ธรรมชาติอโศกในอินเดีย ตอนที่ ๗
ถึงกัลกัตตา


ด้วยเหตุผลพร้อมหลักฐานจากพระโอษฐ์ "อาหารเป็นหนึ่ง" ไปจนกระทั่ง "ผู้ไม่มีโรคเป็น ลาภอันประเสริฐ" นั้น เหมือนกับ จะเน้นย้ำให้รู้ว่า แม่ครัวนั้นสำคัญ เพราะการปรุงอาหารผิด จะเป็นพิษกับคนกิน จนต้องมีหมอ มีโรงพยาบาล ผุดขึ้นมา เป็นดอกเห็ด ในฤดูฝน เสียเงิน เสียทอง เสียสุขภาพ ตลอดจนถึงเสียชีวิต อย่างไม่ควรจะเป็น อาหารเป็นหนึ่ง จึงอยู่ที่ครัว ครับ รสชาติ อันเอร็ดอร่อย ในการปรุง อาจทำให้เราหลงทาง ผิดเป้าผิดประเด็น สูญเสีย และสิ้นเปลือง จนลืมคุณค่า ของอาหาร ที่แท้จริง

อินเดียมีประชากรพันกว่าล้าน กินมังสวิรัติถึง ๙๐% โดยใช้ถั่วหลายชนิดเป็นหลัก เพราะถั่วคือหน่วยเก็บพลังงาน และ หน่วยบันทึก ความทรงจำ เพื่อสร้างส่วนสมอง ที่เป็นไปเพื่อความสงบเย็น จนอินเดียเป็นทั้ง แหล่งผลิต และ แหล่งส่งออก ศาสนา ศิลป วัฒนธรรม ที่ยิ่งใหญ่ของโลก ไม่ว่าลัทธิ หรือศาสนาอะไร ล้วนแล้วแต่ เกิดมาจาก แหล่งผลิต หรือ จากห้องแล็ป อันเก่าแก่ โบราณกาลนี้ทั้งสิ้น แม้กระทั่ง พระพุทธเจ้า ศาสดาเอกของโลก ก็ยังเกิดมาที่นี่

ไม่เหมือนกับห้องแล็ปอื่นๆ ที่กินเนื้อสัตว์ โดยใช้ไข่นำร่อง เป็นหลักในการสร้างสมอง จนทำให้ผู้บริโภค ไม่อาจมีสมอง วิมุติหลุดพ้น หรือ เป็นนักปราชญ์ศาสดาได้ จะมีก็แต่ การใช้กำลัง และ อาวุธเข้าประหัด ประหารกัน เหมือนไก่ที่เกิดมา ก็มีแต่การจิกตี แย่งชิง บ้างก็เข่นฆ่ากัน จนเป็นที่โหดเหี้ยม "YOU ARE WHAT YOU EAT" กินอะไรเป็นอย่างนั้น

อินเดียกินถั่วเป็นหลัก ถั่วคือหัวใจ ของคนกินมังสวัรัติก็จริง แต่หากไม่รู้วิธีปรุง ของมีประโยชน์ ก็จะกลายเป็นโทษ ที่ร้ายแรง นั่นคือ ต้องกินเครื่องเทศ masala ปนไปกับอาหารทุกๆ มื้อ

พระอานนท์ทูลถามพระพุทธเจ้า ก่อนเสด็จดับขันธ์ปรินิพพาน ณ สาละวโนทยาน ใน กรุงกุสินาราว่า "เมื่อกาลก่อน พุทธบริษัท ในทิศทั้งหลาย ต่างพากันมาเฝ้า พระตถาคต ย่อมได้เห็น ได้เข้าไปนั่งใกล้ๆ ภิกษุผู้เจริญเหล่านั้น แต่เมื่อกาลล่วงไป แห่งพระผู้มีพระภาคเจ้า จักไม่ได้เห็น ไม่ได้เข้าไปนั่งใกล้..."

พระพุทธเจ้าตรัสว่า "ดูก่อนอานนท์ สังเวชนียสถาน ๔ แห่ง เป็นที่ควรเห็น ของกุลบุตร ผู้มีศรัทธา ด้วยระลึกว่า
พระตถาคต ประสูติที่นี่ ๑
พระตถาคต ตรัสรู้อนุตรสัมมาสัมโพธิญาณที่นี่ ๑
พระตถาคต ยังธรรมจักรให้เป็นไปแล้วที่นี่ ๑
พระตถาคต เสด็จปรินิพพานด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุที่นี่ ๑

ดูก่อนอานนท์ ชนเหล่าใด เที่ยวจาริกไป ยังเจดีย์สถานเหล่านั้นแล้ว มีจิตเลื่อมใส ชนเหล่านั้นทั้งหมด เบื้องหน้า แต่ตาย มลายไป จักเข้าถึง สุคติโลกสวรรค์

ในชีวิตหนึ่งของชาวพุทธ การเดินทางไปกราบไหว้ สังเวชนียสถานทั้ง ๔ แห่ง ด้วยความศรัทธา ก็เหมือนหนึ่ง ได้ก้มกราบ แทบเท้า พระพุทธองค์ โดยไม่รู้ตัว...

จากดอนเมืองด้วยเที่ยวบิน TG.131 ระยะทาง ๑,๖๗๕ กิโลเมตรเศษๆ ใช้เวลาราวๆ ๒ ชั่วโมง ก็หย่อนเท้า ลงเหยียบผืนดิน ถิ่นเมืองกัลกัตตาแล้ว....

สัมภาระทุกชิ้นไม่ควรห่างจากตัว ดูคนแขกเป็นตัวอย่าง ว่าเขาทำกันอย่างไร นอกจากจะวางของ ไม่ห่างตัวแล้ว เขายัง คล้องโซ่เส้นเล็กๆ ล็อคกุญแจเอาไว้ด้วย อย่าลืมว่าคนอินเดีย มีคนตั้งพันกว่าล้าน มีตั้งแต่ รวยที่สุด ถึงยากจนที่สุด ดีที่สุด ถึงเลวที่สุด โดยเฉพาะ การเดินทาง ที่แออัดยัดเยียดแล้ว พวกมือดีมีเยอะ กันดีกว่าแก้ครับ

กัลกัตตา ตั้งอยู่ชายฝั่งแม่น้ำฮุคลี (Hooghly River) ตรงที่แม่น้ำคงคาไหลมา ๔,๐๐๐ กิโลเมตรเศษ ก่อนจะไปสิ้นสุด ในมหาสมุทรอินเดีย ตามประวัติกล่าวว่า เมื่อ ๓๐๐ ปีเศษมานี้ มีพ่อค้าอังกฤษ ชื่อ จอมชาร์ นอค เดินทางมา ทำมาค้าขาย เป็นล่ำเป็นสัน จนตั้งเป็นบริษัท อีสท์อินเดีย แบบกินบนเรือน ขี้บนหลังคา สร้างป้อม ขยายอำนาจ จนผลัดกันแพ้ ผลัดกันชนะ กับเจ้าผู้ครองนครนี้ กระทั่งอินเดีย ทั้งประเทศ ตกเป็นเมืองขึ้น ของอังกฤษโดยเด็ดขาด ในเวลาต่อมา

กัลกัตตาเคยเป็นเมืองหลวงของอินเดีย ที่มีตึกทรงสถาปัตย์แบบยุโรป ที่คับคั่ง และ สูงใหญ่ที่สุด ของเอเซียในยุคนั้น (พ.ศ.๒๒๓๓) ไม่ว่าจะย่างเหยียบ ไปตรงมุมไหน ประชากร ๒๑ ล้าน กว่าคนของเมืองนี้ จะแออัด ยัดเยียดกัน จนเป็นปัญหา ยากที่จะแก้ไข ของรัฐบาลอินเดีย มาแทบทุกยุค ทุกสมัย แต่ชีวิตจิตวิญญาณ ก็ยังคงเป็นสิ่งสำคัญกว่าวัตถุ

ผมมีเพื่อนเป็นชาวจีน ที่เพิ่งพอจะรู้จัก ที่คอยเป็นธุระรับ และส่งผม แทบทุกครั้ง มีครอบครัวอยู่ที่นี่ มาตั้งแต่เกิด แม้จะเป็นคน จีนก็จริง แต่ภาษาพูดของอาเจ็ก ก็เป็นภาษาบาบู ไปหมดแล้ว ทั้งลูกสาว ก็ยังแต่งกายไปทำงาน แบบสาวส่าหรี่ทั่วๆไป

ตลาดชาวจีนไม่ใหญ่โตนัก ปนเปไปกับชาวอินเดีย ของกัลกัตตา อย่างกลมกลืน แม้ชาวอินเดีย จะเป็นนักมังสวิรัติ แต่เนื้อหมู ที่วางขาย บนแผงลอย ก็ยังคงเป็น ของชาวจีน ตามประเพณี มานานแล้ว

สถานีรถไฟหัวลำโพงก็คงถอดแบบไปจากสถานีรถไฟที่นี่ รถไฟฟ้าใต้ดิน รถเมล์ รถแท็กซี่ รถสามล้อ รถม้า รถลาก รถเข็น แม้รถราง ก็มีให้เลือก ใช้ได้ตามสะดวก แต่รถไฟ จะถูกยกขึ้นมา เป็นปัจจัยหลัก ในการเดินทาง แต่ละขบวน จึงยาวเหยียด ทั้งกว้างกว่า รถไฟไทย เกือบสองเท่าตัว แถมยังมีตู้โดยสาร สำหรับผู้หญิง ให้เป็นพิเศษ ในบางขบวนด้วย

อินเดียก็คืออินเดีย ทั้งรถทั้งคน ทั้งม้าทั้งลา ทั้งรถลากรถเข็น โดยเฉพาะจักรยานจำนวนมาก จะขวักไขว่เสรีได้ บนถนนเดียวกัน คนขับรถยนต์ ใบขับขี่ จะมีหรือไม่มี ไม่สำคัญ ขอเพียงบีบแตรเป็น เป็นใช้ได้ ไม่ว่าจะเป็น ถนนสายไหน เสียงแตร จะดังลั่น จนแสบแก้วหู คนไม่เคยชิน รถชนรถ รถเฉี่ยวรถ พอดีพอร้าย ถ้าไม่หนักหนาสากรรจ์ ก็โคยบาส นาฮี ไม่เป็นไร แค่ขอโทษ ขอโพย ก็จบกัน ขออย่างเดียว อย่าได้ไปชนคน หรือสัตว์ที่เดินเพ่นพ่าน อยู่ตามถนน ก็แล้วกัน ขืนชนเข้าเมื่อไหร่ เป็นได้เรื่อง พรึบเดียว ผู้คนแห่กันมา ล้อมหน้าล้อมหลัง จากไหนก็ไม่รู้ พร้อมกับแย่งยึดกุญแจ รุมประชาทัณฑ์ ทันที กฎหมู่ที่มี ขนบธรรมเนียม ประเพณี และศาสนาผนึกแน่น ยังคงมาก่อน และใช้ได้ดีกว่า กฎหมาย ในหลายๆ กรณีอยู่ดี ผมจะขับรถไปไหน ก็ต้องระมัดระวัง คิดแล้วคิดอีก

ชีวิตสดๆ อันมากมากก่ายกอง ในกัลกัตตานั้น อยู่กันเหมือนมด ไร้ระเบียบจัดวาง เป็นทางการ แต่ก็มีรูปแบบ ที่เป็นธรรมดา ตามธรรมชาติ ผู้คนมากมายก็จริง แต่คนบ้าสติแตก กระโดดตึก ฆ่าตัวตายที่นี่ แทบจะไม่มีใครเห็น ทั้งห้องน้ำสาธารณะ ก็มีน้อย ใครจะขับถ่าย จะกินจะนอนตรงไหน เขาก็ไม่ว่ากัน ไม่ม เรื่อง คับอกคับใจ แค่คับที่ เขาก็อยู่กันได้ สบายใจ ตามถนนหนทาง มีท่อน้ำประปาไหล ไว้ให้ดื่มกิน อาบซัก เป็นสาธารณสุขสมบัติ อยู่ทุกหนทุกแห่ง แต่ถึงผม จะกระหายน้ำ อย่างไร ก็ ยังวักขึ้นมาดื่ม ไม่ลงอยู่ดี ส่วนแขกอินเดีย ทั้งอาบทั้งดื่ม ได้อย่างสะดวก สบายใจ จนฝรั่ง เก็บมาสร้างภาพยนต์ เรื่อง CITY OF JOY ให้เป็นที่ฮือฮา กันไปทั่วโลก

อนุสรณ์วิกตอเรียที่รัฐบาลอังกฤษ สร้างขึ้น กลางกรุงกัลกัตตา เมื่อ พ.ศ.๒๔๒๐ นั้น ก็เป็นสิ่งหนึ่ง ของการแสดง ความเป็นอำนาจ ในยุคนั้นของอังกฤษ โดยมีรูปหล่อ พระนางวิคตอเรีย ด้วยสำริด ประทับนั่ง อยู่หน้าอาคาร ที่อังกฤษ หมายให้ยิ่งใหญ่ เช่น ทัชมาฮาลนั้น บ่งบอกถึง ความเป็นเจ้าโลก เหนืออำนาจ อาณานิคม แห่งจักรวรรดิ ที่พระอาทิตย์ ไม่เคยอัสดง

อนุสรณ์สถาปัตยกรรมวิคตอเรียหินอ่อนแห่งนี้ มีประติมากรรมแบบตะวันตก ที่งดงาม ตั้งแต่เชิงบันได จนถึงยอดโดม แบบอิตาลี พร้อมกับ สิ่งละอัน พันละน้อย ที่เกี่ยวกับ อนุสรณ์พระนาง ตลอดไปจนถึง ภาพเขียน อันสวยสด งดงาม ให้ตื่นตาตื่นใจ อีกมากมาย

แม้โพรงมฤตยูในใจกลาง เมืองกัลกัตตา ก็ยังเก็บไว้เป็นอนุสรณ์สถาน ซึ่งมีความกว้างยาวด้านละ ๒๐ ฟุตนั้น ทหาร อินเดีย เคยใช้เป็นที่ ทารุณกรรมมนุษย์ ครั้งใหญ่ของโลก โดยการจับคนอังกฤษ จำนวนมาก ยัดเข้าไป ปิดขังไว้ จนตายถึง ๑๔๖ คน เมื่อ ๒๐ มิถุนายน พ.ศ.๒๓๐๘ แต่เมื่ออินเดีย ได้รับเอกราชแล้ว ก็ไม่ทำลาย เช่นเดียวกันกับ อนุสาวรีย์ ที่ทำขึ้นมา ยกย่องคนอังกฤษ อีกหลายๆ แห่งในเมืองนี้ ซึ่งล้วนแล้วแต่ เป็นผู้ปล้นชาติอินเดียทั้งสิ้น

ไม่ว่าจะเดินไปหรือจะนั่งรถ ทุกแห่งในกัลกัตตา ก็พลุกพล่านไปด้วยผู้คน

ใกล้ๆกับสถานที่รถไฟฮาร่าห์ หรือหัวลำโพง ของกัลกัตตาแห่งนี้ ยังมีสิ่งที่น่าสนใจยิ่ง อีกอย่างหนึ่ง ที่แสดงถึงความเจริญ และ ความสามารถยิ่ง ในการก่อสร้าง ยุคสมัยนั้น คือสะพาน ที่มีสายสลิง โยงข้ามแม่น้ำฮุคลี ที่มีทางให้รถวิ่ง ได้ถึง ๘ เลน ทั้งจราจรก็คับคั่ง จนกินเนสบุค บันทึกเอาไว้ว่า มียวดยาน และผู้คน ผ่านไปมา มากที่สุดในโลก

ไม้จิ้มฟันยันเรือรบ กัลกัตตามีให้ทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นสนามหลวงอันกว้างใหญ่ หรือย่านการค้า ทันสมัย ของกินของใช้ ที่จำเป็น ต่อชีวิตประจำวันนั้น ราคาไม่แพง ตรงกันข้าม กับหนังสือโป๊พิมพ์ขาวดำ ที่ปิดเย็บไว้แน่นหนา จนไม่อาจ จะดูเนื้อในได้ ผมกะคร่าวๆ ก็คงไม่เกิน ๒๐ รูปี แต่ที่ไหนได้ ๓๐๐ รูปีครับ อาหารอิ่มละ ๑๐ รูปี ยังมีให้อิ่มกันได้ทั่วไป ตรงกันข้าม กับเครื่องสำอางค์ แม้สบู่ถูตัว ก็ยังแพง

รู้ภาษาอังกฤษมาบ้าง เดินทางไปไหนได้ ไม่ยากไม่ลำบาก เพราะอินเดีย ใช้ภาษาอังกฤษ เป็นภาษาราชการอยู่แล้ว ถ้ายังงงๆ ไปไหนไม่ถูก ก็จับรถแท๊กซี่ ไปนอนพัก ตั้งหลักที่ วัดพุทธเบงกอล ก่อนได้เลย ราคาไม่แพง คืนละ ๒๐๐ รูปี แถมยังมีคนไทย ที่ผ่านเข้ามาพัก ให้ถามไถ่ได้ อยู่ไม่ขาด

สำหรับผู้ที่มีเวลาไม่มาก ถึงจะแพงสักหน่อย แต่การเดินทางไปกราบสังเวชนียสถาน กับกรุ๊ปทัวร์นั้น สะดวกกว่า เป็นไหนๆ ก่อนจะเดินทาง จากกัลกัตตา เมืองหลวงเก่า ของอินเดียต่อไป ผมใคร่จะฝาก บทกวีสักบท ดังนี้ครับ

ยึดเหนี่ยว
- เกิดเป็นคนต้องมีที่ยึดเหนี่ยว
จะไม่เหี่ยวโหยหาให้หวั่นไหว
มีที่ยึดถือไว้สบายใจ
เพื่อนวันวัยที่ดีของชีวิต
- สิ่งที่เด็กยึดถือคือพ่อแม่
คนเฒ่าแก่ยึดยิ่งสิ่งศักดิ์สิทธิ์
พวกนักปราชญ์ยึดธรรมนำทางทิศ
คนสิ้นคิดยึดถือคือเงินตรา

- คนมีหลายระดับนับไม่ถ้วน
เป็นกระบวนมนุษยชาติปรารถนา
จนเป็นสูตรสากลคนเกิดมา
ภูมิปัญญาคนเราไม่เท่ากัน
- บ้างยึดถือผีสางพวกนางไม้
บ้างบูชาวัวควายไปตามขั้น
จนกลายเป็นความเชื่อเหนือคืนวัน
ที่ผูกพันกายใจไปจนตาย

- คนกำเนิดเกิดมาทำหน้าที่
ศาสนาจึงมีมาไว้ให้
มีลึกตื้นต่ำสูงจูงใจกาย
ให้เลือกยึดถือได้ตามต้องการ
- คนยึดถือศาสนาว่าใหญ่ยิ่ง
ยึดสัจจริงว่าดีมีแก่นสาร
แล้วแต่ความเห็นดีที่ต้องการ
ความคิดอ่านต่างชั้นยึดกันไป

ไม้ร่ม

(ดอกหญ้า อันดับที่ ๑๐๐ มีนาคม - เมษายน ๒๕๔๕)