์
- ฟ้าเมือง ชาวหินฟ้า -
ชุมชนแห่งการเรียนรู้
ชีวิตคือกรรมที่เคลื่อนไปกับกาละ
ชีวิตทุกชีวิตที่ยังไม่พ้นการเวียนว่ายตายเกิด
และยังต้องเกิดอยู่ทุกขณะในมิติของกาลเวลา จึงเป็นชีวิตที่มีหน้าที่ต้องเรียนรู้
เพื่อพัฒนาไปสู่จุดหมายสุดท้ายของสังสารวัฏ
หากถามว่าคนเราเกิดมาทำไม
ก็คงตอบได้ว่าเกิดมาเพื่อการเรียนรู้ให้พ้นการเกิด แล้วก็เกิดมาเพื่อ
ทำงานสรรสร้างสิ่งที่เป็นประโยชน์ อันจะช่วยให้การเกิดต่อๆ ไป เป็นความเกิดที่สมบูรณ์ขึ้น
ดีขึ้น จนกว่าจะสามารถหยุด เวลา และหยุด
การเกิด ได้
ในขณะที่ชุมชนต่างๆ
ของชาวอโศกเป็น ชุมชนแห่งการเรียนรู้หรือเป็นเสมือน
มหาวิทยาลัยชีวิต ที่ให้การศึกษาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่เกิดจวบจนวาระสุดท้ายของชีวิต
ปรัชญาการศึกษาของชาวอโศกในเรื่อง ศีลเด่น เป็นงาน
ชาญวิชา จึงไม่ใช่เฉพาะเป็นปรัชญาการศึกษาสำหรับเด็กนักเรียน
ในสถานศึกษาต่างๆ ของชุมชนชาวอโศกเท่านั้น
แต่เป็นปรัชญาการศึกษาสำหรับคนทุกคนใน
ชุมชน ตั้งแต่เด็กทารกจนถึงผู้เฒ่าผู้แก่ ที่เข้ามา ศึกษา
อยู่ใน มหาวิทยาลัยชีวิต
แห่งนี้
อย่างไรก็ตาม เมื่อมีการจัดตั้งสถานศึกษาต่างๆของชุมชนชาวอโศกขึ้นมา
เพื่อจัดการเรียนการสอน สำหรับเยาวชนในชุมชนตามกฎหมายพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติแล้ว
ถ้าหากไม่เข้าใจแก่นสาร ของปรัชญาการศึกษาดังกล่าวอย่างถ่องแท้ การแปรปรัชญาการศึกษา
ให้เป็นหลักสูตรสถานศึกษา และแผนการเรียนการสอน ก็อาจทำให้การจัดการศึกษาตามหลักสูตรสถานศึกษานั้นๆ
ไม่บรรลุถึงเป้าหมาย ของปรัชญาการศึกษาชุดนี้ได้ กล่าวคือ
ก. ศีลเด่น ถ้าไม่เข้าใจแก่นสารของ
ศีล โดยไปจับเอาตัว
วินัย มาเป็นสาระสำคัญของศีล อันมีสภาพบังคับ ให้นักเรียนต้องประพฤติปฏิบัติ
มีข้อห้ามเรื่องนั้นเรื่องนี้มากมาย (โดยนักเรียนก็ไม่เข้าใจแก่นสาร
คุณค่าว่า ทำไปเพื่ออะไร จึงต้องมีสภาพบังคับให้ทำ) หากไม่ทำตามก็จะมีความผิดและถูกลงโทษ
เหมือนโรงเรียน ได้สร้างเบ้าหลอมแห่งระเบียบวินัยที่เข้าใจว่าเป็น
ศีล ขึ้น แล้วพยายามบีบเค้น กดอัด เพื่อทำให้ก้อนดิน
เหนียวแต่ละก้อนในเบ้า มีรูปทรงตรงตามเบ้าดังกล่าวเหมือนกันหมด หากเข้าใจเพียงเท่านี้
การศึกษานั้น ก็จะยังไม่บรรลุเป้าหมายของปรัชญาการศึกษาในข้อ ศีลเด่น
แม้นักเรียนจะถูกบีบให้อยู่ในกรอบของ ระเบียบ วินัยที่ดูเคร่งครัดเรียบร้อยเป็นภาพที่จะดูสวยงามเพียงใดก็ตาม
ข. เป็นงาน
ถ้าไม่เข้าใจแก่นสารของ การงาน ในฐานะเป็นเครื่องมือทางการศึกษา
ซึ่งจะช่วยปลดปล่อย พลังทางปัญญาของผู้เรียน ให้สามารถ
คิดเป็น ทำเป็น แก้ปัญหาเป็น การจัดการศึกษาในแต่ละฐานงาน ก็จะเป็นเพียงแค่การใช้แรงงานฟรีจากเด็ก
เพื่อช่วยสร้างผลผลิตให้ผู้ใหญ่ที่อยู่ในฐานงานดังกล่าว
ค. ชาญวิชา
ถ้าไม่เข้าใจแก่นสารของ ความรู้ ในฐานะเป็นเครื่องมือที่จะช่วยแก้ปัญหาของมนุษย์
ภายใต้สถานการณ์ต่างๆ แล้ว การสอนวิชาการมากมายโดยพยายามยัดเยียดเข้าไปในสมองของเด็ก
เพื่อให้ท่องจำเอาไปสอบแข่งขันกับนักเรียนโรงเรียนอื่นๆ การศึกษาแบบนั้นก็เป็นเพียง
การใช้เด็กเป็นเครื่องมือ เพื่อช่วยสร้างชื่อเสียงให้ครูและโรงเรียนเท่านั้น
ผลที่สุดนักเรียนก็จะถูกบีบคั้นกดดันจากแรง
๓ ด้าน ภายใต้เบ้าหลอมของการศึกษานี้ ใครอยู่ได้ก็อยู่ไป ใครทนไม่ได้ก็ต้องออก
การศึกษาแบบนี้ถึงแม้จะมีประโยชน์ในระดับหนึ่ง
แต่จะเป็นคุณประโยชน์ในระนาบเดียวกับโรงเรียน เตรียมทหาร ที่ฝึกผู้เรียนให้มีวินัย
มีความเข้มแข็ง อดทน และมีความเก่งทางวิชาการ ซึ่งยังไม่ใช่แก่นของ
ปรัชญาการศึกษา วิถีพุทธ
แก่นสารของปรัชญาการศึกษาข้อ
ศีลเด่น ก็คืออุดมการณ์แห่งการเข้าถึง โลกุตระ
ในพุทธปรัชญา ด้วยการปฏิบัติตามหลักมรรคองค์ ๘ ซึ่งมีแกนหลักอยู่ที่การปฏิบัติมรรค
๗ องค์ อันเป็นส่วนของ ศีลสิกขา จนบูรณาการเป็นสัมมาสมาธิ
หรือ จิตสิกขา (ตามพุทธพจน์ในมหาจัตตารีสกสูตรที่พระพุทธเจ้าตรัสสรุปไว้ว่า
ความที่จิตมีอารมณ์เป็นหนึ่งประกอบด้วยมรรค ๗ องค์ ก็คือสัมมาสมาธิของพระอริยะ)
โดยการประจักษ์แจ้งถึง การพัฒนาเปลี่ยนแปลงของชีวิต ที่เจริญงอกงามนั้น
ซึ่งคลี่คลายตามมาจากการปฏิบัติ ศีลสิกขาดังกล่าว ก็คือตัว
ปัญญาสิกขา
ส่วนแก่นสารของปรัชญาการศึกษาข้อ
เป็นงาน ก็คืออุดมการณ์แห่งการเข้าถึง
โลกานุกัมปายะ ในพุทธปรัชญา ด้วยการรู้จัก
กรรม ที่ถูกต้อง และทำงานสรรสร้างสิ่งที่เป็น กุศลกรรม
เพื่อเกื้อกูลโลกให้เกิด ประโยชน์สูง
ประหยัดสุด ประโยชน์ตน ประโยชน์ท่าน
สำหรับแก่นสารของปรัชญาการศึกษาข้อ
ชาญวิชา ก็คืออุดมการณ์แห่งการเข้าถึง
โลกวิทู ปรัชญา ด้วยการเรียนรู้ให้เข้าใจแง่มุมต่างๆ ของโลก
รู้เท่าทันโลก เพื่อให้สามารถอยู่เหนือโลก และทำงานสรรสร้าง สิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อโลกได้อย่างเหมาะสม
สอดคล้อง กับสภาพปัญหาของโลกที่เผชิญอยู่
ศีลเด่น เป็นงาน
ชาญวิชา หรือ
โลกุตระ โลกานุกัมปายะ และโลกวิทู จึงไม่ใช่ปรัชญาการศึกษา
๓ เรื่องที่แยก เป็นอิสระจากกัน แต่เป็นมิติ ๓ ด้านของสิ่งๆ เดียวกัน
ซึ่งถ้าหากบูรณาการทั้ง ๓ เรื่องให้เป็นหนึ่งเดียวกันไม่ได้ กระบวนการจัดการเรียนการสอนนั้นๆ
ก็จะยังเข้าไม่ถึงแก่นของปรัชญาการศึกษา ชุดนี้
๑. ในด้านศีลเด่น
เป้าหมายการศึกษาของ ศีล อยู่ที่การประพฤติปฏิบัติในสิ่งที่สอดคล้องกับการพัฒนา
หรือการแก้ปัญหาของชีวิตของคนแต่ละคน (เป็นกรรมฐานที่เหมาะสมสำหรับคนๆ
นั้น โดยยึดผู้เรียน แต่ละคนเป็นศูนย์กลาง) จนพ้น
ศีลัพพตุปาทาน (ประพฤติปฏิบัติอย่างตระหนักรู้ในแก่นสารคุณค่าที่ถูกต้อง)
และพ้น ศีลัพพตปรามาส (ประพฤติปฏิบัติอย่างเอาจริงจนสามารถเข้าถึงแก่นสารคุณค่าของพฤติกรรมดังกล่าว)
ศีล ต่างจาก
วินัย ตรงที่ศีลไม่มีสภาพบังคับทางสังคม ใครจะปฏิบัติหรือไม่ก็ได้
ผิดกับวินัย ซึ่งหากใคร ไม่ปฏิบัติแล้ว จะมีบทลงโทษ
ทุกสังคม (รวมทั้งสถานศึกษาต่างๆ
ด้วย) จำเป็นต้องมีวินัยเพื่อเป็นเครื่องมือจัดระเบียบ ให้ผู้คนอยู่ร่วมกัน
โดยปรกติสุข เพียงแต่ถ้าถูกบังคับให้ต้องประพฤติปฏิบัติตามกฎระเบียบเหล่านั้น
โดยไม่เข้าใจและเข้าไม่ถึง แก่นสารคุณค่าของ วินัย
ดังกล่าว การประพฤติปฏิบัตินั้นๆ ก็จะไม่พ้น ศีลัพพตุปาทาน
เช่น โรงเรียนสัมมาสิกขาของชุมชนชาวอโศกมีระเบียบวินัยให้นักเรียนถอดรองเท้าเมื่ออยู่ในชุมชน
เพื่อเป็นกลวิธีฝึกให้นักเรียนมีสติและรู้จักการสังเกตมากขึ้น (ถ้าเดินอย่างไม่มีสติและไม่รู้จักสังเกต
เท้าเปล่านั้นก็อาจจะไปเหยียบอะไรให้บาดเจ็บได้) เพราะการสร้างนิสัยให้มีสติและช่างสังเกต
จะเป็นพื้นฐานของการศึกษาทั้งในทางโลกและทางธรรม ในการศึกษาทางธรรมไม่ต้องพูดถึงมาก
สติจัดเป็นข้อแรกของโพชฌงค์ ๗ ที่เป็นหลักปฏิบัติสำคัญของพุทธธรรม
ส่วนความรู้ทางโลกนั้น การรู้จักสังเกต (หรือมีสติใส่ใจสิ่งแวดล้อมรอบตัว)
ก็เป็นพื้นฐานการเรียนรู้ให้เข้าถึงแก่นสาร ของศาสตร์แขนงต่างๆ เช่นกัน
โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นหัวใจสำคัญของกระบวนการ ค้นหาความรู้ ทางวิทยาศาสตร์
ถ้าถามนักเรียนโรงเรียนสัมมาสิกขาว่าทำไมถึงถอดรองเท้า
หากนักเรียนแห่งไหนตอบว่า เป็นเพราะระเบียบของทางโรงเรียนบังคับไม่ให้ใส่
ก็แสดงว่าโรงเรียนสัมมาสิกขาแห่งนั้น ยังไม่เข้าถึงวิธีการเรียนการสอนในปรัชญาข้อ
ศีลเด่น เนื่องจากยังไม่สามารถสอนให้ผู้เรียนพ้น ศีลัพพตุปาทาน
เป็นต้น
ถ้าเข้าใจ
ศีล ในความหมายแบบนี้ จะเห็นได้ว่ามิติของปรัชญาการศึกษาด้าน
ศีลเด่น ไม่ได้แยกจากมิติของ การงานที่เป็นวิถีชีวิตปรกติของชุมชน
รวมทั้งเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับมิติของ กระบวนการทางปัญญา ที่ปลูกฝัง
ให้นักเรียนมีเหตุมีผลด้วย
๒. ในด้านเป็นงาน
การทำงานนอกจากจะช่วยฝึกฝนผู้เรียนให้รู้จักวิธีทำงานต่างๆ
เป็นแล้ว ยังจะช่วยให้ นักเรียนเผชิญกับอุปสรรคปัญหาต่างๆ ซึ่งแฝงอยู่ในงาน
และได้ปลดปล่อยศักยภาพภายในตัวของนักเรียน ออกมาเพื่อแก้ปัญหาที่เผชิญเหล่านั้น
การทำงานจึงเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพในการพัฒนาคน และยังช่วยให้นักเรียนได้รู้จักจุดอ่อนของตัวเองด้วย
เช่น บางคนอาจจะได้เรียนรู้ว่าตนเองเป็นคนขี้เกียจ
เป็นคนไม่ค่อยมีสติอยู่กับตัว เป็นคนทำงานฉาบฉวย เป็นคนชอบใช้อารมณ์มากกว่าเหตุผลในการตัดสินใจต่างๆ
เป็นคนขี้โกรธ ขี้หงุดหงิดง่าย ฯลฯ เพื่อจะได้ เลือกข้อประพฤติปฏิบัติที่เป็น
ศีล หรือ กรรมฐาน ที่เหมาะสมกับจริตนิสัยของตัวเอง
สำหรับพัฒนาปรับปรุง แก้ไขชีวิตของตนให้มีความเจริญ งอกงามยิ่งๆ ขึ้นต่อไปได้อย่างตรงจุด
ขณะเดียวกันการทำงานจะช่วยดึงเอาความถนัดและความสนใจของนักเรียนออกมา
เช่น นักเรียน บางคน อาจรู้สึกสนุกและภาคภูมิใจกับการทำผลิตภัณฑ์แชมพูที่มีคนนิยมซื้อหา
เมื่อเกิดฉันทะในงานนั้นๆ แล้ว ความใฝ่รู้ก็จะเกิดตามมาโดยง่าย หากมีการจัดองค์ประกอบการเรียนการสอนที่เหมาะสม
มีแหล่งข้อมูล ให้นักเรียนได้ศึกษาค้นคว้า และมีเวลาให้นักเรียนไปศึกษาเรื่องที่ตนสนใจ
นักเรียนคนนั้นอาจไป คิดหาวิธี พัฒนาสูตรทำแชมพูใหม่ๆ ที่เป็นผลงาน
ของตนเอง ทำให้สนใจหาความรู้ เพิ่มเติมเกี่ยวกับวิชา ด้านเคมี มากขึ้น
สนใจค้นคว้าสมุนไพรประเภทต่างๆ มากขึ้น เพื่อหวังจะนำมาเป็นส่วนผสมของแชมพู
สมุนไพร ฯลฯ ผลที่สุดการทำงานอย่างถูกต้อง ก็จะไปช่วยเสริม มิติด้านศีล
และมิติด้านการแสวงหาความรู้ ทางวิชาการของนักเรียน โดยไม่แปลกแยกจากกัน
๓. ในด้านชาญวิชา
ถ้าเข้าใจการสอนความรู้ทางวิชาการที่ถูกต้อง เน้นสอนให้นักเรียนคิดอย่างเป็นระบบ
และคิดอย่างมีเหตุมีผลจนเกิดความคิดรวบยอด (Conceptualization)
ในเรื่องต่างๆ โดยมุ่งสอนตัว Concepts ที่เป็นแก่นของความรู้
ยิ่งกว่าสอนตัว Content โดยมุ่งให้นักเรียนท่องจำเนื้อหาความรู้
หรือสอนให้เกิด Contest โดยปลุกเร้าให้นักเรียนใช้ความรู้แข่งขันกันเอาชนะคนอื่นๆ
ด้วยความเห็นแก่ตัว ก็จะเห็นได้ว่ามิติของปรัชญา การศึกษาในด้านที่เป็นกระบวนการปลดปล่อยพลังทางปัญญานี้
สามารถบูรณาการเข้ากับมิติของปรัชญา การศึกษาในด้าน ศีลเด่น
และ เป็นงาน ได้อย่างกลมกลืน
เป็นเนื้อเดียวกัน
การจัดการเรียนการสอนของโรงเรียนสัมมาสิกขา
ต่างๆ ในชุมชนชาวอโศกนั้น ไม่ได้แยกออกจากวิถีชีวิตชุมชน ซึ่งเป็นชุมชนแห่งการเรียนรู้
(หรือเป็นมหาวิทยาลัยชีวิตที่จัดการศึกษาอย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต)
ฉะนั้น ถ้าชาวชุมชนไม่เรียนรู้ให้เข้าใจถึงแก่นสารของปรัชญาการศึกษาในเรื่อง
ศีลเด่น เป็นงาน ชาญวิชา อย่างถ่องแท้ อันทำให้สามารถบูรณาการมิติของปรัชญาการศึกษาทั้ง
๓ ด้าน ให้เป็นอันหนึ่งอันเดียว กันแล้ว
นอกจากสถานะของชุมชนแห่งการเรียนรู้จะถูกลดทอนลง
พลังของปรัชญาการศึกษาชุดนี้ ก็จะถูกบั่นทอน ลงด้วย จนทำให้โรงเรียนสัมมาสิกขาของชุมชนชาวอโศก
ไม่มีอะไรโดดเด่นเป็นพิเศษ จากสถานศึกษา ส่วนใหญ่ทั่วไปในโลกทุกวันนี้
ที่กำลังประสบความล้มเหลวในการพัฒนาสติปัญญาของผู้เรียน เพื่อให้เข้าใจ
และเข้าถึงวิถีการดำเนินชีวิตที่สงบสุข เป็นประโยชน์ ไม่เบียดเบียนตนเอง
และไม่เบียดเบียนผู้อื่น
-ดอกหญ้าอันดับที่ ๑๐๙ กันยา-ตุลา ๒๕๔๖-
|