วิถีชาวอโศก ()
๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐
' สมณะโพธิรักษ์

ได้แจกแจงให้เห็นว่าแนวคิดแบบ"ทุนนิยม"นั้น มันทำให้คน"หมดประโยชน์สิ้นคุณค่าต่อผู้อื่น"อย่างสิ้นเชิง ไปแล้ว ในฉบับวันศุกร์ที่แล้ว

แต่ก็ยังมีความละเอียดลึกล้ำที่ซับซ้อนอีกมากมาย ในเชิงชั้นของระบบทุนนิยม ซึ่งต่างพากันคิดค้น หากลวิธี เพื่อให้ "ได้เปรียบๆๆ" เต็มความสุดฉลาด แล้วก็"เอาเปรียบๆๆๆๆๆ" อย่างไม่เห็นว่าผิด ไร้รู้สึกว่าไม่ดี จึงเพิ่มดีกรีแห่งการ"ได้เปรียบ" ไม่ลดราวาศอก เพราะถือว่านี้คือ "กำไร" อันเป็นเป้าหมายหลัก ที่แสนประเสริฐ ของชาวทุนนิยม เพราะฉะนั้น ความเป็น"กำไร" ยิ่งมากเท่าใดๆๆๆ ก็ยิ่งเป็น"การเอาเปรียบ"มากยิ่งๆเท่านั้นๆๆๆ

ชาวทุนนิยมก็ยิ่งดีอกดีใจยิ่งภาคภูมิปลาบปลื้มใจ ใน"กำไร"ที่มากๆๆๆๆนั้น ก็เลยยิ่ง"อวิชชา" หนักขึ้นๆๆ

ดังนั้น ผู้ยิ่งฉลาดอัจฉริยะที่ยิ่งทำกำไรได้มาก ก็ยิ่ง"อวิชชา"หนักหน้าหนาจัดยิ่งๆขึ้น เพราะ"หลงผิด" (โมหะ) ไปดีใจ เมื่อได้เปรียบ (กำไรคือการขูดรีดผู้อื่น) หลงปลาบปลื้มลิงโลดใจ เมื่อได้เปรียบมากๆๆ จึงยิ่งพอกพูน ความเป็นหนี้ เป็นบาปเวร ให้แก่ตนมากขึ้นๆ นั่นคือ ยิ่งฝัง"มิจฉาทิฏฐิ" ให้แก่ชาวทุนนิยม แน่นหนักเข้าไป ในจิตวิญญาณของตน เพราะไปหลงเข้าใจว่า มาตรฐานหลัก แห่งการปฏิบัติ ในลักษณะนี้ เป็นความยุติธรรม เป็นความสุจริต ชาวทุนนิยม หลงผิดเข้าใจผิด ตามที่ว่านี้จริงๆ จึงสะสมกิเลส สะสมบาป ให้แก่ตน หนาหนักยิ่งๆขึ้น อย่างพาซื่อ

ความจริงยิ่งกว่านี้ ในคนที่มีกิเลสเห็นแก่ตัวเห็นแก่ได้นั้น คนก็จะมักได้ จึงชอบที่จะ"ตีค่า" กำหนดราคา เพื่อตนเอง สูงเกินไว้เสมอ เพราะยิ่งได้มาก ก็ยิ่งเป็นสุขสมใจกิเลส เป็นธรรมดา ในสังคมสามัญ ผู้มีสมรรถนะสูง จะสามารถใช้สมรรถนะ เป็นอำนาจต่อรอง เอาราคาค่าตัว ให้สูงขึ้นได้ กิเลสในตัวคน ผู้มีสมรรถนะ ดังว่านี้ ก็จะใช้ความมีสมรรถนะของตน เป็นอำนาจต่อรอง เรียกร้องราคาสูง "เอา"ให้"ได้"มากที่สุด เท่าที่จะได้ ซึ่งจะเกินเลย ความเป็นจริง ขึ้นไปเรื่อยๆ ตามความไม่รู้จักพอ ของกิเลส และ ผู้ที่มีสมรรถนะ รองๆลงไป ก็มีอำนาจขั้นรองลงไป เป็นลำดับๆ ก็ใช้อำนาจ ให้ได้เปรียบ นัยเดียวกันนี้ แต่ลดหลั่นกันไป ก็มีอีก จึงเกิดเครือข่าย นายทุนใหญ่ นายทุนกลาง นายทุนน้อย ที่ถักทออำนาจ ทุนนิยมร่วมกัน สานผนึก อย่างเหนียวแน่น และหนาถี่ ของอัตราการเอาเปรียบ เป็นค่ายกลแห่งทุนนิยมที่ร้ายแรง มุ่งวิ่งไปหา ความ"ได้เปรียบ" สูงที่สุด เท่าที่มันจะมีฤทธิ์ จนไม่มีแรงใด จะต้านได้ ทุนนิยมยิ่งเสรีเท่าใด ก็ยิ่งร้ายหนักหนา สาหัสเท่านั้น

วิธีคิดลักษณะนี้กลายเป็นอำนาจเบ็ดเสร็จในการตั้งราคาอัตราค่าตัวของคน ในสังคมทุนนิยม "ราคา" ของผู้ที่อยู่ในฐานะ "นายทุน" และในฐานะ "ผู้มียศศักดิ์" ซึ่งเป็นผู้ใช้อำนาจ การกำหนดราคากันเอง จึงได้เปรียบสูงเกินค่าจริง ที่สุจริตยุติธรรมไป อย่างเทียบไม่หวาดไหวเลย ในสังคมทุนนิยม เป็นความเหลื่อมล้ำ อันไม่สุจริต ยุติธรรมยิ่งๆขึ้น เช่น ไทเกอร์ วูดส์ ได้ค่าตัว เป็นยอดเงิน ๑๐๐ ล้านดอลลาร์ ในการสวมใส่สินค้า ให้ชาวบ้านดู เพียง ๕ ปี ซึ่งเทียบกับ คนงานไทย ผู้ทำสินค้านั้น ด้วยหยาดเหงื่อแรงงาน ต้องทำงานนานถึง ๗๒,๐๐๐ ปี จึงจะได้เงินเท่า ไทเกอร์ วูดส์ ดังนี้เป็นต้น หรือรายได้ ประธานาธิบดี นายกรัฐมนตรี นายธนาคาร นักธุรกิจใหญ่ๆ เทียบกับคนชั้นล่าง ฯลฯ ก็นัยเดียวกัน เพราะฉะนั้น คนผู้ใดมีโอกาส สามารถกำหนด ราคาค่าตัว หรือค่าสินค้าเองได้ ชนิดมีอำนาจ มีตำแหน่ง มีหน้าที่ ก็ยิ่งกำหนด

"ราคา"แพงลิบลิ่วให้แก่ตน และ พรรคพวกของตน ชนิดที่คนระดับต่ำกว่า ต้องจำนนโดยดุษณี

หากเข้าใจในความเป็นจริงตามที่สาธยายมาแล้วนั้น ก็จะเห็น"ความฉ้อฉล" ด้วยกลวิธีชั้นเชิง ที่เหลื่อมล้ำ ไม่ประเสริฐ เพราะเต็มไปด้วย การเอาเปรียบ ที่กดขี่ผู้ด้อยกว่า อย่างเฉลียวฉลาด สามารถยิ่งได้ชัดเจนขึ้น นั้นคือ ทั้งพ่อค้านักธุรกิจ ทั้งข้าราชการที่เป็นนายทุน เป็นผู้มีอำนาจ นั่นเอง จะเป็นผู้ตั้ง เป็นผู้กำหนดราคา โดยจะใช้อำนาจและวิธี อย่างฉลาดของตนเอง กับพรรคพวกของตน ที่พึงมีอำนาจ ตั้งอัตราค่าตัว ค่าแรงงาน ค่าสินค้า ค่าการแลกเปลี่ยนต่างๆ อย่างไม่รู้สึกรู้สาว่า ยิ่งตั้งค่าตัว หรือค่าสินค้า ค่าการแลกเปลี่ยนต่างๆ ให้แก่ตนเอง แก่พรรคพวกของตน ได้เปรียบสูง เท่าใดๆ มันยิ่งเหลื่อมล้ำ น่าเกลียดเท่านั้นๆ เพราะโดยสัจจะ "การได้เปรียบ" แม้น้อย มันก็น่าละอายแล้ว มันไม่น่าชื่นชม มันไม่เผื่อแผ่ มันโลภเห็นแก่ตัว เห็นแก่ได้ ไม่เกื้อกูล มันน่าขยะแขยงตัวเอง มันน่าทุเรศตัวเอง ที่ไม่มีน้ำใจเห็นแก่ผู้ด้อย จริงที่สุดก็คือ ยิ่งได้เปรียบมากเท่าใดๆ มันก็ยิ่งไม่สุจริต ยิ่งไม่ยุติธรรม เท่านั้นๆ

ดังนั้น ผู้อยู่ในระดับสูงระดับยอด และระดับรองลงไป ยิ่งตีราคาค่าตัว ยิ่งสูงยิ่งยอด ยิ่งเหลื่อมล้ำ ไล่ระดับ ลงมา เกินความเป็นจริง เกินความเหมาะสม อย่างมากล้น พ้นประมาณ ในสังคม ก็ยิ่งเป็น "ความฉ้อฉล" ด้วยกลวิธีชั้นเชิง ของคนฉลาด ในระบบทุนนิยม ที่มีจนเป็นสามัญ และต่างยอมรับกันว่า สุจริต ยุติธรรม มานานแสนนาน

คนฉลาดนั้น น่าจะมีความเข้าใจว่า ผู้เก่งกว่าสูงกว่าสามารถกว่า ควรจะช่วย หรือควรจะให้แก่ผู้ต่ำกว่า ด้อยกว่า เช่น พ่อแม่ที่แข็งแรงกว่า ก็ต้องให้ลูก ได้กินมากกว่า เพราะตนเอง อดได้ทนได้มากกว่า หากินเก่งกว่า ปลาใหญ่ควรช่วยปลาเล็ก นั่นเป็นความถูกต้อง และดีงาม ซึ่งไม่เห็นจะต้องบอก แก่ผู้ฉลาดเลยว่า "การเสียสละ" กับ "การเอาเปรียบ" นั้น มนุษย์ควรปฏิบัติอย่างไหน จึงจะประเสริฐกว่า ดีกว่ากัน

แนวคิด"ทุนนิยม" ยังเห็นว่า ผู้แข็งแรงกว่า และมีสมรรถนะสูงกว่า ยิ่งมากเท่าใด ก็ต้องเอามากกว่าเข้าไว้ ให้มากๆเท่านั้น แล้วถือว่า นี่แหละ สุจริต และ ยุติธรรม หรือน่าจะทำ และก็ทำกันอยู่ทั้งโลก

แนวคิด"บุญนิยม"นั้น ผู้แข็งแรงและมีสมรรถนะสูง เห็นต่างจากทุนนิยม จึงไม่นิยมสะสม แต่นิยมสละออก ดังนั้น ผู้มีภูมิสูง สมรรถนะสูง ฉลาดมาก เก่งมาก ขยันมาก จึงยิ่งไม่มีมาก ไม่เอามาก มีแต่จะให้คนอื่นมากๆ ที่สุดเป็นผู้กล้าเสียสละ ถึงขั้นไม่ต้องมีของตัวของตน เป็นคนจน เป็นคนทำงาน ไม่รับเงินเดือน แล้วคนในสังคม ก็จะรู้ จะเห็น "ความมีประโยชน์แก่ผู้อื่นแก่สังคม" ของผู้มีภูมิสูง สามารถมาก ฉลาดมาก เก่งมาก ขยันมาก ที่รับใช้ผู้ด้อยกว่า ในสังคมอยู่นี้ตามจริง คนในสังคม หรือประชาชน ย่อมศรัทธาเลื่อมใส เคารพบูชา ผู้มีภูมิสูง สามารถมาก ฉลาดมาก เก่งมาก ขยันมากนี้ ด้วยปัญญา คนผู้นี้ จึงชื่อว่า"นาบุญ" ที่ประชาชนไว้ใจ มีอะไรประชาชนก็จะร่วมมือ ร่วมอุปถัมภ์ค้ำจุน ช่วยเหลือเต็มที่เสมอ พฤติกรรมของผู้มีภูมิสูง สามารถมาก ฉลาดมาก เก่งมาก ขยันมากนี้ จึงทำงานอยู่ในสังคม โดยไม่อาศัย"เผด็จการ" และไม่ต้องใช้ อำนาจ"ศักดินา" จะเผด็จการทางการเงิน ก็ไม่มี จะใช้ศักดินาเป็นอำนาจ ก็ไม่ต้อง แต่จะเป็นประชาธิปไตย ที่เกิดเพราะประชาชน เต็มใจร่วมมือ เพื่อประชาชน ในสังคมส่วนใหญ่เอง จึงเป็นของประชาชนโดยแท้



อ่านต่อ วิถีชาวอโศก ตอน ๕