เยาวชนฟุ้งเฟ้อ
- วรศักดิ์ มหัทธโนบล -

อันที่จริงข่าวเกี่ยวกับความฟุ้งเฟ้อ ของเยาวชนไทยนั้นเป็นเรื่องที่รู้กันมานานแล้ว และเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ที่พูดกันขึ้นมาเมื่อไรก็เป็นประเด็นเมื่อนั้น ครั้งนี้ ก็เหมือนกันที่จู่ๆ ก็มีบทความชิ้นหนึ่ง เขียนเกี่ยวกับ การใช้ชีวิต ที่ฟุ้งเฟ้อของนิสิตจุฬาฯขึ้นมา และก็ให้ตรงกับช่วงที่จุฬาฯกำลังจัดงาน "จุฬาฯวิชาการ" (๒๕๔๕) ขึ้นมาพอดี

ลงว่าได้เผยแพร่ในช่วงเวลาแบบนี้ก็ย่อมต้องเป็นประเด็นและเป็นข่าวขึ้นมา ผลก็คือ มีการวิพากษ์วิจารณ์ กันพอสมควร และผมก็เป็นคนหนึ่งที่ถูกสื่อโทรศัพท์มาขอสัมภาษณ์ในเรื่องนี้ เนื่องจากตอนให้สัมภาษณ์นั้น เป็นไปโดยไม่ได้นัดหมายล่วงหน้าแบบข้ามวันข้ามคืน (คือรู้ตัวล่วงหน้าครึ่งชั่วโมง) ผมจึงตอบไป อย่างไม่ค่อย เป็นระบบ อย่างที่นึกขึ้นมาได้ในภายหลัง

ซึ่งก็คือ ตอนนี้ ตอนที่ผมคิดว่าควรจะ เรียบเรียงความคิดของตัวเองขึ้นมาใหม่อีกครั้งหนึ่ง แล้วเขียนมัน ออกมาเป็นบทความ

ตลอดเวลาที่มีการวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับการใช้ชีวิตของบรรดานักเรียน นิสิตนักศึกษา ซึ่งต่อไปผม ขอเรียกอย่าง รวบรัดว่า "เยาวชน" นั้น ผมเองก็ติดตามอยู่เป็นระยะ ฉะนั้น ที่มีผู้เขียนถึงประเด็น เกี่ยวกับ เยาวชนไทย ไม่สนใจเรื่องของส่วนรวมนั้น ก็ไม่ได้คลาดแคล้วไปจากสายตาของผมเช่นกัน

เกี่ยวกับประเด็นการใช้ชีวิตฟุ้งเฟ้อของเยาวชน นั้น ผมเชื่อของผมว่า เยาวชนที่จะใช้ชีวิตเช่นนั้นได้ ย่อมต้องเป็น เยาวชนในกลุ่ม ที่มีฐานะครอบครัวดี คือตั้งแต่ชนชั้นกลาง ขึ้นไปจนถึง ชนชั้นสูง อย่างน้อยที่สุด ก็ไม่ต่ำกว่าชนชั้นกลางระดับล่าง

ทั้งนี้ ไม่นับกลุ่มเยาวชนที่หาเงินมาซื้อความฟุ้งเฟ้อด้วยตัวเอง ซึ่งโดยมากมักจะ เป็นวิธีที่ไม่สุจริต คือ ไม่ขายตัว ก็ขายยา พ้นไปจากนั้นก็คือ การพนันหรือจี้ปล้นไปตามเรื่อง สำหรับผมแล้ว เยาวชนในกลุ่มนี้ ยังจัดว่า เป็นกลุ่มน้อยอยู่มาก เพราะหากเป็นกลุ่มใหญ่ขึ้นมาเมื่อไร สังคมไทยคงต้องปวดหัว มากกว่า ที่เป็นอยู่ อย่างแน่นอน

เมื่อเยาวชนที่ใช้ชีวิตฟุ้งเฟ้อส่วนใหญ่มาจากครอบครัวที่มีฐานะ ผมจึงไม่คิดว่าสาเหตุจะเป็นอื่น นอกเสีย จากว่า เยาวชนฟุ้งเฟ้อได้ก็เพราะครอบครัวสนับสนุน หากใครว่าไม่จริง ผมขอเถียงหัวชนฝา เพราะถ้า ไม่ให้เงิน เด็กแล้ว เด็กจะมีชีวิตที่ฟุ้งเฟ้อได้อย่างไร? แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่า ผมกำลังกล่าวโทษ ผู้เป็นพ่อ เป็นแม่เยาวชนเหล่านั้น

และที่ไม่โทษก็เพราะผมสังเกตเห็นว่า ครอบครัวไทยตั้งแต่ชนชั้นกลางขึ้นไป ต่างถูกทำให้เชื่อว่า การเลี้ยงดู ลูกหลาน ให้อยู่ดีกินดี และให้ได้เรียนหนังสือสูงๆ คือ วิถีชีวิตที่พึงประสงค์

นอกจากนี้ ครอบครัวไทยยังเชื่ออีกว่า วิถีเช่นนั้นไม่มีส่วนใดที่ปิดกั้น อิสระทางความคิดอีกด้วย เพราะพ้นไป จากชีวิตในบ้านและห้องเรียน แล้วครอบครัวไทยยังส่งเสริมให้ลูกหลานได้เรียนรู้สังคมภายนอกด้วย กิจกรรมอื่นๆ อันหลากหลาย ไม่ว่าการเดินเล่นและจับจ่ายใช้สอยในห้างสรรพสินค้า การปล่อย ให้ดูคอนเสิร์ต หรือ ฟังเพลงตามกระแส การกินอาหารนอกบ้านบางเวลา การแต่งกายตาม สมัยนิยม การปฏิบัติตัว หรือวางตัวเยี่ยงเสรีชนตะวันตก ฯลฯ

ที่ร่ำรวยหน่อยก็อาจจะส่งลูกหลานไปเข้าแคมป์ ฤดูร้อนที่เมืองฝรั่งตะวันตก

จะเห็นได้ว่า แทบไม่มีส่วนใดในชีวิตของเยาวชน เหล่านี้ที่จะขาดตกบกพร่อง และแทบไม่มีส่วนใด
เช่นกัน ที่พึงกล่าวโทษครอบครัวไทย ได้แม้แต่น้อย เพราะทั้งหมดเหล่านี้ ต่างล้วนเป็นวิถีชีวิต ที่พึงประสงค์ ทั้งสิ้น และทุกครอบครัวต่างก็มุ่งไปสู่วิถีนี้ทั้งนั้น จะต่างกันก็แต่ใครทำได้มากทำได้น้อยเท่านั้น และ ก็ด้วยวิถีเช่นนี้เอง เราจึงได้พบกับพฤติกรรมการใช้ชีวิตของเยาวชน ที่ผิดแผก แตกต่างไปจาก ที่เคยปฏิบัติ

เช่น การสนุกสนานร่าเริงท่ามกลางตึกรามที่โอ่อ่าสง่างามและเย็นฉ่ำ ใส่เสื้อผ้าแพรพรรณราคาแพง ด้วยผืนผ้าที่มีเนื้อที่ไม่กี่ตารางนิ้วหรือไม่ก็รุ่มร่ามเรี่ยดิน กินอาหารประเภทแดกด่วนหรือไม่ก็ชั้นดีไป พูดจา และหัวเราะส่งเสียงดังอย่างเสรีกลางที่สาธารณะ แม้ในยามที่ ใช้มือถือ และนิยมฟังเพลง ที่ไม่สลับซับซ้อน แต่ให้จินตนาการสนองวัยของตน แม้บางเพลง จะลอกมาจาก ต่างชาติก็ตาม ทั้งนี้ มีอีกจำนวนไม่น้อย ที่นิยมมารยาทแบบฝรั่งมากกว่ามารยาทไทย (บางคนพบเพื่อนพ่อเพื่อนแม่แค่พยักหน้าทักทาย) ฯลฯ ซึ่งทั้งหมดนี้ก็คือตัวอย่างชีวิตที่ฟุ้งเฟ้อ

เหตุฉะนั้น เมื่อครอบครัวไทยไม่อยู่ในฐานะที่จะถูกกล่าวโทษได้ ในขณะที่การใช้ชีวิตที่ฟุ้งเฟ้อกำลังถูกมองว่า ไม่ใช่วิถีที่พึงประสงค์ จากสังคมมากขึ้นทุกที แล้วใครเล่าที่ควรถูกกล่าวโทษ?

ก่อนที่จะเข้าสู่จุดนั้น ผมใคร่ขอให้ตั้งข้อสังเกตเอาไว้ก่อนว่า วิถีชีวิตของเยาวชนที่ถูกมองว่าฟุ้งเฟ้อนั้น มันตรงกันข้ามกับวิถีชีวิตเช่นไร? ที่ตั้งเอาไว้ก่อนเช่นนี้ก็เพราะจากประสบการณ์ของผมนั้น ผมมักจะพบว่า ชีวิตที่ฟุ้งเฟ้อของเยาวชนมักจะถูกนำมาเปรียบเทียบกับวิถีชีวิต ที่ไม่ฟุ้งเฟ้อของเยาวชนในอดีต ก่อนหน้านี้ เมื่อประมาณ ๓๐ ปีก่อน ที่ซึ่งเยาวชนไม่เพียงจะไม่ได้ใช้ชีวิตที่ฟุ้งเฟ้อเยี่ยงปัจจุบันเท่านั้น หากแต่อีก จำนวนมาก ยังได้อุทิศเวลา และความสุขส่วนตัว ให้แก่การรับใช้ส่วนรวม ผ่านกิจกรรมต่างๆ อีกด้วย

ที่ผมต้องยกตรงนี้ขึ้นมา ให้เห็น ในเชิงเปรียบเทียบ ไม่ได้มีเจตนา จะบอกว่า เยาวชนรุ่นผมดีเด่อะไรมากมาย หรอกครับ แต่ที่ยกมาก็เพราะต้องการโยงให้เห็นต่อไปว่า เยาวชนที่ไม่ฟุ้งเฟ้อในสมัยก่อนนั้น จริงๆ แล้วไม่เป็น ที่สบอารมณ์ของชนชั้นนำในรัฐไทยอย่างยิ่ง เพราะการทำตัวเช่นนั้นของเยาวชน ทำให้เยาวชน รู้เช่นเห็น "ชาติ" อะไรอีกมากมายของชนชั้นนำเอง

คือรู้ว่า"ชาติ" ที่ตนเห็นนั้นมันจะฉิบหายอย่างไรถ้าหากไม่ขวางลำเอาไว้ก่อน

และก็ด้วยเหตุนี้ เยาวชนในสมัยนั้นจึง "ขวางลำ" เข้าให้ แล้วชนชั้นนำก็ "เข่นฆ่า" เข้าให้เหมือนกัน ผมคง ไม่ต้องบอกนะครับว่า เขา "เข่นฆ่า" กันเมื่อไร อย่างไร และที่ไหน

เอาเป็นว่า นับแต่นั้นมา เยาวชนไม่เพียงจะถูกรัฐไทยชี้ชวนและชักจูงให้ลุ่มหลงในสังคม บริโภคนิยม สมัยใหม่ ที่ตนสร้างขึ้นมาเท่านั้น แม้แต่ผู้ใหญ่ในครอบครัวไทยเองก็ขยาดที่จะเห็นลูกหลานของตนต้องถูก "เข่นฆ่า" เช่นนั้นอีกต่อไป

ทุกอย่างจึงเป็นอันลงตัว และนับแต่บัดนั้นเป็นต้นมาจนบัดนี้ เราจึงไม่ได้เห็นนิสิตนักศึกษา ออกชนบท มากมาย ดังเช่นแต่ก่อน ยิ่งไปช่วยคนจน ต่อสู้เรียกร้อง ความเป็นธรรมด้วยแล้ว ไปไกลๆ เพราะมันต่าง ล้วนคือ กิจกรรมที่รัฐไทยไม่ชอบ และครอบครัวไทยขยาด เมื่อไม่ชอบและขยาดก็ไม่ส่งเสริม การใช้ชีวิต ที่ล่อแหลม ในความรู้สึกของตน

ฉะนั้น ที่เยาวชนฟุ้งเฟ้ออยู่ในทุกวันนี้จึงเป็นผลิตผล ของรัฐไทยที่สืบเนื่องมายาวนานนับเป็นสิบๆ ปี (จนคนหลายคน ลืมสาเหตุข้อนี้ไปแล้วด้วยซ้ำ) ความฟุ้งเฟ้อของเยาวชนต่างหาก คือ สิ่งที่รัฐไทย ต้องการ เพราะตราบเท่าที่ ความฟุ้งเฟ้อยังดำรงอยู่ในชีวิตของเยาวชน ความมั่นคงของรัฐไทย ก็สามารถวางใจ ได้ต่อไป (อย่างน้อยก็อีกเปลาะหนึ่ง)

วางใจไม่วางใจเปล่า ชนชั้นนำบางคนของรัฐไทยเอง ยังเป็นเจ้าของกิจการความฟุ้งเฟ้อ ไม่ทางใด ก็ทางหนึ่ง อีกด้วย เรียกว่า "ได้ทั้งขึ้นทั้งล่อง" คือ ทั้งเงินตราและอำนาจ

ผมจึงอดรู้สึกหมั่นไส้ขึ้นมาไม่ได้ทุกที เวลาที่ได้ยินผู้มีอำนาจหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับปัญหาเยาวชน ออกมา แสดง ความวิตกกังวล เรื่องเยาวชนกำลังใช้ชีวิตที่ฟุ้งเฟ้อ แถมเวลาที่ชักชวนให้เยาวชน ใช้ชีวิต ให้มี คุณค่า หรือ คุณภาพด้วยแล้ว ก็ยิ่งหมั่นไส้เพราะคุณภาพที่ว่านั้น ล้วนแล้วแต่เกี่ยวพันกับการใช้ชีวิต ที่ฟุ้งเฟ้อ ไม่ทางตรง ก็ทางอ้อมทั้งสิ้น นั่นคือเป็นคุณภาพที่เยาวชนยากที่ไขว่คว้าหามาได้

ผมขอท้าว่า ถ้าชนชั้นนำของรัฐไทยแน่จริง ก็ลองหยุดเต้นแอโรบิกสักครู่ แล้วรณรงค์ให้เยาวชนออก สู่ชนบท เพื่อไป สัมผัสชีวิต ที่ไม่ฟุ้งเฟ้อที่แท้จริงดู สักระยะหนึ่งบ้างเป็นไร? ไม่ต้องถึงกับสัมผัสกลุ่ม "สมัชชาคนจน" ก็ได้ และถ้าจะให้ดีก็ควรให้ไปในช่วงปิดเทอมใหญ่ ใครที่จะเข้าแคมป์ที่เมืองนอก ตอนฤดูร้อน ก็งดเสีย หนึ่งปีก็ได้

ว่าแต่ว่าผู้ใหญ่ในครอบครัวไทยว่าไงไม่ทราบ?.

(จาก นสพ.มติชนสุดสัปดาห์ คอลัมน์เงาตะวันออก)

(ดอกหญ้า อันดับที่ ๑๐๗ พฤษภาคม - มิถุนายน ๒๕๔๖)