จุดเปลี่ยนของศตวรรษที่ ๒๑ บทวิจารณ์ ฟ้าเมือง ชาวหินฟ้า

ทฤษฎีระบบ (System Theory) ชี้ให้เห็นว่าระบบต่างๆในธรรมชาติ จะมีการปรับตัวอยู่ตลอดเวลา เพื่อรักษา ความมีเสถียรภาพ ของระบบ ให้ยืนนานที่สุด

เมื่อปัจจัยภายนอกของระบบ (Environment) แผ่อิทธิพลไหลข้ามกำแพงไร้สภาพ (Boundary) ที่กั้นระหว่าง สภาพแวดล้อมภายนอก กับตัวระบบ จนกลายเป็น ปัจจัยนำเข้า (Input) ที่มีผลกระทบ ต่อเสถียรภาพ ของระบบ

เมื่อนั้นกลไกภายในระบบ ก็จะพยายามปรับตัว และให้ผลผลิตเป็นปรากฏการณ์ต่างๆ (Output) ซึ่งจะส่งผล ป้อนกลับ (Feedback) กลายเป็นปัจจัยนำเข้า เพื่อนำไปสู่กระบวนการ ปรับตัวของระบบ ให้เกิดเสถียรภาพ ในวงจร รอบต่อๆไป

หากระบบใดไม่สามารถรองรับการปรับตัวให้สอดคล้องกับเหตุปัจจัย ที่ไหลเข้ามา ระบบนั้น ก็จะล่มสลาย ไปในไม่ช้า

การวิเคราะห์เชิงระบบมีได้หลายระดับ (Level of Analysis) ภายใต้ระบบใหญ่ ก็มีระบบย่อยๆ แฝงอยู่ ขณะเดียวกัน การเปลี่ยนแปลง ของระบบย่อย ก็จะถูกครอบ โดยระบบที่ใหญ่กว่า เป็นลำดับๆด้วย

อารยธรรมมนุษย์เป็นรูปแบบหนึ่งของมนุษย์ภายใต้ กรอบการวิเคราะห์เชิงระบบนี้ ซึ่งถ้ามอง ย้อนกลับไป ในประวัติศาสตร์ เราจะเห็นแบบกระสวน (pattern) ของคลื่นแห่งความเปลี่ยนแปลง ในระบบอารยธรรมมนุษย์ เกิดขึ้นครั้งใหญ่ ทุกรอบระยะเวลา ประมาณ ๕๐๐ ปี

อารยธรรมแถบลุ่มน้ำเมโสโปเตเมีย ก่อกำเนิดขึ้น เมื่อประมาณ ๓,๐๐๐ ปีก่อนคริสต์กาล อีก ๕๐๐ ปีต่อมา จักรวรรดิ์เออร์ ของชาวสุเมเรียน ก็ได้รับการสถาปนาขึ้น และอำนาจทางการเมือง ได้มารวม อยู่ที่บุคคลเดียว คือกษัตริย์ เป็นครั้งแรก พร้อมกับการแผ่ขยาย อารยธรรมสุเมเรียน ออกไปอย่างกว้างขวาง จนเมื่อเวลาผ่านไป อีกราว ๕๐๐ ปี (เมื่อประมาณ ๒.๐๐๐ ปีก่อนคริสต์กาล) จักรวรรดิของชาวสุเมเรียน ก็สิ้นอำนาจลง

อารยธรรมยิ่งใหญ่ของอียิปต์โบราณ ปรากฏเป็นครั้งแรก เมื่อราว ๓,๐๐๐ ปีก่อนคริสต์กาล เช่นกัน หลังจากที่ฟาโรห์ ได้รวมอียิปต์ เป็นปึกแผ่น และสถาปนาราชวงศ์ ขึ้นปกครองอียิปต์ เป็นฟาโรห์องค์แรก จนเวลาผ่านไปราว ๑,๕๐๐ ปี จักรวรรดิอียิปต์ ก็เริ่มเสื่อมถอยอำนาจ จากการถูกรุกราน และชาวซีเรีย กับปาเลสไตน์ ได้แยกตัวจากอียิปต์ หลังจากนั้น อาณาจักรอียิปต์ ก็เสื่อมสลายลง และตกอยู่ภายใต้การปกครอง ของชนชาติอื่น (เมื่อประมาณ ๑,๐๐๐ ปี ก่อนคริสต์กาล)

สำหรับอารยธรรม แถบลุ่มน้ำฮวงโห ของจีนนั้น อารยธรรมแรก ที่นักโบราณคดี ขุดค้นพบ คือ อารยธรรมฉ่าง เมื่อประมาณ ๑,๕๐๐ ปีก่อนคริสต์กาล ต่อมาพวกโจร ได้ยึดเมืองหลวง ของพวกฉ่าง ได้สำเร็จ และ สถาปนา ราชวงศ์โจวขึ้น พร้อมกับการแผ่ขยาย อาณาจักร ออกไปอย่างกว้างขวาง (๑๑๑๒ - ๒๕๖ ปีก่อนคริสต์กาล)

ในยุคสมัยของราชวงศ์โจว เมื่อประมาณ ๕๐๐ ปีก่อนคริสต์กาลนี้เอง ที่นักปราชญ์สำคัญของจีน คือ เหลาจื้อ และ ขงจื้อ ได้ถือกำเนิดขึ้น

ส่วนอารยธรรมแถบลุ่มน้ำสินธุของอินเดีย ก่อตัวเมื่อประมาณ ๓,๐๐๐ ปีก่อนคริสต์กาล และอีกประมาณ ๑,๕๐๐ ปีต่อมา พวกอินโดอารยันก็เข้ายึดครองดินแดนแถบนี้ในยุคสมัยพระวเท จนกระทั่ง อารยธรรมของพุทธศาสนา อุบัติขึ้น ที่ดินแดนแถบนี้ของโลก ในสมัยพุทธกาล

หลังจากนั้นอารยธรรมของคริสต์ศาสนาก็อุบัติตามมา พร้อมกับการประสูติของพระเยซูที่กรุงเยรูซาเล็มในปี พ.ศ.๕๔๓

และต่อมาอีก ๕๐๐ ปีเศษ พระศาสดามะหะหมัดของศาสนาอิสลามก็ประสูติที่เมืองเมกกะ(ค.ศ.๕๗๐)

เมื่อเวลาผ่านไปอีกประมาณ ๕๐๐ ปี อารยธรรมของคริสต์ศาสนาก็เริ่มปะทะกับอารยธรรมของศาสนาอิสลาม จนก่อเกิดเป็นสงครามทางศาสนาครั้งใหญ่อันคือสงครามคูเสด ที่กินเวลายาวนานถึงเกือบ ๒๐๐ ปี (ค.ศ.๑๐๙๕-๑๒๙๑)

พอถึงคริสต์ศตวรรษที่ ๑๕ จักรวรรดิไบแซนไตน์ ที่เป็นศูนย์กลาง ของคริสต์ศาสนา ก็ถูกพวกออตโตมันเตอร์ก โจมตีพินาศลง (ค.ศ.๑๔๕๓) อันถือเป็นยุคสิ้นสุด ของประวัติศาสตร์กลาง พร้อมกับการก่อตัว ของยุคฟื้นฟู ศิลปวิทยาการ สมัยกรีก การขยายตัว ทางการค้า การกำเนิด ของวิทยาศาสตร์ การปฏิรูปครั้งใหญ่ ในคริสต์ศาสนา ตลอดจน การก่อตัว ของลัทธิเศรษฐกิจ แบบทุนนิยม (Capitalistic Economy) ก็เกิดขึ้นในช่วงนี้

สุดท้ายพอถึงปลายคริสต์ศตวรรษที่ ๒๐ อารยธรรมมนุษย์ก็พัฒนา จนถึงระดับที่สามารถ เดินทางไปสำรวจอวกาศ สามารถสร้างระเบิดปรมาณู ที่มีอานุภาพ ในการทำลายล้าง อย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน สามารถสรา้ง ระบบสมองกล ที่มีศักยภาพ ในการจำและการคิดคำนวณ อย่างน่าอัศจรรย์ ตลอดจน สามารถเชื่อมโยงโลก ที่กว้างใหญ่ไพศาล ให้เป็นอันหนึ่ง อันเดียวกัน ภายใต้ระบบโครงข่าย การสื่อสารคมนาคม ที่ทำให้มนุษย์ สามารถพูดคุย ติดต่อกันได้ ตลอดเวลา แม้จะอยู่กัน คนละซีกโลก

แล้วอะไรจะเกิดขึ้น เมื่อเข้าสู่ศตวรรษที่ ๒๑ จะมีการเปลี่ยนแปลงอะไรครั้งใหญ่ ในระบบอารยธรรม ของมนุษย์ เกิดขึ้น อีกหรือไม่ ภายหลังจากที่ อารยธรรมทุนนิยมบริโภค ได้เริ่มต้นก่อตัวเมื่อ ๕๐๐ ปีก่อน และแผ่อิทธิพล ครอบงำโลก มนุษย์ปัจจุบัน

เงื่อนไขของสภาพแวดล้อมภายนอก ที่แปรเปลี่ยนไป ทำให้นับวัน ต้นทุนทางสังคม (marginal social cost หรือ MSC) ในการขยายตัว ของอารยธรรมทุนนิยมบริโภค จะเพิ่มสูงขึ้นๆ ในขณะที่ประโยชน์สุขทางสังคม (marginal social benefit หรือ MSB) จะมีลดน้อยลงๆ ตามกฎการถดถอย ของอรรถประโยชน์ (Law of Diminishing Vtility)*

-----------------------------------------------------------------

* กฎการถดถอยของอรรถประโยชน์คือกฎที่ชี้ให้เห็นว่า ถ้ามนุษย์บริโภคของสิ่งหนึ่งมากขึ้นๆ ประโยชน์สุข หรืออรรถประโยชน์ ที่จะได้รับจากการบริโภค ของสิ่งนั้น จะค่อยๆลดน้อยถอยลง โดยลำดับ ตัวอย่างเช่น ขณะที่กำลังหิว การกินข้าวจานที่ ๑ จะให้อรรถประโยชน์ ต่อเราสูงสุด แต่เมื่อกินข้าว จานที่ ๒,๓,๔ ต่อไป อรรถประโยชน์ ของข้าวจานต่อๆไป สำหรับเรา จะเริ่มลดน้อย ถอยลง เพราะท้องเริ่มอิ่มขึ้นเป็นต้น

-----------------------------------------------------------------

รูป

เมื่อระบบทุนนิยมบริโภค เติมโตขยายตัวเกินกว่าจุด ๐ (ตามกราฟ) ต้นทุนทางสังคม ที่เกิดจาก สภาวะแวดล้อม ของโลก ที่ถูกทำลาย ทรัพยากรธรรมชาติ ที่ร่อยหรอลง เพราะการบริโภค อย่างฟุ่มเฟือยของมนุษย์ การเพิ่มขึ้นของ จำนวน ประชากร ซึ่งต้องการที่ทำกินเพิ่มขึ้น อันส่งผลให้เกิด การทำลายป่า และมีการใช้พลังงาน จากฟอสซิล เพิ่มมากขึ้น ทำให้ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ที่เกิดจากการเผาไหม้ ปกคลุม ชั้นบรรยากาศ เหมือนเรือนกระจก ที่คอยสะท้อน รังสีความร้อน กลับสู่โลก ปฏิกิริยาเรือนกระจก จะทำให้โลกร้อนขึ้น น้ำแข็งแถบขั้วโลก จะหลอม ละลาย กระแสน้ำอุ่น จะเปลี่ยนทิศทาง อันนำไปสู่ ความแปรปรวน ของดินฟ้าอากาศ เกิดพายุ เกิดภาวะภัยแล้ง ฯลฯ

สิ่งเหล่านี้คือตัวอย่างส่วนหนึ่ง ของต้นทุนทางสังคม ที่เกิดจากการขยายตัว ของอารยธรรม ทุนนิยมบริโภค ซึ่งนับวัน จะสร้างปัญหา ให้แก่สังคมมนุษย์ เพิ่มมากขึ้นๆ (ตามเส้น MSC ในกราฟที่ชันขึ้น)

ขณะเดียวกัน ระบบทุนนิยมเสรีเป็นระบบที่ปล่อยให้ปลาใหญ่กินปลาเล็ก มือใครยาว สาวได้สาวเอา ส่งผลทำให้ ช่องว่าง ระหว่าง คนรวยจำนวนน้อย กับคนยากจน ที่เป็นประชากร ส่วนใหญ่ของโลก นับวันจะขยายช่องว่าง ถ่างกว้าง ออกไป มากขึ้นทุกทีๆ

เมื่อผลิตภาพ (Productivity) ที่เกิดขึ้นมาในสังคม แต่ละหน่วย ถูกดูดไปสร้างความมั่งคั่ง ในกระเป๋า ของกลุ่ม คนรวย (จำนวนน้อย) เป็นส่วนใหญ่ อรรถประโยชน์ ของผลผลิตดังกล่าว นับวันก็จะให้ ประโยชน์สุข ต่อสังคมโดยรวม ลดน้อยลงๆ

ตัวอย่างเช่น สมมติสังคมนั้นผลิตเสื้อเพิ่มมาได้ตัวหนึ่ง แล้วเสื้อดังกล่าว ถูกดูดเอาไป เป็นสมบัติของเศรษฐี ที่มีเสื้อผ้า อยู่แล้ว ๑๐๐ ชุดที่บ้าน เสื้อผ้าตัวนั้น ก็คงจะไม่ถูก นำมาใช้สอย ให้เกิดอรรถประโยชน์ อะไรมาก คงจะถูกเก็บไว้ ในตู้เสื้อผ้าเฉยๆ เป็นส่วนใหญ่ แต่ถ้าเสื้อตัวดังกล่าว ตกอยู่กับคนยากจน ที่มีเสื้อผ้าเพียง ๒ ชุด เสื้อตัวนั้น ก็จะถูก ใช้สอย ให้เกิดประโยชน์สุข หรือ เกิดอรรถประโยชน์สูงสุด เป็นต้น

ด้วยเหตุผลตามที่กล่าวมานี้ ผลที่สุดการขยายตัว ของระบบทุนนิยมบริโภค จะส่งผล ทำให้ประโยชน์สุข โดยรวม ในการแก้ปัญหา ของสังคมมนุษย์ นับวันมีแนวโน้ม ลดน้อยลง (เส้น MSB จึงมีลักษณะ ลาดต่ำลง ตามกราฟ)

ถ้าการขยายตัวของระบบทุนนิยมบริโภค พัฒนามาถึงจุดที่ส่งผล ทำให้ต้นทุนทางสังคม (MSC) สูงกว่า ประโยชน์สุข ทางสังคม (MSB) โดยไม่สามารถ ปรับตัวเพื่อลดต้นทุน หรือเพิ่มอรรถประโยชน์ ที่มีต่อสังคม จากการพัฒนา ในทิศดังกล่าว (เลยจากจุด ๐ ในกราฟ) เมื่อนั้น ปัญหาของสังคมมนุษย์ ก็จะขยายตัว เพิ่มมากขึ้นๆ พร้อมกับ เสถียรภาพ ของระบบที่ลดน้อยลง จนถึงจุดที่เป็นมวลวิกฤติ ของปัญหา (เลยจากจุด ๐/ในกราฟ ซึ่งช่องว่าง ระหว่าง MSC กับ MSB ถ่างกว้างออกไปถึง b หน่วย และปัญหาสะสมตัวมากขึ้น ตามพื้นที่แรเงา ในกราฟ) ระบบอารยธรรม ทุนนิยมบริโภค ของสังคมมนุษย์ ก็จะล่มสลายลง เพราะความไร้เสถียรภาพ ของระบบ และการเปลี่ยนผ่าน ของอารยธรรม ครั้งใหญ่ ก็จะปรากฏขึ้นอีกครั้ง ตามวิวัฒนาการ ของธรรมชาติ

ภายใต้เงื่อนไขของสภาพแวดล้อมในธรรมชาติ ที่ถูกทำลาย และทรัพยากรของโลก ที่เหลือน้อยลงๆ สายพันธุ์ แห่งอารยธรรมใหม่ ของมนุษย์ ได้รับการคัดเลือก จากธรรมชาติ (natural selection) เพราะเป็นอารยธรรม ที่เหมาะสม สอดคล้อง กับเงื่อนไข ข้อจำกัด ของธรรมชาติ ที่เปลี่ยนแปลง ไปมากที่สุด (Survival of the fittest)

ก็น่าจะเป็นสายพันธุ์ของอารยธรรม ซึ่งสามารถเสริมสร้าง ให้มนุษย์เป็นคนกินน้อยใช้น้อย ขณะเดียวกับที่ มีความขยัน ขันแข็งทำงาน ส่วนเกินที่เหลือ ก็จุนเจือเกื้อกูลสังคม เพื่อลดช่องว่าง ของพื้นที่ปัญหา (พื้นที่แรเงา 0ในกราฟ) และทำให้ระบบสังคมมนุษย์ กลับมามีเสถียรภาพ เพิ่มขึ้น

ถ้าสมมติฐานตามทฤษฎีที่กล่าวมาข้างต้นถูกต้อง ถึงแม้ "ระบบบุญนิยม" ซึ่งเสริมสร้าง ให้เกิดวัฒนธรรม ในการกินน้อย ใช้น้อย ขยันทำงานมาก ส่วนเกินที่เหลือ จุนเจือสังคม จะเป็นเพียง การก่อตัว ในกลุ่มชาวพุทธเล็กๆ กลุ่มหนึ่งที่ชื่อ "ชาวอโศก"

แต่สายพันธุ์ทางความคิดดังกล่าว มีศักยภาพที่ยิ่งใหญ่ พอที่จะเติบโตขยายตัว จนได้รับการคัดเลือก จากธรรมชาติ ให้เป็นอารยธรรมใหม่ ของมนุษย์ ในอีกรอบ ๕๐๐ ปีต่อจากนี้ไป เนื่องจากเป็นสายพันธุ์ แห่งอารยธรรม ที่สอดคล้อง กับเงื่อนไข ข้อจำกัด ของสภาพ ธรรมชาติต่างๆ ในโลกอนาคต มากที่สุด ตามสมมติฐาน ที่กล่าวมา

เฉกเช่นเดียวกับสภาพแวดล้อมของโลก ที่เปลี่ยนไปในอดีต อันอาจจะเป็นเพราะอุกาบาต ที่พุ่งชนโลก เมื่อ ๖๓ ล้านปีก่อน หรือ ด้วยสาเหตุ อื่นใดก็ตาม ที่ทำให้อาหารบนพื้นโลก ลดน้อยลง

ส่งผลให้สายพันธุ์ของไดโนเสาร์ที่เคยครอบครองโลกด้วยความยิ่งใหญ่อหังการ ต้องสูญสิ้นเผ่าพันธุ์ไป ในเวลาไม่ช้า ขณะที่สายพันธุ์ ของสัตว์ตัวเล็กๆ ที่ไม่มีพิษสง และเขี้ยวเล็บอะไร อย่างพวกลิงค่าง ที่บริโภคอาหาร ไม่มาก และ สามารถปรับตัว เข้ากับธรรมชาติ ที่แปรเปลี่ยนไป ได้ดีกว่า กลายเป็นสายพันธุ์ ของสิ่งมีชีวิต ซึ่งวิวัฒนาการ สืบทอดมา เป็นเผ่าพันธุ์มนุษย์ ที่ยึดครองโลก อยู่ในปัจจุบัน

สมมติฐานที่กล่าวมานี้ จะเป็นจริงหรือไม่ เวลาคือเครื่องพิสูจน์

ฟ้าเมือง ชาวหินฟ้า

(ดอกหญ้า อันดับที่ ๑๐๐ มีนาคม - เมษายน ๒๕๔๕)