วิถีชาวอโศก (๑๖)
๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐
' สมณะโพธิรักษ์

คราวที่แล้วได้พูดถึง"กำไร" หรือ "ประโยชน์" (อัตถะ) อันเป็นนิยามของ"บุญนิยม" ข้อที่ ๖ ไปแล้ว แต่ก็ยังมีนัย ที่ควรจะได้อธิบาย เพิ่มเติมกันอีกบ้าง

นั่นคือ "ประโยชน์แบบโลกียะ" คราวนี้แบ่งเป็น ๓ ประการ และมีความลึกละเอียดไปอีกหลายเชิง

๑. "ประโยชน์ตน"(อัตตัตถะ) ประโยชน์ชนิดนี้ ไม่มีศักดิ์ศรีเลย ไม่มีคุณค่าด้วย ไม่น่าภาคภูมิใจสักนิด เพราะ "ตนต้องพึ่งผู้อื่น" กล่าวคือ ตน "เอา" จากผู้อื่นมา หรือตน "ได้รับ" จากผู้อื่น เช่น ได้รับวัตถุ ได้รับทรัพย์สินเงินทอง ได้รับแรงงาน ได้รับความเสพ ทางอารมณ์ อันมาจากรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ได้รับความรู้ หรือรับอะไรอื่นๆมา "จากผู้อื่น" แล้วเรียกผลชนิดนี้ว่า "ประโยชน์ตน" เพราะตนเป็น "ผู้เอา" "ตน" เป็น "ผู้ได้" จากผู้อื่น

ลักษณะนี้ คนทุกคนเข้าใจดี และต่างก็ยอมรับนับถือกันว่า เป็น"ประโยชน์ตน" กันอยู่ทั่วไป ในสังคมโลกียสามัญ หรือ สังคมทุนนิยม โดยมองด้วยเชิงตื้นๆว่า "ตนเป็นผู้รับอยู่โทนโท่" ก็เป็น "กำไร" หรือ "ตนได้" อยู่แท้ๆ มันก็คือ "ประโยชน์ตน" แน่ๆ ยิ่งเป็นการ "ได้เปรียบ" มาให้แก่ตน มากเท่าใดๆ ก็ยิ่งหลงว่า นี่คือ"กำไร" หรือ "ประโยชน์ตน" มากยิ่งๆเท่านั้น จึงเป็น "การโลภมาให้แก่ตน" แล้วก็หลงดีใจใน "ความโลภของตน" ที่เจริญงอกงาม

๒. "ประโยชน์ผู้อื่น" (ปรัตถะ) ประโยชน์ชนิดนี้ น่าภาคภูมิใจกว่า มีทั้งศักดิ์และศรีกว่า และนับว่าเป็น คนมีคุณค่า เพราะ "ตนเป็นประโยชน์ต่อผู้อื่น" กล่าวคือ ตนเป็น "ผู้ให้" เช่น ได้ให้วัตถุ ได้ให้แรงงาน ได้ให้ทรัพย์สินเงินทอง ได้ให้ความเสพ ทางอารมณ์ อันมาจาก รูปเสียงกลิ่นรสสัมผัส ได้ให้ความรู้ หรือได้ให้อะไรอื่นๆไป "แก่ผู้อื่น" ผลชนิดนี้ จึงเรียกว่า "ประโยชน์ผู้อื่น" เพราะตนเป็น "ผู้ให้" "ผู้อื่น" เป็น "ผู้ได้" จากเรา

ลักษณะนี้ หากจะเรียกขานว่า"ตนได้กำไร" ก็เข้าใจยากขึ้นกว่าลักษณะที่ ๑ เพราะ "ตนเป็นผู้จ่ายออกให้ไปแก่ผู้อื่น" แท้ๆ แล้วจะชื่อว่า "ตนได้" ได้อย่างไร แต่ถ้าตั้งใจตรองตามดีๆสักนิด ก็พอรู้พอเข้าใจได้ ว่า "ตนเป็นประโยชน์ต่อผู้อื่น" เพราะเรา ได้ให้แก่ผู้อื่น อย่างนี้คือ "ความเป็นประโยชน์ที่จริงยิ่งกว่า" และควรเรียกว่า "กำไร" ยิ่งกว่า เพราะใครๆก็รู้ว่าเป็น "กุศล หรือ คุณงามความดี" แน่ๆ เป็นประโยชน์ต่อผู้อื่นแท้ๆ มีคุณมีค่าต่อผู้อื่น กันอย่างเห็นๆ เป็นรูปธรรม จึงเป็น "ประโยชน์" หรือเป็น "กำไร" ที่คนทั้งหลาย ต่างก็รู้ว่า ผู้เสียสละคือผู้ " ได้บุญ"

๓. "ประโยชน์ ๒ ฝ่าย" (อุภยัตถะ) ซึ่งทั้งตนและทั้งผู้อื่น หรือทั้งผู้ให้และทั้งผู้รับ ต่างก็ได้รับประโยชน์ด้วยกัน พร้อมๆกัน ในขณะเดียวกัน และกรรมเดียวกัน ทว่า "ผู้ให้หรือผู้รับ" ยังไม่สามารถทำจิตใจ ให้ลดกิเลส ไปกับกิริยากรรมนั้นๆ แต่ทั้ง "ผู้ให้" และ "ผู้รับ" ต่างก็ได้ "ประโยชน์" เป็นนามธรรม จากกรรมกิริยาที่ทำกัน ในขณะนั้น ไม่ว่าจะเป็นการให้วัตถุ แรงงาน ทรัพย์สิน เงินทอง ความเสพทางอารมณ์ ความรู้หรือให้อะไรอื่นๆ "แก่กันและกัน" หากมองทางรูปธรรม "ผู้ให้" เป็น "ผู้จ่ายออก" รูปธรรมนั้นๆ อยู่โทนโท่ ไม่น่าจะเป็น "ผู้ได้" แต่ในประเด็นนี้ เป็นเรื่องของนามธรรม "กำไร" หรือ "ประโยชน์" ที่ได้คือ ผลทางใจ เมื่อทั้ง "ผู้รับ" และทั้ง "ผู้ให้" ในขณะที่เกิด กิริยากรรมนั้นๆ ต่างก็เป็น "ผู้ได้ทั้งคู่" ผลชนิดนี้จึงเรียกว่า "ประโยชน์ ๒ ฝ่าย" (อุภยัตถะ)

เช่น "ผู้ให้" ก็มี "ผลทางใจ" คือ มีความสุข หรือมีความดีใจที่ "ได้ให้" "ผู้รับ" ก็มี "ผลทางใจ" คือ มีความสุข หรือมีความดีใจที่ "ได้รับ" จึงเป็น "ผู้ได้" ด้วยกันทั้งสองฝ่าย เพียงแต่ต้องกำหนด ให้แม่นเป้าว่า "ประโยชน์" หรือ "กำไร" ลักษณะนี้ ไม่ใช่เรื่องของ "รูปธรรม" กันแล้ว แต่หมายเอา "การได้ทางนามธรรม"

ส่วน "ประโยชน์แบบโลกุตระ" ก็ยิ่งไม่ใช่รูปธรรม เพราะเป็น "กำไร" ของอาริยบุคคล มี ๓ ประการเช่นกัน

๑. "ประโยชน์ตน" (อัตตัตถะ) ซึ่ง "ผู้ให้" ก็ตามหรือ "ผู้รับ" ก็ตาม ในขณะที่มีกิริยากรรม การให้และการรับอยู่นั้น ไม่ว่าจะให้วัตถุ แรงงาน ทรัพย์สินเงินทอง ความเสพทางอารมณ์สัมผัส ความรู้ หรือให้อะไรอื่นๆ "แก่กันและกัน" อยู่ หาก "ผู้ให้" ก็ตามหรือ "ผู้รับ" ก็ตาม ผู้ใดปฏิบัติธรรมไปกับกิริยากรรมนั้นๆ และสามารถลดกิเลส ในจิตใจได้ นั่นก็คือ "ประโยชน์ตน" ที่เป็น "ปรมัตถะ"(ประโยชน์ขั้นเลิศสูง ถึงระดับมรรคผล) อันเกิดพร้อมกันกับกรรม ที่กระทำอยู่นั้นๆ ในขณะเวลาเดียวกันนั้น ประโยชน์ถึงขั้น "มรรคผล" นี้จึงหมายเอา "นามธรรม" ทุกข้อ

๒. "ประโยชน์ผู้อื่น" (ปรัตถะ) หมายถึง ตนเป็นประโยชน์ต่อผู้อื่น นั่นคือ ใครก็ตามที่ได้ให้วัตถุ แรงงาน ทรัพย์สินเงินทอง ความเสพทางอารมณ์ อันมาจาก รูปเสียงกลิ่นรสสัมผัส ความรู้ หรือให้อะไรอื่นๆ "แก่ผู้อื่น" อยู่ แล้วสามารถให้"ผู้รับ" ทำจิตใจ ของเขา ลดกิเลส ไปกับสิ่งที่ได้รับนั้นๆ สำเร็จ นั่นก็คือ "ประโยชน์ผู้อื่น" ที่เป็น "ปรมัตถะ" อันเกิดพร้อมกันกับกรรม ที่กระทำ อยู่นั้นๆ ในขณะเวลาเดียวกันนั้น ซึ่ง "ประโยชน์" ประการนี้ ทำสำเร็จได้ยาก

๓. "ประโยชน์ ๒ ฝ่าย" (อุภยัตถะ) หมายเอา ทั้งตนและทั้งผู้อื่น หรือทั้งผู้ให้และทั้งผู้รับ ต่างก็ได้รับประโยชน์ด้วยกัน พร้อมๆกัน ในขณะเดียวกัน และกรรมเดียวกัน ซึ่งประโยชน์นั้นต้องเป็น "ประโยชน์ขั้นอาริยะ" หมายความว่า ทั้งตน และ ทั้งผู้อื่น สามารถทำจิตใจ ให้ลดกิเลส ไปกับกิริยากรรมนั้นๆ ได้ทั้งคู่ นี่คือ "ประโยชน์ ๒ ฝ่าย" ที่เป็น "ปรมัตถะ" อันเกิด พร้อมกันกับ กรรมกิริยา ที่ได้ให้วัตถุ แรงงาน ทรัพย์สินเงินทอง ความเสพทางอารมณ์ประโยชน์ ๒ ฝ่าย" (อุภยัตถะ)

"อัตถะ" ที่หมายถึง "กำไร" หรือ"ผลได้-ผลประโยชน์-สมบัติ-ความเจริญ" ของชาวบุญนิยม จึงนับเอาสภาพที่เข้าเขตโลกุตระ หรือ ที่ถึงขีดอาริยะ เป็นสำคัญ นั่นคือ แม้ชาวบุญนิยม จะให้ตเงินทอง ความเสพทางอารมณ์ อันมาจาก รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ความรู้ หรือ ให้อะไรอื่นๆ "แก่กันและกัน" อยู่ ถ้าแม้นกิริยากรรมนั้น ขณะนั้น มีการปฏิบัติ จนจิตใจ ลดกิเลสได้จริง ไปพร้อมๆกัน ชาวบุญนิยมก็สามารถได้รับ "กำไร" "กำไร" ชนิดนี้ คือประโยชน์ขั้น "ปรมัตถะ" (บรมประโยชน์ หรือ ประโยชน์ขั้นสูง ขั้นเลิศ) ซึ่งผู้ปฏิบัติต้องรู้แจ้ง ในความเป็น "จิต เจตสิก รูป นิพพาน" และมีความสามารถ ในการปฏิบัติ ตามวิธีของพุทธอย่าง "สัมมาทิฏฐิ" ด้วย

"กำไร"ของชาวบุญนิยม ที่เรียกว่า "ผลได้" หรือ "ผลประโยชน์" จึงคือ "สมบัติ" อันเป็น "กุศลวิบาก" ที่ติดตัวตามเจ้าของ "บุญ" ไป เท่าที่ยังเวียนตาย เวียนเกิด เพิ่มบารมีไปเรื่อยๆ ตราบปรินิพพานทีเดียว

"กำไร"ชนิดนี้ มีจริงเป็นจริงด้วยความรู้แจ้งเห็นของจริงที่เรียกว่า"กำไร-ประโยชน์" (อัตถะ) ถึงความปรากฏแห่ง "ภาวะ" จริง เฉพาะในศาสนาพุทธ ที่ตรัสรู้โดย พระพุทธเจ้าเท่านั้น'


อ่านต่อ วิถีชาวอโศก ตอน ๑๗