ติเตียนลาภ (ลาภครหิกชาดก)

วันหนึ่งมีสัทธิวิหาริก (ลูกศิษย์) ของพระสารีบุตรเถระ เข้าไปหาพระเถระ ไหว้แล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ถามว่า

"ท่านผู้เจริญ ขอท่านโปรดบอกการประพฤติตน อันจะให้ลาภเกิดขึ้นแก่ผมด้วยว่า ภิกษุกระทำอย่างใด จึงจะได้ปัจจัยเช่น อาหาร จีวร เป็นต้น ครับ"

พระสารีบุตรเถระได้ฟังการถามเช่นนั้น จึงตอบไปว่า
"ดูก่อนอาวุโส ลาภสักการะย่อมเกิดขึ้นมากมาย แก่ภิกษุผู้กระทำดังนี้คือ
๑. พึงทำลายหิริ (ความละอายการทำบาป)และโอตตัปปะ (ความเกรงกลัวการทำบาป) ภายในตน อันเป็นการละสมณสัญญา (ความสำนึกในการเป็นสมณะของตน) ไปเสีย ไม่บ้าก็ทำเหมือนบ้า
๒. พึงกล่าววาจาส่อเสียด
๓. พึงเป็นเช่นกับนักฟ้อนรำ
๔. พึงทำตัวเอิกเกริก พูดจาพล่อยๆ

กระทำ ๔ อย่างนี้แหละ ภิกษุจะได้ลาภมาก"

สัทธิวิหาริกได้ฟังดังนั้นแล้ว ก็มีอาการไม่ยินดี ได้กล่าวติเตียนข้อประพฤติเหล่านั้น แล้วลุกขึ้นหลีกไปทันที

ฝ่ายพระเถระก็ไปเข้าเฝ้าพระศาสดา ณ พระวิหารเชตวัน แล้วกราบทูลเรื่องของภิกษุสัทธิวิหาริกให้ทรงทราบ พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า

"ดูก่อนสารีบุตร ภิกษุนั้นติเตียนลาภในบัดนี้เท่านั้นหามิได้ แม้ในกาลก่อน ก็ได้ติเตียนลาภมาแล้วเช่นกัน"

พระเถระทูลอาราธนาให้ทรงเล่าในเรื่องนั้น พระพุทธองค์จึงทรงนำเอาเรื่องในอดีตมาสาธก ดัง
ต่อไปนี้

ในอดีตกาล เมื่อพระเจ้าพรหมทัตครองราชสมบัติ อยู่ในกรุงพาราณสี คราวนั้นได้กำเนิดทารกคนหนึ่งในตระกูลพราหมณ์ ครั้นเจริญวัยได้ ๑๖ ปี ก็เล่าเรียนจนจบไตรเพท (คัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์ของพราหมณ์) และศิลปศาสตร์อีก ๑๘ วิชา ด้วยความสามารถนี้ จึงได้เป็น อาจารย์ทิศาปาโมกข์ (อาจารย์ผู้มีชื่อเสียงโด่งดัง) สั่งสอนศิลปะแก่มาณพ ๕๐๐ คน

ในจำนวนศิษย์เหล่านั้น มีมาณพคนหนึ่งเป็นผู้เพียบพร้อมด้วยศีลและการประพฤติดีงาม วันหนึ่ง เขาได้เข้าไปพบอาจารย์ แล้วถามว่า

"อาจารย์ครับ ขอให้ท่านช่วยบอกข้อปฏิบัติ อันจะเป็นเครื่อง ทำให้เกิดลาภขึ้น แก่ผู้ประพฤติธรรมด้วยเถิด"

อาจารย์มองดูเขาด้วยความเมตตา แล้วกล่าวตอบว่า

"พ่อมหาจำเริญ ลาภมากมายจะเกิดกับนักปฏิบัติธรรม ด้วยเหตุ ๔ อย่างนี้ ได้แก่

คือให้ประพฤติละทิ้งหิริและโอตตัปปะ ไม่เอื้อเฟื้อต่อกุศลกรรม ไม่กลัวภัยในนรก ย่ำยีสิกขาบท (ข้อศีลข้อวินัย) ที่บัญญัติไว้ดีแล้ว ปล่อยให้ความโลภครอบงำ มัวเมาในกามทั้งหลาย ประมาทละทิ้ง ความเป็นสมณะ (ผู้สงบระงับกิเลส) ของตนไปเสีย ทำเช่นนี้ย่อมได้ลาภจากหมู่ชนผู้งมงายโดยพลัน เพราะฉะนั้นผู้ต้องการได้ลาภ พึงทำเป็นเหมือนคนบ้า

๒. ไม่ใช่คนส่อเสียด ก็ทำเป็นเหมือนคนส่อเสียด คือ นำความส่อเสียดเข้าไปในราชสกุล โดยยุยง กล่าวร้ายว่า คนโน้นกระทำกรรมอย่างนี้ คนนี้แย่งชิงยศของคนอื่นอย่างโน้น ทำให้ฝ่ายพระราชาคิดว่า ผู้บอกนั้นมีความภักดีต่อเรา จึงตั้งคนนั้นไว้ในตำแหน่งสูง ลาภย่อมเกิดแก่คนผู้ส่อเสียดในทันที ส่วนคนผู้ไม่ส่อเสียด ย่อมไม่ได้ลาภในหมู่ชนผู้งมงาย

๓. ไม่ใช่นักฟ้อนรำ ก็ทำเป็นเหมือนนักฟ้อนรำ คือ กระทำการเล่นฟ้อนรำ ขับร้อง ประโคมต่างๆ เพื่อให้ได้ทรัพย์มา เหมือนนักแสดงทั้งหลาย เที่ยวแสดงการเล่นหาทรัพย์อยู่ ลาภมากจึงเกิดขึ้นแน่นอน จากหมู่ชนผู้งมงาย

๔. ไม่ใช่คนตื่นข่าว ก็ทำเป็นเหมือนคนตื่นข่าว คือมักตื่นข่าวพูดพล่อยแจ้งกับพระราชาว่า ได้ฟังมาว่า ในที่โน้นคนถูกฆ่า ถูกปล้นเรือน ลูกเมียถูกข่มขืน นี้คงเป็นการกระทำของคนนั้นคนนี้ ทำให้พระราชา ต้องส่งราชบุรุษไปสืบสวน ตามคำของอำมาตย์ผู้นั้น แล้วพระราชา ก็พระราชทานยศใหญ่โตให้แก่ อำมาตย์นั้น ด้วยทรงดำริว่า อำมาตย์ผู้นี้มีความขวนขวายแจ้งข่าวแก่เรา บ้านเมืองคงจะปราศจากโจรผู้ร้าย ส่วนอำมาตย์อื่นๆ และประชาชน ก็ยกทรัพย์ให้แก่อำมาตย์ผู้นี้ ด้วยเกรงกลัวว่า ผู้นี้จะพูดพล่อยถึงเรา แล้วทำให้จะต้องถูกราชบุรุษสอบสวน ด้วยการทำอย่างนี้เอง ลาภจึงเกิดขึ้นมากมายแก่คนตื่นข่าว ส่วนผู้ไม่ประพฤติตนเป็นผู้พูดพล่อยตื่นข่าว ย่อมจะไม่ได้ลาภในหมู่ชนที่งมงายเลย

ทั้ง ๔ อย่างนี้หากประพฤติแล้ว ย่อมจะได้ลาภจากคนผู้หลงใหลทั้งหลาย นี้เป็นการปฏิบัติ ของผู้ประพฤติธรรม ที่ต้องการแสวงหาลาภ"

มาณพผู้เป็นศิษย์ ได้ฟังคำสอนทั้งหมดนั้นแล้ว อดไม่ได้ที่จะกล่าวติเตียนขึ้นว่า

"ข้าแต่ท่านพราหมณ์ น่าติเตียนความประพฤติอันเสมือนอัตวินิบาตกรรม (การฆ่าตัวตาย) ที่เป็นการประพฤติอธรรม แล้วให้ได้มาซึ่งลาภ ยศ และทรัพย์ ดังนั้นผู้ออกบวชแล้ว มีความเป็นอยู่โดยธรรม ย่อมประเสริฐกว่าการแสวงหาโดยอธรรม"

มาณพตำหนิลาภที่ได้มาโดยอธรรม แล้วสรรเสริญคุณของการบรรพชาโดยธรรมแล้ว จึงออกบวชเป็นฤาษี ยังสมาบัติทั้งหลายให้เกิดขึ้น ได้มีพรหมโลกเป็นที่ไปในเบื้องหน้า

พระศาสดาครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้แสดงแล้ว ก็ตรัสว่า มาณพในครั้งนั้น ก็คือภิกษุผู้
ติเตียนลาภในบัดนี้ ส่วนอาจารย์ของมาณพนั้นก็คือ เราตถาคต

- ณวมพุทธ -
๒๔ ก.ค. ๓๗
(พระไตรปิฎกเล่ม ๒๗ ข้อ ๔๖๐
อรรถกถาแปล เล่ม ๕๘ หน้า ๒๙๗)


พระพุทธองค์ตรัส

เมื่อปลาเห็นเหยื่อ กลืนกินเหยื่อ ที่พรานเบ็ดเกี่ยวเบ็ด
หย่อนลงไว้ ในห้วงน้ำ ปลากลืนเบ็ดแล้ว ย่อมได้รับทุกข์ ถึงความพินาศ พรานเบ็ดพึงทำได้ ตามความพอใจ

เรากล่าวว่า ผู้ยินดีพอใจลาภสักการะ และชื่อเสียง ที่เกิดขึ้นแล้ว
เป็นผู้กลืนเบ็ดของมาร ย่อมได้รับทุกข์ ถึงความพินาศ มารใจบาปพึงทำได้ ตามความพอใจ.

(พระไตรปิฎก เล่ม ๑๖ ข้อ ๕๓๙-๕๔๐)

(ดอกหญ้า อันดับที่ ๑๐๗ พฤษภาคม - มิถุนายน ๒๕๔๖)