ด้วยอานุภาพแห่งรัก สิริมา ศรสุวรรณ


ชายในดวงใจ
'มันปวดศักดิ์สิทธิ์นักลูกเอ๋ย' ชายวัยแปดสิบเอ็ดปีกล่าวแก่ลูกสาวด้วยใบหน้ายิ้มละไม หากคนไม่คุ้นเคย จะนึกไม่ออกว่า 'ความปวดศักดิ์สิทธิ์' นั้นมันรุนแรงแค่ไหน แต่สำหรับฉันเข้าใจอย่างยิ่ง ห้าสิบปี ที่เราคลุกคลีกัน ฉันตระหนักรู้ว่า พ่อมีความอดทนเป็นเลิศ ไม่ว่าจะเป็นความทรมาน ทั้งร่างกาย หรือ แม้จิตใจ ไม่บ่น ไม่โอดโอย ไม่รำพึงรำพัน

ตีสองของวันที่ ๑๖ ธันวาคม ๒๕๔๕ พ่อรู้สึกปวดแปล๊บที่หน้าแข้งขวา ขณะยืนอยู่หน้าห้องน้ำในห้องนอน พ่อค่อยๆ ทรุดกายลงกับพื้นอย่างมีสติ ขอให้แม่ซึ่งนอนอยู่บนเตียงหายาแก้เคล็ดยอกมาทา เข้าใจว่า กล้ามเนื้ออักเสบ พ่อมิให้แม่เรียกลูกชาย ซึ่งนอนอยู่ในห้องข้างๆ 'เกรงใจเขา มันดึกแล้ว' แต่แม่ไม่ฟังเสียง

เช้าวันนั้นลูกชายพาพ่อส่งโรงพยาบาลบ้านโป่ง อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี โรงพยาบาลหลวงใกล้บ้าน ฉันทราบข่าวจากน้องสาวทางโทรศัพท์ในตอนค่ำ หมอบอกว่ากระดูกหัก ต้องผ่าตัดดามเหล็ก ฉันรีบ สะสางงาน ที่คั่งค้าง เก็บเสื้อผ้าเดินทางจากกรุงเทพฯ ไปถึงโรงพยาบาลในตอนบ่ายวันรุ่งขึ้น ฉันทราบดีว่า โอกาสที่ฉันจะได้ดูแล ชายในดวงใจของฉัน อย่างใกล้ชิดมาถึงแล้ว

เขามาทวง
พ่อเล่าให้ฟังว่า สมัยเป็นเด็ก พ่อเป็นเด็กวัด แมวมันขึ้นมาขี้บนกุฏิ พ่อตีมันจนสะโพกหักเดินขาลาก เป็นเวลา นานทีเดียว กว่ามันจะตาย

'ในชาตินี้ พ่อไม่ได้ทำกรรมชั่วอะไรในเรื่อง ปาณาติบาต นี่เป็นครั้งเดียว ตอนนั้นลงมือแรงไปหน่อย' พ่อย้อนอดีตให้ฟัง

คืนวันที่ ๓๑ ธันวาคม ลูก ๖ คน ลูกเขย ลูกสะใภ้ หลานๆ พาแม่ไปที่โรงพยาบาล เราทำพิธี ขอพรพ่อแม่ ทุกสิ้นปีต่อเนื่องกันเป็นเวลา ๓๐ ปี ปีนี้พิเศษกว่าปีอื่นๆ คือ เราทำพิธีกันในโรงพยาบาล พิธีง่ายๆ สวดมนต์ ไหว้พระ ลูกแต่ละคนกล่าวปณิธานในการทำความดีต่อพ่อแม่ และฟังโอวาทแล้วรับพร

'ขอให้เชื่อเรื่องกรรม และอย่าประมาทในชีวิต' นี่คือคำเตือนของพ่อในวันนั้น

โอกาสทอง
หลังจากพ่อเข้าโรงพยาบาลได้ ๑ สัปดาห์ ลูกชายคนที่สองและสามจัดการทำตารางเวรดูแลพ่อ ซึ่งก่อนหน้านั้น ลูกชายคนสุดท้องลาราชการมาปรนนิบัติ ฉันดูเหมือนจะได้เปรียบกว่าลูกคนอื่น อาจเพราะเป็นประชาชนไร้สังกัด ในตารางเวรกำหนดให้ฉันไปประจำการตั้งแต่ ๖.๓๐-๑๙.๐๐ น. จันทร์ถึงศุกร์ ลูกชายสี่คนผลัดกันเฝ้าตอนกลางคืนและวันเสาร์-อาทิตย์ ในช่วงกลางวัน น้องสาวจะหอบ ลูกเล็กวัยซน มาช่วยดูแลในวันที่เธอสะดวก (พ่อจะกินอาหารได้มาก เมื่อลูกสาวคนนี้สรรหามาให้ เพราะเธอใส่ 'พลังรัก' ลงไป)

บางวันฉันควงยี่สิบสี่ชั่วโมงด้วยความเต็มใจ สิ่งที่กำหนดให้ฉันประกอบภารกิจนี้มิใช่ตารางเวร 'ความรัก และ ความกตัญญู' ต่างหากที่กำกับตารางชีวิตของฉันในเวลานี้

วันที่พ่อผ่าตัด หมอให้ระวังระบบหายใจเป็นเวลาสามวันติดต่อกัน ฉันทราบมาว่า เคยมีผู้ป่วย หยุดหายใจ ไปสี่นาที หมอช่วยไว้ทัน จึงรอดชีวิตมาได้ แต่เนื่องจากโลหิตไปเลี้ยงสมองไม่พอ จึงต้องหัดนั่ง หัดยืน หัดเดิน หัดพูดกันใหม่

พ่อยังมีบุญที่ระบบหายใจไม่ขัดข้อง คืนที่พ่อผ่าตัด ฉันนั่งอยู่ข้างเตียงพ่อตลอดคืนวัน ดูการยุบพอ งของท้อง แสดงว่ายังหายใจ พอง่วงจัด ก็ฟุบหน้าข้างกายของท่าน เอามือวางบนท้อง เพื่อสัมผัส การหายใจ ประสบการณ์ขณะนั้น บอกฉันว่า 'อะไรเล่าจะมีคุณค่ายิ่งกว่าลมหายใจ'

พ่ออ่อนเพลียเกินกว่าที่จะช่วยเหลือตนเองได้ เป็นครั้งแรกในชีวิตที่ฉันทำภารกิจ เรื่องอุจจาระ ปัสสาวะ ความรังเกียจ ปลาสนาการ ฉันสารภาพกับพ่อว่า แต่ก่อนนั้น แค่ได้กลิ่นเคมี ในโรงพยาบาล แม้จะเป็น โรงพยาบาลชั้นเยี่ยม ปานโรงแรมชั้นหนึ่งก็ตาม ภายในครึ่งชั่วโมง ฉันก็เกิดอาการหน้ามืด จะเป็นลมให้ได้ แต่บัดนี้ ฉันดีใจ เมื่อพ่อบอกกับฉันว่า 'เอากระโถนมา' นั่นหมายถึง พ่อจะสบายตัวขึ้น ในไม่ช้า

อยู่นานเข้าฉันเริ่มมีความชำนาญในการดูแลผู้ป่วย หรือผู้สูงอายุ ที่ช่วยเหลือตนเองไม่ได้ ฉันบอกพ่อว่า 'หนูเห็นทางรวยแล้ว' พ่อทำหน้างงๆ 'ที่ยุโรป อเมริกา อาชีพนี้เขาจ่ายแพง' พ่อหัวเราะชอบใจ ด้วยเห็นว่า ในอนาคต ลูกสาวคงจะรุ่ง

การงานอันงดงาม
พ่ออยู่ในความดูแลของนายแพทย์ลักษณ์ ชุติธรรมานันท์ ซึ่งรับผิดชอบ ในเรื่องศัลยกรรมกระดูก พ่อโชคดี ที่ทั้งแพทย์พยาบาล ในส่วนนี้ ให้ความเมตตา ฉันสัมผัสได้ว่า การที่พ่อได้รับความเอาใจใส่ อย่างดีเยี่ยม ทั้งๆ ที่โรงพยาบาลแห่งนี้ เป็นโรงพยาบาลของรัฐ น่าจะเป็นเพราะ
หนึ่ง
แพทย์พยาบาลในส่วนนี้มีสำนึกแห่งความรักในเพื่อนมนุษย์
สอง
พ่อเป็นคนไข้ที่ให้ความร่วมมืออย่างดีเยี่ยม ในข้อแนะนำของแพทย์พยาบาล มีความอดทน และ อารมณ์ดี
สาม คนเฝ้าไข้ไม่ผลักภาระให้พยาบาลและเจ้าหน้าที่ สิ่งใดที่ทำเองได้ก็ทำ เช่น การดูแลเรื่องอุจจาระ การช่วยเช็ดตัว ฯลฯ เป็นการแบ่งเบาการงานอันหนักหน่วง
สี่
พ่อทำบุญมาดี จึงได้พบแต่คนมีเมตตา แม้กระทั่งเจ้าหน้าที่เวรเปล และผู้ช่วยคนไข้ ที่ช่วยยกพ่อ ขึ้นลงจากเตียง เพื่อไปทำกายภาพบำบัด ก็ปฏิบัติต่อพ่อ อย่างนุ่มนวล

ในส่วน กายภาพบำบัด คุณสุรชัย เวชพยนต์ ทั้งขู่ทั้งปลอบให้พ่อมีแรงสู้ เพื่อยันกายขึ้นยืน และเดิน พ่อเริ่มหัดเดิน เมื่อ ๑๗ มกราคม โดยจับเครื่องช่วยที่เรียกว่า วอล์กเกอร์ ซึ่งเป็นเหล็กสี่ขา สำหรับค้ำยัน ลูกชายคนเล็ก มาช่วยประคอง กำลังใจจากคุณสุรชัย มีผลอย่างยิ่ง ต่อการหัดเดินครั้งนี้

วันที่ ๑๕ มกราคม ศกนี้ พ่ออยู่โรงพยาบาลครบหนึ่งเดือน ใจพ่ออยากกลับบ้าน เพราะคิดถึงแม่ ซึ่งอยู่ในวัย เดียวกัน พ่อกับแม่แทบไม่เคย ห่างกันเลยตั้งแต่ ร่วมทุกข์ร่วมสุขกันมา ห้าสิบเอ็ดปี แต่พ่อก็มีความสุข ที่ได้รับเมตตา จากแพทย์พยาบาล และเจ้าหน้าที่หลายฝ่าย พ่อเอ่ยกับฉันว่า 'ประทับใจ' ฉันยังยืนยันว่า เหตุผลประการสำคัญ ที่พ่อซึ่งเป็นชายชรา ธรรมดาๆ คนหนึ่ง ได้รับการดูแล อย่างดีนั้น เพราะความรัก ในเพื่อนมนุษย์ ความตระหนักในหน้าที่ ซึ่งทำให้ฉัน ได้รู้ซึ้งถึง 'การงานอันงดงาม' ในท่ามกลางชีวิตที่ชำรุด

วิญญาณครูภาษาไทย
เช้าวันหนึ่ง สถานีโทรทัศน์ถ่ายทอดสด การประชุมเพื่อปฏิรูปการศึกษา โดยมีนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ผู้เข้าร่ววมประชุม ล้วนเป็นผู้ทรงคุณวุฒิ การประชุมนี้โยงมาถึงการปฏิรูป ที่สัมพันธ์กับศาสนา มีการกล่าวถึง มหาเถรสมาคม

'ต้องพูดว่า มะหาเถระสะมาคม ไม่ใช่ มะหาเถนสะมาคม' พ่อนอนฟังอยู่บนเตียง ช่วยแก้ไข ให้ถูกหลักในการออกเสียง

พ่อเป็นครูสอนชั้นประถม ที่โรงเรียนสารสิทธิ์พิทยาลัย ซึ่งเป็นโรงเรียนในเครือคาธอลิก ที่อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี พ่อมีความรู้ด้านภาษาไทยเป็นเลิศ เนื่องจากเมื่อบวชเป็นพระ พ่อใช้เวลาร่วมสิบปี ในการศึกษา ตำราภาษาไทย โดยเฉพาะ ด้านไวยากรณ์ไทย

พ่อสอนอยู่ที่โรงเรียนนี้ร่วมสามสิบปี ฉันเคยเห็นคนมีชื่อเสียงในสังคม มาคารวะพ่อ เพราะไม่ลืมว่า นี่คือ 'ครู' ที่ทำให้เขาอ่านออกเขียนได้ อันเป็นบันไดขั้นแรก แห่งความสำเร็จ ในชีวิตของเขา

วันที่ ๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๔ ทางโรงเรียนได้จัดงานแสดงมุทิตาจิตแด่คุณครูอาวุโส พ่อเป็นหนึ่ง ในจำนวนคุณครู ไม่ถึงสิบคน ที่ได้รับเกียรตินั้น

ศักยภาพภายใน
ตั้งแต่วันที่ ๗ มกราคม ๒๕๔๖ เป็นต้นไป ฉันมีภารกิจสำคัญจำเป็นต้องทำที่กรุงเทพฯ ติดต่อกัน อย่างน้อย หนึ่งเดือน ผู้รับช่วงดูแลพ่อตอนกลางคืน มักจะมาถึงโรงพยาบาลก่อนหนึ่งทุ่ม ประมาณ ๑๐ นาที ที่จอดรถโดยสารห่างจากโรงพยาบาลในระยะที่คำนวณ จากการครึ่งวิ่งครึ่งเดินกินเวลา ๑๐ นาที โดยปกติรถจะเคลื่อนล้อเวลาหนึ่งทุ่ม ฉันสนุกกับการลุ้นว่าจะไปทันรถเที่ยวหนึ่งทุ่มหรือไม่ หากไปทัน เที่ยวนี้ ฉันจะไปถึงที่พักคือสุขุมวิท ๗๙ สุดทางรถไฟฟ้าอ่อนนุช ราวสี่ทุ่ม ตั้งแต่เดินทางมา จนกระทั่งวันนี้ (๑๖ มกราคม) ยังทัน มีอยู่วันหนึ่ง พนักงานประจำรถ เห็นฉันวิ่งปุเลงปุเลง ก็อุตส่าห์รอ บางวัน ฉันนึกอยาก กระจายรายได้ก็นั่ง เมล์เครื่อง (มอเตอร์ไซค์รับจ้าง) หน้าโรงพยาบาล ค่าบริการระยะสั้นๆ ขนาดวิ่งพอหอบ ก็ถึงที่หมายพอดี เขาคิดราคา ๑๐ บาท เมื่อถึงกรุงเทพฯ ฉันทำงานได้ไม่มาก แต่ก็ 'ได้ทำ'

เนื่องจากยังไม่อยากซึ้อนาฬิกาปลุก จึงใช้วิธีกำหนดใจก่อนนอนว่า 'เราจะตื่นตีสาม' จนถึงปัจจุบัน ก็ตื่นตรงเวลา ทุกวัน

เพื่อนเดินทาง
เช้าวันที่ ๘ มกราคม ที่ป้ายรถเมล์ตรงข้ามสถานีตำรวจพระโขนง เวลาก่อนตีสี่ ฉันยืนชะโงกชะเง้อ ท่าทางเงอะงะ เพราะไม่คุ้นเส้นทาง ที่จะไปยังสถานี ขนส่งสายใต้

'รถจะมาถึงตีสี่ห้านาทีค่ะ สาย ๕๑๑ คนขับมีฝีมือและอัธยาศัยดีมาก กระเป๋าก็ดี ฉันนั่งประจำ บางที ฉันหลับ เขาก็มาปลุก เมื่อใกล้จะถึงที่ฉันจะลง'

หญิงวัยกลางคนสวมเสื้อกางเกงสีน้ำเงินเข้ามาทักทายและอธิบายรายละเอียด เธอเป็นพนักงาน รักษาความสะอาด ลูกจ้างประจำของ กทม. ปฏิบัติงานที่ถนนสีลม เธอไปทำงาน ก่อนเวลาทุกวัน 'ฉันเข้าทำงาน สมัยพลตรีจำลอง ศรีเมือง เป็นผู้ว่าฯ เพราะท่านนั่นแหละ ทำให้ฉันมีกำลังใจทำงาน ท่านเป็นคนแรก ที่ออกกฏให้พนักงานฯ มีสวัสดิการดีขึ้น คือ ให้สามีภรรยาและบุตร ของพนักงานฯ เบิกค่ารักษาพยาบาลได้ มีเงินอุดหนุนการศึกษาบุตร ของพนักงาน ท่านเป็นผู้ริเริ่มที่ให้ผู้หญิงมาทำงาน ตำแหน่งนี้ได้ ฉันไม่เคยลืมท่าน และมีหลายคน ยังนึกถึงท่านอยู่' 'เพราะอะไร' ฉันอยากรู้จริงๆ คำตอบสั้นๆ คือ 'สะอาด'

หากถ้อยคำที่พนักงานรักษาความสะอาดของ กทม. หรือเรียกกันว่า 'คนกวาดถนน' คนนี้เป็นความจริง ความดีที่ พลตรีจำลอง ได้สร้างไว้นั้น จึงเป็นความงามยิ่งกว่า ความปลอม ซึ่งสรรสร้าง ปรุงแต่งกันขึ้นมา เพื่อให้ได้โล่เขน เหรียญตรา หรือขั้นตำแหน่ง ซึ่งมอบโดยผู้ทรงเกียรติ

ใครบ้างที่ได้เห็นบรรยากาศยามเช้ามืดของนครหลวง อากาศสดชื่น ผู้รอรถเมล์คุยกัน อย่างสนิทสนม พนักงานขับรถ กระเป๋ารถเมล์ ทักทายถามไถ่ ทุกข์สุขกับผู้โดยสาร

รางวัลแห่งความรัก
รถเมล์สาย ๕๑๑ พาฉันมาส่ง ณ ที่หมาย สถานีขนส่งสายใต้เวลาประมาณตีสี่สี่สิบนาที รถสาย กาญจนบุรี ออกจากท่าเที่ยวแรกตีห้าตรง มาจอดที่ท่ารถอำเภอบ้านโป่งหกโมงตรง ฉันถึงขอบเตียงพ่อ เวลาประมาณ หกโมงสิบห้านาที หลังจากแวะดื่มน้ำเต้าหู้ ที่หน้าโรงพยาบาล และหิ้วปาท่องโก๋ ไปฝาก คณะคุณพยาบาล

ฉันสังเกตว่าคุณพยาบาลเช็ดตัว วัดไข้คนไข้ที่เตียงรวมอย่างกระฉับกระเฉง มิใช่ญาติ แต่พวกเขา มีใจถึง เพียงนี้ ด้วยอานุภาพแห่งความรัก ที่มีต่อเพื่อนมนุษย์ คนไข้เหล่านี้ จึงโชคดี รวมทั้งพ่อของฉันด้วย

ระยะเวลาหนึ่งเดือนเต็มที่ฉันได้ปรนนิบัติดูแลพ่อ ฉันได้ความรู้จากประสบการณ์ว่า ศักยภาพภายใน ของมนุษย์นั้น มีมากมาย ด้วยพลังแห่งความรัก ทำให้พลังชีวิตกล้าแกร่ง และนี่คือ รางวัล

(ดอกหญ้า อันดับที่ ๑๐๕ ม.ค.-ก.พ.๒๕๔๖)