![]() |
![]() |
"ยิ่งให้ไป ยิ่งจะได้มา" |
เป็นเรื่องยากยิ่งทีเดียว ที่จะให้ใครเห็น เช่นที่ข้าพเจ้าตั้งชื่อหัวข้อนี้ เพราะด้วยความเป็นมนุษย์ ด้วยความเป็นคนผู้พอกเอาความเห็นแก่ตัว ผู้พอกเอาความหวง ความอยากได้ไว้ให้แก่ตัว เป็นคุณสมบัติอันเหนียวแน่น จึงทำให้มองไม่ออก คิดไม่เห็นได้เลยว่า ถ้าเรายิ่ง "หวง" ไว้ ยึดไว้ให้แก่ตน เราจะไม่ได้อะไรมาอีก แต่ถ้าเรา "ยิ่งให้ไป" มีเท่าใดเราก็ให้ไปๆๆ นั่นแหละ เราจะเป็นผู้ได้มา มากขึ้นๆ
จะมีใครสักคนบ้างไหม? ที่เห็นจริงตามที่ข้าพเจ้ากล่าวนั้น "ยิ่งให้ไป ยิ่งจะได้มา" ข้าพเจ้าเชื่อว่า ต้องมีผู้ เห็นได้แน่ๆ แม้อาจจะน้อยคนก็ตามว่า ที่ข้าพเจ้าพูดนั้นเป็นความจริง ไม่ใช่พูดเล่น เพียงเอาภาษา หรือคำพูด มาเรียบเรียงเล่นคารม แต่โดยความเป็นจริงแล้ว จะปฏิบัติจริง ให้เห็นให้แจ้งไม่ได้อย่างนั้น ไม่ใช่เช่นกล่าวนั้น ข้าพเจ้าขอยืนยันว่า นั่นเป็นความแท้จริง และการ "ให้" ในที่นี้ ก็คือการให้ไปจริงๆ คือไม่เอาไว้ เป็นของตนนั่นแหละ และไม่ว่าอะไรทั้งสิ้นด้วย ทุกอย่างตั้งแต่ ของที่เป็นชิ้นเป็นอัน จับต้องได้ อันนับเนื่องเป็นทรัพย์สินเงินทอง เข้าของ สมบัติมหาสมบัติ ไปจนสิ่งที่เล็กละเอียด ที่จับต้องไม่ได้ แม้เป็นการให้ความรัก ความชัง ความโกรธ ความเมตตา อันใดก็ดี ถ้าเรายิ่งให้ไป ยิ่งจะได้มา นั่นคือ กฎแห่งความแท้จริง อันเที่ยงแท้
แต่จะมีใครกล้าไหม ในขณะนี้ เรามีทรัพย์สินเงินทอง ข้าวของ หรือสมบัติอันใดอยู่ เราก็เริ่มลงมือ "ให้" เขาไป หรือแจกหรือจ่าย หรือพูดเป็นภาษาสวยๆ ก็ว่าบริจาค หรือทานนั่นเอง ให้เขาไปให้หมดเสียเดี๋ยวนี้ ทันที ไม่เอาอะไรไว้เลย มีไหมเอ่ย? คนที่จะกล้าทำดังนี้ และในการแจกจ่ายหรือให้ไปนั้น จะต้องให้โดยจริง โดยบริสุทธิ์ใจด้วย คือให้โดยอย่าหวังผลตอบแทน อย่างที่สมกับคำว่า "ให้" อันหมายความว่า มอบไปแก่ผู้อื่น เสียไปจากตน ตรงกันข้ามกับโลภเอามา
ข้าพเจ้าคิดว่า จะมีโดยแท้โดยจริงนั้น ก็คงจะเป็น พระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพียงพระองค์เดียว เท่านั้นกระมัง ที่กระทำทันที และ ตัดสินพระทัยของพระองค์ได้ทันที โดยมิได้พะวงหน้าพะวงหลังเลย เมื่อจะ "ละ" หรือ จะไม่เอาแล้ว ก็ละทันที ทิ้งไปทันที ทิ้งไว้ให้ใครก็ตาม ไม่เอาอีกแล้วทั้งสิ้นทั้งปวง "ให้" อย่างสะอาดบริสุทธิ์ ไม่เกี่ยวไม่ข้อง ด้วยประการทั้งปวง ตั้งแต่มหาราชสมบัติ ตำแหน่ง ยศชั้นบรมกษัตริย์ ไปจนกระทั่ง ความพรั่งพร้อม อันมนุษย์ต้องการทั้งปวง คือ รูป-รส-กลิ่น-เสียง-สัมผัส ที่พระเจ้าสุทโธทนะ พระราชบิดา ได้พยายามเหลือเกิน ที่จะสรรค์ และหามาบำรุงบำเรอ ให้แก่พระองค์ จนล้นฟ้าล้นแผ่นดิน หากเป็นบุรุษธรรมดา ก็คงจะสุขแสนปรีดิ์เปรม เกษมจิตยอดยิ่ง ด้วยทุกรสที่จะเสพนั้น พรั่งพร้อมบริบูรณ์ ไม่มีใดเทียมอีกแล้ว นารีหมื่นนาง ล้วนเป็นราชธิดากษัตริย์ ที่น้อมใจยินดีอยู่ปรนนิบัติ และหรือสตรีอื่น อันเป็นสนมน้อยใหญ่ อีกนับนางไม่ถ้วน สถานที่อยู่ อันยิ่งกว่าเวียงฟ้าเวียงสวรรค์ ประโคมด้วยสรรพสำเนียงดนตรี แต่ความอบอวลไปด้วยกลิ่น ทั้งที่ปรนปรุงขึ้นมา ทั้งธรรมชาติ ดารดาษด้วยกลิ่นหอม อันมนุษย์พึงควรที่สรรค์สร้างไว้ล้อมรอบ จะต้องการ "รสสุข"ใด "รสอร่อย"ใด ย่อมได้สมพระประสงค์ ทุกสิ่งทุกประการ มิได้บกพร่องเลย แม้กระทั่งสิ่งผูกพันร้อยรัด ที่เป็น "สายใจ" อันเป็นโซ่สัมพันธ์ภายใน ที่สำคัญยิ่งของมนุษย์ คือ มเหสีผู้ยอดยิ่ง ไปจนกระทั่ง พระราชโอรส ผู้บริสุทธิ์สุดสวาท พระองค์ก็ "ให้" หรือ "ละ" หรือ "ปล่อย" ได้ทันที
อันธรรมดามนุษย์นั้น มีสมบัติอยู่กับตนแม้น้อยนิด ก็จะหวงของที่น้อยนิดนั้น ยิ่งกลัวมันจะหมดไป ให้ห่วงใยทะนุถนอม ถ้าเป็นคน ผู้มีนิสัยอดออมได้ ก็จะอดออมถนอมรักษาไว้ ให้เป็นสมบัติของตน ไปจนกระทั่งตาย ตายแล้วก็ยังหวงยังห่วงอีก และ ยิ่งผู้มีสมบัติมากหลากหลาย ก็ยิ่งให้ห่วงให้หวง หนักมากหลายตามขึ้นไปอีก บางทียอมตาย เพื่อให้สมบัตินั้นคงอยู่ ไม่ยอมให้ตกไปเป็นของเขาอื่น ก็ยังกล้าทำลงไปได้ ก็ลองคิดดูเถิดว่า มันเรื่องอันใดกัน ที่ต้องทำอย่างนั้น ตัวเองหวงของหวงสมบัติไว้ แม้คนเขา ผู้มาแย่งจะฆ่าเอา ก็ยังไม่ยอมให้ ยอมสู้ตาย เพื่อให้ของอยู่ แล้วมันได้อยู่เป็นเจ้าของ หรือ ของมันตายไปตามเราหรือเปล่าล่ะ จะไปรักไปห่วง ไปหวงมันไว้ จนถึงขนาดนั้นทำไมกัน ข้าพเจ้าก็ยังคิดไม่ออกเหมือนกันว่า คนประเภทนั้น เขา "หวง" เขาหลง "รัก" สมบัติอะไรกันนักหนา ถึงขนาดนั้น จนกลายเป็นคนหลงผิด เป็นคนโง่ถึงขนาด ก็สมบัติเหล่านั้น ถ้าเราตาย โดยเอาชีวิตแลกแล้ว สมบัติมันก็ต้องคงอยู่บนโลกนี่แหละ ส่วนเราสิ ตายไปอยู่อีกโลกหนึ่ง แล้วของนั้นมันไปอยู่กับเราเมื่อไหร่กัน เราตายไป ของหรือสมบัติเหล่านั้น มันก็ต้องตกเป็นของคนอื่นวันยังค่ำ
เรื่องของ "วัตถุ" หรือ "สมบัติภายนอก"นี้ เป็นเรื่องที่มองเห็นยาก สำหรับมนุษย์ปุถุชน อธิบายกันอย่างไร ก็ไม่มีวันเข้าใจได้ง่ายๆว่า "ยิ่งให้ไปจะยิ่งได้มา" และส่วนมากจะไม่ยอมเชื่อ แล้วจะ "ไม่ยอมให้" ได้ง่ายๆ เป็นอันขาด แม้จะมีอยู่แล้วอย่างเหลือเฟือ
เพราะเหตุว่า "วัตถุ" หรือสมบัติภายนอกนี้ มันมีส่วนสัมพันธ์ มีการเดินทาง กว่าจะแปรสภาพแปรรูป เปลี่ยนมือจากคนนี้ไป และกว่าจะเปลี่ยนรูป เป็นของเป็นสมบัติ กลับคืนมาให้ "ผู้ให้" เดิมนี้อีกที มันก็ใช้เวลาบ้าง และ ใช้ตำแหน่งสถานที่ และใช้การเคลื่อนการหมุน การแปรมากมายหลายเหลี่ยมอยู่ จึงทำให้คนไม่ค่อยเห็นค่อยเข้าใจ โดยเฉพาะ มันมีเรื่องของ "จิตใจ" อันเต็มไปด้วย "กิเลส" เข้าไปพัวพัน ไปร่วมในการแปรเปลี่ยน ร่วมในการหมุน การเคลื่อน การเดินทางนั้นๆด้วย "การให้" จึงกว่าจะหมุนกลับ มาให้"ผู้ให้" จึงอาจแปรสภาพ ใช้เวลานานกว่าธรรมดา คนจึงเห็นได้ยาก และเข้าใจคำว่า "ยิ่งให้ไป จะยิ่งได้มา" ว่าเป็นของแท้ของจริง เป็นเรื่องถูกเรื่องต้องไม่ได้ แต่โดยความแท้แล้ว มันแท้จริง เป็นหลักการทีเดียว แม้การให้ไปแล้วนั้น มันจะเฉไฉ เป๋ไป๋ไปยังไง ก็จะต้องได้กลับมาวันยังค่ำ ยิ่งทรมานมาก หนักมาก เหนื่อยมากเท่าใด ยิ่งจะได้มากขึ้นๆ เป็นทวีคูณ เท่านั้น
บางรายบางกรณี จะมีให้เห็น เป็นผลทันตาอยู่บ้างเหมือนกัน ในเรื่องการให้ ทาง"วัตถุ" ทาง"สมบัติภายนอก" นี้ ซึ่งเมื่อทุกคน ลองนึกทบทวน พยายามคิดดูให้ดีเถอะ จะเห็นจะพบตัวอย่าง ทุกคนนั่นแหละ ข้าพเจ้าขอรับรอง ถ้าเราไม่มี "การให้" เลยในชีวิต เราจะไม่มีการ "ได้มา" เป็นอันขาด เว้นแต่ว่า "บุญเก่า" ที่ได้สะสมไว้เท่านั้น แล้วเราก็จะคือ ผู้นั่งกินบุญเก่านั้น ซึ่งไม่ช้า ก็จะต้องหมดสิ้นไปเป็นแน่ และหากยังไม่มี "การให้" อยู่อีกในชาตินี้ ผู้นั้นก็จะเริ่มเป็น "หนี้"เขา และถ้าหากหาผู้จะยอมให้ "กู้" ไม่ได้ คนผู้นั้นก็จะถึงขั้นทุกข์ทรมาน เป็นต้นไป
เรามาอธิบาย ในสิ่งที่เห็นทันทีกันดีกว่า ว่าการให้ไปนี้ มันจะได้คืนมา ตามหลัก "ยิ่งให้ไป ยิ่งจะได้มา" จริงหรือ?
เราลองมาสังเกต ในร่างในกายเราเองนี้ซิ ในคนทุกคนนี่แหละ เราก็มีการให้ การได้มา อยู่ทุกขณะจิต แต่เป็นการให้ การได้มา อันเป็นเหตุเป็นผลตอบแทน ส่งกลับไปกลับมา อยู่ในภายใน ไม่มีความเป็นมนุษย์ เข้าไปขั้นไปห้ามไปขวาง หรือไปแปรเปลี่ยน ยักย้าย เอาด้วยแรงกิเลส แรงตัณหา มันจะแปรจะเปลี่ยน จะส่งกลับไปกลับมา โดยแท้จริง ตามเหตุและเป็นผล ออกมาให้เราสังเกตได้
ถ้าใครยิ่งออกกำลังกาย นั่นคือ คนกำลังจ่ายกำลังออกไป หรือให้เรี่ยวแรง และกำลังออกไป จนบางที ถึงหมดกำลังเอาเลยทีเดียว ถ้าผู้ใดยิ่งออกกำลังไป นี่แหละ ยิ่งจะได้กำลังมา ได้มาจริงๆ ถ้าใครออกกำลังให้มาก ออกอย่างถูกอย่างต้อง ออกอย่างบริสุทธิ์ ว่า เราออกไปจริงๆ เราจ่ายกำลังไป ถ้าจ่ายกำลังออกไปให้มากๆ ยิ่งจะได้กำลังเพิ่มพูน มาให้ตัวเองมากยิ่งขึ้น นี่แหละคือความจริง นี่แหละคือตัวอย่างอันถูกต้อง อย่างตรงไปตรงมา ไม่มีกิเลสเข้ามาเป็นผู้ขัดขวาง ไม่มีผู้จะเป็นอุปสรรค หรือตัวแปรเปลี่ยนโยกย้าย การจ่ายไป หรือการให้กำลังกายออกไปนี้ จึงได้กลับคืนมา ตามวาระตามเวลา ที่ตรงที่ถูกต้อง และได้กลับมา เป็นจำนวนทับทวีขึ้นเรื่อยๆ อย่างต้องตรงจริงๆ ผู้ใดยิ่งออกกำลังมาก ก็ยิ่งจะมีกำลังมากยิ่งขึ้น ทุกทีทุกเวลา สิ่งอื่นใดก็เหมือนกันทั้งสิ้น จะเป็น จ่ายเป็นเข้าเป็นของ เป็นวัตถุน้อยใหญ่ หรือให้น้ำใจ ความกรุณาปรานีอันใดก็ตาม ยิ่งเราให้แก่ใคร ไปมากเท่าใด เราก็ยิ่งจะได้มากเท่านั้น เป็นอย่างนั้นจริงๆ แม้แต่ขาแขนของเรา หรือส่วนหนึ่งส่วนใด ของร่างกายก็ตามแต่ เรายิ่งใช้มัน หรือยิ่งจับจ่ายมัน คือไม่สงวนมันไว้ ไม่เก็บมันไว้เฉยๆ ส่วนที่เรายิ่งใช้มันมากๆ นั่นแหละ มันจะยิ่งโตขึ้น คือได้มาเพิ่ม เราใช้แขนขวามากเท่าใด แขนขวาก็ยิ่งจะโตมากขึ้นๆ เรายิ่งไม่ใช้มันเลย มันก็ยิ่งจะไม่มีเลย ไม่เชื่อก็เก็บแขนขวาไว้นิ่งๆ ไม่ใช้มันเลยดูซิ แล้วมันจะค่อยๆ ลีบลงๆ ให้เห็นทันที นานเข้าๆ ก็จะใช้ไม่ได้เอาเลยทีเดียว นี่คือหลักแห่งความแท้จริง มันสมองเหมือนกัน ประสาททุกส่วนเช่นกัน โดยเฉพาะประสาท "คิด" ยิ่งเป็นผู้เพียรฝึกหัด คิด อ่าน ตรึกตรอง พิจารณาให้มาก "ปัญญา" ยิ่งจะเฉียบแหลม มากขึ้นๆ เป็นลำดับไป ยิ่งใช้ไปหรือยิ่งให้ไป ยิ่งจะได้มาจริงๆ ยิ่งพากเพียร คิดในทางที่ถูกที่ดี ปัญญาด้านดีก็ยิ่งจะมากขึ้น แต่ถ้าคิดในทางชั่วทางเลว ปัญญาคิดในทางเลว ก็ยิ่งจะมากขึ้นเช่นกัน
จงจำไว้เถิดว่า ยิ่งใช้ไป ยิ่งได้มา หรือ ยิ่งจ่ายออกไป ยิ่งจะได้เข้ามา หรือ ยิ่งให้ไป ยิ่งจะได้กลับมา
เช่น ตัวอย่างสำคัญอันหนึ่ง ก็คือ คุณผู้หญิงทุกวันนี้ ไม่ยอมใช้อวัยวะส่วนหนึ่ง คือ "นม" ไม่ยอมใช้เลย หน้าที่ของนมผู้หญิง คือ เป็นแหล่งให้น้ำนมแก่ลูก แต่คุณผู้หญิงกลัวจะเสียนมไป ถ้าจะใช้นมนั้น โดยให้ลูกกินนมตนเอง จึงไม่ยอมใช้ ไม่ยอมให้แม้แต่ลูกกินนม หรือจับต้องนมนั้น จึงนับวันจะแห้งเหี่ยวไป นั่นคือข้อแท้ข้อจริง โดยความเห็นแก่ตัว กลัวจะหมด ไม่ยอมให้ ไม่ยอมใช้ จึงยิ่งหมดยิ่งหายไป จะไปโกง ธรรมชาติ หรือโกงเหตุ และผลแท้ๆจริงๆ อันไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน ไม่ใช่จิต ใช่ใจที่มีกิเลสนั้น โกงมันไม่ได้หรอก มันไม่เหมือน "วัตถุ" ที่อยู่ข้างนอกตัว ซึ่งมัน"เบี้ยว" มันปลิ้นปล้อนได้ เพราะมีคนผู้มีจิตใจ ผสมกิเลสอื่นๆ อีกมาก เข้าไปยุ่งกับ "วัตถุ"นั้นๆ มันจึงเดินทางไม่ตรงไปทีเดียว มันจึงต้องคดต้องโค้ง ไปตามแรงกิเลสนั้นๆ แต่แท้จริง มันก็จะต้องซื่อต้องตรงเช่นกัน แม้จะเป็น "วัตถุ" ถ้าเราไม่เอาจริงๆ ทั้งๆสิ่งนี้ เป็นสมบัติของเรา โดยธรรมแล้ว เราไม่เอา หรือเราให้ไปก็เหมือนกัน มันจะต้องกลับมา เป็นของเราวันยังค่ำ เหมือนเราฝากเขาไว้ ปล่อยมันเถิด สักวาระหนึ่งมันจะมา แต่ที่มันยักย้ายถ่ายเท พลิกแพลงไปเป็นของคนอื่น มันดูเหมือนหมดไปๆ จากตัวเรานั้น มันก็เป็นการเปลี่ยน เป็นการแปร โดยใช้เวลา ทำหน้าที่หมุนเวียนอยู่ "เหตุ" ต่างๆ ต้องเป็น"เหตุ" และจะต้องฟักตัวออกมาเป็น "ผล" ที่ถูกต้อง คือ "ยิ่งให้ไป ยิ่งจะได้มา" เสมอ
ดังนั้น การไม่ใช้ "นม" นั้น มันก็เป็นของจริงของแท้ ถ้าไม่ใช้ มันก็นับวันแต่จะแห้งเหี่ยวไป ลูกคนหนึ่งก็แล้ว นมก็ทำหน้าที่ กลั่นน้ำนมมาเปล่าๆ แม่ไม่ยอมใช้นม ไม่ยอมให้ลูกกินเสียนี่ พอมีลูกอีกสัก 2 คน 3 คน ก็คอยสังเกตให้ดีเถิด นมของคุณแม่ผู้นั้น จะค่อยๆ แห้งเหี่ยวลงไปเรื่อยๆ เพราะความตระหนี่ถี่เหนียว เพราะการเห็นแก่ตัวนั่นเอง ยิ่งหวงไว้ กลัวหมดไป มันยิ่งจะหมดไป เรื่องของเหตุและผล ก็คือเรื่องของธรรมชาติ ดังนั้น ถ้าเมื่อของสิ่งใด เราไม่ใช้ ธรรมชาติมันรู้ดี มันก็จะเก็บของสิ่งนั้นเสีย ของสิ่งใดใช้มาก มันก็จะเพิ่มของนั้นมาให้ นั่นคือความแท้ นั่นคือความจริง ดังนั้น คุณผู้หญิงผู้ใด ถ้าอยากได้มาก ก็ให้ลองดูเถิด เมื่อมีลูกออกมา ก็ให้ลูกกินนมเรานั่นแหละ ให้กินไป ให้นานๆ อย่าให้หยุดง่ายๆ สัก 6 เดือนขึ้นไปเป็นอย่างต่ำ ยิ่ง 8 เดือน หรือหนึ่งปีก็ยิ่งดี แล้วคุณจะดีขึ้น และคุณจะได้มาแน่ๆ แล้วก็อย่าเพิ่งหยุดล่ะ ถ้ามีลูกคนใหม่อีก ก็ให้ลูกคนใหม่กินอีก แล้วคุณจะไม่อนาทรเลย คุณจะได้มาอย่างบริบูรณ์ กฎ "ยิ่งให้ไป ยิ่งจะได้มา" จะแจ้งผลแก่คุณเอง ส่วนการกลัวจะเสียรูปเสียทรง อะไรของคุณนั้น คุณต้องระวังเอาเอง ว่าคุณควรจะปฏิบัติอย่างไร จึงจะไม่เสียทรง ซึ่งมันก็ไม่ยากเลย มันมีเหตุผลเหมือนกัน ถ้าคุณทำถูกวิธี รูปและทรงอันใดของคุณ ก็จะไม่เสีย แต่ถ้าเป็นเหมือนสมัยโบราณ เขาไม่อีนังขังขอบกับรูปทรงอะไร ไม่ระมัดระวัง เรื่องของรูปของทรง ดังนั้น เขาก็ทำตามสบาย ให้ลูกดึงยาวยืดยาดเอาบ้าง ไปดูดอยู่ถึงข้างหลังแม่ เขาก็ปล่อยให้ลูกทำ มันก็เป็นเรื่องของ การไม่ระมัดระวังของเขา ถ้าเราระมัดระวัง รักษาสภาพให้มันคงอยู่ ในลักษณะใด มันก็จะอยู่ในลักษณะนั้น บางที อาจจะดัดแปลงตกแต่ง เพิ่มเติมเอาด้วย ตามแบบของธรรมชาติ ก็ย่อมทำได้ด้วยซ้ำไป ถ้าผู้นั้นเข้าใจและฉลาดพอ ส่วนที่จะได้มา เราก็จะได้มาโดยแท้จริง โดยแท้ และที่ดีที่สุดก็คือ ไม่เปลืองเงิน ค่านมผงนมแป้งด้วย สุขภาพอนามัยเด็ก ถูกต้องตามธรรมชาติที่สุดด้วย โรคภัยก็ระวังง่าย และที่สำคัญ เราจะไม่ต้องเดือดร้อน ไปหาฟองน้ำ ไปฉีดพาราฟีน หรือไปปรุงแต่ง ให้มันมากเรื่องแต่อย่างใด เราจะมีของเราโดยแท้ โดยจริง เพียงพอ อย่างสบายใจ
เหตุที่ทำให้ "นม" ของคุณผู้หญิงทุกวันนี้ ต้องพลอยมาเล็กลงๆ ไปนั้น ด้วยเหตุดังเล่ามานี้เป็นใหญ่ และการไม่ยอมให้ลูกกินนมนั้น ไม่ใช่เพิ่งเกิด ไม่ใช่เพิ่งเป็น คุณผู้หญิงไม่ยอมให้ลูกกินนม มาหลายช่วงอายุคนแล้ว คนในช่วงร้อยๆปี ที่เพิ่งผ่านมานี่เอง ยังใช้นมเป็นปกติอยู่ จึงไม่มีการอาภัพนม ดังนั้น ในช่วงหลังๆนี่ เด็กผู้หญิงที่เกิดมาในยุคหลัง จึงต้องรับกรรม เรียกว่า "กรรมพันธุ์" เพราะเมื่อแม่ไม่ยอมใช้นม ตามธรรมชาติ ธรรมชาติช่วงที่หนึ่ง ก็ย่อมจะต้องเห็นความสำคัญ ของสิ่งนี้น้อยลง ก็จะค่อยๆ เก็บสิ่งนี้คืน พอยิ่งช่วงต่อมา แม่คนต่อมาก็ไม่ใช้อีก จึงทำให้เด็กผู้หญิงในยุคหลังๆ นี้ไม่ค่อยมีนม เพราะเหตุคุณแม่ทั้งหลาย ได้แสดง การเห็นแก่ตัว ไม่ยอมใช้ไป จึงย่อมจะไม่มีอยู่ หรือจะไม่ได้สิ่งนั้นมาอย่างแน่ๆ ธรรมชาติจะต้องเก็บคืนอย่างแน่นอน นั่นคือ ความพินาศสิ่งหนึ่งของผู้หญิงเอง เป็นการกระทำของคุณผู้หญิงเอง จะให้เหตุให้ผลว่า ไม่ใช้เพราะไม่มีเวลา มามัวให้นมลูก หรือต้องไปทำงาน หรืออะไรก็ตาม ก็ฟังไม่ขึ้น และไม่ใช่เรื่อง จะเอาไปอ้างกับธรรมชาติได้ เพราะโดยธรรมชาติเดิมแท้จริงนั้น ผู้หญิงก็ไม่มีหน้าที่ ออกไปทำงานนอกบ้าน ต้องทำงานอยู่บ้าน แต่เพราะคุณผู้หญิงเองอีกหนะแหละ ดิ้นรนเอง อยากได้สิทธิ อยากได้ความเสมอภาคเอง อีกไม่ช้า ก็คงเท่าผู้ชายทุกอย่าง ด้วยดังนี้แหละ เมื่อไม่ใช้มัน ก็รับทราบแต่ว่า คุณไม่ใช้สิ่งนี้ จะมีเหตุอื่นใด ทำให้ไม่ได้ใช้เป็นข้ออ้าง ธรรมชาติมันไม่ซับทราบทั้งนั้น มันรู้แต่ว่า เมื่อไม่ใช้สิ่งนี้ มันก็ไม่มีความจำเป็นจะสร้างสิ่งนี้ มาให้เปล่าประโยชน์อีก ก็เท่านั้น
ดังนั้น เด็กผู้หญิงสมัยใหม่นี้ ถ้าเผื่อได้อ่านบทความนี้ ถ้ายังรักจะให้ "นม" ไม่สูญพันธุ์ ไปจากความเป็นผู้หญิง ก็จงหัดใช้ "นม" ตามหน้าที่ของธรรมชาติ สร้างมาให้นั่นเถิด อย่าลืมว่า "ยิ่งใช้ไป ยิ่งจะได้มา" ถ้าไม่ใช้กันต่อๆไป อีกไม่ช้าไม่นาน ด้วยเหตุผลกลนี้เอง อีกสักไม่กี่ร้อยปีหรอก ผู้หญิงในกรุงนี่แหละ ก็จะไม่มีนมกันเลย นมผู้หญิง ก็จะเท่ากับผู้ชายนั่นเอง
เรื่องนี้เป็นความจริง คิดให้ดี สังเกตเปรียบเทียบ ผู้หญิงชนบทกับผู้หญิงในกรุงได้ ทำไมผู้หญิงชนบทไม่อาภัพนม ทำไมผู้หญิงในกรุงอาภัพนม นั่นเพราะเหตุอะไร ลองคิดให้ดี จะเห็นจะแจ้ง อย่างไม่กังขา ก็เพราะเหตุ "ยิ่งใช้ไป ยิ่งได้มา เพิ่มมา" นั่นเอง
นั่นคือ เรื่องของการใช้การจ่าย หรือการให้ด้วยวัตถุสิ่งของ หรือเงินทองอันใดก็ตาม เรายิ่งให้ไปๆ ก็ยิ่งได้มา เห็นง่ายที่สุดก็คือ ถ้าเราให้เงินเขาไปแล้ว เราก็จะได้ของตอบแทนมา อันเราเรียกว่า ซื้อขาย ในทุกวันนี้นั่นเอง ดังนั้น ถ้าเราไม่ซื้อไม่ขาย คือให้เงินเขาไปเฉยๆ โดยไม่รับสิ่งของตอบแทนอันใดมาเลย อันนั้นก็จะเป็น "ผล" ของเราเก็บไว้ สักวันหนึ่ง ก็จะกลับมาให้เรา คืนมาให้เราจนได้ ด้วยเหตุเป็นไปดังนี้ ใครอยากได้อะไรมากๆ ก็ต้องหัดให้สิ่งนั้น ให้มากๆเถิด อย่าเพิ่งไปรับผลตอบแทนคืนมา ให้ไปแบบฝากไว้ก่อน ให้มากๆ ลืมเสียด้วยว่า เราได้ให้ไปแล้ว อย่าไปจำ เพราะไม่จำเป็นต้องจำเลย ธรรมชาติไม่โกงใคร ความแท้จริงไม่โกงใคร มีแต่กิเลสมีแต่มารเท่านั้น ที่มาเล่นไม่ซื่อกับ "ความแท้จริง" แต่กระนั้น ก็จะเอาชนะ "ความแท้จริง" ไม่ได้เป็นอันขาด ตราบโลกแตก สุดท้าย "ความแท้จริง" จะต้องชนะ อย่างแน่นอนที่สุด จึงไม่ควรจะจำ "การให้" ใดๆ แก่ใครเป็นอันขาด "ให้"ไว้แล้ว เท่ากับเราสะสมไว้ โดยแท้โดยจริง ยิ่งเราไปจำ ยิ่งเสียพลังงานของเราเอง โดยเปล่าประโยชน์ และจะทำให้เราอดไม่ได้ ที่จะทวงคืน
เช่น เราจะซื้อของชนิดหนึ่ง ราคาอันละ 5 บาท ถ้าเรานำเงิน 5 บาท ไปจ่ายไว้กับเจ้าของของนั้น โดยเราไม่เอาของมา ก็เท่ากับเราฝากของนั้นไว้ รุ่งขึ้นเอาไปจ่ายไว้อีก 5 บาท เราก็จะมีของนั้นเพิ่มขึ้นอีก ยิ่งเอาไปเติมไว้ โดยไม่รับของมาเท่าใด ก็เท่ากับเราสะสมไว้เท่านั้น ถ้าเราไปขอรับของเมื่อใด เราก็จะได้ของนั้นมากมาย เป็นกอบเป็นกำมากมาย เท่าที่เราได้สะสมไว้ ตาม"เหตุ" จริงๆ แต่ถ้าเราซื้อ โดยจ่ายไป 5 บาท แล้วก็เอาของนั้นมา ก็เป็นอันหมดกัน ไม่ได้สะสมไว้แต่อย่างใด หรือถ้าใครจะอุตริคิดว่า ก็ถ้าเราไปจ่ายไว้ๆ แล้วเจ้าของของนั้น เกิดโกงขึ้นมาล่ะ? โกงก็โกง นั่นแหละคือเรื่องของ"กิเลส" เรื่องของ"จิตใจที่ผสมมาร" ได้เกิดทำงานขึ้นมาล่ะ เขาจะโกงไปอย่างไร ก็ไม่ต้องกลัว สักวันหนึ่ง สิ่งที่เราสะสมไว้นั้น จะวกกลับมาคืนเราจนได้จริงๆ
จงจำไว้เถิดว่า จะไม่มีใครในพิภพจักรวาลนี้ จะได้อะไรฟรี หรือได้อะไรมาโดยไม่สะสมไว้ หรือลงทุนไว้ แม้จะเอาของเขามาก่อนในเมื่อนี้ ก็จะต้องคืนเขาในเมื่อหน้า และถ้าเราให้เขาไว้เมื่อนี้ เราจะได้คืนแน่ๆ ในเมื่อหน้า นี่คือ หลักแห่งความจริง หลักการที่ถูกต้องที่สุด
ดังนั้น ใครทำใจเย็นได้มากเท่าใด หัดให้ หัดสะสมไว้มากเท่าใด เราก็จะมีมากยิ่งๆ เท่านั้น พระพุทธเจ้าท่านมีมหาสมบัติ และมีทุกสิ่งทุกอย่างพรั่งพร้อม เพราะอะไร? เพราะท่าน "บริจาค" ท่าน "ให้" มานักหนา "ให้" เสียจน แม้ท่านไม่ต้องการเลย ในสมัยชาติของ พระองค์ท่าน ก็ยังมีมายัดเยียดให้ท่าน จนเรียกว่า ล้นแล้วล้นอีก เมื่อมีมากกว่ามาก เหลือคณา เราก็เรียกว่า "ล้นฟ้า" นั่นเอง ใครอยากมี หรืออยากให้ จน"ล้นฟ้า" ก็จะต้องหัด"บริจาค" หรือหัด"ให้"ไว้เถิด ให้แล้วก็อย่าไปคิด เอาสิ่งตอบแทนมาก่อนเสียล่ะ ให้ไปโดยแท้ โดยบริสุทธิ์ใจ คือ ให้อย่างลืมกันทีเดียว อย่าคิดถึงมันเลย ว่าเราได้"บริจาค" เราได้"ให้" ถ้าเรา"ให้" แล้วก็รับ สิ่งตอบแทน "การให้" นั้นมา ไม่ว่าจะในรูปของ "วัตถุ" ที่แลกเปลี่ยน หรือในรูปของ"นามธรรม" ก็อย่าไปยินดีรับมา เฉยเมยเสีย เฉยเมยให้ได้จริงๆ แล้วเราจะมี "ทุน" ที่สะสมไว้จริงๆ
ทีนี้ พูดถึงเรื่องของด้าน "นามธรรม" บ้าง ถ้าเราอยากได้ "ความดี"มากๆ เราก็หัดจ่าย"ความดี" ออกไปมากๆ ใช้"ความดี" ออกไปจากตัวเราให้มากๆ ความดีก็จะยิ่งพอกพูน ให้กับตัวเรามากยิ่งขึ้น คิดให้ดี หรือจะเป็น "ความ..." อะไรก็ตาม หากใครจ่ายไป หรือให้สิ่งนั้นไปมากเท่าใด หรือสะสมสิ่งนั้นไว้เท่าใด เราก็จะยิ่งได้สิ่งนั้นมาไว้มากเท่านั้น เป็นหลักแห่งความจริง ความแท้ ที่ไม่มีใครสามารถจะบิดเบือนได้ ที่พูดนี้ เป็นหลักวิทยาศาสตร์ อย่างแท้ด้วย ไม่ใช่เล่นลิ้น เพราะทุกสิ่งทุกอย่าง มันไม่มีใหม่ ไม่มีเก่า และไม่สูญหาย ไม่สลายไป นอกจากการเปลี่ยนแปร การเคลื่อนย้าย
ไอน์สไตน์ นักวิทยาศาสตร์เอกของโลก ก็ยืนยันว่า ไม่ว่าอะไรในโลกนี้ ไม่มีสูญหายไปจากโลก ไม่ว่าพลังงานหรือสสาร และก็เป็นจริง ดังนั้นทุกประการ พลังงานคือนามธรรม และสสารคือรูปธรรม หรือ วัตถุธรรม ทั้งหลายนั่นเอง ในพิภพจบสากลจักรวาลใดๆ ก็มีของอยู่ 2 สิ่งนี้เท่านั้นแหละ ที่มันมีบทบาท หมุนเวียน เปลี่ยนแปร อุบัติอยู่ให้เห็นให้รู้ ไม่มีอะไรอื่นอีกเลยนอกจากนั้น ถ้าใครสามารถทำของ 2 สิ่งนี้ ให้มันหยุดหมุน หยุดเวียน หยุดเปลี่ยนได้ ผู้นั้นก็คือ ผู้ทำ"นิพพาน" ได้ ผู้รู้แจ้ง"เหตุ" ผู้รู้จุดระงับ ผู้ทราบ"ความแท้จริง" ผู้มีดวงตาเห็นธรรม ผู้มีดวงตาแจ้ง"ความแท้จริง" ย่อมเป็นผู้เดือดร้อนน้อย เป็นผู้ถูกหลอกได้ยาก เป็นผู้สงบอยู่ ได้มากแล้ว และถ้าท่านผู้นี้ ทำของสองสิ่ง ให้กลายเป็นเหลือสิ่งเดียว ได้อย่างจริงจังละก็ นั่นแหละคือ ท่านผู้นั้นถึงซึ่งความพินาศ ความหมดสิ้น ความไม่เหลืออะไร ความไม่มีอะไร ความจบ ความหมด ความขาด ซึ่งวัฏฏะ ความเลิกหมุน เลิกเวียน นั่นคือ "ปรินิพพาน" นั่นเองแล
30 มีนาคม 2513
(ประกายธรรม ๕)
*****
ตรวจทานใหม่ 26 มีนาคม 2568 ที่สุด