จิตวิญญาณดีชีวีเป็นสุข : คุณทำได้


วนิดา วงศ์พิวัฒน์
วิศวกรรมศาสตรบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ปริญญาโทจากสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (AIT) โดยทุนรัฐบาลแคนาดา
ปัจจุบัน เป็นอาสาสมัครของชุมชนสันติอโศก

อ่านหนังสือ "พระพุทธองค์ทรงสอน" บอกว่า ปฏิบัติธรรมต้องเป็นไปตามขั้นตอน โลกมี ๔ โลก ๑.โลกอบาย ซึ่งต้องละอบายมุขก่อน ๒.โลกกาม ๓.โลกธรรม ๔.โลกอัตตา พอได้รู้อย่างนี้ก็คิดว่าเรามีหวังแล้ว สามารถเริ่มต้นที่ ก.ไก่ หรือบันไดขั้นที่ ๑ ก็เลยเริ่มมาศึกษามาปฏิบัติ พอเริ่ม ลงมือก็เจอข้อ ๑ เข้าเต็มๆ เรื่องอบาย เพราะเรามีอยู่เพียบเลย ทั้งเล่นไพ่และกินเหล้า

กว่าจะเลิกได้ ต้องไปตั้งสัจจะกับพระ เพื่อขอคำปรึกษาท่าน เคยขอให้ท่านช่วยด่าแรงๆ จะได้เลิกเล่นไพ่ ท่านก็บอกว่า อาตมาไม่ด่าคุณหรอก เพราะคุณทำอย่างไรก็ได้อย่างนั้น เลยยิ่งเจ็บปวดใหญ่เลย ดิฉันจึงใช้วิธีตรวจศีลส่งท่าน ว่าวันนี้ผิดศีลอะไรบ้าง พอถึงข้ออบายมุขก็ผิดอยู่เรื่อย ท่านก็เขียนเตือนมา จนในที่สุดก็ตัดสินใจเลิก

ทุกวันนี้ก็ยังเอาหนังสือธรรมะมาอ่านบ้าง ได้ฝึกตัวยอมมากขึ้น แรกๆ ยาก ต่อไปก็ง่ายขึ้น รวมทั้งความมี สัมมาคารวะด้วย เพราะเราใจร้อน พูดอะไรแล้วดูแข็ง ห้วน เราก็ฝึกทำอะไรช้าลง เสียงพูดอ่อนโยนขึ้น ไม่งั้นจะดูเหมือนไปดุคนอื่น

เรือตรีแซมดิน เลิศบุศย์
การศึกษา ปริญญาตรี คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช
อดีต รับราชการที่แผนกปืน กองทดสอบสรรพาวุธ กรมสรรพาวุธทหารเรือ

ปัจจุบัน เป็นรองประธานชุมชนสันติอโศก เลขานุการสมาคมผู้ปฏิบัติธรรม กรรมการเครือข่ายชุมชน ชาวอโศก กรรมการเครือข่ายกสิกรรมไร้สารพิษแห่ง ประเทศไทย (คกร.) รองเลขาธิการพรรคเพื่อฟ้าดิน กรรมการบริษัทภูมิบุญ จำกัด และกรรมการผู้จัดการบริษัท ฟ้าอภัย จำกัด

ยากที่สุดสำหรับผมคือกาม ความที่เราสั่งสมมามาก เที่ยวมามาก มันฝังลึกนะ ต้องสู้กับมันหนักทีเดียว ขั้นต้น กายหยาบๆ นี่เราไม่ไป ไม่ยุ่ง ไม่แตะต้องแล้ว แต่ใจ ตา มันยังไว ผมว่ามันเหมือน ฝากออมสินนะ เราสั่งสมไปทีละนิดทีละหน่อยนี่แหละ พอเต็มครบแล้ว มันก็เป็นพฤติกรรมออกมา

๒๑ พฤษภาคม ๒๕๒๔ มาที่สันติอโศก ฟังธรรมจากพระจึงคิดเปลี่ยนพฤติกรรม ตอนเลิกบุหรี่ วันนั้นเราเล่นสนุ้กตั้งแต่เย็นจนเที่ยงคืน ก้มๆ เงยๆ อยู่อย่างนั้น เดินวนอยู่อย่างนั้น ควันบุหรี่ก็คลุ้งไปหมด ก็ถามตัวเองว่า เรามานั่งทำอะไรอยู่ เวลานี้ควรจะเป็นเวลานอนแล้วนะ ก็ตั้งใจเลิกทั้งบุหรี่และสนุ้กเกอร์

พอเลิกบุหรี่ ก็กินเหล้าไม่อร่อยเหมือนเก่า ไม่สูบบุหรี่ ไม่กินเหล้า ก็เที่ยวไม่สนุก อย่างเที่ยวผู้หญิงนี่ เราต้องกินเหล้าก่อน พอเมาได้ที่แล้วก็ไปเที่ยว มันก็ต่อเนื่องกันไปอย่างนี้ แล้วก็เกิดจิตสงสารผู้หญิงด้วย จากนั้นก็ลดเรื่องเที่ยวลงไป จนเลิกในที่สุด

หลังจากเลิกอบายมุขแล้วจึงมาฝึกถือศีล กินมังสวิรัติ ฝึกทำงานเสียสละเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมเสมอๆ เป็นเหตุให้พัฒนาตัวเองขึ้นมาเป็นลำดับ

ผศ.รัศมี กฤษณมิษ
การศึกษา อักษรศาสตรบัณฑิต (เกียรตินิยม) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปริญญาโท สาขาภาษา และวรรณคดีสเปน จากมหาวิทยาลัย N.Y.U. in SPAIN

ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ พระนางอิซาเบล ลา กาโตลิกา ชั้น CRUZ DE OFICIAL จากประเทศสเปน เมื่อปี พ.ศ.๒๕๔๖

ปัจจุบัน เป็นอาจารย์ประจำภาควิชาภาษาตะวันตก คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ในชีวิต ไม่กินผัก ไม่กินทุกอย่างที่เป็นมังสวิรัติ ไม่ชอบเลย น้ำเต้าหู้ก็ไม่ชอบ งาก็ไม่ชอบ เหม็นหมด ชอบมากคือลูกชิ้นเนื้อวัว ชอบไก่ย่าง ชอบทอดมัน ชอบมากจนต้องมาคิดว่า ไม่ได้กินทอดมันจะทำยังไง ชีวิตคงอับเฉามาก แต่พอมารู้ว่า ถ้าเรากินเนื้อสัตว์ ก็ต้องมีคนฆ่ามาให้เรากิน เหมือนที่เราดูโฆษณาว่า อย่ากินเนื้อสัตว์ป่า เพราะจะต้องมีคนฆ่ามาให้เรากิน เราก็ต้องเลิกกินเนื้อสัตว์ รู้แล้ว ต้องใช้เวลาอีก ๒ ปีกว่าจะเลิกกินเนื้อสัตว์ได้ ปีแรกลดเนื้อก่อน ยังเก็บหมูไว้ สักระยะหนึ่งก็เอาหมูไป เหลือไก่ ลดไก่ไป เหลือปลา เหลือกุ้ง กุ้งนี่เอาไว้สุดท้าย เพราะชอบกินกุ้ง ก็ค่อยๆ ลดไป จนเลิกกินเนื้อสัตว์ได้ทั้งหมด

เมื่อก่อนดิฉันก็ใส่เสื้อผ้าสวยงาม ชุดละสามพันห้าพัน รองเท้าคู่ละสองสามพันก็ใส่มาแล้ว จบจากต่างประเทศ ซื้อของนอกกลับมา แต่งตัวน่ารักน่าเอ็นดู ตุ้มหูตุ้งติ้งเต็มไปหมด สวยงาม... พอฟังเทศน์ ก็เข้าใจว่าการตัดผมสั้นมันดี การไม่แต่งหน้ามันดี ก็เลิกได้เลย เพราะของพวกนี้เราไม่ติด ที่เราทำอยู่นั้น ทำตามที่คนอื่นเขาทำกัน โดยที่เราก็ไม่รู้ว่าทำไปทำไม พอเลิกแล้วก็สบายมาก มีเวลาเพิ่มมากขึ้น ลดการแต่งหน้า ลดเรื่องเครื่องประดับ หันมาแต่งตัวแบบไทย

หลายคนประเมินคนอื่นจากรูปลักษณ์ภายนอก เราแต่งตัวเหมือนคนทำความสะอาด ยามก็งง ไม่รู้จะสวัสดี ดีหรือเปล่า ใครก็ไม่ทราบ หน้าตาก็น่าจะมีความรู้อยู่ แต่ว่าแต่งกายแบบชาวบ้านมาก ก็ไม่เป็นไร พอเราเข้าใจตัวเอง เราจะไม่สนใจว่าใครจะคิดยังไง เพราะเรารู้ว่าสิ่งที่เราทำมันดี เมื่อเรามั่นคง คนอื่นจะมั่นใจ

นายแพทย์วีรพงศ์ ชัยภัค
กองการแพทย์ทางเลือก กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข

ผมเริ่มติดอบายมุขตั้งแต่เรียนมหาวิทยาลัยปี ๒ เรียนจบแล้วไปทำงานที่โรงพยาบาลเกษตรสมบูรณ์ จังหวัดชัยภูมิ เป็นโรงพยาบาลชุมชนขนาด ๑๐ เตียง ตอนเย็นไม่มีอะไรทำ ก็กินเหล้าเมามายไปตามเรื่อง อยู่ได้ ๕ เดือน ย้ายไปอยู่โรงพยาบาลจังหวัด มีที่เที่ยวกินสูบดื่มเสพมากขึ้น ช่วงที่อยู่ชัยภูมินี่เละที่สุดแล้ว หลังจากนั้นผมก็ไปเรียนต่อทางรังสีวิทยาที่โรงพยาบาลรามาธิบดี เรียนจบแล้วไปอยู่ที่โรงพยาบาลหาดใหญ่ ยังสำมะเลเทเมาเหมือนเดิม

จนกระทั่งปี ๒๕๓๑ ภรรยาป่วยเป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาว ก็เสียใจ เป็นความทุกข์ กินเหล้าต่อ หาทาง ดับทุกข์ พอหายเมาก็ทุกข์อีก ผมพาภรรยามารักษาที่โรงพยาบาลมหิดล รักษาอยู่ ๓ ปี ช่วงนั้นก็ได้เทปธรรมะ จากร้านขายเทปแถววัดมหาธาตุฯ ฟังดูแล้วก็ลองปฏิบัติ ได้มาวัด ได้พัฒนาตนเองขื้นมาเรื่อยๆ จนรู้สึกว่า ความทุกข์เบาลงเยอะ เมื่อภรรยาเสียชีวิต ไม่ได้ทุกข์มากเหมือนแต่ก่อน ทำใจได้ดี รู้สึกว่าเป็นอานิสงส์ของ การปฏิบัติธรรม ก็ปฏิบัติเรื่อยมา

คนที่ทำงานด้วยกัน เห็นเราเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น รับผิดชอบมากขึ้น ไม่ได้ไปเที่ยวเตร่กินเหล้า ก็มีเวลา มากขึ้น ช่วยเหลือเพื่อนได้มากขึ้น เคยทำโรงพยาบาลเอกชน ก็เลิกหมด ผมมาช่วยงานโรงเรียนผู้นำของ พลตรีจำลอง ศรีเมือง ที่เมืองกาญจน์ ตั้งแต่ปี ๒๕๓๗ จนถึงปัจจุบัน เขาเห็นเราเปลี่ยนไป ในทางที่ดีขึ้น ก็เลยให้รางวัลข้าราชการดีเด่นด้านการแพทย์ ของชมรมโรงพยาบาลศูนย์และโรงพยาบาลทั่วไป เมื่อปี ๒๕๓๙ เหมือนเป็นสัญญาประชาคมให้เราต้องทำหน้าที่ให้ดีสมกับรางวัลที่ได้รับ ปีนี้ ๒๕๔๖ ก็ได้รับรางวัล คนดีศรีตรัง ของสมาคมศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ในฐานะศิษย์เก่าดีเด่นของคณะแพทยศาสตร์

นางสาววิชชุลดา ชัยเจริญ (พิม)
คุณพ่อ : พ.อ.เอกชัย ชัยเจริญ รองผู้อำนวยการกองสิ่งอุปกรณ์สำรอง กรมการสรรพกำลังทหาร กองบัญชาการทหารสูงสุด
คุณแม่ : พ.ท.หญิง รับขวัญ กาญจนอัตถ์ อดีตอาจารย์กองการศึกษา โรงเรียนทหารสื่อสาร

แม่พาพิมมาเรียนที่โรงเรียนพุทธธรรมวันอาทิตย์ ตั้งแต่ตอนพิมพ์เรียน ป.๔ พอจบ ป.๖ ก็เข้าเรียนชั้น ม.๑-ม.๖ ที่โรงเรียนสัมมาสิกขาสันติอโศก จบ ม.๖ ปี ๒๕๔๐ แล้วก็เรียนคณะบริหารธุรกิจ สาขาประชาสัมพันธ์ ที่มหาวิทยาลัย รามคำแหง พอพิมเรียนจบ แม่ก็ลาออกจากงานมาอยู่วัด แล้วพ่อก็บอกเหมือนกันว่า มีงานที่นั่นที่นี่นะ จะไปทำไหม พ่อเสนอ แต่ไม่ได้บังคับ พิมไม่ไปเพราะอยากทำงานให้วัด คิดว่าถ้าทำบุญ เยอะๆ ชาติหน้าจะได้สบาย ตอนนี้พิมกำลังเรียนแพทย์แผนไทย ที่กระทรวงสาธารณสุข อยากเป็นหมอ แต่ไม่อยากผ่ากบ ไม่อยากทำทารุณอย่างนั้น แพทย์แผนไทย เขาสอนให้เรารู้จัก สมุนไพร แล้วก็ใช้สมุนไพร ไปรักษาโรค

สิ่งที่ได้จากการเรียนพุทธธรรมและสัมมาสิกขาก็คือความคิดที่จะดูแลตัวเอง พึ่งตนเอง เรียนจบ ม.๖ แล้วพิมก็เข้ากลุ่มศิษย์เก่า กลุ่มจ่ายค่าลงทะเบียนเรียนที่รามฯ แล้วก็ให้เงินใช้เดือนละหนึ่งพันบาท กลุ่มให้พิมช่วยงานที่ร้านกู้ดินฟ้า ขายผักผลไม้ไร้สารพิษ แล้วก็ทำบัญชีให้กลุ่ม

กลุ่มเกิดจากศิษย์เก่าสัมมาสิกขาสันติอโศกที่เรียนจบ ม.๖ แล้ว ยังไม่อยากไปทำงานข้างนอก แต่อยากหาเงินเรียนเอง ไม่ต้องให้พ่อแม่ลำบากส่งเราเรียน แล้วก็อยากอยู่ใกล้วัดด้วย เลยรวมกลุ่มกัน ทำแชมพู สบู่สมุนไพร น้ำผลไม้ น้ำธัญพืชขาย มีสมณะดูแล และประชุมกันทุกอาทิตย์...

นางสาว เพชรตะวัน ธนะรุ่ง
ปริญญาตรี พยาบาลศาสตร์และผดุงครรภ์ชั้นสูง วิทยาลัยบรมราชชนนีกรุงเทพ พ.ศ. ๒๕๒๕ และ สาธารณสุขศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช พ.ศ.๒๕๒๗

ปริญญาโท วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต (สาธารณสุขศาสตร์) สาขาการบริหาร โรงพยาบาล คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล พ.ศ.๒๕๓๙
๒๕๒๘ ข้าราชการดีเด่น (ระดับ ๑-๓) โรงพยาบาลเจ้าพระยายมราช จังหวัดสุพรรณบุรี
๒๕๓๑ ข้าราชการดีเด่น (ระดับ ๔-๖) โรงพยาบาลเจ้าพระยายมราช
๒๕๓๒ บุคคลดีเด่นอันดับ ๑ ประจำปี โรงพยาบาลเจ้าพระยายมราช
ปัจจุบันเป็น พยาบาลวิชาชีพระดับ ๗ โรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ อ.เมือง อุบลราชธานี

พ.ศ.๒๕๒๔ เริ่มกินมังสวิรัติ ถือศีล ๕ ตอนแรกคิดเหมือนกันว่าจะขาดอาหารไหม จะได้คุณค่าอาหาร ครบไหม ก็หาอาหารโปรตีนมาทดแทนเนื้อสัตว์ เสื้อผ้าก็ขนให้คนอื่นไปเยอะเลย ตั้งใจทำงานมากขึ้น ขยันขึ้น เสียสละ ดูแลรับภาระช่วยเหลืองานของโรงพยาบาล มีเวลาก็ไปช่วยงานฝ่ายเวชกรรมสังคม ซึ่งขาดคน ทำงาน ไปเยี่ยมชาวบ้าน ให้การศึกษาประชาชน ทำงานโดยไม่หวังผลตอบแทน เขาเห็นว่าเราเสียสละเยอะ ทำงานเพื่อส่วนรวม ก็เลยพิจารณาให้รางวัล

เพชรดินฟ้า ดิศโยธิน
ปวส. วิทยาลัยเกษตรกรรมชัยภูมิ
ปริญญาตรี มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช
ปัจจุบัน เป็นนักวิชาการแรงงาน ๖ ว. สำนักงานแรงงานจังหวัดหนองบัวลำภู

เลิกเหล้าบุหรี่เด็ดขาด วันที่ ๑๗ ธันวาคม ๒๕๒๔ ก่อนนั้นพบหนังสือของอโศกเล่มแรกในห้องสมุด ก็ประทับใจ เลย คือ หนังสือ ค่าอย่างไรที่สังคมควรนิยม แล้วก็เขียนจดหมายขอหนังสือมาอ่าน

เริ่มฝึนฝนปฏิบัติธรรมสมัยเรียน แต่เริ่มกินอาหารมังสวิรัติตั้งแต่ปี ๒๕๒๘ ปัจจุบันถือศีล ๕ ภรรยาชื่อ นางฐิติรัตน์ ดิศโยธิน รับราชการสถานสงเคราะห์เด็กหญิงภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จ.อุดรธานี ลูกชาย ๒ คน กำลังเรียนชั้น ม.๒ และ ม.๓ ทุกเช้าตื่นมาเตรียมอาหารให้ลูก ตั้งนาฬิกาปลุกให้ลุกแต่เช้า พาลูกทำกับข้าว เฉพาะมื้อเช้าให้กินมังสวิรัติกับพ่อ โดยเน้นการกินข้าวกล้อง ผักสดพื้นบ้าน ถั่วต่างๆ แรกๆ ก็ยาก เดี๋ยวนี้สบาย แล้วก็ไปส่งโรงเรียน ตอนเย็นกลับมาดูแลลูก ฝึกให้ซักผ้า ล้างจาน ฝึกความประหยัด รวบรวมกระดาษที่ไม่ใช้แล้วไว้ขาย แม้ใช้เวลานานแต่ก็เป็นการสร้างนิสัย

ท.ญ. ฟากฟ้าหนึ่ง อโศกตระกูล
ทันตแพทยศาสตรบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ปัจจุบัน เป็นประธานชุมชนปฐมอโศก จังหวัดนครปฐม

เดิมไม่ค่อยแต่งตัวอยู่แล้ว พอเข้าใจ ธรรมะก็ยิ่งมั่นใจว่า ชีวิตสมถะ ไม่ต้องเปลืองเสื้อผ้ามาก เรียบง่าย ไม่จำเป็นต้องแต่งตัวตาม คนอื่น ไม่ต้องมีกระเป๋าถือ ตอนนั้นจึงเปลี่ยนมาใช้ย่าม สวมรองเท้าผ้าใบ ชุดนิสิตมีแค่ ๔ ชุด ใส่อยู่ ๖ ปี เรียนจบได้โดยไม่ต้องตามแฟชั่นเลย ตอนไปทำงานที่โรงพยาบาลสูงเนิน โคราช ชาวบ้านไม่รู้ว่าเป็นหมอ เพราะผู้ช่วยยังแต่งตัวดีกว่าเลย ซึ่งก็ไม่มีปัญหาอะไร อยู่ที่ว่าเราทำให้เขาได้ดีแค่ไหน เมื่อเรามีอัธยาศัยไมตรี มีความจริงใจ ชาวบ้านก็รับได้

สมัยอยู่ที่โรงพยาบาลสูงเนินได้ทำงานด้านสาธารณสุขมูลฐาน โดย ส่งเสริมให้ประชาชนใช้สมุนไพรพื้นบ้าน อย่างน้อยในการปฐมพยาบาล

ทำงานที่สูงเนินอยู่ ๙ ปี จึงลาออกมาอยู่ที่ชุมชนปฐมอโศก และจับงานด้านสมุนไพรอย่างจริงจัง ตั้งคลินิกทันตกรรม บริการประชาชนด้วยราคาเท่าโรงพยาบาลหรือต่ำกว่า ไม่ได้รับเงินเข้าส่วนตัว แต่มอบรายได้ให้ชุมชนทั้งหมด

ขณะนี้ก็นับว่ามีความสุขอยู่บ้างแล้วพอสมควร แม้เวลากระทบอารมณ์จะ ยังหวั่นไหวอยู่บ้าง ถ้าจิตใจเราไม่หวั่นไหว สามารถทำงานได้ด้วยจิตใจสบายๆ ก็ไม่รู้ว่าบรมสุขยิ่งกว่านี้จะแค่ไหน

ดาบบุญ ดีรัตนา
ปวส. (ช่างยนต์) วิทยาลัยช่างกลพระนครเหนือ
ปริญญาตรี สาขาเทคโนโลยีการซ่อมบำรุงในโรงงานอุตสาหกรรม (Industrial Maintenance Technology) สถาบันเทคโนโลยีอินเดียนา (Indiana Institute of Technology)
ปัจจุบัน เป็นผู้รับใช้ศูนย์อาหารมังสวิรัติ ชุมชนสันติอโศก

เรียนจบ ปวส. แล้ว ผมไปทำงานที่บาห์เรน หาเงินได้ก้อนหนึ่ง กลับมาเมืองไทย ติดต่อไปเรียนที่อเมริกา วันที่ผมจะไปอเมริกา พี่สงกรานต์ ภาคโชคดี ลูกของคุณลุง เอาหนังสือมาให้หลายเล่ม เท่าที่จำได้มี ตอบปัญหาผ่าเปรี้ยง - ความรักสิบมิติ - ค่าอย่างไรที่สังคมควรนิยม - ธรรมอันพระพุทธองค์ทรงสอน - คั้นออกมาจากศีล - คนคืออะไร ผมก็อ่านไปเรื่อย เครื่องบินลงที่ลอสแองเจลิส ผมนั่งรถไปรัฐอินเดียน่า นั่งรถ ๓ วัน อ่านหนังสือต่อ พอไปถึงโรงเรียน ผมก็ตัดสินใจเลิกกินเนื้อสัตว์เลย แล้วก็ปฏิบัติตามในหนังสือ ถือศีล ๕ กินมังสวิรัติ อาหารที่สถาบันส่วนใหญ่เป็นเนื้อสัตว์ แต่มีสลัดบาร์ ผมก็อาศัยตรงนี้ ตอนนั้นยังกินไข่ กินนมอยู่

เรียนจบแล้ว กลับมาทำงานที่ยูเนียนออยล์ ประเทศไทย ทำได้ปีกว่า กลับไปอเมริกาอีก ผมไปกลับอเมริกา หลายรอบ เคยเปิดอู่ซ่อมรถ เคยเปิดร้านอาหารมังสวิรัติ ทำบริษัทรถทัวร์ ตลอดเวลา ๒๕ ปี ปฏิบัติธรรมถือศีล ๕ กินอาหารมังสวิรัติต่อเนื่อง

ครั้งสุดท้ายนี่ผมตั้งตบะว่าจะไม่กลับอเมริกา ๓ ปี มาช่วยงานที่ศูนย์อาหารมังสวิรัติได้สองปีกว่าแล้ว ต้องอดทน ต่อสู้กับตัวเอง เอาชนะความเบื่อ ผมอยู่กับที่นานๆ ไม่ได้ ต้องมีฉันทะ ลดอัตตามานะ แต่ก่อน มีแต่ใช้คนอื่น ตอนนี้ก็มาให้เขาใช้บ้าง เราก็ดูใจเรา บางทีไม่ยอมเหมือนกันนะ ต้องปรับใจ เราก็ได้ประโยชน์ นี่แหละ คือปฏิบัติธรรม

ฐิติพร ธาดาเดช
ศิลปศาสตรบัณฑิต (บรรณารักษศาสตร์) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
อักษรศาสตรมหาบัณฑิต (บรรณารักษศาสตร์) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ปัจจุบัน ประกอบธุรกิจส่วนตัว

เป็นครูบรรณารักษ์ที่วิทยาลัยเทคนิคสุพรรณบุรี ๑ ปี ลาออกเพื่อเรียนต่อปริญญาโทที่จุฬาฯ ตอนเรียน ปริญญาโท ได้รู้จักสันติอโศก เริ่มกินมังสวิรัติ ลดละการแต่งตัว ฝึกใช้ชีวิตเรียบง่าย

เรียนจบแล้ว ไปช่วยทำห้องสมุดที่ปฐมอโศกอยู่หลายปี จนปี ๒๕๓๔ พ่อเปิดร้านขายของให้ที่บ้าน ที่อำเภอ เชียงของ จังหวัดเชียงราย ก็เลยต้องกลับไปค้าขายรถจักรยาน รถเด็กเล่น สินค้าเบ็ดเตล็ดทั่วไป

ปีนี้เริ่มบุกเบิกทำกสิกรรมไร้สารพิษ ในพื้นที่ที่มีอยู่ราว ๔๐ ไร่ ไม่ได้ดูแลมาหลายปี ปลูกต้นไม้นานาชนิด เท่าที่จะหาได้ เช่น สัก ยูคาลิปตัส ส่วนต้นไม้ธรรมชาติที่มีอยู่ก็รักษาไว้ ปลูกไม้ผลด้วย เช่น กล้วย เสาวรส ฯลฯ

พอมาทำกสิกรรม ซึ้งในอาชีพนี้ว่าค่อนข้างลำบากตรากตรำ กว่าจะได้ผลผลิตออกมา ทำให้อดทน มีสุขภาพดีขึ้น ที่ทำได้เพราะได้ฝึกปฏิบัติธรรมมาก่อน ทำให้ชีวิตเปลี่ยนไป เข้าใจคุณค่าและสัจธรรมชีวิต ลดละโลภ โกรธ หลง ทำให้จิตใจดีขึ้น มองโลกในแง่ดี ที่สำคัญคือได้ทวนกระแสโลกโดย ไม่ลำบาก แต่ทำด้วยความสบายใจ

สมณะกอบชัย ธัมมาวุโธ
นิติศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ปัจจุบัน เป็นสมณะจำพรรษาที่พุทธสถานสันติอโศก

เรียนจบแล้ว อาตมาไปเป็นครูอาสาสมัครของโครงการบัณฑิตอาสาสมัคร อยู่ที่แม่ฮ่องสอน มันมีเหตุว่า ไปเยี่ยมหมู่บ้านชาวเขา ตอนงานปีใหม่ ไปกับทีมหมอ เขาไปรักษาฟรี เราก็ไปเที่ยวด้วย เผ่าลีซอ เขาล้มหมูเลี้ยง ได้เห็นตั้งแต่ไล่จับมา จนชำแหละ แล้วหมอก็อธิบายให้พยาบาลฟัง เพราะเครื่องในหมู เครื่องในคน เหมือนกัน เขาล้มหมูมาทำอาหารเลี้ยงเรานี่ ตอนนั้นก็เป็นจุดเริ่มต้นที่กินเจ

แต่ก็มีทุนจากการที่เราอ่าน โดยเฉพาะสารอโศก มีจดหมายจากญาติธรรม ที่เขาเล่าว่าปฏิบัติธรรมอย่างไร มันเป็นฐานะเดียวกัน เขาอยู่บ้านอยู่ช่อง กินมังสวิรัติ ลดมื้อ ลดการใช้เสื้อผ้า เป็นตัวอย่างที่เราสัมผัส เป็นรูปธรรม

พอจบจากเป็นอาสาสมัครแล้ว ก็คิดว่าจะทำงานทำการอะไร เป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของเรา การที่ไปเป็น อาสาสมัคร บวกกับการศึกษาธรรมะชาวอโศกและได้ลงมือปฏิบัติ เราก็ได้ข้อสรุป กลับไปบอกโยมพ่อว่า ได้งานทำแล้ว ที่มูลนิธิธรรมสันติ มีข้าวให้กิน มีที่ให้นอน เงินเดือนศูนย์บาท

อาตมาช่วยงานในฐานฆราวาสอยู่ได้ ๒ ปี แล้วถึงได้บวชเมื่อปี ๒๕๒๖

พ.ต.ท.รุ่งโรจน์ เรืองฤทธิ์
รัฐศาสตรบัณฑิต สาขาการบริหาร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
อดีต สารวัตรใหญ่ สถานีตำรวจภูธร อำเภอสรรพยา จังหวัดชัยนาท
สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดชลบุรี
ที่ปรึกษาผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (สมัยพลตรีจำลอง ศรีเมือง)
ปัจจุบัน เป็นบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ เราคิดอะไรของสำนักพิมพ์กลั่นแก่น

ผมอ่านหนังสือธรรมะมาตั้งแต่เป็นร้อยตรี แต่ก็ได้แต่รู้ ไม่ได้ทำ จนเมื่อราวๆ ปี ๒๕ ได้อ่านหนังสือ ค่าอย่างไรที่สังคมควรนิยม อ่านแล้วทำให้เปลี่ยนแปลงชีวิต

เริ่มแรกก็ละอบายมุข เลิกเหล้า เลิกบุหรี่ กินข้าวสองมื้อ ไปร่วมงาน เผยแพร่ธรรม แล้วก็เข้าวัด

ผมมั่นใจว่าทางที่เดินอยู่นี่ไม่ผิด เราเคยคิดอยากได้ดี ตอนนี้มาถูกดีแล้ว ก็ต้องพยายามให้ถึงดี ผมเองมาปฏิบัติธรรม อายุ ๔๐ กว่าแล้ว ถ้ารู้ก่อนหน้านี้ ชีวิตก็คงปลอดโปร่งกว่านี้ ดีกว่านี้ สิ่งที่อยากฝากไว้ก็คือ เมื่อเรายืนหยัดอยู่ใน ความถูกต้อง ได้ มันก็เป็น รูปแบบ และ กำลังใจ ให้คนอื่นเขาทำตามได้ด้วยครับ

-ดอกหญ้าอันดับที่ ๑๐๙ กันยา-ตุลา ๒๕๔๖-