เฆี่ยนด้วยเมตตา (ติลมุฏฐิชาดก)


เมตตาต้องผลิบานในใจของ"ผู้ให้"
จึงให้อย่างอ่อนโยนก็มี
จึงให้อย่างเฆี่ยนตีก็ได้
ล้วนมุ่งประโยชน์สูงสุดแก่ "ผู้รับ"

ณ โรงธรรมสภา ภิกษุทั้งหลายนั่งสนทนา กันอยู่จำนวนมาก

"นี่! ท่านทราบข่าวไหมว่า ภิกษุรูปโน้นเป็นคนโกรธง่าย มากไปด้วยความคับแค้นใจ เที่ยวทำเสียงเอะอะ เหมือนกับเกลือที่เขาใส่ไปในเตาไฟฉะนั้น ทั้งที่เป็นผู้บวชอยู่ในศาสนาซึ่งสอนมิให้โกรธ แต่นี่เพียงแม้เล็กแม้น้อยก็โกรธเสียแล้ว ไม่อาจที่จะข่มความโกรธไว้ได้บ้างเลย"

ขณะนั้นเองพระพุทธองค์ เสด็จมาพอดี ทรงได้ยินดังนั้น จึงตรัสให้ไปเรียกภิกษุนั้นมา เมื่อมาถึงแล้ว พระศาสดาทรงถามว่า

"ข่าวว่าเธอเป็นผู้โกรธง่ายจริงหรือ"

"เป็นจริงตามนั้น พระเจ้าข้า"

เมื่อภิกษุรับตามสัตย์จริงแล้ว พระศาสดา ทรงแสดงธรรมว่า

"ภิกษุทั้งหลายมิใช่บัดนี้เท่านั้น แม้ในกาลก่อน ภิกษุนี้ก็ได้เป็นคนมักโกรธมาแล้วเหมือนกัน"

ได้ฟังเช่นนั้น ภิกษุทั้งหมดจึงทูลอาราธนาให้ทรงเล่า พระศาสดาจึงทรงนำเรื่องราวนั้นมาสาธก


ในอดีตกาล เมื่อพระเจ้าพรหมทัตครองราชสมบัติ อยู่ในกรุงพาราณสี ทรงมีพระราชโอรส พระนามว่า พรหมทัตตกุมาร

ก็ในสมัยนั้นเอง เป็นดังจารีตประเพณีมาแต่เก่าก่อน ที่พระราชาแม้จะมีอาจารย์ทิศาปาโมกข์ (อาจารย์ที่มีชื่อเสียง) อาศัยอยู่ในพระนครของตนก็ตาม แต่จะส่งพระราชโอรสให้ไปเรียนศิลปะ ในสถานที่ไกลภายนอกรัฐของพระองค์ ด้วยความหวังว่า

๑. เมื่อกระทำอย่างนี้แล้ว พระราชโอรสเหล่านั้น จะเป็นผู้ขจัดความเย่อหยิ่งด้วยมานะได้

๒. จะเป็นผู้มีความอดทนต่อความหนาวและความร้อน

๓. จะได้รู้จักจารีตประเพณีของชนอื่นๆ

เพราะทรงหวังดังกล่าวนี้เอง พระเจ้าพรหมทัตจึงรับสั่งให้พรหมทัตตกุมาร ซึ่งมีพระชนมายุ ๑๖ พรรษามาเข้าเฝ้า แล้วพระราชทานฉลองพระบาทชั้นเดียวให้ ๑ คู่ ร่มใบไม้ ๑ คัน และทรัพย์อีก ๑,๐๐๐ กหาปณะ (๔,๐๐๐ บาท) พร้อมกับตรัสกำชับว่า

"ลูกรัก เจ้าจงไปยังเมืองตักกสิลา ศึกษาร่ำเรียนศิลปะให้สำเร็จ แล้วจึงกลับมาเถิด"

พระราชโอรสทรงรับพระราชโองการ ถวายบังคมลาพระชนกชนนีทั้งสอง แล้วเสด็จรอนแรม จนบรรลุถึงเมืองตักกสิลา ได้ถามหาบ้านของอาจารย์ กระทั่งพบ ก็ในเวลานั้น.... อาจารย์นั่งอยู่ ที่ข้างประตูเรือน พระราชโอรสจึงถอดรองเท้า ลดร่ม เข้าไปไหว้อาจารย์ แล้วยืนสำรวมอยู่

อาจารย์เห็นเช่นนั้นรู้ได้ว่า หนุ่มน้อยนี้คงเหน็ดเหนื่อยมาจากหนทางไกล จึงให้พักผ่อน และกินอาหาร เสร็จสรรพก่อน สักครู่ใหญ่จึงได้สอบถามว่า

"เธอมาจากที่ไหนกันละนี่ เป็นลูกเต้าเหล่าใครกัน"

"ข้าพเจ้ามาจากกรุงพาราณสี เป็นโอรสของพระเจ้าพรหมทัต"

"ก็แล้วพระองค์เสด็จมาถึงที่นี่ ด้วยพระประสงค์ใดเล่า"

"ท่านอาจารย์ ข้าพเจ้ามาที่นี้เพื่อต้องการเรียนศิลปะทั้งหลาย"

"แล้วพระองค์ทรงนำทรัพย์ อันเป็นส่วนของอาจารย์มาด้วยหรือไม่ หรือว่าพระองค์จะเป็น ดั่งธัมมันเตวาสิก คือศิษย์ที่ในเวลากลางวันต้องทำการงานให้แก่อาจารย์ ในเวลากลางคืน จึงจะได้เรียน"

พระราชกุมารรีบนำถุงทรัพย์ ๑,๐๐๐ กหาปณะ วางลงที่ใกล้เท้าของอาจารย์ แล้วไหว้พร้อมกับกล่าวว่า

"ทรัพย์อันเป็นส่วนของอาจารย์ ข้าพเจ้าได้นำมาด้วยแล้ว"

เมื่ออาจารย์รับทรัพย์นั้นไว้ พอมีฤกษ์งามยามดี ก็เริ่มสอนศิลปะทั้งปวงแก่พรหมทัตตกุมารทันที เพราะศิษย์ที่ให้ทรัพย์อันเป็นส่วนของอาจารย์ จะไม่ต้องทำการงานอื่นใด เรียนแต่ศิลปะ เพียงอย่างเดียวเท่านั้น ตั้งแต่นั้นมา พระราชกุมารจึงเรียนศิลปะทั้งหลาย ด้วยความตั้งใจยิ่งนัก

วันหนึ่ง....ขณะที่ได้ไปอาบน้ำพร้อมกับอาจารย์ ในบริเวณนั้นมีหญิงชราคนหนึ่ง ได้ขัดสีเมล็ดงา ให้หมดเปลือกแล้ว เอามาแผ่ตากไว้ ตัวเอง ก็คอยนั่งเฝ้าอยู่

พระกุมารเห็นเมล็ดงาเหล่านั้นแล้ว ก็อยากจะเสวย จึงหยิบเมล็ดงามาหนึ่งกำมือ เคี้ยวเสวย โดยมิได้ขอเลย ฝ่ายหญิงชรานั้น เห็นอยู่ก็คิดว่า "หนุ่มน้อยนี้คงอยากจะกินเหลือเกิน"

จึงนิ่งเฉยเสีย มิได้ตำหนิหรือว่ากล่าวแต่ประการใด

แม้ถัดไปในวันรุ่งขึ้น พระกุมารก็ได้กระทำอย่างนั้นอีก ส่วนหญิงชรานั้น ก็ยังคงไม่ได้ว่ากล่าว อะไรเช่นกัน

แม้ในวันที่ ๓ พระราชกุมารก็ได้กระทำเหมือนเดิมนั่นแหละ แต่คราวนี้ พอหญิงชรานั้นเห็นเข้า ก็ทนไม่ไหวอีกต่อไป ประคองแขนทั้งสอง ร้องไห้คร่ำครวญไปหาอาจารย์

"ท่านอาจารย์ทิศาปาโมกข์ ไฉนท่านจึงใช้ให้พวกศิษย์ไปฉกชิงปล้นเมล็ดงาของเรา"

อาจารย์นั้นยังไม่ทราบสาเหตุ จึงเอ่ยถามไปว่า

"นี่มันเรื่องอะไรกันแน่ ท่านจงเล่ามาก่อนเถิด"

"ท่านอาจารย์ ก็ศิษย์ของท่านนั่นแหละ หยิบเอาเมล็ดงาส่วนที่ข้าพเจ้าทำตากไว้ นำไปกินเกือบหมด วันนี้กำมือหนึ่ง เมื่อวานกำมือหนึ่ง เมื่อวานซืนอีกกำมือหนึ่ง ก็เมื่อศิษย์ของท่าน หยิบงาไปเคี้ยวกินอยู่อย่างนี้ เมล็ดงาที่ข้าพเจ้าทำตากไว้ คงหมดสิ้นแน่นอน มิใช่หรือ"

อาจารย์พอเข้าใจเรื่องแล้ว ก็ปลอบใจนางไปว่า

"แม่! อย่าได้ร้องห่มร้องไห้ไปเลย ฉันยินดีจะชดใช้ค่าเมล็ดงาทั้งหมดนั้นแก่ท่าน"

แต่หญิงชรากลับส่ายหน้า พลางเช็ดน้ำตา แล้วเอ่ยว่า

"ข้าพเจ้าไม่ได้ต้องการเงินทองใดๆหรอก แต่ขอให้ท่านอาจารย์สั่งสอนลูกศิษย์ด้วยเถิด อย่าให้เด็กหนุ่มนี้ กระทำเยี่ยงโจร เช่นนี้อีกเลย"

อาจารย์จึงรับคำของหญิงชรานั้น แล้วบอกว่า

"ถ้าอย่างนั้น จงอยู่ดูเถิดแม่"

ว่าแล้วก็ให้ลูกศิษย์อีก ๒ คน มาจับแขนทั้งสองข้างของพระกุมารไว้ เอาซีกไม้ไผ่ทำเป็นไม้เรียว เฆี่ยนลงที่หลังของพระกุมารอย่างแรง ๓ ที พร้อมกับสั่งสอนว่า

"การลักขโมยกินเยี่ยงนี้ผิดศีล เป็นบาป สร้างความเดือดร้อนแก่ผู้อื่น จงอย่าได้กระทำอย่างนี้ อีกต่อไป"

พระราชกุมารโดนเฆี่ยนตีเช่นนั้น ก็โกรธแค้นอาจารย์ยิ่งนัก นัยน์ตาแดงฉาน จ้องดูอาจารย์ ตั้งแต่ศีรษะจรดเท้า อาการดังนี้เอง ทำให้อาจารย์รู้ว่า พระราชกุมาร เคียดแค้นพยาบาท ไว้เป็นแน่แท้

เป็นจริงตามนั้นที่พระราชกุมารทรงอาฆาตไว้ว่า

"เราจะต้องฆ่าอาจารย์ผู้นี้ให้ได้สักวัน"

แล้วเก็บงำซ่อนเพลิงแค้นนั้นไว้ ตั้งหน้าฝึกซ้อมร่ำเรียนศิลปะจนจบโดยเร็ว ครั้นสำเร็จแล้ว ถึงเวลาจะจากไป ได้เข้าหาอาจารย์ ทำทีเคารพสุดซึ้ง อ้อนวอนต่ออาจารย์ว่า

"ท่านอาจารย์ หากเมื่อใด ข้าพเจ้าได้ครองราชสมบัติในกรุงพาราณสีแล้ว จะส่งข่าวมาให้ทราบ เมื่อนั้นขอให้ท่านอาจารย์โปรดไปหาด้วยเถิด"

จากนั้นพระราชกุมารก็เสด็จกลับไป ครั้นถึงกรุงพาราณสีแล้ว ได้ถวายบังคม พระชนกชนนี ทั้งสอง แสดงศิลปะต่างๆ ที่เรียนมา ให้ทอดพระเนตร พระเจ้าพรหมทัต ทรงพอพระทัยมาก ถึงกับตรัสว่า

"เรามีชีวิตอยู่ทันแน่แท้แล้ว ที่จะได้เห็นลูกรักของเราเป็นสง่าอยู่ในราชสมบัตินี้"

แล้วทรงสถาปนาพระราชโอรสไว้ในราชสมบัติทันที พระราชโอรสจึงได้ขึ้นครองราชย์ แทนพระราชบิดา เมื่อได้ปกครองบ้านเมืองแล้ว ทรงมีอำนาจและความเป็นใหญ่ ก็ระลึกถึง ความเจ็บปวด ที่อาจารย์ได้ทำไว้ จึงทรงพระพิโรธจัด รับสั่งทูตให้เร่งเดินทาง ไปเชิญอาจารย์ มาเข้าเฝ้า

ฝ่ายอาจารย์เมื่อทูตมาเชิญแล้ว ก็คิดขึ้นว่า

"พระราชานี้ยังหนุ่มแน่นใจร้อน เราเคยเฆี่ยนตีสั่งสอนไปด้วยเมตตา ก็ยังไม่อาจที่จะเข้าใจ ความเมตตานั้นได้ ฉะนั้น ตอนนี้เราไม่สมควร ไปหาเด็ดขาด"

จึงอ้างเหตุผลปฏิเสธกับทูตนั้น ว่าจะไปเข้าเฝ้าในวันหลัง แล้วมิได้ไปหาพระเจ้าพรหมทัตตะเลย

กาลต่อมา เมื่อพระราชาล่วงเข้าสู่วัยกลางคนแล้ว อาจารย์จึงคิดว่า

"บัดนี้คงถึงเวลาแล้ว วัยและวันเวลาคงทำให้พระราชาสงบเย็นได้มากขึ้น เราอาจจะทำให้ พระราชา ทรงเข้าใจดีได้"

จึงเดินทางมุ่งสู่กรุงพาราณสี ไปยืนอยู่ที่หน้าประตูพระราชวัง บอกนายประตูว่า

"ท่านช่วยกราบทูลพระราชาด้วยเถิดว่า อาจารย์จากเมืองตักกสิลา มาขอเข้าเฝ้าพระองค์แล้ว"

พอพระราชาทรงทราบเท่านั้น สุดแสนจะทรงยินดีนัก ตรัสสั่งให้เข้าเฝ้าได้ทันที โดยมิได้ รอช้าเลย เมื่อได้เห็นหน้าอาจารย์แล้ว แม้อยู่ต่อหน้าอำมาตย์ทั้งหลาย ก็มิอาจระงับพระทัย ที่เจ็บแค้นไว้ได้ ทรงพระพิโรธรุนแรงถึงกับชี้หน้าอาจารย์ ทรงตวาดด้วยเสียงดังว่า

"การที่ท่านอาจารย์ให้คนจับแขนเราไว้ แล้วเฆี่ยนตีเรา เพียงแค่เหตุเมล็ดงากำมือเดียวนั้น ยังฝังใจเรา ให้แค้นอยู่จนทุกวันนี้ ดีแล้วที่อาจารย์มาถึงที่นี่ ชะรอยไม่ไยดีในชีวิต ของตัวเองแล้วสินะ วันนี้แหละท่านจะได้รับผลกรรมตอบสนอง ในการที่เฆี่ยนตีเราถึง ๓ ครั้ง"

แม้พระราชาจะขู่อาฆาตจองเวรด้วยความตาย แต่อาจารย์ยังคงตั้งมั่นอยู่ด้วยอาการเยือกเย็น ได้พยายามอธิบายอย่างเมตตาปรานีว่า

"อารยชน (คนดีงาม) ทั้งหลาย ย่อมจะข่มขี่คนต่ำช้า ผู้กระทำกรรมชั่วด้วยการลงโทษ ข้อนี้บัณฑิตทั้งหลาย ย่อมรู้ชัดว่า การกระทำของอารยชนนั้น เป็นการเมตตาสั่งสอน มิใช่เป็นการปองร้ายก่อเวรเลย"

พระราชาทรงสดับเช่นนั้น ขณะที่กำลังจะทรงโต้เถียงไปนั้น อาจารย์ก็ได้กล่าวขึ้นก่อนอีกว่า

"ข้าแต่มหาราช เพราะฉะนั้นแล้ว แม้แต่พระองค์เอง ก็โปรดทรงทราบในข้อนี้เถิด พระองค์ ไม่ควรก่อเวร ปองร้ายต่อข้าพระองค์เลย

เพราะแม้ข้าพระองค์ผู้เป็นอาจารย์ ไม่ได้เฆี่ยนตีให้พระองค์ทรงสำนึกแล้ว ต่อไปภายหน้า พระองค์ลักขโมยขนม น้ำตาลกรวด ผลไม้ เป็นต้น จะทรงติดในนิสัยโจรกรรม จะทำการ ตัดช่องย่องเบา กล้าฆ่าคนช่วงชิงของเขา ในที่สุด ก็จะถูกจับพร้อมของกลาง โดนนำตัว ไปให้พระราชาตัดสิน จะต้องได้รับการลงโทษ ตามสมควรแก่ฐานะโจร

เมื่อเป็นไปอย่างนี้แล้ว ราชสมบัติจะได้มีแก่พระองค์จากที่ไหนเล่า ทุกวันนี้ที่พระองค์ได้ ความเป็นใหญ่ อยู่โดยราบรื่นเรียบร้อย เพราะอาศัยข้าพระองค์อบรมสั่งสอนให้มิใช่หรือ"

อาจารย์กล่าวจบถึงตรงนี้ ทำให้พระราชาทรงนิ่งอึ้ง ประทับนั่งอยู่ด้วยอาการสงบลง ความโกรธแค้นขุ่นเคืองบรรเทาเบาบางลงเป็นอันมาก ขณะที่ทรงพิจารณาคำกล่าว ของอาจารย์อยู่นั้น เหล่าอำมาตย์ที่ยืนห้อมล้อมอยู่ ได้ฟังถ้อยคำของอาจารย์นั้นแล้ว จึงกราบทูลบ้างว่า

"ขอเดชะ คำที่อาจารย์ได้กล่าวมาทั้งหมดนั้นเป็นความจริง ความเป็นใหญ่ แห่งพระราชานี้ ของพระองค์ ท่านอาจารย์เป็นผู้ช่วยเหลือไว้โดยแท้"

บัดนั้นเอง พระราชาทรงกำหนดได้ถึงพระคุณมากหลายของอาจารย์ จึงทรงสำนึกตัว ตรัสขอขมา ต่ออาจารย์

"ท่านอาจารย์ที่เคารพยิ่ง ข้าพเจ้าขอมอบความเป็นใหญ่นี้แก่ท่าน ท่านจงรับราชสมบัตินี้ไว้เถิด"

อาจารย์รีบปฏิเสธทันทีว่า

"ข้าพระองค์มิอาจรับราชสมบัตินี้ได้ ขอให้พระองค์ทรงครองราชย์โดยธรรมต่อไปเถิด พระเจ้าข้า"

เมื่อเป็นเช่นนี้ พระราชาจึงทรงส่งข่าวไปยังเมืองตักกสิลา ให้บุตรและภรรยาของอาจารย์มา แล้วประทาน อิสริยยศใหญ่ให้ ส่วนอาจารย์นั้นให้เป็นปุโรหิต แล้วทรงเชื่อฟังคำสอน ของอาจารย์ ดุจดังเป็นบิดาของตน ทรงบำเพ็ญบุญทานทั้งหลาย ได้มีสวรรค์เป็นที่ไป ในเบื้องหน้าแล้ว


พระศาสดาแสดงชาดกนี้จบแล้ว ได้ตรัสว่า

"พระเจ้าพรหมทัตตะนั้น ได้มาเป็นภิกษุผู้มักโกรธในบัดนี้ ส่วนอาจารย์ในคราวนั้น ได้มาเป็นเราตถาคตเอง"

แล้วทรงประกาศอริยสัจ ๔ เมื่อจบธรรมะนั้น ภิกษุผู้มักโกรธนั้น ก็ได้ดำรงอยู่ในอนาคามิผลทันที ภิกษุนอกนั้น บ้างก็ได้เป็นพระโสดาบัน บ้างก็ได้เป็นพระสกทาคามี

ณวมพุทธ
ศุกร์ ๑๑ ก.ย.๒๕๔๑
(พระไตรปิฎกเล่ม ๒๗ ข้อ ๓๕๕,
อรรถกถาแปลเล่ม ๕๘ หน้า ๑๒)


ด้วยเมตตา ปรานี จึงตีศิษย์
เพราะทำผิด อาจติด เป็นนิสัย
ต้องชำระ เลวร้าย ให้หายไป
จึงขัดใจ ตีเจ็บ เพื่อเข็ดจำ

- ดอกหญ้า อันดับที่ ๑๑๐ พฤศจิกายน - ธันวาคม ๒๕๔๖ -