|
ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ตลอด 3 ปีที่ผ่านมา เคยมีการเสนอข้อแลกเปลี่ยน แลกกับอิสรภาพของตน 3 ครั้ง แต่รับไม่ได้ เนื่องจาก เป็นกรณีที่ ทำให้ประเทศเสียผลประโยชน์ การดำเนินการของฝ่ายกัมพูชา ยังทำให้ผมรู้สึกเสียใจ ไม่มากเท่ากับฝ่ายเรา” นายวีระ สมความคิด บอกเล่าเพียงสั้นๆ ถึงความเจ็บปวด ที่ถูกกระทำจากคนไทยบางคน ที่มีอำนาจวาสนา เป็นคณะผู้บริหารประเทศ
แต่ด้วยสปิริตอันสูงส่ง เขายินดีให้อภัย “ผมให้อภัยคนที่ให้ร้ายผม ผมจะปล่อยไป เรายังมีหน้าที่อีกเยอะ” .... “ ให้อภัย อโหสิกรรม ต่อคนที่ทำตนเอง ไม่โกรธ...” นายวีระตอบคำถาม ย้ำผ่านสื่อมวลชน เพื่อส่งสาส์นไปยังนักการเมือง จากพรรคเก่าแก่ ที่ยืนอยู่ข้าง กัมพูชา ซึ่งกล่าวหาเขาว่า รุกล้ำเขตแดนกัมพูชา และจารกรรมข้อมูล จนทำให้ถูกศาลกัมพูชา สั่งจำคุกเป็นเวลา 8 ปี ก่อนที่จะได้รับ พระราชทานอภัยโทษ เมื่อวันที่ 1 ก.ค. 25557 ที่ผ่านมา และกลับคืนสู่มาตุภูมิ ในวันรุ่งขึ้น
“รู้สึกดีใจ ที่ได้เดินทางกลับประเทศไทย ก่อนอื่น คงต้องขอขอบคุณ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. รวมทั้ง เจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ที่ช่วยเหลือ ตนก็คาดไม่ถึงเหมือนกันว่า ทางการกัมพูชาจะเปลี่ยนใจพิจารณา ปล่อยตัวตน” นายวีระ แสดงความซาบซึ้ง
งานนี้ต้องขอบคุณ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. ในฐานะหัวหน้าคณะ รักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่สามารถทำให้ สมเด็จฯ ฮุน เซน นายกรัฐมนตรีของกัมพูชา ยอมขอพระราชทานอภัยโทษ ให้กับนายวีระ โดยนายสีหศักดิ์ พวงเกตุแก้ว ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ คือผู้ที่ถูกส่งไปเจรจากับสมเด็จฯ ฮุน เซน อย่างเป็นทางการ พร้อมหารือ ตามแนวทางของ พล.อ.ประยุทธ์ ที่ขอให้กัมพูชา พิจารณาปล่อยตัวนายวีระ โดยคำนึงถึงข้อเท็จจริง และด้านมนุษยธรรม รวมทั้งความสัมพันธ์ของ ทั้งสองประเทศ ซึ่งฝ่ายไทย ไม่ประสงค์จะแทรกแซง กระบวนการยุติธรรมของกัมพูชา หลังจากสมเด็จฯ ฮุนเซน ได้รับฟังเสร็จแล้ว ก็เซ็นลงนาม ขอพระราชทานอภัยโทษ ให้กับนายวีระ ทันที
“....ถือเป็นการประสานความร่วมมือกัน ของกระทรวงการต่างประเทศ และฝ่ายความมั่นคงของ คสช. และถือเป็นโอกาสที่ดี ที่สมเด็จฯ ฮุนเซน นายกฯ กัมพูชา ได้ให้โอกาสนายวีระ กลับมาทันที .... นายวีระกลับมา ถือเป็นเรื่องที่ดี และมีหลายเรื่อง ที่ประสานกันอยู่ เรื่องแรงงานที่ดูแลร่วมกัน ปลัดกระทรวงแรงงาน ก็ไปชี้แจงเกี่ยวกับ การดูแลแรงงานกัมพูชา ในประเทศไทย ด้วยตัวเอง ในส่วนของกัมพูชาเอง ก็พยายามปรับมาตรการต่างๆ เพื่อผ่อนคลายเงื่อนไขต่างๆ ทุกอย่าง ก็เป็นไปด้วยดี” พ.อ.หญิง ศิริจันทร์ งาทอง รองโฆษกกองทัพบก ถ่ายทอดคำพูดของ พล.อ.ประยุทธ์ ต่อกรณีกัมพูชา ปล่อยตัวนายวีระ ที่สำเร็จได้เพราะ การถ้อยทีถ้อยอาศัย ซึ่งกันและกัน
นายวีระ เดินทางกลับบ้าน ด้วยใบหน้าอิ่มเอิบ นิ่ง สงบ พร้อมกับการให้อภัย ให้อโหสิกรรม แก่คนที่ทำให้เขาต้อง ประสบชะตากรรม ทนทุกข์อยู่ในคุกเขมร เป็นเวลายาวนาน ถึง 3 ปีครึ่ง และเข้ามอบตัวสู้คดีที่ติดค้างอยู่ หลังลงเครื่องบิน ที่สนามบินสุวรรณภูมิ โดยขอความเมตตา ขอประกันตัว ให้เขากลับไปนอนบ้าน หลังต้องจากบ้านเกิดเมืองนอน โดยถูกจับกุม และศาลชั้นต้นกัมพูชา ตัดสินเมื่อวันที่ 1 ก.พ. 2554 จำคุกเขา ด้วยข้อหาเข้าเมืองผิดกฎหมาย เข้าพื้นที่ทหาร โดยไม่ได้รับอนุญาต และประมวลข้อมูล อันเป็นภัยต่อการป้องกันประเทศ หรือจารกรรมข้อมูล เป็นเวลา 8 ปี ปรับ 1,800,000 เรียล
มีการวิเคราะห์กันไปต่างๆ นานา ว่าเหตุใด สมเด็จฯ ฮุนเซน จึงยอมปล่อยตัวนายวีระ แต่ที่พูดชัดๆ ตรงๆ ก็คือ นายประสาร มฤคพิทักษ์ อดีต ส.ว.สรรหา กลุ่ม 40 ส.ว. ที่มองว่า สมเด็จฯ ฮุนเซน รู้ดีว่า ประเทศไทยเวลานี้ อำนาจรวมศูนย์ อยู่ที่คสช. ส่วน พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นอาทิตย์อับแสง ไม่มีน้ำยาอะไรแล้ว การปล่อยตัวนายวีระ เป็นการแสดงออกถึง การญาติดีกับผู้นำใหม่ เพื่อปรับระดับความสัมพันธ์ ระหว่างไทย-กัมพูชา ให้ดีขึ้น
“ที่สำคัญมาจาก การเล่นบทไม้แข็งของ คสช. ทั้งเรื่องการกวาดล้างอาวุธ การฝึกอาวุธ การให้ที่พักพิงแก่ผู้ต้องหา ที่เป็นแกนนำ เพื่อไทยและเสื้อแดง โดยพบว่า มีความเกี่ยวโยงกับกัมพูชา รวมถึงมาตรการเข้มข้น ด้านแรงงานกัมพูชาในไทย ทำให้สมเด็จฯ ฮุน เซน จำต้องผ่อนปรน” อดีตแกนนำกลุ่ม 40 ส.ว. ระบุ
อย่างไรก็ตาม นอกจากความเห็นของนายประสารแล้ว ถ้าหากนำเหตุการณ์ย้อนหลังมาวิเคราะห์ ก็จะพบความผิดปกติไม่น้อย สำหรับท่าที ที่เปลี่ยนไปของ 2 เพื่อนซี้ “ชั่ว” นิรันดร์คู่นี้ เนื่องจากจะเห็นได้ว่า ในรอบหลายปีที่ผ่านมา นักโทษชายหนีคดี ไม่ได้เข้าไปเหยียบแผ่นดินกัมพูชา ให้เห็น และเลือก “สิงคโปร์” เป็นสถานที่บัญชาการ ของระบอบทักษิณ ซึ่งสอดคล้องกับ ที่มีข้อมูล ที่เคยปรากฏก่อนหน้านี้ว่า เหตุที่ความสัมพันธ์เปลี่ยนไป ก็เพราะผลประโยชน์ที่ขัดกัน
แต่ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม นี่ถือเป็นข่าวดีที่สุด แห่งสัปดาห์ก็ว่าได้
จากนี้ไป ก็รอดูว่า บุคคลที่ “ให้ร้าย” และ “กระทำ”ต่อเขา จะแสดงสปิริต ยินดีต้อนรับกลับบ้าน และกล้าขอโทษนายวีระสัก คำไหม เพราะคนไทยหัวใจรักชาติ ยังจำได้ดีว่า นายวีระต้องติดคุกกัมพูชา เพราะใคร และติดคุกในช่วงรัฐบาลของใคร แล้วด้วยเหตุอันใด ที่ผ่านมา ถึงไม่มีใครช่วยเขาออกมาเสียที
สำหรับพี่ใหญ่ แห่งบูรพาพยัคฆ์ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ขณะนั้น และพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. การได้กลับบ้านของนายวีระคราวนี้ ถือเป็นการไถ่บาปแล้ว
แน่นอน กล่าวเฉพาะ พล.อ.ประยุทธ์ ย่อมมีคำอธิบายที่ดีกว่าใครอื่น เพราะถ้ารัฐบาลไม่มีความชัดเจน ในการให้ความช่วยเหลือ ทหารจะไม่สามารถ ทำอะไรได้มาก
แต่สำหรับพลพรรคประชาธิปัตย์ ไล่เรียงมาตั้งแต่ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี, นายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรอง นายกรัฐมนตรี, นายศิริโชค โสภา, นายกษิต ภิรมย์ อดีตรมว.กระทรวงการต่างประเทศ จะว่าอย่างไร ส่วนนายพนิช วิกิตเศรษฐ์ นั้น เขาเดินทางไปรับนายวีระ ถึงสนามบินสุวรรณภูมิ เพื่อแสดงออกว่ายินดีอย่างยิ่ง แม้จะทิ้งกัน กลับมาก่อนก็ตาม
ถึงนายวีระจะไม่ฟูมฟายให้เสียบรรยากาศ การปรองดองของ คสช. และขอไม่เล่ารายละเอียด อะไรมากไปกว่านี้ แต่บุคคลข้างต้น ก็ควรรู้ว่า การยืนข้างกัมพูชา ผลักนายวีระเข้าคุกเขมรนั้น เป็นตราบาป ที่คนไทยไม่น่าทำกันลงคอ คลิปที่นายอภิสิทธิ์, พล.อ.ประวิตร และนายกษิต แถลงยืนยันว่า ทั้งนายวีระ นายพนิชและคณะ ล้ำเขตแดนกัมพูชา เป็นความเจ็บปวด ที่ฝังลึกอยู่ในใจของ ผู้ต้องโทษติดคุกเขมร ที่ไม่มีวันลืมได้ง่ายๆ
ดังที่นางสาวราตรี พิพัฒนาไพบูรณ์ ตัดพ้อต่อว่า หลังจากได้รับพระราชทานอภัยโทษ ปล่อยตัวกลับเมืองไทย เมื่อเดือนก.พ. 2556 ที่ว่า "รัฐบาลที่ผ่านมา (รัฐบาลอภิสิทธิ์) ไม่ช่วย และปล่อยให้สู้โดยลำพัง ทั้งยังรับรองให้ทางการกัมพูชา ในการบอกว่า คนไทยหาเรื่อง เข้าไปในพื้นที่เอง"
“ไม่ได้โกรธ เพราะว่าเขาไม่ช่วยเรา แต่โกรธว่า ทำไมเขาไม่ช่วยดูแลประเทศชาติ ทำกับจะเอาประเทศชาติของเรา ไปใส่จานใส่พาน ถวายให้เขาเลยเหรอ ผลประโยชน์ของประเทศชาติ คือ จากที่เรา 2 คน ถูกกระทำมาเนี่ย จริงอยู่มันก็คือ การเสียสิทธิ์ เสียอิสรภาพของเรา มองในแง่ของคน 2 คนเนี่ย มันก็คือการเสียอิสรภาพแค่นี้ แต่จริงๆ มันไม่ใช่แค่นั้น มันมากกว่านั้น ก็คือ ผลประโยชน์ของประเทศชาติ ซึ่งรัฐบาลไม่ยอมรักษาไว้มากกว่า ที่อยากจะให้มอง เพราะมันเกี่ยวเนื่องกัน คุณไม่เข้ามาดูแล ทั้งๆที่คุณเป็นรัฐบาล เป็นเจ้าหน้าที่ผู้มีหน้าที่ แต่คุณละเว้นที่จะไม่ดูแลสิ่งนี้ เป็นสิ่งที่น่าโกรธ มากกว่าค่ะ”
นั่นคือ เสียงตำหนิของ “นางสาวราตรี พิพัฒนาไพบูรณ์” ต่อรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ภายหลังได้รับพระราชทานอภัยโทษ และเดินทางกลับมาถึงไทย ในวันที่ 1 ก.พ. 2556
ขณะที่นายตายแน่ มุ่งมาจน กล่าวว่า ครั้งเมื่อตนเองถูกคุมขัง นาย ศิริโชค โสภา ส.ส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ ได้หยิบแผนที่ หลักเขตที่ 46-47 ซึ่งมีความคลาดเคลื่อน กับแผนที่ ที่คณะของตนเองศึกษา โดยแผนที่ของนายศิริโชค ระบุว่า ตนเองและคณะ ได้รุกล้ำเขตกัมพูชา แต่สำหรับแผนที่ของตนนั้น ถือว่ายังไม่รุกล้ำ โดยได้ยึดเกณฑ์ จากการตั้งศูนย์อพยพ ของยูเอ็นเอชซีอาร์ ที่บ้านหนองจาน ซึ่งมีหลักว่า การขุดสระน้ำ ต้องตั้งอยู่ในประเทศ ที่ไม่มีสงคราม หรือประเทศที่มีความสันติภาพ นั่นหมายความว่า สระน้ำ ต้องตั้งอยู่ ในพื้นที่ของประเทศไทย แต่ในแผนที่ของนายศิริโชค ระบุว่า สระน้ำดังกล่าว อยู่ในเขตพื้นที่ ของประเทศกัมพูชา
เช่นเดียวกันกับ นายแซมดิน ที่ตอบคำถาม โกรธรัฐบาลอภิสิทธิ์หรือไม่ ที่ยืนยันว่า คนไทยล้ำแดนเขมร ว่า “ตนแปลกใจ และงง ว่าทำไมไปบอกว่า เป็นของกัมพูชา ไม่ได้โกรธรุนแรง แต่การพูดแบบนั้น ไม่เพียงแค่ทำให้เรารับโทษ แต่ทำให้ไทยเสียอธิปไตย เพราะเป็นเจ้าหน้าที่ ไปยอมรับอย่างนั้น ทั้งที่พี่น้องคนไทยที่อยู่ตรงนั้น ก็มีเอกสารสิทธิ ชัดเจน สืบจากยูเอ็น ทหารที่ทำงาน อยู่ที่นั่น พี่น้องที่อยู่ตรงนั้น มันก็ชัดเจน ไม่ใช่เรื่องลึกลับสืบยาก แต่ในฐานะนายกฯ (นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ) ไปออกทีวี มันชัดเจนว่าไปยอมรับ รองนายกฯ (นายสุเทพ เทือกสุบรรณ) ก็บอกว่า ให้เป็นไปตามกัมพูชา พล.อ.ประวิตร (วงษ์สุวรรณ) ก็มาซ้ำอีก การทำแบบนั้น มันเป็นสิ่งที่ทำให้ ประเทศเสียหายรุนแรง”
เสียงตำหนิ ตัดพ้อต่อว่าของ นางสาวราตรี นายตายแน่ และนายแซมดิน ทำให้สังคมไทยได้รู้ว่า รัฐบาลอภิสิทธิ์ นอกจากจะไม่พิทักษ์ และปกป้องอธิปไตย เหนือดินแดน แห่งราชอาณาจักรไทยแล้ว ยังมีวาระซ่อนเร้น ทางการเมือง แอบแฝงอยู่ด้วย
เป็นที่รู้กันดีว่า นายวีระถูกจับกุม เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2553 พร้อมนายพนิช วิกิตเศรษฐ์ ส.ส. กรุงเทพมหานคร พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะคณะกรรมาธิการ เขตแดนร่วม พิจารณา บันทึกการประชุม คณะกรรมาธิการเขตแดนร่วม ไทย-กัมพูชา (เจบีซี) ในขณะนั้น, ร.ต.แซมดิน เลิศบุศย์ ผู้ประสานงานกองทัพธรรม, นางนฤมล จิตรวะรัตนา สมาชิกเครือข่าย คปต., นายกิจพลธรณ์ ชุสนะเสวี เลขาฯ ส่วนตัวนายพนิช นายตายแน่ มุ่งมาจน และ น.ส.ราตรี พิพัฒนาไพบูรณ์ ผู้สื่อข่าว สถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม เอฟเอ็มทีวี ที่ต้องการเข้าไปพิสูจน์ การรุกล้ำอธิปไตยไทย บริเวณรั้วลวดหนาม พื้นที่พิพาท บ้านหนองจาน ต.บ้านโนนหมากมุ่น อ.โคกสูง จ.สระแก้ว เป็นคณะที่นายพนิช นำพาเข้าไป ตามคำสั่งของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ในขณะนั้น
หลักฐานก็คือ คำให้สัมภาษณ์ของนายอภิสิทธิ์ เมื่อวันที่ 30 ธ.ค. 2553 หลังจากคณะข้างต้น ถูกจับกุม ความว่า “คนไทยที่ถูกเขมร จับกุมทั้ง 7 คน เข้าไปดูพื้นที่ ตามที่มีชาวบ้านมาร้องเรียน เรื่องที่ทำกิน รวมทั้งหลักเขตแดน ซึ่งผมได้มอบหมายให้ นายพนิช ไปประสานงานกับ บุคคลที่มีความคิดเห็น เรื่องปัญหาชายแดนไทย-กัมพูชา เพื่อทราบปัญหาข้อร้องเรียนต่างๆ และก่อนเดินทาง นายพนิชบอกว่า จะไปลงพื้นที่”
ขณะที่คณะคนไทย 7 คนที่ถูกจับกุม มีข้อมูลยืนยันว่า บริเวณที่ถูกจับกุมคือ บ้านหนองจาน ต.โนนหมากมุ่น อ.โคกสูง จ.สระแก้ว ซึ่งเป็นพื้นที่ชายแดน ที่อยู่ระหว่างหลักเขตแดน ระหว่างไทยกับกัมพูชาที่ 46, 47 และ 48 นั้น เป็นดินแดนของไทย แต่นายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการ กระทรวงการต่างประทศ ที่เดินทางเจรจากับนายฮอร์ นัมฮง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการ กระทรวง การต่างประเทศ ของกัมพูชา ที่กรุงพนมเปญ กลับกล่าวอย่างชัดถ้อยชัดคำว่า “มีข้อมูลยืนยัน ระหว่างฝ่ายไทยและกัมพูชา โดยเฉพาะ พิกัดของทั้ง 7 คน ฝ่ายไทยทราบข้อมูลจากฝ่ายความมั่นคง ที่มีเจ้าหน้าที่กรมสนธิสัญญา และกรมแผนที่ทหาร เข้าไปสำรวจใกล้กับจุดเกิดเหตุ พบว่า มีการรุกล้ำเข้าไปในเขตกัมพูชา ประมาณ 1 กิโลเมตรเศษ โดยรุกล้ำเข้าไปในหมู่บ้าน”
เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า คนไทยทั้ง 7 คน ยอมรับแล้วหรือไม่ ว่าล้ำเข้าเขตกัมพูชา นายกษิต ก็ตอบว่า “ยอมรับแล้ว ได้นำแผนที่ แสดงพิกัด พร้อมนำภาพวิดีโอคลิป มาให้ดูด้วย” ทั้งที่ นายวีระ, นางสาวราตรี และนายตายแน่ ไม่เคยยอมรับ สิ่งที่นายกษิต พูดเอง เออเอง
มิหนำซ้ำ ยังมีรายงานในคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า นายกษิตไม่พอใจ ในเหตุที่เกิดขึ้นเป็นอย่างมาก ถึงขนาดกล่าวออกมาว่า “การกระทำของคณะคนไทย ถือเป็นการกระทำที่อ่อนหัด ไม่รู้กระบวนการของความสัมพันธ์ ระหว่างประเทศ” ขณะที่นายอภิสิทธิ์ ไม่มีมาตรการใดๆ ออกมาช่วยเหลือ ให้คนไทยทั้ง 7 คน รอดพ้นจากคุกเขมร
เป็นความไร้เดียงสา หรือเจตนาแอบแฝง? น่าเสียดาย และน่าเสียใจที่สุด ที่นักการเมือง และข้าราชการของรัฐบาลอภิสิทธ์ พยายาม แก้ไขปัญหานี้ ด้วยการพยายาม ทำให้แผ่นดินไทยบริเวณนั้น ให้เป็นของกัมพูชา และแก้ไขปัญหา ด้วยการเกลี้ยกล่อม ให้คนไทยทั้ง 7 คน สารภาพผิด ว่ารุกล้ำเข้าไปในกัมพูชาอีกด้วย
นอกจากนั้น ยังตอกย้ำ ความเจ็บปวดหัวใจ ของคนไทยที่ถูกจับกุม ด้วยคำกล่าว อย่างหมดท่าและสิ้นหวัง ของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายความมั่นคง ในขณะนั้นว่า ต้องรอให้กระบวนการทุกอย่างเสร็จสิ้น เวลานี้ทางรัฐบาล คงทำอะไรมากไม่ได้ เพราะเป็นอำนาจอธิปไตย ในกระบวนการทางศาลของกัมพูชา ส่วนที่ทางกัมพูชา ปฏิเสธในเรื่อง การขอพระราชทานอภัยโทษนั้น ก็ไม่ทราบ ได้แต่ติดตามข่าว กับครอบครัวของ นายวีระ ก็ต้องรอให้ทุกอย่างยุติก่อน จึงจะสามารถ ทำความเข้าใจได้ ส่วนจะต้องรอจนกว่า นายวีระและน.ส.ราตรี รับโทษก่อนหรือไม่ ต้องรอทาง กระทรวงการต่างประเทศ สรุปมาให้ทราบก่อน เวลานี้ทุกคนที่สามารถพูดคุย ช่วยเหลือได้ ก็พยายามช่วยเหลืออยู่
เมื่อพรรคประชาธิปัตย์ ลอยแพ ครอบครัวของนายวีระ และนางสาวราตรี บากหน้า มาหารัฐบาล นางสาวยิ่งลักษณ์ เพื่อว่า จะขออาศัยใบบุญ ที่พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ผู้มีความสนิทสนม อันดีกับสมเด็จฯ ฮุน เซน
เวลานั้น รัฐบาลพรรคเพื่อไทย ที่มีความสัมพันธ์ที่ดีกับกัมพูชา เป็นความหวังช่องทางเดียว ที่จะทำให้นายวีระ และนางสาวราตรี ได้รับการปล่อยตัวออกมา แต่บังเอิญโชคร้ายที่ นายวีระ สมความคิด เป็นผู้ดำเนินคดีกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และคุณหญิง พจมาน ชินวัตร จนทำให้ศาลฎีกา แผนกคดีอาญา ของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตัดสินให้จำคุก พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร 2 ปี โดยไม่รอลงอาญา ก็อาจจะสร้างความแค้น ให้กับทักษิณอยู่ไม่น้อย และอาจไม่อยากให้ นายวีระกลับประเทศไทย มาทำหน้าที่ ตรวจสอบคอร์รัปชั่น นักการเมืองอีก ก็เป็นได้
ตลอดรัฐบาลพรรคเพื่อไทย การช่วยเหลือนายวีระ สมความคิด ออกมาจากคุก จึงไม่สำเร็จ มีเพียงการประสาน เพื่อขอให้ปล่อยตัว นางสาวราตรี ส่วนนายวีระ ได้เพียงลดหย่อนโทษ ลง 6 เดือน
ทว่า ทันทีที่มีข่าว การปล่อยตัวนางสาวราตรี และลดโทษนายวีระออกมา ก็ปรากฏข่าวจาก นายทรงภพ พลจันทร์ อธิบดี กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กระทรวงพลังงาน ออกมาเปิดเผยว่า ทางกระทรวงการต่างประเทศ จะเร่งเจรจาพื้นที่ทับซ้อน ทางทะเลไทย-กัมพูชา เพื่อหาข้อสรุป ในการพัฒนาแหล่งปิโตรเลียม โดยเฉพาะการนำก๊าซธรรมชาติ ในพื้นที่มาใช้ ให้เกิดประโยชน์ ของทั้ง 2 ประเทศ เพราะจะช่วยสร้างความมั่นคง ด้านพลังงานของไทย และรองรับปริมาณ ความต้องการใช้ก๊าซฯ ปรับตัวสูงขึ้น ทุกๆ ปี ทำให้สังคมตั้งข้อสงสัยว่า รัฐบาลพรรคเพื่อไทย ก็ซ่อนเงื่อน แลกเปลี่ยนผลประโยชน์ กับกัมพูชาโดยใช้นายวีระ กับนางสาวราตรี เป็นตัวประกัน เช่นกัน ใช่หรือไม่
ด้วยเหตุผลทั้งหลายทั้งปวงข้างต้น ไล่เรื่อยจากรัฐบาลประชาธิปัตย์ ถึงรัฐบาลพรรคเพื่อไทย คงเป็นเหตุให้นายวีระ เอ่ยประโยคที่ว่า “….. ตลอด 3 ปีที่ผ่านมา เคยมีการเสนอข้อแลกเปลี่ยน แลกกับอิสรภาพของตน 3 ครั้ง แต่รับไม่ได้ เนื่องจาก เป็นกรณีที่ ทำให้ประเทศเสียผลประโยชน์ การดำเนินการของฝ่ายกัมพูชา ยังทำให้ตนรู้สึกเสียใจ ไม่มากเท่ากับฝ่ายเรา”
มรสุมชีวิตนายวีระ พัดผ่านไปแล้ว เขากลับมาอีกครั้ง และยังยืนหยัด จะทำหน้าที่ ดูแลผลประโยชน์ของประเทศ เหมือนเดิม อย่างที่เคยทำ โดยเฉพาะการตรวจสอบคอร์รัปชั่น และจะทำงานตรงนี้ต่อไป จนกว่าบ้านเมืองจะดีขึ้น พลพรรคประชาธิปัตย์ และพรรคเพื่อไทย บางคนบางกลุ่ม ที่ทำกับนายวีระได้ลงคอ ฟังแล้ว จะรู้สึกสำนึกได้บ้างไหม?
วันนี้ นายวีระไม่ได้ติดค้างใคร มีแต่คนไทย ที่ติดค้างน้ำใจของเขา