"ติ้ว"
ปีกรัก ชาวหินฟ้า
"ได้ค่ะ แต่หนูไม่รู้จะทำได้ดีหรือเปล่านะคะ"
เป็นคำตอบจาก "ติ้ว"
เมื่อดิฉันชวนเธอมาช่วยงานวิจัย เป็นคำตอบเดิมที่ได้ยินทุกครั้ง ที่เอ่ยปาก
ขอความช่วยเหลือ ในหมู่คนมากมายที่เรารู้จัก จะมีสักกี่คนที่เราเชื่อว่า
ถ้าขอ ให้ช่วย เขาต้องช่วย และมีกี่คน ที่เราวางใจได้ ขนาดกล้าพูดว่า
"คนนี้ไม่มีปัญหาหรอก" หรือพูดอย่างสนิทชิดเชื้อ ก็บอกว่า
ไว้วางใจได้ว่าไม่โกรธ และยินดีให้ความร่วมมือ แทบจะทุกงาน (ขอคงคำว่า"แทบจะ"
เผื่อไว้ เพราะอาจ จะมีบางเวลา ที่ยังมีอารมณ์ "ไม่พร้อมจะให้ความร่วมมือ")
"ติ้ว" จึงเป็นบุคคลมหัศจรรย์คนหนึ่ง ที่น่าจะเรียนรู้ว่า
เธอมีวิธีคิดอย่างไร และใช้ชีวิตอย่างไร
วันนั้นพอชวนลูกสาวช่วยอ่านรายงานการปฏิบัติธรรมที่พิมพ์ในนิตยสาร
"สารอโศก" ของมูลนิธิ ธรรมสันติ ซึ่งจะใช้เป็นข้อมูลเบื้องต้
นสำหรับงานวิจัย ลูกสาว ก็บอกว่า เดี๋ยว จะชวนแม่ด้วย แม่ชอบอ่านหนังสือ
พอดีแม่เดินมา คุณแม่ของติ้วชื่อ ฝนคำ เดิมชื่อลดาศรี ส่วนติ้วชื่อปิยะดา
(แปลว่าบุคคลที่น่ารัก หรือ บุคคลอันเป็นที่รัก) ดิฉัน จำชื่อคุณแม่
ไม่ค่อยจะได้หรอกค่ะ เพราะไม่ค่อยได้ยินใครเรียกชื่อท่าน ใครๆ ก็เรียกว่า
"แม่ครู" พอแม่ครูได้ฟังเรื่องที่เรากำลังคุยกันอยู่ แม่ครู
ก็รับปากว่า จะช่วย ด้วยอีกแรงหนึ่ง เท่าที่จะพอมีเวลา เพราะช่วงนี้สอนหนักมาก
เด็กๆ กำลังสนใจ เรียนคณิตศาสตร์กันใหญ่ มาขอให้สอนเพิ่ม นอกเวลาเรียน
จนค่ำมืดทุกวัน จนไม่มีแม้แต่เวลาคิดอยากจะกลับบ้าน แม่ครูเล่าว่า
สมัยมาอยู่วัดใหม่ๆ คิดอยากกลับบ้านทุกวันเชียวแหละ ไม่เหมือนติ้ว
ติ้วไม่เคย คิดจะกลับบ้านเลย คิดถึงแต่วัด กลับบ้าน ไม่กี่วัน ก็จะกลับวัดแล้ว
ถึงตอนนี้ ติ้วเสริมว่า "มีอยู่ครั้งเดียว อยากกินข้าวเหนียว
มะม่วง ก็เลยกลับบ้าน ไปกิน ข้าวเหนียวมะม่วง"
เมื่อตอนเด็กๆ ติ้วก็เคยทำแบบนี้มาแล้ว
ตอนนั้นอยู่กับญาติในกรุงเทพฯ ติ้วกับน้องสาว อยากกินทุเรียน ซึ่งก็เป็นปกติ
ที่ผู้ใหญ่ จะไม่ค่อยให้เด็ก กินทุเรียนมากเกินไป ติ้วกับน้อง ก็เลยซื้อทุเรียนไปกิน
ที่มหาวิทยาลัย เกษตรศาสตร์ จนอิ่มแล้วถึงกลับบ้าน
เรื่องนี้ดิฉันเพิ่งเคยได้ยิน
แม้จะคบหาคุ้นเคยกับติ้วมาเกือบ ๑๐ ปี ฟังแล้วก็คิดว่า ชีวิตของเธอ
ซึ่งเป็น พุทธศาสนิกชนคนหนึ่ง ก็มีอะไรน่าศึกษาเหมือนกัน น่าศึกษา
ตรงที่เธอก็เคย พ่ายแพ้กิเลส มาเหมือนกัน แต่หลังจากนั้น เธอก็เป็นผู้ชนะ
เพียงเพราะ พระท่านบอกว่า "ไม่ต้องกินหรอก ข้าวเหนียวมะม่วงน่ะ"
เด็กหญิงปิยะดา
สุ่มมาตย์ เกิดเมื่อวันที่ ๒ มีนาคม ๒๕๐๖ ที่จังหวัดกาฬสินธุ์ พ่อชื่อสุปัน
ตอนแรก พ่อเป็นครู แต่ต่อมา พ่อไปช่วยงานลุง พี่ชายของแม่ ซึ่งเป็นทนายความ
พ่อก็เลยเรียนนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัย รามคำแหง แล้วก็เปลี่ยนอาชีพ
เป็นทนายความ ปัจจุบัน พ่อเสียชีวิตแล้ว ส่วนแม่เป็นครู สอนคณิตศาสตร์
ที่โรงเรียน อนุกูลนารี จังหวัดกาฬสินธุ์ ติ้วก็เรียนจบ ม.ศ.๕ สายวิทย์
จากโรงเรียนนี้
"จบ ม.ศ.๕
แล้วก็เข้าเรียนรามฯเลย ไม่ได้สอบ เอ็นทรานซ์เพราะ พ่ออยาก ให้เรียน
นิติศาสตร์ มหาวิทยาลัย รามคำแหง แล้วก็เป็นทนายความ เหมือนพ่อ ที่จริงพ่อก็อยากให้พี่ชาย
เป็นทนายความ เหมือนกัน แต่เขาไม่ยอม พี่ชายชื่อสุวิทย์ จบ ปวส. สถาบันเทคโนโลยี
ราชมงคล ที่กาฬสินธุ์ เรียนจบแล้ว ก็เป็นข้าราชการ กรมประมง ตอนนี้ลาออกมาค้าขาย
น้องสาว แต่งงานแล้ว ชื่อปนัดดา แก้วชู จบวิทยาลัย เทคนิค
ที่กาฬสินธุ์ แล้วไปเรียนรามฯต่อ ตอนเรียนรามฯก็ ทำงานไปด้วย แต่งงานแล้วก็ลาออก
จากงาน คนสุดท้อง เป็นผู้ชายชื่อภานุมาศ จบโรงเรียนเทคโนโลยีไทย-เยอรมัน
ที่ขอนแก่น ทำงานที่ สำนักงาน การศึกษาจังหวัดกาฬสินธุ์ เสียชีวิตแล้ว
เพราะประสบอุบัติเหตุ"
"ตกลงกันไว้ว่าจบรามฯแล้ว
จะต้องให้เรียนครู เพราะอยากเป็นครู แต่ก็เรียนตามใจพ่อ เรียนจนเกือบ
จะจบแล้ว ตอนนั้นอยู่ปี ๔ เหลืออีกแค่ ๓ เล่ม (นักศึกษาราม จะใช้คำว่าเล่ม
แทนคำว่าวิชา) ถ้าเรียน ก็จบอยู่แล้ว แต่พอดีได้พบกลุ่มนักศึกษา ผู้ปฏิบัติธรรม
(นศ.ปธ.) เลยทำแต่กิจกรรม ไม่ได้ไปสอบ จนเวลา ผ่านไป ๔ ปี ก็ยังเรียนไม่จบ
มหาวิทยาลัย กำหนดไว้ว่า ถ้าเรียนไม่จบภายใน ๘ ปี ถึงจะเรียนมาเกิน
๑๐๘ หน่วยกิต มหาวิทยาลัย ก็นับให้แค่ ๑๐๘ หน่วยกิต ก็เลยต้องเรียนอีก
๓๐ หน่วยกิต พอปี ๒๕๓๔ พ่อเสียชีวิต ก็เลยเรียนจบ ภายในเทอมเดียว ๓๐
หน่วยกิต ที่จริงระเบียบให้เรียน เทอมละไม่เกิน ๒๔ หน่วยกิต แต่ถ้าเป็นเทอมสุดท้าย
ขอลงทะเบียนเรียนเกินกำหนดได้ ก็ไม่รู้เหมือนกันว่า เรียนได้ยังไงตั้ง
๓๐ หน่วยกิต อาจจะเป็นเพราะรู้ว่า พ่ออยากให้เรียนให้จบ พอพ่อเสียชีวิต
ก็เลยเป็นแรงผลักดันว่า ต้องเรียนให้จบ" "ที่ไม่อยากเรียนให้จบตอนแรก
เพราะไม่อยาก เป็นทนายความ แล้วก็ไม่อยาก กลับไปทำงาน ที่บ้านด้วย
อยากอยู่วัด แม่บอกว่า จะอยู่วัดก็ได้ แต่ต้องเรียนให้จบก่อน แต่พ่อบอกว่า
ถ้าเรียนจบ ต้องกลับไปทำงานกับพ่อ เลยไม่ได้รีบเรียนให้จบ ช่วงนั้น
กลุ่มนักศึกษา ผู้ปฏิบัติธรรม ก็มีกิจกรรมมาก ตอนแรก ก็ไปงานรับน้องของกลุ่ม
ที่ปฐมอโศกเมื่อปี ๒๕๓๐ พักค้างในหมู่บ้าน ต้องตื่น ตีสามครึ่ง มาทำวัตร
เช้าทุกวัน เห็นคนในชุมชน ตื่นขึ้นมาเขียนบันทึก นั่งฟังเทศน์ แล้วก็ทำงาน
ในชุมชน ดูเขามีความสุขดี สังคมเป็นพี่เป็นน้องกัน อยู่ในชุมชน ๓ คืน
๔ วัน พ่อท่าน เทศน์ทำวัตรเช้า และฉันอาหาร ที่ศาลาด้วยทุกวัน รุ่นนั้นมีหลายคน
ที่ปฏิบัติธรรม ช่วยงาน วัด ต่อมา มีฟ้านวล ฝ้าย ผึ้ง กล้วย และ อีกหลายคน"
"พ่อท่านเทศน์เรื่องการแต่งตัวของผู้หญิงด้วย
(ตรงนี้ผู้สัมภาษณ์ขอเสริม : เวลาพ่อท่านเทศน์ว่าผู้หญิง เรื่องการแต่งตัว
สมัยนั้น จะแรงมาก อย่างเช่นบอกว่า แต่งตัวไปล่อผู้ชายรึไง เหมือนดอกไม้มีสีสวย
กลิ่นหอม เพื่อล่อแมลง สมัยโบราณน่ะผู้หญิงแต่งหน้าทาปาก เขาว่าเป็นผู้หญิงหากินนะ)
หลังจากงานนั้น ก็ตัดผม นุ่งผ้าถุง กินมังสวิรัติ กินมื้อเดียว แล้วก็กลับบ้านจะไป
ขอแม่มาอยู่วัด แต่แม่ไม่ให้ เพราะยังเรียนไม่จบ แม่รู้จักอโศกอยู่แล้ว
เพราะพี่ชายเอาหนังสือไปให้อ่าน เป็นหนังสือ ที่ส่งไปให้อธิบดี แต่ไม่มีใครอ่าน
พี่ชายก็เอากลับไปบ้าน ให้แม่อ่าน แต่แม่ยังไม่แน่ใจว่า จะอยู่วัดได้
หนูก็เลยบอกว่า อยู่บ้านก็ได้ แต่แม่ต้องกินเจเป็นเพื่อน แล้วก็กินมื้อเดียวด้วย
ตั้งแต่นั้น แม่ก็กินเจมาตลอด"
ติ้วบอกว่า เรื่องกินมื้อเดียวทำได้บ้าง
ไม่ได้บ้าง และเธอก็อ้างเหตุนี้ ที่จะไม่ให้สัมภาษณ์ ดิฉันก็บอกว่า
ชีวิตกับการปฏิบัติธรรม ไม่ใช่จะราบเรียบไปเสียทุกเรื่อง ก็ล้มลุกคลุกคลาน
อย่างนี้แหละ...
"พอปลายปีก็ไปร่วมงานปีใหม่ที่ปฐมอโศก
ต่อมา ก็ไปงานปลุกเสกพระแท้ๆ ของพุทธ งานพุทธทายาท แล้วก็งานอบรม คุณภาพชีวิต
ที่หนองจอก ของพลตรีจำลอง ศรีเมือง มีงานอะไรที่ไหน ก็ไปทุกงาน
วันหนึ่งได้คุยกับท่านสมณลักขโณ
บอกท่านว่า อยากจะมาอยู่วัด ท่านก็เลยแนะนำ ให้ มาอยู่ ข้างสันติอโศก
ที่บ้านของกลุ่มนักศึกษาผู้ปฏิบัติธรรม แล้วก็ไปช่วยค้าขาย ที่ร้านบุญนิยม
๒ ขายอาหารมังสวิรัติ หน้าโรงเรียน สตรีนนทบุรี ไปกับเพื่อน ๒ คน ขายวันจันทร์ถึงวันศุกร์
เสาร์อาทิตย์ ก็มาพักที่บ้าน นศ.ปธ. มีการประชุม ทุกอาทิตย์ แล้วก็ตรวจศีลทุกวัน
ฟังเทปธรรมะพ่อท่าน ทำอยู่ ๗ เดือน พอกลุ่ม นศ.ปธ. เปิดร้านน้ำใจ ฝั่งตรงข้าม
สันติอโศก ขายอาหารมังสวิรัติ ก็ช่วยที่ร้านน้ำใจ ตั้งแต่แรก จนเลิกกิจการ
จำได้ว่า ทำกันอยู่ ๘ ปี เพราะว่าตอนที่ไปงาน ครบรอบ ๘ ปี ของชมรมมังสวิรัติแห่งประเทศไทย
พ่อท่านบอกว่า ร้านน้ำใจ ต้องทำให้ถึง ๘ ปีนะ ตอนที่จะปิดร้าน ก็นับกันว่าครบ
๘ ปีรึเปล่า พอนับครบ ก็ตกลงว่า ปิดร้านได้"
"อยู่กรุงเทพฯ
ก็โทรศัพท์ไปตรวจสอบแม่ว่า กินมื้อเดียวอยู่หรือเปล่า ย้ำกับแม่ด้วยว่า
ถั่วเม็ดเดียวก็ไม่ได้นะ แล้วถ้ามีโอกาส ก็จะทำน้ำพริก ส่งไปให้แม่
ครูที่โรงเรียนยังบอกว่า มีแต่แม่ที่ต่างจังหวัด ทำน้ำพริก ส่งไปให้ลูก
ที่กรุงเทพฯ นี่ลูกทำน้ำพริกส่งไปให้แม่" ถึงตอนนี้แม่ครูเล่าเสริมว่า
"ติ้วเขาอยู่กับแม่มา ตั้งแต่เล็ก ลูกคนอื่น ยังไปเรียนที่อื่นบ้าง
ติ้วอยู่กับแม่ตลอด มาเรียนต่อที่กรุงเทพฯ พอปิดเทอม แม่ก็มาหา ช่วยงานวัดด้วยกัน
งานพุทธาฯ ปลุกเสกฯ ก็ไปด้วยกัน ติ้วเขาต้องพาแม่ ไปนั่งข้างหน้า บอกว่า
จะได้เห็นพระ หลานก็ไปด้วย แม่พาหลานมาวัด ตั้งแต่หลานยังตัวเล็กๆ"
"ที่เลิกร้านน้ำใจ
เพราะไปเปิดแผง ๒๒ ขายอาหารมังสวิรัติ ในมหาวิทยาลัยรามคำแหง ช่วงนั้น
ก็ช่วยสอน วิชากฎหมาย ชั้น ม.๕-ม.๖ โรงเรียนสัมมาสิกขา สันติอโศกด้วย
เฉพาะ วันเสาร์-อาทิตย์ พอเข้ามา อยู่วัดเต็มตัว ก็เป็นครู โรงเรียนสัมมาสิกขาสันติอโศก
มาตลอด ที่จริง ถ้าไม่มีอะไร สะกิดใจ ก็คงช่วย ขายอาหาร ที่แผง ๒๒
จนตายก็ได้ แต่พอดี ได้ฟัง ท่านสิริเตโช เทศน์เรื่อง การมีความสุขอยู่
โดยไม่พัฒนา แล้วก็ ได้ดูหนังจีนตอนหนึ่ง ที่มีต้นหลิวข้างสะพาน ไม่ได้ข้ามสะพานสักที
คนอื่นข้ามสะพาน ไปหมดแล้ว ก็ได้คิดว่า เหมือนตัวเอง ที่ติดแป้น"
"ช่วยงานมังสวิรัติมาหลายร้านแล้ว
แต่ก็ทำกับข้าวไม่เป็นหรอกค่ะ แม่ครัวมีเยอะแล้ว หนูก็หุงข้าว แล้วก็อยู่
ฝ่ายบริการ ตักอาหาร เก็บโต๊ะ ล้างจาน ทำทุกอย่าง ไม่ทำอย่างเดียว
กับข้าว"
"ทีนี้พอเข้าวัดแล้ว
เป็นครู ตอนแรกๆ ก็สอนไม่เป็น ไม่มั่นใจ เลยไปเรียนครู ศึกษาศาสตร์
มหาวิทยาลัย สุโขทัยธรรมาธิราช เรียนหลักสูตรต่อเนื่อง สองปีครึ่ง
นอกจากสอน วิชา สังคม ศึกษา แล้ว ก็ต้องดูแล ชีวิตความเป็นอยู่ ของนักเรียน
ทำงานร่วมกับเด็กๆ อยู่กับนักเรียน มีความสุขกว่า ตอนที่อยู่ร้าน มีเวลาได้ฟังเทศน์
ชีวิตจะนิ่งกว่า อยู่ที่ร้าน ต้องเจอลูกค้าเยอะ"
"เป็นครูมาตั้งแต่ก่อตั้งโรงเรียนปี
๒๕๓๘ พอปี ๒๕๔๔ มีนักเรียนที่จบ ม.๖ อยากเรียนต่อ สัมมาสิกขาลัยวังชีวิต
(ม.วช.เป็นการศึกษาต่อ จากระดับมัธยมศึกษา เรียกว่า ระดับ อุดรศึกษา
ที่จัดขึ้น ในชุมชนชาวอโศก) แต่มีข้อกำหนดว่า เขตไหนจะเปิด สัมมาสิกขาลัยวังชีวิต
ต้องมีนิสิต อย่างน้อย ๕ คน แต่ปีนั้น มีนักเรียน จะเรียนอยู่แค่ ๒
คน ก็เลยชวนแม่สมัครเรียนด้วยกัน ช่วยให้ครบ ๕ คน มีคนอื่นๆ สมัครอีก
หลายคน รวมแล้ว ประมาณ ๑๐ คน แต่ ๒ คนที่อยากจะเรียน ตอนแรกนั้น กลับไม่ได้สมัครหรอก"
"ตอนนั้นแม่มาอยู่วัดแล้ว
แม่มาอยู่เมื่อปี ๒๕๔๓" ถึงตอนนี้ แม่ครูเล่าเองว่า "มาอยู่วัด
ไม่อยากทำงาน ออกหน้าเลย อยากอยู่หลังฉาก เพราะทำมามากแล้ว แต่ให้สอนนักเรียนน่ะได้"
ลำพังการสอนนักเรียนสัมมาสิกขาก็ไม่ใช่ง่ายเหมือนกัน
แม่ครูเคยเล่า ก่อนหน้านี้ว่า "เด็กของเรา ไม่เหมือนเด็กทั่วไป
แม่เป็นครูมาหลายสิบปี เด็กข้างนอก เราบังคับได้ แล้วเขาก็กลัว ถูกหักคะแนนด้วย
เด็กของเรานี่ บังคับไม่ได้ และไม่กลัวถูกหักคะแนน ต้องให้เขาเกิดความศรัทธา
เขาถึงจะทำตาม"
"ขอบคุณสิกขมาตุปลูกบุญ
ที่แนะนำให้สมัคร ม.วช. ประทับใจมากเลย ได้ประโยชน์ จากการเป็น นิสิตมาก
ต้องออกจากภพ ต้องประชุม ต้องทำกิจกรรมร่วมกัน จริงๆ ก็ไม่อยากทำ แต่รู้ว่าจะดีขึ้น
มีหมู่กลุ่มที่ดี แล้วก็ มีผู้ดูแลด้วย มีครูเอาใจใส่ เป็นนิสิต ม.วช.
สบายกว่าเป็นครู เพราะครูเป็นผู้ดูแลเรา เราก็มีความสุขดี"
"ใช้ชื่อปีกรัก
ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๓๕ แต่ตอนนั้นกลุ่ม นศ.ปธ. ยังไม่ค่อยมีใครเปลี่ยนชื่อ
ก็เลยไม่ได้เปลี่ยน อย่างเป็นทางการ มาเปลี่ยนตอนปี ๒๕๔๐ ก่อนที่จะสมัครเรียน
มสธ."
ชีวิตของเธอ ปิยะดา
หรือ ปีกรัก ก้าวไปสอดคล้องกับจังหวะก้าวของชุมชน แม้เธอจะไม่มีบทบาทเด่น
เป็นผู้นำ ให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในชุมชน แต่เธอก็พร้อม เปลี่ยนแปลงตนเอง
ไปพร้อมๆ กับชุมชน เธอจึงมีความสุข ในทุกสถานการณ์ อาจจะเป็นเพราะเธอยึดมั่น
ในคำสอนสองประการ ของสมณะ สิริเตโช ที่เขียนให้เธอไว้ใน ๒ วาระโอกาส
ที่ห่างกัน คือ
"คนเราควรซาบซึ้งและพอใจในสิ่งที่ตนเองเป็นอยู่และทำอยู่
แม้สิ่งนั้นจะน้อยนิด นอกสายตาใครๆ" และ..."ชีวิตมีความสุขนี่ละน่ากลัว
ต้องระวังการติดสบาย การไม่เพิ่มฐานของตนให้ยิ่งขึ้น ซึ่งก็คือ จะต้องลำบาก
มากขึ้นด้วย"