กสิกรรมพลิกฟื้นชาติ - นายกองฟอน -
หนทางของคนไม่พ้นไร่นา

เมืองไทยเป็นประเทศที่เหมาะแก่การเพาะปลูก เพราะมีสภาพภูมิประเทศ ภูมิอากาศ ที่เอื้ออำนวย ต่อการเจริญเติบโต ของพืชพันธุ์ธัญญาหาร ฉะนั้น ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน คนไทย จึงมีอาชีพ กสิกรรม เป็นหลัก ถึงแม้ว่าปัจจุบัน อาชีพอุตสาหกรรม จะเข้ามามีบทบาทกับคนรุ่นใหม่ พอสมควร แต่วิถีชีวิต คนไทยส่วนใหญ่ ก็ยังคงผูกพันกับการทำกสิกรรม เพราะถึงอย่างไร คนทุกคน ยังต้องการบริโภค อาหาร อยู่ทุกวัน ยิ่งเศรษฐกิจย่ำแย่ พืชพันธุ์ธัญญาหาร ก็ยิ่งสำคัญ และจำเป็นมาก

ปัจจุบันเป็นยุคของวัตถุนิยมที่ฟุ้งเฟ‰อฟุ่มเฟือย วิถีชีวิตคนไทยรุ่นใหม่ส่วนใหญ่ เปลี่ยนแปลงไป จากเดิมมาก ถ้าเกษตรกรรู้จักปรับตัว ปรับความคิด ด้วยการอยู่แบบพออยู่พอกิน ไม่ลื่นไหลไปกับสังคม วัตถุนิยม ที่ใช้สื่อต่างๆ ยั่วยุมอมเมาให้คนตกไปเป็นทาสวัตถุ ซึ่งส่วนใหญ่ ไม่ได้มีความจำเป็น แก่การดำเนินชีวิต ประจำวัน แต่อย่างใด ถ้าเกษตรกร สามารถอยู่ได้ ท่ามกลางเศรษฐกิจ ที่ล้มละลายแล้ว อาชีพกสิกรรม หลังสู้ฟ้า หน้าสู้ดิน จะเข้ามามีบทบาท ต่อสังคมในยุคต่อไป เพราะเมื่อ เศรษฐกิจล้มละลาย ไปไม่รอด สินค้าอุตสาหกรรม สินค้าฟุ่มเฟือยต่างๆ จะหมดคุณค่า ไปทันที ดูตัวอย่าง จากประเทศอาร์เจนติน่า ผู้คนเข้าไปปล้น เข้าไปแย่งชิงอาหาร ในห้างสรรพสินค้า ราคาอาหารแพงขึ้น เป็นเท่าตัว ความวิบัติ ความหายนะ ครอบคลุมไปทั่ว หัวทุกระแหง คอมพิวเตอร์ โทรศัพท์มือถือ อินเทอร์เน็ต ฯลฯ จะถูกมองข้าม ผ่านเลยไป และท้ายที่สุด คนก็ไม่พ้น ที่จะต้องบริโภค ปัจจัยสี่ และที่สำคัญคือ อาหารนั่นเอง

นักวิชาการออกมากล่าวกันมากว่า เมืองไทยจะเป็นแบบประเทศอารŒเจนติน่า เพราะฉะนั้น ผู้ที่ทำอาชีพ เพาะปลูก คงจะต้องตระหนักถึง ความสำคัญที่ต้องผลิตอาหาร เลี้ยงประชากรโลกต่อไป โดยเฉพาะ นักวัตถุนิยม ทั้งหลาย เพราะคนเหล่านี้ อาจลืมไปว่า "เงินทองเป็นของมายา ข้าวกล้องถั่วงาเป็นของจริง"

ของดี ราคาถูก ยึดตลาดไร้สารพิษ
ในระยะต้นเรื่องตลาดพืช ผัก ผลไม้ไร้สารพิษ จะมีปัญหาด้านความเชื่อมั่น ด้วยกันทั้งสองฝ่าย คือ เกษตรกรเอง ก็ไม่มั่นใจฝ่ายการตลาด ว่าจะรองรับผลผลิตได้เต็มที่ ฝ่ายตลาด ก็ไม่มั่นใจเกษตรกรว่า จะสามารถผลิต ตามที่ต้องการ โดยไม่ใช้สารเคมีใดๆเลย แต่กาลต่อมา ปรากฏว่า เกษตรกร สามารถผลิต ผลผลิตไร้สารพิษ ได้มากเกินกว่าตลาด ที่มีอยู่จะรองรับได้ ดังนั้น จึงจำเป็นต้องขยาย ตลาดเพิ่มขึ้น เพื่อรองรับ และขยายผล "โครงการกู้ดินฟ้า" ต่อไปตามกำลังและเรี่ยวแรง

ด้านการตลาดมีหลักสำคัญคือ "ของดี" กล่าวคือ ผลผลิตที่ได้มีคุณภาพ พืชผักผลไม้งอกงาม โดยการใช้ สารสกัด ที่ได้จากธรรมชาติ ไม่ใช้สารเคมีทุกชนิด และไม่มีสารเคมี ปลอมปนใดๆเลย ประการต่อมา "ราคาถูก" คือ ไม่ว่าจะเป็นผัก ผลไม้ หรือพืชไร่ เช่น ข้าว ถั่วต่างๆที่ได้ ถ้าสามารถ ขายต่ำกว่า ท้องตลาด ทั่วไปได้ ผลผลิตไร้สารพิษ จะขยายตลาดไปได้กว้างไกล เช่น ปัจจุบัน ลองกอง ราคาตลาดทั่วไป อยู่ที่ ๖๐ บาท ร้านค้าปลีกในเครือข่ายเรา สามารถขายได้ ๕๐ บาท หรือมังคุด ราคาตลาดอยู่ที่ ๑๘-๒๐ บาท ร้านค้าปลีกในเครือข่ายเรา สามารถขายได้ในราคา ๑๕ บาท อย่างนี้กล่าวได้ว่า ประสบความสำเร็จ แล้วระดับหนึ่ง และถ้าสามารถขายได้ ถูกกว่าท้องตลาด มากกว่านี้ ย่อมแสดงให้เห็น ถึงความอุดมสมบูรณ์ มากขึ้นเรื่อยๆ

ผลผลิตจะราคาถูกได้เมื่อต้นทุนการผลิตต่ำ เกษตรกรมีคุณธรรม ไม่ฉวยโอกาส ว่าผลผลิตไร้สารพิษ ควรจะราคาแพง มีความซื่อสัตย์ คือมีวิธีกรรมการผลิต ที่ไร้สารพิษจริงๆ เกษตรกรพึ่งตนเอง อยู่อย่าง พอเพียง ประกอบกับกระบวนการผลิต ที่ครบวงจร ระบบนิเวศทางธรรมชาติ ลงตัวมากขึ้น ต้นทุนการผลิต ก็จะยิ่งต่ำลง ตลาดไร้สารพิษ จะสามารถดำเนินไปได้ ต้องอาศัยทั้งเกษตรกร และฝ่ายการตลาด ที่เข้าใจ และ ร่วมมือกัน ไปในทิศทาง ของระบบ "บุญนิยม"

 

น้ำหมักและปุ๋ยชีวภาพ สูตร อ.สมหมาย หนูแดง
ปุ๋ยหมักแห้งชีวภาพ เป็นปุ๋ยอินทรีย์ที่ได้จากการนำมูลสัตว์ มาผสมคลุกเคล้า กับขี้เถ้าแกลบ หรือ กากอ้อย และ รำละเอียด โดยมีกากน้ำตาล และหัวเชื้อจุลินทรีย์ (น้ำหมักชีวภาพ) เป็นตัวเร่งปฏิกิริยา การย่อยสลาย ให้เป็นปุ๋ยอินทรีย์ ที่มีอนุภาคเล็กลง
องค์ประกอบ
มูลสัตว์ ๔๐๐ กก. กากน้ำตาล ๑ กก. ขี้เถ้าแกลบหรือกากอ้อย ๑๐๐ กก. น้ำสะอาด ๒๐๐ ลิตร หัวเชื้อ จุลินทรีย์ ๕ ลิตร รำละเอียด ๓๐ กก.
วิธีทำ
๑. เทมูลสัตว์ ขี้เถ้าแกลบหรือกากอ้อย และรำละเอียดเข้าด้วยกัน
๒. ผสมกากน้ำตาล น้ำสะอาด และหัวเชื้อจุลินทรีย์ให้เข้ากัน แล้วรดลงบนกองวัตถุดิบ
๓. คลุกเคล้าให้เข้ากัน จนมีความชื้นประมาณ ๔๐ %
๔. เกลี่ยกองปุ๋ย สูงประมาณ ๓๐ ซม. แล้วคลุมกองปุ๋ยหมักไว้ ๕-๗ วัน

วิธีนำไปใช้
๑. ใส่ปุ๋ยหมักแห้งชีวภาพ ๒ กก./ตารางเมตร คลุกเคล้าให้เข้ากัน หลังจากได้ชักร่อง เรียบร้อยแล้ว

๒. ผักกินใบ ใส่ปุ๋ยหมัก โรยแต่งหน้าให้ทั่วแปลง หลังเมล็ดงอก หรือหลังย้ายกล้าทุก ๑๕ วัน อัตรา ๑ กก./ตารางเมตร/ครั้ง

ผักกินผล ใช้ปุ๋ยหมักโรยบริเวณโคนต้นในระยะติดผล และหลังเก็บผลผลิตทุกครั้ง อัตรา ๕๐-๑๐๐ กรัม/ต้น/ครั้ง

น้ำหมักชีวภาพเป็นของเหลวสีน้ำตาลข้น ได้จากการย่อยสลายเซลล์พืช หรือเซลล์สัตว์ และเติม กากน้ำตาล ให้เป็นแหล่งพลังงาน ของจุลินทรีย์ ที่ทำหน้าที่ย่อยสลาย ของเหลวที่ได้ ประกอบด้วย คาร์โบไฮเดรต โปรตีน กรดอะมิโน ธาตุอาหาร เอ็นไซม์ และฮอร์โมนพืช ในปริมาณที่แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับพืชที่นำมาหมัก ได้แก่
- พืชสด เช่น ผักบุ้ง กวางตุ้ง คะน้า ผักกาดขาว ฯลฯ
- ผลไม้สุก เช่น กล้วยน้ำว้า มะละกอ ฟักทอง ฯลฯ
- ผลไม้ดิบ เช่น กล้วยน้ำว้า มะละกอ ฯลฯ
- สมุนไพรกลิ่นฉุนหรือมีรสเผ็ด เช่น สาบเสือ ขิงแก่ ข่าแก่ เหง้ากระชาย พริก พริกไทย กะเพรา ลูกลำโพง ตะไคร้หอม บอระเพ็ด ดีปลี ใบสะเดา ฯลฯ
- สมุนไพรรสฝาดหรือขม เช่น เปลือกเงาะ เปลือกต้นแค เปลือกต้นข่อย เปลือกต้นหว้า เปลือกมังคุด เปลือกทับทิม ใบแสยก ใบขาไก่ ใบยูคาลิปตัส กระเทียม กานพลู ชะพลู ลูกตะโกดิบ มะพลับดิบ ลูกหมากดิบ ฯลฯ

ส่วนประกอบน้ำหมักชีวภาพจากพืช
พืชผักสด, ผลไม้สุก, สมุนไพร ๓ กก. หั่น สับ หรือโขลกให้เป็นชิ้นเล็กๆ ผสมกากน้ำตาล ๑ กก. คลุกเคล้า ให้เข้ากัน แล้วบรรจุลงถังพลาสติก หมักอย่างน้อย ๗ วัน จะได้น้ำหมักชีวภาพจากพืช

วิธีนำไปใช้
๑. เมื่อชักดิน ย่อยดิน พร้อมทั้งใส่ปุ๋ยหมักแล้ว รดน้ำให้ผิวดินชื้น แล้วใช้น้ำหมักฯ และกากน้ำตาลอย่างละ ๕ ลิตร ผสมกับน้ำ ๑,๐๐๐ ลิตร รดให้ทั่ว และรดซ้ำอีกครั้งในอัตราเดียวกัน ในวันรุ่งขึ้นตอนเช้า หรือ เย็นก็ได้

๒. ฉีดพ่นหรือรดด้วยน้ำหมักชีวภาพทุก ๕-๗ วัน ในอัตรา ๓๐-๕๐ ซีซี./น้ำ ๒๐ ลิตร หลังเมล็ดงอก หรือ หลังย้ายกล้า ประมาณ ๗ วัน กรณีมีโรคที่เกิดจากเชื้อรา หรือแมลงศัตรูพืช ให้ใช้น้ำหมัก สมุนไพร ชนิดป้องกัน กำจัดเชื้อรา หรือแมลง ผสมในอัตรารวมกัน ไม่เกิน ๓๐-๕๐ ซีซี./น้ำ ๒๐ ลิตร
(แหล่งข้อมูล อ.สมหมาย หนูแดง ๑๙ ม. ๘ ต.หนองแขม อ.โคกสำโรง จ.ลพบุรี)

ท่านใดมีประสบการณ์ ในการทำกสิกรรมธรรมชาติ ต้องการแลกเปลี่ยน แสดงความคิดเห็น หรือ เผยแพร่ เทคนิคใหม่ๆ ที่น่าสนใจ รวมถึงสูตรน้ำหมักบำรุงพืชผัก และสารขับไล่แมลง ส่งมาได้ที่ email : [email protected] จะนำเผยแพร่เป็นวิทยาทานต่อไป

(ดอกหญ้า อันดับที่ ๑๐๑ พฤษภาคม - มิถุนายน ๒๕๔๕ ฉบับ จุดเทียนพรรษา)