ปัจฉิมลิขิต
- กอง บก. -

ต้องการเป็นสมาชิกประจำของหนังสือ ต้องทำอย่างไร
* กนกวรรณ เตียวตระกูล

เนื่องจากช่วงนี้ มีผู้สั่งพิมพ์ดอกหญ้าเพิ่มขึ้น เพื่อนำไปแจก ในโอกาสต่างๆ หลายท่านที่ได้รับแจก สนใจ ที่จะเป็นสมาชิกประจำ เราก็เลยพิมพ์ใบสมัคร เป็นสมาชิกดอกหญ้าไว้ท้ายเล่ม ท่านที่ยัง ไม่ได้เป็นสมาชิก และประสงค์ จะให้ส่งดอกหญ้า ไปให้ท่านอ่าน ถึงบ้านอย่างต่อเนื่อง จะได้กรอก ใบสมัครส่งกลับไปให้เรา

อาจารย์อุเทน หล่อสกุล ที่อยากให้เราส่งดอกหญ้าไปให้ห้องสมุดวิทยาลัยช่างศิลป ก็กรอกใบสมัคร ส่งไปให้ด้วยนะคะ

ท่านที่เป็นสมาชิกอยู่แล้ว ไม่ต้องกรอกอีกนะคะ เพียงแต่ว่านานๆ ที ปีละสักสองสามครั้ง ก็กรุณาส่ง ข่าวคราว ให้เราทราบบ้างว่า ยังได้รับประโยชน์ จากดอกหญ้าอยู่ เราจะได้รักษาสมาชิกภาพของท่าน ไว้ค่ะ

หลายท่านเสนอแนะให้ส่งดอกหญ้าไปให้ห้องสมุดสถาบันการศึกษาและหน่วยงานต่างๆ เราเคยทำมาแล้ว ค่ะ แต่ไม่ค่อย ได้รับการตอบรับ จากหน่วยงานเหล่านั้น หลายๆ ปีผ่านไป เราก็เลยหยุดส่ง เพราะไม่ทราบว่า ส่งไปแล้ว มีใครได้รับ ประโยชน์บ้าง ส่วนสถาบันที่ตอบรับ ก็ยังคงได้รับตลอดมาค่ะ เพราะฉะนั้น ขอเสนอว่า ท่านที่อ่านจบแต่ละฉบับแล้ว ช่วยเอาไปบริจาค ให้หน่วยงานของตนเองดีไหมคะ หรือบริจาคให้โรงเรียน โรงพยาบาล ห้องสมุดประชาชน ที่อ่านหนังสือพิมพ์ ประจำหมู่บ้านก็ได้

จะดีไหม ถ้าจะมีรูปของผู้เขียน ทุกๆ คอลัมน์ หรือผู้อยู่เบื้องหลังทุกท่าน ให้ผู้อ่านได้เห็น และรวมทั้งชีวประวัติของทุกท่านลงสักฉบับหนึ่ง หรือประวัติการทำ ใครหนอดำริเริ่มแรก การต่อสู้และอุปสรรค ระหว่างทาง จนถึงวันดอกหญ้าผลิบาน อย่างแกร่งกล้าท้าโลกีย์ทุกวันนี้
* พระไชยะ อนีโฆ

คุยกันดูบ้างแล้ว ปรากฏว่าไม่มีใครมีประวัติชีวิตที่น่าสนใจเลยค่ะ ทุกคนชีวิตราบเรียบเสมอต้นเสมอปลาย ไม่มีอุปสรรคขวากหนาม อะไร นอกจากความคิดของตัวเอง เราก็เลยคิดว่า จะเปลืองหน้ากระดาษทั้งที ก็น่าจะให้ผู้อ่านได้รับประโยชน์ เสนอประวัติชีวิตบุคคลที่มีประสบการณ์หลากหลายจะดีกว่า

๑. สิทธัตถะเป็นพระพุทธเจ้าใช่หรือไม่ ช่วยอธิบายให้ละเอียดด้วยครับ
๒. บาปเริ่มแรกของมนุษยชาติ คืออะไร
๓. มนุษย์เกิดโดยบังเอิญหรือ ตั้งใจเกิด
๔. พระเจ้าของคริสต์กับพระพุทธเจ้าคือสิ่งเดียวกันหรือไม่
๕. อยากศึกษาอดีตมนุษยชาติ เพื่อเป็นบทเรียนของมนุษย์ในปัจจุบัน
* เสนีย์ แอมจิหาด

๑. การที่ทรงเป็นพระพุทธเจ้า หมายความว่า พระองค์ตรัสรู้ธรรม ที่มีอยู่แล้วในโลก เพียงแต่ว่าไม่มีใครตระหนักถึง หรือไม่มีใครเข้าใจ อย่างแท้จริง ธรรมที่พระองค์ตรัสรู้คืออริยสัจ ๔ ได้แก่ ทุกข์ เหตุ แห่งทุกข์ ความดับทุกข์ และทางปฏิบัติเพื่อความดับทุกข์ ทางปฏิบัติที่พระองค์ ทรงสอน เป็นสิ่งที่บุคคลสามัญธรรมดาปฏิบัติได้ผล สามารถพ้นทุกข์ได้จริงตามลำดับขั้น ถ้าอยากพ้นทุกข์ ก็ต้องปฏิบัติตามที่ทรงสอน

๒. และ ๓. เท่าที่อ่านพระไตรปิฎกมาบ้าง ไม่พบคำตอบเรื่องนี้ เรื่องที่ไม่พาให้พ้นทุกข์ แล้วก็ไม่ได้มีประโยชน์อะไรกับการงาน อย่าไปคิดให้ปวดหัวเลยค่ะ เอาเวลามาคิดเรื่องปัจจุบันว่าเราจะทำอะไรให้เกิดประโยชน์ดีกว่านะคะ
๔. ไม่ใช่ค่ะ

๕. มนุษย์เราแต่ละคนมีเวลาไม่มากนัก เอาเวลามาศึกษาธรรมะ และฝึกหัดปฏิบัติธรรม หาวิธีที่จะจัดการกิเลสของตัวเราเองจะไม่ดีกว่าหรือคะ แม้การระลึกชาติหรือการทบทวนอดีตจะเป็นสิ่งที่พระองค์ ทรงสอนอยู่เหมือนกัน แต่พระองค์ ก็ทรงสอนด้วยว่า ถ้าถูกอาวุธ (แปลว่ากำลังทุกข์) อย่าไปเสียเวลา หาว่าอาวุธนั้นมาจากไหน ใคร เป็นคนยิงมา มีพิษหรือไม่ สิ่งที่ต้องรีบทำคือรักษาแผล หรือทำตนให้พ้นทุกข์ก่อน

๑. ทำไมไม่รวบรวมกลอนธรรมะของอิสรา หรือกวีคนอื่นๆ บ้างเล่า
๒. ลองนำภูมิปัญญากวีไทยสมัยก่อนมาเสนอบ้าง คนรุ่นหลังจะได้ทราบและประทับใจในตัวบรรพบุรุษ
* กตปุญโญภิกขุ

๑. กลอนของอิสรา รวมเล่ม ออกมาหลายเล่มแล้วค่ะ "ความสุขอยู่ตรงนี้" "งดงามในความง่าย" และ"บนเส้นทางสายอดทน" เป็นกวี+บันทึก ส่วน "ดอกหญ้ากลางนาคร" เป็นกวีล้วนๆ ค่ะ

๒. เกรงคนอ่านจะไม่เข้าใจภาษาสมัยก่อน ก็เลยไม่ได้นำมาเสนอค่ะ ท่านผู้อ่านท่านอื่นมีความเห็นว่าอย่างไร กรุณาบอกไปด้วยนะคะ ถ้าหลายท่านสนใจบทกวีไทยสมัยก่อน จะได้สรรหามาลงพิมพ์

ประเทศอื่นๆ มีชุมชนทวนกระแสสังคมบริโภค ทุนนิยม อย่างไรบ้าง เช่นที่เคยลงเรื่องชุมชนอามิชในอเมริกามาให้อ่าน
* มงคล คธาทอง

ไม่มีข้อมูลใหม่เลยค่ะ มีแต่ข้อมูลเก่าๆ ขอเวลาอีกนานหน่อยนะคะ จะค้นข้อมูลใหม่ๆ มาเสนอ ช่วงนี้มีภารกิจอื่นหนักหนาอยู่ค่ะ

มีวิธีการใดที่จะสร้างครอบครัวให้อบอุ่นเพื่อแก้ไขปัญหาเด็กขาดความอบอุ่นที่มีเกลื่อนในปัจจุบัน
* รุ่งอรุณ อวยสันเทียะ

พยายามอยู่บ้านให้มากค่ะ และทำกิจกรรมร่วมกัน เช่น ทำอาหาร ทำสวน (หรือปลูกต้นไม้ใส่กระถางก็ได้ ถ้าไม่มีพื้นที่มากพอ) ทำความสะอาดบ้าน ออกกำลังกาย และที่สำคัญคือพูดคุยกัน จะทำอะไรก็ถามไถ่ตกลงกัน อย่าเอาความคิดของใครคนใดคนหนึ่ง เป็นหลัก ควรจะให้ทุกคนไม่ว่าจะเป็นพ่อ แม่ ลูก หรือญาติผู้ใหญ่ ได้แสดงความเห็นอย่างเต็มที่ แล้วฟังกัน สิ่งใดทำไม่ได้ ก็อธิบาย บอกกล่าวว่าทำไมทำไม่ได้ เช่น เรามีเงินไม่มากพอ เราต้องมีค่า ใช้จ่ายอะไรบ้าง หรือทำแล้วจะมีผลเสียอะไรก็ว่าไป ทำให้ทุกคนมีความรู้สึกว่าครอบครัวเป็นของเขา เขามีสิทธิ์ มีเสียง เป็นเจ้าของ มีคนฟังเขา

การตามใจเด็กไม่ได้ทำให้เด็กรู้สึกอบอุ่นนะคะ การตามใจกับการบังคับให้ผลไม่ต่างกันนักหรอกค่ะ ดิฉันคิดว่าพวกผู้ใหญ่ทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นคุณพ่อคุณแม่ ญาติ ผู้ใหญ่ คุณครู ต้องกล้าขัดใจเด็กในความต้องการที่ไม่เหมาะควร ต้องสอนให้เขามีจิตใจที่เข้มแข็ง อยู่คนเดียวก็ได้ อย่าสร้างความรู้สึกขาดความอบอุ่นให้ตัวเอง หัดใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ อ่านหนังสือบ้าง ทำความสะอาดบ้าน ทำอาหารง่ายๆ ไว้รอคุณพ่อคุณแม่บ้าง ถ้าเราตามใจเขาตั้งแต่เด็ก จิตใจเด็กจะอ่อนแอ เขาจะบังคับจิตใจตนเองไม่เป็น ผู้ใหญ่ต้องประมาณให้เหมาะ ไม่ตามใจและไม่บังคับควบคุม หรือตามใจพร้อมๆ กับฝึกระเบียบวินัย ความรับผิดชอบ

ข้อสำคัญผู้ใหญ่ต้องเสมอต้นเสมอปลาย ไม่ทำอะไรตามอารมณ์ วันไหนใจดี เด็กจะทำอะไร ผิดถูกก็ไม่เป็นไร วันไหนอารมณ์ไม่ดี เด็กก็ต้องระวังตัวแจ ถ้าผู้ใหญ่เป็นอย่างนี้ เด็กก็จะทำตามอารมณ์ผู้ใหญ่ ถ้าตามไม่ไหว ก็ทำตามใจตัวเองเสียเลย ถ้าเราตกลง กันในครอบครัวว่า เด็กดูโทรทัศน์ได้ไม่เกินสามทุ่ม ยกเว้นวันศุกร์และวันเสาร์ให้ดูได้ถึงสี่ทุ่ม เมื่อไรที่เด็กดูเกินเวลา เราก็เตือนเขา เตือน ธรรมดาไม่ได้ผล ก็เริ่มร่ายยาวได้ ไม่ใช่บ่นนะคะ พูดให้ฟัง ว่า พรุ่งนี้ต้องไปโรงเรียน ควรจะนอนหัวค่ำ ตื่นเช้าๆ จะได้สดชื่น เรียนหนังสือ สมองปลอดโปร่ง ฯลฯ (อยู่กับเด็กนี่ ศิลปะการพูดสำคัญมากค่ะ)

ผู้ใหญ่บางบ้านอาจจะใช้วิธีเก็บเงินค่าปรับ ใครละเมิดข้อตกลง ต้องจ่ายเงินค่าปรับเข้ากองกลางของบ้าน (เวลาผู้ใหญ่ละเมิดก็ต้องจ่ายนะ) อาจใช้เงินนี้ไปเที่ยวด้วยกัน หรือจัดเลี้ยงพิเศษ หรือบริจาคให้การกุศลก็ได้

ที่จริงยังมีรายละเอียดอีกมาก เป็นศิลปะที่ต้องเรียนรู้ทั้งชีวิตแหละค่ะ ขอสรุปสั้นๆ ว่า ทุกคนในครอบครัวควรจะเห็นอกเห็นใจซึ่งกันและกัน ยอมรับซึ่งกันและกัน ให้อภัยกัน เลิกเรียกร้องให้คนอื่นทำหน้าที่ หรือเป็นฝ่ายเสียสละ เป็นฝ่ายเริ่มทำสิ่งดีๆ ในครอบครัว เรานี่แหละเริ่มก่อน ไม่ว่าจะเป็นลูก หรือพ่อ หรือแม่ เริ่มเป็นผู้ให้ แล้วจะไม่ขาดความอบอุ่น

ตอนนี้ดิฉันอยู่ในช่วงการตัดสินอนาคตของชีวิต ว่าจะอยู่เป็นโสดหรือจะแต่งงาน เป็นโสด ก็กลัว แต่งงานก็กลัว
* สุคนธ์ทิพย์ อุดมผล

ชั่งน้ำหนักดูสิคะว่า กลัวอะไรมากกว่ากัน แต่พระไตรปิฎกเล่ม ๒๙ ข้อ ๒๕๐ มีข้อความกล่าวไว้ว่า ผู้ตั้งตนเป็นคนโสด เขารู้กันว่าเป็นบัณฑิต คนโง่ฝักใฝ่ในเมถุน (ความเป็นคนคู่) ย่อมเศร้าหมอง แล้วยังจะมีความทุกข์อีกมากมายมหาศาลรออยู่อีก ซ้ำยังต้องเกี่ยวข้องกับคนอีกมากมายไม่เฉพาะคู่ชีวิตที่ไม่รู้ว่าดีหรือร้าย รู้สึกว่าประการหลังจะน่ากลัวกว่ากันมากนะคะ

เวลาแพ้ใจ แพ้ตบะที่ตั้งไว้อย่างแน่วแน่แล้วจะทำอย่างไรดี ที่จะชนะตบะอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ ทุกลมหายใจ เข้าออก
* มลิวัลย์ มัทซึคาว่า

ดิฉันว่าคุณตั้งมาตรฐานให้ ตัวเองสูงเกินไปนะคะ พอทำไม่ได้ก็เบื่อตัวเอง เครียด ถึงขนาดไปสูบบุหรี่ อย่างที่เล่า ไว้ในจดหมาย บางทีเราตั้งตบะที่จะละกิเลสละเอียด เช่น อารมณ์ใดๆ ก็ตาม (เฉพาะอารมณ์นะคะ เช่น โกรธ แต่ไม่ได้ด่าว่า หรือทำร้ายใคร อยากได้ แต่ไม่ได้ไปลักขโมยของคนอื่น อย่างนี้เป็นแค่อารมณ์ที่เกิดขึ้นในจิต เป็นกิเลสละเอียด) แต่พอทำไม่ได้ แล้วกลับไปทำเรื่องหยาบ ที่เคยผ่าน มา ได้แล้วอีก สูบบุหรี่นี่ เสพสิ่งเสพติดนะคะ เป็นอบายมุข หยาบยิ่งกว่าอารมณ์โกรธอีก ตั้งตบะอย่างนี้ มีแต่ขาดทุนค่ะ

เวลาจะตั้งตบะ ต้องพิจารณา แนวโน้มของตนเองก่อนว่าพอจะทำได้หรือเปล่า ไม่ง่ายไป ไม่ยากไป พอให้ได้ ขัดเกลาตนเองตามกำลังกายกำลังจิตที่เป็นจริงของเรา เช่น ถ้าเราไม่ได้หลงใหลการแต่งตัว ห้าปีจะซื้อ ชุดใหม่สักชุดหนึ่ง ก็ไม่ต้องไปตั้งตบะว่าจะไม่ซื้อเสื้อผ้าใหม่ เพราะไม่เห็นจะได้ขัดเกลาใจ ตัวเองเลย หรือถ้าเราเป็นคนมีปัญหามากในเรื่องกิน เช่น กินยาก ต้องเลือกอาหารที่ถูกใจ รสชาติอย่างนั้น อย่างนี้ กินหลายมื้อ กินจุบกินจิบ ก็อย่าไปตั้งตบะว่าจะกินมื้อเดียวเลยทันที ควรจะเริ่มเรื่องใดเรื่องหนึ่ง เช่น จะไม่กินจุบจิบ รับประทานอาหารหลัก ๓ มื้อ อยากกินอะไร ก็เอามารวมกันให้หมดในมื้อ นอกมื้อ ไม่กินอีกเลย เป็นต้น

ถ้าเรื่องความโกรธเป็นเรื่องยากเกินไปสำหรับคุณมลิวัลย์ เปลี่ยนไปตั้งเรื่องอื่นก่อนก็ได้ หัดฝึกความเข้มแข็ง ของจิตใจจากเรื่องที่ง่ายกว่า เช่น ถ้าไม่เคยทำความสะอาดบ้านเลย ก็ทำเสียบ้าง ถ้าจ้างเขาซักเสื้อผ้า ก็ซักเองบ้าง ถ้าไม่ค่อยได้ช่วยเหลือบริการคนอื่น ก็ช่วยคนอื่นให้มากขึ้น ช่วยดูแลปิดน้ำปิดไฟปิดแอร์ เพื่อประหยัดพลังงานของชาติ น่าจะทำได้ดีกว่า พอเราทำได้ เราก็จะมีกำลังใจ ค่อยๆ ทำเรื่องยากขึ้นไป

ดิฉันเองเป็นคนพละอินทรีย์อ่อน ไม่ได้เป็นคนแข็งแรงอะไรนักในการปฏิบัติธรรม แต่ทำได้นาน เพราะทำตาม ฐานะที่เหมาะสมกับร่างกายและจิตใจของเรา

จะศึกษาพุทธธรรมให้ได้เป็นผู้มีธรรม ไม่ใช่เพียงคนรู้ธรรม จะปฏิบัติเป็นขั้นตอนด้วยหลักธรรมใดก่อนหลัง จึงจะเป็นการปูพื้นฐานจิตให้สามารถเปิดรับแสงสว่างจาก พระธรรม จนก้าวขึ้นสู่ความเป็นมนุษย์ ผู้มีใจสูง บริสุทธิ์ อย่างแท้จริง
* มานพ ไตรเจริญวัฒนะ

ก่อนอื่นก็พิจารณาตัวเองให้ดีเสียก่อนว่ามีพื้นฐานจิตอย่างไร ต้องรู้ตัวเองว่ามีดีอะไรบ้าง แล้วยังบกพร่อง เรื่องอะไรอยู่ แล้วจึงเลือกปฏิบัติตามสมควรแก่ตนเอง เหมือนอย่างที่แนะนำคุณมลิวัลย์นั่นแหละค่ะ

ถ้าหากคุณไม่เคยปฏิบัติธรรม มาก่อนเลย พื้นฐานที่สุด ควรจะตรวจดูตัวเองก่อนว่ามีอบายมุข ข้อไหนบ้าง อบายมุข ๖ มี ติดสุรา และของมึนเมา ชอบเที่ยวกลางคืน ชอบเที่ยวดูการละเล่น ติดการพนัน คบคนชั่ว และ เกียจคร้านการงาน

เมื่อละอบายมุขเหล่านี้ได้แล้ว ขั้นต่อไปก็ศึกษาปฏิบัติศีล ๕ ศีล ๘ ศีลแต่ละข้อมีรายละเอียดให้ปฏิบัติ หลายระดับขั้น อย่างเช่น ศีลข้อ ๑ ไม่ทำชีวิตให้ตกล่วง ไม่ฆ่าเป็นเบื้องต้น ดีขึ้นก็ไม่เบียดเบียน ทั้งด้วย การกระทำ ด้วยการพูด หรือแม้แต่ในความคิด ไม่คิดเบียดเบียนสัตว์อื่น คนอื่น ตัวเองไม่ฆ่า ไม่เบียดเบียนแล้ว ไม่เป็นสาเหตุให้คนอื่นต้องฆ่า ต้องเบียดเบียนด้วย พัฒนาต่อไปอีก คือความมีเมตตา ช่วยเหลือ ยิ่งเรา มีภาระน้อยลงเท่าไร เห็นแก่ตัวเองน้อยลงเท่าไร เราก็ช่วยคนอื่นได้มากขึ้นเท่านั้น สูงสุด ก็คือบวช สละทรัพย์สินทั้งหมดคืนให้แก่โลก เลี้ยงชีพด้วยสัมมาชีพอันบริสุทธิ์ สูงสุด คือ ทำงานโดย ไม่รับ ค่าตอบแทน (ลาเภน ลาภัง นิชิคิงสนตา)

ศีลข้ออื่นก็เหมือนกัน มีรายละเอียดการปฏิบัติหลายขั้นตอน เมื่อปฏิบัติธรรมแล้ว จะเห็นเองค่ะว่าเรามีเรื่อง ที่จะต้องพัฒนา ตนเองขึ้นไปเรื่อยๆ ศาสนาพุทธให้รายละเอียดเรื่องกิเลสไว้เยอะ เพราะเป้าหมายคือ ความหมดสิ้น กิเลสทั้งปวง หรือนิพพาน กิเลส ละอองธุลีอะไรต้องเอาออกให้หมด สรุปง่ายๆ ว่า สัพพปาปัสสะ อกรณัง ไม่ทำบาปทั้งปวง กุสลัสสูปสัมปทา ทำความดีให้ถึงพร้อม สจิตตปริโยทปนัง ทำจิตใจให้บริสุทธิ์ จะข้ามขั้น บาปไม่ละ ความดีไม่ทำ ทำจิตใจให้บริสุทธิ์อย่างเดียวไม่ได้ หรอกค่ะ มันไม่สอดคล้องกัน

๑. ดิฉันเก็บผักผลไม้จากต้น เป็นบาปหรือไม่
๒. การกระทำในข้อ ๑ เป็น การพรากพืชคามใช่หรือไม่
๓. ผลจากการประหยัด ไม่ฟุ่มเฟือยสุรุ่ยสุร่าย ทำให้สะสมเงินหุ้นในสหกรณ์ออมทรัพย์เพิ่มขึ้น ทุกเดือน และได้รับเงินปันผลตอนสิ้นปี บาปหรือไม่
* เพลินพิศ ขาวสะอาด

การเก็บผักผลไม้จากต้นเป็น การพรากพืชคาม พระพุทธเจ้าทรงห้ามพระภิกษุเพาะปลูก และเก็บผักผลไม้ จากต้น เพราะทรงประสงค์ให้ภิกษุดำรงชีวิตด้วยอาหาร บิณฑบาต เพื่อให้พระภิกษุและฆราวาส ได้พึ่งพา อาศัย ซึ่งกันและกัน พระภิกษุให้ธรรมะเป็นอาหารใจ ฆราวาสถวายอาหารกาย จึงเป็นหน้าที่ฆราวาส จะต้อง เพาะปลูกและเก็บผักผลไม้มาทำอาหาร การเก็บหอมรอมริบฝากเงินไว้ในธนาคาร หรือสหกรณ์ แล้วได้รับดอกเบี้ยหรือเงินปันผลก็เหมือนกัน เป็นกิจของฆราวาสที่ยังต้องใช้เงินอยู่ พระพุทธเจ้าทรงห้าม ใช้เงินเฉพาะ สามเณรและพระภิกษุ เราเป็นฆราวาส ก็ทำตามฐานะ จะให้บริสุทธิ์ผุดผ่อง อย่างพระภิกษุ ไม่ได้หรอกค่ะพระพุทธเจ้าก็ตรัสไว้แล้วว่า ฆราวาสเป็นทางมาแห่งธุลี (เครื่องเศร้าหมอง)

เด็กๆ จบปริญญากัน ทำไมพูดไม่ได้เลย ภาษาอังกฤษนี่ เรียนกันแย่มาก รัฐบาลก็ปรับปรุงการศึกษากัน จนมั่ว แทนที่จะจับคนสอน ไม่รู้เรื่องและขี้เกียจออก กลับให้ คนขยันออกมาเสียได้
* อุบลวดี ภู่อมร

ไหนๆ ก็ออกมาแล้ว แบ่งเวลาไปช่วยทำงานฟรีที่วัดบ้างก็ดีนะคะ

ถ้าเราพอจะทราบความเป็นมาของสังคมไทยเราว่า ถูกกลุ่มคนผู้มีอำนาจในอดีต ได้กระทำการให้เรา ร่ำเรียน หนังสือมาอย่างผิดๆ เราจะค้นหาความรู้ใหม่ตามวิถีพุทธะสำหรับคนรุ่นลูกและหลานของเรา ตั้งแต่ยังเล็กอยู่ได้อย่างไร
* ภานุวัฒน์ เอี่ยมเจริญ

คุณพ่อคุณแม่ก็ต้องศึกษาและปฏิบัติตามคำสอนในพระพุทธศาสนาก่อน จึงจะนำทางลูกๆ หลานๆ ได้

มีโรงเรียนที่เป็นวิถีพุทธอย่างแท้จริงหรือไม่ โรงเรียนของดิฉันก็เป็นแต่ชื่อเท่านั้น เฉพาะข้อแรก "สัปปุริสสังเสวะ" ครูอาจารย์เป็นแบบอย่างที่ดีก็ไม่ผ่านแล้วค่ะ
* มณีประภา สกุลลักษณ์

โรงเรียนที่สมัครเป็นโรงเรียนวิถีพุทธนั้นไม่ได้หมายความว่าทุกโรงเรียนเป็นวิถีพุทธแล้วนะคะ เพียงแค่ มีความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะพัฒนาโรงเรียนตามหลักคำสอน ในพระพุทธศาสนาเป็นเบื้องต้น ต่อจากนั้นก็จะมี กระบวนการพัฒนาร่วมกันเพื่อให้ถึงเป้าหมายดังกล่าว ดิฉันเคยไปร่วมประชุมโครงการโรงเรียนวิถีพุทธ ที่กระทรวงศึกษาธิการจัดขึ้น ก็เห็นว่าแต่ละโรงเรียนก็มีความตั้งใจดี ร่วมมือร่วมใจช่วยกันพัฒนาตนเอง เราทำได้แน่นอนค่ะ

มหายานในไทย (วัดจีน) ต่างจากมหายานของสันติอโศกอย่างไร ต่างจากวัดที่ไต้หวันอย่างไร
* ยุพา หวังประเสริฐกุล

รายละเอียดไม่ทราบจริง ๆ ค่ะ ทราบแต่ว่า มหายานเชื่อเรื่องพระโพธิสัตว์ และมีภิกษุณี แต่ดิฉันไม่ทราบว่า วัดจีนในไทยมีภิกษุณีหรือไม่ ส่วนวัดที่ไต้หวันมีภิกษุณี สำหรับสันติอโศกนั้น เชื่อตามคำสอน ในพระไตรปิฎก ภาษาไทยฉบับหลวง หรือภาษาบาลีฉบับสยามรัฐ ซึ่งไม่มีการแยกเป็นเถรวาทหรือมหายาน

แต่ก่อนนี้ดิฉันเป็นแม่ค้าขายไก่ย่างส้มตำ ขายดีมาก หมดวันละ ๓๐-๔๐ ตัว ต่อมาลูกชาย ซึ่งเป็นคน ชำแหละให้มาเรื่อยเกิดเสียสติ ระหว่างที่คีบไก่อยู่เกิดประสาทเสียและพูดออกมาว่า "แม่ แม่ มาดู ไม้นี่ซิ มันแบ่งเป็นสองทางได้ไง" "ดิฉันตอบไปว่า เอาไม้หนีบไก่ไงล่ะลูก" ตั้งแต่วันนั้น เป็นคนเสียสติมาเลย ปกติเขาเป็นคนเรียบร้อย ว่าง่าย เรียนก็ได้ที่หนึ่งที่สองทุกเทอม จากนั้นดิฉันก็พาเขาไปรักษา ที่โรงพยาบาล จิตเวช ขอนแก่น ดิฉันตั้งจิตอธิษฐานว่า ถ้าหากลูกหายแล้ว ฉันจะไม่ขายไก่อีกเลย แต่ก่อนนั้น ฉันไม่ค่อย รู้เรื่องบาปบุญเท่าไรนัก มีแต่พี่สาวมาบอก เตือน ดิฉันก็บอกเขาไปว่า วันไหนไม่ได้ขายก็คือวันนั้นแหละบาป เพราะไม่มีกิน พอดีพี่เขารบเร้าให้ไปพบกับชาวอโศก ตั้งแต่ปี '๔๐ มาจนบัดนี้ ดิฉันเปลี่ยนอาชีพใหม่ มาเป็น ช่างเย็บผ้า ก็ทำได้ดีมาก จนเย็บออกไม่ทัน
* จันศรี ศรีธรราช

ขออนุโมทนากับคุณจันศรีด้วยที่เปลี่ยนแปลงตนเองได้ถึงขนาดเปลี่ยนอาชีพ คนเราถ้าคิดจะเปลี่ยนแปลง จริงๆ แล้ว ก็มีหนทาง ลูกชายอาการดีขึ้นหรือยังคะ

ทีมงานเหนื่อยไหมคะ อยากบอกว่าตัวเองเกิดมาเป็นคนอาภัพ อายุ ๑๙ ปี โดนรถชนจนเดินไม่ได้ บางครั้งเวลาอยู่คนเดียว ก็แอบร้องไห้ แต่จะไม่เคยให้ใครเห็นความอ่อนแอ ทุกคนจึงชินกับความร่าเริง ของกอง ตอนนี้เดินไม่ได้มากว่า ๔ ปีแล้ว อยากได้กำลังใจจากทีมงาน
* กองมี กงล้อม

ทำดอกหญ้าไม่เหนื่อยหรอกค่ะ เพียงแต่ว่ามีงานหลายอย่าง ทำงาน ฟรีก็ดีอย่างนี้แหละ มีคนเอางานมา ให้ทำเยอะดี การทำงานเป็นโอกาสฝึกใจให้เข้มแข็ง ต้องรับผิดชอบ ทำงานให้สำเร็จ แล้วก็เอาชนะอุปสรรค ที่เกิดขึ้น คุณกองมีก็ต้องเอาชนะ ความรู้สึกของตนเองด้วยนะคะ คุณจะเข้มแข็งได้ด้วยตัวคุณเอง สั่งสม การกระทำ คำพูด ความคิดดีๆ มากๆ ความรู้สึกอ่อนแอ จะหายไปค่ะ

๑. ทำไมทีมงานจึงขยัน เสียสละ อดทนได้มากมายขนาดนี้
๒. มีวิธีทำตนอย่างไร ยึดหลักอะไร จึงทำตนเป็นผู้ให้ได้อย่าง ยิ่งใหญ่ขนาดนี้
๓. เป้าหมายของคณะผู้จัดคืออะไรนอกจากบุญ
* สำลี รักสุทธี

๑. ไม่ได้ขยัน เสียสละ อดทนอะไรมากมายหรอกค่ะ ทุกคนกำลังฝึกตนเองทั้งนั้น ที่จริงควรจะขยัน เสียสละ ได้มากกว่านี้อีกด้วยซ้ำ ครูบาอาจารย์ท่านยังต้องเคี่ยวเข็ญอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน

๒. ที่ดูเหมือนยิ่งใหญ่เพราะเรารวมกำลังกันให้ ให้คนละนิดคนละหน่อย รวมกันก็เป็นชิ้นเป็นอัน มีคนช่วย เขียนบทความ อีกคน ช่วยพิมพ์ต้นฉบับ อีกคนช่วยจัดหน้า ใส่ภาพประกอบ แล้วก็มีคนช่วยพิสูจน์อักษร ส่วนปกก็มีอีกคนช่วยออกแบบให้ มีคนถ่ายฟิล์ม ถ่ายเพลท แล้วก็ลงเครื่องพิมพ์ พิมพ์เสร็จ เก็บเล่ม เย็บเล่ม ตรวจสอบความถูกต้อง เข้าปก เจียนขอบเล่ม ต่อจากนั้นจึงเป็นหน้าที่ของฝ่ายจัดส่งให้สมาชิก ทั้งหมดมีคน ช่วยกว่าครึ่งร้อย

๓. มีเป้าหมายเดียวนั่นแหละ ค่ะคือบุญ บุญแปลว่าการชำระกิเลส ไม่ว่าจะเป็นความเกียจคร้าน ความ เห็นแก่ตัว ความยึดมั่นในความเห็น ของตนเอง ความโลภ โกรธ หลงใดๆ ที่เกิดขึ้นได้ระหว่างการทำงาน


-ดอกหญ้าอันดับที่ ๑๐๙ กันยา-ตุลา ๒๕๔๖-