แนวทาง การตอบโต้กับความทุกข์
มีน้ำก็ต้องมีคลื่น
เกิดเป็นคนก็ต้องมีอุปสรรค
ใครกลัวอุปสรรคนับว่าอันตราย
จริงๆ แล้ว ความทุกข์ที่คนเราเกลียดกลัว
กลับมีคุณค่ามหาศาล เพราะมีแต่ความทุกข์เท่านั้น ที่จะทำให้ เราแข็งแกร่งและฉลาดขึ้น
ไหนๆ ก็ไหนๆ นะครับ เกิดมาแล้วนี่
จะถอยก็ไม่ได้ ชีวิตมีแต่เดินหน้า เอาวิกฤตมาเป็นโอกาส เอาขยะ มาเป็นปุ๋ย
พระพุทธองค์ตรัส โลกมนุษย์มีแต่"ทุกข์อริยสัจ"
สุขอริยสัจไม่มี ความสุขก็เป็นเพียงแค่ความทุกข์
ที่ลดลงก็เท่านั้น
ความทุกข์มีจุดเด่นหลายข้อ รู้เขารู้เรา
รบ ๑๐๐ ครั้ง ชนะ ๑๐๐ ครั้ง รู้จุดเด่นจะทำให้เราตอบโต้ หรือจัดการกับความทุกข์ได้ง่ายขึ้นนะครับ
๑. ชอบอยู่คนเดียว
คนทุกข์มักจะอยู่โดดเดี่ยว ไม่อยากจะยุ่งหรือสุงสิงกับใคร ชอบเก็บตัว
หากปล่อยไว้ นานเกินไป ความคิดฆ่าตัวตายก็มีโอกาส เกิดขึ้นได้
การตอบโต้
อย่าให้อยู่คนเดียว พยายามดึงให้พบปะผู้คนเสมอๆ
๒. จิตมั่นคง
เวลาทุกข์ ทุกอิริยาบถล้วนเป็นความทุกข์จมดิ่ง-ดื่มด่ำอยู่ในทะเลแห่งความทุกข์
เป็นหนึ่งเดียว เป็นเอกัคคตารมณ์!
การแช่-จมอยู่กับสิ่งใดนั้นก็ถือเป็นสมาธิ
แต่สมาธิที่ฝังตัวอยู่กับก้อนแห่งความทุกข์ เราน่าจะเรียก "ความทุกข์สีดำ"
นะครับ
การตอบโต้
เราจะหาทางเปลี่ยนอารมณ์ เราจะทำให้สมาธิสีดำเคลื่อนไหวให้ได้
ต้องก่อกวน ยุแหย่ !
การอยู่เฉยๆ โดยไม่ทำอะไร จึงเท่ากับส่งเสริมให้ทุกข์หนักขึ้น
ต้องหากิจกรรมให้เคลื่อนไหว กายยิ่งเคลื่อนโอกาสคลายก็จะมีมากขึ้น
อาจจะเริ่มที่การออกกำลังกาย การขุดดิน
ฟันหญ้า ฯลฯ ยิ่งเหงื่อออก จิตใจก็ยิ่งผ่อนคลาย
เหงื่อออกมาก-น้ำตาจะไหลน้อย!
๓. ระเหิดได้
ความทุกข์มีคุณสมบัติเหมือนลูกเหม็น หากทิ้งไว้มันก็จะสลายตัวไปเอง
ความทุกข์ส่วนใหญ่ เป็นเช่นนั้น ทิ้งไว้สักระยะหนึ่ง คลื่นลมก็จะสงบ
อาจจะเหลือรอยอาลัย หรือตะปูตรึงใจก็ค่อยว่ากัน แต่สถานการณ์ วิกฤติก็ได้ผ่านไปแล้ว
การตอบโต้
เราจะซื้อเวลา ให้วันคืนหมุนผ่านแล้วทุกอย่างก็จะคลี่คลาย ครั้งหนึ่งที่เคยอกหักเจียนตาย
แต่พอสักหลายเดือน ผ่านไป เอ๊ะ! อกหักไม่ยักตาย
ครั้งหนึ่งที่สอบตก โลกนี้หมดความงามในทันใด
ผ่านไปสักระยะ เริ่มยิ้มได้
ในความทุกข์จึงไม่ควรตื่นเต้น ไม่ว่าเราทุกข์หรือเขาทุกข์
ปล่อยไปเถอะ ให้มันเตลิดเปิดเปิง แล้วความบ้า ก็จะทุเลา
๔. สับสนยุ่งเหยิง
ยามทุกข์เราจะขาดสติ จนลำดับความสำคัญไม่ถูก ยิ่งตื่นกลัวก็ยิ่งแตกตื่น
ทุกข์ ๑ บาท กลายเป็นทุกข์ ๑๐๐ บาท เก่งอะไรขนาดนั้น แต่ไม่น่าส่งเสริมหรอกครับ
การตอบโต้ ในความทุกข์จะมี
"ทุกข์มาก-ทุกข์น้อย" จะมี "ทุกข์หลัก-ทุกข์รอง"
ต้องวิเคราะห์ค้นหา เรียงแถว ให้มัน "จัดระเบียบความทุกข์"
เสียใหม่ แค่จัดแถว ดีกรีความร้อนแรงก็ผ่อนคลายแล้วครับ
๕. หนักเกินจริง
ในความทุกข์ที่หนัก ๑ กิโล แต่คนเราก็มักจะกดดันให้มากเกินจริงหลายเท่าตัว
ยิ่งอยาก ให้หลุดพ้น จบลงไวๆ กลับจะยิ่งก่อศึกยืดเยื้อ บั่นทอนให้จมหนักมากขึ้น
การตอบโต้
เกลียดทุกข์ก็จะยิ่งทุกข์นะครับ ความทุกข์นั้นเป็นธรรมดาของชีวิต
พระพุทธเจ้าทรงสอนแต่ "ทุกข์อริยสัจ" ดังกล่าวแล้ว
ชีวิตนี้จึงมีแต่ทุกข์น้อยกับทุกข์มาก
รู้อย่างนี้จะได้ไม่โหยหาความสุขให้วุ่นวาย
"ความทุกข์เหรอ...มาคุยกันหน่อย"
อย่ามัวหลีกหนีเหมือนแมลงสาบในบ้านยามเจอคน
เราจะกล้าหาญขึ้นนะครับ กล้าคุยกล้าสนทนากับมัน
จิตที่อาจหาญกล้าคุยกับความทุกข์ จะทำให้ความทุกข์ ลดดีกรีลงหลายองศาทีเดียว
ประสบการณ์จะทำให้เก่งขึ้น การรู้วิธีก็ใช่จะหลุดพ้น
นักต่อสู้ยังต้องเพิ่มชั่วโมงบินให้ตัวเอง
จับงู ขับรถ เล่นคอม ฯลฯ ล้วนแต่อาศัยการเรียนรู้ฝึกฝนบ่อยๆ
อยากจะพ้นทุกข์ก็ต้องศึกษาความทุกข์
วันนี้ก็ยังไม่สายเกินไปหรอกครับ
เราเสียเวลากับการหนีทุกข์มานานแล้วนะครับ
ลองหันมาต่อสู้ เผชิญหน้า พูดคุยกับมันเถิดให้ความทุกข์ตื่นตะลึงในมาดใหม่ของเรา
!
(ดอกหญ้า
อันดับที่ ๑๐๖ มีนาคม - เมษายน ๒๕๔๖ ฉบับ...ย่อมโศกอยู่เช่นนี้)
|