เส้นเลือดใหญ่เส้นหนึ่งของผู้พึ่ง "ธรรม"

ท่านผู้ศึกษาธรรมะ และเคยได้ปฏิบัติธรรมมาบ้างแล้ว คงจะต้องเข้าใจดีว่า เรื่องของไตรลักษณ์นั้น เป็นเรื่องสำคัญ เป็นเส้นเลือดใหญ่ หรือเป็นลำธารสายใหญ่ ที่จะนำพาผู้ปฏิบัติธรรม ให้ไปสู่จุดสูงสุด คือ "นิพพาน" ทีเดียว

ดังนั้น ลองฟังเรื่องของ "ไตรลักษณ์" ในแง่หนึ่งมุมหนึ่ง ซึ่งข้าพเจ้าได้ลองแยกแยะ ออกมาเล่าสู่กันฟัง นี้ดูบ้างซิ จะพอเป็นประโยชน์ ได้บ้างหรือไม่?

เรื่องของ ไตรลักษณ์ เป็นเรื่องสำคัญต่อจาก เมื่อรู้จักรูปกับนาม อย่างดีแล้ว การเดินทางและเป็นไปอยู่ หรือ มีชีวิตอยู่ ของรูปและนาม เราเรียกว่า ไตรลักษณ์ เช่นเดียวกับคำว่า "ชีวิต"

ถ้าจะสมมุติ "วงชีวิต" (วัฏฏะ) แต่เพียงวงแคบๆ ระหว่าง ผู้ชายคนหนึ่ง กับผู้หญิงคนหนึ่ง นั่นก็คือ ผู้ชาย หมายถึง รูป หมายถึง ผู้มีความดึงดูดน้อย เป็นสิ่งที่มีความรู้สึกน้อย เป็นตัวดีดดิ้นน้อย หรือ ถ้าจะพูด ให้ถูกกับลักษณะของ "รูป" โดยตรง ก็คือ ผู้ชายเท่ากับ สิ่งที่ตายแล้ว หรือคือ "ดับไปแล้ว" และโดยนัยนี้ แต่เป็นทางตรงกันข้าม ผู้หญิง ก็คือนาม คือผู้กำลังดีดดิ้น เร่งเร้า เป็นผู้ยังมีชีวิต โดยตรงก็คือ สิ่งที่ยัง ไม่ตาย หรือคือ "เกิดขึ้น" นั่นเอง เพราะฉะนั้น ถ้าโลกนี้มีผู้ชายคนนี้คนเดียว ดังที่สมมุติ และ ก็มีผู้หญิง คนนี้ คนเดียวด้วย ถ้าผู้หญิงคนนี้ต้องการ จะให้โลกยัง "มีชีวิต" ต่อไป ผู้หญิงผู้ยังไม่ตายนี้ จึงจะต้อง เดือดร้อน ดิ้นรน และ จะต้องพยายาม "ปลุก" หรือ ทำการใดๆ เพื่อให้ได้ผสมพันธุ์ กับผู้ชาย หรือ ผู้ที่เรา กำลังเข้าใจอยู่ว่า "ตาย" แล้วนี้ให้ได้

และที่จริงผู้ชายที่ว่าตายนั้น ก็ยังไม่ตายหรอก แต่มี "ความเป็น" น้อยกว่าผู้หญิง ดังนั้น เมื่อไม่ตายจริง จึงต้องถูกผู้หญิง พยายามเร่งเร้า ดึงดูด ให้วิ่งเข้าไปผสม สืบพันธุ์จนได้ แล้วก็จะก่อเกิดเป็น "ลูก" ออกมา ในช่วงที่เรียกว่า ดิ้นรนเร่งเร้า ของผู้หญิง และเวลาพร้อมๆกับ เรื่องราว หรือปรากฏการณ์ ทั้งหมด ที่เกิดขึ้น จนกว่าผู้ชาย จะไปผสมพันธุ์กับผู้หญิง นั่นแหละ เราเรียกว่า "ตั้งอยู่" หรือการ "มีชีวิต" หรือ การเป็น "ชีวิต" เพราะถ้าผู้หญิง ไม่ดิ้นรน ปล่อยให้ผู้ชาย ที่ถือว่า ตายแล้วนั้น ตายไป ตนเองไม่ช้า ก็จะต้องตายตาม อย่างสูญพันธุ์ แล้ว "โลก" ก็จบ ทุกสิ่งทุกอย่าง ก็ไม่มีความเกิด จึงจบอยู่ได้ ในลักษณะนี้

ดังนั้น ย่อมพูดได้สั้นๆว่า ผู้ชาย คือรูป ผู้หญิง คือนาม เมื่อรูปกับนาม ผสมกัน ก็เป็นวิญญาณ แล้วก็มี ตัวตน ใหม่ขึ้นมา ไตรลักษณ์ ก็คือ ผู้หญิง-ผู้ชาย - และการดีดดิ้น ให้เป็นไป เพื่อจะได้ ผสมพันธุ์นั่นเอง ถ้าผู้หญิงกับผู้ชายคู่นี้ แต่งงานกัน ก็จะมีแต่การ "ก่อเกิด" คือ จะมีแต่สร้าง "วิญญาณใหม่" ให้ตัวใหม่ เกิดขึ้นอยู่นั่นเอง จะไม่มี "ดับไป" ได้ง่ายๆ และ ถ้าผู้ชาย กับผู้หญิงคู่ใด ยังไม่ได้แต่งงานกัน แต่กำลัง ติดต่อกันอยู่ ด้วยความเป็นคู่รักกัน เอาอกเอาใจกันบ้าง ทะเลาะกันบ้าง กระเง้ากระงอดกันบ้าง ต่างๆ นานา จนสุดท้าย ก็แต่งงานกัน หรือ แม้จะไม่ได้แต่งงานกัน เพราะลงเอยกันไม่ได้ แล้วต่างก็ไปหาคนอื่น จับคู่กับคนใหม่ อะไรต่างๆ เหล่านี้แหละ คือ บทบาทของ "ชีวิต" คือการยังเป็นไป การดีดดิ้น การยังไม่ยอม "ตาย" การยังไม่ยอม "ดับไป" ยังมีความฟุ่งซ่าน คิดหวังจะก่อ "การเกิด" ใหม่อีกให้ได้ อันเรียก รวมได้ว่า "ตั้งอยู่" นั่นเอง (ไตรลักษณ์ คือ ๑.เกิด ๒.ตั้งอยู่ ๓.ดับ รวมเป็น ๓ ลักษณะ)

ฉะนั้น ถ้าใครเกิดมาแล้ว ไม่ดีดดิ้น หรือไม่คิดถึงเรื่อง จะสืบพันธุ์ หรือไม่คิดว่า จะต้องมีคู่ จึงเป็นผู้ที่เกิด และดับในตัวแล้ว ในช่วงหนึ่ง ของความแท้จริง แห่งชีวิต เพราะเท่ากับ เกิดแล้วก็ดับไปแล้ว ตัด "ทุกข์" อันคือ การ "ตั้งอยู่" ของชีวิต ออกไปได้ จำนวนหนึ่ง เป็นก้อนโต เสียด้วย ดังนั้น ผู้นี้จะมีชีวิตอยู่ ก็เพียงคิดถึง แต่ตัวเอง และความเกี่ยวข้อง ในวงที่เกิดแล้ว เป็นแล้ว อันคือ ญาติพี่น้อง มีพ่อแม่เป็นสำคัญ เท่านั้น ที่จะต้องดีดดิ้น เป็นบ่วงแห่งชีวิต จึงดีดดิ้นน้อยลง มีความเป็น "ชีวิต" น้อยลงจริงๆ (ที่จริง สำหรับหลักการ ของพระพุทธองค์แล้ว พอใครเริ่มบวช ก็จะต้องตัดขาด จากเมถุนธรรม เลิกเรื่องสืบพันธุ์ หรือเรื่อง มีผัวมีเมีย กันอย่างเด็ดขาดทันที ใครแตะต้อง เป็นถูกจับสึก และแม้ความเป็นญาติ ก็ยังให้ ตัดขาดลงไปด้วย)

ดังนั้น ที่สำคัญที่สุด ก็คือ "ตัวเอง" ซึ่งมันยังโง่ ยังดีดดิ้น เพื่อความอยู่รอด ของคำว่า "ชีวิต" และ เมื่อเหลือแต่เพียง "ตัวเอง" ก็ไม่ต้องคิดเผื่อแผ่ไปอื่น ให้เป็นเรื่อง มากมายหนักหนา จึงเท่ากับ ตัดวัฏฏะ หรือ ตัดวงโคจร ที่ตัวเองจะต้องวิ่ง ต้องเต้น ต้องดีดดิ้น เอาเงินทอง เอาสิ่งที่ จะนำมาปรุงแต่ง ให้ตัวเอง และ ส่วนที่ตัวเอง ยังยึดเอามาเกี่ยวข้อง เพื่อให้อยู่รอด ด้วยลงไปได้ ตัวเอง จึงน้อยลง คำว่า "ตัวตน" จึงเล็ก จึงแคบเข้า มีชีวิต แคบลง เล็กลง โดยความเป็นจริง ดังนี้ ถ้ามีครอบมีครัว มีลูกมีเต้า มีญาติ เพิ่มขึ้นไปอีก ความดีดดิ้น จึงต้องทวีตาม ความ "จบสิ้น" จึงจะมีได้ยากขึ้นไป ตามความเป็นจริง ผู้จะมองเห็น ไตรลักษณ์ ต้องเข้าใจ รูปกับนาม ให้ถ้วนทั่ว นอกจากในลักษณะ ที่ได้เล่า ให้ฟังนี้ ชี้ให้เห็น ความเป็น ไตรลักษณ์แล้ว แม้ช่วงชีวิต ที่สั้นกว่านี้ ก็เป็นไตรลักษณ์ตัวเล็ก ตัวละเอียด ตัวที่มี วงแคบ วงสั้นตามลำดับ ลงไปทั้งสิ้น เช่น ถ้าจำกัด วงชีวิต (วัฏฏะ) หรือ ความเป็นอยู่ ของเด็กสักคน อายุเพียง ๒-๓ ขวบ เขาก็ไม่มีหน้าที่อะไร ที่จะรับผิดชอบ หรือ จะต้องดีดดิ้น คิดค้น เพื่อความอยู่รอด มากนัก เขาจะยัง ไม่รู้จักคำว่า คนอื่น นอกจาก "ตัวเอง" ดังนั้น ความสำคัญของเขาก็คือ ต้องได้อาหาร มาใส่ปาก เป็นตัว ดีดดิ้น ที่สำคัญที่สุด ถ้าขาดอาหาร ก็ "ดับไป" ก็เท่านั้น

เรื่องอื่นจะไม่ทำให้เด็กคนนี้ ดับง่ายๆ เป็นต้นว่า แม้เด็กคนนี้ จะไม่ได้วิ่งเล่น จะไม่ได้นุ่งห่ม จะไม่ได้มี ที่อยู่อาศัย ดังนั้น ความสำคัญ ชั้นที่หนึ่ง ของเด็กคนนี้ ก็คือ "อาหาร" เท่านั้น ตัวเขาจึงเป็น "นาม" ต้องดีดดิ้น หาอาหาร มาใส่ปากเข้าท้อง ของเขาให้ได้ เพื่ออยู่รอด และ อาหารก็เป็น "รูป" ไป เมื่อเขาได้ อาหารมาผสม เข้าในร่างกาย หรือจะเรียกให้ฟังยากๆว่า ได้อาหารมาสืบพันธุ์ เข้ากับร่างกายของตน อันคือ ได้อาหารมา ปรุงแต่งร่างกาย ก็เหมือนกันนั่นเอง ในความหมาย ตัวเด็กคนนี้ ก็จะ"ตั้งอยู่" ไม่"ดับไป" จะยังมีความ "เกิดขึ้น" ความเกิดขึ้น ที่ว่านี้ก็คือ ชีวิตของเขา "เกิด" (ตั้งอยู่ หรือโตขึ้น) จากก่อน ที่จะได้กินอาหาร เหมือนรถยนต์ น้ำมันหมด เรียกว่า รถยนต์ตาย พอไปเอา น้ำมันมาใส่ รถยนต์ก็ติดเครื่องได้ รถยนต์ก็ "เกิด" ใหม่ ดังนี้

การเป็นอยู่เพียงช่วงสั้นนี้ ก็เป็นวงวัฏฏะ ที่เล็กละเอียด ซ้อนวงวัฏฏะใหญ่ๆ เข้าไปอีก แม้ในจิตในใจ ก็มีรูปกับนาม ผสมพันธุ์หรือ "ปรุงแต่ง" หรือสืบพันธุ์อะไร ก็เรียกได้ ถ้าเข้าใจลักษณะ ความแท้จริง ของเรื่องนั้น ของสิ่งนั้น ได้ถูกฝาถูกตัวการ "ตั้งอยู่" นี่แหละ จึงเรียกว่า "การเกิด" พระพุทธองค์ตรัสว่า "การเกิด" เป็นทุกข์ ก็คือสิ่งนี้เอง

ดังนั้น ถ้าใครไม่ให้มีการเกิด ไม่ต่อการเกิด ให้ยืดยาว แตกแขนง ใหญ่โต ขึ้นได้เท่าใด ก็พ้นทุกข์ไปได้ มากเท่านั้น สิ่งแวดล้อมข้างนอก ถ้าเราตัดการเกิด ที่จะแผ่ขยายออกไป อย่างที่ว่านี้ได้ ก็เท่ากับเรา ตัดไฟแต่ต้นลม ไปได้เป็นระดับๆ ยิ่งไม่ต้องการ แม้ลาภ - ยศ - สรรเสริญได้ด้วย ก็เท่ากับเราตัด "การเกิด" ไปได้ เพิ่มให้ตน อีกอักโข และสุดท้าย ก็มาตัด "การเกิด" แต่เพียง ภายในจิต ของเราเอง การเกิดภายในจิต ก็ไม่มีอะไรมากแล้ว ก็เหลือโลภะ โทสะ โมหะ อย่างอ่อน อย่างเบา เท่านั้นเอง เพราะลาภ ก็คือ โลภะอย่างแรง ยศก็คือ โลภะอย่างกลาง และสรรเสริญ ก็คือ โลภะ อย่างละเอียดอ่อน มีความสำคัญ กับชีวิตแท้ๆ จริงๆ ไล่ลงไปตามลำดับ และ ที่เรายังตัดไม่ได้ ก็เพราะยังมี "โมหะ" ตัวเดียว โมหะก็คือ ความหลงเข้าใจผิด หลงว่า เราจะต้องโลภะ เราจะต้องโทสะ จึงจะเรียกว่า "คนผู้มีสุข" แท้จริง

คนผู้มีสุขนั้น ไม่ใช่คนผู้ที่มีโลภะ มีโทสะ คนผู้ไม่มีโลภะ ไม่มีโทสะ ต่างหาก จึงจะเป็นผู้มีสุข ถูกต้อง ถูกตรงอย่างแท้ เมื่อรู้แจ้งดังนี้ ก็หมดโมหะ แล้วก็พยายาม ใช้จิตตัวเอง อ่านตัวโลภะ กับ โทสะ ที่มีในตัวเอง น้อยเต็มทีนั้นให้ออก (โลภะ ก็คือ กามราคะ, รูปราคะ, อรูปราคะ, และ โทสะ ก็คือ ปฏิฆะ, มานะ) พร้อมกันนั้น ก็"ดับ" หรือ ฆ่าเจ้าตัวโลภะ และโทสะ ออกไป ให้หมดสิ้น จากจิตใจของเรา อย่าให้มี "โลภะ" เกิด อย่าให้มี "โทสะ" เกิดอยู่ในจิต ของเราได้ ก็เป็นการ "ดับ" เจ้า "การเกิด" ตัวที่เล็กละเอียด ได้หมดสิ้น ก็เป็นผู้อยู่สุข อย่างแท้จริง เป็นผู้พ้นภาระ เป็นผู้จบ เรื่องที่จะต้องทำ ให้ตนเองแล้ว ทั้งสิ้น จะเหลือก็แต่ ความเป็น "ผู้รู้ (พ้นอวิชชา) และ อยู่โดยควบคุม ความมีชีวิต หรือควบคุมจิต ที่ยังจะต้อง รับกระทบ สัมผัสกับ "โลก" ที่เรายังไม่ดับจากไปจริงๆ อยู่เท่านั้น (คือ ปล่อยให้มีเพียง อุทธัจจะ และ คุมอุทธัจจะ นั้นไว้ด้วย "วิชชา" หรือ "ปัญญา" อันถูกต้อง เหมาะควรนั่นเอง)

ก็แล้วเจ้า "โลภะ" กับ "โทสะ" ๒ ตัวนี้ มันยังเกิดอยู่ที่ผู้ใด ? เพราะ "เหตุ" อะไร? นี่สิ สำคัญที่ควรรู้ ก็เพราะเหตุว่า ผู้นั้นยังมี "โมหะ" ตัวความหลง อยู่ในจิตใจอยู่ โมหะ หรือหลงผิดอยู่ในอะไร ? ก็หลงผิด อยู่ในเรื่องของ รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัสนั่นเอง

ถ้าผู้ใดยังเห็นว่า รูปสวย ก็ยังต้องการ รสอร่อย ก็ยังต้องการ เสียงไพเราะ ก็ยังต้องการ สัมผัสเสียดสีถูกใจ ก็ยังต้องการ ผู้นั้นแหละ ยังได้ชื่อว่า ยังไม่หมด โมหะ ดังนั้น เมื่อโมหะตัวโต รู้แจ้งหมดแล้ว ก็ต้องรู้จักโมหะ ตัวเล็กลงไปเรื่อยๆ ให้ได้ เมื่อรู้ว่า มันไม่ใช่ของที่เรา จะต้องมี ต้องได้ มันไม่ใช่แก่นสาร ของชีวิต มันไม่ใช่ของจำเป็นอะไร เหมือนเด็ก คนที่ได้ยกตัวอย่าง แล้วว่า เขาไม่ได้วิ่งเล่น เขาก็ไม่ตาย เขาไม่ต้อง มีเสื้อผ้า ก็ยังจะไม่ตาย แม้จะไม่มีที่อยู่ ก็จะยังไม่ตาย เพราะฉะนั้น ผู้ใหญ่ก็เหมือนกัน แม้จะไม่ต้องมี ความสวย ไม่ว่าตัวเองสวย ด้วยตบแต่งให้สวย หรือ หาเสื้อผ้าสวย มาให้ตน อะไรก็ตาม ก็เป็นเรื่อง เกี่ยวพันกัน เป็นเรื่องเดียวกันทั้งสิ้น ไม่ใช่เรื่องจำเป็น อะไรเลย ไม่ต้องมีสิ่งเหล่านั้น ก็ไม่ตาย ถ้าเราจะมีเสื้อผ้า ก็สักแต่ว่า มีใส่พอกันอุจาด กันร้อนหนาว กันสัตว์แมลง มีชุดเดียวก็ได้ ถ้าเก่งจริง เหมือนอย่าง พระท่านมีไตรจีวร เพียงชุดเดียว และ อาหารที่จะกิน เข้าไปในร่างกาย อะไร ก็กินได้ เมื่อเป็นอาหารแท้ อาหารจริง ที่คนพึงกินกัน โดยไม่ต้องเห็นว่า อร่อย หรือ ไม่อร่อยทั้งสิ้น สักแต่ว่ากิน ก็แล้วกัน และ ที่อยู่ก็สักแต่ว่า ที่หลบนอน ที่อาศัยกันแดดลม กันร้อนหนาว ก็เท่านั้น ส่วนยา รักษาโรค ถ้าไม่มีโรค ก็ไม่จำเป็นเลย

เพราะฉะนั้น สรุปแล้ว อะไรอื่น นอกจากนี้ เป็นของ นอกประเด็น ทั้งสิ้น เป็นเรื่องที่เรียกว่า ขาดจากกันได้ โดยเด็ดขาดแน่แท้ แม้จะไม่ต้องเห็น ต้องพบสิ่งอื่นๆ เหล่าใด อันพึงมีในโลก นอกจากอาหาร ที่อยู่ เสื้อผ้า ดังกล่าวนี้ ก็จะไม่ตาย เป็นอันขาด จะอยู่ได้ อย่างสุขแท้จริง ถ้าใจผู้นั้นบริสุทธิ์ ผุดผ่อง หมดโมหะ คือ เข้าใจได้ถ่องแท้ อย่างนี้ แล้วก็ปฏิบัติ ให้ได้อย่างนี้ ผู้นั้นก็ไม่มี "การเกิด" ที่ใหญ่โต จนเรียกว่า ทำทุกข์ให้แก่ตน

นั่นคือ ถ้าอยาก จะยังไม่ "ตาย" จริงๆ ก็หาปัจจัย แท้ๆ เพียง ๓-๔ สิ่งนี้ ให้ตนเท่านั้น นอกนั้น ไม่พึงเป็นสิ่งที่ สำคัญอะไร กับตัวเอง อย่างจริง อย่างแท้ ถ้าไม่อยากอยู่ คือ ไม่อยากได้ชื่อว่า "เกิดอยู่" คือ "ตาย" นั่นเอง ก็ไม่ต้องใช้ แม้แต่ปัจจัย ๔ นี้ อยู่อย่าง ไม่อนาทร อะไรจริงๆ อาหารก็ไม่ต้องกิน เสื้อผ้า ก็ไม่ต้องเอาใจใส่ ที่อยู่ก็ไม่อีนังขังขอบ ยาก็ไม่ต้องใช้ เมื่อได้เวลา ร่างกายนั้น และ จิตใจนั้น ก็จะแยกจากกัน ออกจากร่างกาย ไปอย่างสงบที่สุด บริบูรณ์ที่สุด เป็นการ "จบ" ชีวิตที่เรียบร้อย สันติที่สุด จึงเรียกว่า หมดสิ้นเชื้อ แห่งการเกิด นั่นคือ เมื่อพระอรหันต์ ท่านใด คิดว่าตนเอง ถึงเวลาแล้ว ที่ควรจะตาย ก็จะทำตนอย่างนี้ แล้วก็จากไป อย่างหมดเชื้อ ดังนี้ การเกิดด้วยเชื้อใด ก็ไม่มีอีก

๒๗ พฤศจิกายน ๒๕๑๓

ประกายธรรม ๑๓

******