พุทธวิธี...แห่งการงาน
โดย พ่อท่านสมณะโพธิรักษ์
๑๔ กันยายน ๒๕๓๓ ณ พุทธสถานสันติอโศก


นี่... เราจะมีอะไรต่ออะไรหนุนเนื่อง หรือหมุนเวียนเป็นไป ใครชอบงานอย่างหนัก อย่างเบา อย่างนั้น อย่างนี้ อะไรมันจะมี มันค่อยๆกอบก่อไป  และเวลาเราทำงานนี่แหละ เราปฏิบัติธรรม มันจะมีการชอบ  หรือไม่ชอบ ตั้งแต่แรกเริ่ม   ก็ต้องดูใจเรา  เราจะทำงานอย่างที่ชอบๆ  อย่างเดียว ไม่ได้ บางทีเราต้องทำงานที่เราไม่ชอบบ้าง เราจะได้รู้ว่า เราทำไมไปรังเกียจ ไม่ชอบแล้วเราจะไม่แตะ ไม่ชอบแล้ว เราจะไม่อยากจะทำเลยหรือไง มันรังเกียจ เลยพลอยขี้เกียจไปด้วย มันไม่ถูก เราจะต้องแก้ แก้ตัวเรา แก้นิสัยเรา แก้จิต มันกิเลสมันผลัก ทั้งๆที่มันเป็นงาน ที่ควรจะต้องทำ หรือมันจำเป็นด้วยซ้ำ งานนี้ต้องจำเป็นต้องทำขึ้นมา ไม่ทำแล้ว มันก็ไม่สมดุลย์ ไม่ทำแล้ว มันก็ขาดแคลน ไม่ทำแล้วก็บกพร่องกันอยู่ ที่เราจะอาศัย ที่เราจะใช้ อะไรนี่เป็นต้น

เราต้องทำ เพราะฉะนั้น เมื่อเราต้องทำ มันสำคัญ มันจำเป็น เราก็ต้องช่วยกัน บางทีมันขาดแคลน คนเราก็ต้องช่วยกัน แม้เราจะไม่ชอบ เพราะเราหักความไม่ชอบ ล้างความไม่ชอบ ตัววางใจเป็น เออ แม้มันไม่ชอบ เราก็วางใจ มันก็ไม่ผลัก มันก็ไม่ลำบาก ถ้าเรายังติดใจอยู่ ยึดอยู่ ถืออยู่ มันก็ทุกข์ มันก็ทำให้เราเองขัดๆคาๆ อึดอัด เพราะฉะนั้น การวางใจ ที่ภาษาที่บอกวางใจ ฉะนั้นเราต้อง ทำใจจริงๆนะ เราวางยังไง อย่าให้มันมาข้องมาคา อย่าให้มันมาต้าน ให้มาย้อนมาแย้งกับใจเราสิ วางหาเหตุหาผลว่า ทำไมเราจะ ต้องให้มันมา มีฤทธิ์มีเดช เราจะชอบหรือไม่ชอบทำไม ก็นี่มันควร หรือไม่ควร แม้มันจะยาก แม้มันจะลำบาก ก็ช่วยกันอยู่ คนไหนทำเป็น ทำคล่อง เขาก็ช่วยกันมาก เราทำไม่เป็น ไม่คล่อง ก็เป็นลูกไม้ลูกมือ มันมีซ้อนนะ อัตตามานะ นี่มันซ้อนในใจคน  ถ้าเราทำงาน ที่เราชอบ และงานนี้เราถนัด และงานนี้เราเก่ง เราก็อยากจะทำอันนี้แหละ มันเด่น มันโก้ เพราะว่า เราทำเก่ง เราทำถนัด เราเป็นหัวหน้า เราเป็นเจ้า เราเป็นผู้รู้มาก เราทำงานนี้แล้ว ได้เป็นใหญ่ ไปทำงานโน้นแล้ว ต้องเป็นรอง ไปทำงานโน้นแล้ว ไม่เป็น แล้วต้องไปถามเขา เสียเหลี่ยม  เสียเกียรติอะไร นี่มันซ้อน มานะ ซ้อนกิเลสมานะอัตตา นี่มันซ้อน อย่างนี้

เพราะฉะนั้น เราก็จะต้องรู้ เออ...ไปลดบ้างซิ อัตตามานะ อันไหนไม่เก่ง เราก็ต้องยอมรับ อันไหน เราไม่รู้ เราก็ต้องยอมรับว่าต้องเป็นลูกน้องลูกมือเขา จะเป็นนายไปซะทั้งหมดจะได้ยังไง อันนี้ อย่างนี้ เราจะปฏิบัติธรรม เราน่าจะลดละ ลดละ บางทีทำงานร่วมกันแล้ว นอกจากจะถือสา แบบมานะอย่างนี้ก็ยังมี มีเสียง รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส พูดกันไม่เข้าหูบ้าง หรือเข้าหู แต่มันไป บาดใจ อะไรก็แล้วแต่เถอะ ยังโน้นอย่างนี้ มันไม่สมใจเรา เราจะเอาอย่างนี้ เขาจะเอาอย่างนี้ อะไร ทำงานร่วมกัน มันต้องถ้อยที ถ้อยลดราวาศอก ถ้อยทีถ้อยประสมประสาน แบ่งกันคนละครึ่ง เอานะ ได้ขนาดนั้น ขนาดนี้ หรือพิจารณา ที่จริงไม่ใช่เอาแต่ตัวเราเป็นเอก เอาแต่เราเป็นใหญ่ เราเอง เรานั่นแหละแน่ จริง ถูกจริง ดีจริง มีแต่เราคนเดียว มันก็ไม่ได้ อย่างนี้ เป็นการลดตัวลดตนทั้งนั้น ลดกิเลสทั้งนั้น เพราะฉะนั้น การทำงาน จึงเป็นเรื่องจริง ที่เราจะมีกระทบสัมผัส กระทบสัมผัส เราลดลงมาเยอะแล้วนะ ถ้าเป็นข้างนอกแล้วทำงาน มันจะต้อง ตั้งแต่เริ่มต้น รายได้ ลาภ ยศ ที่มันจะแลกเปลี่ยนมาให้ตัวเอง ตั้งแต่ต้นเลย พวกเรานี่ ลาภ ยศ ลดลงไปมากแล้ว มันเหลือ ติดตัวตนมานะอัตตา สรรเสริญ เยินยอ กับชอบไม่ชอบ ถ้าชอบก็เป็นสุข ถ้าไม่ชอบก็ไม่สุข ถ้าไม่ชอบ ชอบเราก็ไม่สุข ถ้าไม่ชอบมันก็ไม่สุข ไม่พอใจ ไม่ชอบใจ แต่ถ้าเราชอบ มันจะเป็นสุข

เพราะเราไม่ได้ทำงานด้วยชอบด้วยสุข และก็ไม่ได้ทำงานเพื่อที่จะได้สรรเสริญเยินยอ ได้มานะอัตตา หลงตัวหลง ตนยิ่งใหญ่ไปยังงั้น อย่างที่พูดตอนหลังนี่ เราลดลาภ ลดยศลงมา มันก็ยัง มีอัตตามานะ มันยังมีสรรเสริญเยินยอ นินทา ติเตียน หรือชอบ หรือไม่ชอบ เป็นสุขหรือไม่เป็นสุข ยังมีสิ่งเหล่านี้อีกด้วย เราจะต้องพิจารณาดูดีๆ แต่ไม่ได้หมายความว่า ผู้ที่มาทำฐานที่ว่า มันไม่มีแล้ว ลาภยศ ก็ไม่ได้หมายความว่า เราจะไม่ติดยึด ในเรื่องลาภยศแล้วนะ มีนะ ซ้อนเชิงอีก ที่ว่าลาภนี่  คือทำขึ้นมาแล้ว เป็นผลผลิต แล้วเราก็ไปหลงในสิ่งนี้เป็นผลได้ เพราะฉะนั้น บางที เราคิดในผลได้มากเกินไป อีกคนหนึ่งเขาก็คิดยึดของขา เราก็คิดยึดของเรา เราก็นึกว่า อย่างนี้ได้ประโยชน์มากกว่า ได้ผลมากกว่า อย่างโน้นของอย่างคนอื่นเขา ออกความเห็น ที่ค้านแย้งกัน มันจะไม่ได้ผลมากกว่า ได้ผลน้อยกว่า เราก็มายึดแต่ว่าอย่างนี้ เราต้องการได้ผลมากกว่า แล้วก็ยึดมั่นถือมั่น ต่างคนต่างไม่ยอม เลยไม่ต้องทำเลย ได้มากได้น้อย เลยไม่ต้องได้ทั้งคู่เลย เพราะไม่ต้องทำ มันก็ไม่ได้ มันก็ต้องยอมกันมั่ง

บางทีแม้มันจะได้ผลมาก แต่เราเอง เราอยู่ไม่ได้ อยู่ในฐานะที่จะต้องไปดึงดันเล้ย ถ้าเอาไปทางโน้น ก็ยึดมากเหลือเกิน เถียงซะด้วยนะ มันได้เท่านี้ เอาได้เท่านี้ก่อน ถ้าเผื่อว่าว่ากันเหตุผลก็ตาม อะไรๆก็ตาม ว่ากันไปหมดแล้วก็ยังไม่ยอมกัน เราก็ต้องลดราวาศอกกันบ้าง มันจะได้ลดตัวลดตน เข้าไปในตัวลาภเป็นเหตุ  ไปให้ยึดตัวยึดตน ยึดมานะ อย่างนี้ก็เป็นอยู่เหมือนกัน นี่มันซ้อน เห็นมั้ย เป็นลาภ แล้วก็ซ้อนเป็นถึงกระทั่ง เห็นในผลประโยชน์ที่สมควรได้ แล้วจนกระทั่ง กลายเป็นมานะ ข้าไม่ยอม เอ็งก็ไม่ยอม ก็เลยตีกันหรือว่า เอ้า...ข้าไม่ทำแล้วงั้น เลยเลิกไปเลย มันก็เสียหายซิ งานก็เสียหาย อะไรก็ล้มเหลว นี่ การปฏิบัติธรรมเป็นเหตุ เป็นปัจจัยที่เราจะเดินทางไปสู่นิพพาน

อย่างที่พระพุทธเจ้าท่านยืนยัน อย่างที่เราเอามายืนยันแล้วว่าเราอ่าน มหาลิสูตร เจ้าโอฏฐัทธลิจฉวี
ที่ไปทูลถามพระพุทธเจ้า จนกระทั่งสามารถที่จะมีความเก่ง ความกล้า รู้เรื่องของวิญญาณ รู้เรื่องของกิเลส ตัณหา อุปาทาน มีหูทิพย์ ตาทิพย์ มันจึงจะละสังโยชน์ สังโยชน์ต้น สังโยชน์กลาง สังโยชน์ปลายได้ และ ทางปฏิบัติไปสู่ความบรรลุสังโยชน์ พ้นสังโยชน์อย่างนั้น ก็มรรคองค์ ๘ พระพุทธเจ้าก็ตอบชัดๆ ตรัสตอบตรงๆ ถ้าเราไม่เข้าใจมรรคองค์ ๘ เราไม่เข้าใจทิศทางที่ ถูกต้องแล้ว มันไม่ได้หมดกิเลสหรอก ที่อาตมาพาทำมาทุกวันนี้ พวกเรา เข้าใจมากขึ้นแล้วเห็นผล นี่เห็นผล อาตมาเห็นผล พวกเราลดละ ลาภ ยศ เห็นมาได้ชัดๆ นะ ลาภ ยศ พวกเรานี่ เห็น ถึงแม้ว่าจะเป็นการกดข่ม  หรือว่ายังไม่หมดอย่างเรียบร้อย สะอาดหมดจด บางคนยังเห็นแก่ได้ เห็นแก่ลาภ เห็นแก่โลภ ในส่วนนั้นส่วนนี้ ซึ่งเป็นวัตถุ เป็นสิ่งของ เป็นอะไรต่อ อะไรมาบ้างอยู่ ยังมีท่าที แม้เราจะไปทำ แล้วก็ไปขายอะไรพวกนี้ มันยังมีซ้อนเชิงอยู่ก็ตาม ตัวเราเอง เราไม่ แต่เราก็ไม่หวงแหน ไม่อยากได้มาให้แก่ตน แต่ก็ให้มา มาให้แก่หมู่พวกของข้าซะก่อน ทั้งๆที่หมู่พวก ก็ไม่ได้เดือดร้อนอะไรมากมาย เราก็ยังไม่กล้าเสียสละ อะไรอย่างนี้เป็นต้น มันก็ยังจะต้องพิจารณาซับซ้อน ลึกซึ้ง ที่จะต้องตรวจตราจริงๆ ยิ่งปฏิบัติไป พวกคุณจะเห็นว่า มรรคองค์ ๘ ที่ปฏิบัติ โดยมีตัวปฏิบัติ มีสังกัปปะ วาจา กัมมันตะ อาชีพ มันคืออะไร อย่างไรกันแน่ คุณจะปฏิบัติถูก ปฏิบัติมีมรรค มีผล ปฏิบัติธรรมอย่างพระพุทธเจ้าพาทำ ไม่ใช่ไปนั่งแต่หลับตา สะกดจิต หนีโลก ไม่เอาแล้วโลก อะไรต่ออะไร ไม่ใช่ นี่มันรู้โลก อยู่เหนือโลก มีพลังงาน มีความสามารถ มีการสร้างสรร เกื้อกูล เสียสละ ไม่โลภโมโทสัน ไม่เห็นแก่ตัวแก่ตนจริงๆ มันไม่ได้ลดค่า ของมนุษย์เลย มนุษย์ยังมีค่า ยังมีคุณภาพ ยังมีความสามารถ มีความรู้ ความเก่ง สร้างสรรให้แก่สังคมมนุษยชาติอยู่ทีเดียว แต่ไม่มาแย่งโลกเขา มีแต่ให้โลกเขา ให้แก่โลกเขาจริงๆ เราเองก็มีชีวิตที่อยู่ มีวงจรชีวิตที่มีหมู่มีกลุ่ม มีมิตรดี สหายดี สังคมสิ่งแวดล้อมดี มีสัปปายะ มีสถานที่อยู่ มีเสนาสนะสัปปายะ มีหมู่ฝูงที่อยู่เกื้อกูลกันอย่างดี เป็นสังคม บุคคลสัปปายะ มีอาหารสัปปายะ มีสิ่งอาศัย จะเป็นของกินของอาศัย เครื่องใช้ไม้สอย หรืออะไรก็แล้วแต่ อยู่อย่าง ไม่ขาดแคลน ไม่บกพร่อง ไม่ลำบาก เป็นไปอย่างหมุนเวียน พอเพียง อุดมสมบูรณ์ มีสัปปายะ มีธรรมะสัปปายะอีกด้วย อย่าว่าแต่มีเสนาสนะสัปปายะ บุคคลสัปปายะ อาหารสัปปายะ เท่านั้นเลย มีธรรมะสัปปายะ ที่ละเอียด สูงส่งขึ้นเรื่อยๆ ชีวิตเราอยู่ต่อไป ก็มีแต่พัฒนา เจริญงอกงาม มีบุญทั้งทางด้านวัตถุ มีบุญทั้งทางด้านปรมัตถ์ มีบุญทั้งสมมุติสัจจะ มีบุญทั้งทาง ปรมัตถ์สัจจะทีเดียว

คุณจะรู้ว่ามรรคองค์ ๘ นี่แหละ เป็นตัวพา ตัวเป็นตัวพาไป ปฏิบัติแล้ว ยังงั้น ยังงี้ลึกซึ้งขึ้นเรื่อยๆ แล้วเราก็สร้างงาน  เพราะฉะนั้น สังคมใด ที่สร้างงานขึ้นมาจนคนไม่พอทำงาน สังคมนั้น เจริญรุ่งเรือง แล้วก็ไม่ได้ หมายความว่า คนงานคือคนงาน คนอยู่ในระดับบนไม่ทำงาน เหมือนอย่าง ชาวตะวันออกกลาง ชาวตะวันออกกลางนี่ มันร่ำรวย เพราะมันขายน้ำมัน เสร็จแล้วไปเป็น ชนทุนนิยม ได้เงินได้ทองมามากมาย แล้วก็เลยกลายเป็นพวกทุนนิยม ศักดินา ไม่ทำงาน มีพ่อมีแม่ ปู่ย่าตายาย ก็กินอยู่ในเงินถุงเงินถังนั่นแหละ อะไรๆ ก็จ้างเอามาหมด อะไรๆก็ซื้อหมด เพราะมีเงินมาก จ้างคนงานเข้าไป คิดดูซิ นั่นเป็นตั้งเท่าไหร่ ขนาดคนงานจากประเทศไทย ประเทศเดียว ยังเป็นหมื่นเป็นแสนอยู่ในตะวันออกกลาง คิดดูซิ แล้วคนอีกประเทศอื่นๆอีกล่ะ จ้างคนไปเป็นคนงาน ไปเป็นคนทำ เพราะมีเงินจ้าง แล้วคนพวกนั้นไม่เป็นอะไร คนงานเอาออกมาหมดนะ พวกนั้นน่ะหงิก มีแต่เงิน กินเงินก็ไม่ได้ กินน้ำมันก็ไม่ได้ ตาย ตายนะ มันไม่ใช่ความเจริญที่ถูกต้อง ไม่มีความรู้ และไม่มีความสามารถ ไม่อึดไม่ทน เหยียบขี้ไก่ไม่ฝ่อ กลายเป็นศักดินา เป็นทุนนิยมไป อย่างนั้น ซึ่งมันไม่ถูกเรื่อง ศาสนาด้านโน้น จะเป็นอย่างไร ก็ตามแต่เถอะ เราก็ไม่ไปวิจารณ์ล่ะ ... เพราะฉะนั้น มันลึกซึ้งนะ สอดซ้อนลึกซึ้ง ศักดินาทุนนิยม ที่ไม่ใช่เรื่องตื้นเขิน เรื่องลึกซึ้ง ถ้าเรียนไม่รู้แล้วละลดไม่ได้หมด ไม่ได้หมด และเป็นวงจรที่จะ สมบูรณ์ไม่ได้ ผู้เจริญจริงๆ ไม่ยึดถือตัวตนนี่ โอ้โห ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ไม่ยึดถือตัวตน แล้วสามารถ ที่จะอ่อนน้อม ถ่อมตนได้ ใครจะข่ม จะเบ่งก็ได้ ไม่หลงใหลตัวเอง มันไม่ใช่เรื่องเล่นนะ

เพราะฉะนั้น ถึงครั้งถึงคราว จะใหญ่ก็ใหญ่เป็น จะเล็กก็เล็กได้ ได้จริงๆเลย โดยไม่ทุกข์ ไม่ทุกข์ไม่ร้อน ใหญ่ก็ได้ เล็กก็ได้ จริงๆเลย เพราะฉะนั้น ถ้าวงจรพวกเราสมบูรณ์  พวกเราก็ต่างไม่มีชั้น ไม่มีศักดิ์ ไม่มีศักดินา ไม่มีทุนนิยมอะไรกันอยู่แล้ว เกื้อกูลแบ่งกินแบ่งใช้กัน  โอ มันยิ่งกว่าประเทศใดๆไหนๆ สังคมไหนๆ อีก มีทุกอย่างที่ถูกต้องสัดส่วนหมด ผู้ที่เราเคารพ เชื่อถือในหัวคิดหัวอ่าน ในความบริสุทธิ์ ไม่เห็นแก่ตัว เราก็เชื่อถือกันได้อย่างเป็นเผด็จการได้เลย ผู้นั้นจะพูออะไร จะสั่งอะไร เป็นปราชญ์ เป็นผู้รู้ เป็นผู้ที่ไม่เอาเปรียบเอารัดจริงๆ เป็นผู้ที่ไม่ลำเอียง แล้วตัวเองก็ไม่บำเรอตนอะไรจริงๆด้วย เป็นผู้มักน้อย สันโดษจริงๆ เป็นพระอริยะชั้นสูง เราจะเคารพนับถือ เชื่อถือ ท่านจะสอน จะบอก จะสั่ง สั่งได้เหมือนเผด็จการเลย แล้วผู้ที่สามารถ ที่จะสั่งได้อย่างเผด็จการ ก็ละตัวตน ไม่มีตัวตนที่จะไปเบ่ง ซึ่งมันจะสอดคล้องกับความจริง ไม่ไป เบ่ง ไม่ไปเอาเปรียบเอารัดอะไรหรอก ไม่ได้ลำเอียงอะไรหรอก เพราะฉะนั้น จะสั่งก็สั่งจากปัญญา ที่ควรจะสั่ง อาจจะมีความรู้ที่ลึกซึ้งกว่าผู้ที่ได้รับคำสั่งจริงๆ เพราะฉะนั้นก็สั่งได้  คนที่รับคำสั่ง ก็เชื่อถือ และเป็นจริงด้วย อย่างนี้เป็นต้น ไม่ต้องคิด หรือจะคิดด้วยก็ได้ ไม่ต้องคิด มันก็พอรู้ คนเรา มันฉลาดเฉลียวอยู่ การสร้างความฉลาดปัญญาไว้ให้แก่ตนเอง มันก็จะเจริญขึ้นไป มันก็รู้ มันเป็นเรื่องที่ไม่ดี จะท้วงกันบ้าง ไม่ท้วงกันบ้าง เราก็วิเคราะห์วิจัยกัน ศึกษา หารือกันจริงๆ มันก็จะได้ความถูกต้องเสมอ เมื่อได้ความถูกต้อง จะทำอะไรมันก็ดีอยู่ตลอดเวลาแหละ ส่วนของกองกลาง จะกินจะอยู่จะใช้ เป็นคนประหยัด มัธยัสถ์ ไม่ฟุ่มเฟือย ไม่ฟุ้งเฟ้อ ไม่สุรุ่ยสุร่าย เล่นๆ หัวๆ ทิ้งๆ ขว้างๆ ทำลาย ผลาญๆ ไม่มี มันจะไปอดอยากอะไร มันมีแต่สร้างสรรขึ้นมา อุดม สมบูรณ์ แบ่งกินแบ่งใช้กันก็เหลือเฟือแล้ว ได้แจกจ่ายเกื้อกูลไปให้ที่อื่น ก็ออกไปกว้างไกลเข้าไปอีก เป็นบุญเป็นกุศลทั้งนั้น และแรงงานกับสถานที่ที่พรักพร้อม อุดมสมบูรณ์ มีอะไรมันพร้อมพรัก หมดเลย ที่โน่นที่นี่ อันโน้นอันนี้ เป็นวงจรที่สมบูรณ์ แผ่นดินที่จะเป็นเกษตร ก็มีแผ่นดินเกษตร ดินก็ดี ดินก็เจริญอยู่เรื่อยๆ แทนที่จะเป็นดินเสื่อม ก็เป็นดินดี น้ำก็เป็นน้ำดี ไม่เป็นน้ำเสื่อม มีแต่น้ำดีไม่มีมลพิษ แล้วเราก็ช่วยกันดูแลรักษา ทนุถนอมกันไว้ ให้มันเป็นสิ่งที่เราได้อาศัยอย่างดี ไม่ให้มันหมุนไปในทางเสื่อม มีแต่ทางเจริญ ดินก็เจริญ น้ำก็เจริญ อากาศอะไรก็เจริญ ไม่มีมลพิษ ไม่มีขยะ ไอ้ที่จะมาทำให้มันฉุดรั้งลงไปสู่ความตกต่ำ หรือความเสื่อมอะไรก็ดี เพราะคนรู้ เพราะคนเป็นผู้รู้ คนมีวัฒนธรรม ถ่ายทอดวัฒนธรรมไปให้แก่รุ่นลูกรุ่นหลาน รุ่นหลังต่อไป รู้จักรักษา รู้จักดูแล รู้จักขยันหมั่นเพียร สร้างสรร มีพลังงานเบาลงทุกที เพราะธรรมชาติมันช่วยเรา และวงจร ไอ้โน่นไอ้นี่ ที่มันจะเป็นเฟือง เป็นมุม เป็นกลไกอะไรต่ออะไร ก็สมบูรณ์ หมุนเวียนถูกต้อง ทั้งคน ทั้งองค์ประกอบ ไม่ว่าจะเป็นเครื่องมือเครื่องใช้ ไม่ว่าจะเป็นสถานที่ ที่มันจะก่อเกิดการพัฒนา เจริญงอกงามขึ้นมา โดยธรรมชาติก็ตาม หมุนเวียนกันอยู่ ได้สัดได้ส่วนอย่างจริง เรียกว่าประเทศ ตามภาษาของบาลีนี่นะ ปฏิรูปเทศ ประเทศนี่ ปฏิรูปเทสวาโส เป็นสถานที่ที่ควรอยู่จริงๆเลย เป็น สถานที่ที่ควรอยู่ เพราะมันมีวงจรอะไรสมบูรณ์ดีเรียบร้อย อยู่กันพรักพร้อมแล้ว คนที่อยู่ ก็มีความเข้าใจ มีปัญญารู้เลยว่า เราจะขยันอย่างไร รักษาอย่างไร แล้วก็อยู่รวมกันอย่างไร มีชีวิตประเสริฐอย่างไร มีอุฏฐานะสัมปทา ขยัน มีอารักขสัมปทา ในการดูแลรักษา ป้องกัน ช่วยเหลือเฟือฟาย ในองค์ประกอบต่างๆ ในสิ่งแวดล้อมต่างๆ ในทรัพยากรต่างๆ เท่าที่เรามี รู้จักการอยู่ร่วมกัน เป็นกัลยาณมิตตตา ทุกคนเป็นกัลยาณมิตร รู้จักการอยู่ร่วมกันอย่างญาติ อย่างพี่ อย่างน้องที่ดี ช่วยเหลือขัดเกลา ถ่ายทอดจารีตประเพณีวัฒนธรรม กายกรรม วจีกรรม มโนกรรม ได้รับความรู้ การสอน การเรียน ศึกษาฝึกฝนอบรมให้เป็นคนที่อยู่ในพฤติกรรมที่ดีหมดเลย ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรม พฤติกรรม พิธีกรรมอะไรก็ได้สัดได้ ส่วนที่ดี สังคมมนุษย์นั้นๆก็ดี มีชีวิตที่ดี เป็นสมชีวิตา เลี้ยงชีพไว้ชอบ มีวงจรของชีวิตที่เป็นไปด้วยดี และแถมในจิตวิญญาณของแต่ละคน ยังมีสัมปรายิกัตถประโยชน์ เมื่อกี้นี้ เป็นทิฏฐธัมมิกัตถประโยชน์ เป็นประโยชน์ปัจจุบัน เห็นทันที และแถมในจิตวิญญาณของแต่ละคน ก็มีสัมปรายิกัตถประโยชน์ คือ มีศีลสัมปทา มีศรัทธาสัมปทา มีศรัทธาสัมปทา ศีลสัมปทา จาคะสัมปทา ปัญญาสัมปทา ในจิตใจ รู้เชื่อมั่น มีความเชื่อ ที่เชื่อมั่นเลยนะ ไม่ใช่เชื่อฟัง หรือเชื่อ ไม่ใช่เชื่อถือ หรือ เชื่อฟังเท่านั้น มีความเชื่อหมด เชื่อครบ เป็นศรัทธินทรีย์ ศรัทธาพละ เข้าถึงพร้อมด้วยความเชื่อที่สมบูรณ์ เชื่อไม่ใช่เชื่ออย่างดายๆ เชื่ออย่างมีเหตุผล เชื่ออย่างมีปัญญา เชื่ออย่างอริยะ เป็นอริยทรัพย์นะ ศรัทธาสัมปทา นี่เป็น อริยทรัพย์ มีศีลสัมปทา เข้าถึงศีล ที่จริง ศีลที่เป็นเนื้อแท้ ศีลที่เป็นปกติ ศีลที่ได้ ปฏิบัติขัดเกลา กาย วาจา ใจ จิตเป็นอธิจิต ปัญญาเข้ามาสอดส่องเห็นความจริง ตามความเป็นจริงที่ถูกต้อง ไม่ใช่ศีล ที่เป็นหลักเกณฑ์อยู่ในตำราเท่านั้น ศีลนี้ รู้จัก ความหมาย เอามาประพฤติปฏิบัติ ถูกตัวถูกตน ถูกแต่ละบุคคลได้สัดส่วน ขัดเกลา กาย วาจา ใจ ศีลขัดเกลา กาย วาจา ใจ ขอยืนยัน มีคนมาบอกอาตมาว่า ได้พูดข้างนอก บอกว่าศีลนี่ขัดเกลาใจ ขัดเกลากาย วาจา กับใจด้วย  เขา เถียงคอเป็นเอ็นเลย  บอกไม่มี ไม่มีตำราเล่มไหนสอนในพระไตรปิฎก ไม่มีว่าศีล จะไปขัดเกลาใจ มีแต่ขัดเกลากายวาจาเท่านั้น สอนกันมานั่น อรรถกถาจารย์ พูดขัดเกลากาย วาจา เป็นเบื้องต้น ขัดเกลาถูกทิศถูกทางแล้ว กาย วาจานี่ อาตมาเคยอธิบายความให้ฟังว่า เราสังวรกาย สังวรวาจา ตามศีลที่เราตั้งนี่ เราต้องใช้ใจเรา เป็นตัวที่สังวรสำรวมรู้ แล้วมันจะค่อยๆขัดเกลากายวาจา ให้ชำนาญ ให้เป็นไปตามที่เราถือศีล ใจก็ได้รับการสำรวม และจะเกิดญาณปัญญาที่จะรู้ พิจารณาด้วยว่า มันดี ไม่ดี มันถูกต้อง ไม่ถูกต้อง มันได้พอเหมาะพอดี อะไรยังไงแล้วหรือ จริงๆ แล้วมันขัดเกลากิเลสออกไปหรือไม่ มันขัดเกลากิเลสออกไป ก็เป็นอธิจิต ขัดเกลานิวรณ์กิเลส ขัดเกลาออกไป อธิจิต นั่นเรียกว่า สมาธิ แล้วปัญญาก็เห็นสมาธิ หรือเห็นตัวอธิจิตจริงๆเลย จิตถูกขัดเกลา ศีลขัดเกลาจิตนี่ไป มาคนนั้นเขามายืน มาถามอาตมา บอกมีที่ไหน ในพระไตรปิฎก เอามายืนยันซิ อาตมาก็เลยบอกให้เอา กิมัตถิยสูตรไปซิ ไปยืนยันกับเขาสิ กิมัตถิยสูตร ที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า ศีลที่เป็นกุศล คือศีลที่ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ ปฏิบัติอย่างฉลาด กุศลแปลว่าฉลาด ศีลที่ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ ปฏิบัติลงตัว ปฏิบัติได้มรรคได้ผลจริงๆแล้ว ศีลที่เป็นกุศล จะทำให้ความเป็นอรหัตผลไปสู่ ความอรหัตผลโดยลำดับ เท่านี้แหละ ไปยืนยันกับเขาซิ ถึงใจมั๊ย ศีลถึงใจมั๊ย เพราะถ้าคุณแปลว่าศีลนั้นขัดเกลาได้แต่แค่กายวาจา คุณไม่ได้เป็นอรหันต์หรอก กายวาจาแค่นั้น ไม่ได้เป็นอรหันต์ อรหันต์ไม่ได้นับที่กายวาจา อรหันต์น่ะ นับที่ใจ ใจล้างกิเลสหมด

เพราะฉะนั้น ศีลต้องล้างกิเลส มันจึงจะเป็นอรหันต์โดยลำดับ ขัดเกลาแต่กายกับวาจา มันไม่ได้เป็นอรหันต์ได้หรอก นี่คือหลักฐานในพระไตรปิฎก กิมัตถิยสูตร เล่ม ๒๔ ข้อ ๒๐๘ ไปยืนยันกับเขาเลย ตั้งแต่ท่านอธิบายไว้ว่า  ศีลเป็นกุศล มันจะขัดเกลาอะไรได้ก่อน ขัดเกลาตั้งแต่ เรื่องอวิปฏิสาร ไล่ไปเรื่อยๆ จากอวิปฏิสาร ก็มีอะไร อาตมาก็จำไม่แม่น มีปีติ มีปราโมทย์ มีอะไรไป ไล่ไปจนกระทั่งถึงวิมุติญาณทัสสนะ โน่นแหละ ศีลทั้งนั้นแหละขัดเกลา แล้วจะเดิน ทางไปสู่ วิมุติญาณทัสสนะ เป็นอรหันต์หรืออรหัตผล นี่ เค้าเรียนมาฟั่นเฝือแล้ว สอนกันเพี้ยนออกไป จนกระทั่งเชื่อ อาตมาก็ได้ยินมาอย่างนั้น แต่ก่อนนี้เหมือนกันว่า ศีลนี่รักษาแต่กาย วาจา จะได้อธิจิต ต้องไปนั่งทำสมาธิ นั่นมันก็เลยตัดไปเลย ศีลก็ไปปฏิบัติไอ้แบบหนึ่ง ส่วนสมาธิก็ไปนั่งหลับตาเอา มันไม่สัมพันธ์กัน ปัญญาก็ไป นั่งท่องนั่งทวน นั่งพิจารณาวิเคราะห์วิจัยไปซิ ไปเล่นหมากฮอสเอา จะไปฝึกหัวสมอง ไปโน่นแน่ะปัญญา ให้มันเฉียบแหลม ให้มันฉลาดเฉลียว ไปนั่งคิดนั่งอ่าน อะไรต่ออะไรต่างๆนาๆ ดีไม่ดีเขาก็เล่นวิดีโอเกมส์นี่ ฉลาดอีกแน่ะ บ้าๆบอๆไปอย่างนั้นแหละ มันไม่เกี่ยวกันเลย มันไม่เกี่ยวกัน มันไม่สัมพันธ์กับศีล สมาธิ ปัญญาอย่างนี้เลย สมาธิ ปัญญาของพระพุทธเจ้านั่นคือ ปัญญารู้กิเลส รู้ความเจริญของชีวิตด้วย เฉลียวฉลาด อย่างสร้างสรร เป็นจริงๆด้วย แล้วสร้างสรรก็ไม่ใช่ เพื่อไปจะไปล่าลาภ ยศ สรรเสริญด้วย สร้างสรรไป ก็ไปหาอาชีพที่ดี อาชีพที่จะ ไปเป็นเสียสละ ไปเป็นผู้ที่ไม่หลงในลาภ ในยศ ในสรรเสริญ ในโลกียสุขด้วยซ้ำ นี่มันสอดซ้อนเข้าไป อย่างนั้น ๆ

เพราะฉะนั้น เราปฏิบัติแต่ละคน แต่ละฐานะนี่ ก็ดูศีลของตนของตน ดูฐานะของตนว่า เรายังมีศีล ในระดับไหน ที่จะขัดเกลา อันไหนที่มันยากเกินไป โอ๊ เรายังทำไม่ไหวหรอกขนาดนี้ ถ้าเราตั้งศีล ในตัวขนาดนี้ ตั้งตบะธรรมให้ขนาดนี้ เราไปไม่รอด เราก็เอาเท่าที่พอทำได้ แต่อาตมาย้ำทุกทีว่า การปฏิบัติธรรม ที่จะมีผลนั้น จะต้องตั้งตนอยู่บนความลำบาก อย่าไปตั้งศีลให้ตัวเอง ให้มันง่าย เกินไปนัก ง่ายดาย ง่ายดายมากๆ เดี๋ยวให้อยู่กับชรัส เฟื่องอารมณ์โน่น หรือไม่ก็ให้ไปอยู่ กับเบิร์ด สบายๆ แบบมิจฉาทิฏฐินั่น ง่ายดาย ง่ายดาย แบบชรัส ง่ายดายแบบนั้นน่ะ มันเป็นมักง่ายไป ต้องตั้งตนอยู่บนความลำบาก ศีลที่เราตั้งให้แก่ตน นี่จะต้องอยู่ในฐานะที่ต้องสังวรระวัง แล้วก็ลำบากหน่อยนะ ไม่ใช่มักง่าย ไม่ใช่ว่า โอ๊ย  ศีลอย่างนี้ สบายดี เบาดี ง่ายๆดี มันไม่มีผลพอ ที่อาตมาเอาสูตรที่ว่า ตั้งตนไว้ เทวทหสูตร  อันนี้อาตมาจำได้ อยู่ในเทวทหสูตร ซึ่งเขาไม่มาใช้แล้ว มัชฌิมา พอดีๆ ปานกลาง แหม อาตมาไปเจอที่ไหนก็บอก ผมมันลูกศิษย์พระพุทธเจ้า มัชฌิมาครับ เหล้าก็ต้องกินหน่อย บุหรี่ก็ต้องสูบบ้างตามเรื่อง อาตมาแล้วไม่อยากเถียงเล๊ย ไปเจอผู้จัดการ ที่เหมือง ที่ไปดูหิน เมื่อวานนี้ก็เหมือนกัน ผมมันลูกศิษย์พระพุทธเจ้าครับ ต้องเดินสายกลาง เหล้าผมก็กินเป็นกระสาย บุหรี่ผมก็ดูด ซึ่งเราเอง เราไม่มีปัญหา อาตมาเข้าใจเขา อาตมาไม่พูดอะไร อาตมาก็นั่งฟังเค้าไป ว่าไปก่อนไม่เป็นไร เพราะจะไปสอนยังไง ยังไม่ทันรู้เรื่องอะไรกัน เดี๋ยวไปหัก โค่นเขาทันที เราถ้อยทีก่อน เขาเข้าใจขนาดนั้น เราก็ต้องรู้ภูมิเขานะ เขาก็ดูท่าทีก็ค่อยๆเป็นไป ถ้าเขาเข้าใจ และศรัทธาเลื่อมใสเรา เราก็ค่อยๆบอก ให้มันตั้งตนอยู่บนความลำบาก มากขึ้นไปเรื่อยๆ ตามฐานะ ถ้าไม่เช่นนั้น สำคัญนะ ตั้งตนอยู่บนความลำบากเนี่ย  ต้องสำคัญ ถ้าไม่เข้าใจสภาวะแล้ว ประมาณไม่ถูกหรอก

คำว่า ตั้งตนอยู่บนความลำบากนี่ ภาษาบาลีของท่านก็คือทุกข์นั่นเอง ทุกขายะ อัตตานัง ก็คือตัวของเรา ทุกฺขายะ อตฺตานัง ปทหติ ตั้งลง หยั่งลงหรือตั้งใจไว้ เราเป็นคนตั้ง เราเป็นคนประมาณ แล้วก็เป็นคนตั้ง ตั้งใจ ตั้งเรื่องนี้ให้แก่ตนเอง แล้วก็ตนเอง ก็ต้องทำให้ได้ ขนาดนั้นแหละ มันจะอยู่ในสภาวะที่ทุกขายะ ก็ต้องอยู่ในภาวะที่ไม่มักง่าย ไม่สะดวกดายเกินไป ต้องอยู่ในภาวะที่ลำบาก ทุกขายะ ท่านถึงแปลเอาความว่าลำบาก ก็เป็นทุกข์นั่นแหละ ทุกขายะก็คือ เป็นทุกข์ มันก็ต้องเป็นทุกข์ แต่เรารู้นะว่าทุกข์อันนี้เป็นเนกขัมมะ เนกฺขมฺมสิตํ โทมนสฺสํ
โทมนัสก็คือทุกข์ แม้จะเป็นทุกข์ ก็ทุกข์อย่างกำลังตั้งใจ รู้ว่าเรากำลังจะละออก เครื่องมืออันนี้ ศีลอันนี้ หรือหลักเกณฑ์ตบะธรรมอันนี้ เราตั้งให้แก่ตนเอง เพื่อละหน่ายคลาย เพื่อออกจากกิเลส เนกขัมมะ เพราะฉะนั้น แม้มันจะทุกข์เป็นเนกขัมมะสิตะ โทมนัส เป็นทุกข์  แต่ทุกข์อย่างที่เราจะละ ออกจากกิเลสต่างๆ กำลังหาทางจะหลุดพ้น ขัดเกลาตนเองอยู่ เราก็รู้ความจริงว่า อ๋อ อย่างนี้ทุกข์ อย่างนี้ไม่ทุกข์ เนกขัมมะ ไม่ใช่ทุกข์เคหะสิตะ เคหสิตํ โทมนัสสํ ก็คือทุกข์อย่างคนโลกๆ ไม่รู้เรื่อง ทุกข์ไปก็ไม่รู้เรื่องเลยว่า เอ๊ ทุกข์อย่างนี้ มันทุกข์ทรมานตนเอง หรือว่าทุกข์ตัวเองตกต่ำเรื่อยๆ ไม่รู้เรื่อง จะเข้าใจแค่เคหะสิตะโทมนัส  กับ เนกขัมมะสิตะโทมนัส นี่ก็ต่าง นี่ก็ต้องเข้าใจ จริงๆนะ รู้เวทนา อันนี้เป็นเวทนา โทมนัส โสมนัสนี่ เป็นเวทนา เป็นความรู้สึกของตนเอง เออ มันเกิดในใจของเรา เกิดความรู้สึกทุกข์ ลำบาก แต่ทุกข์อันนี้เนี่ย ประกอบไปด้วยศีล ประกอบไปด้วย องค์ประกอบที่สังวรระวัง ได้สัดส่วนของเรา ไม่เกินไป ไม่น้อยไป อยู่ได้ขนาดที่กำลังดี กำลังทำได้ เราปฏิบัติขนาดนี้ กำลังขัดเกลาดี และพัฒนาเป็นกุศลส่งเสริม เราต้องประมาณของแต่ละคน ประมาณ เอาจริงๆ ประมาณให้ถูกต้อง และทำต้องตั้งตนไว้ในความลำบาก อย่าไปมักง่าย อย่าไปซูเอี๋ยตัวเองมากนัก เพราะฉะนั้น  การตั้งค่าของมัชฌิมาปฏิปทา ตั้งค่าของ ความพอเหมาะพอดี ความประมาณปานกลาง ความได้สมสัดสมส่วน ที่บอกว่า ไม่ตึงไป ไม่หย่อนไปเนี่ย ต้องประมาณเป็นจริงๆเลยนะ ถ้าไม่เข้าใจความหมายนี้ ก็ไปประมาณอย่าง ซูเอี๋ยตัวเอง ซูเอี๋ยกิเลส มันไม่มีการบอกตัวเอง ได้หรอก คนอื่นมาบอกเรา ไม่ถูกเท่าไหร่หรอก เราต้องบอกตัวเองได้ถูก ว่าเราจะต้องอยู่ในฐานะ ที่ตั้งตนอยู่บนความลำบาก ขนาดนี้นะ จึงไม่ใช่ เรื่องที่จะต้องไปทำมักง่าย ทำสบายๆอะไร ส่วนมากกิเลสมันก็จะมักสบายๆน่ะซิ พอสบายๆ มันก็ไม่ เจริญ สุขาอะไร? ยถาสุขํ โข เม วิหรโต บาลี อันนี้ ยะถาสุขัง แปลความทำตัวให้เป็นสุข ตามมีตามได้ ยถา ยถากรรมนี่ ตามมีตามได้  ยถาสุขัง ปล่อยตัวไปตามมีตามได้ แล้วเราก็เป็นสุข อยู่ในฐานะสุข ไม่ลำบาก เป็นกรรมง่ายๆ ไม่ลำบาก สะดวก ปล่อยตัวไปสบายๆ นี่แหละ ยถาสุขัง  โข เม วิหะระโต  เนี่ยๆ  อันนี้แหละ กุศลธรรมเสื่อม อกุศลธรรมเจริญยิ่ง งอกงาม ไพบูลย์ เอาไม๊ล่ะ ฟังภาษาดีๆนะ (พ่อท่านหัวเราะ) อกุศลธรรมเจริญ งอกงามไพบูลย์ ถ้าตั้งตนอยู่บนความลำบาก ทุกขายะ อัตตานัง ที่จริงไม่ใช่ทุกขายะ อัตตานัง ปะทะหะติ ทุกขายะ อัตตานัง อะไร?

อาตมาจำบาลีประโยคนี้ทั้งหมดในนั่นไม่ได้หมด มันผันไป หลายๆที หลายๆอย่าง อยู่เหมือนกัน อาตมาก็เลยจำรวมไว้ให้มันสั้นๆ ทุกขายะ อัตตานัง ปะทะหะติ แต่อาตมาจำไว้กะทัดรัด แล้วก็รวมๆ เท่านั้นเอง เพราะฉะนั้น จะเปรียบเทียบ แต่แค่ตั้งตน อยู่บนความลำบาก หรือตั้งตนอยู่บน ความสบาย ปล่อยตัวตามสบาย อันนี้ ต้องประมาณ และคนส่วนมากบอกว่า มัชฌิมาปฏิปทาของเขา ส่วนมากปล่อยตัวตามสบาย เป็น ยถาสุขัง โข เม วิหะระโต นั่นน่ะ กุศลธรรมเสื่อม อกุศลธรรมเจริญยิ่ง นี่เรื่องนี้สำคัญ เทวทหสูตรอันนี้ อาตมาคิดว่า คนเดี๋ยวนี้ ไม่เอาถ่านแล้ว แล้วก็หลงผิดในเรื่องมัชฌิมาปฏิปทา หลงผิดใน เรื่องประมาณปานกลาง ไม่ให้โต่งไป ไม่ให้โต่งมานี่ แล้วก็ไม่เข้าใจละเอียด ก็เลยประมาณการปฏิบัติการ ประพฤติให้แก่ตัวเอง อย่างมักง่าย หรือปล่อยตัวตามสบาย มันก็เลยอกุศลธรรมจะเสื่อมหมด เพราะฉะนั้น พวกเรานี่  เขามาว่าเราเคร่ง  เขามาว่าพวกเรานี่เคร่ง ดูซิมันนี่ โอ้โห อะไรต่างๆนาๆ  เขาว่าพวกเรา ที่จริงเราถูกแล้ว อาตมาว่าอาตมาดูแลอยู่ แล้วก็แนะนำดูอยู่ ถูกแล้ว เคร่งนี่แหละดี เคร่งนี่แหละ คือ ทุกขายะ อัตตานัง ปทหติ ตั้งตนอยู่บนความลำบากพอสมควร

เพราะฉะนั้น ถูกแล้ว เคร่งนี่แหละดี เคร่งนี่แหละคือทุกขายะ ทุกฺขาย อัตตานํ ปทหติ ตั้งตนอยู่บนความลำบากพอสมควร เพราะฉะนั้น แต่ละคนก็ซอยเอาเอง คนไหน ๆ บางคนไฟแรงเกินตัวก็มี ทำไปแล้วเข็ดก็มี ระวัง ทำไปแล้วมันเกินตัว แล้วเข็ด ไปลำบาก ทีหลังละก็  โอย  ทีนี้ล่ะ ลากขึ้นยาก เพราะฉะนั้น ให้มันตึงๆตัว ต้องเอาประมาณตน  อย่าไปกลัวน้อยหน้า บางคนแหละ กลัวศักดิ์ศรี แหม นี่เขาทำตบะของเขาแข็งนะ เราจะไปทำตบะอ่อนๆนี่ เสียหน้า ไม่ใหญ่เท่าเขา เราต้องตบะแข็งๆ เหมือนเขาบ้าง ทั้งๆที่ต้วเอง มันไม่ค่อยเข้าท่าอะไรเลย บางคนก็บอีก โอ๊ย เราไม่แข็งหรอก เราไม่แข็งแรงหรอก เราเอาแต่น้อยๆ อ่อนปวกเปียกอีก ต่ำกว่าควร มันน้อยไป ก็มีเหมือนกัน เพราะฉะนั้น เราต้องพิจารณาจริงๆเลย  ของใครของมัน  ต้องตั้งอกตั้งใจ รู้ว่าต้องตั้งตนอยู่ในความลำบากนี่  ต้องเข้าใจให้ชัดว่า  เออ มันจะต้องสังวรระวัง  ต้องลำบาก ไม่ใช่มันอยู่อย่างมักง่าย ไม่ใช่อยู่อย่างหร่อยๆ เรื่อยๆอะไร แล้วก็หลบๆ เลี่ยงๆอะไร ช้านานนะ เป็นธรรมะอันเนิ่นช้า เนิ่นช้าเพราะกิเลสมันไม่ถูกขัดเกลาออกหรอก ถ้าไม่ขัดเกลาออกแล้ว แถม กิเลสมันเพิ่มขึ้นด้วยล่ะ คุณก็ไม่ต้องไป ต้องพูดกันแหละ มันไม่เจริญหรอก อย่างนั้นมันก็ตกต่ำแน่ อย่างไรที่เรา เห็นผลของเราจริงๆ เลยว่า กิเลสของเราจะลดลงได้จริงๆ มันมีความเจริญ กาย วาจา ใจ หรือโลภ โกรธ หลงอะไรนี่ เราจับมั่นคั้นตายนะ เรียนรู้ถูกสภาวะ มันลดลงได้จริง เราต้องมี ตาทิพย์จริงๆ มีดวงตาที่จะรู้กิเลส ตัณหา อุปาทาน รู้ โลภ โกรธ หลง หรือว่ารู้กาม รู้พยาบาท ถีนมิทธะ อุทธัจจะ กุกกุจจะ วิจิกิจฉา อะไรอย่างนี้ จะรู้สภาวะของมันจริงๆ แล้วเราก็แต่ละวัน แต่ละเวลา สำรวม สังวรระวัง ทำงานทำการ มีชีวิตอยู่เป็นปกติ สร้างสรร มีการคิด การพูด การกระทำ การงาน การมีอาชีพประจำวัน ทำไปวันแล้ววันเล่า หมุนเวียนเป็นกิจวัตรที่ดี เราก็รู้สึกเองแหละว่า เออ... เราได้พัฒนา สร้างสรร มีประโยชน์ มีบุญ กิเลสก็ลดลง การงาน การสร้าง การสรรค์อะไร  ก็เจริญทั้งสองด้าน สร้างสรรก็เจริญ กิเลสก็ลดลงจริงๆ เสียสละได้ และก็อยู่ดี อุดมสมบูรณ์ มีคน เขาเข้าใจ เคารพนับถือศรัทธาขึ้นมาเองจริงๆเลย เพราะเราดี ไม่ใช่ไปเที่ยว ได้บอกให้เขามาศรัทธา ไม่ใช่ไปล่อหลอกให้เขามาศรัทธา เขามาศรัทธาเพราะ เขารู้เขาเห็น เขาแจ้ง ยิ่งอยู่ด้วยกันนานๆ ก็ยิ่งเห็นไส้เห็นพุงกัน โอ้ คนนี้ไส้ดี คนนี้ไส้กลวง ไส้เน่า มันจะรู้จริงๆ อยู่นานๆไป คนนี้ไส้เน่า เออ คนนี้ไส้สะอาด ไส้ดี รู้ในๆ ลึกๆ เข้าใจกันชัด แล้วเขาก็เคารพเอง เขาก็ศรัทธาเอง เขาก็ยอมเอง เขาก็ยกให้เอง คนไหนที่ไม่ดี เขาก็รู้เอง โอ้ ไอ้นี่มันหลอก ข้างนอกสุกใส  ข้างในเป็นโพลง ถ้าคนเราเข้าใจลักษณะสภาวะพวกนี้ดี เราไม่ต้องไป กลัวหรอก คนเราเขาจะมองเราว่า ข้างนอกของเราขรุขระ แต่ข้างในเราดี ก็ดีแล้ว ส่วนข้างนอก สวยพริ้งเลยนะ แหม แต่ข้างในไม่ได้เรื่องเลย เน่าใน อย่างนี้ มันจะไปเข้าท่าอะไร จริงๆนะ ดีที่สุด มันก็ดีทั้งนอก ดีทั้งในนั่นแหละ งามนอก งามใน สอดคล้องกัน

แต่สังคมทุกวันนี้ มันต้องถ่วงดุลย์ นี่อาตมาพูด เหมือนแก้ตัวให้ตัวเอง ข้างนอกนี้ มันต้องหยาบ เพราะเราต้องเป็นตัวอย่าง ที่ต้องหยาบก่อน แล้วเราก็ต้องแข็งแรงมั่นคง เราจะไปอนุโลม ไปเกลือกกลั้ว หรือไปกระทำในกรรมกิริยา ที่มันรู้สึกเหมือนหยาบ พูดก็ตาม กิริยากายก็ตาม ไปเกี่ยวข้องสัมผัส สัมพันธ์ก็ตาม มันจะหยาบไป เพราะว่าเราจำเป็นต้องนำพา ถือสากันด้วย เขาถือเขายึด เราก็จำเป็นจะต้องไปทำนำ จนกระทั่งเขาสามารถทำกันได้ เข้าใจกันได้ และมีฐานของคนที่ไม่หลอก คนหลอกก็หมายความว่า ตัวเองนี่ ยืดหยุ่นลงไปแล้ว ไปคลุกคลีเกี่ยวข้องับของหยาบ แต่ตัวเองก็ไปลิ้มเสีย ไปเสพย์ เสพย์หยาบอยู่ นี่ก็ระวัง

เพราะฉะนั้น ในการปฏิบัติเข้าไป อนุโลมลงไปหาฐานหยาบ ฐานต่ำ ฐานอะไรแล้ว เราจะต้อง สะอาดบริสุทธิ์เป็นอุเบกขา ปริสุทธา ปริโยทาตา มุทุ กัมมัญญา คือบริสุทธิ์ แม้เข้าไปเกี่ยวข้อง เกี่ยวข้องสัมผัสแตะต้อง เกลือกกลั้วอยู่ เราก็อย่างน้อยสู้ได้ แม้มันจะต้องยังไม่สะอาดจริงก็ตาม แต่เราก็กำไร สู้ไม่ให้มันมากินตัวเรา ไม่ให้มันมาเป็นกิเลสเสริมหนุน แต่เรารู้ตัว และเราก็ได้สู้ กับกิเลส ฆ่ากิเลสลงไป ชนะ ยิ่งคุณลอยลำเลย เป็นปริโยทาตา เป็นตัวที่สัมผัสแตะต้องอยู่ ก็สะอาดอยู่อย่างนั้นแหละ เหมือนน้ำกับใบบอน มันไม่ดูด ไม่ซึมอะไรกันเลย เหมือนเดินอยู่ในที่ว่าง จะเข้าไปคลุกคลีเกี่ยวข้องกับภูเขาหิน มันแข็ง มันหนา มันหยาบ มันกระด้าง ยังไงก็ทำอะไรเรา ไม่ได้เลย  เราเดินเหมือนเดินอยู่ในที่ว่าง ไม่ดูด ไม่ซึมกัน เหมือนน้ำกับใบบอน จึงเรียกปริโยทาตา เสร็จแล้ว เราก็มุทุ  ยืดหยุ่นได้ ปรับปรุงได้ ปรับแปรได้ ไม่ใช่ว่า แปรปรวนนะ ปรับ คือ หมายความว่า เป็นผู้ที่ยืดหยุ่น ที่ทำอะไรกับสังคม กับการงาน กับสิ่งเกี่ยวข้องได้อย่างดี เป็นมุทุ กัมมัญญา

เพราะฉะนั้น เราจะทำการงานอะไรกับใคร อยู่ที่ไหน งานอะไร ก็สละสลวย เหมาะควร การงานนั้น ดีทั้งนั้น และตัวเราเองก็ปภัสสร ปภัสสราอยู่ จิตว่างโปร่ง ไม่ลำบาก ไม่ลำบากใจ กายนี่จะเกี่ยวข้อง กายจะอยู่ตรงไหน อย่างไร กับใคร จะไปอยู่ในนรก นรกก็ไม่สามารถที่จะเอาเราลงไปอยู่กับนรกได้ ติดนรกได้ ไม่ติดไปอยู่ในต่ำ ในคลุกคลีเน่าเหม็นอย่างไร สิ่งเหล่านั้น ก็ไม่ดูด ไม่ซึมเรา ตั้งมั่น แข็งแรง บริสุทธิ์สะอาดอยู่ได้จริงๆ ปภัสสร รุ่งเรือง วาววาม อยู่ เหมือนเพชรแท้ ไปอยู่ในตม ไปอยู่ในโคลน ไปอยู่ในขี้ ในของเหม็น ของเน่า อะไรก็ได้ทั้งนั้น มันก็เป็นเพชรอยู่วันยังค่ำ ไม่เปลี่ยนแปลง แข็งแรงอย่างนั้น นี่ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ภาษาพูดฟังไป เข้าใจได้ง่ายอยู่ แต่ทำต้องมี สภาวะที่จริงรองรับ จึงจะเป็นประโยชน์ตน ประโยชน์ท่านอย่างสมบูรณ์ ช่วยเหลือโลกมนุษย์ ช่วยเหลือมนุษยชาติอื่นได้ ทุกวันนี้ แม้ตัวก็ยังเอาไม่รอดกัน อย่างอาตมามองเห็น ที่เขาอยู่ในวงการ ศาสนา อะไรนี่ ตัวเองเอาไม่รอด ทุกข์อยู่อย่างนั้นแหละ วุ่นอยู่ ปนเปอยู่กับลาภ ยศ สรรเสริญ โลกียสุข แม้แต่เป็นพระ เป็นเจ้าอะไรก็ตาม ดูแล้วก็  โอ๊ ไม่พยายามลดละว่างเว้นออก ซึ่งไม่ใช่ใส่ความนะ ที่อาตมาพูดนี่ไม่ระบุ ไม่ได้ระบุใครนะ อย่ามาหาว่าอาตมาไปว่าคนนั้นคนนี้ ไม่ได้นะ ใครไม่เป็นอย่าร้อนตัว ใครไม่ได้เป็นอย่างที่อาตมาว่าอย่าร้อนตัว แต่ใครเป็น ฟัง ฟัง อย่าหาว่าด่า มันโดนเข้าแล้ว ตัวเราไม่ดี ตัวเราชั่ว ตัวเราผิดจริง  ต้องรับฟังให้ดี อย่ามานั่งทำชั่วอยู่ซี ไปทำบาป ทำกรรมอยู่ทำไม แบบนี้ซุกซ่อนเป็นภัย ไม่ดี

เพราะฉะนั้น สมัยนี้ มันซ้อนเชิงอย่างนี้แหละ ในวงการศาสนาก็ตาม ไม่ต้องไปพูดเลย ในวงการ สังคมมนุษยชาติ ที่ได้ช่อง ได้ทางหากินกัน โอ ได้อำนาจ ได้ยศ นี่ฉันมาจะบริหารเงิน ในจำนวน พันล้าน หมื่นล้านขึ้นมา มีโครงการนั่น โครงการนี่ ฉันก็อยู่ที่นี่ แค่เซ็นหนังสืออย่างเดียว แล้วหลับตา ไม่ต้องห่วงทุกอย่าง เขาเซฟเอง บัญชีอยู่เฉยๆ ไม่รู้มีอะไรไปเข้าบัญชีเองก็ได้ ไม่ต้องพูดเลย ประเภทนี้ รู้กันหมด สมัยนี้ ระบบมันครบครัน เหมือนเราไม่ได้ทำ เซ็นชื่อไปก็แล้วกัน อยู่ดีๆ บัญชีมันก็เพิ่มเอง ก็ใครเอาไปยัดใส่บัญชีก็ได้ใช่ไหม มันจะมีปัญหาอะไรอย่างนี้ เป็นต้น หรือไม่บัญชี วิธีนั้น วิธีนี้อะไรมากมาย เขาทำยิ่งกว่านี้ อาตมาไม่เคยทำ อาจจะไม่รู้ซึ้งเท่า ด้วยซ้ำไป เขาทำยิ่งกว่านี้ก็ได้ อาตมาอาจจะไม่เก่ง เพราะอาตมาไม่เคยทำ เท่าที่ได้ยิน ได้ฟังมาก็เท่านั้น ตัวเองไม่เคยทำ ซึ่งมันมีช่องทาง ยิ่งเขาถือว่า อย่างนี้ไม่ได้โกง เขาให้เอง ด้วยเสน่ห์หา ให้ไปบอกว่า ทางกฎหมายเขาให้ด้วยเสน่ห์หา ไม่ได้โกง เขาให้เอง สินบน มันก็เป็นสินบน หรือมันก็เป็นค่าจ้าง ด้วยวิธีการ เท่านั้นเอง แล้วเงินเหล่านี้ เป็นไง คนเอามาให้ เขาก็ต้องไปขูดรีดกับประชาชน ก็ไป มันก็ไม่ครบ ทุนรอนมันก็ไม่ครบ ไอ้นี่ ก็เรื่องเป็นกันทั่วบ้านทั่วเมือง เยอะแยะ ไม่ต้องไปอธิบายมาก เสียดาย แต่อยู่ในวงการของสมณะ ลูกของพระพุทธเจ้าแท้ๆนี่ซี แล้วก็มีอะไรพวกนี้ เรื่อง ลาภ  ยศ สรรเสริญ เขาก็ไม่รู้ตัวนะ ลาภ ยศ สรรเสริญเฟื่องฟู หรูหรา ฟู่ฟ่า เขาไม่รู้ตัว เราเอานี่นะ เราก็สร้าง ไม่ใช่เราไม่สร้าง เราก็สร้าง อย่างอาตมาพาสร้าง เห็นไหม ศาลานี่ก็ไม่เล็กนะ สร้างศาลา สร้างโบสถ์ โบสถ์อาตมาใช้โบสถ์ ก็ใช้งานการเท่านั้น ก็ไม่ต้องไปทำแข่งใคร โบสถ์ทำเพื่อ สถานที่จะทำ สังฆกรรม เราก็มี แต่เราไม่ได้ไปแข่งใครหรอก ศาลานี่ก็พวกเรา ช่วยกันเช็ด ช่วยกันถู ช่วยกันใช้ ให้มันเป็นประโยชน์ ก็คุ้ม เป็นประโยชน์คุ้ม ศาลาจะกว้างขึ้น ก็เพราะว่า มีคนมามากขึ้น ถ้าคนไม่มาก ศาลาก็เล็กอยู่ก็ไม่เป็นไร มีมากขึ้น ก็ขยายศาลาขึ้นก็ทำ ไอ้โน่นไอ้นี่ล่ะ ทำไมต้องทำ ศาลางาน ทำไมจะต้องทำศาลาช่าง ก็ทำขึ้นมา ส่วนกุฏิล่ะ อุ๊ย พอแล้ว  กุฏิอาตมาก็สบายแล้ว แค่นี้ เหลือใช้ เหลือนอน เหลือพักแล้ว ไม่ต้องไปทำกุฏิเราใหญ่หรูหราฟู่ฟ่า โอ อะไรต่ออะไร ไม่ต้อง ส่วนที่จะใช้เป็นของส่วนกลาง เป็นของที่จะเป็นประโยชน์เกื้อกูล สร้างสรรไปสู่ผู้อื่นอีก มันอาจจะใหญ่ อาจจะโต อาจจะมี ไอ้โน่นไอ้นี่ เพิ่มเติมขึ้น มันไม่มีปัญหานี่ ไม่ได้ทำเพื่อตัวเพื่อตน แต่ตัวตนล่ะ อาศัยก็แค่นั้นก็พอ แค่นี้ก็พอ ก็ทำไปนี่ มันมีของจริง มันมีลักษณะต่างๆนานา ลึกซึ้งอยู่อย่างนี้

เพราะฉะนั้น ถ้าใครเรียนรู้ แล้วก็รู้ความจริงอะไรต่ออะไรต่างๆนานา พวกนี้ เราก็จะทำความจริง อันนั้นปรากฏ มีปรากฏ นี่เกิดขึ้น อาตมาว่า ต่อไปในอนาคต มันคงจะต้องได้แข่งขันกันบ้างหรอกนะ ได้ประกวดกันมั่ง ที่จริงก็คือ เปรียบเทียบ มันเปรียบเทียบ เราไม่ได้ไปประกวดไปแข่งขันหรอก แต่มันจะเกิด การเปรียบเทียบ เปรียบเทียบว่าอะไรนี่ มันถูกต้องตามสัจจะกว่ากัน วัดจะต้องมี อะไรบ้าง ห่างจากวัดไปเนี่ย สมณะหรือพระนี่จะช่วยดูแล จะช่วยแนะนำ จะช่วยบอกกล่าวให้สร้าง ให้สรรค์ได้มั้ย ไม่ใช่ว่า พระก็คือพูดแต่ในวัด สอนกันแต่ในวัด  แนะนำได้แต่ในวัด นอกวัดไม่เกี่ยว ไม่จริงน่ะ พระหรือสมณะ ก็รู้เหมือนกัน รู้วงจรของเศรษฐศาสตร์ รู้วงจรของพาณิชศาสตร์ รู้วงจรของอะไรต่ออะไรนี่ พอเหมือนกัน แนะนำได้ ท่านไม่ทำเอง ก็แล้วแต่ท่านแนะนำให้ความรู้ ให้สัดส่วนที่สมดุลย์ ที่เจริญงอกงามอะไรได้ ทำยังไงมันจะเจริญ อย่างพระพุทธเจ้า นี่เห็นไม๊ ที่เราเรียนมาในกูฏทันตสูตร เล่ม ๙ ข้อ ๑๙๙ สูตรที่บูชายัญ พระพุทธเจ้าสอนนี่ ทำยังไงเป็นพระเจ้าแผ่นดิน เป็นเจ้าเป็นนาย เป็นพราหมณ์มหาศาล จะทำยัญพิธี คือ จะต้องเกื้อกูลยังไง จะแจกจ่ายยังไง พ่อค้าพ่อขาย อำมาตย์ราชการ คฤหบดี เราจะช่วยเขาอย่างไร คนโน้นคนนี้ จะเกื้อกูลกันอย่างไร ท่านก็บอกวิธี ทำอย่างนั้น ๆ มันถึงจะเจริญ ค้าขายอย่างนี้ ถึงจะเจริญ ก่อสร้างอย่างนี้ถึงจะเจริญ ปลูกพืชผักอะไรอย่างนี้ถึงจะเจริญ ปกครองดูแลอย่างนี้ถึงจะเจริญ ท่านก็รู้ รู้ทั่ว บอกได้ทั่ว เราก็เหมือน เป็นลูกพระพุทธเจ้า เราก็รู้เหมือนอย่างพระพุทธเจ้าท่าน รู้ให้ได้มากเท่าไหร่ยิ่งดี ให้รู้ไปเท่าพระพุทธเจ้านั่นได้ยิ่งดี ยังไม่เท่าก็ศึกษาไป รู้ความจริงเหล่านี้ให้ได้ เพื่อจะได้แนะนำ คนอื่น ท่านไม่ได้แนะนำเพื่อตัวท่านเอง ท่านแนะนำเพื่อสังคม เพื่อผู้ที่ได้รับทุกข์ จะได้รับการปลดทุกข์ ส่วนผู้เอาเปรียบ ไปเสพย์สุข โลกียสุขนั้นน่ะ มันบาป ลดลงไปแล้ว ก็จนกระทั่ง ไม่มีโลกีย์ ไม่ติดในโลกียสุข และก็ไม่ติด ไม่มีทุกข์ โลกียทุกข์ก็ไม่มี โลกียทุกข์ โลกียสุขอะไร ก็ไม่มี กลางว่างลงไป จนถึงสมดุลย์ สมบูรณ์ขนาดนั้นแหละ เพราะฉะนั้น ก็พัฒนาขึ้นไป แล้วก็จะเป็นประโยชน์ตน ประโยชน์ท่าน ประโยชน์ตน ตรงเราหมดกิเลส แล้วเราก็สบาย

เราทำงาน ก็ทำงาน แล้วเราก็รู้ว่ามันเมื่อย มันทุกข์ มันเป็นทุกข์ของสภาวะ ทุกข์เพราะเราสร้างสรร ทุกข์เพราะเราต้องยก ต้องแบก ต้องหาม ต้องทำ ต้องอะไร ขวนขวายอะไร มันเป็นเรื่องธรรมดา เราไม่ได้ทำเพื่อ ลาภ ยศ สรรเสริญ โลกียสุข มาหลงระเริงอะไร เราทำแล้ว มันก็สร้างสรร มันก็เป็นประโยชน์ เป็นบุญ เป็นบุญของเรา เป็นกุศลของเรา  แล้วเราก็ไม่ต้องไปติดไปยึด ในบุญกุศล เพราะมันเป็นจริง มันก็มีจริง เกิดมามันก็ตามของเรามาเอง เป็นทรัพย์ เป็นอริยทรัพย์ มากๆ ก็เป็นขุมทรัพย์ เป็นขุมทรัพย์ของเรา ติดตัวเรามาเอง เอาละ พอ


ถอดโดย ศิริวัฒนา เสรีรัชต์ ๒๗ ตุลาคม ๒๕๓๓
ตรวจทาน ๑ โดย สินีนาถ ทองนาเมือง ๑๕ พฤศจิกายน ๒๕๓๓
พิมพ์โดย สม. นัยนา
ตรวจทาน ๒ โดย พรรณี ทรงเลิศเมธา ๒๔ พฤศจิกายน ๒๕๓๓
๑๑๕๕.TAP


๑. กิมัตถิยสูตร

[๒๐๘] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้ สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อาราม ของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ใกล้พระนครสาวัตถี ครั้งนั้นแล ท่านพระอานนท์เข้าไป เฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาค นั่ง ณ ที่ควรส่วน ข้างหนึ่ง ครั้นแล้ว ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ศีลที่เป็นกุศลมีอะไรเป็นผล มีอะไรเป็น อานิสงส์ พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ดูกรอานนท์ ศีลที่เป็นกุศล มีความไม่เดือดร้อน เป็นผล มีความไม่เดือดร้อนเป็นอานิสงส์ ฯ

อา. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ความไม่เดือดร้อนมีอะไรเป็นผล มีอะไร เป็นอานิสงส์ ฯ

พ. ดูกรอานนท์ ก็ความไม่เดือดร้อนมีความปราโมทย์เป็นผล มีความปราโมทย์เป็นอานิสงส์ ฯ

อา. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็ความปราโมทย์มีอะไรเป็นผล มีอะไรเป็นอานิสงส์ ฯ

พ. ดูกรอานนท์ ความปราโมทย์มีปีติเป็นผล มีปีติเป็นอานิสงส์

อา. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็ปีติมีอะไรเป็นผล มีอะไรเป็นอานิสงส์ ฯ

พ. ดูกรอานนท์ ปีติมีปัสสัทธิเป็นผล มีปัสสัทธิเป็นอานิสงส์ ฯ

อา. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็ปัสสัทธิมีอะไรเป็นผล มีอะไรเป็นอานิสงส์

พ. ดูกรอานนท์ ปัสสัทธิมีสุขเป็นผล มีสุขเป็นอานิสงส์ ฯ

อา. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็สุขมีอะไรเป็นผล มีอะไรเป็นอานิสงส์ ฯ

พ. ดูกรอานนท์ สุขมีสมาธิเป็นผล มีสมาธิเป็นอานิสงส์ ฯ

อา. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็สมาธิมีอะไรเป็นผล มีอะไรเป็นอานิสงส์ ฯ

พ. ดูกรอานนท์ สมาธิมียถาภูตญาณทัสนะเป็นผล มียถาภูตญาณทัสนะเป็นอานิสงส์ ฯ

อา. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็ยถาภูตญาณทัสนะมีอะไรเป็นผล มีอะไรเป็นอานิสงส์ ฯ

พ. ดูกรอานนท์ ยถาภูตญาณทัสนะมีนิพพิทาเป็นผล มีนิพพิทาเป็นอานิสงส์ ฯ

อา. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็นิพพิทามีอะไรเป็นผล มีอะไรเป็นอานิสงส์ ฯ

พ. ดูกรอานนท์ นิพพิทามีวิราคะเป็นผล มีวิราคะเป็นอานิสงส์ ฯ

อา. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็วิราคะมีอะไรเป็นผล มีอะไรเป็นอานิสงส์ ฯ

พ. ดูกรอานนท์ วิราคะมีวิมุตติญาณทัสนะเป็นผล มีวิมุตติญาณทัสนะเป็นอานิสงส์

ดูกรอานนท์ ศีลที่เป็นกุศลมีความไม่เดือดร้อนเป็นผล มีความไม่เดือดร้อนเป็นอานิสงส์ ความไม่เดือดร้อน มีความปราโมทย์เป็นผล มีความปราโมทย์ เป็นอานิสงส์ ความปราโมทย์ มีปีติเป็นผล มีปีติเป็นอานิสงส์ ปีติมีปัสสัทธิเป็นผล มีปัสสัทธิเป็นอานิสงส์ ปัสสัทธิมีสุขเป็นผล มีสุขเป็นอานิสงส์ สุขมีสมาธิเป็นผล มีสมาธิเป็นอานิสงส์ สมาธิมียถาภูตญาณทัสนะเป็นผล มียถาภูตญาณทัสนะเป็น อานิสงส์ ยถาภูตญาณทัสนะมีนิพพิทาเป็นผล มีนิพพิทาเป็นอานิสงส์ นิพพิทามี วิราคะเป็นผล มีวิราคะเป็นอานิสงส์ วิราคะมีวิมุตติญาณทัสนะเป็นผล มีวิมุตติ ญาณทัสนะเป็นอานิสงส์ด้วยประการดังนี้แล ดูกรอานนท์ ศีลที่เป็นกุศลย่อม ยังความเป็น พระอรหันต์ ให้บริบูรณ์โดยลำดับ ด้วยประการดังนี้แล ฯ

จบสูตรที่ ๑ (พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๔)


[๑๕] ปุน จปรํ ภิกฺขเว ภิกฺขุ อิติ ปฏิสฺจิกฺขติ ยถาสุขํ
โข เม วิหรโต อกุสลา ธมฺมา อภิวฑฺฒนฺติ กุสลา ธมฺมา
ปริหายนฺติ ทุกฺขาย ปน เม อตฺตานํ ปทหโต อกุสลา ธมฺมา
ปริหายนฺติ กุสลา ธมฺมา อภิวฑฺฒนฺติ ยนฺนูนาหํ ทุกฺขาย อตฺตานํ
ปทเหยฺยนฺติ ฯ โส ทุกฺขาย อตฺตานํ ปทหติ ตสฺส ทุกฺขาย
อตฺตานํ ปทหโต อกุสลา ธมฺมา ปริหายนฺติ กุสลา ธมฺมา
อภิวฑฺฒนฺติ ฯ โส น อปเรน สมเยน ทุกฺขาย อตฺตานํ ปทหติ
ตํ กิสฺส เหตุ ยสฺส หิ โส ภิกฺขเว ภิกฺขุ อตฺถาย ทุกฺขาย
อตฺตานํ ปทเหยฺย สฺวาสฺส อตฺโถ อภินิปฺผนฺโน โหติ ตสฺมา
น อปเรน สมเยน ทุกฺขาย อตฺตานํ ปทหติ ฯ เสยฺยถาปิ ภิกฺขเว
อุสุกาโร เตชนํ ทฺวีสุ อลาเตสุ อาตาเปติ ปริตาเปติ อุชุํ กโรติ
กมฺมนิยํ ฯ ยโต โข ภิกฺขเว อุสุการสฺส เตชนํ ทฺวีสุ อลาเตสุ
อาตาปิตํ โหติ ปริตาปิตํ อุชุกตํ กมฺมนิยํ น โส ตํ อปเรน
สมเยน อุสุกาโร เตชนํ ทฺวีสุ อลาเตสุ อาตาเปติ ปริตาเปติ
อุชุํ กโรติ กมฺมนิยํ ตํ กิสฺส เหตุ ยสฺส หิ โส ภิกฺขเว
อตฺถาย อุสุกาโร เตชนํ ทฺวีสุ อลาเตสุ อาตาเปยฺย ปริตาเปยฺย
อุชุํ กเรยฺย กมฺมนิยํ สฺวาสฺส อตฺโถ อภินิปฺผนฺโน โหติ ตสฺมา
น อปเรน สมเยน อุสุกาโร เตชนํ ทฺวีสุ อลาเตสุ อาตาเปติ
ปริตาเปติ อุชุํ กโรติ กมฺมนิยํ เอวเมว โข ภิกฺขเว ภิกฺขุ
อิติ ปฏิสฺจิกฺขติ ยถาสุขํ โข เม วิหรโต อกุสลา ธมฺมา
อภิวฑฺฒนฺติ กุสลา ธมฺมา ปริหายนฺติ ทุกฺขาย ปน เม อตฺตานํ
ปทหโต อกุสลา ธมฺมา ปริหายนฺติ กุสลา ธมฺมา อภิวฑฺฒนฺติ
ยนฺนูนาหํ ทุกฺขาย อตฺตานํ ปทเหยฺยนฺติ ฯ โส ทุกฺขาย อตฺตานํ
ปทหติ ตสฺส ทุกฺขาย อตฺตานํ ปทหโต อกุสลา ธมฺมา ปริหายนฺติ
กุสลา ธมฺมา อภิวฑฺฒนฺติ ฯ โส น อปเรน สมเยน ทุกฺขาย
อตฺตานํ ปทหติ ตํ กิสฺส เหตุ ยสฺส หิ โส ภิกฺขเว ภิกฺขุ
อตฺถาย ทุกฺขาย อตฺตานํ ปทเหยฺย สฺวาสฺส อตฺโถ อภินิปฺผนฺโน
โหติ ตสฺมา น อปเรน สมเยน ทุกฺขาย อตฺตานํ ปทหตีติ ฯ
เอวมฺปิ ภิกฺขเว สผโล อุปกฺกโม โหติ สผลํ ปธานํ ฯ

(พระไตรปิฎกบาลี เล่มที่ ๑๔ ข้อ ๑๕)