษุอบรมแล้ว ทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อความสิ้นไป แห่งอาสวะ ทั้งหลาย ฯ

เพราะฉะนั้น เราไม่ได้ไปเที่ยวได้ ดับพาซื่ออย่างนั้น ดับพาซื่อ นี่ไปดับสัญญา ดับเวทนา ทีนี้ตัวโลกุตระนี่ จะเรียนรู้ ชัดเจนใน รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ อุปาทานขันธ์ ๕ จิต อุปาทาน ก็คือความที่ติดอยู่ ยึดอยู่ เกาะอยู่ เราไม่ติดไม่ยึด แล้วเราก็เรียนรู้อย่างพินิจ เรียนรู้อย่าง มีอุเบกขานิมิต มีพินิจ จนกระทั่งทำสมาธิ จนกระทั่งถึงการวาง การเฉย อุเบกขาอย่างไม่ใช่ว่า วางแบบตื้นๆ บอกแล้ว ถ้าเผื่อว่า เอาอย่างง่ายๆแล้ว สมาธินิมิต ก็คือไปนั่งเข้าในฌาน แล้วก็เพ่งกสิณ ว่าง จิตไม่มีกิเลสนิวรณ์อะไร สงบ ระงับ เป็นทิฏฐธรรมสุขวิหาร ปัคคหนิมิต ทิฏฐธรรมสุขวิหาร ว่าง แต่จิตนั้น มันก็จะกลายเป็นจิตขี้เกียจ ปัคคหนิมิต ก็สภาพที่เรียน สภาพที่ฝึกฝน เรียนอย่างโลกๆ น่ะ เรียนคิดนึก วิปัสสนา ว่างั้นเถอะ สายสมาธินิมิต ก็สายสมถะ สายปัคคหนิมิตก็สายวิปัสสนา เรียนก็เกิดฟุ้งซ่านเป็นผล ถ้าดิ่วๆไปอันไหน อุเบกขานิมิตอะไร ก็วางๆๆ วางเฉยๆ วางเฉย อะไรก็เฉย เฉยเด๋อ จะไปเฉยเด๋ออยู่ในป่า หรือ จะเฉยเด๋ออยู่ในกรุง ก็แล้วแต่เถอะ พวกนี้ ไม่มีความพินิจเสมอ ไม่เกิดการสิ้นอาสวะ ไม่เกิดการตั้งมั่นอะไร สายปัญญา ว่างั้นเถอะ เขาว่าเขาปัญญา ที่จริงตรรก หาอะไรมาเป็นเครื่องโบ้ยโบ้ย ไป อย่างนี้ มันไม่มีการเรียนรู้ ไม่มีการลึกซึ้ง มันไม่รู้จักอุปาทาน ไม่รู้จักว่า อะไรจะดับ อะไรจะอาศัย สมาทานกับอุปาทาน สมาทานก็คือ ฉวยเอาไว้ให้ต่อเนื่อง เฉยๆ แล้วก็ไม่ได้ติดยึดมั่น อุปทานนั่นแหละ ฉวยไว้เลย ยึดไว้ไม่ปล่อย อุปาทาน

อย่างที่ได้อธิบายตอนแรกว่า แม้แต่ที่สุด เราเรียนรู้เข้าไปในทุกอย่าง นั่นแหละ เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ สิ่งที่ถูกรู้ ก็เป็นรูป รูปที่เป็นปรมัตถ์แล้ว ที่รู้ยาก เป็นนามธรรม มันเหมือนภาษามันปนนะ ว่านามธรรมว่า ไหนว่ารูปล่ะ เรารู้นามธรรม นามธรรมนั่นแหละ อันนี้อธิบายอยู่ในคนคืออะไร จนกระทั่ง คนงงว่า เอ๊ะ ทำไมแล้วนามกลายเป็นรูป นามกลายเป็นรูปไปได้ยังไง ทำไมพูด กลับไปกลับมา นามกลายเป็นรูป ว่างั้น นี่แหละ สิ่งที่ถูกรู้ ที่เป็นนามธรรมนี่แหละ มันถูกรู้ เราเรียกมันว่ารูป จะเรียกว่ากลาย มันไม่ได้กลายหรอก แต่ว่าสิ่งที่ถูกรู้ ถ้าแปลว่า สิ่งที่ถูกรู้ มันก็ยังงี้ ถ้าไปแปลรูปว่าคือ แต่มหาภูตรูป คือ ดิน น้ำ ไฟ ลม

Šอาตมาก็เลยตั้งข้อสังเกตให้ฟังว่า ในขณะที่คุณว่า คุณจะเข้าฌานอย่างนั้นแล้ว คุณจะเอา ดิน น้ำ ไฟ ลม เข้าไปอยู่ ในอารมณ์ได้ยังไง เอาดิน น้ำ ไฟ ลม เข้าไปยัดเข้า ไว้ในอารมณ์ได้ยังไง เข้าไปยัดไว้ในตัวนามธรรม ตัวจิตได้ยังไง จะไปรู้สิ่งขณะที่นั่งอยู่ในนั้นน่ะ แล้วก็มีแต่การรับรู้งั้นน่ะ เพ่งรูป ถ้ามาเพ่งตัวที่ร่างกาย ข้างนอกนี่ แล้วเมื่อไหร่ มันจะรู้กิเลสล่ะ มันจะสับสนยังงั้น

เราได้ผ่านสูตรอานาปานสติมาแล้ว สูตรที่บอกตั้งแต่ตอนแรก กาย สังขาร เพ่งลมหายใจ นี่เป็นกายสังขาร กาย ลมหายใจออก ลมหายใจเข้า เข้าสั้น เข้ายาวอะไร แล้วพยายามสร้างให้สติเกิด ให้รู้ว่า นี่มันการปรุง การประชุม ลมหายใจบ้าง มีนามธรรมบ้าง นามธรรมเป็นตัวรับรู้ ตัวลมหายใจเป็นกาย เป็นองค์ประชุม ที่ละเอียดแล้วล่ะ เป็นจตุกะที่ ๑

จตุกะที่ ๒ เวทนา เวทนามีการรู้จักปีติ สุข เป็นจิตสังขาร อันแรกเป็นกายสังขาร อันที่สองเป็นจิตสังขาร ท่านเรียก เป็นจิตสังขาร ทีนี้ก็เพ่งเข้าไปหาจิตอีก เป็นจตุกะที่ ๓ จตุกะที่ ๓ เป็นจิต ทีนี้รู้จักเรียนรู้ถึงจิต นี่ ก็ทำจิต ทำจิต ทำให้จิตมันเบิกบาน ร่าเริง ให้มันยินดี ในสิ่งที่ได้ดี บอกแล้ว เมื่อเราต่อเนื่องมาจากเวทนา มีปีติ ที่แปลว่าได้ดี ดียังไง มันสงบยังไง อยู่ในระดับไหน ที่เป็นจิตยินดีว่า ถ้าเรามีเป้าหมายหลักว่า เราจะไม่ให้ มันเกิดนิวรณ์ ๕ เมื่ออารมณ์นิวรณ์ ๕ เราก็รู้ เรียนรู้ มีญาณทัสสนะ ที่จะรู้อยู่ในความรู้ ว่าใน เวทนา สัญญานั้น เรากำหนดรู้ มีความคิดนึกก็ยังได้ ปรุงแต่งวิตกก็ได้ ตักโก วิตักโก สังกัปโป อะไรก็ได้ อยู่ในจิต เสร็จแล้วอย่างไร จิตสังขารนี้ มันไม่มีนิวรณ์ แล้วก็พยายามรู้อารมณ์นิวรณ์ กามคืออย่างนี้ อารมณ์อย่างนี้กาม อารมณ์อย่างนี้อารมณ์พยาบาท อารมณ์อย่างนี้อารมณ์ถีนมิทธะ อารมณ์อย่างนี้ อารมณ์อุทธัจกุกกุจจะ ให้รู้ชัด อย่างนี้แหละ ยังมีอารมณ์รู้ว่า อาการหรือว่าลักษณะของวิจิกิจฉา จนกระทั่งพ้น ไม่มีความสงสัยลังเลชัดเจน แจ้ง เป็นสัจฉิกรณะทั้งนั้น แล้วก็เพ่ง เรียนรู้จิตนั้นว่า ทำจิตให้เป็น อภิปปโมทยัง สมาทหัง แต่แล้วก็ปล่อยอยู่ วิโมจยัง อย่างนี้ก็ จิตตานุปัสสนา จนกระทั่ง ทำอย่างนั้นแหละ อนิจจัง อนิจจานุปัสสี วิราคานุปัสสี นิโรธานุปัสสี ปฏินิสัคคานุปัสสี ตามเห็นความจริงอันนั้น ทุกอย่างว่า ไม่เที่ยง เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป

โดยเฉพาะ เราจะให้กาม พยาบาท ถีนมิทธะ อุทธัจจกุกกุจจะ วิจิกิจฉาด้วย เหล่านี้แหละ มันดับไป มันพ้นไป มันไม่มี มันไม่เหลือ ๆ หรือสรุปรวม เป็นจนกระทั่งถึงโลภ โกรธ หลง อย่างหยาบ กลาง ละเอียด เป็นอนุสัย เป็นอาสวะ ถ้าหลับตาก็ดูแต่ปัจจุบันนั้น ถ้าหลับตาอยู่ในภวังค์ ถ้าลืมตา ก็เหมือนกันนั่นแหละ ถ้าเราอ่านจิตเป็น รู้อารมณ์จิตปรุงแต่งเป็น เวทนาเป็น รู้จักเวทนา สัญญา สังขารเป็น ลืมตามีสัมผัสแตะต้อง มันยิ่งจะเกิดมาก เกิดวูบวาบ เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไปได้มากกว่า จริงกว่า เพราะเป็นปัจจุบันนั่นเทียว สัมผัสอย่างนี้ เกิดรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส เอาไหม สัก ๑๐ ล้านจริงๆนะ เอ๊ะ ! จริงเหรอ จริงๆ ๑๐ ล้าน เอามั้ย ไม่มีข้อแม้ใดๆ ๑๐ ล้าน เอ๊ ทำไมพระจันทร์ มันตกลงมาใส่มือ อย่างนี้จริงๆน่ะเหรอ ใจมันจะหวั่นไหว มั้ย อยู่ดีๆ ให้ตั้ง ๑๐ ล้าน เอาเพชรงามๆ มาให้เม็ดหนึ่ง เอ เราก็ไม่ใช้แล้วน้า เพชรนี่ แต่ไม่ใช้ก็เอาไปขาย ได้นะ แน่ะ ไปโน่นเลย มันจะอยากได้ไหม เอาไปให้ท่านซื้ออุปกรณ์ นี่ศาลาช่าง ท่านก็ยังสร้างไม่เสร็จ ยังไม่ได้สร้างอะไร มันลองใจเรา สารพัดสาระเพ มันขี้โลภ มันจะโลภเกิดไหม มันจะโกรธมั้ย มันจะหลงยังไง อะไรต่างๆนานา มันมี สัมผัสแตะต้องเรื่องราว อะไรต่ออะไรมากมาย สารพัดสาระเพนั่นล่ะ เราถึงจะเป็น ผู้ที่มี พินิจเสมอๆๆ ถึงจะสิ้นอาสวะได้ ไม่ใช่เอาแต่ อะไรก็วาง อุเบกขา มีแต่ อุเบกขานิมิต อะไรก็วางๆ ไม่มีทางที่จะสิ้นอาสวะได้

เราต้องเข้าใจความหมาย ที่พระพุทธเจ้าท่านหมายให้ดีๆ ทำอย่างไร ถูก ทำไมต้อง ประเดี๋ยวก็บอกว่า ต้องทำจิตให้เป็นอุเบกขา ประเดี๋ยวก็ว่าไปติดแต่ อุเบกขานิมิต ไม่สิ้นอาสวะ เดี๋ยวก็ยุ่งกันใหญ่นะ ทำจิตให้เป็นอุเบกขาฐาน โน่นแหละ แต่ไม่ใช่ทำอย่างใจวาง ต้องหมายความว่า อุเบกขานิมิต คือทำอย่าง มีแต่วาง อะไรก็วาง ก็ปล่อย ก็วาง ก็ปล่อย เราจะเข้าใจสภาพจริงๆว่า อะไรก็วาง อะไรก็ไม่เอา ถ้าอย่างนั้นล่ะก็ ไม่มีทางที่จะแข็งแรง ตั้งมั่น แล้วก็ไม่มีทางที่ จะสิ้นอาสวะ แต่ถ้าทำถูกต้องเลยนะ เรียนรู้ มีเวทนา สัญญา สังขาร พิจารณาอ่าน เพ่งพินิจให้รู้ มีธัมมวิจัยสัมโพชฌงค์ รู้กิเลส รู้สิ่งที่ไปสังขาร แม้ที่สุด เป็นปุญญาภิสังขาร สังขารเพื่อชำระ การปรุงแต่งเพื่อชำระ ปุญญาภิสังขาร ปุญญะ นี่เป็นการชำระ ชำระไอ้สิ่งที่เราจะดับ ดับได้ ชำระได้จริงๆ อย่างนั้นแหละ มันถึงจะสมบูรณ์

ลองฟังภาษาที่วิเคราะห์ไว้อีกชัด อีกสองอัน
นางวิสาขา ตอนนี้ อันนี้ ในจูฬเวทัลลสูตร ในพระไตรปิฎกเล่ม ๑๒ ข้อ ๕๐๘ เรื่องสมาธิ และสังขาร นางวิสาขา ไปถาม ธัมมทินนาภิกษุณี ถามว่า ข้าแต่พระแม่เจ้า ก็ธรรมอย่างไร เป็นสมาธิ ธรรมเหล่าใด เป็นนิมิตของสมาธิ ธรรมเหล่าใด เป็นเครื่องอุดหนุนสมาธิ การทำให้สมาธิเจริญเป็นอย่างไร

ธัมมทินนาภิกษุณี ก็ตอบว่า
ดูกร วิสาขะ ผู้มีอายุ ความที่จิตมีอารมณ์เป็นอย่างเดียว [ เราเรียก อย่างเดียว รึอย่างหนึ่ง ความที่จิตมีอารมณ์เป็นหนึ่ง รึเป็นอย่างเดียว] เป็นสมาธิ สติปัฏฐาน ๔ เป็นนิมิตของสมาธิ สัมมัปปธาน ๔ เป็นเครื่องอุดหนุนสมาธิ ความเสพคุ้น ความเจริญ ความทำให้มาก ซึ่งธรรมเหล่านั้นแหละ เป็นการทำให้ สมาธิเจริญ

ภิกษุณีก็ตอบบอกว่าอะไร ธรรมะอย่างไร และเป็นสมาธิ ธรรมเหล่าใด เป็นนิมิตธรรมสมาธิ ธรรมเหล่าใด เป็นเครื่องอุดหนุนสมาธิ และก็การทำให้ สมาธิเจริญทำอย่างไร เป็นอย่างไร ท่านก็ตอบบอกว่า ความที่จิต มีอารมณ์เป็นหนึ่ง หรือเป็นอย่างเดียว เป็นสมาธิ ทำให้จิตนี่ มันสะอาดบริสุทธิ์ เป็นหนึ่งไม่ฟุ้งซ่าน ไม่อะไร อยู่ในเรื่องราวนั้นอย่างสมบูรณ์ นี่ตอบอย่างพุทธนะ อันนี้ตอบอย่างพุทธ หมด ภิกษุณีตอบนี้อย่างพุทธ ไม่ใช่สมาธิอย่างฤาษีแล้วนะ สติปัฏฐาน ๔ เป็นนิมิตของสมาธิ สติปัฏฐาน ๔ เป็นเครื่องหมาย กาย เวทนา จิต ธรรมน่ะทั้งหมด สัมมัปปธาน ๔ เป็นเครื่องอุดหนุน เป็นเครื่องอุดหนุน สมาธิ ความเสพคุ้น ความเจริญ ความทำให้มาก ซึ่งธรรมเหล่านั้นแหละ หล่าไหนก็แล้วแต่ ธรรมะเหล่าไหนที่ทำทุกเหล่า สติปัฏฐาน ๔ สัมมัปปธาน ๔ เป็นการ ทำให้สมาธิเจริญ ความจริงก็เท่านั้นแหละ ก็สติปัฏฐาน ๔ สัมมัปปธาน ๔ นั่นแหละ เป็นตัวหลัก มีอิทธิบาท ๔ เป็นตัวหนุน เป็นตัวแรง เป็นตัววิริยะ อุตสาหะ เป็นตัวพากเพียร เอาใจใส่ กระทำจริง ถ้าจะพูดถึง โพธิปักขิยธรรม มันก็มีอย่างนั้น

(ข้อ ๕๐๙) นางวิสาขาก็ถามว่า
ข้าแต่พระแม่เจ้า ก็สังขารมีเท่าไหร่ [ตอนนี้ถามไปถึงสังขารแล้ว]
ธัมมทินนาภิกษุณี ก็ตอบว่า
ดูกร วิสาขะผู้มีอายุ สังขารเหล่านี้มี ๓ ประการคือ กายสังขาร วจีสังขาร จิตตสังขาร [ฟังดูคำว่าสังขาร นี่ จะเข้าใจดี เราผ่านคำว่าสังขาร มาหลายทีแล้ว]
นางวิสาขาก็ถามต่อไปอีก
ข้าแต่พระแม่เจ้า ก็กายสังขารเป็นอย่างไร วจีสังขารเป็นอย่างไร จิตตสังขารเป็นอย่างไร

ธัมมทินนาภิกษุณี ก็ตอบว่า
ดูกร วิสาขะผู้มีอายุ ลมหายใจออก แล
ะ ลมหายใจเข้า เป็นกายสังขาร วิตกและวิจาร เป็นวจีสังขาร สัญญาและเวทนา เป็นจิตตสังขาร [เห็นมั้ย สัญญาและเวทนา เป็นจิตสังขาร เห็นมั้ย สัญญาและเวทนา นี้เป็นจิตสังขาร นี่ๆ ถ้าเข้าใจดีแล้ว จะเห็นได้ชัดเลยนะ ว่าตัวสภาพนอกจริงๆนั้นก็คือ ลมหายใจในกาย สภาพกลางๆ นั้น คือ ความเป็นตัวบทบาทการงานอยู่ คือวิตกวิจาร นั่นเป็นวจีสังขาร เพราะฉะนั้น วจีสังขารนี่ ไม่ใช่คำพูดแล้วนะ ใช่มั้ย วจีสังขาร ไม่ใช่คำพูด วิตกและวิจารเป็นวจีสังขาร สัญญาและเวทนา เป็นจิตสังขาร ไม่ได้หมายความว่า ดับเวทนา ดับสัญญา แต่จิตสังขาร มีอาการที่ซ้อนเชิง มีอภิปปโมทยัง มีสมาทหัง วิโมจยัง นี่เป็น จิตสังขาร ต้องรู้จักสังขารธรรม พวกนี้จิตสังขาร]

นางวิสาขา ก็ถามต่อไปว่า
ข้าแต่พระแม่เจ้า ก็เหตุไร ลมหายใจออกและ ลมหายใจเข้า จึงเป็นกายสังขาร วิตกและวิจาร จึงเป็น วจีสังขาร สัญญาและเวทนา จึงเป็นจิตตสังขาร

ธัมมทินนาภิกษุณีก็ตอบว่า
ดูกร วิสาขะผู้มีอายุ ลมหายใจออกและ ลมหายใจเข้าเหล่านี้ เป็นธรรมมีในกาย เนื่องด้วยกาย ฉะนั้น ลมหายใจออก และลมหายใจเข้า จึงเป็นกายสังขาร [ลมหายใจออก ลมหายใจเข้า มีในกาย คือ กายเรามีลมหายใจออก ก็ยังมีอยู่ แล้วก็เนื่อง เนื่องในกาย ต่อเนื่องอยู่] บุคคลย่อมตรึก ย่อมตรองก่อนแล้ว จึงเปล่งวาจา [เห็นมั้ย บุคคลย่อมตรึก ย่อมตรองก่อนแล้ว จึงเปล่งวาจา] ฉะนั้นวิตกวิจาร จึงเป็นวจีสังขาร [ชัดไหม เพราะฉะนั้น อย่าไปพาซื่อ วาจาย่อมดับ อุ๊ป ฌาน ๑ แล้ว (หัวเราะ) อย่าไปพาซื่ออย่างนั้น เพราะฉะนั้น ถ้าดับ ก็ดับที่สังขาร วจีสังขาร นะดูที่วจี เพราะฉะนั้น ความตรึก ความตรอง มีอะไร เข้าไปสังขาร ซ้อนอยู่ในความตรึก ความตรอง อยู่ในวิตก อยู่ในวิจาร มีอะไรเข้าไปสังขาร เราต้องการ ความสังขารที่เป็นบุญ ความสังขารที่สะอาด คิดนึกได้ สังขารคือ ความที่จะปรุงแต่งคิดนึก มีเรื่องมีราว อะไรได้ แต่เอาละ ดับเรื่องไหน ที่มันไม่ใช่เรื่องที่ การมีเป็นอกุศุลก็ดับไป]
สัญญา และเวทนา เป็นธรรมมีในจิต เนื่องด้วยจิต ฉะนั้น สัญญาและเวทนา จึงเป็นจิตตสังขาร.

งั้นเรารู้เท่าทันสังขาร แล้วก็รู้จักว่า เราจะดับอะไร สังขารอะไร มาสังขารอะไร เอาละ นี่ไม่ต้องขยาย ความมาก เพราะนี่ปรมัตถ์แล้ว ถ้าขึ้นมาปนวุ่นๆ พูดกันทาง ออกมาหาของหยาบอีก ประเดี๋ยวก็วน

ต่อไปนี้อีกอันหนึ่ง ข้อ ๒๒๒ อันนี้ไม่บอกว่า มาจากข้ออะไร คำว่าด้วยการระงับสังขาร ๓ ขยายความต่อไปอีก

(อ่านต่อหน้า ๒)


ถอดโดย นิติยาภรณ์ ๑๙ พ.ค.๒๕๓๓
ตรวจทาน ๑ โดย โครงงานถอดเท็ป ๑๙ พ.ค.๒๕๓๓
พิมพ์โดย สม. นัยนา เถระวงศ์ ๒๒ พ.ค.๒๕๓๓
ตรวจทาน ๒ โดย สม.
FILE:0663C.TAP