สัมมาพัฒนา : สันติอโศก ขบวนการพุทธปฏิรูป แห่งประเทศไทย
จูลิอานา เอสเซน เขียน
บทที่ ๘
สร้างโลก
ผู้เขียนเปรียบเทียบการทำงาน ขององค์การโลก ซึ่งส่งเสริมการพัฒนาประเทศที่ด้อยพัฒนา กับการทำงานของกลุ่มอโศก ซึ่งส่งเสริมการพัฒนาตนเอง ผู้เขียนยกคำพูดของนักเขียนคนหนึ่ง (แกรม แฮนด์คอก) ขึ้นมากล่าว ดังนี้
ถ้าตัวแทนองค์การช่วยเหลือทั้งหลาย ทำหน้าที่ของเขาอย่างถูกต้อง และสมบูรณ์แบบ ในการส่งเสริม การพัฒนาโลกที่ ๓ ป่านนี้พวกเขา ก็คงจะไม่มีงานทำกันแล้ว
ผู้เขียนยกย่องการทำงานของกลุ่มอโศก ว่าเป็น การพัฒนาที่ถูกต้อง เพราะว่าเป็นวิธีที่ ส่งเสริมจริยธรรม ปัญญาและสมาธิ (ศีล สมาธิ ปัญญา) แต่นี่ก็เป็นทางธรรมะ ไม่ใช่ทางโลก อย่างไรก็ตาม นักพัฒนาทั้งหลาย ยอมรับว่า อโศกประสบความสำเร็จ เพราะว่า อโศกได้พิสูจน์ให้เห็นว่า สามารถยกระดับคุณภาพชีวิต ของคนธรรมดาให้ดีขึ้น ผู้เขียนเห็นว่า การพัฒนาที่สัมฤทธิ์ผล จะต้องประกอบด้วย
(๑) อยู่ใต้วัฒนธรรมหนึ่ง วัฒนธรรมใด หรือภายในท้องถิ่นหนึ่ง ท้องถิ่นใดโดยเฉพาะ
(๒) จำเพาะเจาะจงลงไปที่ การดำเนินชีวิต แทนที่จะเพ่งเล็ง ความเจริญทางเศรษฐกิจ โดยส่วนรวม
(๓) คุ้มครอง ดูแล และรักษาสิ่งแวดล้อม
(๔) ทำให้ส่วนรวมเกิดแรงบันดาลใจ ในอันที่จะปฏิบัติ และรักษาไว้ ซึ่งวิถีทางแห่งการดำเนินชีวิตแบบนั้น
ความเชื่อและการปฏิบัติ ของชาวอโศก ที่พุทธสถานศีรษะอโศก เป็นตัวอย่างที่ดี ซึ่งชี้ให้เห็นถึงองค์ประกอบทั้ง ๔ ดังกล่าว
ผู้เขียนยกการพัฒนาของอโศก ขึ้นมาอภิปราย เพื่อชี้ให้เห็นถึงความสำเร็จ ในการพัฒนาชุมชน แบบองค์รวม และชี้ให้เห็นสาเหตุแห่งความบกพร่อง ของอุตสาหกรรม การพัฒนาของนานาชาติ ที่ไม่ประสบความสำเร็จ หรือไม่นำความมั่งคั่ง มาสู่ประชากรส่วนใหญ่ของโลก
ประวัติการพัฒนาอุตสาหกรรม
การพัฒนาหมายถึง การเปลี่ยนแปลงในทางบวก เป็นความใฝ่ฝันที่ทุกคน ทุกหมู่เหล่า และทุกชาติปรารถนา
ความคิดเกี่ยวกับ การพัฒนาของชาวตะวันตก มีรากฐานมาจาก ทฤษฎีแห่งวิวัฒนาการ ในระหว่าง ช่วงศตวรรษที่ ๑๙ และ ๒๐ เช่นเดียวกับ ความเห็นเรื่องการตรัสรู้ ซึ่งเป็นความเจริญที่ไม่มีที่สิ้นสุด การพัฒนาที่เป็นโครงการของโลก ปรากฏขึ้น หลังสงครามโลก ครั้งที่ ๒ ขณะนั้น การพัฒนาหมายถึง ความเจริญทางเศรษฐกิจ ตามแบบอย่างประเทศอุตสาหกรรม เช่น สหรัฐอเมริกา นักมานุษยวิทยา คนหนึ่ง ชื่อ ไรอัลล์ โนแลน บรรยายว่า แรกเริ่มเดิมที การพัฒนาแบบนี้ มีจุดมุ่งหมาย อยู่ที่การแสวงหาวัตถุมาใช้ โดยอาศัยวิธีการที่เอามาจาก ทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ ของชาติตะวันตก คือการรวมทุนกัน และใช้เทคโนโลยี (แบบตะวันตก) และรู้วิธีการที่จะนำไปสู่ความสำเร็จ ปัจจุบันนี้อุตสาหกรรม เงินพันล้าน ก็ยังใช้องค์ประกอบเหล่านี้อยู่
การพัฒนาเศรษฐกิจเริ่มต้นโดย ผู้นำทางการเงินของ ๔๔ ประเทศ ลงนามในข้อตกลง ที่เรียกว่า เบรตตันวูดส์ เมื่อจวนจะสิ้นสงครามโลกครั้งที่ ๒ ข้อตกลงดังกล่าว ก่อตั้งกลไก ซึ่งรวมถึงกองทุน ระหว่างประเทศ หรือที่รู้จักกันในนาม ไอเอ็มเอฟ (IMF) และธนาคารระหว่างประเทศ เพื่อการเสริมสร้าง และพัฒนา (IBRD) ซึ่งเดี๋ยวนี้ เป็นส่วนหนึ่งของธนาคารโลก ทั้งนี้ก็เพื่อเสริมสร้างเศรษฐกิจ และรักษาเสถียรภาพ ทางการเมืองของยุโรป โดยการใช้แผนการมาร์แชลล์ ปรากฏว่า เศรษฐกิจของยุโรป ฟื้นตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว และไม่นาน ก็เจริญรุ่งเรือง
แต่พอสงครามโลกครั้งที่ ๒ สิ้นสุดลง ปรากฏว่าประเทศต่างๆ เกือบทั่วโลก ประสบความยากลำบาก ผู้นำในประเทศตะวันตก คิดว่าถ้าขยายโครงการพัฒนา และแผนการมาร์แชลล์ ออกไปสู่ประเทศ ที่เคยเป็นอาณานิคมของยุโรป หรือประเทศที่กำลัง อยู่ในหัวเลี้ยวหัวต่อ ของการเป็นเอกราช ก็อาจจะช่วย ประเทศเหล่านั้น ให้ตามทันประเทศอุตสากรรมในยุโรป ขณะเดียวกัน ก็เป็นการหยุดการลุกลาม ลัทธิคอมมิวนิสต์ ประธานาธิบดีเคนเนดี ประกาศว่า การช่วยเหลือต่างประเทศ เป็นวิธีหนึ่ง ที่สหรัฐอเมริกา จะสามารถรักษาตำแหน่งผู้มีอิทธิพล และการควบคุมต่างๆ ทั่วโลกไว้ได้ และเป็นการป้องกัน มิให้บางประเทศล้มละลาย หรือกลายเป็น พรรคพวกคอมมิวนิสต์
ในระหว่าง พ.ศ. ๒๔๙๓ - ๒๕๐๓ การพัฒนาที่เรียกว่า โลกที่ ๓ เกิดขึ้น ซึ่งเน้นแผนการเศรษฐกิจ มหาภาค และโครงการ การเติบโตด้านต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การอุตสาหกรรม การกสิกรรม ขนาดใหญ่ และถนนหนทาง จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ นายกรัฐมนตรีของไทย ในขณะนั้น ได้ดำเนินการ ตามแผนพัฒนาดังกล่าว อย่างเคร่งครัด เพื่อที่จะทำให้ประเทศเจริญรุดหน้า และต้านทานการลุกลาม ของคอมมิวนิสต์ ซึ่งขณะนั้น กำลังคุกคามอยู่ในประเทศใกล้เคียง
ความคิดเห็นเรื่องการพัฒนาในระยะต้นๆ คล้ายคลึงกับความคิดเห็น ในสมัยอาณานิคม ประธานาธิบดี ทรูแมน ใช้ผลผลิตของประเทศ เป็นมาตรฐานของการพัฒนา ท่านประกาศว่า ความเจริญรุ่งเรือง ของประเทศหนึ่งประเทศใด วัดได้ด้วยระดับ ความมากน้อยของผลผลิต เช่นเดียวกันกับ สมัยอาณานิคม ประเทศพัฒนา ก็ควรเป็นสหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักรอังกฤษ และประเทศร่ำรวย ทั้งหลายในยุโรป ผู้ซึ่งมีทั้งความรู้ และทรัพยากร ที่เหนือกว่าประเทศอื่นๆ
พวกหัวสมัยใหม่ในขณะนั้น เสนอว่า เพื่อที่จะส่งเสริมการพัฒนา ทางเศรษฐกิจที่แท้จริง ประเทศพัฒนา จะต้องพิชิต อุปสรรคที่สำคัญ คือ วัฒนธรรม และประเพณี (ซึ่งไม่มีค่านิยม ของการได้มา หรือความก้าวหน้า ตามแบบอย่าง อารยะตะวันตก) นักเขียนโครงการคนหนึ่ง (อาเธอร์ ลูอิส) เสนอว่า การตลาด ควรจะขยายตัวออกไป กลบเศษฐกิจ ตามประเพณีให้หมดสิ้น ซึ่งเศรษฐกิจแบบเก่านั้น จัดหาแรงงานให้แก่นายทุน ในราคาที่ต่ำกว่าราคาตลาด และเมื่อไม่มีแรงงานเหลือเฟือ ค่าจ้างก็จะสูงขึ้น อันเป็นสัญญาณว่า ตลาดได้ดูดซึมเศรษฐกิจแบบเก่า จนหมดสิ้นแล้ว และนั่นก็เป็นชัยชนะ ของการพัฒนา แม้ว่าวิธีนี้ ไม่เป็นที่นิยมแพร่หลาย ในระหว่าง พ.ศ. ๒๔๙๓ ๒๕๐๓ ความคิดนี้ ก็มิได้หายไป จากตลาดแรงงาน
จนกระทั่ง ต้นปี ๒๕๑๓ นักวางแผนพัฒนาทั้งหลายเห็นว่า เศรษฐกิจบางอย่าง ไม่ได้กระเตื้องขึ้น ส่วนที่ขยายตัวไปบ้าง ก็มีปัญหาเรื่อง การกระจายผลประโยชน์ ในปี พ.ศ. ๒๕๑๑ โรเบอร์ต แมกนามารา ได้รับเลือกเป็นประธาน ธนาคารโลก เขาเพ่งเล็งความสนใจไปที่ ปัญหาเรื่องความเสมอภาค และความต้องการของคนยากจน ในปี ๒๕๑๙ องค์การแรงงาน นานาชาติ วางระเบียบแบบแผน เกี่ยวกับการช่วยเหลือคนยากจน ซึ่งเป็นผลที่โรเบอร์ต แมกนามารา ดำริไว้ก่อน หลังจากนั้น ความต้องการ กลายเป็น คำที่มีอำนาจที่สุด ในการต่อรอง
ในระหว่างปี ๒๕๑๓ ชนกลุ่มน้อย เช่นผู้หญิง ชาวบ้าน และชาวนา ตั้งป้อมโจมตี โครงการพัฒนาต่างๆ ว่าดำเนินการ ตามความประสงค์ของผู้ให้เงินอุดหนุน บ้างก็โจมตีว่า ตัวแทนของการพัฒนา เบี่ยงเบนไปจากเงินทุน และเทคนิคของการพัฒนา การโจมตีดำเนินไป เป็นเวลานานถึง ๑๐ ปี และในระหว่างนี้ ก็มีกลไกใหม่ๆ เกิดขึ้น เช่น การพัฒนาระดับท้องถิ่น
ความยุ่งยากเกี่ยวกับการชำระหนี้ ในต้นปี ๒๕๒๓ ทำลายอุตสาหกรรมการพัฒนา อย่างหนัก การช่วยเหลือ ประเทศที่กำลังพัฒนา ซึ่งมาในรูปการให้กู้ยืมเงิน ในอัตราดอกเบี้ย ที่เกือบเท่าตลาด ทำให้ประเทศบางประเทศ ไม่สามารถชำระหนี้สินได้ ยิ่งไปกว่านั้น ยังมีปัญหาต่างๆ ประดังเข้ามา เช่น ปัญหาการใช้เงินคืน ปัญหาประชากรเพิ่มขึ้น อย่างรวดเร็ว และ ปัญหาน้ำมันแพง เมื่อประเทศยากจนเพิ่มขึ้น เป็นทวีคูณใน พ.ศ. ๒๕๒๗ หลายประเทศ ในลาตินอเมริกา ประสบชะตากรรม ถึงกับล้มละลาย
ภายใต้การนำของประธานาธิบดีรีแกน รัฐบาลอเมริกัน มีความโน้มเอียง ไปในทางส่งเสริม การประกอบธุรกิจ โดยเอกชน และ การปฏิรูปตลาด ไอเอ็มเอฟ และธนาคารโลก เสนอโครงการ การปรับตัว (SAP) และได้นำโครงการนี้ ออกใช้ เพื่อช่วยผดุงเศรษฐกิจ ที่กำลังล้มลุกคลุกคลาน เพราะไม่มีการชำระหนี้ แต่ก่อนที่จะได้รับความช่วยเหลือ ทางการเงิน (เงินกู้) รัฐบาลลูกหนี้ จะต้องตัดรายจ่าย ในบริการทางสังคม เช่นการศึกษา และสาธารณสุขลง กับให้เน้นความสำคัญ ในทรัพยากร ที่เกี่ยวข้องกับการส่งออก ของธุรกิจส่วนเอกชน และจัดตั้ง หรือปฏิรูป สถาบันประชาธิปไตย เสียใหม่ ตามทฤษฎี รัฐบาลลูกหนี้ จะสามารถชำระหนี้ได้ด้วยเงิน ที่ไหลทะลักเข้าประเทศ จากการลงทุนของต่างชาติ ที่เชื่อถือในสเถียรภาพทางเศรษฐกิจ และการเมือง ของรัฐบาลลูกหนี้ ในทำนองเดียวกัน การปฏิรูปเหล่านี้ ก็เปิดตลาดใหม่ ให้แก่ประเทศตะวันตก แต่เมื่อดูในทางตรงกันข้าม ประเทศที่กำลังพัฒนา จะเพิ่มพูน การพึ่งพาอาศัยเงินทุน และตลาดต่างประเทศมากขึ้น คนยากจน ในประเทศเหล่านี้ ก็ต้องประสบความลำบากมากขึ้น ด้วยความจำเป็น โครงการพัฒนาระดับท้องถิ่น ซึ่งเริ่มต้นเมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๓ ต้องดำเนินการต่อไป ตลอดปี ๒๕๒๓ และ ๒๕๓๓ เพื่อช่วยเหลือคนยากจน แบกภาระโครงการ การปรับตัว (SAP) ดังกล่าว
การพัฒนาที่ทำติดต่อกันมานานถึง ๕๐ ปี ถูกวิจารณ์อย่างหนัก ใน พ.ศ. ๒๕๓๓ ประชาชนส่วนหนึ่ง แสดงความเป็นปฏิปักษ์ ต่อโครงการพัฒนา ชนกลุ่มนี้กล่าวหาว่า โครงการพัฒนา ทำให้ความเหลื่อมล้ำต่ำสูง ระหว่าง คนมีกับคนจน เพิ่มขึ้น แทนที่จะช่วยคนจน หรือทำให้ความแตกต่าง ระหว่างคนมีกับคนจน น้อยลง องค์การเอ็นจีโอ หรือ องค์การที่ไม่ใช่รัฐบาล ได้เรียกร้องให้ ไอเอมเอฟ และตลาดโลก หยุดอิทธิพลต่อกิจการพัฒนา ระหว่างประเทศ
ในการประชุมธนาคารโลกและ ไอเอมเอฟ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๔๕ประธานาธิบดี บุช ประกาศความตั้งใจ ที่จะเพิ่มความช่วยเหลือ ต่างประเทศขึ้น ปีละ ๕ พันล้านเหรียญดอลลาร์ (ภายในระยะเวลา ๓ ปี) นับเป็นเงินช่วยเหลือ จำนวนมากที่สุด ใน ๓๐ ปี แต่ก็มีปัญหาตามมาว่า จะกระจายเงินช่วยเหลือ เหล่านั้นอย่างไร
วัฒนธรรมและท้องถิ่น
ตามปกติอุตสาหกรรมการพัฒนา ตั้งข้อสมมติฐานว่า ทุกประเทศในโลก จะมีการพัฒนาคล้ายคลึงกัน ถ้าหากว่า มีโอกาสได้รับความช่วยเหลือทางการเงิน และเทคโนโลยี ข้อสมมติฐานนี้ ทึกทักเอาว่า คนในวัฒนธรรมต่างๆ มีความสามารถ และความต้องการ เช่นเดียวกันกับ คนในซีกโลกตะวันตก จึงควรจะมีการพัฒนา คล้ายคลึงกับประเทศอุตสาหกรรม ในซีกโลกตะวันตก แต่ตรงกันข้าม การพัฒนาคุณภาพชีวิต ของคนธรรมดาสามัญ ย่อมต้องเกี่ยวข้องกับวัฒนธรรม และประเพณี ของท้องถิ่น วิธีการที่อาศัยวัฒนธรรม และประเพณีนิยม จึงน่าจะเป็นหนทางที่ดีกว่าวิธี มีดตัดขนม ที่องค์การพัฒนา ทั้งหลายทำอยู่ ทั้งนี้ก็เพราะว่า วัฒนธรรมและประเพณี ได้รวมเอาความหลากหลาย ในประวัติศาสตร์ ความเป็นมาของคน ทรัพยากรธรรมชาติ ความสามารถ และความกระตือรือร้น ของคนที่จะพัฒนาตนเอง
ประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม ที่เป็นโครงสร้างของการพัฒนา
การพัฒนาตามแบบตะวันตก ไม่สามารถนำไปใช้ ในประเทศต่างๆ ให้เกิดผล อย่างในประเทศตะวันตกได้ ก็เพราะการพัฒนา ทางเศรษฐกิจ อย่างรวดเร็ว ในอเมริกาและยุโรป เกิดขึ้นด้วยเหตุปัจจัยจำเพาะ ที่ไม่สามารถเลียนแบบได้ นั่นคือ การปฏิวัติอุตสาหกรรม นักเขียนคนหนึ่ง (มาเรีย มีส) กล่าวว่า ความพยายาม ที่จะตามให้ทัน (ประเทศตะวันตก) เป็นความเชื่อเลื่อนลอย เพราะการพัฒนาแบบนั้น ไม่มีจุดเริ่มต้น เส้นทาง และจุดจบ พวกมาร์กซิสสมัยใหม่ กล่าวว่า ไม่มีวันที่โลกที่ ๓ จะเดินตามทางของ โลกตะวันตกได้ เพราะความเห็นแก่ตัว หรือการแสวงหาประโยชน์ส่วนตัว ได้ก่อให้เกิด โครงสร้างที่เรียกว่า อาณานิคม ด้วยโครงสร้างนั้น เมื่อประเทศหนึ่งพัฒนา ก็จะทำให้เกิดประเทศที่ด้อยพัฒนา และประเทศ ที่ได้ชื่อว่า พัฒนา เมื่อหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ก็คือ ประเทศที่เคยมี อาณานิคม นั่นเอง
ประเทศพัฒนา ที่ได้รับการยกย่องว่าเป็น แบบอย่าง มีความเชื่อแบบตะวันตก ที่ว่ามาตรฐาน การครองชีพที่สูงส่ง คือการได้ใช้วัตถุที่ทันสมัย และเพราะว่า ตลาดเป็นกลไกสำคัญ ในการตีราคาค่านิยม การครอบครองวัตถุ (ที่ทันสมัย/ ราคาแพง) จึงเป็นสัญลักษณ์ ของความสำเร็จ
ตรงกันข้าม จุดหมายปลายทางของกลุ่มอโศก ไม่ใช่อุดมคติตะวันตก ที่ว่าสะสมวัตถุ ที่มีคุณค่า และราคาแพง เพื่อเอาไว้แสวงหาความสะดวกสบาย แต่อโศกเดินตามคติ ทางพุทธศาสนาที่ว่า ละการยึดติดวัตถุทางโลก และเข้าให้ถึง อิสรภาพทางวิญญาณ ดังนั้น ความพยายาม ที่จะพัฒนาตนเอง ชุมชน และสังคมรอบข้างของชาวอโศก จึงสะท้อนให้เห็นเด่นชัด ถึงอุดมคติทางพุทธข้อนี้
ผู้เขียนยกคำพูดของ ส. ศิวรักษ์ ที่สนับสนุน การพัฒนาที่แท้จริง ตามแนวความคิดทางพุทธ ซึ่งมีใจความว่า
การพัฒนาต้องมุ่งไปที่ การลดตัณหา หลีกเลี่ยงความรุนแรง และพัฒนาจิตวิญญาณ แทนที่จะมุ่งไปที่วัตถุ... มีผู้เข้าใจความหมายของ การยกระดับคุณภาพของชีวิต แตกต่างกัน ในทัศนของวัตถุนิยม เมื่อมีความอยากเพิ่มขึ้น ก็จะมีการพัฒนายิ่งขึ้น แต่ในทางพุทธ เมื่อมีความอยากน้อยลง ก็อาจจะมีการพัฒนายิ่งขึ้น
ส. ศิวรักษ์ อาจได้รับอิทธิพลจาก มหาตม คานธี ผู้ซึ่งเห็นว่า ความสำคัญของการเจริญ ทางอุตสาหกรรม และเศรษฐกิจ ไม่ใช่แนวทางเดียวกันกับ ความมุ่งมาดปรารถนาทางวิญญาณ ของคนอินเดีย ซึ่งดำเนินชีวิต ตามประเพณีฮินดู
อนึ่ง เศรษฐกิจขนาดย่อม เพื่อการยังชีพ อาจมีวัตถุประสงค์ ในการพัฒนา แตกต่างออกไป จากเศรษฐกิจ ขนาดใหญ่ ที่ต้องอาศัยตลาดกว้างขวาง มีผู้สังเกตว่า กสิกรในประเทศโคลัมเบีย ทำกสิกรรมเพื่อ อยู่รอด โดยไม่หวัง กำไร แต่อย่างใด เศรษฐกิจแบบนี้ มุ่งหมายที่จะผลิตของใช้ ให้พอเพียงกับความต้องการ ภายในระบบเท่านั้น ถ้าหากใช้ไม่หมด ก็ถือว่าเป็นความก้าวหน้า การประหยัด จึงเป็นค่านิยมที่สูงส่ง ชุมชนอโศกก็เช่นเดียวกัน ดำเนินชีวิต ตามแบบที่เรียกว่า เศรษฐกิจพอเพียง แต่อโศกสละส่วนที่เหลือ ให้แก่สังคม โดยมุ่งหวัง ความก้าวหน้าทางวิญญาณ เป็นใหญ่
คนที่ต้องพึ่งพาอาศัยสิ่งต่างๆ มากมายในการยังชีพ อาจเห็นว่า การดำรงชีวิตแบบพอเพียง เป็นความยากจน และจำเป็นที่จะต้องพัฒนา แต่นักเขียนสตรีคนหนึ่ง (วันทนา ศิวะ) เห็นว่า
เราควรแยกความยากจน แบบการมีชีวิตอย่างพอเพียง ออกจาก ความยากจนในทรัพย์สิน ซึ่งสืบเนื่องมาจาก การไม่มีอะไรจะครอบครอง หรือสูญเสีย สิ่งครอบครองไปทั้งหมด ความยากจน ที่รู้จักกัน ตามวัฒนธรรม ไม่จำเป็นต้องเป็นความยากจน ในวัตถุเสมอไป ตราบใด ที่มีปัจจัยที่จำเป็น ในการครองชีพ และหามาได้ด้วยตัวเอง ไม่ใช่ความยากจน ตามความหมายของ การขาดปัจจัย ในการยังชีพ
อโศก เป็นตัวอย่างรูปธรรม ของคำกล่าวข้างต้น ชุมชนศีรษะอโศก ดูคล้ายๆ กับหมู่บ้านยากจนในชนบท เมื่อเปรียบเทียบกับ กรุงเทพฯ ซึ่งมีการพัฒนาอย่างทันสมัย แต่ในขณะที่กระบวนการอโศก ท่องคำขวัญ กล้าจน ให้คนซึ่งนิยมวัตถุฟัง อโศกไม่ได้หมายถึง การขาดปัจจัยที่จำเป็น ในการยังชีพ แต่อย่างใดเลย ดังนั้น ค่านิยม และวัตถุประสงค์ (ของคำว่า พอเพียง สะสมความร่ำรวย หรือ ตรัสรู้ทางวิญญาณ) อาจกำหนดรูปแบบ ของการพัฒนา ผิดแผกแตกต่างกันไป
ทางเลือกที่เหมาะเจาะกับวัฒนธรรมท้องถิ่น
โครงการพัฒนาทั้งหลาย มักถือเอาการพัฒนาท้องถิ่น เป็นสิ่งสำคัญ โดยรวบรวมเอาความสามารถ ทรัพยากรธรรมชาติ และภูมิปัญญาของท้องถิ่นมาใช้ โครงการหนึ่ง เรียกว่า เอที (AT) คือการใช้เทคโนโลยี ที่เหมาะสม (AT appropriate technology) เช่น การใช้เตาถ่าน ในการหุงต้มตามชนบท (แทนที่จะใช้เตาแก๊ส ให้สิ้นเปลืองโดยใช่เหตุ หรือยุ่งยาก ในการหาแก๊สมาใช้) โครงการนี้ มีวัตถุประสงค์ เพื่อกระตุ้นโลกที่ ๓ หรือประเทศด้อยพัฒนา ให้เพิ่มผลผลิตของท้องถิ่น โดยไม่ต้องรอพึ่งโครงการหลัก หรือการช่วยเหลือ จากต่างประเทศ เอทีได้เปรียบโครงการหลัก ตรงที่สามารถใช้ต้นทุนต่ำ และ ใช้เทคโนโลยีพื้นบ้าน อย่างไรก็ตาม ไม่ได้หมายความว่า เอที จำเป็นต้องใช้ ภูมิปัญญาของท้องถิ่น แต่อย่างเดียว เทคโนโลยีใด ที่มีประโยชน์ และเข้ากันได้ กับความเชื่อถือ ค่านิยม และความเหมาะสม ในทางปฏิบัติ ก็นำมาประยุกต์เข้ากับ วิถีชีวิตของท้องถิ่น การพัฒนาตามแบบอโศก ก็ใช้วิธีนี้ คือ บางส่วน มาจากวัฒนธรรมไทย ตามประเพณี บางส่วนมาจาก ความคิดของประเทศตะวันตก เช่น การอนุรักษ์ สิ่งแวดล้อม และเทคนิคการตลาด บางส่วนมาจาก ประเทศญี่ปุ่น เช่น การกสิกรรมธรรมชาติ เหล่านี้เป็นต้น สรุปก็คือ อโศกคัดเลือกเอาความคิด และเทคนิคดีๆ จากทั่วโลก มาผสมผสาน กับของพื้นบ้าน ปรับปรุงให้เป็นโครงการใหม่ ที่ใช้ได้ผล
วิถีชีวิตของอโศก เป็นตัวอย่างวิธีการพัฒนา แบบอาศัยวัฒนธรรม และท้องถิ่นที่ชุมชนนั้นตั้งอยู่ นั่นคือ มีพุทธศาสนา และค่านิยมของไทย เป็นพื้นฐาน มีการเลี้ยงชีพแบบชาวไร่ชาวนา ซึ่งศีรษะอโศก ปฏิบัติได้เหมาะเจาะ เข้ากับสิ่งแวดล้อม อันมีประชากรส่วนใหญ่ (มากกว่า ๖๐ เปอร์เซ็นต์) เป็นชาวชนบท
อย่างไรก็ตาม การพัฒนาที่อาศัยวัฒนธรรม และท้องถิ่นเป็นที่ตั้ง ไม่เพียงแต่รวบรวม เอาภูมิปัญญา ความเชื่อถือ การปฏิบัติ และ ทรัพยากรท้องถิ่น เท่านั้น ยังต้องอาศัยสิ่งอื่น ประกอบด้วย เช่น ความต้องการที่จำเพาะเจาะจง และเป้าประสงค์ ของประชาชน การพัฒนาแบบอโศก ใช้วิธีการแบบองค์รวม ที่สมาชิกแสดงสิทธิที่ต้องการ เป็นตัวของตัวเอง มีอาณาเขต มีเอกลักษณ์ และมีวิสัยทัศน์ ในอนาคตของตน การพัฒนาแบบนี้มีพลัง และมีผลยืดยาว ดังนั้น จึงมีศักยภาพ ที่จะยกระดับคุณภาพชีวิต หรือความเป็นอยู่ ของคนธรรมดาสามัญได้ดี
เครื่องวัดการพัฒนา
เมื่อพูดถึงการพัฒนา คนส่วนใหญ่มักเข้าใจว่า การพัฒนาเศรษฐกิจ จะช่วยแก้ปัญหาความยากจน คำพังเพยที่ว่า การพัฒนา คือความเจริญทางเศรษฐกิจ เป็นความคิดที่มีรากฐานมาจาก ค่านิยมของ การสะสมวัตถุ และไม่นับวัฒนธรรม ว่าเป็นองค์ประกอบ ของการพัฒนา ข้อความต่อไปนี้ ชี้ให้เห็น ความขัดแย้งกันอยู่ ๒ ประการคือ
(๑) นโยบายเศรษฐกิจมหาภาค ที่ผลักดันให้เศรษฐกิจเจริญเติบโต (เช่นการส่งผลผลิต ออกขายต่างประเทศ และนโยบายการค้าเสรี) แต่เป็นนโยบาย ที่ไม่ค่อยคำนึงถึงสวัสดิ์ภาพ ของคนธรรมดาสามัญ และอาจทำให้คนยากจน ลำบากยิ่งขึ้น
(๒) มาตรฐานการวัด ความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยใช้จีดีพี หรือผลผลิตทั้งมวล ภายในประเทศ เป็นเครื่องวัด (GDP -gross domestic product) แต่จีดีพี มีตำหนิ ตรงที่ไม่ได้บอกแน่ชัดว่า ผลผลิตเกิดจาก ความเจริญเติบโต ทางเศรษฐกิจโดยตรง หรือ เพราะคนมีสวัสดิ์ภาพดีขึ้น การหาเลี้ยงชีพที่ถูกต้อง ก็เป็นปัจจัยหนึ่ง ที่สามารถยกระดับผลผลิตได้ และทำให้จีดีพี เพิ่มขึ้น
ปัญหาเกี่ยวกับเศรษฐกิจมหาภาค
ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๒๓ เป็นต้นมา องค์การพัฒนาระหว่างประเทศ พยายามทำให้เศรษฐกิจทั่วโลก เกี่ยวพันกัน ทั้งนี้ก็เพื่อช่วยเหลือ ประเทศบางประเทศ ที่มีเศรษฐกิจขึ้นๆ ลงๆ และเพื่อให้ประเทศเหล่านั้น มีเสถียรภาพ และเจริญเติบโตในทางเศรษฐกิจ แต่ขณะที่การลงทุน และตลาดต่างประเทศ กำลังเฟื่องฟู นักวิชาการ และพวกหัวรุนแรง กลับโจมตี โครงการเศรษฐกิจมหาภาค ที่ส่งเสริมการส่งออก และการค้าเสรี เขาวิจารณ์ว่า การกระทำเช่นนั้น ขาดการใส่ใจในความเป็นอยู่ ของคนธรรมดาสามัญ นักเขียนชาวอินเดีย คนหนึ่ง (วันทนา ศิวะ) ตั้งคำถาม เศรษฐกิจโลก มีวัตถุประสงค์อะไร? เสรีภาพทางการค้า หรือว่า เสรีภาพที่จะมีชีวิตอยู่รอด เธอกล่าวต่อไปว่า
เสรีภาพทางการค้าในทางกสิกรรม มีจุดมุ่งหมายที่จะสร้างเสรีภาพ ให้กับบริษัทนานาชาติ ที่จะลงทุนผลิต และค้าขายผลผลิต ทางการกสิกรรม โดยไม่ต้องจำกัดอยู่กับกฎ ข้อกำหนด หรือความรับผิดชอบใดๆ ทั้งสิ้น เสรีภาพสำหรับธุรกิจกสิกรรมนี้ มีพื้นฐานอยู่บน การปฏิเสธเสรีภาพ ของผู้หญิงชนบท ที่ต้องผลิต ประกอบ และ บริโภคอาหาร ตามความต้องการ ของสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ และวัฒนธรรมของท้องถิ่น
วันทนา ศิวะ วิจารณ์รัฐบาลอินเดีย ที่ยกเลิกเงินสงเคราะห์อาหาร ราคาถูก แก่สาธารณชน แต่ไปสนับสนุน การค้าเสรี เธอกล่าวว่า ในปี ๒๕๓๔ อินเดียส่งข้าวสาลี ออกนอกประเทศ ๖๗๒,๐๐๐ ตัน แต่ในปีต่อมา หลังจากเปิดตลาดการค้าเสรี อินเดียกลับต้อง ซื้อข้าวสาลี จากต่างประเทศ ๒,๕๐๐,๐๐๐ ตัน ค่าซื้อข้าวสาลี มากกว่าเงินที่รัฐบาล จ่ายให้ชาวนาอินเดีย ตอนที่มีโครงการอาหาร สาธารณะเสียอีก ทั้งรัฐบาล และประชาชนชาวอินเดีย ไม่ได้อะไร จากการซื้อขายนี้เลย แต่กลับเป็นการโอน ผลประโยชน์ จากชาวนาจนๆ ในอินเดีย ไปให้นักธุรกิจชาวต่างประเทศ ที่ร่ำรวยแท้ๆ
ในประเทศอื่นๆ เช่น จาไมก้า ก็มีการตำหนิโครงการพัฒนา ที่อาศัยเศรษฐกิจ มหาภาค เช่นเดียวกัน นักเขียนคนหนึ่ง (เฟ แฮริสัน) กล่าวว่า นโยบายนี้ สังเวยความต้องการ ขั้นพื้นฐานของประชาชน เช่น การสาธารณสุข การเคหะ (ที่อยู่อาศัย) การศึกษา การสังคมสงเคราะห์ และการรับจ้างทำงานให้แก่ ผู้ประกอบวิสาหกิจขนาดใหญ่ และทำการค้าอย่างเสรี
ในระหว่างวิกฤตการทางเศรษฐกิจ ในเอเชียอาคเนย์ เมื่อเร็วๆ นี้ ประเทศไทย ได้รับผลกระทบกระเทือน แต่ไม่มากมายนัก หนังสือพิมพ์บางกอกโพสท์ (๙ ธันวาคา ๒๕๔๔) รายงานว่า ตั้งแต่เริ่มวิกฤตการ เป็นต้นมา คนจนในประเทศไทย เพิ่มขึ้น ๓ เท่า รัฐบาลกู้ยืมเงินจาก ไอเอมเอฟ เพียง ๑๗.๒ พันล้าน (๑ หมื่น ๗ พันล้าน กับ ๒๐๐ ล้านดอลลาร์ -ภายใต้เงื่อนไข) พวกสื่อสารมวลชน นักวิชาการ ปัญญาชน และเอ็นจีโอ พากันเรียกร้อง ให้รัฐบาลรีบแก้ไขปัญหา เพราะว่าภาระหนัก จะตกอยู่ที่คนจน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ก็ทรงเป็นห่วง และทรงสนับสนุน การแก้ไขปัญหา ดังกล่าว พระองค์ทรงตรัส เมื่อวันที่ ๔ ธันวาคม ๒๕๔๐ ว่า
การเป็นเสือไม่สำคัญ ที่สำคัญคือ ต้องมีพอกิน ที่จะมีชีวิตอยู่ได้ และมีเศรษฐกิจ ที่จะให้สิ่งที่พอกิน และมีชีวิตอยู่ได้
ปัญหาเกี่ยวกับ จี ดี พี
ตามปกติสิ่งที่สะท้อน การพัฒนาของประเทศ ก็คือ จีดีพี การปรับปรุงทางเศรษฐกิจ เกี่ยวกับการส่งสินค้าออก และ การเปิดตลาดเสรี เป็นวิธีหนึ่ง ที่ขยาย จีดีพี แต่ก็ยังมีสิ่งอื่น ที่ชี้ให้เห็น การพัฒนาของประเทศ เช่น การศึกษา (จำนวนผู้อ่านออกเขียนได้ ที่เพิ่มขึ้น) อัตราการอยู่รอดของทารก สิ่งเหล่านี้ จีดีพี มักจะมองข้ามไป มีผู้รู้จำนวนไม่น้อย ที่ปฏิเสธการยอมรับ จีดีพี ว่าเป็นเครื่องวัดการพัฒนา เพราะเหตุว่า มันวัดการเจริญเติบโต ทางเศรษฐกิจ และสวัสดิการของมนุษย์ ได้ไม่แน่นอน คณะกรรมการ คำจำกัดความของการพัฒนา คณะหนึ่ง วินิจฉัยว่า จีดีพี เป็นเครื่องวัดความก้าวหน้า ที่ผิดพลาด เพราะว่า มันเป็นเพียง จำนวนเงินทั้งหมด ที่ทุกครอบครัว รัฐบาล และการลงทุนทางธุรกิจ ใช้จ่าย ในการซื้อสินค้า และบริการ แต่ไม่ได้แสดงว่า ใครจะอยู่ดี กินดีหรือไม่ นั่นคือ จีดีพี ไม่ได้แยกแยะ ระหว่าง กิจกรรมที่สร้างสรรค์ กับกิจกรรมที่ทำลาย ตัวอย่าง การตัดต้นไม้ ขายให้ตลาด เป็นการเพิ่มจีดีพี แต่ไม่ได้หักค่าที่ป่าถูกทำลาย มลภาวะ เป็นตัวอย่างอีกอันหนึ่ง ที่มีค่าทับซ้อน เพราะการผลิต และขายน้ำมัน ทำให้ค่าจีดีพีเพิ่ม แต่การผลิตน้ำมันนั่นเอง ทำให้เกิดมลภาวะ และค่าใช้จ่าย ในการกำจัดมลภาวะ ก็เป็นส่วนที่ทำให้ ค่าจีดีพีสูงขึ้นด้วย ในทำนองเดียวกัน อุบัติเหตุรถยนต์ เชื้อโรค อาชญากรรม การหย่าร้างเหล่านี้ ทำให้ค่าจีดีพีสูงขึ้น เพราะมันก่อให้เกิดการใช้จ่าย ในการซ่อมรถ การรักษาพยาบาล การป้องกันภัย และการฟ้องร้อง ขึ้นโรงขึ้นศาล ค่าจีดีพี ที่สูงลิ่ว อาจไม่ได้สะท้อนปัญหา ของสังคม และสิ่งแวดล้อม ที่ทำลายความสุขของประชาชน สรุป จีดีพี ให้ความสำคัญแก่สินค้า และบริการที่เพิ่มขึ้น มากกว่าสะท้อน สิ่งที่ประชาชนให้ความสำคัญ เช่น น้ำสะอาด อากาศบริสุทธิ์ และเวลาพักผ่อนหย่อนใจ
การพัฒนาแบบระบบการหาเลี้ยงชีพ
การค้าเสรี อาจทำให้ค่าจีดีพี สูงขึ้น แต่ไม่สามารถเลี้ยงปากเลี้ยงท้อง ของประชาชนได้ ความมั่นคง ในการหาเลี้ยงชีพต่างหาก ที่จะช่วยยกระดับ คุณภาพชีวิตของคนทั่วไป ดังนั้น การให้ความสำคัญ แก่ระบบการหาเลี้ยงชีพ แทนที่จะมุ่งแต่ ความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ของประเทศ เพียงอย่างเดียว (เศรษฐกิจมหาภาค) จึงน่าจะดีกว่า วิธีการที่เอาการหาเลี้ยงชีพ เป็นหลัก ในการพัฒนา เป็นการปฏิบัติ ในระบบเล็กๆ คล้ายกับวิธีการ ที่เอาวัฒนธรรมของท้องถิ่น ที่ชุมชนตั้งอยู่ มาเป็นพื้นฐาน ในการพัฒนา
นักเศรษฐศาสตร์ ๒ ท่าน (โกรน และ เซบสตาด) นิยามระบบการหาเลี้ยงชีพว่า เป็นการผสมผสาน ระหว่าง นโยบาย ของคนแต่ละคน และครอบครัว ในการที่จะดำรงชีวิตให้อยู่รอด นโยบายนี้ พัฒนามา ในช่วงระยะเวลาใด เวลาหนึ่ง จากการเสาะแสวงหาวัตถุปัจจัย และโอกาสที่มีอยู่ และทำการเคลื่อนย้ายวัตถุปัจจัย และโอกาสเหล่านั้น ให้เป็นประโยชน์ เช่น กิจกรรมที่เกี่ยวกับการตลาด การหาแหล่งอาหาร การกู้ยืม การติดต่อทางสังคม การเปลี่ยนนิสัยในการบริโภค ตลอดจน การใช้เทคโนโลยี ระบบนี้ ให้ผลดีเลิศ เมื่อกลุ่มคน มีความคิดหลากหลาย และระดมความคิด เพื่อหานโยบาย มาใช้ให้เป็นประโยชน์ สำหรับคนยากจน การอยู่รอด เป็นสิ่งสำคัญที่สุด เมื่อรู้สึกว่าชีวิตอยู่รอด แล้ววัตถุประสงค์ขั้นต่อไป ก็คือความปลอดภัย หลังจากนั้น อาจเขยิบฐานะขึ้นไป ถึงขั้นความเจริญก้าวหน้า แต่นักวางแผนพัฒนาทั้งหลาย มักไม่คำนึงถึง วัตถุประสงค์ทั้ง ๓ ขั้นนี้ มักกระโดดมุ่งไปที่ ขั้นความเจริญก้าวหน้าทีเดียว
การพัฒนาแบบการหาเลี้ยงชีพ อาจเกิดขึ้นโดย วิธีการต่างๆ รวมทั้งการลองผิดลองถูก เพื่อจะรักษาชีวิต ให้อยู่รอด การพัฒนาแบบอโศก ส่วนใหญ่ เกี่ยวกับการสร้าง และรักษาไว้ซึ่ง สัมมาอาชีวะ พอๆกับความก้าวหน้า ทางจิตวิญญาณ อันที่จริง การพัฒนาทางวัตถุ และจิตวิญญาณ เป็นสิ่งที่อาศัย ซึ่งกันและกัน นโยบายที่อโศก ใช้พัฒนาการหาเลี้ยงชีพ สำหรับสมาชิก และคนภายนอก ก็เช่นเดียวกัน คือการศึกษา หลักศีลธรรม การฝึกอาชีพ และการประยุกต์วิชา หรือเอาหลักวิชาการ มาใช้ให้เกิดประโยชน์ เช่น การฝึกอาชีพ ๓ อย่างที่จะช่วยชาติ ทุกๆวันชาวอโศก จะฝึกความขยันและใช้น้อย การแบ่งปันทรัพยากร และ การทำประโยชน์ ให้แก่สาธารณะ โดยผ่าน ระบบบุญนิยม การทำงานร่วมกัน และร่วมตัดสินใจ ความพยายามที่จะพึ่งตนเอง โดยการนำเอาวิธีการต่างๆ รวมทั้งการทดลอง มาขัดเกลา ให้เข้ากับ สถานะของตน เหล่านี้เป็นต้น ชุมชนอโศก ได้ยืนหยัดมาแล้ว ตลอดเวลากว่า ๓๐ ปี และขณะที่ประเทศไทย ประสบภาวะวิกฤติ ทางเศรษฐกิจ (จนต้องกู้เงินจาก ไอเอมเอฟ) อโศกแทบไม่ได้รับ ผลกระทบกระเทือนเลย จึงน่าจะแสดงให้เห็นว่า การพัฒนาแบบ ระบบการหาเลี้ยงชีพ เป็นกุญแจสำคัญ ที่จะปรับปรุงชีวิต ของคนธรรมดาสามัญ ในระยะยาว ได้ดีกว่า การพัฒนา ทางเศรษฐกิจ แต่อย่างเดียว
สรุป
ในบทนี้ ผู้เขียนพยายามชี้ให้เห็นว่า การพัฒนาแบบ การหาเลี้ยงชีพของอโศก เป็นการพัฒนาแบบที่อาศัย วัฒนธรรม และท้องถิ่นเป็นพื้นฐาน มีจุดศูนย์รวมอยู่ที่ การหาเลี้ยงชีพ แทนที่จะเป็น การหาความเจริญทางเศรษฐกิจ ขณะเดียวกัน ก็เป็นการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม สร้างแรงดลใจภายใน และสามารถ ทำให้เกิดความสำเร็จ พร้อมทั้งการทำนุบำรุงรักษา อโศกไม่ได้ตั้งใจ ทำแบบอย่าง การพัฒนาให้แก่โลก หรือที่หนึ่งที่ใด ในประเทศไทย ซึ่งพร้อมที่จะลอกแบบ ตรงกันข้าม โครงการนี้ ต้องการการวิจัย และสนับสนุน ให้หาวิธีที่แตกต่างออกไป เพื่อใช้กับสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม ที่แตกต่างกัน เพราะว่าปัญหาที่ต่างกัน ย่อมอาศัยวิธีแก้ที่ต่างกัน ในที่สุด จะมีแบบต่างๆ เกิดขึ้น ซึ่งเริ่มต้นมาจาก รากหญ้า และมีความสำเร็จ เช่นอโศก
สุดท้าย ผู้เขียนกล่าวว่า ขณะที่อโศกประสบความสำเร็จ อย่างมากมาย ในการยกระดับชีวิต ของคนธรรมดาสามัญ ยังมีสิ่งอื่น ที่สำคัญกว่า การพัฒนาวัตถุ นั่นคือ การพยายามอย่างจริงจัง ที่จะพัฒนาตนเอง ให้เป็นคนดีกว่าเก่า ให้เป็นคนที่เต็มไปด้วย ศักยภาพ โดยการดำเนินตามทางพุทธิ ดังนั้น สำหรับชาวอโศก ผู้ซึ่งพยายามเป็น คนดี พึ่งตนเอง และเสียสละ เพื่อแก้ปัญหาสังคม- การพัฒนาทางวัตถุ และจิตวิญญาณ จึงแยกกันไม่ออก
ปัจฉิมลิขิต
ผู้เขียนรวบรวมข้อมูล ในการเขียนหนังสือเล่มนี้ โดยการสังเกต สัมภาษณ์ และทำกิจกรรมร่วมกับ สมาชิกของชุมชน ศีรษะอโศก ในขณะที่เธออาศัย อยู่ในชุมชนนั้น ทุกครั้งเมื่อจบการสัมภาษณ์ ผู้เขียนขอให้ผู้ถูกสัมภาษณ์ กล่าวเพิ่มเติม สิ่งที่ไม่ได้สัมภาษณ์ ต่อไปนี้ เป็นคำแถลง ของสมาชิกบางคน ที่ผู้เขียน เลือกเอามาพิมพ์ไว้ ในท้ายเล่ม
อา วิชัย
สิ่งสำคัญที่สุด และน่าสนใจที่ควรรู้ เกี่ยวกับอโศกก็คือ อโศกยังไม่ดีพร้อม โลกไม่มีอะไรดีพร้อม อโศกกำลังเดินอยู่ บนเส้นทาง เรากำลังฝึกฝนตัวเราเอง ดังนั้น อย่าผิดหวัง เมื่อเราทำอะไรไม่ถูกต้อง ผมคิดว่า ถ้าทุกคนรู้ และเชื่อ ในความคิดของอโศก ความมุ่งหมายของอโศก- และสามารถทำได้ อโศกจะเป็นสังคม ที่สมบูรณ์ทีเดียว ในเวลา ๕๐๐ ปี (หัวเราะ) ผมคิด- ผมไม่ชอบ เมื่อได้ยินใครพูดว่า โอ อโศกดี ดีแล้ว ดีมากจริงๆ เพราะอโศก ยังไม่ดีพร้อม เพียงแต่กำลังเดิน อย่าเพิ่งลิงโลด (ว่าอโศก เป็นหนทางที่วิเศษ) เพราะว่าอโศก ยังไปไม่ถึง จุดมุ่งหมายนั้นเลย
อา อ้าย
ผมทำใจได้เรียบร้อยแล้ว โอเค ผมขอบคุณ ในความพยายามของชาวอโศก ผมเชื่อว่า เขาเป็นคนดี ผมเชื่อในจุดหมาย ปลายทางของพวกเขา ว่าเป็นสิ่งที่ดี ผมเชื่อว่า เขาไม่มีเป้าประสงค์ สำหรับตัวเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คนที่เป็นหัวใจสำคัญ พระโพธิรักษ์ เป็นคนดีมาก ถ้าผมต้องเชื่อใครสักคน ผมจะเชื่อคนอโศก และคนมอร์มอนของผม คนซึ่งชี้ให้ผมเห็นว่า เขาเดินถูกทาง เดินตามทางที่ถูกจริงๆ เพราะว่าบางคน ผมรู้ว่า เขาเป็นคนอโศก หรือมอร์มอน แต่เขาไม่ได้ปฏิบัติ
เอม
สิ่งที่สำคัญคือ-ในอนาคต ถ้าเผื่อผู้นำของอโศก ไม่อยู่อีกต่อไป นั่นคือ ท่านมรณภาพ อโศกจะเป็นอย่างไร? นี่สำคัญนะ เพราะว่า สำหรับตัวผมเอง ความคิดของผม ยังไปไม่ถึงตอนนั้นเลย ผมยังมองไม่เห็นว่า ตอนนั้นเป็นอย่างไร แต่ผมรู้ว่า มันสำคัญ สมมติว่า อโศกไม่มีผู้นำ มันจะเหมือนเดิมไหม? เราจะนับถือสมณะ และผู้ใหญ่ไหม? (ผู้เขียน:ใช่ ถ้าไม่มีผู้นำ ถ้าท่านมรณภาพ อะไรจะเกิดขึ้น ชาวอโศก ต้องรับผิดชอบตัวเอง เขาต้องเชื่อ. .) เขาต้องมีความเชื่อมั่น
อาคมไว
จริงๆแล้ว ผมไม่มีอะไรนะครับ แต่สังคมนี้ เป็นสังคมที่ทุกคน มีความตั้งใจจริง มีจิตวิญญาณ อย่างเดียวกัน เป็นสังคม ที่เรามาพัฒนา สิ่งที่เกี่ยวกับจิตวิญญาณ ทุกคนมาที่นี่ เพื่อที่จะใกล้ชิดกับศาสนา ทุกคนมีความรู้สึกว่า การอยู่ใกล้วัด มีโอกาส พัฒนาจิตใจของเรา ได้สูงกว่า ๑๐๐ ตอนเช้า เราสามารถฟังธรรม ประชุม หรืออะไรก็ตาม ที่สามารถขัดเกลา จิตใจของเรา ดังนั้น ชุมชนใด ที่ไหนก็ได้ ที่ชาวอโศก ก่อตั้งขึ้น มีวัดเป็นหลัก ในการทำงานของเรา หรือในสิ่งที่เราทำ นั่นคือ สิ่งสำคัญที่สุด คือศาสนา ในการทำงานของชาวอโศก เรายึดถือศาสนาเป็นหลัก
อาแก่นฟ้า
สิ่งที่สำคัญที่สุด ที่ผมเคยกล่าวมาแล้วก็คือ สิ่งที่ยากที่สุด ที่มนุษย์พึงกระทำ มันยากที่สุด ที่มนุษย์จะทำ แต่ก็สามารถทำได้... จริงๆแล้ว มันเป็นสิ่งที่ค่อนข้างยาก สำหรับคนที่ยังไม่เข้าใจ แต่ก็ง่าย สำหรับคนที่ เริ่มรู้จักทำ เริ่มต้น เราต้องเข้าใจเสียก่อนว่า ศีลคืออะไร... เมื่อเราถือศีล ๕ ลดละอบายมุข กินมังสวิรัติ เราก้าวต่อไปอีกก้าว ขึ้นอยู่กับตัวเอง อย่างมากนะครับ เราต้องลดละสิ่งนี้ เราลดสิ่งประดับร่างกาย ลดสิ่งอื่นๆอีก แล้วขยันเพิ่มขึ้นอีก นี่เป็นหนทาง แต่คนที่ยังใหม่อยู่ อาจจะต้อง เริ่มต้นที่จุดนี้ ถือศีล ๕ ละอบายมุข และกินมังสวิรัติ เขาต้องไต่ขึ้น จากที่นี่ก่อน
อาทางบุญ
ฉันไม่รู้จะพูดอะไรอีก ฉันพูดหมดแล้ว ทุกคนที่มาที่นี่ รวมทั้งฉันด้วย ทุกคนในโลก ต่างต้องการ ที่จะเป็นคนดี แต่เขาเพียงแต่คิด เท่านั้น เขาไม่ได้มองให้ลึกลงไป... ฉันคิดว่า คนสมัยนี้ขี้เกียจ แม้แต่จะคิด ถ้าหากเขาขยันคิด ขยันไตร่ตรอง เขาจะไม่ทำบาป เขาจะเห็นว่า โอ ก็เพราะคนนี้ทำสิ่งนี้ จึงได้รับผลนี้ เขาไม่ต้องมองไกล- ที่นั่น รอบๆบ้านเขาเอง คนทุกวันนี้สับสน หัวสมองปนกันยุ่ง เขาไม่มีเวลาเป็นตัวของตัวเอง เขาไม่มีเวลาทบทวนว่า เขาทำอะไรผิดบ้าง คนข้างนอก ถ้าเขาทบทวนตัวเอง ว่าเขาหลงผิด ไปทางไหน แล้วแก้ไขเสีย ปรับปรุงและเปลี่ยนแปลง ก็จะได้ผล เขาจะเริ่มต้นเป็นคนดี เขาจะแสวงหาสิ่งที่ดี เหมือนที่ฉันได้ทำมา ฉันคิดว่า ฉันพบแล้ว ฉันพบแล้ว และจะไม่ไปที่ไหนอีกแล้ว แต่ฉันจะไม่หยุดทำดี ดังนั้น ฉันอยากให้ทุกคน อยากจะไว้วางใจ ทุกๆคน ให้พิจารณา สิ่งที่ทำ และผลที่ได้รับ ให้ทุกคนมองคนอื่น เห็นอกเห็นใจผู้อื่น เหมือนกับมีหัวใจเดียวกัน เข้าใจซึ่งกันและกัน เขาเหมือนเรา และเราก็เหมือนเขา ครั้นแล้ว คนก็จะมีความเมตตา ซึ่งกันและกัน สังคมก็จะมีสันติสุข ฉันคิดว่า มันต้องเป็นอย่างนี้ นะ
อาเจนจบ
ผมเชื่อว่าคุณ ขณะนี้ผมไม่ทราบว่า คุณมีความคิดอย่างไร เกี่ยวกับการปฏิบัติธรรมที่นี่ แต่ผมอยากจะ ให้คุณเชื่อว่า อย่างที่คุณกำลังทำ วิทยานิพนธ์นี้ สิ่งที่คุณศึกษาที่นี่ ผมอยากให้คุณศึกษา อย่างจริงจัง จนเข้าใจ จนกระทั่ง คุณเห็นคุณค่า และเอาไปใช้กับชีวิตของคุณ และเป็นตัวอย่างที่ดี (ให้แก่คนอื่น)
อาสัมพันธ์
สิ่งสำคัญที่ผมอยากพูดก็คือว่า คนทุกคน มีอิสระที่จะตัดสินใจ ว่าจะดำเนินชีวิตอย่างไร จูลี่ ถ้าคุณคิดจะช่วยสังคม ช่วยประเทศชาติ ช่วยมนุษย์ ช่วยพลโลก ผมอยากให้คุณตัดสินใจ ทำสักอย่าง คือ คุณสามารถช่วยคนอื่นได้
มั๊วะ
ผมอยากให้คุณเชื่อว่า อเมริกาจะต้องเผชิญกับ วิบากกรรม เช่นว่า วันหนึ่ง อเมริกาต้องเผชิญกับ สภาพที่การค้าขาย ตกต่ำถึงที่สุด ลำบาก หมดทางช่วยเหลือ ผมอยากให้คุณ รีบออกจากอเมริกาเสียเร็วๆ (มั๊วะหัวเราะ จุดประกายคำพูด อย่างเอาจริงเอาจัง)
อาไพรศีล
ฉันอยากจะพูดเรื่อง การป้องกันรักษา ทรัพยากรของโลกนะคะ เดี๋ยวนี้ ทรัพยากรในโลกของเรา ลดลงเรื่อยๆ ยกตัวอย่าง ป่าไม้ เราใช้มันมากเกินไป และทำให้เกิดสารพิษ ที่เป็นอันตรายแก่สุขภาพ ของสัตว์ และคนเพิ่มขึ้นนะคะ ถ้าเราลดการใช้พลังงาน ใช้ทรัพยากรน้อยลง ปรับปรุงและหาทาง ที่จะทำให้มีชีวิต อยู่กับธรรมชาติ และเราไม่จำเป็นต้องใช้ เทคโนโลยีมาก มากกว่าที่จำเป็น มันจะทำให้โลกของเรา ไม่ต้องกังวล สารพิษก็จะลดลง การแข่งขัน การแก่งแย่งทรัพยากร ก็จะมีน้อย เราไม่ต้องปล้นกัน เพื่อแย่งอาหาร และวัตถุดิบ เราจะมีสันติภาพ และความสุข
อาอ้อย
ฉันเชื่อในตัวคุณ และวิทยานิพนธ์ของคุณ ฉันอยากให้สังคม แต่ละแห่งในโลกนี้ คิดนึกตรึกตรองให้ดี ในเรื่องมนุษยชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้ที่ศึกษาสูงๆ ฉันอยากให้เขามองดู คนที่ด้อยการศึกษาบ้าง คนที่ไม่มีโอกาส ฉันอยากให้สังคม และผู้มีการศึกษา คิดถึงเขาให้มาก เพื่อที่เราจะอยู่ร่วมกัน ด้วยความสุข นั่นทั้งหมดละ
อาชวน
ผมคิดว่า ความคิดพื้นฐานของคนอเมริกัน และของเราในตะวันออกนี้ ต่างกัน เรามีพื้นฐานแตกต่างกัน ผมคิดว่า ถ้าทางตะวันตก พิจารณา ความเป็นพี่น้องของโลก นั่นคือ เห็นทุกคนในโลก ทั้งโลก ไม่ใช่เพียงประเทศนี้ ประเทศเดียว ว่าเป็นพี่น้องกัน และแล้ว อย่าพยายามที่จะ เช่น เอาผลประโยชน์ ของประเทศอื่น มาเป็นของตน มันจะช่วยให้โลกใบนี้ น่าอยู่ขึ้นอีกแยะ แค่นี้พอแล้วนะ
อาเปิ้ม
ฉันอยากให้คุณรู้ว่า ฉันรู้สึกอย่างไร ฉันคิดว่าคนในโลกนี้ เป็นพี่น้องกันนะคะ ไม่ว่าประเทศใด ฉันอยากให้คนในโลก คิดอย่างนี้ ถ้าคนคิดอย่างนี้ เขาจะไม่คิดแบ่งแยก หรือเห็นดี ที่จะขัดแย้งกัน เอาของคนอื่น มาเป็นของตนเอง นะคะ พ่อท่านโพธิรักษ์ สอนอย่างนั้น ท่านสอนเราว่า ถ้าเราดีจริง เราจะไม่คิดว่า ตัวเราเอง เป็นคนสำคัญที่สุด เราจะให้ประเทศนี้ และประเทศนั้น นะ แต่ทุกวันนี้ คนหยาบ คนตะกละ ตะกละมาก เขาอยากได้มาก และล่วงล้ำอธิปไตย ของประเทศอื่น กระทำอย่างนั้น โดยไม่คิดว่า เขาเป็นพี่น้องกัน เขาคิดว่า คนอื่นต่ำกว่า จึงข่มเหง และเอาประโยชน์เช่นนั้น ฉันคิด ฉันอยากจะเปลี่ยน หัวใจของเขา ฉันคิดว่า ถ้าเราสามารถ เปลี่ยนหัวใจของเขาได้ ให้เขาคิดว่า ทุกๆชาติ ทุกๆกลุ่มคน ที่มารวมกัน ต่างก็เป็น พี่น้องกัน เขาจะดูแลกัน ด้วยความเป็นมิตร ฉันเชื่ออย่างนี้นะ ฉันอยากจะมีโอกาสพูดกับคนต่างชาติ ฉันอยากจะพูดว่า ฉันอยากให้ท่าน มองดูคน เช่น สมมติ คนที่มีน้อยกว่า ท่านจะช่วยคนเหล่านี้ได้อย่างไร นะคะ คนที่มีน้อยก็เหมือนกัน เราจะช่วยเขาได้อย่างไร ให้ที่อยู่ ให้ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ระหว่างชาติ ฉันอยากจะเห็นอย่างนี้ ฉันอยากให้ทุกคน เป็นพี่น้องกันจริงๆ
อาจันทิมา
ฉันเชื่อว่า คุณจะนำข้อความนี้ ไปบอกคนอเมริกัน ให้มองทุกประเทศ ทุกระดับ ว่าเราเป็นคนเหมือนกัน คนซึ่งกำลังต่อสู้ อยู่กับความแตกต่าง เช่นเดียวกัน คนซึ่งจะมาเป็นเพื่อนแก่ เจ็บและตาย เหมือนกัน ดังนั้น เราจึงต้องพึ่งพาอาศัยกัน แล้วทุกคน จะพบความสุข ในชีวิตนี้ ฉันเข้าใจว่า การหาความสุข ทำได้ยากมาก เพราะคนไม่รู้ว่า ความสุขอยู่ที่ไหน ความสุขอยู่ที่ มีทุกข์น้อย นั่นแหละ คุณเห็นด้วยไหม (หัวเราะ) ถ้ามีทุกข์น้อย ก็อาจมีความสุข แต่ในสภาพที่มีความทุกข์น้อย เรารู้ความจริง เราตามความจริงให้ทัน ความทุกข์ไม่มากมาย จนเกินไป...
ท่านดินธรรม
ถ้าทุกคนมีชีวิตอยู่เหนือโลกเช่นนี้ เชื่อแน่ว่า ถ้าเราคิดจะพัฒนาตัวเรา เราจะต้องรู้ปัญหา ทั้งของเราเอง และของสังคม การมีชีวิตอยู่ในสังคม และพยายามจะรู้ปัญหา เราต้องถาม: สังคมนี้มีปัญหาอะไร? ครอบครัวมีปัญหาอะไร? ชุมชนเรามีปัญหาอะไร? เมื่อรู้ปัญหา เราก็ช่วยกันแก้ปัญหา เมื่อเราต้องการที่จะช่วยกันแก้ปัญหา ปัญญาก็เกิดขึ้น เป็นการพัฒนาตัวเราเองด้วย สังคมก็จะตั้งอยู่ในความสงบเย็น มันเป็นเช่นนั้นเอง...
- จบ -
สัมมาพัฒนา : สันติอโศก ขบวนการพุทธปฏิรูปแห่งประเทศไทย
จูลิอานา เอสเซน เขียน
ถนอม บุญ แปลและเรียบเรียง