ประโยชน์ของเก้าอี้
มีก็ต่อเมื่อมัน ว่าง
- อุบาสิกา คุณรัญจวน อินทรกำแหง บรรยาย ณ ชมรมพุทธ โรงพยาบาลรามาธิบดี เมื่อ พ.ศ.๒๕๓๐

เรามักจะนึกถึงกันแต่เพียงว่า สิ่งนั้นสิ่งนี้มีประโยชน์อย่างไร แต่ไม่ค่อยได้นึกถึงว่า มันมีประโยชน์เมื่อใด ไม่มีประโยชน์เมื่อใด เราจะรู้สึกว่ามันทำประโยชน์ให้แก่เราไม่ได้ ก็ต่อเมื่อสิ่งนั้นมันไม่ว่าง

ท่านเพื่อนผู้สนใจในธรรมทุกท่าน
หัวข้อการบรรยายที่กำหนดไว้ในวันนี้ ดิฉันได้มาจากหนังสือ 'อสีติสังวัจฉรายุศมานุสรณ์' ซึ่งเจ้าประคุณ ท่านอาจารย์พุทธทาส ท่านได้จัดทำขึ้น เพื่อเป็นธรรมบรรณาการแก่ญาติมิตร ลูกศิษย์ และผู้ไปร่วมงาน ธรรมสมโภช เมื่อท่านอายุได้ ๘๐ ปี ดิฉันสะดุดตา และสะดุดใจภาพ ที่ท่านอาจารย์กำลังยืนจับเก้าอี้อยู่ และมีคำบรรยายว่า 'ประโยชน์ของเก้าอี้ มีก็ต่อเมื่อมันว่าง'

จึงขอนำมาเป็นหัวข้อที่เราจะได้พูดกันในวันนี้

ที่ยกเอาเรื่องนี้ขึ้นมาพูด เพราะคิดขึ้นมาได้ว่า คนส่วนใหญ่รวมทั้ง ตัวดิฉันเองด้วยเหมือนกัน ที่นึกกันแต่ว่า เก้าอี้มีไว้สำหรับนั่ง แก้วสำหรับใส่น้ำ ชามสำหรับใส่แกง จานสำหรับใส่ข้าว บ้านก็สำหรับอยู่ รถยนต์สำหรับนั่ง ไปไหนมาไหน โรงเรียนมหาวิทยาลัย สำหรับเล่าเรียน โรงพยาบาล มีไว้สำหรับผู้ป่วย แพทย์ก็มีไว้ รักษาคนไข้ พยาบาลมีไว้ เพื่อดูแลรักษาผู้ป่วย เหล่านี้เป็นต้น มันต่างก็มีความสำคัญ ในตัวของมันเอง แต่สิ่งเหล่านี้ จะมีประโยชน์ ก็ต่อเมื่อมันว่าง

คุณหมอจะมีประโยชน์ ก็ต่อเมื่อ คุณหมอมีเวลาว่างให้คนไข้ เตียงในโรงพยาบาล จะมีประโยชน์ก็ต่อเมื่อ เป็นเตียงว่าง ที่จะให้ ผู้ป่วยเจ็บได้นอนพักรักษา รถเมล์จะมีประโยชน์ ต่อผู้โดยสาร ก็ต่อเมื่อมีที่ว่าง ให้แทรกตัวเข้าไปได้ รถไฟ เครื่องบิน ก็เช่นเดียวกัน ห้องส้วม ซึ่งเป็นสถานที่สำคัญที่สุด จะมีประโยชน์ ก็ต่อเมื่อมันว่าง เมื่อต้องการจะใช้ เรามักจะนึกถึงกันแต่เพียงว่า สิ่งนั้นสิ่งนี้ มีประโยชน์อย่างไร แต่ไม่ค่อยได้นึกถึงว่า มันมีประโยชน์เมื่อใด ไม่มีประโยชน์เมื่อใด เราจะรู้สึกว่า มันทำประโยชน์ ให้แก่เราไม่ได้ ก็ต่อเมื่อ สิ่งนั้นมันไม่ว่าง

ถ้าจะย้อนมาดูกันว่า อะไรเล่าเป็นสิ่งบอกว่า ว่างหรือไม่ว่าง ในเมื่อโต๊ะมันก็อยู่ของมัน เก้าอี้มันก็อยู่ของมัน รถเมล์ รถไฟ โรงพยาบาล เตียงคนไข้ ห้องน้ำ ห้องส้วม ถ้วยโถโอชามที่อยู่ในครัว มันต่างก็อยู่ของมันเฉยๆ แล้วอะไร ที่บอกว่า มันว่างหรือไม่ว่าง และเป็นต้นเหตุ ให้เกิดความพอใจไม่พอใจ

สิ่งที่เป็นตัวกำหนดก็คือจิตนั่นเอง ไม่ใช่สิ่งที่มองเห็นข้างนอก รถเมล์ไม่ได้บอกว่า ฉันไม่ว่างไปไม่ได้ ในเที่ยวนี้ เตียงคนไข้ไม่ได้บอกว่า ฉันว่างหรือไม่ว่าง แต่จิตที่รับรู้ผ่านตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ต่างหาก ที่บอกว่า มันเป็นอย่างไร ทำให้ดิฉันมองเห็นว่า วัตถุที่อยู่รอบตัวเรานี้ จะเกิดประโยชน์ได้ ถ้าเรารู้สึกว่า มันว่าง

ทำไมจิตจึงชอบไปกำหนดในสิ่งที่ไม่ว่าง แล้วรับมาเป็นปัญหา ทำไมไม่มองดูสิ่งต่างๆ ให้มันว่าง เพื่อให้เกิด ประโยชน์แก่ชีวิต ให้เบิกบานแจ่มใส ผ่องใสตลอดไป อะไรเป็นสาเหตุให้ว่างไม่ได้ เมื่อพิจารณาดูก็ได้
คำตอบว่า ที่จิตของเรามีแต่ความวุ่น ไม่เห็นประโยชน์ของความว่าง ก็เพราะไม่เห็นความจริง ที่ซ่อนอยู่ ในความลวง ก็เลยยึดมั่นถือมั่น เอาความลวง หรือสิ่งลวง อันเป็นมายา ที่มองเห็นอยู่ข้างนอกนั้น ว่าเป็นของจริง

ตัวอย่างเช่น ไม่เห็นความแห้งที่ซ่อนอยู่ในความสด ความแก่ที่ซ่อนอยู่ในความเป็นหนุ่มเป็นสาว ความตาย ที่ซ่อนอยู่ ในความเกิด ความมืดที่ซ่อนอยู่ในความสว่าง ความเสียที่ซ่อนอยู่ในความได้ ความโง่ที่ซ่อนอยู่ ในความฉลาด ความทุกข์ที่ซ่อนอยู่ ในความสุข ความว่างที่ซ่อนอยู่ในความวุ่น ความไม่มีที่ซ่อนอยู่ ในความมี เป็นต้น

ถ้าหากว่าท่านจะลองคิดดูเองก็จะพบอะไรๆ อีกมากมายที่ซ่อนอยู่โดยเรามองไม่เห็น แล้วเราก็ยึดเอา แต่ภายนอก เท่าที่มองเห็นว่า มันเป็นจริง ทั้งนี้ก็เพราะความสด ความเป็นหนุ่มเป็นสาว ความเกิด ความสว่าง หรือความสุขก็ดี เป็นสิ่งที่ เราพึงพอใจ เราจึงยึดอยู่ในสิ่งนั้น และมองไม่เห็น ความแห้ง เหลืองกรอบ ที่ซ่อนอยู่ในความเขียวชอุ่ม อย่างพร้อมที่จะเป็นไป ในวันหนึ่ง เมื่อถึงเวลาที่มัน เปลี่ยนแปลง ไปจริงๆ จากความสด เป็นความเหี่ยวเฉา กรอบแห้ง ความหนุ่มสาว เป็นความแก่ชราร่วงโรย ความสุข เป็นความทุกข์ เราจึงไม่สามารถจะทนรับได้ และความว่าง จึงเกิดขึ้นไม่ได้ในจิต

เมื่อมีความเกิดที่บ้านใด ก็จะมีแต่การแสดงความยินดี อวยชัยให้พร พอใจที่มีชีวิตใหม่เกิดขึ้น แต่ไม่มีใคร ยอมรับว่า มันมีความตาย ซ่อนอยู่ในนั้น มองเห็นแต่ความสด ความสวย ความหนุ่มสาว แต่ไม่เห็นว่า ความเกิดนี้ กำลังย่างกราย ไปสู่ความตาย ไม่ยอมรับ เพราะรับแล้ว มันเศร้าเกินไป นี่คือเหตุหนึ่ง ที่ทำให้เกิด ความประมาทขึ้น

หรือความมืดที่ซ่อนอยู่ในความสว่าง เราก็เห็นกันอยู่ทุกวันทุกคืน สว่างแล้วก็มืด มีความมืดซ่อนอยู่ ในความสว่าง ตลอดเวลา ความเสียที่ซ่อนอยู่ในความได้ ไม่มีใครได้อะไรแล้วไม่เคยเสีย ได้ยศ ได้ตำแหน่ง ได้การงาน ได้ทรัพย์สิน เงินทอง บ้านช่อง ลูกหลาน บริวาร มันมีความเสียแทรกอยู่ทั้งนั้น

แม้แต่ได้ความรัก ที่มองดูเหมือกับว่ามันจะหวานสดชื่น แต่ในความรักนั้นเราเสียอะไรไปบ้าง เมื่อเราได้รับ ความรัก สิ่งที่เราเสียไป ก็คือ ความเป็นอิสระ ใช่หรือไม่ ในขณะที่ยังไม่มีความรัก เรายังมีอิสระอย่างเต็มที่ แต่เมื่อมี ความรักเกิดขึ้น เราต้องเสียความเป็นอิสระไปทันที

เมื่อมีอำนาจ ได้อำนาจมา เสียอะไรไป ดูได้จากท่านผู้มีอำนาจทั้งหลาย ก็ต้องเสียความเป็นอิสระ อีกนั่นแหละ เสียความเป็นอิสระ ในความเป็นตัวของตัวเอง ที่จะทำอะไรได้ อย่างที่เคยทำ ฉะนั้น ในความได้ทุกอย่าง จะมีความเสีย ซ่อนอยู่ในนั้น

ในความฉลาดก็มีความโง่ซ่อนอยู่ ดิฉันมองดูตัวเอง ก็เพิ่งมองเห็นว่าความโง่ของตัวเองนี้มีมาก เมื่อก่อน ก็คิดว่า เราเป็นคนฉลาด พอสมควร ฉลาดในการเรียน ในการทำงาน จนกระทั่ง มีตำแหน่งการงานพอใช้ได้ แต่ไม่เคยรู้เลยว่า ในความฉลาดนั้น มันมีความโง่ซ่อนอยู่ตลอดเวลา ทำไมจึงว่าโง่ เพราะในความฉลาด ที่มีอยู่นั้น เราก็ยังคงเป็นทุกข์ เกลือกกลิ้ง อยู่กับความทุกข์

ในการนำความฉลาดมาใช้ในการทำงาน ในการดำรงชีวิต ทั้งในด้านส่วนตัวและในด้านอื่นๆ ที่มีส่วน เกี่ยวข้อง เราเกลือกกลิ้ง กับความทุกข์อยู่ตลอดเวลา นี่แสดงว่าเราไม่ได้ฉลาดจริง ถ้าเราฉลาดจริง มันไม่น่า จะมีความทุกข์ เกิดขึ้น เพราะเราโง่ เราจึงไม่รู้ว่า จะทำอย่างไร จึงจะใช้ความฉลาดนั้นให้ถูกต้อง จนกระทั่ง จิตใจนั้น ไม่ต้องเป็นทุกข์

เรามองไม่เห็นความทุกข์ที่ซ่อนอยู่ในความสุข ถ้าความสุขเกิดขึ้นเราก็เบิกบานแจ่มใส และพร้อม ที่จะเรียกร้อง ต้องการ ความสุขนั้น โดยที่เรามองไม่เห็นว่า ในความสุขนั้น มีความทุกข์ซ่อนอยู่ จึงเปรียบว่า ความสุข เหมือนกับควันไฟ ที่เรามอง เราก็เห็น แต่เมื่อเราเอื้อมมือไปจับ ไม่มีใครสามารถ จับควันไฟ ได้สักคนเดียว มันหายวับไปกับตา นี่แหละคือ ลักษณะของสิ่งที่เรียกว่า ความสุข

แต่เราก็ยังยึดถือความสุข เพราะอะไร
เพราะเราพอใจ เพราะเราชอบ และเรารู้สึกว่า มันให้ความชุ่มชื่นเบิกบานแก่จิตใจ

เมื่อย้อนทบทวนดูว่า ความสุขนั้นเกิดจากอะไร เกิดจากการได้อย่างใจ สมใจปรารถนา แล้วเราก็รู้สึกว่า นี่คือความสุขใช่หรือไม่ แล้วในชีวิตนี้เราเคยได้อะไรอย่างใจทุกครั้งทุกคราวไหม มันก็มีได้เพียงบางครั้ง สิบครั้งอาจจะมีครั้งเดียวที่เราได้อย่างใจ ในความสุขนั้น มีความทุกข์ซ่อนอยู่เสมอ มีคำกลอน ของเจ้าประคุณ ท่านอาจารย์พุทธทาส บทหนึ่งว่า

ความเอ๋ย ความสุข
ใครๆ ทุก คนชอบเจ้า เฝ้าวิ่งหา
"แกก็สุข ฉันก็สุข ทุกเวลา"
แต่ดูหน้า ตาแห้ง ยังแคลงใจ
ถ้าเราเผา ตัวตัณหา ก็น่าจะสุข
ถ้ามันเผา เราก็ "สุก" หรือเกรียมได้
เขาว่าสุข สุขเน้อ อย่าเห่อไป
มันสุขเย็น หรือสุกไหม้ ให้แน่เอยฯ

เพราะฉะนั้นเมื่อเวลาที่บอกว่าสุขๆ นั้น ดูเสียให้ดีว่ามันเป็นสุขจริงหรือ ภายใต้สุขนั้นมันมี "สุก" ซ่อนอยู่หรือไม่ เมื่อมี "สุก" ซ่อนอยู่ ก็หมายความว่า นั่นแหละคือความทุกข์ที่ซ่อนอยู่ในความสุข

ในเรื่องความว่างซ่อนอยู่ในความวุ่นนั้น จะเห็นได้ในขณะที่จิตวุ่นวาย ไม่สงบ ถ้าเราหายใจเข้ายาว ออกยาว สักพัก ความวุ่นวายจะหายไป มีความว่างเข้ามาแทนที่ ซึ่งเราจะมองเห็นได้ทันตาเลยว่า ในความวุ่นนั้น มีความว่าง ซ่อนอยู่ใกล้ๆ เพียงแต่เรารู้จักหาให้พบ ความว่างก็จะเกิดขึ้น และนำมาใช้ประโยชน์ได้

ความไม่มีซ่อนอยู่ในความมี ซ่อนอยู่ได้อย่างไร

ความมีที่เรามองเห็น เช่น มียศ มีทรัพย์ มีตำแหน่ง บริวาร ข้าทาส มีครอบครัว ลูกหลาน สามีภรรยา และอะไร ต่ออะไรอีกเยอะแยะ แต่แล้ววันหนึ่งความมีนั้นมันก็หายไป โดย-เฉพาะอย่างยิ่งความมี "ของฉัน" ความมีทั้งหลาย ที่มีอยู่นั้น เป็นความมี "ของฉัน" ทั้งสิ้น ลองมองดูว่าความมีนั้นมันอยู่ตรงไหน อยู่ที่ชื่อหรือ ก็ไม่ใช่ เพราะบางคน มีตั้งหลายชื่อ ทั้งชื่อเล่น ชื่อจริง นามแฝง นามปากกา แล้วจะเอาอะไรมากำหนดว่า นี่คือฉัน ถ้าจะเอาตำแหน่ง มากำหนดว่า นี่คือตำแหน่งหัวหน้ากอง อธิบดี รัฐมนตรี ว่านี่คือตัวฉัน แล้วมัน ยั่งยืนหรือเปล่า หรือจะเอาที่ ครอบครัวฉัน ตรงไหนล่ะคือ ครอบครัวของฉัน

ใกล้เข้ามา จับดูร่างกายว่านี่แหละตัวฉัน เชื่อว่าท่านผู้เป็นแพทย์และพยาบาล จะบอกได้ดี ไม่มีใคร บอกว่า ผ่าตัดตัวฉันหน่อย ผ่าตัดตัวเขาหน่อย แต่จะบอกว่า ผ่าตัดสมอง ผ่าตัดกระเพาะ แขน ขา แล้วตรงไหน คือตัวฉัน ทุกส่วนที่เรียกชื่อกันขึ้นมา ล้วนเป็นสมมุติ ใช้เรียกขาน โดยไม่สามารถชี้ได้ว่า ตรงไหนคือตัวฉัน แต่แม้กระนั้น เราก็ยังคงวุ่นวาย เป็นทุกข์กันอยู่ ด้วยสิ่งที่เรียกว่า "ตัวฉัน" และ "ของฉัน" อยู่ตลอดเวลา เพราะเรามองไม่เห็น ความไม่มี ที่ซ่อนอยู่ในความมี

พอคิดว่ามี เราก็ยึดว่ามีและต้องเป็นของฉัน บ้านของฉัน ลูกของฉัน สามีของฉัน ภรรยาของฉัน พี่ของฉัน น้องของฉัน ตลอดจน ยศศักดิ์ ตำแหน่งหน้าที่ ศักดิ์ศรีของฉัน เกียรติยศของฉัน ความก้าวหน้า ความเจริญ ของฉัน มันก็เลยติดจม อยู่ตรงนั้นเอง ไปไหนไม่ได้

การที่เราไม่สามารถจะเห็นความจริงที่ซ่อนอยู่ในความลวงได้นี้เอง ที่เป็นต้นเหตุเป็นต้นตอของปัญหา ทำให้ไม่สามารถ จะใช้ประโยชน์ ของสิ่งที่ควรใช้ได้อย่างเต็มที่ และไม่สามารถ ทำให้เกิดความว่าง ได้อย่างแท้จริง มีแต่ความวุ่น อยู่ตลอดเวลา

หากเราลองมานั่งใคร่ครวญดูว่า ในชีวิตที่ผ่านมานี้ เราได้ผ่านอะไรมาบ้างที่เป็นมายา หลอกลวง ให้เราวิ่งเล่น ซ่อนหากับมัน เราพยายามไล่ตาม มันหยุดรอให้เราเอื้อมมือไปจับ เหมือนจะจับได้ไล่ทัน แต่แล้วก็หลุดมือ วิ่งหนีเราไปอีก พิจารณาดูให้ดี เราจะมองเห็นสิ่งที่ซ่อนอยู่อีกมากมาย

ทำอย่างไรเราจึงจะว่างได้
ข้อเสนอแนะประการแรก ก็ขอเรียนว่า เราต้องพยายามที่จะเห็นความจริงที่ซ่อนอยู่ ในความลวง เห็นให้ตรงกับ ความเป็นจริง ตามกฎของธรรมชาติ ถ้ายังมองเห็นได้ไม่ชัดเจน ก็ขอให้ฝึกว่า เห็นอะไรแล้ว อย่าเพิ่งหลงใหล อย่าเพิ่งรักใคร่ จงพยายามเจาะทะลุ เข้าไปให้ถึงตัวจริง ที่มันซ่อนอยู่ เห็นตัวจริง ที่ซ่อนอยู่ ได้เมื่อไหร่ เมื่อนั้น ก็เรียกได้ว่า เราได้เห็นความจริงนั้นตามกฎธรรมชาติ

สิ่งที่เรียกว่า กฎของธรรมชาตินี้ เชื่อว่าทุกท่าน คงคุ้นเคยกันดีอยู่แล้ว นั่นคือ กฎไตรลักษณ์ ที่แจกออกมา เป็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา นี้เป็นสิ่งที่อยากเรียนว่า ตัวดิฉันเองได้ใช้ประโยชน์มากที่สุด มากเหลือเกิน เมื่อเรามองเห็น ความเป็น อนิจจัง ในสิ่งที่เป็นความลวง เราก็จะไม่ยึดมั่นกับมัน พอมองเห็นความสด เราก็ไม่ยึดหวงความสด มองเห็น ความหนุ่มสาว เราก็ไม่ยึดอยู่ในความหนุ่มสาว มีความได้ขึ้นมา เราก็ไม่ยึดกับความได้ เพราะมองเห็น ความเสีย ที่ซ่อนอยู่ เช่นเดียวกันกับ เมื่อรู้สึกตัวว่า กำลังเป็นสุข ก็ไม่หลงเพลิดเพลินความสุข ใจนั้นพร้อมอยู่ ด้วยความ ไม่ประมาทว่า ความทุกข์กำลังซ่อนอยู่ และจะคืบคลาน เข้ามาใกล้ ได้ทุกนาที เมื่อความมีเกิดขึ้น ก็มองเห็น ความไม่มี ที่ซ่อนอยู่ทันที

สิ่งนี้จะช่วยให้จิตใจของเรา เกิดความไม่ประมาท จะไม่ปล่อยให้จิตหลงใหลอยู่ในความยึดมั่นถือมั่น อันเป็น ความลวง เราก็จะพยายามปล่อยมันออกไป เพราะมองเห็นแล้วว่า ในความสดมีความแห้ง ในความหนุ่มสาว มีความแก่ ในความฉลาดก็มีความโง่ซ่อนอยู่ จนในที่สุด ก็จะมองเห็นความจริง ตามกฎของธรรมชาติ มองเห็นความเปลี่ยนแปลง ที่ซ่อนอยู่ ในสิ่งที่ดูเหมือนคงที่

ในเรื่องของความเปลี่ยนแปลงนี้ เราเห็นอยู่ทุกครั้งที่ส่องกระจก สำหรับท่านที่อยู่ในโรงพยาบาล ได้มีโอกาส คลุกคลีกับ ความเจ็บไข้อยู่เสมอ ก็จะมองเห็นความเปลี่ยนแปลง ที่เกิดมีอยู่ทุกขณะจิต เมื่อมองเห็น ความเปลี่ยนแปลง ก็จะเห็นทุกข์ ที่ซ่อนอยู่ในนั้น

ทุกข์ หมายถึงสิ่งที่มีความน่าเกลียด ที่มันน่าเกลียดก็เพราะมันมีความเปลี่ยนแปลง ถ้าหากว่า มันคงที่อย่างใจเรา เราก็จะไม่รู้สึกว่า มันน่าเกลียด แต่นี่เพราะมันมีความเปลี่ยนแปลง มันจึงเกิด ความน่าเกลียด เพราะมันนำเอา ความทุกข์ ความทรมาน ความขมขื่น เจ็บปวดมาสู่เรา

และเมื่อสิ่งใดมีความเปลี่ยนแปลงและมีความน่าเกลียดเช่นนี้ มันก็ย่อมเป็นอนัตตา หมายถึง สิ่งอันมิใช่ตัว มิใช่ตน ไม่มีสาระ ไม่มีแก่นสาร หากเราพยายามมองดูกฎของธรรมชาติ เช่นนี้อยู่เสมอ เราก็จะมองเห็น ตถตา อยู่ในนั้น คือ ความเป็นเช่นนั้นเอง

เมื่อดิฉันไปสวนโมกข์ครั้งแรก เจ้าประคุณ ท่านอาจารย์ท่านก็บอกว่า ให้เห็นตถตา คือเช่นนั้นเอง ดิฉัน ก็เรียนท่านว่า ดิฉันไม่เห็นหรอก ทำไมดิฉันถึงไม่เห็น ก็เพราะมันเป็นคำพูดธรรมดา ดูไม่มีความขลัง ไม่มีความศักดิ์สิทธิ์ ไม่ชวนให้อยาก จะเข้าใจเลย ท่านก็บอกว่า เอาเถิด ไม่เข้าใจก็ไม่เป็นไร ดูไปๆ ตถตานี้น่ะ มันมาจากไตรลักษณ์ ท่านได้พบคำ ตถตา นี้ในพระไตรปิฎก ฉบับบาลี ท่านพิจารณาแล้วเห็นว่า ตถตา หมายถึง ความเป็นเช่นนั้นเอง มันเป็นอยู่ ในตัวของมันเอง เปลี่ยนเป็นอย่างอื่นไม่ได้ ก็คือ ความเป็นไป ตามกฎของธรรมชาติ มีความเปลี่ยนแปลง เป็นทุกข์ และมิใช่ตัวตน

เมื่อศึกษาด้วยการดูธรรมชาตินานๆ เข้า ทั้งธรรมชาติภายนอก และธรรมชาติในจิตใจของเรา ก็เห็น ความเปลี่ยนแปลง ที่เกิดขึ้น ตลอดเวลา ประเดี๋ยวดี ประเดี๋ยวไม่ดี ประเดี๋ยวสุข ประเดี๋ยวทุกข์ ประเดี๋ยว อยากจะร้องไห้ ประเดี๋ยวอยาก จะหัวเราะ ประเดี๋ยวตื่นเต้น ประเดี๋ยวเศร้าหมอง ประเดี๋ยวขมขื่น ประเดี๋ยว ชื่นบาน มันเปลี่ยนแปลงอยู่ ตลอดเวลา ทั้งๆ ที่บอกว่า ใจของฉันนะ จิตของฉันนะ แต่ก็ไม่สามารถบังคับได้

ดูไปๆ ดิฉันก็ค่อยๆ ซึมซาบกับ "ตถตา" หรือ "เช่นนั้นเอง" ทีละน้อยๆ และมองเห็นว่า นี้เองที่จะช่วยให้เรา ได้พ้น จากการยึดมั่น ถือมั่น ในสิ่งที่เรียกว่า ความลวง ที่ทำให้เราล้มลุกคลุกคลาน ขึ้นๆ ลงๆ กระโดด โลดเต้นอยู่ ตลอดเวลา อันไม่ใช่สิ่งที่สมควรกระทำ

เราเคยคิดว่าตัวเองเป็นคนฉลาด ที่แท้เราหลอกตัวเอง การยอมให้ใจหวั่นไหว สะทกสะท้าน ล้มลุก คลุกคลาน อยู่ตลอดเวลา ไม่ใช่ใจของคนฉลาด มันเป็นของคนโง่ต่างหาก จึงไม่สามารถจะบังคับใจ ของตนเองได้

ฉะนั้น การพยายามดูให้เห็นความจริง ที่ซ่อนอยู่ในความลวง อย่างตรงตามความเป็นจริง ตามกฎของ ธรรมชาติ ให้เห็นไตรลักษณ์ และตถตาอยู่ในนั้น ก็จะช่วยให้จิต มีความว่างขึ้นได้

ข้อเสนอที่ ๒ ก็คือ การพยายามเข้าถึงกฎอิทัปปัจจยตา หรือกฎของเหตุปัจจัย ทั้งในฝ่ายที่ให้คุณ และ ในฝ่ายที่ให้โทษ มองดูทั้งสองอย่าง ทุกสิ่งที่มันเป็น ที่มันเกิดขึ้น ล้วนมาจากเหตุปัจจัย ที่ได้ประกอบขึ้น เช่นนั้น หากประกอบ เหตุปัจจัยที่ถูกต้อง แน่นอนที่สุด ผลของมันก็ย่อมถูกต้อง ถ้าประกอบเหตุปัจจัยผิด ผลของมันก็ย่อมผิด ถ้าได้ประกอบ เหตุปัจจัย ที่ยึดมั่น อยู่ในความลวงแล้ว ผลของมัน จะเป็นความว่าง ได้อย่างไร แต่ถ้าประกอบเหตุปัจจัย ด้วยการมองเห็นความจริง ที่ซ่อนอยู่ในความลวง ความวุ่น ก็ย่อม จะหายไป มีความว่างเข้ามาแทนที่

ข้อที่ ๓ ก็ขอเสนอว่า ได้โปรดพยายามที่จะอบรมจิตใจของเราให้เข้าถึง สิ่งที่เรียกว่า เป็นหัวใจ ของพระพุทธศาสนา นั่นก็คือ "สัพเพ ธัมมา นาลัง อภินิเวสายะ สิ่งทั้งหลายทั้งปวง ไม่พึงยึดมั่นถือมั่น"

ดิฉันได้เคยอ่านหนังสือของเจ้าประคุณท่านอาจารย์พุทธทาสมาตั้ง ๓๐ กว่าปีมาแล้ว โดยที่ไม่เคยเป็น ลูกศิษย์ของท่าน และสิ่งที่ติดใจดิฉันอยู่ จากหนังสือนั้นนั่นก็คือ "สัพเพ ธัมมา นาลัง อภินิเวสายะ" เมื่อดิฉัน ออกจากบ้าน สนใจที่จะมามีชีวิตอย่างนี้ ก็ไม่เคยคิดจะไปสวนโมกข์ แต่ได้ไปเป็นลูกศิษย์ ท่านอาจารย์ หลวงพ่อชา วัดหนองป่าพง ใครๆ ก็ถามว่าทำไมไม่ไปสวนโมกข์ ดิฉันตอบไม่ได้อย่างชัดเจนว่า ทำไมถึงไม่ไป แต่ทั้งๆ ที่ไม่ได้ไป ในตอนนั้น ธรรมะข้อนี้ ก็ติดอยู่ในใจตลอดเวลา โดยไม่รู้ว่าเป็นธรรมะ นี่เป็น ความโง่ของคน ที่คิดว่าตัวฉลาด

ดิฉันมี "สิ่งทั้งหลายทั้งปวงไม่พึงยึดมั่นถือมั่น" อยู่ในใจ ตั้งแต่เมื่อครั้งยังทำงานและดำรงชีวิตอย่าง ผู้คนทั้งหลาย พอมีทุกข์เกิดขึ้น ในทางการงานก็ตาม ส่วนตัวก็ตาม คือเมื่อมีอะไรไม่ได้อย่างใจ ก็ฮึดฮัด อึดอัด ขัดเคืองอยู่ พอถึงที่สุดเข้า "สิ่งทั้งหลายทั้งปวงไม่พึงยึดมั่นถือมั่น" ก็เข้าสู่ใจ เวลาที่จะเขียน วรรณกรรม หรือบทความ ที่มีอะไร เกี่ยวกับชีวิต "สิ่งทั้งหลายทั้งปวง ไม่พึงยึดมั่นถือมั่น" ก็จะหลุดออกมา ในข้อเขียน ของดิฉัน หรือเวลาที่ไปบรรยาย อบรมครู หรือในการอภิปรายทั่วไปก็ตาม "สิ่งทั้งหลายทั้งปวง ไม่พึงยึดมั่นถือมั่น" ก็หลุดออกมาโดยไม่รู้ตัว

อาจจะเป็นเพราะสิ่งที่ฝังอยู่ในจิตใจของดิฉันนี้เอง ที่ทำให้จิตใจของดิฉันอ่อนลงๆ และผ่อนคลาย จากความยึดมั่น ถือมั่นว่า สิ่งนี้ต้องเป็นสิ่งนี้ สิ่งนั้นต้องเป็นสิ่งนั้น มันจะเปลี่ยนแปลง เป็นอื่นไปไม่ได้ ในที่สุด ดิฉันก็รู้สึกว่า ที่เรายึดเอาไว้ เป็นฉัน ชื่อนี้ นามนี้ ตำแหน่งนี้ หรือว่าศักดิ์ศรีอย่างนี้ แท้จริงไม่รู้ อยู่ที่ไหนเลย แล้วก็ค่อยๆ ปล่อยมันออกไปได้ ในวันหนึ่ง จนกระทั่งมาอยู่อย่างนี้ได้

ดิฉันคิดว่า นี่เป็นหัวใจของพระพุทธศาสนาจริงๆ ได้ช่วยดึงเราให้ค่อยๆ ถอยออกมาจากความยึดมั่นถือมั่น ในสิ่งที่เราหลงว่า เป็นของจริงทั้งๆ ที่มันเป็นความลวง ฉะนั้น การฝึกจิตของเราให้พยายามเข้าถึง "สัพเพ ธัมมา นาลัง อภินิเวสายะ สิ่งทั้งหลายทั้งปวงไม่พึงยึดมั่นถือมั่น" จะเป็นหนทางที่ทำให้เรามองเห็นประโยชน์ ของการไม่ยึดมั่น ถือมั่น ประโยชน์ของความว่าง และสามารถนำมาใช้ ให้เกิดประโยชน์อย่างถูกต้อง แก่ใจของเราได้

ข้อที่ ๔ ที่ขอเรียนเสนอก็คือ โปรดอย่าเกลียดกลัวความทุกข์ แต่จงพยายามศึกษาความทุกข์ ให้รู้จัก เข้าใกล้ และ เป็นเพื่อนกับมัน ให้มากที่สุด อย่าถอยหนี อย่าถอยห่าง เพราะการศึกษา ความทุกข์เท่านั้น ที่จะทำให้เรา มองเห็น ความจริง ที่ซ่อนอยู่ในความลวง แต่ถ้าเราอยู่ใกล้ความสุข ไขว่คว้าหาความสุข มากเท่าใด เราจะยิ่งอยู่กับความลวง และความวุ่น มากเท่านั้น แล้วก็อยู่กับความเป็นความตาย อยู่ทุก ขณะจิต เดี๋ยวเป็น เดี๋ยวตาย เดี๋ยวเกิด อยู่ตลอดเวลา ถูกเผาลนให้ร้อน อยู่ตลอดเวลา โดยไม่รู้ตัว

ถ้าหากว่าการศึกษาความทุกข์ไม่เป็นประโยชน์ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าท่านคงไม่เริ่มต้น อริยสัจสี่ ด้วยเรื่อง ของความทุกข์เป็นข้อแรก ท่านแนะนำว่า จงรู้จักความทุกข์ ไม่ใช่แต่รู้จักเฉยๆ ต้องรู้ด้วยว่า ลักษณะของความทุกข์ แต่ละอย่างนั้น มันเป็นอย่างไร คนส่วนใหญ่จะรู้จักกันแต่เพียงว่า ถ้าเรื่องความทุกข์ ต้องเป็นความตาย ของคนที่รัก ต้องเป็นอุบัติเหตุใหญ่ๆ ไฟไหม้บ้าน ลูกหลานถูกจี้ ถูกข่มขืน อะไรอย่างนั้น จึงจะเรียกว่า ความทุกข์

ก็ถูก ใช่ แต่ความทุกข์ใหญ่ๆ อย่างนั้นมันไม่ได้เกิดขึ้นทุกวัน และไม่ได้เกิดกับคนทุกคน ความทุกข์ที่ทุกคนมี และทุกคนเป็น อยู่ในชีวิตประจำวัน นั่นก็คือความอึดอัดขัดเคือง ที่มันแน่นอยู่ในใจของเรา ตลอดเวลา หงุดหงิด โกรธ จนกระทั่งยากล่อมประสาท ขายดิบขายดีหรือไม่พอขาย โรงพยาบาลประสาท ไม่มีที่พอ ที่จะรับคนไข้ ทุกข์นี้ต่างหาก ที่เราควรจะศึกษาให้ชัดเจน จนเห็นความจริง ที่ซ่อนอยู่ในความลวง จิตใจของเรา ก็จะได้ผ่อนคลาย จากความยึดมั่น ถือมั่น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความยึดมั่นถือมั่น ในการมี ตัวฉัน เมื่อมีตัวฉันก็มีของฉัน คำว่า "ของฉัน" นี่แหละ ที่ทำให้เราเป็นทุกข์ อยู่ตลอดเวลา

เมื่อใดที่เราสามารถศึกษาจนรู้จักความทุกข์ เข้าใจความทุกข์ มองเห็นลักษณะของความทุกข์ แต่ละอย่างๆ ที่เกิดขึ้น ในใจแต่ละครั้ง ว่าเป็นอย่างไร เกิดจากอะไร เราก็สามารถจะจัดการแก้ไข ให้เกิดความว่างขึ้นได้ เพราะได้เห็น เพชรในหัวคางคกแล้ว

คางคกเป็นสัตว์ที่ใครๆ ก็ไม่อยากเข้าใกล้โดยเฉพาะผู้หญิง ตัวมันเอง ก็คงไม่อยากเป็นสัตว์น่าเกลียด ที่เราเขี่ยทิ้ง หรือถอยหนี ท่านกล่าวอุปมาอุปไมยไว้ว่า คางคกก็เหมือนกับความทุกข์ที่ใครๆ ก็เกลียดกลัว แต่ถ้าเราศึกษาความทุกข์ ก็เหมือนจับตัวคางคก มาพิจารณา ดูมันให้ดีๆ ก็จะเห็นเพชร ที่ฝังอยู่ในหัวของมัน นั่นคือความจริง ตามกฎของ ธรรมชาติ ที่บอกให้เรารู้ว่า ธรรมชาติที่แท้จริง มีความเปลี่ยนแปลง อยู่ตลอดเวลา ไม่มีอะไรคงที่ อย่ายึดมั่น ถือมั่นกันนักเลย ถ้ายึดมั่นถือมั่น ก็จะพบแต่ความลวง และจะต้อง ร้องไห้ เกลือกกลิ้ง อยู่กับความลวงนั้น ตลอดไป

ถ้าเราศึกษาสิ่งที่น่าเกลียด คือความทุกข์ให้ยิ่งขึ้นๆ ก็จะเห็นความจริง ที่ซ่อนอยู่ในสิ่งลวง และจะถอนใจ ออกจาก มายาเสียได้ เมื่อนั้น ความว่างก็เกิดขึ้น คือการได้เพชรจากหัวคางคก เราจะไม่ได้เพชร จากดอก กุหลาบ หรือ นางงามแสนสวย แต่เราจะได้จาก สิ่งที่น่าเกลียดน่ากลัว จากสิ่งที่ใครๆ ก็ชิงชังและวิ่งหนี

เราจะรู้ขึ้นว่า เราจะรักไปทำไม เราจะโกรธไปทำไม เกลียดไปทำไม กลัวไปทำไม รักก็เช่นนั้นเอง โกรธก็ เช่นนั้นเอง เกลียดก็เช่นนั้นเอง กลัวก็เช่นนั้นเอง ไม่มีอะไรพ้นไปจากความเปลี่ยนแปลง มันจะต้อง เป็นอย่างนี้ เช่นนี้ แล้วทำไม เราไม่ทำใจของเรา ให้อยู่ตรงกลาง ว่างจากการยึดมั่นถือมั่น จิตนั้นจะได้ ไม่ต้องเป็นทุกข์ ได้ใช้ประโยชน์ จากทุกสิ่ง ตามที่ควรใช้

นอกจากนี้ เมื่อจิตว่างก็จะมีความรู้สึกพร้อมที่จะแก่ จะเจ็บ และจะตายได้โดยไม่เป็นทุกข์ ไม่ได้เรียกร้อง เชื้อเชิญ ให้มันมาหา แต่เมื่อแก่ก็ไม่เห็นจะต้อง ทุกข์เพราะแก่ เมื่อเจ็บก็ไม่เห็นจะต้องทุกข์เพราะเจ็บ ถึงคราวตาย ก็ตายโดย ไม่ต้องทุกข์ เป็นการตายด้วยความสงบเย็น ไม่ทุกข์ร้อน ทุรนทุราย แม้จะเป็น ความตายเหมือนกันแต่ ผลของมัน ให้ความรู้สึก แตกต่างกันมาก ทั้งแก่ตัวผู้ตายเอง และแก่ญาติมิตร ที่อยู่รายรอบ

ถ้าหากว่าสามารถมองเห็นเพชรในหัวคางคกและ นำเพชรออกมาได้ ก็แน่นอนที่สุดว่าจิตนั้น จะว่าง สงบเย็น มองเห็นว่า ทุกสิ่งไม่มีอะไรน่าเอา น่าเป็นเลย สักอย่างเดียว ได้ก็มีค่าเท่ากับเสีย สุขก็มีค่าเท่ากับทุกข์ กำไรมีค่า เท่ากับขาดทุน เพราะมันมีความเปลี่ยนแปลง เกิดขึ้นตลอดเวลา การมองเห็นอนิจจัง จึงให้ประโยชน์มาก

อีกสิ่งหนึ่ง ที่ดิฉันมองเห็น ก็คือว่า มันให้กำลังใจ แก่ใจของเราเอง สมมุติว่า เรากำลังอยู่ในความสับสน หรือ เผชิญกับความเจ็บไข้ ที่หนักหนาสาหัส มีอันตรายอย่างหนึ่ง อย่างใดก็ตาม แต่เมื่อเรามองเห็น ความเป็น อนิจจัง ขึ้นมา มันก็จะเป็นกำลังใจ ให้เราได้คิดว่า จะต้องมีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น มันจะไม่เป็นอย่างนี้ ตลอดไป ถ้าหากว่า ได้แก้ไขเหตุปัจจัย ให้ถูกต้อง ก็จะแก้ไขเหตุการณ์ไปได้ ตามกฎ อิทัปปัจจยตา

เมื่อยอมรับกฎของธรรมชาติ ที่เคยคิดว่าน่าเอาน่าเป็นก็จะจางคลาย กลับมีความรู้สึกว่า ไม่เห็นมีอะไร น่าเอา น่าเป็นเลย สักอย่าง มีเพียงการพยายามทำหน้าที่ ให้ดีที่สุด ให้สมกับความเป็นมนุษย์

ถ้าผู้ใดสามารถมองเห็นได้ว่า ธรรมะคือหน้าที่ ทำหน้าที่ของเราให้ดีที่สุดที่จะทำได้อยู่เสมอ ไม่ว่าจะอยู่ ในหน้าที่ใด เป็นสามี ภรรยา เป็นแพทย์ พยาบาล ครูอาจารย์ กรรมกร ผู้บริหาร ทุกคนทำหน้าที่นั้นๆ ให้ดีที่สุด ก็จะได้เป็น มนุษย์สูญ คือ มนุษย์สูญญตา นั่นเอง

มนุษย์สูญญตา ก็คือ มนุษย์ว่าง ผู้ว่างจากความเอา ความเป็น มีความอิ่ม ความหยุด ความพอ เมื่อถึงความหยุดได้ ก็คือความเป็น มนุษย์สูญ สูญจากความยึดมั่นถือมั่น ในสิ่งที่คิดว่า เป็นตัวฉัน และของฉัน

สิ่งที่ดิฉันพูดในวันนี้ ไม่ใช่แกล้งพูด หรือว่าได้ชื่อว่า เป็นลูกศิษย์เจ้าประคุณ ท่านอาจารย์สวนโมกข์ ก็จะต้องพูดถึง ความว่าง แต่ว่าได้มองเห็นจริงๆ ว่า ถ้าเราทำจิตให้ว่าง จากความยึดมั่น ถือมั่น ในตัวตนได้ ในขณะใด ขณะนั้น จิตเป็นสุข เป็นจิตที่ว่างจากความทุกข์ แต่ในขณะใด ที่เกิดความมืดมัว ขึ้นในจิต ว่าจะต้องเอา อย่างนี้ให้ได้ จะต้องถูกต้อง ตามอัตตาของฉัน ตามมาตรฐาน ตามรสนิยม ตามหลักเกณฑ์ ของฉัน ขณะนั้นทั้งๆ ที่เป็นการทำ ความดี ก็ทุกข์ เพราะแต่ละคน เขาก็มีมาตรฐาน มีหลักเกณฑ์ มีทฤษฎีอะไร ของเขาเหมือนกัน เพราะฉะนั้น จงทำงานทุกอย่าง โดยไม่เอา "ฉัน" เข้าไปเกี่ยว เอามันไปวางไว้ ที่ไหนสักแห่ง มีแต่หน้าที่ ๆ ๆ แล้วจะเป็นสุขอย่างยิ่ง ในการทำงาน

ดิฉันเองก็ยังทำได้เพียงขณะหนึ่งๆ เท่านั้น ยังไม่สามารถจะว่างได้ตลอดไป จึงขอให้ถือว่า เป็นการนำ ความรู้สึก ประสบการณ์ ของผู้เริ่มเดินไปในหนทางธรรม มาเล่าสู่กันฟัง ขอได้โปรดลองนำไป ใคร่ครวญดู หรืออาจแสวงหา วิธีการอื่น ที่จะทำให้เกิดความว่างขึ้นในจิต โดยประการใด ประการหนึ่ง มาปฏิบัติ เพื่อนำ ความสุข สงบเย็น มาสู่ชีวิตของท่าน.

ขอขอบพระคุณ

(ดอกหญ้า อันดับที่ ๑๐๒ ก.ค. - ส.ค. ๒๕๔๕)