เสียงจากรากหญ้า
สิริมา
ศรสุวรรณ
การประชุมเอิร์ธซัมมิต
หรือชื่ออย่างเป็นทางการคือ การประชุมโลกว่าด้วย การพัฒนา แบบยั่งยืน
ครั้งที่ ๒ ที่นคร โยฮันเนสเบิร์ก ในแอฟริกาใต้ ได้สิ้นสุดลง เมื่อปลายเดือน
สิงหาคม ศกนี้ วัตถุประสงค์ ของการประชุม คือ เพื่อรักษาสิ่งแวดล้อมของโลก
ควบคู่กับการแก้ปัญหา ความยากจน เพื่อให้ ประชาคมโลก มีชีวิตความเป็นอยู่
ที่ดีขึ้น การประชุมครั้งแรกเมื่อ สิบปีที่แล้ว ณ นคร ริโอเดอจาเนโร
ประเทศบราซิล ยังไม่มีผลตามหลักการที่วางไว้
นิกร
แก้วคำ ชาวบ้านฝั่งคลอง ตำบลท่าตะเกียบ อำเภอท่าตะเกียบ จังหวัดฉะเชิงเทรา
เติบโตขึ้น จวบจนอายุสามสิบปี ณ บริเวณชายป่าตะวันออก ของประเทศไทยแห่งนี้
เขาไม่มีเวลา ที่จะรอคอย การแก้ปัญหา สิ่งแวดล้อม และความยากจน ในหมู่บ้านของเขา
โดยการหยิบยื่น ความช่วยเหลือ อันเป็นผลจาก การประชุมโลก ครั้งนี้และครั้งไหนๆ
หลังจากลองผิดลองถูก
ครั้งแล้วครั้งเล่า ตามแผนพัฒนา ที่เน้นเงินนำหน้า ปัญญาตามหลัง นิกรตรากตรำ
ทำไร่อ้อย ไร่มันสำปะหลัง จนต้องแบกภาระหนี้สิน ใกล้หลักแสน เมื่อถึงทางตัน
ก็ต้องย้อนกลับ การเดินทางกลับครั้งนี้ เป็นที่จับตามมอง ของคนใกล้ตัว
และคนไกล ทางเลือกใหม่ ในวิถีเกษตรกร ของเขาคือ เกษตรกรตามอัธยาศัย
กรุณาขยายความเรื่องเกษตรตามอัธยาศัย
มีความเป็นมาอย่างไร
ที่จริงก็คือแนวคิดที่เรียกว่า
วนเกษตรนี่แหละครับ นั่นคือการปลูกไม้ผล ไม้ยืนต้น และสมุนไพร เพื่อใช้สอย
ในครอบครัว และในหมู่บ้านของตน คล้ายเป็นป่าใช้สอย ที่ผมเรียกว่า เกษตรตาม
อัธยาศัย คือ ผมนึกอยากปลูกอะไร ก็หามาปลูก ตามอัธยาศัย เท่านั้นเองครับ
คงจะได้แนวทางจากผู้ใหญ่วิบูลย์
เข็มเฉลิม*
ครับ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๙ อาจารย์จเร วุฒิศาสน์โสภณ เวลานั้นท่านเป็น ผู้อำนวยการโรงเรียน
อยู่ในละแวกบ้านของผม พาชาวบ้านไปดูงานที่บ้าน 'พ่อ' ไปกัน แปดหมู่บ้าน
หมู่บ้านละห้าคน จำได้ว่าราว ๆ ต้นฤดูฝน คุยกันที่ลานมะกอก ครั้งแรก
ผมไม่เข้าใจว่า มีที่เก้าไร่ ปลูกต้นไม้ แบบนี้ จะอยู่ได้อย่างไร เมื่อผมพยายามมาที่นี่บ่อยขึ้น
ก็เริ่มเข้าใจ ตอนแรก ไม่กล้าคุยกับท่าน ตอนนั้น ท่านเป็นวุฒิสมาชิก
ผมเป็นชาวบ้าน ธรรมดาคนหนึ่ง แต่ท่านก็กรุณามาก เจอกันแรก ๆ จะคุยกับผมนานเป็นชั่วโมง
คุยเรื่องอะไรคะ
เรื่องทำมาหากิน ผมรู้สึกว่าท่านเป็นห่วงชาวบ้านในเรื่องนี้ ท่านสงสารชาวบ้าน
โดยเฉพาะ พวกเกษตรกร อย่างพวกผม
จากการไปดูงานหรือไปคลุกคลีกับที่นั่นได้บทเรียนอย่างไรคะ
สิ่งที่ผมประทับใจที่สุดในตัวท่านคือวิธีคิด และเรื่องการบริหาร การจัดการ
สิ่งนี้สำคัญ เกษตรกร ต้องมาคิด เรื่องการบริหาร การจัดการใหม่ ผมทำไร่อ้อย
ไร่มัน เป็นร้อย ๆ ไร่ก็อยู่ไม่ได้ เพราะขาดความรู้ เรื่องการจัดการ
มันอาจจะเข้าใจยาก ตอนแรก ๆ เพราะเราเป็นชาวบ้าน พื้นฐานด้านการศึกษา
ก็น้อยด้วย กว่าจะปรับ เรื่องการคิด การเชื่อมโยง มันใช้เวลานาน
แสดงว่าการปลูกพืชเศรษฐกิจจะประสบความสำเร็จ
ถ้าจัดการเป็น
แน่นอนเลยครับ คนที่มีทุน และจัดการเป็น เขาก็รวย เขาอยู่ได้ แต่มันทำให้คนอื่นเดือดร้อน
อย่างไรคะ
พืชเศรษฐกิจทุกตัวอยู่ไม่ได้ถ้าไม่ใช้สารเคมี มันมีผลต่อสิ่งแวดล้อมอย่างไร
พี่คงรู้ดี เมื่อผมปลูกอ้อย ผมไม่อยากให้ลูกเมีย เข้าไปในไร่ พอเริ่มปลูกก็ใส่ปุ๋ย
ใส่ยาคุม ยาฆ่าหญ้า กว่าจะผ่าน กระบวนการ ที่ตัดได้จนอ้อยเป็นลำ มันมีหนอน
มีโรคแมลง ก็ต้องหว่าน ยาฆ่าแมลง ฆ่าหนอน ที่จริงเกษตรตามอัธยาศัยนั้น
ผมทำมานาน ตั้งแต่แต่งงาน ราวแปดปีได้ ปลูกต้นไม้ ไว้ในพื้นที่ สิบห้าไร่
แต่ทำแบบไร้ทิศทาง ทำตามรุ่นพ่อรุ่นแม่ ไปอย่างนั้นเอง แต่ก่อน ผมไม่ได้สนใจ
ต้นไม้มากมาย เพราะกิจวัตรเรามุ่งเรื่องอ้อย เรื่องมันสำปะหลัง
คิดเรื่องเงินใช่ไหมคะ
ครับ มันคำนวณผลผลิตต่อไร่เป็นตัวเลขได้ อย่างอ้อยนี่จะคิดได้เลยว่า
ปลูกแล้วได้กี่ตัน ตันละเท่าไร ต้องไปฉีดยา ใส่ปุ๋ย ไถร่องอ้อย ไม่ค่อยมีเวลาคิด
เรื่องการปลูกต้นไม้ แบบที่เรียกว่า วนเกษตร หรอกครับ
ความรู้สึกที่เต็มเปี่ยมจนมั่นใจในแนวทาง
วนเกษตร หรือ เกษตรตามอัธยาศัย มีขึ้นตั้งแต่เมื่อไรคะ
เมื่อสี่ห้าปีที่ผ่านมา ชีวิตผมเริ่มผันผวน มีปัญหาตลอด บางครั้ง ผมสับสนเรื่องหนี้สิน
ราวปี ๓๓-๓๔ สับสนมากครับ ไม่มีเงินส่งดอกเบี้ย ต่อมาเมื่อปี ๓๙ ได้มีโอกาสพบกับ
'พ่อ' * นับว่าโชคดี ผมกับเพื่อน ๆ ได้มาช่วยซ่อมเรือนไทย ที่บ้านของท่าน
ท่านก็มาดูแล แม้ คนใหญ่ คนโต เข้ามากันเยอะ แต่ท่านก็ทำตัวสบาย ๆ
พวกผมจะรู้สึกอบอุ่น เมื่ออยู่ใกล้ ๆ ท่าน ทำให้เกิด ความรัก นับถือ
และผูกพัน ท่านจะสอนเหมือนลูก ทำให้ซึมซับ แนวคิดของท่าน ไปโดยธรรมชาติ
ที่เรียกท่านว่า
'พ่อ' มีความหมายขนาดไหนคะ
เป็นความรู้สึกที่ผูกพันเกินกว่ารักอีก เรียกได้ว่า ท่านทำให้ผม เปลี่ยนแปลงวิธีคิด
โดยเฉพาะ เรื่องการจัดการชีวิต
กรุณาอธิบาย
เมื่อปีที่แล้วผมมาช่วยซ่อมเรือนไทยอยู่ที่บ้านท่านยี่สิบกว่าวัน มันยังไม่ตกผลึกเท่าไร
แต่ก็ได้ สั่งสม ความรู้ ต่อมาราวต้นเดือนกรกฎาคมนี้เอง วันหนึ่ง เมื่อผมกวาดใบไม้
อยู่ที่ลานบ้าน มันรู้สึกชัดเจนว่า เราจะจัดการชีวิตอย่างไร ถ้าเปรียบคนกับต้นไม้
ก็เห็นความหลากหลาย ทีนี้มันเห็นว่า กับเถาวัลย์ เราจะจัดการอย่างไร
กับไม้ยืนต้น เราจะจัดการอย่างไร คือมันเหมือน จะเข้าใจมากขึ้น ในเรื่องความสัมพันธ์
กับคนที่หลากหลาย เหมือนกับต้นไม้ ที่หลากหลาย รู้สึกมีความเชื่อมั่นยิ่งขึ้น
ชัดเจนในเรื่องเชื่อมโยง เรื่องราวต่างๆ มากขึ้น ซึ่งแต่ก่อน ผมไม่สามารถ
เชื่อมโยงความคิดได้ขนาดนี้ 'พ่อ' พูดซ้ำแล้วซ้ำอีกว่า "เราต้องรู้จัก
เอาสิ่ง รอบตัวมาใช้ ต้องเข้าใจสิ่งที่เราทำ สิ่งที่เราทำต้องกินได้"
เมื่อเราปลูกอ้อย เรากินไม่ได้ แม้ปลูกเป็นร้อย ๆ ไร่ ก็กินไม่ได้
แต่มีพื้นที่เก้าไร่ทำแบบที่ 'พ่อ' ทำ มันมีกิน มีใช้ และ ถ้าต้องการใช้เงิน
อย่างจำเป็นก็ขายได้
ความเชื่อมโยงนั้นมีขอบเขตแค่ไหนคะ
แต่ก่อนเมื่อคนภายนอกเข้ามา เพื่อนผมคือ โสภณ (โสภณ เข็มจรูญ) เขาจะพูดคุยด้วย
เขาเรียนสูง คุ้นเคยกับคนภายนอก เขารู้จักคุย ผมไม่รู้จะพูดอะไร คุยแบบเชื่อมโยงไม่เป็น
แต่ก่อน คิดเพียงว่า มนุษย์เกิดมากิน ทำงาน แล้วก็นอน ไม่รู้ว่าตัวเองมีค่า
แต่ เมื่อต้นเดือน กรกฎาคม ที่ผมเล่าว่า เช้าวันที่กวาดใบไม้ ที่ลานบ้านของ
'พ่อ' ผมเริ่มเห็นว่า เรามีค่า และ มีศักยภาพ ที่จะไปช่วยคนที่ด้อยกว่า
หรืออ่อนแอกว่า ได้มากมาย ที่จริงเราไม่ควรคิด แต่ว่าเรานี่ลำบาก หรือมองตัวเองแบบท้อแท้
เรามีโอกาส เรามีสมอง เรามีกำลังที่จะทำอะไร เพื่อหลาย ๆ คน
แต่ก่อนคิดแต่เรื่องของตัวเอง
ครับ เมื่อได้คุยกับ 'พ่อ' * ได้มีโอกาสใกล้ชิด ทำให้ผมเข้าใจคำว่า
สังคม มากขึ้น ถึงเราจะดี หรือ มีกินใน หมู่บ้าน ถ้าเราดีคนเดียวมันอยู่ไม่ได้
เช่น ถ้าเรา เลี้ยงลูกให้ดี ให้ลูกไหว้พระ ทุกเช้าเย็น แต่รอบข้างเรามีเด็กติดยา
มีการมั่วสุม เมื่อลูกออกจากเราไป เขาก็ไปเจอปัญหาอีก
แล้วจะมีวิธีจัดการเรื่องนี้อย่างไรคะ
ผมกำลังหาแนวทางว่า ทำอย่างไร ให้แต่ละคน มีกระบวนการคิด ให้เป็นกลุ่มเป็นก้อน
ไปในทิศทางเดียวกัน และมีวิธีการทำงาน ในแนวคิดเดียวกันนี้ อย่างเป็นขั้น
เป็นตอนได้ ที่จริง แม่สั่งไว้ว่า ให้เป็นคนดี แต่เราจะดีอยู่คนเดียวไม่ได้
มันต้องดีไปพร้อม ๆ กัน ระหว่าง ญาติพ่อ กับญาติแม่ ผมเป็นคนประสานตลอด
แต่ไม่รู้ว่า สิ่งที่เราทำคืออะไร
การเรียนรู้จาก
'พ่อ' เหมือนมาเติมเต็ม
ครับ ผมปฏิบัติมานาน แต่ยังจัดระบบไม่เป็น 'พ่อ' ทำให้ผมเข้าใจ ในเรื่องการจัด
ระบบความคิด มากทีเดียว ผมพยายามให้ญาติ มาคุยกัน มาร่วมกัน แก้ปัญหา
เพราะยิ่ง เราทำตัวอ่อนแอลง ภัยจะมาหาเรามากขึ้น ดังนั้น เราต้องสร้างกำบัง
ทราบมาว่ามีภาพที่ไม่ค่อยประทับใจในคนข้างนอก
อาจเป็นประสบการณ์ ที่ฝังใจตั้งแต่เด็ก ๆ ที่เห็นชาวบ้าน ถูกกระทำมาตลอด
เช่นพวกโจร พวกเสือ ปล้นมาจากไหนไม่รู้ ผ่านมาทางบ้านเรา ก็มาเอาข้าวของ
ดึกดื่นอย่างไร ก็ต้องหุงข้าว ให้เขากิน ต้องให้ที่พักแก่เขา ส่วนพวกทางการ
เขาก็ปฏิบัติต่อเรา อย่างดูถูก เพราะเราเป็น ชาวบ้าน พอมาทำพืชเศรษฐกิจ
ก็ถูกนายทุน เอารัดเอาเปรียบ รู้สึกว่า เราถูกกระทำ ไม่มีโอกาสตั้งตัว
ไม่มีโอกาสแสดงความคิดเห็น ไม่มีโอกาสโต้แย้ง
ถ้ามีโอกาสจะบอกอะไรแก่
คนข้างนอก
ปกติแล้วมีคนว่าผมพูดแรง ซึ่งก็จริง แต่เมื่อไม่นานนี้เอง 'พ่อ' บอกว่า
"อย่าวิพากษ์ใคร จะทำให้เสียมิตร" ดังนั้น ถ้าผมจะพูดเวลานี้ก็คือ
ผมขอเพียงความเข้าใจ ไม่จำเป็นต้องสงสาร แค่เข้าใจก็พอแล้ว เพราะเมื่อคนเราเข้าใจกัน
ก็จะไม่ดูถูกกัน ที่จริง ผมไม่ค่อยอะไร กับคนข้างนอก เท่าไรนัก ผมอยากให้ฐานของชุมชนแน่นเสียก่อน
'พ่อ' ยกตัวอย่าง ปิรามิด มีฐานกว้าง ปลายแหลม นี่คือรูปทรง ที่เขาสร้างไว้รับพลัง
หมายความว่าอย่างไรคะ
ถ้าจะทำอะไรก็ตาม ฐานต้องแน่น ต้องมั่นคง ถ้ายอดบานฐานเรียวก็อยู่ไม่ได้
ตอนนี้ คนข้างนอก
เขาพูดกันมาก ในเรื่องการพัฒนา ในระดับรากหญ้า
(หัวเราะ) หมายถึงชาวบ้าน อย่างพวกผมใช่ไหมครับ รากหญ้า มันอยู่ใต้ดินนะครับ
แล้วคนที่ เรียกผมแบบนี้ เขาเป็นอะไรครับ
รากหญ้า คงหมายถึงส่วนที่เป็นพื้นฐานของสังคม
ในความคิดของเกษตรกร หญ้า คือวัชพืช ซึ่งต้องทำลายด้วยยาฆ่าหญ้า
นั่นคือความคิดของเกษตรกรที่ปลูกพืชเศรษฐกิจ
ถ้าตีความแบบเกษตร ตามอัธยาศัย แล้วหญ้า ก็เป็น สมุนไพรชนิดหนึ่ง เช่น
หญ้าแห้วหมู ใช่ไหมคะ
(หัวเราะ) ครับ จะเรียกอะไรก็เรียกไปเถิดครับ พวกผมไม่มีโอกาสโต้แย้งอยู่แล้ว
ผมเถียงไม่ทัน นักวิชาการหรอกครับ 'พ่อ' ให้ข้อคิดที่สำคัญ อีกอย่างหนึ่งคือ
ให้ถามตัวเองว่า "เราคือใคร เรามีปัญหาอะไร เรามีทรัพยากรอะไรบ้างที่จะช่วยแก้ปัญหาของเรา"
ทำให้ผม ย้อนมามองดู รากเหง้า ของตัวเอง ที่จริงผมชอบคุยกับคนแก่อยู่แล้ว
คุยเรื่องประวัติ ของบ้านฝั่งคลองนี้ จนผมนึกย้อนได้ชัดเจนขนาด ถ้าจิตรกรหรือนักวาดรูป
คนไหนอยากวาดภาพชีวิต ของคนดง ว่าอยู่กันอย่างไร ลักษณะของป่าเป็นอย่างไร
ผมว่าเขาฟังแล้ว เอาไปวาดได้เลย
เดี๋ยวนี้แม้สิ่งแวดล้อมจะเปลี่ยนไปมาก
แต่ความสัมพันธ์แบบพี่น้องของเรา ยังเหนียวแน่น นี่เอง ที่ผมมองว่า
เป็นทรัพยากรอย่างหนึ่ง ซึ่งผมอยากรักษาไว้ มีคนญี่ปุ่นเข้ามาศึกษา
ความเป็นอยู่ ของพวกผม ตอนแรก ก็มาเพื่อศึกษา หาข้อมูลแบบวิชาการ แต่ตอนหลัง
มาอีก เพราะเขารู้สึกอบอุ่น รู้สึกมีความสุข เราอยู่กันอย่างง่าย ๆ
ตรงนี้ที่ผมอยากรักษาไว้ แม้ความคิด จะแตกต่างกัน ก็ไม่เป็นไร ถ้ามีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน
ก็ปรับความคิดกันได้ เข้าใจกันได้ และที่ผมพยายาม ทำเรื่องการปลูกต้นไม้
แบบที่เรียกกันว่า วนเกษตร นั้น เพื่อผืนป่า จะได้กลับคืนมา ถ้าเรารู้จักอยู่กับป่าได้อย่างมีปัญญา
เราก็อยู่รอด เพราะวิถีดั้งเดิม ของพวกเรา อยู่กับป่าอยู่แล้ว
ตอนนี้เลิกปลูกมันสำปะหลังแล้ว
ครับ
เห็นปลูกมะละกอเต็มไปหมด
มันก็เป็นพืชเศรษฐกิจเหมือนกัน
ในตอนแรกจะเปลี่ยนปุบปับเลยมันทำไม่ได้ เพราะผมไม่มีเงินสำรอง ต้องหาเงิน
มาใช้หนี้ด้วย ที่จริง มะละกอ ก็ไม่ใช่คำตอบของผม แต่มันเป็นเหมือนพี่เลี้ยง
เมื่อไรถ้าน้องโตแล้ว พี่เลี้ยง ก็ไม่จำเป็น
ที่ร้านค้ากลางหมู่บ้านซึ่งทราบว่าเป็นของชุมชนยังขายของจากข้างนอกหลายอย่าง
นั่นแหละครับ เราได้มาพูดคุยกันว่าเดือนหนึ่ง ๆ เงินจากหมู่บ้านของเรา
ออกไปข้างนอกเท่าไร เราจึงพยายาม หาทางที่จะผลิตของใช้เอง เช่น ตอนนี้กำลังสนใจ
การผลิตสมุนไพร แต่มันเพิ่งเริ่มต้น เพิ่งเริ่มคิด กำลังจับทางอยู่ว่า
เราจะตั้งต้นอย่างไร
หากมีคนไม่ชอบงานที่กำลังทำอยู่จะทำใจอย่างไรคะ
ธรรมดาครับ ถ้าเขาไม่ชอบ เพราะเขาไม่เข้าใจ ผมเคยศึกษาเรื่อง ชาวอโศกจากหนังสือ
ก็มีคนไม่ชอบ ชาวอโศก เหมือนกันใช่ไหมครับ ทราบมาว่า ร้านค้าที่ศีรษะอโศกถูกเผา
นี่แหละครับ อาจเป็นเพราะเขากลัว เหมือนคนกลัวเสือ ก็เลยต้องล่า ผมว่าเป็นเรื่องธรรมดา
ผมก็ทำงานไปแบบนี้ โชคดีที่ผมมีโอกาสใกล้ชิด 'พ่อ' เมื่อท่านเตือน
ผมจะเอาไปคิด ทำให้ผม รอบคอบขึ้น
ครอบครัวสนับสนุนแค่ไหนคะ
ผมโชคดีอีกอย่างหนึ่งคือ พ่อแม่และเมียเข้าใจ และสนับสนุน เราจึงไม่ต้องกังวล
บางที ผมหายไปนาน ๆ ไม่กลับบ้าน เขาก็เข้าใจ เขารู้ว่า ผมไปเพื่อหาทางออก
ให้ครอบครัว ให้ชุมชนของเรา เรื่องความสัมพันธ์ และความเข้าใจ ของคนในครอบครัวนี้
สำคัญมากนะครับ ถ้าคนในครอบครัว เข้าใจว่า เรากำลังทำอะไร มันก็เดินต่อไปได้
แต่ถ้าคนในครอบครัว ยังไม่เข้าใจ การทำงานแบบนี้ ก็จะเป็นไปได้ยาก
ดังนั้น ก่อนที่จะคิดจัดการเรื่องอะไร ต้องจัดการ ครอบครัวก่อน
กรุณายกตัวอย่าง
เวลาผมเข้าสวน เรามักจะไปกันทั้งครอบครัว พ่อแม่ลูก ลูกสาวคนโตของผม
อายุเจ็ดขวบ ชอบปีนต้นไม้ ผมก็ปล่อยให้เขาปีน เท่ากับเราสอน ให้เขาคุ้นเคย
กับต้นไม้ตั้งแต่เล็ก ๆ นี่คือความรู้ ที่ไม่มีในโรงเรียน
พูดถึงความรู้ในโรงเรียนคิดอย่างไรกับระบบการศึกษา
ถ้าการศึกษาในระบบทำให้คนเห็นแก่ตัวน้อยลง และมาสัมผัสความจริง ของชีวิตมากขึ้น
มาดูชีวิตเป็น ๆ เลยครับว่าเขาอยู่กินอย่างไร ถ้าอยู่กับกองตำราแล้วเอา
ทฤษฎีจากตำรามาจับ มาวิเคราะห์ ผมว่ามันไม่ใช่ โดยเฉพาะตำราจากฝรั่ง
ไม่ใช่ว่าไม่ดี แต่ผมไม่เชื่อว่า ฝรั่งจะให้คำตอบ ได้ดีกว่าคนไทย ในเรื่องของคนไทยเอง
แต่คนไทยส่วนมาก ก็มักยกย่อง คนที่ได้รับการศึกษา จากฝรั่ง ซึ่งผมก็ทำใจแล้วครับ
มีนักวิชาการ มาซักพวกผม เพื่อเอาไปเทียบ กับทฤษฎีที่เขาเรียนมา พวกผมมีหน้าที่
ตอบคำถามเขาอย่างเดียว จะซักกลับ ไม่ได้นะครับ
ทำไมจึงซักกลับไม่ได้คะ
เพราะเขาคิดว่าไปย้อนเขา อาจจะเป็นเพราะผมเป็น ชาวบ้าน เป็น รากหญ้า
เป็น คนดง ไม่รู้จักวิธีการ ซักกลับแบบนักวิชาการ ที่จับปากกา ซึ่งเบากว่าจอบ
แต่ มีน้ำหนักในการให้ร้าย
เคยพบนักวิชาการที่ดี
ๆ บ้างไหมคะ
มีครับ แต่น้อยมาก ถ้านักวิชาการหรือคนเรียนสูง ส่วนใหญ่คิดถึงสังคม
คิดถึงคนยากจน บ้านเมืองก็เจริญ ไปนานแล้วครับ
นี่ขนาด 'พ่อ'
เตือนไม่ให้วิพากษ์ใคร
(หัวเราะ) ผมตอบคำถามเรื่องระบบการศึกษา ผมวิพากษ์ ระบบ ผมไม่ได้วิพากษ์
ใคร ตอนนี้มีคนมาศึกษา ชุมชนบ้านฝั่งคลอง อาจเป็นกระแส การพัฒนา จาก
'รากหญ้า' หรือกระแส เรื่องประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ถ้ามองในแง่ดี มันก็ดี
เด็ก ๆ ในหมู่บ้าน ที่เขามีโอกาส เรียนหนังสือ เขาได้รู้จักสัมพันธ์
กับคนข้างนอก เขาจะได้เรียนรู้มากขึ้น แต่ถ้า คนข้างนอก เข้ามา ในขณะที่เรายังไม่พร้อม
มันจะกลายเป็นปัญหาใหม่ ที่แก้ไขยาก
กรุณายกตัวอย่าง
ตอนนี้มักจะพูดกันเรื่องแผนชุมชน หรือแผนจาก รากหญ้า ถ้าทำไปทำมาแผนนี้
ไม่ได้มา จากชุมชน หรือจากคนจน แต่มาจากคนรวย หรือคนมีโอกาส คนจนไม่มีโอกาส
ไปนั่งคุย ไปวางแผนหรอกครับ ส่วนใหญ่เป็นกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน หรือ อบต.
ถ้ามีการสร้างเวที ให้คนจน ได้มีโอกาสพูดคุย กับปัญหาของตนเอง และวางแผน
การแก้ปัญหาด้วยตนเอง คนข้างนอก หรือ นักวิชาการมาช่วยเป็นพี่เลี้ยง
มาสนับสนุน ก็ดีครับ แต่ไม่ใช่มาชี้นำ ที่จริง ปัญหา ของคนจน ไม่ได้แก้ไขด้วยเงิน
แต่แก้ไขด้วยการ รู้จักจัดการทรัพยากร เพราะเรา โหยหาเงิน เราจึงทำลายป่า
ทำลายความสัมพันธ์ของพี่น้อง เงินนี่แหละ มันสร้าง ความเจ็บปวด อย่างมหาศาล
ถ้าไม่รู้จักใช้มัน
แล้วอย่างไร ตีกลับหรือคะ
ตีกลับ ก็คือรู้จักจัดการให้มันเป็นเพียงตัวเชื่อม ไม่ใช่ ตัวตั้ง
เช่น เมื่อพวกผมจำเป็นต้องใช้เงิน เพื่อมาพัฒนาหมู่บ้าน เราอาจต้องเขียน
โครงการขอทุน ซึ่งคนที่เขาหวังดี ก็แนะนำให้ แต่ถ้าโครงการไหน ไม่สอดคล้องกับกิจกรรม
ที่เราต้องการจะทำ เราก็ไม่รับ เพราะมันจะทำ ให้เกิดปัญหา ยุ่งยากตามมา
เราต้องเข้าใจว่า 'เงิน' คืออะไร
แล้วมันคืออะไรคะ
คือเครื่องอำนวยความสะดวกอย่างหนึ่ง ซึ่งต้องรู้จักใช้ให้เป็น ถ้าใช้ไม่เป็น
'เงิน' ก็คือเครื่องมือ ที่มาทำลายเรา
เสียงแห่งรากหญ้าที่รองรับแผ่นดินเสียงนี้
อาจเป็นเสียงแห่งความเงียบ แต่อย่างน้อย ก็ดังสะท้อน อยู่ในใจ ของพวกเขาเอง
หมายเหตุ
* ผู้ใหญ่วิบูลย์ เข็มเฉลิม อดีตวุฒิสมาชิกซึ่งเป็นเกษตรกรที่เคยประสบความล้มเหลวในระบบการปลูกพืชเศรษฐกิจ
จากพื้นที่ ๒๐๐ ไร่ เหลือเพียง ๙ ไร่ พร้อมกับหนี้สิน จำนวนหนึ่ง ในระยะเวลา
๖ ปี ท่านหันมาใช้วิธีปลูกพืชที่เป็น อาหาร ยา ไม้ใช้สอย เป็นผู้ริเริ่มแนวคิดที่เรียกว่า
วนเกษตร จนประสบ ความสำเร็จ และได้รับการยอมรับ จากสังคม ในวงกว้าง
ขอบพระคุณ : คุณสงกรานต์ ภาคโชคดี
(ดอกหญ้า
าอันดับที่ ๑๐๓ กันยายน - ตุลาคม ๒๕๔๕) |