สัมมาพัฒนา : สันติอโศก ขบวนการพุทธปฏิรูปแห่งประเทศไทย
จูลิอานา เอสเซน เขียน

บทที่ ๔
การสร้างปัจเจกชน

การสร้างคน: พัฒนาการทางจิตวิญญาณและวัตถุ
จากมุมมองของศาสนา ผู้เขียนกล่าวว่า “การสร้างคน” หมายถึง การพัฒนาจิตวิญญาณ สมาชิกศีรษะอโศก เปรียบเทียบ พุทธศาสนา กับศาสนาคริสต์ และลงความเห็นว่า ทุกศาสนา มีจุดมุ่งหมาย ที่จะสร้างคนให้เป็นคนดี อย่างไรก็ตาม แต่ละศาสนา อาจให้คำจำกัดความ “ความดี” ต่างกัน สำหรับพุทธศาสนา ผู้เขียนเข้าใจว่า ความดี หมายถึง การปฏิบัติ ตามมรรคมีองค์ ๘ เพื่อพัฒนาศีล สมาธิ ปัญญา และบุคคลในอุดมคติ คือผู้ที่มีพรหมวิหาร ๔ (เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา) และพระอรหันต์ ผู้เขียนยอมรับว่า อาจต้องใช้เวลาหลายช่วงชีวิต จึงจะบรรลุอุดมคตินี้ได้ ในชีวิตนี้ คนธรรมดาสามัญ ควรประพฤติ ตามแนวทาง ๙ ประการคือ

  1. เลี้ยงง่าย (สุภระ)
  2. บำรุงง่าย (สุโปสะ)
  3. มักน้อย (อัปปิจฉะ)
  4. ใจพอ สันโดษ (สันตุฏฐิ )
  5. ขัดเกลา (สัลเลขะ)
  6. มีศีลเคร่ง (ธูตะ)
  7. มีอาการที่น่าเลื่อมใส (ปาสาทิกะ)
  8. ไม่สะสม (อปจยะ)
  9. ขยันหมั่นเพียร (วิริยารัมภะ)

ผู้เขียนกล่าวว่า อโศกได้ถือเอา แนวทางทั้ง ๙ ประการนี้ รวมทั้งคุณธรรม ที่เขาเห็นสมควร มาปฏิบัติ และเขียนคำเตือน ตัวโตๆ ไว้ที่ศาลาธรรม เพื่อให้สมาชิกเห็นทั่วกัน เช่น เบิกบาน แจ่มใส มัธยัสถ์ สุภาพ สงบ หมดความอยาก สิ้นความเสพย์  นอกจากนี้ อโศกวางหลัก ๕ ประการ สำหรับชุมชนบุญนิยม ซึ่งก็เกี่ยวข้องกับตัวบุคคลด้วย คือ พึ่งตัวเอง ก่อร่าง และสร้างสรรค์ ทำงานหนัก และอดทน อย่าเอาเปรียบคนอื่น ตั้งใจเสียสละ 

ตามหลักพุทธศาสนา การสร้างตัวบุคคล ต้องเกี่ยวข้องกับ หลักเกณฑ์ทางวัตถุด้วย ผู้เขียนอ้างนิทาน ของท่านเจ้าคุณ ประยุทธ ปยุตโต เพื่อสนับสนุนความสัมพันธ์ ระหว่าง จิตวิญญาณกับวัตถุ

วันหนึ่ง พระพุทธเจ้า ทรงหยั่งรู้ ว่าชาวนา ผู้ยากจนคนหนึ่ง ซึ่งอาศัยอยู่ในเมือง ที่อยู่ไม่ไกลจาก ที่พระพุทธองค์ประทับ มีความพร้อม ที่จะบรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ พระพุทธองค์ ทรงดำเนินไปสู่ที่นั่น เพื่อทรงโปรดชาวนา ชาวเมือง พากันมา ชุมนุมเนืองแน่น เพื่อฟังคำเทศนาด้วย แต่พระพุทธเจ้าทรงรอ จนชาวนาคนนั้นมาถึง พระพุทธองค์ ทรงไต่ถามชาวนา ได้ความว่า เขาเที่ยวตามหาวัว ตัวที่หายไป จนทั่วป่า และมีความเหนื่อยล้า จนพะยุงกายแทบไม่อยู่ เพราะไม่ได้ รับประทานอาหารมาทั้งวัน พระพุทธเจ้า ทรงขอให้คนนำอาหาร มาให้ชายคนนั้นรับประทาน จนเขาอิ่ม พระองค์จึงเริ่มเทศนา ชาวนาคนนั้น ก็เข้าถึงพระธรรม และได้ตรัสรู้ เป็นพระอรหันต์

พระพุทธองค์ทรงอธิบายว่า ความหิว เป็นเหตุหนึ่งของความทุกข์ เมื่อคนถูกครอบงำ ด้วยความเจ็บปวด เพราะความทุกข์ เขาไม่สามารถ เข้าใจคำสอนทางศาสนาได้ ด้วยเหตุนี้ พระองค์จึงให้ชายคนนั้น รับประทานอาหาร ก่อนฟังธรรม

ดังนั้น การพัฒนาปัจจัย ๔ (อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย ยารักษาโรค) เป็นรากฐานของการพัฒนาจิต ผู้เขียนกล่าวว่า ขณะนี้ ศีรษะอโศก พึ่งตัวเองได้ อย่างมั่นคง สมาชิกไม่ต้องพะวง เรื่องปัจจัย ๔ อีกต่อไป

 

ศีล : วินัย

ศีลเด่น เป็นเอกลักษณ์ของอโศก ผู้ที่อยู่ในชุมชนอโศก จะต้องเคารพศีล เช่น ศีล ๕ สำหรับฆราวาส คือ ๑) ละเว้นจากการฆ่า หรือทำร้ายชีวิต ๒) ละเว้นจากการลักทรัพย์ ๓) ละเว้นจากการประพฤติผิดในกาม ๔) ละเว้นจากการพูดเท็จ หรือใส่ร้ายป้ายสี ๕) ละเว้นจากการใช้สาร ที่ทำให้ความรู้สึกผันแปร ศีลอุโบสถ สำหรับคนวัด เช่นเดียวกับศีล ๕ แต่ข้อ ๓) เปลี่ยนเป็น ละเว้นจากการเสพเมถุน ข้อ ๖) ละเว้นจากการตบแต่งร่างกาย ข้อ ๗) ละเว้นจากการกินอาหาร ในเวลาหลังเที่ยงวัน และ ๘) ละเว้นจากการ ดูการละเล่น และเต้นรำ  ศีล ๑๐ สำหรับแม่ชีและสามเณร ก็เช่นเดียวกับศีลอุโบสถ แต่เพิ่ม ข้อ ๙) ละเว้นจากการหยิบจับเงิน และ ๑๐) ละเว้นจากการนอนบนเตียงสูง ส่วนพระสงฆ์นั้น ปฏิบัติตามพระวินัย ซึ่งมีข้อกำหนดอยู่ ๒๒๗ ข้อ
              

การถือศีล
ผู้เขียนกล่าวว่า คนทั่วประเทศไทยรู้ว่า ชาวอโศกถือศีลอย่างเคร่งครัด สิ่งแรกที่ท้าทาย ผู้ซึ่งอยากปฏิบัติตามอโศก คือการปรับตัวเข้ากับอาหารมังสวิรัติ (ไม่มีเนื้อสัตว์ หรือผลิตภัณฑ์ ที่เกี่ยวกับสัตว์ รวมทั้ง นม ไข่) คนทั่วไป รู้สึกขัดแย้ง เพราะว่าคนไทยส่วนมาก -รวมทั้งพระสงฆ์- รับประทานเนื้อ ปลา และไข่ เป็นประจำ และปรุงรสอาหารด้วยน้ำปลา การที่จะสั่งอาหาร ตามภัตตาคาร “ไม่ใส่เนื้อสัตว์” มักทำให้คนบริการงง นอกจากนี้ ยังยากที่จะหาอาหารมังสวิรัติ ที่มีโปรตีนเพียงพอ การเป็นนักมังสวิรัติ จึงไม่ใช่สิ่งที่ทำได้ง่าย อย่างไรก็ตาม ชาวอโศกเห็นว่า การไม่บริโภคเนื้อสัตว์ หรือผลิตภัณฑ์ ที่เกี่ยวกับสัตว์ เป็นความจำเป็น เพราะว่า การข้องเกี่ยวกับการฆ่าสัตว์ โดยตรงหรือโดยอ้อม เป็นการละเมิด ศีลข้อ ๑ ผู้เขียนกล่าวว่า ชาวศีรษะอโศก จริงจังกับเรื่องนี้มาก เขาไม่เคยได้ยินใครบ่น ว่าคิดถึงรสอาหารเนื้อสัตว์ หรือเห็นใครแอบกินเนื้อสัตว์ ภายในหรือภายนอกชุมชนเลย

อุปสรรคเรื่องอาหารมังสวิรัติ จะค่อยๆหายไป เมื่อสมาชิก ย้ายเข้ามาอยู่ในชุมชนอโศก สิ่งแวดล้อม ซึ่งเน้นศีลเด่น จะทำให้สมาชิกพยายามปรับปรุงตัว แม้ว่าชุมชนอโศก จะกำหนดให้สมาชิก ถือศีล ๕ แต่สมาชิกทั่วไป ถือศีลสูงกว่านั้น เช่น นอนบนเสื่อกก บนพื้นกระดาน (ศีลข้อ ๑๐) แต่งเครื่องแบบของอโศก ไม่แต่งหน้า ไม่ประดับเพชรนิลจินดา ไม่สรวมรองเท้า (ศีลข้อ ๖) สมาชิกทุกคน ปฏิบัติเกินศีลข้อ ๓ ข้อ ๕ และข้อ ๘ รวมกัน โดยละเว้นอบายมุข (ละเว้น สุรา ยาบ้า บุหรี่ การพนัน การละเล่น กลางคืน ความเกียจคร้าน และการยั่วเย้ากามารมณ์) ยิ่งกว่านั้น สมาชิกหลายคน พยายามกินอาหารวันละมื้อ บางคนลดจาก ๓ มื้อ ลงเหลือ ๒ มื้อ และไม่กินของว่าง ระหว่างมื้อ

ศีลธรรมไม่ใช่เพียงอุดมการ ที่สั่งลงมาจากเบื้องบน แต่เป็นสิ่งที่สมาชิกทุกคน ปฏิบัติทุกระดับ ผู้เขียนรายงานว่า สมาชิกส่วนใหญ่ ที่เขาสัมภาษณ์ (๖๐%) ให้ความเห็นว่า ศีลธรรม เป็นปัจจัยสำคัญที่สุด ในการดำเนินชีวิตแบบอโศก

ถึงแม้ว่าอโศกจะเข้มงวด ในเรื่องศีลธรรม ผู้เขียนไม่เคยเห็นสมาชิกคนไหน กระวนกระวายเลย ทุกคนปรับตัว เข้ากับศีลธรรมได้ดี หลายคนปฏิบัติอยู่ที่บ้าน เป็นปี กว่าจะมาเป็นสมาชิกที่อยู่ประจำ บางคน ทดลองมาอยู่ในชุมชน ชั่วคราว เช่น อาทิตย์ หรือเดือน ก่อนที่จะตัดสินใจมาอยู่ประจำ ถ้ายกเว้นเนื้อสัตว์ ยาเสพติด และแอลกอฮอล์ ซึ่งอโศก เข้มงวดกวดขันมาก ก็ไม่เห็นมีอะไรน่าหนักใจ ไม่มีความกดดัน ที่สมาชิกจะต้องปฏิบัติ ตามศีลทุกข้อ ให้ครบบริบูรณ์ ผู้เขียนเห็นสมาชิกบางคน กิน “อาหารเสริม” ก่อนอาหารหลัก เวลา ๑๐ นาฬิกา และเห็น “คนวัด” ประพฤติเช่นเดียวกัน นอกจากนี้ คนป่วย และคนมีปัญหาทางร่างกาย ได้สิทธิ์พิเศษ ผู้เขียนสังเกตว่า คนป่วย กินอาหารบ่อยครั้ง และนอนพัก ในเวลากลางวัน (ถ้าไม่เช่นนั้น จะถือว่า ส่อนิสัยเกียจกร้าน) คนเท้าเจ็บ ก็ได้รับอนุญาตให้ใส่รองเท้าได้

ความกดดันเกี่ยวกับศีลธรรม

โดยทั่วไป ชาวอโศก มีความอดทน ต่อความบกพร่องของกันและกัน สมาชิกมักพูดบ่อยๆว่า ไม่ใช่ธุระ ที่จะไปสอดส่อง ความประพฤติของคนอื่น  แต่ละคนปฏิบัติ อยู่ในระดับที่ต่างกัน และการวิจารณ์คนอื่น เป็นกิเลสอย่างหนึ่ง  อย่างไรก็ตาม การวิพากย์วิจารณ์ เป็นเรื่องธรรมดา สำหรับคนที่สนิทสนมกัน ผู้เขียนยกตัวอย่าง สมาชิกหญิงคนหนึ่ง ซึ่งสนิทสนมกับ ผู้เขียนมาก และมาระบายให้ฟังว่า เธอถูกนินทา เรื่องกินจุบกินจิบ  สมาชิกอีกคน เจ็บร้อนแทนผู้เขียน ที่ได้ยินคนตำหนิผู้เขียน ว่าใส่เสื้อรัดรูป อวดสัดส่วนของร่างกาย ซึ่งอาจทำให้คนคิดไปในแง่อกุศล และอาจทำให้เขาละเมิด ศีลข้อ ๓

เรื่องที่มีความขัดแย้งอยู่ในใจ ของสมาชิก อีกเรื่องหนึ่งคือ ควรจะแต่งงาน และมีครอบครัว หรือควรอยู่เป็นโสด? สมาชิกให้ความเห็นต่างกัน เช่น หัวหน้าหมู่บ้านเห็นว่า
มีปัญหาหลายอย่าง สำหรับคนหนุ่มสาว เขาอาจมีความรัก – ชอบกันเงียบๆ ซ่อนเร้นเอาไว้ มันเป็นธรรมชาติ แต่เขาก็พยายาม อยู่เป็นโสด ตามที่เราหวังให้เขาเป็น เราขอให้เขาเข้าใจ ดังนั้น เราจึงรอและหวังว่า สักวันหนึ่ง เขาจะเข้าใจ ว่าเมื่อเขาอยู่เป็นโสด และทำงานให้สังคม เขาได้ช่วยอะไร เยอะแยะ

ตามอุดมคติ สมาชิกที่อยู่เป็นโสด จะสามารถอุทิศสิ่งต่างๆ ให้สังคมได้ โดยไม่ต้องกังวลถึงครอบครัว   

สมาชิกอีกคนหนึ่งคือ อาอ้าย  ให้ความเห็นดังนี้
คนระดับมหาวิทยาลัย หลังจากสำเร็จมัธยมศึกษา บางที เขารักใครและอยากแต่งงาน หรืออะไรทำนองนั้น แต่เขาไม่กล้า เพราะว่า การแต่งงาน จะทำให้เขารู้สึกว่า เขาตกต่ำ คล้ายกับว่า หยุดชะงัก การก้าวไปสู่การตรัสรู้ ทำไมเขาคิดว่า คนที่แต่งงาน ไม่สามารถตรัสรู้? พระพุทธเจ้าก็เคยแต่งงาน... แต่เดี๋ยวนี้ ดูเหมือนว่า เขารู้สึกขวยเขินที่มีคนรัก –ผู้หญิงบางคน ยังขวยเขิน ที่มีท้อง แม้กับสามีของตัวเอง... แม้ว่าพระโพธิรักษ์ ไม่ต้องการให้ใครรู้สึกขวยเขิน ท่านก็เข้าใจ ท่านดีมาก แต่คนอื่น ในครอบครัว ศีรษะอโศก ตั้งเป้าหมายขึ้นมาเอง เพราะว่ามีสมาชิกบางคน ในสีมาอโศกและที่อื่น คลอดลูกในชุมชน ซึ่งหมายความว่า เรายอมรับสิ่งนั้น แต่ทำไมเราไม่ให้เกียรติ ความเป็นครอบครัวอีกสักหน่อย? และทำให้เขาหมดกังวล ในเรื่องนี้

ผู้เขียนวิจารณ์ว่า อาอ้ายลำเอียง เข้าข้างการมีครอบครัว เพราะว่า เขามาจากโบสถ์มอร์มอน ซึ่งเน้นครอบครัว อย่างไรก็ตาม อาอ้าย เป็นครู ซึ่งเอาใจใส่นักเรียนมาก และรับฟังปัญหาของนักเรียน อย่างใกล้ชิด

ปัญหาข้อขัดแย้งนี้ อาจมีผลลบต่อชุมชน จะเอาไปพิจารณาให้ละเอียด ในบทที่ ๕

การตรวจศีล
วิธีวัดผลความก้าวหน้า ในการพัฒนาศีลธรรมของชาวอโศก ค่อนข้างเป็นกันเอง และสนุกสนาน ทุกวันอาทิตย์ เวลา ๑๙ นาฬิกา สมาชิกที่อยู่ประจำศีรษะอโศก จะชุมนุมกัน ๓ กลุ่ม คือกลุ่มนักเรียน กลุ่มหนุ่มสาว (อายุ ๑๘-๒๙ ปี) และกลุ่มผู้ใหญ่ พระสงฆ์จะเป็นผู้นำของแต่ละกลุ่ม โดยอภิปราย ศีลทีละข้อ แล้วอนุญาตให้สมาชิก ที่ประสงค์จะสารภาพผิด อธิบายว่าผิดศีลข้อไหน อย่างไร ครั้นแล้ว พระจะให้คำแนะนำ บางครั้ง สมาชิกไม่แน่ใจ ว่าเขาทำผิดศีลหรือไม่ จึงเป็นโอกาส ที่เขาจะได้ถามผู้รู้ เป็นการทำข้อสงสัยให้กระจ่าง และเรียนรู้จากตัวเอง และผู้อื่น ไม่ใช่การกล่าวโทษ ในที่ประชุม

 

 ใช้น้อย ทำงานมาก ที่เหลือจุนเจือสังคม

เพื่อ “การไม่ยึดติด” และ “การมีสมาธิ” สมาชิกอโศกทุกคน ถือคติพจน์ “ใช้น้อย ทำงานมาก ที่เหลือจุนเจือสังคม” คติพจน์นี้ เห็นได้ทุกวัน จากการแสดงออกของชาวอโศก

อาแก่นฟ้า หัวหน้าฝ่ายบริหารศีรษะอโศก ให้คำอธิบาย ดังนี้
ที่นี่เรามีหลักปรัชญาว่า เรากินน้อย ใช้น้อย ทำงานมาก เอาส่วนที่เหลือ ไปจุนเจือสังคม นี่เป็นการเสียสละ ให้สังคม –ส่วนที่เหลือใช้ เราไม่สะสม การสะสมเป็นบาป เพราะฉะนั้น เรากำหนดว่า เราจะกลับมาเป็นคนจน ในสายตา ของคนในโลกอื่น โลกอื่นคือ โลกที่เป็นระบบทุนนิยม ซึ่งต้องมีเงินเยอะแยะ ทรัพย์สินเยอะแยะ เราจะเป็นคนที่ไม่มีทรัพย์สิน แต่เป็นคน ทำงานหนัก และขยันหมั่นเพียร มีความรอบรู้ มีสมรรถภาพ และประสิทธิภาพ เราจะขยันมาก ๆ แต่จะไม่สะสม – เราจะกระจาย มันออกไปสู่คนอื่น ทุกสิ่งที่เรามีอยู่นี่ เรามีไว้เพื่อช่วยคนอื่น... เราไม่ถือว่า มันเป็นสมบัติของเรา เรามาอยู่ร่วมกัน ไม่หวังจะแสวงหาลาภทางวัตถุ นั่นคือ เรามาช่วยกันลดตัณหา ซึ่งครอบคลุมหัวใจมนุษย์ คุณมีตัณหาน้อยเท่าไร คุณก็ทำงาน มากเท่านั้น... แต่สิ่งที่เกิดจาก ความต้องการของเรา ตกไปเป็นของมนุษยชาติ เราไม่ได้จัดตั้งองค์การนี้ขึ้นมา เพื่อเป็นของเรา เราไม่ใช่นักครอบครอง

ใช้น้อย
เพื่อจะเน้นหลัก “ใช้น้อย” ใช้เท่าที่จำเป็น หรือ ไม่ฟุ่มเฟือย
ผู้เขียนยก พระพุทธเจ้า เป็นแบบอย่าง

ก่อนจะตรัสรู้ เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์ทรงเป็นเจ้าชายสิทธัตถะ โคตมะ ซึ่งมีความสำราญ อยู่ภายในพระราชวัง วันหนึ่ง ขณะเสด็จพระราชดำเนิน ออกนอกพระราชวัง พระองค์ทรงพบ คนแก่ คนเจ็บ คนตาย และนักบวช การพบคนทั้ง ๔ ทำให้พระองค์ ทรงพระราชดำริ ว่าชีวิตไม่ยั่งยืน -พระองค์ก็ต้องตาย ในวันหนึ่งวันใด- ดังนั้น สมบัติพัสถาน ศฤงคารทั้งปวง ก็ไม่มีความหมาย เจ้าชายสิทธัตถะ จึงสละชีวิตทางโลก แล้วออกแสวงหา วิธีที่จะทำให้พ้นทุกข์ ครั้งแรก พระองค์ทรงปฏิบัติ ตามทางของฤาษี ที่ทรงพบกลางป่า แต่ในไม่ช้า พระองค์ทรงเห็นว่า วิธีทรมานกาย ก็เป็นความทุกข์ พระองค์ จึงทรงปฏิบัติ ตามหนทางของพระองค์เอง ซึ่งเรียกว่า มรรคมีองค์ ๘ หรือ ทางสายกลาง คือไม่สุดโต่ง ไปทางหนึ่งทางใด เช่น ไม่ฟุ่มเฟือย และไม่ขัดสน

คนอโศกให้ค่านิยมแก่ “ความมักน้อย” แต่เตือนว่า “ใช้ให้เพียงพอ อย่ากระเหม็ดกระแหม่ จนถึงขั้นไม่มี –คนละเรื่องกันกับ ความขาดแคลน” พระพุทธเจ้าทรงสอนให้เลี้ยงชีวิตชอบ หรือบำรุงชีวิตให้เพียงพอ แต่ความเพียงพอนั้น ขึ้นอยู่กับคนแต่ละคน (คนทำงานหนัก เช่น อาชวน อาจต้องกินอาหาร มากกว่าวันละ ๑ มื้อ –ผู้เขียน)

อีกสิ่งหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับ “ความมักน้อย” ก็คือ “สันโดษ” (ใจพอ) พระพุทธเจ้าตรัสว่า ตัณหาเป็นสาเหตุ ที่ทำให้เกิดทุกข์ (ตัณหา-ในที่นี้หมายถึง ความต้องการมากกว่าที่ตนมีอยู่) ดังนั้น ถ้าไม่อยากให้เกิดทุกข์ ก็ต้องตัดตัณหา สันโดษ หรือความพอใจ ในสิ่งที่ตนมีอยู่ จึงเป็นสิ่งสำคัญ เพราะว่ามันเป็น เครื่องช่วยตัดตัณหา สมาชิกคนหนึ่ง (อาวิชัย) กล่าวว่า “เมื่อคุณมีสันโดษ คุณจะรู้สึกว่า ร่ำรวยขึ้นทันที หรืออย่างน้อย ก็ร่ำรวยกว่าแต่ก่อน” 

ผู้เขียนเห็นด้วยกับอโศกที่ว่า การรักษาศีล ทำให้เกิดสันโดษ เพราะศีล ทำให้ลดการบริโภค เช่น ไม่กินเนื้อสัตว์ ไม่ดื่มเหล้า ไม่ใช้ยาเสพติด รวมทั้งบุหรี่ ไม่เล่นการพนัน หรือหาความบันเทิงเริงรมย์ ในเวลากลางคืน ไม่แต่งหน้า ไม่ใช้น้ำหอม เพชรนิลจินดา เสื้อผ้าทันสมัย หรือเฟอร์นิเจอร์ที่โอ่อ่า ยิ่งกว่านั้น ความมุ่งหมายของการลดการบริโภค ก็เพื่อค่อยๆ ถอนรากของกิเลส คือความโลภ และการยั่วเย้าราคะนั่นเอง

อาไพรศีล: มันทำให้เราเป็นคนประหยัด ใช้แต่ของที่จำเป็น ไม่ฟุ่มเฟือย  แล้วมันทำให้เราไม่โลภ อยากได้ของคนอื่น แสวงหาสิ่งต่างๆ ให้ตัวเอง มันทำลายความโลภ มันทำให้เรายอมเสียสละ – เรามีมาก เราจึงยกให้คนที่ไม่มี หรือคนที่ต้องการมัน

เอม: เมื่อก่อนนี้ ฉันต้องมีชุดนอน ชุดออกไปนอกบ้าน ชุดเล่นกีฬา ฉันต้องใส่รองเท้า สำหรับเล่นกีฬา หรือเดินเล่น ฉันมีถุงเท้า หมวก ยีนส์ และกางเกง เยอะแยะ แต่เมื่อฉัน เปลี่ยนไปใช้เสื้อผ้าไม่กี่ชุด น้อยชิ้น ฉันรู้ว่า เราสามารถลดความฟุ่มเฟือย ลงได้มาก ไม่จำเป็นต้องใช้เสื้อผ้า ทุกชนิดเหล่านั้น ใช้เสื้อผ้าอย่างนี้ เราก็อยู่ได้

การลดการบริโภค ช่วยลดความทุกข์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คนไทย ที่ลำบากเรื่องเงินทอง ผู้เขียนยกตัวอย่าง ครอบครัวของ พ่อไพฑูรย์ และ แม่ปรานี

แม่ปรานี: พวกเราส่วนมากหลงผิด ไปในทางที่ผิด เมื่อเราใช้เงินเกินรายได้ มันทำให้เกิดทุกข์ – คือเป็นหนี้ พระพุทธเจ้าตรัสว่า การเป็นหนี้ เป็นความทุกข์ของโลก เป็นหนี้เป็นทุกข์ที่สุด ถ้าเราใช้น้อย –มีน้อยใช้น้อย - ใช้สิ่งที่พอเหมาะกับตัวเรา มันจะทำให้ เกิดความสุข... ในเวลานั้น เมื่อเราเริ่มรู้จักอโศก เรามีลูกมาก แต่เงินเดือนน้อย เรามีหนี้สิน เพราะเราสร้างบ้านใหม่ เราเป็นหนี้ธนาคาร เงินเดือนเราไม่พอใช้ เราจึงมาหาพระ พระพูดว่า “คุณต้องอุดรูรั่ว” หมายความว่า อย่าใช้เงินฟุ่มเฟือย “เสื้อผ้าที่มีอยู่ ใช้มันให้หมด ก่อนที่จะซื้อใหม่ อย่าซื้อเครื่องสำอาง มันไม่จำเป็น มีสิ่งจำเป็นอยู่ ๔ อย่างเท่านั้น คือ อาหาร เสื้อผ้า ที่อยู่อาศัย และยารักษาโรค สิ่งที่ ๕ อย่าไปสนใจมัน อุดรูรั่ว แล้วมองหา รายได้เพิ่ม” เราคิด “เอ เราจะหารายได้ เพิ่มได้อย่างไร” เรากลับมาหาพระอีก ท่านบอก “ขายนมถั่ว” เราจัดแจงขายนมถั่ว วันแรก เราขายได้ ๗๐ บาท เรารู้สึกอับอายมาก เพราะเราเป็นครู เราเป็นข้าราชการ เราถึงอาย แต่เราขายเพิ่มขึ้น ทีละนิด -ทีละนิด และรายได้ของเรา ก็เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เราเอาเงินไปใช้หนี้ นอกนั้น เราสามารถออมเงินได้ – เราเก็บเงินได้ ๓,๐๐๐ บาท ภายในเวลา ๑๕ วัน เรากู้ฐานะของเรา กลับคืนมาได้ เพราะอโศกสอนเรา

ผู้เขียนเล่าว่า ในที่สุด ครอบครัวพ่อไพฑูรย์ และแม่ปรานี มีฐานะดีขึ้น มีความเป็นอยู่ อย่างสุขสบาย แต่เขาละทิ้งชีวิต ที่ร่ำรวยทางวัตถุ แล้วย้ายเข้ามา อยู่ภายในชุมชนศีรษะอโศก

อาเจนจบ พูดถึงความเครียด ในการที่จะหาเงิน มาอุดหนุนความเป็นอยู่ อย่างคนที่บริโภคหนัก
ถ้าเรามีน้อยและใช้น้อย ก็ไม่มีปัญหา... เราไม่ต้องขอยืมเงินใคร เราไม่ต้องเพิ่มหนี้สิน แต่ถ้าเรามี ๑๐ บาท แล้วต้องการสิ่งใหญ่ หรือใช้มาก และไม่ต้องการขอยืมเงินใคร เราก็ต้องทำงานมากขึ้น ถ้าเราทำงาน เฉพาะกลางวัน เราก็ต้องทำงานกลางคืนด้วย มันเสียเวลา และความสุข ร่างกายต้องการพักผ่อน ให้เพียงพอ และทำงานที่พอเหมาะ ถ้าเราไม่พักผ่อน ร่างกายของเรา จะต้องใช้พลังมาก แทนที่จะได้ความสุข เรากลับได้ความทุกข์ ความฟุ้งเฟ้อฟุ่มเฟือย ทำให้เกิดความทุกข์ เป็นหนี้ หรือเหน็ดเหนื่อย

ผู้เขียนเพิ่มเติมว่า คนอเมริกันที่มีหนี้สิน เป็น“ภูเขาเลากา" ด้วยการใช้บัตรเครดิต รวมทั้งค่าผ่อนส่งบ้าน ค่าผ่อนส่งรถ ฯลฯ คงจะเข้าใจ คำพูดของอาเจนจบได้ดี

เมื่อไม่ต้องกังวลเรื่องเศรษฐกิจ สมาชิกของชุมชนอโศก ก็สามารถเอาใจจดจ่อ อยู่ที่การพัฒนาทางจิตวิญญาณ ได้ดียิ่งขึ้น

คำถามที่ยังค้างอยู่ ก็คือ “สมาชิกศีรษะอโศก ใช้น้อยจริงหรือ?” เพราะคนที่อยู่บ้านส่วนตัว จะกินจะใช้ อย่างไรก็ได้ ตามอำเภอใจ แต่เมื่อลองสำรวจ ภายในบ้านเหล่านี้ จะเห็นว่า คนที่อยู่ในนั้น อยู่กันอย่างอดทน และจะต้องมีระเบียบวินัยดี เมื่อเปรียบเทียบ กับบ้านคนอเมริกันชั้นกลาง หรือแม้แต่บ้านคนไทยในชนบท บ้านในศีรษะอโศก แทบไม่มีเฟอร์นิเจอร์เลย (ยกเว้น บ้านที่คนชราอยู่ และ ท่านผู้เฒ่าเหล่านั้น ลุกจากพื้นไม่ไหว) ที่เห็นได้ชัด ก็คือ ไม่มีเครื่องไฟฟ้าใดๆ แม้แต่ของใช้ธรรมดา เช่น วิทยุ โทรทัศน์ ตู้เย็น และหม้อต้มน้ำ ในห้องนอน มีตะเกียงอ่านหนังสือ เสื่อ ผ้าห่ม หมอน มุ้งกันยุง ตู้เหล็ก สำหรับเก็บเสื้อผ้า และหนังสือ ห้องน้ำแทบไม่มีอะไร นอกจาก โถส้วม ก๊อกน้ำ บนฝาผนัง ถังน้ำ และขันตักน้ำ กระจกเงา ที่ใส่สบู่ และยาสีฟัน บางบ้าน มีหัวฝักบัว ไม่กี่บ้าน มีเครื่องทำครัว

มีอยู่สิ่งเดียว ที่ผู้เขียนเห็นว่า สมาชิกศีรษะอโศก บริโภค “ไม่น้อย” นั่นคือ อาหารที่กินร่วมกัน

ผู้เขียนบรรยายดังนี้
เมื่ออาหารในถาด ที่มีล้อเลื่อนผ่านมา ระหว่าง แถวผู้ชาย กับแถวผู้หญิง เราต่างกุลีกุจอ ตักอาหาร จนพูนจาน ตามปกติ อาหารของเรา ประกอบด้วย ข้าวสีน้ำตาล (ข้าวกล้อง) ถั่ว เมล็ดพืช เช่น งาดำ งาขาว เมล็ดทานตะวัน เต้าหู้ ผัดผัก ผักสด ผลไม้สด ผลไม้แห้ง นมถั่ว ชาสมุนไพร กุ๊กกี้ ซึ่งคนภายนอก ให้เราเป็นครั้งคราว ฉันกินจานเดียวก็อิ่ม และกินเสร็จก่อนใครๆ แต่เห็นคนอื่นตักกัน คนละ ๒-๓ จาน เขาถามฉันแทบทุกวัน “คุณอิ่มแล้วหรือ” ฉันพิศวง ที่เห็นคนศีรษะอโศกกินจุ สมาชิกหญิงบางคน เอาถ้วยมาใส่อาหาร ไปกินที่บ้านก็มี แต่น่าประหลาด ไม่เห็นมีใครอ้วนสักคน ที่พอท้วมๆ ก็เห็นอยู่ เพียงคนเดียว นอกนั้น ยังต้องการคาลอรี่เป็นพิเศษ เพื่อเอาไปเป็นพลังงาน ให้ร่างกาย ที่ทำงานหนัก

งานหนัก
ผู้เขียนบอกว่า “งาน” ในภาษาไทย กินความกว้าง อาจหมายถึง กิจกรรมที่ทำเพื่อเลี้ยงชีพ ทำเพื่อความสนุก หรือทำ เพราะต้องทำ เช่น การงาน งานวัด งานแต่งงาน งานศพ อย่างไรก็ตาม งานในที่นี้ เกี่ยวข้องกับ ความต้องการทางวัตถุ การเพ่งจิต พิจารณา หน้าที่ และความขยันหมั่นเพียร

ในรูปธรรม ชาวศีรษะอโศก ต้องทำงานหนัก เพื่อจัดหาสิ่งที่ต้องการ มาใช้สอย สมาชิกร่วมกันผลิต สิ่งที่ใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น อาหาร เสื้อผ้า ปุ๋ย ผงซักฟอก ยารักษาโรค  เขายังสร้างบ้าน และประดิษฐ์เครื่องผ่อนแรงขึ้นใช้เอง สมาชิกที่อยู่ประจำ สาละวนอยู่กับ การทำงาน ตั้งแต่ก่อนสว่าง จนค่ำมืด เพื่อหาเลี้ยงผู้ใหญ่ อย่างน้อย ๘๐ คน นักเรียน ๒๐๐ คน และผู้มา เยี่ยมเยียนอีก เดือนละหลายร้อยคน คติพจน์ของเขา “งานมาก่อนสิ่งอื่น” (รวมทั้งกิน) แม้ว่าศีรษะอโศก ยังไม่ได้พึ่งตัวเอง อย่างสมบูรณ์ สมาชิกก็พยายาม ที่จะพึ่งตนเอง ตามแบบฉบับ ของชุมชน"บุญนิยม" ตามประวัติ ผู้นำศีรษะอโศกกล่าวว่า “เพราะว่า บุญนิยม เน้นความมั่นใจในตัวเอง ชุมชนจึงต้องพึ่งกิจกรรม หรือฐานงาน ที่รองรับความต้องการ ของชุมชนนั้น” ตารางต่อไปนี้ แสดงชนิดของงาน ที่เกี่ยวกับการเลี้ยงชีพ ที่ศีรษะอโศก

                           ตัวอย่างของฐานงาน

 กิจกรรม    ฐานงาน   รายได้

เตรียมอาหารสำหรับสมาชิก
กสิกรรม 
ก่อสร้าง 
ผลิตยาสมุนไพร 
ทดสอบชีวิตทางวิทยาศาสตร์ 
เย็บเสื้อผ้า 
ทำข้าวเกรียบ เห็ดผง 
ทำเต้าเจี้ยว และน้ำซีอิ้ว 
ทำเต้าหู้ 
สีข้าวกล้อง

จำหน่ายน้ำมันรถยนต์
เพาะพันธุ์ไม้ 
ดูแลห้องสมุด 
ผสมปุ๋ยอินทรีย์ 
จัดการขยะ 
เพาะเห็ด 
ทำภาชนะไม้ไผ่
ดูแลคนป่วย
ผลิตน้ำยาทำความสะอาด 
ขายของใช้ 

ขายพืชผลของชุมชน
งานศิลป์ ภาพเขียน
ปลูกพืชสมุนไพร
เก็บพืชผล 
งานไม้ 
เอกสาร 
บำรุงรักษา 
ดูแลพิพิธภัณฑ์ 
ดูแลสวนสมุนไพร
หาฟืน 

บรรจุสินค้า 
ดูแลโรงธรรม
ดูแลเครื่องมือ
เพาะถั่วงอก 
ซ่อมรถยนต์ 
ทอผ้า
ต้อนรับแขก นำเที่ยว 
รักษาบัญชี 

ผลิตสารละลายจุลินทรีย์ ผลิตเครื่องตัดเลื่อย 
บริการความสะดวก 

โรงครัว
ฟาร์ม สวน
บริการ 
บ้านยาดี
บริการ
ร้านเย็บเสื้อ 
อาหารแปรรูป
อาหารแปรรูป 
โรงเต้าหู้
 โรงสี

 ปั๊มน้ำมัน 
กรีนเฮ้าส์ 
ห้องสมุด
ปุ๋ยสะอาด
ขยะวิทยา 
โรงเห็ด 
โรงจักสาน
อโรคยา 
แชมพูสมุนไพร 
ร้านน้ำใจ 

ร้านปลอดยาฆ่าแมลง
วิจิตรศิลป์
สวนบุญ 
เก็บเกี่ยว 
ร้านช่างไม้ 
สำนักงานกลาง 
บำรุงรักษา 
บรรพบุรุษ 
สวนสมุนไพร 
ลานฟืน 

บรรจุ 
โรงธรรม 
โรงจักร
กำลังชีวิต 
โรงช่างกล
โรงทอ
ประชาสัมพันธ์ 
บัญชี

แล็บจุลินทรีย์
โรงตีเหล็ก 
หน่วยสวัสดิการ

ไม่มี
ไม่มี
ไม่มี
มี
ไม่มี
มี
มี
มี
ไม่มี
มี

มี
ไม่มี
มี
มี
มี
มี
มี
ไม่มี
มี
มี

มี
ไม่มี
ไม่มี
ไม่มี
ไม่มี
ไม่มี
ไม่มี
ไม่มี
ไม่มี
ไม่ม

ไม่มี
ไม่มี
ไม่มี
ไม่มี
ไม่มี
มี
ไม่มี
ไม่มี

ไม่มี
ไม่มี
ไม่มี

__________________

สำหรับชาวอโศก การทำงาน เป็นพื้นฐานของการทำสมาธิ ขณะทำงาน หรือ ทำกิจวัตรประจำวัน สมาชิกพยายามรักษาจิต ให้อยู่กับปัจจุบัน ทำใจให้สงบ เอาใจจดจ่ออยู่ที่งาน เกี่ยวข้องอยู่กับงาน  ควบคุมอารมณ์ให้ปกติ  ต่อไปนี้ เป็นคำบอกเล่า ของชาวอโศก ผู้ซึ่งใช้การทำงาน เป็นการทำสมาธิ

อาเจนจบ: เมื่อเราทำงาน ใจของเราอยู่ที่งาน เช่นเมื่อเช้านี้ ผมนั่งถอนวัชพืช อยู่ในนา ใจของผม ไม่ได้ไปไหน ครั้นแล้ว ผมมองดู ความคิดของผม คล้ายกับมองดูแก้วน้ำ ครั้งแรก เรามองเห็นแก้ว แล้วเห็นน้ำในแก้ว เราเห็นว่า น้ำกำลังกระเพื่อม แล้วก็หยุดนิ่ง เราจะเห็นว่า มันมีสีต่าง ๆ – เขียว หรือ แดง – หรือว่าใสสะอาด… ถ้าเราสามารถ พัฒนาการมีสติอยู่กับตัว มันจะทำให้เรามีความรู้ และความเข้าใจ ใจส่งไปที่กาย นั่นคือสมาธิ ขณะที่เราทำงาน เรารู้ว่า เรากำลังทำอะไร เราใช้ปัญญา และความรู้ ในงานที่เราทำ

มั๊วะ: สมาธิของผมคือ - ผมไม่นั่งหลับตา- ผมพยายามมีสติ ในการทำงาน เพราะว่า ถ้าเรามีสติ เราจะมีความตั้งอกตั้งใจ บางที เวลาทำงาน เราโกรธ แต่ถ้าเราปลดปล่อย ความโกรธออกมาที่งาน มันก็จะทำให้งานเสีย เพื่อให้งานลุล่วงไปด้วยดี ผมจะพยายาม ควบคุมอารมณ์ของผม บางที ผมทำงานผิดพลาด ผมโมโห แต่ผมจะพยายามระงับอารมณ์โกรธ ให้นิ่ง ให้มีสันติ คิดทบทวน แล้วหาวิธีใหม่ ที่จะแก้ไขปัญหา

ผู้เขียนมีความเห็นว่า “สมาธิ” ที่ชาวอโศกปฏิบัตินั้น เป็นสมาธิที่ขาดเป็นห้วง ๆ และกระจัดกระจาย ไม่ใช่สมาธิที่ต่อเนื่องกัน เธอกล่าวว่า เป็นการยากที่จะบอกว่า ใครมีสมาธิ ขณะที่กำลังทำงาน เพราะว่าสมาธิ เป็นกระบวนการภายใน เป็นส่วนใหญ่ ชาวอโศก อาจกล่าวว่า ความสัมพันธ์อันดี ระหว่างคน และผลงานยอดเยี่ยม เป็นเครื่องแสดงถึงการมีสมาธิ แต่ผู้เขียนเคยได้ยิน เสียงทะเลาะวิวาท หรือ การตำหนิกันอย่างรุนแรง เกี่ยวกับการทำงานลวกๆ เธอจึงไม่แน่ใจว่า การมีปากเสียงกันนั้น เกี่ยวข้องกับ สมาธิ หรือวัฒนธรรม ประเพณีของคนไทย

หน้าที่ เป็นลักษณะหนึ่ง ของการงาน สันติกโร ภิกขุ สานุศิษย์ ของท่านพุทธทาส อธิบายคำว่า หน้าที่ ดังนี้
ที่สวนโมกข์ งานอะไรก็ตามที่จำเป็น จัดว่าเป็นหน้าที่ และหน้าที่ เป็นความหมายอย่างหนึ่ง ของธรรม การทำหน้าที่ จึงเป็น การปฏิบัติธรรม... หัวใจของคนเราสกปรก ด้วยความเห็นแก่ตัว เราจึงต้องทำความสะอาดมัน ด้วยการทำงาน ที่ไม่เห็นแก่ตัว ค่านิยม อยู่ที่การทำงาน การให้บริการที่ไม่เห็นแก่ตัว
สันติกโร ภิกขุ เน้นการบริการ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับอัตตา

ผู้เขียนได้ยินชาวอโศก พูดบ่อย ๆ ว่า “รับผิดชอบในหน้าที่” ซึ่งหมายถึง การพัฒนาจิตวิญญาณ และอะไรก็ตาม ที่จะต้องทำให้สำเร็จ สมาชิกปฏิบัติธรรม ไปพร้อมๆกับทำหน้าที่ในชุมชน ผู้เขียนบอกว่า สมาชิกบางคน พูดถึงหน้าที่ อันยิ่งใหญ่ ที่จะทำให้มนุษย์บรรลุผล ศักยภาพ คือคิด และสร้างสรรค์ อย่างที่มนุษย์เท่านั้น สามารถทำได้ เป็นการใช้ ความสามารถพิเศษ และความชำนิชำนาญ ในทางหนึ่งทางใด ทำให้สภาพอื่นสมบูรณ์ สำหรับชุมชน"บุญนิยม" นั่นคือ การก่อร่าง และสร้างสรรค์

สุดท้าย การทำงานหนัก เป็นคุณงามความดี ความขยันหมั่นเพียร เป็นอุดมคติข้อหนึ่ง ที่พระพุทธเจ้า ทรงสั่งสอน และเป็นกฎเกณฑ์ สำหรับชุมชนบุญนิยมศีรษะอโศก ความขยันหมั่นเพียร ตรงกันข้ามกับ ความเกียจคร้าน ซึ่งเป็นกิเลส ชาวศีรษะอโศก ชอบยกตัวอย่าง “ตื่นสาย” ว่าเป็นกิเลส เวลา ๖ นาฬิกา ถือว่าสาย สำหรับศีรษะอโศก เพราะว่าในเวลานั้น สมาชิกส่วนใหญ่ กำลังทำงานอยู่แล้วตามปกติ สมาชิกที่มีร่างกายแข็งแรง ตื่นตี ๓ ครึ่ง เพื่อสวดมนตร์ หรือ ประชุมที่โรงธรรม เมื่อถามว่า “การตื่นนอนเวลา ๓.๓๐ นาฬิกา มีความสำคัญอย่างไร?” สมาชิกศีรษะอโศก ให้คำตอบดังนี้

อารัตนา: ทำให้เราฝึกตื่นเช้า เป็นคนขยัน เป็นการฝึกตัวเองที่ดี

อาไพรศีล: ตื่นเช้าตรู่ ทำให้เรามีเวลาทำงานมากขึ้น ขัดเกลาตัวเราเอง ไม่ให้ขี้เกียจ หรือติดการนอน เพราะการนอน เป็นกิเลสอย่างหนึ่ง

อาพลีขวัญ: สำคัญเพราะว่า มันฝึกเรา ให้ตื่นมารับผิดชอบ ก่อนนี้ ฉันนอนมาก ตอนกลางวัน เดี๋ยวนี้ บางทีตอนหน้าหนาว ฉันไม่อยากลุกขึ้น แต่พ่อท่านพูดว่า เมื่อเราเกิดเป็นมนุษย์ ผู้ซึ่งมีค่า และมีชีวิตที่ตื่นอยู่เสมอ มีความรับผิดชอบ สามารถเห็น สามารถได้ยิน สามารถ- อะไรก็ตาม มากกว่าคนซึ่งกำลังหลับ

ท่านดินธรรม: คุณมีเวลาทำงานมาก และคุณสามารถฝึกตัวเอง ให้เป็นคนขยัน เมื่อคุณขยัน คุณสามารถทำงานได้มาก และการทำงาน ทำให้คนมีศีลธรรมดีขึ้น ความขยัน ทำให้มีศีลธรรมที่ดี ไม่ได้สะสมอะไร แต่เป็นการให้แก่คนอื่น ชีวิตอย่างนี้ เป็นตัวอย่าง... เมื่อเขาเห็น เขาจะปฏิบัติตาม ครั้นแล้ว เราจะมีสังคมอย่างนี้ มากขึ้นเรื่อย ๆ เราไม่ทำลาย ทรัพยากรของโลก มีแต่การสร้างสรรค์ สันติ ร่มเย็น น่าอยู่ ถูกไหม?

ทั้งที่ถือกันว่า การตื่นเช้าตรู่ มีค่านิยมสูง แต่ก็ไม่มีการเข้มงวดกวดขัน เหมือนเรื่องเนื้อสัตว์ และยาเสพติด จำนวนผู้เข้าประชุม ตอนเช้าตรู่ ไม่แน่นอน มีตั้งแต่ สตรีสูงอายุ ๔-๕ คน ไปจนถึงนักเรียนทั้งหมด ตอนทำวัตรเช้า และสมาชิก ระหว่าง ๔๐-๖๐ คน รวมทั้งพระสงฆ์ ในการประชุมประจำสัปดาห์ คนชราและคนป่วย ไม่ต้องเข้าประชุม คนหนุ่มและยังแข็งแรง บางคน ได้รับ การยกเว้นพิเศษ เช่น อาแก่นฟ้า และอาสัมพันธ์ ไม่ต้องตื่นเช้า เพราะเขาทำงานดึก ผู้เขียนกล่าวว่า เสียงจากเครื่องขยายเสียง ที่ดังสนั่นหวั่นไหว เพลงจังหวะถี่ยิบ การประกาศเวลา เทปธรรม และเสียงสวดมนตร์ – ทั้งหมด เริ่มเมื่อ ๓.๑๕- มีประสิทธิภาพ ในการรักษา โรคขี้เกียจของผู้เขียน

 

ที่เหลือจุนเจือสังคม

ผู้เขียนกล่าวว่า เมื่อเธอสัมภาษณ์สมาชิก ที่ศีรษะอโศก เธอใช้คำพูดผิดบ่อย ๆ เช่นประโยค “คุณมีความเห็นอย่างไร กับคำพูดที่ว่า มีน้อย ใช้น้อย?”
สมาชิกหลายคน พากันทักท้วง เช่น

อาแก่นฟ้า คุณไม่ควรพูดว่า “มีน้อย ใช้น้อย” แต่ควรพูดว่า “มีมาก แต่ใช้น้อย” เพราะถ้าเราพูดว่า “มีน้อย ใช้น้อย” บางคน อาจเข้าใจผิด เพราะว่า “มีน้อย ใช้น้อย” อาจหมายความว่า “ไม่ทำอะไรเลย ถึงได้มีน้อย” แต่ถ้าคุณพูดว่า “มีมาก แต่ใช้น้อย จึงมีเหลือไว้ให้คนอื่น” อย่างนี้ เห็นจะเหมาะกว่า นะครับ

หลักจริยธรรม ของการบริโภคแต่น้อย บวกกับ ความขยันหมั่นเพียร มีความเป็นไปได้ ที่จะสร้างความมั่งคั่ง ให้แก่ผู้ปฏิบัติ แต่แทนที่จะกักตุนผลผลิตจากแรงงาน ชาวอโศก เก็บไว้เฉพาะ ส่วนที่เขาจำเป็นต้องใช้เท่านั้น แล้วยกส่วนที่เหลือ ที่เกิน หรือที่ทำได้มากไป ให้แก่ “มนุษยชาติ”

ผู้เขียนกล่าวว่า นักปราชญ์หลายคน เช่น พีเตอร์ แจคสัน และ คณานัถ โอบิยสักคีร์ เปรียบเทียบ ขบวนการพุทธปฏิรูป กับ ลัทธิโปรเทสแตนท์ ในระหว่าง วิวัฒนาการอุตสาหกรรม ในทวีปยุโรป แจคสันเขียนว่า
นักปฏิรูปศาสนาทั้งหลาย เน้นหลักการถือสันโดษ และความพอใจ ในชีวิตมัธยัสถ์ แต่ความสันโดษ และมัธยัสถ์ในที่นี้ ไม่ได้หมายถึง การเฉื่อยชา ตรงกันข้าม เขากลับส่งเสริมกิจกรรม ที่เพิ่มผลผลิต และช่วยให้เกิด ความอุดมสมบูรณ์ การเน้นความสำคัญ ของการทำงาน และการเก็บหอมรอมริบ เป็นเครื่องชี้ ให้เห็นถึงการสะสม ซึ่งมีความจำเป็น สำหรับการลงทุน ในระบอบทุนนิยม ของคนชั้นกลาง

แจคสัน อาจเข้าใจท่านพุทธทาส และอโศก เพียงผิวเผิน จึงเทียบเคียง พุทธปฏิรูป กับลัทธิโปรเทสแตนท์ ที่จริง ทั้งท่านพุทธทาส และอโศก ต่อต้านลัทธิวัตถุนิยม

ทำไมชาวพุทธไม่สะสม ?
ผู้เขียนอ้างคำพูดของ อาแก่นฟ้า ว่าการสะสมเป็นบาป และอ้างการปฏิบัติ ของพระภิกษุสงฆ์ ว่าพระไม่สะสม ดังนั้น ฆราวาสที่เป็นพุทธ ก็ไม่ควรสะสม การสะสมทุน แม้จะเอาไว้ลงทุน ก็ไม่สอดคล้องกับคำสอน ในพุทธศาสนา*  ประการที่ ๒ ชาวพุทธ มุ่งหวังการไม่ยึดติด ไม่เพียงแต่ การยึดติดในวัตถุ เท่านั้น ความรู้สึกครอบครอง หรือการเป็นเจ้าของ ก็ยังเป็นการยึดติด ผู้เขียน อ้างคำพูดของสมาชิก คนหนึ่ง (หมูเฒ่า) ที่ว่า เวลาตาย ไม่มีใครเอาอะไรไปได้ จึงไม่มีเหตุผล ที่จะคว้าเอาสิ่งต่างๆ มาเป็นของตน แม้แต่ความรู้สึกว่า เป็นเจ้าของ ประการที่ ๓ เป็นการฝึกอนัตตา หรือการไม่มีตน ซึ่งเป็นหลักสำคัญในพุทธศาสนา ผู้เขียนอ้างถึง คำพูดของ สิกขมาตุ จินดา ผู้บริหารโรงเรียนสันติอโศก ในกรุงเทพ ฯ “การให้ เป็นหัวใจของพุทธศาสนา คือให้โดยไม่เอา – แต่ความจริง เขาออมชอม คือให้มาก แต่เอาน้อย”

การเสียสละ เป็นการปฏิบัติที่สำคัญ ในการดำเนินชีวิตแบบอโศก ความจริง คนไทยที่ถือพุทธ ก็นิยมการบริจาค แต่ส่วนมาก บริจาคเพื่อเอา เช่น นำของไปบูชาพระพุทธรูป แล้วอธิษฐาน ขอโน่นขอนี่ แต่ชาวอโศก ทำแบบทวนกระแส คือมุ่งผลประโยชน์ ของชนส่วนรวมเป็นใหญ่ สงเคราะห์คนธรรมดาสามัญทั่วไป ไม่ว่าจะเป็น ชาวอโศกหรือไม่ และช่วยบำรุงรักษา สิ่งแวดล้อม ที่คนอาศัยอยู่

บุญนิยม เป็นองค์การต้นแบบของอโศก และยึดหลักการ เสียสละเพื่อบุญ หลักเกณฑ์ของ ชุมชนบุญนิยม ระบุความตั้งใจ ที่จะเสียสละ และ การไม่เอาเปรียบคนอื่น ตรงกันข้ามกับทุนนิยม (ตามความเห็นของชาวอโศก) ซึ่งดำเนินการ โดยการเอาเปรียบคนอื่น เพื่อสะสมต้นทุน ในการผลิต สมณะโพธิรักษ์ อธิบาย ความแตกต่าง ระหว่างบุญนิยม กับทุนนิยมไว้ ในการสัมภาษณ์ “๑๕ นาทีกับพ่อท่าน” ซึ่งตีพิมพ์ใน สารอโศก ฉบับ มกราคม ๒๕๓๑

กระแสทุนนิยม มาแรงและเร็ว ดังนั้น จึงจำเป็นที่จะต้องนำ บุญนิยม มายืนยัน ว่าคุณค่าของมนุษยชาติ มีอยู่ในการเสียสละ ไม่ใช่การเอาเปรียบ

นิยม แปลว่า ยกย่อง เห็นด้วย สมัครใจ ดังนั้น นิยมบุญ หมายถึง นิยมสิ่งที่เป็นบุญ ไม่ใช่นิยมสิ่งที่เป็นบาป การใช้ประโยชน์ส่วนตัว การเห็นแก่ตัว การเก็บรวม การไม่เสียสละ

เดี๋ยวนี้ มีแต่คน เอาเปรียบสังคมมาก เท่าที่จะเอาได้ กักตุนทรัพย์สมบัติเอาไว้ จนกระทั่ง กลายเป็น นายทุนใหญ่ –คนร่ำรวยผู้ยิ่งใหญ่ สร้างช่องว่าง ระหว่างคน

ครั้นคนร่ำรวยมากขึ้น เขาคบคนร่ำรวยด้วยกัน ส่วนคนจน ผู้ซึ่งอยู่ในระดับล่าง ของสังคม ส่วนใหญ่ของสังคม ก็กลายเป็นคนที่ ถูกบีบบังคับ ถูกบีบมากขึ้น เขาถูกล่อลวง โดยระบอบทุนนิยม ให้อยู่ในสถานการณ์ ที่แก้ไขไม่ได้

คนแต่ละคน เป็นทาสของทุนนิยม เขาเชื่อว่า วันหนึ่ง เขาจะมีเรี่ยวแรงพอ ที่จะใช้ระบอบนี้ ให้เป็นประโยชน์แก่ตัวเขา เขาจะหาหนทาง ที่ทำให้ตัวเขา มีรายได้ และมีความก้าวหน้า มากกว่าคนอื่น มากขึ้น โดยไม่มีที่สิ้นสุด

แต่ทุนนิยมเพียงแต่หลอกลวง
ทุนนิยม... เป็นลัทธิสะสม ตักตวง แข่งขัน ยื้อแย่ง -มือใครยาว ไม่ว่าหญิงหรือชาย สาวได้สาวเอา- จนร่ำรวย จนล้นฟ้า เป็นสาเหตุของ ทุกข์และบาป ซึ่งตกอยู่ที่ ผู้นั้นโดยตรง และคนอื่น ทั่วสังคม

บุญนิยม...เป็นลัทธิที่ มองเห็นสัจจะ และปัญญาที่แท้จริง ว่า การเสียสละ การสร้างสรรค์ การมีน้ำใจ และการช่วยเหลือผู้อื่น เป็นคุณค่าโดยตรง สำหรับผู้ให้ และเป็นค่านิยม ทั่วสังคม จนกระทั่ง ทุกหัวใจ เต็มเปี่ยมจริง ๆ

ผู้เขียนสรุปว่า สมณะโพธิรักษ์ นำเอาความคิด ซึ่งเป็นส่วนสำคัญ ของพระพุทธศาสนา มากล่าว “ทางโลกีย์ (ทุนนิยม) ตั้งอยู่บนความลุ่มหลง ว่าความสุข สามารถบรรลุได้ จากการเพิ่มพูนทางวัตถุ และการเพิ่มพูนนี้ ไม่มีที่สิ้นสุด ดังนั้น สังสารา หรือ การเวียนว่ายตายเกิด ก็ไม่มีทางสิ้นสุด และความทุกข์ ก็เช่นเดียวกัน แต่หนทางแห่งธรรม (บุญนิยม) มีรากฐานอยู่บน หลักอริยสัจ ที่ว่า ความทุกข์ เป็นผลของตัณหา การเดินตามทางธรรม จึงทำให้เกิดการตรัสรู้ นิพพาน ปลดเปลื้องจากสังสารา และหมดทุกข์”

บุญนิยมของศีรษะอโศก มีกระบวนการดังนี้: เริ่มต้น สมาชิก เสียสละให้แก่ชุมชน เพื่อให้ชุมชนยังชีพอยู่ได้ ในระดับที่มั่นคง สังคมไทย หรือมนุษยชาติ อาจได้รับผลประโยชน์โดยตรง จากส่วนเกินของศีรษะอโศก เช่น ผักผลไม้ ที่เหลือเฟือ ผงซักฟอก ปุ๋ย เสื้อผ้า ยารักษาโรค และอาหารแห้ง ซึ่งถูกนำมาจำหน่ายที่ “ร้านน้ำใจ” ในราคาที่สูงกว่าราคาผลิต ไม่เกิน ๑๕% และที่ “ตลาดอาริยะ” แห่งชาติ ณ จังหวัดอุบลราชธานี ในวันปีใหม่ สังคมไทย ยังได้รับผลประโยชน์ จากความรู้ ของสมาชิกชาวอโศก ซึ่งถ่ายทอด โดยการให้เปล่า ทางเอกสารสิ่งพิมพ์ การศึกษาขั้นประถมและมัธยม การให้การฝึกฝน เกี่ยวกับศีลธรรม ทางพุทธศาสนา การฝึก “๓ อาชีพกู้ชาติ” (กสิกรรมธรรมชาติ การกำจัดขยะมูลฝอย และ การผลิตปุ๋ยอินทรีย์) สมาชิกอโศก ยังให้บริการ สังคมไทยต่อไป ด้วยการจำหน่าย อาหารมังสวิรัติ ราคาถูก ที่ร้านของชุมนุม และแจกอาหาร มังสวิรัติฟรี เพื่อเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในวันเฉลิมพระชนม์พรรษา และบางที ในอนาคต อโศกอาจผลิตนายกรัฐมนตรี ที่ไม่รับเงินเดือน


อ่านต่อ ประถมศึกษา และ มัธยมศึกษาของอโศก

สัมมาพัฒนา : สันติอโศก ขบวนการพุทธปฏิรูปแห่งประเทศไทย