ความเครียดเป็นอย่างไร
นิภาภรณ์ บุณยประวิตร สำนักพัฒนาสุขภาพจิต กรมสุขภาพจิต


ไปไหนๆ ก็มักจะได้ยินคนบ่นกันว่า เครียด ! เครียด ! เครียด !ฟังดูเหมือนว่า ความเครียด ช่างเป็นสิ่งเลวร้าย ไปเสียทั้งหมด ทั้งสิ้น ในความเป็นจริงแล้ว ความเครียดนั้น ให้ผลทั้ง ในทางที่ดีก็มี และไม่ดีก็มี มาลอง ทำความรู้จักกับ "ความเครียด" กันดูบ้างไหม ?

ความเครียดเป็นปฏิกิริยาโต้ตอบเชิงลบของ ร่างกายที่เกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ เพื่อตอบสนอง ต่อบุคคล หรือเหตุการณ์ หรือ สิ่งแวดล้อม ที่เผชิญอยู่ อาจแสดงออกมา ในรูปแบบเดียว หรือหลายรูปแบบ ทั้งในด้านอารมณ์ พฤติกรรม ปฏิกิริยา และ อาการเจ็บป่วย

แพทย์บอกว่าผู้ที่ได้รับการกดดันเป็นเวลานาน ต่อมอะดรีนอลจะทำงานหนักมาก และหลั่งสาร อะดรีนาลิน มากขึ้น จะเป็นผลให้ ภูมิคุ้มกัน ของร่างกาย ผิดปกติ ร่างกาย จะอ่อนระโหย โรยแรง เจ็บป่วย และอาจถึงตายในบางคน

โรคภัยไข้เจ็บหลายชนิดที่มีสาเหตุมาจากความเครียด เช่น โรคหวัด หอบหืด โรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง โรคสมอง โรคเส้นเลือดแข็ง เส้นเลือดตีบ โรคเบาหวาน และโรคมะเร็ง สมรรถภาพทางเพศด้อยลง และ อาจเป็นหมัน มีอาการหวาดระแวง กลัว ท้อแท้ หมดกำลังใจ ซึมเศร้าและอาจเป็นโรคจิต

ผู้ที่มีความเครียดยาวนานและรุนแรงอาจเป็นสาเหตุของการเจ็บป่วย และฆ่าตัวตาย

แต่ความเครียดที่มีในระดับที่พอเหมาะ ไม่ใช่เรื่องเลวร้าย กลับจะให้คุณประโยชน์แก่ชีวิต เช่น ก่อให้เกิด ความกระตือรือร้น ตื่นเต้น มีชีวิตชีวา และช่วยกระตุ้น ให้ประสบความสำเร็จ ตามเป้าหมายได้

เช่น การมีความเครียดก่อนสอบเข้าเรียนต่อ มหาวิทยาลัย จะกระตุ้นให้มีการเตรียมตัว ก่อนสอบ และ สอบได้เป็นต้น

สัญญาณที่บ่งบอกว่า มีความเครียด ได้แก่

๑. ปฏิกิริยาบางอย่าง เช่น กำหมัด กัดเล็บ ขบกราม เคาะนิ้ว ขบฟัน แคะผิวหน้า แคะรอบๆ เล็บ เขย่าขา แตะผม

๒. อาการเจ็บป่วยบางอย่าง เช่น เป็นหวัด หอบหืด ปวดหลัง ท้องอืด ปวดหัว ปวดหัวข้างเดียว ปวดกล้ามเนื้อ ผิดปกติทางเพศ ผิดปกติ ทางผิวหนัง

๓. อารมณ์เปลี่ยนแปลง มีความวิตกกังวล หดหู่ ผิดหวัง โกรธง่าย เขม่นหรือขวางผู้อื่น จนเป็นนิสัย ช่วยตัวเองไม่ได้ ท้อแท้ ขาดความอดทน อยู่ไม่ติดที่ กระสับกระส่าย

๔. พฤติกรรมเปลี่ยนแปลง มีพฤติกรรมก้าวร้าว นอนไม่หลับ โกรธง่าย ทำหลายอย่าง ในเวลาเดียวกัน มีกิริยาอาการ เกินปกติ เช่น พูดดังเกินไป พูดเร็วเกินไป เป็นต้น

๕. อาการบางอย่างของร่างกาย เช่น หัวใจ เต้นแรง เหงื่อออกตามฝ่ามือ ปากแห้ง คอแห้ง มือ แขน ขาสั่น ท้องร้อง กระหืด กระหอบ ปวดศรีษะ ปวดคอ

ทุกคนไม่ปฏิเสธว่า ในชีวิตประจำวันมีหลายเรื่องที่ชวนให้ปวดเศียร เวียนเกล้า ความเครียด ดูจะเป็น อะไรก็ได้ ที่มีโอกาส จะเกิดขึ้นได้บ่อยครั้ง

ถ้าคุณไม่อยากเครียด ลองปฏิบัติดังนี้ดูบ้างนะคะ
๑. มีการเตรียมตัวเตรียมใจและมีความตื่นตัว ที่จะนำชีวิตไปสู่เป้าหมายที่ต้องการ เช่น ผู้ที่ไปเรียนพิเศษ อ่านหนังสือ ท่องตำราก่อนสอบ ย่อมจะช่วยให้สอบ ได้คะแนนดี ผู้ที่ได้ออกกำลังกาย อย่างสม่ำเสมอ และ พอเหมาะ ก็จะมีร่างกาย และจิตใจ สดชื่น และแข็งแรง การได้ยืดเส้นยืดสายสัก ๑๐ หรือ ๑๕ นาที ในระหว่างทำงาน จะช่วยให้ รู้สึกสบาย สมองโล่ง คลายเครียด ประสิทธิภาพการทำงาน ก็จะดีขึ้น เป็นต้น

๒. หลีกเลี่ยงไปจากบรรยากาศที่ตึงเครียด แต่ถ้าหากไม่อยู่ในสถานการณ์ที่จะเลี่ยงได้ ควรทำการสำรวจ ปัญหา ที่เกิดขึ้น อย่างเป็นธรรม และแก้ไขที่ ต้นเหตุของปัญหา อย่างสงบ และสุภาพ

๓. ทำความคุ้นเคยกับความขัดแย้งและกล้าเผชิญหน้ากับปัญหา โดยอาศัยบทเรียน ที่ผ่านมาแล้ว และนำมาแก้ปัญหา ในครั้งนี้

๔. ดูแลสุขภาพให้ดีอยู่เสมอ ด้วยวิธีการออกกำลังกาย การนอนหลับที่เพียงพอ จะช่วยให้ สามารถควบคุม ความตึงเครียด ของตัวเอง และสถานการณ์ได้ ในขณะเผชิญ ปัญหา เฉพาะหน้า

๕. ทำกิจกรรมที่มีประโยชน์ในเวลาว่าง เพื่อเบี่ยงเบนความสนใจออกไป จากปัญหา จะช่วย ให้เห็นคุณค่า ของเวลาว่าง และลืมปัญหา ที่เป็นสาเหตุ ของความเครียด

๖. ยอมรับว่ามีความรู้สึกเครียดเกิดขึ้น แต่อย่ายอมให้มันรุกราน หรือบั่นทอนตัวเรา โดยการปิดบัง ซ่อนเร้น หรือปฏิเสธผู้อื่น ไปเสียทั้งหมด การมองโลกในแง่ดี และ ทำความเข้าใจผู้อื่น ความรู้สึกตึงเครียด จะผ่อนคลาย ไปได้มาก

๗. รู้จักที่จะเอื้อเฟื้อและช่วยเหลือผู้อื่นเมื่อมีโอกาส จะเป็นการเสริมสร้าง มนุษยสัมพันธ์ ให้ดีขึ้น และ ช่วยให้มี เพื่อนร่วมคิด และแก้ปัญหา

แค่นี้ก็หายเครียดไปอักโขแล้ว ขอให้มีความสุขนะคะ

(ดอกหญ้า อันดับที่ ๑๐๓ กันยายน - ตุลาคม ๒๕๔๕)