ความน่ากลัวของสิ่งที่เรียกว่า
"สุข"
อุบาสิกา คุณรัญจวน อินทรกำแหง
บรรยาย ณ ธรรมาศรมธรรมมาตา
สุขเวทนา เป็นสิ่งที่ล่อหลอก
ยั่วเย้า ให้มนุษย์เราติดได้ง่ายที่สุด ทั้งในรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส
และ ธรรมารมณ์ ติดได้ง่ายที่สุดเหลือเกิน เพราะมันชวนให้เพลิดเพลิน
มันชวนให้หลงใหล เคลิบเคลิ้มโดยไม่รู้ตัว
ฉะนั้น ในอานาปานสติ
หมวดที่สอง ที่ชื่อว่า เวทนานุปัสสนา ท่านจึงเน้น การฝึกปฏิบัติ ของผู้ปฏิบัติ
อานาปานสติ ในหมวดนี้ว่า ต้องฝึกการพิจารณา ในเรื่องของสุขเวทนา ทุกขณะ
ที่หายใจเข้า และหายใจออก
พิจารณาอะไรในเรื่องสุขเวทนาทุกลมหายใจเข้า-ออก
ก็คือ พิจารณาให้เห็น โทษทุกข์ ของสุขเวทนาว่า เมื่อยึดติดในสุขเวทนาแล้ว
มันสามารถก่อโทษทุกข์ แก่จิตใจ ได้อย่างไรบ้าง ก็คือ ร้อนเร่า ดิ้นรน
ทะยานอยาก ปรารถนาไม่รู้อิ่มไม่รู้พอ เกิดความตะกละตะกราม หิวกระหาย
อยากจะได้อีกเรื่อยๆ ให้มากให้พอ แต่ไม่เคยพอ ได้แล้ว ก็อยากได้อีกๆ
อย่างถ้า จะเปรียบก็ว่า ได้ร้อยอยากได้พัน ได้พันอยากได้หมื่น ได้หมื่นอยากได้แสน
ได้แสนอยากได้ล้าน ได้ล้านแล้ว ก็อยากได้หลายๆ ล้าน จนเป็นพันล้าน
หมื่นล้านไม่รู้จบ
นี่ก็คือโทษทุกข์ของสุขเวทนา
ที่ก่อให้เกิดกิเลสตัวโลภะขึ้นในจิต แล้วเมื่อไม่ได้อย่างใจ ก็นำให้เกิด
โทสะต่อไป ขัดแค้นเคืองใจ ทำไมจึงไม่ได้ แล้วก็วนเวียน ที่จะหาหนทาง
เพื่อที่จะให้ได้ ก็ตกลงไปในหลุมของโมหะ คือกิเลสตัวที่สาม หลงใหล
ใคร่ครวญ ผูกรัด อยู่กับสิ่งที่ต้องการ จะได้ตามความโลภ ทั้งกิเลส
ทั้งตัณหา รุมเร้าให้ร้อนเร่าทรมาน แต่เผอิญ ไม่รู้สึก เห็นไปว่า เป็นธรรมดา
เห็นความไม่ธรรมดาว่าเป็นธรรมดา มันก็เลยหมดหนทาง แล้วก็เกิดอุปาทาน
ยึดมั่นถือมั่น เป็นตัวเป็นตนว่า นี่เป็นสุขของฉัน ฉันจะต้องหาให้ได้
ฉันจะต้องเป็นให้ได้ ต้องมีให้ได้
โทษทุกข์ของสุขเวทนานี้ร้ายกาจนัก
ร้ายกาจมาก ถ้าไม่ยึดติดก็ไม่เป็นไร สุขเวทนา มันก็อยู่ของมัน ไม่มาทำอะไรได้
แต่พอยึดติดเข้า มีความอยาก มีอุปาทาน เข้าไปเท่านั้นแหละ เป็นโอกาสทีเดียว
ที่มันจะโหมเข้ามาคุกคาม แล้วก็กอดรัดฟัดเหวี่ยง ไม่ยอมให้หลุดออกไปได้
เพราะฉะนั้นในอานาปานสติ
หมวดที่สองนี้ ท่านจึงเน้นการพิจารณาเรื่องของ สุขเวทนา คือความสุข
ให้ละเอียดถี่ถ้วน ให้รู้ว่าสิ่งที่เรียกว่าสุขนั้น มันคืออะไร มีลักษณะ
อาการอย่างไร แล้วมันมีสุข ได้กี่อย่าง
ถ้าเราลองใคร่ครวญพิจารณาในชีวิตของเราที่ผ่านมา
ก็จะเห็นว่ามีสุขได้ หลายประการ แล้วอาการ ของความสุข ที่เกิดจากปัจจัยแต่ละอย่างๆ
มันก็ไม่เหมือนกัน สุขเพราะความรัก มันก็มีอาการอย่างหนึ่ง สุขเพราะความพอใจ
ที่ได้อย่างใจ มันก็มีอาการอย่างหนึ่ง สุขเพราะ ได้เงินทอง ก็ต่างกับสุข
เพราะได้คนรัก สุขเพราะได้คนรัก ก็ต่างจากสุข เพราะได้การงาน สุขเพราะได้การงาน
ก็ต่างจากสุข เพราะมีชื่อเสียง เกียรติยศ ความมีหน้ามีตา ลองคิด พิจารณา
เอามาเรียงกันดู จะเห็นว่าอาการของความสุข จะแตกต่างกันไป
แล้วถ้าหากว่าเราพลาด
ไม่ใคร่ครวญให้ถี่ถ้วน เราก็จะไม่รู้หรอกว่า อาการของความสุข แต่ละอาการ
ที่เกิดขึ้นนี้ มันมีลักษณะอย่างไร พอรู้ไม่ทันมัน มันก็จู่โจมได้ง่าย
จู่โจมเข้ามา เต็มที่เลย หนักเข้าๆ ก็ตกเป็นทาสของมัน อย่างโงหัวไม่ขึ้น
เพราะฉะนั้นท่านจึงให้พิจารณาเรื่องของสุขเวทนาให้ละเอียดยิ่งกว่า
เรื่องของความทุกข์เสียอีก เพราะทุกข์นี้ คนมักจะเกลียดกลัวอยู่แล้ว
ไม่ค่อยอยากเข้าใกล้ แต่สุขนี่ อยากถลาเข้าไปหา มันติดง่าย จึงต้องพิจารณา
ให้ละเอียด จนกระทั่ง เห็นความเป็นมายา ของความสุข
เห็นว่าสุขนั้นมันเป็นมายา
มันเหมือนกับรุ้งกินน้ำ มองดูสวยด้วยแสงสี นานาชนิด สีเหลือง สีฟ้า
สีเขียว สีน้ำเงิน สีแดงอ่อนๆ มองดูแล้วสวยงาม น่าจับต้อง น่าคว้าเอามาไว้ดูเล่นใกล้ๆ
ตัว แต่มีใคร สามารถจับรุ้งกินน้ำได้บ้าง ก็ได้แต่มองด้วยตา แล้วไม่ช้าไม่นาน
มันก็ลับหายไป ความสุข ก็เหมือนกันอย่างนี้
หรือจะเปรียบอะไรก็ได้ตามแต่ประสบการณ์ของแต่ละท่าน
ความสุข หรือ สุขเวทนานี้ เราจะเปรียบ กับอะไรดีนะ มันถึงยั่วเย้าใจให้ติดเสียเหลือเกิน
จนกระทั่งเห็นชัด ถึงความเป็น มายาของมัน ชัดเมื่อไหร่นั่นแหละ ความยินดีในสุขเวทนาทั้งหลาย
ที่เกิดผ่าน ทางตาก็ดี หูก็ดี จมูกก็ดี ลิ้นก็ดี กายก็ดี หรือใจก็ดี
จึงจะหยุดยั้ง แล้วก็สงบระงับ ไม่ยึดติด และเมื่อนั้นแหละ เมื่อความยินดีดับ
ทุกข์ก็ดับ
ฉะนั้น องค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าจึงทรงชี้ชัดทีเดียวว่า
การติดในสุขเวทนานี้ เป็นสิ่งน่ากลัว ต้องระมัดระวัง ระมัดระวังมากในสิ่งที่เรียกว่า
ความสุข มันไม่ใช่ของดี มันเป็นไฟเย็น หรือบางทีท่าน ก็เรียกว่า เป็นทุกข์ที่ซ่อนเร้น
ความทุกข์นี้มาได้สองอย่าง
อย่างหนึ่งมาอย่างเปิดเผย อย่างที่เราพูดกันแล้ว ในอริยสัจสี่ มาอย่างเปิดเผย
ก็คือมาในรูปของความทุกข์ ทำให้เจ็บช้ำน้ำใจ ต้องคร่ำครวญหวนไห้ เกลือกกลิ้ง
ขมขื่น ทรมานอยู่ด้วย ความอัดอั้นตันใจ ยากที่จะพรรณนา นั่นมาในรูปของ
ความเปิดเผย แล้วเราก็สมมุติเรียกว่า ความทุกข์
แต่อีกอย่างหนึ่งที่คนมองไม่ค่อยเห็น
แล้วก็ อ้าแขนรับ ก็คือ มาอย่างซ่อนเร้น มาในรูปของ สิ่งที่สมมุติ
เรียกว่าความสุข มันเป็นไฟเผาได้เท่าๆ กัน แล้วก็จะเป็นไฟเผา ได้นานกว่า
ทำไมถึงนานกว่า ก็เพราะว่า มีความติดยึด ติดยึดแล้วก็กอดรัด ไม่อยากปล่อย
ไม่ยอมให้ ไม่ยอมแบ่งปัน เพราะคิดว่ามันดี ก็เลยถูกมันไหม้เอาๆ ๆ มันเป็นไฟเย็น
มันก็เลยไหม้ได้ลึกกว่า ได้นานกว่า แล้วก็ไม่หยุดได้ง่ายๆ
(ดอกหญ้า
อันดับที่ ๑๐๓ กันยายน - ตุลาคม ๒๕๔๕)
|