"ฌาน" ที่มีในคนยังลืมตา |
ผู้ปฏิบัติธรรมะของพระพุทธองค์ ต้องทำให้รู้ ทำให้แจ้งแทงทะลุสิ้น แม้ศัพท์ แม้ภาษาใดๆ ก็ไม่ให้ติดไม่ให้ขัด และไม่ให้ภาษา หรือที่เรียกกัน ในหมู่นักธรรมว่า "บัญญัติ" หรือ "สมมุติบัญญัติ" นั่นแหละ ติดอยู่ข้องอยู่ ผูกยึดตรึง มัดแน่นเอาไว้อยู่ ณ สิ่งนั้นเขตนั้น ถ้าใครผู้ใด "หลงยึด" หลงผูกหลงตรึงเอาสิ่งนั้นสิ่งนี้ ไว้กับศัพท์นั้นภาษานั้น ผู้นั้นก็เท่ากับยึดถือ หรือเป็นผู้เห็น (ทิฏฐิ) ว่าสิ่งนั้นเที่ยง สิ่งนั้นเป็นอย่างนั้น สิ่งนั้นคือสิ่งนั้น มั่นคง นั่นคือ ผู้นั้นยังไม่ทะลุ ยังไม่แจ้ง ยังไม่ใช่ผู้เข้าใจ และคือ ผู้ยังไม่สว่างไสวในธรรม เพราะถ้าผู้ใด เข้าใจดังที่กล่าวแล้ว ผู้นั้น จึงยังคงเข้าใจผิดอยู่ (มิจฉาทิฏฐิ) เพราะกลายเป็นผู้เห็นว่า"เที่ยง" เป็นผู้ยึดผู้ผูก ผู้ปักใจ มัดภาษา (ชื่อเรียกนั้นๆ) ใส่กับสภาวะนั้นๆไว้ จึงขัดกับสามัญลักษณ์ หรือไตรลักษณ์อย่างจัง จึงยังไม่ใช่การรู้ที่แท้ ที่ถูกที่ตรง ที่ควรที่สุด ยังรู้เพียงเปลาะหนึ่ง ช่วงหนึ่งชั้นหนึ่งเท่านั้น ยังไกลกับคำว่า "รู้รอบ" (โพธิญาณ หรือพุทธะ) อยู่อีกมากนัก
ดังเช่น ถ้าใครเห็นว่า "นิพพาน" คือ การไม่มีอะไรเลย เป็นสภาวะว่าง สูญเปล่า หมดสิ้นเกลี้ยงอย่างแท้จริง ผู้ใดเห็น และเรียก ลักษณะนี้ว่า "นิพพาน" ถ้าผิดจากนี้ ไม่ใช่"นิพพาน" ผู้นั้นก็ยังเห็น "ไม่แท้" แต่ก็เรียกว่า ไม่ผิด ทว่ายังไม่ถูกแท้ ถูกตรง ถูกที่สุด เพียงเรียกว่า "สัมมา" ตามนัยของพระพุทธเจ้า เป็นนัยที่ ๑.
ถ้าใครเห็นว่า "นิพพาน" คือ การดับมอด ดับอย่างแท้ นิ่งสนิทอยู่ เรียกลักษณะอย่างนี้ว่า "นิพพาน" ถ้าผิดจากนี้ ไม่ใช่นิพพาน ผู้นั้น ก็ยังเห็น ไม่แท้อยู่อีก แต่ก็เรียกว่า ไม่ผิด ทว่ายังไม่ถูกแท้ ถูกตรง ถูกที่สุด เพียงเรียกว่า "สัมมา" ตามนัยของพระพุทธเจ้า เป็นนัยที่ ๒.
ถ้าใครเห็นว่า "นิพพาน" คือ การตาย การหมดสภาวะเดิม การไม่อยู่ในความเป็นไปอย่างเก่า การไม่เป็นไปอีกอย่างนั้น การหยุด ความเป็นไปลง ไม่เป็นไปอย่างนี้อีก เรียกลักษณะนี้ว่า "นิพพาน" ถ้าผิดจากนี้ ไม่ใช่ "นิพพาน" ผู้นั้นก็ยังเห็นไม่แท้ แต่ก็เรียกว่า ไม่ผิด ทว่ายังไม่ถูกแท้ ถูกตรง ถูกที่สุด เพียงเรียกว่า "สัมมา" ตามนัยของ พระพุทธเจ้า เป็นนัยที่ ๓.
ถ้าใครเห็นว่า "นิพพาน" คือ การกระทำให้สิ่งนั้น หยุดลงเด็ดขาด การหยุดสิ่งนั้นลงเด็ดขาด การระงับสิ่งนั้น ให้ขาดลงเด็ดขาด การไม่ให้สิ่งนั้น เกิดขึ้นอีกเด็ดขาด การกระทำชั้นเด็ดขาดลงไป กับสภาวะทั้งปวงได้ เรียกลักษณะนี้ว่า "นิพพาน" ถ้าผิดจากนี้ ไม่ใช่"นิพพาน" ผู้นั้นก็ยังเห็นไม่แท้ แต่ก็เรียกว่าไม่ผิด ทว่ายังไม่ถูกแท้ ถูกตรง ถูกที่สุด เพียงเรียกว่า "สัมมา" ตามนัยของพระพุทธเจ้า เป็นนัยที่ ๔. หรือ
ถ้าใครเห็นว่า "นิพพาน" คือ การเป็นผู้เพียงพอดี ไม่มีการปรุงแต่งใดๆ ไม่ทำให้เอนเอียงไปข้างรู้สึกทุกข์ ไม่ทำให้เอนเอียง ไปข้างรู้สึกสุข เป็นอยู่อย่างกลางๆ เป็นอยู่อย่างไม่กระทบอารมณ์ใด เป็นไปอยู่อย่าง "ว่างๆ" เป็นไปอยู่อย่างอะไรก็ได้ ตามแต่จะเป็นไป กับสิ่งที่ประสบอยู่ แท้จริงขณะนั้น เรียกลักษณะนี้ว่า "นิพพาน" ถ้าผิดจากนี้ ไม่ใช่"นิพพาน" ผู้นั้นก็ยังเห็นไม่แท้ แต่ก็เรียกว่าไม่ผิด ทว่ายังไม่ถูกแท้ ถูกตรง ถูกที่สุด เพียงเรียกว่า "สัมมา" ตามนัยของพระพุทธเจ้า เป็นนัยที่ ๕.
ดังนั้น จะเห็นได้ว่า "นิพพาน" นั้น ถูกทั้ง ๕ นัย ๕ แบบ ตามที่ได้ยกขึ้นมากล่าวแล้วนั้น แต่ถ้าใครผูกยึดตรึง เพียงนัยหนึ่งนัยเดียว หรือแบบหนึ่งแบบเดียว หรือยึดผูกตรึง เพียงสองนัยสองแบบ หรือเพียงสามนัยสามแบบ หรือเพียงสี่นัยสี่แบบ หรือ แม้เพียงห้านัย ห้าแบบนี้ และสภาวะของ "นิพพาน" ก็ไม่ใช่มีเพียง ๕ นัยนี้ เท่านั้นด้วย ก็คือ ผู้ยังหลงยึด ยังหลงผูกหลงมัดภาษาไว้กับ สภาวะทั้งสิ้น ยังไม่ทะลุ ยังไม่แทงตลอด ต้องเห็นให้ได้ เข้าใจให้ได้ ครบทุกนัยทุกลักษณะ แม้ที่ยังไม่ได้กล่าวด้วยภาษา ที่เกินกว่า ๕ นัย ที่ได้ยกมาเป็นอาทินี้แล้ว มันต้องเข้าใจให้ได้ทุกลักษณะ ให้ถ้วนทั่ว ให้เป็นไปรอบ ไม่หลงยึดว่า"เที่ยง" อยู่กับที่ ไม่หลงยึดว่าถูกตรง อยู่กับสิ่งเดียวตายตัว เพราะสภาวะ ย่อมเกิดขึ้นด้วยเหตุ-ปัจจัย และเวลา (ยุค) อันแตกต่างกันได้ จึงย่อมไม่ตายตัว เหมือนกันทีเดียว เสมอไป "นิพพาน" ทั้ง ๕ นัยนี้ ได้กล่าวมานั้น ล้วนถูก หรือดีเป็น "สัมมา" ทั้งสิ้น ใครได้พบลักษณะอาการใดกับตน ก่อให้เกิดผลกับตนได้ แม้นัยหนึ่งนัยใดนัยเดียว ก็เรียกว่า ผู้นั้นถึง"นิพพาน" ได้ทั้งสิ้น เป็น "นิพพานแท้ นิพพานจริง" แต่ทว่า ยังไม่ใช่ เข้าใจรอบ หรือเป็นไปรอบ
โดยความแท้จริง ผู้ปฏิบัติดี ก็จะได้ประสบ ได้พบกับ"นิพพาน" ดังกล่าวนั้น ไปทีละขั้นๆ จากนัยที่ ๕ ไปเรื่อยๆ เพราะนัยที่ ๕ นั่นแหละคือ อาการแรกที่ก่อสุข หรืออาการ"พ้นทุกข์" ขั้นประถม แล้วก็จะค่อยรู้จัก"นิพพาน" ขั้นสูงขึ้นๆ จนถึงขั้นนัยที่๑ นั่นแหละ จึงจะแจ้งว่า ตนถึงแล้วซึ่งนิพพาน ทุกนัย และ ย่อมเข้าใจ"นิพพาน" ได้รอบได้ถ้วนทั่ว จึงจะไม่หลงยึดหลงผูก "นิพพาน" ไว้แต่เพียงนัยที่ ๕ หรือ เพียงนัยหนึ่งนัยใด จึงจะเป็นผู้รู้รอบ เข้าใจได้สิ้น
ด้วยเหตุดังนี้เอง ที่เถียงๆกันอยู่นั้น เถียงเพราะผู้เห็น เห็นกันยังไม่รอบ เห็นแต่เพียงคนละอย่างคนละนัย เช่น คนตาบอด ๑๐ คน ไปคลำช้าง คนหนึ่งคลำได้ถูกแต่ขา ก็เห็นว่าช้างมีรูปเป็นเสา คนหนึ่งคลำถูกหาง ก็เห็นว่า ช้างมีรูปเป็นไม้กวาด คนหนึ่งคลำถูกงวง ก็เห็นว่า ช้างมีรูปเป็นงู คนหนึ่งคลำถูกสีข้าง ก็เห็นว่า ช้างมีรูปเป็นแผ่นผนัง และคนอื่นๆ ก็คลำถูกแต่เฉพาะ ส่วนที่ตนไปคลำถูกนั้นๆ ฯลฯ จึงทำให้คนตาบอด ทั้ง ๑๐ โต้เถียงกัน คอแตกตายเปล่า เพราะทุกคน คลำด้วยมือของตน รับรู้จากประสาทของตนอย่างแท้ ไม่ได้เลอะเทอะ หรือ หลงใหลฟั่นเฟือนแต่อย่างใด ทุกคนมั่นใจ ทุกคนปักใจอย่างแน่วแน่ ว่าตนเห็นถูก แต่เมื่อนำมาบอกเพื่อนๆ กลับเป็นความเห็นที่ไม่ตรงกันเลย มันจึงกลายเป็นเถียงกันไม่รู้ จนฆ่ากันตายเปล่าๆ แต่แท้จริงนั้น ทุกคนถูก ทุกคนจริง ทว่ามันถูก ยังไม่หมด มันจริงยังไม่ถ้วน จึงอย่าเพิ่งไปหักไปโค่นใคร ไปโต้ไปเถียงใคร เรารับฟังรับรู้รับคิด พิจารณาเถิด อย่ามีมานทิฏฐิ ถ้าเราเป็น พระอนุตตรสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วนั่นแหละ จึงค่อยควรตัดสินลงมติว่า ผู้นั้นผิดจริงไม่ผิดจริง ตราบใด เรายังไม่ถึงขั้นรู้รอบ เป็นอนุตตร สัมมาสัมโพธิญาณ ก็อย่าเพิ่งไปหักล้างรุนแรง ลงมติเอาด้วยพลการเลย มันเป็น "มานะ" เป็นความถือดีเข้าข้างตน เป็นกิเลสแท้ตัวสำคัญ อันศาสดาเจ้า แห่งลัทธิทั้งหลาย ได้ติด ได้พากันหลง มาแล้วมากมาย เพราะกิเลสแห่งสัญโยชน์ ข้อที่ ๘. ตัว "มานะ" นี่เองแหละ จึงทำให้ปัญญา แม้ดีแล้ว เก่งแล้วทีเดียว ในตัวศาสดานั้นๆ ก็พาตนสู่ดี ทะลุตลอดไปไม่ได้ แม้เรื่องของ"นิพพาน" ดังที่นำมา กล่าวถึงแล้วนั้น จะยกมากล่าวต่ออีกว่า ถ้าแม้เพียงผู้ใดเห็นว่า "นิพพาน" คือจิตสงบดิ่ง นิ่งอยู่เป็นหนึ่ง มีความวางเฉยเป็นปกติอยู่ หรือคือ ผู้มีเอกัคคตา อุเบกขา อันเป็นองค์ธรรมของฌาน ๔ (จตุตถฌาน) เรียกลักษณะนี้ว่า "นิพพาน" คนผู้นั้น ก็ยังอนุโลม ให้เห็นว่าเป็น "นิพพาน" ได้ แต่เป็นนิพพานขั้นลำพอง ชั้นขั้นประถม ไม่ผิดแท้ ตรงทาง แต่ยังไม่ถึงที่สุด เป็นการไปอย่างดี เป็นผู้อยู่ใน "สัมมา" ตามนัยของพระพุทธเจ้าได้
และหรือ ผู้ใดแม้เพียงเห็นว่า "นิพพาน" คือความสุข ความแช่มชื่นใจ ในจิตอันสงบ ระงับเป็นหนึ่งอยู่ หรือคือ ผู้มีสุข เอกัคคตา อันเป็นองค์ธรรม ของฌาน ๓ (ตติยฌาน) เรียกลักษณะนี้ว่า "นิพพาน" คนผู้นั้น ถ้าไม่ถือ ซึ่งมิจฉาทิฏฐิ ไม่ไปปักใจ หลงยึด เอาแค่นี้ เป็นที่สุด จะเรียกจุดที่ถึงแล้วนี้ ของตนว่า "นิพพาน" ของตน ก็ยังได้ ก็เป็นการดี ยังเรียกว่า "สัมมา" ตามนัยของ พระพุทธเจ้าได้
หรือแม้จะเพียงเห็นว่า ความอิ่มอกอิ่มใจ ความแช่มชื่นใจในจิต อันสงบระงับเป็นหนึ่งอยู่ หรือคือ ผู้มีปีติ สุข เอกัคคตา อันเป็นองค์ธรรม ของฌาน ๒ (ทุติยฌาน) เรียกลักษณะนี้ว่า "นิพพาน" คนผู้นั้น ก็ยังนับเข้าโดยอนุโลมว่า เป็นผู้ปฏิบัติอยู่ในขั้น"สัมมา" ตามนัยของ พระพุทธเจ้าได้
หรือแม้จะเพียงที่สุด จะเห็นว่า ความตริตรึกนึกตรอง อยู่แต่กับเรื่องราวที่เกิดๆดับๆอยู่ในจิตนั้น สงบระงับของตน จิตพ้นธรรมอกุศล ออกมาได้แล้ว มีความเป็นอยู่แต่กับจิตนี้ โดยไม่เอากิเลสตัณหาอุปาทาน มาปรุงมาแต่งด้วย หรือคือผู้มีวิตกวิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา จะเรียกลักษณะนี้ว่า "นิพพาน" ของคนผู้นั้น ก็ยังอนุโลมนับให้ได้ว่า ผู้นี้เป็นไปแล้วอย่างดี มีความเห็นถูก (สัมมาทิฏฐิ) กำลังเพียรตน อยู่ในทางที่ถูกที่ควร ที่จะเป็นไปเพื่อ "นิพพาน" ที่แท้ที่จริงที่สูงสุด เป็นผู้เดินอยู่ในทางดี ทางตรงทางแท้ (อริยมรรค) ไม่ผิดเลย แต่ยังไม่ถึงเท่านั้น ข้อสำคัญที่สุดก็คือ ผู้ที่อยู่ในระดับจิตนั้นๆ ทุกระยะ ขอให้ตนอย่าหลงผิด อย่ามีมานะทิฏฐิ และต้องเป็นผู้มี "สติ" หยั่งพากเพียรรู้อยู่เสมอ ว่าเรากำลังเป็นอยู่ในสถานะใดๆ เท่านั้น แต่จะอนุโลมกันไปจนถึง ขีดสุดกว่านี้โดย แม้ผู้เห็นว่า การเอร็ดอร่อย อยู่กับกามคุณ ๕ อันมีรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัสเป็นสุข (พ้นทุกข์) เป็นความเยี่ยมความดี เป็นความถูกความต้อง เป็น "นิพพาน" นั้น เห็นท่้าจะยอมไม่ได้ แม้จะเรียกผู้สมใจ ในการได้เสพรูป เสพรส เสพกลิ่น เสพเสียง เสพสัมผัส อย่างเต็มคราบ ดั่งพระมหาจอมจักรพรรดิ์ จะบันดาลเอา ดั่งมหาเศรษฐี จะเสกสรรปั้นเอาได้ อันเขาจะพึงหามาเสพให้เหลือล้น จนมองหาทุกข์ไม่เห็นอย่างไร ก็ตาม ก็คงจะเรียกว่า เป็นการพ้นทุกข์ โดยนัยของ "นิพพาน" หรือ พ้นทุกข์อริยสัจ ตามนัยของพระพุทธเจ้าไม่ได้แน่ นอกจากจะเรียกว่า "บำบัดทุกข์" หรือ หนีทุกข์ชั่วคราว อันเรียกว่า สุขอย่างโลกีย์ เท่านั้นเอง
ดังนั้น แม้ผู้ใดพึงเพียรปฏิบัติอยู่ และได้ละขาดจาก กามคุณ ๕ ลงได้ เพียงชั่วระยะหนึ่ง ระยะใด ขาดจาก กิเลส ตัณหา อุปาทาน เป็นสุขอยู่กับจิต พ้นอกุศลธรรม แม้จิตจะปรุงแต่งอยู่ เป็นเกิดๆ ดับๆ อยู่แต่ในจิต อันยังไม่ดับ มอดลงได้ ก็ย่อมถือได้ว่า ผู้นั้นมี "นิพพาน" เป็นอารมณ์ มี "นิพพาน" เป็นเครื่องอยู่ มี "นิพพาน" เป็นที่หมาย และ เป็นที่สุดโดยแท้ การปฏิบัติที่เรียกว่า มี "นิพพาน" เป็นอารมณ์นั้นคือ การกระทำอย่างนี้ ผู้นี้จึงคือ ผู้มีสัมมาปฏิบัติ โดยจริง ผู้กำลังทำตน ให้เป็นไปอย่างถูก อย่างแท้ อย่างตรง อย่างควร ตามนัย คำสอน ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า อย่างแท้จริง
นั่นแหละคือ คนผู้ใด ลงมือหัดนั่งหลับตา ดำเนินตน ทำจิตให้เข้าสู่ "สมถะ" เมื่อจิตดำเนินเข้าสู่ฌานที่ ๑. อันมีองค์ธรรม วิตกวิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา ได้ละก็ คือ ผู้เริ่มมี "นิพพาน" เป็นอารมณ์ หรือ คือผู้กำลังหมดกิเลส มีแต่จิตปรุงแต่ง ฟุ้งซ่านอยู่แต่ในจิตของตนเอง ไม่ออกมานอกกาย เกิดๆดับๆอยู่อย่างนั้น เมื่อเริ่มไม่สร้างกามตัณหา อะไรให้ตน ผู้นั้นแหละคือ ผู้กำลังอยู่ในกระแสนิพพาน อยู่ในห้วง แห่งนิพพาน โดยจริงโดยแท้ เป็นผู้ห่างจากกิเลส คือ กามตัณหา โดยควร กำลังเป็นผู้ตั้งทิศติดเครื่องยนต์ ผลักดันตนให้พุ่งเข้าหา จุดหมายปลายทาง คือ "นิพพาน" อันจะเป็นจุดสุดยอด
แต่ถ้าผู้ใด พึงปฏิบัติตนให้ได้เพียงเท่านี้ สงบระงับได้เพียงเท่านี้ คือแค่ระงับกิเลสนิวรณ์ ให้หมดสิ้น และจมอยู่กับจิตระดับแค่นี้ ไม่ก้าวหน้า ไม่มีการ"ดับ" วิตกวิจาร (จิตฟุ้งซ่านอยู่กับอารมณ์ปรุงแต่ง แห่งการเกิดดับของจิตตัวเอง คือยังมีตัณหา ปรุงแต่งจิตอยู่ อันเป็นตัณหา แห่งการเกิด-ดับในจิต ที่เรียกว่า ภวตัณหา) ความตริตรึก นึกคิดอยู่กับ จิตปรุงแต่งของตนนี้ เป็นไปอยู่แล้วๆเล่าๆ ไม่ระงับลงได้ (เพราะไม่ระงับตัณหาตัวใน อันคือภวตัณหา จึงคงทำงานอยู่เรื่อย) คนผู้นี้ ก็จะได้อารมณ์นิพพาน ก็เพียงแค่นี้ จะสูงขึ้นกว่านี้ไม่ได้ จึงได้ "นิพพาน" ขั้นชั้นประถมจริงๆ จะเห็นแต่การเกิด คือ "นาม" และ การดับอันคือ "รูป" อยู่แล้วๆ เล่าๆ เท่านั้น เมื่อนามและรูป มันสัมพันธ์กัน มันปรุงแต่งกัน มันก็เกิดเป็นเรื่องเป็นราว เป็นชีวิตชีวา เป็นตัวเป็นตน ให้เรารู้เราเห็นอยู่อย่างนั้น เรื่องแล้วเรื่องเล่า อยู่นั่นเอง
"นิพพาน" จึงเป็น นิพพานแค่ความสุข ที่ได้รู้ได้เห็นเรื่องราวต่างๆ เห็นชีวิตชีวาต่างๆ ในจิตของตน เหมือนคนนำอาหารแห้ง หรือ พวกของแห้งต่างๆ ไม่มีอาหารใหม่สดอันใด (สัญญา) ของตน ที่เคยเก็บสะสมไว้ ออกมาปรุงเป็นต้ม เป็นผัด เป็นแกง เป็นยำใหญ่ ให้ตนเองกินอีกที รสชาติก็เท่านั้นๆ
ถ้าผู้ใด พยายามมี"สติ" อ่านสภาวะ ฌานที่ ๑ นี้ให้ออก ก็จะเห็น ดังที่ข้าพเจ้าอธิบายนี้ ก็จะแจ้งสภาพของฌานได้ จะรู้กำหนดขีดขั้น ของสภาวะฌานได้ด้วย บางคนเคยผ่าน ฌานที่ ๑ นี้มานักหนา แต่ไม่รู้ว่าตนผ่าน เพราะไม่รู้เรื่องแท้จริง ปฐมฌาน หรือ ฌานที่ ๑ นี้ไม่ได้ลึก ไม่ได้ไกลอะไรนักหนาเลย แค่คนผู้ระงับกิเลส ระงับนิวรณ์ ให้ได้เท่านั้น ก็เป็นฌานแล้ว
ดังนั้น คนผู้ใด เข้าที่นั่งหลับตา แล้วก็สำรวมจิตเข้าระงับกิเลส ตัดนิวรณ์ให้ได้ ผู้นั้นก็จะเข้าสู่ฌาน ขั้นที่ ๑ ทันที และโดยเช่นเดียวกัน สำหรับ ผู้ไม่ได้นั่งเข้าที่หลับตา (คือคนธรรมดา) แม้จะเป็นคนปกติลืมตา ก็จึงนับเป็น"ผู้มีฌาน" เป็นผู้รู้แจ้ง เห็นนาม-รูปได้ เป็นผู้เรียกได้ว่า กำลังมีการปฏิบัติธรรม ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า อย่างถูกอย่างแท้ ได้เช่นกัน
นั่นคือ คนผู้ใด พยายามมีสติ ระลึกรู้ตนให้ได้ แล้วก็พยายามตัดกิเลส ตัดนิวรณ์ต่างๆ อย่าให้เข้ามาในจิตตนได้ เมื่อเป็นไปได้ อย่างนั้นขึ้นมา ขณะใด นั่นแหละคือ ผู้นั้นเป็นผู้มีฌานในตน เป็นผู้มีฌานประดับตนแล้ว เป็นผู้ไร้กิเลส ไร้นิวรณ์ ๕ เป็นสมุจเฉท แม้จะอยู่ในขณะลืมตา และ ปฏิบัติกิจการงานใดๆ อยู่ก็ตาม
คนผู้มี "ฌานประดับตน" ดั่งนี้ จึงคือผู้หมดยึดถือ คือ ผู้ไม่รู้สึกกาย หรือ ผู้ไม่เอาภาระกับตัวตน ขั้นที่ ๑ เรียกได้ว่า ละสักกายทิฏฐิ ได้เด็ดขาด จะมากน้อยแค่ใด ก็ตามแรงแห่งความละขาดของผู้นั้น ตราบใด เป็นอยู่อย่างนี้ จิตเป็นไปได้อย่างแท้จริง คนผู้นี้ก็จะทำ กิจการงานนั้นๆ อยู่อย่างไม่ยึดถือ อย่างไม่มีอารมณ์ กิเลส และนิวรณ์ใดๆ ย่อมเป็นกิจการงาน ก็เพียงเพื่อกิจการงานนั้นๆ และ เพื่อผู้อื่นเท่านั้น คำว่า เพื่อ "ตัวตน" จึงไม่มี เพราะผู้นี้ไม่มี "ตัวตน" แล้ว
ความสูง ความดี จึงเกิดอยู่ดังนี้ เป็นไปในลักษณะนี้ นี่คือ"คุณ" นี่คือ"ประโยชน์"ของพระอริยะ คนผู้ใด มี"ฌานประดับตน" ดังกล่าวนี้ และยังคงมีฌานอยู่ในตน คือมีลักษณะจิตและอารมณ์ ดังเล่ามานี้ในตน อยู่ตราบใด คนผู้นั้นก็เป็น "พระอริยเจ้า" อยู่ตราบนั้น
และถ้าคนผู้ใด เพียงทำตน ให้อยู่ในสภาวะไร้กิเลส ไร้นิวรณ์ได้ มีสติครองตน หมดความยึดถือ "ตัวตน" ดังกล่าวแล้ว ครองอยู่ได้ ในชั่วระยะเวลาใด ก็ในช่วงระยะเวลานั้นแหละ คนผู้นั้นครองความเป็น "พระอริยเจ้า" จะเป็นพระอริยเจ้า นานช้าเท่าใด ก็อยู่ที่คนผู้นั้น ทำตนให้มี "ฌานประดับตน" ให้มีสติครองตนให้ได้ ตามระยะเวลานั้นๆ เมื่อหมด "ฌาน" คือปล่อยกิเลส ให้นิวรณ์เข้าครอบงำ เสียเมื่อใด เมื่อนั้น ก็หมดความเป็น"พระอริยเจ้า"ลง ลักษณะของคน ผู้มีคุณแท้แก่โลกและแก่ตน ก็หมดลง แต่ถ้าผู้ใด หมด "ฌาน" ลงแล้ว หากยังมี "สติครองตนอยู่ ก็ยังนับว่า คนผู้นั้นก็ยังดี ยังลดลงจากความเป็น พระอริยเจ้าลงไป เป็นผู้มี "ธรรม" คือมี "สติกำกับตน" เมื่อใด ปล่อยให้ "กิเลส" เข้าครอบงำได้ ก็ยังจะรู้ตัวได้ว่า ตนแพ้กิเลสแล้วหนอ ก็รู้ล่ะ ว่าตนเลว ว่าตนชั่ว ตนเป็นผู้แพ้ เมื่อใดประหารกิเลสลงได้ กิเลสนิวรณ์เข้ามาในตนไม่ได้ เมื่อนั้นก็มี "คุณลักษณะ" เป็นพระอริยเจ้าขึ้นมาอีก แต่ถ้าขืนปล่อยให้ "สติ" ขาดหายหลุดไปจากตนเมื่อใด เมื่อนั้น เราก็คือ "ปุถุชน" คือ ผู้มีความเป็นโลก คนผู้หลงอยู่กับอารมณ์แวดล้อม (อันก็คือโลก) ย่อมไม่ใช่ผู้ใฝ่สูง บุคคลผู้เรียกได้ว่าสมณะ เรียกได้ว่าผู้ปฏิบัติธรรม เรียกได้ว่า ผู้พึงเพียรบำเพ็ญธรรม จักเป็นผู้พ้น ผู้หลุด เป็นผู้สูงได้ในอนาคต แม้พากเพียรอยู่ตราบใด ย่อมเป็นที่หวังได้ว่า จะเป็นผู้ถึงซึ่งอรหันต์
เพราะฉะนั้น ลองมาสนใจกันอีกสักนิดเถอะว่า การทำตนให้สู่ที่สูง หรือที่เรียกว่า ผู้ปฏิบัติธรรมนั้น คืออย่างไรกันแน่
นอกจากคือ ผู้ที่พยายามนั่งหลับตา บำเพ็ญฌาน อย่างที่ได้กล่าวมาแล้วแต่ต้นนั้น เพื่อให้ "จิต"ได้ฝึก เพื่อให้ "จิต"ได้กระทบได้สัมผัส กับสภาวะที่เรียกว่า "ฌาน" ตามนัย ดังที่ได้อธิบายมาแล้ว ก็ยังมีอีกทางหนึ่ง คือ จงเป็นผู้หัดมี "สติ" ตรวจตราตนเอง หรือควบคุมตนเอง แล้วก็พยายามสะกัดกั้น ประหัตประหารกิเลสนิวรณ์ให้ได้ ช่วงเวลาใดที่ "จิต"ผู้ใด เป็นผู้อยู่โดยมี "สติ" ครองตน และสะกัดกั้นประหาร กิเลสนิวรณ์ ลงได้หมด ช่วงเวลานั้น คนผู้นั้นก็คือ ผู้มี"ฌานประดับตน" เป็น "พระอริยเจ้า"ชั่วคราว เป็นผู้พ้นสักกายทิฏฐิ เป็นผู้มี คุณประโยชน์แก่โลก และแก่ตน เพราะเป็นผู้ไม่มีตัวตนแล้ว ขณะนั้น และผู้นั้นก็คือคนดีๆ มีสติสัมปชัญญะ ลืมตาโพลงๆ นี่แล ไม่ใช่ผู้นั่งหลับตาแต่อย่างใด ผู้นี้แหละ ยิ่งคือ ผู้ได้ "ฌาน" (ยิ่งกว่า) ในขณะนั่งหลับตาอยู่เสียอีก เป็นผู้สูงกว่า ผู้ได้ "ฌาน" ในขณะนั่งหลับตา เป็นไหนๆ
นี้แหละคือ การปฏิบัติธรรมโดยแท้จริง การเป็นผู้อยู่โดยชอบโดยควร จะเป็นใครก็ได้ ทำมาหากินอยู่ อย่างหนักเท่าใดก็ได้ ปฏิบัติ ดังกล่าวแล้วนั้นได้ ทำตนอย่างนั้นได้ ก็จงได้เร่งทำ ได้เร่งลงมือเถิด คุณประโยชน์แท้ แก่นสารแท้จริง อยู่ที่ตรงนี้เท่านั้น แลในคนนอกกว่านี้ หามีอันใด ที่จะเป็นทางที่น่ายึดถือ หรือสร้างแก่นสารให้แก่ตนได้ไม่
๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๓
ประกายธรรม ๖-๓
*****