โรงเรียนวิถีพุทธ
กระทรวงศึกษาธิการ
กำลังผลักดัน โครงการ โรงเรียนวิถีพุทธ ซึ่งเป็นโรงเรียน ที่จัดการเรียนการสอน
ตามหลักสูตรปกติ แต่เน้นการนำหลักพุทธธรรมมาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาผู้เรียน
จนถึงปัจจุบัน มีโรงเรียน ที่สนใจ สมัครเข้าร่วมโครงการแล้ว ๘๐ กว่าแห่ง
หลักการสำคัญ ของโรงเรียนวิถีพุทธ
อยู่ที่การจัดองค์ประกอบของสภาพสังคมสิ่งแวดล้อม ตามลักษณะ แห่งปัญญาวุฒิธรรม
๔ ประการ เพื่อพัฒนา ให้ผู้เรียนเกิดความเจริญงอกงามในชีวิต ได้แก่
๑. สัปปุริสสังเสวะ สร้างสภาพสังคมสิ่งแวดล้อม
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ครูอาจารย์ที่จะเป็นแบบอย่างที่ดี ของผู้เรียน
๒. สัทธัมมัสสวนะ
สร้างหลักสูตรสถานศึกษา และกระบวนการเรียน การสอนที่ดี สอดคล้องกับ
สภาพ เงื่อนไข ของผู้เรียน
๓. โยนิโสมนสิการ มีกระบวนการกระตุ้นให้ผู้เรียนรู้จักการคิด
วิเคราะห์ เพื่อแก้ปัญหาต่างๆ อย่างเป็นเหตุ เป็นผล โดยเฉพาะ อย่างยิ่ง
การรู้จักหันกลับมา "มองตน" เพื่อพิจารณา ปรับปรุง แก้ไขปัญหาที่ตัวเอง
๔. ธัมมานุธัมมปฏิปัตติ มีการฝึกฝน
ปฏิบัติ อย่างเหมาะสม เพื่อให้ผู้เรียนได้พัฒนาศักยภาพ ของตนเอง ตามความถนัด
ไปสู่ทิศทาง ที่มีความเจริญงอกงามยิ่งๆ ขึ้น ทั้งทางด้านร่างกาย จิตใจ
สังคม อารมณ์ ปัญญา
อันที่จริงเครือข่ายโรงเรียนสัมมาสิกขาของชุมชน
ชาวอโศกซึ่งปัจจุบันมีอยู่ ๑๑ แห่งนั้น ก็คือโรงเรียน ที่จัดการเรียนการสอน
ตามหลักปัญญา วุฒิธรรม ๔ ประการ จนมีนักเรียน ที่สำเร็จการศึกษา จากโรงเรียน
"วิถีพุทธ" ของชาวอโศกไปแล้ว
หลายรุ่น นักเรียน บางคนก็ศึกษาต่อ ในระดับมหาวิทยาลัย ขณะที่ บางคน
ก็อาศัยความรู้ ที่ได้รับ ไปประกอบอาชีพ การงาน จนสามารถสร้างเนื้อสร้างตัว
มีฐานะทางเศรษฐกิจ ที่มั่นคง
โรงเรียนสัมมาสิกขาของชุมชนชาวอโศก
ตั้งอยู่ในบริเวณชุมชน ที่มีพุทธสถานต่างๆ เป็นศูนย์รวม ทางจิตวิญญาณ
บ้าน วัด โรงเรียน จึงไม่ได้แยกขาดจากกัน แต่จะมีความเกี่ยวข้อง
เกื้อกูลสัมพันธ์กัน อย่างแนบแน่น ภายใต้ระบบสังคมเดียวกัน ส่งผล
ให้เกิดสภาพสังคม สิ่งแวดล้อม ที่เอื้ออำนวย ต่อการปลดปล่อย พลังทางปัญญา
และพลังทางจริยธรรมของผู้เรียน
วัดจะทำหน้าที่อบรมกล่อมเกลาชาวบ้านในชุมชน
และนักเรียนในโรงเรียน เพื่อให้เกิดการพัฒนาตัวเอง ตามหลัก พุทธธรรม
รวมทั้งเป็นผู้นำทางจิตวิญญาณ ที่ทำหน้าที่เสมือนหางเสือของเรือ ซึ่งจะคอยกำกับ
เส้นทางเดินเรือ ไม่ให้แล่นเบี่ยงเบนไปสู่ทิศทางที่ผิดพลาด จนออกนอกเป้าหมาย
บ้านหรือชุมชนจะทำหน้าที่คอยอุปถัมภ์วัด
และโรงเรียน เพื่อให้มีทรัพยากรต่างๆ ที่พอเพียง สำหรับ การทำหน้าที่
ของวัด และโรงเรียนได้อย่างมี คุณภาพ
ขณะที่โรงเรียนก็ช่วยทำหน้าที่สนับสนุนกิจการต่างๆ
ของวัดและชุมชนด้วย โดยผ่านทางหลักสูตร และกระบวนการ การเรียนการสอน
ที่อาศัยงานเป็นพื้นฐานสำคัญ ในการพัฒนา ปลดปล่อยศักยภาพ ทั้งทางด้านร่างกาย
จิตใจ สังคม อารมณ์ ปัญญาของผู้เรียน ภายใต้ปรัชญาการศึกษา
"ศีลเด่น -เป็นงาน -ชาญวิชา"
ก. ศีลเด่น เป็นหัวใจสำคัญของโรงเรียนสัมมาสิกขา
ที่ทำให้มีความแตกต่าง จากโรงเรียนอื่นๆ (ที่ไม่ใช่ วิถีพุทธ) อย่างมีนัยสำคัญ
การจัดการศึกษาที่ฝังตัวอยู่ภายใต้บริบทของวัดและชุมชนคนมีศีล จะทำให้เกิด
สภาพสังคมสิ่งแวดล้อมที่เป็น "สัปปุริส- สังเสวะ" ซึ่งเอื้ออำนวยต่อการให้การอบรมกล่อมเกลา
ทางสังคม (Socialization) เพื่อปรับเปลี่ยนพัฒนาวิถีชีวิตของผู้เรียนให้เข้าถึงแก่นสารของจริยธรรม
ตามหลักพุทธธรรม ได้อย่างมีพลัง
ข. เป็นงาน
การจัดการเรียน การสอนของโรงเรียนสัมมาสิกขา โดยอาศัยงานต่างๆ ภายในวัด
และชุมชน เป็นแหล่งเรียนรู้สำคัญ จะส่งผลให้กิจกรรมการเรียนการสอนไม่มีความแปลกแยก
(Alienation) จากวิถีชีวิตจริง ของผู้เรียน (ในฐานะเป็นสมาชิกส่วนหนึ่ง
ของชุมชน)
เมื่อการศึกษา กลายเป็น
อันหนึ่งอันเดียว กับวิถีชุมชน และกิจกรรมการเรียนรู้ จากการงานดังกล่าว
ได้กลายเป็น พลังแรงงาน ที่มีส่วนสำคัญ ต่อการช่วยเหลือชุมชน ก็จะส่งผลให้ชุมชน
เห็นคุณค่า ความสำคัญ ของการศึกษา จนพร้อม จะทุ่มเท ทรัพยากรต่างๆ
เพื่อเกื้อกูลพัฒนาการศึกษา (ที่เป็นประโยชน์คุณค่า ต่อชุมชนอย่างเห็นเด่นชัด)
นั้นๆ ให้เกิดความเจริญก้าวหน้ายิ่งๆ ขึ้นไป โดยไม่ต้อง รองบประมาณแผ่นดิน
ขณะเดียวกัน การเรียนรู้
จากการงานที่ดำรงอยู่จริง ภายใต้วิถีชุมชนดังกล่าว จะเป็นกระบวนการ
เรียนรู้ ที่มีพลัง ในการพัฒนา และปลดปล่อย ศักยภาพ ของผู้เรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพด้วย
เพราะไม่ใช่แค่
นั่งเรียนอยู่ใน ห้องสี่เหลี่ยมแคบๆ ของชั้นเรียนที่น่าเบื่อ แล้วทั้งผู้เรียน
และผู้สอน ต่างก็อาศัย การสร้างภาพจินตนาการ เกี่ยวกับเนื้อหาความรู้ที่เรียน
เพื่อสร้างความเข้าใจ อันเป็นเรื่องสมมติ ที่ไม่มี ความหมายจริงจังอะไร
สำหรับชีวิตมากนัก เสมือนหนึ่งเด็กๆ ที่กำลังเรียน จากการเล่น ขายหม้อข้าว
หม้อแกง ซึ่งไม่มีความหมายจริงจังอะไรต่อวิถีชีวิต ในโลกแห่งความเป็นจริง
(ซ้ำร้ายกว่านั้น
กระบวนการเรียน การสอน ส่วนใหญ่ ของสถาบัน การศึกษาทุกวันนี้ ยังไม่ค่อย
จะมีแม้แต่ ตัวอย่างจำลอง ให้ผู้เรียนได้ทดลองปฏิบัติ เหมือน การทดลองเล่น
ขาย หม้อข้าวหม้อแกง ดังกล่าว ที่เป็นอยู่ส่วนใหญ่ จะอยู่ในระดับเพียงแค่
"จินตนาการที่จะเล่น ขายหม้อข้าวหม้อแกง" กันเท่านั้นด้วยซ้ำ)
การจัดหลักสูตรการเรียนการสอน
ที่เป็นอันหนึ่งอันเดียว กับวิถีชีวิตจริง (เช่น ลงมือขายอาหารมังสวิรัติ
ในร้านค้าจริงๆ ไม่ใช่แค่เล่นขายหม้อข้าว หม้อแกง เป็นต้น) จะทำให้ผู้เรียนได้เรียนรู้
สิ่งที่สามารถ นำไปใช้ แก้ปัญหาต่างๆ ของชีวิตและชุมชนได้จริง อันเป็นกระบวนการเรียนการสอนที่เป็น
"สัทธัมมัสสวนะ"
ค. ชาญวิชา ครูจะ
ทำหน้าที่ คอยกระตุ้น ให้นักเรียนได้คิด วิเคราะห์ เพื่อ สร้างความคิดรวบยอด
(Conceptualization) จากกิจกรรม การงานต่างๆ
ในแต่ละวัน โดยใช้วิธีให้นักเรียน เขียนบันทึก หรือรายงาน ส่งให้ตรวจ
การเขียนบันทึก หรือรายงาน จะทำให้นักเรียน ได้หันกลับมาทบทวนตัวเอง
ตามหลัก "โยนิโสมนสิการ"
นอกเหนือจากการเรียนการสอนตามหลักสูตรแกนหลักในชั้นเรียน
เพื่อให้สอดคล้อง กับเนื้อหาความรู้ ที่กระทรวงศึกษาธิการกำหนดให้เรียนแล้ว
หลักสูตรสถานศึกษา ของโรงเรียนสัมมาสิกขา แต่ละแห่ง ที่เพิ่มเรื่อง
การทำงานในฐานงานต่างๆ เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษา จะช่วยให้นักเรียน
มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ ในบางเรื่องมากขึ้น ตามความสนใจและความถนัดของตน
ซึ่งสอดคล้องกับหลัก "ธัมมานุธัมมปฏิบัติ"
ด้วย
ทั้งนี้เพราะ ในการทำงาน
แต่ละเรื่อง นักเรียนจะต้อง เผชิญกับอุปสรรคปัญหาต่างๆ อย่างน้อย ก็ต้องทำงาน
ร่วมกับคนอื่นๆ ในสังคม อาจจะถูกใช้งานเรื่องนั้นเรื่องนี้บ้าง มีความรู้สึก
ไม่พอใจ เกิดขึ้นจาก การไม่สามารถ ทำอะไรได้ ดังใจตนเอง บ้าง เกียจคร้าน
บ้าง ฯลฯ
เมื่อถูกบีบคั้นให้ต้องเผชิญหน้ากับอุปสรรคปัญหาหรือความทุกข์
ศักยภาพ ที่แฝงอยู่ในตัวนักเรียน จะได้รับ การปลดปล่อยออกมา เพื่อฟันฝ่าอุปสรรคปัญหาต่างๆ
ให้งานนั้นๆ สำเร็จลุล่วงตามเป้าหมาย
นักเรียนบางคนอาจได้เรียนรู้ว่าตนเองมีความสามารถพิเศษในด้านนั้นด้านนี้
บางคนมีลักษณะเป็นผู้นำ บางคนมีความสามารถในการแสดงออก ต่อหน้าสาธารณชน
บางคน มีความสามารถพิเศษ ด้านการพูด หรือ การเขียน ฯลฯ การรู้จักความสามารถพิเศษของตนเองจะนำไปสู่ฉันทะที่จะพัฒนาศักยภาพ
และความรู้ ความสามารถ ในสาขาวิชาด้านนั้นๆ ต่อไปอย่างเหมาะสม
นอกจากนี้ความรู้สำคัญที่นักเรียนจะได้มีโอกาสเรียนรู้จากการทำงานอีกประการหนึ่ง
ก็คือความรู้ เกี่ยวกับ การบริหารจัดการ (management)
ซึ่งเป็นวิชาความรู้ที่สังคมไทยขาดแคลน เนื่องจาก ระบบการศึกษา
ที่สอนให้เรียนรู้ อยู่ในชั้นเรียนแคบๆ จะไม่สามารถ สอนความรู้ด้านนี้ได้
แต่ในการทำงาน นักเรียนจะถูกฝึกให้รู้จัก
วิธีการบริหารจัดการ เพื่อแก้ปัญหาต่างๆ อันเป็นอุปสรรค ที่ทำให้ งานนั้นๆ
ไม่สำเร็จลุล่วง เช่น ต้องรู้จัก การทำงานร่วมกันเป็นทีม การแบ่งงาน
การติดต่อประสานงาน การตัดสินใจ ฯลฯ
โลกปัจจุบันเป็นโลกยุคการแข่งขัน
ความรู้ที่สำคัญยิ่งเรื่องหนึ่งสำหรับโลกยุคนี้ก็คือความรู้ในด้านการจัดการ
สังคมไทย ที่ล้าหลัง กว่าหลายๆ ประเทศก็เพราะ ระบบการศึกษาที่ไม่สามารถ
สอนให้คนไทย มีความรู้ ด้านการจัดการที่ดี เรียนจบมาสูงๆ แต่ทำงานไม่ค่อยเป็น
ส่งผลให้กิจการงานนั้นๆ ไม่ประสบผลสำเร็จ เท่าที่ควร
ปรัชญาการศึกษา
"ศีลเด่น-เป็นงาน-ชาญวิชา" ภายใต้ระบบการศึกษา
"วิถีพุทธ" ของเครือข่าย โรงเรียน สัมมาสิกขา ชาวอโศก
จึงเป็นระบบการศึกษา ที่มีนัยอันลึกซึ้ง ต่อการช่วยแก้ไขปัญหา ของสังคมปัจจุบัน
หลายแง่มุม ซึ่งน่าที่โรงเรียนอื่นๆ จะได้มาศึกษาใกล้ชิด