ใครลากจูงใครมากกว่ากัน ระหว่าง "คน" กับ "ศาสนา" ในทุกวันนี้?

มีเหตุที่เรียกว่า ทำให้ "ศาสนาเสื่อม"ลงอยู่ ๒ ประเด็นด้วยกัน ที่นับว่าเป็น "เหตุ" ข้อใหญ่ๆ คือ

๑.เพราะความไม่รู้ว่า "เนื้อแท้ของศาสนานั้น คืออะไร?"
๒.เพราะ "ความมักง่ายของคน"

ด้วยเหตุ ๒ ประการนี้เอง ทำให้ศาสนาเสื่อมลงทุกวันๆ ข้าพเจ้ากล้าพูดว่า "ศาสนาเสื่อม" ก็เพราะ ผลของศาสนานั้นน้อยลงๆ จนแทบจะเรียกได้ว่า ไม่มีผลออกมาให้เห็นเลย ในทุกวันนี้

ศาสนาที่ข้าพเจ้ากำลังพูดถึงอยู่ในขณะนั้น ข้าพเจ้ากำลังพูดถึง "ศาสนาพุทธ" เพราะ"ศาสนาพุทธ" เป็นศาสนาประจำชาติไทย เป็นศาสนาที่แพร่หลาย กว้างขวางที่สุด ในประเทศไทย และก็เป็นการดีที่สุดแล้ว ที่ประเทศไทยรับนับถือเอา ศาสนาพุทธ เป็นศาสนาประจำชาติ เพราะศาสนาพุทธ เป็นศาสนาแห่งความถึงที่สุด เป็นศาสนาที่มีจุดสุดยอด เป็นศาสนาที่รู้แจ้งทะลุหมดสิ้นถึงที่สุดแล้ว ไม่ฝากสิ่งไม่รู้ ไว้ให้แก่เทพเจ้าองค์ไหน เป็นศาสนาแห่งเหตุและผลถ้วนทั่ว เกี่ยวโยงซึ่งกันและกัน เป็นศาสนาที่รู้แจ้ง ถึงความจริงแท้ ไม่บิดพลิ้วแปรผัน

ดังนั้น ประเทศไทย จึงได้ชื่อว่า เป็นเมืองที่ฉลาดที่สุดประเทศหนึ่ง ในไม่กี่ประเทศ และเป็นประเทศที่จะมีทุกข์น้อยที่สุด ประเทศหนึ่ง

เพราะ "ศาสนาพุทธ"นั้น ที่สุด หรือจุดหมายของศาสนา คือ นำพาให้ผู้ปฏิบัติ สิ้นทุกข์ทั้งมวล

จึงน่าจะได้ลองนำมาคิดดูกันบ้างว่า คนทุกวันนี้ โดยเฉพาะคนไทย มีทุกข์มากขึ้น หรือน้อยลง ซึ่งตามความเป็นจริง มันก็ต้องมี"ทุกข์"มากขึ้น เป็นธรรมดาอยู่ล่ะ แต่ว่า ผู้สิ้นทุกข์แท้จริงหนะสิ มีมากขึ้นหรือน้อยลง? ผู้สิ้นทุกข์ในที่นี้ ก็คือ ผู้รู้แจ้งเหตุ ทำให้ทุกข์ แล้วก็ดับเหตุนั้นเสียได้ ผู้นั้นก็หมดสิ้นทุกข์ไปทันที คนผู้เป็นดังนี้ คนผู้อยู่ในลักษณะนี้ มีอยู่เท่าไหร่ ในเมืองไทยขณะนี้ คิดเป็นรายเฉลี่ยกันแล้ว มีมากขึ้นหรือน้อยลง?

ข้าพเจ้าไม่ต้องตอบเองเลย ใครๆก็ต้องตอบได้ว่า บุคคลผู้สิ้นทุกข์จริงๆ ด้วยรู้แจ้งเหตุที่ทำให้ตัวเองทุกข์ แล้วก็ดับเหตุนั้นเสียนั้น มีจำนวนน้อยลงๆ แน่ๆ ทั้งๆ ที่สภาพของศาสนาพุทธทุกวันนี้ ข้าพเจ้าเคยได้ยิน คนเป็นจำนวนมากพูดกันว่า ศาสนาพุทธในเมืองไทยเจริญ คำว่า "เจริญ" หมายความว่า มีผล อันตรงตามเป้าหมาย ก้าวหน้าเพิ่มมากขึ้น เป้าหมายที่แท้ของพุทธคือ "จะต้องทำให้คนพ้นทุกข์" ดังนั้น คำว่า "เจริญ" ต้องมี"คนพ้นทุกข์"มากขึ้น จึงจะเรียกว่า "เจริญ" ข้าพเจ้ามองไม่เห็น ตามที่คนเขาพูดกัน เช่นนั้นเลย

แต่ถ้าจะพูดว่า "วัด" ในเมืองไทยทุกวันนี้ มีมากขึ้น โบสถ์วิจิตร และเป็นตัวแสดงผลแห่งความเจริญ ทางวัตถุยิ่งๆขึ้น สิ่งประกอบในวัดสวยๆ งามๆ เป็นตัวเป็นตน มีมากขึ้น "พระสงฆ์"ในประเทศไทย เพิ่มจำนวนมากขึ้นละก็ ข้าพเจ้าไม่เถียง เพราะเป็นจริงแล้ว และนับวันจะจริงเพิ่มขึ้น ก็ทำไมจะไม่จริงล่ะ ในเมื่อทุกวันนี้ คนไทยที่บวชเป็นพระ อยู่ในวัดต่างๆนั้น รู้ตัวดีว่า "พระ" เป็น"อาชีวะ"หนึ่ง เป็น"อาชีพ"หนึ่ง ที่ควรจะยึดถือได้ ด้วยเป็น"อาชีพ" ที่ทำให้ตนอยู่ได้อย่างดี นอกจาก มีอาหารเลี้ยงชีวิต อย่างสมบูรณ์แล้ว ยังมียศ มีเกียรติต่างๆ ให้แก่ตนอีก เพียงแต่ว่า เมื่อบวชแล้ว ก็ท่องบทสวดมนต์ให้เป็น ศึกษาประเพณี จารีตให้มาก หรือถ้าเก่งในทางดัดแปลง เพิ่มจารีตประเพณี ให้มากได้ยิ่งเก่ง พยายามสอบเอา ประกาศนียบัตรนักธรรม หรือเปรียญให้ได้มากประโยค และขยันวิ่งๆเต้นๆ วิธีการต่างๆ เหมือน"คน" เหมือนฆราวาส ที่ไปเข้าโรงเรียนประจำ มีกฎข้อวินัย บังคับ สำหรับโรงเรียนนั้น เมื่อเรียนจบ ก็มีงานให้ทำเสร็จ ไม่ต้องไปวิ่งเต้นหางานบรรจุ แล้วก็ประกอบการงาน"อาชีพ" พระนั้นให้ก้าวหน้า เพื่อตนเป็นใหญ่ต่อไป ถ้ายิ่งมีความฉลาด (ในทางผิดคลองธรรม) ก็ยิ่งจะพอกพูนลาภให้แก่ตน ได้อย่างดียิ่งด้วย "พระ" ผู้เป็นอยู่ดังนี้ ทั้งๆที่รู้อยู่แก่ใจตนเอง ก็จงแน่ใจเถิดว่า "พระ" ผู้นั้น อยู่อย่างรู้มาก เอาเปรียบคนทั้งหลาย ถือว่ายังเบียดเบียนตน และผู้อื่นอยู่ อย่างตั้งอกตั้งใจ และมีอบายภูมิ นรก อเวจี เป็นที่หวังได้อยู่ อย่างแน่นอน ที่กล่าวถึงนี้ ตัวผู้เป็น"พระ"เองรู้ตัวดี จิตใจของตัวเองนั้น ไม่มีใครจะหยั่งรู้ ได้ดีกว่าตัวเองได้ ดังนั้น ผู้ที่เป็นดังข้าพเจ้ากล่าวมาแล้ว ย่อมแจ้งใจตนเองได้ ขอเพียงใช้เวลาสักนิดเดียว เพียงไม่ถึงชั่วโมงหรอก "วิปัสสนา" ดูตัวเองเสียหน่อย อย่ามี"มานะทิฏฐิ" อย่ามี"โมหะ" เป็นต้องรู้ได้แน่

สำหรับ "พระ" ผู้ที่น่าเคารพนับถือ คือ "บวช" จริง ตั้งใจจะหาทาง"พ้นทุกข์"จริง และได้เพ่งเพียร พยายามอยู่เสมอ มิได้ท้อถอย แต่ก็ไม่พ้นความเป็น"ปุถุชน" ไปได้สักที เหตุเพราะ"บุญบารมี" สั่งสมมาแต่เดิมน้อย "พระ" ผู้น่าสรรเสริญบูชายิ่งแล้ว แม้จะก้าวขึ้นสู่ความเป็น "พระอริยเจ้า" ไม่ได้ก็ตาม ชาติต่อไป ถ้าจิตของท่านยังมั่นคง จงหวังเถิดว่า ท่านจะไม่พ้น ได้เป็นพระอริยเจ้า อย่างแน่แท้ เพราะ "กรรม" นั้น ย่อมสั่งสม จริง และ "จิต" นั้นสำคัญยิ่ง สำคัญจริงๆ ความจริงแท้ ของผู้ใดก็ตาม ไม่ได้อยู่ที่ไหนเลย นอกจากในดวง"จิต" ของตนเอง โกหกใครๆในโลกนี้ โกหกได้ แต่จะโกหกตัวเองนั้น ย่อมไม่ได้ นอกจากว่า "คน"ผู้นั้น มีกิเลสอันได้แก่ "มิจฉาทิฏฐิ" และ "โมหะ" อยู่มากหนา จนมองอะไรไม่ออก แม้ในตนเอง ก็อภัยเขาเสีย เพราะปกติ เขาเป็นผู้โง่ แต่มีข้อสังเกต ให้กับตนเองได้ง่ายๆ ข้อหนึ่ง คือ การปฏิบัติธรรม เพื่อหวัง"นิพพาน" นั้น ต้องเอาชีวิตเข้าแลก ต้องปักใจแน่จริงๆ ขั้นกล้าตาย ถ้าทำเหยาะๆแหยะๆอยู่ แพ้โลกอยู่ทุกขณะจิต ที่เหยาะแหยะ นั่นแหละ

"พระ"ผู้ใด ลงถึง"บวช" เป็นพระแล้ว ไม่มีความตั้งใจจะช่วยตน หรือทำตนให้สู่ ความเป็น"พระ" จริงๆแท้ๆ อันหมายถึง บรรลุเป็นพระอริยสงฆ์ให้ได้ แล้วละก็ "พระ"ผู้นั้นก็คือ ผู้อยู่โดยอาศัยผ้าเหลืองเป็น "อาชีพ" ทั้งสิ้น ความเป็นอยู่ดี (อย่างคนทั้งๆที่เป็นพระ) ความก้าวหน้าในตำแหน่ง ฐานะดี (อย่างคน ทั้งๆที่เป็นพระ) ความได้รับโลกธรรม ลาภ ยศ สรรเสริญ สุขดี (อย่างคน ทั้งๆ ที่เป็นพระ) ยังจะเป็นของ"พระ" ที่ถือเป็น"อาชีพ" อย่างเอาจริงเอาจังได้

และที่สังเกตได้ชัดๆเจนๆ ก็คือ ผู้บวชแล้ว ก็ตั้งหน้าตั้งตาประกอบอาชีพ เรียนปริยัติบ้าง เรียนปฏิบัติบ้าง (เรื่องการปฏิบัติ ก็เป็นการปฏิบัติที่ผิดศีล ผิดพรต อันแท้จริงของพระอริยเจ้าเสียด้วย เป็นส่วนมาก เพราะถ้าแม้นปฏิบัติถูกศีล ถูกพรตแล้ว ละก็ ท่านผู้นั้น ปฏิบัติไม่นานนัก ย่อมจะต้องถึงธรรม หรือ มีธรรมถึงใจได้อย่างแน่นอน) พากเพียรกระทำเอา จนได้ศักดิ์ ได้ศรี มีใบรับรอง มีความแพร่หลาย เป็นที่ยอมรับ พอได้รับสิ่งเหล่านั้นเพียงพอ สมควรแก่ความต้องการแล้ว จากการเป็น"พระ" (สึก) ออกมา เอาศักดิ์และศรี ที่ได้ไว้แล้ว ในสมัยเป็น"พระ" มาเชื่อมโยงกับโลกของคน เข้าประกอบอาชีพต่อ ในโลกของคน จะได้เสพความเป็น"คน" ครบทุกทวาร (เพราะนุ่งเหลือง ห่มเหลืองนั้น มีวินัย เสพ "กามคุณ" ได้ไม่ครบทุกทวารกาย) ผู้นี้แหละ เป็นตัวอย่าง เป็นหลักฐานที่นำมาพิสูจน์ นำมาอ้างได้ว่า ผู้บวชเป็น"พระ" ทุกวันนี้ ถือความเป็น "พระ" "อาชีพ" อย่างหนึ่งของ"คน" และเป็นนักเรียนกินนอน ที่ได้เปรียบ โก้ หรู แสนสุข กำไรท่วมบ้าน พอเรียนได้ฐานะ พอใจสะสมทุนได้พอใจ ก็จะออกไปเป็นคนผู้เสพกาม ร้อยเปอร์เซ็นต์ต่อไป

แล้วจะให้ศาสนาเจริญไปได้อย่างไร ลองคิดดู ดังนั้น ควรจะมาพากันคำนึงกันเสียหน่อย ดีไหมว่า ควรจะทำอย่างไรดี เราจะตัดไฟแต่ต้นลมได้บ้าง แม้ตัดไม่ได้หมด เพราะขณะนี้ เรามีน้ำ อยู่น้อยเหลือเกิน ย่อมจะแพ้ไฟวันยังค่ำ แต่ก็ยังดีกว่า ไม่ทำอะไรเลย

ประเด็น ๒ ข้อที่ข้าพเจ้ายกขึ้นมา กล่าวถึงแต่ต้นนั่นเอง นำมาวินิจฉัยกัน

ข้อ ๑ เพราะความไม่รู้ว่า เนื้อแท้ของศาสนานั้นคืออะไร? ข้อนี้กว้างใหญ่ไพศาลที่สุด ทุกอย่าง ที่เป็นไป ที่เกิดขึ้น ที่ฉุดศาสนาให้เสื่อมลงทุกวันนี้ เพราะข้อนี้ เป็นใหญ่

เนื่องจาก พุทธศาสนิกชนเรา ดูดายศาสนาของตน ไม่ศึกษาศาสนาของตนว่า เนื้อแท้ของศาสนา คืออะไร? ความถูก ความต้องในการปฏิบัติตน เกี่ยวกับศาสนานั้น อย่างไร? จึงได้เกิดสิ่งที่ผิดเพี้ยน จนกลายเป็น ฉุดศาสนาลงมา

คำว่า "บวช"นั้น โดยแท้จริง ไม่ใช่"ประเพณี"โดยแท้จริง หมายถึง การสละออกไปแล้ว ไปจากการเป็นคน โดยแน่ใจ โดยจริงใจ จะไม่ประพฤติเอาอย่างคนทั้งหลาย แล้วท่านทราบแล้วหรือยังว่า "คน" คือ ผู้มีชีวิตอยู่ เพื่อเสพกามคุณ ๕ และ สั่งสมยึดติดโลกธรรม ๘ อยู่อย่างตั้งอกตั้งใจ ตั้งแต่เกิด จนตราบชีวิตจะหาไม่ ก็ยังไม่หยุด จะเกิดมาเสพ มาสั่งสมใหม่

ดังนั้น ผู้ "บวช" ก็คือ ผู้ได้ตัดสินใจ จะไม่กลับมาแล้ว จะไปเป็นผู้ละขาดจากกามคุณ ๕ และโลกธรรม ให้ได้ ต้องแน่ใจจริงๆว่า ตนตั้งใจแน่วแน่ มีความคิดเห็นดีงาม ในใจสละกามคุณ ลดละ ลาภ ยศ สรรเสริญ สุขแน่จริงๆ จะไม่คิดหวนกลับมาเสพ กามคุณ ๕ และไม่มัวเมาสั่งสมลาภ ยศ สรรเสริญ สุขอีกเป็นอันขาด ผู้นั้น จึงสมควรขอ"บวช" บวชแล้ว ก็ไปตั้งหน้าบำเพ็ญเพียร เรียนรู้ วิธีการจะตัดขาด จะละขาดจากกามคุณ ๕ และการลดละลาภ ยศ สรรเสริญ สุขให้ได้ จนละได้จริง หมดสิ้นเรียบร้อย ก็เป็นจบ เป็นบรรลุ ถึงที่สุด ตามความมุ่งหมายอันแท้จริง เป็นผู้พ้นทุกข์จากกาม พ้นทุกข์จากโลกธรรม ชื่อว่า ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ถูกต้องตามทาง ตามจุดหมายของพุทธศาสนา เป็น"อณู"หนึ่ง ที่จะสร้าง ความเจริญให้ "พุทธศาสนา" ถ้ามีผู้สำเร็จดังนี้มากๆ ก็จะมี "อณู" หรือ "หน่วย" แห่งผู้สำเร็จ หรือ "อณู" แห่งความเจริญแท้ของพุทธศาสนานี้มากขึ้น จึงจะเรียกได้ว่า ศาสนาพุทธเจริญ ถ้ามีของสิ่งอื่น อันไม่ใช่"พระ" ผู้บรรลุมากมาย อยู่ในกองสมบัติของศาสนา แล้วละก็ ไม่ได้ชื่อว่า ทำให้"ศาสนาพุทธ"เจริญเลย ต้องมี "พระอริยเจ้า" มากๆ จึงจะแสดงว่า "ศาสนาพุทธ"เจริญ

เพราะจุดของ "ศาสนาพุทธ" คือ แสดงให้เห็นว่า มีคนลดกามตัณหา ลดภวตัณหาได้ จริงๆ มี"สันติ" มีความสงบเท่านั้นเป็นเอก ไม่ได้โชว์วัตถุใดๆอื่นๆ เป็นแน่นอน และไม่ได้โชว์ แม้ประเพณี อันเป็นไป อย่างคนที่แสดงถึงความสนุกสนาน เพลิดเพลิน อะไรด้วย แล้วทุกวันนี้มีไหม? พระอริยเจ้า แค่ชั้นต่ำสุด "โสดาบัน"เท่านั้น ยากขึ้นทุกทีๆ จากผู้ห่มเหลือง โกนหัว มีน้อยลงๆ ทุกวันแล้ว แล้วศาสนาพุทธ ในเมืองไทยเจริญอย่างไร?

ดังนั้น "ประเพณี" การบวช ๓ เดือน หรือ "บวช" โดยไม่จริงใจ ด้วยประการใดๆก็ตาม ที่ไม่ใช่การบวชที่แท้ จึงควรจะต้องหยุดกันเสียที เลิก"ประเพณี" ที่จะฉุดให้ศาสนาเจือจางลง หรือ เสื่อมลงนี้เสียที และ เป็นผลดีแก่ทางโลกด้วย ไม่ทำให้เศรษฐกิจสูญเสียไป โดยมีคนแอบเข้าไป เป็นตัวถ่วงเศรษฐกิจให้ทรุด โดยไม่มีผลดีแลกเปลี่ยน เพราะเป็น"คน" อยู่เหมือนเขาทั้งหลาย แต่หลบไปเอาเปรียบคนอื่นๆ เขาทั้งหลาย เป็นการตัดไฟแต่ต้นลม ข้อที่ ๑ และทีนี้ ผู้จะ"บวช"จริงๆ ก็ควรจะได้ปฏิบัติตามกฎวินัย บัญญัติของพระพุทธองค์ อย่างจริงใจ ไม่ใช่ทำเพียง เพื่อแค่เป็นพิธี แล้วก็ผ่านการ "บวช"เข้าไป ถ้าเช่นนั้น พระพุทธเจ้าคงไม่คิดอ่านตั้งพิธี "บวช" ขึ้นให้เสียเวลาหรอก ถ้าไม่ตั้งไว้เพื่อ"คัด" "เลือก" โดยจริงใจ สงสารพระบรมศาสดาบ้างเถิด อย่าได้ย่ำยีความตั้งใจ ความปรารถนาดี และมันสมองของพระพุทธองค์ ให้มากนักเลย ถ้าจะสักแต่ว่า "ทำ" พอเป็นพิธีแล้วละก็ ไม่ทำเสียเลยก็ได้ มีผลเท่ากัน และมีผลดียิ่งกว่า ตรงที่ไม่ต้องเสียแรง เสียเวลาอีกด้วย เพราะไม่ต้องไปท่องๆๆขานๆๆๆ แล้วก็นัดผู้คน ให้ไปเสียเวลาดูการเล่นละคร เรื่องการ "บวช"

ไม่ต้องกลัวว่า ศาสนาจะไม่เจริญ เพราะมีพระน้อย หรือมีผู้เข้าวัดน้อย ถึงพระมาก มีผู้เข้าวัดมาก แต่ทำอย่างไม่ถูก มันก็ไม่ได้ชื่อว่า ทำให้ศาสนาเจริญไปได้แต่อย่างใด ตรงกันข้าม ยิ่งเป็นการฉุดศาสนา ให้เสื่อมลง โดยฝีมือผู้ทำผิดนั่นแหละ สู้ให้ศาสนามี พระผู้ปฏิบัติถูกอยู่น้อยองค์ และไม่เสื่อมลง ทรงตัวอยู่เท่าเดิม ดีกว่าเสียอีก เปอร์เซ็นต์คำว่า "เจริญ" จะได้ไม่ลด สักวันก็จะมีผู้ตั้งใจจริง ไปเพิ่มความถูกเข้า อีกเอง ความเจริญก็จะงอกงามออกมาเอง เพราะไม่มีคนฉุด ควรจะห้าม ตัดขาด ผู้ฉุดนี่ออกไป จึงจะถูก

ด้วยเหตุนี้ ถ้าใครจะ"บวช"ละก็ จะต้องให้ไปอยู่วัดปฏิบัติธรรมวินัย ฝึกฝนทดลองก่อน หรือ ไม่ต้องอยู่วัด ก็ฝึกหัด ฝึกฝนเอาข้อธรรมวินัยมาปฏิบัติ เรียนรู้จุดหมาย อันแท้จริงของพุทธศาสนาเสียก่อน เมื่อแน่ใจจริงๆ จึงค่อยให้บวช (แต่ก็นั่นแหละ แม้พระที่มีอยู่ขณะนี้เอง ก็หาพระอริยเจ้ายาก จึงควรจะยุบพระ ที่ไม่ใช่พระจริงๆให้หมดเสียก่อน ค่อยๆยุบได้ โดยคนธรรมดา ก็มองออก เมื่ออยู่ในศีลในธรรมไม่จริง ปลดออกๆ เหลือไว้แต่ที่ดี ที่แท้ ก็จะได้ที่ดีจริง ที่ถูกจริงขึ้นเรื่อยๆ)

อีกอย่างก็คือ พระ ผู้ออกไปสอน "ธรรมวินัย"แก่คน หรือแก่พระเองก็ตาม ควรจะเป็นพระ ผู้เป็นพระอริยเจ้าแล้ว จึงจะไม่ผิดไม่เพี้ยน หากไม่ใช่พระอริยเจ้า ก็จะต้องเรียนปริยัติ ให้ถูกต้องที่สุด และแม้ไปสอนใคร ก็จะต้องระวังให้มากที่สุด โดยไม่อวดอุตริมนุสธรรมใดๆ หรือคือ ไม่กล่าวทิฏฐิของตนออกมาเอง ให้ผิดให้เพี้ยนจากปริยัติ ที่ท่องมา ถ้ายังขืนปล่อย ให้พระชั้นต่ำกว่า พระอริยเจ้า สอนธรรมวินัย อยู่ต่อกันไป ตราบใด ก็ย่อมจะผิดมากขึ้น เพี้ยนมากขึ้น ต่อและต่อ บานออกไป จนไม่เห็นธรรมวินัยที่แท้จริงได้ แล้วจะปฏิบัติบรรลุได้อย่างไร? ดังนั้น ผู้เรียนรู้ "ธรรมวินัย" หมายถึงจุดโลกุตระ จึงควรเลือกครู เป็นอย่างยิ่ง และการสอน ก็ต้องกำหนดตัวครู ลงไปด้วย

อีกอย่างก็คือ การสอบเอาใบประกาศนียบัตรใดๆ ทางตำแหน่งปริยัติธรรมนั้น เลิก ล้มกันได้แล้ว เพราะนั่นมันคือ ยศชั้นทางโลก จึงได้เกิดกระทำแต่เพียง หวังผลทางโลกอยู่ ผิดทำนองคลองธรรม กันออกไปทุกวันๆ แต่เดิมเริ่มแรกนั้น ปริยัติที่เป็นเรื่องเป็นราว เป็นคัมภีร์ เป็นตำราที่จะต้องท่อง ต้องจดจำนั้นไม่มี มีแต่ "พระธรรมเทศนา" คือคำอธิบายเราดีๆนี่เอง อธิบายเพื่อให้ "คน" รู้ไปถึงจิต และแล้วนำไปปฏิบัติให้รู้เข้าถึง "จิต" แม้ภาษาศัพท์อะไรยังไม่รู้ ก็ไม่เป็นไร แล้ว ค่อยศึกษา ภาษาศัพท์กันทีหลัง ปริยัติที่ควรรู้ในเบื้องต้น นั้นคือ ปริยัติแค่หลักปฏิบัติ ขั้นต้นเท่านั้น นั่นคือ ค่อยเรียนพระอภิธรรมกันทีหลัง หรือเรียนคัมภีร์ (ลึกซึ้ง) หลังเมื่อเป็นพระอริยเจ้าแล้ว เพราะพระอภิธรรมก็ดี คัมภีร์ต่างๆก็ดี เป็นภาษา เป็นชื่อที่บัญญัติออกมา ใส่ "นามธรรม"ต่างๆ เพื่อจะได้นำมา ประกอบคำอธิบายให้ "คน" รู้เรื่องได้เท่านั้น "คน" จะได้รู้บ้างว่า ความละเอียดของ สิ่งที่พระท่านรู้ ท่านต้องพากเพียรนั้น มีอย่างไร ถ้ายังไม่แจ้งถึง"จิต" แล้วไปเรียนพระอภิธรรม หรือคัมภีร์ลึกๆ ก็คือ ท่องจำอยู่นั่นเอง ไม่ได้มีปัญญาทางธรรมอันใด แม้แต่น้อย และพลอยทำให้ติดยึด ใน"ภาษา" ทั้งทำให้ผู้นั้นหลงตน ถือดีได้ง่ายๆ ซึ่งเป็นจริงอย่างนั้นด้วย เพราะการเรียนรู้รายละเอียด พระอภิธรรมคัมภีร์นั้น มันยาก มันมาก ใครได้เรียนแล้ว จะรู้สึกว่าเป็นของสูง ของยากยิ่ง ก็จะยกระดับสิ่งนี้ขึ้นไว้เป็นสิ่งสูง แล้วเมื่อเขามีความรู้ (แค่รู้ขั้นบัญญัติ) ในสิ่งสูงนี้ เขาก็ถือดี เขาก็หลงตน แล้วเขาจะรู้แจ้งสิ่งใด ได้ง่ายกันอย่างไร ในเมื่อ"กิเลส"ดุ้นเบ้อเร่อ ขวางลูกตา ขวาง "จิต" เขาอยู่อย่างนั้น เขาก็มืดบอดตลอดกาล เท่านั้นเอง "พระอภิธรรม" หรือ "พระคัมภีร์" ยากๆลึกๆ จึงไม่ใช่เรื่องของ "พระ" ผู้ปฏิบัติ จะไป "หลง" เริ่มต้นเรียน การเริ่มต้น ต้อง"ปฏิบัติ"จริงๆ ด้วยความรู้ ในศีลนั่นแหละ ง่ายๆ ศีลใดก็ได้ นำมา "ปฏิบัติ" ให้เกิดผลกับ "จิต" ไปเรื่อยๆตามลำดับ

ดังนั้น การจะเรียนพระอภิธรรม หรือคัมภีร์ลึกๆก่อนนั้น ยกเลิกได้แล้ว อย่าเพิ่งนำมาสอน ไว้ถึงเวลาค่อยเรียน แม้พระพุทธองค์เอง ก็ไม่ทรงสอนพระอภิธรรมเลย ในระยะแรก ตามตำนาน จะสอนต่อเมื่อ ผู้นั้นบรรลุแล้ว มีตาแห่งธรรมแล้ว จึงได้สอน (แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า สอนพระอภิธรรม ไปทั้งปิฎก เป็นเพียงพระองค์ตรัสธรรมที่ละเอียด และสูงขึ้น ให้ทราบ เพียงบางหมวด บางคำเท่านั้น)

เพราะเมื่อตายังไม่เห็น "ธรรม"ภายในแล้ว ไปขานชื่อ"นามธรรม" ตัวไหน จับชื่อจับนาม (สมมุติบัญญัติ) มันใส่ถูกฝาถูกตัวไม่ได้ มันไม่ใช่ของเห็น ของรู้ได้ ด้วยตานอก มันต้องเห็นด้วยตาใน อันเรียกว่า "ตาทิพย์" หรือ "ตาธรรม" จึงจะเรียกชื่อมันถูก และมันยังมีตัวเล็กตัวโต มีตัวหยาบ ตัวละเอียดกัน มากมายก่ายกอง แค่แต่ "นามธรรม" ตัวหยาบๆ ก็ยังวุ่นกันนักหนา ขืนตะลุย เรียนพระอภิธรรมทั้งขบวน ก็นั่นแหละ คือ "ผลร้าย" เหมือนนักเรียนชั้นประถม เรียนวิชาอะไร ก็ต้องเริ่มเรียนหยาบๆก่อน แล้วค่อยนำความรู้นั้น ไปใช้กับชีวิตเสียก่อน เมื่อสูงขึ้นๆ พร้อมทั้งกายใจ หรือพร้อมทั้งทฤษฎีและปฏิบัติ เข้าใจแจ้งในขั้นต้นแล้ว จึงค่อยเรียนละเอียด ไปตามลำดับ ถ้าเริ่มเรียนประถม ก็เอาความรู้ละเอียด เช่น วิชาวิทยาศาสตร์ ก็เอาหลักสูตร ขั้นปรมาณู นิวเคลียร์ อันละเอียด สลับซับซ้อนมาให้เรียน รับรองว่า คนผู้นั้นจะไม่รู้เรื่องเลย นอกจากท่องได้ เหมือนนกแก้วนกขุนทอง (แล้วหลังจาก ท่องได้ก็หลงตน) ความเข้าใจ แตกฉาน แจ่มแจ้ง แทงทะลุจะไม่เกิดได้ง่ายๆเลย นั่นเพียงวิชาทางโลก ทางวัตถุด้วยซ้ำ ถ้าเป็นทางจิตทางใจ อันละเอียดอ่อน ไม่มีตัวตน เช่น พระอภิธรรมแล้วละก็ ยิ่งจะไม่ได้อะไรเลยจริงๆ

ดังนั้น จึงอย่าหลงเข้าใจผิด และอย่าอวดดีว่า ตนโตแล้ว มันสมองขยายใหญ่เต็มที่แล้ว จะต้องเป็นผู้มี"ปัญญา" เพียงพอ สามารถเรียนรู้สิ่งนี้ ได้ทะลุได้เป็นอันมาก มันเป็นการไม่ประมาท และเป็น "วิปัสสนูปกิเลส" อย่างแรง อันจะพาคนพ้น "สีลัพตปรามาส" ได้ยากยิ่งจริงๆ แต่ผู้ปฏิบัติโดยไม่เรียน พระอภิธรรมเลยสิ เมื่อได้มรรค ได้"ผล"แล้ว จะเข้าใจพระอภิธรรมได้ทันที เมื่อหยิบขึ้นมาอ่าน นั่นแหละ ค่อยเรียนรู้ "สมมุติบัญญัติ" ในพระอภิธรรม ถ้าจะเรียน ถ้าจะไม่เรียนก็ได้

เพราะฉะนั้น ผู้เรียนพระอภิธรรม จึงเพลิดเพลินไปแต่ในรสของ "ภาษา" แล้วก็ แปลภาษาสู่ภาษา แตกแขนง แยกแยะ รวนเร ระเนระนาด แตกความ แตกคำออกไปมากมายก่ายกอง ห่างจากตัว"นามธรรม" ยิ่งขึ้นไปเรื่อยๆ แทนที่จะมีคำเรียกมันน้อยเข้า เพื่อให้ถูกตัวนามธรรมนั้นๆ เลยยิ่งทำให้ ห่างตัว"นามธรรม"นแท้จริง ที่เป็นเรื่องสำคัญออกไปทุกที คนศึกษาชั้นหลังๆ ก็มืดตามผู้พาเข้าป่า เข้าถ้ำ ไปเท่านั้นเอง เพราะเรื่องของ"ภาษา" อันเรียกว่า นิรุตติ และเมื่อใช้หลักตรรกศาสตร์ มันก็เกิดได้ และ มีเหตุมีผล เป็นรสชาติ ในขั้นของมันได้อย่างดีเช่นกัน กว้างขวาง ยืดยาวมากมาย ไม่รู้จบได้ด้วย จึงเป็นเรื่องต้องเอาไปคิดให้ดี อย่ามีมานทิฏฐิเลย นี่แหละ เหตุผลอีกข้อหนึ่ง ที่ควรตัดไฟแต่ต้นลม

"พระอภิธรรม"นั้น เป็นคำบรรยายที่ขยายความ ละเอียดกว้างขวางออก แผ่กระจายไป ซึ่งไม่ใช่ ลักษณะแห่งการ "ปฏิบัติธรรม" ของพระพุทธองค์เลย พระพุทธองค์ทรงสอน ให้รู้สภาวธรรม ทั้งหลาย ย่อม"ย่นย่อ" เข้ามาเป็น รูปกับนาม เท่านั้น รู้ให้ได้ รู้ให้แจ้ง ต้องปฏิบัติรู้ ไม่ใช่อ่านรู้ ฟังรู้ และต้องรู้ขั้นหยาบ ตัวโตๆ ไปก่อนด้วย จึงจะไปซอกแซก ชอนไช รู้ตัวเล็กตัวละเอียด ที่บางเบา แทรกซ้อนอยู่ใน "นามธรรม"นั้นๆอีกได้ จึงต้องเข้าใจให้ได้ว่า พระพุทธองค์ไม่ทรงสอนให้คนฟุ้งซ่าน หรือปรุงแต่งสภาวธรรมให้บาน ให้กระจาย หรือให้ต่อเนื่อง ยืดยาวออกไปง่ายๆ ต้องรู้ ต้องจับตัว ขั้นหยาบให้ได้เสียก่อน เพื่อเป็น "บาทฐาน" จึงจะให้ แทงทะลุตัวนั้นต่อ ถ้าไม่มีบาทฐาน ก็ไม่มีที่รองรับ เหมือนเราจะขึ้นบันได ถ้าไม่เหยียบขั้นต่ำก่อน จะสู่ขั้นสูงไม่ได้ ที่จริง เพียงนามธรรมแค่ ๔ ขันธ์นั้น ละเอียดพอแล้ว สำหรับปัญญาชน ผู้จะรู้แจ้งแทงตลอด ถ้าผู้ใดรู้จักตัวจริงของนามธรรม ๔ ขันธ์นี้ไม่ได้ ผู้นั้นยิ่งกว่า "เนยยบุคคล" จะไม่มีทางบรรลุ หลุดพ้นเลย จึงอย่าพึงสอนให้เสียเวลาเปล่า นอกจากจะมีเวลาเหลือเฟือแล้ว หรือจำเป็นในบางกรณี แท้จริงแล้ว พระอภิธรรม คือการเก็บ หรือ ชักเอาหัวข้อธรรม ของพระพุทธองค์ ออกมาจากพระสูตรต่างๆ แล้วนำมาปะติดปะต่อกัน พร้อมกับ ขยายความ ขึ้นบ้าง ตามวิธีเขียนตำรา หรือต่อเรื่องราว ปรุงแต่งขึ้นมา เป็นหมวดหมู่ แห่งคำสอน แล้วเรียกเป็นอีก "ปีฎก" หนึ่ง ในพระธรรมคัมภีร์ จึงเป็นการจัดสร้าง "คำเทศนา" ที่ผิดลักษณะของ แนวการที่จะให้คน "รู้"อย่างมาก มันค้านกับลักษณะ การสอนของพระพุทธองค์ ดังได้กล่าวมาแล้ว

เพราะพระพุทธองค์ สอนคนตามระดับปัญญา มีเบื้องต้น-เบื้องกลาง-เบื้องปลาย ผสมอยู่ในคำสอน แทบทุกหมวด แม้พระองค์สั่งเสียพระอรหันต์เจ้า ทุกองค์ ให้ไปสอนใครๆ ก็ให้สอนในเบื้องต้น -ท่ามกลาง –บั้นปลาย ไปตามลำดับทั้งนั้น มิใช่จะจับเอา ยอดคำสอนเบื้องปลาย มายัดเยียดสอนคน ไปเลยทันที มันเป็นไปไม่ได้ คนผู้เรียน ก็ต้องพยายามวิจัยวิจารณ์ ในเหตุและผล เหล่านี้เสียบ้าง มิฉะนั้น จะหลงงมงาย อยู่กับอาการของคนไม่มี "พื้นฐาน" เป็นบ้านไม่มีเสาลอยๆ อยู่อย่างนั้น ขึ้นก็ไม่ได้ ไม่ได้ เลยไม่มีการ"จบ" กันสักทีในโลก แต่ก็เขื่องดี คือ มีรูปของบ้านอวดคนได้ ลักษณะอย่างนี้เอง คือ "วิปัสสนูปกิเลส" เป็นความไม่เข้าใจแจ่มแจ้งใน ระดับขีดขั้นแห่งภูมิจิตของตนเอง เป็นสีลัพพตปรามาส

เรื่องสำคัญ ถ้าไม่ถอดถอน คนผู้นี้ ได้ชื่อว่า เป็นผู้มี "โมหะ"อย่างเต็มตัว ลักษณะของพระอภิธรรม มันเป็นการฟุ่มเฟือย เพ้อเจ้อออกไปเกินขอบเขตเบื้องต้น ต้องเป็นผู้ได้เรียน ได้ปฏิบัติรู้ ผ่านขั้นกลาง เข้าขั้นปลายแล้วโน่นแหละ จึงจะสมควรรู้ ต้องเข้าใจข้อนี้ให้ดี และพระอริยบุคคลขั้นต้น แค่พระโสดาบันนั้น ก็ไม่ต้องมีความรู้ เรื่องรูป เรื่องนาม ละเอียดลอออะไร ถึงขนาดจะต้องไป นั่งเพ่ง นั่งเพียรเอาในขั้นรูปภพ อันเป็น "ภวตัณหา" ชนิดละเอียดด้วย รู้จัก "กามคุณ ๕" ที่เกี่ยวกับ "อบาย" แท้ๆให้ได้ รู้ "กามตัณหา" เสียก่อน รู้ตัวโตๆ จะๆแจ้งๆ รู้ชัดคำว่า "สักกาย" หรือ "ตัวตน" ให้ได้ หรือให้แท้ก็คือ รู้จัก "คน" นี่ให้ได้นั่นเอง มันประกอบหรือปรุงแต่งอยู่ด้วยกาย และจิตอย่างไร มันต้องการอะไรกัน ชั่วต่ำอย่างไรนั่นเอง ทุกวันนี้ ทั้งร่างกาย และจิตใจเรา มันยังตั้งอยู่ได้นี้ มันเสพเอาอะไรมาปรุงแต่ง (ก็มี รูป-รส-กลิ่น-เสียง-สัมผัส นั่นแหละ คือส่วนที่ตั้งใจหลงเสพกันอยู่ และไปยุ่งอยู่กับ เรื่องเลวๆต่ำๆ อันควรละได้ ก็ไม่รู้) รู้ให้ได้ เข้าใจให้ได้เท่านี้เอง ถ้าเห็นแล้ว แจ้งแล้ว ก็เรียกว่า พ้น "สักกายทิฏฐิ" และต้องเห็นจริงๆ เข้าใจจริงๆด้วย เห็นอย่าง รู้ในโทษในภัยของมันด้วย และต้องรู้อย่างแน่นอน ถึงใจ มิใช่รู้แต่เพียงได้ฟังมา หรืออ่านมา ต้องรู้แจ้งถึงใจ จนไม่ลังเลสงสัย ในตัวเรานี่แหละ ใครจะมาพูดอีกอย่างไร ก็ไม่เปลี่ยนแปลงความเข้าใจนี้ได้ นั่นจึงจะเรียกว่า พ้น "วิจิกิจฉา" จริงๆ จึงจะเป็นพระโสดาบัน ต้องเข้าใจ "ความต่ำ-ความสูง" ของตนให้ถูก จึงจะเรียกว่า ไม่หลงผิด ไปมัวคลำ มัวงม อยู่กับสิ่งที่ไม่ใช่เรื่องใช่ราวของตน

ขณะนี้ มีพุทธศาสนิกชนอยู่เป็นจำนวนมาก ที่เป็นบ้านไม่มีเสา เพราะไปหลงลงมือ ปลูกรูปบ้าน เสียสวยงาม และยิ่งนับวันยิ่งตกแต่ง เพิ่มเติมบ้านของตนมากขึ้น จึงทิ้งบ้านไม่ได้ ลดตัวลงมาเป็นเสาไม่ลง กลัวจะเปื้อนโคลน เปื้อนฝุ่นละออง ถ้าผู้ใดยอมตนลงมาปฏิบัติในศีล ในพรตข้อง่าย ข้อต้นเสียบ้าง ผู้นั้นแหละ จะเห็นผล รู้ผลได้ทันที "ยอม" คำนี้ หมายความว่า "ยอมกันในหัวใจ" ไม่ใช่ยอมเพียงการ กระทำภายนอก แต่ใจยังถือดี มีมานะอยู่ นั่นยังไม่เรียกว่า"ยอม" เมื่อผู้ใดผ่านขั้นต่ำ เป็นพระโสดาบันได้แล้ว ขั้นต่อไป ก็จะต้องรู้จักรูป-นาม ของสิ่งละเอียด สิ่งที่ไม่มีตัวตนยากขึ้น อันเราเรียกว่า "กิเลส" ทั้งหลายไปตามลำดับ และการรู้ทั้งปวง ก็ไม่จำเป็นจะต้องเอาชื่อเอานามมัน ไปปะไปติด ให้มันหรอก ถึงจะติดจะปะ ก็ติดไม่ตรงรูปมันเป็นอันขาด เพราะมันไม่มีรูป แต่ถ้ารู้จักมันโดย ตาทิพย์ ตาธรรม ในสภาวะที่ไม่ใช่รูป คือ เป็นนามธรรม ก็ไม่เห็นจะต้องเอาชื่อ ไปปะใส่มันให้เสียเวลา ถึงใส่ยังไง มันก็ไม่ถึงกันได้ เพราะชื่อมันก็คือ ภาษา อันอยู่ในเมืองมนุษย์ อยู่กับผู้กับคนภายนอก ส่วนจิต ส่วนกิเลส มันอยู่เมืองภายใน เมืองใจ มันคนละภูมิ คนละภพกัน มันจึงเป็นเพียงอาการ "สมมุติ" กันเล่นๆ เท่านั้น ผู้ทำจริง ไม่จำเป็นต้องใช้เลย เพราะแม้จะไปขืนใช้อย่างไร มันก็ไม่จำเป็นนักด้วย "จิตธรรม" มันเป็นอนัตตา ที่เลื่อนไหลเร็วมาก จากนามเป็นรูป จากรูปเป็นนาม ๆๆ และรวมลงเป็น "นาม" เป็นตัวเดียวกัน เท่านี้เอง สุดท้ายจริงๆ พระอภิธรรมจึงคือ ภาษา ที่ตั้งขึ้นมาเรียก นามธรรมเหล่านั้น เพียงเพื่อให้ผู้ "ไม่ปฏิบัติ" จริงๆได้รู้บ้างเท่านั้น ส่วนการจะรู้ได้จริง ไม่ใช่ภาษา ต้องสัมผัสกันจริงๆ ใน"จิต" ใน"นามธรรม" ผู้ปฏิบัติจริงๆเองเท่านั้น "รู้" และสัมผัส และจะรู้ได้ ไล่เรียงไปเป็นลำดับ ตัวหยาบแล้ว ก็จะค่อยละเอียดๆ ขึ้นไปเรื่อยๆ เรียงตัวไป จริงๆ โดยไม่ต้องมีป้ายของ "ภาษา" ติดบอกไว้เลย การจะไปมัวเรียน พระอภิธรรมก่อนปฏิบัติ จึงไม่ใช่เรื่องควรเสียเวลา และผู้ปฏิบัติจริงจนแจ้งใจได้แล้ว เท่านั้นจริงๆ จะบอกได้ว่า ไม่จำเป็น จะต้องไปเรียนพระอภิธรรมเลย แต่ผู้เรียนมาแล้ว ถ้าไม่มีมานะ หลงตน ก้มหน้าปฏิบัติไปตามขั้น พระอภิธรรม ก็เป็นประโยชน์ ช่วยตนได้ดีเหมือนกัน

และเรื่องสำคัญอีกอย่างก็คือ ยศชั้นฐานันดรของพระนั้น นั่นแหละ เป็นบ่วงที่ ชักจูงให้ศาสนาเสื่อมลงๆ เหตุใหญ่ทีเดียว ในทุกวันนี้ พระท่านควรจะได้อยู่นอก โลกธรรมทั้งปวง แล้วเอาโลกธรรมไปครอบท่านทำไม โลกของพระไม่ใช่โลกของคน พระบางรูป ท่านไม่ได้ต้องการยศตำแหน่งอะไร นี่เลย ก็ยังอุตส่าห์หอบไป ประเดประดัง ไปครอบท่านจนได้ ก็ทำกันในทุกวันนี้ ไม่รู้เรื่องอะไรกัน

เหตุผลที่สำคัญอันควรนำขึ้นมากล่าว เป็นข้ออ้างอย่างสูงว่า ควรมีการล้มเลิก "ระบบการ" อันนี้เสีย ก็คือ แม้พระพุทธองค์ ผู้ทรงปรีชาญาณยอด ถึงอย่างนั้น พระองค์ก็ยังไม่ยินยอม แต่งตั้ง "ยศ-ฐานะ" อันนี้ขึ้น คือมิได้แต่งตั้งใครเป็น อามิสทายาท หรือเป็นองค์ประมุขสงฆ์ หลังจากพระองค์ เสด็จปรินิพพานไปแล้ว แม้พระองค์จะแจ้งความเป็นเลิศ (เอตทัคคะ) แต่ละอย่าง ให้แก่พระสงฆ์องค์ใดๆ พระองค์ก็ไม่ได้บอก เป็นตำแหน่ง เป็นยศ ว่าองค์นี้มีศักดิ์สูงกว่าองค์นี้ องค์โน้นศักดิ์สูงกว่าองค์โน้น ก็เปล่าทั้งสิ้น และก็มิใช่พระองค์ทรงหลงลืม มีผู้ทูลถาม เป็นการเตือน ให้พระพุทธองค์ทรงแต่งตั้ง หรือตรัสบอกแจ้งไว้ด้วยซ้ำไป ที่จริง มิใช่เตือน แต่เป็นการคิดด้วยความรู้ (ปัญญา) ของผู้ถามเอง อันยังเป็นความคิด ของ "ปัญญาบุคคล" (มิใช่สัพพัญญู หรือมหาสัปบุรุษ) ก็คิดได้แค่ว่า ควรมีผู้จะเป็น ประธานแห่งศาสนา หรือประมุขแห่งหมู่ เหมือน"ระบบการของบุคคล" หรือ ระบบ โลกๆ จึงได้คิดเยี่ยงนั้น และไถ่ถามเอา ตามที่ตนเห็น แต่แท้จริง ศาสนามิใช่เรื่องโลกๆ ความคิดเช่นนั้น จึงยังไม่ถูกแท้ และต้องเรียกว่า ยังผิด พระพุทธองค์ จึงไม่ทรงทำตาม มิใช่พระพุทธองค์จะไม่มี"ปัญญา" หยั่งทราบว่า ใครควรเป็นประมุขสงฆ์ หรือประมุขแห่งหมู่ สืบต่อจากพระองค์ แต่ที่พระองค์มิทรงแต่งตั้ง "บุคคล" ขึ้นเป็นประธาน หรือประมุขแห่งหมู่นั้น ก็เป็นด้วยเหตุผล ๒ ประการ คือ

๑. เพราะพระพุทธองค์ เล็งเห็นอย่างแจ้งจริงแล้วว่า มันไม่ใช่ของดี มันไม่ใช่ฐานะที่ควรเป็น ควรมี ควรกระทำเช่นนั้น สังคม หรือแวดวงแห่งนักบวช มิใช่ "โลก" มิใช่สภาวะแห่ง การเกาะกลุ่ม โดยบัญญัติอย่างโลกออกปานนั้น จนกลายเป็น ต้องยึดถือเป็นศักดิ์ เป็นฐานันดร ที่จริง มันไม่มีฐานะอะไรเลย จะเกาะกลุ่มกันอยู่บ้าง ก็เพียงความเป็นปรมัตถ์ (คือเกาะกันได้ชั่วคราว) เพราะแท้จริงแล้ว สงฆ์ทุกรูป คือผู้ทำตน ให้แยกทำลาย ให้แตกกระจายจากกลุ่ม (อันเป็นลักษณะ แห่งการเป็นอยู่ที่ถูกแท้ ของผู้ปฏิบัติพุทธธรรม มีตัวอย่างในคำสอน อยู่เยอะแยะ) เพราะการปฏิบัติพุทธธรรมนั้น จะต้องทำให้แยกจากกัน ให้สิ้นให้ได้ แม้แต่การเกาะกลุ่มของสังขารขันธ์ ของตนเอง สังขารส่วนใด ยังต้องพึ่งสังขารใด ในกาย ในจิตของตน สงฆ์จะต้องรู้ให้ได้ และให้เร็วที่สุด เท่าที่จะสามารถด้วย ย่อมไม่โอ้เอ้อยู่ ด้วยการประมาท ผัดผ่อนเวลา จึงเหมือนๆ กันกับสงฆ์รูปใด ควรจะพึ่งสงฆ์ใด รูปควรจะรู้ ควรจะทราบให้ได้ดี ด้วยตนเอง ดังนั้น จึงมีสภาวะยึดเกาะ รวมกลุ่ม โดยนัยบัญญัติโลก ให้ผูกมัดแข็งแรง มั่นคงถึงอย่างนั้นไม่ได้ ผิดลักษณะแห่งความจริงแท้ (ปรมัตถ์) จะมีอาการเกาะกลุ่มกันบ้าง ก็เพียงโดยนัยปรมัตถ์ ตามความรู้ ความเข้าใจแจ้งจริงๆ เช่น ข้อวัตรแห่งพระวินัยบัญญัติ ก็มีไว้ว่า แต่ละสงฆ์ แต่ละรูป ต้องแสดงออก ซึ่งความเคารพกัน นับถือกัน ตามอายุพรรษา อาวุโส-ภันเต อันจะรู้กันได้ง่าย เพียงถามด้วยปากคำเดียว ก็รู้แล้ว จึงจะรู้ได้ก่อน "ภูมิจิต" บัญญัติโลก ที่พระพุทธองค์ตราไว้ ตั้งไว้ ก็เพียงเท่านั้น สงฆ์ทุกองค์ ย่อมรู้อยู่ทั้งสิ้น เมื่อใครยังไม่รู้ภูมิจิตของใคร ก็ให้เคารพกันไปตามอายุพรรษาก่อน เรียกว่า บวชมานาน หรือเป็นผู้พี่ใหญ่ (รัตตัญญู) ทางรูป หรือทางตัวตน หรือทางโลกๆ

แต่พอรู้ภูมิจิตกันแล้วชัดเจน ก็ค่อยเปลี่ยนการเคารพอันแท้จริงไป เพราะตาม นัยปรมัตถ์แล้ว สงฆ์รูปใด ที่สูงจริง เป็นผู้บรรลุด้วยธรรมจริง อันจะต้องเป็นที่พึ่งพา แก่ผู้ที่ต่ำกว่า (บรรลุธรรม ขั้นต่ำกว่า เป็นลำดับ) ย่อมมิใช่สภาวะตามอายุพรรษา แล้วทีนี้ แต่เป็นสภาวะความแท้จริงแห่งจิต เพราะภูมิจิต หรือ คุณธรรม ทางจิต บรรลุกันได้ ตามแรงบารมีธรรม หรือบารมีกรรม มิใช่ตามวันเวลา ทางโลก ผู้บวชใหม่ บรรลุก่อนผู้บวชเก่า เยอะแยะไป สงฆ์ใดควรเป็นที่พึ่ง (ผู้มีภูมิจิตสูงกว่า) สงฆ์นั้น ควรเป็นที่เคารพนับถือกว่า โดยนัยแห่งความเป็นจริง ของภูมิธรรม จึงมิใช่เรื่องของโลก (ตามบัญญัติ) แต่เป็นเรื่องของความแท้จริง (ปรมัตถ์) ดังนี้ เมื่อสงฆ์ใดทราบภูมิจิตกันได้แล้ว ความเคารพโดยจิตแท้ ก็จะเกิดขึ้นเอง จริงๆ การเคารพกันอย่างโลกๆ ก็สิ้นไป สงฆ์ผู้บวช ๑๐ พรรษา แต่ยังไม่บรรลุธรรม ก็จะเต็มใจกราบสงฆ์ ผู้บรรลุธรรม ที่พึ่งบวชเพียงพรรษาเดียว นอกจาก สงฆ์ผู้มีมานะทิฏฐิแรงกล้า ผู้ถือดี อันเป็นกิเลส เข้าไปขวางใจเขาอยู่ เขาก็จะไม่แจ้ง จะไม่เห็นจริงได้ ลักษณะปรมัตถ์ ก็จะไม่เกิดกับเขา แต่สงฆ์ผู้บรรลุธรรมแล้ว ย่อมมิได้ถือสา แม้สงฆ์ผู้บวชนาน แต่ภูมิจิตต่ำ จะไม่เคารพท่าน ท่านก็จะคงเคารพ สงฆ์ผู้บวชนานนั้นอยู่ เป็นปกติตามบัญญัติโลก ที่พระพุทธเจ้าให้ไว้ ไม่มีอะไรลำบาก

เพราะผู้ทำอะไร ได้ด้วยความลำบาก คือ "คน" หรือคือ ผู้ยังเป็นปุถุชนนั่นเอง ผู้มีภูมิจิตยิ่งสูงเท่าใด ยิ่งทำอะไรได้ด้วยความไม่ลำบาก จึงเป็นระบบการปกครองที่ เป็นไปด้วยดีที่สุด พระพุทธองค์ ย่อมเห็นความแท้จริง คือสิ่งที่แน่นอนกว่า ยั่งยืนกว่า ดังนี้ การแต่งตั้งอย่างโลกๆ พระพุทธองค์ จึงไม่ทรงทำระบบระเบียบไว้ ให้เป็นการขัดแย้ง กับความแท้จริง เพราะในกาลสมัยต่อมา ยิ่งมี "ผู้รู้แท้" น้อยเข้า จะแต่งตั้ง คนผู้ควรเป็นประมุข ยิ่งจะ"ผิดตัว" หนักขึ้นทุกวัน จึงไม่ใช่ระบบการที่ ควรเป็น ถึงอย่างไร ระบบวินัยการเคารพ ของพระพุทธองค์ ก็ได้ตราไว้แล้ว เป็นการแน่นอน ดังที่ได้กล่าวถึงมาแล้ว จึงไม่น่าจะ"อวดดี" บัญญัติสิ่งที่ พระพุทธองค์ไม่บัญญัติไว้แต่เดิมขึ้นมาเลย ความผิดพลาดอันนี้เอง ที่ก่อให้เกิด "ตำแหน่งอย่างโลกๆ" ขึ้นมาเป็นพิษเป็นภัยแก่ "จิต"ของสงฆ์ และเป็นภัยของศาสนา เพราะทำให้คนที่ ไม่ประสงค์จะเป็นสงฆ์ ผู้มุ่งนิพพานจริง กระโดดเข้ามาบวช เพื่ออาศัยศักดิ์ อาศัยฐานันดร อย่างโลกๆ อันเอามาแปะ มาฝากไว้ ในธรรมภูมินี้ ผู้ได้ศักดิ์ ได้ฐานันดร แม้จะยังชีวิตอยู่ จนตลอดชีวิต เพียงเพื่อความเป็น "คน" ธรรมดา ในร่างของสงฆ์ ก็ได้อย่างดีด้วย และแม้จะนำศักดิ์ นำฐานันดรออกไป ปะติด ปะต่อกับสภาวะโลก ทำมาหากินอย่างโลก ก็ยังได้สบายๆ จึงมักมีคนถือโอกาส มาแอบซุ่ม แอบอาศัย เอาได้อยู่เสมอ "ความสูงของศาสนา" หรือ "ความแท้จริง" จึงลดลงๆ เพราะผู้มาบวช อย่างนั้น มาหลบอาศัย โดยจิตไม่มุ่งจริง จึงกล้าทำ ในสิ่งที่ไม่ควรทำ ในขณะเป็นสงฆ์ มากกว่าจะกล้า หรือ พยายามทำ ในสิ่งที่จะเป็นไปเพื่อนิพพาน ความผิดจึงมากกว่าความถูก ความไม่ควร จึงเกิดมากกว่า ความเหมาะควร โลกกับธรรม (ดำกับขาว) จึงไต่เดียะไปหากันได้ ด้วยการกระทำ ของคนพวกนี้ จนโลกกับธรรม จะมีความหมายอย่างเดียวกันอยู่แล้ว

ที่จริง มันก็ห้ามได้ยาก มันย่อมจะเป็นจริง ไปตามหลักแห่งไตรลักษณ์นั่นเอง สุดท้าย แม้แต่คำว่า "พุทธศาสนา" ก็จะคือ "โลก" หรือ "โลกียะ" นั่นเอง ใช่ความแตกต่างกัน แต่อย่างใดไม่ และ "โลกุตระ" ก็จะต้องแฝงตัวหลบหนีออกไป ปล่อยให้บัญญัติคำว่า "พุทธศาสนา" นั้น คือ "โลกียธรรม" แท้ๆ แย่งทึ้งเอาลาภ โลภโมโทสันเอาโลกียะ ชิงดีชิงเด่น เอายศ เอาฐานันดร ฉลาด หลีกรู้ในวิธีหาเกียรติ และสรรเสริญ นั่นแหละคือ โลกธรรม หรือโลกียธรรม ซึ่ง "โลกุตรธรรม" ย่อมห่างพ้นสิ่งเหล่านั้น เมื่อทุกกระเบียดนิ้ว ของแดนที่เรียกด้วยภาษาว่า "พุทธศาสนา" เต็มไปด้วย "โลกียธรรม" อันเป็นเรื่อง ตรงกันข้ามกับ "โลกุตระ" ออกอย่างนั้น ทุกสิ่งทุกอย่าง ที่ประกอบขึ้นเป็นเมืองแห่งพุทธศาสนา ก็ย่อมต้องเต็มไปด้วย ความคิดเห็น (ทิฏฐิ) จารีตประเพณี ของโลกียธรรม โลกียธรรม จึงจะครองโลก คลุมกลืนคำว่า "พุทธศาสนา" ไปด้วยสีสันวรรณะแห่ง "โลกีย์" จนสิ้นเกลี้ยง ไม่เหลือหลอ นั่นคือ ผลที่สุดในอนาคต แต่ขณะนี้ ยังไม่ถึงอย่างนั้น ช่วยๆกันดึงรั้งเอาประโยชน์ จากพุทธศาสนากันเสียก่อนเถิด อย่าเพิ่งช่วยกันกลืนพุทธ ไปให้เร็วนัก

๒. เพราะพระพุทธองค์ คือพระบรมสัพพัญญู สัมมาสัมพุทธเจ้าจริงๆ พระองค์ย่อมเข้าใจแจ่มแจ้ง อย่างแท้จริง ถึงคำว่าใหญ่ ว่าเล็ก คำว่าสูง หรือคำว่าดี คำว่าชั่ว พระองค์เข้าใจ เกินกว่ามนุษย์ จะเข้าใจได้ง่ายๆด้วย คิดว่า ฐานะที่พระพุทธองค์ "เป็น" อยู่นั้น คือตำแหน่ง คือยศ คือเกียรติแห่งสรรเสริญ บูชาสูงสุดทั้งหลาย ทั้งปวง ที่จริง สภาพอย่างนั้น ด้วยสภาวะของ"ผู้ให้" คือคนทั้งหลาย นำเอายศ เอาเกียรติ เอาสรรเสริญ เคารพบูชา ไปกองให้กับพระพุทธองค์ แล้วก็เข้าใจ เอาว่า สิ่งเหล่านั้น ก็คงยังมี "กองพะเนิน" เต็ม อยู่ที่พระพุทธองค์ แท้ที่จริง พระพุทธองค์ไม่มี พระพุทธองค์ ไม่เคยยึดเก็บเอาอะไรไว้ พระพุทธองค์ไม่เคยสะดุ้งสะเทือน หรือ กระเพื่อมไหว ยินดีปรีดากับสิ่งเหล่านั้น พระองค์คือผู้เปล่า คือผู้ไม่ใหญ่ ไม่โตอะไรเลย คือผู้ไม่สูง ไม่ส่งอะไรด้วย พระองค์ไม่เคยเห็นว่า เป็นยศ เป็นตำแหน่ง อันควรจะนำพา หรือหลงใหลด้วย มันไม่จำเป็นต้องมีอยู่ที่ใด หรือ ไม่จำเป็นต้องมี แม้อยู่กับผู้ใด ในโลกแห่งธรรม มันย่อมเป็น"ปรมัตถ์" มันย่อมเป็น "ความแท้จริง" เมื่อในคนผู้ใด มี"ความดี" ผู้นั้นจะมี"ผลแห่งความดี" กรูกันเข้ามาหา เข้ามากอง เข้ามาทับถม เป็นธรรมดา เป็นธรรมชาติ เป็นสิ่งไม่แปลก ไม่มหัศจรรย์ เป็นเรื่องของ การไม่บิดพลิ้ว ไม่ฝืน ไม่ขัดกับความจริง แต่อย่างใด ซึ่งไม่จำเป็นต้องไป"กำหนด" ไม่จำเป็นต้องไป"แต่งตั้ง" หรือไม่จำเป็นต้องไป "ชี้บอก-ประกาศ" ว่า คนที่น่าเคารพที่สุด คนที่สูงสุด คือผู้นั้น คือผู้นี้ ความจริงแท้ ปรากฏตัวออกมาเอง จึงจะเป็น "ความจริงที่ไม่ผิดเพี้ยน" (ธรรมะ) คนไม่จำเป็นต้อง "อวดดี" หรือ "สู่รู้" ไปยิ่งกว่า "สภาวะความแท้จริง" (ธรรมะ) มันจะคลี่คลาย ขยายตัวของมันเอง "ธรรมะ"ต่างหาก สูงกว่า"คน" ความเป็นไปอย่าง ไม่หยุดหย่อน (อนัตตา) นั่นต่างหาก จะเป็นตัวจัดแจง ชี้บอกความแท้จริงเอง "คน" จะสามารถ ไปกำหนดผูกมัด หรือ ตีตราตอกตรึง หรือ รู้มากจน "แต่งตั้ง" ใครๆให้คงที่ คงเที่ยง เป็นตัวเป็นตน เป็นของแท้ของจริง (อัตตา) อยู่อย่างนั้น ได้อย่างไร ตัวผู้จะเป็นผู้นั้นเอง ต่างหาก ที่จะรู้เอง ดังที่พระพุทธองค์ ท่านทรงเป็น "ผู้รู้" (พุทธะ) หรือ พระอรหันต์เจ้าองค์อื่นๆรู้ "คน"เป็นแต่เพียง ผู้ยังไม่รู้ ยังไม่ใช่ความแท้ที่ถูกต้อง เที่ยงตรง เพราะมีน้ำหนักของกิเลส บวกรวมอยู่ ในจิตปัญญา จะถือดีอย่างไรไป"กำหนด" ความเที่ยงแท้ให้แก่ "เมืองแห่งธรรม" (โลกุตระ)

พระพุทธองค์ จึงทรงทราบดีว่า พระองค์ไม่ควรจะสร้างวิธีการ หรือระบบการอันจะพาให้คนยิ่ง"หลง" ยิ่ง"ผิด" มากขึ้น ทุกเมื่อเชื่อวันนี้ จึงไม่ยอมสร้างระบบนั้นไว้ และโดยเฉพาะ พระพุทธองค์ทรงทราบ ยิ่งกว่าใครๆ ทราบว่า การเป็นอยู่อย่างที่ พระพุทธองค์ทรงเป็นอยู่ นั่นแหละ มันคือ "ความทุกข์" เป็น"ทุกข์" จริงๆ "ธุลีทุกข์" คือ "ทุกข์" ที่มี"ตัวตน" ละเอียดอ่อน จนคนธรรมดา จะสัมผัสไม่ได้ จะไม่รับรู้สึก หรือรู้เห็นว่า เป็น"ทุกข์" เป็นอันขาด เหมือนกับ "แสง" ที่มาจาก "พระจันทร์" คนจะไม่คิดว่ามีความร้อน หรือยิ่ง "แสง"จาก"หิ่งห้อย" ในแบบเดียวกัน แต่มีความไม่เท่ากัน ในค่า ในอัตราของปัจจัยที่ประกอบอื่นๆ จึงแสดง "ผลเด่น" ในเชิงความร้อนได้ไม่เท่ากัน เมื่อคนไม่อาจจะรู้ "ค่า" ในการสัมผัส ของของสิ่งนั้นได้ ในเชิงหนึ่งเท่านั้น จะด่วนชี้ขาดลงไปว่า สิ่งนั้น ไม่ใช่อันนั้น สิ่งนี้ไม่ใช่อันนี้ นั้นยังไม่ได้ เหมือนเครื่องบิน ที่มันไม่ได้บินอยู่บนท้องฟ้า แต่มันวิ่งอยู่บนลานดิน จะไม่เรียกว่า มันคือเครื่องบิน หรือถือว่า เครื่องบินนั้น ไม่ได้ติดเครื่องยนต์ก็ไม่ได้ ความจริง มันเป็นเครื่องบินแล้ว ยังติดเครื่องอยู่ ทว่า ค่าของการทำงาน ของเครื่องยนต์ มันต่ำลงเท่านั้น โดยแท้จริง มันทำงานอยู่ในระบบที่ เป็นไปแนวเดียวกัน คือ อันเดียวกัน

ดังนั้น ผู้รู้ค่า หรือรู้ละเอียดได้ ในสิ่งนั้น จึงจะสามารถบอกแจ้งสิ่งนั้นได้ โดย ลักษณะการอย่าง "พลังงานแสง" ที่ต่างค่า อันได้จากพระจันทร์ จากหิ่งห้อย อย่างนี้ เป็นต้น หรือใครจะปฏิเสธว่า พลังงานที่มีโครงสร้าง อย่างที่ได้จากพระจันทร์ หรือหิ่งห้อย ไม่ใช่"แสง" เพราะเหตุเพียง มันแสดง "ค่าของความร้อน" ให้คนรับ ไม่ได้เท่ากัน ทุกคนย่อมไม่ปฏิเสธว่า มันคือ "แสง" แต่เป็นแสงที่มี "ค่าแห่งความร้อน" ต่ำลงมาก จนคนธรรมดา ไม่สามารถรู้สึก ไม่สามารถจะรับค่าของ "ความร้อน" ที่มีในแสง ดังกล่าวนั้นได้ แต่มันก็มี หรือ พลังงาน"เสียง" ก็เช่นกัน เสียงที่มีค่าแห่งความถี่ต่ำ หรือสูงกว่าที่คนจะสามารถรับได้ มันก็ยังมี ไม่ใช่ไม่มี และมันก็คือ "เสียง"

จากพระพุทธพจน์บทหนึ่ง ที่มีว่า..."การจะยิงศรให้ผ่านรูกุญแจ จากระยะไกล โดยไม่ให้พลาด สักดอกเดียว ย่อมทำได้ยาก และจะยิ่งยากขึ้นอีก ถ้าจะจักเส้นผม ให้เป็นร้อยแฉก เสมอกัน การจะเข้าถึงความจริงว่า ทุกอย่างย่อมเป็น "ทุกข์"นั้น ยังยากยิ่งกว่า "... จะเป็นพระดำรัส ที่ยืนยันได้ เป็นอย่างเที่ยงแท้ จริงๆ

ดังนั้น "ธุลีทุกข์" ดังกล่าวแล้ว จึงยากยิ่ง ที่คนธรรมดา จะพึงรู้ พึงถึงได้ เพราะมันอยู่นอกมิติ ที่คนจะรู้กัน จึงต้องยกไว้ แต่ผู้อยู่ในภูมินั้น อันเป็นภูมิที่ใกล้เคียงกัน หรือ ภูมิเดียวกันเลย ก็ย่อมรู้ ย่อมรับรสมัน เช่น หมามันยังรับเสียงที่สูง เกินกว่าหูคนจะรับได้ เป็นต้น หมามันจึงรับรู้เสียงนั้น ในหมู่หมาด้วยกัน

"ทุกข์" ดังกล่าวนี้ จึงเป็น "ทุกข์ปรมัตถ์" เป็นทุกข์ที่เกินกว่าคนจะเห็นจริง ถ้าแบ่ง "ทุกข์อริยสัจ" ไว้พูดกันกับชาว "มนุษยภูมิ" "ทุกข์ปรมัตถ์" ที่กล่าวถึงนี้ สูงกว่า "ทุกข์อริยสัจ" ไปอีก เป็นเรื่อง"มนุษย์" ยังไม่ต้องไปเอาใจใส่ ไปรับรู้ หรือนำมาคิดเป็นอันขาด เพราะยังไม่ถึงเวลา ยังไม่ถึงขั้นระดับ ให้รู้ในขอบข่ายของตน ให้แจ้งให้พอเสียก่อน ปล่อยให้พระอริยเจ้า ท่านรู้ ท่านพิจารณา ท่านแจ้ง ท่านเข้าใจในส่วนของท่าน และการจะรับไว้ หรือ จะปลดปล่อย "ทุกข์"นั้นๆ หรือไม่ จึงเป็นหน้าที่ ของแต่ละองค์ จะตัดสินใจด้วยตนเอง ซึ่งย่อมเป็นไป ตามอำนาจของ "ปัญญาบารมี" และการจะพ้น สิ้น จากธุลีทุกข์นี้ไปจริงๆ จึงคือวาระแห่ง "ความตาย" เป็นการดับทั้งสิ้นทั้ง ๕ ขันธ์นั่นเอง

เพราะเหตุนั้น ในสมัยต้นพุทธกาล จึงมีพระอรหันต์ "อยากตาย" เนื่องจาก "ปัญญาบารมี" ยังไม่แรงพอ ซึ่งก็ได้ทำลายตนตายไปก็มี จนพระพุทธองค์ ต้องห้าม และแม้พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเอง ก็ยังขอ สู้ทนรักษา "สังขารขันธ์" (ขันธ์ทั้ง ๕ ชีวิต) ไว้เพียงพระชนมายุ ๘๐ พรรษา เท่านั้น แม้พระองค์ จะรักษาสังขารขันธ์ ต่อไปอีก ก็ได้ และได้จริงๆ เสียด้วย ด้วยเหตุผลทุกประการ ไม่ว่าจะเป็นด้วย "กรรม" พระองค์ก็พ้นแล้ว ยิ่งกว่าพระอรหันต์องค์อื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นด้วย "ความรู้" หรือวิธีที่จะยังชีวิต ให้สืบต่อไปอีก ด้วยอำนาจของ อิทธิบาท และไม่ว่าจะเป็น ความธรรมดาของ "วาระอายุ" อันเรียกว่า "กัป" (ของคน) หรือคือส่วนเฉลี่ยของ อายุคนในยุคนั้น ก็ถือกัน ๑๐๐ ปี เป็นเกณฑ์ พระอรหันต์อื่น ที่มีอายุกว่า ๑๐๐ ก็มีมากมาย นี่ พระพุทธองค์แท้ๆ พระชนม์เพียง ๘๐ พรรษาเท่านั้น ทำไมจะมาด่วนปรินิพพาน จะว่าเป็น"กรรม" ก็ไม่ใช่แล้วนี่ หรือไม่ว่าจะเป็น ความเหมาะควร ที่จะอยู่เพื่ออนุเคราะห์สัตวโลก เป็นประโยชน์แก่โลกต่อไปอีก พระองค์ก็ควรจะอยู่ อย่างยิ่ง แต่เพราะ "สังขารทั้งหลายย่อมเป็นทุกข์" นั่นเอง พระพุทธองค์ จึงไม่ยอมขวนขวายรักษา "สังขารขันธ์" (ชีวิต) ของพระองค์ต่อไปอีก แม้พระอานนท์ จะทูลขอแล้วขออีก อย่างไรก็ตาม

เพราะพระองค์มีปณิธาน ขอสู้ทนเพียงตั้งพระศาสนาให้อยู่ได้ และจะ "เป็นไป" ได้ตามที่พระพุทธองค์ คำนวณไว้ เมื่อสิ่งนั้น "เกิด" แล้ว (หมายถึงพุทธศาสนา) "ตั้งขึ้น"แล้ว เพียงพอแล้ว (คือจะยื่นเวลานาน ไปได้ประมาณ ๕๐๐๐ ปี) สิ้น ภาระแล้ว พระพุทธองค์จึงต้อง "หนีธุลีทุกข์" นี้บ้าง การหนีทุกข์ขั้นนี้คือ "เต็มใจ ตาย" แต่พระองค์แจ้งยิ่งกว่าคำว่า "ตาย" อย่างที่คนธรรมดา จะเข้าใจได้ ท่านไม่ได้ตายหรอก (แต่ไม่ใช่ว่า ยังไปเป็นพระพุทธเจ้า อยู่ในโลกวิญญาณ ตามลัทธิปรมาตมัน หรือ พวกสัสสตทิฏฐิ หลงหรอกนะ) ท่านเปลี่ยนภูมิ ไปสู่ที่ที่ "ไม่ตายยิ่งกว่า" อันเรียกว่า "อมตนิพพาน" หรือ "อมตภาพ" (คือสภาพที่จะ เวียนวนมาเป็นอย่างนี้อีกนั้นไม่มี หรือแม้มีก็นั่งไม่ได้จริงๆ เพราะพระองค์ทรงทำตน ให้พึงได้พึงถึง จุดสูงสุด จุดไกลสุดนี้ได้แล้ว) ด้วยเหตุผลทั้งสิ้นนี่เอง พระพุทธองค์จึงแสดงว่า "หนีธุลีทุกข์" อย่างสิ้นทราก สิ้นกาล ไกลสุด จนเรียกว่า หมดจบอย่างสูงสุด

พระองค์จึงไม่สร้างกฎ สร้างระบบการ อันจะเป็นการทำทารุณ "พระอรหันต์เจ้า" องค์ที่จะต้องมาประสบกับ ลักษณะ "สู้ทน" กับธุลีทุกข์ ในแบบนี้เชิงนี้ พระองค์จึงปล่อยให้เจ้าตัว (พระอรหันต์นั้นๆ) ตัดสินใจให้แก่ตนเอง แล้วแต่ใครจะมี "ปณิธานจิต" อย่างไร เมื่อท่านองค์ใด สามารถทำตน ให้พึงได้ พึงถึง "นิพพาน" ได้แล้ว ก็คือ ผู้ทำ "ทุกข์ให้พ้นไป"จากตนได้ ในขอบข่ายแวดวงแห่ง ภูมิผู้นั้นๆ ส่วนผู้ใด จะบำเพ็ญกุศล "อนุเคราะห์สัตวโลก" หรือไม่แค่ใด ก็เป็นสิทธิ์ พรหมธรรม ของผู้นั้นจะพึงทำ ซึ่งเมื่อ"ทำ" ก็ย่อมเป็น"ธุลีทุกข์" มากน้อย ตามระดับขั้นสภาวะ "ภูมิจิต" ของแต่ละองค์ จะยังรับสัมผัสอยู่ องค์ใด "ทำ" เพียง ตามแต่โอกาส ไม่มุ่งมั่นยึดถือ จึงคือ "อรหันต์ในแบบเถรวาท" แต่ถ้าองค์ใด ใฝ่ "สู้ธุลีทุกข์" นั้นต่อไปอีก หวังประโยชน์แก่สรรพสัตว์โลก จนถึงขั้นต้อง "ขวนขวาย" คือ เพิ่มความพยายาม พากเพียร วิริยะ เพิ่มความอดทน (ขันติ) เพิ่มความตั้งใจ จะทำให้ได้ โดยจริง ตามปณิธาน (สัจจะ) และเพิ่มจุดมุ่งหมาย (อธิษฐาน) จุดปรารถนาให้มากขึ้น สูงขึ้น องค์นั้นก็คือ "พระโพธิสัตว์"

ซึ่งผู้ยังไม่เข้าใจคำว่า "พระโพธิสัตว์" ดีพอ จึงเข้าใจพุทธในแบบมหายานไม่ได้ และที่สำคัญก็คือ คนในรุ่นต่อมา ผู้ยังไม่"บรรลุธรรม" ยังเข้าใจ "มรรคอริยสัจ" ไม่ได้ แทง"อริยสัจ ๔" ยังไม่ถ้วน แต่เห็นว่า พุทธในแบบมหายาน นั้นดี ก็เลยมุ่งปฏิบัติตาม แต่แท้จริงนั้น ตนยังเข้าใจภูมิธรรม ยังไม่พอ จึงกลายเป็น ผู้ใฝ่ "สู้" อย่างสุดโต่งไปเป็นทางๆ ไปเป็นเรื่องๆ ไปเลยก็เยอะ เช่น บำเพ็ญ บารมีทางอภิญญาใด อภิญญาหนึ่ง จนไม่สามารถมี "ปัญญา" พอรู้แจ้ง สัจธรรมถึงขั้น "พ้นทุกข์อริยสัจ" แล้วก็เลยพาลพาให้ฉุด ให้ลาก "จุดแท้" ของศาสนาพุทธออกไป เป็นเลอะๆ เทอะๆ อาการของ "พุทธแบบมหายาน" จึงเหมือนไม้ปักโคลน ความเละเทะ จึงปนเข้าไปอย่างช่วยไม่ได้ เมื่อวันเวลา ยิ่งผ่านพ้นไป พุทธแบบ มหายาน จึงไม่มีจุดแท้แห่ง "ความพ้นทุกข์" เหลืออยู่เลย จนชาวมหายานเอง ต้องรับสมอ้างว่า ในนิกายของตนนั้น ไม่มีจุดสุดท้ายอยู่ที่ "อรหันต์ภูมิ" (เพราะเข้าใจคำว่า "อรหันต์" ไม่พอ และได้พากันออกนอกลู่นอกทาง แห่งพุทธ) แต่ทุกคนจะ สำเร็จ"อรหันต์" เมื่อก้าวย่างเข้าสู่ "พุทธภูมิ" และจะเป็นพระอนุตตรสัมมาสัมพุทธเจ้า กันทั้งนั้น ยิ่งรุ่นใหม่ๆ หลังๆ ยิ่งบรรยายเลอะออกไป มากยิ่งขึ้น ว่าจะรื้อขนสัตว์ ให้สู่ความพ้นทุกข์ ให้หมดสิ้น ให้ได้เกลี้ยงจักรวาล แล้วตนถึงจะขอบรรลุก็ดี มีปณิธานแรงกล้า จนถึงขั้น "พูดได้ หรือ จะตั้งใจทำให้ได้" แต่ "มันเป็นไปไม่ได้" (คิดให้ดีๆเถิด มันเป็นไปไม่ได้จริงๆ) นั่นคือความไม่เข้าใจ ไม่รู้แจ้ง แล้วก็เลยกลายเป็น "บานปลาย" ออกไปใหญ่โต ด้วยเหตุเพราะ ไม่บำเพ็ญตน ตามลำดับขั้นเสียก่อน (จึงไม่พ้น "สีลัพพตปรามาส" กันได้สักที อย่าลืม ว่า "พระโพธิสัตว์" นั้นคือ ผู้มีภูมิจิตสูง เป็นผู้มีความเป็น "อริยะ" ดังนั้น ก็จะต้องเป็นพระ"อริยเจ้า" ถ้าไม่พ้น "สีลัพพตปรามาส"แล้ว จะเป็น "อริยเจ้า" ไม่ได้ แม้ขั้นต่ำสุด ต้องทำความเข้าใจให้ดี)

เพราะแม้จะบำเพ็ญ "โพธิสัตว์" ก็ต้องบำเพ็ญบารมี ๑๐ ทัศนั่นเอง อันมีทาน ศีล เนกขัมมะ จนถึงขั้น "ปัญญา" ก็จะสามารถเข้าใจ "อริยสัจ" ได้ในขั้นนี้ เมื่อรู้แจ้ง แล้ว จะตั้งปณิธานจิต บำเพ็ญต่อ ก็สร้างวิริยะบารมี เพิ่มเข้าไป ต้องมีขันติให้มาก "สู้ธุลีทุกข์" ให้ได้ ตั้งสัจจะให้มั่นคง ว่าจะไม่ถอย จะขอสู้ "ธุลีทุกข์" ให้จนถึงขั้นเป็น พระพุทธเจ้า ในอนาคตให้ได้ ตั้งอธิษฐานจิตเข้าไป ให้เป็นบารมี มากๆ "พรหมธรรม" อันมีเมตตา อุเบกขา มาช่วยกระตุ้นเตือนตน เพื่อจะได้บำเพ็ญยิ่งๆ ขึ้น พระโพธิสัตว์นั้น จึงรู้แจ้ง "ทุกข์" ที่เป็น "ธุลีทุกข์" แต่ก็ตั้งหน้า "ยืนหยัด"สู้  "ขวนขวาย"สู้ ซึ่งมันต้อง "ปรุงแต่งจิต" หรือ สร้างสังขารธรรมกันขึ้นมาทั้งนั้น มันจึงเป็น "ทุกข์" พระอรหันต์ที่ท่านไม่สู้ "ธุลีทุกข์" ดังกล่าวนี้ จึงเป็น "ผู้ขวนขวายน้อย" เป็น "ผู้รู้อยู่" ถึงเวลาท่านก็ดับทุกข์ พ้นโลกไปก็เท่านั้น ส่วนคนผู้ไม่รู้เรื่อง ที่พาให้พุทธ แบบมหายาน ต้องเลอะเทอะ มาจนทุกวันนี้ ก็เพราะยังไม่รู้ ไม่เข้าใจ พอเข้าบำเพ็ญก็เอาทีเดียว ไม่บำเพ็ญตามขั้นของบารมี คว้า ได้ "เมตตาบารมี" ก็เอาเมตตาธรรม มาบำเพ็ญ คว้าได้ "ขันติบารมี" ขันติธรรมมาบำเพ็ญ เลยพากันสุดโต่ง ไปเป็นเดรัจฉานวิชชา กันหมด เพราะการบำเพ็ญจิตนั้น ต้องดำเนิน "สมาธิ" กันเป็นส่วนใหญ่ เมื่อเกิดการบำเพ็ญ "สมาธิ"กัน ผลของ "สมถะสมาธิ" อันเป็นอภิญญาต่างๆ ก็เกิดได้มีได้ เลยกลายเป็น "ผู้วิเศษ" กันไปหมด ในพุทธแบบมหายาน ยิ่งมีอภิญญา ก็เลยยิ่งนำมาใช้ช่วยสัตวโลก ได้มากขึ้น "พุทธธรรม" เลยกลายเป็น "โลกียธรรม" เพียงเพื่อ "บุญ" เพื่อ "กุศล" ไปเท่านั้นเอง

เพราะอภิญญาต่างๆ ไม่ใช่คุณสมบัติของการ "พ้นทุกข์" แต่เป็น"วิชชา" ที่ทำให้ผู้ ใฝ่ ผู้ไม่ทิ้ง ยังมี"ทุกข์" ยังมี"ภาระ" อยู่ทั้งสิ้น "พุทธศาสนา" ไม่ได้เน้นเรื่อง อภิญญา แต่เน้นเรื่อง ให้รู้จัก "ทำตนให้พ้นทุกข์" ดังนั้น ผู้ที่เป็นพระโพธิสัตว์ ที่ยังไม่เข้าใจ จึงเต็มไปด้วยภาระ เต็มไปด้วย"ทุกข์" ที่หนักขึ้น ใหญ่ขึ้น ทับถมตนเอง มากขึ้น จนมีแต่ชื่อเรียกตัวเองว่า "พระโพธิสัตว์" แต่แท้จริง"สัตว์โง่" ไม่ใช่ "สัตว์ที่มีความรู้" หรือไม่ใช่ "อริยบุคคล" (คนฉลาด) เมื่อไม่รู้แม้แค่ทุกข์ ที่ทับถมตนเอง ก็ยังผ่อนคลายไม่ได้ แล้วเมื่อไหร่จะฉลาด จนได้เป็น "พระพุทธเจ้า" ส่วนพระโพธิสัตว์ ที่ได้บำเพ็ญมาดีแล้ว จนบรรลุ"ปัญญาบารมี" "ปัญญาวิมุติ"ได้ ก็จึงรู้จักใช้ "วิชชา" และแน่นอน อภิญญา ก็ต้องเป็นสิ่งที่ พระโพธิสัตว์ผู้ที่บรรลุ ปัญญาวิมุตินี้ต้องการ เพื่อนำมาช่วยสัตวโลกอยู่เช่นกัน ส่วนพระอรหันต์ ผู้ไม่บำเพ็ญโพธิสัตว์นั้น ท่านก็ไม่ขวนขวายนัก แต่การได้"อภิญญา" มาประดับตน มันก็เหมือน เครื่องประดับอลังการ ย่อมเป็นส่วนดีแก่ตนอยู่ ทั้งสิ้น ทว่า พระอรหันต์ แม้มีอภิญญา ท่านก็ไม่พึงใช้ พึงแสดง อะไรนัก หรือแม้ ไม่มีอภิญญา ท่านก็ไม่เดือดร้อน เพราะดังกล่าวแล้ว การยัง"ทำ" ยัง"ขวนขวาย"อยู่ ย่อมยังเป็น"ทุกข์" ส่วนพระโพธิสัตว์นั้น กลับต้องพยายามใช้อยู่ ยัง"ขวนขวาย"อยู่ ยังยอม"สู้ทุกข์" แต่ถึงกระนั้นก็ดี พระโพธิสัตว์ ผู้มี"ปัญญาบารมี" ย่อมรู้จักใช้ รู้จักวาระ เพราะท่านรู้จัก"ทุกข์" การ"พ้นทุกข์อริยสัจ" ของท่าน จึงเป็น"ธุลีทุกข์" ที่ค่อยๆ ละเอียดขึ้น สูงขึ้นโดยแท้จริง ไม่หลงเป็นแค่ผู้มี เดรัจฉานวิชา ก็จะทำอะไร จนเกินขอบเกินเขต ของสิ่งที่เหมาะควรไป จนแม้ตนเอง ก็ช่วยตนไม่พ้น กระทั่งกระทบกระเทือน ไปเข้าใจผิด ให้กับศาสนาได้อย่างมาก พุทธแบบมหายาน เกิดคนเช่นนี้มากเข้า จึงพาให้ "ความเป็นพุทธ" ถูกจุดแท้ เจือจางไปทุกที ดังจะเห็นผล อยู่แล้วในทุกวันนี้ จึงหาคนเข้าใจ "พุทธแบบมหายานแท้ๆ" เอาไม่ได้ แม้เข้าใจคำว่า "พระโพธิสัตว์" ก็ยังไม่ได้ การบำเพ็ญบารมีทั้งหลาย จึงเลอะเทอะ ไม่เป็นผลดีแก่ศาสนา ของตนเอง ซึ่งก็รัก และก็หวงแหนเสียด้วย จึงกลายเป็นตนนั่นแหละ ทำลายศาสนาที่ใฝ่อยู่ บำเพ็ญอย่างเอาเป็นเอาตายอยู่ ไปด้วยน้ำมือ ของตนเอง เชือดเนื้อเฉือนหนัง ของศาสนา ของตนเองให้สูญ ให้ทำลายไปด้วย "ความรัก ความปรารถนาดี" ของตนเอง ฟังแล้วมันก็น่าสงสาร น่าเห็นใจ ผู้ใดเห็นในข้อนี้ได้ น่าจะกลับตนกลับใจ มุ่งใฝ่ ให้เป็น ให้ถูกเรื่อง ถูกที่ ถูกทาง จึงจะเกิดผลดีแก่ตนเอง และแก่ศาสนาด้วย

ด้วยประการดังนี้ "ปัญญา" จึงเป็นคำสำคัญ เป็น"หัวใจ" ของพุทธศาสนา วิชชาของพระพุทธองค์ จึงต้องมี"ปัญญา"ให้ได้ ไม่ว่าในกรณีใดๆ จะเป็นพุทธ ในนิกายใดก็ตาม ถ้าไม่ถึงซึ่ง "ปัญญา" ก่อนแล้ว จะกลายเป็นผู้ที่ "ทำลาย" ศาสนาด้วยน้ำมือของตนเอง ได้อย่างง่ายดายทีเดียว เพราะฉะนั้น ในสมัยทุกวันนี้ จารีต และพิธีการ หรือประเพณีใดๆ อันเกาะเกี่ยวอยู่ในศาสนาพุทธ ทุกนิกาย จึงต้องพิจารณาให้มาก แยกแยะด้วยปัญญาให้ดี แทงทะลุจารีต พิธีการ และ ประเพณี ให้ได้ เพราะจารีตก็ดี พิธีการก็ดี หรือประเพณีทั้งหลายนั้น มีขึ้นเพียง เพื่อให้อาศัยเป็น "บาทฐาน" หรือเป็นสะพาน เป็นเครื่องนำ เป็นสื่อโยงให้แทงทะลุ ผ่านเข้าไปถึงจุดแท้ จุดจริงของ "ความรู้จักพาตน ให้พ้นทุกข์" เท่านั้น อย่าไปหลงติด หลงยึดถือ ให้เป็นจริงเป็นจัง เป็นอันขาด แต่ถ้าใครยังเข้าใจไม่ได้ ก็อย่าพึ่งไปละเลยเสียล่ะ การเดินไม่มีสะพาน การไปไม่มีเครื่องนำ การจะจับต้องให้ได้โดย ไม่มีสื่อโยงนั้น ย่อมเป็นไปไม่ได้ อย่าอวดดี อย่าหลงตน อย่าเข้าใจผิดในตน เราจะทิ้งสะพานได้ ทิ้งเครื่องโยงได้จริงๆ ก็ต่อเมื่อ แจ้งในตนว่า พ้นวาระนั้นๆได้อย่างแน่ใจจริงๆ ถูกต้องแล้วเท่านั้น อย่าประมาท การยอมโง่ดีกว่าหลงตน ว่าตนฉลาด มันจะพาเราให้ยิ่งโง่ลง แต่แม้เราจะยอมโง่ เราก็ไม่เสียหาย อย่าลืมว่า ผู้กำลังทำตน ให้ผู้อื่นรู้ว่า ตนฉลาด คือผู้กำลังเทความฉลาด ออกมาให้กับคนอื่น ส่วนผู้ที่กำลังทำตนให้โง่ คือผู้กำลัง ทำตุ่มของตนให้ว่างเปล่า ไร้ความฉลาด ทั้งมวล เพื่อจะรับเอาความฉลาดจากผู้อื่น เข้าไปใส่ตุ่มของตน จึงยอมทำโง่ไว้ นั่นแหละ ดีกว่าหลงหยิ่งทำตนเป็นคนฉลาด "วิชชา"ของพระพุทธเจ้า จึงต้องถึงให้ได้ด้วย "ปัญญา" ก่อนอื่นใด หมดจริงๆ ไม่ว่าจะเป็นนิกายเล็ก นิกายใหญ่อะไร ทั้งนั้น อย่าหลงเป็นอันขาด และ ต้องมุ่งแทงทะลุ "อริยสัจ ๔" ให้ได้ก่อนอื่นด้วย

ดังนั้น พระโพธิสัตว์ที่รู้ค่าแห่ง "อริยสัจ" แล้วก็มีอยู่ ซึ่งก็เป็นการรู้แจ้ง "ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค" ในรูปรอยโครงสร้าง ในแบบเดียวกัน "ทุกข์อริยสัจ" นั้นๆ มันยังไม่เท่ากัน หรือมันยังมีค่าหยาบ และละเอียดผิดกันอยู่ พระโพธิสัตว์ที่ยังไม่แทงทะลุ "อริยสัจ"ก็มี ก็เหมือนๆ พระที่ยังเป็นเพียง"สมมุติสงฆ์" นั่นเอง เรื่องนี้ ถ้าพูดไปอีก ก็ยิ่งมากเรื่อง มันไม่ใช่เรื่องธรรมดา ข้าพเจ้าจะไม่พูดต่อละ ขืนพูดต่อไป ความถูกก็จะคือความผิด (เท่าที่พูดมาแล้วขนาดนี้ ก็ยังแน่ใจ ได้อยู่ว่า ผู้เห็นเป็นผิด อยู่มิใช่น้อย จะมากกว่าเห็นเป็นถูกเอาด้วย) เพราะความถูก ความผิดก็คือ ความเห็น ๒ สภาวะ ใครเห็นยังไม่ได้ หรือยังไม่เห็นด้วย ก็คือ "ผิด" ถ้าใครเห็นได้ หรือเห็นด้วย ก็คือ "ถูก" ดังนั้น ผู้จะเห็นได้ในความสูง หรือความลึก จึงคือ ผู้สูงผู้ลึก ผู้ยังไม่เห็นได้ในความสูง จึงยังไม่เห็นด้วย และก็มักจะยึดถือ ความไม่เห็นด้วยนั่นว่า "ผิด" เอาเสียด้วย แท้ที่จริง ความผิดความถูก มันไม่มีหรอกในโลก มันมีแต่ "สมมุติบัญญัติ" ที่ยังเรียก ความเป็น ๒ ฝ่าย ๒ สภาวะ อยู่ทั้งสิ้น ถ้าเข้าใจได้ถ้วนทั่ว หมดเกลี้ยง ก็จะรู้ได้ว่า อะไรคืออะไร โดยไม่มีอะไรเป็นผิด หรือเป็นถูกทั้งนั้น แต่จะอธิบายความจริงทั้ง ๒ ฝ่ายของผู้ที่ยังเห็นแตกต่างกันได้ ผู้รู้ จึงไม่เถียงกับใคร แต่จะเป็นผู้พยายามอธิบายเท่านั้น

เท่าที่อธิบายมานั้น ก็เพื่อจะแสดงให้เห็นว่า พระพุทธองค์ไม่ทรงบัญญัติ ฐานันดร และยศชั้น เพราะเหตุอะไร เลยไปอธิบายไปถึง มหายาน และ โพธิสัตว์เอาหน่อย ก็สรุปได้ว่า การจะตัดไฟแต่ต้นลม ได้อีกอย่างก็คือ เลิกระบบ "ยศชั้น-ฐานันดร" หรือ ยศตำแหน่งของพระ กันเสียเถิด

และส่วนที่จะวินิจฉัยว่า พระไม่ใช่พระ ควรจะได้รับการปลด จากตำแหน่งพระก็คือ

๑. พระองค์ใด ทำพระเครื่อง หรือเครื่องรางใดๆทั้งสิ้น เพื่อให้เป็นของขลัง จะทั้งจำหน่าย หรือทำแจกเฉยๆก็ตาม ผู้นั้นยังหลงอยู่นอกทาง แห่งพระอริยเจ้า แม้ จะเก่ง หรือไม่จริงก็ช่าง

๒. พระดิ้นรนสร้างอะไรให้วัด อันเป็นการก่อทางวัตถุต่างๆ แม้จะสร้างกุฎิ สร้างโบสถ์ อันใดก็ตาม ไม่ใช่เรื่องของพระเลย คนต่างหาก ที่มีหน้าที่ จะสงเคราะห์พระ ถ้าพระยิ่งไม่ต้องการ ยิ่งไม่นำมา ลองดูสักหน่อยเถิด ศรัทธาที่คนจะสร้าง จะทำให้ยิ่งจะมาก และยิ่งจะสูงส่ง แต่นี่ พระเอง เป็นผู้ทอนศรัทธาคนเสียเองโดยแท้ แต่ถึงแม้จะไม่มี ผู้ไปทำให้เลยจริงๆ พระก็ต้อง"รู้อยู่" ไม่ใช่ดิ้นรน โพนทะนา เป็นพระต้องหัดอ่าน พระสูตร พระวินัย ของพระให้รู้ แล้วปฏิบัติตามให้ตรง อยู่ให้ได้ แม้นอนกับดินกับหญ้า ใต้โคนไม้ ใช้ผ้าคลุกขี้ฝุ่นขี้ดิน เพราะนั่นเป็นทางที่พระ จะต้องฝึกต้องสร้างตน ให้จนเป็น "นิสัย" ให้ได้

๓.พระที่ "เป็นอยู่" โดยไม่ชอบไม่ถูก ไม่มี"สัมมา" โดยทุกทาง ตั้งแต่อยู่ดูหมอ รักษาโรค แสดงอภินิหารต่างๆ แม้อยู่โดยไม่ตั้งใจเพียรปฏิบัติ ให้ได้มาซึ่งธรรม ละเมิด"ศีล" อย่างเจตนา อยู่มากมาย หรือไม่มี"ศีลสิกขา" จนไม่รู้กัน แม้แต่ว่า "ศีล" คืออะไร? และในพุทธศาสนา "ศีล" มีอะไรบ้าง?

๔. พระผู้แสดงกิเลส ตัณหา อุปาทาน ออกมามากมาย เกินกว่าธรรมดา อย่างไม่ละอาย และที่น่าจะห้ามอย่างยิ่ง ก็คือ ผู้ที่"บวช" แล้ว สึกออกมาสู่โลก ไม่ว่าจะสึก ออกมาในกรณีใดๆทั้งสิ้นทั้งปวง จะมีเหตุผลมาอ้างกี่แสน กี่ล้านข้อก็ตาม คนผู้นี้ ไม่มีหน้าที่ ไปสั่งสอน"ธรรมวินัย" โดยประการทั้งปวง เพราะผู้ "บวช" แล้วสึกออกมา ถือว่าเป็นผู้ไม่ถึงรสพระธรรม ฉะนั้น จะมี "จิต" ถึงแจ้งธรรมนั้น เป็นไปไม่ได้ เป็นอันขาด ท่านผู้เคยอยู่ ในสภาพ ผู้บำเพ็ญธรรมแล้ว ยังรู้สึกว่า อยู่ไม่ได้ และเห็นหนทางที่จะอยู่ว่าไม่ดี ต้องเปลี่ยนแปลงหนทาง ให้ตนใหม่นั้น คือ ผู้รู้ตัวดีว่า ตนมีความเหมาะ ที่จะอยู่กับโลก ไม่เหมาะที่จะอยู่กับธรรม และเป็นผู้มี ปัญญาทางโลก ไม่ใช่ผู้มีปัญญาทางธรรม แต่อย่างใดเลย เปรียบเหมือน คนเคยมีที่อยู่เป็นเวียงวัง มีสมบัติ ทั้งวัตถุ และเครื่องเสพทางกาย ทางใจพร้อมมูล แล้วจะพาตนดิ้นรน หนีออกมาอยู่กระท่อม และอยู่อย่างดิ้นรน หาสิ่งต้องเสพ อย่างทุกข์ทรมานนั้น ฉันใด ผู้ที่บวช แล้วสึกนี้ ย่อมเป็นผู้ไม่รู้คุณค่า ของเวียงวังนั้นอย่างยิ่ง ฉันนั้น หรือ เปรียบได้กับ ผู้มีโอกาสเข้าไปเป็นนักศึกษา ในมหาวิทยาลัย จะเข้าไป โดยตั้งใจ หรือไม่ตั้งก็ตาม แต่แล้วก็ถูกปลด จากการเป็นนักศึกษา คือไม่ถึงความเป็น แม้พระอริยบุคคล (เทียบแค่ ปริญญา ขั้นต่ำ) แล้วลองคิดดูซิว่า ผู้นี้จะเหมาะควร ไปสอนนักศึกษา ให้เขาจบปริญญา นั้นได้ไหม?

ยิ่งผู้ใดปลดตัวเองออกมา นั่นแหละยิ่งแสดงว่าตนเองสู้ไม่ได้ อยู่ไม่ได้ ไปไม่รอดแน่แล้ว ต้องดิ้นรน ปลดตัวเองออกมาเอง ยิ่งแย่ใหญ่ และส่วนมาก ก็เป็นดังนี้ จะมีรายที่จะพึงสอนได้ ก็เฉพาะผู้ที่พิเศษจริงๆ ที่สึกออกมาแล้ว ก็ยังเพ่งเพียร เรียนต่ออยู่ อย่างเอาจริงเอาจัง ไม่ได้มัวเมากับโลกีย์ อย่างแท้จริง เท่านั้น (อันนี้ เป็นเรื่องฤทธิกรรม) ซึ่งก็เป็นของแน่ ท่านผู้นี้ ย่อมจะต้องถึงซึ่งธรรมได้ อย่างไม่มีปัญหา แต่ผู้ที่จะเป็นเช่นนี้นั้น ก็น้อยมาก แทบจะไม่มีเอาเลย เพราะมันขัดกับความเป็นจริง จะมีมากก็คือ พอออกมาแล้ว ก็ตีขลุม เอาศักดิ์เอาศรี ของวิชาทางพระ มาโมเม ปุโลปุเล เป็นทางเชื่อมต่อหากิน เลี้ยงตัว ให้อยู่ดีไปเท่านั้น คือพูดง่ายๆ ก็คือ ผู้บวชแล้วสึกออกมานั้น คือผู้ที่ไม่มี "ปัญญาบารมี" ทางธรรมเลย ยังไม่สามารถเห็นธรรม หรือเห็นคุณค่าของธรรมได้เลย จึงหลีกหนีออกมาเสีย ทั้งที่ตัวได้มีโอกาส อยู่ใกล้ชิดแล้ว อย่างบังเอิญ หรืออย่างฟลุกๆ เรียกง่ายๆ กว่านั้นก็ว่า คนบุญไม่ถึงนั่นเอง ผู้ที่บวชแล้วสึก เหล่านี้ จึงควรห้ามเป็นทางการเลย ไม่ควรอนุญาตให้สอน "ธรรมวินัย" เด็ดขาด จะสอนได้ก็แค่ขั้น "ศีลธรรม" หรือ "โลกียธรรม" สำหรับเด็กๆ และอบรม ชนชั้นธรรมดาละก็ได้ ถ้าสอนถึงขั้น จะให้ปฏิบัติธรรมพ้นทุกข์ อันเป็นโลกุตรธรรมละก็ อย่าเป็นอันขาด ศาสนาลดตำแหน่ง จากความแท้ ลงมาเรื่อยๆ เพราะเหตุนี้ เป็นเหตุใหญ่ ในเมืองไทย

ยังมีอีกต่างๆประการ ปลีกย่อยที่ข้าพเจ้ายังนึกไม่ออก ที่ทำให้ศาสนาพุทธเสื่อมลง ไปเร็วกว่าที่ควร ที่จริง การจะห้ามไม่ให้เสื่อมนั้น เป็นไปไม่ได้เลย ข้าพเจ้าก็รู้ หลักพระไตรลักษณ์ ของพระพุทธองค์ เป็นจริง ตราบดินฟ้าสลาย แต่ก็อย่าได้ ช่วยกันดึง หรือฉุดให้เสื่อมลง เร็วนักเลย เมื่อรู้ เมื่อเห็น ก็ช่วยกันแก้ไข เชิดชู ให้ศาสนาเป็นของแท้ ได้นานยิ่งนาน จะดีกว่า

เรื่องเหตุทำให้ศาสนาเสื่อม ข้อที่ ๒ นั้น ข้าพเจ้าหมายไปถึงจำพวก คนบาปทั้งหลาย ผู้ที่ทั้งๆ ที่รู้อยู่แล้วว่า อย่างนี้ดี อย่างนี้ไม่ดี อย่างนี้ถูก อย่างนี้ไม่ถูก แต่เพราะความมักง่าย เพราะความเป็น "คนบาป" ของตน จึงกระทำลงไปตามใจตน ตามความมักง่าย ชักนำไปในทางที่ผิด เป็นตัวอย่างในทางที่ผิด เป็นเหตุแท้ ที่ดึง ฉุดให้ศาสนาเสื่อม แต่ก็ช่วยได้ยาก เพราะเขาเอง เขาย่อมรับกรรม รับบาป ของเขาเองอยู่แล้ว ตามเหตุ ตามปัจจัยที่เขาทำ เพราะความเป็นคนบาปของเขา นั่นเอง ถ้าใครผู้ใดพอจะช่วยกันได้ คือหาทางป้องกัน ช่วยอย่าให้เขาทำได้ละก็ จะดีมีคุณ แก่ทั้งตนเอง ทั้งตัวผู้ทำ และศาสนามากมายทีเดียว สำหรับเรื่องใน ประเด็นข้อ ๒ นี้ เป็นประเด็นเกินแก้ นอกจากช่วยกันป้องกันเท่านั้น

โดยความแท้จริง "ศาสนา" ควรจะลากจูงคนให้พ้นทุกข์ สู่ดีได้มากกว่า แต่โดยสภาพทุกวันนี้ "คน"นั่นแหละ ลากจูงศาสนา ให้ต่ำลง ให้เสียหายลง มากกว่าศาสนาลากจูงคนขึ้น จึงเป็นเรื่องควรคิด ควรจะนำมาวินิจฉัย และนำมาช่วยกันหาทางแก้ไข ช่วยเหลือป้องกัน ให้ศาสนาพุทธเจริญขึ้น เป็นหลักแห่งชีวิต ที่ยึดถือช่วยชีวิต ถ้าใครดูดาย ใครก็ไม่เอาธุระ ปล่อยปละละเลย ฉวยเอาแต่ ประโยชน์ตนเป็นใหญ่ ก็เลยกลายเป็น ไม่มี"ความสูง" หรือ "ความดี" อยู่ในหัวใจใครๆเลยในโลก เท่านั้น

ดังนั้น ถ้าท่านผู้ใดคิดว่า "ความสูง" หรือ "ความดี" ยังมีอยู่ในโลก ก็จงแสดงออกมาเถิด ข้าพเจ้าอยากเห็น จะมีอยู่ที่ตัวผู้ใดบ้าง จะออกมาจากท่านผู้ใดบ้าง ถ้าไม่มี"ความสูง" และ"ความดี" ออกมาเลย แน่นอน ตัว"ความสูง" และ"ความดี" อันคือ "พระพุทธศาสนา" ก็ย่อมจะต้องถูก"ความต่ำ" และ"ความชั่ว" กลืนชีวิตลงไปเรื่อยๆ เมื่อกลืนไปจนหมดตัวเมื่อใด คำว่า "พระพุทธศาสนา" โดยตัวตนที่แท้ ที่ถูกที่ดี ก็หายไป จะมีเหลืออยู่ ก็แต่ชื่อขานเรียกกันเท่านั้น กับจารีตพิธี หรือสมมติต่างๆ ที่พยายามคิด พยายามสร้างขึ้นมา เพื่อให้"ตน" ตั้งอยู่ ทรงอยู่ แต่ไม่ใช่เพื่อ "ศาสนา" ตั้งอยู่ ทรงอยู่เลย มันทำลายความตั้งอยู่ เอาจริงๆด้วย

ข้าพเจ้ารัก"พุทธศาสนา" ยิ่งชีวิตของข้าพเจ้า ดังนั้น ในการแสดงออก ซึ่งความรัก ความเคารพ ความเทิดทูนบูชานี้ จะนำพาให้ข้าพเจ้าเป็นไปอย่างไรก็ได้ ข้าพเจ้าไม่ได้กลัว ไม่ได้เกรงเลยสักประตู

ข้าพเจ้าจะขอตั้งหน้าปฏิบัติธรรม ประกอบธรรม กอบกู้ธรรม ตามศรัทธา ตามสติ ตามปัญญา ของข้าพเจ้า ไปจนถึงที่สุดแห่งที่สุด

๒๕ มกราคม ๒๕๑๓

ประกายธรรม เล่ม ๑
http://www.boonniyom.net/?p=20889